http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-31

นิธิ: ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย, + ความอ่อนแอของสังคม

.

ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ทุนไทยเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว บางส่วนตั้งพรรคการเมืองของตนเอง บางส่วนให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการรัฐประหาร แล้วแต่พรรคการเมืองพรรคใด หรือการรัฐประหารครั้งใด จะให้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด

อำนาจทางการเมืองนี้ นอกจากใช้เพื่อการครอบครองสัมปทานจากรัฐ และผูกขาดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นหลักประกันว่ารัฐจะดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนตลอดไป

ในช่วงเดียวกันนี้ ทุนยังบุกทะลวงเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในชนบทมากขึ้น ทั้งเพื่อธุรกิจพลังงาน, การท่องเที่ยว และการตักตวงทรัพยากรใต้ดิน นับตั้งแต่น้ำ, เกลือ, จนถึงสินแร่อื่นๆ

ทั้งหมดนี้ทำได้ภายใต้ระบบการเมือง ที่อาศัยกลไกและรูปแบบของประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ


การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม จะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กลไกและรูปแบบของการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ยิ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนขยายออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องหาเหตุผลทาง "ศีลธรรม" ให้แก่กลไกและรูปแบบของระบบการเมืองที่เอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนมากขึ้น

ภาระนี้ทุนไทยไม่ได้ทำ หรือไม่สนใจจะทำ ดูเหมือนทุนไทยจะอาศัยแต่วิธี "ขู่กรรโชก" สังคม เพราะในช่วงนี้เป็นต้นมาเหมือนกันที่ทุนเอกชนจะเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่สุดของประเทศ ฉะนั้น เมื่อชนบทกำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรในชนบทได้ต่อไป สังคมจะอยู่สงบได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับกำลังการจ้างงานของทุนเอกชน ฉะนั้น หากทุนไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมกำลังการจ้างงานของทุนก็จะไม่เติบโตได้ทันการณ์กับจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน

แต่ในขณะเดียวกัน ทุนไม่สนใจจะอธิบายในเชิง "ศีลธรรม" กับค่าแรงราคาต่ำ, การปลดคนงานที่กินเงินเดือนสูงเกินไป, การไม่จัดสวัสดิการแรงงานอย่างเพียงพอ, การลดต้นทุนการผลิตด้วยการกันให้คนงานส่วนหนึ่ง (ที่ใหญ่มาก) ไปไว้นอกระบบ, การไม่ยอมลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน, การไม่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา, การติดสินบาทคาดสินบนเพื่อเลี่ยงกฎหมาย, ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมมากไปกว่าจ้างงาน (ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขอย่างไร) หากการจ้างงานลดลง สังคมก็จะปั่นป่วน ดังนั้น จึงเป็นการ "ขู่กรรโชก" ไม่ใช่ให้คำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในกลไกและรูปแบบการเมืองนี้

น่าประหลาดที่ว่า ความชอบธรรมในการเอารัดเอาเปรียบของทุนไทยนั้น ยิ่งนับวันก็ยิ่งต้องผูกพันรัฐมากขึ้น สัมปทานนี้ได้มาจากรัฐ โครงการนี้ริเริ่มหรืออนุมัติโดยรัฐ โครงการจัดประมูลพืชผลการเกษตรซึ่งให้ผลกำไรอย่างสูงแก่นายทุน ก็เริ่มมาจากรัฐเอง ฯลฯ และดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเมื่อรัฐอนุญาตแล้ว จะถอนคำอนุญาตนั้นไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนในประเทศไทย

ความชอบธรรมนี้ไม่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย" หรือแม้แต่กลไกและรูปแบบของประชาธิปไตย ทุนไทยเป็นนักรัฐนิยม (statist) ขนานแท้ รัฐคือข้ออ้างทาง "ศีลธรรม" เพียงอย่างเดียวของทุน ไม่ว่ารัฐนั้นจะฉ้อฉล, เผด็จอำนาจ, หรือ "ตกยุค" อย่างใดก็ตาม (น่าเศร้าด้วยที่ว่า ทั้งความฉ้อฉล, อำนาจนิยม และความตกยุคของรัฐไทย กลับประสานเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสนิทแนบแน่น)

ทุนไทยจึงไม่มีส่วนในการสร้างเสริมฐานทาง "ศีลธรรม" ของประชาธิปไตย อย่างที่พบได้ในหลายสังคมทั่วโลก


ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐไทยเองเป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยแก่ประชาชนของตน หลังจากที่สรุปกันได้ว่า วิธีจัดการกับการแข็งข้อของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่น่าจะได้ผลที่สุด คือสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทยขึ้นให้มั่นคง ราชการก็ได้ลงทุนกับการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ในชนบท (ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานกำลังคนที่สำคัญของ พคท.)

ตำรา "คู่มือประชาธิปไตย" หลายสำนวนที่ราชการพิมพ์แจกผู้นำหมู่บ้าน และในภายหลังแจกและเปิดอบรมประชาชนทั่วไปด้วย กลับเป็นผู้สร้างคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของรัฐ หรือประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้เกิดความมั่นคงเป็นหลัก เช่น แม้จะยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ย้ำเตือนว่าสิทธิเสรีภาพนั้นมีจำกัด คือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความแตกแยก ทำลายความสามัคคีในชาติอันเป็นแหล่งที่มาของสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ

ในสำนวนหลังๆ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของนักคิด กอ.รมน. ถึงกับระบุลงไปเลยว่า เสรีภาพมีอยู่ได้ก็แต่ในรัฐเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลย่อมบรรลุเสรีภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อทำตามที่รัฐสั่ง

ในด้านการปกครอง ราชการก็เน้นอย่างเดียวกันคือ "ระเบียบ" ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จึงหมายถึงการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น ซ้ำยังมีผู้แทนที่มีมาโดยวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม หรือแม้แต่กองทัพก็ตาม ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย เพราะต่างเป็นสถาบันที่เข้าถึง "เจตนารมณ์ทั่วไป" ของสังคมอยู่แล้วโดยประเพณี (ตามทฤษฎีรุสโซแบบเบี้ยวๆ)

รัฐนิยม (statism) คือประชาธิปไตยแบบไทย เพราะการสยบยอมต่อรัฐต่างหากที่เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทย



อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไป ประชาธิปไตยแบบสยบยอมเช่นนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ชาวบ้านประสบอยู่ เช่น รัฐซึ่งควรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือของทุนในการแย่งชิงทรัพยากร รัฐไม่ใช่คนนอกที่คอยเข้ามาสร้างความเป็นธรรม แต่รัฐกลับเป็นพื้นที่เปิดเฉพาะสำหรับอภิสิทธิ์ชน แม้แต่ในหมู่บ้าน ก็มีคนที่เข้าถึงพื้นที่นี้ได้เพียงไม่กี่คน และใช้อำนาจรัฐในการเบียดเบียนคนอื่น

ประชาธิปไตยแบบไทยกำลังต้องการคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถกำกับให้ประชาชนสยบยอมได้ต่อไป

และคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แบบใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้คือ "ชุมชนนิยม"

ที่จริงแล้ว แนวคิดชุมชนนิยมเกิดมานานแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เช่นกัน) ดูเหมือนในระยะแรก ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ให้แก่ประชาธิปไตยแบบสยบยอม ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ดูเหมือนจะเป็นฐานของพลังให้แก่การต่อรอง ทั้งกับตลาดและกับรัฐ ชุมชนนิยมให้ความสำคัญแก่ฐานทาง "ศีลธรรม" ที่มีพลังสูงมาก เพราะมีความหมายแก่ทุกคน เช่น ฐานทรัพยากร, ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์, ความมั่นคงด้านอาหาร และแน่นอนความมั่นคงด้านสังคม ซึ่งได้จากความสัมพันธ์ในชุมชน ใครๆ ย่อมให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้เหนือกำไรของบริษัทเอกชน และเหนือเขื่อนไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แต่นับจากสมัยทักษิณเป็นต้นมา ผู้ต่อต้านทักษิณโน้มนำให้ชุมชนนิยมมีความหมายเชิงสยบยอมมากขึ้น จนดูประหนึ่งว่าชุมชนมีความกลมกลืนในตัวเอง และแข็งแกร่งในตัวเองเสียจนไม่ต้องพึ่งทั้งตลาดและรัฐ ทุกคนสามารถหันกลับไปผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง เพราะชุมชนมี "ภูมิปัญญา" ทำได้ ซ้ำยังมีระบบความสัมพันธ์ภายในที่ช่วยประกันความอยู่รอดของทุกคนด้วยการ "พึ่งตนเอง" กลายเป็นการ "พึ่งตนเอง" ในเงื่อนไขของสังคมที่ได้ล่วงเลยไปแล้ว และคงไม่มีวันหวนคืนกลับมา


พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของปี 2540 อาจเข้าใจได้เป็นสองอย่าง

อย่างแรก เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกลวิธีสร้างพลังต่อรองให้ตนเอง ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มสัดส่วนการผลิตของตนเพื่อการบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้น จึงมีพลังพอจะพึ่งพาตลาดน้อยลง และย่อมต่อรองได้มากขึ้น รัฐก็สามารถทำอย่างเดียวกัน โดยจัดระบบเศรษฐกิจของตนให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศน้อยลง เช่น ทำให้เกิดตลาดท้องถิ่นที่ครบวงจร พอที่จะประหยัดค่าขนส่งได้ เป็นต้น

ความเข้าใจอย่างแรกนี้ทำให้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ในการเพิ่มพลังต่อรองของผู้คนและประเทศชาติ ไม่ต่างไปจากจุดยืนของชุมชนนิยมในระยะแรก และต้องไม่ลืมด้วยว่า พลังต่อรองนั้นใช้ได้ทั้งกับตลาดและรัฐ เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายนี้ไม่ได้ปฏิเสธตลาด (หรือรัฐ) เพียงแต่จะเข้าตลาด (หรือรัฐ) โดยมีพลังต่อรองมากขึ้นได้อย่างไร นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมีกลวิธีอื่นอีกมาก เช่น สหกรณ์, การลงทุนด้านวิชาการของภาครัฐ, การจัดการทรัพยากรทั้งโดยชุมชนและรัฐ อย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มพลังการผลิต, การมีสื่อของตนเอง, การมีพรรคการเมืองของตนเอง ฯลฯ


ความเข้าใจอย่างที่สอง ซึ่งถูกชูขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นปรัชญา ซึ่งอาจนำไปใช้ได้กับทุกกรณีและในทุกเงื่อนไขของการประกอบการ ทั้งในทางเศรษฐกิจหรือสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ฐานทาง "ศีลธรรม" อย่างเดียวกับชุมชนนิยมในระยะเริ่มต้นได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหาร, ฐานทรัพยากร, หรือความเอื้ออาทรของคนในชุมชน

แต่เศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจอย่างนี้ กลับไม่ได้มุ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะอำนาจต่อรองทางการเมือง เหมือนยกรัฐให้คนอื่นไปจัดการอย่างเป็นธรรมหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและเป็นสุขได้ ไม่มียูทูบในเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยูทูบเป็นพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มและต่อรองที่มีพลังในโลกปัจจุบัน

นี่คือการสยบยอมทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ชุมชนนิยมซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชน กลายเป็นลัทธิที่จะปลดอำนาจของประชาชน ภายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (หรือในชื่ออื่น)



++++
บทความของปี 2553

ความอ่อนแอของสังคม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1579 หน้า 20


ถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ผมเชื่อว่าประชาชนในชุมชนท้องถิ่นน่าจะได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่าปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นน่าจะมีและรวบรวมทรัพยากรมาช่วยเหลือกันน้อยกว่าสมัยนี้อย่างเทียบกันไม่ได้

ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน (ยกเว้นภาคใต้) มักตั้งอยู่บนที่ดอน นอกจากมีป่าช่วยชะลอน้ำเป็นอันมากแล้ว ยังไม่มีอะไรขวางทางน้ำ ฉะนั้น น้ำท่วมในสมัยนั้น ถึงแม้จะท่วมไปกว้างขวางแต่ก็ไม่สู้จะลึกนัก ทำให้ไม่สูญเสียข้าวในท้องนาไปหมด (แม้ส่วนที่อยู่ห่างแม่น้ำจะไม่ได้ใช้พันธ์ข้าวที่ชูคอเหนือน้ำได้เร็วเหมือนแถบอยุธยาก็ตาม)

นอกจากนี้ น้ำก็คงลดลงในไม่กี่วัน จนมักเรียกกันว่าน้ำหลากมากกว่าน้ำท่วม

แต่เงื่อนไขทางกายภาพยังมีความสำคัญน้อยกว่าเงื่อนไขทางสังคม ที่อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คน รวมทั้งช่วยฟื้นฟูให้พ้นความเสียหายได้มากกว่ามาก

นั่นคือความสามารถในการจัดองค์กร หรือจัดตั้งเพื่อจัดการให้ความช่วยเหลือเท่าที่พอจะหากันมาได้ กระจายไปยังผู้คนอย่างทั่วถึงและเหมาะสม

นายบ้านกับหลวงพ่อที่วัดอาจร่วมมือกัน เพราะวัดก็มักตั้งบนที่ดอนเช่นกัน จึงอาจเป็นแหล่งพักอาศัยชั่วคราวได้ทันที ทั้งยังเป็นคลังเก็บวัสดุอุปกรณ์หลายอย่างของชุมชนอยู่แล้ว ถึงนายบ้านไม่มีแผนที่ให้กาง ก็พอนึกภาพออกว่าใครจะโดนหนักที่สุด เพราะเจนกับสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านอยู่แล้ว

ซ้ำยังรู้ว่าคนแก่คนพิการอยู่บ้านไหน กำลังคนของนายบ้านทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่มาสมทบเพื่อช่วยเหลือกัน คงถูกใช้เพื่อไปแก้ปัญหาได้ทันที โดยไม่ต้องรอกล้องทีวี

ความรู้ในการจัดการเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เป็นความรู้ที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะของนายบ้านเท่านั้น แต่รวมถึง "ชนชั้นนำ" ของชุมชนทั้งหมดด้วย และการจัดองค์กรก็ไม่ได้มีลักษณะเดียว แต่แปรเปลี่ยนไปตามแต่วิกฤตที่ชุมชนต้องเผชิญ น้ำท่วมก็อย่างหนึ่ง โจรจะเข้าปล้นก็อีกอย่าง นาล่มและฝนแล้งก็อีกอย่าง ฯลฯ เป็นต้น



น้ำท่วมครั้งนี้ มีแต่ข่าวความระส่ำระสายทั่วไป แม้น้ำใจของคนไทยทั่วประเทศหลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่น้ำใจอย่างเดียวไม่พอแก้วิกฤตได้ ความสามารถในการจัดการวิกฤตในท้องถิ่นเองมีความสำคัญเสียยิ่งกว่า ปราศจากความสามารถนี้ ยายแก่ตาแก่ย่อมถูกทิ้งอยู่บนชั้นสองอย่างเดียวดาย, คนทั้งหมู่บ้านอดอาหารเป็นวันเพราะความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง หลายครอบครัวไม่ได้รับของแจก บางครอบครัวได้มากเกินกว่าจะบริโภคได้หมด ฯลฯ ยังไม่พูดถึงมาตรการฟื้นฟูซึ่งคงก่อให้เกิดปัญหามากกว่านี้

สื่อกระทบกระเทียบว่า คุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพกว่านายกรัฐมนตรี

ผมก็ไม่ได้ดูรายการของคุณสรยุทธระหว่างน้ำท่วม จนกระทั่งมีเสียงกระทบจากสื่อ จึงได้ดูบ้าง และเก็บข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ว่าคุณสรยุทธทำอะไรบ้าง

ผมพบว่า สิ่งที่คุณสรยุทธทำก็คือ การจัดการด้วยการจัดตั้งหรือจัดองค์กรหลวมๆ สำหรับทำให้สามารถประกอบภารกิจที่จำเป็นผ่านพ้นไปได้

เช่น ในตอนหนึ่งที่ผมได้ดูคุณสรยุทธคุยกับชาวบ้าน เสนอแนะว่า วิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหาร เพื่อให้ได้กันทั่วถึงโดยเฉพาะเด็กและคนแก่ โดยไม่เสียของกับวัสดุที่ได้รับบริจาคมาด้วย คือการตั้งโรงครัวกลาง ชาวบ้านเห็นด้วย แล้วในที่สุดก็เกิดโรงครัวกลางขึ้น

สำเร็จประโยชน์ได้โดยคุณสรยุทธไม่ต้องลงมือจับตะหลิวผัดอะไร (ที่อาจไม่น่ากินเท่าที่ชาวบ้านปรุงเอง) เลยสักอย่าง

ที่ผมออกจะประทับใจก็คือ การตัดสินใจเปิดโรงครัวกลางก็ไม่ใช่ความคิดของคุณสรยุทธคนเดียว แต่มาจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านด้วย แน่นอนว่า คุณสรยุทธในฐานะตัวกลางผู้เชื่อมโยงความช่วยเหลือเข้ามาคงได้รับฟังมากหน่อยเป็นธรรมดา แต่เพียงเพราะชาวบ้านเห็นพ้องด้วย ที่เหลือชาวบ้านย่อมทำได้ดีกว่าคุณสรยุทธซึ่งเป็นคนนอก เช่น จะตั้งโรงครัวกลางที่ไหนดี จะจัดใครเข้ามาทำงานตรงนี้ จะส่งอาหารสำเร็จถึงครอบครัวที่ไม่สามารถเดินทางมาได้อย่างไร

การจัดการเชิงสังคม เป็นทั้งความจำเป็นในการเผชิญภัยพิบัติ และเป็นทั้งศิลปะ คือผู้จัดต้องรู้ว่าควรทำแค่ไหน และเปิดให้ผู้อื่นมีบทบาทร่วมด้วยได้อย่างไร ที่สำคัญ คือจะเกิดประสิทธิภาพในการบรรเทาทุกข์ได้อย่างไร

แต่การจัดองค์กรเพื่อจัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้หายไปในชุมชนไทย และที่จริง ในสังคมไทยทั้งหมดด้วย ผลก็คือ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแต่ละครั้ง จึงช่วยอะไรกันไม่ได้มากไปกว่าถุงยังชีพ อันเป็นความช่วยเหลือที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีการจัดองค์กร และไม่มีความสามารถในการจัดการทางสังคมมากไปกว่าช่วยให้ต่างคนต่างช่วยตัวเองไปตามยถากรรม

หลายชุมชนบ่นว่า เรือที่ทางการช่วยมาไปอยู่กับบางครอบครัวที่เป็นเครือญาติของผู้นำหมู่บ้าน คนอื่นไม่ได้ใช้ จะแก้ปัญหานี้ได้ก็เพียงวิธีเดียวคือ แจกเรือครอบครัวละลำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ผมฟังด้วยความเห็นใจกำนันผู้ใหญ่บ้านนะครับ เมื่ออำเภอเอาเรือมาส่ง ปราศจากการจัดองค์กรเพื่อจัดการทรัพยากรที่จำเป็นอันนี้ ผมจะทำอย่างไรเล่าครับ นอกจากเอาไปให้แม่ยายใช้



ทั้งหมดที่ผมคุยมานี้ ไม่ได้ต้องการให้เราพากันหวนกลับไปอยู่ในสมัยโบราณกันใหม่ เพราะเป็นไปไม่ได้แล้ว กว่าครึ่งของคนไทยปัจจุบันมีชีวิตอยู่ในเขต "เมือง" และการจัดองค์กรในเมืองเพื่อจัดการอะไรก็ตามนั้น เป็นประสบการณ์ใหม่ซึ่งคนไทยไม่เคยมี เพราะถูกกีดกันไม่ให้มีตลอดมา

แม้ในหมู่บ้านที่ยังเหลืออยู่ หมู่บ้านก็เปลี่ยนไปแล้ว มีความหลากหลายในวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านไม่น้อยไปกว่าเมือง โอกาสที่จะร่วมกันเพื่อจัดการอะไรก็แทบไม่มี แม้แต่งานศพก็ยังเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าภาพอย่างเดียว คนอื่นเป็นเพียงแขกที่มาร่วมงาน เราทั้งสังคมนั่นแหละครับที่ต่างคนต่างอยู่ และไม่เคยมีโอกาสร่วมกันจัดองค์กรเพื่อจัดการอะไรเลย


ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่ลักษณะธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่ทุกแห่ง แต่เป็นลักษณะที่เกิดกับสังคมไทยโดยเฉพาะ (และคงในสังคมอื่นๆ ที่ผ่านรัฐรวมศูนย์มาอย่างยาวนานเหมือนเรากระมัง) ในสังคมสมัยใหม่บางแห่ง มีการจัดองค์กรเพื่อร่วมมือกันแบบถาวรด้วยซ้ำ เช่น โบสถ์ในเมืองฝรั่งก็ยังเป็นศูนย์กลางของการจัดการระดับชุมชนอยู่ ยังไม่พูดถึงการประชุมชาวเมือง (เล็กๆ) เพื่อร่วมกันตัดสินใจ เรื่องที่กระทบต่อชีวิตของชุมชนทั้งหมด

เรามักคิดว่าฝรั่งมีความเป็นปัจเจกสูง ก็อาจจะจริงในวิธีคิดของฝรั่ง แต่ในวิถีชีวิตของเขา การปฏิบัติการเชิงกลุ่มกลับมีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว (ซึ่งหลายครั้งก็อาจก่อให้เกิดความโหดร้ายด้วย เช่น การลงประชาทัณฑ์เพื่อนบ้านเพราะผิวของเขาดำเกินไป เป็นต้น)

ผมคิดว่าคนไทยปัจจุบันต่างหากที่เป็นปัจเจกมากกว่า ทั้งในวิธีคิดและในวิถีชีวิต

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความสามารถในการจัดองค์กรเพื่อจัดการทรัพยากรอย่างไร คนในรัฐสมัยใหม่ก็ยังต้องการรัฐอยู่นั่นเอง เพราะรัฐกระจุกเอาทรัพยากรนานาชนิดไว้ในมือเป็นอันมาก หากรัฐเองไม่มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรในยามวิกฤต ความเดือดร้อนก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก

และระบบของการจัดองค์กรเพื่อจัดสรรทรัพยากรของรัฐไทยนั้นไร้ประสิทธิภาพในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะดูเรื่องที่ดิน, น้ำ, อากาศ, โอกาส, การศึกษา, หรืองบประมาณ ฯลฯ ก็ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ยิ่งต้องมาจัดการทรัพยากรในยามวิกฤตยิ่งเละ เพราะในยามวิกฤต กระทรวง ทบวง กรม ต้องประสานงานกันเพื่อระดมและจัดการทรัพยากรอันหลากหลาย ให้สามารถบรรเทาทุกข์ได้โดยเร็ว

การประสานงานนั่นแหละครับคือความอ่อนแอที่สุดของหน่วยราชการของรัฐ และลามไปถึงระบบการเมืองไทยด้วย ว่ากันไปแล้ว ก็เป็นความอ่อนแอของระบบราชการทั้งโลก

นั่นคือเหตุผลที่เราต้องมีนายกรัฐมนตรีไงครับ



หนังสือพิมพ์ประชดว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเยี่ยมผู้ประสบภัยโดยเท้าไม่เปียกเลย นั่นผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ การไปเยี่ยมผู้ประสบภัย จะลอยเรือไปหรือจะยืนบนรถจีเอ็มซีก็ตาม เป็นความจำเป็นทางการเมืองในฐานะนายกฯ อย่างไรก็ต้องไปเยี่ยมและออกข่าวทีวี

ที่สำคัญกว่าไปเยี่ยมก็คือ การจัดให้เกิดการประสานงานอย่างกระฉับกระเฉงของหน่วยราชการ ภายใต้การกำกับอย่างเอาจริงเอาจังของนายกฯ อาจประชุม ครม. ฉุกเฉินที่นครสวรรค์ หรือบุรีรัมย์ เพื่อส่งสัญญาณให้ราชการรู้ว่า นายกฯ เอาจริงนะโว้ย นอกจากนั้น ก็ต้องคอยตามดูตามจิกอย่างไม่ลดละ ไม่ต้องมาเกี่ยงงอนว่าของมีแล้ว แต่เรือไม่มี เข้าไม่ถึงเพราะน้ำลึกเกินไป ก็จะมีกองทัพเรือและกองทัพอากาศไว้ทำไม หมอไม่พอที่ใด ก็ต้องระดมกันลงไปให้พร้อมพรั่ง ฯลฯ

หัวส่ายหางก็กระดิกครับ

แต่คุณอภิสิทธิ์ทำแค่ความจำเป็นทางการเมืองเบื้องต้น ปล่อยให้งานที่สำคัญกว่าคืออำนวยให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยราชการเละเทะเหมือนเดิม สมกับเป็นนายกฯ โดย "อำมาตย์" ของ "อำมาตย์" และเพื่อ "อำมาตย์" โดยแท้

ความสามารถในการจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมของไทยปัจจุบันนั้น ถือได้ว่าอ่อนแอที่สุด เทียบไม่ได้แม้แต่พม่า, ลาว และเวียดนามด้วยซ้ำ จะหวังพึ่งแต่รัฐก็พึ่งไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะเมื่อได้คนอย่าง ดร.เฟาสต์มาเป็นนายกฯ (ซึ่งก็มักได้นายกฯ ประเภทนี้อยู่บ่อยๆ)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมไม่เป็น แต่เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว การจัดองค์กรอย่างเก่า ไม่สามารถจัดการอะไรได้อีกต่อไป แต่เราก็ไม่มีโอกาสได้ปกครองตนเองเหมือนเดิม จึงไม่ได้พัฒนาการจัดองค์กรแบบเดิมให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ เวลานี้ความสามารถในการจัดองค์กรทางสังคมของไทยมีไม่มากไปกว่าระดับครอบครัว ซึ่งก็ว่ากันว่า กำลังล่มสลายลงเสียอีก (ไม่งั้นเราจะปล่อยให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่าโดดเดี่ยวเดียวดายและไร้อาหารได้เป็นแสนเป็นล้านอย่างไร)


ทำไมเราจึงต้องเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อ "ชิง" รัฐกันถึงขนาดนี้ ก็เพราะเราไม่มี "สังคม" ล่ะสิครับ ชีวิตที่ปราศจากการจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้

รัฐเท่านั้นที่ผูกขาดการจัดองค์กรดังกล่าวอยู่ฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องชิงเอารัฐนั้นมาอยู่ในกำกับของตนให้ได้



.

2554-03-30

นโยบายการเมืองเป็นยาขม โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
นโยบายการเมืองเป็นยาขม นโยบายประชานิยมเป็นของหวาน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 19


โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยฝีมือของมนุษย์และธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดข้าวยากหมากแพง ทำให้ทั้งผู้นำและประชาชนทุกประเทศต้องปรับตัวตามให้ทัน หาวิธีตั้งรับและแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของผู้คน ด้วยระบบความคิดที่ก้าวหน้า เป็นวิทยาศาสตร์ อาศัยการรวมพลังของคนทั้งชาติและทั้งโลกจึงจะสามารถแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติไปได้

แต่ถ้ามีผู้นำที่มีความคิดล้าหลังก็จะนำพาความพินาศมาสู่ประชาชน ประเมินกันว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจะใหญ่ขึ้น มากขึ้น


แม้คนไทยสามัคคีกัน แต่โดยศักยภาพเท่าที่มีอยู่ในวันนี้ก็คงพอจะเอาตัวรอดไปได้เท่านั้น ถ้าหากความขัดแย้งยังดำรงอยู่ในระดับนี้ จะสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน

วันนี้เราจึงต้องการผู้นำที่มีสายตายาวไกล มองเห็นปัญหาและมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ ทั้งยังจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งชาติมากกว่าประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม

อนาคตของประเทศเราอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าดำเนินนโยบายผิดพลาด ไม่เพียงแต่จะพังพินาศ แต่จะเป็นตัวถ่วงความเจริญของภูมิภาคและของโลก



ช่วงเวลานี้พรรคต่างๆ ได้ชิงเสนอนโยบายแบบประชานิยม เช่น การอุ้มราคาแก๊ส ราคาน้ำมัน ราคาพืชเกษตร สวัสดิการต่างๆ

แต่ประเทศไทยวันนี้เหมือนคนป่วยหนัก ที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เป็นอาการป่วยที่เกิดจากโรคมะเร็งการเมืองการปกครอง

คนป่วยต้องการยามากกว่าของหวาน

ประชาชนอยากรู้ว่าพรรคการเมืองที่จะเข้าไปทำงานในสภาและบริหารประเทศ จะมีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร

มี 2 เรื่องใหญ่ 2 โรคใหญ่ ที่ทำให้ถึงตายได้



เรื่องแรก ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน คนทั้งประเทศรับรู้ถึงปัญหาความแตกแยกทางความคิดที่ได้ขยายไปทั้งลึกทั้งกว้าง แม้เวลาผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติ

ถ้าย้อนดูบทเรียนหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ความขัดแย้งยกระดับจนถึงขั้นทำสงครามในเขตชนบทติดต่อกันถึง 6 ปี มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคน แต่ก็ลดระดับและยุติได้ในที่สุด

แต่ ณ เวลาปัจจุบัน สถานการณ์ในประเทศเรายังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะกลับไปสู่สภาพประชาธิปไตยแบบปกติ ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ในสภาพที่ตึงเครียด การประกาศกำหนดวันยุบสภา ไม่สามารถทำให้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงลดระดับลง

เปิดจอโทรทัศน์ดูเมื่อวันก่อน ก็เห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงเต็มถนนราชดำเนิน พวกเขาโจมตีนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการบริหารงานของรัฐบาลอย่างหนัก แม้จะสนับสนุนการเลือกตั้งที่จะมาถึง

พอเปลี่ยนช่องมาดูการชุมนุมพันธมิตรของเสื้อเหลือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ได้สรุปว่า จากการฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจและผลของการลงคะแนนซึ่งนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนผ่านหมด จะเห็นได้ว่า ความจริงและเหตุผลไม่มีประโยชน์ การตรวจสอบใช้ไม่ได้จริงในรัฐสภา ซึ่งเป็นที่รวมของพวกคนไม่ดี (ที่จริง คุณสนธิใช้คำพูดอื่นที่ไม่สามารถนำมาลงพิมพ์ได้) ระบบนี้จึงสมควรถูกเว้นวรรค 3-5 ปี เพื่อจะได้มีการชำระล้างความสกปรก

คุณสนธิบอกว่าความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ไม่กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ผิด แต่ไม่ได้บอกว่าผู้ที่จะมาชำระล้างจะเป็นใคร ได้แต่บอกว่าพวกคนเลวเหล่านั้นใกล้จะถึงวันตายแล้วยังไม่รู้ตัวเอง

และปิดท้ายด้วยการเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน" โดยผู้ชุมนุมลุกขึ้นยืนและร้องเพลงพร้อมกันเสียงดังสนั่น

บรรยากาศช่างเหมือนกับ ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เป็นอย่างยิ่ง

เปลี่ยนช่องไปดูฟุตบอลเห็นนิวคาสเซิลแพ้ สโต๊ก ซิตี้ 0-4 การต่อสู้เป็นทีม ประมาทไม่ได้เลย บางทีคิดว่าน่าจะชนะพอลงสนามจริงกลับแพ้ขาด


ผู้ที่มีความประสงค์อยากจะกวาดล้างบ้านเมืองให้สะอาด ไม่ได้มีเพียงกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองกลุ่มเดียว อาจจะมีกลุ่มที่หัวรุนแรงอื่นที่ต้องการทำแบบเดียวกัน

และในสายตาของคนกลุ่มนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็คือคนเลวที่จะต้องกวาดทิ้งเช่นกัน

ถ้าแต่ละกลุ่มต้องการมีอำนาจเด็ดขาด และกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปจากวงจรอำนาจ การต่อสู้อย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

สภาพบ้านเมืองจะเป็นแบบ ลิเบีย, อิรัก, หรือ อัฟกานิสถาน คงต้องสู้รบกันไปจนกว่าจะมีผู้ชนะเด็ดขาดโดยฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งให้ตายให้หมด

หรือถ้าไม่มีใครชนะก็รบกันไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นแบ่งประเทศเป็นส่วนๆ



ในยุคที่นายกฯ ไม่มีอำนาจจริง สิ่งที่ไม่เคยขึ้นตาชั่ง ก็ต้องนำมาชั่ง เช่น ไข่ และธนบัตรใบละพัน (หนึ่งล้าน = หนึ่งกิโลกรัม) ส่วนสิ่งที่ควรนำมาขึ้นตาชั่ง เช่น ความยุติธรรมก็ไม่เคยนำมาชั่งสักครั้ง พอนำไปใช้ก็เลยไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยืดเยื้อไม่รู้จักจบสิ้น

คนส่วนใหญ่อยากให้ความขัดแย้งยุติ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ง่ายๆ และในสภาพปัจจุบันยังสามารถพลิกผันไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง คือถ้าจัดการไม่เหมาะสมก็จะรุนแรงขึ้น ถ้าแก้ปัญหาได้ดีก็จะลดความขัดแย้งลง

ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังล้นออกนอกระบบ และอาจดึงให้ระบบประชาธิปไตยล้มคว่ำลง อย่างที่มีคนบางกลุ่มต้องการ ทุกพรรคที่ต้องการส่งผู้สมัครเข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง, และลงสมัคร ส.ส ชุดใหม่ จำเป็นต้องแสดงภูมิปัญญา ผ่านนโยบายของพรรค เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่านโยบายประชานิยม

ส่วนสำคัญในการแก้ปัญหานี้ คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ ซึ่งเหมือนไม้ 3 อันที่ค้ำยันกัน การยอมรับเสียงของประชาชน การตรวจสอบของประชาชน, การตรวจสอบของสื่อและระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้


แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายๆ พรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามารับการเลือกตั้ง ควรจะเสนอนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม มีคำมั่นสัญญาว่าจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ตั้งแต่ที่มาของอำนาจ วิธีถ่วงดุลอำนาจ ระบบตรวจสอบ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย มาตราใด ลดอำนาจให้ใคร เพิ่มอำนาจให้ใคร องค์กรใดถูกตั้งโดยใครและยุบโดยใคร การตัดสินลงโทษ เป็นอำนาจของใคร มีขอบเขตแค่ไหน แต่ละคน แต่ละฝ่ายที่มีอำนาจ จะต้องถูกตรวจสอบโดยใคร ทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบได้

การรัฐประหารควรจะมีโทษอย่างไรมีสิทธิได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ จะมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ ฯลฯ

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะถ้าความขัดแย้งไม่ลดลงสู่ระดับปกติ จะสร้างปัญหาทุกด้านให้กับประเทศได้


ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เราจะได้เห็นปัญหาและการแก้ไขของประเทศในแถบแอฟริกาเหนือซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นในอียิปต์ ที่เคยบอกไว้ว่า เริ่มต้นแบบ 14 ตุลาคม 2516 แต่การต่อสู้ทางการเมืองจะทำให้ประเทศอียิปต์ดำรงระบบประชาธิปไตยและพัฒนาไปได้ดีแค่ไหน

ในขณะที่เยเมนและบาห์เรน ถ้าผู้ประท้วงถูกปราบไปจนหมดท้องถนน จะหายลงไปใต้ดินซึ่งคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มกองกำลังอาวุธต่างๆ

ถ้ากองกำลังจากประเทศตะวันตกบุกเข้าไปในลิเบีย โฉมหน้าการต่อสู้จะเปลี่ยนไปอย่างไร จะเป็นศึกชิงบ่อน้ำมัน หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สงครามกองโจรหรือกระแสพัฒนาประชาธิปไตย อะไรที่จะมีอิทธิพลเป็นด้านหลักในประเทศเหล่านั้น อนาคตทางการเมืองของพวกเขาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก

สำหรับประเทศไทยของเรา ควรจะคาดการณ์ได้ง่ายกว่า แต่พอมาถึงวันนี้เหมือนมีพลังลึกลับมากดดัน ความไม่แน่นอนจึงกลับมีสูงคล้ายกับแอฟริกาเหนือ ประชาชนจะเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันการเมืองให้เข้าสู่ระบบ พวกเขาจึงควรได้รู้นโยบายและแนวทางปฏิบัติของพรรคที่ลงเลือกตั้ง เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคต



ปัญหาใหญ่เรื่องที่ 2 คือสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่กำลังยกระดับสูงขึ้นอย่างน่ากลัวหลังจากกรณีตากใบ

ผู้เขียนได้เคยคาดการณ์ ให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฟังว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นทุกวัน มีคำถามตามมาว่า "นานเท่าไหร่" คำตอบคือ เป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี

เหตุผลก็เพราะผู้เขียนเชื่อว่า นโยบายและวิธีการแก้ปัญหาของผู้นำซึ่งเป็นนักการเมืองและผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นข้าราชการ จะยังคงใช้วิธีการทางทหารเป็นหลัก คน, อาวุธ และเงิน จะถูกทุ่มเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งจะไม่มีวันชนะเด็ดขาด มีแต่ยืดเยื้อ และทำให้พื้นที่ขัดแย้งขยายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนให้กับฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งมาจากที่อื่น ทั้งในเชิงอุดมการณ์และวัตถุ แต่ที่กำหนดเวลาไว้ 15 ปีเพราะผู้เขียนเชื่อว่า หลังจากแก้ปัญหาไม่ได้และปัญหาลุกลามใหญ่โต ก็จะมีการเปลี่ยนนโยบาย

ซึ่งวันนี้เวลาผ่านเกือบ 7 ปีแล้ว และปัญหาก็ใหญ่ขึ้นแล้วจริงๆ


สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นการยกระดับทางยุทธศาสตร์ ภาพล่าสุดที่เห็นจากกล้องวงจรปิด 2 เหตุการณ์ คือ ระเบิดคาร์บอมบ์ขนาดใหญ่ และการใช้อาวุธสงครามเข้าปล้นร้านทอง โดยเฉพาะการเข้าปล้นร้านทองมีรายละเอียดที่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มโจรที่คลุมหน้าได้ยิงเจ้าของร้านที่ล้มลงหรือหมอบลงจนเสียชีวิตทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น มีลักษณะไม่เหมือนการปล้นธรรมดา

เรื่องนี้ทางการต้องสืบให้รู้ว่าเป็นของกลุ่มใด ถ้าหากเป็นโจรธรรมดาก็ถือว่าโหดผิดมนุษย์ ต้องเร่งจัดการทันที

ถ้าหากเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ถือว่าอันตรายมาก เพราะการกระทำครั้งนี้เป็นการยกระดับทางการทหาร เพื่อรุกทางยุทธศาสตร์ ให้มีผลต่อการขยายอิทธิพลทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน มีการวางระเบิดขนาดเล็กในเขตพื้นที่นอกเมือง จากนั้น ก็ยกระดับมาเป็นคาร์บอมบ์ขนาดใหญ่ในเขตเมือง นี่เป็นการข่มขวัญชาวบ้านร้านถิ่นให้หวาดกลัวโดยทั่วกัน

ปัจจุบัน การเข้าโจมตีฐานที่ตั้งกองกำลังของรัฐบาลก็เป็นการยกระดับสงครามและแสดงความสามารถของกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายกองโจร ทั้งยังทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกไม่ปลอดภัยมากกว่าสมัยก่อน (ซึ่งจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยก็ต่อเมื่อออกลาดตระเวนไปยังท้องที่ต่างๆ )

แต่บัดนี้ แม้นอนอยู่ในค่ายพักก็อาจถูกโจมตีจนเสียชีวิตได้ ทำให้กำลังพลส่วนหนึ่งไม่อยากย้ายลงมาทำงานในสามจังหวัดภาคใต้

การเข้าปล้นที่ตั้งทางธุรกิจด้วยกำลังอาวุธร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นร้านทอง ธนาคาร หรือ ห้างร้าน บริษัทขนาดใหญ่ จะกลายเป็นการยกระดับทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าทำได้ในตอนกลางวันและเป็นกลางเมือง เพราะเป็นทั้งการท้าทายและข่มขวัญประชาชนทุกระดับชั้น ทำเหมือนกับว่ามองไม่เห็นอำนาจรัฐอยู่ในสายตา รัฐบาลจะปล่อยให้สิ่งนี้เกิดอีกไม่ได้ เพราะถ้าเกิดขึ้นและกลุ่มโจรหนีไปได้

ประชาชนจะต้องคิดว่า ไม่มีที่ไหนปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว


เมื่อก่อน ถ้ามีการวางระเบิดและมีคนได้รับบาดเจ็บ ยังพอพูดได้ว่า "โชคร้ายผ่านไปโดนลูกหลงพอดี" แต่ถ้าวันนี้ขายของอยู่ในร้านแล้วมีคนเอาปืนมาปล้น ถูกยิงเสียชีวิตคงพูดไม่ได้ว่าโชคร้ายแต่ต้องโทษว่า รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนได้

ถ้าหากทหารอยู่ในค่ายก็ยังถูกโจมตีจนเสียชีวิต ทำธุรกิจอยู่ในร้านค้าตนเองก็ถูกปล้น เดินทางไปมาตามท้องถนนก็ถูกระเบิด สิ่งที่ประชาชนจะทำได้อย่างเดียวก็คือ ย้ายหนีออกจากเขตอันตราย ถ้าคนกลุ่มแรกเริ่มย้ายก็จะมีคนย้ายตามกันไปอีกหลายกลุ่ม นี่จะเป็นการพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่


ดังนั้น รัฐจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว จะใช้การทหารหรือการเมืองหรือทั้งสองอย่าง แต่ในระยะ 10 ปีหลังนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล

ใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเตรียมแก้ปัญหานี้ให้ดี

นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางยุทธศาสตร์และไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายๆ การแก้ปัญหาด้วยแนวทางเดิม ไม่สำเร็จแน่นอน

ผู้แทนฯ ในสามจังหวัดภาคใต้ต้องกล้าพูดกล้านำความคิดเห็นของชาวบ้านมาแสดงออก มาปรับเป็นนโยบาย เพื่อใช้แก้ไขปัญหาพรรคการเมืองที่จะบริหารประเทศต้องกล้ามีนโยบายใหม่ๆ ที่จะทำให้สงครามรายวันที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดยุติลงเสียที

บางทีเราอาจต้องย้อนไปดูวิธีปกครองบ้านเมืองสมัย100-200 ปีที่แล้วว่าเขาทำอย่างไรจึงไม่ต้องรบกันทุกวัน



สองปัญหาใหญ่ที่เสนอมา คือมะเร็งร้ายทางการเมืองการปกครอง

ถ้าเปรียบประเทศเป็นคนหนึ่งคนวันนี้เหมือนกับมีเชื้อมะเร็งที่ปอดกับที่ขาจำเป็นต้องรีบรักษาโดยด่วน

จะต้องผ่าตัดก็ยอม

คนไข้คนนี้จะมัวแต่ไปนั่งกินเค้กประชานิยม น้ำส้มสวัสดิการ ก็จะไม่มีทางหาย

คนที่จะเป็นรัฐบาลไม่ควรเสียเวลาไปแต่งหน้าเค้กเพื่อหลอกคนไข้ วันนี้มีแต่การกินยาขม การใช้เคมีบำบัด การผ่าตัดเท่านั้นจึงจะรักษาโรคได้

ประเทศเราอยากได้หมอที่รักษาคนไข้เป็น

วันนี้ยังไม่ต้องการคนทำของหวาน

.

2554-03-29

ผู้จัดระเบียบการเมือง และ อยากเลือกตั้งใหม่ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.
ผู้จัดระเบียบการเมือง
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:15:00 น.


เมื่อการเมืองไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แม้จะมีพวกนักเล่นเกมอำนาจโรคจิตกลุ่มหนึ่งยังพยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวาง ไม่ให้เกิดประชาธิปไตยอยู่ก็ตามที

แต่วันนี้ต้องถือว่าการเลือกตั้งอยู่แค่เอื้อมแล้ว

มีความเคลื่อนไหวขานรับกันอย่างคึกคัก มีการมองหาสูตรใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับบ้านเมือง ภายใต้ร่มธงการเลือกตั้ง

จริงอยู่ การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของประชาธิปไตย

แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อำนาจถูกดึงไปไว้ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคิดกันเอาเองว่าเป็นคนดี ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาจัดระเบียบการเมืองให้เรียบร้อยลงตัวสักระยะ

ประการหลังนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

แล้วคำว่าคนดี ป่านนี้พี่มาร์คยังสั่งสอนบทเรียนให้ไม่เข็ดกันอีกหรือ

การเลือกตั้งจึงเป็นความปรารถนาของคนส่วนใหญ่มากกว่า

แม้ว่ายังจะต้องช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนในท้องถิ่นในชุมชนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองเพิ่มขึ้น

อำนาจต้องเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นแหละจึงเป็นหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้าอำนาจยังอยู่ในมือชนชั้นสูงกลุ่มนายทุนขุนศึกที่คิดว่าตนเองฉลาดกว่า คิดว่าเป็นผู้กำหนดระบบระเบียบการเมืองให้คนส่วนใหญ่ต้องเดินตาม นั่นย่อมมิใช่ประชาธิปไตย


ทุกวันนี้มีคนบางกลุ่มกลุ้มใจไม่อยากให้มีเลือกตั้งมาจากสาเหตุอะไร

มาจากการประเมินผลล่วงหน้าคาดหมายกันว่าประชาธิปัตย์อาจแพ้

เนื่องจากผิดพลาด ทำปากท้องประชาชนหิวโหยขาดแคลน ทำให้เกิดปัญหาสองมาตรฐาน ความรู้สึกระหว่างมีเส้นกับไม่มีเส้น แผ่กว้างไปทั่ว

เสื้อแดงยิ่งขยายตัวเพราะ 91 ศพไม่มีความเป็นธรรม

สภาพเช่นนี้บ่งชี้ว่า ผู้คนจะหันกลับไปหาเพื่อไทย

แต่นั่นก็เป็นไปตามธรรมชาติของการเมือง การเลือกตั้งแต่ละหนอารมณ์ความนิยมของประชาชน ย่อมไม่เหมือนกัน ใครจะไปกำหนดได้


ความกลัวว่าประชาธิปัตย์จะแพ้ แล้วทักษิณจะกลับมานี่แหละเป็นปมในชีวิตของนักเล่นเกมอำนาจกลุ่มหนึ่ง

ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน

พรรคเพื่อไทยเองยังหาหัวไม่ลงตัว ทะเลาะกันนัวเนีย

แถมผู้คนเริ่มสนใจพรรคใหม่ ที่มี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นตัวชูโรง

อยากได้นายกฯใหม่ ที่ไม่ใช่มาร์คหรือคนของทักษิณ

เผื่อว่าจะได้หลุดพ้นจากวงจรขัดแย้งเสียที แถม ร.ต.อ.ปุระชัยคนนี้ยังการันตีเรื่องความดี ความสุจริต ตรงไปตรงมา ได้มากกว่า

ไม่ใช่แค่ดีแต่พูด



เลือกตั้งแล้วมาร์คจะกลับมา เพื่อไทยจะชนะ หรือปุระชัยจะเป็นทางออกใหม่ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

ขอเพียงให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย เป็นไปตามธรรมชาติของสังคม

เลิกเสียทีเถอะกับการที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาคิดแทนคนส่วนใหญ่ คิดเอาเองว่าปล่อยไปจะวุ่นวาย ขอให้ทุกคนหยุด เดี๋ยวจะจัดระเบียบใหม่ให้

จุดเริ่มต้นของวิกฤตประเทศไทยจนป่านนี้ยิ่งตกต่ำดำดิ่ง มาจากพวกนักจัดระเบียบแทนคนส่วนใหญ่นี่แหละ


++

อยากเลือกตั้งใหม่
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:00:00 น.


การอภิปรายไม่ไว้วางใจดำเนินไปอย่างเมามันในสภา คล้ายจะเป็นมหกรรมการเมืองเพื่อพิสูจน์ฉายา "ดีแต่พูด" ของนายกฯและรัฐบาลนี้ให้ประจักษ์แจ้งต่อประชาชนในวงกว้าง ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

คือตอบซะทุกเรื่อง ชี้แจงหมดทุกประเด็น

ทั้งนายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ใช้ลีลาวาทะ เชือดเฉือนฝ่ายค้านอย่างไม่มีลดละ

คล้ายจะบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

ข้าวของแพง ชาวบ้านแย่งซื้อน้ำมันปาล์มจะตีกันตายนั้น รัฐบาลก็ไม่ผิด

เรื่องภาษีบุหรี่นอก รัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายย่อยยับ 6 หมื่นล้านอะไรเลย

คนตาย 91 ศพ รัฐบาลก็ไม่ได้ทำ ไม่ได้สั่งการผิดพลาด ไม่ต้องรับผิดชอบแม้แต่น้อย

ปัญหา 3 จังหวัดใต้ มีประชาชน ทหารตำรวจ ล้มตายเป็นเบือ รัฐบาลก็มาถูกทางแล้ว ไม่มีผิดพลาดสักนิด

ฟังการตอบโต้กันในสภาทั้งหมดแล้ว ก็อยากให้เสร็จจากนี้รีบยุบสภาเสียโดยไว จะได้เลือกตั้งกันใหม่ จัดระเบียบการเมืองใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม


แต่พูดถึงการเลือกตั้ง มักมีคำถามว่า เลือกเสร็จแล้ว การเมืองจะวนกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่

ลงเอยก็แค่สงครามตัวแทนระหว่างประชาธิปัตย์ขั้วการเมืองอนุรักษนิยม กับเพื่อไทยขั้วการเมืองทักษิณ ที่ส่งให้บ้านเมืองจมปลักอยู่กับความขัดแย้งดังเดิมหรือเปล่า

คำตอบในเรื่องนี้ก็มีอยู่ว่า ถ้าปล่อยให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด จะประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยใครเป็นผู้ชนะ ต้องถือว่าเป็นประชามติของประชาชน ก็ต้องปล่อยให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศต่อไป

สำคัญว่า อย่ามีมือพิเศษที่ไหนมาเปิดค่ายทหารให้จัดตั้งรัฐบาลกันอีกเป็นใช้ได้



แต่การเมืองไทย อาจไม่มีแค่ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยเท่านั้น

วันก่อนภูมิใจไทย เนวิน ชิดชอบ ประกาศจับมือกับ บรรหาร ศิลปอาชา ชูสโลแกน "จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน" ซึ่งก็ยังไม่รู้ไปไหน แต่ที่แน่ๆ เหมือนการประกาศขั้วใหม่ขึ้นมาอีกขั้ว ระหว่างพระรองด้วยกัน

หลังจากนั้นไม่กี่วัน บรรหาร ศิลปอาชา ก็พบปะกับกลุ่ม 3 พี นายพินิจ จารุสมบัติ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ บวกกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ มาตั้งวงข้าววงการเมืองกันแถวๆ ประชาชื่น

เป็นที่รู้ว่า เป็นอีกขั้วที่จับมือกันเหนียวแน่นไม่น้อย ก่อนที่ภูมิใจไทยจะเข้ามาจูบปาก บรรหาร เสียอีก

แต่ทั้งหมดนี้ อาจมีข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองหน้าเก่าๆ ทั้งสิ้น


จึงมีข้อเสนอนักการเมืองทางเลือกใหม่ปลิวว่อนออกมาแล้ว

ชื่อของ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยไม้บรรทัด ที่สังคมไทยยอมรับและเชื่อถือ กับพรรคการเมืองที่กำลังจะก่อตั้งใหม่ เป็นที่ต้อนรับไม่น้อย

เพราะมาพร้อมสัญลักษณ์การปรองดอง คุณธรรม จริยธรรม เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าพรรค

อีกจุดคือความซื่อสัตย์สุจริต

ยังไม่รู้ว่าถึงที่สุด พรรคนี้จะเกิดขึ้นจริง ดร.ปุระชัย จะลงสนามเพื่อเป็นนายกฯทางเลือกคนใหม่จริงหรือไม่


เพียง..จากการฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเอ่ยถึงซื่อสัตย์สุจริต

ที่รูปหล่อพูดเก่ง แต่เหม็นหึ่ง...จบไปได้เลย

.

2554-03-28

จัดสัมปทานรัฐบาล

.
ตรวจพลหลังศึกอภิปราย กระสุน-เสื้อแดง-แตงโม
"ดาว์พงษ์-ประยุทธ์"ซุ่มสู้เลือกตั้ง และ HBD บิ๊กตู่
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 14


การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 9 รัฐมนตรี ที่แม้จะผ่านฉลุยกันไปแล้ว แต่ก็ทำเอากองทัพเดือดร้อนไปด้วย ทั้งที่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ไม่ได้ถูกอภิปรายด้วย

แต่ต้องเดือดร้อน เพราะผู้นำกองทัพเอากองทัพเข้าไปเป็นฐานค้ำรัฐบาลที่ถือกำเนิดในค่ายทหารแห่งนี้มาตลอดศก กองทัพจึงตกเป็นเป้าทางการเมืองไปด้วย

เดือดร้อน เพราะนายทหารฝ่ายอำนวยการจำนวนไม่น้อย ต้องทำงานนอกหน้าที่ มาเป็นคณะทำงานเตรียมข้อมูลและตอบโต้การอภิปราย โดยเฉพาะเรื่องการสลายม็อบแดง และการจัดซื้ออาวุธที่ถูกกระหน่ำมากที่สุด

โดยมีบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. นายทหารขวัญใจพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าทีมในการชักแถวทหารเข้าสภา ตั้งกองบัญชาการต่อสู้ศึกอภิปราย เพื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง


ศึกนี้ ฝ่ายทหารไม่ผิดหวังในตัวนายสุเทพ ที่บากหน้าชี้แจงแทนกองทัพได้ทุกเรื่อง ออกรับแทน แถมการันตี ตอบได้ทุกประเด็น ด้วยข้อมูลและหลักฐานที่ทหารเตรียมมาให้เป็นตั้ง จึงได้ใจขุนทหารไปเต็มๆ ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในสายตาทหาร มีแค่คำขอบคุณ หลังผ่านโหวต และยังกั๊กๆ รักษาภาพพจน์ จนบางเรื่องทำให้ขุนทหารส่ายหน้า

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่แม้ปากจะบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอภิปราย เพราะ "ผมไม่ใช่นักการเมือง" แต่ก็แอบเกาะขอบจอลุ้นอยู่ บก.ทบ. ตลอด ว่าพรรคเพื่อไทยจะงัดไม้ไหนมุขไหนมาแฉ ถึงขั้นการอภิปรายไม่เลิก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ยอมกลับบ้าน จะดึกดื่นแค่ไหนก็ตาม

ที่ลุ้นกันที่สุดคือ เกรงว่า "ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ แห่งพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.เสื้อแดง จะมีหลักฐานใหม่ว่าทหารเผาเซ็นทรัลเวิลด์ หรือสังหารประชาชน ออกมาแฉกลางสภา แต่ก็ผิดคาด



หากแต่ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ สองเพื่อนเกลอฉุนเฉียว ก็ตรงที่ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส. เพื่อไทยและเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารด้วย แฉเรื่องยอดเบิกจ่ายกระสุนปืนเป็นแสนนัดที่ใช้ในศึกม็อบแดง ตั้งแต่ 11 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ที่มีจำนวนแบบที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ เอ่ยปากว่า "ตัวเลขเป๊ะๆ" นั้น หลุดออกมาได้อย่างไร

โดยอ้างถึงรายงานการใช้กระสุนปืนและเครื่องระเบิด (สป.5) ของกรมสรรพาวุธ ทบ. ที่ระบุว่ามีการเบิกกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 เกจ เบอร์ 00 ไปทั้งหมดรวม 350,000 นัด แต่ส่งคืนคลังแค่ 301,271 นัด กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 ม.ม. เอ็ม 193 ที่ใช้กับปืนเอ็ม-16 เอ 1 จำนวน 20,000 นัด แต่คืนคลังมาแค่ 17,260 นัด

กระสุนปืนเล็กยาว 5.56 เอ็ม 855 หรือที่เรียกกันว่า "กระสุนหัวสีเขียว" ที่ใช้กับปืนเอ็ม-16 เอ 2 จำนวน 150,000 นัด แต่ส่งคืนคลัง 105,268 นัด

กระสุนปืนเล็กยาวซ้อมรบ 5.56 หรือกระสุนแบลงค์ 10,000 นัด คืนมาแค่ 3,380 นัด กระสุนปืนเล็กยาวแบบเจาะเกราะ 85,000 นัด ส่งคืน 5,500 นัด กระสุนปืนเล็กยาว 7.62 แมตช์ เอ็ม.852 ที่ใช้กับปืนเอ็ม-60 จำนวน 2,000 นัด ส่งคืน 860 นัด และ กระสุนปืนเล็กยาว 88 ราง 8 นัด จำนวน 50,000 นัด ส่งคืน 45,158 นัด

ที่ซีเรียสที่สุดคือ ข้อมูลกระสุนปืนซุ่มยิง (สไนเปอร์) แบบ SG 3,000 ขนาด 7.62 ม.ม. ที่มีการเบิกไปถึง 3,000 นัด แต่มีการนำมาคืนคลังแค่ 480 นัดเท่านั้น

งานนี้ แม้จะมีทหารประเภทที่แอบมั่วนิ่มเอากระสุนหลวงไปเก็บไว้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเอาไปขาย สะสม หรือเก็บไว้ใช้เอง หรือเป็นที่ระลึกก็ตาม แต่ก็ไม่น่าจะกล้าเอามากมาย แต่เป็นการสะท้อนว่าทหารได้ลั่นกระสุนสไนเปอร์ไปมากกว่า 2,000 นัด

เป้าหมายของพรรคฝ่ายค้าน คือต้องการชี้ให้เห็นว่าทหารได้ลั่นไกไปมากมายแค่ไหน แล้วเป้าของปากกระบอกปืนทหารนั้น ก็ย่อมหมายถึงคนเสื้อแดงที่ตายเจ็บระนาว นั่นเอง

ยิ่งในภาพรวมพบว่า ยอดส่งคืนคลังของกระสุนแต่ละประเภทนั้น ชี้ให้เห็นว่าทหารได้ใช้กระสุนในการปราบปรามคนเสื้อแดง มากมายจนน่าใจหาย เพราะรวมมีการเบิกกระสุนออกไปมากถึง 597,500 นัด แต่ส่งคืนมา 497,577 นัด

หมายถึงทหารได้ลั่นกระสุนไปมากถึง 117,923 นัด เลยทีเดียว



หลังเสร็จศึกอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ดาว์พงษ์ ก็กำลังตามรอยกลิ่น "ทหารแตงโม" ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปให้ฝ่ายค้าน พร้อมสั่งให้ทุกหน่วยคืนกระสุนที่เบิกไปให้หมดเกลี้ยง ห้ามเก็บไว้โดยพละการ

มีเสียงกระซิบกันด้วยว่า ให้ทำหลักฐานการส่งคืนคลังมาก่อนก็ได้ แต่จะหมายรวมถึงว่ามีกระสุนมาคืนจริงด้วยหรือไม่ ไม่มีใครกล้าคิดเป็นอย่างอื่น ทั้งๆ ที่เคยมีไอเดียให้ไปมั่วรวมกับยอดกระสุนที่ใช้ไปในศึกพระวิหาร การปะทะใหญ่ของทหารไทยและทหารกัมพูชา 4-6 กุมภาพันธ์ และตลอดยุทธการในเดือนกุมภาพันธ์แล้วก็ตาม


โดยเฉพาะกระสุนสไนเปอร์ที่ ทบ. เร่งให้ส่งยอดคืนให้มากกว่านี้ เพราะตอนเหตุการณ์นั้น บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้เคยปฏิเสธไว้ว่าไม่ได้ส่งพลซุ่มยิงมาใช้ แม้ว่าในเวลานั้นจะมีภาพทหารกำลังซุ่มจากตึกสูงลงมาก็ตามที อีกทั้งพลซุ่มยิง ก็ถือเป็นการจัดกำลังปกติของแต่ละหน่วยเวลาออกปฏิบัติการอยู่แล้ว ยอดเบิกจ่ายกระสุนนี้ สะท้อนว่ามีการใช้ทหารพลซุ่มยิงจริง รวมทั้งชี้ด้วยว่าเป็นทหารจากหน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยเดียวที่มีปืนรุ่นนี้ใช้


นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีคำสั่งให้ฝ่ายกำลังพล จัดทำวีซีดีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ทหารและครอบครัวในทุกหน่วยทั่วประเทศดู เพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่แท้จริง แต่ไม่เอาอย่างนายอภิสิทธิ์ ที่ให้ทำชี้แจงออกทีวีช่อง 11 เพราะเขามองว่าไม่มีใครสนใจอยากดูแน่

โดยวีซีดีทหารนี้จะเป็นการนำเอาคำอภิปรายของ "ตู่" จตุพร และคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ และ พล.อ.ประวิตร ที่ก็แม้ไม่โดนอภิปราย แต่ก็ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงกลางสภาด้วย ในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน

"เพื่อให้กำลังพลของ ทบ. เรา ที่อาจดูการอภิปรายไม่ครบทั้งหมด ฟังแต่ตอนจตุพรพูด หรือแค่อ่านข่าวสรุปๆ ก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เราจึงต้องทำให้ทหารของเราเคลียร์ และรู้ว่าทหารไม่ได้ทำผิด คำสั่งของ ผบ.ทบ."


ด้วยเพราะเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ว่ามีความพยายามที่จะทำให้ทหารระดับล่าง ทหารชั้นผู้น้อย กลายเป็นทหารแตงโมให้มากที่สุด หมายทำให้ทหารระดับล่าง เกิดการ "กระด้างกระเดื่อง" ไม่ศรัทธาเชื่อมั่นในผู้บังคับบัญชา และอาจส่งผลให้ไม่เชื่อฟังคำสั่งในอนาคต จนเกิดปรากฏการณ์ทหารแตงโมปฏิวัติ

ถึงขั้นที่เกรงกันว่า ต้องการทำให้สถานการณ์เป็นเหมือนหลายประเทศในตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะในลิเบีย


"ผบ. หน่วย ต้องไปบอกกับลูกน้องให้เชื่อมั่นในผู้บังคับบัญชา ว่าหากทำตามคำสั่ง ทำในหน้าที่ ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไร ผู้บังคับบัญชาจะดูแลและรับผิดชอบแน่นอน ไม่ทิ้งกัน" บิ๊กตู่ฝากข้อความ

ทั้งนี้ เพราะมีทหารระดับปฏิบัติการเมื่อครั้งสลายม็อบเสื้อแดง โดยเฉพาะทหารรบพิเศษ และของกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ซึ่งถูกเปิดเผยโฉมหน้าจากรายงานการสอบสวนของดีเอสไอ จากกรณี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ไม่สบายใจที่ต้องมาถูกสอบสวนปากคำไม่จบสิ้น และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆ ที่ทำตามคำสั่ง "นาย"

สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นโรคหวาดระแวงกลัวเกรงทหารแตงโม ไส้ศึกตลอดเวลา จึงต้องจัดสวัสดิการเอาใจทหาร ด้วยการเจรจาขอเช่าที่ราชพัสดุหรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างบ้านพักหรือคอนโดฯ ให้ทหารชั้นผู้น้อยอยู่

"สมัยก่อน คิดว่าหากเกษียณแค่มีบ้านเล็กๆ ห้องเล็กๆ อยู่ ก็พอใจแล้ว ทหารเราทุกคนก็อยากมีบ้าน ผมต้องดูแล เพราะเราใช้เขาไปตาย ใช้เขาทำทุกอย่าง ก็ต้องดูแลเต็มที่" บิ๊กตู่เปรย

เพราะตอนนี้ ศึกเลือกตั้งก็ใกล้เข้ามา หลังนายกฯ ประกาศจะยุบสภาเดือนพฤษภาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ จึงต้องหันหน้าชนกันและขบคิดแผนรับมือกันอย่างเคร่งเครียด เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล ย่อมหมายถึงสะเทือนทั้งกองทัพ



ความหวาดระแวงต่อทหารแตงโมถึงขั้นที่ ผบ.ทบ. ห้ามทหารนำโทรศัพท์มือถือเข้าในที่ประชุมต่างๆ มิหนำซ้ำ ถึงขั้นใช้แจมเมอร์ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพราะเกรงว่าจะมีทหารแตงโมแอบกดปุ่มโทรศัพท์ให้ฝ่ายตรงข้ามแอบฟังการประชุมแบบสดๆ ผ่านมือถือ และกลัวข่าวรั่วสู่หูนักข่าว จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยเข้าประชุม ทบ. รายวันทุกวัน จะเข้าเมื่อมีเรื่องสำคัญเท่านั้น

"ผมพูดอะไรทีไร นักข่าวมันรู้ทุกที" บิ๊กตู่เปรย

แถม พล.อ.ประยุทธ์ มีหลายเรื่องที่ค้างคาใจ ไม่พอใจนักข่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งเข้มงวดเรื่องการปิดข่าวมากขึ้น

ยิ่งเมื่อไหร่ที่มีนักข่าวถามไม่เข้าหู แบบที่เรียกว่า ถามไม่สร้างสรรค์ หรือเสนอข่าวไม่น่าพอใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะอารมณ์เสีย พร้อมสั่ง

"จับผิด" และ "เล่นงาน" นักข่าวบ้าง

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พอใจอย่างแรง ก็เมื่อสื่อบางฉบับเสนอข่าวตำหนิ ผบ.ทบ. ที่โบ้ยความรับผิดชอบกรณีอาวุธปืนหายไปจากคลังของ ศร.พัน 1 ค่ายธนะรัชต์

แถมถูกจับตามองและโจมตีหนักอยู่แล้วเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรือเหาะ ทบ. ที่แม้จะลอยได้ แต่ก็แค่ไม่ถึง 1 ก.ม. แถมกล้องก็ใช้การได้แค่ 2 ตัว จาก 5 ตัว จนต้องเปลี่ยนภารกิจมาใช้ในยามสงบ

"ผมไม่เคยได้อะไรด้วยสักบาท" บิ๊กตู่ต้องเปรยกลางที่ประชุม


มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดหาที่โปร่งใส และป้องกันไม่ให้มี "เหลือบ" ใกล้ๆ ตัว จึงไม่เข้าไปยุ่งกับการจัดซื้อจัดหาใดๆ แต่ให้หน่วยต่างๆ พิจารณากันเอง

แต่แม้จะไม่แฮปปี้กับสื่อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้ถึงความสำคัญของสื่อ แต่ทว่าเฉพาะสื่อทีวีที่เขามองว่ามีอิทธิพล และคนดูมากที่สุด มีผลกระทบมากที่สุด เขาจึงต้องรื้อฟื้นนโยบาย "สร้างสัมพันธ์" กับสื่อ ด้วยแผนการออกตระเวนพบสื่อโทรทัศน์

ในฐานะที่เป็นแฟนรายการของ สรยุทธ สุทัศนจินดา และทีวีช่อง 3 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เจาะจงที่จะไปวิกช่อง 3 ก่อน เพราะดูว่าเป็นช่องที่มีคนดูข่าวมากที่สุด ตั้งแต่เช้าจรดค่ำมืดดึกดื่น

โดยหมายให้ ช่อง 3 สนใจเสนอข่าวของ ทบ. ให้มากขึ้น และเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง โดย ทบ. พร้อมป้อนข้อมูลให้



พล.อ.ประยุทธ์ นั้น มองว่าสื่อหนังสือพิมพ์คุมไม่ได้สั่งไม่ได้ แถมมีมากมายหลายฉบับ ขนาดว่า ทบ. เคยทุ่มงบประมาณหลายล้านบาท ซื้อเนื้อที่โฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์บางฉบับ ในการทำสกู๊ปข่าวต่างๆ แต่ในฉบับเดียวกัน กลับมีเขียนตำหนิ ทบ.

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่แฮปปี้กับนักข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ต่อหน้าที่ก็ต้องโอภาปราศรัย ให้สัมภาษณ์พูดคุยด้วย แต่ลับหลังก็ยังเรียก "มัน" ทุกคำ และงดแผนการพบสื่อทุกแขนงโดยรวม ตั้งแต่แรกขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ไปเลย แต่จะแยกเจาะไปพบเป็นรายๆ ไป

หลายๆ อย่างที่กำลังเผชิญอยู่ และเรื่องวุ่นๆ ทางการเมือง หลังนายอภิสิทธิ์ประกาศจะยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้ไม่รู้ว่า อนาคตบนเก้าอี้ ผบ.ทบ. จะเป็นเช่นไร จึงทำให้วันเกิดครบ 57 ปี เมื่อ 21 มีนาคมที่ผ่านมา บิ๊กตู่จึงงดเปิดบ้าน และสั่งงดการอวยพรทุกรูปแบบ

ด้วยเพราะมองว่า วันเกิดก็เป็นวันทำงาน ที่ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ ทำงานไปตามปกติ ไม่ต้องเอาเวลามาอวยพรใดๆ เพราะสำหรับบิ๊กตู่ ถือว่าวันเกิดเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะไปทำบุญตักบาตรกับครอบครัวเท่านั้น โดยปีนี้เลือกทำบุญที่วัดเบญจมบพิตรฯ

จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่เป็น เสธ.ทบ. และเป็น รอง ผบ.ทบ. ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็งดให้อวยพรวันเกิด เพราะไม่อยากถูกจับตามอง และถูกวิจารณ์ว่าทหารมาตบเท้าอวยพรวันเกิด


แต่กระนั้น ก็ไม่อาจห้ามหัวใจรักของเพื่อนสนิท ที่พร้อมใจกันส่งแมสเซต HBD-Happy Birthday รวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ได้ ที่ส่งของขวัญและดอกไม้อวยพรวันเกิดมาให้ถึงที่

เพราะถึงอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังต้องพึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อีกไม่น้อย ในศึกเลือกตั้งที่เจ้าตัวมั่นใจว่ามีแน่นอน โดยทหารจะเป็นกลางพร้อมยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ว่าจะเลือกใคร ขอแค่อย่าเลือกพรรคหรือคนที่หมิ่นสถาบัน

ไม่รู้มีสัญญาณอะไร...บิ๊กตู่ เปรยๆ ว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ผมก็ยังเป็น ผบ.ทบ. เหมือนเดิม


++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 8


"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขีดกรอบ "ยุบสภา" เด่นชัดขึ้นมาอีกนิด "อาทิตย์แรก" ของเดือนพฤษภาคม คงจะพลิ้วต่ออีกไม่ได้แล้ว ยิ่งล่าสุดคือ การเร่งรัดชง "กฎหมายลูก" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก็ทำให้น้ำหนักของการล้างไพ่ นำไปสู่หมวดเลือกตั้งใหญ่ เด่นชัดขึ้น

แม้ "มาร์ค" จะแสดงเจตนารมณ์ "ยุบสภา" ออกมาชัดเจนประมาณนี้แล้ว แต่ "คนการเมือง" ที่สันทัดกรณีจำนวนมาก ไม่เชื่อว่า "จะมีเลือกตั้ง"


"พรรคเพื่อแผ่นดิน" ทั้ง "ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง" หัวหน้าพรรค "สิทธิชัย โควสุรัตน์" เลขาธิการพรรค ฟันธงให้ลูกพรรคฟังว่าการเลือกตั้งใหญ่ ยังมั่นใจไม่ได้

สาเหตุที่หลายคนคาดคะเนว่า การเลือกตั้งใหญ่เป็นหมัน วิเคราะห์ตรงกันไปในทิศทางเดียวกันว่า

1. หากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะถล่มทลาย 220-250 เสียง และดึงพรรคร่วมเดิมคือ "ภูมิใจไทย" ของ "เพื่อนเนวิน" กับ "ชาติไทยพัฒนา" ของ "บรรหาร ศิลปอาชา" หรือ "กลุ่มโคราช+3 พี"

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นผู้จัดการรัฐบาล "กรอบปัญหา" ยังคาราคาซังระดับเดิม

เท่ากับว่า "ยกยอด" ตามไปเช็กบิลกันในรัฐบาล "มาร์ค ภาค 2" หมายถึง "ม็อบเสื้อเหลือง+เสื้อแดง" ยังรุมกินโต๊ะเต็มบ้านเต็มเมือง ปมทุจริตแก้ไม่ตก

2. หาก "พรรคเพื่อไทย" ลูกข่าย "ระบอบทักษิณ" เข้าวิน เป็นที่ 1 ต้องได้ฟอร์มรัฐบาลด้วยความชอบธรรม

จนปานนี้แล้ว "นายใหญ่ดูไบ" ยังไม่เปิดตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อก้าวสืบสู่ทำเนียบนายกฯ คนต่อไป

แต่โดยนัย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวคนเล็กของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ค่อนข้างจะมีภาษีเหนือกว่า "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์"

"เพื่อไทย" เป็นแกนนำรัฐบาล "น้องปู" เป็นนายกฯ ก็ต้องหาทางสะดวก ดึงพี่ชายกลับเมืองไทย ปัญหาเก่าก็ย้อนกลับมาใหม่ "ม็อบเสื้อเหลือง" ต้องเป่านกหวีด ผู้สูญเสียผลประโยชน์ จะร่วมวงไพบูลย์กันเล่นงาน บ้านเมืองลุกเป็นไฟอีกระลอก

ทั้งกรณีประชาธิปัตย์ ประสบชัยชนะ ทั้งกรณีเพื่อไทยเข้าป้าย ประเทศไทยก็เผชิญกับ "ปัญหาใหญ่" ระนาบเดียวกัน

จึงเกิดการข่าวที่ว่า "ไม่มีเลือกตั้ง" ระงับเอาไว้ชั่วคราวก่อน โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ-รัฐประหาร ใช้เงื่อนไขอื่นๆ มาจัดการ เป็นต้นว่า

เมื่อ "อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภาลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "อำนาจพิเศษ" จะบีบให้ "5 เสือ กกต." ลาออกจำนวนหนึ่ง ทำให้การประชุมไม่ครบองค์ รับรองผลการเลือกตั้งไม่ได้ การเมืองจะเกิด "สุญญากาศ" ขึ้นมาโดยพลัน

เมื่อกึ๊กๆ กั๊กๆ ไม่มีทางออก รัฐบาล "รักษาการ" จะไร้ความชอบธรรม จึงหาทางจัดการตั้งรัฐบาลใหม่ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 7 หรือ "นายกฯ ม.7"



ดูเหมือนว่า "คนการเมือง" ที่มีมุมมองว่า "เลือกตั้งไม่มี" ไม่จำเพาะเจาะจงใน "เพื่อแผ่นดิน" ซีกส่วนของ "พินิจ จารุสมบัติ" ฝั่งเดียว การขยับอย่างมีจังหวะของ "บรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าค่ายชาติไทยพัฒนาตัวจริง กับ "เนวิน ชิดชอบ" เบอร์หนึ่งภูมิใจไทย ที่ประกาศจับขั้ว แบ่งพื้นที่ทับซ้อนกันลงเลือกตั้ง

"ธง" ของ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 พรรค ต้องการปั่นตัวเลขให้ได้ 70-80 ที่นั่ง หวังผงาดขึ้นเป็น "ขั้วที่สาม" รองรับกรณีที่ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ทางเดินอุดตัน

แต่เนื่องมาจากแกนนำขาใหญ่ของชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ต่างโดนโทษแบน จากบ้านเลขที่ 111 ส่วนหนึ่ง และ 109 ส่วนหนึ่ง

มีตัวเลือกผู้อาวุโสอยู่ 2 คนเท่านั้น คือ "ชัย ชิดชอบ" กับ "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล"

แต่จะขาดแนวร่วมให้การสนับสนุน เพราะเชื่อว่า 2 พรรคใหญ่คือ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย จะไม่เล่นด้วยเด็ดขาด

จึงเกิด "หนึ่งทางเลือกใหม่" นั้นคือการเปิดตัว "พรรคประชาสันติ"

ดูองคาพยพ "ประชาสันติ" ที่มี "เสรี สุวรรณภานนท์" เป็นโต้โผหลักนั้น ไม่น่าจะมีอะไรหวือหวา

แต่พลันที่ปรากฏชื่อ "ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย-ยุติธรรม และรองนายกฯ สมัยรัฐบาล "ทักษิณ" มาเป็นตัวขาย สามารถ "สร้างกระแส" ได้ร้อนระอุพอควร

"ปุระชัย" ขายภาพตรงเป็นไม้บรรทัด กระแสตอบรับ "ประชาสันติ" ค่อนข้างสูง


มีการหยิบยกพรรคใหม่ ที่มี "ปุระชัย" มาไขปมปริศนา ... "ต้นน้ำ" มาจากไหน

จิ๊กซอว์ที่ต่อตัวเห็นเส้นทางได้เด่นชัดสุด คือ "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" อดีต ผบ.ตร.

"ปุระชัย-พัชรวาท" เป็นเพื่อนรักร่วมรุ่น นรต.25 ด้วยกันมา

"พล.ต.อ.พัชรวาท" เป็นน้องชายของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

"พล.อ.ประวิตร" เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการฟอร์มรัฐบาล "มาร์ค 1" ในค่ายทหาร และเป็นนายทหารรุ่นพี่ ที่รุ่นน้องในกองทัพ ที่คุมกำลังหลักในขณะนี้ ให้การยอมรับและเคารพสูงผู้หนึ่ง เป็นพี่ใหญ่แห่ง "บูรพาพยัคฆ์" มีน้องเล็กชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.

"พรรคประชาสันติ" ที่ชู "ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์" เป็นจุดขาย ใกล้ชิดกับ "ศูนย์อำนาจใหม่" มากไม่น้อยเลยทีเดียว


ปัญหาอยู่ที่ว่า "ประชาสันติ" เป็นพรรคใหม่ ฐานเสียงเน้นน้ำหนักที่พื้นที่ กทม. เป็นหลัก จะเป็นเพียง "พรรคขนาดเล็ก" มี ส.ส. ไม่น่าจะเกิน 15 คน

"บิ๊กปุ" จะผงาดขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ต้องใช้สูตรเดียวกับเมื่อครั้งที่กิจสังคม สมัย "พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" มี 18 เสียง และได้ฟอร์มรัฐบาล


"ปุระชัย" จะสร้างปาฏิหาริย์ได้ไม่ยาก หากว่าทหารภายใต้ร่มเงาของ "ปิ๊กป้อม" สนับสนุน และมีภูมิใจไทยของ "เนวิน" ชาติไทยพัฒนาของ "บรรหาร" เป็นฐานในเบื้องต้นให้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว

"ปุระชัย" ในขณะนี้ เหมือนกับยาสามัญประจำบ้านตัวใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นได้ กรณีที่ "อำนาจพิเศษ" ไม่พึงประสงค์ทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย

.

2554-03-27

จับกระแส "ไม่มีเลือกตั้ง"

.
จับกระแส "ไม่มีเลือกตั้ง" จาก "พันธมิตร" ถึง "เพื่อแผ่นดิน"
ปิศาจ "ทักษิณ" อาละวาด อะไรก็เกิดขึ้นได้
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 11


ว่ากันว่าความเลวร้ายที่สุดของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือ ทำให้คนไทยไม่เชื่อมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงอีก

ไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีก

ทุกครั้งที่การเมืองมีปัญหา ทุกคนจะถามว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ สะท้อนความเลวร้ายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เพราะทันทีที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประกาศยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม
คนเป็น "นายกรัฐมนตรี" ที่มีอำนาจยุบสภา ประกาศอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำอีก
ซึ่งหากเป็นประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกพรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้ง
ประชาชนต้องเตรียมใช้อำนาจในมือเพื่อเลือกผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้มาบริหารประเทศ
เพราะขั้นตอนต่อไปตามรัฐธรรมนูญก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 45-60 วันหลังการยุบสภา


แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ ในวงสนทนาของ "นักการเมือง" ที่คุยเรื่องการเมือง

แทนที่คำถามแรกจะเป็นเรื่องผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดจะได้เสียงมากที่สุด

คำถามแรกกลับเป็น "จะมีการเลือกตั้งหรือเปล่า"

อย่าลืมว่านักการเมืองนั้นเป็นคนที่จมูกไวอย่างยิ่ง


ประสบการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปี 2554 ทำให้ทุกคนเชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย
ไม่ว่าการรัฐประหารแบบเคลื่อนรถถังออกมาและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
หรือ การ "รัฐประหารเงียบ" เหมือนที่จัดตั้งรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ในกองทัพ
หรือการใช้ "ตุลาการภิวัตน์" จัดการให้ กกต. พ้นสภาพ จนเกิดสุญญากาศทางการเมืองเหมือนเมื่อครั้งที่ กกต. ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เจอมาแล้ว

บทเรียนในอดีตเมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นำพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศ "บอยคอต" ไม่ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง
เปิดช่องให้ "ตุลาการภิวัตน์" ทำงาน
และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ในที่สุด

"มือที่มองไม่เห็น" ในเมืองไทย มีจริง!!


แต่วันนี้ "อภิสิทธิ์" กำลังเผชิญกับ "อำนาจนอกระบบ" ในรูปแบบเดียวกัน

"ผมขอร้องทุกฝ่ายช่วยกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้า"

เป็นคำขอร้องของ "อภิสิทธิ์" ในวันที่ผลักดันการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเข้าสภา

แต่ดูเหมือนว่า "เสียงกระซิบ" เรื่อง "ไม่มีการเลือกตั้ง" ก็ยังไม่หยุด

ยิ่งโพลภายในของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย กอ.รมน. และ ตำรวจ ตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสจะชนะเลือกตั้ง

เสียงกระซิบก็ยิ่งดังขึ้นกว่าเดิม



ความเชื่อของนักการเมืองข้อหนึ่งก็คือ "มือที่มองไม่เห็น" กลัว "ทักษิณ ชินวัตร" อย่างยิ่ง
และจะไม่ยอมเป็นอันขาดให้ "ทักษิณ" กลับมามีอำนาจ
ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจริง ก็เท่ากับเปิดประตูให้ "ทักษิณ ชินวัตร" กลับมา
จะมาทั้ง "ตัว" หรือแค่มีอำนาจควบคุม "อำนาจรัฐ" ก็ถือว่า "น่ากลัว" อย่างยิ่ง
เพราะครั้งนี้ "ทักษิณ" ย่อมซึมซับบทเรียนในอดีตสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
เขาคงไม่รอเวลาเหมือนในอดีต
ต้องจัดการทุกอย่างในช่วงที่กระแส "ความชอบธรรม" หลังการเลือกตั้งยังสูงอยู่


ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายจึงจับตามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบไม่กะพริบตา

เพราะกลุ่มพันธมิตร คือ "มวลชน" ที่เปิดประตูให้เกิดการรัฐประหารเมื่อครั้งที่ผ่านมา

การปราศรัยบนเวทีพันธมิตร ตั้งแต่วันแรกที่ชุมนุมจนถึงวันนี้ จับสัญญาณชัดเจนคือ ปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาจัดการ
จากเดิมที่เรียกร้อง "ผู้นำ" กองทัพ
แต่วันนี้ ถึงขั้นเรียกร้องนายทหารระดับคุมกำลังให้ออกมา
ปัญหาของกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้มีเพียงอย่างเดียว คือ ปริมาณของ "มวลชน" ที่น้อยมาก

แต่เมื่อมีข่าวว่า พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร เพื่อนรัก จปร.7 ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้ามาช่วยและมีอดีตทหารเกณฑ์ของ ม.พัน 4 ทำหน้าที่การ์ดให้กับกลุ่มพันธมิตร

พร้อมกับประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 25 มีนาคม เพื่อคัดค้านการประชุมร่วมรัฐสภาในวาระพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรจึงยังน่าจับตามองเช่นเดิม

และยิ่งเห็นท่าทีของตำรวจที่แสดงอาการกล้าๆ กลัวๆ ในการ "ขอพื้นที่คืน" จากกลุ่มพันธมิตร ยิ่งทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

เพราะฉายา "ม็อบมีเส้น" ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มี "ที่มา"



นอกจากนั้นแล้ว คำพูดของ นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่บอกว่าหากมีการกดดันให้ กกต. ลาออก หลัง "อภิสิทธิ์" ยุบสภา จะเกิด "สุญญากาศทางการเมือง" ขึ้นมา

และอาจทำให้เกิดการใช้ "มาตรา 7" ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา

ยิ่งทำให้เสียงกระซิบดังมากขึ้น

เพราะสอดคล้องกับคำพูดของ "สดศรี สัตยธรรม" ในงานสัมมนาเชิงวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง กระแสข่าวที่จะมีการบังคับให้ กกต. ลาออกจากตำแหน่ง

เพื่อทำให้เกิด "ทางตัน" ทางการเมือง

นอกจากนั้น "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังออกมาให้สัมภาษณ์ เรื่อง 4 สูตร การจัดตั้งรัฐบาล ที่ฟังดูแล้วแปร่งหูอย่างยิ่ง

เพราะเหมือนกับการส่งสัญญาณ "รัฐบาลแห่งชาติ"

ยิ่ง "หม่อมอุ๋ย" เป็นคนหนึ่งที่มีข่าวว่า เป็น "ตัวเลือก" ที่มีคุณสมบัติพร้อม คล้ายกับ "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย"

คลื่นกระซิบจึงยังไม่หยุด

เพราะนับตั้งแต่ปี 2549 อะไรก็เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย


เพียงแต่สถานการณ์ในวันนี้ แตกต่างจากวันก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลชน "คนเสื้อแดง" ที่ประกาศต่อต้านการรัฐประหารอย่างเต็มตัว

ไม่ว่าจะรัฐประหารแบบไหน

ใช้อาวุธ หรือปฏิวัติเงียบ

นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ที่เข็ดขยาดกับผลพวงหลังการรัฐประหาร 19 กันายน 2549 และเตรียมพร้อมที่จะใช้อำนาจของตนตัดสินชะตากรรมของประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง

คนกลุ่มนี้คงไม่ยอมกับ "อำนาจนอกระบบ" เหมือนในอดีต

กระแสต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจนอกระบบ ของ "มือที่มองไม่เห็น" จะรุนแรงและหนักหน่วงยิ่ง

ทำนายได้เลยว่า หากไม่มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่

อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย


++

จับสัญญาณ ยื้อเกมเลือกตั้ง
ในข่าวสดรายวัน วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7423 หน้า 3


ถึงแม้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำรัฐบาลหลายคน ตลอดจนบรรดาแม่ทัพนายกอง

จะออกมายืนยันสนับสนุนการเลือกตั้งตามแนวทางระบอบประชา ธิปไตย ตามที่หลายคนคาดการณ์ ว่าจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนมิ.ย. หรืออย่างช้าต้นเดือนก.ค.

ขณะที่พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างก็ออกมาขานรับ ทั้งยังร่วมมือผลักดันร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับ รองรับการเลือกตั้งและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนสามารถผ่านสภาวาระแรกไปอย่างรวดเร็ว

คือพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ทั้งยังคืบหน้าไปอีกขั้นกรณีมีราชกิจจานุเบกษาลงประกาศ กกต. เรื่องจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด จำนวน 375 เขต ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2554


แต่กับกระแสข่าวที่สวนออกมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ หรือการกดดันให้ กกต.ทั้ง 5 คนลาออกหลังการยุบสภา เพื่อให้เกิดสุญญากาศทาง การเมือง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นำ 'คนนอก' เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องวิธีการ 'นอกระบบ' ดังกล่าว

การที่ นางสดศรี สัตยธรรม ถอดใจประกาศพร้อมลาออกจาก กกต. หากได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถึงจะมีการยืนยันว่า กกต.ที่เหลืออีก 4 คนยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีผลกระทบต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

แต่ก็เป็นจุดทำให้ประชาชน จำนวนไม่น้อยเริ่มเกิดความไขว้เขว เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเดือนมิ.ย.นี้ได้จริง หรือไม่



นอกจากนี้หลายคนยังวิเคราะห์สัญญาณแปลกๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง

ส่วนหนึ่งยังมาจากการประเมินผลเลือกตั้งของโพลหลายหน่วยงานที่ทำขึ้นทั้งในทางลับและเปิดเผย ชี้ตรงกันว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย

ส่งผลให้เครือข่ายทักษิณกลับมาผงาดบนเวทีการเมืองไทยอีกรอบ

ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ถืออำนาจตัวจริงขณะนี้ทำใจยอมรับได้ลำบาก ตรงนี้เองจึงเป็นบ่อเกิดของกระแสข่าวการปฏิวัติ


อย่างไรก็ตามทหารยุคนี้เพิ่งจะผ่านบทเรียน 19 กันยาฯ 2549 รวมถึงเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 ที่ทำให้ภาพพจน์กองทัพไม่ค่อยดีนักในสายตาประชาชน

จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะให้สัมภาษณ์ยืนกรานว่า กองทัพพร้อมสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ไม่มีการทำปฏิวัติเด็ดขาด

กระนั้นคำยืนยันของพล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนไม่เพียงพอให้พรรคเพื่อไทยคลายความระแวง

จากล่าสุดที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยออกมาปูดข่าวดักคอกองทัพตั้งหน่วยเฉพาะกิจกอ.รมน.ไว้คอย 'บล็อก'แกนนำคนเสื้อแดง และผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้ง

แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ยังมีการเสนออ๊อปชั่นพิเศษจาก 'มือที่มองไม่เห็น' ว่า

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 แต่ได้จำนวนส.ส.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง ก็ให้นับจำนวนส.ส.ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้

หากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลรวมกันแล้วมากกว่า ก็จะยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแทน

ข้อเสนอนี้เป็นการจูงใจพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีพรรคการเมืองขนาดเล็กจูงมือไปพบปะกัน และประกาศร่วมมือกันในการเลือกตั้ง

"จึงอยากเรียกร้องให้ผบ.ทบ. ประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ลากคอพรรคการเมืองไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือไม่ก็ปล้นส.ส. พรรคเพื่อไทยออกไปหลังการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"



หน่วยเฉพาะกิจที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นำออกมาแฉ ถ้าเป็นจริงประเด็นก็ไม่ต่างจากแผนบันได 4 ขั้นในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนธ.ค.50

และถ้าเป็นเช่นนั้นผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกัน คือถึงพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาลไม่ว่าจะในฐานะพรรคแกนนำหรือพรรคร่วมก็ตาม

แต่ปัญหาความขัดแย้งก็จะวนกลับมาที่เดิม เพราะพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงคงไม่ยอมแน่


อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแส วิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น การเมืองส่อเค้าถึงทางตันอีกรอบ

'พรรคประชาสันติ' ก็เลือกจังหวะเปิดตัวออกมาได้พอดิบพอดีในฐานะพรรคทางเลือกใหม่

ฮือฮาตรงที่มีการวางตัว ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค นายพันธ์เลิศ ใบหยก เป็นท่อน้ำเลี้ยง เป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่คะแนนเสียงคนกรุง

แต่ขณะเดียวกันผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนพรรคยังมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงระดับบิ๊กในกองทัพ และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับประชาธิปัตย์

ตามข่าวที่ออกมาถึงจะดูซับซ้อนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ และแน่นอนว่าการคืนสังเวียนการเมืองของ 'ปุระชัย' ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาสันติ

ย่อมก่อให้เกิดแรงสะเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งกทม. ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนส.ส.โดยรวมทั้งประเทศ


ในสถานการณ์ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในภาวะ 'ถดถอย' อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอำนาจการยุบสภายังอยู่ในมือของ นายกฯ อภิสิทธิ์ เต็มๆ

ด้วยเหตุนี้เอง อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไป ขนาดนักการเมืองรุ่นเก๋า และเป็นถึงประธานสภาอย่าง นายชัย ชิดชอบ ยังไม่ปักใจเชื่อเต็มร้อยว่าจะมีการยุบสภาต้นเดือนพ.ค.ตามที่นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศไว้

ตราบใดที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าฯ ลงมา ทุกอย่างยังมีโอกาสพลิกผันได้ตลอด

.

2554-03-26

สัมปทานนายก

.
รายงานพิเศษ คะแนนความนิยม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 8


คะแนนความนิยม ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดิ่งลง น่าใจหายยยย

ทั้งๆ ที่รูปหล่อ ทั้งๆ ที่พ่อและชาติตระกูลก็ดี ทั้งๆ ที่การศึกษาก็เป็นถึงนักเรียนอังกฤษ นักเรียนอ๊อกซ์ฟอร์ด

ทั้งๆ ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ได้รับการอุ้มชูอย่างเลิศลอย

แปลกเป็นอย่างยิ่งที่คะแนนนิยมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากเทียบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2551 มาถึงเดือนมีนาคม 2554

ก็ต้องยอมรับว่า กำลังดิ่ง

เป็นดิ่งลง มิใช่ดิ่งขึ้น

เพียง 1 วันของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ การสำรวจของเอแบคโพลล์เรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชน 17 จังหวัดต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล"

กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนรัฐบาล 5.69 จากคะแนนเต็ม 10

กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนฝ่ายค้าน 5.89 จากคะแนนเต็ม 10

เท่ากับยกที่ 1 ฝ่ายค้านชนะฝ่ายรัฐบาล 0.20 คะแนน ความหมายก็คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ชนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ่งตามไปจนถึงยกสุดท้าย ยิ่งพบเห็นคะแนนที่แปรเปลี่ยนเด่นชัดมากยิ่งขึ้น



สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนในวันที่ 19 มีนาคม ปรากฏคะแนนมาอย่างน่าสนใจ

มิได้เป็นเรื่องน่าแปลก หาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ 6.42 จากคะแนนเต็ม 10

แต่ที่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากอยู่ที่คะแนนของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ 6.20 จากคะแนนเต็ม 10

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ 5.81 จากคะแนนเต็ม 10

หากประเมินจากคะแนนของฝ่ายค้าน คะแนนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพ้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ได้ 6.17 ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ที่ได้ 6.09 นางฐิติมา ฉายแสง ที่ได้ 6.06 นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ที่ได้ 6.05 นายเจริญ จรรย์โกมล ที่ได้ 6.04 นางอรุณี ชำนาญหมอ ที่ได้ 5.96 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ที่ได้ 5.92 นายไชยา พรหมมา ที่ได้ 5.90


เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ กรุงเทพโพลล์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ยิ่งจะตระหนักในความแตกต่าง

คะแนนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ 6.48 จากคะแนนเต็ม 10

คะแนนการทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล ได้ 4.28 จากคะแนนเต็ม 10

ไม่เพียงแต่ชี้ว่า ฝ่ายค้านมีความเหนือกว่าถึง 2.28 หากแต่ที่ได้ 4.28 ยังเท่ากับเป็นการบ่งชี้ถึงการสอบตกของฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย

ในที่สุดแล้วก็คือ การสอบตกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ



แต่การสำรวจอะไรก็ไม่นำความเจ็บปวดมาให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่ากับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล พ.ศ.2553

เพราะเป็นการสำรวจโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-17 ธันวาคม 2553 โดยวิธีการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ครัวเรือนละ 1 คน กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 5,800 คน

ปรากฏว่า รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ประชาชนติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 6.2

ติดตามบางครั้งร้อยละ 54.6 ไม่เคยติดตามร้อยละ 39.2

ทั้งๆ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รูปหล่อ หน้าตาดี ทั้งๆ ที่สำนักอีตัน สำนักออกซ์ฟอร์ดได้ฝึกปรือวิธีการพูดให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างเข้มข้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจเป็นนายกรัฐมนตรีที่ "ดีแต่พูด"

กระนั้น การพูดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มี คนฟังน้อยมาก


++

คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 10


เปิดพรรค"ประชาสันติ" จับตา "ปุระชัย" รีเทิร์น "หม่อมอุ๋ย-หนั่น" แจม ลุ้นชิงนายกฯ ทางเลือก

หลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งสัญญาณยุบสภาช่วงสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม

พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างเคลื่อนไหวคึกคัก ต้อนรับเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะมีขึ้นราวปลายเดือนมิถุนายน อย่างช้าต้นเดือนกรกฎาคม

นอกจากการวางนโยบายหาเสียง จัดทัพจัดแถวว่าที่ผู้สมัครเตรียมตะลุมบอนแล้ว การกำหนดตัวบุคคลที่จะชูเป็นนายกรัฐมนตรี คืออีกประเด็นสำคัญที่ประชาชนเฝ้าจับตา

ท่ามกลางสภาพการเมืองแบ่งแยกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ประชาธิปัตย์ กับ เพื่อไทย ยังคงถูกยกเป็นมวยคู่เอกประจำศึกเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่ายังคงชูนายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นนายกฯ สมัยสอง ถึงจะมีการพูดถึง นายชวน หลีกภัย, นายกรณ์ จาติกวณิช และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่บ้างก็ตาม

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ยังมีปัญหาแย่งชิงอำนาจภายใน ระหว่างกลุ่มสนับสนุน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กับกลุ่มสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ท่ามกลางการต่อสู้ของ 2 ขั้วใหญ่ นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนลงความเห็นคล้ายกัน ไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทย เป็นฝ่ายชนะ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากไม่ยุติแล้ว ยังอาจปะทุรุนแรงอีกรอบ

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว กระแสข่าวพรรคทางเลือกที่ 3 รวมไปถึงการเพิ่มทางเลือกตัวบุคคล แข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ ย่อมได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ว่าประชาธิปัตย์ เพื่อไทย เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง


ในจำนวนนี้ พรรคประชาสันติ ที่วางตัว ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ถือเป็นพรรคน้องใหม่ที่ต้องจับตา

ยังมีสัญญาณจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ว่าด้วยวัย 64 ปี ยังหนุ่มพอจะเป็นนายกฯ หรือแม้แต่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็มีชื่ออยู่ในโผนายกฯ ทางเลือกนี้ด้วยเช่นกัน



มีการตั้งข้อสังเกตทุกครั้งของการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับความนิยม และเหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ จะมีชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย ติดอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอ

อย่างการสำรวจเมื่อกลางปี 2550 พบว่า ร.ต.อ.ปุระชัย อยู่ในอันดับแรก กระทั่งล่าสุด จากการสำรวจเอแบคโพลล์ สอบถามความเห็นคนกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ถึงบุคคลผู้เหมาะสมแข่งขันในตำแหน่งนายกฯ กับ นายอภิสิทธิ์

พบอันดับแรก ร้อยละ 41.2 สนับสนุน ร.ต.อ.ปุระชัย ส่วน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 34.7 และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อยู่ที่ร้อยละ 20.8

เสียงสนับสนุน ร.ต.อ.ปุระชัย นี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าว ร.ต.อ.ปุระชัย เตรียมเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ในฐานะพรรคทางเลือกที่ 3

ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันจาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร. ว่า

ตนเองและพรรคพวก อาทิ นายพันธ์เลิศ ใบหยก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายนพดล อินนา เตรียมจัดตั้งพรรคประชาสันติ โดยทาบทาม ร.ต.อ.ปุระชัย มาเป็นผู้นำพรรค

วันที่ 21 มีนาคม นายเสรี เปิดเผยหลังการประชุมใหญ่ประจำปีพรรคธรรมาธิปัตย์ ซึ่งมีมติเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพรรคประชาสันติ

กรรมการบริหารพรรคชุดขัดตาทัพจำนวน 11 คน มีชื่อ นายพันธ์เลิศ เป็นรองหัวหน้าพรรค ส่วนนายเสรี รับเป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว

เพื่อรอให้ ร.ต.อ.ปุระชัย มารับเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง พร้อมกับแถลงเปิดตัวกรรมการบริหารพรรคเป็นทางการอีกครั้งต้นเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของพรรคประชาสันติ ไม่เพียงเพราะมีชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เป็นหัวหน้าพรรค แต่เบื้องหลังกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคยังน่าสนใจไม่แพ้กัน



นายพันธ์เลิศ ใบหยก นักธุรกิจพันล้าน เจ้าของตึกสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย

เคยโดน ศอฉ. เรียกเข้ารายงานตัวชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เครือข่ายทักษิณและคนเสื้อแดง ครั้งนี้มาทำหน้าที่ท่อน้ำเลี้ยงให้พรรคประชาสันติ

ขณะเดียวกัน ตามที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ระบุมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนก่อตั้งพรรค

ยังทำให้เกิดคอนเน็กชั่นเชื่อมโยงอำนาจกันเป็นทอดๆ

เริ่มจาก พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ทั้งสามารถต่อไปยังพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอีกด้วย

ตรงนี้เป็นประเด็นน่าจับตา เนื่องจากเบื้องต้นมีการวิเคราะห์ว่า ชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ น่าจะขายได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ถึงแม้จะเป็นอุปสรรคสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การที่พรรคประชาสันติ จะได้รับเลือกเป็นพรรคเสียงข้างมาก ส่งให้ ร.ต.อ.ปุระชัย ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง ยังไม่น่าจะเป็นไปได้

เว้นเสียแต่จะได้รับการหนุนเสริมจากพรรคขนาดกลางอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่แกนนำพรรคทั้งตัวจริงและนอมินี ต่างมีปัญหาภาพติดลบ สังคมไม่ยอมรับ

สรุปว่าหาก ร.ต.อ.ปุระชัย ตัดสินใจเข้ารับเป็นหัวหน้าพรรคประชาสันติ ไม่เพียงจะเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน แต่ยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับพรรคภูมิใจไทย ที่กลับคืนสู่อำนาจภายหลังการเลือกตั้ง

ยิ่งกว่านั้น ร.ต.อ.ปุระชัย ถึงจะเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย แต่ก็มีประสบการณ์ถูกการเมืองสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เล่นงานจนต้องอำลาวงการการเมืองไปพักใหญ่

การกลับมาของ ร.ต.อ.ปุระชัย ที่ตัดขาดจากทักษิณ จึงเป็นเรื่องที่กองทัพยอมรับได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดแรงกดดันเรื่องการทำปฏิวัติแล้ว

ยังจะเป็นทางออกให้กองทัพในการสลัดหลุดการทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กอีกด้วย


นอกจาก ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์

ท่าทีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการ ธปท. ยังทำให้บางคนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องเก็บเอาไปคิดมาก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้รับการจับตามองถึงย่างก้าวทางการเมืองเช่นกัน เคยตกเป็นข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทาบทามให้มานั่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

แต่เนื่องจากตกลงเงื่อนไขบางอย่างไม่ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ เกรงว่าจะซ้ำรอยกรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่ตนเองคุมไม่อยู่ จึงพับแผนไปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เป็นคนไม่ยอมอ่อนข้อให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ทางกองทัพยอมรับได้ หากสามารถนำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

"แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ จับมาเป็นประเด็น คือกรณีที่จู่ๆ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกมาเสนอ 4 สูตรการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับตอบคำถามนักข่าวถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

จะลงหรือไม่ลง ตอนนี้อายุ 64 ปี ก็ยังหนุ่มพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่การเป็นนักการเมืองมักจะถูกมองในทางลบ ทำให้เสียภาพลักษณ์


ขณะเดียวกัน ชื่อของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ยังเป็นอะไรที่มองข้ามไม่ได้

ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ให้เป็นนายกฯ สำรอง ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์ ประสบวิกฤตคดียุบพรรค

บวกกับผลงานการเดินสายสร้างความปรองดองกับคนทุกสี ทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงการมีส่วนช่วยให้ 7 แกนนำ นปช. ได้รับการประกันตัวออกจากคุก

ทำให้ชื่อของ พล.ต.สนั่น ยังเหนียวหนึบอยู่บนเส้นทางการลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีทางเลือกเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรณี ร.ต.อ.ปุระชัย หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร หรือ พล.ต.สนั่น คือภาพสะท้อนถึงความเปิดกว้างของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในที่สุด

.

2554-03-25

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : ปัญหาความมั่นคงใหม่ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : ปัญหาความมั่นคงใหม่
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 36


"เราไม่สามารถหยุดยั้งพลังอำนาจของธรรมชาติได้เลย
แต่เราสามารถหยุดยั้งพลังอำนาจดังกล่าวต่อการก่อให้เกิดภัยพิบัติ
ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจได้"
โคฟี อันนัน
เลขาธิการสหประชาชาติ (1999)


โดยปกติแล้ว นักความมั่นคงไม่เคยถือเอาประเด็นเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด

ยิ่งย้อนกลับไปสู่อดีตในโลกของ "ความมั่นคงเก่า" ปัญหาความมั่นคงเป็นเรื่องของภัยคุกคามทางทหาร ธรรมชาติจึงไม่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นแหล่งของภัยคุกคามแต่อย่างใด

แม้ในช่วงของสงครามเย็น จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็ดูจะไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของประเด็นทางธรรมชาติในบริบทความมั่นคง

แต่ดูเหมือนเราเริ่มตระหนักจริงๆ ว่า ธรรมชาติเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงก็เมื่อเกิดสึนามิขึ้นในมหาสมุทรอินเดียในปี 2004 และในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นสถานการณ์ไม่แตกต่างกันในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือการตอกย้ำว่า สำหรับนักความมั่นคงใหม่แล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงใหม่ที่สำคัญ

ดังนั้น คงไม่แปลกอะไรนักที่จะมีผู้ใช้คำว่า ภัยคุกคามทางธรรมชาตินั้นเป็น "การกระทำของพระเจ้า" ที่บ่งบอกว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจต้านได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับภัยคุกคามเช่นนี้ มนุษย์อยู่ในสภาพที่รับมือไม่ได้ และปัญหาทางธรรมชาติเช่นนี้ ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์แต่อย่างใด


หากเปรียบเทียบกับปัญหาทางธรรมชาติในประวัติศาสตร์ จะเห็นถึงความรุนแรงและความเสียหายสูงสุด 10 รายการ

1) แม่น้ำฮวงโห ปี 1931 ลักษณะ น้ำท่วม ความสูญเสีย 3.7 ล้านคน
2) แม่น้ำฮวงโห ปี 1959 น้ำท่วม 2 ล้านคน
3) อียิปต์ส่วนเหนือและซีเรีย ปี 1201 แผ่นดินไหว 1.1 ล้านคน
4) แม่น้ำฮวงโห ปี 1887 น้ำท่วม 9 แสนคน
5) จีน ปี 1887 แผ่นดินไหว 8.3 แสนคน
6) แม่น้ำฮวงโห ปี 1887 น้ำท่วม 5 แสนคน
7) จีน ปี 1939 น้ำท่วม 5 แสนคน
8) บังกลาเทศ ปี 1970 พายุไซโคลน 3 แสนคน
9) จีน ปี 1976 แผ่นดินไหว 2.4 แสนคน
10) มหาสมุทรอินเดีย ปี 2004 สินามิ 2.3 แสนคน


ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงนั้น ปรากฏใน 8 ลักษณะ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1) สึนามิ (Tsunamis)

คำว่า "สึนามิ" มาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหากแปลตามตัวอักษรมีความหมายว่า "harbor wave" แต่ในปัจจุบัน คำคำนี้หมายถึง "คลื่นขนาดมหึมาในมหาสมุทร" หรือบางคนอาจจะเรียกคลื่นเช่นนี้ว่า "คลื่นยักษ์"

ความแตกต่างระหว่างคลื่นชนิดนี้กับคลื่นปกติในทะเลก็คือ คลื่นสึนามิ ไม่ได้เกิดจากกระแสน้ำ และความยาวของคลื่นอยู่ระหว่าง 100-150 กิโลเมตร หรือประมาณ 100 เท่าของคลื่นปกติ และที่สำคัญก็คือ ความเร็วของคลื่นอยู่ระหว่าง 640-960 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ตัวอย่างของคลื่นสึนามิ เห็นได้ในกรณีมหาสมุทรอินเดียในปี 2004 ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกระหว่างอาเจะห์ของอินโดนีเซียกับหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในประเทศต่างๆ ที่มีแนวชายฝั่งด้านมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และโซมาเลีย


2) แผ่นดินไหว (Earthquakes)

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สังคมรับรู้กันเป็นอย่างดี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นถูกวัดเป็นแรงสั่นสะเทือนโดยเทียบเป็นริกเตอร์ พื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเกิดแผ่นดินไหวมักจะอยู่ในแถบที่เป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลก

ภัยคุกคามของแผ่นดินไหวก่อให้เกิดการพังทลายของอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในกรณีที่มีอัตราการไหวรุนแรง ก็จะนำมาซึ่งการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างเช่นกรณีแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว ยังเกิดจากการที่แผ่นดินไหวดังกล่าวก่อให้เกิดไฟไหม้ การไหลทะลักของน้ำ ตลอดรวมถึงปัญหาที่เกิดจากดินถล่ม


3) อุณหภูมิสูงผิดปกติ (Extreme Temperatures)

ไม่ว่าจะเป็น "คลื่นความร้อน" หรือ "คลื่นความเย็น" สามารถทำลายชีวิตของผู้คนได้เสมอ

ตัวอย่างของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปในฤดูร้อนของปี 2003 ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 50,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในฝรั่งเศสและในอิตาลี)

ซึ่งการเสียชีวิตเกิดจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงอย่างมาก และเกิดอาการเป็นไข้จนตาย อันเป็นผลจากอากาศร้อน หรือที่เรียกอาการนี้ว่า "heat-stroke"

ในกรณีของคลื่นความเย็นก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ผู้เสียชีวิตมักมาจากการถูกหิมะกัด หรือเกิดอากาศหนาวจัดจนผิวหนังเป็นแผลเรื้อรังหรือเกิดจากสภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายของผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างมาก


4) น้ำท่วม (Floods)

ในประวัติศาสตร์ น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาภัยคุกคามใหญ่ทางด้านความมั่นคง อาจจะยกเว้นก็แต่ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในจีน เช่นกรณีแม่น้ำฮวงโห

แต่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาน้ำท่วมกลายเป็นปัญหาที่ทำลายชีวิตและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และถือเป็นภัยคุกคามอันดับ 4 ทางธรรมชาติในระหว่างปี 2000-2006

ปรากฏการณ์ที่รุนแรงของน้ำท่วม ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะเกิดจากปัญหาฝนที่ตกลงมาอย่างมากและรวดเร็ว จนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เสียชีวิตจากปัญหานี้มักจะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งตลิ่งพังจากความแรงของกระแสน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

ตัวอย่างของแม่น้ำฮวงโหในจีน ถือเป็นปัญหาน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพราะในครั้งที่รุนแรงนั้น ผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูงถึงหลักล้านคน


5) พายุที่มีความเร็วลมสูง (Windstorms)

พายุที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ได้แก่ พายุเฮอร์ริเคนซึ่งเกิดในทวีปอเมริกาเหนือ หรือพายุไต้ฝุ่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลมพายุนี้มักจะตามมาด้วยฝนตกอย่างหนัก ก่อให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และยังก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ในทะเลอีกด้วย

ตัวอย่างของความเสียหายอย่างรุนแรงของพายุเช่นนี้ ได้แก่ การสูญเสียชีวิตของประชาชนถึง 3 แสนคนในบังกลาเทศในปี 1970

พายุอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงได้แก่ พายุทอร์นาโดซึ่งเป็นพายุที่เกิดขึ้นบนบกมากกว่าจะเกิดในทะเลเช่นเฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่น ตัวอย่างของปัญหาเช่นพายุทอร์นาโดในบังกลาเทศในปี 1989 ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 1,300 คน เป็นต้น


6) ดินถล่ม/หิมะถล่ม (Landslides/Avalanches)

ปรากฏการณ์ดินถล่มเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากทั้งการกระทำของมนุษย์ หรือจากปัญหาทางธรรมชาติ เช่น การสะสมของดินหรือหินบนยอดเขาและเคลื่อนตัวลงสู่พื้นล่าง ซึ่งมักจะมีตัวเร่ง ได้แก่ การตกของฝน

ตัวอย่างเช่น พายุเฮอร์ริเคน Mitch ในปี 1998 ก่อให้เกิดฝนตกอย่างหนัก จนทำให้ดินจากภูเขาไฟคาสิตาถล่มใส่เมือง 2 แห่งในนิการากัว และมีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 คน

ในอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันคือ การถล่มของหิมะหรือน้ำแข็งจากภูเขา ซึ่งสามารถก่อความเสียหายขนาดใหญ่ได้ หรือในอีกแบบหนึ่งได้แก่ หิมะที่ละลายในฤดูใบไม้ผลิเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เช่น ในปี 1970 ได้เกิดปรากฏการณ์ในเปรูเมื่อมีแผ่นดินไหว ทำให้แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่เคลื่อนตัวลงจากภูเขาสูงเข้าทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนมีจำนวนมากถึง 20,000 กว่าคน เป็นต้น


7) ไฟป่า (wildfires)

ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วไปในฤดูร้อน ความแห้งแล้งและลมร้อน เป็นปัจจัยโดยตรงที่ก่อให้เกิดไฟป่า และยิ่งเมื่อมีลมแรงด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้การลุกไหม้นี้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว

ไฟป่าในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

ตัวอย่างสำคัญเช่น ในปี 1871 ได้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในพื้นที่รัฐวิสคอนซินและมิชิแกนต่อเนื่องกัน และทำลายชีวิตผู้คนถึง 1,500 คน หรือไฟป่าในออสเตรเลียในปี 1974-1975 ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่ถึงร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่าไฟป่าควรจะถูกจัดอยู่ในปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือไม่ เพราะประมาณว่าร้อยละ 80 ของปัญหาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มากกว่าเกิดจากปัญหาทางธรรมชาติ

แต่แม้กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไฟป่าเป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดการสูญเสียขนาดใหญ่และดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศ


8) ภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Eruptions)

การระเบิดของภูเขาไฟเป็นอีกภัยพิบัติทางธรรมชาติหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ในหลายพื้นที่ภูเขาไฟอาจจะดับลง แต่ในบางพื้นที่ ภูเขาไฟยังคงมีอาการที่อาจจะเกิดการระเบิดขึ้นได้ ความเสียหายจากการระเบิดของภูเขาไฟ เกิดจาก

- การไหลของลาวา อาจจะทำลายบรรดาบ้านเรือน แต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตไม่มากนัก เพราะการเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้นไม่รวดเร็ว จึงมีเวลาในการอพยพ

- การไหลของโคลนภูเขาไฟ อันเกิดจากการหลอมละลายของหินภูเขาไฟและน้ำ ซึ่งสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น โคลนภูเขาไฟทำลายชีวิตผู้คนในโคลอมเบียถึง 23,000 คนในปี 1985

- ระเบิดภูเขาไฟ เกิดจากแรงดันของการระเบิด ทำให้หินและของเหลวต่างๆ ถูกขับออกจากภูเขาไฟ เสมือนการทิ้งระเบิด และเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก เช่น ภูเขาไฟพินาตูโบในฟิลิปปินส์ในปี 1991 ได้ก่อให้เกิด "ระเบิดภูเขาไฟ" และทำลายชีวิตผู้คนถึง 200 คนในคราวเดียวกัน

- ก๊าซพิษ การระเบิดของภูเขาไฟมักจะก่อให้เกิดก๊าซพิษ ซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อมนุษย์และสัตว์ เช่น ภูเขาไฟในแคเมอรูนในปี 1986 มีประชาชน 1,700 คนเสียชีวิตจากก๊าซพิษที่เกิดจากกลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภูเขาไฟ เป็นต้น



สรุป

ตัวแบบของภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้ง 8 ประเภทเช่นที่กล่าวแล้ว ได้กลายเป็น "ภัยคุกคาม" ในโลกยุคปัจจุบันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะภัยทั้ง 8 ประการนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง

จนทำให้นักความมั่นคงร่วมสมัยยอมรับว่าวันนี้ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของปัญหาความมั่นคงใหม่!

.

2554-03-24

ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy) โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

.


ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy)
โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง
17 กันยายน 2551 ( และมีการโพสต์ในเว็บไซต์ประชาไท Thu, 2008-09-18 03:14 )


หลายสิบปีมานี้ ประชาธิปไตยมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมหนึ่งจะแถลงว่าระบอบการปกครองของตนเองนั้นเป็นแบบใด แต่เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นคำที่ฟังดูไพเราะเพราะแปลว่าอำนาจเป็นของประชาชน สังคมไหนก็อวดอ้างตนเองเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นจริงแค่ไหน และหากทนซ่อนเร้นบางอย่างไม่ได้ ก็จะต้องเติมสร้อยไว้ด้านหลังหรือเติมคำคุณศัพท์ไว้ข้างหน้า เพื่อให้คนในสังคมนั้นได้รู้ว่า นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็ม 100 หรอกนะ แต่ต้องดูที่คำข้างหน้าหรือที่ต่อท้ายเป็นสำคัญ เพราะนั่นแหละคือตัวจริงเสียงจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเองก็ต้องเดินตามแฟชั่นดังกล่าวด้วย นั่นคือ ขอมีคำสร้อยต่อท้าย แต่จะขอย้ำว่าคำสร้อยที่เพิ่มเข้ามาจะไม่บิดเบือนหรือลดคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย มีแต่จะตอกย้ำความสำคัญของระบอบนี้


วิชารัฐศาสตร์มักพูดเสมอว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นทั้งอุดมการณ์ (คือความอยากที่จะเป็น) เป็นทั้งสถาบัน (คือมีสถาบันต่างๆในทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ศาลยุติธรรม ฝ่ายบริหารที่โปร่งใส สภาผู้แทนที่ยึดมั่นในหลักการไม่ใช่พวกมากลากไป สื่อมวลชนที่เสนอข่าวรอบด้าน ไม่ใช่เลือกเสนอข่าว และนำเอาความเห็นส่วนตัวไปปะปนกับเนื้อหาของข่าว มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการเลือกตั้ง และมีกิจกรรมการเมืองของประชาชนที่หลากหลาย ไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้ง ฯลฯ) และเป็นทั้งวิถีชีวิต (คือสังคมมีค่านิยม และพฤติกรรมต่างๆแบบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ไม่มีนอกกติกา ฯลฯ)

3 อย่างนี้ปรากฏในสังคมไหน ประชาธิปไตยก็ย่อมรุ่งเรืองและมั่นคง ไม่มีใครบิดเบือน หรือถูกฉีกทิ้งทำลายง่ายๆ แถมมีคนร่วมยินดีปรีดาอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบางประเทศ

สำหรับผม วิชารัฐศาสตร์ต้องไปให้ไกลกว่านั้นอีก นั่นคือ ประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นทั้งจุดหมายและวิธีการ ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบการเมืองในห้วง 2000 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่ยุคกรีก ประชาธิปไตยคือเส้นทางการเดินของมนุษยชาติ บนเส้นทางสายนั้น จึงมีทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็น มีทั้งประชาธิปไตยที่ถูกทำลายไปบางส่วนหรือมากส่วน หรือถูกบิดเบือนไปทั้งเนื้อหาและถ้อยคำ กระทั่งแต่งเติมคำข้างหน้าและข้างหลังเพื่อให้คุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยถูกลดทอนลงไป

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประชาธิปไตยก็ยังจะเดินไปข้างหน้า เพราะตัวของมันเป็นทั้งเส้นทางและจุดหมายของมนุษยชาติ มันอาจจะหกล้มบ้าง แต่มันก็ลุกขึ้น ปัดฝุ่น ดึงเสี้ยนหนามออก ซับน้ำตา ปาดเหงื่อ ล้างหน้าตา หายใจลึกๆ แล้วก็เดินหน้าต่อไป



ในการอภิปรายที่คณะรัฐศาสตร์ มช. (16 กันยา 51) คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้พูดถึงความขมขื่นของตนเองที่ได้เห็นนักการเมืองไทยแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงและต่อรองเพื่อตำแหน่งและงบประมาณ ทุจริตคอรัปชั่น และไม่เห็นหัวประชาชนมาปีแล้วปีเล่า

คำถามมีอย่างน้อย 2 ข้อ 1. มีแต่นักการเมืองเท่านั้นหรือที่ทุจริต อาชีพอื่นๆไม่มีหรือที่ทุจริตในสังคมไทย และ 2. อะไรเล่าที่ทำให้นักการเมืองเป็นเช่นนั้น

คำตอบก็คือในสังคมที่เป็นอำนาจนิยมและอภิสิทธิชนนิยมมานาน ผู้มีอำนาจไม่ว่าอาชีพใดก็ฉ้อฉลอำนาจทั้งนั้น และวัฒนธรรมอำนาจนิยมดังกล่าวได้แพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนด้วย การก่นด่าว่าแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงเป็นการมองด้านเดียว คนด่าด้านเดียวแบบนี้ไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวว่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนิยม

อีกข้อหนึ่ง ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอ ด้อยคุณภาพ หรือชอบทุจริตคอรัปชั่นนั้น ข้อเท็จจริงก็ต้องมี ที่ใส่ไข่ใส่นมเพื่อหาเหตุทำรัฐประหารก็ย่อมมี แต่ที่ควรเป็นประเด็นคือ ก็เพราะประชาธิปไตยของไทยถูกทำลายบ่อยครั้งโดยรัฐประหาร และรัฐประหารแต่ละครั้งมิได้ลงโทษนำนักการเมืองที่ทำผิดขึ้นศาล แต่ได้ทำเพียงไล่เขาออกจากตำแหน่ง ยุบพรรค และฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พอมีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็กลับมาอีก เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง

การที่สภาล่มในวันที่ 12 กันยา เหตุผลหนึ่งก็คือ มีพรรคการเมืองมากเกินไป ทำให้เกิดการต่อรอง การช่วงชิงจากฝ่ายต่างๆทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มนอกระบบ ทำไมมีพรรคการเมืองมาก ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ กลัวรัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป

รัฐธรรมนูญ 2540 มาถูกทางแล้ว คือสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีจุดอ่อนบางข้อเช่น ปิดกั้นพรรคขนาดเล็กมากเกินไป แต่แทนที่สังคมไทยจะแก้ไขปัญหารัฐบาลเข้มแข็งเกินไปด้วยการถ่วงดุลรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กลับใช้วิธีรัฐประหาร ล้มรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถอยหลังไปอีก การเมืองไทยจึงเวียนกลับไปที่เก่า


ประชาธิปไตยที่หวนคืนแต่ละครั้งมีลักษณะอารยะเล็กๆที่เผยให้เห็น และควรจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเพื่อให้การก้าวเดินไปข้างหน้ามีสิ่งที่ดีๆเก็บไว้เป็นประเพณี

เช่น คืนวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคการเมืองที่พ่ายแพ้แสดงอาการฮึดฮัด ต้องการจัดตั้งรัฐบาลสู้กับพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ในที่สุด ก็ถูกสอนมวยว่าต้องรู้จักเคารพกติกา ยอมรับผลการแข่งขัน ต้องแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และแสดงความเต็มใจที่จะร่วมงานด้วยเพื่อรักษาและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย

สายวันพุธที่ 17 กันยายน 2551 ทันทีที่นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เขาไม่ได้เสียเวลาขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อยู่ข้างๆ แต่เดินอย่างรวดเร็ว ฝ่ากลุ่ม ส.ส. ไปยังฝั่งตรงข้าม ไปจับมือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯเช่นกัน จับมือกันเพื่อให้รู้ว่าความแตกต่างคือลักษณะธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพความแตกต่าง เราต้องเคารพคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ แล้วเราก็ร่วมมือกันทำงาน คนอยู่ฝ่ายค้านก็ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป หลังจากนั้น นายสมชายจึงเข้าไปกราบขอบคุณนายบรรหาร และพลตรีสนั่น และ ส.ส. คนอื่นๆ ที่สนับสนุนตน

นี่ต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยะ

จะชอบนายสมชายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ จะออกเสียงเลือกนายสมชายหรือนายอภิสิทธิ์ก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือเราต้องเคารพกติกาของระบอบที่กำหนดขึ้น หากไม่ชอบ ก็ไปหาคะแนนเสียงมามากๆเพื่อแก้ไขระบอบดังกล่าว

นายสมชายเป็นนอมินี เป็นญาติ เป็นน้องเขยของนายกฯในอดีต แล้วยังไง ถ้าพ่อของผมเป็นนักโทษประหาร เพราะปล้น 10 ธนาคาร ฆ่าคนตาย 100 กว่าศพ แล้วสังคมจะต้องลงโทษผมที่ไม่ได้มีส่วนเหล่านั้นด้วยหรือ

นายสมชายจะเป็นอะไร ประเด็นที่สังคมไทยจะต้องพิจารณาก็คือเขาจะทำอะไรต่อไปนี้ เขาจะทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือของครอบครัว หรือญาติและพวกพ้อง

วิธีการตัดสินคนจากการเป็นญาติ การเกี่ยวดอง ก็คือวิธีคิดแบบอำนาจนิยมของสังคมเก่า ไม่ได้ดูคุณค่าของความเป็นคนที่แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ไม่ได้ดูคนที่ผลงานของเขา แต่กลับไปดูถูกคนเหนือคนอีสานที่ตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งว่าเพราะพวกเขาขายเสียง

เป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ คือคิดว่าตนเองเก่ง พรรคที่ตนเองชอบจะต้องได้เป็นรัฐบาล ใครคิดไม่เหมือนตนเอง เป็นคนโง่ เป็นพวกขายเสียง ถูกครอบงำ ตนเอง พรรคพวกของตัวเองก็ดี ญาติพี่น้องของตนเองก็ดี แต่อะไรที่เป็นของคนอื่นเลวหมด

การเมืองใหม่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกๆคน ต้องเคารพกฎหมายเหมือนกันหมด ถ้าศาลตัดสินว่านายสมัครเป็นลูกจ้างต้องออกจากตำแหน่ง คนอื่นๆเช่น นายจรัล หรือคุณหญิงจารุวรรณ ที่ทำงานเป็นลูกจ้างแบบนายสมัครก็ต้องออกจากตำแหน่งเหมือนกันด้วย

หากกลุ่มของนายกฯ ทักษิณถูกฟ้องและถูกลงโทษครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คนอื่นๆ ที่มีการกระทำคล้ายๆกันกลับลอยนวลอยู่เช่นนี้ เมื่อไหร่ บ้านเมืองนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม?


การเดินไปหาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่างรวดเร็วเป็นก้าวๆ หนึ่งในสังคมที่มีประชาธิปไตยเล็กๆและโหยหาประชาธิปไตยแบบอารยะตลอดมาเช่นสังคมไทย

จะให้ดี เป็นก้าวใหญ่อีกก้าวหนึ่ง ถ้าผู้แพ้ในการลงคะแนนควรจะก้าวเร็วกว่าไปหา เพื่อแสดงความยินดีและเสนอตัวร่วมมือกันหาทางทำให้สภาผู้แทนที่มาจากประชาชนทำงานรับใช้ประชาชนมากขึ้น

ที่สำคัญควรจะคิดให้มากๆ ว่าส.ส. คนหนึ่งไปเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตร นำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลได้ไม่กี่วัน กระทั่งนำเรื่องราวการประชุมสภาไปเล่าแบบเย้ยหยันทุกค่ำคืนหน้าทำเนียบนั้น คนๆนี้กำลังทำอะไรให้กับการเมืองในสภาฯ ถ้าเขาชิงชังสาหัสขนาดนั้น เขายังรักษาสมาชิกภาพไว้เพื่อสิ่งใด รับเงินเดือนจำนวนมากไปทำไม และพรรคการเมืองที่บอกว่ายึดมั่นกับระบบรัฐสภามาตลอดนั้นคิดอะไรในใจที่ปล่อยให้เกิดภาวะทวิมาตรฐานเช่นนี้

นี่ถ้ามี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งออกเสียงเลือกนายสมชายเป็นนายกฯ ในวันนี้ คนพวกนั้นยังจะได้เป็นสมาชิกของพรรคนี้ต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่าเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวเช่นเดียวกับ ส.ส. คนหนึ่งที่นำประชาชนส่วนหนึ่งไปยึดครองทำเนียบรัฐบาล



การเมืองใหม่-รัฐบาลใหม่และทางเลือกใหม่ของสังคมไทย

อย่าลืมว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมา 61 ปี (พ.ศ. 2490-2551) เป็นผลพวงของอำนาจฝ่ายความมั่นคงและความคิดเก่าในสังคมที่จะต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านและการพยายามเก็บการเมืองเก่าเอาไว้ มันเนิ่นนานมากจนเกิดความเคยชินว่ายึดอำนาจได้แล้ว ทุกอย่างก็จบ มันเนิ่นนานจนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดการพัฒนา นักการเมืองไม่เคยต้องคำพิพากษา ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารก็ไม่เคยต้องคำพิพากษาใดๆในการทำลายระบอบประชาธิปไตยแต่ละครั้ง ทั้งสองจึงสะสมนิสัยบางอย่างที่ไม่เคยมีการแก้ไขตลอดมา

ในห้วง 61 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มการเมืองอำนาจนิยม กลุ่มการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน ( พรรคการเมือง) และกลุ่มประชาธิปไตยฝ่ายประชาชน สองกลุ่มแรกต่อสู้กันมา 60 กว่าปีแล้ว(อย่างน้อย)ยังไม่ยุติ กลุ่มที่ 3 ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา

100 กว่าวันมานี้ มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาโจมตีกลุ่มประชาธิปไตยแบบตัวแทน แล้วเรียกหาการเมืองใหม่ แต่วิธีการทำงานหลายอย่างของพวกเขากลับสร้างความสงสัยเพิ่มขึ้น เช่น การเมืองใหม่เพื่อประชาชนใยจึงเลือกเคารพกฎหมาย แต่ไม่เคารพระบอบการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) เช่น ดีใจตัวสั่นเมื่อคุณหญิงพจมานติดคุก ไม่พอใจที่นายกฯทักษิณหนีศาล เรียกร้องให้กลับมาฟังศาล เฮลั่นเมื่อสมัครหลุดจากตำแหน่ง ไชโยเมื่อจักรภพและนพดลก็หลุดจากตำแหน่ง แต่กลับเงียบเมื่อถูกหมายจับกรณียึดทำเนียบ หรือฝ่ายนปก.เจ็บกับตาย แต่พันธมิตรไม่เป็นอะไร หรือกรณียึด NBT หรือกรณีคนในศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นลูกจ้าง ฯลฯ


สังคมไทยต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบอารยะ

แน่นอนที่สุด ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองคืออำนาจนอกระบบแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนตลอดมาเป็นเวลานานถึง 6 ทศวรรษ (ขนาดทั่วทั้งโลกนึกว่าเมืองไทยจะไม่มีรัฐประหารแล้ว ยังกลับมาอีกในปี 2549 แล้วยังสร้างกลไกทิ้งไว้อีกมาก)

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนย่อมมีจุดอ่อนหลายด้าน ยิ่งนักการเมืองจำนวนมากถูกตัดสิทธิถึง 5 ปี บุคลากรการเมืองก็ยิ่งขาดแคลนหนัก

การสัมผัสมือกันระหว่างนายกฯคนใหม่กับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าชื่นชมมาก

ที่ต้องปรบมือให้อย่างยิ่งก็คือคำยืนยันของแม่ทัพบก และนายทหารสำคัญๆ ที่จะไม่ทำรัฐประหารอีกเพราะว่าหมดสมัยแล้ว

หนทางที่เหลืออยู่ก็คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในสภา และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) นอกสภา จะเรียกว่าการเมืองใหม่ให้ฟังดูตื่นเต้นก็ได้ แต่ในความเป็นจริง นั่นก็คือ ประชาธิปไตยแบบอารยะที่หลายประเทศก็ยอมรับแล้วว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีความเป็นพลเมืองที่เอาการเอางาน (Active citizenship) ไม่หลงติดอยู่แต่การเลือกตั้ง แต่สนใจและมีบทบาทในกิจการสาธารณะทุกๆด้าน โดยเฉพาะการกำหนด
นโยบาย การออกกฎหมาย การบริหารงานของภาครัฐ การติดตามพฤติกรรมและการทำงานของส.ส. และการถอดถอนนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพและทุจริต ฯลฯ

สังคมสมัยใหม่มีความหลากหลาย ต้องเคารพความหลากหลายและไม่ใช่ดึงดันจะเอาชนะให้ฝ่ายอื่นๆพ่ายแพ้หมด มีแต่ฝ่ายของตนเองชนะเท่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมีแต่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า เกิดความตึงเครียด การลงทุนหดหาย เศรษฐกิจฟุบ ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ การต่อสู้ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ ต้องมีการหยุดเพื่อให้ส่วนรวมอยู่ได้

ในสังคมสมัยใหม่ที่มีประชากรจำนวนมาก ประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความจำเป็น แต่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่อาจขาดได้ ในความเป็นจริง คนที่ไปจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่งที่วุฒิสภานั่นเองก็คือตัวแทนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆที่ต่อไปควรปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนก็สามารถขยายบทบาทไปจัดการประชุมร่วมกับภาคประชาชน การเมืองภาคประชาชนสามารถจัดตั้งสภาของตนเองขึ้นได้ สามารถรวบรวมเงินกันเองหรือของบประมาณมาสร้างที่ทำการเอง ไม่ใช่ไปแย่งทำเนียบรัฐบาลมาเป็นของตน

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จริงก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน นำมาปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทเสียใหม่

ประชาธิปไตยแบบอารยะที่ควรจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไปควรเป็นการพบปะเจรจาภาคส่วนต่างๆ ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะจากฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน ด้วยการถอยจากจุดเดิม

บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ถอยแล้ว เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว กองทัพก็ประกาศแล้วว่าจะไม่แทรกแซงระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการเจรจา

บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบอารยะใกล้จะมาถึงแล้ว รอแต่ว่ากลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ด้วยการถอยเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ

17 กันยายน 2551



.