http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-30

ปรัชญาคานธี, ความเชื่อจากความจริง, "ราคา"ของสงคราม โดย สรกล อดุลยานนท์

.
ปรัชญาคานธี
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เคยให้สัมภาษณ์ว่าปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องการให้แก้ไขโดยด่วนมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัญหาเศรษฐกิจ กับการปรองดอง

ยิ่งนานวัน ผมยิ่งเชื่อว่าจริง
คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงกับเรื่องความขัดแย้งในบ้านเมือง


ในเรื่องแรก ทุกพรรคการเมืองก็เสนอแนวทางให้ประชาชนตัดสิน

ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น
เชื่อใครก็เลือกคนนั้น

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องการปรองดอง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ นั้น ให้ความสำคัญและเสนอแนวทางแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

"ประชาธิปัตย์" ค่อนข้างให้ความสำคัญน้อย และยังยึดแนวทางการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ไม่มีนิรโทษกรรม

กระบวนการสอบสวนเพื่อหาคนกระทำผิดในเหตุการณ์พฤษภามหาโหดก็ยังเป็นไปอย่างเดิม "คนยิง" ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่คนก่อการร้าย สรุปแล้วว่าเป็น "แกนนำ" คนเสื้อแดง

เขาไม่ได้สรุปบทเรียนเลยว่าถ้าแนวทางดังกล่าวถูกต้องจริง "คนเสื้อแดง" ต้องเท่าเดิมหรือน้อยลง
แต่วันนี้ "คนเสื้อแดง" กลับเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งที่เพิ่งถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว
ทำไม ทำไม ทำไม

ถ้ามีคำถามนี้อยู่ในใจ รับรองได้ว่า "ประชาธิปัตย์" ต้องเสนอแนวทางการปรองดองที่ดีกว่านี้
ไม่ใช่แค่การอ้างกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีคำว่า "ให้อภัย" อยู่เลย


ในขณะที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ ทักษิณ ชินวัตร อยากกลับ เมืองไทย
วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทักษิณ" ไม่ใช่ "คนคนเดียว" หากเป็น "ตัวละคร" ที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งกับการเมืองไทย

แนวคิดเรื่องการย้อนเวลากลับไปก่อน 19 กันยายน 2549 จึงเกิดขึ้น

ถามว่า ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่หรือไม่
ลองถามตัวเองแบบไม่มีเหตุผลเรื่องชอบหรือไม่ชอบใครในใจสิครับ
บรรยากาศแบบไม่มีสีเสื้อคือสิ่งที่คนไทยต้องการมาก

แล้วจะทำอย่างไรที่จะนำสังคมไทยกลับไปสู่จุดนั้น
นึกถึงเวลาที่เพื่อนทะเลาะกันสิครับ
ประโยคหนึ่งที่เรามักใช้กันเป็นประจำคือ เลิกแล้วต่อกัน หรือ เริ่มต้นใหม่

ขนาด ฆ่าล้างแค้นแบบยกตระกูล ประโยคนี้ยังนำมา ใช้เลย
เป็นความจริงที่โลกนี้จะอยู่ได้ต้องมี "กฎหมาย"
แต่โลกนี้ไม่มีวันสงบสุขได้เลยหากไม่รู้จักคำว่า "ให้อภัย"


เพิ่งดูหนัง "คานธี" เมื่อวันก่อน จำได้ประโยคหนึ่งของ มหาตมะ คานธี

"สันติภาพ จะเกิดขึ้นได้จาก ความจริง และการให้อภัย"

ค้นหาความจริงเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน

แล้ว "ให้อภัย"



++

"ความเชื่อ" จาก "ความจริง"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ทุกครั้งที่ฟังพลพรรคประชาธิปัตย์ท้าทาย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้มา "ดีเบต" กับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ด้วยเหตุผลว่าเป็นหลักการสากลของระบอบประชาธิปไตย

ผมจะนึกถึงตอนที่ปฏิเสธคำท้าทายของพรรคเพื่อไทยว่าจะเปิดทางให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน
ทั้งที่เป็นหลักการสากลในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษรเหมือนกับการดีเบต

นี่คือ เรื่องปกติทางการเมืองที่ทุกพรรคจะเลือกแนวทางที่ "ได้เปรียบ"
ไม่ใช่หลักการที่ "ควรทำ"


เมื่อ "ประชาธิปัตย์" ควรสัญญาว่าจะให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน

"เพื่อไทย" ก็ควรจะให้ "ยิ่งลักษณ์" มาดีเบตกับ "อภิสิทธิ์"

ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นรอง

แต่ถ้า "ยิ่งลักษณ์" มาดีเบตเมื่อไร

แพ้-ชนะไม่รู้ แต่สง่างามครับ


อย่าลืมว่า "อภิสิทธิ์" วันนี้ต่างจาก "อภิสิทธิ์" เมื่อวันที่ยังเป็นฝ่ายค้านและยังไม่ได้บริหารประเทศมา 2 ปีกว่า
วันก่อน เขาพูดอะไร คนก็ยังกังขาว่าทำเป็นหรือเปล่า ทำได้จริงหรือเปล่า

แต่วันนี้ "อภิสิทธิ์" โชว์ฝีมือให้ทุกคนได้เห็นแล้ว
พูดอะไรก็ไม่ต้องจินตนาการอีกต่อไป

เช่น วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายประกันราคาข้าว ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอให้ย้อนกลับไปใช้ระบบจำนำข้าว พร้อมกับเครดิตการ์ดชาวนา
เรื่องแบบนี้ต่อให้พูดเก่งอย่างไร แต่ "ชาวนา" ตัดสินได้ทันทีว่าของใครดีกว่ากัน เพราะทดลองมาแล้ว

หรือเรื่องการรักษาฟรีแบบ "ประชาธิปัตย์" กับ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของ "เพื่อไทย"
คนที่เคยใช้บริการมาแล้วเขาก็ตัดสินได้เลย

หรือเรื่องแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตยสร้างสวนสาธารณะของ "อภิสิทธิ์" กับการถมทะเลสร้างเมืองใหม่ของ "ทักษิณ" เป็นเรื่องใหม่ทั้ง 2 เรื่อง
แต่ถามว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า "ใครทำได้จริง"

ผลงานในอดีตของพรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยในปัจจุบัน กับประชาธิปัตย์ใน 2 ปีที่ผ่านมา
คนไทยตัดสินได้เลยว่า "เครดิต" ของใครดีกว่ากัน


ที่สำคัญก็คือ "ประชาธิปัตย์" ที่เคยชี้นิ้วใส่พรรคของ "ทักษิณ" มาตลอดเรื่องการใช้เงิน อำนาจรัฐ และความได้เปรียบที่บริหารประเทศมาก่อน
แต่เลือกตั้งครั้งนี้ "ประชาธิปัตย์" ใช้เหตุผลเดิมไม่ได้แล้ว
เรื่องความร่ำรวย วันนี้ "ประชาธิปัตย์" ไม่ได้เป็นรอง "เพื่อไทย" และดูเหมือนว่าเหนือกว่าด้วย

"อำนาจรัฐ" ก็เป็นของพรรคประชาธิปัตย์
เรื่อง "ผลงาน" ก็ทำมาแล้ว 2 ปีกว่า

"ประชาธิปัตย์" ได้เปรียบทุกด้าน ถ้าจะแพ้ก็ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างอะไรอีก
ในอดีต การเมืองไทยนั้นถือว่า "ความเชื่อ" คือ "ความจริง"

ใครพูดให้เชื่อได้ ความจริงของการลงคะแนนก็เป็นแบบนั้น

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการตัดสินของประชาชนจะมาจาก "ความเชื่อ" แบบใหม่

เป็น "ความเชื่อ" ที่เกิดจากฐานแห่ง "ความจริง" ที่ได้ทดลองแล้ว

แบบเล่นจริง-เจ็บจริง

รวยจริง และจนจริง



++

"ราคา"ของ"สงคราม"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:41 น.


หลายปีที่ผ่านมา เราเสียเงินกว่า 100,000 ล้านบาท ไปสำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
คนไทยด้วยกันเองเสียชีวิตไปหลายพันคน

ปี 2553 ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุ "ม็อบเสื้อแดง" ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รัฐบาลใช้งบประมาณภายใต้คำเพราะๆ ว่า "เพื่อความสงบเรียบร้อย" ไปประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท
กระสุนเป็นแสนนัด และลมหายใจของคนไทยด้วยกันเกือบ 100 คน

ล่าสุด ในเหตุการณ์การปะทะกันที่ชายแดนไทยและกัมพูชา รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพ 1,200 ล้านบาท
มีทหารและชาวบ้านของไทยและกัมพูชาเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก


ทุกครั้งที่เกิด "สงคราม" ไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศล้วนแต่นำมาซึ่ง "ความสูญเสีย"

ทั้ง "ชีวิต"

ทั้ง "งบประมาณ" มหาศาล

ที่สำคัญก็คือ "สงคราม" จะบ่มเพาะความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในใจของคู่ขัดแย้ง

ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง หรือระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชา


เพราะทันทีที่เกิด "สงคราม"

สิ่งแรกที่จะถูกสังหารก่อนใครคือ "ความจริง"

เรื่องราวที่ออกจากปากของฝ่ายความมั่นคงกับคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งจึงแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ออกจากปาก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กับ "จตุพร พรหมพันธุ์" ก็เหมือนกับหนังคนละเรื่อง

หรือการพูดถึงเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดน เสียงที่ออกมาจากฝั่งกัมพูชากับฝั่งไทยก็เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ไม่มีใครรู้ว่า "ความจริง" เป็นอย่างไร

แต่ "ความจริง" หนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับก็คือ "ความขัดแย้ง" ได้เกิดขึ้นแล้ว และลุกลามขึ้นเรื่อยๆ


ที่น่าแปลกก็คือ เมื่อเราสาวหาปมของความขัดแย้งทั้ง 3 กรณี ใครจะไปนึกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากสาเหตุที่ใกล้เคียงกัน

นั่นคือ การไม่เคารพ "กติกา" และ "ความยุติธรรม"

ถ้าเราเคารพกติกาประชาธิปไตย กติกาการเลือกตั้ง

ถ้าเราเคารพกติกาของสังคมโลก ไม่ว่าศาลโลก คณะกรรมการมรดกโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรืออาเซียน

ถ้าเราทำให้คนใต้รู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรม

ปัญหาทั้งหมดก็จะลดระดับทันที


ในโลกแห่งความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไป
ไม่มีทางที่จะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปได้
แต่ไม่ว่า "ความจริง" จะโหดร้ายเพียงใด แต่เราก็มีสิทธิฝัน
ฝันที่จะเห็นเมืองไทยดีขึ้น
มีคนเคยบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ได้

ขอให้เราเปลี่ยนทัศนคติ

ยอมรับ "กติกา" และทำ "ความยุติธรรม" ให้คนยอมรับได้

บางที "ความฝัน" ก็จะกลายเป็น "ความจริง" ขึ้นมา

ปัญหาก็มีอยู่เพียงว่าเรากล้าที่จะฝันหรือไม่

...เท่านั้นเอง


.

2554-05-29

ยังจำได้ไหมฯ...20 ปี รสช.-19 ปี พฤษภา'35 โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ยังจำได้ไหม ถึงใครคนหนึ่ง...20 ปี รสช.-19 ปี พฤษภา'35
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 36


"อำนาจยิ่งใหญ่เท่าใด
การใช้อำนาจในทางที่ผิดก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น"
Edmund Burke
7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1771


ระยะเวลาผ่านไปเนิ่นนานพอสมควรแล้วกับเหตุรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในการเมืองไทยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และผลพวงจากการรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของไทยในเวลาต่อมาก็คือ วิกฤตการณ์พฤษภาคม 2535

ถ้าเราย้อนทวนความทรงจำ จะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนผ่านของทางการเมืองไทย เพราะหลังจากรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ระบอบการเลือกตั้งของไทยพร้อมกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกด้วยนั้น กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

คณะรัฐประหารที่นำโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนขวาจัดในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และตัดสินใจ "เปิด" ระบบการเมืองไทยด้วยการนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่วิถีการเลือกตั้งอีกครั้ง

แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า พรรคการเมืองไทยไม่ได้มีสถานะที่เข้มแข็งในทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของผู้นำทหารต่างหาก

และแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยผู้นำทหารในฐานะผู้มีอำนาจจริงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมีฐานะเป็นได้เพียงรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ เท่านั้น



ระบอบการเลือกตั้งที่ควบคุมโดยผู้นำทหารเช่นนี้ถูกเรียกว่าเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่กับผู้นำทหารมากกว่าอยู่ในมือของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

และระบอบเช่นนี้ยังถูกอ้างถึงความชอบธรรมที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

นอกจากสงครามในชนบทของไทยแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการพังทลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกในประเทศอินโดจีน (ลาว เวียดนาม และกัมพูชา) ในปี 2518 ทำให้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

และต่อมาก็เห็นถึงแนวโน้มใหม่ของความขัดแย้งระหว่าง "พรรคพี่พรรคน้อง" ในอินโดจีน ไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะมีรากฐานมาจากลัทธิชาตินิยม หรือจากความแตกแยกของพรรคคอมมิวนิสต์ "สายจีน" และ "สายโซเวียต" แต่ผลที่เห็นได้ชัดก็คือ ความแตกแยกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่สงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชาซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2522 อันเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญของการเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของไทย

รัฐบาล "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์พยายามถอยการเมืองไทยออกจาก "กระแสขวาจัด" ที่ถูกผลักดันโดยชนชั้นนำและผู้นำทหารบางส่วน ได้แก่

(1) การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศไทย ด้วยการหันไปกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

(2) การแก้ปัญหาความแตกแยกภายใน ด้วยการลดความตึงเครียดภายในสังคมไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษา จนนำไปสู่การเสนอแผนปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมต่อผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แต่รัฐบาล "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของพลเอกเกรียงศักดิ์ก็มีชีวิตอยู่ไม่ยืนยาวนัก เมื่อกลุ่มทหารที่เป็นรากฐานของอำนาจหรือบรรดานายทหารที่คุมกำลังหลัก (และรู้จักกันในชื่อของ "ยังเติร์ก") ที่นำโดย พันโทจำลอง ศรีเมือง พันโทมนูญ รูปขจร พันโทประจักษ์ สว่างจิตร และ พันโทพัลลภ ปิ่นมณี ได้กดดันให้รัฐบาลลาออก (ตัวละครการเมืองเหล่านี้ยังคงมีบทบาทการเมืองจนถึงปัจจุบัน!)

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะมีทหารระดับสูงเป็นผู้นำ แต่เมื่อต้องเผชิญกับผู้นำทหารระดับกลางที่เป็น "ผู้คุมปืน" หรือคุมกำลังอย่างแท้จริงแล้ว

รัฐบาลดังกล่าวก็ต้องยุติลงด้วยการประกาศลาออกของพลเอกเกรียงศักดิ์ในรัฐสภาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523

เป็นที่รู้กันว่าการลาออกของพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็น "รัฐประหารเงียบ" ของกลุ่มยังเติร์ก และตามมาด้วยการผลักดันให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และกลุ่มยังเติร์กก็เข้ามาเป็น "กลไก" ในรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองของพลเอกเปรม

และแม้ในเวลาต่อมาจะเกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอกเปรมกับบรรดานายทหารในกลุ่มนี้ถึง 2 ครั้งใหญ่ (กบฏ 1 เมษายน 2524 และ 9 กันยายน 2528) แต่ก็มิได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไทย

เพราะหลังจากกลุ่มยังเติร์กหมดอำนาจลงในกองทัพ พลเอกเปรมก็แสวงหาฐานสนับสนุนจากทหารกลุ่มอื่นในกองทัพ

ซึ่งก็คือการตอกย้ำความจริงของการเมืองไทยในยุคนั้น ว่าอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของผู้นำทหาร และการเลือกตั้งอาจจะตัดสินว่าพรรคการเมืองใดชนะ แต่ไม่ใช่เป็นคำตอบว่าผู้นำพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตำแหน่งนี้ถูกผูกไว้กับผู้นำทหาร

และจาก 3 มีนาคม 2523 จนถึง 30 เมษายน 2531 ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพลเอกเปรมเท่านั้น!



ปรากฏการณ์ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" หรือในความเป็นจริงก็คือ ระบอบการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมและกำกับของผู้นำทหาร จึงไม่ใช่เกิดจากเพียงอำนาจทางการเมืองของฝ่ายทหารที่เหนือกว่าพลเรือนเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากเงื่อนไขเฉพาะของการเมืองไทยที่ชนชั้นนำซึ่งแม้จะขัดแย้งกับพลเอกเกรียงศักดิ์จากรัฐประหาร 2520 ได้หันกลับมาใช้ "บริการ" ของผู้นำทหารในการควบคุมระบบการเมือง


และพลเอกเปรมกลายเป็น "ตัวเลือก" ที่สมบูรณ์ในกรณีนี้

เพราะไม่ใช่แต่เพียงเป็นเรื่องของการควบคุมระบบการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งให้แก่ชนชั้นนำหลังจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือของการจัดการกับภัยคุกคามของทหารบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี

แต่แล้วในที่สุด ชัยชนะของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่

เมื่อกลุ่มนักวิชาการเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการตั้ง "นายกรัฐมนตรีคนนอก" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยมีการเตรียมถวายฎีกาเพื่อขอนายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร

แรงกดดันเช่นนี้เกิดขึ้นในภาวะที่สังคมการเมืองไทยเริ่มรู้สึกว่า ไม่จำเป็นที่การเมืองไทยจะต้องเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" โดยมีพลเอกเปรมเท่านั้นเป็นนายกรัฐมนตรี (ผู้นำทหารคนอื่นก็ไม่ได้!)

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ ขยับตัวมากขึ้น ทั้งจากการลงทุนจากภายนอกและการเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน พร้อมกันนั้น ภัยคุกคามทางทหารจากสงคราม พคท. ก็เริ่มลดลงแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศชัยชนะต่อสงครามนี้ในปี 2525/2526

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงให้ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมไทยเริ่มมองเห็นว่า การเมืองไทยไม่จำเป็นต้องถูกพันธนาการอยู่กับ "ผู้ถืออาวุธ" เท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสูตรสำเร็จว่า "เลือกตั้งได้ แต่เป็นนายกฯ ไม่ได้" และ "ทหารเท่านั้นที่เป็นนายกฯ" ของประเทศไทย



ผลของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้พลเอกเปรมต้องออกมาประกาศยุติการมีบทบาททางการเมืองด้วยคำว่า "ผมพอแล้ว" ดังนั้น

รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรมซึ่งมีอายุยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2531ซึ่งก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2519

แม้การขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็มิใช่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของบทบาททหารในการเมืองไทยแต่อย่างใด เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหาร จนทำให้ข่าวเรื่องการรัฐประหารแพร่กระจายในวงกว้าง รัฐบาลโดย ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จึงได้เตรียม "รถโมบายยูนิต" ที่จะถ่ายทอดสัญญาณวิทยุของรัฐบาล ถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้น

และรถนี้ได้ถูก พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นยึดไปเก็บไว้ที่ บก.ทหารสูงสุด โดยไม่ยอมส่งคืนรัฐบาล

ความขัดแย้งจากกรณี "รถโมบาย" ขยายตัวเป็นความหวาดระแวงระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหาร โดยเฉพาะความกังวลว่ารัฐบาลจะปลดนายทหารระดับสูงที่แสดงอาการ "กระด้างกระเดื่อง" กับรัฐบาล

และขณะเดียวกัน ผู้นำทหารก็แสดงการท้าทายและการกดดันทางการเมือง เช่น พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ออกคำสั่งห้ามประชาชนชุมนุมในบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล และที่สำคัญก็คือ ผู้นำกองทัพเรียกร้องให้ปลด ร.ต.อ.เฉลิมออกจากการเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็นบุคคลหลักที่มีปัญหากับกองทัพ

ปฏิกิริยาของทหารในกรณีนี้ก็คือ การแสดงตนอย่างชัดเจนว่า กองทัพยังคงเป็น "กลุ่มกดดัน" ที่การแสดงออกไม่ใช่ว่าจะเป็นเพียงการกดดันในทางลับเท่านั้น แต่เป็นการกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในเวทีสาธารณะ หรือในทางทฤษฎีก็คือการ "แบล๊กเมล์" (Blackmail) ในทางการเมือง อันเป็นปรากฏการณ์ของการปะทะเชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ หรือเป็นการคุกคามต่ออำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อันเป็นสัญญาณว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็จะตามมาด้วยการรัฐประหาร



แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อลดแรงกดดันของทหาร แต่ความหวาดระแวงที่ดำรงอยู่อย่างมากระหว่างกองทัพกับรัฐบาล พร้อมกันนั้น ผู้นำกองทัพก็กลัวว่า รัฐบาลอาจจะปลดพลเอกสุนทร (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) และพลเอกสุจินดา (ผู้บัญชาการทหารบก) ออกจากตำแหน่ง โดยจะ "ยืมมือ" ของ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการ

ดังนั้น ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อนายกรัฐมนตรีชาติชายพร้อมพลเอกอาทิตย์เตรียมเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ หลังจากได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว ทหารกลุ่มหนึ่งจึงได้ "จี้อากาศยาน" เครื่องบินซี-130 บนทางวิ่งของสนามบินดอนเมืองก่อนที่เครื่องบินดังกล่าวจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้มีการประกาศการยึดอำนาจโดย "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ในเวลา 11.30 น. ของวันดังกล่าว

รัฐประหารสิ้นสุดลงอย่างง่ายดายอีกครั้ง แต่ดูเหมือนผู้นำทหารจะไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า และปัญหาที่รออยู่ไม่ง่ายอย่างการรัฐประหารของพวกเขาเลย เพราะกองทัพไม่สามารถจะพึ่งพาได้แต่เพียงอำนาจอาวุธเช่นในอดีต

ดังนั้น เมื่อประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ประเทศไทยถอยออกจากการเมืองแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของยุค รสช. ความพยายามในการใช้อำนาจทหารเพื่อต่อต้านการเรียกร้องของประชาชนจึงยุติลงด้วยการปะทะบนถนนราชดำเนิน

แม้การล้อมปราบจะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นชัยชนะของทหารบนความพ่ายแพ้ทางการเมือง จนในที่สุด กองทัพต้องถอนตัวออกจากการเมือง


ในทุกเดือนพฤษภาคม เรามักจะชอบพูดถึงแต่บทเรียนของเหตุการณ์ "พฤษภา "35" แต่ดูเหมือนเราไม่ค่อยจะพูดถึง "รัฐประหาร รสช." ที่เป็นจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ "จุดจบ" ของทหารในการเมืองไทยยุคหนึ่ง

เรื่องราวเช่นนี้อาจจะนานถึง 20 ปีแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนที่ผู้นำทหารไทยต้องนำมาใคร่ครวญให้ดี เพราะชัยชนะทางทหารที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ค่าเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้นำทหารของยุค รสช. ก็เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้!


.

2554-05-28

ก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ และ ปฏิรูปตำรวจ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


วันที่ 13 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา กอ.รมน. ร่วมกับกลุ่มสมาชิกสภาประชาชน 4 ภาคจำนวนมาก (บางแหล่งข่าวว่ามีถึง 5,000 คน) ได้ยกกำลังบุกเข้าไปที่ชุมชนบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ขับไล่ประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานที่นั่น ทำร้ายผู้หญิงซึ่งอาสาเป็นด่านหน้าป้องกันการบุกรุกบาดเจ็บไป 9 คน

หนึ่งในนั้นบาดเจ็บสาหัส เพราะถูกกระชากผมจนตกลงจากรถ หัวฟาดถนนสลบไป

นอกจากนี้กลุ่มคนซึ่งมี กอ.รมน.เป็นผู้นำ ยังได้บุกไปเผาสำนักสงฆ์ ทำลายกุฏิพระไป 8 หลัง และเผาโรงครัวของวัดจนวอดวาย รวมทั้งจับพระไป 9 รูป แล้วบังคับให้สึก

ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติการโดยมิชอบ เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับให้อำนาจแก่ กอ.รมน. หรือกลุ่มสภาประชาชน 4 ภาคแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีการอ้างว่าต้องการเข้ามาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดอำนาจทางกฎหมายขึ้นแก่พวกตนได้ในทางใดทั้งสิ้น


บ้านเก้าบาตรเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนดงใหญ่ ชื่อนี้อาจทำให้บางคนคิดถึงพระประจักษ์ จิตตคุตโต และการใช้กำลังทหารเข้าขับไล่ประชาชนเมื่อ พ.ศ.2534 สมัย รสช. นอกจากเป็นพื้นที่ในดงใหญ่ด้วยกันแล้ว ชะตากรรมของประชาชนในสองกรณีก็คล้ายๆ กัน

นั่นคือในช่วงที่ พคท.ยังปฏิบัติการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธอยู่นั้น ดงใหญ่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่พลพรรคใช้เป็นพื้นที่ลาดตระเวนและขยายฐานมวลชน ใน พ.ศ.2520 สถานการณ์ในดงใหญ่มีความรุนแรงมากขึ้น ฝ่ายทหารสงสัยว่าประชาชนในเขตดงใหญ่ให้เสบียงอาหารแก่ พคท.

ฉะนั้น กอ.รมน.จึงชักชวนให้ชาวบ้านอพยพออกมาเสียจากดงใหญ่ สัญญาว่ารัฐจะแจกที่ดินคนละ 15 ไร่ ตามแนวถนนที่เพิ่งสร้างใหม่คือสาย 348 ด้วยความเข้าใจร่วมกันว่า เมื่อปราบ พคท.ในดงใหญ่ได้เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็สามารถย้ายกลับไปตั้งภูมิลำเนาในที่ใครที่มันได้ตามเดิม

ชาวบ้านยอมสละพื้นที่ซึ่งตนครอบครองอยู่ในดงใหญ่ครอบครัวละเกือบ 100 ไร่ เพื่อมารับที่ดิน 15 ไร่ ก็ด้วยความเข้าใจดังกล่าวนี้ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของราชการ

แต่เพียงปีเดียวให้หลัง สถานการณ์ในดงใหญ่ก็เริ่มสงบลง กรมป่าไม้กลับนำเอาที่ดินของชาวบ้านไปให้บริษัทเกษตรสวนป่ากิตติเช่า เพื่อปลูกยูคาลิปตัสเป็นเวลา 30 ปี และแน่นอนว่าชาวบ้านถูกห้ามมิให้กลับไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่ของตนอีก

ชาวบ้านทนรอให้สัญญาสัมปทานป่าของนายทุนหมดอายุลงมาถึง 30 ปี ระหว่างนั้นชาวบ้านแอบเข้าไปเลี้ยงสัตว์, ล่าสัตว์ และเก็บของป่าในพื้นที่บ้าง เพราะเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ทำเกษตรไม่เพียงพอ และการออกไปหางานทำนอกภาคเกษตรก็ไม่ทำให้พอกินอยู่นั่นเอง แสดงว่าตลอดเวลาเหล่านั้นชาวบ้านคิดถึงวันที่สัญญาสัมปทานหมดอายุ อันเป็นวันที่พวกเขาจะกลับเข้าไปทำกินในพื้นที่ดิน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นมรดกของบรรพบุรุษของเขาโดยแท้

สัญญาสัมปทานหมดอายุลงในวันที่ 19 พ.ค. 2552 และสี่วันหลังจากนั้น ชาวบ้านก็อพยพกลับเข้าไปตั้งภูมิลำเนาในถิ่นฐานเดิมของตนใหม่ กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างกรมป่าไม้และชาวบ้าน ซึ่งได้ร่วมมือกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ในการวางระเบียบการใช้ที่ดินและวางมาตรการปกป้องตนเองจากการไล่ที่ของราชการ

อันที่จริงมีกฎหมาย และมติ ค.ร.ม. ที่ให้สิทธิแก่ชาวบ้านซึ่งได้ตั้งภูมิลำเนามาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ กรมป่าไม้ต้องเริ่มกระบวนการนี้ หรือชาวบ้านอาจขออำนาจศาลให้เริ่มกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ฉะนั้นการต่อสู้ของชาวบ้านจึงมีช่องทางที่จะทำได้ทางกระบวนการยุติธรรม ไม่จำเป็นที่ราชการจะต้องใช้กำลังเข้าขับไล่

นอกจากข้ออ้างเรื่องปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติแล้ว กอ.รมน.ยังอ้างอีกว่า ประชาชนในพื้นที่อาจได้รับอันตราย แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าอันตรายดังกล่าวนั้นมาจากอะไร บ้านเก้าบาตรอยู่ห่างชายแดนกัมพูชาไม่ถึง 10 กม.ก็จริง แต่ก็ห่างจากจุดซึ่งเกิดการปะทะกันเมื่อเร็วๆ นี้ถึง 70 กม. ฉะนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

หากเกรงว่าอาจมีการปะทะกันอีก ก็หมายความว่าชาวบ้านชายแดนที่ถูกยิงถล่มเมื่อเร็วๆ นี้ ย่อมไม่อาจกลับบ้านได้อีกเลย


ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เบื้องหลังของเหตุที่เกิดขึ้นนี้มาจากนายทุน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะจำนวนรถปิคอัพที่ขนคนเข้าไปบุกรุกนั้นมีถึง 500 คัน เกินกำลังของหน่วยราชการใดจะมีในครอบครอง นอกจากต้องใช้เงินจ้าง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ที่น่าสังเกตก็คือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ หรือกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายออกหน้าในปฏิบัติการเยี่ยงโจรในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่กรมป่าไม้เป็นผู้กล่าวหาชาวบ้านว่าบุกรุกป่าสงวนอยู่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่กลุ่มสมาชิกสภาประชาชน 4 ภาคเท่านั้นที่บุกเข้าไปก่อการจลาจลแต่ลำพัง มีหน่วยราชการคือ กอ.รมน.เข้าไปร่วมด้วย ทำให้การก่อจลาจลดูเหมือนการปฏิบัติงานของราชการ


กอ.รมน.เข้ามาเกี่ยวได้อย่างไร?

ถ้าไม่ใช่การรับจ้างนายทุนแล้ว ก็มีเหตุผลอยู่อย่างเดียวคือ ความไม่รู้เรื่องของ กอ.รมน.

ปัญหาเรื่องการจัดการป่าของกรมป่าไม้นั้น เป็นที่รู้กันดีมานานแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้แล้ว ยังกีดกันคนเล็กคนน้อยมิให้ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน แต่กลับปล่อยให้ทุนเข้าไปใช้ป่าอย่างไม่ยั่งยืนแทน ในรูปของการทำเหมือง, การเช่าพื้นที่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ, หรือทำธุรกิจท่องเที่ยว

ประชาชนได้ร่วมมือกันผลักดันให้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการป่ามากว่า 3 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่เดินขบวน, เสนอร่างกฎหมาย, และกดดันรัฐบาลหลายชุด มีงานวิจัยของนักวิชาการหลายชุดที่สนับสนุนจุดยืนของชาวบ้าน กล่าวคือต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่า

มีมติ ค.ร.ม.หลายคณะที่โน้มเอียงไปในทางที่ยอมรับสิทธิของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน จนแม้แต่รัฐบาลชุดสุดท้ายนี้ ก็เสนอการออกโฉนดชุมชน ซึ่งหากจริงใจจะพัฒนาต่อไปก็จะเปิดให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ โดยมีมาตรการควบคุมกำกับให้เป็นไปอย่างยั่งยืน


เรื่องการบริหารจัดการป่าเป็นเรื่องซับซ้อน เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก และทางเลือกในการบริหารจัดการก็มีมากอีกด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีซึ่งไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หากการจัดการมีแต่ยกเอาทรัพยากรป่าให้ทุนได้ใช้แต่ผู้เดียว คนหลายล้านครอบครัวในป่าจะไม่มีที่ยืน และกระทบต่อความมั่นคงภายในของประเทศอย่างยิ่ง

ไม่ใช่เรื่องเสียเอกราชให้ใคร แต่จะเหลือเอกราชที่ไร้ความหมายแก่คนจำนวนหลายล้านซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นเดียวกับทุน

แน่นอนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในย่อมไม่สนใจจะติดตามความสลับซับซ้อนของทรัพยากรป่า ใครบอกว่ามีประชาชนกระด้างกระเดื่อง เพราะไม่ยอมอพยพออกจากป่า ซึ่งถูกประกาศเป็นป่าสงวนไปแล้ว กอ.รมน.ก็พร้อมจะเข้าไปใช้กำลังจัดการ โดยไม่เคยสืบสาวไปถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง อย่างเดียวกับการใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการป่าดงใหญ่ในโครงการ คจก.เมื่อสมัย รสช.เรืองอำนาจ ทั้งนี้เพราะ กอ.รมน.คือหน่วยงานของทหาร (แม้มีข้าราชการพลเรือนบางส่วนเข้ามาร่วมด้วย)


กอ.รมน.ถูกตั้งขึ้นในสมัยเผด็จการทหาร ภารกิจในขณะนั้นคือการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของ พคท. แต่เมื่อ พคท.สลายตัวไปแล้ว หน่วยงานนี้ก็หาได้ถูกยกเลิกไปไม่ ตรงกันข้ามกลับมีการขยายทั้งกำลังคนและกำลังงบประมาณ เพื่อประกอบภารกิจ "รักษาความมั่นคงภายใน"

รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ชอบ เพราะอาจใช้ประโยชน์ในการปราบปรามศัตรูทางการเมืองของตน ในนามของการรักษาความมั่นคงภายในได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรู้ว่าเป็นแหล่งรายได้ของกำลังพลในกองทัพ จึงไม่อยากไปตอแย ส่วนรัฐบาลพลเรือนซึ่งได้รับความคุ้มครองจากกองทัพ ก็ใช้ กอ.รมน.เหมือนรัฐบาลทหาร

แต่ไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือ "ความมั่นคงภายใน" อำนาจของหน่วยงานนี้จึงไร้ขีดจำกัด กลายเป็นกองกำลังที่ใครๆ ซึ่งมีอำนาจก็สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, นักการเมือง และอาจรวมถึงนายทุน

แน่นอนว่าภารกิจที่คลุมเครือนี้ ย่อมละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกนี้ ที่ปล่อยให้ทหารเป็นผู้ดูแลความมั่นคงภายใน เพราะโดยตัวของมันเองก็มีอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยิ่งในประเทศอย่างไทยซึ่งอำนาจอื่นไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้ การยกความมั่นคงภายในให้อยู่ในความดูแลของกองทัพยิ่งเป็นอันตรายหนักขึ้นไปอีก

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้น เพียงแค่มีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้าน กับหน่วยราชการ (และ/หรือทุน) กอ.รมน.ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง ก็เลือกที่จะเข้าข้างหน่วยราชการในนามของความมั่นคงภายในแล้ว


หากประเทศนี้จะมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยจริงในวันหน้า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดึงเอา กอ.รมน.ให้มาอยู่กับราชการฝ่ายพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นสำนักนายกฯ หรือกระทรวงมหาดไทยก็ตาม กำลังในการปฏิบัติงานหลักคือตำรวจ หากจำเป็นอาจขอกำลังทหารช่วยเป็นกรณีๆ ไป และต้องปฏิบัติงานได้เฉพาะภายในบังคับบัญชาของตำรวจเท่านั้น เราไม่ควรเสียเงินสร้างกองทัพขึ้นมาบังคับขับไสประชาชนของตนเอง และอำนาจของกองทัพเป็นอำนาจที่ต้องระวังในทุกสังคม

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน.จะต้องมีผู้รับผิดชอบในสภา นี่เป็นก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย



++

ปฏิรูปตำรวจ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:00 น.


เพลงมาร์ชตำรวจไทยนั้นเป็นเพลงมาร์ชที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง เร้าใจ, เหี้ยมหาญ, รู้สึกฮึกเหิมในสงครามและสนามรบ

แต่รบกับใครหรือ? คำตอบคือรบกับ "เหล่าร้าย" แม้ว่าเกือบทั้งหมดของ "เหล่าร้าย" คือคนไทย หรือพลเมืองของประเทศเดียวกับตำรวจ


ขึ้นชื่อว่าตำรวจแล้ว ไม่ควรรบกับพลเมืองของตนเองด้วยท่าทีของสงคราม อาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยทั้งหลายคือพลเมือง แม้แต่ผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้ก่อการแยกดินแดน ก็เป็นพลเมือง เป้าหมายของตำรวจคือยุติการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสังคมของพลเมืองเหล่านี้ เปลี่ยนเขาจากผู้ทำร้ายสังคมให้กลายเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม เมื่อกู้เขากลับคืนมาสู่ความเป็นพลเมืองเต็มขั้นแล้ว สังคมก็จะได้ประโยชน์จากเขาอีกมาก รวมทั้งให้ความรู้แก่ตำรวจเองถึงเครือข่ายค้ายาเสพติด หรือเครือข่ายอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ตำรวจทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากตำรวจทำงานด้วยการ "เก็บ" ตำรวจจะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่า อาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยใดที่ควรถูก "เก็บ" ต้องอาศัยมาตรฐานของ "ผู้ใหญ่" ว่าบุคคลประเภทใดควร "เก็บ" หรือ "ตัดตอน"

มาตรฐานนี้มีอันตรายมาก เพราะความเห็นว่าใคร "สมควรตาย" ย่อมมาจากผู้มีอำนาจ แต่ก็มักเปลี่ยนไปตามแต่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ คนที่ท้าทายอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐมักจะถูกถือว่ามีภัยที่สุดและ "สมควรตาย" ก่อน ดังเช่นการสังหารผู้ต้องสงสัยจำนวนมากในสมัยปราบ พคท., อีกจำนวนมากในการชุมนุมเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีนี้, หรือบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นแกนนำของขบวนการก่อการด้วยความรุนแรงในภาคใต้ บางกลุ่มก็ "สมควรตาย" เพียงเพื่อสังเวยความนิยมทางการเมืองแก่นักการเมือง เช่นการฆ่า "ตัดตอน" ผู้ที่ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติด ฯลฯ เป็นต้น

ตำรวจสามารถขยายมาตรฐานดังกล่าวไปได้ตามใจชอบ วัยรุ่นกวนเมืองนัก ก็ "เก็บ" เสียบ้าง รีดคำสารภาพของผู้ต้องหาด้วยการทรมานแล้ว ก็ต้อง "เก็บ" เสียเพื่อป้องกันมิให้เป็นพยาน จนถึงที่สุด แย่งกัน "วิสามัญ" ผู้ต้องหา เพื่อความดีความชอบที่ทำถูกใจ "ผู้ใหญ่" หรือเรียกรับเงินในการทำคดี


ทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยกลายเป็นเรื่องตลก ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ไม่น่าเชื่อถือ จนทุกคนคิดว่าย่อมมีช่องโหว่ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถเล็ดลอดออกไปได้เสมอ และนี่คือสถานะของกฎหมายในประเทศไทย

ทั้งๆ ที่มาตรฐานดังกล่าวแปรเปลี่ยนไปตามแต่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เพราะจากมาตรฐานนี้ก็อาจกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ เช่น จาก "ผกค.ซึ่งสมควรตาย" ก็อาจกลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ซึ่งควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากบ้านเมือง

ที่น่าตระหนกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สังคมไทยโดยรวมกลับยอมรับการ "เก็บ" เช่นนี้ในหลายกรณี คนจำนวนมากไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไรที่ชีวิตคนถูกปลิดลงอย่างง่ายดายเช่นนั้น ต่างยอมรับเสียแล้วว่าข้อสงสัยของตำรวจต่อคนที่ "เก็บ" ไปนั้นถูกต้องแล้วโดยไม่ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป และโทษประหารนั้นเหมาะสมดีแล้วสำหรับมาตรฐาน "สมควรตาย" ที่ผู้มีอำนาจได้วางเอาไว้

การปฏิรูปตำรวจจึงไม่อาจทำโดยรัฐได้ (ซึ่งที่จริงก็ทำในเชิงบริหารมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ตำรวจก็ยังเหมือนเดิม) จำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคมให้เป็นหัวหอกของการปฏิรูป สังคมต้องมองเห็นอันตรายของการมีตำรวจอย่างนี้ สังคมต้องเป็นเวทีหลักในการอภิปรายถกเถียงกันเพื่อหาทางออก สังคมคือพลังที่จะผลักดันให้รัฐปฏิรูปตามแนวทางของตน

จนถึงที่สุด แม้แต่จะตั้ง "ตำรวจ" ขึ้นใหม่ทั้งหมด ก็อาจสมควรกระทำ เพราะตำรวจที่เรามีอยู่เวลานี้ ไม่มีสำนึกถึงสังคมหรือชุมชน มีแต่ภารกิจเฉพาะหน้าที่ต้องปฏิบัติให้สำเร็จตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา ส่วนจะมีผลดีหรือผลเสียต่อสังคมอย่างไร ไม่ได้อยู่ในกระบวนการคิดของผู้ปฏิบัติงาน ตำรวจดีก็ไม่ต้องสำนึกถึงสังคมหรือชุมชน ตำรวจเลวยิ่งไม่ต้องมีขึ้นไปอีก

โดยธรรมชาติแล้ว สำนึกถึงสังคมหรือชุมชนย่อมเกิดขึ้นกับตำรวจไทยไม่ได้ ย้อนกลับไปดูประวัติของตำรวจก็จะเห็น


ตำรวจเกิดจากอำนาจรัฐที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัย ซึ่งหมายถึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐรวมศูนย์ จึงสร้างเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นใหม่เรียกว่าตำรวจ (เป็นคำโบราณที่มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง) เพื่อคุมราษฎรให้ใกล้ชิดมากขึ้น แลกเปลี่ยนกับบริการอย่างใหม่ซึ่งไม่เคยมีในชุมชนและสังคมไทยมาก่อน นั่นก็คือรัฐเข้ามาควบคุมและจัดการ "โจรผู้ร้าย" เองโดยตรง นับตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยขึ้นไปถึงการสั่งสมกำลังเพื่อปล้นสะดม

แต่เดิมมา ภาระการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน เป็นหน้าที่ของชุมชนเอง และรัฐไทยโบราณก็ยอมรับอำนาจหน้าที่นี้ของราษฎร หรือแม้แต่บังคับให้ราษฎรต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดในชุมชนของตนเอง (เช่น กฎหมายโจรสามเส้น เป็นต้น) ตำรวจเกิดขึ้นเพื่อควบคุมราษฎรและริบเอาอำนาจหน้าที่นี้มาเป็นของรัฐแต่ฝ่ายเดียว

กองตระเวนซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.4 ถูกส่งไปตระเวนที่สำเพ็งด้วยเครื่องแบบแปลกประหลาด เป็นที่ชวนหัวของราษฎรผู้พบเห็น

ทำไมจึงต้องเป็นสำเพ็ง ก็เพราะสำเพ็งในขณะนั้นเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่สุดของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยราษฎรจีนและเชื้อสายจีน อันไม่ได้สังกัดกรมกองใดของราชการ เป็น "เสรีชน" กลุ่มแรกของสังคมไทยซึ่งน่าระแวงแก่รัฐ เพราะมีจำนวนมาก


ตำรวจจึงเป็นเครื่องมือของรัฐมาแต่แรกเริ่ม และรัฐไทยก็ได้ใช้เครื่องมือนี้ในการควบคุมสังคม ตราความผิดตามความเห็นของรัฐขึ้นเป็นกฎหมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศตะวันตก อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาอำนาจภายในของรัฐไว้ และตำรวจนับแต่เริ่มแรกก็ใช้อำนาจที่ได้จากรัฐมานี้เพื่อฉ้อฉลหากินในทางทุจริต

เช่นในช่วง พ.ศ.2471 เกิดจับกันได้ขึ้นมาว่า มีการลักพาผู้หญิงเพื่อป้อนซ่องโสเภณีในกรุงเทพฯ โดยหัวหน้าแก๊งคือตำรวจในหน่วยเฉพาะกิจของตำรวจนครบาล (ซึ่งขยายเป็นสันติบาลในเวลาต่อมา) แต่นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ตำรวจทำการเป็นปฏิปักษ์กับสังคม-ชุมชนเสียเอง เพราะบทนำในหนังสือพิมพ์ปีเดียวกันนี้ (กรุงเทพฯ เดลิเมล์) ก็กล่าวแล้วว่า คนไทยมองเห็นตำรวจเป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร

ความเสื่อมเช่นนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างไร เพราะตำรวจมี "นาย" อยู่คนเดียวคือรัฐ อันตั้งอยู่ "ห่างไกล" ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และแง่การบริหาร ตราบใดที่ตำรวจไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่นไม่ท้าทายอำนาจรัฐ หรือแสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ถึงตำรวจจะเป็นปฏิปักษ์กับสังคม-ชุมชน "นาย" ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ระวังไม่ให้การกระทำนั้นสร้างความเดือดร้อนแก่รัฐเท่านั้น และบ่อยครั้ง "นาย" ก็ไม่สามารถจับได้ไล่ทัน ยิ่งตำรวจขยายตัว (ทั้งจำนวนคนและอำนาจ) ออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งยากที่ "นาย" จะตามไปกำกับควบคุมได้ทั่วถึง

เปรียบเทียบกับตำรวจในอีกหลายประเทศ ถือกำเนิดขึ้นจากชุมชน-สังคมมาแต่ต้น ชุมชนหรือสังคมสร้างกองกำลังขึ้นป้องกันตนเองจากโจรผู้ร้าย หรือรักษาระเบียบและความสงบในชุมชน และแม้ตำรวจจะเติบโตเป็นกองกำลังใหญ่ขึ้นสักเพียงใด ก็ยังอยู่ในกำกับควบคุมของชุมชน-สังคมโดยทางอ้อมอยู่ตราบนั้น

กองกำลังตำรวจเช่นนั้นต่างหาก ที่จะมีสำนึกถึงสังคมและชุมชนได้


และนี่คือหัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจไทยรวมศูนย์การบริหารควบคุมมากเกินไป จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร นอกจากต่อ "ศูนย์" และจะชอบหรือไม่ก็ตาม บอกได้เลยว่า "ศูนย์" ของไทยจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ (อย่างน้อยก็อีกหลายปี) ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ตำรวจ (อันที่จริงราชการทั้งระบบ) ฉ้อฉลอำนาจได้มากขึ้น แม้แต่เพื่อรักษาประโยชน์ของ "ศูนย์" เองยังทำไม่ได้ หรือไม่ทำ ดังกรณีในความไม่สงบของภาคใต้เวลานี้ ตำรวจก็ไม่ได้หยุดการฉ้อฉลอำนาจ หรือกรณีของตำรวจมะเขือเทศเมื่อเร็วๆ นี้

การปฏิรูปตำรวจเชิงโครงสร้างจึงอยู่ที่ว่า จะเปิดให้สังคม-ชุมชนเข้ามาบริหารตำรวจเองได้อย่างไร เพียงแต่การเลิกยศตำรวจโดยยังรวมศูนย์ไว้เหมือนเดิม ก็เป็นเพียงการลอกเปลือกฝรั่งตามเคย

หากเกรงว่า ตำรวจที่อยู่ภายใต้การบริหารและการกำกับของท้องถิ่น จะเปิดโอกาสให้ "กลุ่มอิทธิพล" ท้องถิ่น เข้ามายึดกุมกองกำลังนี้ แล้วตำรวจจะกลายเป็นสมุนมาเฟียไปนั้น ก็เป็นข้อหวั่นเกรงที่ฟังขึ้นอยู่ ดังนั้น จึงต้องวางกลไกการคานอำนาจในท้องถิ่นให้ละเอียดซับซ้อน จนกระทั่งว่ายากที่ "กลุ่มอิทธิพล" จะได้อำนาจบริหารและกำกับไปแต่ฝ่ายเดียว เช่นมี "โควต้า" ให้เลือกตั้งจากเจ้าอาวาสในท้องถิ่น, จากครูใหญ่ในท้องถิ่น, จากแพทย์ในท้องถิ่น ฯลฯ เข้าไปร่วมในกรรมการตำรวจซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วย เป็นต้น

กลไกถ่วงดุลอำนาจนี้มีได้หลายวิธี ต้องร่วมกันคิด ไม่จำเป็นว่าต้องให้องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้การกำกับของส่วนกลางเสมอไป


ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า การรวมศูนย์อย่างหนัก ก็ทำให้ตำรวจตกอยู่ภายใต้ "กลุ่มอิทธิพล" เหมือนกัน ซ้ำเป็น "กลุ่มอิทธิพล" ระดับชาติ ที่ยากแก่ประชาชนในการควบคุมถ่วงดุลได้ ในขณะที่ "กลุ่มอิทธิพล" ท้องถิ่น เล็กกว่าและอยู่ใกล้ตัวกว่า จึงถ่วงดุลได้ง่ายกว่า

ตำรวจส่วนกลางก็ยังมีความจำเป็น เพื่อจัดการกับคดีที่ข้ามท้องถิ่น และในเชิงบริหารทำให้ไม่ต้องลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านมากเกินไป แต่หน้าที่หลักของตำรวจส่วนกลางคือการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของตำรวจท้องถิ่น เช่นโรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจต้องเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยตำรวจ เพื่อสอนและพัฒนา "ศาสตร์" ที่เป็นประโยชน์แก่การทำงานของตำรวจ

(แปลว่านอกจากสอนแล้ว ยังต้องทำงานวิจัยด้วย)


.

2554-05-27

ด้วยรักจากกะทิ และ กูเบื่อมึง โดย คำ ผกา

.
ด้วยรักจากกะทิ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 89


To ทัดดาว
Cc พี่ทอง, พจมาน, เรยา, ดี๋, เด่นจันทร์


เพื่อนๆ ที่รักและคิดถึงอย่างลึกซึ้ง

เพื่อนๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง กะทิห่างหายจากการติดต่อเพื่อนๆ ไปเสียนาน กลัวจังว่าเพื่อนๆ จะนึกว่ากะทิหนีไปแต่งงานกับหนุ่มผู้โชคร้ายคนไหนเข้าสักคนและลุ่มหลงสามีจนลืมเพื่อนฝูง อิอิ

นานทีปีหน ขอกะทิปล่อยมุขห่ามๆ อะไรบ้างนะ เดี๋ยวคนจะค่อนแคะเอาได้ว่าลูกหลานอำมาตย์อย่างกะทิพูดจาภาษาชาวบ้านไม่เป็น

ช่วงนี้ฝนตกฉ่ำฟ้า กะทิคิดถึงบ้านของคุณตาที่อยุธยาเป็นที่สุด หลับตาลงยังได้ยินเสียงเม็ดฝนตกลงใส่กาละมังซักผ้าของยายดังก๊องแก๊งที่คุณตามักจะทำเป็นบ่นว่าหนวกหู น่ารำคาญให้คุณยายหมั่นไส้ค้อนขวับๆ เข้าให้

กะทิแอบมาหลบอยูในกระท่อมน้อยกลางซอกเขา ฝนตก ฟ้าฉ่ำทีไร ภูเขาก็เหมือนหญิงสาวขี้อายหายวับไปจากสายตาของเราทุกที พอฟ้าเปิด แดดกระจ่าง เจ้าหญิงภูเขาขี้อายก็จะค่อยเยี่ยมใบหน้าแสนสวยของเธอออกมาทักทายเราใหม่

ธรรมชาติที่หลายคนอาจมองว่าซ้ำซาก น่าเบื่อ แต่สำหรับกะทิ แค่ได้นั่งมองเจ้าหญิงภูเขาผลุบโผล่เล่นซ่อนหากับสายฝนก็ให้รู้สึกสนุกนัก ท่ามกลางธรรมชาติอันเรียบง่ายและสงบงามอย่างนี้ บางทีกะทิก็อดถามตัวเองและเข้าใจมนุษย์ไม่ได้เอาเสียเลยว่าทำไมถึงต้องมาเสียเวลารบราฆ่าฟันกันเพียงเพื่ออยากได้อำนาจมาครอบครอง

หากคนเหล่านี้จะสละเวลาสักสอง-สามนาทีเพื่อจะทำความเข้าใจในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเขาจะรู้ว่าลาภ ยศ สรรเสริญนั้นได้มาก็เสื่อมและหมดไป อำนาจไม่ใช่ของจีรังยั่งยืนเสียจนต้องเอาชีวิตเข้าแลก อำนาจทางการเมือง ประชาธิปไตย เผด็จการ ล้วนแต่เป็นเรื่องสมมุติ เป็นกิเลส เป็นตัณหา บัณทิตอย่างเราต้องฝึกตน รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อวาทกรรมเหล่านั้น

โอ๊ย นี่กะทิมาขึ้นโพเดียมเทศน์เพื่อนๆ ทำไมกันเนี่ยะ หวังว่าเพื่อนๆ จะไม่คิดว่ากะทิแอบมาบวชชีเพราะหนีรักหรอกนะ อิอิ



เรื่องทัดดาวกับพี่ทอง...กะทิของแสดงความยินดีด้วย มันจะมีอะไรวิเศษไปกว่าการที่เพื่อนที่เรารักที่สุดคนหนึ่งกับคนที่เราเคยรักที่สุดคนหนึ่งมารักกัน!

นี่เป็นของขวัญที่วิเศษที่สุดในโลกนี้เท่าที่ทัดดาวกับพี่ทองจะมอบให้แก่กะทิได้ (ถ้าแม่ที่อยู่บนสวรรค์ของกะทิรู้ว่ากะทิพูดอะไรได้เหมือนนางเอกนิยายของบาบาร่า คาร์ตแลนด์แบบนี้ แม่คงภูมิใจ)

ทัดดาวกับพี่ทองคะ, กะทิคิดถึงพี่ทั้งสองคนมาก และเฝ้ามองความเคลื่อนไหวทั้งติดตามความคิดเห็นของพี่ทั้งสองอยู่เสมอ กระทิมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าพี่ทั้งสองคนหวังดีต่อชาติบ้านเมือง อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แต่กะทิไม่อยากพูดและไม่อยากถามอีกเป็นครั้งที่ล้านว่า พี่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยดีแค่ไหน

พี่คะ, ในยุโรป ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในโลกนี้เขาโยนประชาธิปไตยแบบที่พี่ทัดดาวกับพี่ทองเรียกร้องกันทิ้งไปตั้งนานแล้ว สังคมมันซับซ้อน ละเอียดอ่อนกว่านั้นมากนัก มิใช่ประชาธิปไตยบวกทุนนิยมสามานย์หรอกหรือที่พร่าผลาญทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำร้ายผืนป่า ข่มขืนสายน้ำ นำมาซึ่งหายนะทั้งปวงมาสู่มนุษยชาติอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้

ทัดดาวนั่งดูสายน้ำพัดพาบ้านเรือนผู้คนเสียหาย ชาวบ้านนั่งดูน้ำท่วมด้วยดวงตาท้อแท้สิ้นหวังแล้วน้ำตาก็ไหล ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้หรอกหรือที่เราควรใส่ใจ หรือ การปั่นจักรยาน โครงการรณรงค์ลดโลกร้อน ปั่นจักรยาน มันไม่เท่ มันไม่มีวีรชน ทำแล้วไม่เด่นไม่ดัง พี่ๆ และเพื่อนๆ ของเราบางคนจึงเลือกที่จะไป move บนถนนเรียกร้องเอาเศษซากประชาธิปไตยอันเป็นอุดมการณ์ของตะวันตกที่แม้แต่คนตะวันตกก็ไม่เอาอีกต่อไปแล้ว เพียงเพราะทำแล้วมันดังกว่า เท่กว่าอย่างนั้นหรือ

มันช่างน่าขันนะ ในขณะที่ฝรั่งต้นตำรับประชาธิปไตยพากันไปสวนพลัม นั่งสมาธิ ไปหากระบวนการที่จะทำให้ตัวเองเล็กลงเพื่อจะประจักษ์ในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เพราะรู้แล้วว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออก แต่ในเมืองไทยคนจำนวนมากกลับถูกหลอกให้หลงใหลในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวตน อีโก้ ความเป็นปัจเจกในนามของประชาธิปไตย

นี่กะทิยังไม่ได้พูดถึงเบื้องหลังขบวนการทางการเมืองล้าหลังอันมีนักการเมืองชั่วหากินกับชีวิตของมวลชน

อย่างไรก็ตาม กะทิอยากจะบอกพี่ทองกับพี่ทัดดาวว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในมิตรภาพของเรา กะทิเคารพในสิ่งที่พี่เลือกแม้กะทิจะไม่เห็นด้วยเลยก็ตามที ...เวลา ธรรมชาติ และธรรมะอันเป็นสัจธรรมเท่านั้นจะบอกเราว่าอะไรคือ "ของจริง" และอะไรคือ "มายา"



เจ้าหญิงภูเขาโผล่หน้ามาหากะทิอีกแล้ว เย้ๆๆ แดดอ่อน ลมพัดเย็น กลิ่นดินหอมๆ กาแฟร้อนๆ และจิตที่โปร่ง เบา และว่าง กะทิถามจริงๆ ว่า เราจะเอาทักษิณ เอ๊ย เอาประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับนักการเมืองชั่วกลับมาทำไม

เพื่อนๆ คงอยากรู้ว่ากะทิมาแอบอยู่ในกระท่อมน้อยกลางหุบเขาห่างไกลผู้คนอย่างนี้ทำไม?

คำตอบก็คือกะทิคงจะเริ่มเบื่อคน โดยเฉพาะคนที่ชอบคิดว่าตนเองกลับมาต่อสู้เพื่อคนยากคนจน

อีกอย่างคุณตาของกะทิไปช่วยปะติลูบประเทศได้เงินค่าจ้างค่าออนมานิดหน่อย เลยแบ่งมาให้กะทิเอามาทำโครงการทดลองทำไร่สะตอบอแหล เอ๊ย สตรอว์เบอร์รี่ปลอดสารพิษ คุณตาบอกว่านี่จะเป็นหนทางการช่วยปะติลูบประเทศอีกหนทางหนึ่ง นั่นคือ ผู้หญิงที่ทั้งสวยทั้งเก๋ทั้งฉลาด มีจิตสำนึกที่ดี แถมยังนั่งภาวนาอย่างสม่ำเสมอจะลุกขึ้นมาเป็นเกษตรกรตัวอย่างให้แก่ชาวไร่ชาวสวนชาวนาทั่วประเทศได้เห็นว่า อนาคตที่ดีเราสร้างได้ เลิกที่คิดพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวได้แล้ว

คุณตายังบอกอีกว่า คนไทยถูกปลูกฝังให้คิดอยู่ในพาราดามเดิมๆ นั่นคือเมื่อมีปัญหาแล้วแทนที่จะคิดพึ่งตนเอง แก้ไขปัญหาด้วยตนเองหรือพลังของชุมชน ก็มีแต่ออกไปก่นด่า ประท้วง เรียกร้อง กดดันรัฐบาล เมื่อเป็นอย่างนี้ รัฐบาลจึงดูยิ่งใหญ่เหลือเกิน สำคัญเหลือเกิน

หนทางปะติลูบของคุณตาคือการบอกว่าการลดความเหลื่อมล้ำจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ข่ายใยชีวิต" รู้ว่าการจัดองค์กรชีวิตเป็นรูปแบบหรือ configuration ของความสัมพันธ์ในบรรดาองค์ประกอบของระบบองค์กรชีวิต นิยามโครงสร้างของระบบว่าอยู่ในฐานะทางวัตถุเพื่อการแฝงฝังของแบบแผนแห่งการจัดองค์กรของมัน...

โอ้ คุณตาของกะทิต้องเป็นอัจฉริยะแน่ๆ เพราะมีแต่อัจฉริยะเท่านั้นที่จะใช้ภาษาเหนือมนุษย์เหล่านี้ได้

ใครอยากอ่านภาษาที่มนุษย์อ่านแล้วไม่เข้าใจนี้ โปรดติดตามงานของคุณตากะทิที่รู้จักกันในนามของ ม๋อปาเว็จ วัดศรี



โครงการของกะทิชื่อว่า "ฉันอยากเป็นชาวสวนสตรอว์เบอร์รี่"

ปล่อยให้คนกระหายอำนาจเอาชีวิตของมวลชนมาเป็นเดิมพันต่อไปเถอะ กะทิรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เวลาที่กะทิจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรประเทศไทยได้ สิ่งที่มันจุกอยู่ในอกและเต็มตื้นอยู่ในหัวใจของกะทิตอนนี้คือ กะทิรู้ดีว่า มนุษย์นั้นกระจ้อยร่อยเพียงใด ไร้ซึ่งอำนาจเพียงใด อ่อนแอเพียงใด และในฐานะของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง กะทิรู้ตัวดีว่าอะไรที่กะทิทำได้ อะไรที่กะทิทำไม่ได้

ตอนนี้ความฝันสูงสุดของกะทิมีแค่ทำอย่างไรจะส่งสตรอว์เบอร์รี่ของกะทิเข้าไปขายในร้าน "ทองคำสถาน" ได้ และกะทิจะให้โลกได้ประจักษ์ว่าด้วยศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ในเนื้อนาดินแผ่นดินไทย แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองของเรา คนไทยจะได้ผลิตสตรอว์เบอร์รี่ที่อร่อยไม่เหมือนใครในโลกนี้ออกมาให้ชาวโลกได้ตื่นตะลึง

ดูสิ ในประเทศเล็กๆ ดินแดนแห่งรอยยิ้ม และความโอบอ้อมอารี ที่เรียกว่าสยามแห่งนี้ยังมีอะไรรอคอยให้คนตัวเล็กๆ อย่างเรามาริเริ่มลงมือทำ อย่ามัวแต่ไปปราศรัย พูดจาวางโต โอ้อวด เสียดสี เหน็บแนม และเฝ้าแต่โทษผู้อื่นอยู่เลย ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรพูดให้น้อยลง ทำให้มากขึ้น เริ่มจากสิ่งเล็กน้อยใกล้ตัว ...ความดีเล็กๆ ของคนเล็กๆไม่ใช่หรือที่จะสร้างความอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ให้แก่โลกใบนี้

มีคำพูดหนึ่งที่กะทิได้ฟังมาจากวงคุยของเพื่อนคุณตาแล้วกะทิประทับใจมาก เขาบอกว่า

"ใครก็ตามที่รู้ ย่อมรู้

ใครก็ตามที่คิดว่าตนเองรู้ ย่อมไม่รู้

ใครก็ตามที่คิดว่าตนไม่รู้ ย่อมเข้าใกล้ความรู้"

กะทิหวังว่าตัวเองจะอยู่ในกลุ่มสุดท้าย กะทิรู้ดีกว่าตนเองคือคนไม่รู้ ถ้วยชาหากมีน้ำชาเต็มเสียแล้ว มันจะเติมอะไรลงไปได้อีก มีแต่จะกระฉอกล้นออกมา-พี่ทัดดาวกับพี่ทองคงเคยได้ยินอะไรอย่างนี้กันมาบ้าง และเผื่อว่าจะลืม และเพื่อเตือนตัวเองด้วยกะทิจึงอยากจะขอจบจดหมายฉบับนี้ด้วยปรัชญาว่าด้วยถ้วยชาและน้ำชาเสียเลย



สายแล้ว ตอนนี้เจ้าหญิงภูเขายิ้มเจิดจ้าราวกับจะเป็นของขวัญกำลังใจให้กับกะทิ เจ้าหญิงภูเขาจ๋า เจ้าหญิงช่างสวย สูงตระหง่าน สง่างามเหลือเกิน บางครั้งกะทิอยากจะเชื่อว่าเจ้าหญิงเป็นเพื่อนบ้านกับแม่ของกะทิที่อยู่บนสวรรค์ แม่คงแอบอยู่แถวๆ หลังเจ้าหญิงกระมัง

และในบางคราที่เจ้าหญิงยิ้มกว้างกว่าปกติ มันเป็นรอยยิ้มที่แม่ของกะทิฝากมาให้กะทิด้วยหรือเปล่า

แดดชักร้อน และชาวสวนอย่างกะทิก็ไม่มีเวลาโอ้เอ้อีกต่อไป คนงานพม่าที่จ้างมาราคาถูกแถมทำงานอึดกว่าคนไทยหลายเท่าทำงานได้น่าชื่นชมมาก เดี๋ยวกะทิจะต้องไปคุมคนงานทำงานแล้วล่ะ อยากให้เพื่อนๆ มาเห็นกะทิสวมงอบ ใส่เสื้อแขนยาว ยืนตะโกนโหวกเหวกสั่งงานคนงานผู้ชายตัวใหญ่ๆ จังเลย หลายคนบอกว่ามันเป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง แต่กะทิว่าคนพูดเขาหมายถึง "ตลก" มากกว่า กระนั้น อย่าหวังว่ากะทิจะยอมแพ้

พรุ่งนี้กะทิมีนัดคุยกับพะตีตาแบ๊ะ ปราชญ์ชาวบ้านที่รู้ว่าจะพลิกฟื้นผืนดินตามตำรับดั้งเดิมของชาวปกากะญออย่างไร กะทิตั้งใจเอาไว้แล้วว่าสวนของกะทิจะต้องไม่ใช้สารเคมีเลยโดยสิ้นเชิง

พวกคนที่ชุมนุมกันที่อยู่ที่กรุงเทพฯ จะรู้ไหมหนอว่า ในชนบทยังมีภูมิปัญญาไทยรอคอยการค้นพบอีกมหาศาล ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย งดงาม ทว่านักการเมืองชั่วได้พรากสิ่งเหล่านี้ออกไปจากชีวิตของพวกเขา เหยียดว่าความรู้ของพวกเขามันต่ำต้อย ทำให้เขาหมดซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

กะทิสัญญาว่า ด้วยกำลังอันน้อยนิดที่กะทิมีอยู่ กะทิจะกอบกู้สิ่งเหล่านั้นกลับคืนสู่ชุมชน

เจ้าหญิงภูเขาเป็นพยาน

ด้วยสันติ ภราดรภาพ และความผูกพันจากใจของเด็กหญิงตัวน้อยในจักรวาลอันไพศาล

กะทิ



++

กูเบื่อมึ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 89


To นังกะทิ
Cc ทัดดาว, พี่ทอง, นังดาวพระศุกร์, นังเด่นจันทร์, นังคุณดี๋


สวัสดีทุกๆ คน ทัดดาวกับพี่ทองอย่าว่าฟ้าหยาบคายเลยนะ แต่อ่านอีเมลของกะทิฉบับล่าสุดแล้วไม่ไหว อ้วกจะแตก แล้วฟ้าก็ไม่เข้าใจว่ามันจะ cc มาถึงฟ้าทำไม บอกไปล้านครั้งแล้วว่าอยากจะไปเทศนาสั่งสอนใครก็เชิญ แต่ไม่ต้องมานั่งเทศน์ให้ฟ้าฟัง แถมบทเทศน์ของกะทิยังน้ำเน่าชวนฝัน ภูเขานางฟ้งนางฟ้า บ้าหรือเปล่า เพ้อเจ้อ!

จะแสร้งทำตัวให้น่ารักน่าเอ็นดูไปถึงไหน คนเค้ารู้ทันเธอหมดแล้วกะทิ แล้วถ้าเธอคิดว่าจะมาใช้มุขปัญญาชนโรแมนติกซ่าหริ่มติสต์แตกเพื่อโน้มน้าวให้พี่ทองทิ้งทัดดาวกลับมาหาเธอแล้วก็ ชั้นขอบอกว่าเธอคิดผิด คิดสั้น คิดตื้นแล้วล่ะ มุขนางเอกโบร่ำโบราณแบบนี้ พระเอกอย่างพี่ทองเค้าตาสว่างรู้ทันเธอแล้วย่ะ

แหม...ไร่สตรอว์เบอร์รี่ ฟ้าว่าไร่สะตอบอแหลน่ะถูกต้องแล้ว แน่จริงเปิดโปงข้อมูลมาสิว่าเงินลงทุนน่ะเอามาจากไหน แล้วไอ้ไร่สวนบนภูเขานางฟ้าของเธอรุกที่ป่าไปกี่ร้อยไร่ ที่ดินบนภูเขาแบบนั้นขึ้นไปทำไร่โรแมนติก มีกระต๊อบแบบรีสอร์ต น้ำ ไฟ พร้อม แอร์พร้อม น้ำอุ่นพร้อม แถมยังมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

ขอถามหน่อยว่าโฉนดนั้นท่านได้แต่ใดมา แล้วใครอยู่เบื้องหลังการถ่ายทำแต่ละฉาก แต่ละตอนของการเป็นนางเอกผู้สมถะของเธอบ้าง คนงานต่างด้าว คนงานคนพื้นเมือง คนใช้ แม่บ้าน รถโฟร์วีลที่จะพาเธอลงมาทำเก๋อยู่ในเมือง บินกลับกรุงเทพฯ เพื่อทำแคมเปญโฆษณาโครงการสมถะพอเพียงของเธอ แถมต้องเจียดเวลามาให้สัมภาษณ์นิตยสาร ทีวี ไหนจะพาทีมงานทีมถ่ายทำคอยเก็บภาพสาวชาวสวนของเธออีก

กะทิ, ฟ้าจะบอกอะไรให้นะ สำหรับฟ้าเธอมันแค่คนที่คอยเกาะกระแสสร้างความนิยมให้กับตนเอง มีปมด้อยอะไรนักหนาในชีวิต เป็นฮิสทีเรียขาดความรักหรือไง ชีวิตนี้ถึงได้คอยเกาะดูว่ากระแสภูมิปัญญาของสังคมมันพัดไปทางไหน แล้วฉันจะพัดตาม วลีไหน วรรคไหนกำลังฮิต ฉันต้องหยิบมาพูด มาเขียน

กระแสวัฒนธรรมชุมชนที่เธอมาพร่ำเพ้อละเมอหาน่ะมันมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 เธอจะมาฮิตติดลมบนอะไรกะเค้าในตอนนี้ อ้อ แล้วสถานีโทรทัศน์ไทยในยุคนู้นมีแต่จะกล่าวหาว่า กระแสนี้เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกต่อต้านรัฐ เป็นอนาคิสต์ พอมายุคนี้ที่อยากจะทำลายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อปลุกกระแสอยากได้คนดีมาเป็นผู้นำ (ใครแต่งตั้งมาช่างหัวมัน) ก็นู่น รีบไปหยิบเอาเรื่อง วัฒนธรรมชุมชน ผู้นำตามธรรมชาติ การต่อสู้กับทุนสามานย์ อะไรต่อมิอะไร รวมทั้งแถไปหาธรรมาธิปไตย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า กูไม่ชอบนักการเมือง กูไม่อยากให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งของคนบ้านนอกไร้การศึกษาที่ดันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ

กะอีแค่เนี่ยะ ปัญญาชนดัดจริตอย่างกะทิและพรรคพวกต้องแถไปถึงไหนไกลจนกู่ไม่กลับ อันที่จริงจะมายอมรับซื่อๆ แบบซูโม่ตู้ไปเลยดีกว่า "กูไม่เอาประชาธิปไตย กูไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง กูไม่ต้องการให้ลิงบาบูนมาออกเสียงเลือกตั้ง มีไรป่าว"

พูดชัดๆ แบบนี้น่าฟังกว่าการมาอ้างว่า "การเลือกตั้งเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของประชาธิปไตย", "การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย" จากนั้นก็ทำเนียนๆ เรียกนักการเมืองว่า "นักเลือกตั้ง" และเรียกการเลือกตั้งว่า "เกมการเลือกตั้ง"

กระบวนการดิสเครดิตทางภาษาแบบนี้เป็นเกมที่คนแบบคุณดี๋ถนัดเล่นชิบหายเลย คือถนัดทำตัวเป็นพวกขาวใสไร้มนุษยธรรม



แต่พูดกันแบบนักกีฬา ฟ้ายอมรับเลยว่าฟ้าตอแหลได้ไม่เนียน ไม่ถูกจริตชนชั้นกลางร่วมสมัยได้เท่ากับกะทิจริงๆ

อันนี้ขอคารวะในความสามารถอันแนบเนียนของเธอนะกะทิ อันที่จริงจะใช้คำว่าแนบเนียนก็ไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะการที่สังคมไทยต้อนรับขับสู้คนอย่างเธอ วิธีคิดแบบเธอมันชี้ให้เห็นว่าเธอกับสังคมนี้เข้าใจ "รหัส" ว่าด้วยความดี ความเลว ความถูกต้อง ที่เป็นรหัสชุดเดียวกันอยู่แล้ว

และหากมีใครลุกขึ้นมาบอกว่า เฮ้ย รหัสที่เราใช้กันอยู่มันทะแม่งๆ มันมีโครงสร้างของการใช้อำนาจผ่านกระบวนการถ่ายทอดคุณค่าว่าด้วยความจริง ความดี ศีลธรรม - พลันคนคนนั้นจะกลายเป็นตัวป่วน เป็นตัวสร้างความแตกแยกในสังคมขึ้นมาทันที

ถามว่าทำไมความแตกแยกเป็นเรื่องที่ไม่ดี?

ก็เพราะรหัสที่เราใช้และเข้าใจกันอยู่ กำหนดกรอบให้เราคิดได้แต่เพียงว่า สังคมที่ดีคือสังคมที่เราจะต้องรักกัน และรักในที่นี้แปลว่า เราต้องตั้งอยู่ในความสงบ อย่าเอะอะ โวยวาย อย่าพยศ อย่าเถียง อย่าคิดนอกคอก เมื่อไหร่ที่เราคิดนอกคอก ตั้งคำถาม ยุกยิก ทำลายความสงบ สังคมนี้จะบอกว่าผู้มีอำนาจมีสิทธิที่จะฆ่าเรา จับเราไปขังคุก เพราะสิ่งที่เราทำนั้นคือการทำลายความรัก ความสามัคคีของคนในสังคม

ล่าสุดกับการที่ฟ้าเป็นผู้หญิง "นอกคอก" (แปลว่านอกรหัส (คอก) "ความดี" ที่สังคมไทยรับรู้) มีพระมายุ่งกับชีวิตของฟ้าอีกแหละ บอกว่าดูละครเรื่องชีวิตของฟ้าในดอกส้มสีทองแล้วให้ถือว่าเป็นการดูละครแล้วย้อนดูตัว ดูไว้เป็นบทเรียน ดูไว้เป็นนิทานสอนใจ อะไรที่ไม่ดีก็อย่าทำ

ปั๊ดโธ่ ฟ้าเบื่ออะไรแบบนี้เสียจริง ละครนะเฟ้ย ไม่ใช่นิทานอีสป จะมาเอาคติสอนจงสอนใจอะไร คนดูมีร้อยพ่อพันแม่ มีวิธีที่จะตีความละครได้ร้อยแบบพันแบบขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ปูมหลัง ทัศนะทางการเมือง และอื่นๆ ของคนดูแต่ละคน

ทำไมสังคมไทยถึงชอบให้พวกครู หมอ พระ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมานั่งสอนศีลธรรมเหมือนเป็นเด็กอมมือ



กําลังกริ้วเรื่องพระ ตวัดสายตามาอ่านเจอบทสัมภาษณ์คนทำรายการ คน ค้น ฅน อาการกริ้วของฟ้าก็มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ จากนั้นก็ลืมตัวอุทานว่า "ชิบหายแล้ว"

เค้าว่ามางี้ :

"ถ้ามันมีอยู่แค่เพียงถ้อยคำ แต่มันไม่มีอยู่ในจิตใจของคน ถามว่ามันจะส่งผลไหม ถ้าสมมุติผมเป็นคนผิวดำ แต่ผมไม่รู้สึกถึงความดี ความด้อย แม้ใครจะมาล้อผมว่าไอ้ดำ! ก็ผมไม่โกรธ สิ่งนั้นก็ไม่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด หรือต่อสภาวะจิตใจผม ตรงกันข้าม ถ้าผมฉลาดกว่านั้นคือ ผมรู้ ผมสามารถเวทนาคนที่แสดงออกต่อผมด้วยกิริยาแบบนั้น ผมอาจจะสงสารเขาก็ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะ "ไพร่" หรือ "อำมาตย์" เวลาที่พูดคำนี้ใน พ.ศ.นี้ เรานี่แหละเป็นคนที่สร้างความรู้สึกที่มีต่อคำคำนี้ โดยที่คำก็ทำหน้าที่รับใช้เจตนาของผู้สร้าง พอมีอารมณ์ใส่เข้าไปด้วย เลยเกิดเป็นความรู้สึก และทำให้การต่อสู้ของคนรุนแรงทุกระดับ

ความปรารถนาของ "เช็ค" ในฐานะ "ปุถุชน" คืออยากให้การเมืองเจริญขึ้น ทั้งด้านจิตใจ-กระบวนการ-วิธีการของคนที่อยู่ในแวดวงอำนาจ เพราะสิ่งแย่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่เคยนำประโยชน์สุขอะไรต่อส่วนรวมเลย แต่นำประโยชน์สุขเฉพาะตน หรือพวกพ้อง แม้แต่กระทั่งการอภิปรายในสภา ดูแล้วมันเหนื่อย เห็นแต่สิ่งเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยอวิชชา ผิดศีล โกหก และอัดแน่นด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด และเจตนาไม่สร้างสรรค์

ท่านพุทธทาสท่านพูดว่า ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็ไม่ต้องมีการเมือง ประเทศไทยภายใต้ธรรมนิยมคือ มีความเข้าใจในความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความเป็นไปของโลก และเท่าทันมัน ในเชิงธรรมมะสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นเรื่องชั่วคราว สุดท้ายตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้ " www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306070426&grpid=01&catid&subcatid



นี่กะทิ, ฟ้าอยากจะแสดงความยินดีกับเธอด้วยที่คำศัพท์อย่างที่เธอชอบใช้มันติดตลาดมากเลยตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "จิต", "สติ", "ผูกติด", อะกาลิโก, มีธรรมะแล้วไม่ต้องมีการเมือง, ชีวิตเป็นอนิจจัง ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้, ปัญหาแก้ได้จาก รู้ว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร แก้ที่เหตุแห่งทุกข์ ก่อนจะเสนอว่าเราควรเป็นธรรมนิยม ..บลา บลา บลา...

ฟ้าเป็นไพร่นะ แม่เป็นแม่ครัว พ่อเป็นยาม ก็ขอใช้ภาษาให้ตรงกับกำพืดของตนเอง อาการประมาณนี้คนในชนชั้นของฟ้าอยากจะเรียกว่า "เด็กเห่อห-มอย" ได้ไหม? คนที่มันตื่นเต้นกับธรรมะที่หายใจเข้าออกมันต้องพูดคำว่า ทุกข์, สติ, จิต และอนิจจัง กันอยู่เรื่อยไปทำยังกะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่แบบกาลิเลโอที่ค้นพบว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล พวกคนเห่อธรรมะนี่เค้าเป็นกันอย่างนี้จริงๆ คำก็สติ สองคำก็รู้จักพอ สามคำก็ทุกข์ พอคำที่สี่ก็ต้องเอ่ยคำนี้ออกมา "พุทธทาส" - เป็นสูตรสำเร็จยังกะน้ำจิ้มสุกี้

คนเราตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ก็ถูก แล้วไง? มีอะไรตื่นเต้น? มีอะไรแปลก? คริสต์ศาสนาก็บอกว่า คนเราเกิดจากดิน ตายไปก็กลับไปอยู่ในดิน ถามจริงๆ ว่ามันต้องใช้ wisdom อะไรนักหนาถึงจะเข้าใจว่ากูตายไปแล้วกูเอาอะไรไปไม่ได้! แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้น ก่อนตายกูจะอยู่ยังไง (โว้ย?)? แล้วที่คนเค้าเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองก็เพราะเค้าคิดกันเรื่อง "จะอยู่อย่างไร" ไม่ได้คิดเรื่อง "ตายแล้วไปไหน เอาอะไรไป"

ปั๊ดโธ่ ชาตินี้ ชีวิตนี้ยังเอาตัวไม่รอด ยังไม่พอกิน ไม่มีใครกระสันมานั่งรำพันว่าตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ตอนอยู่ยังไม่มี ไม่สะเออะคิดถึงตอนตายหรอก จะบอกให้เอาบุญ

คุณคน ค้น ฅนก็มีลูก มีเมีย ไม่คิดว่าเหรอว่าก่อนตายลูกจะอยู่ยังไง กินอะไร เรียนหนังสือที่โรงเรียนไหน ฟ้าก็เห็นคุณทำมาหากินหาเงิน หาทอง ซื้อบ้าน ซื้อรถ หาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกเรียน หรือต่อให้เป็นโฮมสกูลดูมีอุดมการณ์อยู่ที่บ้าน คุณปฏิเสธหรือไม่ว่านั่นก็คือ การที่คุณกำลังคิดเรื่อง "อยู่อย่างไร" หรือต้องรอให้มีรถสักสิบคันแล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า "เฮ้ย ตายไปก็เอาไปด้วยไม่ได้"

แหม...ต้องให้ฟ้าร้องเพลง "กว่าจะรู้เดียงสา" กล่อมเสียหน่อยดีไหม ถ้าฟ้าเจอหน้าคุณจังๆ จะขอถามนะว่า "ที่ออกมาพูดเรื่องธรรมะปาวๆ ที่ใบหน้ายังมียางเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า? ยางอายน่ะ รู้จักไหม?"

แล้วในฐานะที่คุณก็ไปทำสารคดีเอาชีวิตคนจนมาค้าขายทางจอโทรทัศน์จนคุณชักจะมั่งคั่งขึ้นมากับเขาบ้าง คุณไม่เคยตั้งคำถามเลยหรือว่า ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงขาดโอกาสและยากจน และทำไมคนอีกกลุ่มหนึ่งถึงสามารถสะสมความมั่งคั่งจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้ไม่ขาดสาย

หรือคุณเชื่อว่านี่เป็นเรื่องบุญ เรื่องบาป เป็นเรื่องบุญทำกรรมแต่ง หรือคุณรู้ทุกอย่างแต่บิดเบือนเรื่องความยากจน และการขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะ ให้มันเป็นเรื่อง "ศักดิ์ศรี", "ความกตัญญู", "ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค" ฯลฯ


เด็กๆ ขายปาท่องโก๋หาเงินมารักษาพ่อแม่ที่ป่วย แทนที่จะทำให้เราตั้งคำถามต่อระบบประกันสุขภาพ แต่สารคดีของพวกคุณหันไประบายสีที่ความกตัญญู ความน่ารักของเด็ก ความทรหดอดทนของเด็ก

จากนั้นคนอย่างคุณก็หาเงินบริจาคเอาไปช่วยเด็ก - ถามหน่อยว่าเราจะแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสงเคราะห์กันไปทีละครอบครัวสองครอบครัวอย่างนี้เรื่อยไปหรือ?

ถามต่ออีกว่าใครได้ประโยชน์จากการสงเคราะห์อันนี้มากที่สุด ไม่ใช่ครอบครัวเด็กคนนั้น ไม่ใช่ปู่เย็น แต่เป็นคุณเจ้าของบริษัทผลิตรายการสารคดี ที่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง (ในฐานะนักบุญ) ได้ทั้งภาพพจน์ของความเป็นคนดีมีคุณธรรม



ฟ้าไม่โทษคุณหรอกนะ แต่โทษสังคมไทยสับปะรังเคที่มันหล่อหลอมให้พวกเรากลายเป็นคนที่เห็นความดีงามกันตื้นๆ ง่ายๆ ใครไปวัดก็ว่าดี ใครไม่กินเนื้อสัตว์ก็ว่าดี ใครบริจาคเงินเยอะๆ ก็ว่าดี ใครชอบอ้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ก็ว่าดี ใครพูดจาธรรมะธัมโมหน่อยก็ว่าดี ใครไปปฏิบัติธรรมก็ว่าดี ใครชอบหล่นคำว่าพุทธทาสออกมาบ่อยๆ ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

โอ๊ย เกิดมาไม่เคยต้องมานั่งเขียนจดหมายอะไรยืดยาวขนาดนี้มาก่อน ฟ้าเรียนหนังสือมาน้อย เขียนอะไรสะเปะสะปะก็ทนๆ อ่านกันไปหน่อยนะ จะให้เขียนอะไรสวยๆ ความดีเล็กๆ คนเล็กๆ ห่าเหวอะไรแบบกะทิ ฟ้าทำไม่เป็น แค่คิดก็จะอ้วก

อีกนิดเดียวถึงคุณ คน ค้น ฅน ที่ว่ามีธรรมะแล้วไม่ต้องมีการเมืองเนี่ยะแปลว่าไรเหรอ ธรรมะคือธรรมะแบบของพุทธเท่านั้นหรือเปล่า

ถ้าเป็นของพุทธอย่างเดียวจะเอาศาสนาอื่นๆไปไว้ที่ตรงไหน? แล้วถ้าบอกว่า ธรรมมะของทุกศาสนาก็แต่ละศาสนาสอนไม่เหมือนกันสักหน่อย เอาแค่พุทธต่างนิกายยังมีแก่นสารไม่เหมือนกัน

แล้วเป็นธรรมนิยมนี้จะหานายกฯ จากไหน? เอาพระมาเป็นนายกฯ หรือให้พระเลือกนายกฯ แล้ว ส.ส. มาจากไหน? ใครจะเข้าไปบริหารบ้านเมือง อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะอยู่กันยังไง ไอ้ธรรมนิยมที่ว่า

อ้อ แล้วต้องยกเลิกองค์กรคณะสงฆ์ ตำแหน่งนู่น นั่นนี่ของพระด้วยหรือเปล่า? เพราะนั่นก็ถือว่าเป็นการเมืองนี่นา และแม้การต่อต้านการเมืองของสงฆ์ก็ถือว่าเป็น "การเมือง" อย่างหนึ่ง -


เพราะฉะนั้น มันมีที่ไหน โลกที่ปราศจากการเมือง

เรื่องของเรื่องคือจะบอกว่า ไอ้คำพูดลอยๆ เพ้อๆ แบบที่คุณ คน ค้น ฅน หรือกะทิชอบพูด ฟังผ่านๆ ก็เหมือนจะดี เหมือนจะเคลิ้มอยู่หรอก แต่ถ้าฟังดีๆ อ่านดีๆ จะเห็นว่ามันล่องลอย ไร้หลักการ มันเพ้อเจ้อ ที่สำคัญคุณก็คงรู้อยู่แก่ใจว่ามัน FAKE ...ขอเขียน FAKE ตัวใหญ่ๆ เลยนะ

ยาวเกินไปละ ขอตัวไปหาผัวใหม่ก่อนนะ


ฟ้า (เรยา)

ป.ล. กูเบื่อความ FAKE



.

2554-05-26

ฯภาค 3 ตอนยุทธนาวี : เปลืองเปล่า และ ฮักนะ'สารคาม : ฯ ลงตัวเกินคาด โดย พน

.
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ตอนยุทธนาวี : เปลืองเปล่า
โดย พน คอลัมน์ แลหนังไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 80


เปิดฉากมาด้วยชิ้นส่วนภาพจากภาคที่แล้วทำเป็นขาวดำ นำมาพยายามเท้าความเป็นมาก่อนหน้าอย่างกระท่อนกระแท่น ชนิดที่หากไม่เคยดูภาคก่อน ก็ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ เพราะเป็นความพยายามเกริ่นนำที่ล้มเหลวด้านการสื่อสาร

คือใครไม่เคยดูก็ไม่รู้เรื่อง ส่วนใครเคยดูก็ให้รำคาญภาพพร้อมเสียงเจรจาโต้ตอบของบุคคลต่างๆ ที่นำมาเป็นชิ้นส่วนสั้นๆ นั้น

ทั้งที่การเกริ่นนำครั้งนี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยเสียงบรรยายเหตุการณ์ประกอบภาพ โดยไม่จำต้องมีเสียงเจรจาโต้ตอบของบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ตัดมาท่อนสั้นๆ บทโต้ตอบไม่มีอะไรต่อเนื่องไป จึงทำให้คนไม่เคยรู้เรื่องสับสน ขณะที่ผู้พอจะรู้เรื่องอยู่แล้วรู้สึกรำคาญ

สรุปรวบยอดเพียงแค่ว่า หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสู่สวรรคาลัย แว่นแคว้นในขอบขัณฑ์ฯ บางแห่งตีตัวออกห่าง เช่น เมืองคัง ที่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงผู้สืบราชสมบัติต่อมา โปรดเกล้าให้พระมหาอุปราช-โอรสในพระองค์ และพระนเรศวร ยกทัพไปกำราบ เมื่อพระนเรศวรสามารถยึดเมืองได้ก่อน พระมหาอุปราชที่จิตริษยาอยู่เดิมแล้ว สั่งให้พญาเกียรติพญารามขุนนางมอญหาทางลอบปลงพระชนม์พระนเรศวร

หากมหาเถรคันฉ่องผู้เปรียบประหนึ่งพระสังฆราชแห่งชาวมอญในขณะนั้น เอ็นดูนับถือพระนเรศวร ขุนนางทั้งสองจึงนำความอันองค์อุปราชแห่งหงสาวดีคิดประทุษร้ายองค์รัชทายาทแห่งอโยธยานั้น กราบถวายพระคุณเจ้าผู้ทรงคุณ เป็นเหตุให้พระนเรศวรตัดสินใจประกาศอิสรภาพเทครัวไทยคืนกลับแผ่นดิน

พระราชกรณียกิจครั้งนั้นลุล่วงเมื่อทรงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงพิฆาตสุกรรมาแม่ทัพหงสาวดีที่ยกทัพตามมาจะบดขยี้ครัวไทย

นั่นคือความก่อนหน้า ที่การเปิดเรื่องครั้งนี้พยายามปูความเป็นมา แต่เลือกวิธีสื่อไม่เหมาะ

ยังผลให้หลังจากเดินเรื่องต่อเนื่องสู่เหตุการณ์ต่างๆ หลังการประกาศอิสรภาพได้ไม่เท่าไร ก็มีเสียงกรนดังพอสถานประมาณมาจากละแวกข้างเคียงที่นั่งผม

คาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกในทางยาขมกับประวัติศาสตร์เป็นพื้นเดิมอยู่ ที่มาเสียค่าดูไม่มีลดราคาในวันพุธอย่างเรื่องอื่นๆ ในครั้งนี้อาจเพราะตามใจคนข้างเคียง



เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ว่าคือพระเจ้าหงสาวดีติดพันศึกอังวะไม่อาจนำทัพตามมากำราบอโยธยา ขณะที่ทางสมเด็จพระธรรมราชาก็ทรงวิตกว่ากำลังรบของอโยธยาด้อยกว่าหงสาวดีเป็นสิบเท่า การประกาศอิสรภาพของพระราชโอรสอาจเป็นเหตุสู่สงครามระหว่างสองอาณาจักรให้ราษฎรเดือดร้อน

ขณะเดียวกันองค์พระนเรศทรงพบว่า พระราชบิดารับพ่อค้าชาวจีนผู้เคยพำนักพักพิงอยู่ในเมืองละแวก อ้างว่ามีปัญหาถูกพญาละแวกขับออกมา จึงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเจ้าอยู่หัวแห่งอโยธยา ซึ่งองค์พระนเรศทรงเพ่งเล็งสงสัยในพญาละแวกแต่เดิมมา จึงมอบหมายให้พระราชมนูเสาะสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพ่อค้าจีนนั้น

นอกจากลีลาเดินเรื่องในทางกล่อมนิทราดังเล่าแล้ว เมื่อถึงกรณีที่พอจะตื่นเต้นขึ้นบ้างในด้านการตามสืบหาความจริงเกี่ยวกับจีนจันตุนี้ เรื่องราวที่รุดไปก็ช่างขัดความรู้สึก เมื่อปูมาให้พระราชมนูเป็นทหารเอกที่ชาวอโยธยานิยมยิ่ง เหยาะม้าย่างไปที่ใดก็มีแต่เหล่าชาวประชาชี้ชวนบอกกันไปในทางชื่นชม เทียบกับสมัยนี้ก็เป็น "ซุป(เปอร์ส)ตาร์" นั่นแหละ

การจะสืบเรื่องจีนจันตุชนิดตามเข้าไปในสำนักชำเราชาย (ผู้สร้างยืนยันว่าคำเรียกนี้ปรากฏในบันทึกโบราณจริง) ด้วยสามัญสำนึก ผู้ดูส่วนมากย่อมคาดว่าพระราชมนูน่าจะมอบหมายคนสนิทหรือหากหาใครวางใจมอบหมายหน้าที่ได้ยาก

อย่างน้อยที่สุด หากจะเข้าไปสืบความด้วยตนเอง ก็สมควรจะหาทางแปลงโฉมให้แตกต่างจากใบหน้าพระราชมนูที่ผู้คนทั่วอโยธยาแทบจะรู้จักกันหมดสิ้นแล้ว

แต่นี่หน้าตาไม่มีอะไรแตกต่าง นอกจากไม่ได้สวมชุดรบเท่านั้น และเมื่อถึงขั้นต้องทำเป็นสูบฝิ่นให้แนบเนียน ระดับทหารเอกคู่พระทัยดันสูบเข้าไปจริงๆ เพื่อจะได้ภาพไปในทางตลกว่าเมาฝิ่นทำให้การติดตามชาวยุทธ์ที่เข้ามารับข่าวลับจากจีนจันตุ เกือบเสียทีถูกฆ่า เพื่อจะได้สร้างตัวละครบ้าๆ ใบ้ๆ เข้ามาช่วยทหารเอกผู้ปรากฏนามในเพลง "ต้นตระกูลไทย"

(รุ่นใหม่ๆ คงไม่รู้จักแล้วกระมัง)


ต้นทางที่จะนำไปสู่ฉากสำคัญอันเป็นที่มาของชื่อตอน ทำให้หงุดหงิดใจได้ดังเล่ามานี้ ผู้ชมส่วนหนึ่งจึงทำใจกับฉากกองเรือรบไล่ล่าสำเภาที่จีนจันตุหนีกลับเมืองละแวก แล้วก็ออกมาไม่สมราคาชื่อตอนจริงๆ นอกจากว่าคนรุ่นใหม่จะได้เห็นว่าเรือเข้าขบวนพยุหยาตราที่เห็นหัวเรือสวยๆ นั้น สมัยก่อนใช้ออกรบจริงๆ

แต่ภาพนี้ก็เห็นกันมาแล้วแต่ครั้ง "สุริโยไท" ซึ่งฉากยุทธนาวีระหว่างชาวอโยธยาด้วยกันเอง (ฝ่ายหนึ่งมีพิษณุโลกหนุน) ครั้งนั้น ดูดีกว่าครั้งนี้เยอะ

พูดไปก็เหมือนไม่เห็นใจคนทำงานเหนื่อยยาก นี่ต้องแยกเป็นคนละเรื่อง เหนื่อยยากนั้นคนดูรู้สึกได้ ว่าฉากรบต่างๆ กว่าจะสำเร็จเสร็จออกมา คนทำอยู่ในระดับแทบเลือดตากระเด็นนั้นจริง

แต่ถ้าเหนื่อยยากเพื่อจะได้ภาพซ้ำๆ ซากๆ กับที่ทำมาแล้ว แถมแย่กว่าเก่าด้วย โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนที่ลงไปเพื่อให้ภาพเหล่านี้ มีส่วนจากงบประมาณของชาติที่ไปจากภาษีอากรประชาชนอยู่ด้วย จะไม่ให้ติติงได้อย่างไร



ผู้สร้างให้สัมภาษณ์ว่า หนังไม่ได้ทำมาปลุกระดมให้รักชาติ แค่ต้องการให้คิด

เรื่องนี้มีอะไรให้คิด ในเมื่อทั้งหมดที่เสนอออกมามีแค่ว่า หลังองค์พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ หงสาวดีส่งกองทัพเข้ามากำราบโดยบัญชาให้กองทัพเชียงใหม่เสริมอีกทางตีกระหนาบลงมาด้านเหนือ ที่สุดแล้วองค์พระนเรศวรเองทางตรัสว่าเราโชคดีที่ 2 กองทัพนั้นไม่ทันประสานบรรจบกันได้

คนดูไม่ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยยากลำบากลำบนในพระราชกรณียกิจของพระองค์ เพราะที่พอจะให้ความรู้สึกถึงพระปรีชาฯ ในการวางกลยุทธ์เอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังเหนือกว่าหลายเท่า ก็เพียงแค่คำกราบบังคมทูลต่อพระราชบิดาลอยๆ ไม่มีอะไรให้รู้สึกว่าต้องทรงตรากตรำปรึกษาหาหนทางวางกลยุทธ์กับเหล่าขุนศึกตั้งแต่พระอนุชาเอกาทศรถ เป็นต้นไป

ก็เรื่องราวคราวนี้ไปดำเนินกับชีวิตพระราชมนูเสียมาก นอกจากเกือบตายในเงื้อมมือชาวยุทธ์จีนดังเล่าแล้ว ก็ว่าด้วยชีวิตรัก เมื่อเลอขิ่นธิดาเจ้าเมืองคังที่มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกันในภาคก่อน มาพบเจ้าเสือหาญฟ้าที่ผูกสมัครรักกัน ณ เมืองคังมาแต่ครั้งยังเด็ก แล้วก็สร้างตัวละครนางพระกำนัลขึ้นมาให้สนใจซุปตาร์พระราชมนู กลายเป็นโครงเรื่องละครหลังข่าวธรรมดาๆไปเท่านั้นเอง

ผู้สร้างออกตัวว่ามีผู้ชมให้ความเห็นว่า อย่าให้เรื่องหนักนัก ขอแง่บันเทิงด้วย

ถ้าท่านลงทุนทำเองทั้งหมดก็เข้าใจได้ว่าต้องคำนึงถึงการคืนทุนในแง่ทำสินค้าชนิดหนึ่ง แต่นี่ส่วนจากภาษีอากรที่ควรจะใช้ไปเพื่อการเสริมสร้างสติปัญญาผู้คนร่วมชาติ หรือหากจะไปในทางบันเทิงก็นาจะเป็นทางด้านเสริมสร้างความรู้สึกดีๆ ในใจ อย่างเช่น เรื่องปัญญาเรณู ซึ่งไม่มีงบประมาณแผ่นดินอะไรไปช่วยตอนเขาลงทุนเลย แม้กระทรวงวัฒนธรรมจะมาช่วยบ้างภายหลังเมื่อประจักษ์ในคุณค่า โดยเหมารอบให้นักเรียนไปดู แต่ก็เทียบไม่ได้กับเงินทุนที่ทุ่มไปให้เรื่องที่ควรจะจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

เสร็จแล้วการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้คนดูกลับสู้งานเล็กๆ เหล่านั้นไม่ได้ สมควรจะให้ประชาชนอดรู้สึกไม่ได้ว่า อย่างนี้หน่วยงานรัฐน่าจะมีส่วนพิจารณาต่อเรื่องราวที่จะเสนอออกมาก่อนหรือไม่

ถ้าจะมีอะไรให้คิด ก็เห็นจะมีเพียงความงี่เง่าของนางพระกำนัลที่อยากจะเห็นว่าทหารข้าศึกใหญ่โตเป็นยักษ์มารอย่างที่ชาวบ้านพูดจาจริงหรือไม่ ทั้งที่ทหารอโยธยาก็ยืนยันแล้วว่า ไม่ได้เป็นยักษ์มาร เป็นคนที่ฆ่าก็ตายเหมือนกัน แต่นางพระกำนัลก็ยังทำเก่งในแนวแก่นแบบนางเอกหนังไทยเก่าๆ ลอบออกไปแนวหน้าให้เป็นภาระทหาร

ที่ว่าตรงนี้มีให้คิด ก็ด้วยสะกิดนิดหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้บ้านเมืองก็ใช่จะราบรื่น ชายแดนสองสามด้านมีปัญหาให้รู้อยู่ ความแตกแยกระหว่างคนในชาติมีให้เห็นอยู่ แต่ก็มีผู้ที่จริตพอๆ กับนางพระกำนัลในเรื่องนี้ ยังหลงระเริงรสหรูหรา เป็นทาสข้าวของเครื่องใช้แข่งกันว่าข้าใช้ของแพงแข่งกันในหมู่ผู้เหิมเห่อ ไร้สติปัญญาพิจารณาว่ายอมตัวเป็นทาสเสริมสร้างความสบายล้นเหลือไปให้คนทำสินค้านั้นๆ ออกมา

แต่ความคิดเช่นนี้จะมีแทรกเข้าไปในจริตชาวเหิมเห่อเช่นนั้นหรือไม่ ในเมื่อสมองมีแต่วนเวียนอยู่กับว่า ข้ามีปัญญาจับจ่ายใช้สอย ก็เรื่องของข้า ปัญหาสังคมจะล่มสลายมันไม่เกี่ยวอะไรกับข้า

กับที่ผู้สร้างบอกว่าไม่ได้ต้องการให้ลุกขึ้นมารักชาติอะไร (แต่เพลงที่ขึ้นมาเมื่อหนังจบภาคบรรยายว่า "บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเรือนคุ้มเหย้า...") แค่ต้องการให้คิด

ท่านใดคิดอะไรได้มากกว่าที่บรรยายมา ช่วยเสริมสติปัญญาให้ผู้ร่วมแผ่นดินด้วยเถิดขอรับ


++

ฮักนะ 'สารคาม : งดงามกับความลงตัวเกินคาด
โดย พน คอลัมน์ แลหนังไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 86


บ่ายวันราคาตั๋วย่อมเยา จำนวนคนดูในโรงของเรื่องนี้พอๆ กับปัญญาเรณู คือประมาณครึ่งของหนัง "กระแส" (ที่หลายเรื่องทำให้เสียดายสตางค์) เป็นภาวะที่คนทำคงทำใจแล้วสำหรับหนังพูดภาษาถิ่น

เมื่อครั้งเห็นตัวอย่างผมรู้สึกเพียงว่าคงเป็นหนังวัยรุ่นวัยเรียนอีกเรื่องที่เปลี่ยนบรรยากาศไปจับความกับภาคอีสานเท่านั้นเอง

ไม่คาดเลยว่าเมื่อจบเรื่องลงแล้ว จะกลายเป็น 1 ใน 10 หนังไทยในดวงใจไปเลย

และถ้าไม่เพราะข่าวเช้าช่อง 9 ในวันรุ่งขึ้นหลังจากเพิ่งดูหนังไป สัมภาษณ์ ผู้กำกับฯ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผมก็คงไม่รู้ว่าคือคนทำเรื่อง insect in the backyard ที่เผชิญปัญหาไม่ผ่านการอนุญาตให้ฉาย จนถึงกับต้องนำเรื่องสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมชั้นศาล

เพราะเมื่อดูประวัติของผู้กำกับฯ ผ่านทางเว็บที่เกี่ยวกับหนัง ก็กล่าวถึงเพียงหนังสั้นที่ได้รางวัลมากมาย และงานเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องอีกเล็กน้อย ไม่มีประวัติระบุถึงการเป็นผู้กำกับฯ เรื่องที่เป็นปัญหานั้น ซึ่งแม้จะเคยเห็นข่าวคราว แต่ชื่อผู้กำกับฯ ก็ไม่แนบอยู่ในความทรงจำ ดังนั้น ถึงแม้จะรู้สึกว่าชื่อผู้กำกับฯ ฮักนะฯ เรื่องนี้คุ้นตา แต่ก็ไม่ได้นึกไปถึงเรื่องนั้น

แน่นอน ผมยังไม่ได้ดูผลงานที่เป็นปัญหา และเคยให้ความเห็นไว้ในหน้านี้ว่า ผมเชื่อในวิจารณญาณของกรรมการพิจารณาอนุญาต หนังอาจจะสะท้อนความจริงที่น่าสนใจ แต่อาจจะแรงไปสำหรับจริตส่วนใหญ่ของสังคมไทย สังคมที่ส่วนใหญ่ยังยินดีแนบเงินไปกับใบขับขี่ที่ยื่นให้จราจรผู้ตรวจจับ มากกว่าจะไปยอมชำระค่าปรับตามกฎหมายที่ สน.

และต้นเค้าให้ผู้กำกับฯ "แรง" ได้ทำเรื่องนี้ มีที่มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ติดต่อ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ว่าอยากสนับสนุนการทำหนังที่สะท้อนวัฒนธรรมอีสาน ตรงนี้ไม่ทราบรายละเอียดว่า ม.สารคามติดต่อปรัชญาหลังจากบิณฑ์ลงมือทำปัญญาเรณูไปแล้วหรือไร หรือเพราะผลงานก่อนหน้าของบิณฑ์ไม่ได้ส่งเสริมให้ปรัชญาเห็นว่าน่าสนับสนุน ความตั้งใจของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ไปลงตัวตรงนั้น

และที่ปรัชญาติดต่อให้ผู้กำกับฯ คนนี้ทำ น่าจะหมายความว่าปรัชญาได้ดูหนังที่เป็นปัญหา และรู้ว่านี่คือผู้กำกับฯ ที่มี "อะไร"



ธัญญ์วาริน "กอล์ฟ" ให้สัมภาษณ์ว่าทั้งมหาวิทยาลัยทั้งปรัชญาให้อิสระเสรีตัวเขา (หรือเธอ) เต็มที่ โจทย์ที่ให้มาเป็นเพียงความต้องการสื่อวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างๆ เรื่องราวทั้งหมดกอล์ฟคิดได้เองเต็มที่ และเมื่อกอล์ฟเสนอเรื่องแนวเทียบจิตฝักใฝ่ของวัยรุ่นปัจจุบันกับวัฒนธรรมเดิม ฝ่ายอำนวยการสร้างก็ไฟเขียว

เมื่อเข้าไปสำรวจกระแสในเครือข่ายสื่อสารสากล พบว่าความสนใจต่อเรื่องนี้ห่างจากปัญญาเรณูมาก แถมเมื่อมีผู้แสดงความชื่นชม ก็มีผู้มาค้าน ต่างจากปัญญาเรณูที่หากจะมีใครเห็นค้านก็คงไม่กล้ามาออกความเห็นต่อสาธารณะ เพราะจะทำให้ตนเป็นคนส่วนน้อย (ดูไม่ดี) ไป

เหตุใดเรื่องซึ่งมีตุ๊กกี้ที่ตลาดยังชื่นชอบอยู่เป็นจุดขายนำครั้งนี้ ถึงไม่ได้รับความสนใจจากตลาดเท่าที่ควร ทั้งที่นี่เป็นหนังที่ดีที่สุดของตุ๊กกี้ ดีกว่าเจ้าหญิงขายกบไม่รู้กี่เท่า (และลดความเสียดายแทนตุ๊กกี้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในปัญญาเรณู ก็เพราะต้องให้เวลากับเรื่องนี้นั่นเอง)

ช่วยไม่ได้ที่ถึงตรงนี้ ไม่มีอะไรทำให้ผมคิดเห็นเป็นอื่น นอกจากว่า ความรู้สึกเหยียดเลือดอีสานหรือคนบ้านนอก ยังแผ่อยู่ในคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นลูกค้าหลักของโรงหนัง


ขณะที่ปัญญาเรณูเป็นเรื่องของเด็ก ความใสความซื่อก่อให้เกิดความเอ็นดูเด็ก อคติเรื่อง "บ้านนอก" ไม่ลอยตัวขึ้นมา แต่พอถึงเรื่องวัยรุ่น วัยเดียวกับกลุ่มลูกค้าหลักของโรงหนัง ความรู้สึกเหยียดวัยรุ่นชนบท (แต่ถ้าถูกถาม ก็พร้อมจะปฏิเสธเสียงแข็ง เพราะจะทำให้ดูเป็นคนไม่ดี) จึงมีผลต่อความรู้สึกปฏิเสธหนังเรื่องนี้

โลกก้าวหน้ามามากในระดับก้าวกระโดด แต่ก็ดูเหมือนจะเพียงแค่ด้านวิทยาการที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่ด้านสำนึกลึกๆ ในใจ ยังคงมีวัยรุ่นจำนวนมากรู้สึกเหยียดชาวอีสานในลักษณะที่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนจิกเรียกว่า "บักเสี่ยว"

ทุกวันนี้แม้ถ้อยเหยียดนั้นค่อนข้างจะเลือนไปจากสังคมแทบไม่เหลือ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเพียงแค่เพราะความหมายที่แท้ของคำว่า "เสี่ยว" นั้น เป็นความหมายในทางบวกอันบ่งถึงมิตรภาพ คำเหยียดที่ไม่ได้มีความหมายถูกต้องจึงเลือนไป ในขณะที่สำนึกทางหมิ่นแคลนในใจยังคงอยู่

ขณะที่อีกด้าน มี "กระแสแรง" พุ่งไปสู่เรื่องที่ยังไม่ได้เข้าโรง แต่มาจากค่ายที่ทำงานได้ไม่ผิดหวังต่อเนื่องกันมา และตัวอย่างของเรื่องใหม่ก็มีแนวโน้มว่าจะให้ความบันเทิงได้สูง เป็นเรื่องของเด็กกรุงมุ่งทางดนตรีที่กำลังเป็น "กระแส"

ในขณะที่ตัวอย่างของฮักนะฯ ไม่มีอะไรชวนให้คิดว่าจะเป็นหนังดีดังกล่าวมาแล้ว



ผู้กำกับฯ จับความเรื่องรักในวัยเรียนของวัยรุ่น 2 กลุ่ม คือที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว และกำลังสอบเข้า

บางทีฉากเปิดตัวละคร เทพ ธันเดอร์ หนุ่มนักศึกษาสถาปัตย์ ปี 2 ที่ไปทำท่าแทรกกลุ่มชาวบีบอย ได้ท่าห่างชั้นจากเหล่าวัยรุ่นผู้รักการเต้นเหล่านั้น แต่สาวกริ้ดห่างกันเป็นสิบเท่าเพราะหน้าตา อาจจะเป็นฉากตลกฝืดสำหรับคนที่ไม่ชอบเรื่องนี้ แต่สำหรับผม เห็นเป็นฉากบันเทิงที่ไม่รู้สึกรำคาญ อาจจะดูเกินจริงจงใจ แต่ก็ให้รู้สึกว่าความจงใจนั้นคือศิลปะแห่งการแฝงนัยโดยเอาความบันเทิงเข้ามาเกลื่อน

หนึ่งในความเหนือกว่าเรื่องวัยรุ่นที่ทำๆ กันออกมา

บทบาทของตุ๊กกี้ในเรื่องนี้ คือนักศึกษาปี 7 ซึ่งในที่สุดเรื่องก็เผยนัยที่เข้าท่าและประทับใจได้ดีในช่วงหลังๆ ว่า ทำไมพี่อุบลของน้องๆ คนนี้ ถึงไม่จบสักที บทของตุ๊กกี้ได้คู่หูนักศึกษาใบหน้าบ่งวัยพอกัน แต่อาวุโสเพราะเข้าเรียนช้า เนื่องจากพึ่งพาสมณเพศให้ได้เรียนหนังสือในวัยต้นมา

บทบาทของโสที่ผู้กำกับฯ เล่าว่าเพื่อนๆ ที่รู้จักเขาดี แหย่ว่าเขาเอาตัวเองมาสร้างบทนี้ เพราะโสคู่หูพี่อุบลเป็นชาวลักเพศ ได้นักแสดงหน้าใหม่ที่เป็นเพื่อนร่วมเรียนร่วมจบมหาวิทยาลัยมหาสารคามมากับตุ๊กกี้จริงๆ

มีบางความเห็นที่ชอบเรื่องนี้พอควร ติงว่า อาจารย์สมคิด สุขเอิบ ผู้รับบทคู่หูของพี่อุบล พลังการแสดงเทียบตุ๊กกี้ไม่ได้ (ตามธรรมดาของมือใหม่ที่ประกบกับผู้เจนเวที) เป็นข้อด้อยหนึ่งของเรื่องนี้ แต่สำหรับตัวผม เห็นว่าอาจารย์สมคิด (รวมกับฝีมือผู้กำกับฯ) ทำได้ดี หากจะเพิ่มพลังให้มากกว่านี้ ก็จะกลายเป็นตัวละครแนวตุ๊ดแต๋วแตกของ พจน์ อานนท์ ไป ซึ่งผมรู้สึกว่า "เว่อ" เกิน

ความบันเทิงที่ทำให้คนดูได้หัวเราะพอๆ กับปัญญาเรณู มาจากบทต่อปากต่อคำของพี่อุบลกับเพื่อนโส ที่นักศึกษาสาวผู้แอบชอบเทพเรียกคุณลุง ทั้งหมดตรงนี้อาจจะเป็นตลกฝืดอีกสำหรับผู้ที่ไม่ชอบเรื่องนี้ ในขณะที่เป็นความบันเทิงพอดีๆ สำหรับจริตผม

ฉันทาคติส่วนตัวผมอาจจะเกิดจากความเอ็นดูเหล่าหนุ่มสาวตัวเอกในเรื่องนี้ที่เว้าลาวกันมาก แม้ตัวเองจะไม่มีเลือดอีสานสักนิด ภูมิภาคที่เกี่ยวข้องแม้จะไม่ถึงกับเป็นราก ก็เห็นได้จากชื่อบัญชรที่บรรณาธิการท่านกรุณาตั้งให้ ดังนั้น ความเป็นภูมิภาคนิยมใดๆ จึงไม่มีส่วนอย่างแน่นอน จะมีก็ฉันทาคติในส่วนที่รู้สึกว่าสำเนียงถิ่นใดก็ล้วนมีเสน่ห์น่ารักไปหมด

ดูไปเกือบครึ่งเรื่อง ร่ำๆ จะรู้สึกว่า เรื่องนี้หาหนุ่มอีสานหน้าตาดีมารับบทเอกไม่ได้หรือไร พระเอกของทั้ง 2 กลุ่มจึงได้แต่พูดบางกอก กระทั่งผู้กำกับฯ ได้เฉลยความจริงบางประการที่เป็นนัยสำคัญอีกหนึ่งในเรื่อง

เป็นนัยที่บ่งถึงสติปัญญาของคนทำว่า อยู่ในระดับความหวังหนังไทยอีกคน



โครงเรื่องโครงรักของ 2 กลุ่ม จับความที่รินทร์ (อาชิรญาณ์ ภีระพัภร์กุญช์ชญา-หลวงพี่กับผีขนุน ฯลฯ) แอบชอบเทพ ขณะที่เทพไปชอบเกษ (ภาวิณี วิริยะชัยกิจ-รักโคตรโคตร ฯลฯ) สาวนักกีฬา

และทางกลุ่มนักเรียนที่กำลังกวดวิชาโดยมีพี่อุบลเป็นติวเตอร์สำคัญนั้น ภูมิกับมุกที่รักกัน สอบตรงได้ที่มหาสารคามแล้ว แต่ยังคาดหวังมหาวิทยาลัยในกรุงตามความปรารถนาของผู้ปกครองของภูมิ ขณะที่แก่นเพื่อนสนิทตั้งแต่เด็กของมุก แอบหวังอยู่ลึกๆ

จะเห็นว่าเป็นโครงรักสามเส้าที่ไม่มีอะไรใหม่ แต่ที่ทำให้เรื่องนี้รื่นรมย์ไม่มีอะไรน่าเบื่อให้ความบันเทิงผู้ชมทั่วไปได้ดี ก็เพราะผู้กำกับฯ เดินโครงไม่ใหม่แต่เป็นจริงตามธรรมชาติวัยรุ่นครั้งนี้ ได้อย่างลงตัว แทรกมุขชวนขำเป็นระยะๆ ขณะเสนอสาระชีวิตวัยรุ่นคละไปอย่างไม่ยัดเยียด

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่โดนอย่างยิ่งในครั้งนี้ คือเป็นหนังไทยที่ดนตรีและเพลงประกอบสอดคล้องกับการดำเนินเรื่องได้ถูกใจที่สุดเท่าที่เคยดูมา

หรือที่มีใครไม่ชอบเรื่องนี้ เพราะเพลงสมัยใหม่จากขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Body Slam ช่างแทรกแนวหมอลำเข้าไปได้อย่างกลมกลืนยิ่ง

ส่งผลให้อคติที่ซ่อนอยู่ในใจลอยตัวขึ้นมาปรากฏ

.

2554-05-25

สิ่งที่ซ่อนใน"ปกขาว", มนุษยนิยม"บางกลุ่ม", "แดง"ทำไมฯ, อิ่ม"รัก" โดย ทราย เจริญปุระ

.
สิ่งที่ซ่อนใน"ปกขาว"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 80


1.
ชีวิตในวัยเยาว์ของฉันนั้น นอกจากจะมีหนังสือเป็นพี่เลี้ยงสำคัญแล้ว ก็ยังมีแม่นมสำรองที่นั่งรอจังหวะจะเข้ามาประคับประคองฉันอยู่ไม่ห่าง

แม่นมนั้นคือภาพยนตร์

เหตุว่าพ่อฉันเป็นผู้กำกับหนัง ฉันเลยพลอยได้ติดสอยห้อยตามไปดูหนังไทยในโรงอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับหนังฝรั่งนั้น ฉันจะได้ดูในรูป

แบบวิดีโอที่บ้าน ในห้องทำงานของพ่อ

นอกจากพ่อฉันจะมีวิดีโอของหนังคลาสสิกหลายๆ เรื่องแล้ว พ่อก็มักจะมีหนังสือที่เล่าถึงการทำงานเบื้องหลังหรือแนวคิดสำคัญในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ วางประกอบกันไปด้วย

ทั้งที่อ่านไม่ออก แต่ภาพเบื้องหน้าเบื้องหลังในหนังสือแต่ละเล่มก็เร้าความสนใจชวนให้ติดตาม จนฉันต้องไปรบเร้าพ่อขอดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มีหลายเรื่องที่แม้ไม่เหมาะกับเด็ก แต่ฉันก็ได้ดูเพราะพ่อจะคอยอธิบายและเปรียบเทียบฉากในหนังกับภาพถ่ายในหนังสือ ให้เห็นถึงการจัดองค์ประกอบภาพ รวมถึงแนวคิดว่าทำไมต้องทำฉากนี้ออกมาเป็นแบบนั้น

ถ้าจะเปรียบเทียบกัน ก็คงเหมือนกับที่เวลาเราดูดีวีดีในยุคนี้แล้วสามารถเลือกเสียงผู้กำกับฯ มาบรรยาย ให้เราได้ฟังถึงการทำงานในแต่ละฉากนั่นเอง

ฉันดูหนังด้วยวิธีแบบนี้ด้วยความสำราญเริงใจมาตลอด

จนกระทั่งวันหนึ่ง

ฉันเห็นหนังสือเล่มนี้วางแอบอยู่ในหลืบชั้นในสุดของตู้โดยไม่มีวิดีโอประกบเหมือนเรื่องอื่นๆ หน้าปกสีขาวเด่น ประกอบด้วยชายหน้าตาแปลกๆ ที่โผล่ร่างท่อนบนพร้อมมีดในมือออกมาจากสามเหลี่ยมสีดำ และตัวหนังสือทรงแปลกตา A Clockwork Orange


2.
อเล็กซ์และเพื่อนชอบใส่ชุดขาวเหมือนๆ กัน อเล็กซ์ชอบฟังซิมโฟนี หมายเลข 9 ของบีโธเฟน อเล็กซ์ชอบนัดเพื่อนๆ ไปดื่มนม พูดคุยด้วยภาษาเฉพาะของพวกเขาเอง ทั้งหมดนั้นก็เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าจะเรียบร้อยดี

แต่ไม่ใช่เลย

พวกเขารักความรุนแรง พวกเขาปล้นชิง งัดแงะ ลักขโมย ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ฆ่า

ทุกสิ่งนั้นทำเพราะความสนุก

แต่แล้ววันหนึ่ง, ความสนุกของหัวหน้าแก๊งอย่างอเล็กซ์ก็จบลง

เขาถูกจับได้ จึงเสนอตัวเข้ารับการบำบัดแบบเอาพิษแก้พิษ นั่นคือให้เจ้าหน้าที่บำบัด ทำการบังคับยัดเยียดสิ่งที่อเล็กซ์เคยชอบให้เขาเสพรับในระดับเกินพอดี

ความรุนแรง เลือด สงคราม และภาพอันน่ากลัวมากมายถูกนำมาทำเป็นสื่อผสมเปิดพร้อมไปกับซิมโฟนีที่อเล็กซ์โปรดปราน มันถูกฉายย้ำซ้ำไปมาจนอเล็กซ์เหลือที่จะทน เขาปวดหัว คลื่นไส้ ทุกข์ทรมานจากความรุนแรงทั้งที่มันเคยเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบ

อเล็กซ์ได้รับการบำบัดเรียบร้อยแล้ว


3.
ฉันกำลังนอนอ่านหนังสืออยู่ในห้องทำงานพ่อ ตอนเจ้าของห้องกลับมาในเย็นวันนั้น

"อ่านอะไรอยู่ลูก"

ฉันยกหนังสือนิยายให้พ่อได้เห็นหน้าปก มันเป็นนิยายหนึ่งในหลายสิบเล่มที่อยู่ในตู้ด้านนอก วางอยู่บนชั้นรอให้ใครก็ได้มาหยิบอ่าน

พ่อถามว่าวันนี้จะดูหนังกับพ่อไหม

ฉันบอกไปว่าไม่


4.
ถึงวันนี้ฉันก็ไม่รู้ว่าพ่อจะเคยล่วงรู้หรือเปล่าว่าลูกสาวตัวดีของพ่อนั้นพลิกดูหนังสือปกขาวเล่มนั้นดูทีละหน้าอย่างช้าๆ พร้อมกับความรู้สึกไม่สบายใจที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ในตอนนั้นที่ฉันยังอ่านไม่ออก และไม่เคยได้ดูหนังมันก็คงเป็นเรื่องของความไม่สบายใจต่อรูปเปลือยและภาพสารพัดความรุนแรงในหนังสือเล่มนั้น

ต่อเมื่อโตแล้วและได้ดูหนัง ฉันถึงเอะใจขึ้นมาอีกเรื่อง

ฉันรู้สึกไม่สบายใจเพราะฉันรู้ว่ารูปไม่เหมาะสม แต่ฉันก็ยังคงสนุกกับการแอบดูภาพเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ฉันวางมันกลับเข้าที่ไปเลยก็ได้ และเมื่อพ่อกลับมาถามว่าจะดูหนังเรื่องไหนหรือเปล่าฉันก็ปฏิเสธไป ทั้งที่ในหัวมีแต่คำถามถึงสิ่งที่เพิ่งแอบดูไปในตอนบ่าย

ฉันรู้ว่าฉันทำผิด และทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้อย่างไรทั้งที่ฉันยังไม่เคยดูหนังเรื่องนั้นสักนิด?

และถ้าถาม, ฉันก็เชื่อว่าพ่อคงจะตอบปัญหาฉันได้กระจ่างเหมือนเช่นทุกครั้ง

หรือมันมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในภาพเหล่านั้น

บางอย่างที่บอกให้ฉันรู้ว่า หากฉันถามออกไป ฉันอาจจะกลายเป็นเด็กไม่ดี ฉันอาจจะชอบความรุนแรง ฉันอาจจะโดนทำโทษ

บนเปลือกหน้าของความเป็นเด็กดีที่ถูกอบรมอยู่ในกรอบ ลึกลงไปแล้วฉันซ่อนอะไรเอาไว้บ้าง

ฉันดีจริง หรือแค่เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยสิ่งที่เรียกว่าความดีกันแน่?

ทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่รู้

แต่ตอนนี้, หนังสือเล่มนั้นของพ่อ

มันกลายเป็นของฉันไปแล้ว

"Choice! The boy has not a real choice, has he? Self-interest, the fear of physical pain drove him to that grotesque act of self-abasement. The insincerity was clear to be seen. He ceases to be a wrongdoer. He ceases also to be a creature capable of moral choice."*

บทสนทนาจากภาพยนตร์เรื่อง A Clockwork Orange กำกับฯ โดย Stanley Cubrick (1971)


++

มนุษยนิยม"บางกลุ่ม"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 80


1.
ฉันมักจะหยิบหนังสือเล่มที่เคยอ่านจบไปแล้วมาอ่านซ้ำ

ส่วนใหญ่เพราะมีอะไรมากระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ เรื่องราว หรือตัวละครในหนังสือเล่มนั้น

บ่อยครั้งที่มันเป็นหนังสือแนวสืบสวน สอบสวน

ฆาตกรรมที่คนส่วนใหญ่อ่านได้เพียงรอบเดียวก็อ่านซ้ำอีกไม่ได้

ด้วยการรู้เสียแล้วว่าใครเป็นคนร้าย

และเหตุการณ์ทั้งหมดจะลงเอยอย่างไรนั้นบ่อนทำลายความสนุกในการอ่านไปมากโข

แต่ฉันอ่านได้ ฉันลุ้นได้ ฉันตื่นเต้นได้เหมือนเดิม

ฉันคิดว่ามันก็เหมือนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ในชีวิตเราและบนโลกนี้ ที่มักจะเกิดซ้ำซ้ำเวียนทับรอยเดิม

เปลี่ยนเพียงช่วงเวลาของเราและของโลกเท่านั้นเอง


2.
แถลงการณ์ของกลุ่มอัลกออิดะห์ แจ้งเตือนหลังการประกาศชัยชนะต่อความตายของ บิน ลาเดน กล่าวว่า

"เลือดของ บิน ลาเดน จะยังคงอยู่ ด้วยการอนุญาตของอัลเลาะห์ ผู้ทรงอำนาจเหลือคณา คำสาปแช่งจะติดตามคุกคามชาวอเมริกันและผู้ใช้อำนาจแทนพวกเขา ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศสหรัฐ"

"ความสุขสันต์จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความเศร้าโศก หยดเลือดของพวกเขาจะหลั่งหลอมรวมเข้ากับหยาดน้ำตา เราขอเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในปากีสถาน ซึ่งเป็นดินแดนที่ชีกโอซามาถูกสังหาร จงออกมาลุกฮือและก่อการปฏิวัติ"

ในครั้งที่สหรัฐอเมริกาสร้างแนวรบขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้เกณฑ์คนมาจาก 40 ประเทศ

หนึ่งในนั้นมีชายที่เรารู้จักชื่อเขาเป็นอย่างดีได้เข้าร่วมขบวนการมุญาฮีดินที่ได้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน

ชื่อของเขาคือ อุซามะห์ บิน ลาเดน

เมื่ออุดมการณ์เปลี่ยนไป มิตรก็กลายเป็นศัตรู


3.
มาริโอ เดลเวคคีโอ เป็นนักบูรณะงานศิลปะผู้ได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้ค้างานศิลป์

กิเดียน อาร์กอฟ ทำงานที่สำนักงานสอบสวนและเรียกร้องสิทธิ์ในยามสงคราม

เอฮุด ลันเดา เป็นเจ้าของห้องแสดงภาพ

เกเบรียล อัลลอน เป็นยิว เป็นสายลับ เป็นมือสังหาร

เกเบรียลเป็นได้ทั้งมาริโอ, กิเดียน และเอฮุด

ถึงตอนนี้หนังสือชุด เกเบรียล อัลลอน มีแปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว 7 เล่ม

เป็นเรื่องราวต่อเนื่องของตัวละครหลักที่เป็นสายลับชื่อ เกเบรียล อัลลอน

ก็ตามขนบทั่วไป มีความขัดแย้ง มีข้อตกลงอันไม่ลงตัว มีการตาย และมีการปฏิบัติภารกิจ

แต่เรื่องราวที่เป็นพื้นฐานของเส้นเรื่องทั้งหมดของนิยายทุกเล่มในชุดนี้นั้น เกิดมาจากความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์

ความขัดแย้งที่ใช้ความตายเป็นทั้งจุดจบและจุดเริ่มต้น

กลุ่มก่อการร้ายอาหรับจับนักกีฬาจากอิสราเอลเป็นตัวประกันในการแข่งขันโอลิมปิกที่มิวนิกเมื่อปี 1972

เมื่อตัวประกันเสียชีวิต การแก้แค้นก็เริ่มขึ้น

เกเบรียลเป็นหนึ่งในกลุ่มมือสังหาร เขาทำงานสำเร็จ

อีกไม่กี่ปีต่อมา เกเบรียลก็ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียบ้าง และเขาก็จะต้องออกไปแก้แค้นอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง

ทุกครั้ง, เกเบรียลก็จะต้องสูญเสียเช่นกัน


4.
จากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีคนตายไปกว่า 3 พันคน

เมื่ออเมริกาประกาศทำสงครามเพื่อตอบโต้ มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน

แต่ความตายของคนพวกนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ในขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ถูกเล่าย้ำซ้ำๆ ทุกปี

ชะตากรรมของลูกพี่คงสำคัญกว่าลูกจ๊อกตัวเล็กตัวน้อย ความเศร้าของพี่ใหญ่ย่อมเจ็บช้ำใจกว่าน้องเล็กอย่างนั้นหรือ?

ความเศร้ามีค่าเท่ากับความเศร้า ความสูญเสียมีค่าเท่ากับความสูญเสีย

ไม่ว่ามันจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม


5.
เรามักคิดว่าเราเป็นพวกมนุษยนิยมที่เห็นความสำคัญและความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ แต่ก็ยังคงมีหลักการมนุษยนิยมแบบนิยมมนุษย์บางกลุ่มบางพวก

-กูดื่มไอ้นี่ได้ มึงดื่มไม่ได้ ฉันนั่งย่านนี้ได้...แกจน, แกไม่ควรมานั่ง-

-คนตายที่ญี่ปุ่น คนตายที่เอธิโอเปีย, น่าสงสารนะ...คนตายที่ชายแดนภาคใต้ คนตายที่ราชประสงค์, มันอะไรกันนักหนาวะพวกนี้-

-ซีเรียอย่าฆ่าคน อิรักอย่าฆ่าคน ลิเบียอย่าฆ่าคน, แต่ถ้าไม่เชื่อเรา เราก็ส่งกองกำลังไปฆ่าคุณได้-

-อย่าใช้ความรุนแรงนะคะ สงสารเพื่อนมนุษย์, อุ๊ย แต่คนนี้กูไม่ชอบ...

ฆ่ามันเลยค่ะ


6.
หลังจากนี้ฉันอาจได้อ่านเรื่องสายลับนักสืบคนใหม่ๆ ที่มาจากประเทศอื่น

แต่ฉันเชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นก็คงจะชอกช้ำเหมือนกัน

เพราะถึงอย่างไร, สงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

และสุดท้ายเราก็คงจะไม่มีอะไรเหลือเลย

นอกจากความทรงจำอันชอกช้ำยับเยิน

..............................................
นวนิยายสายลับสืบสวน ชุด เกเบรียล อัลลอน (ภาพเขียนเลือด, บาปนักบุญ, ปมอดีต, ทวงแค้น, ผู้นำสาร, ล้างหนี้เลือด และศรัทธามรณะ) เขียนโดย Daniel Silva แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ จัดพิมพ์โดย นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี


++

"แดง"ทำไม ทำไม"แดง"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 80


1.
กรุงเทพฯ

วันฝนตกปรอยวันหนึ่ง

สาววัยรุ่นข้างฉันส่องกระจกเช็กคอนแทกต์เลนส์บิ๊กอายส์ของเธอเป็นรอบที่ร้อยก่อนถอนหายใจอย่างหงุดหงิด

"มันติดอะไรน่ะพี่"

เงียบงันกันอยู่อย่างนั้น คนขับรถตู้จึงหันมาตอบเรียบๆ ว่า

"มีชุมนุมครับ"

สาวบิ๊กอายส์ทิ้งตัวลงกับเบาะแรงๆ พร้อมกลอกตาโตสีฟ้าของเธอสู่เพดานรถ

"โอ๊ย พวกนี้แม่งชุมนุมกันอยู่ได้ รถติดรู้มั้ยเนี่ย"

เงียบงันกันไปอีกครั้ง ก่อนที่เสียงพี่คนขับรถตู้จะดังขึ้น

"ครับ"

คราวนี้, เขาไม่ได้หันมา


2.
จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง

วันเสาร์ ร้านก๋วยเตี๋ยว

เสียงประกาศจากรถตู้ดังแว่วๆ ฝ่าอากาศร้อนมาไกลๆ

เงี่ยหูฟังจับใจความแล้วแต่ยังคงกระท่อนกระแท่น

"เบื่อไหม"

ฉันงงๆ ที่อยู่ๆ ก็มีคนถามขึ้นมา แต่ฉันก็มักถูกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนทักจนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว หน้าตาฉันคงบอกถึงอารมณ์หลากหลาย เจ้าของเสียงที่เป็นหญิงวัยปลายกลางคนจึงเฉลยคำถามที่ตัวเองตั้งไว้

"เสียงรถเขามาเรียกไปชุมนุมน่ะ ที่ถามเพราะเห็นคนกรุงเทพฯ เขาเบื่อกัน"

ฉันยิ้มๆ ตอบไปทีเล่นทีจริงว่าฉันเป็นคนเมืองนนท์ ไม่ใช่คนกรุงเทพเลยไม่มีปัญหาอะไร

"น่าเบื่อเนอะ มีแต่พวกจนๆ ทำให้ชาวนาชาวไร่ดูไม่ดีกันไปหมด พี่ไม่เอาคนหนึ่งล่ะ ไปนอนรอกันตรงนั้นทำไม บ้านช่องดีๆ มีไม่ยอมนอน สงสัยจะจ้างกันมาแพง"

ก่อนที่ฉันจะตอบอะไร เสียงจากรถตู้ก็ฟังได้ชัดเจน

เขามาประกาศขายกับข้าว


3.
ใครคือเสื้อแดง

ในมุมหนึ่ง, หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาคือชาวนา ชาวนา คนจน คนจน คนขับแท๊กซี่ คนขับแท๊กซี่

เรียกง่ายๆ รวมๆ คือพวกมาจากบ้านนอก

แต่ฉันกลับพบว่ามีคนมากมายกว่านั้นที่นับได้ว่าเป็นเสื้อแดง

อาจารย์, หมอ, นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาล, นักแสดง, คอลัมนิสต์, นักโฆษณา ไปจนถึงข้าราชการ

ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้ซึ่งหลายๆ คนเชื่อว่าเป็นคนมีการศึกษา มีรายได้ดี รักประเทศชาติ รังเกียจทรราชย์และรักความถูกต้อง

แน่นอน, พวกเขาเป็นทั้งหมดเช่นที่คุณเข้าใจนั่นล่ะ

และพวกเขาก็ยังรักความคิดเสรี รักความเป็นจริง

ฟังดูธรรมดาและน่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วใช่ไหม

คำตอบคือใช่

และส่วนขยายของคำตอบนั้นก็คือ, พวกเขาก็ถูกจัดว่าเป็นเสื้อแดงเช่นกัน


4.
จาก เหตุการณ์ไม่สงบจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศลิเบีย ที่ถูกปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ผูกขาดมายาวนานโดย มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี และครอบครัวนั้นส่งผลให้มีคนเสียชีวิตไปมากมายโดยยังระบุตัวเลข ที่แน่นอนไม่ได้

"กัดดาฟีสั่งยิงคน" "กัดดาฟีปกครองควบคุมทุกอย่างในลิเบีย" "กัดดาฟีปิดกั้นสื่อ" "อยู่ในประเทศนั้นคงน่าสงสารอ่ะ" "กัดดาฟีโคตรใจร้ายเลย" "สงสารคนลิเบียที่ตายว่ะ แม่งคงไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน" "กัดดาฟีเลวเนอะ"

เป็นประโยคที่ฉันได้ยินหนาหูในช่วงนี้

กัดดาฟีสั่งยิงคน กัดดาฟีเป็นคนเลว กัดดาฟีเป็นเผด็จการ

คนลิเบียเสียชีวิตมากจนระบุจำนวนไม่ได้ เขาคงทนไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

บางที, แค่บางทีเท่านั้น ที่ฉันอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า

91 ชีวิตคงน้อยเกินไป.


++

อิ่ม"รัก"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 80


1.วันแห่งความรัก

มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไปอีกแล้วหรือวันแห่งความรัก

วันที่คนโสดไม่อยากออกไปไหน วันที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นวันของคนกำลังมีความรัก

ก็แล้วแต่จะคิด ฉันยกให้ก็ได้วันนึง เพราะฉันมีอีก364วันในหนึ่งปีที่เป็นวันของพวกไร้คู่เช่นฉัน

ชนะกันเห็นๆ

แต่ก็เป็นวิธีคิดแบบทำลายตัวเองและประชดแดกดันกันเป็นอย่างยิ่ง


2.สิ้นหวัง

ระหว่างนั่งกินเหล้ากับผู้ร่วมโต๊ะที่คุ้นเคยก็เกิดความเงียบขึ้นมาระหว่างบทสนทนาอันเซ็งแซ่

และก่อนที่ความเงียบจะจากไป, ใครบางคนในนั้นก็ถามขึ้นมาว่า

"อย่างพวกเราเนี่ย, Desperateมั้ยวะ?"

แม้คำนี้จะแปลให้สละสลวยได้หลายอย่าง แต่คำแรกที่วาบเข้ามาในหัวฉันก็คือ "สิ้นหวัง"

เราพยายามไขว่คว้าอะไรที่ไม่มีจริงหรือเปล่า

เราเปล่าเปลี่ยวกันถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

หรือเรามีดวงดาวแห่งความรักอันอับโชคเป็นดาวประจำชีพกันทุกคน เราจึงมาเจอกัน

และตั้งข้อสงสัยร่วมกัน

เรื่องรักของคนเรานี่ก็มักจะแปลกๆ เวลาเรานึกว่าชีวิตรักเรานี่ล่ะมันบัดซบที่สุดแล้ว ก็จะไปค้นพบความบัดซบชวนใจสลายยิ่งกว่าจาก

ใครบางคนที่อาจรู้จักกันมาเนิ่น นานแต่ไม่เคยได้ถาม


3.อิ่ม มนต์ รัก

ลิซ กิลเบิร์ต เป็นผู้หญิงที่ไม่ประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ และรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเอาเสียเลย จึงหย่าจากสามีเพื่อไปตามหาตัวเองในอิตาลี, ไปสวดมนต์ในอินเดีย และไปพบรักที่บาหลีในที่สุด

นี่คือเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งฉันรู้สึกว่าชื่อหนังสือตั้งขึ้นมาได้ดีกว่าเนื้อหา

ฉันคงเป็นคนหยาบคายพอดู ถึงไม่ได้รู้สึกละเมียดละเอียดอ่อนไปกับหนังหรือหนังสือเรื่องนี้

ไม่รู้ซี, โดยส่วนตัวแล้วมันเหมือนเป็นผลงานที่ได้มาจากการเข้ากลุ่มบำบัดอาการไม่นับถือตัวเองของผู้เขียน เรื่องมันถึงได้ออกมาเป็นเรื่องของฉัน ฉัน ฉันอยู่ตลอดเวลา

แต่ก็อีก เขาอาจจะรู้จักตัวเองมากกว่าใครจนไม่สามารถจะเขียนถึงชีวิตของคนอื่นก็เป็นได้

ที่น่าสนใจคือมันเป็นหนังสือที่โด่งดัง

เพราะคนเราชอบความฝันหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่องฝันๆ แบบนี้ถึงขายดิบขายดี

Eat, Pray และ Love

สามสิ่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหนี่ยวรั้งใจคนและทำลายคนได้มากที่สุดพอพอกัน

เราต้องการสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเองเพื่อขับเคลื่อนตัวเราไปข้างหน้า

นึกถึงคนที่คลั่งลัทธิอะไรซักอย่างสิ

นึกถึงคนที่ควบคุมการกินของตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเกินไปสิ

นึกถึงคนที่ตายสังเวยรักสิ

คนเหล่านั้นน่าจะมีจำนวนมากพอกับคนที่ประสบความสำเร็จจากทั้งสามสิ่งนี้เช่นกัน

มันช่างดูเรียบง่ายและเป็นกิจกรรมสุดแสนจะธรรมดาพื้นฐานของมนุษย์

แต่หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง คนก็มักจะไปสุดโต่งกับอีกสองสิ่งที่เหลือ จนในที่สุด ก็จะนำพาชีวิตไปสู่ความพังทลายอยู่ดี

หรือทั้งสามอย่างต้องทำไปพร้อมๆ กัน

สวดมนต์ขอให้เราอิ่มกับความรักเสียที

หรือขอให้เราอิ่มในรัก และผันตัวไปเฝ้าภาวนาเพื่อการเยียวยาให้จิตใจเจ็บปวดน้อยลง กับอะไรก็ตามที่เข้ามาในชีวิต

..............................................
"อิ่ม มนต์ รัก" (Eat Pray Love) เขียนโดย อลิซาเบต กิลเบิร์ต แปลโดย เมวิตา วงษ์วิเชียรชัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาไทย พ.ศ.2553 โดยสำนักพิมพ์มนตรา


.

2554-05-24

ล่าชื่อนักเขียนแก้ ม.112 หยุดใช้คดีหมิ่นฯปิดกั้นเสรีภาพการเมือง

.

"ปราบดา-เพื่อนนักเขียนซีไรต์" นำทัพคนวรรณกรรมรุ่นใหม่ล่าชื่อนักเขียนแก้ ม.112 หยุดใช้คดีหมิ่นฯปิดกั้นเสรีภาพการเมือง


จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ


เรื่อง: ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง


เพื่อนนักเขียนทุกท่าน เรา - นักเขียนผู้มีรายชื่อในท้ายจดหมายฉบับนี้ เชื่อว่าท่านคงเห็นด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น คือหัวใจสำคัญของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนผู้ทำงานเขียนเพื่อเลี้ยงชีพ หรือเป็นนักเขียนผู้ผลิต “งานสร้างสรรค์” ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนผู้มีอุดมการณ์ ศรัทธา และความเชื่อส่วนตัวเช่นไร เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นที่เอื้อให้นักเขียนทุกคนทุกแขนงในสังคม ได้มีพื้นที่ มีอิสรภาพ และมีโอกาสในการพัฒนาทั้งคุณภาพผลงานและทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยเท่าเทียมกัน


เมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอน สถานภาพของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตยย่อมตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอนไปด้วย ผลกระทบเบื้องต้น คือการหยุดชะงักของโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความคิด และการสร้างสรรค์งานเขียน เนื่องเพราะถูกจำกัดขอบเขตการแสดงออกและการสานต่อทางปัญญา ผลกระทบขั้นรุนแรงกว่าคือการต้องใช้ชีวิตและทำงานภายใต้บรรยากาศอันมืดมิด ภายใต้ความหวั่นวิตกถึงการสูญเสียสิทธิ สูญเสียอิสรภาพอย่างไม่เป็นธรรม และหวาดกลัวต่ออันตรายที่อาจเกิดกับตนเองและครอบครัว


สังคมไทยขณะนี้ มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย มีการใช้มาตราดังกล่าวในการข่มขู่คุกคาม กระทั่งฟ้องร้องดำเนินคดี คุมขังและลิดรอนอิสรภาพของประชาชนผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวล่วงสู่สภาวการณ์ที่เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นถูกคุกคามอย่างอยุติธรรมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากความกังวลในฐานะประชาชนที่อาจต้องเผชิญกับการคุกคาม เราในฐานะนักเขียน ย่อมมิอาจนิ่งดูดายและปล่อยให้หัวใจสำคัญของการเป็นนักเขียนและการทำงานเขียนภายใต้สังคมประชาธิปไตย ต้องตกอยู่ในวิกฤตเช่นนี้


ข้อความสั้น ๆ ของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กล่าวว่า: “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกนำมากล่าวอ้างกล่าวหาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อข่มขู่ ฟ้องร้อง และคุมขังประชาชน หลายครั้งเป็นการตีความกฎหมายโดยกว้าง เช่น แม้แต่การไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีก็กลายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นได้ นอกจากนั้น กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ยังได้ฉวยใช้ความรู้สึกต่อองค์พระมหากษัตริย์ของคนทั่วไป มารวบรัดขั้นตอนการดำเนินคดี ไม่ดำเนินคดีตามกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมาย หากแต่เป็นการดำเนินคดีตามอำเภอใจ เช่นสั่งให้มีการไต่สวนโดยปิดลับ และห้ามสื่อมวลชนทำข่าวจนกระทั่งบัดนี้ แม้แต่สื่อมวลชนและนักวิชาการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐบาล ซึ่งอภิปรายเรื่องการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นวิชาการ ยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน


หลายกรณีที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” อย่างไร นอกจากเป็นเพียงแต่การพยายามนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยเหตุผลและข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยกิริยาและวาจาที่อยู่บนมาตรฐานของมนุษย์ผู้มีอารยธรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงทัศนะที่เกิดจากเจตนารมณ์อันดีต่อสถาบันกษัตริย์และสังคมไทย เป็นการนำเสนอแนวทางที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว มิได้ลบหลู่ล่วงเกิน หรือต้องการ “ล้ม” สถาบันแต่ประการใด


บรรยากาศของความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคม และพฤติกรรมคุกคามโดยคนบางกลุ่ม เช่น ทหารไทยที่ออกมาตบเท้าข่มขู่ประชาชนและฟ้องร้องนักวิชาการ ตอกย้ำให้เราตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นประเด็นทบทวนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชนถดถอยล้าหลัง ก้าวย่างไปสู่ยุคมืด หรือถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงในที่สุด


ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องแยกแยะ “การล้มสถาบัน” ออกจากการอภิปรายเพื่อนำไปสู่เสถียรภาพทางสังคมในระยะยาว และการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดของประชาชน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ในฐานะประชาชนชาวไทยผู้มีความเป็นห่วงและกังวลต่อสภาวการณ์บ้านเมืองภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว และในฐานะนักเขียนไทยผู้หวงแหนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เราต้องการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนการนำแนวทางที่ปัญญาชนบางกลุ่มบางท่าน (เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มอื่นๆ) ได้เสนอแนะไว้ในหลายวาระ ขึ้นมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทย


นอกจากนี้ เราต้องการเรียกร้องให้ผู้ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้างในการแสดงบทบาทและวางอำนาจทางการเมือง เช่น ทหาร ได้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง หากความสงบสุข ความสามัคคี และความเป็นธรรม คือสิ่งที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ใจ


ในสังคมประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเชื่อและความคิดเห็นที่แตกต่าง คือกระบวนการที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการอยู่ร่วมกัน และช่วยบรรเทาความรุนแรงของความขัดแย้งที่สามารถบังเกิดตามธรรมชาติของสังคม การประนีประนอมนั้นมิได้เกิดจากความกลัว หากแต่เกิดจากการฝากความหวังไว้กับการเรียนรู้ของประชาชน และฝากความเชื่อมั่นไว้กับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน หากเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชนถูกคุกคามและสั่นคลอน ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบอบประชาธิปไตยและต่อประเทศของตน ย่อมสั่นคลอนเสื่อมถอยอย่างไม่ต้องสงสัย


เพื่อนนักเขียนที่เคารพทุกท่าน เรา - นักเขียนผู้มีรายนามในท้ายจดหมายนี้ ต้องการเรียกร้องให้มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อความมั่นคงของประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เพื่อความยืนยงของสถาบันกษัตริย์ และเพื่ออนาคตของประเทศชาติ


เรา - นักเขียนผู้มีนามต่อท้ายจดหมายฉบับนี้ มั่นใจว่าเพื่อนนักเขียนทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และหากท่านเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง เห็นด้วยว่าต้องยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราขอเรียนเชิญให้ท่านร่วมแสดงออกกับเราในครั้งนี้ ด้วยการลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในฐานะนักเขียน เราย้ำว่าเสียงของท่านมีความสำคัญกับผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอย่างไม่ยุติธรรมทุกคน ทั้งในอดีต และในอนาคต เราขอให้ท่านสละเวลาลงชื่อเพื่อร่วมเรียกร้องด้วยกันกับเรา ตามช่องทางที่ระบุไว้ท้ายจดหมายฉบับนี้


19 พฤษภาคม 2554

บินหลา สันกาลาคีรี
ปราบดา หยุ่น
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
ซะการีย์ยา อมตยา
กิตติพล สรัคคานนท์
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
วาด รวี


อัพเดตรายชื่อผู้ร่วมลงนาม ... ( ถึง: อังคาร 24 พฤษภาคม 2554 เวลา 21:02:28 น. )

1. กฤช เหลือลมัย
2. สุเจน กรรพฤทธิ์
3. กวีอราสุ
4. ธีรภัทร เจริญสุข
5. พรสุข เกิดสว่าง
6. สานุ อร่ามเอกวนิช
7. สรายุทธ์ ธรรมโชโต
8. นงลักษณ์ หงส์วิเศษชัย
9. เฉลิมพันธุ์ หวันชิตนาย
10. เดือนวาด พิมวนา

11. ประกาย ปรัชญา
12. นพดล ปรางค์ทอง
13. นพรุจ หิญชีระนันทน์ (แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า)
14. กิตติกา บุญมาไชย
15. ภาณุ มณีวัฒนกุล
16. วิจักขณ์ พานิช
17. เกียรติศักดิ์ ประทานัง (ปั้นคำ)
18. สฤณี อาชวานันทกุล
19. ชญานิน เตียงพิทยากร
20. ทองธัช เทพารักษ์

21. “ผาดไหม”
22. อธิฌลา (อันธิฌา ทัศคร)
23. ดาราณี ทองศิริ
24. นิติพงศ์ สำราญคง
25. ศรัทธา แสงทอน
26. สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล
27. วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
28. ปราย พันแสง
29. คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์
30. บุญชิต ฟักมี

31. สิทธา วรรณสวาท
32. นิศากร แก่นมีผล
33. อาทิชา ตันธนวิกรัย
34. ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ (มน. มีนา)
35. การะเกตุ ศรีปริญญาศิลป์ (การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์)
36. วรัญญู อินทรกำแหง
37. พิชญา โชนะโต
38. พีระ ส่องคืนอธรรม
39. วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ
40. พิเชฐ แสงทอง

41. คำ ผกา
42. โคจร สมุทรโชติ
43. ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
44. วิชัย ดวงมาลา
45. แก้วตา ธัมอิน
46. พิรุณ อนุสุริยา
47. พณ ลานวรัญ
48. ธิติ มีแต้ม
49. ธาริต โตทอง
50. ภูมิภัทร์ สงวนแก้ว

51. ณัฐชา วิวัฒน์ศิริกุล
52. มหรรณพ โฉมเฉลา
53. รวิวาร โฉมเฉลา
54. ปิยะพันธ์ เลิศคุณากร
55. นฤพนธ์ สุดสวาท
56. ณภัค เสรีรักษ์
57. ธนะ วงษ์มณี
58. อนุพงษ์ เทพวรินทร์
59. จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
60. ระยิบ เผ่ามโน

61. อรุณรุ่ง สัตย์สวี
62. รางชาง มโนมัย
63. ภู กระดาษ
64. มัคคุเทศก์ทางวิญญาณ
65. รน บารนี
66. ธีร์ อันมัย
67. วิวัฒน์ เลิศฯ (วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา)
68. มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม
69. พรพิมล ลิ่มเจริญ
70. ก่องแก้ว กวีวรรณ

71. กตัญญู สว่างศรี
72.หรินทร์ สุขวัจน์
73. สมหวัง ดังพ่อตั้งจิต
74. คาล รีอัล
75. กฤชวัชร์ เตชะวณิย์
76. ชานันท์ ยอดหงษ์
77. นราวุธ ไชยชมภู
78. จรัส โฆษณานันท์
79. อนันต์ เกษตรสินสมบัติ
80. วิวัฒน์ จ่างตระกูล (Wiwat Chang)

81. โอปอล์ ประภาวดี
82. วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
83. ภัทรภร วาดกลิ่นหอม
84. ภัควดี วีระภาสพงษ์
86. อำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล
87. อาทิตย์ ศรีจันทร์
88. สิรนันท์ ห่อหุ้ม
89. ทินกร หุตางกูร
90. อธิคม คุณาวุฒิ

91. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
92. กันต์ธร อักษรนำ
93. อโนชา ปัทมดิลก
94. วิสัย เร็วเรียบ
95. รชา พรมภวังค์ (ลือชา กิจบำรุง)
96. กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล
97. ชัชชล อัจนากิตติ
98. อติภพ ภัทรเดชไพศาล
99. วิทวัส จันทร์ก้อน
100. นิวัต พุทธประสาท

101. เรืองเดช จันทรคีรี
102. วิภาส ศรีทอง
103. เด็ดเดี่ยว เหล่าสินชัย
104. ไกรวุฒิ จุลพงศธร
105. ธเรศ นวลศิริ
106. นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
107. วัชรัสม์ บัวชุ่ม
108. เมดินา อดุลยรัตน์
109. ตรีมีซีย์ ยามา
110. คันฉัตร รังสีกาญจนส่อง

111. แอลสิทธิ์ เวอร์การา
112. เวียง-วชิระ บัวสนธ์
113. ธนรรถวร จตุรงควาณิช
114. วรชัย เพชรคุ้ม
115. อุทิศ เหมะมูล
116. จันทร์เคียว ปริยา รัตนโยธา
117. วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล
118. จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
119. รัชตะ อารยะ
120. รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

121. แพร จารุ
122. ณขจร จันทวงศ์ (อังตวน)
123. มงคล โรจนวิสุทธิกุล
124. นพพล โสภารัตนาไพศาล
125. วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์
126. รัชดา อุษณกร
127. วรวิช ทรัพย์ทวีแสง
128. สมศรี ตรังคสันต์
129. อรวรรณ ตรังคสันต์
130. ภาณุ ตรัยเวช

131. รุเธียร (วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์)
132. ภู เชียงดาว
133. ประชา แม่จัน
134. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
135. ณัฐวัจน์ สุจริต
136. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
137. อารีรัตน์ โก
138. หริศ ทัดมาลัย
139. ปรีดีโดม พัฒนชูเกียรติ
140. เนตรนภิส วรศิริ

141. ฉัตรนคร องคสิงห์
142. เบญจมาส วินิจจะกูล
143. จู พเนจร
144. ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์
145. ณรรธราวุธ เมืองสุข
146. A.L. Nawaf (นาวัฟ มะมิง)
147. ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
148. Travis Bickle
149. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
150. ไมเคิ้ล เลียไฮ

151. สังคม ศรีมหันต์
152. กานต์ ณ กานท์
153. สมอล์ล บัณฑิต อานียา
154. กิ่งกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ (วาดวลี)
155. คำสิงห์ ศรีนอก
156. วัฒน์ วรรลยางกูร
157. ทองขาว ทวีปรังษีนุกูล
158. Homo erectus
159. เพียงคำ ประดับความ
160. ชัยพร อินทุวิศาลกุล

161. ชัชวาลย์ โคตรสงคราม
162. วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข
163. วิโรจน์ อิชยาวิโรจน์
164. พินิจ นิลรัตน์
165. อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ
166. lily CU
167. สหรัฐ ศราภัยวานิช
168. มาโนช พรหมสิงห์
169. สุจิตต์ วงษ์เทศ
170. มนตรี ศรียงค์

171. ปฐวี วิรานุวัตร
172. ฮวงซีเนี้ย
173. เทพวุธ บัวทุม
174. ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต
175. วรเทพ อรรคบุตร
176. ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
178. วริษฐ์ บูรณปัทมะ
179. วรุจ ประสพดี
180. พัชระ นิรันด์กาล

181. ริยานันท์
182. กฤตพจน พงศ์ถิรประสิทธิ์
183. ขวัญพร เจริญยิ่ง
184. ศิริวร แก้วกาญจน์
185. ประพัทธ์ จิวรังสรรค์
186. มาลัย 'อิสรา
187. อาณัติ แสนโทน
188. อะตอม (คอมเมนเตอร์จากประชาไท)
189. รอมแพง อริยมาศ
190. mm (คอมเมนเตอร์จากประชาไท)

191. From Hell
192. เรืองรอง รุ่งรัศมี
193. โมน สวัสดิ์ศรี
194. วรรณา สวัสดิ์ศรี (ศรีดาวเรือง)
195. สุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง)
196. นาโก๊ะลี
197. อุรุดา โควินท์
198. จักรกลจินตนาการ
199. ธันย์ชนก นาควิโรจน์
200. กิ่งฟ้า เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ( ควันบุหรี่ )

201. วรารัตน์ กระแสร์
202. อัจฉริยะ ใยสูง
203. วิชิดา ภูมิสวัสดิ์
204. ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
205. น้ำเพชร เชื้อชม
206. ชัยปภัส ไวรักษ์
207. ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
208. รุจ ธนรักษ์
209. ณัฏฐา มหัทธนา
210. ชมพร ไชยล้อม

211. ปิยนารถ ธรรมวัฒนะ
212. เด็ด จงมั่นคง
213. ปิยกุล ภูศรี
214. วรธาร พึ่งแก้ว
215. จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
216. นฤมล สารากรบริรักษ์
217. อรรถกฤษณ์ มหาเกตุ
218. ธัช ธาดา
219. กฤศ ภู่จันทร์ธร
220. เบญญภา อิ่มพร

221. สุจิตรา อุ่นเอมใจ
222. สนานจิตต์ บางสพาน.
223. กัญญา มีบำรุง
224. ลัดดา สงกระสินธ์
225. รมิดา ตาฬวัฒน์
226. สมิทธิ ธนานิธิโชติ
227. วจีหน้ากาก
228. สิรินทร์ เรืองวัฒนไพศาล
239. ไพสิฐ พันธฺุพฤกษชาติ
230. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

231. ปาลิดา ประการะโพธิ์
232. มนต์สวรรค์ จินดาแสง
233. วิษณุ อินเหมย
234. วรวดี วงศ์สง่า
235. อัญชลี อุชชิน
236. ชาญชนะ หอมทรัพย์
237. สุขุมพจน์ คำสุขุม
238. เป็ดสววรรค์ (Funniest Blogger :bloggang.com)
239. กะว่าก๋า (วีระกิจ อัชรีวงศ์ไพศาล)
240. กานต์ เกรันพงษ์

241. ภาวิดา ลีภาพันธ์
242. แสงดาว ศรัทธามั่น
243. มาลานชา
244. เมธี
245. วรชัย เพชรคุ้ม
246. ธัญลักษณ์ บุญสัมฤทธิ์

หมายเหตุ – ท่านสามารถติดต่อลงชื่อได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

1. ติดต่อกับเจ้าภาพทั้งเจ็ดโดยตรง
2. อีเมล thaiwriteranti112@rocketmail.com
3. http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=3668.0
อัพเดตรายชื่อผู้ร่วมลงนามในเวบไซต์ www.thaipoetsociety.com
4. แฟกซ์: ถึง วาด รวี ที่เบอร์ 02 439 3536
5. จดหมาย: วารสารหนังสือใต้ดิน 825/666 หมู่ 1 ประชาอุทิศ ทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140
6. facebook: UndergroundBuleteen Thailand

*******
.