http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-31

การระส่ำระสายในโลกาภิวัตน์, ระบบนิเวศกับพลังงาน, การใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลังฯ โดย อนุช อาภาภิรม

.

การระส่ำระสายในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 38


โลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ต้องมีผู้แสดงสำคัญทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือตำรวจโลกเพื่อคอยดูแลรักษาระเบียบโลกนี้ไว้ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และวัฒนธรรม ศูนย์กลางของโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐซึ่งเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งและมีแสนยานุภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

กล่าวกันว่าจักรวรรดิยิ่งใหญ่แบบนี้จะมีแต่สหรัฐที่เดียว หลังจากนี้ไปแล้วก็ยากที่จะมีประเทศใดมีอำนาจเท่ากับสหรัฐได้อีก

แต่ถึงกระนั้น จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งที่สุดก็ต้องอ่อนเปลี้ยลง เหมือนกับจักรวรรดิอื่นเช่นจักรวรรดิโรมันในอดีต

ความอ่อนแอล่มสลายของจักรวรรดิทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง (กล่าวตาม จาเรด ไดอะมอนด์) ได้แก่

1) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งในสมัยใหม่อาจรวมมลพิษ

2) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งสมัยปัจจุบันรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

3) เพื่อนบ้านที่เป็นอริศัตรู

4) คู่ค้าสำคัญเกิดล่มสลาย

5) การไม่สามารถปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาสังคมได้

6) สำหรับสมัยใหม่ ยังมีการขาดแคลนพลังงาน และเราสามารถเพิ่มเติมเหตุปัจจัยอื่นอีก เช่น ค่าใช้จ่ายทางทหารเพื่อรักษาจักรวรรดิสูงจนเกินผลได้ การใช้จ่ายเกินตัวของทุกภาคส่วนจนเกิดวิกฤติหนี้ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในจักรวรรดินั้น เนื่องจากไม่ยอมทนให้ทรัพยากรและความมั่งคั่งถูกปล้นไปต่อหน้าได้อีก

ในที่นี้จะกล่าวเน้นในเรื่องการขาดแคลนพลังงาน แสนยานุภาพที่มีความจำกัด และการอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก่อให้การการระส่ำระสายไปทั่วโลก



ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน มีอยู่ 3 ศูนย์ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่รวมตัวกันภายใต้การนำของสหรัฐ นั่นคือศูนย์กลางอื่นยากที่จะมีนโยบายต่างประเทศแยกไปจากของสหรัฐ

การรวมตัวที่สำคัญได้แก่กลุ่ม 7 (G7) ซึ่งได้ขยายตัวออกไปเป็นโออีซีดีหรือสโมสรประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับยุโรปและสหรัฐที่เป็นพันธมิตรแอตแลนติกมีการรวมตัวกันที่สำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป ซึ่งในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก และองค์การนาโต้ ที่มีค่าใช้จ่ายทางทหารเกือบร้อยละ 70 ของโลก

ศูนย์กลางทั้งสามมีอิทธิพลเหนือองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ องค์การการค้าโลก เป็นต้น และอาจรวมองค์การสหประชาชาติในระดับที่แน่นอน

การเป็นศูนย์กลางโลกนี้ เป็นทั้งด้านการค้าตลาดโลก การเงิน การลงทุน การทหาร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมไปถึงทางวัฒนธรรม

ศูนย์กลางดังกล่าวเป็นแกนให้แก่ประเทศอื่นได้เข้ามาเกาะเกี่ยวเพื่อการพัฒนาประเทศของตน

ศูนย์กลางดำรงอยู่โดยมีชายขอบ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีความเจริญหรือมีอำนาจน้อยกว่าต้องติดต่อพึ่งพากับศูนย์กลาง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่อยู่ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ ที่มีอำนาจหรือความเจริญพอสมควร ทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ช่วยธำรงรักษาระบบ และการเข้ามาท้าทายอำนาจจากศูนย์กลาง ได้แก่ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่สำคัญได้แก่กลุ่มบริกส์ ประกอบด้วย จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ และยังสามารถนับ อินโดนีเซีย ตุรกี อิหร่าน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เข้าด้วย

ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มั่งคั่งขึ้นเมื่อน้ำมันราคาแพง ได้กลายเป็นศูนย์การเงินและจุดเดือดใหญ่ของโลก ประเทศในละตินอเมริกา และทวีปแอฟริกาก็ได้ถีบตัวสูงขึ้น

ทั้งหมดทำให้ภาพศูนย์กลางโลกาภิวัตน์เริ่มพร่ามัว



เมื่อสหรัฐ-ศูนย์กลางโลกาภิวัตน์อ่อนแรง

กล่าวได้ว่ายุคทองของสหรัฐได้สิ้นสุดในทศวรรษ 1970 ในทศวรรษนี้ เราได้เห็นการทรุดตัวอย่างรอบด้านของสหรัฐ คือ

1) การผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุดในปี 1970 ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน ทั้งนี้ เพราะเห็นได้ว่าการขึ้นสู่การเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐเกิดจากแสนยานุภาพ และการผลิตทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อาศัยน้ำมันราคาถูกของตนเป็นส่วนสำคัญ ในช่วงทศวรรษ 1930 สหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ซึ่งระบาดไปทั่วโลก แต่ในสมัยนั้นสหรัฐยังมีน้ำมันเหลือเฟือ ช่วยให้สามารถฟื้นตัวขึ้นใหม่ได้ แต่ในครั้งนี้เกิดความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่ง

2) การเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์เข้ากับทองคำในปี 1971 สมัยประธานาธิบดีนิกสัน ซึ่งเป็นการทิ้งความตกลง เบรตตัน วูด ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพการเงินโลก มีผลให้ค่าเงินดอลลาร์ลดฮวบ และโลกเข้าสู่ยุคธนบัตรกระดาษ ส่งเสริมการเก็งกำไรหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

3) การประสบวิกฤติน้ำมันปี 1973 จากการที่กลุ่มโอเปกงดส่งน้ำมันให้แก่สหรัฐและพันธมิตร จนมีข่าวว่าสหรัฐคิดอย่างจริงจังที่จะใช้กำลังเข้าไปยึดทุ่งน้ำมันในตะวันออกกลาง ผลที่เห็นได้คือ สหรัฐค่อยๆ สูญเสียการควบคุมทุ่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียอันเป็นแหล่งสำรองน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 1973 ให้ซาอุดีฯ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทอะรามโกของสหรัฐ (Arabian American Oil company-ARAMCO) ร้อยละ 25 และปี 1980 ซื้อหุ้นส่วนทั้งหมดร้อยละร้อย และตั้งเป็นบริษัทอะรามโกของซาอุดีฯ (Saudi Arabian Oil Company) ในปี 1988 โดยควบคุมการบริหารจัดการและด้านเทคนิคทั้งหมด

4) การพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามปี 1975 แสดงความจำกัดของแสนยานุภาพในการเอาชนะสงครามประชาชน

5) การเริ่มเสียเปรียบดุลการค้าตั้งแต่ปี 1975 ปี 1975 ถือว่าเป็นปีสุดท้ายที่สหรัฐได้เปรียบดุลการค้ามูลค่าหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นได้เริ่มเสียเปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น การเสียเปรียบดุลการค้าหมายถึงการสูญเสียความเหนือกว่าทางการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม นำมาสู่การเสียเปรียบดุลงบประมาณ เกิดหนี้ภาครัฐบาลทับถมมากขึ้นจนเป็นวิกฤติใหญ่ในขณะนี้

6) การปฏิวัติอิหร่านปี 1979 และการที่สถานทูตสหรัฐถูกบุกยึด จับตัวเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐเป็นตัวประกัน เป็นการสูญเสียแหล่งน้ำมันใหญ่และพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลาง ทำให้ภูมิภาคนี้ไม่อาจไว้วางใจได้อีกต่อไป

วิกฤติต่างๆ ที่สหรัฐเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้น กล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการอ่อนแรงในทศวรรษที่ 1970 แต่รุนแรงกว่า เช่น การผลิตน้ำมันได้ลดน้อยลง จำต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยจนในปัจจุบันตกราวร้อยละ 60 ของที่บริโภค การสงครามในทศวรรษ 1970 สหรัฐเกี่ยวข้องกับสงครามที่เวียดนามเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันก่อสงครามถึง 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ลิเบีย เยเมน ค่าใช้จ่ายทางทหารก็สูงกว่ากันมาก การขาดดุลการค้าก็เพิ่มขึ้น

จนในปี 2010 ขาดดุลการค้าราว 761.5 พันล้านดอลลาร์ การแปรเศรษฐกิจเป็นแบบการเงิน เร่งการเก็งกำไร ก่อให้เกิดฟองสบู่ใหญ่ขึ้น เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในปี 2008 ก็ลามเข้าสู่สถาบันการเงินอย่างรวดเร็ว



ความระส่ำระสายในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน

ผลสำคัญ หากจะสรุปเป็นประโยคเดียวก็คือ กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นแรงขึ้น การเป็นแบบท้องถิ่น (Localization) เป็นด้านตรงข้ามของโลกาภิวัตน์ และดำรงอยู่คู่กัน ในช่วงที่กระแสโลกาภิวัตน์แรง เช่น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 การเป็นแบบท้องถิ่นก็ดำรงอยู่เหมือนเป็นเครื่องพ่วงแก่โลกาภิวัตน์ กระแสการค้าข้ามพรมแดน การเปิดเขตความตกลงการค้าเสรีก็จะสูงตามไปด้วย

แต่นับแต่ย่างขึ้นศตวรรษที่ 21 กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นสูงขึ้น ท้าทายต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เกิดการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมเอาลัทธิชาตินิยมแก่กล้าไว้ด้วย ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติ 2008 ก็เกิดกระแสต้านรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลจากศูนย์กลางอ่อนลง เปิดให้ชายขอบได้มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น กระแสการเป็นแบบท้องถิ่นนี้มีทั้งที่เป็นขวาจัด ไปจนถึงฝ่ายซ้าย

จะยกตัวอย่างกระแสดังกล่าวตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างย่อๆ ดังนี้

1) การเคลื่อนไหว เช่น Tea Party ในสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัด และการต่อสู้ของพนักงานรัฐที่รัฐวิสคอนซิน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านสงครามและโลกาภิวัตน์ที่เป็นปีกซ้าย การต่อสู้เหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นเพื่อรักษาฐานะชนชั้นกลางของตนไว้ เนื่องจากถูกทำลายโดยลำดับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และอย่างรวดเร็วตั้งแต่วิกฤติ 2008

2) การต่อสู้ของประชาชนที่ไอร์แลนด์ กรีก สเปน และโปรตุเกส เป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ของประชาชนในยุโรปที่ต้องว่างงาน ค่าครองชีพสูง และรัฐบาลตัดงบประมาณเพื่อแก้วิกฤติ 2008 การต่อสู้ครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นโค่นรัฐบาล เช่นในไอร์แลนด์และโปรตุเกส (โดยการเลือกตั้ง) และโยกคลอนฐานะรัฐบาลอย่างหนักในกรีกและสเปน โดยรัฐบาลสเปนแพ้การเลือกตั้งในระดับเทศบาลอย่างหมดรูป และจำต้องประกาศเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด

3) การปริร้าวในสหภาพยุโรปและวิกฤติเงินสกุลยูโร ความปริร้าวนี้แสดงในความแตกต่างทางแนวคิดในการแก้ปัญหาวิกฤติ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศเช่นกรณีทิ้งระเบิดลิเบีย ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่การที่เดนมาร์กตั้งด่านตรวจคนที่ชายแดน ในด้านเงินยูโรก็ประสบปัญหาหนัก เนื่องจากหลายชาติรวมทั้งอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในสกุลเงินยูโรเกิดปัญหาหนี้สาธารณะมากเกินไป วิกฤติทั้ง 2 ด้านนี้รุนแรงถึงขั้นมีผู้วิจารณ์ว่าไม่สหภาพยุโรปก็เงินสกุลยูโรต้องล่มสลาย

4) การขยายตัวของสังคมนิยมในลาตินอเมริกา ซึ่งพื้นฐานยังเป็นชาตินิยมทางน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอิสระจากอิทธิพลและนโยบายของสหรัฐ ขยายจากเวเนซุเอลาไปยังโบลิเวียและชิลี

5) การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ เพื่อเป็นอิสระจากชนชั้นผู้ปกครองที่สนิทสนมกับศูนย์กลางโลกคือสหรัฐ-นาโต้ ยกเว้นกรณีลิเบียและซีเรีย การลุกขึ้นสู้เหล่านี้ยังไม่จบเช่น ที่อียิปต์ เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถก่อความปั่นป่วนแก่โลกได้สูง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญ

6) การลุกขึ้นสู้และการประท้วงใหญ่ของประชาชนในที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย ที่ค่อนข้างคาดไม่ถึงได้แก่ การประท้วงที่มาเลเซีย เพื่อให้จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม และการลุกขึ้นประท้วงของชาวอิสราเอลทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

7) การเสื่อมถอยขององค์กรปกครองโลก เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และแม้แต่องค์การสหประชาชาติ เมื่อศาลอาชญากรรมโลกประกาศจับกาดาฟีแห่งลิเบีย

สหภาพแอฟริกา (African Union) ประกาศไม่ยอมรับ เพราะทำให้กรณีพิพาทในลิเบียแก้ไขได้ยากขึ้น ทั้งเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ มีแต่ผู้นำในแอฟริกาที่ถูกประกาศจับ แต่เพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่ตะวันตกที่ก่อคดีไว้มากมายในอิรัก อัฟกานิสถาน และปากีสถาน (voanews.com 050711)



การต่อสู้ของกลุ่มทุนโลก
กับความจำกัดของการเติบโต

ปัญหาน้ำมันแพงเป็นตัวการหรือตัวแทนสำคัญของความจำกัดของการเติบ (Limits to Growth) เมื่อผสมกับวิกฤติอื่น ได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้หนี้เพื่อขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ทับถมจนระเบิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ก็ได้กลายเป็นวิกฤติความเป็นความตายของโลกาภิวัตน์ที่นำโดยตะวันตก

ในวิกฤตินี้เราได้เห็นความพยายามของกลุ่มทุนโลกซึ่งที่สำคัญอยู่ที่ศูนย์กลางในการต่อสู้ปัดเป่าวิกฤติครั้งนี้ออกไปให้ได้ ในท่ามกลางของความระส่ำระสาย ได้มีแนวคิดใหญ่อยู่ 2 ทาง

ทางหนึ่งอยู่ในวงนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน เป็นต้น เน้นความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบทุน กล่าวว่า ในที่สุดโลกก็จะพ้นจากวิกฤติไปได้ แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง

อีกแนวคิดหนึ่งเป็นของนักเคลื่อนไหวและนักสิ่งแวดล้อม เน้นความจำกัดของความเติบโต เห็นว่ายากที่จะผ่านวิกฤติไปได้ เนื่องจากติดขัดในการหาพลังงานราคาถูกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม และยังดูได้จากการคลี่คลายของเหตุการณ์ที่เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งก็เกิดปัญหาอื่นมาเพิ่ม

เช่น แก้หนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐยังไม่ทันหมด หนี้เสียในยุโรปก็ปะทุขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นถึงระดับรัฐบาล ซึ่งคาดกันว่ายังจะส่งผลกระทบกว้างไกลไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นความจำกัดในการแก้ปัญหาภายในระบบทุนที่น้อยลง และอารยธรรมมนุษย์สมัยใหม่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อาจสรุปได้เบื้องต้นว่า ถ้าหากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความระส่ำระสายก็น่าจะสูงขึ้น จนโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่ยากที่จะดำรงอยู่ได้



++

ระบบนิเวศกับพลังงาน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 38


วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ควบคู่วิกฤติเศรษฐกิจ ในปัจจุบันเริ่มเห็นกันว่าวิกฤติสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นต้น มีส่วนทำให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดถี่ รุนแรง และแก้ไขได้ยากขึ้น

และวิกฤติสิ่งแวดล้อมหรือวิกฤติระบบนิเวศนี้ มีส่วนสำคัญเนื่องจากการใช้พลังงานโดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเป็นทวีคูณในระยะ 200 กว่าปีมานี้ เกิดการขยายตัวใหญ่ทางการผลิตและ การบริโภค จนทำให้ระบบนิเวศทั่วโลกตายหรือไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม

แม่น้ำกลายเป็นแหล่งระบายสิ่งโสโครกและเน่าเสีย

ที่ดินอุดมกลายเป็นทะเลทราย

มหาสมุทร กล่าวกันว่ากำลังตาย

ทุกวันนี้เราจะได้พบข่าวอุบัติภัยที่เนื่องด้วยสิ่งแวดล้อม เช่น ในช่วงนี้เป็นหน้ามรสุมในซีกโลกเหนือ ก็จะพบข่าวน้ำท่วมโคลนถล่มที่โน่นที่นี่ทั่วโลก

ซึ่งบางแห่งดูคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เช่นการที่ฝนตกหนักโคลนถล่มที่ใกล้กรุงโซล นครหลวงเกาหลีใต้ ในปลายเดือนกรกฎาคม 2011 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน บริเวณที่เกิดโคลนถล่มส่วนหนึ่งมีการพัฒนาที่ดินให้เป็นรีสอร์ตและโรงแรม

ระบบนิเวศของมนุษย์ยังได้ขยายตัวไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการใช้พลังงาน ที่ที่มนุษย์ไม่เคยได้อยู่อาศัย เช่น อวกาศ ก็มีการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์ผลัดกันเข้าไปอยู่เป็นประจำ

หรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อให้ความร้อนและกระแสไฟฟ้าก็เปลี่ยนระบบนิเวศโลกไปตลอดกาล

เมื่อระบบนิเวศของมนุษย์ขยายออก ปัญหาก็มากตามไปด้วย เช่น เกิดขยะอวกาศ นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมสื่อสารจำนวนมากโคจรอยู่ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราหลายอย่างที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางไกลเป็นไปได้ เช่น การทำธุรกรรม การตรวจตำแหน่งบนพื้นโลก เป็นต้น

พายุสุริยะอันเป็นกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารุนแรงจากดวงอาทิตย์ ที่แต่ก่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรามาก เนื่องจากมีแม่เหล็กโลกคอยคุ้มกัน แต่ปัจจุบันพบว่า สามารถทำความเสียหายแก่ดาวเทียมสื่อสารได้ ซึ่งก่อความเสียหายได้มาก

ดังนั้น พลังงานมีทั้งด้านที่ทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ขยายระบบนิเวศของมนุษย์ออกไปอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ก่อให้เกิดวิกฤติแก่ระบบนิเวศพร้อมกันไป

อนึ่ง การที่น้ำมันขาดแคลนดูจะไม่ช่วยให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว แต่กลับจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อย



ระบบนิเวศเป็นอย่างไร

ระบบนิเวศก่อนอื่นก็คือมันเป็นระบบ ความหมายทั่วไปของระบบก็คือประกอบด้วยหน่วยย่อยที่มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพากัน มีการปฏิบัติร่วมกันเหมือนเป็นหน่วยเดียว

ระบบนิเวศก็คือชุมชนของชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพากัน เป็นระบบปฏิบัติหนึ่งเดียว

ในระบบนิเวศทุกสิ่งจึงเกี่ยวข้องกัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าหน่วยชีวิตหนึ่ง สปีชีส์หนึ่ง หรือกลุ่มประชากรหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นในระบบ

เช่น เราไม่สามารถบอกว่ามดตัวหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะได้เห็นมันทำหน้าที่ในรังมด และเราก็ไม่สามารถบอกว่ารังมดหนึ่งเป็นอะไร จนกว่าจะเข้าใจว่ามันมีบทบาทอะไรในระบบนิเวศ บุคคลตัวตนของมนุษย์ก็เป็นทำนองเดียวกันนี้

จากที่กล่าวมา ระบบนิเวศมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่

1) ส่วนที่มีชีวิต (Biotic Component) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระบบนิเวศ จำแนกได้เป็น

ก) สิ่งที่สร้างอาหารได้เอง (Autotroph) ถือว่าเป็นผู้ผลิต (Producer) ที่สำคัญได้แก่พืช นอกจากนี้มีแบคทีเรียบางชนิด

ข) ชีวิตที่ต้องกินอาหารจากที่อื่น (Heterotroph) แบ่งย่อยเป็นผู้บริโภค (Consumer) ได้แก่ สัตว์นักล่า และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ได้แก่แบคทีเรีย เชื้อรา มดปลวก และสัตว์กินซากเป็นต้น

(2) ส่วนที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Component) ได้แก่

ก) พลังงานจากดวงอาทิตย์ ซึ่งให้พลังงานเกือบทั้งหมดต่อระบบนิเวศ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด หากขาดพลังงานนี้โลกก็ไม่สามารถรองรับชีวิตได้

ข) ลม ความชื้น อุณหภูมิ ที่มีอิทธิพลสูงต่อสิ่งมีชีวิต จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กำลังกังวลนี้ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์อย่างมาก

ค) สารอนินทรีย์ เช่นกำมะถัน โบรอน ที่ไหลเวียนในระบบนิเวศ มีผลต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต

ง) สารอินทรีย์ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์ประกอบที่เป็นชีวิต และไม่ใช่ชีวิตเข้าด้วยกัน (ดูบทบรรยายชื่อ Energy flow in ecosystems ใน csun.edu)

อนึ่ง เมื่อมนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมมากขึ้น ก็ได้ขยายสิ่งแวดล้อมออกไปให้หมายถึงขั้วแม่เหล็กโลก แรงโน้มถ่วง ความร้อนใต้พิภพ การเคลื่อนที่ของแผ่นทวีป พายุสุริยะว่ามีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่และพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

แม้กระทั่งรังสีคอสมิกก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นแกนให้ไอน้ำมาเกาะจนเป็นหยดน้ำและก้อนเมฆ



ระบบนิเวศมีขอบเขตเพียงใด

ระบบนิเวศเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชีวิตด้วยกัน และระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องเป็นหน่วยเดียวกัน มีขนาดและขอบเขตที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ตามแต่ที่จะศึกษา เช่น ระบบนิเวศอาจจำกัดอยู่ในบึงเล็กๆ หรือบริเวณยอดไม้ และอาจใหญ่เป็นระบบนิเวศลุ่มน้ำและทะเล หรือป่าไม้ทั้งป่าได้ ในวิชานิเวศวิทยา บางทีเรียกระบบนิเวศในภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ว่า ชีวนิเวศ (Biome) เช่น ชีวนิเวศป่าฝน ชีวนิเวศทะเลทราย

นอกจากนี้ ระบบนิเวศอาจขยายไปจนหมายถึงโลกทั้งโลก บางทีเรียกว่าชีวภาคหรือชีวมณฑล (Biosphere)


ลักษณะทั่วไปของระบบนิเวศเป็นอย่างไร

ระบบนิเวศมีความซับซ้อนและหลากหลายมาก ต้องใช้เวลา ความพยายามและความคิดนึกอย่างสูงจึงได้ค่อยๆ มีความเข้าใจลึกขึ้นทุกที จนในปัจจุบันนี้ มีผู้สรุปลักษณะทั่วไปของระบบนิเวศว่ามีอยู่ 5 ประการสำคัญได้แก่

1) การมีระเบียบหรือหน้าที่ แม้ระบบนิเวศจะดูซับซ้อน แต่มันก็มีด้านที่เป็นระเบียบ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบในระบบนิเวศนั้น เช่น สิ่งมีชีวิตส่วนหนึ่งเป็นผู้ผลิต อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้บริโภค มีการไหลเวียนของสสารและพลังงานที่มีกฎระเบียบที่สามารถศึกษาได้แน่นอนในระดับหนึ่ง

2) มีพัฒนาการ ระบบนิเวศไม่ใช่ระบบที่หยุดนิ่งแต่มีพัฒนาการของมัน การพัฒนาอย่างหนึ่งคือพัฒนาไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจนมากที่สุด เมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็พยายามรักษาสถานะนั้นไว้ การพัฒนาอีกทางหนึ่งคือการพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด เช่นป่าดิบชื้นที่รับแสงจนแทบไม่มีตกถึงพื้น

3) มีกระบวนการย่อยสลายหรือเมแทบอลิสม์ หรือการไหลเวียนของพลังงาน

4) มีการไหลเวียนของสสาร ในข้อที่สามและสี่นี้จะได้กล่าวให้ละเอียดขึ้นต่อไป

5) มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศจำต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ จากการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบอันหลากหลาย ความสามารถในการปรับตัวนี้ทำให้บางคนเรียกระบบนิเวศว่าเป็นระบบที่ปรับตัวได้ (Self-regulating System) เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินและพัฒนาต่อไปได้

6) มีขอบเขตที่ให้สิ่งอื่นแทรกซึมเข้ามาในระบบได้ เช่น แสงอาทิตย์สาดส่องมาได้

จากนี้ กล่าวได้ว่าระบบนิเวศที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้จะมีความสามารถในการปรับตัว ก่อให้เกิดความคงทน แต่ก็มีด้านที่เปราะบาง ล่มสลายได้ง่าย เนื่องจากความเสียหายที่จุดหนึ่งจะกระทบไปยังจุดอื่นด้วย



ระบบนิเวศทำงานอย่างไร

ระบบนิเวศทำงานโดยอาศัยกลไกของการไหลเวียนของสสารหรือสารอาหารและพลังงานที่สิ่งมีชีวิตเป็นผู้กระทำที่สำคัญ การไหลเวียนของสสารมีที่สำคัญ ได้แก่

ก) การไหลเวียนของน้ำ

ข) การไหลเวียนของสารอาหารมีคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจน เป็นต้น

ในการไหลเวียนดังกล่าว การไหลเวียนของน้ำนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำหรับการไหลเวียนของสสารอื่น

เนื่องจากชีวิตในโลกนี้ประกอบด้วยน้ำเป็นสำคัญ

สำหรับการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์นั้น กล่าวได้ว่าพืชมีบทบาทสำคัญที่สุด เพิ่งมาไม่กี่ร้อยปีมานี้เองที่มนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่สำคัญมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีน้ำมัน ถ่านหินและแก๊สธรรมชาติ ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจแก่การไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศให้มาก

การไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศมีประเด็นที่ควรกล่าวถึงดังนี้คือ

1) เริ่มต้นด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่พืชทำหน้าที่นี้ เป็นการเปลี่ยนพลังความร้อนจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเคมี ที่ใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่การเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประโยชน์น้อยเป็นคาร์โบรไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน

อาหารสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จากพลังงานความร้อนทั้งหมดที่ได้รับมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น พืชที่เปลี่ยนเป็นพลังงานทางเคมี พืชสร้างอาหารขึ้นเพื่อที่มันจะใช้เอง ไม่ใช่เพื่อให้สัตว์อื่นมากิน

พืชใช้พลังงานเคมีที่สร้างขึ้นเป็นส่วนใหญ่โดยการหายใจ (Respiration) หรือการนำมารวมกับออกซิเจน โดยการสังเคราะห์ด้วยแสงทำในช่วงกลางวัน การหายใจทำตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน พืชจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่การสังเคราะห์ด้วยแสงมากกว่าการหายใจ นอกจากนี้ ยังมีการสังเคราะห์ทางเคมีที่แบคทีเรียหลายอย่างทำ-สร้างไนโตรเจน

ปรากฏการณ์นี้เป็นไปตามกฎอุณหพลศาสตร์ข้อที่ 1 ว่า ในระบบนิเวศ สสารและพลังงานอาจเปลี่ยนจากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่งได้ แต่สสารและพลังงานเหล่านี้ไม่สามารถทำลายหรือสร้างขึ้นใหม่ได้

2) จากการผลิตอาหารโดยพืชแล้ว ก็เกิดโซ่อาหาร (Food Chain) หรือระดับการบริโภค (Trophic Level) หรือการบริโภคเป็นระดับไป นิยมแบ่งเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ก) ผู้ผลิตอาหาร ได้แก่พืช ข) ผู้บริโภคขั้นต้น เช่น สัตว์กินพืช ค) ผู้บริโภคขั้นกลาง เช่นสัตว์กินสัตว์ ง) ผู้บริโภคขั้นท้ายซึ่งอยู่ชั้นบนสุด ไม่มีสัตว์อื่นมากิน เช่น มนุษย์

โซ่อาหารนี้ในธรรมชาติมีความซับซ้อน นั่นคือกินกันไปมาอย่างซับซ้อน เรียกกันว่าโยงใยอาหาร (Food Web) โยงใยอาหารนี้เป็นกลไกสำคัญให้มีการไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศ

3) ในการกินกันเป็นโซ่อาหารนี้ พบว่าการบริโภคแต่ละขั้นได้พลังงานเพียงราวร้อยละ 10 ของทั้งหมด ที่เหลือสูญเสียไปเป็นความร้อน เช่นวัวที่กินหญ้าใช้พลังงานส่วนหนึ่งไปเพื่อการเติบโต การหาอาหารและการหนีจากสัตว์ผู้ล่า เป็นต้น เสือที่กินวัวได้พลังงานเพียงร้อยละ 10 ของที่วัวได้รับ ดังนั้น ผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงยิ่งมีพลังงานน้อยให้บริโภคและใช้ประโยชน์

ปรากฏการณ์นี้เป็นไปตามกฎอุณหพลศาสตร์ข้อที่ 2 ว่าในระบบนิเวศพลังงานมีแนวโน้มสูญเสียความเข้มข้นลงไปเรื่อยๆ และนี่เป็นปัญหาใหญ่มากของมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคระดับสูงสุด

4) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมนุษย์จึงได้ประดิษฐ์การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ขึ้นเมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้ว เพื่อควบคุมโซ่อาหาร

เช่นการเลี้ยงแกะป้องกันไม่ให้หมาป่ามาแบ่งกิน หรือการเพาะปลูกก็ทำให้ไม่ต้องไปแย่งกับสัตว์กินพืชอื่น หรือป้องกันไม่ให้พืชอื่นที่ปัจจุบันเรียกว่าวัชพืชมาแย่งอาหาร

การปฏิวัติทางการเกษตรนี้ทำให้มนุษย์สามารถสร้างอารยธรรมเมืองและจักรวรรดิขึ้นได้ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรเช่นป่าไม้และดิน น้ำมากเกินไปจนมีส่วนทำให้จักรวรรดิหลายแห่งต้องล่มสลาย

5) การปฏิวัติการเกษตรครั้งแรกก็ยังกระทบต่อระบบนิเวศโลกรุนแรง มนุษย์ยังคงใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์ในการทำต่อมาอีกหลายพันปี แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ได้เปลี่ยนทุกอย่างไป มนุษย์ได้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีถ่านหินและน้ำมัน เป็นต้น เพื่อเป็นแรงในการทำงาน เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นพลังงานเครื่องกล (Mechanic Energy) จากนั้น เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีก ก่อให้เกิดการก้าวหน้าใหญ่มีการใช้เครื่องจักรกลและเครื่องจักรอัตโนมัติ การผลิตสินค้าปริมาณมาก

การเอื้อมมือไปทุกมุมโลกรวมทั้งใต้มหาสมุทรลึกเพื่อนำสสารและพลังงานขึ้นมาใช้อย่างดูเหมือนไม่สิ้นสุด มันทำให้มนุษย์เกิดความคิดขึ้นว่าตัวเขาเองสามารถก้าวพ้นจากความจำกัดของพลังงานที่จะนำมาบริโภคและใช้งานได้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศมีความเปราะบาง และพลังงานก็มีความจำกัดเมื่อมีการบริโภคและการเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การปฏิบัติเช่นนี้ได้เกิดผลหลายด้าน

ด้านหนึ่งเกิดการทำลายระบบนิเวศของโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มนุษย์เข้ามาแทรกแซงในการไหลเวียนของคาร์บอนไดออกไซด์ จนมีส่วนสำคัญในการสร้างภาวะเรือนกระจกในโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

อีกด้านหนึ่งเกิดการหมดไปของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีคุณภาพนั่นคือน้ำมัน และมนุษย์อาจต้องย้อนกลับไปอยู่ในยุคการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม



++

การใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลัง กับวิกฤติระบบนิเวศโลก
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 40


การเพิ่มเชิงกำลัง (Exponential Growth) เป็นสิ่งที่อธิบายให้เข้าใจได้ไม่ยาก

ที่ยากนั้นอยู่ที่การเห็นประจักษ์แจ้งแก่ใจ เนื่องจากว่ามันขัดกับความรู้สึกและความเคยชินที่คุ้นกับการเพิ่มแบบบวกที่พบเห็นทั่วไปในธรรมชาติ

มีเรื่องเล่าและคำทายเกี่ยวกับการเพิ่มเชิงกำลังที่ควรเล่า 2 เรื่อง

เรื่องแรก เป็นชายผู้คงแก่เรียนได้คิดประดิษฐ์หมากรุกขึ้นเป็นครั้งแรก ได้นำไปเสนอพระราชาที่ได้ทดลองเล่นและชอบมาก จึงจะให้รางวัลตอบแทน ถามว่าต้องการอะไร

ชายนักประดิษฐ์ซึ่งคงเป็นนักคำนวณด้วย ตอบว่า ขอข้าวสารช่องแรก 1 เมล็ด แล้วเพิ่มช่องละเท่าตัว คือช่องที่ 2 เป็นสองเมล็ด ช่องที่สาม 4 เมล็ดไปจนครบ 64 ตาของกระดานหมากรุก

พระราชาคิดว่าเป็นข้อเรียกร้องที่น้อยมาก แต่เมื่อปฏิบัติดู ปรากฏว่านำข้าวที่เก็บไว้ในคลังทั้งหมดแล้วก็ยังไม่ถึงตาที่ 64 เลย


อีกเรื่องเป็นคำทายปริศนาบัวบาน ทายกันแต่ยังเด็ก เป็นทำนองนี้ ว่า บัวกอหนึ่งบานเท่าตัวทุกวัน เมื่อถึงวันที่ 6 บานไปครึ่งสระ ถามว่าอีกกี่วันจึงจะบานเต็มสระ

คำตอบคือ อีกวันเดียว เพราะว่ามันเป็นการเพิ่มอย่างทวีคูณหรือเพิ่มเชิงกำลัง

ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ การเพิ่มมักมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น มีเกิดก็มีตาย สัตว์ที่อยู่ในระดับการบริโภคสูงสุดมักมีลูกน้อย เนื่องจากมีความจำกัดของอาหารที่จะบริโภค

แต่ในสังคมมนุษย์หรือระบบนิเวศมนุษย์ที่ปัจจุบันมีเมืองเป็นแกนสามารถทำสิ่งที่เรียกว่าการเพิ่มเชิงกำลังต่อเนื่องกันนานเป็นพันปี โดยเฉพาะในระยะ 200 ปีท้ายนี้

ทั้งนี้ ดูได้จากการเพิ่มประชากรและการเพิ่มการใช้พลังงานแบบเชิงกำลัง จนเกิดความเข้าใจว่านี่คือความเจริญและอารยธรรม

การเพิ่มเชิงกำลังก่อให้เกิดวิกฤติระบบนิเวศโลกอย่างน่าตกใจ

สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่โด่งดัง ได้กล่าวเตือนอีกครั้งในปี 2010 ว่า มนุษย์จะต้องเร่งหาทางอพยพจากโลกไปตั้งถิ่นฐานในดาวเคราะห์อื่นภายใน 200 ปี หาไม่แล้วจะต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ใหญ่ในระยะยาว

ฮอว์กิงชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายประการ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเพิ่มของประชากรเชิงกำลัง ความเสื่อมสิ้นไปของทรัพยากรโลก และอันตรายจากสงครามนิวเคลียร์



การใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลังจะไปได้นานอีกเท่าใด

แม้จนถึงปัจจุบันก็มีความคิดกันว่า พลังงานมีไม่สิ้นสุด จนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กล่าวกันว่าเรายังมีถ่านหินที่สามารถใช้ได้นานอีกหลายร้อยปี หรือกระทั่งเป็นพันปี

ยิ่งกว่านั้น เรายังมีพลังงานที่ดูเหมือนไม่จบสิ้นจากดวงอาทิตย์ เฉพาะที่ส่องมาที่โลกเพียงไม่กี่ชั่วโมงมนุษย์ก็ใช้ได้เป็นปี

แต่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เห็นเช่นนั้น โดยชี้ว่าการใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลัง ทำให้แหล่งพลังงานสำหรับมนุษย์รวมถึงดวงอาทิตย์และทุกดวงดาวในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกต้องหมดลงเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

ท่านผู้นี้ชี้ว่า ระหว่างปี 1650 จนถึงปี 2009 การใช้พลังงานทั้งหมดนับแต่ ไม้ฟืน ชีวมวล เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์และอื่นๆ ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี

เพื่อสะดวกแก่การคำนวณหากลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี ก็จะทำให้การใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 10 เท่าทุก 100 ปี (ซึ่งตัวเลขการใช้พลังงานเพิ่มนี้ ก็ดูเหมือนสอดรับกับการคาดแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก และก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวระหว่างร้อยละ 4-5 ซึ่งก็ดูเหมือนเหมาะสมดีอีกเช่นกัน)

ผู้เขียนได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับพลังงานจากดวงอาทิตย์ สรุปความได้ว่าหากมีการใช้พลังงานเพิ่มเชิงกำลังโดยเพิ่ม 10 เท่าทุก 100 ปี มนุษย์จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงสู่โลกทั้งหมดภายในเวลาเพียง 400 ปี และจะใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์โดยตรงหมดภายในไม่ถึง 1,400 ปี จะใช้พลังงานจากทุกดวงดาวในกาแลกซี่นี้หมดในเวลาไม่ถึง 2,500 ปี (ดูบทความของ Tom Murphy ชื่อ Galactic-Scale Energy ใน Do the Math 120711)

การคำนวณนี้ กล่าวเป็นแบบภาษาพูดว่า "เอาให้สุดๆ ไปเลย" แต่ในทางเป็นจริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความจำกัดทางเทคโนโลยี ความจำกัดทางสังคมและความจำกัดทางระบบนิเวศ ความจำกัดทางเทคโนโลยี เช่นยากที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถใช้พลังงานได้มากดังที่กล่าว

ความจำกัดทางสังคม เช่น ไม่ว่าจะมีพลังงานใช้เหลือเฟือเพียงใด แต่หากมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง จะก่อให้เกิดความไม่พอใจ การลุกขึ้นสู้ และการจลาจล ไปจนถึงสงครามกลางเมืองดังที่ปรากฏทั่วโลกในปัจจุบัน

แม้แต่ที่ในสหรัฐก็ดูจะเลี่ยงไม่พ้น โดยจากการสำรวจประชามติชาวสหรัฐในต้นเดือนสิงหาคม 2011 พบว่าประชาชนทั่วไปหมดความไว้วางใจชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาลหรือในรัฐสภา ซึ่งล่อแหลมที่จะเกิดเหตุร้ายต่างๆ ที่คาดไม่ถึง

ในความจำกัดของระบบนิเวศโลก การใช้พลังงานมากขนาดนั้นย่อมทำให้โลกมีความร้อนที่เป็นของเสียเกิดขึ้นมากมาย จนระบบนิเวศยากจะดำรงอยู่ เราจะได้กล่าวถึงประเด็นหลังนี้



วิกฤติระบบนิเวศโลก : การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

วิกฤติระบบนิเวศโลก กล่าวอย่างกว้างๆ ก็คือ การที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปจนไม่ได้เป็นที่ที่เหมาะสมแก่สิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่จะอาศัยอยู่ ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ โดยถือกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเหมือนสิ่งแสดงสุขภาพของระบบนิเวศ และการสูญพันธุ์ใหญ่แสดงอาการป่วย ซึ่งเป็นการมองจากจุดของมนุษย์

ชีวิตในโลกเริ่มมีความหลากหลายขึ้นเมื่อเกิดมีสิ่งมีชีวิตบนบกราว 540 ล้านปีมาแล้ว จากนั้นได้เกิดมีการสูญพันธุ์ใหญ่ 5 ครั้ง และการสูญพันธุ์ย่อยๆ อีกราว 7 ครั้ง

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่น้อยนี้ยังไม่ชัดเจน ที่กล่าวกันเช่น ภูเขาไฟระเบิด ระดับน้ำทะเลลดลงซึ่งน่าจะเกิดจากยุคน้ำแข็งที่บางครั้งคลุมไปเกือบทั้งโลก และดาวเคราะห์น้อยตกใส่

สาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรุนแรง จนชีวิตจำนวนมากไม่อาจอยู่รอดได้

แต่กล่าวกันว่าการสูญพันธุ์ขนาดใหญ่และขนาดย่อมอาจเป็นสิ่งเร่งวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต การสูญพันธุ์จึงไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด

อนึ่ง มากกว่าร้อยละ 99 ของสปีชี่ส์ต่างๆ ที่มีการบันทึกได้สูญพันธุ์ไป ดังนั้น การสูญพันธุ์จึงเป็นสิ่งปรกติธรรมดา แต่ถ้ามนุษย์ต้องสูญพันธุ์ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความกังวลต่อการสูญพันธุ์ใหญ่ของมนุษย์ที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า



เรากำลังฆ่าโลกและฆ่าตัวเอง

ในทางธรณีวิทยา ถือว่าปัจจุบันอยู่ในสมัยโฮโลซีน อันเป็นสมัยต่อเนื่องกับปลายยุคเพลสโตซีนที่สิ้นยุคน้ำแข็งสุดท้าย เมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน (บางคนนับย้อนไปจนถึงราว 12,500 ปี) ในห้วงเวลานี้ มนุษย์ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลก และได้คิดการเกษตรขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์จำนวนมาก และอัตราการสูญพันธุ์นี้มีมากขึ้นทุกที บางคนเรียกการสูญพันธุ์นี้ว่า การสูญพันธุ์สมัยโฮโลซีน (Holocene Extinction)

สัญญาณที่แสดงว่ามนุษย์จะกลายเป็นตัวการให้ชีวิตอื่นสูญพันธุ์ ปรากฏขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ได้แก่การสูญพันธุ์ของมนุษย์นีอันเดอธัล ซึ่งเป็นเผ่ามนุษย์ที่เกือบเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบัน

มีนักวิชาการบางคนเสนอว่าอาจมีการผสมพันธุ์ข้ามกันระหว่างมนุษย์ปัจจุบันกับนีอันเดอร์ธัล มนุษย์นีอันเดอธัลได้สูญพันธุ์เมื่อราว 25,000 ปีมาแล้ว จากการถูกเบียดขับจากมนุษย์ปัจจุบัน

การที่มนุษย์สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์ได้มากมาย อย่างที่ไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ชนิดใดทำเช่นนี้ได้มาก่อน เกิดจากความสามารถของมนุษย์ในการสร้างระบบนิเวศของตนที่แยกต่างหากหรือเป็นอิสระอย่างสัมพัทธ์กับระบบนิเวศในพื้นที่ โดยสร้างระบบนิเวศการเกษตรขึ้นมา ไม่ต้องอาศัยพืชและสัตว์ในระบบนิเวศธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด

มีการบำรุงพันธุ์พืชและสัตว์ตามที่ต้องการ

มีการจัดระบบชลประทานหรือการไหลเวียนของน้ำ การป้องกันการบุกรุกของสปีชี่ส์อื่นที่เป็นอันตรายของสังคมของตน ตั้งแต่สัตว์ใหญ่และวัชพืช ไปจนถึงแบคทีเรีย

การก้าวสู่ระบบนิเวศอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้ระบบนิเวศมนุษย์ดูจะเป็นต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศธรรมชาติมากขึ้น

ความเกี่ยวข้องที่เด่นก็คือการนำเอาพลังงานและสสารจากระบบนิเวศในธรรมชาติมาใช้ในระบบนิเวศมนุษย์

ความสามารถในการสร้างระบบนิเวศของตนที่ต่างหากออกมานี้ ทำให้จำนวนประชากรมนุษย์มากขึ้นโดยลำดับ จากราว 1-10 ล้านคนเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว เป็นราว 7 พันล้านคนในปัจจุบัน

มนุษย์ได้ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ที่นิยมเรียกว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The Sixth Extinction) โดยทำสิ่งใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้คือ

ก) การทำลายระบบนิเวศหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ในที่นั้นอย่างรุนแรง เช่น ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูก การขยายเมืองและถนน

ข) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตมากเกินไป เช่น จับปลามากเกินไป ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากจนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ค) การก่อมลพิษ

และ ง) การนำสปีชี่ส์ต่างแดนเข้ามาในระบบนิเวศธรรมชาติ


ในปี 1993 มีผู้ประมาณว่ามีสปีชี่ส์ราว 30,000 สปีชี่ส์สูญพันธุ์ไปทุกปี หรือ 3 สปีชี่ส์ต่อชั่วโมง (ดูบทความของนักบรรพชีวินวิทยา ดร. Niles Eldredge ชื่อ The Sixth Extinction ใน actionbioscience.org, 2005)

แม้ว่าเราจะสามารถสร้างระบบนิเวศที่เหมือนเป็นต่างหากออกไป แต่เราก็ยังคงอยู่ในธรรมชาติ การทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ จึงเหมือนกับเป็นการทำลายบ้านของตน ทำลายแหล่งอาหาร ทำลายทรัพยากรต่างๆ อันมีประโยชน์ ไปจนถึงทำลายที่พักผ่อนหย่อนใจของเรา

โดยรวมก็คือ ทำให้โลกที่อาศัยอยู่ได้นี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้สำหรับพืชและสัตว์จำนวนมาก

ท้ายที่สุดก็ย่อมมาถึงตัวมนุษย์เองที่เป็นผู้บริโภคระดับสูงสุด เป็นการฆ่าตัวตายทีละน้อย

ในปัจจุบันพบตัวเลขการเจ็บป่วยเสียชีวิตเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

เช่น ประมาณว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะโลกร้อนราว 150,000 คน และเจ็บป่วยราว 5 ล้านคน

ความเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ทั้งยังได้เกิดผู้อพยพจากสิ่งแวดล้อมจำนวนหลาย 10 ล้านคน



วิกฤติระบบนิเวศโลก
: การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ดูจากสาเหตุการสูญพันธุ์ใหญ่ของสิ่งมีชีวิตที่ผ่านมา ก็จะพบสาเหตุร่วมกันอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าสิ่งมีชีวิตใช้อากาศเป็นตัวการสำคัญในกระบวนการสร้างและใช้อาหาร (Metabolism)

ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของบรรยากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม ย่อมส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อสิ่งมีชีวิต โลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอยู่ตลอดตั้งแต่ยังไม่มีมนุษย์ จากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ การเอียงของโลก ภูเขาไฟระเบิด การเคลื่อนที่ของทวีป กระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นต้น สิ่งมีชีวิตเองก็น่าจะมีบทบาทในการกำหนดภูมิอากาศของโลกด้วย

เช่น ราว 30 กว่าปีมานี้เอง ได้เริ่มเป็นที่สังเกตว่าโลกร้อนขึ้น สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นทุกที นับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว จนกล่าวได้ว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันนี้รุนแรงจนบางคนเรียกว่าเป็นวิกฤติภูมิอากาศ

ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติภูมิอากาศ เช่นเกิดภาวะแห้งแล้งบริเวณกว้างและยาวนาน เช่นที่จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐ ที่เป็นแหล่งปลูกธัญพืชที่สำคัญ การเกิดพายุฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม โคลนถล่มไปทั่วโลก เกิดความวิปริตทางลมฟ้าอากาศ เช่น หิมะตกในทะเลทราย ธารน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งละลายหายไปมาก เกิดคลื่นความร้อนจนทำให้ผู้คนตายนับหมื่นคน

เมื่อการผลิตน้ำมันเริ่มเข้าสู่จุดสูงสุดขึ้น มีความคิดกันว่าอาจทำให้มนุษย์ปรับตัวใช้น้ำมันหรือพลังงานน้อยลง

แต่การณ์กลับเป็นตรงข้าม มนุษย์ยังคงขุดเจาะหาน้ำมันจากแหล่งที่ไม่ธรรมดา เช่น ทรายน้ำมัน หินน้ำมัน หรือจุดเจาะลงใต้ทะเลลึก ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษมากขึ้น

ร้ายกว่านั้นคือหันไปใช้ถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษสูงตั้งแต่การจุดเจาะ การขนส่ง ไปจนถึงในการใช้

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามนุษย์เสพติดการใช้น้ำมัน และเสพติดวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มีความสะดวกสบายรวดเร็ว ทั้งระบบเศรษฐกิจที่เน้นความเติบโตและการแข่งขันก็ไม่อนุญาตให้มนุษย์ผ่อนคลายการใช้พลังงานลง เป็นการแข่งขันที่ทำลายตัวเอง โดยประสงค์ให้ผู้อื่นตายก่อน


.

2554-08-30

ทางเลือกเชิงนโยบาย, วัฒนธรรมการทูตไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ทางเลือกเชิงนโยบาย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


น่าเสียดายที่นโยบายเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศของพรรค พท.ถูกเปลี่ยนเป็นเพิ่มรายได้ไปเสียแทน เพราะแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลย ถึงอย่างไรทุกวันนี้ก็ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ 300 บาทอยู่แล้ว เขาก็จะยังไม่ได้ถูกปลดปล่อยจากแถวการผลิต เพื่อมีเวลาสำหรับการพัฒนาตนเองและลูกหลาน อันรวมถึงการรักษาความผูกพันในครอบครัวด้วย

แม้กระนั้น เพิ่มก็ยังดีกว่าไม่เพิ่ม

แน่นอนว่าการเพิ่มค่าแรงหรือรายได้ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาเสมอไป ความห่วงใยต่อผลกระทบในทางลบเพียงอย่างเดียว จะทำให้ละเลยต่อผลกระทบในทางบวก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นต้นทางของการปรับตัวของประเทศให้หลุดพ้นจากทางตันซึ่งมองเห็นอยู่ไม่ไกลข้างหน้า

ค่าแรง 300 บาทจะทำให้สินค้าขึ้นราคาหรือไม่? ถามใหม่ว่า เมื่อคนจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการบางอย่างน่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่? ก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่สินค้าและบริการทุกอย่าง รถเบนซ์ไม่เกี่ยว สปาก็ไม่น่าจะเกี่ยว สินค้าแลบริการที่ราคาสูงขึ้นคือสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นสำหรับตลาดภายใน เช่นอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ย่อมได้กำไรมากขึ้น และไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น

แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้น ในไม่ช้าก็จะมีผู้อื่นมาผลิตแข่งบ้าง ทำให้ราคาสินค้าลดลงจนกระทั่งกำไรที่ได้ไม่มากเท่าเดิม ถึงตอนนี้ พ่อค้ามี

ทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือลดปริมาณการผลิตและปลดคนงาน หรือสองคือปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง หรือผลิตให้มีคุณภาพกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน

ปัญหามาอยู่ที่ว่าพ่อค้าไทยเลือกอะไร ที่ผ่านมาพ่อค้าส่วนใหญ่เลือกทางที่หนึ่ง หากลดปริมาณการผลิตไม่ได้ ก็เลือกการหลบเลี่ยงภาษี

การย้ายโรงงานไปอยู่ชายแดนเพื่อขูดรีดแรงงานข้ามชาติ หรือหากทำได้ก็เลือกลงทุนทางการเมืองเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง หรือเอาเปรียบประชาชนระดับล่าง

นี่คือเหตุผลที่อุตสาหกรรมไทยกำลังจะไปไม่รอด เพราะไม่อาจแข่งขันกับจีน เวียดนาม หรืออินโดนีเซียได้ ดังนั้น หากโรงงานใดที่สารภาพว่า ไม่อาจจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมได้ ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ปราศจากเงื่อนไขที่ไร้ความเป็นธรรม พวกเขาไม่มีกึ๋นที่จะอยู่รอด

และควรจะสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์

แต่อย่าโทษพ่อค้าเพียงฝ่ายเดียว ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐเอาแต่อุ้มนายทุนอันเป็นเด็กไม่ยอมโตเหล่านี้เสมอมา รัฐสร้างเงื่อนไขที่ทำให้พ่อค้าไม่อยากโต แม้มีพ่อค้าหรือแม้แต่ชาวบ้านที่ต้องการจัดการด้านการตลาดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพวกอยากโตเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็เกิดยาก เพราะถูกพวกเด็กไม่อยากโตกีดกันต่างๆ นานา

ค่าแรง 300 บาทจะเป็นจุดเริ่มต้นของเงื่อนไขที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทย รวมทั้งเอสเอ็มอี จำเป็นต้องปรับตัว พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ 300 บาทเฉยๆ รัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นทั้งแรงบีบและแรงจูงใจในอันที่จะช่วยให้การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยประสบความสำเร็จ ในส่วนพ่อค้าที่ไม่มีสมรรถภาพในการปรับตัว ก็ต้องปล่อยให้เลิกกิจการไป ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเอาทรัพยากรของส่วนรวมไปอุ้มไว้ต่อไป และไม่ต้องกลัวด้วยว่าไดโนเสาร์เหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น มีกึ๋นจะแข่งในตลาดที่เสรีกว่าไทยได้ที่ไหนกัน

(ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินไดโนเสาร์หน้าด้านให้สัมภาษณ์ก็คือ การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหาเสียงของรัฐ ฉะนั้นรัฐก็หาเงินมาสมทบค่าแรงเอาเอง ส่วนพ่อค้าก็เก็บกำไรของตนเท่าเดิมต่อไป นายทุนที่ทำอุตสาหกรรมได้แทบไม่ต่างจากโจรกรรมเช่นนี้ ควรที่เราจะทะนุถนอมเอาไว้หรือ)

ไม่เฉพาะแต่ค่าแรง 300 บาทเท่านั้น การวางนโยบายพลังงาน ก็ควรทำด้วยความกล้าหาญทางการเมือง เพื่อให้เกิดทางเลือกซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ

เช่นเดียวกับนโยบายอุตสาหกรรม ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายพลังงานถูกตัดสินกันด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ทุกคนรู้มานานแล้วว่า เราต้องลอยตัวราคาก๊าซ เราต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้โครงสร้างการนำเข้าน้ำมันมีความสมดุล แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งพรรคการเมืองและนักรัฐประหาร ต่างช่วยกันบิดเบือนตลาดพลังงาน เพราะกลัวว่า หากราคาก๊าซหุงต้มและดีเซลเป็นไปตามราคาตลาด จะกระทบค่าครองชีพของประชาชนจนทำให้ถอนการสนับสนุน

ดังนั้น คนจึงซื้อรถดีเซล เพราะรู้ว่า ถึงอย่างไรรัฐก็จะสนับสนุนราคาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจนได้ คนใช้รถเบนซินเปลี่ยนเป็นก๊าซแอลพีจี เพราะรัฐช่วยจ่ายให้เกือบครึ่ง เพื่อประกันว่าก๊าซหุงต้มจะต้องราคาต่ำกว่าตลาดโลกให้ได้ ส่วนก๊าซเอ็นจีวี แม้ว่ารัฐถือเป็นนโยบายที่จะส่งเสริม เพราะไม่ต้องนำเข้า รัฐกลับไปกดราคาไว้เพื่อไม่ให้ราคาขึ้นเท่าตลาดโลก ทำให้การลงทุนเพื่อขยายบริการให้ทั่วถึงเกิดขึ้นไม่ได้

แม้รู้ว่า การผลิตไฟฟ้าในเมืองไทยพึ่งพาพลังงานก๊าซสูงเกินไป แต่รัฐกลับมองหาแหล่งพลังงานใหม่จากนิวเคลียร์ ซึ่งคือการพึ่งพาอีกอย่างหนึ่ง (ทั้งที่มาของเชื้อเพลิง, การทิ้งกาก, เทคโนโลยี, ทุน, และการรับมือเมื่อเกิดอุบัติภัย) ในระยะหลังเริ่มยอมรับพลังงานหมุนเวียน แต่ในด้านการดำเนินการเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ไม่ได้ทำอะไรเลย

ที่สำคัญ การเลือกใช้พลังงานประเภทต่างๆ เหล่านี้ของประชาชน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คนย่อมเลือกใช้พลังงานที่ตัวคิดว่าให้ "กำไร" แก่ตนมากที่สุด ดังนั้น ในเงื่อนไขที่เอื้อให้การใช้ก๊าซ ไฟฟ้า หรือน้ำมัน ฯลฯ สามารถผลักความรับผิดชอบให้ผู้อื่นมาร่วมรับได้ คนเราย่อมเลือกพลังงานอย่างนั้น และมักใช้อย่างไม่ประหยัดด้วย

การลอยตัวราคาพลังงานอย่างมีขั้นมีตอน จึงไม่ใช่เพียงแค่ทำให้นโยบายสอดคล้องกับความเป็นจริงเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวของคนทุกฝ่ายที่จะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยจะมีผู้แสดงความต้องการอย่างจริงจังมากขึ้น

การลงทุนทำที่จอดรถในจุดที่อาจใช้บริการขนส่งได้สะดวกมีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

ไม่แต่เพียงเท่านั้น การคิดค้นและปรับปรุงเพื่อใช้พลังงานจากแหล่งที่ถูกทิ้งขว้าง ก็จะเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างกว้างขวาง ดังที่กล่าวกันว่า ความจำเป็นคือมารดาของการประดิษฐ์ หลุมหรือถังส้วมประจำบ้านจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหุงต้มอย่างสำคัญ ความพิถีพิถันของภาคอุตสาหกรรมและบริการในด้านการใช้พลังงานจะเกิดขึ้นทั่วไป ลดพลังงานไฟฟ้าลงได้แค่ 2% ก็หมายถึงเงินเป็นล้านต่อปี



การลงทุนใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน จะให้ผลตอบแทนทันตาเห็น ซึ่งหลายครัวเรือนพร้อมจะลงทุน ฯลฯ คิดไปเถิดครับ จะมีคนใช้หัวสมอง และศักยภาพของตนเอง เพื่อการใช้พลังงานอย่างฉลาดเต็มไปหมด

เขื่อนแก่งเสือเต้นก็เช่นเดียวกัน ท่านนายกฯ สุขุมพอที่จะไม่ด่วนรับปาก แต่ขอศึกษาก่อน เพราะที่จริงแล้ว มีงานศึกษาเรื่องนี้ซึ่งหลายฝ่ายหลายสำนักได้ทำมามากทีเดียว ล้วนเห็นว่าไม่คุ้มทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฝนแล้ง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์

ไม่นานมานี้กลุ่มอนุรักษ์แม่ยมทำข้อเสนอการจัดการลุ่มน้ำยมอย่างละเอียด ซึ่งเป็นแผนที่มีความละเอียดรอบคอบอย่างมาก

หลักการคือฟื้นฟูกลไกธรรมชาติให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม


ส่วนที่ธรรมชาติถูกทำลายไปจากการพัฒนา จนยากแก่การฟื้นฟูให้คงเดิมได้ ก็ปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่พอจะฟื้นฟูได้ให้กลับมาทำงานแทน เช่น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง สร้างแหล่งเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากให้มากขึ้น เพื่อมิให้น้ำที่จะไหลเข้าเมืองและชุมชนมีปริมาณมากเกินไป ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้งด้วย ฯลฯ

แทนที่จะลงทุนด้วยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งประชาชนไม่อาจควบคุมจัดการเองได้ ก็หันกลับมาใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีขนาดพอเหมาะ กระจายไปตลอดลุ่มน้ำ และอยู่ภายใต้การจัดการดูแลของคนในท้องถิ่น

นี่คือการจัดการน้ำแบบใหม่ ซึ่งได้พิสูจน์ในระดับท้องถิ่นมาหลายแห่งแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่ด้วยเขื่อน ซึ่งก็ได้มีการพิสูจน์มาหลายแห่งหลายครั้งแล้วว่าล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันเป็นเทคนิควิธีที่ชาว

บ้านมีส่วนร่วมและกำกับควบคุมได้จริง ยังเป็นโอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีในเรื่องนี้ มากกว่าการจัดการน้ำด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ อันเป็นเทคโนโลยีที่ฝรั่งใช้ในระบบนิเวศแบบของเขา

ทั้งหมดนี้คือทางเลือกเชิงนโยบาย อันเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการที่สุด อาจต้องการเสียยิ่งกว่าความปรองดองด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า เรากำลังเดินเข้าสู่ทางตันในเกือบทุกทาง เป็นธรรมดาที่ทางเลือกเชิงนโยบายย่อมต้องถูกคัดค้านต่อต้าน เพราะนโยบายเก่าเป็นทั้งความเคยชินและเป็นทั้งแหล่งพักพิงของประโยชน์ปลูกฝังชนิดต่างๆ ของคนหลากหลายกลุ่ม ทางเลือกเชิงนโยบายย่อมมีผลกระทบต่อฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเก่า แต่ทางเลือกย่อมเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หากจัดการให้ดี ผลดีที่จะได้รับจากทางเลือกจะมีมากกว่าผลกระทบ

จนแม้แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ในวันนี้ ก็จะได้รับผลพวงของสิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวันหน้าด้วย



++

วัฒนธรรมการทูตไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 28


ใครๆ ก็คงเห็นด้วยนะครับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐต่างๆ ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่มีมาในประวัติศาสตร์ (หมายถึงอดีตที่มีผู้เขียนบรรยายไว้ ไม่ได้หมายถึงอดีตที่เกิดขึ้นจริงๆ) มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ว่าเฉพาะในประเทศไทย ก็พูดถึงเรื่องนี้กันมานาน เช่น ว่ากันว่าเราไม่ค่อยไว้ใจพม่า เพราะพม่าถูกปั้นให้เป็นศัตรูประจำชาติ เราดูถูกเขมรและลาว เพราะประวัติศาสตร์ปั้นให้สองประเทศนี้เป็นลูกไล่ของเรา

แต่ผมสงสัยว่าอิทธิพลของประวัติศาสตร์ในแง่นี้อาจไม่มากนักก็ได้ เช่นหัวเมืองมลายู ก็เคยถูกถือว่าเป็นประเทศราชของเราหลายเมืองด้วยกัน แต่ครั้นไปรวมกันกลายเป็นมาเลเซียซึ่งรวยกว่าเรา คนไทยก็เลิกมองมาเลเซียเป็นลูกไล่ไปแล้ว และถึงอย่างไรก็อาจแก้ได้ด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ให้ตรงกับความเป็นจริงตามระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณ ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบันเลยได้

และระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณนี่แหละครับ ที่ผมคิดว่ามีอิทธิพลต่อวิธีคิดต่อประเทศอื่นๆ ของคนไทยในปัจจุบันมากเสียยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ คนไทยในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงชาวบ้านร้านช่องทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ผู้นำทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ต่างก็คิดไม่ต่างไปจากชาวบ้าน

แม้แต่ความสำเร็จของไทยในสมัย ร.5 ที่ยกย่องกันว่าเราสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด จนทำให้เรารอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก คิดไปคิดมาก็น่าจะมาจากวิธีคิดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบโบราณ มากกว่าความเข้าใจในระบบใหม่ และยักย้ายไปตามระบบใหม่จนเอาตัวรอดมาได้



ผมควรกล่าวด้วยว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามสถานการณ์ของโลกสมัยใหม่ ระบบดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนหลักการว่า ทุกประเทศเอกราชมีสถานะเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ (แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าไม่จริง) เพราะต่างสัมพันธ์กันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อประเทศอื่นเหมือนกัน และทุกประเทศมีสิทธิและความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนเหมือนกัน

ระบบนี้ไม่ได้หยุดนิ่งกับที่ แต่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดมา เช่นความรับผิดชอบต่อพลเมืองของรัฐตามมาตรฐานขั้นต่ำระดับหนึ่ง แต่ก่อนก็ไม่ถือว่าสำคัญนัก แต่ปัจจุบันอาจถูกยกเป็นข้ออ้างสำหรับการแทรกแซงจากรัฐอื่นได้ และแทรกได้แรงๆ เสียด้วย เพราะขนาดทำสงครามด้วยยังได้ เช่นกรณีลิเบีย

ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องเลยทีเดียวกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐซึ่งคนไทยเคยชินมาแต่โบราณ เรามีระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเปิดให้มีการค้าขายระหว่างกันในระดับหนึ่ง เปิดให้มีการจาริกแสวงบุญเข้าไปในดินแดนซึ่งอยู่ใต้บารมีของกษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และเปิดให้มีการอพยพข้ามแดนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอีกที่หนึ่งได้

ทั้งหมดนี้ ทำได้เมื่อโอกาสอำนวยนะครับ ซึ่งต้องถามต่อไปว่าโอกาสอะไร และโอกาสนั้นอำนวยแก่ใครด้วย แต่ผมขอไม่พูดเรื่องนี้ต่อล่ะครับ



ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราเคยชินนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานอะไรบ้าง ผมขอสรุปอย่างคร่าวๆ ดังนี้

คำว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ประเทศ" ชวนให้สับสน เพราะเมื่อยังไม่มีรัฐประชาชาติ "แผ่นดิน" คือสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่ออยุธยาไปสัมพันธ์กับอังวะหรือละแวก จึงไม่ได้หมายความว่าประชาชนไทยไปสัมพันธ์กับประชาชนพม่าหรือเขมร ทั้งหมดเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินที่ตั้งราชธานีอยู่ที่อยุธยา, อังวะ และละแวก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชน (นอกจากถูกเกณฑ์ให้ไปรบแทนนาย)

สงครามระหว่างพม่าและไทยนั้น เอาเข้าจริงคือความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชธานีสองแห่ง ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยหรือรัฐพม่า

ในยุโรปสมัยกลาง ประชาชนที่อยู่นอกป้อมค่ายยิ่งไม่เกี่ยวกับสงครามของเจ้านายขึ้นไปใหญ่ หากเจ้าครองแคว้นถูกเกณฑ์ให้ไปรบ เขาก็นำเอาอัศวินของเขาไปช่วยรบ ไม่ได้เอาไพร่ในสังกัดไปด้วย

เมื่อหน่วยที่สัมพันธ์กันไม่ใช่รัฐ แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน เพราะพระเจ้าแผ่นดินของภูมิภาคอุษาคเนย์ (หรือที่จริงเกือบทั้งเอเชีย) ต่างถือว่าตัวอยู่สูงสุดเหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายทั้งสิ้น ต่างองค์ต่างมีพระนาม เช่น "บรมราชาธิราช" บ้าง, "ตะปูอันเป็นแกนโลก "บ้าง, "พระเจ้าปราสาททอง" บ้าง (หมายความว่าปราสาทของคนอื่นไม่ใช่ทองน่ะครับ) "ผู้เป็นใหญ่อันทรงเกียรติสูงสุด" บ้าง

ดังนั้น โดยทางทฤษฎีแล้ว จะหาใครมาเท่าเทียมกับพระองค์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ใครส่งทูตไปหาใคร ก็ล้วนเป็นการถวายเครื่องราชบรรณาการไปทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นจริงเชิงปฏิบัติ ความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์จะแข็งโป๊กตามทฤษฎีเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินในอุษาคเนย์ด้วยกันเอง ก็มีพระเจ้าแผ่นดินที่แข็งแกร่งเท่าเทียมกันอีกมาก หรืออยู่ไกลจนเกินกำลังจะไปแสดงพระบรมโพธิสมภารได้ถึง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน (หรือ ผอ.บริษัท) ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีกำลังกล้าแข็งกว่าพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์ มาก เช่น จีนและฝรั่ง เป็นต้น ซ้ำทั้งสองมหาอำนาจนี้ก็เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์อย่างมาก ทั้งในเชิงการค้า หรือเมื่อจำเป็นก็เชิงแย่งอำนาจ

ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์กับพระเจ้าแผ่นดินอื่นหรือรัฐอื่น จึงอาจแบ่งออกได้เป็นสองทาง ใครที่มีอำนาจกว่า ก็ยอมอ่อนน้อม ส่งทูตไปถวายบรรณาการแก่ฮ่องเต้เป็นระยะ (ที่เรียกว่าจิ้มก้อง) เพราะรู้อยู่ว่าต้องพึ่งพาฮ่องเต้ในการค้าขายและเป็นแหล่งป้อนวัสดุสินค้าที่ต้องการ (มาในภายหลังนักปราชญ์ไทยพยายามอธิบายว่า จิ้มก้อง ไม่ใช่การส่งเครื่องราชบรรณาการ อย่างเดียวกับที่นักปราชญ์มาเลเซียพยายามอธิบายว่า บุหงามาสหรือดอกไม้เงินดอกไม้ทองก็ไม่ใช่เครื่องราชบรรณาการเช่นกัน)

ดังนั้น ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ เราก็ยอมรับตลอดมาว่า สถานะของ "แผ่นดิน" นั้นไม่เท่าเทียมกัน มี "แผ่นดิน" ใหญ่ที่จำเป็นต้องสัมพันธ์ด้วยในเชิงอ่อนน้อม และมี "แผ่นดิน" เล็กที่สัมพันธ์ด้วยในเชิงนาย-บ่าว



ในส่วน(บริษัท)ฝรั่งนั้น แม้เป็นคนที่มาจากนอกระบบความสัมพันธ์แบบนี้ แต่เมื่อมาอยู่ในเอเชียไม่นาน ก็สามารถปรับระบบความสัมพันธ์ของตนให้เป็นไปตามประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเอเชียจนได้ ถ้าต้องติดต่อกับฮ่องเต้ ก็ยอมอ่อนน้อม แต่หากต้องติดต่อกับสุลต่านชวาก็ถืออำนาจบาตรใหญ่

จนพระเจ้าแผ่นดินอุษาคเนย์ไม่ได้มอง(บริษัท)ฝรั่งว่าเป็นคนนอกแต่อย่างไร หากเห็นเป็นอำนาจท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งในภูมิภาค ที่สามารถเอามาใช้เป็นประโยชน์ในการเมืองภายในได้

เมื่อเรายอมทำสนธิสัญญาเบาริง ร.5 ก็ทรงชักชวนให้มหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยในลักษณะเดียวกันบ้าง และมักจะอธิบายกันว่าเป็นพระบรมราโชบายที่ชาญฉลาด กล่าวคือ เอามหาอำนาจเข้ามาคานกันเอง แต่ที่จริงแล้ว การคานอำนาจ, ชิงอำนาจ, ท้าทายอำนาจ ฯลฯ ภายใน โดยอาศัยกำลังของคนนอก ทั้งจีนและฝรั่งหรือญี่ปุ่นญวนและไทย ฯลฯ เป็นนโยบายเก่าแก่ที่ชนชั้นนำอุษาคเนย์ทำกันมาแต่โบราณทุกรัฐ

ใครอยากเป็น "บรมราชาธิราช" เขาก็ต้องใช้ประโยชน์จากอำนาจทั้งหมดที่เขาเข้าถึง เพื่อชิงความเป็นราชาผู้สูงสุดเหนือราชาทั้งหลายให้ได้ ความคิดว่าฝรั่ง, จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็น "ต่างชาติ" ซึ่งไม่มีสิทธิ์แทรกแซงการเมืองภายใน เป็นความคิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อ "แผ่นดิน" ไม่ได้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินคนเดียว หากเป็นของราษฎรทั้งหลายต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นรัฐประชาชาติก่อน

มองจากแง่นี้ การแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐในช่วงสงครามเย็น ย่อมเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำไทยเห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ซ้ำยังเป็นโอกาสที่จะขจัดศัตรูทางการเมืองของตนด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐมอบให้ และข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหน่วงพัฒนาการทางการเมืองไปสู่ความเป็นรัฐประชาชาติ เพราะรัฐประชาชาติจะทำให้คนไทยไม่อาจยอมรับการแทรกแซงของต่างชาติได้


ในทำนองเดียวกันนะครับ ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงกับกัมพูชา ก็เพราะในวัฒนธรรมของชนชั้นนำไทย ยากที่จะยอมรับได้ว่า กัมพูชา (หรือลาว) เป็นรัฐที่มีสถานะเท่าเทียมกับไทย อันที่จริงเรามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ แต่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องรุนแรงถึงกับปะทะกันแค่สองประเทศ คือลาวและกัมพูชาเท่านั้น

ทำไมหรือครับ ?

เพราะชนชั้นนำไทยไม่ยอมรับความเป็นรัฐประชาชาติของไทย จึงทำให้ไม่สามารถขยับตัวเองจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเก่า มาสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบปัจจุบันได้

วัฒนธรรมกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่าที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าใจ


.

2554-08-29

ตอบโจทย์เสื้อแดงฯ, อาเซียนฯ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ตอบโจทย์เสื้อแดง : ขบวนการประชาธิปไตยไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 36


"วัตถุประสงค์ประการแรกและประการเดียว ที่ชอบธรรมที่สุดของรัฐบาลที่ดีก็คือ
การดูแลชีวิตและความสุขของประชาชน ไม่ใช่การทำลายชีวิตของประชาชน"
โทมัส เจฟเฟอร์สัน
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
(ค.ศ.1743-1826)



สังคมไทยดูจะตื่นเต้นอย่างมากกับ "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางในต้นปี 2554

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมในตูนิเซีย ในอียิปต์ หรือการต่อสู้ที่ยังไม่รู้ผลชัดเจนในลิเบีย

รวมถึงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจอร์แดน บาห์เรน และซีเรีย เป็นต้น

ความตื่นเต้นอย่างมากเช่นนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนลืมไปว่ากระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในปี 2552-53 ถ้าเรายอมรับข้อสังเกตเช่นนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าการก่อตัวของกระแสประชาธิปไตย เริ่มปรากฏชัดในการเมืองไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจจะกลายเป็นเรื่อง "ตลกร้าย" ที่จะต้องกล่าวว่า กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลโดยตรงจากความสำเร็จของกองทัพในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

และกระแสเช่นนี้ดูจะปรากฏเป็นรูปธรรมชัดขึ้นในช่วงปี 2552 ด้วยการชุมนุมของกลุ่ม "คนเสื้อแดง"

แน่นอนว่า การชุมนุมของพวกเขาจบลงด้วยความสูญเสียทั้งในปี 2552 และ 2553

แม้ขบวนการเมืองนี้จะถูกปราบปรามและจับไปผูกโยงกับการต่อสู้ทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม จากการรัฐประหาร 2549 จนทำให้กลุ่มชนชั้นนำหรือผู้นำทหารมักจะนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทางการเมืองต่อขบวนเสื้อแดง

หากจะปฏิเสธว่า การโฆษณาเช่นนี้ไม่ได้ผลก็คงไม่ได้ เพราะบรรดาผู้คนในเมือง ซึ่งมีทัศนะไปในทางอนุรักษนิยมนั้นดูจะ "รับสาร" ดังกล่าวอย่างมาก จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยในสถานการณ์เช่นนี้ว่า คนในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางไม่ชอบพวกเสื้อแดง

และส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ไม่ชอบก็เพราะคนพวกนี้เป็น "ชนชั้นล่าง" และชนชั้นล่างเช่นนี้จะมารู้เรื่องการเมืองดีกว่าพวกเขาได้อย่างไร

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาซึ่งเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนดังภาพสะท้อนของ "การต่อสู้ทางชนชั้น" ไปแล้ว

กล่าวคือ กลุ่มคนเสื้อแดงมักจะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามจากบรรดาคนในเมืองไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงก็ตาม

ในสายตาเช่นนี้พวกเสื้อแดงซึ่งเป็น "ชนชั้นล่าง" นั้นถูกหลอก



ในสภาพเช่นนี้คนในเมืองดูจะปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อปรากฏการณ์ของความตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่างที่อาศัยอยู่ทั้งในเมืองและในชนบท และก็ปฏิเสธที่จะรับรู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงใช่แต่จะเป็นขบวนการของชนชั้นล่างเท่านั้น หากแต่ยังมีคนจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้น จนมีลักษณะที่หลากหลายทางชนชั้น

แม้ฐานล่างของขบวนการจะเป็นชนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนในชนบท แต่ข้อปฏิเสธที่สำคัญก็คือ พวกเขาไม่ยอมรับว่า ขบวนการของคน

กลุ่มนี้เรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการให้อาศัยกลไกของการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินการขึ้นสู่การเป็นรัฐบาล มากกว่าจะยอมรับในเรื่องของการยึดอำนาจ ตลอดรวมถึงการเรียกร้องหาความถูกต้องและเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยวาทกรรม "สองมาตรฐาน"

แต่สำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงแล้ว พวกเขาคิดแต่เพียงว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ เกิดขึ้นเพราะการสนับสนุนของทักษิณ

ถ้าคิดในแง่ดี อาจจะต้องพิจารณาว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในไทยเป็นการยกระดับทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เพราะหากย้อนอดีตจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เกิดขึ้นในวงแคบของผู้คนในสังคมไทย และสุดท้ายก็ถูกทำลายลงด้วยการยึดอำนาจในปี 2490 การเปลี่ยนแปลงในปี 2516 อาจจะขยายวงกว้างขึ้นก็จริง แต่ก็ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำกัดขอบเขตอยู่กับคนในเมืองพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาและกลุ่มหัวก้าวหน้าบางส่วน

และสุดท้ายในปี 2519 ผู้นำทหารก็ตัดสินใจยุติการเมืองแบบการเลือกตั้ง แม้ต่อมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2535 จนทำให้ผู้คนในขณะนั้นเชื่อว่า การเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นคำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายของสังคมไทย เพราะการต่อสู้ขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น

เราดูจะเชื่อมั่นว่า การต่อสู้ในปี 2535 เป็นตัวแทนของ "ขบวนประชาธิปไตยไทย" ที่เทียบเคียงได้กับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในหลายๆ พื้นที่ของโลก

และอาจจะไม่แตกต่างจากขบวนการในจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือขบวนการในพม่าที่นำโดย นางออง ซาน ซูจี

เป็นแต่เพียงขบวนการในไทยอาจจะ "โชคดี" ที่ประสบความสำเร็จในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของประเทศได้ก็ตาม



ความเชื่อเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการอธิบายในเวลาต่อมา เพราะในการรัฐประหาร 2549 ส่วนสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยในปี 2535 กลับแปลงเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร

พวกเขาสร้างคำอธิบายผ่านวาทกรรมเรื่องทุนนิยมสามานย์ การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ การแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือเผด็จการรัฐสภา เป็นต้น

คำอธิบายเหล่านี้สรุปได้แต่เพียงว่า กลุ่มที่เปลี่ยนความคิดนั้นล้วนแต่มีทัศนะเชิงลบต่อการเลือกตั้งอย่างสุดโต่ง มองเห็นแต่ผลร้ายของการเมืองเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเชื่อถือและความศรัทธาต่อนักการเมือง แต่กลับฝากความหวังไว้กับ "คนกลาง" เช่น ผู้นำทหาร

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็สามารถเทียบเคียงได้กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาชนชั้นกลางในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษของ ค.ศ.1960 และ 1970 ที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ด้วยความเชื่อว่า นักการเมืองไม่มีศีลธรรม ไม่รักชาติ แสวงหาอำนาจ และคอร์รัปชั่น เป็นต้น

ทัศนะเช่นนี้ทำให้พวกเขาเรียกร้องหา "การเมืองแบบคนกลาง" ที่ต้องการอาศัยคนกลางที่พวกเขาเชื่อว่ามี "ความบริสุทธิ์ทางการเมือง" เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแทนนักการเมือง

และตัวแบบที่ชัดเจนก็คือ การเรียกร้องหารัฐบาลคนกลางนั่นเอง



ในสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน โจทย์สำคัญยังคงเป็นเรื่องของการสร้างประชาธิปไตย แม้พรรคการเมืองที่ไม่ใช่ปีกอนุรักษ์จะได้รับชัยชนะ แต่ก็เป็น "ชัยชนะเปราะบาง" เป็นอย่างยิ่ง และอาจจะถูกทำลายลงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ปัญหาที่จะต้องคิดไปในอนาคตก็คือ จะทำให้เกิด "ขบวนการประชาธิปไตยไทย" ขึ้นมาจริงๆ ให้ได้อย่างไร เพราะจะต้องตระหนักว่า การต่อสู้ทางการเมืองของไทยอาจจะแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ

เช่น หากมองในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมไทยไม่เคยผ่านขั้นตอนของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อเรียกร้องเอกราชในยุคอาณานิคม

และแม้สังคมไทยจะผ่านเงื่อนไขของการต่อสู้ด้วยอาวุธในกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวาง

ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งผ่านการต่อสู้ในเวทีการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจจะพอเทียบเคียงได้กับขบวนการเรียกร้องเอกราชในยุคอาณานิคมที่ถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง หรืออาจจะเทียบเคียงกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในบางประเทศที่ถูกล้อมปราบอย่างรุนแรงเช่นกัน ถ้าพิจารณาในมิติเช่นนี้โจทย์ที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรจะสร้างให้กลุ่มเสื้อแดงเป็น "ขบวนการประชาธิปไตยไทย" ให้ได้ในอนาคต

โดยหวังว่าขบวนการเช่นนี้จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองครั้งใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องนำเอาตัวเองเข้าไปผูกติดอยู่กับอุดมการณ์เก่าที่ถูกจองจำอยู่แนวคิดอนุรักษนิยม-จารีตนิยม

และที่สำคัญก็คือจะต้องไม่เอาขบวนการไปผูกโยงไว้กับตัวบุคคล จนขบวนต้องถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณชนในวงกว้าง และขณะเดียวกันก็ต้องขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้นไปสู่ชนชั้นต่างๆ

ในสภาพเช่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่กลุ่มเสื้อแดงจะต้องเข้าไปสู่การมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะการมีตำแหน่งในรัฐบาล อาจจะผูกมัดให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นข้อครหาไม่แตกต่างจากการมีตัวแทนของกลุ่มเสื้อเหลืองในรัฐบาลที่ผ่านมาในฐานะ "รางวัลตอบแทน"

แต่ก็มิได้หมายความว่า กลุ่มควรจะปฏิเสธการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา เพราะรัฐสภายังคงเป็นหนทางหลักของการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

และกลุ่มควรจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มิได้เป็นตัวแทนของอุดมการณ์อนุรักษนิยม-จารีตนิยม

และที่สำคัญก็คือแสดงบทบาทที่ชัดเจนต่อการคัดค้านเผด็จการและสนับสนุนประชาธิปไตย

สำหรับบทบาทเฉพาะหน้า กลุ่มยังจะต้องเรียกร้องหาความเป็นธรรมสำหรับกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการล้อมปราบในปี 2553 (เช่นกรณีอียิปต์ในปัจจุบัน) ตลอดจนการเรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ถูกจองจำในจังหวัดต่างๆ

ถ้ากลุ่มเสื้อแดงต้องเดินไปในทิศทางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะมีส่วนช่วยต่อการยกระดับการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างและขยายฐานทางการเมืองไปสู่คนส่วนใหญ่ในสังคม มากกว่าจะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเพียงเรื่องของชนชั้นนำและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เช่นที่ผ่านๆ มา

และจะไม่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจ จนไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการเมืองไทยได้แต่อย่างใด



วันนี้อาจจะต้องยอมรับว่า การถูก "ล้อมปราบ" ไม่ว่าจะเป็นในปี 2552 หรือในปี 2553 ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงกลายเป็น "ขบวนการเมืองใหญ่" ของสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ ในด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าการถูกล้อมปราบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การต่อสู้เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวไม่อาจจะหนีการปราบปรามจากอำนาจรัฐเก่า อย่างน้อยตัวแบบร่วมสมัยในตะวันออกกลางเป็นคำยืนยันในกรณีนี้

การถูกปราบปรามยังเป็นการทดสอบว่าขบวนการดังกล่าวได้รับความสนับสนุนจากประชาชนจริงหรือไม่

เพราะหากขบวนการนี้ไม่ได้รับการหนุนช่วยจากประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว การถูกปราบปรามอาจจะหมายถึงจุดจบของการดำเนินการทางการเมืองได้ไม่ยากนัก เพราะไม่มีใครอยากเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า การถูกปราบปรามเป็นเรื่องดี หากแต่ต้องยอมรับว่าการถูกปราบปรามเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก เพราะอำนาจรัฐและองค์กรติดอาวุธยังอยู่กับฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

และที่สำคัญก็คือกลุ่มอำนาจเก่ามักจะใช้การปราบปรามเป็นเครื่องมือของการดำรงไว้ซึ่งสถานะเดิม



ดังนั้น หากสังคมไทยสามารถสร้างขบวนการประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นผลเชิงบวกต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะอย่างน้อยขบวนการเช่นนี้จะเป็นตัว "ถ่วงดุล" ที่สำคัญกับอำนาจนอกระบบ ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจทหารเป็นเครื่องมือในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้ผู้นำทหารไม่ได้กลัวพรรคการเมือง แต่กลัวการเคลื่อนไหวของประชาชนต่างหาก

อย่างน้อยภาพข่าวจากตะวันออกกลางก็เป็น "ข้อเตือนใจ" อย่างดีสำหรับพวกเขา และหากปราศจากขบวนการประชาชนแล้ว บางทีการยึดอำนาจอาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ได้

ฉะนั้น การสร้างขบวนการประชาธิปไตยจะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการทำให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation) หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดความหวังว่าประชาธิปไตยไทยจะมี "อายุยืน" มากขึ้นด้วยการค้ำประกันของขบวนการประชาชน

เพราะไม่มีประชาธิปไตยในประเทศใดเกิดขึ้นได้เองโดยปราศจากการต่อสู้ และด้วยการทำเช่นนี้จะทำให้การบาดเจ็บและเสียชีวิตของชาวเสื้อแดงไม่สูญเปล่า !



++

อาเซียน 2015 : เส้นทางสู่ประชาคม
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 36


"เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่รัฐมหาอำนาจใหญ่จะดำเนินนโยบายด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครอง
กลับสนับสนุนให้เกิดการสร้างประชาคมขนาดใหญ่ โดยรวมเอาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกแบ่งแยก
ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ "
Jean Monnet
(ค.ศ.1888-1979)


กล่าวนำ

บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยคำกล่าวของ Jean Monnet นักการทูตชาวฝรั่งเศส และเป็นบุคคลที่มีส่วนอย่างสำคัญในการก่อตั้งประชาคมยุโรป (European Community) ซึ่งเป็นเสมือน "บรรพบุรุษ" ของสหภาพยุโรป (European Union) หรือที่เราเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า "อียู" (EU) ในปัจจุบัน

คำกล่าวในข้างต้นของ Monnet มีขึ้นในปี ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างมากถึงความฝันของเขาที่อยากเห็นการรวมตัวของบรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปให้อยู่ภายใต้ประชาคมเดียวกัน

แม้เขาจะเป็นชาวฝรั่งเศส แต่เขาก็ใฝ่ฝันด้วยอุดมคติว่าสักวันหนึ่ง เขาจะสร้าง "รัฐยุโรป" ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นโลกของ "ลัทธิชาตินิยม" ที่เน้นในเรื่องของการสร้างชาติ มากกว่าการสร้างประชาคมใหญ่สวมทับรัฐในแบบขององค์กร "เหนือชาติ" (Supra-national Organization)

Monnet เป็นตัวแทนของ "นักภูมิภาคนิยม" ที่มีแนวคิดไปไกลมากกว่าความเป็น "นักชาตินิยม" ที่ต้องการผลักดันเฉพาะชาติของตนเองเท่านั้น หากแต่เขากลับเสนอให้มองไปไกลถึงการสร้างประชาคมด้วยการบูรณาการประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้อยู่ภายใต้ "หน่วยทางการเมืองเดียว" ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น "ความใหม่" ของยุคสมัยทางการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

เพราะในช่วงทศวรรษของคริสต์ศักราช 1950-1960 นั้น ความเป็น "รัฐประชาชาติ" และลัทธิชาตินิยมในประเทศต่างๆ ยังคงมีอยู่สูงมาก

ข้อเสนอให้ต้องก้าวข้ามความเป็นรัฐในยุคสมัยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ทางการเมืองอย่างมาก

แม้หลายคนในยุคดังกล่าวอาจจะคิดว่า ความคิดของ Monnet ออกจะดู "ฝันเฟื่อง" มากกว่าจะเป็น "ฝันจริง" แต่ในที่สุดแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ยุโรปใช่ว่าจะก้าวข้ามความเป็นรัฐประชาชาติไปสู่ความเป็น "ประชาคม" เท่านั้น

หากแต่ในปัจจุบันยุโรปได้ยกสถานะจนกลายเป็น "สหภาพ" (union) ขึ้นได้อย่างแท้จริง...



การกำเนิดและความท้าทาย

ในอีกซีกโลกหนึ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ค่อยๆ ก่อตัวเป็น "องค์กร" ขึ้น โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 1967 (พ.ศ.2510) ประเทศในภูมิภาค 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้มีความเห็นร่วมกันในอันที่จะจัดตั้งองค์กรขึ้นในภูมิภาค

ผลจากปฏิญญากรุงเทพฯ ได้นำไปสู่การกำเนิดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อย่อว่า "อาเซียน" (Association of Southeast Asian Nations-ASEAN)

จากการกำเนิดในปี 1967 (2510) ซึ่งเป็นยุคของสงครามเย็นที่เห็นถึงการเผชิญหน้าในภูมิภาค และที่สำคัญก็คือกรณีของสงครามเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นสงครามใหญ่ครั้งหนึ่งของศตวรรษที่ 20

แม้ว่าอาเซียนจะกำเนิดขึ้นจากบรรดารัฐนิยมตะวันตกในภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่ได้เป็นองค์กรทางทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคงของยุคสงครามเย็น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติสมาชิกของอาเซียนมีความใกล้ชิดกับรัฐมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง ดังนั้น เมื่อสงครามเวียดนามเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายในปี 1975 จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างมากว่า อาเซียนจะเข้ามารับบทบาทในการเป็น "องค์กรความมั่นคงในภูมิภาค" หรือไม่

อย่างน้อยก็เพื่อทดแทนต่อองค์กรป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Treaty Organization - SEATO) ที่จำต้องยุติบทบาทลงหลังจากการยุติของสงครามในเวียดนาม และการถอนตัวทางทหารของสหรัฐอเมริกาออกจากสงครามในเวียดนาม

แต่ผู้นำของอาเซียนดูจะชัดเจนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนสถานะขององค์กร ให้อาเซียนกลายเป็นองค์กรความมั่นคงแทนซีโต้ซึ่งปิดตัวไปในปี 1975 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สงครามเย็นในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเวียดนามคือบททดสอบแรกของอาเซียน

อาเซียนผ่านบททดสอบนี้ได้ไม่ยากนัก แต่ความยุ่งยากก็รออยู่ข้างหน้า เพราะสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงในเวลาต่อมา อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากภูมิภาค และการกำเนิดของรัฐสังคมนิยมในอินโดจีน

อย่างไรก็ตาม ผลจากความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาที่มีมาอย่างยาวนาน จนแม้ทั้งสองประเทศจะมีสถานะเป็นเสมือน "พรรคพี่พรรคน้อง" ในภูมิภาค ที่ร่วมมือกันในการต่อสู้กับ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" ในสงครามเวียดนาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าในเบื้องลึกแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสองนั้นหาได้เป็นหนึ่งเดียวกันไม่

ในขณะที่พรรคกัมพูชามีความใกล้ชิดกับจีน พรรคเวียดนามก็มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งในภาวะเช่นนี้ รัสเซียและจีนเองก็มีความขัดแย้งกันอย่างมาก จนในที่สุดก็เกิดสงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชา และนำไปสู่การยึดครองกัมพูชาของเวียดนามในช่วงต้นปี 1979 (เป็นปีที่เป็นเสมือนการเริ่มต้นของ "สงครามเย็นยุคสอง")

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกำเนิดของสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นสงครามใหญ่อีกสงครามหนึ่งหลังจากสงครามเวียดนาม แต่ในที่สุดแล้วอาเซียนเองก็ประคับประคองตัวเองให้รอดผ่านพ้นได้

อาจกล่าวได้ว่า บททดสอบนี้จบลงด้วยชัยชนะของอาเซียน พร้อมๆ กับการล่มสลายของลัทธิสังคมนิยม


ในปี 1984 (2527) บรูไน ดารุสซาลามได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกชาติที่ 6 ของอาเซียน และต่อมาในปี 1995 (2538) เวียดนามซึ่งเดิมเคยเป็นคู่ของการเผชิญหน้ากับอาเซียน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 7 และตามมาด้วยลาวและพม่าเป็นสมาชิกในลำดับที่ 8 และ 9 ในปี 1997 (2540) จนสุดท้าย กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ในปี 1999 (2542)

สำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของกลุ่มประเทศในอินโดจีนนั้นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง สภาวะของการแบ่งกลุ่มการเมืองแบบเก่าเป็นอันสิ้นสุดลง

อาเซียนยุคหลังสงครามเย็นขยายตัวด้วยการรับสมาชิกใหม่ แม้จะมีข้อโต้แย้งในกรณีของการรับลาว พม่า และกัมพูชา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า การรับสมาชิกทั้งสามชาตินี้ในสุดท้ายแล้วทำให้อาเซียนเป็น "องค์กรแห่งภูมิภาค" อย่างแท้จริง เพราะอาเซียนเป็นองค์กรของทุกประเทศในภูมิภาค

ปัญหาของอาเซียนในยุคหลังสงครามเย็น ก็คือบททดสอบสำคัญเกิดจากขีดความสามารถในการจัดการวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

เช่น อาเซียนถูกวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่สามารถในการควบคุมวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 (2540) และการไม่สามารถจัดการกับปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในชวาในช่วงปี 1997-1998 ตลอดรวมถึงวิกฤตการณ์ในติมอร์ตะวันออก

ผลของวิกฤตเหล่านี้ในเชิงองค์กรของการบริหารจัดการให้คำตอบว่า อาเซียนอาจจะคงมีความอ่อนแออยู่พอสมควร!

ถ้าพิจารณาในแง่ดี ข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ล้วนมีส่วนผลักดันอาเซียนให้ต้องพิจารณาตัวเองมากขึ้น และขณะเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้อาเซียนปรับตัวมากขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของโลกหลังสงครามเย็นในภูมิภาค



จากความฝันสู่การบูรณาการ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำของอาเซียนยังคงมีความฝันอยู่ตลอดเวลาว่า สักวันหนึ่งอาเซียนอาจจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาค... ว่าที่จริง ความฝันเช่นนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่ Jean Monnet ได้กล่าวไว้ในข้างต้นที่ใฝ่ฝันว่า วันหนึ่งยุโรปจะเป็นประชาคม!

และวันหนึ่งก็มาถึง... การประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียในปี 2003 (2546) ได้มีการตกลงใจที่สำคัญในอันที่จะนำพาอาเซียนให้ก้าวไปสู่อนาคตด้วยความเป็นประชาคม การตัดสินใจดังกล่าวยังรวมไปถึงแผนปฏิบัติการฮานอย และแผนปฏิบัติการเวียงจันท์ ที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการเป็นประชาคมในอนาคต แม้วิสัยทัศน์เก่าจะกำหนดกรอบเวลาไว้ถึง 20 ปี โดยคาดหวังว่าอาเซียนจะเป็นประชาคมให้ได้ในปี 2020 (2563)

แต่ผลจากการประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2007 (2550) ได้ตกลงเลื่อนเวลาขึ้นมาอีก 5 ปี คือมุ่งหวังที่จะเป็นประชาคมให้ได้ในปี 2015 (2558)

อีกทั้งในปี 2004 (2547) ยังได้มีการจัดทำ "กฎบัตรอาเซียน" ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน และเป็นกรอบทางกฎหมายให้แก่ชาติสมาชิกทั้งปวงในการกำหนดความสัมพันธ์ต่อกัน

ประเด็นสำคัญก็คือ ได้มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจนที่จะสร้างเสาหลัก 3 เสาเพื่อรองรับต่อความเป็นประชาคมที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community - APSC), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)

นอกจากนี้ การประชุมสุดยอดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผู้นำอาเซียนยังได้เร่งรัดให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ภายในอาเซียน (ASEAN Connectivity) โดยหวังว่าการเชื่อมต่อดังกล่าวจะเป็นหนทางหนึ่งของการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนให้เกิดขึ้นให้ได้

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในภูมิภาคโดยตรง เพราะความเป็นประชาคมย่อมนำมาซึ่งการข้ามแดนอย่างเสรี อันจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามเส้นเขตแดนของรัฐเป็นไปอย่างเสรี

แตกต่างจากการข้ามแดนในสภาวะปัจจุบันที่เส้นเขตแดนของรัฐยังคงมีความสำคัญและมีความ "ศักดิ์สิทธิ์" อยู่มาก บุคคลย่อมไม่สามารถข้ามเส้นเขตแดนของรัฐโดยปราศจากคำยินยอมและปราศจากเอกสารกำกับ อันเป็น "ใบอนุญาต" จากรัฐได้แต่อย่างใด

แนวคิดในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมด้วยปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างกันในภูมิภาค เขตการค้าเสรีอาเซียน ตลอดรวมถึงส่งผลให้เกิดการข้ามแดนอย่างเสรี

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดปรากฏการณ์ของการเปิดพรมแดนเสรี ไม่แตกต่างจากตัวแบบของสหภาพยุโรปในรูปแบบใหม่ที่เส้นเขตแดนของรัฐที่มีลักษณะเป็น "Soft Border" มากกว่าจะเป็น "Hard Border" เช่นเส้นเขตแดนแบบเก่า

เช่นในอนาคต ชาวต่างภูมิภาคที่เดินทางเข้ามาในอาเซียนอาจจะขอวีซ่าผ่านแดนเพียงจุดเดียว ก็สามารถเดินทางได้ทั่วทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกับ "เชงเกนวีซ่า" ของยุโรป

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศในแถบนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับการที่ความสำคัญของเส้นเขตแดนในแบบเก่าที่มีลักษณะเป็นแบบ "Hard" จะเปลี่ยนไป

แต่ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เส้นเขตแดนไม่ได้หายไป เป็นแค่หมดความสำคัญลง ไม่ได้อยู่ภายใต้วาทกรรมของลัทธิชาตินิยมแบบเก่า

การก้าวของยุโรปไปสู่ความเป็นสหภาพ ก็เป็นคำตอบของการก้าวข้ามบริบทความขัดแย้งไปสู่การบูรณาการและการอยู่ร่วมกันในภูมิภาค

และถ้าอาเซียนทำสำเร็จได้จริงแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่สอง ที่เกิดการบูรณาการในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง

ปัญหาสำหรับไทยก็คือ แล้วรัฐบาลและสังคมไทยเตรียมตัวกับความเป็นประชาคมของอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นนี้มากน้อยเพียงใด...

หรือจะคิดง่ายๆ ว่า เหลืออีกตั้ง 4 ปี ก็เลยไม่ต้องคิดเตรียม !


.

2554-08-28

เสียงจากผู้นิยมกษัตริย์ในอเมริกา, วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฯ โดย เกษียร เตชะพีระ

.

เสียงจากผู้นิยมกษัตริย์ในอเมริกา
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ระเบียบการเมืองหนึ่งจะจัดการกับผู้มีแนวคิดแหกคอกนอกลู่นอกทางทวนกระแสสุดโต่งสุดขั้วอย่างไรดี? ปราบปรามขับไล่เขาออกไปอยู่นอกกฎหมายใต้ดิน? หรือจะให้เขาอยู่ได้อย่างถูกกฎหมายบนดินแต่นอกระบบ? หรือจะให้เขาเข้ามาในระบบ มาต่อสู้กับคนอื่นทางความคิดด้วย เหตุผลข้อถกเถียงอย่างถูกกฎหมายโดยสันติและเปิดเผยตามความเชื่อของตน?

น่าสนใจที่สหรัฐอเมริกาเลือกให้ผู้นิยมระบอบกษัตริย์อย่าง เจ. แอนโธนี แมคคาลิสเตอร์ กับพวกเข้ามารณรงค์ต่อสู้ทางความคิดตามความเชื่อของตนอย่างเปิดเผยและถูกกฎหมายในระบบ กับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซึ่งนิยมระบอบประธานาธิบดีที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อ 230 ปีก่อน

โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ว่ารัฐมนตรีกลาโหมหรือเสนาธิการทหารแม่ทัพนายกองอเมริกันไม่ได้แสดงปฏิกิริยาหวาดวิตกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด

ทำให้ชาวอเมริกันและผู้ฟังทั่วไปได้มีโอกาสสดับตรับฟังทรรศนะเหตุผลของเขาในรายการ The Changing World ตอน For King or Country? Part 2 ทางสถานีวิทยุ BBC เมื่อ 5 เมษายนศกนี้ ว่าทำไมอเมริกาจึงควรเปลี่ยนไปปกครองในระบอบกษัตริย์แทน?
(www.thechangingworld.org/archives/2011/wk17.php)


เจ. แอนโธนี แมคคาลิสเตอร์ หนุ่มอเมริกันผิวดำเชื้อสายสก๊อตกับแคนาดาวัย 29 ปี ผู้เกิดที่ลอสแองเจลิสคนนี้เป็นนักดนตรีเชลโลคลาสสิกโดยวิชาชีพ และเป็นประธานสันนิบาตนิยมกษัตริย์สากล สาขาลอสแองเจลิส โดยอุดมการณ์ทางการเมือง ( International Monarchist League, Los Angeles Chapter www.monarchistleaguela.org/ )

เขาชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนแต่ต้นว่าระบอบกษัตริย์ที่เขาสนับสนุนนั้นคือระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy, ไม่ใช่ระบอบเจ้าแผ่นดินที่ปกครองด้วยอาญาสิทธิ์แบบโบราณ,

พูดง่ายๆ ว่าเขาอยากได้ระบอบกษัตริย์เหมือนที่อังกฤษมีทุกวันนี้นั่นแหละ กล่าวคือกษัตริย์ทรงมีบทบาทเพียงเท่าที่ประชาชนเห็นชอบด้วย, มีตัวบทกฎหมายระบุรองรับบทบาทนั้นๆ ของพระองค์อย่างชัดเจน, และมีสภาผู้แทนราษฎรคอยประกบประกอบอยู่

แมคคาลิสเตอร์ลำดับเรียบเรียงเหตุผล 3 ประการที่รองรับสนับสนุนระบอบกษัตริย์ว่า: -

1) ธรรมชาติของมนุษย์

มนุษย์มีความปรารถนาโดยธรรมชาติที่จะเฉลิมฉลองชนชั้นนำในหมู่พวกตน, ต้องการความรู้สึกอัศจรรย์ใจ, โหยหาความวิเศษสง่างามแห่งพระราชาและราชสำนัก

ดังนั้นเองจะเห็นได้ว่าในอเมริกา เมื่อไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือนัยหนึ่งราชบัลลังก์ว่างเปล่า ชาวอเมริกันก็เอาดาราเซเล็บฮอลลีวู้ดมายกย่องปลาบปลื้มเทิดทูนเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าแทน เพราะดาราเหล่านี้แสดงออกซึ่งความรวยหรูเลิศอลังการ มีคฤหาสน์พำนักโอ่โถงสง่างามเยี่ยงราชวัง

หรือในกรณีประธานาธิบดีอเมริกัน ก็มีธรรมเนียมประเพณีประพฤติปฏิบัติหลายอย่างเทียบเคียงเลียนเยี่ยงกษัตริย์ อาทิ Camp David อันเป็นค่ายพักผ่อนสำหรับประธานาธิบดี ก็เลียนแบบพระตำหนักแปรพระราชฐานตามหัวเมือง, State of the Union Address อันเป็นคำปราศรัยสำคัญของประธานาธิบดีเพื่อรายงานสถานการณ์ของประเทศประจำปีต่อสภาคองเกรส ก็เทียบได้กับพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา, การจุดพลุและเดินขบวนพาเหรดฉลองวันชาติสหรัฐ ก็เทียบได้กับงานฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา, หรือการตั้งสมญาทำเนียบประธานาธิบดีสมัยเคนเนดี้ว่าเปรียบประดุจปราสาทราชวัง Camelot ในตำนานสมัยพระเจ้าอาเธอร์ของอังกฤษ เป็นต้น

เหล่านี้ว่าไปแล้วก็คือการสร้างเรื่องเล่าเพื่ออวยเกียรติยศศักดิ์ศรีให้สามัญชนที่ขึ้นกุมอำนาจรัฐ มันสะท้อนความโหยหาที่จะปลาบปลื้มเฉลิมฉลองชนชั้นนำซึ่งแฝงฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของคนเรา


2) วิพากษ์ทรรศนะแบบฉบับของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยต่อระบอบกษัตริย์

พวกนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยในอเมริกามักแสดงท่าทีเกลียดกลัวและโจมตีระบอบกษัตริย์ว่าเป็นยุคมืด กดขี่ราษฎร ดังที่ชาวอเมริกันเคยลุกขึ้นก่อกบฏต่อกษัตริย์อังกฤษเพื่อกู้อิสรภาพมาแล้วในอดีต

พวกเขากล่าวอ้างว่าเมื่อเทียบกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยแล้ว ระบอบกษัตริย์ไม่สามารถผนวกรวมประชาชนเข้ามาด้วยกันได้มากเท่า เพราะเป็นระบอบปกครองทรราชย์อาญาสิทธิ์

แมคคาลิสเตอร์มองสวนทรรศนะแบบฉบับอเมริกันดังกล่าวว่า เอาเข้าจริงสถาบันกษัตริย์ เป็นศูนย์รวมเอกภาพ ความสามัคคี ความมั่นคงและอุ่นใจของคนในชาติต่างหาก

ในทางกลับกัน นักการเมืองมาแล้วก็ไป และต่อให้ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จที่สุด ก็ยังบกพร่องอย่างลึกซึ้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Charles A. Coulombe นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการสังกัดสันนิบาตนิยมกษัตริย์สากลได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยกลับคืนว่าการเลือกตั้งก่อเกิดมายาคติแห่งประชาธิปไตยว่าลำพังเพียงแค่หย่อนบัตรลงหีบเท่านั้น.....

1) มันก็สามารถเชื่อมต่อประชาชนผู้ออกเสียงเข้ากับนักการเมือง และ

2) มันช่วยให้ประชาชนคุมนักการเมืองได้จริงๆ

ซึ่งดูจากประสบการณ์ก็จะพบว่ามันหาได้จริงเช่นนั้นไม่ ดังปรากฏนักการเมืองทุจริต บิดเบือนฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบ ทรยศหักหลังประชาชนมากมาย อย่างไรก็ตาม ด้วยมายาคติข้างต้นนี้ เราก็ให้อำนาจมหาศาลแก่นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง เช่น อำนาจประกาศสงคราม, อำนาจในการเปลี่ยนตัวผู้นำ ฯลฯ

ทั้งที่หากอำนาจทำนองเดียวกันตกเป็นของผู้นำที่สืบเชื้อสายสันตติวงศ์มาแล้ว เรากลับหวาดระแวงและคอยจับตาดูตลอดเวลา

นอกจากนี้ ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยมักโจมตีว่าจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบกษัตริย์คือเราไม่อาจโหวตให้กษัตริย์พ้นจากตำแหน่งได้

ต่อเรื่องนี้ Coulombe ตอบว่าหากกษัตริย์พระองค์ใดไม่ดีจริงก็มักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน โดยสมาชิกราชวงศ์ที่เหลือจะช่วยกันแก้ไขปัญหาให้พ้นไป ทว่าเหตุทำนองนี้ก็ไม่เกิดบ่อยนัก เพราะเอาเข้าจริงระบอบกษัตริย์มักปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้มาก แม้ว่าลักษณะดังกล่าวจะสรุปถอดถอนออกมาเป็นสูตรสำเร็จทางวิชาการไม่ได้และค่อนข้างยุ่งเหยิงยุ่งยากก็ตาม

ในทางกลับกัน ตัวประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งต้องคอยระวังตัวกลัวถูกคนอื่นแย่งอำนาจ มันสะท้อนว่าเนื้อแท้แล้วระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบ่งแยกคนให้แตกกัน ก่อเกิดบาดแผล แก่ระเบียบการเมืองซึ่งต้องค่อยๆ เยียวยาอยู่ช้านานกว่าจะหาย ยกตัวอย่างเช่นการกล่าวร้ายโจมตีกันวุ่นวายระหว่างนักการเมืองพรรคเดียวกันและต่างพรรคในช่วงรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของอเมริกาที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ เป็นต้น

ฉะนั้น ในบรรดาประเทศที่โค่นกษัตริย์ออกไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้มาแทนมักจะเป็นแก๊ง ก๊วนต่างๆ ที่แก่งแย่งกันทุจริตรีดไถเหมือนๆ กัน

ผู้นิยมสาธารณรัฐมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบแทนตนที่ชอบธรรมแต่เพียงระบอบเดียว เป็นวิธีการเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดทรราชได้

แต่เอาเข้าจริงประชาธิปไตยบรรลุได้เพียงแค่อำนาจสูงสุดของเสียงข้างมากชั่วคราวเท่านั้น (the supremacy of a temporary majority) ขณะที่ระบอบกษัตริย์ปกครองจากหลักการที่สูงส่งกว่าแค่การเดินตามกระแสเลือกตั้ง และในระบอบที่ผสมผสานสถาบันกษัตริย์เข้ากับประชาธิปไตยนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ต่างหากที่คอยพิทักษ์ปกป้องส่วนที่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้

สำหรับฐานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบผสมผสานดังกล่าว ปกติกษัตริย์จะไม่ทรงมีอำนาจจริงในการเมืองประจำวัน แต่ทรงมีศักยภาพทางอำนาจในภาวะวิกฤตคับขันเมื่อรัฐบาลทำงานไม่ได้

นอกจากนี้กษัตริย์ยังทรงมีบทบาทถ่วงดุล-ปรับดุลในการเมืองประจำวันด้วย เพราะพระองค์เป็นหลักเป็นแกนมาตรฐานของบ้านเมืองให้นักการเมืองเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จึงทรงมีผลต่อการเมืองที่เหลือ

ในฐานะนักดนตรีคลาสสิก แมคคาลิสเตอร์เปรียบเปรยว่ากษัตริย์ยังทรงดูแลผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เสมือนวาทยกรวงซิมโฟนีออเคสตราคอยกำกับดูแลไม่ให้เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งชิ้นใดเล่นผิดโน้ตหรือดังสนั่นเกินขนาดจน (ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง) ไปกลบเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นหรือไม่สอดคล้องกลมกลืนกับผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะไปกลบกดทับผลประโยชน์ของชนส่วนน้อย


ฉะนั้น หากไร้กษัตริย์ ประเทศก็จะแตกแยก คนส่วนหนึ่งในวงก็อาจจะยึดเอาทั้งประเทศไปครอง

ส่วนที่หาว่ากษัตริย์ย่อมเหินห่างและฉะนั้นจึงไม่สนองผลประโยชน์ของประชาชนก็ไม่จริง ดังจะเห็นได้ว่าทรงสามารถบันดาลใจให้ราษฎรภักดีต่อชาติได้ผ่านการภักดีต่อพระองค์ อีกทั้งราษฎรก็รู้สึกว่าการสัมพันธ์กับพระองค์มีความหมายอิ่มเอิบลึกซึ้งกินใจกว่าสัมพันธ์กับนักการเมืองธรรมดา โดยแมคคาลิสเตอร์ได้อ้างคำสัมภาษณ์ของหญิงไทยวัยกลางคนผู้หนึ่ง ณ วัดไทยในลอสแองเจลิส เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประกอบว่า (แม้ไวยากรณ์และศัพท์แสงอังกฤษของเธออาจผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เนื้อความชัดเจนจนไม่จำต้องแปลเป็นไทย):

"The King is the best of the whole world. I love the King the most of the whole world. I love him more than my own life. Everybody do that, believe me. I can die for him. 100%."

ทำไมพระองค์จึงบันดาลใจคนไทยให้เกิดความรู้สึกอันแรงกล้าได้มากขนาดนั้นล่ะครับ?

"Because he do a lot of good things. It?s not he talk only but he do it. You know you are a king, why do you have to go to the forest, to the jungle, to the mountain. You are the King you can stay very good in the palace. But he don?t. He pity on the people. He want the people to live in a good life."

อนึ่ง ชนชั้นนักการเมืองนั้นมีบุคลิกโดยธรรมชาติที่ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ทุ่มสุดตัว หิวอำนาจ เหี้ยมเกรียม ไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่สงสารผู้แพ้ แรงขับเคลื่อนในจิตใจสูงมาก ซึ่งก็ดีต่อการเป็นผู้นำพาประเทศให้ก้าวรุดหน้าไป ทว่าก็ต้องมีคนคอยถ่วงดุลไว้บ้าง ซึ่งก็คือกษัตริย์นั่นเอง


3) กษัตริย์ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจ

กษัตริย์ยังทรงเป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นตัวแทนศีลธรรมที่ถูกที่ชอบทางจิตใจ ด้วยความที่สถาบันกษัตริย์มีรากเหง้าอยู่ในประวัติศาสตร์แต่อดีต และเป็นตัวแทนความต่อเนื่องไปในอนาคต สถาบันกษัตริย์จึงดำรงอยู่เกินกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าปัจจุบัน อยู่เหนือความผูกพันกับการดำรงอยู่ของเราในฐานะปัจเจกบุคคล แมคคาลิสเตอร์อุปมาอุปไมยว่าในแง่นี้กษัตริย์จึงเปรียบเสมือน

พ่อแม่ที่อยู่เหนือกาลเวลา

แมคคาลิสเตอร์และ Coulombe ผลัดกันสรุปตบท้ายว่าผู้นิยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยมักอ้างเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะปกครองตนเอง แต่เอาเข้าจริงใครล่ะที่ได้ปกครองในทางปฏิบัติ? ก็คนคนเดียวที่มาจากการเลือกตั้งนั่นแหละ คือตัวประธานาธิบดีไง ซึ่งก็มีอำนาจราวกับกษัตริย์แต่ก่อน ชั่วแต่ว่ากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากสืบสันตติวงศ์มา, อยู่เหนือการเมืองเรื่องแบ่งพรรคฝักฝ่าย และยึดถือผลประโยชน์ของทุกคน

สาธารณรัฐนั้นเข้าท่าบนแผ่นกระดาษ, ส่วนประชาธิปไตยก็ดีในเชิงนามธรรม แต่เมื่อใดเราว่ากันบนพื้นฐานความเป็นจริงและประสบการณ์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ กำจัด กวาดล้างกัน ส่วนฝ่ายค้านก็ถูกข่มเหงรังแก

ฉะนั้น หากถามว่าจะ For King or Country ดีแล้ว? แมคคาลิสเตอร์ตอบในทำนองราชาชาตินิยมว่าเอาทั้งคู่นั่นแหละ เพราะแยกจากกันไม่ได้

แน่นอนว่าย่อมมีชาวอเมริกันและผู้ฟังทั่วไปทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างจากทรรศนะเหตุผลประการต่างๆ ของแมคคาลิสเตอร์กับพวกดังยกมาข้างต้นเป็นธรรมดา อาทิ ข้อคิดเห็นโต้แย้งของ Mona Broshammar กับพวกที่สังกัดสมาคม Republikanska Foreningen ในสวีเดน (http://www.repf.se/) ซึ่งปรากฏในตอน For King or Country? Part 1, 29 มีนาคม 2011

ทว่าประเด็นสำคัญอยู่ตรงระเบียบสถาบันการเมืองอเมริกันยินดีเปิดรับการท้าทายโต้แย้ง ด้วยเหตุผลข้อถกเถียงดังกล่าวอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา อันจะนำไปสู่การสานเสวนาแลกเปลี่ยน เรียนรู้หรือนัยหนึ่งทะเลาะกันอย่างสันติที่อาจก่อตัวเป็นพลังพลวัตทางปัญญาในสังคมและจุดประกายให้เกิดกระแสการปรับตัวเปลี่ยนแปลงปฏิรูประเบียบสถาบันการเมืองในที่สุด

มันอาจไม่นำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างที่แมคคาลิสเตอร์กับพวกมุ่งหวัง แต่มันย่อมมีส่วนช่วยเปิดเผยบ่งชี้จุดอ่อนช่องโหว่ข้อบกพร่องในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยอเมริกันดังที่เป็นอยู่ และเป็นโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตัวมันเองให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

เทียบกับการตวาดข่มขู่ปิดกั้นเหยียบกดผู้เห็นต่างสุดโต่งให้เงียบด้วยความกลัวแล้ว วิธีแบบอเมริกันนับว่าฉลาดกว่าและเป็นคุณต่อระเบียบการเมืองและสังคมของตัวเองยิ่งกว่ามากมายนัก



++

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทิศทางและวิธีการ
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.












www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2011/06/act01100654p1.jpg

(เรียบเรียงเพิ่มเติมจากคำอภิปรายของผู้เขียนในวงสนทนาแบบเปิดข้างต้นในภาพ)


หากจะเข้าใจความหมายนัยของการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตที่เกิดขึ้น ก็จำต้องยึดกุมทิศทางหลักๆ ของการเปลี่ยนแปลงให้ได้เสียก่อน

ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งมีทิศทางหลัก 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ: -

1) การเปลี่ยนย้ายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ จากชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง >>ชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

แสดงออกเป็นรูปธรรมผ่านความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำในระบบราชการและกลุ่มทุนเก่าที่เป็นพันธมิตร ซึ่งมักเรียกกันว่า "อำมาตย์" กับกลุ่มทุนใหม่ที่เข้าสู่วงการเมืองโดยตรงขนานใหญ่ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านพรรคไทยรักไทย (พลังประชาชน-เพื่อไทยในกาลต่อมา) ซึ่งมักเรียกกันว่า "ทุนสามานย์"

2) การเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำ >>การเมืองของมวลชน

แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นและบทบาทโดดเด่นครอบงำสังคมการเมืองของขบวนการมวลชนระดับชาติ 2 ขบวน ที่ก่อตัวจัดตั้งกันขึ้นโดยค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐราชการ ได้แก่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) โดยที่ต่างฝ่ายก็มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ภายใน การเคลื่อนไหวต่อสู้ขัดแย้ง ระหว่างสองขบวนการภายใต้ร่มการนำหลวม ๆ ของแกนนำกำหนดให้การเมืองระยะที่ผ่านมา กลายเป็น "การเมืองเสื้อสี" หรือ "สงครามระหว่างสี" ไป

3) การปรับเปลี่ยนด้านนโยบายเศรษฐกิจ จากนโยบายการพัฒนาที่ชี้นำโดยเทคโนแครต >>นโยบายการกระจายความมั่งคั่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังการเมือง

แสดงออกผ่านการปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายของ "การเมืองบนท้องถนน" หรือ "ม็อบ" ชุมชนชาวบ้านหลายท้องที่ทั่วประเทศ ซึ่งประท้วงและเรียกร้องต่อภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ในประเด็นการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจจัดการทรัพยากรสำคัญแก่ประชาชนในรูป การต่างๆ

เหล่านี้ทำให้แบบวิถีการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจแต่เดิมซึ่งเปรียบประหนึ่ง (เทคโนแครตปิดห้องประชุมวางแผนกันเองตามหลักเหตุผลทางเศษฐกิจ โดยกลุ่มทุนธุรกิจคอยล็อบบี้อยู่ข้างห้อง และกำลังทหารตำรวจล้อมวงเป็น รปภ.กันม็อบอยู่ภายนอก) มิอาจดำเนินได้ต่อไป

ต้องปรับเปลี่ยนไป (ตัวแทนกลุ่มธุรกิจการเมืองต่างๆ กับทีมที่ปรึกษาเปิดห้องประชุมวางนโยบายเศรษฐกิจกัน โดยพยายามปรับหาสมดุลที่พอรับได้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ กับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มข้าราชการเทคโนแครตนั่งคอยเสนอคำแนะนำทางเทคนิค กฎหมาย และปฏิบัติตามนโยบายอยู่ข้างห้อง และบรรดา ส.ส.ตัวแทนฐานเสียงเลือกตั้ง กับม็อบสารพัดกลุ่มกดดันอยู่ภายนอก)


การจัดระเบียบอำนาจใหม่จึงส่งผลออกมาเป็นนโยบายประชานิยม สวัสดิการเบื้องต้น ภายใต้ยี่ห้อสูตรผสมต่างๆ ของรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกชุดทุกฝ่าย อันจะประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยทางการเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป

ประจวบกับบริบทของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคก็เปลี่ยนแปลงไปในทางสอดรับกัน กล่าวคือ วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาและเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก ทำให้ความไม่สมดุลระดับโลกของ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา (ที่เรียกกันว่า "จีเมริกา": อเมริกานำเข้า/ จีนส่งออก, อเมริกาบริโภค/จีนอดออม, อเมริกาติดหนี้/จีนเกินดุล, อเมริกานำเข้าทุน/จีนส่งออกทุน) ไม่อาจธำรงไว้ให้ยืนนานต่อไป จีนต้องหันมาเน้นตลาด-อุปสงค์-การบริโภค-เสริมเพิ่มรายได้ค่าแรง-สวัสดิการสังคมในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดส่งออกตะวันตกที่อ่อนเปลี้ยลง

ไทยในฐานะที่เข้าร่วมขบวน "คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นหัวหน้า" ร่วมกับนานาประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์มาระยะหนึ่งแล้ว (หลังจากขบวนห่านบินที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูงตกต่ำแตกกระจัดพลัดกระจายตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง) ก็จำต้องปรับตัวตาม โดยค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างกำลังแรงงาน รายได้ดีขึ้นและสวัสดิการสูงขึ้น เพื่อเป็นฐานพลังผู้บริโภคและอุปสงค์ในประเทศแก่เศรษฐกิจไทย ชดเชยช่องทางที่ฝืดเคืองและตีบแคบลงของตลาดโลกตะวันตก ที่เคยรองรับเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกแต่เดิมมา


กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางหลักดังกล่าวข้างต้น ดำเนินไปผ่านวิธีการสำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ: -

1) การดึงมวลชนเข้าร่วมการเมืองขนานใหญ่

น่าสนใจว่าชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คือฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องการรักษาระเบียบการเมืองแบบเดิมไว้ กับ ฝ่ายชนชั้นนำทางธุรกิจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องการสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา ต่างก็หันไปดึงมวลชนเข้ามาร่วมการต่อสู้ข้างตนอย่างขนานใหญ่ด้วยกันทั้งคู่

กล่าวคือ ฝ่ายแรกก็พบว่าลำพังกำลังชนชั้นนำกลุ่มตนถ่ายเดียวไม่พอจะปกปักรักษาระเบียบการเมืองแบบเดิมไว้ จึงต้องดึงมวลชนเสื้อเหลืองมาเป็นพวกเพื่อช่วยต่อต้านและโค่นยุบรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-สมชาย กับพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยรวมทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540

ส่วนฝ่ายหลังก็พบเช่นกันว่า ลำพังกำลังชนชั้นนำกลุ่มตนถ่ายเดียวก็ไม่พอจะสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา จึงต้องดึงมวลชนเสื้อแดงมาเป็นพวกเพื่อช่วยต่อต้านและโค่น คปค., รัฐบาล สุรยุทธ์-อภิสิทธิ์รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ พ.ศ.2550

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ขบวนการมวลชนทั้งสองเป็นแค่เครื่องมือหรือลิ่วล้อหางเครื่องที่คิดเองไม่เป็น-ทำเองไม่ได้ของชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย, ดังจะเห็นได้จากพลวัตของการเคลื่อนไหวมวลชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งบ่อยครั้งและนับวันจะเลยธงและนอกเหนือการกำกับชี้นำและเป้า ประสงค์ของกลุ่มชนชั้นนำหัวขบวน

เพียงแต่การก่อตัวจัดตั้งเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนแต่ละฝ่ายต่างก็ได้รับการอุดหนุน ช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากชนชั้นนำฝ่ายตนอย่างทุ่มเทเปิดตัวและเปลืองตัวเต็มที่ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ช่วยให้การก่อตั้งและยืนหยัดต้านรับแรงเสียดทาน และปราบปรามจากกลไกอำนาจรัฐของ ขบวนการเหล่านี้สะดวกง่ายดายและเหนียวแน่นทนทานขึ้นมาก

2) การใช้วิธีการนอก/ผิดรัฐธรรมนูญ

อีกเช่นกัน ทั้งฝ่ายชนชั้นนำกับพันธมิตรมวลชนที่ต้องการรักษาระเบียบการเมืองเดิมไว้ และฝ่ายชนชั้นนำกับพันธมิตรมวลชนที่ต้องการสร้างระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมา ต่างก็พบว่าถึงจุดหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตน มิอาจจำกัดวิธีการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองไว้ภายในกรอบ กติการัฐธรรมนูญ ทั้งสองฝ่ายจึงพร้อมจะล่วงละเมิดกฎกติกาและใช้วิธีการนอก/ผิดรัฐธรรมนูญ ในการให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นถวายพระราชอำนาจคืนโดยอ้างมาตรา 7, รัฐประหาร, ตุลาการธิปไตย, ก่อจลาจล, ลุกขึ้นสู้, ยึดทำเนียบ, ยึดสถานีวิทยุ/ดาวเทียม, ยึดสนามบิน, ยึดย่านธุรกิจกลางเมือง, ก่อการร้ายกลางเมือง, ก่อการร้ายโดยรัฐ ฯลฯ

3) การดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมือง ในฐานะแหล่งความชอบธรรมต่างหากไปจากประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ

สะท้อนออกโดยการกล่าวอ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาเข้าข้างฝ่ายตนในบริบทการต่อสู้หักโค่นทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งโจมตี กล่าวหา ฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างดกดื่นมากมายมหาศาล เป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผลลัพธ์รวมของปฏิบัติการฉวยโอกาสทางการเมืองเหล่านี้ทำให้สถานะที่อยู่เหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์กระทบกระเทือน และหลักการที่ว่าสถาบันกษัตริย์เข้ากันได้และไปกันได้กับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานรองรับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคลอนแคลน

ส่งผลให้ระเบียบการเมืองเก่าหรือระบอบความเป็นไทยค่อยเสื่อมถอยลง

เกิดปรากฏการณ์ (อำนาจนิยมของฝ่ายรัฐ-รัฐบาล) ควบคู่กับ (อนาธิปไตยบนท้องถนน) ตลอดระยะรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา

กล่าวคือไม่ว่าฝ่ายใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่างก็ใช้กฎหมายและกลไกเครื่องมือเผด็จอำนาจ จำกัดสิทธิเสรีภาพและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยมทารุณและไม่พร้อมรับผิด เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551, กฎหมายอาญามาตรา 112, กอ.รมน., การส่งกำลังตำรวจ-ทหารติดอาวุธสงครามร้ายแรงเข้าเผชิญหน้าการชุมนุมของมวลชน เกาะติดควบคุมมวลชนในพื้นที่

ในทางกลับกัน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็หันไปใช้ท้องถนนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นนิจศีล โดยที่ในกระบวนการนั้น การประท้วงอย่างสันติวิธี, การใช้ความรุนแรงเพื่อป้องกันตนเองจากม็อบฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่รัฐ, และการลอบสังหารและก่อการร้ายกลางเมือง ฯลฯ กลืนกลายเข้าหากันอย่างยากที่จะจำแนกแยกแยะขึ้นทุกที เกิดเป็นภาวะบ้านเมืองวุ่นวายไร้ขื่อแปและอนาธิปไตย ที่ส่งผลเสียหายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองและประเทศชาติมหาศาล ทว่ากลับยากที่จะพิสูจน์ทราบตัวการผู้รับผิดชอบชัดเจน

(ยังมีต่อ)
..... ค้นไม่พบ ตอนต่อ


.

2554-08-27

ปรัชญา, + คนดี โดย คำ ผกา

.

ปรัชญา
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 90


หลายๆ คนบอกว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้แรงกดดันหรือถูกขนาบด้วยสองอำนาจจนแทบจะเป็นรัฐบาลที่ต้องทำงานอยู่ระหว่างเขาควายสองข้าง (dilemma)
นั่นคือต้องรักษาสมดุลอำนาจกับกลุ่มอำนาจเก่า และการแสดงท่าทีประนีประนอมแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งนี้ เพราะกลัวว่าจะมีการปลุกมวลชนขวาจัดคลั่งชาติมาสร้างสถานการณ์เรียกร้องให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารอีก
อีกด้านหนึ่งรัฐบาลนี้ก็ถูกกดดันจากฝ่ายประชาชนเสื้อแดงที่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่สามารถคะคานกับกลุ่มอำนาจเก่าและอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าอภิชน

แต่ฉันกลับไม่เห็นเช่นนั้น

แน่นอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมและการประสานผลประโยชน์
แต่ธงที่ใหญ่กว่านั้นคือ คุณจะประนีประนอมด้วย "ปรัชญา" ชุดไหน

เช่น การดำเนินนโยบายประนีประนอมด้วยการยึดเอาปรัชญาของประชาธิปไตยและประชาชนนำหน้าด้วย ต่างจากนโยบายประนีประนอมที่ยึดเอาปรัชญาของการเอาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องให้รอด หรือประนีประนอมด้วยการไม่มีปรัชญาอะไรเลยแต่เพียงแค่เอาตัวให้รอดไปวันๆ
ฉันไม่เห็นว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์จะต้องนำตัวเองไปอยู่ใน dilemma นั้น เพราะรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความชอบธรรมทุกประการในการดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเอง
ไม่ใช่จะก้าวไปทางซ้ายก็กลัวฝั่งขวาจะเกลียด จะขยับขาไปขวาก็กลัวโดนทางซ้ายจะกระทืบ 
ผิดจากรัฐบาลชุดก่อนที่ไม่มีความชอบธรรมจากเสียงของประชาชนที่ยอมรับ ทั้งไม่ได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติเนื่องจากที่มาของอำนาจรัฐบาลไม่ชอบธรรม


อาจจะมีคนเถียงว่า รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยก็มาจากเสียงของประชาชนยังถูกรัฐประหารออกไปง่ายดาย แต่สถานการณ์ของพรรคไทยรักไทยในวันนั้นต่างจากสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ 

ความล้มเหลวของรัฐบาลไทยรักไทยในวันนั้นมาจากการให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับสังคมน้อยเกินไป และเกิดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งก้าวหน้าในขณะที่นโยบายทางวัฒนธรรมกลับล้าหลัง (กระทรวงวัฒนธรรมยังเป็นแค่กระทรวงของแถม ทั้งๆ ที่กระทรวงนี้มีศักยภาพในการปฏิรูปจิตสำนึกของประชาชนได้มากเท่าๆ กับกระทรวงศึกษาธิการ) 
ตัวอย่างนโยบายทางวัฒนธรรมที่ล้าหลัง เช่น การตั้ง "ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" หรือความไม่อ่อนไหวต่อนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไปสนับสนุนความคิดคลั่งชาติที่คับแคบในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจได้ก้าวข้ามพรมแดนของ "ชาติ" ไปไกล
ความไม่พยายามที่จะ "นิยาม" หรือ ก่อร่างสร้างจิตสำนึกของ "ชาติ" แบบใหม่ที่ทันสมัย อันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผนวกเอาคุณค่าว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างถึงที่ที่สุด การให้ความสำคัญกับ "ประชาชน" ในฐานะของสถาบันหลักของชาติ การให้ความสำคัญกับความเสมอภาค และเสรีภาพอย่างถึงที่สุด ท้ายที่สุดมันคือดาบที่กลับมาทำลายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเอง

เพราะ "เนื้อหา" ที่ใช้โจมตีรัฐบาลไทยรักไทยของคุณทักษิณนั้นไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นที่เป็นเรื่องหลักแต่เป็นเรื่อง "ขายชาติ" ไมว่าจะเป็นกรณีเทมาเส็กหรือเขาพระวิหารหรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน (แต่กฎหมายห้ามพูด) ไม่นับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยรักไทยปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร 
ถ้าเพียงแต่รัฐบาลในเวลานั้นใส่ใจกับการก่อร่างสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นเสรีนิยมทางวัฒนธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานทางวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์แบบถึงรากถึงโคนในทุกมิติ (ไม่ต้องทำเอง เพียงแต่เปิด เปิด และเปิด) การทำงานเชิงนโยบายของหน่วยงานบางหน่วยงานที่ไปสนับสนุนการรัฐประหารทางอ้อมจะไม่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

และการรัฐประหารอาจจะไม่สำเร็จก็เป็นได้ เพราะประเด็น "ขายชาติ" จะปลุกไม่ขึ้น การตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสำคัญกว่าวัฒนธรรมไทย, พุทธศาสนาแบบไทย และการบ้าคลั่งความดี และศีลธรรมแบบ สสส. หรือแม่ชี หลวงพี่ นู่น นั่น นี่ จะเป็นวัคซีนป้องกันการรัฐประหารให้รัฐบาลที่มาจากประชาชน



5 ปีผ่านไปนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนไทย-อย่างน้อย 15 ล้านเสียงที่ไป vote ให้พรรคเพื่อไทย-ได้บทเรียนที่เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้งคือระบอบการปกครองที่แย่น้อยที่สุด

เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะเรียนรู้ว่า ไม่ต้องการคนดี มีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง แต่เราต้องการระบบที่ตรวจสอบนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา 
เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่าความหมายของ "ชาติ" ไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งการรักชาติอย่างบ้าคลั่งนั้นรังแต่จะนำความสูญเสีย ความอับอายในความไร้วุฒิภาวะของ "ชาติ" ที่เราสังกัดอยู่ 
และเราจ่ายไปแพงมากในการเป็นประจักษ์พยานว่า "อำนาจ" ที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้น ฆ่าประชาชนได้อย่างโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม
เราจ่ายไปแพงมากเพื่อจะเรียนรู้ว่า อยู่กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ห่วยดีกว่าอยู่กับเผด็จการที่ทรงประสิทธิภาพ


ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนที่อ้างตัวว่ามีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งกว่าผู้อื่น เจ้าของสื่อที่ชอบไปเดินตามหลังพระสงฆ์ชื่อดังของโลก นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ราษฎรอาวุโส ปราชญ์อาวุโส นักวิชาการผู้ทรงภูมิธรรม นักข่าวที่มุ่งมั่นในการทำข่าวสอบสวนเปิดโปงความชั่วของนักการเมือง ฯลฯ คนเหล่านี้พาเหรดออกมาแก้ผ้า เปิดเปลือยสันดานที่แท้ออกมาให้สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ล่อนจ้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 
ไม่เคยมีครั้งไหนที่สังคมไทยจะเกิดกระแส "รู้ทันคนดี" ที่ซับซ้อนกว่าการ "รู้ทันทักษิณ" หลายร้อยเท่า



การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยและสังคมไทยต้องจ่ายไปด้วยราคาที่แพงที่สุด และเราจ่ายด้วยชีวิตของคนไทยที่ต้องไปตายเพียงเพราะออกมาเรียกร้องการบูรณะปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเสมอภาค 
ไม่เพียงแต่ความตาย แต่ยังแลกมาด้วยอิสรภาพและคุณภาพชีวิตที่พึงมีพึงเป็นของประชาชนที่ออกไปต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

วันที่ 3 กรกฎาคม ประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากได้ออกไปแสดงเจตจำนงแล้วว่า
1.ไม่ต้องการพรรคประชาธิปัตย์
2.เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยสมมุติฐานว่า พรรคเพื่อไทยยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร


การยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยนั้นคือการยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องไปเกรงต่อข้อครหาว่าทำเพื่อ "คนเสื้อแดง"

การปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย 
การลดอำนาจกองทัพ และการสร้างกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชนมิใช่กองทัพของ "ทหารเพื่อทหาร" 
ความจริงจังและจริงใจต่อนโยบายการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น  
การสร้างมาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม 
การออกแบบนโยบายบนฐานปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 
การให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด คิด เขียน 
การสร้างสำนึกของพลเมืองที่มีความเคารพในสิทธิของผู้อื่น 
การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริหารและระบบราชการให้มีความเป็น "พิธีกรรม" น้อยลง มีความเป็น "มืออาชีพ" มากขึ้น

การให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนที่มิใช่การสัมภาษณ์รายวัน แต่คือความสามารถในการส่งผ่าน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ผ่านการแถลง ผ่านเว็บไซต์ หรือเปิดให้มีเวทีพิจารณ์ เวทีสาธารณะ การทำงานร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ต่อโครงการขนาดใหญ่ของแต่ละกระทรวง-ทว่า สภาพที่เป็นอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ในเวลานี้ กลับเต็มไปด้วย เนื้อหาเชิงพิธีกรรม ตราสัญลักษณ์ ข่าวประชาสัมพันธ์หัวหน้าหน่วยงาน และการเข้าถึงข้อมูล รายละเอียด งานวิชาการของแต่ละกรม แต่ละกระทรวง กลับเข้าถึงยากเย็น ซับซ้อน หรือไม่มีปรากฏในเว็บไซต์เลย 
เลิกเสียทีกับการเอาตรากระทรวงอันเต็มไปด้วยลายกนกและรูปป่าหิมพานต์มาเปิดเป็นหน้าแรกของเว็บ ตึ่งโป๊ะ ไม่อยากเห็น แต่อยากเห็นการจัดการเว็บไซต์ที่มุ่ง "สื่อสาร" กับประชาชนด้วยเนื้อหาของการทำงานจริงๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อ "ประชาชน" ทุกคน มิใช่การทำเพื่อ "เสื้อแดง"


การสะสางกระบวนการยุติธรรมของไทยที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องรู้ดีที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่ครอบครัวของคุณยิ่งลักษณ์เผชิญมาด้วยตนเองกับปัญหาสองมาตรฐาน การเมืองเข้าไปแทรกแซง ความล่าช้า หรือสถานะที่ละเมิด วิพากษ์วิจารณ์มิได้ เหล่านี้หากมีกระบวนการ modernization องคาพยพนี้เสียที ก็จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่สังคมไทยและคนไทยทุกคนไม่ว่าจะสีไหน มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เพราะในกระบวนการยุติธรรม คุณจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเท่าเทียมกันทุกประการ
การคืนความยุติธรรม การเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญเสียนั้น รัฐบาลทำได้ทันที เพราะนี่ไม่ใช่เรื่อง "เสื้อแดง" แต่เป็นเรื่องของ "มนุษย์"

รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานภาคประชาสังคมในการ "เยียวยา" ย้ำว่านี่ไม่ใช่ทำเพื่อ "เสื้อแดง" แต่เพื่อแสดง "สปิริต" ของรัฐบาลที่มาจากประชาชนว่า รัฐบาลนี้เคารพสิทธิมนุษยชน มีมนุษยธรรม และคือหมุดหมายที่บอกว่า ในอนาคต จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ในสังคมไทยอีก นั่นคือการเข่นฆ่าประชาชน 
รัฐบาลต้องกล้าหาญในการเข้าไปจัดการกับงบประมาณที่ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น เรื่องของพิธีกรรมหรือการทำโฆษณาอันฟุ้งเฟ้อ ที่หน่วยงานราชการใช้อย่างไม่จำเป็น การพีอาร์ที่ดีที่สุดของหน่วยงานราชการคือพีอาร์ด้วย "ผลงาน" มิใช่การสร้างภาพซื้อโฆษณาในสื่อ เงินที่ใช้กับการทำป้ายโฆษณาตนเองของนักการเมืองหรือหน่วยงานติดข้างถนนอย่างไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์โภชผลใดๆ นอกจากสร้างทัศนะอุจาดต้องได้รับการทบทวน

คุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ในวันนี้เมื่อได้ "อำนาจ" ที่ประชาชนมอบให้ไปไว้ในมือแล้วต้องถามตนเองให้หนักและต้องหาคำตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่า "ปรัชญา" ในการบริหารประเทศของคุณคืออะไร? 
เพราะตัว "ปรัชญา" นั้นจะบอกทิศทางและให้คำตอบแก่การดำเนินนโยบายทั้งหมดไม่ว่านโยบายใหญ่หรือโครงการเล็กๆ มันจะบอกได้ว่าคุณจะสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน มันจะบอกออกมาในตัวเลขงบประมาณของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับอะไรและไม่ให้อะไร
มันจะบอกในรายชื่อโยกย้าย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ 
มันจะบอกออกมาในนโยบายการเซ็นเซอร์ ในทิศทางการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม มันจะบอกออกมาแม้ในกระทั่งในตารางนัดหมายของผู้นำว่าไปพบใครหรือไม่พบใคร พบเมื่อไหร่ พบอย่างไร

เราในฐานะประชาชน และในฐานะที่เลือกคุณยิ่งลักษณ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ เราไม่ต้องการเห็นการทำงานและโปรโตคอลในกรอบคิดแบบเก่า นายกรัฐมนตรีพิสูจน์ตนเองด้วยการทำงาน ภาวะผู้นำ ความชัดเจนในปรัชญาการบริหาร มิใช่การไปปลูกต้นลำดวนตามสถานที่ราชการ หรือการสร้างพิธีกรรมการทำงานใน "ภาษา" ของระบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต ที่จะต้องแวดล้อมด้วย wall paper, คณะกันชน-ประชาธิปไตยคือการสร้าง "ภาษา" ให้คนสัมผัสได้ถึงความเป็น "ธรรมดาสามัญ" และ "เข้าถึงง่าย" ในระบบบริหาร

นโยบายวัฒนธรรมที่ต้องทันสมัย เป็นสากล การนิยาม "ชาติ" ที่พ้นไปจากความ "คลั่งชาติ" และการมุ่งสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความเสมอภาคเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ มิใช่การไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ และบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแต่การทำงานเพื่อประชาชนจึงจะทำให้ประชาชนยืนอยู่ข้างคุณ

อย่าลืมว่าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่ต้องการ "ปรัชญา" แบบพรรคประชาธิปัตย์



++

บทความปีที่แล้ว ( 2553 )

คนดี
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1535 หน้า 91


"เรามาร่วมกันส่งพลังจิตกำจัดคนเลวกันเถอะ" 
ฉันอ่านเจอประโยคนี้ในนิตยสารฉบับหนึ่งเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนชักชวนผู้อ่านทำเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่
อ่านแล้วให้สงสัยว่า เอ๊ะ คนเรามีพลังจิตที่จะกำจัดคนเลวได้ด้วยหรือ และนั่นแปลว่าคนที่คิดว่าตนจะส่งพลังจิตไปกำจัดคนเลวได้แปลว่า ต้องมีความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี เพราะถ้าเราเป็นคนเลวเราคงไม่ส่งพลังจิตไปกำจัดตัวเราเอง ปัญหาที่ตามมาคือเรารู้ได้อย่างไรว่าตัวเราเป็นคนที่ดี (พอที่จะมีสิทธิส่งพลังจิตไปกำจัดคนเลว) และเรารู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนเลว

ซับซ้อนกว่านั้นเราเอาอะไรมาตัดสินว่าอะไรและอย่างไรที่เรียกว่าดีและเลว


นาย ก. ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ เขาเป็นนักธุรกิจที่มีประสบความสำเร็จ ทำกำไรจากธุรกิจได้มหาศาลร่ำรวย แต่ในสายตาของลูกจ้างเขาเป็นนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบ กดค่าแรงคนงาน ในฐานะพ่อค้าเขาถูกมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภค 
ขณะเดียวกันในสายตาของเจ้าอาวาสหลายๆ วัดเขาเป็นพ่อค้าผู้ใจบุญ บริจาคเงินให้วัด และทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ

นาย ข. เป็นนักโฆษณาที่มีชื่อเสียง เปี่ยมความสามารถ ผลงานของเขาได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานของเขาได้ชื่อว่าแปลกใหม่ สร้างสรรค์ สร้างความฮือฮาช่วยสร้างกระแส และทำให้สินค้าที่เขาทำโฆษณาให้ฮิตติดตลาดทุกตัว 
แต่มองอีกด้านหนึ่งเขามีส่วนทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เชื่อว่าน้ำผสมน้ำตาลผสมสี กลิ่น และรสชาติหวานเจี๊ยบคือชาที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงยอมจ่ายค่าน้ำหวานผสมสีและกลิ่นในราคาขวดละเกือบสามสิบบาทโดยไม่เกี่ยงงอน 
เราจะบอกว่านักโฆษณาไม่มีจรรยาบรรณหรือผู้ซื้อโง่เอง



ข้าราชการหรือนักการเมืองที่คอรัปชั่นกินสินบาทคาดสินบนอาจทำไปเพราะอยากมีเงินเยอะๆ ไว้ให้ลูกหลานได้อยู่สุขสบาย ในแง่นี้ พวกเขาอาจเป็นนักการเมืองที่เลว แต่ในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่ พวกเขาอาจกำลังพยายามทำหน้าที่ของพ่อและแม่ที่ดีที่สุดอยู่ก็ได้ 
จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราอ่านสัมภาษณ์ ลูกหลานนักการเมืองที่คนทั้งประเทศประณามว่าชั่วช้า แต่พวกเขาจะบอกว่า 
"หากลองได้สัมผัสตัวตนของท่าน จะรู้ว่าท่านเป็นคนอ่อนโยน รักครอบครัว เป็นแฟมิลี่แมน ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน ต้องมากินข้าวกับคุณแม่ที่บ้านเสมอ ถ้าได้สัมผัสกับท่านอย่างใกล้ชิดจะรู้ว่าท่านหวังดีต่อบ้านเมือง บลา บลา บลา"

เมื่อเป็นอย่างนี้มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบจะไม่ได้ที่เราจะบอกว่าคนๆ นี้เป็นคนดี คนคนนี้เป็นคนเลว เพราะนักการเมืองที่เลวอาจเป็นพ่อที่ดี เป็นสามีที่ประเสริฐ (เงินที่โกงบ้านโกงเมืองมาก็เอามาให้ลูกเรียนหนังสือ เก็บไว้ให้เมียได้ซื้อเพชร) 

พ่อที่เลวอาจเป็นนายจ้างที่ดี
ครูที่ประเสริฐสำหรับลูกศิษย์อาจเป็นแม่ที่ไม่เอาไหนของลูก 
แม่ที่ดีของลูก อาจเป็นลูกที่เลว ไม่ดูดำดูดีพ่อแม่ตัวเอง (มีเท่าไหร่เอาไปทุ่มให้ลูกตัวเองหมด) 
เมียที่ดีเลิศสำหรับผัวอาจเป็นคนที่เพื่อนไม่คบเพราะในสายตาเพื่อนเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจกับเพื่อนฝูง 
เด็กบางคนน่ารัก เรียบร้อย ตั้งใจเรียน เชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แต่ปฏิบัติกับคนรับใช้ราวกับเป็นมนุษย์อีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง คือไม่เคยรับรู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนเหมือนกับตัวเอง แต่เคยชินที่จะมองคนเหล่านี้ในฐานะกลไกหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของเขาเป็นไปอย่างสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น

ตัวฉันเองเกลียดทั้งตำรวจ เกลียดทั้งทหารแทบแย่ แต่นั่นเป็นความเกลียดที่เราพูดโดยรวมว่าตำรวจแม่ง รีดไถ เบ่ง วางอำนาจ ตำรวจแม่งก็พวกคุมซ่อง คุมบ่อน เราก็รู้กันอยู่ว่าตำรวจเงินเดือนนิดเดียว แต่ทำไมรวยกันจัง เราก็เมาธ์กันถึงขนาดว่าหน้าที่ของตำรวจนั้นคล้ายๆยากูซ่าญี่ปุ่นหรือเปล่าคือมีหน้าที่เก็บค่าคุ้มครอง 
แต่ก็นั่นแหละ เราก็มีเพื่อนเป็นทั้งตำรวจ เป็นทั้งทหารและเพื่อนเราก็นิสัย ดี ดี๊ ดี เป็นสุภาพบุรุษกันทุกคน และในเวลาเดียวกัน หากเราจำเป็นต้องใช้เส้นสายของตำรวจหรือทหารที่เป็นเพื่อนของเราเพื่ออำนวยความสะดวกบ้างในบางโอกาส เราก็ไม่เคยรีรอที่จะใช้ 
ทั้งหมดนี้เราจะบอกได้ไหมว่าใครเป็นคนดี และใครเป็นคนไม่ดี ?


ปัญหาเกี่ยวกับความดีและความเลวนี้ทำให้ฉันนึกถึงความเห็นของอภิสิทธิ์เรื่องหวยอีก นายกฯ บอกว่าไม่อยากส่งเสริมให้ประชาชนเล่นหวย ไม่ว่าจะบนดิน ใต้ดิน จะออนไลน์ไม่ออนไลน์ นายกฯ ฝันถึงกระทั่งว่าอยากจะยกเลิกสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยซ้ำไป
ฉันจะไม่พูดไปถึงเรื่องที่ว่า ถ้าประชาชนของเราเกิดมาพร้อมกับความมั่งคั่งเหมือนท่านนายกฯ มีความรู้ มีการศึกษาดี มีงานทำ เงินเดือนเยอะ มีลูกเรียนเก่ง มีเมียรวย อนาคตสว่างไสว 
ถ้าชีวิตมันดีถึงเพียงนั้น เราคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะไปฝากความหวังไว้กับล็อตเตอรี่


ยังไม่ต้องพูดว่า คนเล่นหวยก็มีหลายแบบ ทั้งเล่นเพื่อเป็นความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ เฉกเดียวกับการที่เราใช้เงินไปเพื่อความบันเทิงอย่างอื่น เช่น กินจังก์ฟูดส์ (รู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพแต่กินแล้วมีความสุข) ดูหนัง ไปร้องคาราโอเกะ 
แล้วก็มีคนที่เล่นหวยเป็นอาชีพเหมือนคนที่เล่นการพนันเป็นอาชีพ มีคนหมดตัวเพราะหวย มีคนรวยเพราะหวย 
เพราะฉะนั้น สำหรับฉันมันเป็นเรื่องที่ตัดสินลงไปไม่ได้ว่า หวยเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี คนเล่นหวยเป็นดี หรือเป็นคนเลว เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องคำนึงถึงด้วย เหมือนกับการที่เราตัดสินไม่ได้โดยเด็ดขาดว่า นาย ก. เป็นคนดี หรือ นาย ข.เป็นคนเลว

นายกอภิสิทธิ์ ยังให้สัมภาษณ์อย่างเท่ว่า รัฐบาลไม่ปรารถนาจะหารายได้จากหวยใต้ดินซึ่งเป็นอบายมุขน่ารังเกียจ ฟังดูเป็นคนดีจัง
แต่ถามว่า เราเลือกแล้วหรือที่จะเป็นรัฐที่ปลอดราคี
ทีนี้ถ้าความดี ความเลว วัดกันได้ คัดทิ้งได้ เลือกที่จะมี จะเป็นได้ดั่งใจ ฉันก็จะลองสมมุติดูเล่นๆ ว่า ถ้ารังเกียจหวยจริงๆ ละก็ ยุบกองสลากวันนี้พรุ่งนี้เลยเป็นไง ?



ทีนี้หากเราบูชาความดี และศีลธรรมกันถึงเพียงนั้น ระหว่างหวยใต้ดินกับอาบอบนวด อันไหนถือเป็นอบายมุขที่น่ารังเกียจกว่ากัน?
(ไม่ได้แปลว่าฉันมีคำตอบในคำถามนี้ แต่กำลังถามว่า เรามีมาตรวัดระดับความเลวและบอกได้ว่าอะไรเลวมากหรือน้อยกว่ากันจริงๆ หรือ?)

แน่จริงรัฐบาลก็ไม่ต้องพึ่งภาษีจากอาบอบนวด สถานบันเทิงที่รู้กันอยู่ว่ามีการขายบริการแอบแฝง สั่งให้เหล้า บุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเลิกโรงงานยาสูบของรัฐบาล
เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า คนที่กินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน มีเพศสัมพันธุ์นอกสมรส มีประวัติในการเล่นหวย หรือเคยเป็นเจ้ามือหวย มาก่อน ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเป็น ส.ส. เหมือนที่เราเคยกำหนดว่าคนที่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปด้วยเชื่อไปง่ายๆ ว่าปริญญาเป็นใบค้ำประกันคุณภาพ
ทั้งนี้ ไม่ต้องคำนึงว่ากฎเช่นนี้ปฏิเสธหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่วางอยู่บนหลักที่ว่าพลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน แล้วเหตุใดจึงยกว่าคนจบปริญญาตรีขึ้นไปให้อยู่เหนือคนจบ ป.หก ป.เจ็ด อนุปริญญา ปวช. ประกาศณียบัตรฯ หรือแม้แต่ไม่จบอะไรเลย?

ฉันประหลาดใจที่ช่วงหลังๆ ได้ยินเสียงเพรียกหาคนดีหนาหูขึ้นเรื่อยๆ บ้างก็ว่า เราไม่ต้องการคนเก่งแต่ต้องการคนดี 
บ้างก็ว่าประเทศชาติวิกฤติเช่นนี้เรายิ่งต้องเร่งขจัดคนเลว เสาะคนดีมีคุณธรรมมาปกครองแผ่นดิน 
บ้างก็ว่าประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะวิกฤติทางศีลธรรม คุณธรรม บ้านเมืองจึงวุ่นวายเยี่ยงนี้


แต่ถามว่า ในเมื่อเราอยู่บนโลกมนุษย์ไม่ได้อยู่บนสวรรค์ เราจะเนรมิตให้คนทุกคนเป็นคนดีได้อย่างไร และนั่นจึงเป็นเหตุให้มนุษย์พยายามคิดหาระบอบการเมืองการปกครองที่อำนวยให้คนทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขพอประมาณ 
(และเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่อำนวยสันติสุขแก่คนในสังคมได้ดีกว่าระบอบอื่นๆ)

และสันติสุขนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักที่จะเคารพในสิทธิของกันและกัน ดังนั้น การที่เราไม่ลุกไปตบใครเพียงเพราะหมั่นไส้นั้นไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดี (ล้วนๆ) แต่เป็นเพราะเราเคารพในสิทธิของคนๆ นั้นที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็มีกฎหมายที่คุ้มครองคนๆ นั้นอยู่ จนเราไม่กล้าจะลุกไปตบเพราะกลัวถูกปรับหรือติดคุก
การที่สังคมๆ หนึ่งจะไม่มีคดีอาชญากรรม การลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่ได้เกิดจากการที่สังคมนั้นมีเทพจุติลงมาเกิดเป็นคนมากกว่าสังคมอื่น 
แต่อาจเป็นเพราะสังคมนั้นมีระบบเศรษฐกิจ การกระจายทรัพยากร การจัดการศึกษา การกระจายรายได้ การเก็บภาษีที่เป็นธรรม จนทำไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด คนก็ไม่เลยไม่ต้องลุกมาปล้น ฆ่า หรือลักขโมยกันมากนัก 
ยังไม่นับว่าการประกอบอาชญากรรมที่ร้ายแรงบางอย่างอาจเกิดขึ้นจากสภาพความป่วยไข้ทางใจ ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนเลว



ท่ามกลางการเรียกร้องหาคนดี และโหยหาคุณธรรม ฉันไม่ค่อยได้ยินเสียงเรียกร้องถึงระบอบการเมืองการปกครองที่อำนวยความยุติธรรมแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
เราไม่ต้องการนักการเมืองที่เป็นคนดี แต่เราต้องการระบอบการเมืองที่เราสามารถตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองได้ต่างหาก

เพราะนักการเมืองจะไม่ทำความชั่วเพียงเพราะเขาเป็นคนดี (ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) แต่เขาไม่ทำชั่วหรือทำผิดกฎหมายเพราะกลัวการถูกตรวจสอบและการลงโทษ (ซึ่งมองเห็นได้ด้วยเปล่า) 
อาการบ้าคนดีจนกระทั่งเชื่อว่าหากคนดีมารวมพลัง (จิต) ร่วมอธิษฐานกันแล้วจะช่วยกันกำจัดคนเลวออกไปได้เป็นความคิดที่น่ากลัวมาก
จะมีอะไรน่ากลัวไปกว่าคนที่ทำ(ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น)ความดีแล้วบังเกิดความคิดที่ว่า เมื่อฉันเป็นคนดีแล้ว ฉันย่อมมีสถานะเหนือกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคนดีเท่ากับที่ฉันเป็น จากนั้นหน้าที่ต่อไปของฉันคือ มุ่งขจัดคนที่ไม่ดี (ตามมาตรฐานของฉัน)ให้สิ้นซาก

ถ้าฉันคิดว่าคนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้นที่เป็นคนดี คนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นคนเลว หน้าที่ของฉันคือต้องฆ่าคนที่ไม่ใช่พุทธให้สิ้นซาก
ถ้าฉันคิดว่าคนยิวเป็นคนชั่ว ฉันต้องฆ่าคนยิวทิ้งให้หมด
ถ้าฉันคิดว่าคนกินมังสวิรัติเท่านั้นเป็นคนดี ฉันต้องพยายามชักจูงให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่หากยังมีคนดึงดันจะกินเนื้อสัตว์ ฉันจะทำลายพวกมันให้หมดไปจากแผ่นดินของเรา หรือไม่ก็เนรเทศให้มันไปอยู่ที่อื่น


ฉันพยายามหาคำตอบว่า เมื่อมีใครสักคนพูดว่า "เรามาช่วยกันส่งพลังจิตกำจัดคนเลวกันเถอะ" ผู้พูดหมายถึงใคร? และคนๆ นั้น (หรือหลายคน) ได้กระทำสิ่งใดจึงเรียกว่า "เลว" (แต่ที่แน่ๆ คือคนพูดเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้บอกว่าดีอย่างไร ทว่า นัยของมันคือทั้งผู้พูดและผู้ฟังต้องเข้าใจตรงกันว่าอะไรคือดี และอะไรคือเลว )

คนเลวของผู้พูดจะหมายถึงคนที่กินเนื้อสัตว์? คนยิว? หมายถึงพ่อค้ายาบ้า? หมายถึงแก๊งส์ซามูไร? หมายถึงนักการเมือง? หมายถึงคนที่ไม่รักชาติ? หมายถึงคนที่ทรยศต่อชาติ? (เช่นไปเข้าข้างเขมร?) หมายถึงคนที่ไม่ชอบในสิ่งที่คนอื่นชอบ? หมายถึงคนไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นๆ ทำ? หมายถึงคนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่คนอื่นเชื่อ ?

ยิ่งพยายามคิด ฉันยิ่งผวาหวาดกลัวคนดี และไม่อยากเป็น"ยิว"ที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากไปกว่านั้น
ไม่อยากเห็นคนดีหน้าตาเหมือนฮิตเลอร์



.