http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-28

ความแตกต่างระหว่างเขื่อนและรถเมล์ฟรี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ความแตกต่างระหว่างเขื่อนและรถเมล์ฟรี
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:10:00 น.


22 ปีมาแล้วที่เริ่มก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านต่อต้านคัดค้านโครงการนี้อย่างหนัก ถึงขนาดลงไปนั่งประท้วงตรงที่จะระเบิดหินก้นแม่น้ำ แต่ก็ถูกตำรวจขับไล่จับกุม เข้าร่วมประชาพิจารณ์ในจังหวัด ก็ถูกนักเลงไล่ชก แถมยังถูกตำรวจจับเสียอีก

การใช้อำนาจเถื่อนของผู้ต้องการก่อสร้าง ไม่ได้เกิดจากความต้องการไฟฟ้า แต่เกิดจากผลประโยชน์จำนวนมหึมาที่ได้จากการก่อสร้างโครงการ แบ่งปันกันในหมู่นักการเมือง, ข้าราชการ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

แล้วโครงการนี้ก็ดำเนินไปจนสำเร็จ ท่ามกลางความเดือดร้อนแสนสาหัส และการประท้วงต่อต้านของชาวบ้าน โดยมีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 136 เมกะวัตต์ (กำลังผลิตติดตั้งพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "ตามแผน" ไม่ใช่ผลิตได้จริง) ไฟฟ้าจำนวนน้อยนิดนี้มีไว้เพื่อประกันความมั่นคงด้านไฟฟ้าของอีสานใต้ ทั้งๆ ที่มีทางเลือกได้อีกหลายอย่าง แต่ที่เลือกทางนี้เพราะคาดว่าจะมีราคาถูกสุดแก่ผู้ผลิต

แลกกับแม่น้ำสายที่ยาวสุดของอีสานไปหนึ่งสาย รวมถึงชีวิตของผู้คนที่เกาะเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ไปตลอดเส้นทาง

แต่ในความเป็นจริง เขื่อนปากมูลให้ "กำไร" น้อยมาก ระหว่าง 2547-2552 เขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้มีมูลค่าเท่ากับ 324 ล้านบาทต่อปี แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึงปีละ 225 ล้านบาท ปีหนึ่งจึงทำ "กำไร" ได้เพียง 99 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ของเขื่อนปากมูล จากการคำนวณใน พ.ศ.2543 อยู่ในระดับ 7.88 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของประเทศไทย


กฟผ.อาจได้ "กำไร" แต่ประเทศไทย "ขาดทุน"

ผู้ที่ขาดทุนที่สุดคือชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านปากมูล เพราะเขื่อนทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำมูลบริเวณนี้ลงอย่างย่อยยับ พันธุ์ปลาจำนวนมากหายไป ทั้งๆ ที่บริเวณนี้คือแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่ใหญ่มากของระบบแม่น้ำโขง พืชอีกหลากหลายชนิดไม่อาจขึ้นได้เมื่อน้ำท่วมหลังเขื่อนตลอดปี ที่บุ่งทามซึ่งชาวบ้านเคยใช้ปลูกพืชระยะสั้นอันตรธานไป พร้อมกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของวัชพืชเช่นไมยราบยักษ์ เขื่อนดันน้ำให้เอ่อล้นไปท่วมจนถึงอำเภอวารินชำราบและบางส่วนของอำเภอเมือง อุบลราชธานีในปลายฤดูฝนทุกปี โดยสรุปก็คือ เขื่อนได้ยึดเอาทรัพยากรทุกอย่างของชาวบ้านไปผลิตกำไรให้ กฟผ.เพียงปีละ 99 ล้านบาท

ฝ่ายชาวบ้านหรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกลับยิ่งประสบเคราะห์กรรมหนักกว่านั้นขึ้นไปอีก ในปี 2537รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนคือกว่า 6 หมื่นบาทต่อปี ครั้นถึง พ.ศ.2542 ลดลงเหลือเพียงกว่า 4 หมื่นบาท ใน พ.ศ.2533 ภาวะความยากจนของชาวบ้านคิดเป็นร้อยละ 32.7 ก่อนการสร้างเขื่อน ครั้นถึง พ.ศ.2543 ความยากจนของชาวบ้านกลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.51 จึงไม่แปลกอะไรที่ก่อนการสร้างเขื่อน ชาวบ้านออกไปหางานทำนอกพื้นที่เพียง 14.2% แต่หลังการสร้างเขื่อนเพิ่มเป็น 63.3% พูดอีกอย่างหนึ่งคือเขื่อนปากมูลทำให้ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาดกว่า 4 เท่าตัว ทั้งหมดนี้เอาไปแลกกับไฟฟ้า ก็ได้ไฟฟ้ากลับมาอย่างไม่คุ้มทุนดังที่กล่าวแล้ว (ทั้งๆ ที่ไม่ได้นำเอาต้นทุนทางนิเวศและสังคมเข้าไปคำนวณด้วย)

เพื่อจะให้ กฟผ.ดึงดันปิดประตูเขื่อนต่อไป กรมชลประทานจึงลงทุนสร้างระบบชลประทานขึ้นด้วยเงินถึง 1,162 ล้านบาท แต่ระบบชลประทานสูบน้ำแต่ละสถานีก็สูบน้ำปริมาณที่ต่ำมาก เพราะพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ต้องการน้ำมากอย่างนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการสูบน้ำมีราคาแพงกว่าที่ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่จะจ่ายได้

ต้นทุนของเขื่อนปากมูลนับวันก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นภาระแก่คนทั้งประเทศไม่สิ้นสุด เพื่อสังเวยความดึงดันของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจที่จะปิดประตูเขื่อนให้ได้ นับตั้งแต่บันไดปลาโจนซึ่งไม่มีปลาโจน ไปจนถึงการปล่อยกุ้งก้ามกราม ซึ่งขยายพันธุ์ได้ในน้ำกร่อยเท่านั้น จึงเป็นภาระต้องปล่อยลูกกุ้งทุกปี ด้วยปริมาณผลตอบแทนที่น้อยมากเพราะปริมาณของลูกกุ้งที่จะอยู่รอดมีน้อย ในระบบนิเวศที่ผิดแปลกนี้ จนมาถึงการชลประทานที่ทำงานได้ไม่คุ้ม และเงินจ้างนักเลงอันธพาลบ้าง ม็อบบ้าง เพื่อยกกำลังมาสู้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ (และก็คงต้องจ้างกันต่อไปทุกครั้งที่ชาวบ้านปากมูลเคลื่อนไหวให้เปิดเขื่อน)

ชาวบ้านได้เสนอให้เปิดเขื่อนถาวรมานานแล้ว หลายรัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นศึกษาหา ทางออก และคณะศึกษาไม่รู้จะกี่ชุดมาแล้ว ก็เสนอตรงกันว่าให้เปิดเขื่อนถาวร แต่ทุกรัฐบาลและรัฐบาลนี้ก็หาทางผัดผ่อนไม่ทำตามข้อเสนอตลอดมา ศึกษาแล้วศึกษาอีก ถึงได้ผลตรงกันอย่างไร ก็ไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจตามการศึกษาสักรัฐบาลเดียว

อย่างเก่งสุด คือรัฐบาลทักษิณ ที่ประนีประนอมด้วยการให้ปิดประตูเขื่อน 8 เดือน และเปิด 4 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ตอบสนองอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่อาจตอบสนองทางการเมืองบ้างเท่านั้น ใน พ.ศ.2544รัฐบาลยอมเปิดเขื่อนเป็นการทดลองเพื่อศึกษา 1 ปี

การศึกษาที่ตามมาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ชี้ให้เห็นว่า ควรเปิดเขื่อนถาวร เพราะมีผลดีมากกว่าผลเสียในทุกทาง แต่แล้วรัฐบาลก็หันมาปิด 8 เปิด 4 เหมือนเดิม



ผมพยายามหาคำอธิบายว่า เหตุใดความรู้และเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขจึงไม่มีพลานุภาพแก่การตัดสินใจของรัฐบาลไทยเลย? หลังคิดและเรียนรู้มาหลายวัน ผมคิดว่ามีเหตุผลอยู่ 3 ประการ


1.หลายปีมานี้ เราพูดกันว่าระบบราชการ (รวมรัฐวิสาหกิจ) เสื่อมอำนาจลง จนเราไม่อาจพูดถึงการเมืองของรัฐราชการได้อีกแล้ว นี่ก็เป็นวิธีมองอย่างหนึ่ง แต่เราสามารถมองอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ระบบราชการไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือมีความจำเป็นต้องผนวกเอาชนชั้นนำอื่นๆ นอกราชการมาไว้ใน "ระบบ" เดียวกัน ได้แก่ ทุน, คนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป, (หรือรวมแม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมากด้วย), คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและนักวิชาชีพซึ่งเรียกว่าคนชั้นกลาง "ใหม่", อิทธิพลท้องถิ่น, นักการเมือง ฯลฯ

ภาวะการนำไม่รวมศูนย์กับราชการต่อไปก็จริง แต่ดูเหมือนจะกระจายด้วยการ "เกี้ยเซี้ย" ระหว่างกัน ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก ทั้งโดยเปิดเผย และทั้งโดยนัยยะ โดยราชการยังเป็นศูนย์ของการ "เกี้ยเซี้ย" อยู่ เพราะราชการมีอำนาจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามการ "เกี้ยเซี้ย"

นักการเมือง (ทั้งที่ได้อำนาจผ่านหีบบัตรเลือกตั้งและปากกระบอกปืน) มีอำนาจในทางทฤษฎี แต่เอาอำนาจนี้ไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายหรืออุดมคติอะไรในทางปฏิบัติไม่ได้ ฉะนั้น แทนที่นักการเมืองจะกลายเป็นอัศวินรบกับกังหันลมให้เหนื่อยเปล่าๆ นักการเมืองจึงเข้ามาขอแบ่งปันผลประโยชน์ หรือทำให้การ "เกี้ยเซี้ย" มีประโยชน์ตกถึงนักการเมืองในสัดส่วนที่น่าพอใจ เช่นโครงการสร้างเขื่อน (เล่น) นี้ นักการเมืองก็ได้ส่วนหนึ่งเพราะเป็นผู้อุดหนุนให้สร้างตามคำแนะนำของราชการ คนในราชการก็ได้ (โดยตรงหรือโดยผ่าน กฟผ.หรือนักการเมืองก็ตาม) พ่อค้าผู้สร้างก็ได้ แม้แต่ผู้เจรจาขอกู้เงินมาสร้างยังได้ด้วยเลย

การที่ราชการ "ผนวก" คนอื่นเข้ามา จึงไม่ได้ทำให้ราชการเสื่อมลง อย่างน้อยก็ยังรักษาสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ตนพึงได้รับไว้ในความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจนี้ แม้อาจเสื่อม "อำนาจ" ไปบ้าง เพราะต้องมีคนอื่นๆ เข้ามาร่วม "อนุมัติ" ด้วยอีกมาก

การตัดสินใจเปิดเขื่อนถาวร จึงไม่ใช่แค่ตัวเขื่อนซังกะบ๊วยอันหนึ่งจะถูกเปิดหรือเลิกใช้ไปเท่านั้น แต่หมายถึงการสั่นคลอนระบบอำนาจและผลประโยชน์ที่มีการจัดสรรกันอย่างลงตัว จะทำโครงการขนาดใหญ่อื่นๆได้ยากขึ้น เพราะจะถูกตรวจสอบมากขึ้นจากกรณีปากมูล


2.อำนาจในทางปฏิบัติของราชการนั้นยังมีมากอยู่ทีเดียว ราชการสามารถต่อต้านทัดทานนักการเมืองที่เข้ามาบริหารหน่วยงาน ในโครงการที่ไม่ได้ "เกี้ยเซี้ย" กันทุกฝ่ายได้ด้วยวิธีการอันหลากหลาย นับตั้งแต่แต่งดำไปทำงานพร้อมกันทั้งกระทรวง ไปจนถึงโกนหัว เกียร์ว่าง (แต่กรณีรัฐบาลสุรยุทธ์นั้น ผมไม่แน่ใจว่าราชการเกียร์ว่าง หรือรัฐบาลเข้าเกียร์ไม่เป็น) หรือแม้แต่ดื้อแพ่ง คือไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เสียเฉยๆ (ซึ่งมีกรณีตัวอย่างให้ยกได้เป็นหนังสือทั้งเล่มยังไม่พอ)

ดังนั้น นักการเมืองจึงต้องกลัวราชการ และดังที่กล่าวแล้วว่า แทนที่จะขี่ม้ารบกับกังหันลม สู้แบ่งปันผลประโยชน์กันกับราชการและส่วนอื่นๆ ที่ถูก "ผนวก" อยู่ในระบบราชการไม่ได้หรอก


3.ลึกลงไปกว่าเหตุผลที่กล่าวข้างต้นก็คือ ใครกันที่จะให้เปิดเขื่อนปากมูลเป็นการถาวร ไอ๊หยา คนเล็กๆ กระจอกงอกง่อยที่เรียกว่า "ชาวบ้าน" นี่น่ะหรือ ที่สะเออะเข้ามาเสนอในเชิงนโยบายได้ มันจะมากไปหน่อยไหมที่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่หวงห้ามขนาดนี้ ยอมเปิดเขื่อนถาวร ก็คือยอมให้มีคนนอกเข้ามาในวง "เกี้ยเซี้ย" เกินกว่าที่ราชการจะ "ผนวก" ไว้ได้เต็มคอ ระบบทั้งระบบ (หรือระบอบกันหว่า) ก็จะพังลงโดยสิ้นเชิง เพราะพวกมันกำลังเรียกร้องให้ทุกฝ่าย "เกี้ยเซี้ย" กันได้อย่างเสมอภาค นับเป็นการเรียกร้องเกินระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งแปลว่า การปกครองของประชาชน, โดยประชาชน, และเพื่อประชาชน อันเป็นคำนิยามที่ไม่มีความหมายอะไรเลย


ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องเดียวกับสี่แยกราชประสงค์แหละครับ เพียงแต่เสื้อแดงไม่ได้เรียกร้องให้เปิดเขื่อน แต่ให้ยุบสภา อันเป็นพื้นที่ "เกี้ยเซี้ย" ซึ่งจำกัดให้ชนชั้นนำเท่านั้นเข้ามาต่อรองและใช้เดินเกมส์การเมือง ไม่ใช่พื้นที่ซึ่ง "ชาวบ้าน" จะมาเรียกร้องอะไรได้ ทำไมไม่เรียกร้องให้ประกันราคาข้าวเปลือก, นั่งรถไฟฟรี, หรือผ่อนผันหนี้สิน ฯลฯ ล่ะ เรื่อง "ขอ" อย่างนี้แหละที่อยู่ในพื้นที่ของมึง

.

2554-02-27

แกนนอนในโลกอาหรับ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
แกนนอนในโลกอาหรับ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1593 หน้า 30


การลุกฮือขึ้นขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง... อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

เมื่อตอนที่เกิดการเดินขบวนกันยกใหญ่ในตูนิเซีย และเริ่มลามเข้ามาในอียิปต์ สื่อกระแสหลักในสหรัฐคาดว่า คงมีอะไรกระเพื่อมบ้าง แต่จะไม่มีผลถึงกับล้มล้างมูบารัคไปได้

ที่ตลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อยาโตเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้กล่าวในเทศนาวันศุกร์หลังการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์ว่า ความเคลื่อนไหวของชาวอียิปต์ในครั้งนี้คือสำนึกของอิสลาม อย่างเดียวกับที่เกิดในอิหร่านล้มระบอบชาห์มาก่อน

แต่ต่อมาไม่นาน คนอิหร่านเองก็ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบเผด็จการทางศาสนาที่เข้มงวดของอิหร่านเองเหมือนกัน

ผมใช้คำว่า "ตลก" อาจไม่ยุติธรรมต่อผู้นำอิหร่านนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่าการเคลื่อนไหวใหญ่ของชาวอาหรับในหลายประเทศขณะนี้จะนำไปสู่ระบอบอะไร ทุกคนจึงอาจ "อ่าน" ผิดได้เท่าๆ กัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอำนาจต่างๆ ทั้งที่อยู่ในแต่ละประเทศของโลกอาหรับ และที่อยู่นอกโลกอาหรับเช่นสหรัฐ จะเข้าไปแทรกแซงกำกับให้ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นไปในทิศทางใด

แน่นอนว่าอำนาจเหล่านี้คงงัดข้อกันเองอีนุงตุงนัง จนในที่สุดระบอบที่ออกมาอาจไม่ตรงกับที่อำนาจเหล่านั้นต้องการแท้ๆ สักแห่งเดียว

แต่อย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า ความเคลื่อนไหวของประชาชน (ซึ่งก็เป็นอำนาจชนิดหนึ่ง) จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศแต่ผู้เดียว เรื่องนี้คนไทยน่าจะรู้ดี เพราะไม่ว่า 14 ตุลา, พฤษภามหาโหด (ทั้งสองครั้ง), หรือแม้แต่ 2475 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผล 100% อย่างที่ประชาชนผู้เคลื่อนไหวคาดหวัง



อันที่จริงแล้ว จะพูดว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับเสียเลย ก็ไม่จริงนัก เพราะชาวอาหรับจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่อยู่นอกประเทศได้พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อเท่านั้น

ระบอบที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางนั้น เป็นระบอบที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน (และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อระบอบเหล่านั้นถูกล้มไปแล้ว... เพราะความฉลาดรอบรู้มักมาทีหลังเสมอแหละครับ)

ประชากรอาหรับนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น สังคมอาหรับจึงเป็นสังคมของคนหนุ่มสาว อายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศอาหรับนั้นคือ 22 ปีเท่านั้น ต่ำกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรโลกซึ่งอยู่ที่ 28 ปี

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนเหล่านี้ได้เรียนหนังสือมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของตัวด้วย สถิติการอ่านออกเขียนได้ของคนหนุ่มสาวอียิปต์ซึ่งเคยอยู่ที่ 63% เพิ่มขึ้นเป็น 85% ใน พ.ศ.2548 แล้วก็หางานทำไม่ได้เสียอีก

ตัวเลขคนตกงานในประเทศอาหรับนั้นน่าตกใจ 1 ใน 8 ของคนตูนิเซียไม่มีงานทำ ในบาห์เรนเป็น 1 ใน 7 ในเยเมนคือ 1 ใน 3 ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขของ "ทางการ" ซึ่งน่าเชื่อแค่ไหนคนไทยก็รู้ดีอยู่แล้ว

จึงไม่แปลกอะไรที่ประเทศเหล่านี้มีคนจนจำนวนมากอย่างน่าตกใจพอๆ กัน อัตราเฉลี่ยของคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในกลุ่มประเทศอาหรับคือ 40% (ประเทศไทยอยู่ที่ 6-7%) อียิปต์มีมากกว่านั้น และเยเมนมีถึง 60%

แต่คนจนเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงไร ผมไม่ทราบ สำนักข่าวบางแห่งรายงานว่ากลุ่มผู้เคลื่อนไหวในอียิปต์ไม่ใช่คนจน แต่เป็นลูกหลานคนชั้นกลางที่มีการศึกษา


ผมไม่ค่อยแปลกใจนัก เพราะที่จนกรอบจริงๆ นั้นมักไม่สามารถเข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แม้แต่คนเสื้อแดงซึ่งมักประกาศตนเองเป็นคน "จน" เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่คนใน 7% ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หากเป็นคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน (จากข้อค้นพบของ อาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย กับกลุ่มคนเสื้อแดงในสองสามจังหวัด)

แต่การที่มีคนจนมากน่าจะเป็นเหตุให้องค์กรมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮามาสหรือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กลุ่มเหล่านี้จะ "หัวรุนแรง" หรือไม่ผมไม่ทราบ แต่กลุ่มเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมทางสังคมแทนรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ (กว่ารัฐ) ไม่ว่าจะเป็นด้านให้การรักษาพยาบาลแก่คนยากไร้ (มีโรงพยาบาลของตนเอง) ให้การศึกษา (มีโรงเรียนและทุนการศึกษาของตนเอง) ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ (เช่น มีการจัดตั้งสหกรณ์ของตนเอง) ฯลฯ

กลุ่มต่อต้านรัฐในเมืองไทยมีบทบาทในแง่สังคมไม่สู้จะมากนัก ผมอยากเดาว่าส่วนหนึ่งก็เพราะจำนวนคนจนในเมืองไทยลดลงไปมากแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือ คนที่ถูกรัฐทอดทิ้ง คือคนที่ไม่ได้จนกรอบ หากได้เข้าสู่ตลาดอย่างค่อนข้างเต็มตัว (นับแต่ขายแรงงานขึ้นไปถึงรับซ่อมมอเตอร์ไซค์และค้าขายรายย่อย) เขาจึงต้องการนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของเขามากขึ้น มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และด้วยเหตุดังนั้น การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นไปในทางการเมืองมากกว่าทางสังคม

การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อช่วยตัวเองก็มีเหมือนกันนะครับ แต่เป็นการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์, หรือการรวมเงินเพื่อช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแก่กันและกันเป็นต้น ซึ่งทำมาก่อนหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเสียอีก

กลุ่มเหล่านี้ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐมากกว่า และบางกลุ่มก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐด้วย



ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ที่มีคนพูดถึงกันมากในความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับครั้งนี้ก็คือ เครือข่ายทางสังคม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์ทางสังคมที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นฐาน

เขาบอกว่า แต่ก่อนนี้กว่าที่ผู้ต่อต้านรัฐจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ต้องใช้เวลามาก และรัฐก็มักจะเด็ดยอดอ่อนเสียก่อนที่ขบวนการนั้นจะเติบโต แต่ในสมัยปัจจุบัน ยังไม่ทันที่สันติบาลจะอ่านข้อความในอินเตอร์เน็ตได้หมดเลย ประชาชนก็มาชุมนุมกันเต็มสี่แยกไปเสียแล้ว

ข้อนี้ก็เห็นได้ชัดในเมืองไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังการปราบเสื้อแดงอย่างป่าเถื่อนในพฤษภามหาโหดของ พ.ศ.2553 เพราะเครือข่ายทางสังคมช่วยให้เกิดการชุมนุมของประชาชนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมากตลอดมา ทั้งๆ ที่สื่ออื่นๆ ของเสื้อแดงถูกกำกับควบคุมจนใช้เพื่อการนี้ไม่ค่อยได้ผล

แต่ผมคิดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาศัยเครือข่ายทางสังคมเป็นฐานนี้ น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพราะการเคลื่อนไหวอย่างนี้ยากที่จะมีแกนนำ มีได้แต่แกนนอน

คิดง่ายๆ (ซึ่งอาจจะง่ายเกินไป) อย่างนี้นะครับ สารที่เรารับผ่านเครือข่ายทางสังคมนั้น ขาดพลังปลุกเร้าที่เท่ากับการรับสารในการร่วมชุมนุม ส่วนใหญ่ของสารผ่านมาทางตัวหนังสือ ซึ่งไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็ให้พลังปลุกเร้าได้ไม่เท่าเสียงพูดหลังไมค์ จริงอยู่เครือข่ายทางสังคมอาจมีคลิปวิดีโอแทนการเขียนก็ได้ แต่เราชมคลิปนั้นคนเดียวหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่มีอารมณ์ของ "ม็อบ" มาเสริม เราจึงซึมซับสารนั้นอย่างช้าๆ มีสติที่จะคิดไตร่ตรองกับสารนั้นได้มากกว่า

ยิ่งกว่านี้ ยังอาจมีความเห็นอื่นที่คัดค้านสารนั้นแทรกเข้ามาในเครือข่ายเสียอีก แม้แต่ความเห็นที่สนับสนุนก็ยังอาจมีมุมมองที่ให้น้ำหนักแก่บางประเด็นที่แตกต่างจากสารของผู้ปลุกเร้าได้

ฉะนั้น จึงยากที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเข้าร่วมเพื่อมาสนับสนุนแกนนำคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนมาร่วมกันด้วยเหตุผลที่เหลื่อมกันไปในประเด็นต่างๆ

กลายเป็นปราการที่ไม่อาจถูกตะล่อมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สนิทนัก เครือข่ายทางสังคมจึงเหมาะสำหรับแกนนอน คือสร้างความสัมพันธ์ในแนวนอน เชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกันทีเดียวนักให้เข้ามาร่วมในกิจกรรมอันเดียวกัน แต่ด้วยจุดมุ่งหมายและเหตุผลที่ต่างกัน

การเคลื่อนไหวของชาวอาหรับในอียิปต์และตูนิเซียครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละกลุ่มคิดฝันถึงอนาคตของบ้านเมืองไม่ตรงกันนัก ในอียิปต์บางกลุ่มยังไม่ยอมเลิกประท้วงเมื่อมูบารัคลาออกไปแล้ว



การเคลื่อนไหวแบบแกนนอนนั้นมีพลังอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดในโลกอาหรับ ก็ได้เกิดและประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ มาไม่น้อย โดยเฉพาะในละตินอเมริกา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วยังไงต่อไปล่ะครับ

มูบารัคนั้น นอกจากกดขี่ข่มเหงประชาชนแล้ว เขายังทำให้อียิปต์เป็น "เสาหลักแห่งเสถียรภาพ" ในตะวันออกกลางตามทัศนะของอเมริกันอีกด้วย อียิปต์ทำให้นโยบายของสหรัฐและอิสราเอลเป็นไปได้ ไม่มีมูบารัคแล้ว อียิปต์ยังเป็นเช่นนั้นอีกหรือไม่ สหรัฐคงอยากให้เป็น เพราะสหรัฐต้องการมูบารัคที่ไม่ได้ชื่อมูบารัค (และอิสราเอลก็คงต้องการอย่างเดียวกัน)

เมื่อล้มมูบารัคได้แล้ว แล้วยังไงล่ะครับ รัฐบาลใหม่ของอียิปต์จะดำเนินนโยบายต่างประเทศรองรับสหรัฐต่อไป หรือควรเลิกเสียที ขบวนการประชาชนเลือกได้แค่ไหน

ดังนั้น นักเคลื่อนไหวบางคนจึงมีความเห็นว่า แกนนอนนั้นดี แต่ไม่พอ ต้องมีองค์กรที่เป็นของประชาชนนำในบั้นปลายด้วย เพื่อนำชัยชนะของประชาชนไปสู่ชัยชนะที่ถาวร

นอกจากนี้ แกนนอนเองก็อาจหมดพลังลงได้ เพราะรัฐบาลในโลกอาหรับหลายแห่งก็รีบปรับตัวทันที เช่น กษัตริย์จอร์แดนรีบยุบสภา เพื่อจัดให้มีรัฐบาลใหม่ (กษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งสภาและรัฐบาลตามแนวทาง "คืนพระราชอำนาจ" ของจอร์แดน) ส่วนประธานาธิบดีเยเมนก็ประกาศจะไม่ลงเลือกตั้งครั้งหน้า (แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเยเมนก็ไม่เคยเป็นไปอย่างเสรีจริงอยู่แล้ว)

เมื่อไม่มีแกนนำ ประชาชนจะรู้เท่าทันการแสดงจำอวดเหล่านี้ได้มากพอที่จะกดดันต่อไปหรือไม่

แต่ในทางตรงกันข้าม แกนนำที่สามารถล้มเผด็จการหนึ่งได้สำเร็จ ก็มักนำไปสู่เผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างที่เกิดในโซเวียต, จีน, คิวบา ฯลฯ

แล้วแกนนำดีหรือแกนนอนดี ผมตอบไม่ได้หรอกครับ

.

2554-02-26

โค่นมูบารัค?, ปฏิวัติอียิปต์ = มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน โดย เกษียร เตชะพีระ

.

โค่นมูบารัค ?
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 13:30:00 น.


ไม่ว่าฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ จะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เขาเป็นมาแล้ว 30 ปี อย่างเป็นทางการอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในทางเป็นจริงเขาได้สูญเสียอำนาจไปแล้ว มูบารัคได้ถูกโค่นโดยพฤตินัยไปแล้ว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มกราคม ศกนี้เป็นต้นมา!

เย็นวันนั้น ทั้งที่มูบารัคสั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วกรุงไคโร ปรากฏว่าพอเสียงเรียกละหมาดตอนเย็นดังก้องออกไป ผู้คนก็พากันออกมานอกบ้านอย่างไม่แยแส ตกค่ำทหารอียิปต์ก็ปล่อยให้สำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Party - NDP) อันเป็นพรรครัฐบาลของมูบารัคถูกเผา วอดวายหน้าตาเฉย แล้วทหารยังสั่งให้กองกำลังตำรวจที่คอยโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ถอนกำลังกลับเข้ากรมกองอีกต่างหาก ทำให้ผู้ประท้วงฮึกเหิมได้ใจเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นไม่ขาดสายเป็นล้านๆ

สัญญาณเหล่านี้ส่อชัดว่ามูบารัคได้สูญเสียอำนาจแท้จริงไปแล้ว กลุ่มอื่นในชนชั้นปกครองอียิปต์ได้แทรกตัว เข้ายึดอำนาจจากเขาไปแล้วในทางปฏิบัติ ถึงเขาจะยังนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอยู่แต่ก็เหมือนซากมัมมี่ในพีระมิดมากกว่าฟาห์โรบนบัลลังก์

สิ่งที่มูบารัคสั่งแล้วได้ผล-นอกจากขี้มูก-ก็คงเหลือน้อยเต็มที


จะเข้าใจความสลับซับซ้อนของสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างพลังการเมืองหลากกลุ่มในรัฐและสังคมการเมืองอียิปต์ที่โค่นมูบารัคลงได้ ก็ต้องมองทะลุมายาคติเกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งนี้แบบคู่ตรงข้าม "พระเอก VS. ผู้ร้าย" 3 แบบที่สื่อมวลชน นักวิเคราะห์และนักวิชาการมักติดยึดถือมั่น ได้แก่: -

1) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่าง "ประชาชน VS. เผด็จการ" ล้วน ๆ: การมองแบบเสรี-นิยมไร้เดียงสาเช่นนี้ทำให้สับสนเกี่ยวกับบทบาทอันแข็งขันของกองทัพและชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในการลุกขึ้นสู้

2) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่าง "พวกโลกวิสัย VS. กลุ่มเคร่งอิสลาม" เป็นหลัก: การมองแบบนี้ทำให้เกิดอาการโหยหาเรียกร้องแต่จะให้ "การเมืองนิ่ง" ด้วยความกลัวอิสลามเหมือนสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1980 หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เห็นว่าต้องปิดกั้นล้อมกรอบพวกนักชุมนุมประท้วงหัวรุนแรง สุดโต่งตามท้องถนนของโลกอาหรับเอาไว้

3) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องการปะทะระหว่าง "กลุ่มอำนาจเก่า VS. กบฏหนุ่มสาว" มากกว่าอย่างอื่น: นี่เป็นการวางกรอบทรรศนะโรแมนติคแบบคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ทาบทับลงบนการประท้วงอย่างตื้นง่าย โดยมองข้ามพลวัตเชิงโครงสร้างและสถาบันที่ขับดันการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ไปหมด อีกทั้งไม่อาจอธิบายบทบาทสำคัญของคนแก่วัย 70 รุ่นอดีตประธานาธิบดีนัสเซอร์มากหลายในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เช่น คุณย่า นาวาล เอล ซาดาวี วัย 80 ปี เฟมินิสต์นักเขียน นักเคลื่อนไหว หมอและนักจิตเวชศาสตร์ชื่อดังผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกวัน วันละ 10 ชั่วโมงไม่เคยหยุด
(ดูคำสัมภาษณ์ของเธอได้ที่www.democracynow_org/2011/1/31/women_protest_alongside_men_in_egyptian)


พูดง่ายๆ ก็คือเอาเข้าจริงในโลกใบนี้ จะหาการปฏิวัติ "บริสุทธิ์" ซึ่งมีแต่พระเอกที่เราชอบเข้าร่วมล้วนๆ ได้ยากเต็มที มิไยที่เขมรแดงจะเคยแต่งเพลง "ปฏิวัติบริสุทธิ์ละออละอา....." ขับกล่อมสดุดีการปฏิวัตินองเลือดของตนก็ตาม

ในกรณีอียิปต์ พลังโค่นมูบารัคประกอบด้วยพันธมิตรหลากหลายกลุ่มที่แตกแถวจากโครงสร้างอำนาจเก่าบ้าง เป็นชาวบ้านที่เพิ่งตื่นตัวขึ้นมากะทันหันบ้าง แล้วเข้ามาจัดทัพปรับขบวนกันใหม่ มีทั้งกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐ, นักธุรกิจใหญ่, ผู้นำระดับสากล, ขบวนการมวลชนของคนหนุ่มสาว, กรรมกร, ผู้หญิง, และกลุ่มศาสนา เป็นต้น


เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ เราอาจเริ่มจากการจำแนกกลุ่มกองกำลังต่างๆ ในกลไกฝ่ายความมั่นคง-ปราบปรามของรัฐอียิปต์ โดยไม่ควรด่วนเหมารวมพวกเขาทั้งหมดว่าล้วนเป็นมือตีนเผด็จการหรือเครื่องมือที่ผู้นำเผด็จอำนาจสั่งได้ดังใจนึก เพราะแต่ละกองกำลัง/สถาบันต่างก็มีประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ความภักดีทางชนชั้น, และแหล่งรายได้/เกื้อหนุนอิสระเฉพาะของตัว

1) ตำรวจ (al-shurta) ใต้การสั่งการของกระทรวงมหาดไทยอียิปต์ซึ่งใกล้ชิดและขึ้นต่อตัวมูบารัคและทำเนียบประธานาธิบดีในทางการเมืองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานระดับสถานีตำรวจ (โรงพัก) กลับค่อนข้างอิสระโดยสัมพัทธ์จากมหาดไทย บางสถานีหันไปค้ายาเสพติดหรือรีดไถส่วยจากร้านค้าย่อยในท้องที่ บ้างก็หันไปสมาทานอุดมการณ์การเมืองหรือศีลธรรมศาสนาแบบสุดโต่งรุนแรง

สรุปรวมความได้ว่า หากพิเคราะห์จากระดับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยขึ้นมา ตำรวจนับเป็นกองกำลังที่รัฐบาลพึ่งพาอาศัยทางการเมืองไม่ได้มากนัก ค่อนข้างมีผลประโยชน์เกี่ยวพันอีนุงตุงนัง และหัวเซ็งลี้มากในระดับโรงพัก

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ตำรวจอียิปต์ก็เผชิญปัญหาใหม่คือการเติบใหญ่ของแก๊งข้างถนนหรือที่เรียกในภาษาอาหรับว่า baltagiya แก๊งเหล่านี้สร้างเขตอิทธิพลอิสระปกครองตนเองกลายๆ ขึ้นเหนือสลัมและนิคม "เถื่อน" จำนวนมากในกรุงไคโร ชาวต่างชาติและคนชั้นกลางชาวอียิปต์มักทึกทักว่าแก๊งเหล่านี้เป็นอิสลามิก แต่เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์อะไร

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กระทรวงมหาดไทยอียิปต์ตกลงใจหันไปเดินนโยบาย "เมื่อปราบมันไม่ได้ ก็จ้างมันซะเลย" จากนั้นทางมหาดไทยร่วมกับกองกำลังความมั่นคงกลาง (Central Security Services) ของอียิปต์ก็เริ่มใช้สอยจ้างวานแก๊งเหล่านี้ให้ช่วยเล่นงานปรปักษ์ของรัฐแทนตน โดยจ่ายค่าจ้างให้อย่างงามและฝึกให้พวกนี้ไปลงโทษ ป้องปรามผู้ประท้วงเพศหญิงและผู้ต้องขังเพศชายด้วยการทำทารุณทางเพศ (ตั้งแต่ลวนลามไปจนถึงข่มขืน) ในช่วงเดียวกันนี้ ทางมหาดไทยยังเปลี่ยนหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงของรัฐ (State Security Investigations - SSI หรือในชื่อภาษาอาหรับว่า mabahith amn al-dawla) ให้กลายเป็นองค์การปีศาจอันน่าสะพรึงกลัว เที่ยวไล่จับคุมขัง ทรมานมวลชนฝ่ายค้านทางการเมืองในประเทศอย่างทารุณโหดร้าย

2) กองกำลังความมั่นคงกลาง (Central Security Services หรือ Amn al-Markazi) ซึ่งเป็นอิสระจาก กระทรวงมหาดไทย พวกนี้คือเจ้าหน้าที่ชุดดำสวมหมวกกันน็อคที่ออกหน้ามาปะทะกับผู้ชุมนุมช่วงแรกและ สื่อมวลชนมักเรียกว่า "ตำรวจ" นั่นเอง

กองกำลังดังกล่าวถือเป็นเสมือนกองทัพส่วนตัวของประธานาธิบดีมูบารัคได้เงินเดือนต่ำและไม่มีอุดมการณ์อะไร มิหนำซ้ำ ณ จังหวะคับขันในอดีต พวกนี้ก็เคยลุกฮือต่อต้านมูบารัคเพื่อเรียกร้องค่าแรงและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นมาแล้ว เอาเข้าจริง ถ้าไม่มีพวกแก๊งข้างถนนจอมโหดคอยช่วยกระทืบชาวบ้านให้ ลำพังกองกำลังชุดดำดังกล่าวก็ไม่ค่อยน่าเกรงขามเท่าไหร่

แววตาเซ็งๆ ของกองกำลังชุดดำยามถูกผู้ประท้วงเข้าประชิดตัวหอมแก้มฟอดพลางปลดอาวุธทิ้ง มีให้พบเห็นได้ทั่วไป การที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้พากันเดินลับละลายหายไปในกลุ่มควันแก๊สน้ำตาเฉยๆ ไม่ยอมกลับมาปราบปรามผู้ประท้วงอีกเป็นสัญญาณบอกความเสื่อมสิ้นอำนาจวาสนาของมูบารัคอย่างดีที่สุด

3) ท้ายที่สุดคือ กองทัพแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกองกำลังชุดดำหรือตำรวจ และมองตัวเองเป็นรัฐต่างหากออกไป ในแง่หนึ่งเราอาจพูดได้ว่าอียิปต์ยังปกครองในระบอบเผด็จการทหารเพราะมันยังเป็นระบอบเดียวกับที่สมาคมนายทหารเสรีภายใต้การนำของกามาล อับเดล นัสเซอร์ สถาปนาขึ้นในการปฏิวัติปี ค.ศ.1952 ทว่าในทางปฏิบัติ กองทัพได้ถูกเบียดขับออกห่างจากศูนย์อำนาจการเมืองแล้วนับแต่ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ลงนามข้อตกลงแคมป์เดวิดกับอิสราเอลภายใต้การอุปถัมภ์อำนวยการของอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1978

ดังนั้นนับแต่ปี ค.ศ.1977 เป็นต้นมา กองทัพอียิปต์ก็ถูกเก็บเข้ากรุ ไม่ได้รับอนุมัติให้ไปเที่ยวสู้รบปรบมือกับใคร ส่วนท่านนายพลทั้งหลายก็ได้ของสมนาคุณเป็นเงินช่วยเหลือก้อนโตจากอเมริกา

ต่อมากองทัพยังได้สัมปทานกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการทหารแต่รายได้ดี เช่น เปิดช็อปปิ้ง มอลล์, สร้างโครงการเมืองจัดสรรอย่างดีมียามเฝ้ากลางทะเลทราย, ดำเนินธุรกิจรีสอร์ทชายหาดริมทะเล เป็นต้น

ผลของการที่มูบารัคกับสหรัฐทุ่มเงินกว้านซื้อทั้งหมดนี้ได้แปรกองทัพอียิปต์ให้กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ธุรกิจชาตินิยมที่จัดตั้งกันอย่างดีเยี่ยม พวกเขาใฝ่หาการลงทุนจากต่างชาติ แต่กระนั้นความภักดีพื้นฐานของพวกเขา ก็ยึดหยั่งอยู่กับอาณาเขตแห่งชาติทั้งในทางเศรษฐกิจและสัญลักษณ์ เงินช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐเอาเข้าจริงก็มิอาจซื้อหาความจงรักภักดีต่ออเมริกาจากกองทัพอียิปต์ หากซื้อได้ก็แต่ความรังเกียจเดียดฉันท์เท่านั้น

หลายปีหลังมานี้ ทหารอียิปต์เริ่มรู้สำนึกถึงหน้าที่ที่พึงมีต่อชาติแรงกล้าขึ้นทุกที อีกทั้งอับอายขายหน้าและขมขื่นใจต่อสภาพที่ความเป็นชายชาตินักรบของตนเสมือนถูกตอนทิ้ง ไม่ได้ยืนหยัดปกป้องประชาชนร่วมชาติอย่างที่พึงกระทำ แนวโน้มชาตินิยมดังกล่าวบันดาลใจให้กองทัพอยากฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีของตน ขณะเดียวกันก็รู้สึกทุเรศรังเกียจพวกตำรวจคอร์รัปชั่นและแก๊งข้างถนนป่า
เถื่อนมากขึ้นทุกที


ยิ่งกว่านั้น กองทัพอียิปต์ในฐานะนายทุนชาติก็เห็นกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ที่มีเส้นสายใหญ่โตยึดโยงกับกามาล มูบารัค ลูกชายประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เป็นศัตรูคู่แข่งของตน ในสภาพที่ฝ่ายหลังตั้งหน้าตั้งตาแต่จะแปรกิจการของรัฐทุกอย่างที่คว้าได้ให้ เป็นของเอกชน และขายสินทรัพย์แห่งชาติให้ทุนจีนเอย ทุนอเมริกันเอย และทุนอ่าวเปอร์เซียไปหมด

อย่างไรก็ตาม กองทัพอียิปต์ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพปึกแผ่นเดียวกัน หากมีความแบ่งแยกขัดแย้งภายในระหว่าง หน่วยกำลังต่างๆ อยู่ด้วย-ซึ่งจะขอเล่าต่อในสัปดาห์หน้า


++


ปฏิวัติอียิปต์ = มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ฮอสนี มูบารัค, บารัค โอบามา และวลาดิมีร์ ปูติน กำลังประชุมกันอยู่ แล้วจู่ๆ พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรากฏพระองค์ขึ้นและตรัสว่า "ข้ามาบอกพวกเจ้าว่าโลกจะถึงกาลอวสานในสองวันข้างหน้านี้ จงไปบอกประชาชนของพวกเจ้าเสีย" ผู้นำแต่ละคนจึงกลับไปเมืองหลวงของตนและเตรียมปราศรัยทางทีวี

ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โอบามากล่าวว่า "เพื่อน ชาวอเมริกันทั้งหลาย ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบ ข่าวดีคือผมยืนยันได้ว่าพระเจ้ามีจริง ส่วนข่าวร้ายก็คือพระองค์ทรงบอกผมว่าโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงมอสโก ปูตินกล่าวว่า "ประชาชน ชาวรัสเซีย ผมเสียใจที่ต้องแจ้งข่าวร้ายสองเรื่องให้ทราบ ข่าวแรก คือพระเจ้ามีจริง ซึ่งหมายความว่าทุกอย่างที่ประเทศเราเชื่อถือตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่แล้วล้วนเป็นเท็จ ข่าวที่สองคือโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงไคโร มูบารัคกล่าวว่า "โอ...ชาว อียิปต์ทั้งหลาย ข้าพเจ้ามาพบท่านวันนี้พร้อมข่าวดียิ่งสองประการ ข่าวแรก พระผู้เป็นเจ้าและตัวข้าพเจ้าเพิ่งจะประชุมสุดยอดครั้งสำคัญร่วมกันมา

และข่าวที่สอง พระองค์ทรงบอกว่าข้าพเจ้าจะเป็นประธานาธิบดีของพวกท่านไปชั่วกัลปาวสาน"


ในที่สุด "กัลปาวสาน" ตามโจ๊กแอนตี้-มูบารัคข้างต้นก็มาถึง 18 วันหลังประชาชนอียิปต์เรือนล้านลุกฮือต่อต้านเขาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจนล้มตายไป 365 คน และบาดเจ็บอีก 5,500 คน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นมา เมื่อมูบารัคประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและสละอำนาจให้แก่สภาสูงของกองทัพ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ฮุสเซ็น ทันทาวี วัย 76 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้

ทว่า กองทัพอียิปต์ที่ช่วงชิงโอกาสเข้าควบขี่การปฏิวัติของมวลชนและ "ก่อรัฐประหารละมุนโค่นมูบารัคลง" ก็หาได้กลมเกลียวเป็นปึกแผ่นไม่ หากปริแยกแตกร้าวเป็นก๊กเป็นเหล่าตามเส้นสายการเมืองของตน ที่สำคัญได้แก่ : -


1) ในกองทัพอียิปต์ มีอยู่ 2 เหล่าซึ่งใกล้ชิดเป็นที่โปรดปรานของศูนย์อำนาจเก่าเป็นพิเศษ ได้แก่ กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดีและกองทัพอากาศ - ในฐานที่มูบารัคมีภูมิหลังเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศมาก่อนขึ้นเป็น ประธานาธิบดี สองเหล่านี้จึงยืนหยัดอยู่กับมูบารัคแม้ในยามทหารทั่วไปเอาใจออกห่างแล้วก็ตาม

ดังแสดงออกโดยปรากฏการณ์กลับตาลปัตรกันระหว่างการที่ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ทันทาวี เดินเข้าไปกลางที่ชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 30 มกราคมนี้ VS. การที่มูบารัคแต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ อาเหม็ด ชาฟิค เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พลางส่งเครื่องบินไอพ่นหลายลำไปบินต่ำ ขู่ที่ชุมนุม ในทำนองเดียวกัน กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดี
นี่แหละที่เข้าปกป้องอาคารวิทยุ/โทรทัศน์ของรัฐบาล และต่อกรกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มกราคมนี้

2) หน่วยข่าวกรองทหาร (Intelligence Services หรือ al-mukhabarat) ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการลับนอกประเทศ, ควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย/เป็นภัยความมั่นคง (รวมทั้งทรมานและลักพาตัวชาวต่างชาติตามที่ซีไอเอขอ) เนื่องจากหน่วยข่าวกรองทหารพุ่งเป้าต่อศัตรูภายนอกเป็นหลัก ไม่ได้คุมขังทรมานชาวอียิปต์ฝ่ายค้านในประเทศมากนัก

จึงไม่เป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชนเท่าหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงของรัฐ สังกัดมหาดไทย (mabahith)


หน่วยข่าวกรองทหารมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์พลิกผันทางการเมืองในฐานะ "สะวิงโหวต" - คือเทเสียงไปข้างไหน กองทัพโดยรวมก็เอียงไปข้างนั้นด้วย ท่าทีของหน่วยนี้คือด้านหนึ่งก็เกลียดชัง กามาล มูบารัค (ลูกชายประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค) กับกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่เส้นใหญ่ของเขา แต่อีกด้านหนึ่งก็หมกมุ่นฝังหัวกับเรื่องการเมืองต้องนิ่ง และแอบได้เสียอยู่กินกับซีไอเอและกองทัพอเมริกันมานมนาน

อำนาจของกองทัพและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของหน่วยข่าวกรองทหารที่ขึ้นครอบงำวงการเมืองสะท้อนออกในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ดังปรากฏว่ากามาล มูบารัค กับพวกพ้องนักธุรกิจถูกโละทิ้งยกแผง ขณะที่โอมาร์ สุไลมาน อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารได้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานาธิบดีมูบารัคในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขภายในกองทัพอียิปต์จะสุกงอมพอก่อให้เกิดการปฏิวัติ/เปลี่ยนระบอบ ผ่านปฏิบัติการ [มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน] ก็ต่อเมื่อฝ่ายแอนตี้มูบารัคในกองทัพสามารถ : -

1) เสริมสร้างฐานะของตนได้มั่นคง และ

2) ให้ความมั่นใจแก่หน่วยข่าวกรองทหารและกองทัพอากาศในการเปิดรับขบวนการมวลชนที่เกิดขึ้นใหม่ และพรรคฝ่ายต่างๆ ที่เกาะกลุ่มล้อมรอบแกนนำฝ่ายค้าน นายโมฮาเหม็ด เอลบาราได นักนิติศาสตร์ นักการทูตและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA ภายใต้สหประชาชาติ) ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.2005 และเข้าร่วมประท้วงต่อต้านมูบารัคครั้งนี้

ซึ่งอาจถือเป็นความหมาย โดยนัยของสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "การเปลี่ยนผ่าน อย่างมีระเบียบเรียบร้อย" ที่เขาอยากเห็นในอียิปต์นั่นเอง

ดูเหมือนเงื่อนไขดังกล่าวจะมาลงตัวพร้อมเพรียงเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ และแล้วกองทัพอียิปต์ก็เอื้อมไปจับมือประชาชนแล้วโค่นมูบารัคลง!


แนวโน้มการเมืองอียิปต์หลังโค่นมูบารัคจะเป็นเช่นใด? เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ สภาสูงของกองทัพ ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 สั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูงซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างฉ้อฉล อื้อฉาวเมื่อปลายปีก่อน, ระงับใช้รัฐธรรมนูญ, ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพื่อผ่านการลงประชามติ, และสัญญาจะจัดเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีใหม่ใน 6 เดือน, ระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีที่มูบารัคตั้งใหม่ล่าสุดจะรักษาการไปพลางก่อน, พร้อมกันนั้น สภาสูงของกองทัพก็ยืนยันพันธกรณีตามสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่อียิปต์ได้ทำไว้กับนานาประเทศรวมทั้งอิสราเอล

ข้อน่าสังเกตคือ ประกาศของสภาสูงกองทัพอียิปต์ข้างต้นมีรายละเอียดเนื้อหาพ้องกับข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของแกนนำการชุมนุมต่อต้านมูบารัคที่รวมตัวกันเฉพาะกิจและเรียกตัวเองว่ากลุ่ม "25 มกราคม" หลายประเด็น ดังปรากฏรายละเอียดแถลงการณ์ต่อไปนี้ (ดูต้นฉบับภาษาอาหรับที่www.assawsana_com/portal/newsshow.aspx?id=44605) : -

-ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินอันเป็นเหตุให้ระงับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญทันที

-ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดทันที

-ระงับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและบทแก้ไขเพิ่มเติมต่างๆ

-ยุบรัฐสภาสหพันธ์และสภาระดับจังหวัดทั้งหลาย

-ก่อตั้งสภาปกครองรวมหมู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

-จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลประกอบด้วยกลุ่มชาตินิยมอิสระเพื่อดูแลจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

-จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ซึ่งคล้ายคลึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับเก่าก่อน แล้วให้ผ่านการลงประชามติ

-ขจัดข้อจำกัดหวงห้ามทั้งปวงเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเสรีบนพื้นฐานที่เป็นพรรคพลเรือน, ยึดหลักประชาธิปไตยและสันติภาพ

-ยึดหลักเสรีภาพในการพิมพ์

-ยึดหลักเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและองค์การเอ็นจีโอโดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

-ยุบศาลทหารทั้งหมดและยกเลิกคำตัดสินของศาลทหารในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือน เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้ศาสตราจารย์ฮวน โคล สรุปว่าขบวนการมวลชนที่ลุกฮือโค่นมูบารัคครั้งนี้มีแก่นแท้เป็นขบวนการแรงงานที่ยึดถือ "ชาติ" (watan) และข้อเรียกร้องทางการเมืองเชิงโลกวิสัยอื่นๆ เป็นที่ตั้ง, ไม่ใช่ขบวนการเคร่งหลักอิสลามมูลฐานที่ยึดถือ "ชุมชนศาสนา" (ummah) และข้อเรียกร้องตามหลักอิสลามเป็นสรณะดังฝ่ายขวาอเมริกันและอิสราเอลบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าขบวนการมวลชนอียิปต์จะกำหนดเกมการเมืองหลังโค่นมูบารัคได้ดังใจนึก แนวโน้มน่าวิตกในสายตาผู้ช่วยศาสตราจารย์ซาเมอร์ เชฮาตา คือมันอาจนำมาซึ่งระบอบมูบารัคที่ปราศจากตัวมูบารัคเอง

แม้จะไม่กดขี่ปราบปรามหนักเท่าสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็หาใช่ประชาธิปไตยเต็มใบไม่



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

มีบทความเกี่ยวกับ การปฏิวัติของชาวอาหรับ

http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/anu-spr.html
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_07.html

http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post_12.html


.

2554-02-25

จำกัดการถือครองที่ดิน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

จำกัดการถือครองที่ดิน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 23:02:55 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share


ผมขอพูดสิ่งต่อไปนี้ในฐานะตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าภูมิปัญญาและอคติของ คปร.ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดของผมบ้างเป็นธรรมดา

ในบรรดาคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินของ คปร.ทั้งหมด ผมคิดว่าคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์อันสังคมไทยควรนำมาพิจารณาอย่างที่สุด เป็นของอาจารย์ Andrew Walker แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และปรากฏในเว็บไซต์ New Mandala

ผมขอนำเอาข้อวิจารณ์ที่ผมเห็นว่าสำคัญของ Dr.Walker มากล่าวถึง พร้อมกับความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ


1/ ดร.วอล์กเกอร์กล่าวว่า ชนชั้นนำไทยได้พยายามมาอย่างยาวนานแล้วที่จะรักษา "ชาวนา" (peasantry) เอาไว้ เพราะชาวนาที่พออยู่พอกินตามอัตภาพ ย่อมพอใจกับสถานะเดิมที่เป็นอยู่ ไม่ลุกขึ้นเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงใดๆ การจำกัดการถือครองที่ดินก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะหันกลับไปสู่นโยบายรักษา "ชาวนา" ไว้เป็น "กระดูกสันหลัง" ในสังคมที่สงบราบคาบต่อไป

ข้อวิจารณ์นี้น่าสนใจ และอาจจะจริงก็ได้ ผมไม่ทราบ แต่อยากจะเตือนว่า "ชนชั้นนำ" ไทยนั้นหาได้เป็นเนื้อเดียวกันในจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตทีเดียวนัก บางกลุ่มของ "ชนชั้นนำ" อาจต้องการเก็บประชาชนส่วนใหญ่ไว้ในฐานะ "ชาวนา" ที่ไม่ใส่ใจการเมือง แต่ก็ต้องมี "ชนชั้นนำ" อีกกลุ่มหนึ่ง - และอาจเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่าด้วย - ซึ่งต้องการเปลี่ยน "ชาวนา" เป็นเกษตรกร (ผู้ผลิตด้านเกษตรกรรมเพื่อป้อนตลาด) อย่างน้อยก็นับตั้งแต่เริ่มนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา "ชาวนา" ส่วนหนึ่งถูกดึงเข้าสู่การผลิตพืชเศรษฐกิจ ในส่วนที่ยังทำนาก็ผลิตเพื่อขายมากขึ้นตามลำดับ ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น หรือปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ขัดขวาง

ดร.วอล์กเกอร์เองก็ยอมรับว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 2503 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยทุกชุดได้ลงทุนไปมากมายกับระบบชลประทาน, ถนนในชนบท, โรงเรียน, โรงพยาบาล และการพัฒนาชุมชน อันล้วนเป็นสาธารณูปโภคที่เกินความจำเป็นของชีวิต "ชาวนา" ทั้งสิ้น

ผมคิดว่าแม้อาจมี "ชนชั้นนำ" บางกลุ่มที่ยังใฝ่ฝันถึงสังคมที่ราบคาบอันมีฐานอยู่ที่ "ชาวนา" เหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาคงไม่ตาบอดถึงกับมองไม่เห็นว่า ชนบทไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แทบไม่เหลือ "ชาวนา" ที่ผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองอยู่ที่ไหนอีกในประเทศไทย

แต่ในขณะเดียวกันผมก็ยอมรับอคติส่วนตัวว่า จินตนาการเกี่ยวกับอนาคตของแรงงานในภาคการเกษตรของผมคือเกษตรกรรายย่อย ที่มีความสามารถในด้านการผลิต และมีความสามารถในการจัดการเพื่อต่อรองในตลาดได้อย่างเท่าเทียมกับฝ่ายอื่น การจำกัดการถือครองที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถพัฒนาการผลิตของเขาไปสู่การเกษตรแผนใหม่ได้ (เกษตรแผนใหม่หมายถึงอะไรก็คงเถียงกันได้อีกนั่นแหละ และจะกล่าวถึงข้างหน้า)


2/ ดร.วอล์กเกอร์ยกตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาแสดงความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทยว่า คนที่มีรายได้จากภาคเกษตรเพียงอย่างเดียวเหลืออยู่เพียง 20% และ60%ของรายได้ในชนบทล้วนมาจากนอกภาคเกษตร และสรุปว่า "การท้าทายหลักของภาคชนบทไทย ไม่ใช่การสร้างโอกาสทางการเกษตรแก่ครอบครัวยากจน - โดยการกระจายที่ดิน - แต่ต้องส่งเสริมการประกอบการนอกภาคการเกษตร และสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งคนชนบทจำเป็นต้องมีเพื่อขยับเข้าสู่งานจ้างที่มีผลิตภาพมากขึ้น การที่มีหนึ่งในสามของแรงงานซึ่งผลิตได้เพียง 12% ของจีดีพี ย่อมไม่อาจดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง "

ผมเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์นี้ที่สุด แต่ก็คาดว่า คปร.จะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอื่นๆในภายหน้า เพื่อส่งเสริมการประกอบการของคนเล็กๆ นอกภาคเกษตร และการปฏิรูปการศึกษาที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ควรคิดเป็นอันขาดว่า ข้อเสนอจำกัดการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว (ไม่ว่าจะจำเป็นเพียงใด) จะแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปตรงสุดท้าย (ซึ่งผมเน้นไว้) นั้นอาจนำไปสู่ทางออกที่แตกต่างกันสุดขั้วได้ ..ใช่เลย..แรงงานหนึ่งในสามที่ผลิตได้เท่านี้เป็นสภาวะที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้แน่ ทางเลือกมีอยู่สองทาง หนึ่งคือ ลดจำนวนของเกษตรกรลง แต่ผลิตได้มูลค่าเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม (ผมพูดถึงมูลค่า เพราะกำลังพูดกันถึงจีดีพี) และสอง ผลิตให้ได้มูลค่ามากกว่าเดิม ด้วยจำนวนของเกษตรกรมากเท่าเดิม

ทางออกสองทางนี้อาจนำไปสู่การผลิตด้านเกษตรกรรมที่แตกต่างเป็นตรงข้ามกัน

กลุ่มหนึ่งของ "ชนชั้นนำ" ไทยคิดมานานแล้วว่า หากประเทศพัฒนาไปไกลๆ จะมีประชาชนเหลืออยู่ในภาคการเกษตรน้อยลงไปเรื่อยๆ การผลิตด้านการเกษตรที่ยังเหลืออยู่จะเป็นการผลิตด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า ใช้แรงงานน้อย แต่ให้ผลผลิตสูง

ดูเหมือนบางคนมีความคิดว่า เกษตรแผนใหม่หรือเกษตรก้าวหน้า ต้องหมายถึงการมีที่ดินขนาดใหญ่ เพื่อให้คุ้มกับการลงทุนด้วยเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้น แต่พื้นที่ขนาดเล็กที่พอเหมาะก็สามารถทำเกษตรทันสมัยได้ เทคโนโลยีการเกษตรปัจจุบันได้พัฒนาเพื่อตอบสนองพื้นที่ขนาดเล็กเช่นนี้ (เช่น รถไถเดินตาม ทำให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กเป็นไปได้) หากมีแรงจูงใจและความสามารถทางเศรษฐกิจเพียงพอ เกษตรกรรายย่อยก็จะสามารถพัฒนาการเกษตรของตนให้มีผลิตภาพสูงสุดได้ และในบางกรณีอาจดีกว่าการเกษตรแบบพื้นที่ขนาดใหญ่ (plantation) เสียอีก เช่น มีความสูญเสีย (waste) น้อยกว่า รวมทั้งเอื้อต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศได้มากกว่า

การกระจายที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถพัฒนาได้ แม้ไม่ใช่เงื่อนไขอย่างเดียว แต่เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้

อันที่จริงหากมีการจำกัดการถือครองที่ดิน ก็จะทำให้มาตรการกระจายการถือครองด้วยวิธีอื่นๆ เป็นไปได้ (เช่น ภาษีในอัตราก้าวหน้า หรือธนาคารที่ดิน) ที่ดินจะมีราคาต่ำลง ทั้งในเขตที่ทำเกษตรและในเขตเมือง ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย บุคคลสามารถโอนย้าย "ทุน" ซึ่งต้องใช้ในการมีที่อยู่อาศัย ไปสู่กิจกรรมอื่นๆ เช่น การศึกษา (หากสร้างสถานการณ์ทางการศึกษาที่เอื้ออำนวย) แม้แต่อุตสาหกรรมก็จะลงทุนกับที่ดินน้อยลง สามารถนำทุนไปลงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น


3/ ดร.วอล์กเกอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ในภาคเกษตรกรรมนั้น ตัวเลขจำนวนไร่ของที่ดินไม่มีความหมาย เพราะที่ดินเพียง 5 หรือ 10 ไร่ ซึ่งอุดมสมบูรณ์และมีการชลประทานที่ดี ย่อมดีกว่าที่ดิน 100 ไร่ บนลาดเขาที่เต็มไปด้วยหิน

ข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่หากเกษตรกรสามารถเข้าถึงที่ดินได้จากการปฏิรูปที่ดิน เกษตรกรก็น่าจะเลือกเข้าถึงที่ดินซึ่งเหมาะกับพืชที่ตนจะปลูก มากกว่าถูกผลักให้ไปอยู่ในพื้นที่ "ชายขอบ" ของการเกษตรกรรม ในขณะที่พื้นที่ "ชายขอบ" เหล่านี้ก็คงถูกแปรไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมประณีต เช่น อุตสาหกรรม, การท่องเที่ยว หรือการปลูกป่าเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการจำกัดการถือครองที่ดินอาจมีตัวเลขกว้างๆว่า 50 ไร่ แต่ในความเป็นจริงแล้วคงต้องมีความยืดหยุ่นให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ระหว่างพืชไร่, สวนป่า, ที่อยู่อาศัย, นิคมอุตสาหกรรม, แหล่งผลิตพลังงาน, การท่องเที่ยว, ฯลฯ เมื่อยืดหยุ่นก็ต้องมีผู้พิจารณาความยืดหยุ่น จะตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างไรก็ตาม ผมมีข้อแม้เพียงอย่างเดียวว่า ประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่น ต้องมีส่วนอย่างสำคัญและขาดไม่ได้ในการกำหนดความยืดหยุ่น ไม่ปล่อยอำนาจให้คณะกรรมการจากส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียว


4/ ดร.วอล์กเกอร์กล่าวอย่างผ่านๆ ว่า ข้อเสนอนี้ปฏิบัติไม่ได้จริงทางการเมือง ("The main problem with the latest proposal for land reform (apart from its political impracticality)" ข้อท้วงติงนี้แม้ไม่ใช่ประเด็นหลักของ ดร.วอล์กเกอร์ แต่เป็นประเด็นที่คนไทยพูดถึงมากที่สุด แม้ในหมู่ผู้ไร้ที่ดินทำกินและเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อนจากการถูกกล่าวหาว่า บุกรุกที่ของราชการ

ผมคิดว่าเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้เฉื่อยเนือยทางการเมือง (political apathy) อีกต่อไป เพราะการที่เขาต้องเข้าสู่ตลาดเต็มตัว ในแง่นี้ทำให้เขามีพลังทางการเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น แม้อย่างไม่สู้เป็นระบบนักก็ตาม ถึง"ชนชั้นนำ" ยังมีอำนาจค่อนข้างสูงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ก็เริ่มถูกถ่วงดุลมากขึ้นจากประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่คนชั้นกลางในเมืองเพียงกลุ่มเดียว การเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองและประชาชนระดับล่างในการผลักดันให้นักการเมืองยอมรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นตัวอย่างที่ดี

ผมหวัง (อาจจะอย่างลมๆ แล้งๆ)ว่า ข้อเสนอซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกฝ่ายนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวเข้ามาร่วมผลักดันอย่างแข็งขัน จนเป็นพลังที่นักการเมืองซึ่งมีที่ดินเฉลี่ยเกินร้อยไร่ (ยังไม่นับผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งอาจมีที่ดินเฉลี่ยเกิน 5,000 ไร่) ยากจะปฏิเสธได้ บางคนในกลุ่ม "ชนชั้นนำ" อาจฉลาดพอที่จะรู้จักโอนทุนจากที่ดินซึ่งสะสมไว้ไปสู่การลงทุนด้านอื่นซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า (เพราะทุนที่ดินจะให้ผลตอบแทนต่ำลงอย่างรวดเร็ว หากการปฏิรูปที่ดินประสบความสำเร็จ)



ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินหรือเรื่องอื่นๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า "ชนชั้นนำ" จะรับหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยโดยทั่วไปจะรับหรือไม่ และรับแล้วจะร่วมกันในการผลักดันอย่างแข็งขันหรือไม่

ไม่มีประโยชน์ที่จะถามว่า กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่จะผ่านสภาหรือไม่ (หรือผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐประหารหรือไม่) แต่ควรถามตัวเองว่า ท่านจะมีส่วนอย่างไรบ้างเพื่อให้กฎหมายดีๆ เช่นนี้ผ่านออกมาให้ได้

.

2554-02-24

เปิดข้อมูลเจ้าที่ดิน ตัวเร่งกระแสปฏิรูป? โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

.
เปิดข้อมูลเจ้าที่ดิน ตัวเร่งกระแสปฏิรูป?
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 23:02:55 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share



ครม.เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีมติรับทราบข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีบอกว่า ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและสรุปเป็นมาตรการเชิงนโยบายเสนอต่อ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะจัดทำมาเป็นตารางว่า มาตรการที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอตรงกับมาตรการที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ซึ่งภายในรัฐบาลนี้จะได้ข้อยุติเชิงนโยบาย

การที่ครม.รับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปไว้พิจารณาเบื้องต้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่การที่ ครม.มีมติดังกล่าว ยังไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาล (รวมถึงพรรคการเมืองอื่นที่มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ) จะมีการนำมาตรการของคณะกรรมการปฏิรูปไปแปรนโยบายให้สามารถปฏิบัติได้เชิงรูปธรรม เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรเรื้อรังมายาวนาน มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับผู้คน กลุ่มผลประโยชน์ และผู้มีอิทธิพลมากมาย

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องการผู้นำทางการเมืองที่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง มีความกล้าหาญและมีเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะผลักดันกระบวนการต่างๆ ให้เดินหน้าไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเผชิญแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ที่ล้วนแต่มีอิทธิพลในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


เนื่องจากที่ผ่านมาโครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศปล่อยให้รัฐและทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดจนเกิดการกระจุกตัว ขณะที่เกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน

ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)ในปี 2547 รายงานว่า มีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย


ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย และถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

เชื่อว่า ปัจจุบันเวลาผ่านมานานกว่า 6 ปี ตัวเลขเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินน่าจะพุ่งสูงกว่าเดิม ขณะที่การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินของคนรวยก็น่าจะมีมากขึ้นเช่นกัน


เมื่อพูดถึงปัญหาที่ดิน คนทั่วไปมักนึกถึงที่ดินในภาคเกษตร แต่ความจริงแล้วในภาคเมือง ที่ดินซึ่งเป็นความมั่นคงในการดำรงชีวิต เป็นภาระหนักมากสำหรับชนชั้นกลางที่ต้องใช้เวลาค่อนหรือทั้งชีวิตในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียงไม่กี่ตารางวาซึ่งนับวันปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสอดสัมพันธ์กับการไร้ที่ดินทำกินในภาคเกษตรเพราะเมื่อไร้ที่ดินทำกินในภาคเกษตร ผู้คนก็จำเป็นต้องอพยพเข้าสู่เมืองทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นปัญหาที่ดิน จึงส่งผลกระทบทั่วทั้งสังคม ไม่ใช่ปัญหาที่จำกัดวงเฉพาะในภาคชนบทเท่านั้น


เมื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯแล้วพบว่าเป็นรูปธรรมอย่างมาก เป็นการเสนอแก้ไขที่ดินทั้งระบบทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว

ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การให้โอกาสและให้สิทธิคนจนที่ต้องคดีการบุกรุกที่ดินให้เข้าถึงและให้ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

การแแก้ไขปัญหาระยาวเช่น การจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรต่อครัวเรือน การจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะ (สามารถเปิดเเผย)ได้ เพื่อใช้ในการจัดการที่ดินให้เป็นธรรม การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินทำหน้าที่ซื้อที่ดินไปจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ถ้าเกินเพดานที่กำหนดให้เก็บอัตราสูง (อาจนำเงินส่วนนี้ไปเป็นทุนธนาคารที่ดิน) กำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างชัดเจน


ในข้อเสนอเหล่านี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วคือ การทำให้ข้อมูลการถือครองที่ดินเป็นข้อมูลสาธารณะโดยการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 9 กำหนดให้ข้อมูลการถือครองที่ดินในหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต้องจัดให้ประชาชนตรวจดู รวมทั้งค้นหาได้ทางเว็บไซต์

การที่เอาข้อมูลการถือครองที่ดินของบรรดามหาเศรษฐีหรือนิติบุคคลต่างๆ มาเปิดเผยต่อสาธารณะ น่าจะทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคมต่อบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นด้วย และอาจเป็นแรงผลักดันทางหนึ่งให้กระบวนการการปฏิรูปที่ดินเคลื่อนที่ไปได้


ถ้านายกรัฐมนตรีมีเจตจำนงแน่วแน่ในเรื่องนี้น่าจะทำเรื่องนี้ก่อน เป็นการวางมัดจำให้เห็นว่า มีความจริงใจในการปฏิรูปที่ดินจริง มิใช่ดีแต่ลมปากเหมือนนักการเมืองหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา.

.

2554-02-23

นักเลงและเจ้าพ่อ และ นักเลงใต้ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นักเลงและเจ้าพ่อ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 28


ขุนแผน และพ่อขุนแผนเป็นนักเลงใช่หรือไม่?

ตอบยากนะครับ เพราะ "นักเลง" ในสมัยที่แต่งขุนช้างขุนแผนมีความหมายไม่เหมือนที่ใช้กันในปัจจุบัน หากใช้ในความหมายปัจจุบัน ผมคิดว่าใช่ เพราะทั้งสองคนต่างใจถึง, มี "อำนาจ" พร้อมทุกอย่างที่นักเลงพึงมี เช่น เก่งในทางรบราฆ่าฟัน, คงกระพันชาตรี, เป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก และอิงแอบหรือโยงใย-ห่างๆ หรือใกล้ชิด -กับอำนาจรัฐ

แต่ถ้าใช้ในความหมายโบราณ ขุนแผนและพ่อไม่ใช่นักเลงแน่นอน เพราะในสมัยนั้นนักเลงมีความหมายถึงคนที่มัวเมาในอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน เช่นนักเลงบ่อนเบี้ย, นักเลงสุรา เป็นต้น ค่อนไปทาง "นักเลงหัวไม้"

แม้คำว่านักเลงจะมีความหมายใหม่ แต่ความหมายเก่าดังกล่าวก็ยังใช้กันมาจนเมื่อผมเป็นเด็ก เช่นที่เรียกชายเจ้าชู้ว่า "นักเลงผู้หญิง" หรือแม้แต่ "นักเลงหนังสือเก่า" ก็หมายถึงคนที่เก็บสะสมหนังสือเก่าจนเป็นที่รู้จัก (และเกรงขามในวงการสะสมหนังสือเก่า) กันทั่วไป

ความหมายใหม่ของคำว่านักเลงดังที่ผมนิยามไว้ข้างต้นนั้น อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า เป็นความหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อชุมชนชาวนาพากันผลิตเพื่อป้อนตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น หลังถูกบังคับให้เปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาบาวริง



ภาพของความขัดแย้งระหว่าง "ประมุขศิลป์" (leadership) สองชนิดยังเห็นได้ชัดในสมัย ร.6 นั่นคือพฤติกรรมของ "เสด็จเตี่ย" หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์"

ประมุขศิลป์" ของชนชั้นเจ้าซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ประมาณสมัย ร.4-5 นี้เอง ย่อมต้องอิงอยู่กับความเป็นผู้ดีมีการศึกษาและ "ศีลธรรม" (ซึ่งก็นิยามกันขึ้นใหม่ในสมัยเดียวกัน) เสด็จเตี่ยนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำรงประมุขศิลป์อย่างชนชั้นเจ้า โดยเฉพาะหากท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงทางราชการ แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม ตำแหน่งราชการที่ท่านได้รับมาไม่ถึงกับสูงเด่นเท่าใดนัก

ความนิยมชมชื่นและยกย่องให้เป็น "ผู้นำ" ของท่าน กลับมาจากชื่อเสียงทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และเวทมนตร์คาถา นอกจากท่านจะนิยมนุ่งโสร่งถือไม้ตะพดเหมือน "นักเลง" ในสมัยนั้นแล้ว ยังมีชื่อเสียงทางด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

วัตรปฏิบัติของ "เสด็จเตี่ย" นั้นเป็นที่ชื่นชม และนับถือศรัทธาในหมู่ประชาชนอย่างมาก แต่ก็คงขวางหูขวางตาเจ้านายไปพร้อมกัน เพราะเจ้าย่อมไม่ทำอย่างนั้น

จนถึงทุกวันนี้ "เสด็จเตี่ย" ก็ยังเป็นที่นับถือบูชาของผู้คนเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ในฐานะเจ้านายผู้เคยว่ากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หรือกองทัพนั้นกองทัพนี้ นั่นเป็นเรื่องของราชการซึ่งมีหน้าที่อัญเชิญผีเจ้าผีนายมาประทับหน้ากระทรวง


อำนาจของนักเลงในความหมายใหม่นี้มาจากไหน?

คําตอบคือ มาจากสองทาง หนึ่งมาทางไสยศาสตร์ นอกจากห้อยเครื่องรางของขลังเต็มคอแล้ว ยังมักมีรอยสักเต็มตัวไปด้วย (จนเมื่อผมเป็นเด็กนั้น ถือกันว่า "ผู้ดี" ย่อมไม่สักเป็นอันขาด) และสอง มาทางประสบการณ์ นักเลงต้องมีประวัติ (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ที่ได้ผ่านการต่อสู้มาโชกโชน และด้วยเหตุดังนั้น จำนวนไม่น้อยจึงมาจากคนในอาชีพทหารตำรวจ (ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในราชการแล้ว) และโจร

อำนาจอีกอย่างที่มักพูดถึงกันมากคืออำนาจทางสังคม ได้แก่การปกป้องดูแลคนในชุมชนหรือเครือญาติ ไม่ให้ใครมาหมิ่นหรือมารังแก ในขณะเดียวกัน ก็จัดการให้อยู่ร่วมกันได้โดยปรกติสุข "นักเลง" ทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะเขามีอำนาจสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว และอาจใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่จะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการ

แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ใช่เพียงเท่านี้ เท่าที่ผมได้เคยพบ "นักเลง" มาในชีวิต ผมพบว่าเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าชาวบ้าน อย่างน้อยก็พออุปถัมภ์ค้ำจุนชาวบ้านบางรายได้ นอกจากนี้ ยังมีเครือญาติ (ทั้งจริงและเสมือน) ในชุมชนมาก และหลายครั้งมักเป็นญาติทางเมีย

เหมือนพระเอกในเรื่อง "ทุ่งมหาราช" จีบเมียคนแรกว่า เอ็งมาเป็นเมียข้าเถิด เพราะข้านี่แหละจะเป็นผู้นำของคนในชุมชนนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเป็นคนนอกเพิ่งโผล่เข้ามาในชุมชนเป็นครั้งแรก

อำนาจอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ "นักเลง" มักจะสามารถเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐได้โดยทางใดทางหนึ่ง เชื่อมอย่างเป็นทางการก็ได้ เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือตัวนักเลงนั้นเป็น "ลูกน้อง" ของข้าราชการผู้ใหญ่อีกทีหนึ่ง

เมื่อผมเป็นเด็กนั้น แถวบ้านผมซึ่งก็อยู่สุขุมวิทนี่เอง มีนักเลงอยู่คนหนึ่ง เมื่อผมพบเขานั้นเขามีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีบารมีในหมู่ผู้คนแถวนั้นอยู่ (ยกเว้นพวกผู้ดีที่เริ่มมาปลูกบ้านเรือนหนีสงคราม) เรือนของเขาอาจใหญ่กว่าเรือนเพื่อนบ้านเล็กน้อย แต่ก็ดูไม่ได้โดดเด่นใหญ่โตเป็นพิเศษอะไร แต่ลูกสาวของเขาคนหนึ่ง แต่งงานเป็นเมียของนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งซึ่งปลูกเรือนอยู่ไม่ไกลจากเรือนของเขา

นี่ก็เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐอย่างหนึ่ง



ผมยังอ่านไม่เจองานศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขทางสังคมของ "นักเลง" แต่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคลิกภาพซึ่งมักพูดถึงกันอยู่เสมอแต่เพียงด้านเดียว

นักรัฐศาสตร์ได้พูดถึงบุคลิกภาพ "นักเลง" กันมานานแล้วว่า เป็นหนึ่งใน "ประมุขศิลป์" แบบไทย ไม่เฉพาะแต่เพียงในระดับชุมชน แต่รวมไปถึงระดับชาติด้วย ผมขอย้ำนะครับว่าไม่ใช่แบบเดียว แบบ "นักเลง" อาจไม่เหมาะสำหรับการนำในสถานการณ์ที่ยังมีเงาของระบียบเหลืออยู่บ้าง

สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้การนำแบบ "นักเลง" อย่างมากนั้น ได้รื้อทำลายระเบียบทางการเมืองทั้งหลายลงโดยสิ้นเชิง เรียกการยึดอำนาจของตัวว่า "ปฏิวัติ" เพื่อให้หมายถึงการรื้อไปถึงระดับรากฐาน แม้จะนำประชาธิปไตยกลับมาสักวันหนึ่งข้างหน้า ก็เป็นประชาธิปไตยแบบพิเศษที่เรียกว่า "แบบไทย"

สถานการณ์ที่จะทำอย่างนั้นไม่เคยเกิดในเมืองไทยอีก ยกเว้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ประกาศแผนทางการเมืองของตนอย่างนั้น แต่บุคลิกภาพและสถานะของธานินทร์นั้น ห่างจากความเป็น "นักเลง" ลิบลับ คำประกาศของเขาจึงเป็นเรื่องตลกที่เรียกเสียงฮาได้ทั่วแผ่นดิน

นักรัฐประหารหลังจากนั้นพยายามจะเป็นสฤษฎิ์ เช่น กระชากเสียงเมื่อปราศรัยว่า "พี่น้องประชาชนที่รัก" แต่ตัวจ๋องกรอด จึงฟังดูน่ารื่นเริงมากกว่า และที่สำคัญกว่าคือ สถานการณ์ไม่อำนวยให้รื้อระเบียบการเมืองไปสู่ความไร้ระเบียบอย่างสิ้นเชิงเหมือนสฤษฎิ์



ผมพูดเรื่องนี้เพื่อบอกว่าประมุขศิลป์แบบ "นักเลง" นั้นใช้ได้ดีกับคนไทยในบางสถานการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยเองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ "นักเลง" ไทยก็เปลี่ยนตามไปด้วยนะครับ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือเพศสภาพ คุณสมบัติของ "นักเลง" นั้นสร้างขึ้นจากความเป็นชายในทัศนะของไทยโดยแท้ แต่เดี๋ยวนี้เรามี "ตั้วเจ๊" คุมแพปลา คุม ส.ส. หรือคุมรถทัวร์ และคุม ส.ส.อยู่หลายคน เท่าที่ผมได้อ่านประวัติของคนเหล่านี้ ก็ไม่เคยไปต่อยตีกับใคร ไม่ได้ชื่อว่าคงกระพันหนังเหนียว แต่ "เลี้ยง" คนไว้มาก ทั้งเลี้ยงโดยตรงและโดยอ้อม

เรียกอีกอย่างหนึ่ง คนเหล่านี้คือ "เจ้าแม่" ซึ่งเป็นคนละเพศกับ "เจ้าพ่อ" แต่ทั้ง "เจ้าแม่" และ "เจ้าพ่อ" นั้น ผมคิดว่าไม่ใช่ "นักเลง" และไม่เชิงว่าจะเป็นทายาทของ "นักเลง" ด้วย หากเป็นสิ่งเกิดใหม่ในสังคมไทยหลังนโยบายพัฒนาของสฤษฎิ์นี่เอง

สิ่งที่เหมือนกับนักเลงก็คือ มีสมรรถนะจะใช้ความรุนแรงได้ จึงสามารถข่มขู่ว่าจะใช้ก็ได้ด้วย มีสมรรถนะที่จะให้ความอุปถัมภ์แก่คนอื่นในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แท้ๆ คือใช้ความสัมพันธ์นี้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตน เช่น ให้กำลังแก่ตนในการผูกขาดในตลาดที่อ้างว่าเสรี และอย่างที่สามคือ มีสมรรถนะจะเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐอย่างออกหน้า

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง "นักเลง" กับเจ้าพ่อก็คือ ความสัมพันธ์ภายในของกลุ่ม จะเป็นเพราะ "นักเลง" อยู่ในกลุ่มที่เล็กกว่าหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ "นักเลง" มีความสัมพันธ์กับพรรคพวกในแนวค่อนข้างราบ ลูกพี่อาจเหนือลูกน้องหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ใช่เจ้าใหญ่นายโตที่เข้าถึงได้ยาก ส่วนเจ้าพ่อนั้นเป็นสุดยอดของปีรามิดใหญ่ ที่สัมพันธ์กับคนอื่นจากบนลงล่าง ที่อยู่ฐานปีรามิดนั้นจะเข้าถึงเจ้าพ่อไม่ได้ง่าย

เจ้าพ่อที่พยายามรักษาความสัมพันธ์แบบ "นักเลง" เอาไว้ก็มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น "กำนันคนดัง" หรือ "เฮียคนดัง" ซึ่งเปิดให้คนเล็กคนน้อยมาร้องทุกข์ได้ หรือลงไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้านในอาณาบริเวณบ่อนของตน แต่เมื่อเจ้าพ่อขยายกิจการของตนเข้าไปลงทุนในกิจการที่อยู่ในแสงสว่าง ก็ยากจะรักษาความสัมพันธ์เช่นนี้ไว้ได้ บางครั้งอาจเกิดขัดผลประโยชน์กับเจ้าพ่อเสียเองก็ได้ เช่น หากอยากสร้างคอนโด ก็ต้องไล่ที่ชาวบ้าน

สมรรถนะสองอย่างของเจ้าพ่อที่เหมือน"นักเลง" คือใช้ความรุนแรงได้ และอำนาจจากการอุปถัมภ์ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ค่อยได้ เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวซึ่งสามารถทำได้เหนือกว่า "นักเลง" เสียอีก นั่นคือ สมรรถนะที่จะเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ จะเป็นรัฐส่วนกลางหรือรัฐท้องถิ่นก็ตาม

สมรรถนะที่จะเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเจ้าพ่อในปัจจุบัน แม้แต่ความรุนแรงก็อาจใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ

หลายครั้งอำนาจอุปถัมภ์ก็เอามาจากทรัพยากรสาธารณะอีกนั่นแหละ



คนดังเมืองสุพรรณเป็นตัวอย่างที่ดี ผมไม่เคยได้ยินใครเรียกเขาว่าเจ้าพ่อ แต่เขามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างมาก นอกจากเป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจซึ่งล้วนอยู่ในที่สว่างของเขาแล้ว ยังทำให้เขาคือผู้คุมอำนาจรัฐในสุพรรณไปได้เกือบหมด นับตั้งแต่ผู้ว่าลงมาถึงปลัดอำเภอ จะย้ายใครออกไป จะเอาใครมานั่งก็ได้ทั้งนั้น

ในขณะเดียวกัน เขาก็สละทรัพย์ส่วนตัวสร้างสาธารณูปโภคในชื่อของตนเองและครอบครัวไปทั่วเมืองสุพรรณ เป็นอำนาจเชิงอุปถัมภ์ซึ่งแตกต่างจาก "นักเลง" ตรงที่ไม่มีผู้รับที่เป็นบุคคล

ผมคิดว่าคนดังเมืองสุพรรณอยู่ตรงกลางระหว่าง "กำนันคนดัง" กับนักธุรกิจอีกมากในมุมสว่าง แต่มีสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐในรูปต่างๆ มากมาย ผมอาจตั้งคำถามว่าเจ้าของธุรกิจเกษตรขนาดยักษ์ ที่มีธุรกิจข้ามชาติอีกหลายอย่างเป็นเจ้าพ่อหรือไม่ เจ้าของสื่อยักษ์ซึ่งเป็นที่เกรงขามของข้าราชการและนักการเมืองทั้งประเทศเป็นเจ้าพ่อหรือไม่


คนเหล่านี้ล้วนมีอำนาจเพราะเชื่อมโยงกับรัฐทั้งสิ้น

ผมนึกถามตัวเองว่า นักเลงและเจ้าพ่อจะมีอนาคตอย่างไรในเมืองไทย ผมอยากเดาคำตอบว่า นักเลงที่ไม่ได้หมายถึงนักเลงหัวไม้นั้นหมดไปแล้ว เหลืออยู่แต่บุคลิกภาพในอุดมคติที่คนไทยชื่นชอบ ส่วนเจ้าพ่อก็น่าจะหมดไปเหมือนกันในอนาคต โดยแปรตัวเองมาเป็นเสี่ย มีอำนาจก็เพราะเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ ใช้รัฐนั่นแหละตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก และใช้รัฐนั่นแหละโอบอุ้มคนในสังกัดของตน

(ผมได้รับแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ เมื่อได้อ่าน "Rural male"s leadership, religion and the environment in Thailand"s mid-south, 1920"s-1960"s," ของ อาจารย์เครก เรย์โนลดส์ ซึ่งจะตีพิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies)



++

นักเลงใต้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 31


ถ้าเราอยู่ในป่าคนเดียว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีอัตลักษณ์ ความเป็นตัวเราและความเป็นอื่นอาจเบลอเข้าหากันจนกระทั่งเผลอฉี่ลงโป่งสัตว์ กวางตัวเมียอาจมาเลียแล้วเลยท้อง จนได้ลูกสาวมาสักคนจากท้องกวาง อย่างที่ฤษีในราม-เกียรติ์โดนมาแล้วก็ได้

เช่นเดียวกับเมื่อเกิด "ชาติ" ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองขนาดใหญ่ ที่รวมเอาหน่วยทางการเมืองเล็กๆ ของชุมชนหลากหลายชนิดเข้ามาไว้ด้วยกัน หรือเมื่อผลของโลกาภิวัตน์ผนวกเอาหน่วยเล็กๆ ตั้งแต่ชุมชนไปถึง "ชาติ" เข้าไปอยู่ในหน่วยทางเศรษฐกิจโลก (และการเมือง, วัฒนธรรม) ผลประโยชน์ของหน่วยที่เล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติ, ท้องถิ่น, หรือชุมชน ก็ถูกละเลยและละเมิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถเป็นฤษีในป่าตนเดียวได้อีกต่อไป

หนึ่งในการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยที่เล็กกว่าเหล่านี้ไว้ไม่ให้ถูกละเลยและละเมิดก็คือ สร้างอัตลักษณ์ของตนขึ้นให้เด่น, ให้ต่าง, ให้มีคุณค่าต่อสภาวการณ์ใหม่ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่กว่า หากไม่ถูกกลืนหายไปเป็นส่วนที่ไม่ต้องนับของหน่วยใหญ่นั้น

ในบรรดาคนไทยในภาคต่างๆ ของไทยนั้น ผมคิดว่าอัตลักษณ์ที่เด่นดังที่สุดน่าจะเป็นของคนใต้ เพราะสร้างได้เข้มที่สุดหนึ่ง และเพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่พรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงอีกหนึ่ง


ใครๆ ก็เคยได้ยินใช่ไหมครับว่า คนใต้เป็นคน "จริง", พูดตรง แต่จริงใจ, รักพวกรักพ้อง, ใจกว้าง, ใจสู้, หยามไม่ได้, รักศักดิ์ศรี ฯลฯ

ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ใครๆ ซึ่งไม่ใช่คนใต้ก็อยากมีทั้งนั้น เพียงแต่จะมีได้ก็เป็นคนๆไป ไม่ใช่มีได้เหมือนกันหมดทั้งภาคเหมือนคนใต้

ผมพูดให้เฉลียวแหละครับว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนทั้งภาคจะเป็นอย่างนั้นหมด และในชีวิตจริงใครๆ ก็คงเคยพบคนใต้แหยๆ เป็นอ้ายเสือปืนฝืด ปลิ้นปล้อนไม่น่าคบ ฯลฯ หรือมีคุณสมบัติเหล่านั้นเพียงบางอย่าง

ดังนั้น อัตลักษณ์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และผมออกจะสงสัยว่าเพิ่งสร้างขึ้นในรัฐชาติไทยสมัยใหม่นี้เอง หรือจะให้กระชับกว่านั้นก็คือ เมื่อชาติไทยแทรกเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตคนใต้มากขึ้น คือหลังการพัฒนาของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ไปแล้วนี่เอง เอกสารสมัย ร.5-6 ซึ่งมักเรียกคนใต้ว่า "ชาวนอก" ไม่เห็นพูดถึงอัตลักษณ์พิเศษอะไรของคนใต้เลย นอกจากวัฒนธรรมประเพณีที่ลอกเลียนภาคกลางโบราณ แต่หยาบกว่า (ตามทัศนคติของชนชั้นสูงสมัยนั้น)

ใครสร้างอัตลักษณ์ของคนภาคใต้ขึ้นมา?

สรุปอย่างสั้นๆ คงต้องตอบว่านักวิชาการภาคใต้ แต่คงไม่ได้สร้างขึ้นจากอากาศธาตุ หากรวมเอาบุคลิกภาพของคนใต้ที่ตนรู้จักคุ้นเคยบวกกับจินตนาการของตนเอง แล้วประดิษฐ์หรือนิยามออกมาเป็นคำพูดในงานวิชาการของตนเอง

ที่นักวิชาการสร้างขึ้นเองแท้ๆ บวกเข้าไปก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า "โลกทรรศน์" มีงานวิชาการที่ศึกษาโนรา, หนังตะลุง, วัวชน, ประเพณีพิธีกรรม ฯลฯ ของคนใต้เพื่อค้นหา "โลกทรรศน์" ของคนใต้จำนวนไม่น้อย และ "โลกทรรศน์" ที่ได้ค้นพบก็สอดรับกับอัตลักษณ์ของคนใต้ที่สร้างขึ้นไว้อย่างสนิทแนบแน่น

อันที่จริง ผมไม่ทราบหรอกว่าเขาสร้างโลกทรรศน์ให้สอดรับกับอัตลักษณ์ หรือสร้างอัตลักษณ์ให้สอดรับกับโลกทรรศน์

แต่สองอย่างนี้ในงานวิชาการ ต่างหนุนเสริมกันและกันดี

ในงานศึกษามานุษยวิทยาทางการเมืองของ Marc Askew เรื่อง Performing Political Identity ผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้อัตลักษณ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นนี้ไปทำให้คนใต้รู้สึกว่า ประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ได้อย่างไร

เรื่องนี้น่าสนใจ แต่ผมจะยกให้ผู้อ่านที่สนใจเหมือนกันไปหาอ่านเอาเอง ผมอยากชวนคุยในเรื่องกลับกันว่า ทำไมคนใต้จึง(ร่วม)สร้างและรับเอาอัตลักษณ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้



จะว่าไป ภาคใต้ประสบความเปลี่ยนแปลงมากและก่อนภาคอื่นในการเข้าสู่ความทันสมัย ก่อนที่จะสร้างทางรถไฟสู่ภาคอีสาน ภาคใต้ตอนล่าง (ไม่รวมหัวเมืองมลายู) มีการค้ากับต่างประเทศโดยตรงและติดต่อใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ โดยทางเรือมาก่อน การทำเหมืองฉีด (ของจีน) และสวนยางพาราก็เข้ามาก่อน และเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนใต้ทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง อาณานิคมของอังกฤษทางตอนใต้ยังมีผลต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของคนใต้อยู่ไม่น้อย

ยิ่งมาในตอนหลังนโยบายพัฒนาภาคใต้เป็นแหล่งรายได้ที่ทำเงินตราต่างประเทศใหญ่ของประเทศไทย จากทั้งดีบุกและยางพารา การผนวกภาคใต้เข้ามาในราชอาณาจักรก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือภาคใต้ถูก "กลืน" เข้ามาในราชอาณาจักรสยามก่อนใคร (ยกเว้นภาคกลางตอนล่าง) เกิดความจำเป็นจะต้องนิยามอัตลักษณ์ของตนขึ้นใหม่ ท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ที่กำลังถูกละเลยและละเมิดจากส่วนกลาง

ขอให้สังเกตนะครับว่า อัตลักษณ์ของคนใต้ที่ถูกสร้างขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจ, รักพวกพ้อง, พูดจริงทำจริง, ใจสู้, กล้าได้กล้าเสีย, ฯลฯ ก็คือคุณลักษณะของ "นักเลง" นั่นเอง

ความเป็น "นักเลง" คืออะไรเล่าครับ

ความหมายสำคัญที่ผมคิดว่าช่วยสร้างอำนาจต่อรองให้แก่คนใต้ในสภาวการณ์ใหม่ก็คือ มึงอย่ามายุ่งกับกู ยกเว้นแต่ยุ่งตามกติกาที่กูตั้งขึ้น

มึงก็คือ "คนอื่น" ซึ่งผมคิดว่าหมายถึงรัฐส่วนกลาง ไปจนถึงนายทุนที่เป็นคนนอก ศิลปวัฒนธรรมของคนนอก ภาษาและกิริยามารยาทแบบ "นาย" หรือข้าราชการซึ่งเป็นคนนอกเช่นกัน

"นักเลง" คือการสร้างอิสรภาพในการปกครองตนเองเชิงสัญลักษณ์ (symbolic autonomy) ขึ้นนั่นเอง และภาพนี้แหละที่ทำให้คนใต้กลายเป็น "คนดุ" ในสายตาของคนภาคอื่น ผมจำได้ว่าสัก 30 ปีมาแล้ว แทบจะหาเอนจีโอทำงานในภาคใต้ไม่ได้เลย คำอธิบายที่ผมทราบจากเอนจีโอคือ ไม่มีใครอยากไปอยู่ เพราะคิดเอาเองว่าคงเข้าถึงชาวบ้านไม่ได้

แปลออกมาเป็นภาษาวิชาการด้านโลกทรรศน์ของนักวิชาการภาคใต้ก็คือ คนใต้เป็นคนรักอิสระ ไม่ยุ่งกับคนอื่นและไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับตน

เมื่อเปรียบเทียบกับอัตลักษณ์ของคนภาคอื่น (ซึ่งผมเชื่อว่าก็สร้างขึ้นใหม่เพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน) จะเห็นว่าเป็นตรงข้ามเลยทีเดียว

แทนที่คนภาคเหนือและอีสานจะพยายามเน้นความต่างที่ไม่มีวันจะถูกกลืนหายไปใน "ความเป็นไทย" แบบภาคกลาง เขากลับพยายามจะกลืนตัวเองเข้าไปในรัฐมากกว่า เช่นแต่ก่อนนี้ทั้งสองภาคไม่ชอบให้คนอื่นมาเรียกตัวว่า "ลาว" ต่างยืนยันว่าตนเป็น "ไทย" เป็นต้น

แทนที่จะเป็น "นักเลง" คนเหนือและอีสาน (โดยเฉพาะในงานวิชาการ) กลับเป็นคนเรียบร้อย มีความร่วมมือกันเองอย่างสูงในชุมชน เคร่งศาสนา และมีไมตรีกับคนแปลกหน้า

ในขณะที่วีรบุรุษและสตรีของคนใต้ คือคนที่มีความสามารถเด่นดังในภูมิภาค จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับอยุธยาหรือประเทศไทยหรือไม่ก็ไม่สู้จะสำคัญนัก นับตั้งแต่นางเลือดขาว, หลวงปู่ทวด, ปานบอด, ขุนนรากรอุปถัมภ์, พลต.ท.ขุนพันธ์ราชเดช มาจนถึงจตุคามรามเทพ

(ท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทรดูจะเป็นวีรสตรีของราชการไทยมากกว่าของคนใต้)

ในขณะที่วีรบุรุษและสตรีของคนเหนือและอีสาน หลังจากวีรกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายและญาคูขี้หอมแล้ว ก็ล้วนเป็นคนที่เด่นดังเพราะสนับสนุนกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่ท้าวสุรนารี, เจ้าพ่อพระยาแล, เจ้าดารารัศมี, ศิษย์พระอาจารย์มั่นอีกหลายรูปที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในอีสาน ฯลฯ

แม้แต่สี่อดีตรัฐมนตรีซึ่งที่จริงแล้วมีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างมาก ก็ไม่ค่อยมีคนยกขึ้นเป็นวีรบุรุษจากภาคอีสานนัก

อัตลักษณ์ของคนเหนือและอีสานถูกสร้างขึ้นเพื่อกลืนตัวเองเข้ามาในรัฐชาติอย่างเสมอภาคกับคนอื่น ไม่ใช่การแยกเป็นอิสระอย่างคนใต้ เพื่อ "เข้าร่วม" ในรัฐชาติไทยอย่างมีเงื่อนไขที่ตนพอใจ ไม่ใช่ถูกกลืนเข้ามาเฉยๆ โดยไร้ข้อต่อรอง



นักวิชาการภาคใต้บรรยายโลกทรรศน์ของคนใต้ว่า ระแวงอำนาจอาญาสิทธิ์ จึงชอบ "กบฏ" ทำจริงไม่ได้ก็ขอทำในทีไว้ก่อน

คนใต้ก็รู้สึกตนเองว่าถูกทอดทิ้งจากส่วนกลางเหมือนกัน แต่การถูกทอดทิ้งไม่ใช่ประเด็นหลักทางการเมืองของคนใต้ ในขณะที่เป็นประเด็นหลักทางการเมืองของคนอีสานมานาน

นักวิชาการภาคใต้บอกอีกว่า โลกทรรศน์ของคนใต้นั้นเน้นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม (จึงระแวงอาญาสิทธิ์) ผมไม่เคยเห็นผลงานวิชาการของภาคเหนือและอีสานที่พูดอย่างนี้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กลับมีการพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ค่อนข้างมาก เชื่อนายมีความจงรักภักดีต่อนาย ในขณะที่นายก็มีความเมตตาอารีต่อลูกน้อง

ผมไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่มีความสำคัญในภาคใต้ แต่การที่นักวิชาการมาสร้างอัตลักษณ์ให้เป็นนักประชาธิปไตย คือยึดมั่นต่อความเสมอภาค ก็มีผลให้พฤติกรรมทางการเมืองของคนใต้แตกต่างออกไปบ้าง (จนเป็นความเชื่อของประชาธิปัตย์โดยทั่วไปว่า คนใต้ "ซื้อไม่ได้" ผมไม่ทราบว่าเขาเชื่อจริงหรือเชื่อหลอก)

คุณแอสคิววิเคราะห์กลไกการเลือกตั้งของสงขลาแล้วบอกว่า "พวก" เป็นเงื่อนไขสำคัญในการโกยคะแนนเลือกตั้ง

ผมอยากให้สังเกตไว้ด้วยว่า "พวก" ในภาษาไทยค่อนข้างจะส่อให้เห็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม คล้ายกับคำว่า "เพื่อน" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงคะแนนทุกคนล้วนเป็น "พวก" ของผู้สมัครหรือผู้อุดหนุนผู้สมัคร เพราะในบรรดาคนที่สัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียมใน "พวก" เดียวกันนี้ ต่างก็มีลูกน้องเป็นเครือข่ายลงไปข้างล่างจำนวนมาก แต่ละคนก็ใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้ดึงเอาคะแนนจากลูกน้องของตนมาลงให้แก่ผู้สมัครของ "พวก"

ความสัมพันธ์อันหลังระหว่างนายหัวและลูกน้องนี่แหละที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งบางครั้งก็ย่อมมีการใช้เงินบ้างเป็นธรรมดา เพราะการ "ให้" เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบไทย คือเน้นความสูงกว่าของผู้ให้ และเน้นการยอมรับต่อผู้ด้อยกว่าไปพร้อมกัน

นักการเมืองที่เที่ยวแจกเงินโดยไม่มี "พวก" จึงเท่ากับสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันของตลาด กูอาจเลือกมึงหรือไม่ก็ได้ แต่เงินนั้นกูเอา

ไม่เหมือนกับ "เจ้าพ่อ" ในอีกหลายจังหวัดของภาคอื่น กล่าวคือเจ้าพ่อมีเครือข่าย แต่ทุกคนในเครือข่ายเป็นรองหรือเป็นลูกน้องของเจ้าพ่อหมด ไม่ใช่ "พวก" กลไกการเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องว่าเจ้าพ่อจะสนับสนุนใคร จึงจะขยับกลไกหรือเครือข่ายอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อทั้งหมด ให้เคลื่อนมาสู่การลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร



ในความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยที่มีรัฐสมัยใหม่ซึ่งค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ คนแต่ละภาคก็สร้างอัตลักษณ์ของตนขึ้น เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้

อัตลักษณ์เป็นเพียงเครื่องมือของการมีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่ใช่ลักษณะตายตัวที่ติดอยู่ในดีเอนเอ ดังนั้นจึงไม่ใช่ลักษณะที่หยุดนิ่งโดยไม่แปรเปลี่ยนเลย
ตรงกันข้ามกลับต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือที่ดีในความสัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเสมอ

และผมคิดว่า อัตลักษณ์ของคนทุกภาคในเวลานี้ก็กำลังเปลี่ยนหรือเปลี่ยนไปแล้วทั้งนั้น มีคนจำนวนมากขึ้นในทุกภาคที่มองตนเองแตกต่างจากที่นักวิชาการบรรยายไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรม



.

2554-02-22

เบื้องหลัง"วิจัย" บทบาท"พระสงฆ์" กับการเลือกฝ่าย"แดง-เหลือง-กลาง" โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.
เบื้องหลัง"วิจัย" บทบาท"พระสงฆ์" กับการเลือกฝ่าย"แดง-เหลือง-กลาง"
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 25


หลังจากผลวิจัยชื่อ "ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน" (ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย) ถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ตามมติและประกาศมหาเถรสมาคม (มส.) มีคำสั่งห้ามพระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด และต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ส่วนเรื่องแสดงความคิดเห็นนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นกลางและมีเหตุผลในการแสดงความเห็น..." (มติชน, 2 ก.พ.54, หน้า 15)

อันที่จริง คำว่า "วางตัวเป็นกลางทางการเมือง" นั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างจำแนกแยกแยะ จากการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยดังกล่าว

ผู้วิจัยพบว่า "ความเป็นกลางทางการเมือง" ไม่ใช่หลักการตายตัวที่พระสงฆ์จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติในการแแบ่งฝ่ายทางการเมือง" ไม่ใช่หลักการตายตัวที่พระสงฆ์จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติในการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในทุกกรณีเสมอไป

เช่น ถ้าเป็น "การเมืองของนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง" หรือการเมืองในความหมายของการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ควรวางตัวเป็นกลาง

แต่ถ้าเป็น "การเมืองของประชาชน" หรือการเมืองในความหมายของการปกป้องความเป็นธรรม หลักการประชาธิปไตย ชีวิตประชาชน การเรียกร้องสันติวิธี สันติภาพทางสังคม และ/หรือสันติภาพของโลก ตามหลักการทางพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

และแม้จำเป็นต้องเลือกฝ่ายก็ควรเลือก หากสามารถอธิบายได้ว่า การเลือกฝ่ายเช่นนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่ "การวางเฉย" แต่หมายถึงการแสดงบทบาทเป็นกลางในการวิพากษ์วิจารณ์ชี้ถูกชี้ผิดทุกฝ่ายอย่างเที่ยงธรรมและเท่าเทียม โดยยึดหลักการประชาธิปไตย ข้อเท็จจริง และหลักสันติวิธีเป็นเกณฑ์ในการแสดงบทบาทดังกล่าว

ทว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรากว่า 5 ปีมานี้ เป็นการเมืองที่ซ้อนๆ กันอยู่ ระหว่าง "การเมืองของนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง" กับ "การเมืองของประชาชน"

แต่จากภาวะที่ซ้อนๆ กันอยู่นั้น หากยึดหลักประชาธิปไตย หรือการยืนยันเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชนเป็นเกณฑ์ เราก็พอจะจำแนกได้ว่า ฝ่ายไหนที่ยืนยันหรือปฏิเสธเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชนที่ชัดเจนกว่า

(แม้ว่าทุกฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์เฉพาะตัวแฝงอยู่ก็ตาม)



จากสภาพความเป็นจริงทางการเมืองดังกล่าวนี้ ปรากฏว่า ท่าทีของพระสงฆ์มีทั้งวางเฉย เลือกฝ่าย และเป็นกลาง ผลสำรวจความคิดเห็น (โดยวิธีใช้แบบสอบถาม, การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเสวนาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย) ของพระสงฆ์จำนวน 512 รูป ประกอบด้วยพระราชาคณะ พระสังฆาธิการ พระลูกวัด ผู้บริหารคณาจารย์ และพระนิสิตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จากทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

กลุ่มแรก คือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ยืนยันว่า ท่านไม่ได้เลือกฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง โดยพระสงฆ์ในภาคใต้ไม่เลือกฝ่ายทางการเมืองมากที่สุด (68.0%) รองลงมาเป็นภาคกลาง (60.3%) ภาคเหนือ (60.3%) และไม่เลือกฝ่ายน้อยที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (40.0%) แต่ว่า ในจำนวนนี้มีทั้งที่บอกว่าเฉยๆ บ้าง ไม่สนใจการเมืองบ้าง ขอเป็นกลางบ้าง พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งการเมืองบ้าง ยังตัดสินใจไม่ได้บ้าง ฯลฯ

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มพระสงฆ์ที่ยืนยันชัดเจนว่าเลือกฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งมีทั้งที่ออกมาชุมนุม ไม่ออกมาชุมนุม และเป็นพระที่มีชื่อเสียงที่แสดงความคิดเห้นทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ

ในกลุ่มพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายทางการเมืองนี้ พระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดงมีจำนวนมากกว่า โดยพระสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลือกฝ่ายเสื้อแดงมากที่สุด (57.3%) รองลงมาเป็นภาคเหนือ (47.0%) ภาคกลาง (33.0%) และภาคใต้ (4.7%) ส่วนพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง พระสงฆ์ภาคใต้เลือกฝ่ายเสื้อเหลืองมากที่สุด (27.3%) รองลงมาเป็นภาคกลาง (6.7%) ภาคเหนือ (3.7%) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2.7%)

กลุ่มที่สาม คือพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในบ้านเราหลายรูปที่ถูกมองว่าเลือกสีนั้นสีนี้ แต่เมื่อผู้วิจัยไปสัมภาษณ์แล้ว ท่านยืนยันด้วยตัวท่านเองว่าเป็นกลาง ได้แก่

1. พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่ถูกสื่อและสังคมมองว่า เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง หรือเป็น "พระเสื้อเหลือง" คือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตยาลัย และพระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

2. พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่ถูกสื่อและสังคมมองว่า "เลือกฝ่ายแดง" หรือเป็น "พระเสื้อแดง" คือ พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว นนทบุรี และ พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (เนื่องจากวัดธรรมกายถูกมองว่าเลือกฝ่ายเสื้อแดง ท่านหลังนี้ ผู้วิจัยสัมภาษณ์ท่านในฐานะผู้แทนวัดธรรมกาย)

3. พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย พระคุณเจ้าท่านนี้มีบทบาทเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์นักสันติวิธี นักกิจกรรมสังคมและมีบทบาทในด้านความเป็นกลางอย่างที่เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะมากที่สุด



ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยต้องการทราบคือ พระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายทางการเมือง และที่เลือกเป็นกลางทางการเมือง ท่านมี "เหตุผลทางการเมือง" และ "เหตุผลทางจริยธรรม" อย่างไร

ผลสำรวจสรุปได้ว่า เหตุผลทางการเมืองในการเลือกฝ่ายของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่ใช่เหตุผลเรื่องตัวบุคคล หรือเหตุผลเรื่องสู้-ไม่สู้เพื่ออำนาจทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากแต่เป็นเหตุผลเรื่อง "ความถูกต้องทางการเมือง" นั่นคือ ต้องการประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร และต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชั่น

กล่าวคือ พระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมกับคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตย (49.3%)

และเพื่อต่อต้านรัฐประหาร (34.4%)

มีเพียงส่วนน้อย (5.7%) ที่เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ อีก

ส่วนพระสงฆ์ภาคอีสาน (77.7%) ภาคกลาง (68.3%) และภาคเหนือ (65.7%) ก็ยืนยันเหตุผลทางการเมืองเพื่อต้องการประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐประหาร

ยกเว้นภาคใต้ที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ (54.7%) อ้างเหตุผลเรื่องต้องการประชาธิปไตย ต่อต้านคอร์รัปชั่น และไม่ต้องการ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่าการต่อต้านรัฐประหาร คือมีพระสงฆ์ที่อ้างเหตุผลต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ 18% ขณะที่อ้างเหตุผลต่อต้านรัฐประหาร 15%

ส่วนเหตุผลทางจริยธรรม พระสงฆ์ส่วนใหญ่ต้องการให้สังคมมีความยุติธรรม ไม่ต้องการสองมาตรฐาน ต้องการเห็นการเมืองมีจริยธรรม/ธรรมาธิปไตย และต้องการให้ยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีตามลำดับ คือเหตุผลทางจริยธรรมของพระสงฆ์ที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง (70.0%) และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในภาคกลาง (64.0%) ภาคเหนือ (73.0%) และภาคอีสาน (77.7%) คือ เหตุผลเรื่องต้องการความยุติธรรม และไม่ต้องการสองมาตรฐาน แต่พระสงฆ์ภาคใต้ส่วนใหญ่ (60.0%) ต้องการเห็นการเมืองมีจริยธรรม/ธรรมาธิปไตย และต้องการให้ยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

สำหรับพระสงฆ์ที่ยืนยันว่าเป็นกลาง เช่น พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) พระไพศาล วิสาโล พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) พระกิตฺติโสภโณ เป็นต้น ต่างปฏิเสธรัฐประหาร ต้องการให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยแนวทางสันติวิธี

ฉะนั้น ผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่คือพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง กับพระสงฆ์ที่เลือกเป็นกลางทางการเมืองต่างยืนยันตรงกันว่า "ไม่เอารัฐประหาร"

มีเพียงท่านสมณะ โพธิรักษ์ (ผู้วิจัยสัมภาษณ์ท่านในฐานะตัวแทนสมณะสันติอโศก) ซึ่งสนับสนุนเสื้อเหลืองเท่านั้นที่ยืนยันว่า "รัฐประหารโดยคนไม่มีกิเลสหรือมีกิเลสน้อยเพื่อขจัดรัฐบาลคอร์รัปชั่น แล้วมาจัดการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นรัฐประหารที่ชอบธรรม"



จึงกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า เหตุผลในการเลือกฝ่ายหรือเลือกเป็นกลางทางการเมืองของพระสงฆ์เป็นเหตุผลที่อ้างอิง "การเมืองของประชาชน" เป็นหลัก แต่ในภาวะความซับซ้อนทางการเมืองที่เป็นอยู่จริง ไม่ว่าจะเลือกฝ่ายหรือเลือกเป็นกลาง ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหา "กลืนไม่เข้า คายไม่ออกทางศีลธรรม" (moral dilemma)

กล่าวคือ เลือกเป็นกลางก็เป็นกลางไม่ได้จริง เนื่องจากจารีตทางสังคมและกฎหมายไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ "อำนาจนอกระบบ" ได้อย่างเท่าเทียมกับที่ได้ทำกับอีกฝ่าย

เลือกเสื้อแดงก็เผชิญกับคำถามว่า พระสงฆ์ควรสนับสนุนบุคคลที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่

เลือกเสื้อเหลืองก็เผชิญกับคำถามเรื่องสนับสนุนอำมาตย์และรัฐประหาร

ถ้าวางเฉยก็ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อศีลธรรมเชิงสังคม เช่น การปกป้องหลักการประชาธิปไตย และชีวิตของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐที่เกินกว่าเหตุ เป็นต้น


แต่อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนามองว่า พระสงฆ์ที่เป็นกลางก็มีข้อเด่นเรื่องการยืนยันแนวทางสันติวิธี แต่จะดียิ่งขึ้นหากท่านแน่วแน่ในการยืนยันหลักการประชาธิปไตย ใส่ใจ "ความเป็นจริง" ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และใส่ใจปัญหาสองมาตรฐานต่างๆ ที่ยังดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่อยุติธรรมมากขึ้น

ส่วนพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง หากสามารถอธิบายได้ว่าท่านไม่สนับสนุนวิธีการรุนแรง ต้องการปกป้องสิทธิของประชาชนที่ถูกปล้นไปต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำมาตย์ ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรม เหตุผลของท่านก็ควรแก่การรับฟัง

และพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง หากท่านยืนยันได้ว่า ไม่ได้สนับสนุนรัฐประหารที่ปล้นสิทธิประชาชนหรือทำลายประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่ม ท่านก็อาจมีความชอบธรรมที่จะเลือกเช่นนั้น


สำหรับสถาบันสงฆ์ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักทางสังคม มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาว่า ควรแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางสังคมให้ชัดเจน เช่น แสดงออกในนามคณะสงฆ์เพื่อเรียกร้องสันติวิธี ปกป้องชีวิตประชาชน หรือยืนยันความเป็นธรรม และความสมานฉันท์ทางสังคม เป็นต้น

.

2554-02-21

ปฏิวัติอียิปต์...เริ่มแบบ 14 ตุลา ปัญหาไทย-กัมพูชา...หมากบนกระดาน โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
ปฏิวัติอียิปต์...เริ่มแบบ 14 ตุลา ปัญหาไทย-กัมพูชา...หมากบนกระดาน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ ( จากคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว )
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 08:29:35 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share


การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์เมื่อหลายวันก่อน พวกฝรั่งใช้คำว่า Revolution พวกเขาหมายถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลักษณะเป็นการปฏิวัติของประชาชน

แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในตอนสุดท้ายหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

แม้ประธานาธิบดีมูบารัคจะลาออก แต่องค์กรจัดตั้งของฝ่ายประชาชนที่จะขึ้นมารับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจยังไม่มีเลย การฝากอำนาจไว้กับสภา ซึ่งตั้งขึ้นมาจากกลุ่มอำนาจเก่า เป็นเรื่องที่ไว้วางใจไม่ได้

โอกาสของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ น่าจะอยู่ในภาวะการประนีประนอม ภายใต้การจัดการของอเมริกาเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอียิปต์ คือน้ำมันและคลองสุเอซ

ยิ่งใหญ่จนไม่สามารถปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

สำหรับมหาอำนาจ จุดที่เป็นยุทธศาสตร์ของโลกล้วนต้องอยู่ภายใต้การควบคุม การขึ้นและลงจากของอำนาจของมูบารัค จึงต้องถูกจัดการให้เรียบร้อย


ถ้าให้วิเคราะห์การเมืองของอียิปต์จากสถานการณ์ล่าสุด หลายคนคงมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันอย่างมาก ผู้กุมอำนาจเผด็จการสูญเสียอำนาจและต้องลาออกไป แต่โครงสร้างของอำนาจเผด็จการและกลุ่มคนที่อยากได้อำนาจที่มีตำแหน่งรองลงมายังอยู่เหมือนเดิม

ประชาชนไม่มีองค์กรจัดตั้งที่จะเข้ามารองรับอำนาจ ไม่มีกองกำลังที่จะต่อรอง อำนาจจึงไม่มีวันหล่นลงมาถึงประชาชนได้

ประชาชนจะเป็นเพียงตัวประกอบที่ถูกผลักดันเข้าไปในระบบประชาธิปไตยใหม่อย่างมากที่สุดก็คงจะทำได้เพียงหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไทยเหมือนกับอียิปต์ ตรงที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อเมริกาทิ้งไม่ได้

ช่วงเวลานั้นสงครามเวียดนามกำลังตึงเครียด การสู้รบกระจายไปทั่วทั้ง 3 ประเทศอินโดจีน สมรภูมินี้เป็นเหมือนการทำสงครามของตัวแทนค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีรัสเซียและจีนเป็นพี่ใหญ่ ต้องต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพ่ายแพ้

ไทยเป็นฐานที่มั่นและฐานทัพทางสงคราม เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อเมริกาทิ้งไม่ได้ วันนั้นอเมริกาทำทุกอย่างเพื่อควบคุมประเทศไทยให้อยู่ในมือ

เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จึงเกิดขึ้น



วันนี้อียิปต์ไม่เพียงมีคลองสุเอซที่เชื่อมมหาสมุทร แต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ กำลังแปรไปสู่ความไม่แน่นอน

จากอียิปต์ข้ามคลองสุเอซไปไม่กี่ไมล์ ก็คือตะวันออกกลางทั้งหมด ถ้าใช้เครื่องบินรบสมัยใหม่ก็สามารถควบคุมได้หมดแล้ว

จุดนี้จึงเป็นจุดที่คุมมหาสมุทร คุมทะเล คุมภูมิภาค คุมน้ำมัน จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเช่นนี้ จะคลายมือออกได้อย่างไร

ดังนั้น หลังการปฏิวัติเดือนกุมภา2011ในอียิปต์ ประชาชนชาวอียิปต์เกือบ 80 ล้านคนคงไม่อาจทำอะไรตามใจตนเอง

จากวันนี้พวกเขาจะต้องถูกชักนำให้เลือกรัฐบาลสายกลางที่ไม่ปฏิเสธชาติตะวันตก

และอีกไม่เกิน 3 เดือน การเดินหมากการเมืองในอียิปต์จะต้องเข้มข้นขึ้น เมื่อยกที่ 1 ของประชาชนหยุดลง ในยกที่ 2 จะได้เห็นบทบาทของพวกหัวรุนแรงนิยมศาสนาปะทะกับกลุ่มขวาจัดที่ตะวันตกหนุนหลัง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มรักประชาธิปไตยและพวกนิยมสายกลางจะมีโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐได้ จะต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มทหารอียิปต์ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในขณะนี้

บทบาทของทหารอียิปต์ที่ผ่านมา เพียงแค่พวกเขาไม่ "กระชับพื้นที่" ตามแรงผลักดันของมูบารัค สถานการณ์นองเลือดร้ายแรงก็ไม่เกิดขึ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดผลดีต่อฝ่ายประชาชน โดยมูบารัคต้องลาออก

แต่ในยกต่อไป ทหารอียิปต์จะวางตัวอย่างไร ไม่มีใครรู้

วันนี้ Revolution ในอียิปต์ ผ่านไปเพียงช่วงแรกเป็นการเริ่มต้นแบบ 14 ตุลาคม 2516 ต้องเอาใจช่วยให้ความฝันของคนอียิปต์เป็นจริงต่อไป แต่ประเมินจากโครงสร้างอำนาจเดิม คาดได้ว่า ประชาธิปไตยที่จะได้มาคงไม่ง่ายและไม่สวยหรูอย่างที่คิด การต่อสู้จะต้องมีอีกหลายยกแน่นอน

ดูเหมือนอนาคตของชาวอียิปต์จะขึ้นอยู่กับ ความคิดของประธานาธิบดีอเมริกา กลุ่มทหารในอียิปต์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง และการกล้าต่อสู้ของกลุ่มรักประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปี

ได้แต่หวังว่าบทจบจะไม่เป็นเช่น 6 ตุลา 2519 ของประเทศไทย



ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เรื่องนี้ทำท่าจะไม่จบลงง่ายๆ แต่ก็ไม่ขยายเป็นสงครามใหญ่โต กลายเป็นกระดานโชว์ฝีมือการเดินหมากการเมืองของผู้นำทั้งสองฝ่าย

วันนี้คนไทยเห็นท่าทางผู้นำกัมพูชา อาจคิดไปว่าคนกัมพูชาไม่กลัวสงคราม ที่จริงแล้วคนกัมพูชากลัวสงครามที่สุด ภาพที่เราเห็นในสื่อต่างๆ เป็นการแสดงบทบาทของนายกฯ ฮุนเซน ซึ่งทำหน้าที่ได้เหนือกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะนายกฯ ฮุนเซนในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาแล้วถึง 6 ปี ในช่วงที่มีความขัดแย้งภายในประเทศค่อนข้างสูง และต้องพึ่งพาองค์กรระหว่างประเทศ ความรู้ ความชำนาญ การเมืองระหว่างประเทศของนายกฯ ฮุนเซนจึงอยู่ในขั้นปรมาจารย์

แต่นายกฯ ฮุนเซนก็เหมือนกับชาวกัมพูชาคนอื่น พวกเขารู้ถึงภัยร้ายของสงครามดี เพราะตลอดชั่วชีวิตของเขาอยู่กับสงคราม ข่าวล่าสุดจากเพื่อนในกัมพูชาแจ้งว่า ตัวนายกฯ กับประชาชนทั้งประเทศ ยังต้องทำบุญเพื่อหวังให้ผลบุญช่วยมิให้เกิดสงครามอยู่ทุกปี

อย่าเปรียบเทียบความรู้สึกของคนไทยกับคนกัมพูชาในเรื่องของสงคราม คนไทยอาจจะรู้สึกเหมือนดูหนัง แต่คนกัมพูชาทั้งเกลียดและกลัว สงครามสร้างความหวาดผวาจนถึงทุกวันนี้

คนกัมพูชาอายุ 30 ปีขึ้นไป เคยพบกับความยากลำบากในสงครามแต่ถ้าอายุ 40-70 ปี จะเคยร่วมอยู่ในสงครามหลายครั้ง แทบทุกครอบครัวเคยเสียญาติพี่น้อง พบความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส คนไทยอย่างมากก็เห็นทหารอเมริกันและเครื่องบินขึ้นลง นำระเบิดไปทิ้ง แต่พวกเขาต้องทนรับแรงระเบิดเป็นแสนๆ ลูก อยู่ในวังวนการสู้รบติดต่อกันหลายปี

บางคนเคยอยู่ในสภาพนี้ถึง 20-25 ปี และหลายคนต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพของผู้ลี้ภัย ครอบครัวต้องพลัดพราก หลายคนต้องทุกข์ยากภายใต้การปกครองของเขมรแดง


วันนี้ชีวิตพอจะดีขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่ พวกเขาก็ได้นึกถึงคำทำนายที่มีมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว...

...นับตั้งแต่สงครามเวียดนามลามเข้าสู่กัมพูชาในปี 1969 อเมริกาได้ทิ้งระเบิดในกัมพูชาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ฝูงบิน B-52 บินขึ้นจากฐานทัพในประเทศไทยไปทิ้งระเบิด ทำให้ประชาชนกัมพูชาต้องเลือกว่าจะอพยพเข้าพนมเปญหรือเข้าร่วมกับเขมรแดง และอเมริกาก็ได้สนับสนุนนายพลลอนนอนทำการรัฐประหารเจ้าสีหนุในเดือนมีนา 1970 ขณะที่เสด็จเยือนปักกิ่ง

เพื่อนที่อยู่ในกัมพูชาเล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลานั้น เขายังเป็นแค่เด็กประถม ได้รับจดหมายซึ่งเป็นคำทำนาย มีลักษณะเป็นจดหมายลูกโซ่ กล่าวกันว่าเป็นพุทธทำนายค้นพบโดยฤาษีองค์หนึ่ง คำทำนายได้กล่าวถึงสงครามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชา 3 ครั้ง

คำทำนายสงครามครั้งแรกคือ
"เลือดนองท่วมท้องช้าง บ้านเมืองร้างไร้ผู้คน ท้องถนนจะว่างเปล่า"

ในครั้งนั้นเขาไม่เชื่อและได้เถียงกับเพื่อนๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ต่อมา สงครามก็ได้ขยายขอบเขตเข้ามาถึงเมืองหลวงพนมเปญ 17 เมษายน 1975 เขมรแดงยึดพนมเปญได้ จากนั้นไม่นานประชาชนในพนมเปญก็ถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่ในชนบท เขาได้เห็นบ้านเมืองไร้ผู้คนและท้องถนนว่างเปล่าจริงๆ

คำทำนายที่สอง
"ไฟสงครามลามมาจากตะวันออก อัศวินม้าขาวจากตะวันตกจะเข้ามาช่วย"

แม้สงครามเวียดนามจะยุติลงแล้วแต่ความขัดแย้งระหว่างเขมรแดงกับเวียดนามขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนธันวาปี 1978 กองทัพเวียดนามก็บุกเข้ากัมพูชา ยึดพนมเปญได้ ขับไล่เขมรแดงออกไป แต่การสู้รบก็ไม่ยุติง่ายๆ ไทย, อเมริกา และจีนสนับสนุนรัฐบาลเขมรสามฝ่ายซึ่งมีเขมรแดงร่วมอยู่ด้วย โดยอาศัยชายแดนไทยและรัฐบาลไทยเป็นฐานการสู้รบ คราวนี้การสู้รบติดต่อยาวนานถึง 10 ปี

มีสงครามมาจากตะวันออกจริงๆ เพราะเวียดนามอยู่ทางตะวันออกของกัมพูชา เดือนกันยาปี 1989 เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา และให้ UNTAC เข้าไปดูแลแก้ไขความขัดแย้ง ขบวนรถสีขาวตัวอักษรสีฟ้าของสหประชาชาติพร้อมเจ้าหน้าที่ฝรั่งหลายชาติวิ่งเป็นขบวนยาวเหยียดเข้าไปในกัมพูชา

อัศวินม้าขาวจากตะวันตกมาช่วยแล้วจริงๆ

UNTAC จัดให้มีการเลือกตั้งปี 1993 จากนั้นอิทธิพลของเขมรแดงก็อ่อนลง การเมืองในเขมรพัฒนาในรูปแบบที่แปลกๆ เช่น มีนายกฯ พร้อมกันสองคนคือ ฮุนเซน และ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ ต่อมาภายหลัง ฮุนเซนได้ขยายอิทธิพลจนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กลายเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน


คำทำนายสงครามครั้งที่ 3 "สงครามจะลุกลามเหมือนเปลวไฟที่ร้อนแรง แต่มาเพียงวูบเดียว แล้วก็ดับลง แต่จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง กรุงเทพฯ จะล่ม พนมเปญสลาย พระตะบองพังทลาย จะสบายที่เสียมเรียบ"

จะเห็นว่าคำทำนายนี้เกี่ยวกับเมืองไทยด้วย คนกัมพูชาที่เชื่อคำทำนายก็ยังนิยมไปลงทุนที่เสียมเรียบ ความเชื่อที่ฝังลึก ทำให้ชาวกัมพูชายังสะดุ้งผวา เมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นจากทั้งสองฝ่าย

ทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า สงครามครั้งที่ 3 คืออะไร ทำไมถึงร้ายแรงขนาดนั้น แต่ที่เสียมเรียบซึ่งคิดว่าจะปลอดภัยนั้นมีปราสาทนครวัด และนครธมตั้งอยู่

เพื่อนจากกัมพูชาจบคำบอกเล่าเรื่องคำทำนาย พร้อมกับชี้แจงว่า ในประเทศของเขาไม่มีเสรีภาพบนหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนเมืองไทย ไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ด่านายกฯได้ แต่ด่าไทยได้ ด่าเวียดนามได้ ด่ารัฐบาลไม่ได้ และ 80 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือพิมพ์วันนี้ ด่าไทย

คนกัมพูชารู้สึกเสมอว่า ความทุกข์ที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้มาจากคนอื่น มาจาก อเมริกา เวียดนาม และไทย



วันนี้ฮุนเซนกำลังเดินหมากเชิงรุก ส่วนอภิสิทธิ์กำลังเดินหมากแบบตั้งรับ การเมืองระหว่างประเทศจะต้องจบลงแบบชั่วคราวเร็วๆ นี้

สำหรับตัวละครสำคัญในความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ผู้เขียนมองข้ามรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายไปนานแล้ว ยิ่งเห็นกษิต ภิรมย์ โยงความขัดแย้งไปถึง จีน อินเดีย และฝรั่งเศส แบบคนไม่เคยอยู่กระทรวงต่างประเทศ ยิ่งให้รู้สึกสงสารประเทศไทย

ปัญหาอยู่ที่ว่าอภิสิทธิ์จะตามฮุนเซนทันหรือไม่ เพราะชั่วโมงบินฮุนเซนเหนือกว่าเยอะ

อภิสิทธิ์ถูกประคบประหงมโอบอุ้มมาแต่เด็ก เกิดเมืองนอก เรียนเมืองนอก แม้แต่ตอนลงสมัคร ส.ส. ก็อยู่ในเขตที่มีกำลังการจัดตั้งและแกนนำที่เข้มแข็งที่สุดของปชป. ในกรุงเทพฯ บวกกับภาพพจน์ที่ดีและชื่อเสียงที่ดี ถนนการเมืองจึงดูราบเรียบเหมือนขึ้นบันไดเลื่อน

ตอนได้เป็นนายกฯ ก็มีคนจากหลายฝ่ายเข้ามาโอบอุ้ม สมฉายาเทพประทาน จนได้เป็นนายกฯสมใจ

แต่ประสบการณ์ในชีวิตมีน้อยมากจนน่าเห็นใจ อย่าว่าแต่ปัญหาใหญ่เลย แม้เพียงจัดการให้ชาวบ้านมีบัตรประชาชนใช้ยังไม่มีปัญญาทำได้

เมื่อเทียบกับฮุนเซนซึ่งมาจากครอบครัวยากจน อยู่ท่ามกลางสงครามมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนชั้นประถมก็ต้องอาศัยวัด เข้าร่วมขบวนปฏิวัติตั้งแต่อายุ 18 ขัดแย้งกับเขมรแดงจนต้องหนีไปอยู่กับเวียดนาม จากนั้นจึงนำกองทัพกลับเข้ามายึดพนมเปญ

ในเดือนมกราคม 1979 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรก อายุ 27 ปี และได้เป็นนายกฯ ครั้งแรกอายุ 33 ปี

ฮุนเซนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์เมื่อไหร่ก็ไม่มีใครจำได้ แต่ได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 10 ใบ เป็น Ph.D ที่ได้จากอเมริกา 2 ใบ ยุโรป 1 ใบ เกาหลี 2 ใบ เวียดนาม 2 ใบ และอีกสองใบมาจากรามคำแหงและบ้านสมเด็จ อีกใบหนึ่งได้จากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ

ความสามารถจริงเหนือกว่าปริญญาที่ได้มาเยอะ

ถ้าดูจากประสบการณ์ของฮุนเซน เขาอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ถึงเลือดถึงชีวิตมายาวนาน ต้องใช้ทั้งเล่ห์เหลี่ยมและการตัดสินใจที่ดีเยี่ยมเพื่อเอาชีวิตรอด เอาชนะสงครามและการต่อสู้ทางการทหาร

ต้องใช้ทั้งความรู้ และชั้นเชิงทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศและช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล



ในความเห็นของผู้เขียน ฮุนเซนเป็นยอดนักเดินหมาก ผู้คน องค์กร กองกำลัง และ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไร ล้วนแต่เป็นหมากที่ฮุนเซนใช้เดินได้ทั้งสิ้น อดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นหมากตัวหนึ่ง กองทัพเวียดนาม ก็เป็นหมากที่เขาเคยอาศัยเดิน กษัตริย์สีหนุเขาก็ใช้มาแล้ว องค์กรต่างประเทศก็ใช้มาแล้ว

ดังนั้น วันนี้ทั้งอภิสิทธิ์ , กษิต, วีระ สมความคิด, พันธมิตรเสื้อเหลือง แม้แต่กองทัพไทยก็ถูกใช้เป็นหมาก จะอยากเดินหรือไม่อยากเดิน แต่เกมที่ฮุนเซนวางไว้ทำให้จำเป็นต้องเดิน ทำไมเขาจะไม่รู้ว่ากระสุนแต่ละนัดที่ยิงออกไปจะได้รับการโต้ตอบอย่างไร

เขาไม่มีวันก่อสงครามจริงๆ ขึ้นมา เขาเพียงแต่แสดงให้บางคนเห็นว่า "โง่แล้วอย่าขยัน"

สำหรับฮุนเซน ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นหมากกระดานหนึ่ง เมื่อเขาเดินจบ จะได้รางวัลสองชิ้น

ชิ้นแรกคือความมั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

รางวัลชิ้นที่สองคือการได้รับความชอบธรรมและความเห็นใจจากนานาประเทศในปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา


ส่วนความสะใจที่ได้เป็นของแถมคือการแสดงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาลไทย

คนพวกนี้เป็นเพียงแค่เด็กอ่อนหัด คงต้องปล่อยให้ทะเลาะกันจนเลิกไปเอง

แต่ถ้าโง่แล้วยังซ่าไม่เลิกก็ต้องปล่อยไปตามกรรม

.

2554-02-20

มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา มรดกลวง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา มรดกลวง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 75


มรดกโลก -มรดกเลือด

แทบไม่น่าเชื่อว่าคุณค่าอันทรงเกียรติของ "มรดกโลก" ในวันนี้จักถูกเบี่ยงเบนกลายเป็นเครื่องมือนำไปรับใช้การเมืองอัปยศดังเช่น กรณีของเขาพระวิหารที่ดูทำท่าจะลุกลามเป็นสงครามมรดกโลก-มรดกเลือดเสียแล้ว

จู่ๆก็ไปหาเรื่องแหย่เขมร เพื่อคุ้ยเขี่ยถึงเบื้องหลังสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างฮุนเซ็นและอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์อะไรทับซ้อนก้อนมหาศาล

ฝ่ายหนึ่งจึงเปิดไฟเขียวยินยอมให้เขมรนำเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว

ส่วนอีกฝ่ายยอมยกเกาะกง (ประจันต์คิรีเขตต์) ให้เป็นสวนสวรรค์คาสิโน บวกกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลให้เช่าเป็นเวลา 99 ปี

กระแสคลั่งชาติกับความหวาดระแวงของสมุนอำมาตย์ต่อตัวนายกฯ ทักษิณ ได้ถูกนำไปปั่นปลุกม็อบให้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของเขมรไม่ว่ากรณีใดๆ แม้ต้องแลกด้วยการติดคุกหรือล้างเลือด การรังแกเขมร แท้ก็คือ การตีวัวกระทบคราด หากเขมรเพลี่ยงพล้ำก็เท่ากับการพลาดท่าเสียทีของฝ่ายนายกฯ ทักษิณเช่นกัน

ซ้ำร้าย การเล่นเกมการเมืองของฝ่ายพันธมิตรฯ ที่เดิมพันด้วยชีวิตชาวบ้านตามชายแดน ภายใต้การปลุกระดมเรียกร้องลัทธิราชาชาตินิยมให้กลับมาผงาด แฝงนัยยั่วยุเปิดทางให้ทหารขับเคลื่อนรถเกราะเข้ายึดอำนาจ แถมด้วยการหาแพะตัวเขื่องอย่าง "มรดกโลก" มาฆ่าบูชายัญ เพียงเพื่อจะปกปิดความผิดฉกรรจ์ที่ตนเองทำเอาไว้เมื่อพฤษภาฟ้ามืดปีที่แล้ว

ที่น่าเศร้าใจ ผู้เป็นเหยื่อของเกมการเมืองชักเย่อ "เขาพระวิหาร" คล้ายกับเหล่าอสูร-เทพ ยื้อยุดนาคขณะกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤตทิพย์ครั้งนี้ ก็คือการยื่นยาพิษมิใช่ให้พระศิวะหรือพระกฤษณะดื่ม หากแต่เป็นองค์กรยูเนสโก

อุดมการณ์ที่แท้จริงของยูเนสโกในการเชิดชูแหล่งมรดกโลก เป็นอุดมการณ์ที่น่ายกย่องยินดี เพราะมีเจตนาช่วยปกป้องคุ้มครองดูแลแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างเอกอุให้รอดพ้นจากเงื้อมมือมาร ทั้งจากการถูกละทิ้งให้เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือโดยผู้มีอิทธิพลที่หากินกับการค้าของเก่า

ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากหาเรื่องทะเลาะกับเขมรเพื่อแทงกั๊กด้วยความหมั่นไส้หาว่า เขมรหนุนหลังคนที่พวกเขาชิงชัง เล่นกับเขมรตรงๆไม่ถนัด ขอไล่ฟาดงวงฟาดงาใส่คณะกรรมการ "มรดกโลก" เสียเลย การข่มขู่ให้ไทยถอนตัวจากประเทศภาคีมรดกโลกตามที่มีผู้เสนอนั้น เป็นความถูกต้องล่ะหรือ?

ที่ผ่านมา กว่ามรดกโลกแต่ละแหล่งจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เราต้องต่อสู้ทั้งกับตนเองและคู่แข่งชนิดเลือดตาแทบกระเด็น เพียงเพื่อให้ไทยได้มีที่อยู่-ที่ยืนอย่างผงาดบนเวทีโลก นับแต่มรดกโลกสุโขทัย มรดกโลกอยุธยา มรดกโลกบ้านเชียง มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร และมรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่

ไหนจะโครงการมรดกโลกที่กำลังเข้าตากรรมการ จ่อคิวอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอีกหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกเมืองลำพูน น่าน ภูพระบาท อีสานใต้เส้นทางสายชัยวรมันที่ 7 พระธาตุลำปางหลวง หรือพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ไปๆ มาๆ โครงการเหล่านี้ต่างต้องหยุดชะงักเหยียบเบรกกันเอี๊ยดอ๊าดแทบไม่ทัน แถมยังตกเป็นจำเลยของสังคมโดยใช่เหตุ

จริงอยู่ ในสายตาของฝ่ายไม่เอามรดกโลก อาจมองว่ามรดกโลกเป็นตัวสร้างปัญหา เช่น ความไม่สามารถบริหารจัดระเบียบร้านค้าของแหล่งมรดกโลกอยุธยาจนเกิดทัศนอุจาด ดูทุเรศทุรัง

สภาพน้ำท่วมขังโครงกระดูกที่แหล่งมรดกโลกบ้านเชียงจนขึ้นเชื้อรา

หรือการที่ชาวสุโขทัยถูกเวนคืนที่ดิน ต้องอพยพออกนอกพื้นที่อุทยานเมืองเก่าของแหล่งมรดกโลกสุโขทัย

ภาพที่ไทยถูกตักเตือนจากยูเนสโกอย่างเข้มงวดคล้ายลูกแมวเชื่องๆ ที่ต้องจำยอมจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างหวานอมขมกลืน อาจทำให้นักวิชาการมองว่า "มรดกโลกทำให้เราตกอยู่ภายใต้อาณานิคมทางความคิดของยูเนสโก"

แต่เมื่อพลิกมุมกลับแล้ว หากไม่มีมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากลตามที่ยูเนสโกใช้กับมรดกโลก

โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะแถบอุษาคเนย์อย่างนครวัด หลวงพระบาง บุโรพุทโธ ฮอยอัน ฮาลองเบย์ จักไม่ถูกปู้ยี่ปู้ยำจนเละตุ้มเป๊ะยิ่งไปกว่านี้ดอกหรือ



มรดกเรา-มรดกโลก

คนที่ประกาศว่ามรดกโลกเป็นการยัดเยียดกรอบความคิดให้เราเป็นข้าทาสชาวตะวันตก โดยยูเนสโกเป็นผู้ฉกฉวยผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลนั้น ช่างเป็นความคิดที่ไร้เดียงสายิ่งนัก สะท้อนให้เห็นว่าคนพูดนั้นไม่เคยศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลักดันโครงการใดๆ สู่มรดกโลกมาก่อนเลย

ยูเนสโกทำหน้าที่เพียงแค่วางกรอบ กฎเกณฑ์ กติกา เพื่อกำกับความชัดเจนของมาตรฐานคุณภาพแหล่งที่ขอเสนอเป็นมรดกโลก ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุชัดว่า "แผนบริหารจัดการมรดกโลกในท้องถิ่นนั้นๆ ต้องได้มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง มิใช่ให้ภาครัฐหรือยูเนสโกยัดเยียดแผนแม่บทให้ มิฉะนั้นจะไม่เกิดความยั่งยืน"

หรืออีกข้อคือ "หากแหล่งมรดกโลกใดไม่สามารถควบคุมการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวปริมาณมากเกินไปได้ แหล่งมรดกโลกนั้นจะถูกถอนคืนทันที เพราะเป้าหมายของมรดกโลกคือการเชิดชูอัจฉริยภาพของศิลปกรรม ไม่ใช่เพื่อทำให้เกิดความโลภ"

เห็นได้ว่าเจตน์จำนงของยูเนสโกนั้นชัดเจนและสวนทางกับการตั้งแง่กล่าวหาโดยสิ้นเชิง การเอากรอบมาวาง แท้ก็คือการบังคับให้เกิดการอนุรักษ์ตามสภาพเดิม อย่าผิดเพี้ยนเปลี่ยนรูปแบบใหม่ มิใช่ว่ายูเนสโกเอาเงินมาหว่านซื้อแหล่งมรดกโลกเพื่อหากินกับนักท่องเที่ยว แล้วบังคับให้คนในท้องถิ่นต้องหมอบคลานกราบไหว้ชาวตะวันตก ในฐานะแม่บ้าน-คนสวนดูแลโรงแรม ช่างเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์

โดยเนื้อแท้แล้ว การเป็นเมืองมรดกโลก มิใช่หวังผลทางการท่องเที่ยวเป็นตัวตั้ง หากมันคือผลพลอยได้ เพราะเมื่อมีการพัฒนาเมืองโบราณให้น่ามอง ใครๆ ก็อยากไปเยี่ยมชม มันผิดตรงไหนหรือ หากแหล่งมรดกโลกสามารถแปรคุณค่าให้เกิดมูลค่า กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นในทุกมิติอย่างยั่งยืน

ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า เรากำลังอาศัย "มรดกโลก" เป็น "กุศโลบาย" ในการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่กำลังหลับไหลและถูกกลบฝัง หาใช่กระสันอยากได้มรดกโลกจนตัวสั่น ประหนึ่งทาสอาณานิคมของยูเนสโกไม่


ถามว่าหากไม่เอามรดกโลก ขอแค่มรดกท้องถิ่นหรือระดับชาติได้ไหม

คำตอบคือได้ แต่อาจไม่มีคุณภาพดีพอ เพราะคำว่ามรดกท้องถิ่นนั้นมันไม่ท้าทาย ไม่เร้าให้เกิดการผลักดันหรือฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบครบวงจร

ทันทีที่เราตกอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า "มรดกท้องถิ่น" มักหนีไม่พ้น "วัฒนธรรมจัดตั้ง" งานประเพณีแห่แหนแต่นแต้ตามเทศกาล กลายเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นช่องทางละลายงบได้ สะดวกขึ้นอีก

หากสังคมไทยมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเหมือนอย่างชาวตะวันตก ประเภทพ่อแม่จูงมือลูกอายุ 4 ขวบเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในวันหยุด หรือหนุ่มสาวใช้เวลาว่างนั่งอ่านงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยม ถกเถียงกันเรื่องปรัชญา คนเลิกดูละครน้ำเน่าหลังข่าวสองทุ่ม กระทรวงวัฒนธรรมเทงบมหาศาลให้กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานที่ผุๆ พังๆ พร้อมสนับสนุนการสำรวจขุดค้นศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ ปีละหลายแสนล้าน เหมือนกับที่กล้าอัดฉีดเงินซื้ออาวุธสงคราม หากประเทศไทยเรามีความศิวิไลซ์ในระดับนี้ ขอโทษเถอะ มรดกโลกก็คงไม่จำเป็นเท่าใดนัก


เราต้องยอมรับความจริงว่า บ้านเมืองไม่เคยให้ความสำคัญต่อโบราณสถานโบราณวัตถุเลย เห็นได้จากการที่เราไม่มี "นักโบราณคดีจังหวัด" กระจายทั่วประเทศ เหมือนกับที่เรามีโยธาฯ จังหวัด ที่ดินจังหวัด พานิชย์จังหวัด ขนส่งจังหวัด

จริงอยู่ แม้ปี 2546 เป็นต้นมา เราเริ่มมีวัฒนธรรมจังหวัดแล้ว แต่ขอบเขตความลึกซึ้งของเนื้องานย่อมแตกต่างไปจากงานด้านโบราณคดี แล้วเพียงพอไหมกับสำนักศิลปากรเพียง 15 แห่ง แต่ละแห่งมีนักโบราณคดี 2-3 คน กับความรับผิดชอบจำนวนโบราณสถาน ทั้งวัดร้าง-ไม่ร้าง ทั้งบนดิน-ใต้ดิน ทั้งขึ้นทะเบียน-ไม่ขึ้นทะเบียน จำนวนหลายหมื่นแหล่งทั่วประเทศ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า "มรดกโลก" จึงเสมือนเส้นทางลัดช่วยลดภาระด้านงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ยของกรมศิลป์ให้ไปใช้งบจากจังหวัดแทน

ข้อสำคัญ โครงการนี้ยังผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบองคาพยพ เนื่องจากฐานะของมรดกโลกคล้ายกับต้นไม้ใหญ่ ที่แตกกิ่งก้านสาขาเชื่อมโยงปัญหาอะไรต่อมิอะไรที่ขาดการบูรณาการภายในจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ถามว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้ว เราจะได้อะไร ข้อแรกสุดก็คงได้ศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจในฐานะที่ได้สร้างรากฐานความมั่นคง ทางวัฒนธรรมไว้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังเพื่อจะได้มีหลักยึด ไม่เป็นคนไร้ราก อนารยะ

สิ่งที่ตามมาก็คือ เชื่อว่าความเป็นเมืองพระพุทธศาสนาจะหวนคืนกลับมา เหตุเพราะผู้คนตระหนักในคุณค่าของงานพุทธศิลป์ ไม่ถูกตีตราเป็นสินค้าพุทธพาณิชย์ ลดปัญหาการเฝ้าระวังในการลักลอบขุดทำลายโบราณวัตถุจากโบราณสถาน

ได้อะไรอีก หยุดยั้งการขยายตัวของความเจริญทางอุตสาหกรรมแบบไร้ทิศผิดทาง ป้องกันสิ่งแวดล้อมถูกทำลายและการล่มสลายของวิถีชีวิตชุมชน เมืองที่มีความงดงามตระการจะกลับคืนมา ตั้งแต่ประตู คูน้ำ กำแพงเมือง วัด อาคารบ้านเรือน ไม่เป็นเมืองที่เติบโตอย่างสะเปะสะปะ เมื่อเมืองงดงาม จิตใจคนที่อาศัยก็จะได้รับการกล่อมเกลาให้งดงามอ่อนโยนตามไปด้วย

ผลพลอยได้ นักวิชาการจากทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเชิงลึก เกิดบรรยากาศคึกคักตื่นตัวในแวดวงการศึกษา ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถควบคุมได้จะหลั่งไหลมาในนามของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ภายใต้การบริหารจัดการของคนในท้องถิ่น

เมื่อมีช่องทางทำกิน คนจากชนบทก็กลับคืนถิ่นไม่ต้องมากระจุกตัวในเมืองหลวง



มรดกโลก-มรดกลวง

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ ดิฉันคงต้องขอบ่นนอกรอบ หลังเก็บงำกล้ำกลืนกับความจริง งาม-ดี-ลวง บนเส้นทางไปสู่มรดกโลกของเมืองโบราณลำพูน

นับแต่กลางปี 2547 ที่ดิฉันสวมบทหนังหน้าไฟแบกรับภาระนี้ไว้บนสองบ่า ถามว่าวันนี้เดินทางถึงจุดไหน มันควรจะก้าวไกลไปถึงฝั่งฝันแล้ว หากได้รับความจริงใจจากคนทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อน ไม่ใช่มานั่งระแวงสงสัยกัน หรือคอยปัดแข้งปัดขา และไม่งุบงิบงบ เบี่ยงเบนเอาไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์

จากมรดกโลกพลันกลายเป็น "มรดกลวง"ในบัดดล ทันทีที่ผู้กุมนโยบายรัฐในระดับสูงคนแล้วคนเล่าที่ผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน เอา-ไม่เอา-เอา-ไม่เอา มรดกโลกเมืองลำพูน

บางยุคหยุดชะงักถูกตราหน้าว่า ไม่เจียมตัวเจียมใจ

บางยุคถูกแอบอ้างนำมาเป็นวิสัยทัศน์เพื่อของบเอาไปทำอย่างอื่น

บางยุคขอขยายขอบเขตเป็นมรดกโลกล้านนาอ้างว่าเพื่อยกระดับภูมิภาคนี้ให้โกอินเตอร์ โดยขอให้ลำพูนลดบทบาทตัวเองลงจาก "ตัวแม่" มาเป็น "ตัวลูก" เมืองอื่นเขาอยู่ดีๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกจับพ่วงให้ร่วมเป็นมรดกโลกล้านนาหน้าตาเฉย

ลำพังลำพูนเมืองเล็กๆ เมืองเดียว แถมยังเป็นแอ่งอารยธรรมที่โดดเด่นที่สุดแล้วในด้านศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี ก็ยังผลักดันด้วยความลำบากแสนเข็ญ นี่ยิ่งจะเอาทั้งภูมิภาคล้านนามาเอี่ยว เหมือนจับปูใส่กระด้งไม่ผิดเพี้ยน ยึกๆ ยักๆ ไปๆ มาๆ ก็ต้องนับหนึ่งใหม่ พอเจอทางตันก็เตะลูกออก


7 ปีที่ผ่านมาแม้เราจะได้สร้างรากฐานความมั่นคงทางวัฒนธรรมเป็นแบบอย่างไว้รอบด้านและมากพอสมควร พวกเราได้แต่งบ้านเตรียมเมืองให้พร้อมเกือบทุกด้านแล้ว ทั้งพัฒนาข้อมูลวิชาการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์โบราณสถาน

ทว่าความยากของการผลักดันเมืองลำพูนสู่มรดกโลกอยู่ที่กระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ว่ามรดกโลกคืออะไร ชาวบ้านจะได้หรือเสียอะไรหากเป็นมรดกโลก ทั้งพระสงฆ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น นักเรียนนักศึกษา พ่อค้านักธุรกิจ ชาวบ้าน สื่อมวลชน ต่างเฝ้ารอคำตอบ เพราะแต่ละฝ่ายกลัวจะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตน

สิ่งที่คอยรบกวนสมาธิจิตใจ ทำให้ลำพูนก้าวไปไม่ถึงมรดกโลกเสียที ก็คือ เอ็นจีโอสลิ่มหัวเหลือง พวกคลั่งท้องถิ่นนิยมไม่กี่คน ผู้สมาทานความคิดประหนึ่งสาวกของนักวิชาการคนดังที่ต่อต้านเรื่องมรดกโลกมาทุกเวที ข้อมูลในแง่ลบถูกยัดใส่สมองคนเหล่านี้

ทำให้ทุกครั้งที่พวกเขาได้ยินคำว่า "มรดกโลก" ก็ต้องตะโกนสวนกลับมาทันทีว่า "มรดกลวง"



เห็นข่าวมรดกโลกกลายเป็นมรดกเลือด พลันให้สะท้อนหัวอก นึกถึง "มรดกเรา" ที่เคยพยายามผลักดันสู่มรดกโลกด้วยจิตบริสุทธิ์อย่างถูลู่ถูกังมานานกว่า 7 ปี ยิ่งมาเจอกระแสมรดกเลือดสาดสยอง เห็นทีคงต้องขอยอมแพ้แก่มรดกลวง

ใครไม่อยากได้มรดกโลกก็ไม่เป็นไร แต่ลองช่วยกันคิดดูหน่อยได้ไหมว่ามีกุศโลบายใดที่เข้าท่ากว่ามรดกโลก มีวิสัยทัศน์ใดที่จะช่วยยกระดับให้ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ เกิดกระแสการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างเป็นระบบ

มีไหมกลยุทธ์ใดที่จะทำให้ผู้คนสนใจ ตื่นตัวนั่งล้อมวงเสวนาฟังปราชญ์ชาวบ้าน สืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างครึกครื้น เกิดถนนสายวัฒนธรรมหลายเส้น ทำหน้าที่เป็นเวทีนำเสนอ เรียนรู้ เสวนา พบปะ แลกเปลี่ยน สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิตอันงดงาม

ทำอย่างไรเอกสารปั๊บสาคัมภีร์ตำนานพื้นบ้านจึงจะได้รับการปริวรรต ภาษาอาหารวิถีชีวิตของทุกชนเผ่าชาติพันธุ์ได้รับการให้เกียรติอย่างเท่าเทียม

ถนนทุกสายมีภูมิสถาปัตย์ที่งดงาม อาคารพานิชย์ไม่ระเกะระกะ บ้านร้างห้องแถวเก่าโทรมได้รับการปรับแต่งใหม่ไม่เป็นทัศนอุจาด ให้สมกับเป็นอดีตเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม รอบในคูเมืองปราศจากอบายมุข เน้นทางเท้าทางจักรยานต้นไม้ใหญ่ สงบร่มเย็น มีการกำหนดผังเมืองเฉพาะแยกเขตเมืองเก่าออกมาให้ชัดเจน สิ่งก่อสร้างสาธารณะ เช่น ซุ้มประตูเมืองมีการศึกษารูปแบบที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น ไม่ใช่ทำเป็นยี่เกเลียนแบบรัตนโกสินทร์เหมือนกันหมดทั้งประเทศ

ข้อสำคัญ นักเลงพระเครื่องเลิกขุดกรุเจดีย์


ฝัน...ดิฉันเคยฝันถึงมรดกโลก ไม่ว่ามันจะเป็นภาพลวงตา ดิฉันฝันเห็นการร่วมมือทำงานกันของทุกภาคส่วน ซึ่งดิฉันเชื่อว่านี่คือกระบวนการสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นได้ดีที่สุด จึงเชื่อว่าผู้เฒ่าผู้แก่ จักยังคงร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญา งานศิลปะท้องถิ่น วิถีทางพระพุทธศาสนาแก่คนรุ่นหลัง ส่วนเด็กและเยาวชนก็จะเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีในฐานะผู้สืบทอดมรดกอย่างมีคุณภาพ

สำหรับดิฉัน ได้เดินทางมาสุดสายแล้ว มีอะไรมากมายที่ไม่เคยรู้ ก็ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้กุศโลบายที่ชื่อว่า "มรดกโลก" ณ วันนี้ ลำพูนจักได้หรือไม่ได้เป็นมรดกโลก ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือควรเสียอกเสียใจสำหรับดิฉันหรือชาวลำพูนเสียแล้ว

ลาก่อนลำพูน ปฐมอารยนครแห่งล้านนา มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา และมรดกลวง !

.