http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-28

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (1)(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


งานวิจัยของ อาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย ชี้ให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่คนจน เพราะ รายได้เฉลี่ยของพวกเขานั้น ห่างไกลจากเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ขีดไว้ให้ไกลโขทีเดียว และโดยอาชีพแล้ว อาจกล่าวได้ว่าจำนวนมากของพวกเขาเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อย" แม้แต่ทำเกษตร (เช่นปลูกบัว) ก็เป็นการทำเกษตรแบบ "ผู้ประกอบการ" ที่นำพืชผลของตนเข้าสู่ตลาดโดยตรง

หลังจากงานศึกษาของอาจารย์อภิชาติแล้ว มีโครงการศึกษาคนเสื้อแดงของนักวิชาการเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ใช่การศึกษาเฉพาะด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากมีประเด็นครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ผมได้อาศัยข้อมูลความเห็นของงานศึกษาเหล่านี้ บวกกับที่ผมได้ประสบมาเองเพื่อคุยกับท่านผู้อ่านในที่นี้

ผมเชื่อว่า หากมีการศึกษาคนเสื้อเหลืองทางวิชาการให้มากขึ้น ก็จะได้ข้อมูลอีกหลายอย่างที่คาดไม่ถึง และต้องมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้อย่างไม่ต้องสงสัย

งานศึกษาของหลายท่าน ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงนั้นข้ามชนชั้น หมาย ความว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจนร่วมอยู่ในขบวนการคนเสื้อแดง และมีคนรวยขนาดมั่งคั่งผสมปนเปอยู่ในขบวนการจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

การจัดองค์กรของคนเสื้อแดงนั้นมีประสิทธิภาพมาก แต่ประสิทธิภาพในโลกนี้ไม่เคยอยู่ลอยๆ ย่อมหมายถึงทำอะไรบางอย่างได้ดี ไม่ใช่ทำได้ดีทุกอย่าง และประสิทธิภาพที่คนเสื้อแดงทำได้ดีคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล, การชุมนุมทางการเมือง, และท้ายสุดคือ การจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง ส่วนการประกบติดตามตรวจสอบและกำกับรัฐบาลที่ตัวเลือกมากับมือในระยะยาว จะทำได้หรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่

สิ่งที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ประสิทธิภาพทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงนั้นอาจมีจำกัด ไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปใช้ในการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยได้ทุกเรื่อง นี่เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนนะครับ ต้องจับตาดูกันต่อไป เมื่อเปรียบเทียบกับคนเสื้อเหลือง ศักยภาพในด้านถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลสมัยทักษิณเสื่อมลง จนกลายเป็นอันธพาลของประชาธิปไตยในเวลาอันรวดเร็ว ขบวนการประชาชนที่ไหนๆ ในโลกก็ล้วนแต่งอกได้ทั้งนั้น จะงอกไปทางไหนก็ได้ทั้งนั้นด้วย

เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถูกหลอกให้เชื่อว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ก็เพราะการจัดตั้งก็ตามทุนทรัพย์ก็ตาม เป้าหมายในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ตาม ล้วนมาจากนักการเมือง ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ

ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังพูดถึงระดับแกนนำของขบวนการ หรือพูดถึงระดับมวลชนที่ร่วมเคลื่อนไหวงานศึกษาทุกชิ้นต่างชี้ให้เห็นว่า ในระดับมวลชนฐานราก การจัดองค์กรกระทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดเฉพาะกิจเมื่อจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แม้เป็นการจัดองค์กรอย่างหลวมๆ แต่ประสิทธิภาพของขบวนการคนเสื้อแดงมาจากตรงนี้ ไม่ใช่การอุดหนุนชี้นำของนักการเมืองแต่อย่างใด

และในส่วนนี้แหละที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ


ในระดับล่างสุด และในชุมชนที่ความสัมพันธ์ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับชนบท การจัดองค์กรเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนในชุมชน แหล่งกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็น อาจเป็นร้านชำ, บ้านเรือนของผู้นำตามธรรมชาติ, หรือสถานประกอบการของกลุ่มแม่บ้าน (เป็นต้น) ส่วนในชุมชนที่มีลักษณะเป็นเมืองมากขึ้น สื่อสมัยใหม่ เช่น วิทยุชุมชน, นิตยสารของคนเสื้อแดง, และการนัดพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ย่อมมีความสำคัญกว่า

คนเสื้อแดงที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่า เขาแทบไม่รู้จักใครที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงเป็นส่วนตัวเลย ถึงตัวเขาเองจะ "ตาสว่าง" แล้ว แต่ก็ต้องระวังไม่พูดถึงความสว่างที่เขาได้ประจักษ์กับใคร เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือเป็นสายลอบเข้ามาปะปน ซึ่งเขาเชื่อว่าต้องมีแน่

เรื่อง "ตาสว่าง" นี้น่าสนใจนะครับ นักการเมือง (ทุกพรรค) และข้าราชการระดับสูง ดูเหมือนจะเชื่อว่า อาการ "ตาสว่าง" เกิดขึ้นจาก มีใครบนเวทีประท้วง ส่องแสงสว่างลงมาสู่ผู้ร่วมชุมนุม จึงเกิดอาการนี้กันขึ้นอย่างแพร่หลาย ฉะนั้นจะหยุดอาการนี้ได้ ก็โดยจับกุมคุมขังคนที่ส่องแสงสว่างบนเวที (ทุกประเภท) แสงสว่างก็จะไม่สาดส่องมาให้ใครได้ "ตาสว่าง" กันอีก

แต่ผมได้คุยกับคนเสื้อแดงที่ "ตาสว่าง" หลายคน ซึ่งไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับเขาเลย เพราะไม่สามารถสละเวลาหาเลี้ยงชีพไปร่วมชุมนุมได้ ต่างให้การตรงกันว่า อาการ "ตาสว่าง" ของเขานั้น เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ส่วนหนึ่งก็ได้ข้อมูล (ซึ่งที่จริงคือข้อสรุป) จากคนเสื้อแดงด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากข้อมูลที่เขาได้รับผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทีวีในกำกับของรัฐนั่นแหละ ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า อาการ "ตาสว่าง" นี้เกิดขึ้นจากคำพูดหรือข้อเขียนของใคร

ผมสรุป (ซึ่งแปลว่าเดา) เอาเองว่า อาการ "ตาสว่าง" ของคนไทยจำนวนมากในเวลานี้ เกิดขึ้นจากการขยับจุดยืน ก็ข้อมูลเก่า วลีเก่า, ความเปรียบเก่า, และการรณรงค์แบบเก่านั่นแหละครับ เพียงแต่ผู้ชมไม่ได้ยืนชมจากจุดยืนเดิมแล้ว ภาพที่ตาเห็นจึงไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป และไม่เหมือนกับเจตนารมณ์ที่ผู้รณรงค์อยากให้เห็นด้วย เกิดอาการที่เรียกว่า "ตาสว่าง" ขึ้น

หากข้อสรุป (ซึ่งแปลว่าเดา) ของผมเป็นจริง ก็ให้น่าสงสัยว่า การจับกุมคุมขังคนส่องแสงก็ตามการรณรงค์ด้วยวิธีเดิมๆ ก็ตาม จะดับแสงลงได้อย่างไร คนที่ถูกจับกุมคุมขังเคยถูกมองว่าเป็น คนน่ารังเกียจไม่น่าคบ

บัดนี้ อาการ "ตาสว่าง" กลับทำให้เห็นเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี

ยิ่งจับกุมคุมขังมาก ก็ยิ่ง "ตาสว่าง" มากขึ้น เพราะไม่ได้มองการจับกุมคุมขังจากจุดยืนอันเก่าแล้วนี่ครับ

เช่นเดียวกับการปั๊มการรณรงค์ ยิ่งปั๊มมากก็อาจยิ่ง "ตาสว่าง" เพราะไม่ได้มองการรณรงค์จากจุดยืนอันเก่าแล้วนี่ครับ



ชุมชนคนเสื้อแดงเหล่านี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับแกนนำระดับจังหวัดมากน้อยเพียงไร น่าประหลาดที่ว่า ไม่มีความสัมพันธ์เชิงองค์กรระหว่างกัน แกนนำระดับจังหวัดมักมีหรือเข้าถึงสื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะวิทยุชุมชน, นิตยสารของตัวเอง หรือสื่อไซเบอร์ สัญญาณการเคลื่อนไหวมักมาจากวิทยุชุมชน แต่แกนนำระดับจังหวัดก็ไม่ได้สั่งการอะไร ลงมาถึงชุมชนคนเสื้อแดงระดับล่าง ชุมชนหรือบุคคลต้องตัดสินใจเองว่าจะร่วมการเคลื่อนไหวหรือไม่

ในจังหวัดภาคเหนือแห่งหนึ่ง วิทยุเสื้อแดงในท้องถิ่นจะส่งกระจายเสียงเพลง "มีงานเข้า" เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีเรื่องต้องขอแรงกับคนเสื้อแดงอีกแล้ว ใครที่คิดว่าตัวจะช่วยอะไรได้ก็ต่างพากันไปช่วย เช่นบางคนสั่งข้าวมันไก่หลายร้อยห่อขนไปส่งให้ที่สถานีวิทยุ บางคนขนน้ำ บางคนแวะไปบริจาคเงิน และอีกจำนวนหนึ่งสวมเสื้อแดงไปร่วมชุมนุม

เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงขึ้น ในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

การจัดองค์กรเป็นไปอย่างหลวมมากๆ ในระดับชุมชนก็หลวม ในระดับจังหวัดก็หลวม และในระดับชาติก็คงจะหลวมเหมือนกัน ทั้งนี้ ผมหมายถึงในบรรดาเหล่ามวลชนคนเสื้อแดงนะครับ ส่วนในระดับแกนนำจะเป็นอย่างไรอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะระหว่างแกนนำส่วนกลาง กับแกนนำระดับจังหวัด แต่ผมก็ควรย้ำไว้ด้วยว่า แม้ในระหว่างแกนนำส่วนกลางและส่วนจังหวัด ความสัมพันธ์เชื่อมโยงก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะองค์กร (ชัดเจนนัก) อีกทั้งไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบสายบังคับบัญชา แต่จะมีการแบ่งทรัพยากรจากส่วนกลางลงมาช่วยงานของแกนนำระดับจังหวัดหรือไม่ ผมไม่ทราบ

อันที่จริงเรื่องของ financing หรือการอุดหนุนด้านการเงินของแกนนำระดับจังหวัด ก็เป็นเรื่องน่าศึกษา (แม้ทำได้ยาก) แต่ผมสงสัยว่า มีรูปแบบในแต่ละจังหวัดต่างกัน

โดยสรุป ขบวนการคนเสื้อแดงมีการจัดองค์กรแบบแนวนอน ค่อนข้างหลวม ยิ่งลงมาถึงระดับล่างๆ ยิ่งหลวมมากขึ้น

ความหลวมนี้เป็นทั้งพลังและความอ่อนแอของขบวนการคนเสื้อแดง เป็นพลังก็เพราะรวมคนได้มาก เพราะไม่มีข้อผูกมัดอะไรมากนัก ไม่ใช่ไม่ผูกมัดบุคคลอย่างเดียวนะครับ แต่ไม่ผูกมัดรูปแบบการเคลื่อนไหว, ไม่ผูกมัดประเด็น, ไม่ผูกมัดเป้าหมายของการเคลื่อนไหว, อาจปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไปตามสถานการณ์ได้คล่อง

หนึ่งในพลังที่ขบวนการคนเสื้อแดงแสดงออกคือมิติทางวัฒนธรรม ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาชนที่ได้สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ไม่น้อยไปกว่าขบวนการนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 เพลง, บทกวี, การปรับวัฒนธรรมพื้นบ้านมาใช้ในบริบทใหม่, และศัพท์แสงสำนวนในภาษา ถูกประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจำนวนมาก

ความหลวมและไม่ผูกมัดเช่นนี้ ทำให้พรรคการเมือง, นักการเมือง, หรือสถาบันทางการเมือง จะนำพลังของขบวนการคนเสื้อแดงไปหาประโยชน์ทางการเมืองได้ยาก เพราะจะใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ องค์กรเหล่านั้นย่อมต้องการความผูกมัดในระดับหนึ่ง เช่นนโยบาย 300 บาท, แจกแท็บเล็ต, รับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด, ฯลฯ เป็นนโยบายการเมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่การจัดองค์กรของขบวนการคนเสื้อแดงไม่อยู่ในลักษณะที่จะสนับสนุนอะไรที่ผูกมัดขนาดนี้ได้

ฉะนั้น นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่คิดว่า ตัวจะได้ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นฐานเสียงตลอดไป ก็ควรคิดใหม่ให้ดี ถึงสามารถรักษาขบวนการไว้ได้ส่วนหนึ่ง ก็อาจเป็นส่วนที่ไม่เป็นพลังอย่างเดิมอีกแล้วก็ได้

ผมจะพูดถึงความหลวมด้านการจัดองค์กรซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของขบวนการ ในครั้งหน้า



++

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ในทางตรงกันข้าม ความหลวมก็ทำให้เกิดความอ่อนแอด้วยเช่นกัน

ที่เห็นได้ชัดๆ ก็เช่น เมื่อไม่สามารถผูกมัดกับอะไรที่เป็นรายละเอียดได้มากกว่าหลักการ คนเสื้อแดงจึงหาพันธมิตรเพิ่มได้ยาก เช่นหากชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของคุณทักษิณ นโยบายนี้ถูกบ่อนเซาะทำลายลงนับตั้งแต่รัฐบาลสุรยุทธ์จนถึงประชาธิปัตย์ แต่ขบวนการคนเสื้อแดงไม่เคยสนใจที่จะลุกขึ้นมาขัดขวาง และบีบบังคับให้พัฒนาประสิทธิภาพของหลักสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้คนอีกจำนวนมากหันมาสนับสนุนขบวนการ รวมทั้งอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางในเมืองด้วย

ดังนั้น ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของประชาชนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเหมืองโปแตซ, สมัชชาคนจน, ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, แรงงาน, ชาวนาไร้ที่ดิน, ฯลฯ

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ระดับแกนนำเคยคิดถึงเรื่องนี้หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าแกนนำเห็นควรจะเข้าไปเชื่อมต่อเพื่อสร้างพลังของขบวนการคนเสื้อแดงให้เพิ่มขึ้นไปอีก ในทางปฏิบัติก็คงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย เพราะการจัดองค์กรที่หลวมขนาดนี้ จึงยากที่จะผลักดันอะไรที่ "กระชับ" ได้ขนาดนั้น

เช่นผมไม่รู้ว่า ในระดับแกนนำในภาคอีสานเหนือ มีใครบ้างที่เคยสนับสนุนให้ทำเหมืองโปแตซที่อุดร ฉะนั้นขืนสุ่มสี่สุ่มห้าไปเชื่อมต่อกับขบวนการต่อต้าน ก็อาจทำให้เกิดความแตกแยกในระดับแกนนำได้

เสื้อแดงหลายคนที่ผมได้พูดคุยด้วย จึงบอกว่า เมื่อไรที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริง (ตามความเข้าใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน) เขาก็พร้อมจะกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป (คือเลิกสวมเสื้อแดง)

ที่ผมพูดนี้ หมายถึงขบวนการคนเสื้อแดงระดับที่ข้ามท้องถิ่นนะครับ ในส่วนระดับท้องถิ่น งานศึกษาบางชิ้นก็ชี้ให้เห็นว่ามีการเชื่อมต่อหรือถึงกับผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหวที่มีในท้องถิ่นอยู่แล้วบ้างเหมือนกัน

แต่น่าสังเกตว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อแกนนำในท้องถิ่นของขบวนการคนเสื้อแดง กับแกนนำของความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอื่นๆ คือคนเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัว ไม่ใช่วิถีทางเชิงนโยบายของ "องค์กร"

ประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบในทางตรงกันข้าม คือไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อะไรกันเลยก็แยะ


ความหลวมอีกอย่างของขบวนการคนเสื้อแดงที่เห็นได้ชัดคือ ด้านอุดมการณ์

ขบวนการเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 และในระยะแรกเป้าหมายคือต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ใช่ต่อต้านกลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารเพียงอย่างเดียว แต่ต่อต้านกลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารด้วย จะว่าไปนี่ก็เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย การต่อต้านรัฐประหารนั้นไม่ใช่ของใหม่ คนชั้นกลางในเมืองก็เคยต่อต้านมาแล้ว แต่ความพยายามจะทำความเข้าใจว่า รัฐประหารไม่ได้ทำโดยทหารแต่เพียงลำพัง มีการหนุนหลัง

ฉะนั้นการต่อต้านรัฐประหารจึงรวมไปถึงการต่อต้านและพยายามกำกับกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย

จะว่าความคิดเช่นนี้ริเริ่มโดยนักวิชาการทั้งไทยและเทศในส่วนกลาง และชนชั้นกลางที่เป็นแกนนำเสื้อแดงก่อนก็ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ที่ว่า เหตุใดมวลชนคนเสื้อแดงในระดับล่างจึงรับความคิดทางการเมืองอันสลับซับซ้อนนี้ได้อย่างรวดเร็วพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

ผมคิดว่าคำตอบก็คือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในเมืองไทยมาเป็นทศวรรษก่อนหน้า ทำให้คนไทยแม้ในระดับล่างต้องการคำอธิบายทางการเมืองที่สลับซับซ้อนขึ้นกว่าความดี-ชั่วของบุคคล

เมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปซึ่งเคยลุกขึ้นสู้คณะรัฐประหารมาแล้ว คนชั้นกลางมักติดอยู่กับความดี-ชั่วของบุคคลที่ยึดอำนาจ เคยต้อนรับกลุ่มรัฐประหาร แล้วต่อมาก็ต่อต้าน เพราะพบว่าบุคคลเหล่านั้นไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ เพราะคนชั้นกลางยอมรับให้การรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง เหมือนการเลือกตั้งหรือการปรับ ครม.

อาจเป็นเพราะความละเอียดซับซ้อนของคำอธิบายการรัฐประหาร ที่ทำให้การต่อต้านการรัฐประหารแตกเหล่าแตกกอออกไปมากอย่างรวดเร็ว

ในด้านหนึ่งก็ทำให้ขบวนการคนเสื้อแดงรู้เท่าทันอำนาจเถื่อนทั้งหลาย เช่นการตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงในสภาโดยไม่ต้องสนใจว่า กองทัพได้เข้ามาจัดการอยู่เบื้องหลัง อย่างที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นความชอบธรรมของตนนั้น ไร้ความหมาย

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจพัฒนาไปสู่อุดมการณ์อื่นๆ เช่น "แดงสยาม" หรือ กลุ่มติดอาวุธ หรือ รัฐประหารซ้อน ฯลฯ


โดยสรุป อุดมการณ์ของขบวนการคนเสื้อแดงคือเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" แต่นั่นแปลว่าอะไร ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่ม แค่ยุบสภาแล้วเลือกตั้งกันใหม่ พอไหม จำนวนหนึ่งก็ว่าพอ อีกจำนวนหนึ่งว่าไม่พอ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

หรือยิ่งกว่านั้น ทำให้กฎหมายและมาตรการทางกฎหมายทั้งหมดที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นเป็นหมันลงทั้งหมดด้วย และอาจต้องทำอะไรอื่นๆ อีกมาก

ในท่ามกลางอุดมการณ์ร่วมที่มีนัยยะความหมายต่างกันมากมายเช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ขบวนการเสื้อแดงจะใช้ "ทักษิณ" เป็นสัญลักษณ์ร่วมเสมอมา ผมคิดว่า "ทักษิณ" เป็นม่านที่อำพรางความหลากหลายของอุดมการณ์ และแม้แต่ม่านนี้เองก็มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างมาก นับตั้งแต่เอา "ทักษิณ" กลับมาเป็นนายกฯ จนถึงทวงความยุติธรรมกลับมาให้ "ทักษิณ" แต่วาง"ทักษิณ" ไว้ ห่างๆ ดีกว่า

หากไม่มีม่าน "ทักษิณ" จะรวมอุดมการณ์ที่ต่างกัน (อย่างน้อยในเชิงดีกรี) อย่างมากเช่นนี้ได้อย่างไร นอกจากต้องทำการ "รุทิ้ง" (purge) แกนนำจำนวนหนึ่ง แต่ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ พลังของขบวนการมาจากอุดมการณ์ที่ไม่แข็งตัวเกินไป

ตรงกันข้ามกับศัตรูของขบวนการเสื้อแดงคิด ผมกลับคิดว่าหากทักษิณพ้นภาวะเนรเทศเมื่อไร ขบวนการเสื้อแดงน่าจะอ่อนกำลังลงอย่างมาก เพราะม่านที่อำพรางความแตกต่างทางอุดมการณ์ของขบวนการคนเสื้อแดงจะหมดไป



ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ขบวนการคนเสื้อแดงจะเป็นพลังทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรต่อไปในอนาคต

ผมอยากเดาคำตอบดังต่อไปนี้

1/ ขบวนการคนเสื้อแดงน่าจะเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งต่อไป แต่จะเป็นของพรรค พท.ไปอีกนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขซึ่งอาจเกิดขึ้นข้างหน้า ตราบเท่าที่พรรคคู่แข่งสำคัญของ พท.ยังเป็น ปชป.ตราบนั้นขบวนการคนเสื้อแดงก็จะเป็นฐานเสียงให้พรรค พท.ตลอดไป

นี่ผมพูดในฐานะผู้ลงคะแนนให้พรรค พท.นะครับ จึงรู้สึกดีถึงความอึดอัดของตัวเองว่า รู้ทั้งรู้ว่าเมื่อ พท.ชนะเลือกตั้ง รัฐบาลของ พท.ก็จะประกอบด้วยคุณเฉลิม, คุณอนุดิษฐ์, คุณยงยุทธ ฯลฯ ซึ่งพร้อมจะหาทางเกี้ยเซี้ยกับอำนาจนอกระบบ มากกว่าผลักดันไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพให้แก่ระบอบประชาธิปไตย

แต่จะให้ตัวเองอำมหิตถึงกับลงคะแนนให้ ปชป.นั้น ก็ทำไม่ลง และคงทำไม่ลงตลอดไป ตราบเท่าที่แกนนำของ ปชป.ยังเป็นคนกลุ่มนี้

แต่เงื่อนไขอาจจะเปลี่ยนหลังเดือนพฤษภาคมปีหน้า เพราะคนบ้านเลขที่ 111 จะกลับเข้าสู่วงการเมืองหลายคน พรรค พท.จึงไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป และหาก พท.มีพรรคคู่แข่งที่ไม่ใช่ ปชป. ถึงขบวนการคนเสื้อแดงยังเป็นฐานเสียงให้แก่พรรคการเมืองอยู่ ผมเดาว่าจะไม่เป็นฐานที่แข็งแกร่งเท่าปัจจุบัน เพราะคงแยกย้ายกันไปเป็นฐานเสียงให้ต่างพรรคกัน


2/ ขบวนการคนเสื้อแดงจะเป็นพลังหลักที่ใหญ่สุดในสังคมในการต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ ผมใช้คำว่า "ทุกรูปแบบ" เพราะไม่ต้องการให้หมายถึงการลากรถถังมายึดเมืองเพียงอย่างเดียว คำพิพากษาของศาลการเมืองต่างๆ ก็ตาม, คำชี้ขาดขององค์กรอิสระซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นก็ตาม, ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม, ฯลฯ ก็อาจเป็นเหตุให้ขบวนการคนเสื้อแดงออกมาต่อต้านได้

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ หลังจากการเคลื่อนไหวสืบเนื่องกันมาหลายปี ขบวนการคนเสื้อแดงปฏิเสธ (หรืออย่างน้อยก็ระแวงสงสัย) ความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งเคยใช้ในการเมืองไทยมาอย่างได้ผลทั้งหมด แล้วสถาปนาความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นใหม่ อันเป็นความชอบธรรมที่ต้องมาจากหลักการประชาธิปไตย (ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง)

ฉะนั้นการกระทำของอำนาจใดๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงขาดความชอบธรรมในสายตาของขบวนการคนเสื้อแดงไปโดยปริยาย

เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับฐานคิด เราจะใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, หมิ่นศาล, หมิ่นกองทัพ, หมิ่นศาสนา, หมิ่นความมั่นคง ฯลฯ เพื่อหยุดยั้งมิให้เกิดการต่อต้านหรือระแวงสงสัย "ระบอบความชอบธรรมทางการเมือง" ตามประเพณีทั้งระบอบได้หรือ?


3/ แต่ดังที่ผมได้พูดไปแล้ว พลังทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงจะนำไปใช้เพื่อหนุนทางเลือกเชิงนโยบายได้ยาก

คำว่าได้ยากก็คือทำได้เหมือนกันแต่ยาก โดยเฉพาะพรรค พท.คงทำไม่ได้เลย ยกตัวอย่างนะครับ ตามที่ท่านรองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งที่จะ "ปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ" ของประเทศ คือสร้างกำลังซื้อภายในให้สูงขึ้น และทำให้สัดส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกลดลง การขึ้นรายได้ของแรงงานเป็น 300 บาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้

จะให้พลังทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงช่วยหนุนทางเลือกเชิงนโยบายเช่นนี้ได้ พรรค พท.จะต้องทำอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่พรรค พท.ไม่มีศักยภาพจะทำได้หรอกครับ (ซึ่งผมขออนุญาตไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะจะกินเนื้อที่มากเกินไป)


4/ ขบวนการคนเสื้อแดง ประกอบด้วยประชาชนจำนวนมากกว่าที่การเคลื่อนไหวในการเมืองครั้งใดในเมืองไทยเคยมีมาก่อน ผมเดาว่าอาจจะมากกว่า พท.ด้วย อย่ามองแต่ผู้มาร่วมชุมนุม กว่าจะมาเป็นจำนวนมากเท่านี้ได้ ก็เพราะพลังของคนที่ไม่ได้มาข้างหลังอีกมากกว่านั้นหลายเท่า

ฉะนั้น ไม่ว่าขบวนการคนเสื้อแดงจะลงเอยอย่างไรในอนาคต มีคนไม่รู้จะกี่ล้านคนได้เข้ามาร่วมประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และได้เรียนรู้อะไรในทางการเมืองซึ่งไม่อาจเรียนรู้ได้จากกระบวนการการศึกษาตามปกติ เกิดความสำนึกรู้ตนเองที่ทำให้เขา (และลูกหลานของเขา) ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป นี่เป็นมรดกที่ประเทศไทยไม่มีวันจะหวนคืนไปเหมือนเก่าได้อีก อย่างน้อยก็ในทางการเมือง

หากบุคคลในองค์กรทางการเมืองทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่สำเหนียกรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดี เราคงจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสียได้ยาก


.

2554-09-27

หนังสือพิมพ์ในสังคมที่เปลี่ยนไป, +วัฒนธรรมคนเสื้อแดง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

หนังสือพิมพ์ในสังคมที่เปลี่ยนไป
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 28


หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด นำเอาข้อเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาลงไว้ที่ปกรอง

"การเสาะแสวงหาความเป็นจริงมาเสนอแก่ประชาชน นี่แหละเป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้แสดงความเห็น อันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล หนังสือพิมพ์จะต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญนี้ เหตุการณ์ตามความเป็นจริงที่หนังสือพิมพ์นำเสนอนั้นอาจไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นผู้นี้หรือแก่คณะนั้นคณะนี้ แต่ไม่ใช่กิจกังวลของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อที่จะทำความพอใจให้แก่ท่านผู้นั้นผู้นี้ หนังสือพิมพ์จึงไม่ต้องไปพะวงถึงใครผู้ใดทั้งนั้น หนังสือพิมพ์จะพะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น"

อาชีวปฏิญาณของนักหนังสือพิมพ์ที่คุณกุหลาบได้กล่าวไว้อย่างงดงามนี้ กลายเป็นมโนภาพหรือภาพพจน์ที่นักหนังสือพิมพ์ใช้ ในการต่อรองอำนาจกับรัฐและทุนสืบมาอีกนาน จนแม้แต่ในปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ของรัฐและทุนแตกต่างไปจากเดิมมากแล้ว นักหนังสือพิมพ์ก็ยังใช้เป็นอาภรณ์สำหรับการแสดงตัวต่อสังคมต่อไปเหมือนเดิม

ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้กันหมดแล้วว่า หนังสือพิมพ์และนักหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันไม่ได้ "พะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น" และหากอยากรู้ความเป็นจริง "เพื่อได้แสดงความเห็น อันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล" ก็ต้องไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่หนังสือพิมพ์ (หรือสื่อกระแสหลักอื่นๆ)



ผมไม่อยากให้มองสิ่งที่พูดข้างต้นนั้นเป็นการประเมินว่าบุคคลในวงการหนังสือพิมพ์ปัจจุบันเลวลง แต่ผมอยากจะพยายามเข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญสองอย่างที่หนังสือพิมพ์สมัยคุณกุหลาบกับสมัยปัจจุบันต่างกัน

ประการแรก คือทุนอย่างที่พูดกันมามากแล้ว แต่ผมอยากให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เพราะเจ้าของหนังสือพิมพ์ปัจจุบันมีทุนมหาศาลกว่าเจ้าของสมัยนั้น ที่สำคัญกว่าก็คืออำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับเจ้าของลดลงอย่างมากต่างหาก

ในสมัยคุณกุหลาบ หนังสือพิมพ์ขายได้เพราะชื่อของคุณกุหลาบ ไม่ใช่หัวหนังสือ หากเจ้าของบังคับให้นักหนังสือพิมพ์ทำอะไรที่ขัดกับอาชีวปฏิญาณของตน คุณกุหลาบก็จะลาออกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

ไม่ใช่คุณกุหลาบคนเดียวนะครับ แต่นักหนังสือพิมพ์เด่นๆ ในฉบับนั้นทั้งหมด ก็จะยกพวกตามออกไปด้วย เพราะต่างก็เป็นศิษย์, มิตร, คนที่คุณกุหลาบปั้นมากับมือ ฯลฯ ทั้งนั้น ก็สมัยนั้นไม่มีคณะนิเทศศาสตร์นี่ครับ การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นเดอะไปยังรุ่นหลังย่อมทำได้ง่าย เพราะรุ่นหลังพร้อมเรียนรู้ ในขณะที่คนจบนิเทศศาสตร์มาแล้ว นึกว่าตัวเดอะมาตั้งแต่วันรับปริญญา จึงไม่พร้อมจะเรียนรู้ จนรุ่นเดอะตัวจริงเวลานี้ ได้แต่ใช้ปากด่ามึงมาพาโวยกับลูกน้อง ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากปั้นความเกลียดชังให้

ดังนั้น ในสมัยของคุณกุหลาบ ถึงเจ้าของจะได้หัวหนังสือไว้ แต่ก็หากำไรได้ยาก เพราะผู้อ่านไม่ได้ติดหัว แต่ติดคณะสุภาพบุรุษ จึงย้ายไปอ่านฉบับใหม่ที่มีคณะสุภาพบุรุษประจำการอยู่

อำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับทุนจึงมีสูง พอจะรักษาหนังสือพิมพ์ไว้ให้ทำ "หน้าที่สำคัญ" ของตนต่อไปได้



ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่งด้วยว่า นักหนังสือพิมพ์คนสุดท้ายที่สามารถทำอย่างนั้นได้คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่บังเอิญคุณชายเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียเอง จึงไม่มีเหตุต้องยกพวกออก สยามรัฐขายดิบขายดีได้ก็เพราะชื่อของคึกฤทธิ์ คุณชายจึงต้องบากบั่นเขียนทุกวัน ไม่ต่างจากคุณกุหลาบหรือครูมาลัย

สมัยนี้ ไม่ใช่ไม่มีนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังๆ นะครับ แต่ผมเชื่อว่าถึง คุณซูม, คุณกิเลน ประลองเชิง, คุณลมเปลี่ยนทิศ ฯลฯ จะลาออก ก็คงไม่มีใครตามไปด้วย หรือยิ่งไปกว่านั้น ถึงไปเขียนในหัวอื่น ก็อาจไม่ดังเท่ากับที่อยู่กับไทยรัฐด้วยซ้ำ ในขณะที่ไทยรัฐก็ยังขายดีเหมือนเคย

อำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับเจ้าของเวลานี้จึงแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่อย่าเพิ่งด่าฝ่ายนายทุนฝ่ายเดียว

อำนาจของนายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ไม่ได้มาจากเงินเพียงอย่างเดียว ทุกคนได้ลงทุนทั้งทรัพย์และหัวสมอง ในการสร้างหัวหนังสือพิมพ์ของตนให้ติดตลาด ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่เป็นซูเปอร์ บ.ก. เท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจอีกนานาชนิด นับตั้งแต่จัดการขนส่งให้กว้างไกลและรวดเร็ว สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับเอเย่นต์ในแต่ละจังหวัด เชื่อมต่อกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเพื่อเข้าถึงแหล่งข่าวและแหล่งโฆษณา ทำซีเอสอาร์ (ซึ่งที่จริงคือพีอาร์) ให้ประชาชนรู้สึกเป็นมิตรกับหัวหนังสือ ฯลฯ

ยกพวกออกจากไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, คมชัดลึก, ฯลฯ เจ้าของจึงไม่ค่อยเดือดร้อนนัก เพราะยกไปได้แต่คน ไม่สามารถยกอะไรอีกพะเรอเกวียนที่ติดมากับหัวหนังสือไปได้ด้วย

ท่านผู้อ่านอาจนึกว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ปัจจุบันก็ไม่ได้ขายแต่เนื้อหาล่ะสิ? ใช่ครับ มีสินค้าอะไรในโลกปัจจุบันที่ขายแต่เนื้อหาบ้างล่ะครับ มีหรือครับเบียร์ที่ขายแต่น้ำเบียร์ โดยไม่สนใจสร้างคุณค่าความหมายให้แก่ยี่ห้อ

ครับ ผู้บริโภคในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนผู้บริโภคสมัยของคุณกุหลาบ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมาถึงปัจจัยที่สองซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์สมัยคุณกุหลาบกับสมัยนี้ต่างกัน

นั่นคือปัจจัยทางสังคมการเมือง



สังคมการเมืองสมัยก่อนแคบมาก ผมหมายถึงคนที่สำนึกว่าตัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวงกว้าง จึงต้องรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในวงกว้างบ้าง รู้สึกตัวว่ามีสิทธิ์มีส่วนในคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโน้นเรื่องนี้ของคอลัมน์หนังสือพิมพ์ แล้วก็อาจเข้าไปมีส่วนร่วม (หรือพูดให้ฟังเป็นวิชาการคือปฏิบัติการทางสังคม) ในร้านกาแฟตอนเช้า คนเหล่านี้มีน้อยมากในสังคมวงกว้างของไทย และมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

จำนวนที่จำกัดของสังคมการเมืองไทยในตอนนั้น ทำให้นักหนังสือพิมพ์มี "ลูกค้า" ที่เหนียวแน่นของตัว พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีอิทธิพลต่อผู้อ่านมาก ถึงจะล่ามโซ่แท่นพิมพ์ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนักหนังสือพิมพ์ย่อมย้ายไปทำงานฉบับอื่นได้ เพราะฉะนั้น ในสมัยก่อน นักหนังสือพิมพ์เป็นคนๆ ไปนี่แหละที่ถูกรัฐคุกคามมาก...มากกว่าตัวหนังสือพิมพ์แต่ละหัว...เสียอีก

ตรงกันข้ามกับปัจจุบันนะครับ ที่หนังสือพิมพ์แต่ละหัวต่างหากที่ถูกผู้มีอำนาจคุกคาม มากกว่าตัวนักหนังสือพิมพ์

แต่ถึงแม้จะมีอันตรายมากกว่า แต่นักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมีอำนาจต่อรองกับทุนได้สูงเพราะเหตุนี้

อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อรองที่เกิดจากความแคบของสังคมการเมืองก็ค่อยๆ หมดไป เพราะคนที่มีสำนึกทางการเมืองขยายตัวขึ้น และไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ด้วย ประกอบด้วยคนที่มีปูมหลังแตกต่างกันอย่างยิ่ง ถึงนักหนังสือพิมพ์บางคนยังอาจมี "ลูกค้า" ประจำของตัว ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหน แต่เมื่อเทียบโดยสัดส่วนแล้วก็นิดเดียวเท่านั้นในบรรดาผู้อ่านทั้งหมด ถึงจะลาออกจากหนังสือพิมพ์ฉบับใด แม้ว่าน่าเสียดาย แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ล่มจม

ไทยรัฐเป็นฉบับแรกที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ก่อนหน้านักวิชาการทั้งไทยและเทศ และได้ทุ่มทุนขยายตลาดของตนออกไปทั่วประเทศก่อนใคร กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ยากจะมีใครมาแทนที่ได้สืบมาถึงวันนี้

อันที่จริงตลาดใหม่ของไทยรัฐคือ "เสื้อแดง" รุ่นแรกๆ ที่ไม่ได้สวมเสื้อแดงเท่านั้น ขณะที่ทักษิณยังเสิร์ฟโอเลี้ยงอยู่ น่าอัศจรรย์ที่จนถึงทุกวันนี้นักวิชาการจำนวนมากยังมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่ป๊ะกำพลเห็นมาตั้งหลายสิบปีแล้ว



เมื่ออำนาจต่อรองหดหายไปเรื่อยๆ เช่นนี้ นักหนังสือพิมพ์ไทยก็เหลือทางเลือกอยู่สองทาง ซึ่งล้วนทำให้หนังสือพิมพ์ไม่ได้ทำ "หน้าที่สำคัญ" ไปเสียทั้งคู่

ทางแรกคือสร้าง "เส้นสาย" กับแหล่งข่าว แต่ระบบการเมืองไทยกระจุกอำนาจไว้กับนักการเมือง (ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้ง) กับข้าราชการ แหล่งข่าวที่นักหนังสือพิมพ์จะไปสร้าง "เส้นสาย" เกาะเกี่ยวไว้ จึงมีอยู่จำกัด ได้แก่ผู้มีอำนาจทั้งหลาย

ฟังดูก็ดีนะครับ แต่เพื่อจะได้ "เส้นสาย" ที่ต้องการตามอาชีพ ต้องแลกกับอะไรบ้าง หลายอย่างนะครับ เริ่มต้นก็คือถ้าไหวไม่ทัน ตัวก็จะกลายเป็นแหล่ง "ปล่อยข่าว" และแหล่งโฆษณาชวนเชื่อให้แก่ผู้มีอำนาจไป เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติหนังสือพิมพ์ไทย หนักไปกว่านั้น ก็คือใช้อิทธิพลที่ตัวพอมีกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือในสำนักพิมพ์ ห้ามปรามขัดขวางข่าวและความเห็นที่ขัดผลประโยชน์ของ "ท่าน" ทีแรกอาจคิดว่าเพื่อรักษาแหล่งข่าวเอาไว้ แต่ทำนานๆ เข้าก็ไม่ได้ชั่งตวงวัดว่า คุณค่าของแหล่งข่าวกับอาชีวปฏิญาณของตนอย่างไหนสำคัญกว่ากัน หนักไปกว่านั้นก็ทำมาหากินกับแหล่งข่าวให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย เรื่องนี้ก็เกิดในวงการมานาน จนเรียกคนประเภทนี้ว่า "แปดอรหันต์" บ้าง "สิบแปดเซียน" บ้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "อรหันต์" และ "เซียน" เหล่านี้ย่อมมีอำนาจต่อรองกับนายทุนเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง

อีกทางหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์สร้างอำนาจต่อรองก็คือ เกาะกลุ่มกัน หรือตัวคนเดียวโดยเอกเทศก็ตาม เข้าไปหาประโยชน์จากนักการเมืองบ้าง ธุรกิจบ้าง วงการกีฬาบ้าง และแน่นอนวงการบันเทิงบ้าง

ในที่สุดก็มั่วจนกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน "หน้าที่สำคัญ" กลายเป็นการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตัวเข้าไปมั่วด้วย



ผมคิดว่าเมืองไทยได้เปลี่ยนไปจนเกินกว่าที่หนังสือพิมพ์จะสามารถทำ "หน้าที่สำคัญ" อย่างที่คุณกุหลาบได้สร้างเอาไว้เสียแล้ว แต่ถ้าเรายังต้องการหนังสือพิมพ์อย่างที่คุณกุหลาบมุ่งหวังต่อไป ผมคิดว่าเราต้องการมากกว่าการจัดองค์กรให้หนังสือพิมพ์ดูแลกันเอง (แม้แต่องค์กรเหล่านี้เองก็กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ ที่มีนักหนังสือพิมพ์อยู่กลุ่มเดียวที่เวียนกันเข้าไปเก็บเกี่ยว) แต่ต้องทำอะไรอื่นที่จะทำให้

1.มีการถ่ายโอนความรู้และประสบการณ์ระหว่างรุ่นเดอะกับรุ่นรอง อย่างเป็นระบบ

2.กลุ่มผู้บริโภคต้องจัดตั้งตนเอง ให้เกิดความหลากหลาย เข้าไปกำกับควบคุมหนังสือพิมพ์ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรอื่นๆ อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคเพียงกลุ่มเดียวจับจองการกำกับควบคุมไว้ในมือแต่ผู้เดียว

3.ต้องมีการจัดตั้งสหภาพของคนหนังสือพิมพ์ที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองกับนายทุน รวมทั้งจัดตั้งสหภาพรวมเพื่อมีอำนาจต่อรองกับรัฐและทุนขนาดใหญ่ด้วย เพราะสมาคมต่างๆ ที่มีอยู่ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ตรงนี้

4.ช่วยกันคิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นักหนังสือพิมพ์จะมีอำนาจต่อรองที่จริงจังอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนักในสังคม และ หนังสือพิมพ์เละอย่างไรในสภาพนี้ ก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว



++

บทความของปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )

วัฒนธรรมคนเสื้อแดง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1563 หน้า 20


ความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงระหว่าง มีนาคม-พฤษภาคมในปีนี้ ทำให้พูดกันถึงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นล่างในชนบทกับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมือง บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง, บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งของชนชั้นทางเศรษฐกิจ, บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งระหว่างภาคในประเทศไทยเอง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ มีส่วนถูกทั้งสิ้น แต่ก็มีข้อยกเว้นที่นำขึ้นมาแย้งได้ในแทบทุกมิติ แปลว่าความขัดแย้งนั้นสลับซับซ้อนเกินกว่าจะชี้ลงไปที่มิติใดมิติหนึ่งได้อย่างง่ายๆ

แต่ยังมีความแตกต่าง (จนถึงขั้นที่เป็นความขัดแย้ง) อีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีผู้พูดถึงมากนัก นั่นคือความแตกต่างด้านวัฒนธรรม

มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมของขบวนการเสื้อแดง ที่ทำให้แตกต่างจากเสื้อสีอื่นอย่างเห็นได้ชัด ความแตกต่างตรงนี้ อาจดึงทั้งการสนับสนุนและต่อต้านจากผู้คนในสังคมไทย

โดยปราศจากการศึกษาอย่างเป็นระบบและดีพอ ผมอยากจะพูดถึงความแตกต่างหรือถึงขนาดเป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ของขบวนการเสื้อแดงไว้ในที่นี้

ที่เห็นได้ชัดและมีคนพูดถึงมามากพอสมควร คือความเป็นชนบท ที่แสดงออกให้แตกต่างจากความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ

ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงมาจาก"เขตเมือง" แม้เป็น "เขตเมือง" ในชนบทก็ตาม นอกจากนี้ แม้พวกเขาอยู่ใน "เขตเมือง" ขนาดใหญ่ เขาก็มีความสัมพันธ์กับชนบทค่อนข้างสูง เช่น แท็กซี่ในกรุงเทพฯ เป็นต้น ดังนั้น ความเป็นชนบทจึงเห็นได้ชัดในขบวนการเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ส่วนหนึ่งของความเป็นชนบทของคนเสื้อแดงเป็น "การแสดง" หมายความว่าตั้งใจเน้นย้ำมันให้เกินกว่าพื้นฐานจริงของตัวเอง เพื่อขับประเด็นทางการเมืองของตน เช่น "คนบ้านนอก" ย่อมมีมากกว่าคนกรุง การเป็น "บ้านนอก" จึงเป็นพลังทางการเมืองของระบอบที่เคารพผลการเลือกตั้ง

แม้แต่ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นประเด็นหลักของการต่อสู้ระหว่างเสื้อต่างสี ที่จริงแล้ว ก็มีมิติทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองและชนบทแฝงอยู่ด้วย

คนเสื้อเหลืองและเหล่าชนชั้นนำเรียกร้องหารัฐ "ธรรมาภิบาล" ซึ่งเน้นประสิทธิภาพ, ความซื่อสัตย์สุจริต, และความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ เหนือกว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่คนเสื้อแดงและเหล่าคนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมาก เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง เหนือกว่าอื่นใดทั้งสิ้น

การมีส่วนร่วมนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตชนบทตามอุดมคติ ในสังคมเกษตรขนาดเล็ก ผู้คนต่างมีอำนาจต่อรองในเรื่องการใช้ทรัพยากร แม้ไม่เท่าเทียมกันเป๊ะ แต่ก็ใกล้เคียงกัน เพราะทุกคนยังเหลืออำนาจในการแทรกแซงการตัดสินใจได้บ้าง นับตั้งแต่การนินทาไปจนถึงการกล่าวหาว่าเป็นปอบ

ผมจึงรู้สึกว่า การที่เสื้อแดงเรียกร้องการมีส่วนร่วม จึงเป็นทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องการกลับไปหาอุดมคติของสังคมชนบทไปพร้อมกัน



อีกด้านหนึ่งที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว ก็คือสิ่งที่ปรากฏบนเวทีในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดง ก็สะท้อนวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับกลางในเมืองอย่างมาก

บางคนพูดถึงการปราศรัยของเสื้อแดงว่า "ถ่อย", "สถุล", หรือใช้คำพูดหยาบคาย ในฐานะผู้ฟังคนหนึ่งที่ติดตามฟังทางวิทยุอย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น แม้จะยอมรับว่ามีการใช้คำที่คนกรุงเทพฯ เห็นว่าไม่สุภาพอยู่บ้างก็ตาม (เช่น กู-มึง - ซึ่งเวทีของคนเสื้อเหลืองก็ใช้เหมือนกัน)

แต่สิ่งที่ระคายหูแก่คนชั้นกลางที่สุด น่าจะเป็นภาษาที่ไร้ช่วงชั้นทางสังคมมากกว่า ภาษาสุภาพของไทยกรุงเทพฯ คือภาษาที่คำนึงถึงช่วงชั้นของบุคคลที่เป็นผู้พูด, ผู้ฟัง, ผู้ถูกกล่าวถึง อย่างละเอียดซับซ้อน ภาษาของคนเสื้อแดงลบเลือนสำนึกของช่วงชั้นทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงคู่ปรปักษ์ที่มีสถานภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี, ผู้พิพากษา, กกต., ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหาร, ตำรวจ และพลเรือน

(ในหมู่ "ผู้ดี" ที่มีการศึกษาสมัยก่อน หากจำเป็นต้องพูดกันโดยคำนึงถึงช่วงชั้นทางสังคมให้น้อยลง มักหันไปใช้ภาษาอังกฤษ เพราะหากพูดเป็นภาษาไทยแล้วจะฟังดูหยาบคาย)

ยิ่งไปกว่าถ้อยคำที่ใช้ หากใครขยันศึกษา ก็จะพบความต่างที่ลึกกว่าถ้อยคำ นั่นคือความเปรียบ, นัยะประวัติของคำ, หรือแม้แต่ความหมายในการผูกประโยค ฯลฯ ก็มีความต่างจากการปราศรัยของเวทีการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปอย่างมาก

ผมฟังคำปราศรัยทางวิทยุแล้วสังเกตเห็นความต่างในแง่นี้อยู่บ่อยๆ แต่ไม่ได้จดเอาไว้จึงไม่สามารถยกเป็นตัวอย่างให้ดูได้

ภาษาถิ่น (ทั้งเหนือ, อีสาน, และใต้) ถูกใช้บนเวทีปราศรัยอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถพูดภาษากรุงเทพฯ ได้คล่อง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผู้ปราศรัยบางคนเริ่มปราศรัยด้วยภาษาถิ่นอีสาน แต่พูดๆ ไปกลับกลายเป็นภาษากรุงเทพฯ เสียอย่างนั้น ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ และบ่อยกว่าแปรจากภาษากรุงเทพฯ ไปเป็นภาษาถิ่นเสียอีก

ภาษาถิ่นจึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้าง "ความเป็นปึกแผ่น" (solidarity) กับผู้ชุมนุม และผู้ฟังวิทยุอยู่ที่บ้าน

เราต้องกลับมาคิดถามตัวเองว่า ในการสื่อสารด้วยการพูดในที่สาธารณะในประเทศไทยนั้น ภาษาถิ่นใช้พูดกับเนื้อหาอะไร และไม่ใช้พูดกับเนื้อหาอะไร ผมออกจะรู้สึกว่าการพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองอย่างที่เสื้อแดงพูดบนเวที วัฒนธรรมไทยมักไม่ใช้ภาษาถิ่น

พร้อมกันไปกับภาษาถิ่น เวทีปราศรัย ก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างนักปราศรัยด้วยกันเอง และนักปราศรัยกับผู้ชุมนุมในเชิงเครือญาติเสมอ ทุกคนถูกเอ่ยถึงในฐานะพี่, น้อง, น้า, ลุง, ป้า, ตา ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา คำนับญาติคือสรรพนามบุรุษที่สองและสามในภาษาไทย (และทุกภาษาของอุษาคเณย์) มาก่อน

ดังนั้น คำนับญาติและภาษาถิ่นจึงเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเสมอภาค ต่อต้านสังคมช่วงชั้นในวัฒนธรรมชั้นสูงของไทยไปพร้อมกับความเป็นกันเองเพื่อความเป็นปึกแผ่น

เวทีเสื้อแดงก็มี "กวี" เหมือนกัน แต่กวีนิพนธ์ของเขาเป็นมุขปาฐะ เพราะมีผู้แสดงพื้นบ้าน เช่น หมอลำออกมาลำเนื้อหาทางการเมืองเป็นครั้งคราว เพลงพื้นบ้านของภาคกลางก็เคยแสดงบนเวทีเหมือนกัน แม้แต่โคลงกลอนที่เขียนมาอ่านก็ออกจะตรงไปตรงมามากกว่า "ภาษากวี" ของกรุงเทพฯ อย่างเทียบกันไม่ได้

กลอนของ คุณวิสา คัญทัพ ในฐานะกวีของเสื้อแดง แตกต่างอย่างไรจากกลอนของ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีของเสื้อเหลือง ก็คงพอจะเป็นตัวอย่างให้เข้าใจได้

ดนตรีของเสื้อแดงก็ดูเป็นชาวบ้านกว่ากันมาก นอกจากมีดนตรีพื้นบ้านเป็นครั้งคราวแล้ว ก็มีเพลงลูกทุ่ง เพลงแต่งใหม่ โดยนักร้องสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ผู้ปราศรัยมักจะจบการปราศรัยด้วยเพลงหนึ่งเพลงเสมอ

วงดนตรีที่เล่นประกอบก็เล่นกันอย่างง่ายๆ บางครั้งเพียงแต่ให้จังหวะกลองเท่านั้น เพราะนักดนตรีไม่รู้จักเพลงที่ผู้ร้องนำมาร้อง



สิ่งที่การปราศรัยเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาคือความยุติธรรม แล้วผู้ปราศรัยก็ผูกความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเข้ากับความยุติธรรมและประชาธิปไตย

บางคนถึงกับพูดว่าหากเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราก็จะมั่งคั่งเหมือนญี่ปุ่น

จริงหรือไม่จริงก็ยกไว้ก่อนนะครับ แต่นี่เป็นเรื่องของวิธีคิดหรือวัฒนธรรมโดยตรง

ตั้งแต่คณะราษฎรมาโน่นแหละที่มีวิธีคิดอย่างนี้ คือประชาธิปไตยกับความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน หลังจากนั้นมา เราก็ไม่ได้ยินนักการเมืองไทยและปัญญาชนไทยผูกสองอย่างเข้าด้วยกันอีก แต่ไปผูกความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเข้ากับความชำนาญการ, กับความมีประสิทธิภาพ, หรือบางครั้งกับอำนาจเด็ดขาดของผู้นำด้วยซ้ำ

การเรียกร้องความยุติธรรมอย่างนี้ จึงกระเทือนอุดมการณ์ทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างถึงรากถึงโคน

ในสังคมช่วงชั้นอย่างสังคมไทย วัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบต่างๆ ก็ถูกจัดช่วงชั้นไว้เหมือนกัน

การชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ นอกจากแสดงความต้องการทางการเมืองแล้ว ยังประกาศหรือยืนยันความเสมอภาคทางวัฒนธรรมของคนชั้นล่างอีกด้วย แม้ไม่ถึงกับพลิกกลับช่วงชั้นของวัฒนธรรมคนชั้นล่างให้ขึ้นมาอยู่ข้างบนสุด ดังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2517 แต่ก็แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของคนชั้นล่างอย่างเปิดเผย และประกาศความเท่าเทียมของวัฒนธรรมนั้นกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ถูกจัดไว้เหนือกว่ามานาน

บางคนวิจารณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดงในครั้งนี้ว่า ไม่พยายามที่จะแสวงหาการสนับสนุนหรือความทนได้ของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ ซ้ำยังผลักให้พวกเขาไปสนับสนุนฝ่ายปรปักษ์ทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ

ผมก็เห็นจริงด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็สงสัยว่ามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างผู้ชุมนุมกับคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งขวางกั้นการรับฟังหรือการได้ยินของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ ไว้อย่างหนาแน่นด้วย

คนเสื้อแดงกลายเป็น "ไอ้ควาย" หรือ "แมลงสาบ" เพราะเขามองเห็นความดีและความงามที่แตกต่างจากคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างยากที่จะเข้าใจได้


+ + + +

บทความที่เกี่ยวข้อง น่าอ่านประกอบ

มาม่ากับเสื้อแดง และ ละครน้ำเน่ากับคนชั้นกลางเอเชีย
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post.html

ชี้เสื้อแดง-พหุลักษณ์ข้ามชนชั้น โดย"ปิ่นแก้ว", สัมภาษณ์"ภควดี"เรื่องประชานิยม
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/redpop.html


.

2554-09-26

รำลึก9/11 10 ปีแห่งความท้าทาย, 5 ปีแห่ง..ร้าวฉานในกองทัพ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

รำลึก 9/11 10 ปีแห่งความท้าทาย !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 36


"สำหรับฝ่ายที่แข็งแรง การเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะยุติการต่อสู้
แต่สำหรับฝ่ายที่อ่อนแอ การเสียชีวิตของพวกเขาเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ "
Martin van Creveld
The Changing Face of War (2008)


เหตุการณ์การก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 9/11 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกร่วมสมัย

เราคงต้องยอมรับกันว่าโลกหลัง 9/11 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะในบริบทของความมั่นคง ไม่ว่าเราจะกล่าวถึงในระดับโลก ระดับรัฐ หรือระดับสังคมก็ตาม

ดังนั้น คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกหลัง 9/11 ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

ฉะนั้น จึงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกหลัง 9/11 ถูกขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

และเมื่อรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐขับเคลื่อนแล้ว ประเทศต่างๆ ในโลกก็ถูกดึงเข้าสู่เวทีการต่อสู้นี้

และการต่อสู้เช่นนี้ก็นำพาประเด็นใหม่ๆ มาสู่รัฐและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย



ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่อาจจะต้องคิดทบทวนก็คือ สถานะของรัฐในบริบทด้านความมั่นคงและความท้าทายที่เกิดขึ้น

รัฐถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2191 (ค.ศ. 1648) ในยุโรป พัฒนาการของรัฐเกิดขึ้นอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ จนกลายเป็น "ตัวแสดงเดียว" ในการเมือง (state actors)

จากพัฒนาการเช่นนี้ได้ถูกสร้างเป็นหลักการว่า รัฐเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือของความรุนแรงเพียงผู้เดียว โดยออกใบอนุญาตให้กองทัพเป็นผู้ใช้เครื่องมือดังกล่าว

และในทำนองเดียวกันก็จะไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นใดภายในรัฐเป็นผู้ครอบครองเครื่องมือนี้เพื่อใช้ในการท้าทายรัฐหรือต่อต้านรัฐ

การกระทำดังกล่าวจะถูกถือว่าเป็นการกบฏต่อรัฐ และรัฐก็พร้อมที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามกับการกระทำเช่นนี้

แต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกรั้งที่ 2 แล้ว ก็เริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นถึงการขยายตัวของสงครามภายในรัฐ มากกว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัฐ พร้อมๆ กับเห็นถึงบทบาทของผู้ท้าทายรัฐ ที่ไม่ใช่รัฐข้าศึกในสงครามแบบเก่า หากแต่เป็น "ตัวแสดงภายใน" ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐ หรือเราอาจจะเรียกว่าเป็น "ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ" (non-state actors)

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ความเป็นตัวแสดงเดียวที่เป็นผู้ควบคุมอาวุธในสังคมถูกท้าทายโดยตรง



ในยุคหลังสงครามเย็น สถานะเช่นนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอีก

ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกำเนิดและมีพัฒนาการของความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของความมั่นคงแล้ว ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในรูปแบบของขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการก่อความไม่สงบ ล้วนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยุคสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนสนับสนุน ความสามารถทางเทคโนโลยี ตลอดรวมถึงการจัดตั้งในรูปแบบใหม่ๆ และพัฒนาการของอาวุธและวัตถุระเบิด เป็นต้น สภาพเช่นนี้ก็คือ การตอบว่ารัฐไม่ใช่ตัวแสดงเดียวในเวทีการเมืองและความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว

ความแข็งแกร่งและความท้าทายของขบวนการเหล่านี้ในฐานะของการเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ปรากฏให้เห็นผลอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ 9/11 เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวมีขนาดใหญ่และเป็นสิ่งที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อนในระดับของการก่อการร้าย

และที่สำคัญก็คือ ผู้ก่อเหตุร้ายไม่ได้ต้องการมีชีวิตรอดหลังปฏิบัติการ พวกเขาเดินหน้าเข้าหาความตายอาจจะไม่แตกต่างจากนักบินกามิกาเซ่ของราชนาวีญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

สภาพเช่นนี้บ่งบอกอีกประการหนึ่งว่า การก่อการร้ายแบบเก่าของยุคสงครามเย็นได้ยุติลง พร้อมๆ กับการกำเนิดของการก่อการร้ายใหม่

โดยมีลักษณะใหม่ๆ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในการต่อสู้กับรัฐทั้งสิ้น

ดังจะเห็นได้ดังนี้

1)การก่อการร้ายใหม่มีความรุนแรงขนาดใหญ่ (mega violence) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความรุนแรงแบบสุดโต่ง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มุ่งเอาการทำลายล้างเป็นหลัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรุนแรงเป็นจุดจบในตัวเองมากกว่าจะเป็นวิถีของการนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมือง

2) การก่อการร้ายในปัจจุบันสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางการเงินและแหล่งทุนสนับสนุน กล่าวคือ ขบวนการมีแหล่งทุนภายในเป็นของตนเอง เช่น อาจจะผ่านกระบวนการทำธุรกิจทั้งแบบปิดและแบบเปิดเพื่อใช้สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของตน

3) การก่อการร้ายปัจจุบันพึ่งพาต่อรัฐน้อยลง หรืออาจจะไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐเลยก็ได้ อันทำให้แนวคิดในเรื่องของ "การก่อการร้ายจากการสนับสนุนของรัฐ" (state-sponsored terrorism) ไม่ใช่แบบแผนหลักในโลกร่วมสมัย ดังได้กล่าวแล้วว่า ขบวนการนี้มีแหล่งเงินสนับสนุนเป็นของตนเอง จึงทำให้ปฏิบัติการของพวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐที่ให้การสนับสนุน (ดังเช่นในยุคสงครามเย็น) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปฏิบัติการของพวกเขาเป็นอิสระจากรัฐ

4) ขบวนการก่อการร้ายสมัยใหม่มีขีดความสามารถในลักษณะของความชำนาญเฉพาะด้าน (functional specialization) มากขึ้น แต่เดิมขบวนการเช่นนี้ต้องพึ่งพารัฐ รัฐจึงอยู่ในฐานะผู้อุปถัมภ์ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของทุน ที่พักพิง และการจัดหาอาวุธ แต่เนื่องจากปัจจุบันขบวนการนี้สามารถพึ่งพาตนเอง จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถเฉพาะด้านให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดองค์กรแบบใหม่ที่สะท้อนถึงการเน้นขีดความสามารถเฉพาะด้าน

5) การก่อการร้ายในอดีตมักจะจำกัดขอบเขตอยู่กับปฏิบัติการภายในประเทศ แต่ในปัจจุบันขบวนการเหล่านี้มีลักษณะของปฏิบัติการข้ามชาติ ซึ่งก็อาจจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กิจกรรมต่างๆ มีความเป็นข้ามชาติมากขึ้น หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โลกเป็นโลกาภิวัตน์ฉันใด การก่อการร้ายก็เป็นโลกาภิวัตน์ฉันนั้น

6) การก่อการร้ายในแบบเก่าพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่มากนัก แต่การก่อการร้ายในปัจจุบันมีลักษณะของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

หรือเทคโนโลยีสมรรถนะสูงมากขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์ดาวเทียม การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น กล่าวคือ แม้พวกเขาอาจจะดูเป็นพวกจารีตนิยม ต่อต้านความเป็นสมัยใหม่ แต่พวกเขากลับใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

7) การก่อการร้ายใหม่มีลักษณะของการพลีชีพมากกว่าการสงวนชีวิตของผู้ปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมที่จะสละชีวิตของตนเองไปพร้อมกับปฏิบัติการที่เกิดขึ้น แตกต่างอย่างมากจากปฏิบัติการแบบเดิมที่ผู้ก่อเหตุพยายามที่จะรักษาชีวิตของตนเอง อย่างน้อยพวกเขาก็ต้องการเป็น "วีรบุรุษที่ยังมีชีวิตอยู่" มากกว่าจะเป็น "วีรบุรุษที่ตายแล้ว"

ลักษณะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ผู้ก่อเหตุไม่มีความจำเป็นต้องรักษาชีวิตของตนเองแต่อย่างใด ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องสงวนชีวิตของผู้อื่น เพราะปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมุ่งประสงค์การทำลายเป็นหลัก และก็เป็นการทำลายล้างขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งการทำลายล้างเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็มีความจำเป็นอยู่เองที่ผู้ก่อเหตุอาจจะไม่สามารถรักษาชีวิตของตนเองได้

8) ถ้าการก่อการร้ายแบบเดิมมีความพยายามที่จะรักษาภาพลักษณ์ทางการเมือง ด้วยการมุ่งทำลายเป้าหมายที่มีความจำกัดและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในทางการเมืองกับขบวนการของตน แต่การก่อการร้ายใหม่อาจจะไม่ได้คำนึงผลกระทบทางการเมืองจากปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

ในทางตรงข้ามพวกเขามุ่งหวังผลของความรุนแรงในฐานะของอำนาจการทำลายล้างต่างหาก และหวังว่าการทำลายล้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจะสร้าง "ความกลัวขนาดใหญ่" ให้แก่โลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการส่งสัญญาณถึงการทำสงครามโดยตรงกับรัฐ

9) การก่อการร้ายในโลกปัจจุบันส่งผลกระทบต่อนโยบายในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งการก่อการร้ายแบบเดิมมักจะหวังผลกระทบในทางยุทธวิธี หรือผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในวงแคบๆ เช่น การเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลของฝ่ายตนหรือการตอบแทนในลักษณะของการให้เงิน เป็นต้น

ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมักจะไม่ใช่เรื่องในขอบเขตทางยุทธศาสตร์ และรัฐเป้าหมายก็ไม่เคยถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนนโยบายของตนจากปัญหาที่เกิดขึ้น

แต่การก่อเหตุในปัจจุบันอาจทำให้รัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ เช่น รัฐบาลสเปนหลังจากการก่อการร้ายที่สถานีรถไฟในเมืองหลวงของตน ได้ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายโดยการถอนทหารออกจากอิรัก เป็นต้น อันเท่ากับบ่งบอกว่าการก่อการร้ายร่วมสมัยสามารถส่งผลกระทบในทางยุทธศาสตร์ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐได้

10) การก่อการร้ายสมัยใหม่มีลักษณะเป็น "เครือข่าย" โดยเป็นการเชื่อมต่อของเครือข่าย (network) ในรูปแบบต่างๆ ว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างจากเครือข่ายของระบบอาชญากรรม ซึ่งทำให้การเฝ้าตรวจและการระวังป้องกันเป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะเครือข่ายโดยเฉพาะการใช้ระบบสารสนเทศสมัยใหม่เช่นนี้เอื้อให้พวกเขาทำงานในลักษณะปกปิดได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นได้ง่ายเช่นกัน

11) การก่อการร้ายในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนจากมิติทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม มากกว่าจะเป็นการขับเคลื่อนจากอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นในยุคสงครามเย็น ดังจะเห็นได้ว่าขบวนการก่อการร้ายมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา และในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าผู้ก่อการร้ายมักจะเป็นพวกจารีตนิยม แต่ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าพวกจารีตนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอไป

12) การก่อการร้ายร่วมสมัยมีลักษณะเปิดกว้างให้แก่ผู้เข้าร่วม เช่น บทบาทของผู้ก่อการร้ายหญิง เป็นต้น ซึ่งในอดีตจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงไม่ได้ถูกดึงตัวเข้ามาเป็น "ผู้ปฏิบัติการ" เว้นเสียแต่จะใช้ในรูปแบบของแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันอาจจะเห็นได้ทั้งในกรณีเด็กและผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การก่อการร้ายมี "ความใหม่" และแตกต่างจากการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็น ซึ่งถูกถือว่าเป็นการก่อการร้ายเก่า ดังนั้น การก่อการร้ายใหม่ที่เปิดให้เห็นจากปรากฏการณ์ 9/11 จึงเป็นความใหม่ของโลกความมั่นคง

และอาจจะถือว่าเป็นความใหม่ของยุคสมัย แต่ที่สำคัญก็คือ การแสดงให้เห็นถึงการท้าทายต่อรัฐจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ จนถึงขั้นมีขีดความสามารถในการทำสงครามกับรัฐได้

ปัญหาก็คือขบวนการก่อการร้ายใหม่และความท้าทายเช่นนี้จะดำรงอยู่ไปอีกนานเท่าใด และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะสามารถเอาชนะสงครามเช่นนี้ได้หรือไม่ แม้จะถือเอาว่าการสังหารชีวิตของ อุสซามะห์ บิน ลาดิน เป็นปัจจัยเชิงบวกของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ใครเล่าจะเชื่อว่าการสิ้นสุดชีวิตของ บิน ลาดิน คือ การสิ้นสุดชีวิตของการก่อการร้ายใหม่ !



++

5 ปีแห่งความแตกแยกและร้าวฉาน ในกองทัพ !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 37


"เราเชื่อกันว่า นายทหารในสังคมประชาธิปไตยควรเป็นกลางทางการเมือง
...นายทหารไม่ได้รับอนุญาตให้มีอิทธิพลเหนือผู้ใต้บังคับบัญชาในทางการเมือง
เขาจะทำได้มากที่สุดก็คือ การบอกผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทหารทำสงครามก็เพื่อปกป้องเสรีภาพ "
Martin van Creveld
The Training of Offices (1990)


รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย แม้ในช่วงต้นผู้นำทหารและบรรดาชนชั้นนำจะกังวลอย่างมากกับการต่อต้านของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็เป็นไปตาม "กฎแห่งการยึดอำนาจ" เมื่อผู้นำกองทัพตัดสินใจใช้กำลังทหารล้มรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือนที่ไหนก็ตามไม่อาจจะต้านทานได้

และแม้จะกังวลว่าผู้นำพลเรือนดังกล่าวจะใช้สถานะของความเป็นรัฐบาลที่ถูกโค่นประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลพลัดถิ่น" เพื่อต่อสู้กับการรัฐประหารนี้ แต่ในท้ายที่สุด แนวคิดเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่นก็ไม่ได้เกิดขึ้น...

รัฐประหาร 2549 จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งของความสำเร็จของผู้นำทหารในการใช้กำลังเข้าควบคุมการเมืองไทย แล้วการยึดอำนาจในวันนั้น

ก็จบลงไม่ยากอย่างที่คิด!

และที่สำคัญก็คือ พวกเขาได้ลิ้มรสแห่งอำนาจอย่างแท้จริง

เป็นอำนาจที่ครั้งหนึ่ง ผู้นำทหารเคยมีไว้ในครอบครอง

แต่เรื่องราวของอำนาจเช่นนี้ก็กลายเป็นเพียงตำนานของกองทัพในยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535



การเมืองไทยในปี 2549 และหลังจากนั้น ไม่ใช่การเมืองในอดีตที่ผู้นำทหารจะสามารถสำแดงพลังในการควบคุมระบบการเมืองไทยได้โดยง่าย

แม้จะมีพลังสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่พลังดังกล่าวก็มิได้เข้มแข็งจนไม่ถูกต้านทานและคัดค้าน

หรือแม้รัฐบาลทหารและผู้นำกองทัพจะมีแรงสนับสนุนเช่นในแบบเดียวกับรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ทั้งในบริบทของการเมืองไทยและการเมืองโลกแล้ว พลังดังกล่าวก็มิใช่จะเป็น "หลังพิง" ให้กับผู้นำทหารได้ในทุกเรื่อง

แม้ผู้นำทหารจากการรัฐประหาร 2549 ดูเหมือนจะมีอำนาจอย่างมาก แต่การใช้อำนาจก็มีความจำกัดจากการต่อต้านที่เกิดขึ้น และแรงต่อต้านทวีความรุนแรงขึ้นจากการปราบปรามทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบในเทศกาลสงกรานต์ 2552 และต่อมาในสงกรานต์ 2553 และการสังหารใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2553

ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการเมืองในรูปแบบต่างๆ

อย่างน้อยการเปลี่ยนขั้วการเมืองจากการถูกยุบพรรคของรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทแอบแฝงของทหาร จนถึงกับมีการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในค่ายทหาร

และยังสะท้อนให้เห็นได้อีกจากอำนาจของทหารในกระบวนการด้านงบประมาณ ที่กองทัพได้งบทุกอย่างตามต้องการ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกให้เห็นสถานะของทหารในการเมืองไทยอย่างชัดเจน กองทัพยังจะต้องมีบทบาททางการเมืองต่อไป แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลทหาร

การไม่มีรัฐบาลทหารทำให้กองทัพสามารถลดทอนแรงกดดันในทางการเมืองลงได้อย่างมาก และการเล่นบท "ผู้กำกับหลังฉาก" ก็ทำให้ผู้นำกองทัพได้อำนาจและทรัพยากร (งบประมาณ เป็นต้น) ตามความปรารถนาได้โดยไม่จำเป็นต้องตกเป็นเป้าโดยตรง

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแล้ว อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของผู้นำทหารที่กองบัญชาการกองทัพบก มากกว่าจะอยู่กับผู้นำการเมืองในทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ผลจากการประมาณการณ์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก กล่าวคือ

คณะรัฐประหารเชื่อว่าทหารสามารถควบคุมระบบการเมืองได้ จึงตัดสินใจยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปลายเดือนธันวาคม 2550

ผู้นำทหารบางส่วนเชื่อว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถดำเนินการด้วยกรรมวิธีต่างๆ จากความเป็นรัฐบาลที่คุมการเลือกตั้ง และจะทำให้พรรคการเมืองในปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในทางความคิด ได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน

แต่ก็แพ้!



สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่แนวคิดแบบสุดโต่งในการโค่นล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา ด้วยการระดมพลครั้งใหญ่ของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ล้มลงจากการกระทำดังกล่าว

หากถูกล้มโดยกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" โดยการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในทางการเมือง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้จากการล้มของรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เกิดจากอำนาจ "ค้อน" มากกว่าอำนาจ "ปืน"

ตัวแบบจากการใช้อำนาจเช่นนี้ทำให้บทบาทของสถาบันตุลาการในทางการเมืองเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่ก็ดูจะ "เนียน" กว่าการใช้อำนาจของทหาร เพราะอย่างน้อยผู้นำทหารก็ไม่ต้องใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลสมัคร และไม่ต้องยึดอีกครั้งจากรัฐบาลสมชาย

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิด "รัฐประหารเงียบ" ในการเมืองไทยอย่างน้อย 3 ครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ได้แก่ คำตัดสินในกรณีทำกับข้าวในรายการโทรทัศน์และส่งผลให้ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

คำตัดสินยุบพรรคในสมัยรัฐบาลสมชาย ทำให้รัฐบาลในปีกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหมดสภาพไป

และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำภายใต้การสนับสนุนของผู้นำกองทัพ และกดดันให้พรรคการเมืองบางส่วนเข้าร่วมกับรัฐบาลนี้

รัฐประหารเงียบเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยหลังจากรัฐประหาร 2549 มีอยู่สูงมาก และสูงมากจนกลายเป็น "พันธนาการ" สถาบันทหารไว้กับการเมือง และไม่อาจตอบได้ว่าถ้าต้องถอยออกแล้ว กระบวนการถอนตัวทางการเมืองของทหารไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

เพราะตราบจนปัจจุบัน ก็ไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการที่จะ "กลับกรมกอง" เกิดขึ้นแต่อย่างใด อันทำให้หลายๆ ฝ่ายกังวลว่า กระบวนการถอนตัวจากการเมืองอาจจะเกิดจากสภาพบังคับมากกว่าจะเป็นสภาพอาสา

ดังตัวแบบของ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535



นอกจากนี้ "โซ่ข้อใหญ่" ที่ผูกผู้นำกองทัพไทยไว้อย่างแน่นหนาก็คือ ปัญหาการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

กรณีนี้จะยังคงตามหลอกหลอนผู้นำทหารรุ่นนี้ต่อไป ไม่ว่าจะในบริบททางการเมืองและในชีวิตจริง

แต่หากกรณีดังกล่าวกลายเป็นคดีในชั้นศาลเมื่อใดก็ตาม เมื่อนั้นเราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในกองทัพได้ไม่ยากนักเช่นกัน

และก็แน่นอนว่า พวกเขาไม่ยินยอมเป็นอันขาดที่ไทยจะเป็นภาคีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) และหากเข้าเป็นสมาชิกเมื่อใด รัฐประหารก็จะตามมาทันทีเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งการขยายบทบาทของกองทัพในการเมืองก็ทำให้ผู้นำทหารกลายเป็น "ผู้นำทางการเมือง" ไปโดยปริยาย เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กองบัญชาการกองทัพเป็น "ศูนย์กลางอำนาจรัฐ" ที่แท้จริง การตัดสินใจทางการเมืองยุติลงด้วยการตกลงใจสุดท้ายของผู้นำทหาร

หากจะแตกต่างจากในอดีตก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่านั้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันพวกเขาดูจะยังไม่พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องกล่าวว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากเวทีสากล

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในโลกปัจจุบัน โอกาสที่รัฐบาลต่างประเทศจะให้การรับรองต่อการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลทหารใหม่ของไทยนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

ยิ่งคิดคู่ขนานกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลางแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่า รัฐประหารครั้งใหม่จะเป็นความสุ่มเสี่ยงขนาดใหญ่ที่อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในการเมืองไทยได้ไม่ยากนัก



ปัญหาไม่ใช่แค่เพียงแรงกดดันจากภายนอกและแรงต้านจากภายในเท่านั้น หากแต่ผลกระทบในเชิงสถาบันที่เป็นปัญหาใหญ่ของทหาร

ก็คือ ความแตกแยกและความร้าวฉานภายในกองทัพอย่างรุนแรง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลพวงใหญ่ของรัฐประหาร 2549 ก็คือ เกิดการแบ่งฝ่ายแยกข้างในกองทัพอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากชื่อเรียกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น บูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ และทหารแตงโม เป็นต้น

คำเรียกขานเหล่านี้เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของความแตกแยกของทหาร แม้จะกล่าวว่าในความเป็นจริง กองทัพก็แตกแยกทุกยุคทุกสมัย จากปัญหาการแก่งแย่งและแข่งขันในเรื่องตำแหน่งและการปรับย้าย

หากแต่ผลจากรัฐประหารที่นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่ม "บูรพาพยัคฆ์" ซึ่งมีพื้นฐานเดิมจากกรมทหารราบที่ 21 และต่อมาก็ขยายความถึงทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี

การขยายบทบาทของกองทัพผ่านกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ย่อมทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้เกิดการ "เบียด" กลุ่มอำนาจเดิม โดยเฉพาะในกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งถูกขนานนามโดยสื่อว่าเป็นพวก "วงศ์เทวัญ" ให้ต้องหลุดออกจากตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งหลักในการกุมกำลังของหน่วยรบของกองทัพภาคที่ 1

ดังนั้น คงสรุปได้ว่า แม้รัฐประหาร 2549 ได้เปิดโอกาสให้แก่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ทั้งในทางการเมืองและการทหาร แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นจากแรงเสียดทานภายในกองทัพเอง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่ปัญหากับบรรดาวงศ์เทวัญเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มทหารบางส่วนที่ไม่ได้ตอบรับแนวคิดกับกลุ่มอำนาจในกองทัพ และยังมีใจไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้บรรดานายทหารเหล่านี้จะถูกผลักออกจากการคุมตำแหน่งสำคัญ แต่เครือข่ายและเส้นสายของพวกเขายังอยู่ในแวดวงทหาร

ทหารเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่าเป็น "ทหารแตงโม" ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มนี้มีขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธกับการดำรงอยู่ของพวกเขาไม่ได้ อย่างน้อยการประชุมของรัฐบาลกับผู้นำทหารหลายๆ ครั้งในช่วงการปราบปรามในเดือนพฤษภาคม 2553 นั้น ก็ได้เห็นเอกสารการประชุมดังกล่าวออกสู่เวทีของผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงหลายฉบับ

ซึ่งก็คืออีกภาพสะท้อนหนึ่งของความแตกแยกครั้งสำคัญในกองทัพ

เพราะไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงความไม่มีเอกภาพของทหารเท่านั้น หากแต่ยังบอกถึงทัศนะการเมืองที่แตกต่างของกลุ่มทหารในขณะนี้อีกด้วย

อย่างน้อยผลการเลือกตั้งในหลายหน่วยทหาร ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำทหารต้องการ ก็บ่งบอกถึงเอกภาพทางการเมืองของกองทัพเป็นอย่างดี

ในอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงมีนายทหารธรรมดาๆ ที่อาจจะไม่อยู่ในกลุ่มใดๆ เลย แล้วเราจะจัดพวกเขาไว้ตรงไหน ซึ่งก็อาจจะเป็นอีกกลุ่มในกองทัพที่นั่งดูว่าสถานการณ์ในกองทัพจะพลิกผันไปอย่างไรในอนาคต

แม้บางทีเราอาจจะบอกว่า กลุ่มนี้ไม่น่าสนใจ เพราะไม่มีทัศนคติทางการเมืองที่ชัดเจน และบางทีก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งคุมกำลังหลักที่จะต้องให้ความสนใจ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทหารธรรมดา" เหล่านี้อาจจะมีอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควรในกองทัพ หรือบางทีอาจจะเป็น "พลังเงียบ" ในกองทัพอีกแบบหนึ่งหากสามารถช่วงชิงเป็นพวกได้ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะเป็น "ผู้ดู" มากกว่า "ผู้เล่น" และไม่มีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลงในกองทัพเท่าใดนัก

เรื่องราวเหล่านี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า กองทัพกับการเมืองไทยไม่มีอะไรเหมือนเดิมแบบเก่าอีกต่อไปแล้ว

ความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 ได้กลายเป็นพันธนาการใหญ่จนผู้นำกองทัพเอาตัวออกจากการเมืองไม่ได้

แต่อำนาจในการเมืองที่ได้มาก็เป็นดั่ง "ไฟร้อน" ที่เผาไหม้กองทัพในขณะเดียวกันด้วย!



.

2554-09-25

5 ปีรัฐประหาร, +ด้วยรัก โดย คำ ผกา, +ทำให้กลัว แล้วปกครอง

.

5 ปี รัฐประหาร
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 89


ฉันอาจจะเกลียดประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่ไม่มีฟุตปาธให้คนบ้ารองเท้าส้นสูงอย่างฉันเดิน

ฉันอาจจะเกลียดประเทศไทยเพราะมีรถไฟที่ห่วยแตก แพง สกปรก ตกรางเป็นนิจ

ฉันอาจจะเกลียดประเทศไทยที่มีแต่ละครหลังข่าวเป็นความบันเทิงภาคบังคับ

ฉันอาจจะเกลียดเมืองไทยด้วยเป็นเมืองที่ดาษดื่นไปด้วยสามานย์ทางรสนิยมปัญญา ภาษา ประวัติศาสตร์

แต่กระนั้นก็ไม่เคยคิดเดียดฉันท์ถึงขั้นขยะแขยงไม่อยากสบตา ไม่อยากสังฆกรรม และวิงเวียนกับความวิปลาสของสังคมไทยที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 19 กันยายน 2549

อาทิตย์แรกของการรัฐประหาร ฉันรับโทรศัพท์จากมวลมิตรผู้ล้วนเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม อดีตนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาฯ ศิลปินชื่อก้อง นักเขียนผู้เปี่ยมอารมณ์ขันและเมตตา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ อันล้วนแต่เป็น "ชนชั้นนำ" ทางปัญญาของสังคม เป็นผู้อ่อนไหวต่อความไม่เป็นธรรม ความฉ้อฉลของอำนาจรัฐที่รังแต่จะไปรังแกคนเล็กๆ - คนเหล่านั้นโทร.มาหาด้วยความปิติ ว่า

"แม่ง รัฐประหารแล้ว สะใจมั้ย ฮ่าๆๆๆ"

"โหย คราวนี้ทหารเอาจริง สะใจจริงๆ"

"ทักษิณไปเสียที แผ่นดินไทยสูงขึ้นอีกเยอะ"

ฯลฯ

ส่วนฉันไม่รู้จะพูดอะไรนอกจากร้อง "เฮ้ยๆๆๆ" อยู่ในใจ ขณะเดียวกันก็พยายามหลอกตัวเองว่า - ฟังผิด - หรือไม่เพื่อนๆ คงกำลังช็อกกับการรัฐประหารจึงเกิดภาวะวิกลจริตกันชั่วคราว



การรัฐประหารคืออาชญากรรมที่มีต่อประชาชน มีแต่ประวัติศาสตร์และการประดิษฐ์ความทรงจำอันวิตถาร (pervert) เท่านั้นที่ทำให้สังคมไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกจากกันได้

เช่น ไม่อาจแยกแยะการปฏิวัติกับการรัฐประหาร, ไม่อาจแยกแยะสังคมนิยมออกจากคอมมิวนิสต์, ไม่อาจแยกแยะคอมมิวนิสต์ออกจากเผด็จการ, เห็นการปฏิวัติสยาม 2475 เป็นผู้ร้ายแต่กบฏบวรเดชเป็นพระเอก, ใช้ระดับการศึกษาเป็นเครื่องวัดระดับความเข้าใจประชาธิปไตย เป็นต้น

ด้วยความรู้และความทรงจำอันวิตถารเช่นนั้นจึงทำให้คนไทยมองเห็นการรัฐประหารเป็นดั่งการจุติลงมาของผีบุญที่ลงมาปราบทุกข์เข็ญของประชาชนที่กำลังถูกผีห่าซาตานนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสูบกินเลือดเนื้อและวิญญาณ

การรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับบทบาทของทหารจึงไม่ใช่เรื่องของการป้องกันประเทศ ประชาชน อำนาจอธิปไตย แต่กลับเป็นทหารในฐานะสถาบันสำคัญของประเทศที่มีความใส่ใจในกิจการการเมืองและความมั่นคงภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น หน้าที่หลักของทหารและกองทัพไทยคือการกำหนดยุทธศาสตร์และหาเป้าหมายของ "ศัตรูภายใน"

ศัตรูภายในนั้นถูกกำหนดขึ้นมาจากโจทย์ของการปกป้องสถาบันจารีตเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนจะตามมาด้วยหน้าที่การปกป้องประชาชนจากนักการเมืองเลว นักการเมืองโกง - กองทัพไทยจึงถูกคาดหวังให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่รัฐประหารอันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในสากลโลก

แต่ในประเทศตรรกะวิปริต ความคิดวิปลาส ประชาชนที่ฟั่นเฟือนย่อมยินดีปรีดา จัดโคโยตี้พร้อมดอกกุหลาบไปมอบให้กับทหารและรถถังในวันหลังการรัฐประหาร ไม่นับประชาชนที่สมองถูกล้างจนสะอาดหมดจด ย่อมเห็นว่า

"อ๋อ รัฐประหารเหรอ ก็ธรรมดาอ่านะ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรานี่หว่า การเมืองก็เงี้ย อย่าไปคิดมาก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป จบไป เห็นมาแบบเนี่ยะทุกที พวกคนที่ออกมาอินกับการเมืองนี่น่าสมเพชจริงๆ แทนที่จะเอาเวลาไปทำมาหากิน โง่เง่าไม่รู้ว่าเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องของคนมีอำนาจเค้าคุย เค้าตกลงกันไว้หมดแล้วววววว กลับไปทำนาไป๊"

ที่น่าขยะแขยงอย่างนึกไม่ถึงก็คือ มีทั้งสื่อมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการ นักกิจกรรม นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักกฎหมาย นักมือถือสากปากถือศีล ที่อาบน้ำแต่งตัวรอให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเรียกตัวไปทำงาน ทั้งไปเป็นนักเขียนรัฐธรรมนูญ ไปเป็นองค์กรอิสระ ไปเป็นที่ปรึกษา ไปเป็นโฆษก ไปรับเงินทุนมาตั้งสถาบันวิจัย ไปทำสถานีโทรทัศน์ที่อ้างว่าเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย โดยมิได้สำเหนียกว่าตนเองกำลังให้ "บริการ" ระบอบที่ทำลายประชาธิปไตย ทำลายประชาชน

มิหนำซ้ำยังผลิตเนื้อหา วาทกรรมเพื่อหนุนนำอำนาจเผด็จการและเขี่ยประชาชนให้ไปอยู่ในพื้นที่แห่งความ สะอาด สว่าง สงบ อันแปลว่า -หุบปากและทำตัวให้น่ารักๆ หน่อย



5 ปีหลังจากรัฐประหาร คนที่เป็นผู้มีการศึกษามีความรู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย กลับเป็นประชาชนผู้ถูกแปะป้ายว่าเป็นตาสีตาสา เป็นคนบ้านนอกคอกนา เป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สติปัญญา ศีลธรรม การศึกษา การบริโภค

คนเหล่านี้คือคนที่ถูกบรรดา "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" คอยสั่งสอนว่าควรกินเหล้าไหม มีเซ็กซ์เดือนละกี่หน มีลูกครอบครัวละกี่คน อะไรควรซื้อ อะไรไม่ควรซื้อ ควรปลูกอะไร เลี้ยงอะไร กินอะไร เอาลูกเข้าโรงเรียนที่ไหน ควรนุ่งเจียมห่มเจียมอย่างไร

คือคนเหล่านี้เองที่มาให้การศึกษากับพวกเราว่าประชาธิปไตยในตำราเรียน ประชาธิปไตยในฟองน้ำลายของนักรัฐศาสตร์ที่เกิดมาเพื่อรับใช้เผด็จการ ของปราชญ์สาธารณะ ของศิลปินแห่งชาติ ล้วนแต่เป็นประชาธิปไตยหลอกแดก นั่นคือการสร้างนิยามใหม่ให้กับประชาธิปไตยอันมีสร้อยห้อยท้ายว่าแบบ "ไทยๆ"

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือการปกครองที่ไม่ศรัทธาในการเลือกตั้งด้วยเชื่อว่าประชาชนไม่มีวิจารณญาณแยกแยะผิด ชอบ ชั่ว ดี ดังนั้น เราจึงต้องการประชาธิปไตยที่มีผู้รู้แจ้ง รู้ดี ศีลธรรมสูงส่งอยู่กลุ่มหนึ่ง เป็นผู้คัดเลือกคนดี คนที่เหมาะสมมาเป็นตัวแทนประชาชน

ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงพยายามผลักดันตำแหน่งที่มาจากการ "แต่งตั้ง" มาแข่งขันกับคณะบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่นับการตั้งองค์กรที่เรียกกันว่าองค์กรกลางบ้าง องค์กรอิสระบ้าง องค์กรตรวจสอบศีลธรรมจริยธรรมนักการเมืองบ้าง

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มุ่งตรวจสอบนักการเมืองโดยมอบดาบคุณธรรมให้คณะบุคคลที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะถูกตรวจสอบได้อันเป็นเรื่องลักลั่นขัดแย้งกันอย่างบอกไม่ถูก

พูดภาษาชาวบ้านว่าคนที่เที่ยวไปตรวจสอบผู้อื่นนั้น สมควรได้รับการตรวจสอบด้วยหรือไม่ และได้รับการตรวจสอบจากใคร หรือจะวัดกันด้วยระดับความสูงทางศีลธรรมเป็นชั้นๆ ไล่เรียงกันขึ้นไปจนถึงคนที่ถือคุณธรรมสูงสุดอยู่บนสุดเป็นผู้มีอำนาจตัดสินพิพากษาสูงสุดมิอาจตรวจสอบได้

ความเลอะเลือนเกี่ยวกับความหมายของประชาธิปไตยแบบหลอกรับประทานนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงที่สุดภายหลังการรัฐประหารโดยประชาชนที่ถูกวาดภาพให้เป็นประชาชนโง่ จน เจ็บ ลุกขึ้นมาทวงถามมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งเห็นว่าประชาธิปไตยแบบฉ้อฉลกลลวงปฏิเสธการเลือกตั้งนั้นสามานย์เกินทน

สามานย์จากผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยังไม่เท่าความสามานย์จากการแอบอ้างเอาความดีใส่ตัว เอาความชั่วใส่คนอื่นอย่างไร้ยางอาย



5 ปีหลังการรัฐประหาร สื่อมวลชนทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ต้องเผชิญหน้ากับทั้งพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์ที่ไม่สามารถก้าวทันความก้าวหน้าและการศึกษาของประชาชนกำลังจะถูกผลักให้ตกเวทีทางประวัติศาสตร์หากไม่ยอมปรับตัว

นักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่เคยเป็นเสาหลัก เป็น "สถาบัน" เป็น "ยี่ห้อ" เป็นบุคลระดับขึ้นหิ้งของวงการสื่อสารมวลชนถูกตรวจสอบจากประชาชนที่ตาสว่างด้วยข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายแหล่งข้อมูล จนจับโกหกสื่อได้ว่ามีทั้งมั่วนิ่ม ใส่ไฟ บิดเบือน เลือกพูดเฉพาะบางตอนทิ้งไว้บางตอนเพื่อสร้างข้อเท็จจริงใหม่ ใส่แท็กติกของภาษาเพื่อวาดภาพผู้ร้าย-ผู้ดี ให้กับตัวละครการเมืองไทย

เรื่องที่น่ายินดีคือประชาชนผู้ตาสว่างและมีการศึกษา (จากการได้รับผลกระทบและบทเรียนจากเหตุการณ์จริง เจ็บจริง ตายจริง) ของไทย ได้หลุดพ้นจากการครอบงำของสิ่งที่ Grand Narrative หรือ อภิมหากาพย์ว่าด้วยความ "เป็น อยู่ คือ" ของการเมืองไทย โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วย ที่มาของอำนาจอธิปไตย, ความหมายของคำว่าชาติ, ความหมายของคำว่า ประชาชน, ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

และที่ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงที่สุดคือ มโนทัศน์ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันของ "คน" ซึ่งใน มหากาพย์ว่าด้วยความเป็นไทยย่อมตอกย้ำสถานะอันไม่เท่ากันของคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ "ธรรมชาติ" เป็น "ธรรมชาติ" ดังนั้น จึงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เฉกเดียวกับการที่เราไม่สามารถสั่งให้พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกก็ฉันนั้น

นอกจากปฏิเสธคำอธิบายที่อ้างอิงกับสภาวะที่เป็น "ธรรมชาติ" แล้ว ยังท้าทายอภิมหากาพย์ว่าด้วยเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคนนั้นมาจาก "บุญทำกรรมแต่ง" ดังนั้น จงอย่าไปเรียกร้องประชาธิปไตยแต่หันไปสะสมบุญกันเถอะ ชาติหน้าจะได้ขยับจากต่ำมาเป็นสูงกับเขาบ้าง


5 ปี กับการครบรอบรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทย คำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย อีกทั้งทัศนคติที่ถูกต้องมากขึ้นต่อคำว่า "ทุน" หรือ เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กลายเป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ทุกเพศทุกวัย

และนั่นคือเครื่องบ่งชี้ว่า ประชาชนพร้อมแล้วที่จะเอาจริง นั่นแปลว่า เราจะไม่สมยอมต่อวาทกรรม เรื่องเล่า ความรู้ ความตลบตะแลงของคนมือถือสากปากถือศีลที่พยายามจะสร้างฐานรองรับความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร

"รัฐบาลอย่าสร้างเงื่อนไขให้กับการรัฐประหาร" คำพูดเช่นนี้เมื่อห้าหรือหกปีก่อน อาจเป็นคำพูดที่ "ถูกต้อง" ทว่าวันนี้เป็นประโยคที่ถูกตั้งคำถามทันทีที่มีใครสักคนพูดออกมา เพราะในการเคารพหลักการประชาธิปไตย ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "เงื่อนไขในการรัฐประหาร"

เพราะการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ยอมรับไม่ได้ แต่ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมต่อชาติและต่อประชาชน



5 ปีที่ผ่านไปของรัฐประหาร เมล็ดพันธุ์ของประชาธิปไตยได้หยั่งรากลงสู่ผืนดินของไทย เป็นเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาจากเลือดเนื้อและการต่อสู้ชนิดกัดไม่ปล่อยของประชาชนที่ไม่เคยมีพื้นที่อยู่ในจินตกรรมของชาติไทยฉบับราชการมาก่อน

เมล็ดพันธุ์นี้ใช้เวลาในการบ่ม ถูกทดสอบด้วยแสงแดดแผดเผา พายุ ลม ฝน มอด หนอน แมลง ปลวก ทว่าจะค่อยๆ ยืนหยัดปรับตัวและยืนยันที่จะมีชีวิตอยู่

วันนี้มันผลิใบแล้ว และจะค่อยๆ เติบโต



++

บทความย้อนอดีต ปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )

ด้วยรัก
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1564 หน้า 91


อ่านข่าวเรื่องเขาพระวิหารไปแบบงงๆ คดีความเรื่องเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา จบไปตั้งแต่ปี 2505 ถ้าคนไทยไม่พึงใจก็ควรจะไปขอยืมไทม์แมชชีนของโดเรมอนย้อนกลับไป ต่อสู้ในศาลโลกใหม่ แต่นี่ สู้แล้ว ศาลตัดสินไปแล้วเกือบ 50 ปี จะมาร่านทุรนอะไรกันในเวลานี้ให้ชาวโลกเขาเยาะหยัน (และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครที่ไหนในโลกมาเสียเวลาใส่ใจกับเรื่องบ้าๆ บอๆ นี้สักเท่าไหร่)

เมื่อไหร่คนไทยจะยอมรับเสียทีว่า กำเนิด ตัวตน ของความเป็นไทยนั้นเป็นของใหม่ ของสด ดินแดนขวานทองของไทยก็เกิดจากการตกลงร่วมขีดเส้นเขตแดนกันระหว่าง สยาม ฝรั่งเศส อังกฤษ ตกลงกันดีๆ บ้าง ยินยอมกันด้วยจำนนต่อแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง งอแงชูประเด็นเรื่องการเสียดินแดนมาเพื่อปลุกระดมความคลั่งชาติยามรัฐบาลไร้เสถียรภาพบ้าง

เส้นเขตแดนของเราหดบ้าง ขยายบ้างไปตามประสาประเทศที่เกิดใหม่และในช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมมีเรื่องฉุกละหุก ขลุกขลักไม่ลงตัว (ไม่แต่ประเทศของเรา ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ย่อมผ่านช่วงเวลาขลุกขลัก ไม่ลงตัวนี้ด้วยเหมือนกัน) ความไม่ลงตัวสุดท้ายก็น่าจะเป็นคดีความระหว่างกัมพูชากับไทยในปี 2505 นั่นเอง เป็นอันยุติข้อโต้แย้ง ถือว่าคำพิพากษาของศาลโลกเป็นที่ยุติ หลังจากนั้น แผนที่ขวานทองของไทยก็ลงตัว ไม่สมควรต้องไปหาเรื่องไปทะเลาะกับใครเขาอีกให้ขายขี้หน้า

อะไรไม่ใช่ของตัวจะไปตู่ว่าเป็นของตัว หน้าไม่อาย!

เที่ยวไปตู่จะเอานั่นเอานี่ของคนอื่นเขามาก็สมแล้วที่ชาวบ้านร้านช่องผู้พอมีสติสตังค์เหลืออยู่บ้างจะประชดเข้าให้ว่า ถ้าอย่างนั้นก็พากันไปเรียกร้องเขาอัลไตคืนมาเสียเลยเป็นไง แคว้นอัสสงอัสสัมไปฟ้องศาลโลกเอาคืนมาให้หมด เพราะเหล่านั้นล้วนแต่เคยเป็นดินแดนของคนไทยมาก่อนทั้งนั้น จากนั้นก็ไปทวงรัฐปะลิศ กลันตัน ตรังกานู คืนจากมาเลเซียมาด้วยเสียเลย

อยากคลั่งชาติ คลั่งศักดิ์ศรี คลั่งความเป็นไทยแบบไร้ที่มาที่ไปกันนัก



ธงชัย วินิจกูล ได้อธิบาย อาการคลั่งไคล้ไหลหลงและสำคัญตนเองผิดของคนไทยว่าเป็นอาการ "บ้านนอก" หรือ provincialism

ตัวอย่างของกลุ่มอาการนี้ เช่น การชื่นชมโสมนัสในยามที่ตัวแทนสาวงามจากเมืองไทยไปได้ตำแหน่งนางงามจักรวาล พลันอาการภาคภูมิใจในความเป็นไทยจะเอ่อล้นมาจุกคอหอย ด้วยเข้าใจว่าโลกทั้งใบจะต้องหันหน้ามาโฟกัสที่ประเทศไทยด้วยความโสมนัสปานกัน

หรือมีเด็กไทยสักคนไปวิมเบิลดันก็ต้องเอานั่งรถแห่รอบเมืองด้วยเข้าใจว่าชื่อเสียงของเมืองไทยได้ขจรขจายไปทั้งโลก

มีนักเรียนไปได้เหรียญอะไรต่อมิอะไรในโอลิมปิกวิชาการก็เอามาโพทนาว่าเด็กเราเก่งไม่แพ้ใครในโลก โดยไม่ได้สนใจว่า "โลก" ใบนี้ไม่มีใครเขา อะไร -ทำไม กับเหรียญรางวัลเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องใครอยากเสียเงินไปแข่งก็แข่ง โรงเรียนไหนอยากส่งเด็กไปแข่งก็แข่ง ไม่มีใครให้ความสำคัญ

ทว่า ประเทศ "บ้านนอกๆ" มักจะเห่อเหิมเกียรติยศที่โอ้อวดกันในหมู่ "บ้านนอก" ด้วยกันเอง

แค่นั้นยังเจ็บไม่พอ เพราะเคียงคู่กับข่าว เด็กไทยได้เหรียญนู่นนี่ อีกข่าวบอกว่า เด็ก ป.สามของไทยจำนวนมากยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ระดับความรู้ภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับชาติอื่นก็แทบจะรั้งลำดับบ๊วย

ยังไม่นับว่ามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย (ที่รักกันนักกันหนา) นั้นแปรผันไปตามกำลังทรัพย์บุพการี ยิ่งมีเงินเท่าไหร่โอกาสทางการศึกษา คุณภาพการศึกษาที่ได้รับจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ลูกชาวบ้านได้การศึกษาระดับประชาบาล ลูกอำมาตย์ก็เรียนนานาชาติ เรียนโรงเรียนทางเลือก เรียนโรงเรียนสองภาษา สามภาษา ห้าหกร้อยภาษาก็ว่าไป

ทำไงได้รัฐบาลชอบทุ่มงบฯไปส่งเสริมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเพื่อเอาเหรียญมาให้พวก "บ้านนอก" ชื่นใจมากกว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษามวลชน (โปรดสังเกตว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ "มวลชน" ในประเทศไทยแลนด์นี้จะมีคุณภาพต่ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษามวลชน ขนส่งมวลชน หรือแม้กระทั่งการสื่อสารมวลชน)

กลุ่มอาการ "บ้านนอก" ที่ชัดเจนอีกอาการหนึ่ง การที่มีคนไทยมักเป็นเดือดเป็นแค้นเวลาคนต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทย หรือคนไทยอย่างตรงไปตรงมา เช่น บอกว่า เมืองไทยเป็นซ่องแห่งโลกบ้าง เมืองไทยไม่น่าอยู่บ้าง เมืองไทยมีสองมาตรฐานบ้าง ฯลฯ จากนั้นไม่รีรอที่จะบอกว่า "ฝรั่ง" เหล่านั้นมิได้รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรของไทยเอาเสียเล้ยยยย จากนั้นก็ภูมิใจว่าได้ ไปสั่งสอนฝรั่งให้มันรู้เสียมั่งว่าไผเป็นไผ การได้ตอกหน้าฝรั่งนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เป็นพฤติกรรมที่เอาไปโม้ให้ใครต่อใครฟังได้-

เฮ้อ-นี่มันปมประเทศอาณานิคมแท้ๆ ที่เที่ยวเป็น แมงป่องชูหางอวดอ้างเดโช

เพราะหากมิใช่แมงป่องชูหางอวดอ้างฤทธีก็พึงรู้ว่า คนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง และไม่รู้จักประเทศไทย ไม่รู้จักเมืองไทย อีกทั้งไม่รู้จักประวัติศาสตร์ไทยก็คือคนไทยที่อยู่ในเมืองไทยนี่แหละตัวดีนักเชียว

เนื่องจากมีชีวิตอยู่ในกะลาของประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นรัฐสถาปนา พ้นจากกะลามาก็เจอกาละมังครอบอีกชั้น ทั้งหนังทั้งละคร สารคดีมอมเมาทางประวัติศาสตร์ที่ออกอากาศตามสถานีโทรทัศน์ทั่วไป (ควบคุมการครอบอย่างใกล้ชิดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ชะเอิงเอย)

โดนทั้งกะลา โดนทั้งกาละมังครอบเช่นนี้จึงไม่เคยหายจากความเป็นบ้านนอก (เช่น ถ้ารู้จักประวัติศาสตร์ไทยดีจริงย่อมไม่ไปฟื้นฝอยทวงเขาพระวิหารให้ชาวโลกเขาเยาะเย้ยใยไพ)



ทัศนคติบ้านนอกนี้ผลิตและบริโภคกันเองในท้องถิ่นเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของกะลา เชื่อกันเข้าไปว่าประเทศไทยเรานี้วิลิศมาหรากว่าชาติไหน ศาลาไทยไปงานเอ๊กซ์โปก็โดดเด้ง มีฝรั่ง เจ๊ก แขกมาเข้าคิวปลาบปลื้มปิติในอัจฉริยภาพของภูมิปัญญาไทย และหากกลุ่มอาการทัศนคติบ้านนอกได้ไปเมืองนอก เมื่อกลับมาแล้วก็จะมาบอกคนท้องถิ่นต่อไปว่า

"เชื่อเฮอะ ชั้นไปมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ที่ไหนก็ไม่ดีเท่าบ้านเรา"

กลุ่มอาการบ้านนอกส่งผลครอบงำปิดกั้นทัศนวิสัยของคนไทย ต่อให้มีการศึกษาสูงแค่ไหน ต่อให้ได้ไปเปิดหูเปิดตาเห็นบ้านอื่นเมืองอื่น ก็ไม่ได้ช่วยทำให้หายจากอาการบ้านนอก หนำซ้ำยังอาจอาการหนักกว่าเดิม เพราะไปผนวกเข้ากับอาการ "ชาตินิยมของคนไกลบ้าน"

ยิ่งไม่ได้อยู่เมืองไทย ยิ่งรัก ยิ่งโหยหาความเป็นไทย

ดังจะเห็นได้จาก ความพยายามจัดงาน สงกรานต์ ลอยกระทง ทอดกฐิน ผ้าป่า รำไทย กิจกรรมในวัดไทย อันจัดโดยคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

บรรดาเด็กทั้งลูกครึ่ง ลูกไม่ครึ่งของพ่อแม่ที่มีมีอาการชาตินิยมไกลบ้านนั้น มักจะต้องรับภาระเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดไทย เรียนรำไทย เรียนดนตรีไทย ฝึกมารยากไทย หมอบ กราบ คลาน อย่างเข้มงวดเสียยิ่งกว่าเด็กไทยในเมืองไทย

คำพูดที่ติดปากของคนที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้คือ

"ไม่ว่าตัวเราจะอยู่ที่ไหน เราไม่เคยลืมความเป็นไทย ไม่เคยลืมบ้านเกิด ไม่เคยลืมรากเหง้า และพยายามที่จะปลูกฝังเด็กๆให้รักเมืองไทย รักวัฒนธรรมไทย รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีกิริยามารยาทน่ารักเรียบร้อย ไม่กระโดกกระเดกข้ามหัวผู้ใหญ่เหมือนเด็กฝรั่ง ความเป็นไทยเป็นอะไรที่เราภาคภูมิใจ เราอยู่ที่นี่แม้แต่ฝรั่งยังทึ่งในวัฒนธรรมของเรา บลา บลา บลา"

ทีนี้ถ้าถามต่อว่ารักเมืองไทยม้ากมากแบบนี้ กลับไปอยู่เมืองไทยกันเถอะ จะเกิดอาการอึ้งเล็กน้อย ก่อนจะมีอาการ "เอิ่ม เอ่อ อ่าฮะ" ทำตาปริบๆ เพราะลึกๆ แล้วเอนจอยกับสวัสดิการรัฐ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประเทศโลกที่หนึ่ง ทว่า จะออกมาในรูปของคำสารภาพประมาณ

"อยู่ที่นี่อะไรๆ ก็ดีค่ะ เสียแต่ไม่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้านเรา"

หากคนไทยอยากหายจากอาการบ้านนอก ประการแรกคงต้องเลิกหลอกตนเองว่าประเทศไทยนั้นสำคัญยิ่งในโลกใบนี้ และพึงเจียมเนื้อเจียมตนว่าเราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ไร้ความหมายในแผนที่โลก ไม่มีแม้แต่ทรัพย์ในดินสินในน้ำที่จะให้ใครต่อใครมาเป็นห่วงเป็นใยในชะตากรรมของบ้านเรา (ยกเว้นในฐานะที่เป็นแหล่งแรงงานราคาถูก) เมื่อเป็นเช่นนั้น อย่าหวังว่าโลกใบนี้จะได้แคร์กับเราในกรณีเร่อร่าของเขาพระวิหาร

เมื่อตระหนักว่าเราเป็นประเทศเล็กๆ ไร้น้ำยา พึงเลิกหลอกตนเองด้วยว่า ประเทศไทยของเรานั้นสูงส่ง โซฟิสติเคตในทางวัฒนธรรม ศิลปะ รำไทย ลายไทย อะไรไทยๆ เพราะศิลปะ วัฒนธรรมที่เรานึกว่าเป็นไทยนี้ล้วนแต่เป็นอารยธรรมร่วมของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากจะพูดถึงความโซฟิสติเคทลึกซึ้งสูงส่งแล้วพึงถ่อมตนว่าเราสู้ชวา, พุกาม ยังมิได้



อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นยารักษากลุ่มอาการบ้านนอกได้คือ พึงตระหนักว่า ณ ขณะนี้ ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราได้ทำการเดินถอยหลังลงคลองในทางการเมือง ดัชนีชี้วัดความบ้านนอกของประเทศมีดังต่อไปนี้

1. ประชาชนเพิกเฉยต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

2. ประชาชนมอบดอกไม้แด่ทหารที่ออกมาทำรัฐประหาร

3. ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการปกครองโดยคนดีมีศีลธรรมโดยวัดจากภาพพจน์ที่แสดงออกต่อสาธารณะ ชาติตระกูล การศึกษา ใช้ภาษไทยสุภาพ เรียบร้อย ยิ่งได้รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จะยิ่งขลังมาก

4. ประชาชนขยะแขยงนักการเมืองอย่างไม่มีเหตุผล

5. ประชาชนมีความสุขต่อการทำลายล้างคนที่มีความคิดเห็นต่างจากที่รัฐสั่งสอน

6. ประชาชนบูชาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความคิด แต่ชอบพูดเอาเคล็ดว่า "เรายอมรับความแตกต่างทางความคิด"

7. ประชาชนชอบอาชีพ "หมอ" เป็นพิเศษ หมอทำอะไรก็ถูก หมอตรวจศพ ตรวจระเบิด ตรวจกระสุน ตรวจได้ทุกอย่าง รู้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกันกับหมอที่ชอบกำหนดสามเหลี่ยมเขยื้อนประเทศ พูดอะไรก็ถูกไปหมด รู้ทุกเรื่อง ทำอะไรก็ชอบ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเอาหมอมาเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป 'ประชาชนจึงชอบใจมาก'

8. ประชาชนเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเพื่อนร่วมชาติ เช่น มีเด็กนักเรียนที่ไปถือป้าย "เราเห็นคนตาย" ที่เชียงรายถูกจับ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งนี้ยังไม่นับว่ามีคนที่ถูกรัฐคุกคาม ข่มขู่อีกมาก

9. ประชาชนไม่เข้าใจว่า "ชาติ" หมายถึงประชาชน

10. ประชาชนไม่เข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ การเมืองไม่ใช่เรื่องหาคนดีไปนิพพาน และประชาชนมิได้ปรารถนานิพพานแต่ปรารถนาการกินดีอยู่ดี การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ต้องการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุด ความปรารถนาของประชาชนถึงกำหนด และขับเคลื่อนด้วยประชาชน มิใช่ด้วยคณะกรรมการปฏิรูปมาคิดให้ เพราะคิดไปก็ไร้น้ำยา

ป่านนี้ คงรู้แล้วว่า พวกท่านถูกหลอกมาเป็นชฏา-จำแลงร่างปิศาจให้กลายเป็นเจ้าชาย เพราะแม้แต่เสียงขอร้องเบาบางและแสนจะเกรงอกเกรงใจของพวกท่านที่มีต่อรัฐบาลให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเถอะหนา ป่านฉะนี้ยังมิมีอะไรเกิดขึ้น

เฮ้อ...บ้านนอกจริงอะไรจริง



ได้โปรดอย่างเพิ่งกล่าวหาฉันว่าสามหาว หยาบคาย ฉันเชื่อว่าความรักจะยั่งยืนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเรากล้าที่จะเผชิญกับความเป็นจริง เราควรจะได้รักเราอย่างที่เราเป็น มิใช่รักเพราะเราเห็นเงาสะท้อนอันสวยงามในกระจกที่บิดเบือน

รักแท้ย่อมเป็นรักที่เข้าใจในความบกพร่อง ความอ่อนแอ ความอีเดียท-นานัปการที่มีอยู่ในตัวเรา และด้วยภาพสะท้อนที่ซื่อสัตย์ ด้วยยอมรับในความอัปลักษณ์ บกพร่องของตนเองมิใช่หรือ ที่จะช่วยให้เราได้ขัดเกลา ปรับปรุง และศัลยกรรมตนเองได้ถูกจุด

ด้วยรักและหวังว่าเราจะก้าวพ้นความบ้านนอกไปสู่โลกของความเป็นสากลอารยะ

ปล. คำว่า "บ้านนอก" ในที่นี้ มิได้มีความหมายถึงการเหยียดหยามชนบท แต่หมายถึงทัศนวิสัยที่คับแคบ ส่งผลให้สำคัญตนผิด



++

รายงานปีที่แล้วที่แสดงความฉ้อฉลของอำนาจรัฐประหาร

จาก วิทวัส ท้าวคำลือ ถึง นักเรียน นักศึกษา เชียงราย ทำให้กลัว แล้วปกครอง
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1562 หน้า 8


กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเชียงรายออกหมายเรียกให้นักเรียน นักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้ารายงานตัวในข้อหาชุมนุมหรือมัวสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก็อีหรอบเดียวกับการจับกุม นายสมบัติ บุญงามอนงค์

ก็อีหรอบเดียวการออกแบบหมายเรียก นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเปิดเผยกรณีชาวบ้านถูกทหารจับกุมคุมขัง

นี่คือฤทธิ์เดชของ พรก. ฉุกเฉินที่ยังดำรงอยู่

เรื่องแปลกก็ตรงที่ ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุเรื่องการฝึกอาวุธ 3 จุดที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

กลับไม่ได้รับความสนใจจาก ศอฉ. ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเท็จ

สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงลักษณะสองมาตรฐานในการบังคับใช้แม้กระทั่ง พรก. ฉุกเฉิน

นั่นก็คือ เลือกที่จะเล่นงานเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่ละเว้นพวกเดียวกัน



หลังสถานการณ์ล้อมปราบ ณ แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม การดำเนินการกับฝ่ายตรงข้าม เป็นไป 2 แนวทาง

แนวทาง 1 ใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยเฉพาะ พรก. ฉุกเฉิน

แนวทาง 1 ใช้การกดดันทางสังคม โดยอาศัยเครือข่ายทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก และสื่อที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายตน

สื่อนั้นด้านหลักผ่านสื่อของรัฐ โดยเฉพาะรายการที่ ส.ว. ระบุว่าเป็นของ 2 ดร. 1 ทนายความ

กรณีของ มาร์ค วิทวัส ท้าวคำลือ อายุ 17 ปี มีความเด่นชัดอย่างยิ่งว่าพยายามจะยัดเยียดไม่เพียงข้อกล่าวหาวิพากษ์วิจาณณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หากแต่รุนแรงกระทั่งให้เข้าสู่กระบวนการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นี่ก็เช่นเดียวกันกับการจัดทำผัง "ล้มเจ้า" ของ ศอฉ. แล้วนำมาแถลงโดยมิได้ผ่านกระบวนการสอบสวนที่เป็นจริง

กระทั่ง นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลสถิตยุติธรรม

และเมื่อ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประกาศจะเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นความรำลึกถึงเหตุกาณณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ถูกหมายเรียก และนำไปสู่การจับกุมตาม พรก. ฉุกเฉิน



ไม่ว่ากรณีของ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ไม่ว่ากรณีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไม่ว่ากรณีของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่ว่ากรณีของ นายนที สรวารี

ก็เช่นเดียวกับกรณีของ มาร์ค วิทวัส ท้าวคำลือ

ก็เช่นเดียวกับกรณีของนักเรียน นักศึกษา ที่เชียงราย ซึ่งถูกเรียกตัวภายใต้อำนาจ พรก. ฉุกเฉิน

เป้าหมายก็คือ การคุกคาม ข่มขู่ เพื่อต้องการให้กลัวและยุติการเคลื่อนไหว



.

2554-09-24

ยิ่งลักษณ์เดินดิน...ทักษิณเหยียบเมฆ, +จะทำสงครามกัน?, สู้กันได้ทุกรูปแบบ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ยิ่งลักษณ์เดินดิน...ทักษิณเหยียบเมฆ ปฏิบัติการกัมพูชา...เพื่อประชาธิปไตย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 20


เส้นทางเดินดิน ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์

วันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการกำลังใจอย่างมาก แม้จะเคยผ่านประสบการณ์ในองค์กรขนาดใหญ่ แต่ไม่มีทางเทียบกับปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศและประชาชน เฉพาะที่เห็นอยู่ข้างหน้ามีสารพัดเรื่องกองสูงเท่าภูเขา แต่พอก้าวเท้าออกจากทำเนียบรัฐบาล น้ำก็ท่วมถึงเอวแล้ว

วันนี้ชาวบ้านมองเห็นเมฆฝนเต็มท้องฟ้า แต่นายกมองเห็นเมฆดำทางเศรษฐกิจตั้งเค้าทะมึน รออยู่ข้างหน้า

ข้อมูลความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกาถูกป้อนให้รับรู้ทุกวัน คนที่เกี่ยวข้องก็กังวลอยู่ว่ามันจะกลายเป็นพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทยเมื่อใด

ส่วนปัญหาการเมืองก็ไม่มีการหยุดปะทะ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ อำนาจนอกระบบก็จ้องขย้ำทุกเวลานาที

มีคนเรียกร้องให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง แต่บนเส้นทางที่เธอเดินอยู่มีกับดักมากมายจึงต้องมีความระมัดระวังสูงถ้าอยู่ในบ้านคงทำได้ แต่เมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านก็เหมือนลงสนามแข่งฟุตบอลต้องเล่นเป็นทีม ต้องทำตามแผน แต่ต้องเชื่อมั่นในตนเอง กล้าเล่นลูก กล้ายิงประตูในจังหวะที่สมควร

สองเดือนที่ผ่านมานายกฯ หญิงเหมือนนักกีฬาที่ยังไม่ชินสนาม ไม่ชินต่อเสียงโห่ร้องของผู้ชม เกิดอาการเกร็งทำให้เล่นไม่ค่อยออก แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจะทำให้เธอแข็งแกร่งและชำนาญมากขึ้น

เวลานี้ต้องประคองจิตใจให้นิ่งเหมือนสีหน้า อีกไม่นานก็จะผ่านด่านนี้ไปได้

ถึงอย่างไรวันนี้หนูน้อยหมวกแดง ยิ่งลักษณ์..ก็หลุดรอดกับดัก เดินผ่านป่าทึบเข้ามาในบ้านคุณยายได้แล้ว แต่ก็มีหมาป่าแปลงกายคอยอยู่ในบ้านอีกหลายตัว

ความแตกต่างของเรื่องนี้อยู่ตรงที่หนูน้อยหมวกแดงมีคนแคระทั้งเจ็ดคอยช่วยเหลือ

คนแคระจะกระโดดข้ามจากเรื่องสโนไวท์มาได้อย่างไร เรื่องแบบนี้ต้องมีคนจัดให้

ไม่มีคำถามสำหรับการเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ข่าวและการคาดคะเน ก็คือไปแนะนำตัวต่อผู้นำประเทศเพื่อนบ้านในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไปปูทางเพื่อเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเปลี่ยนเป็นความร่วมมือ ในปัญหาเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย 26,000 ตารางกิโลเมตร

นายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินผ่านทหารกองเกียรติยศอย่างสง่างามพูดกับนายกฯ ฮุน เซน 1,000 คำ ก็เดินทางกลับ จากนี้ไป การเจรจาในรายละเอียดจะเดินหน้าต่อโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มีบางเรื่องที่นายกฯ ควรทำ บางเรื่องควรให้ข้าราชการทำ และบางเรื่องต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำ

บนเส้นทางประชาธิปไตย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องบริหารงานเพื่อประชาชนใช้อำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ ปัญหาใดที่ใช้อำนาจหน้าที่แก้ไขไม่ได้ก็ปล่อยให้ฝ่ายอื่นหรือคนอื่นแก้ไขแทน

วันนี้ไม่มีหนทางอื่นให้เลือกเดินนอกจากเดินไปตามเส้นทางประชาธิปไตย

แม้จะมี 3 นายกรัฐมนตรีที่ถูกกำจัดออกไป ในรอบ 5 ปีนี้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนไปมาก การตื่นตัวต่อกระแสประชาธิปไตยของประชาชน และแรงสนับสนุน ของคน 16 ล้าน จะยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้รัฐบาลเดินหน้าไปบนผิวดิน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินธรรมดา

ถ้าอุปสรรคที่มาขวางขนาดไม่ใหญ่มาก ก็กวาดทิ้งไป ถ้าขนาดใหญ่ก็ต้องระดมกำลังประชาชนเข้าช่วย ถึงวันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าถ้าไม่ทำให้สำเร็จ ผลเสียก็จะตกกับคนส่วนใหญ่



เส้นทางของทักษิณ...
แม้อยากจะลงดิน แต่ต้องบินเหนือเมฆ

อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มอำนาจเก่าบีบจนไม่อาจกลับเข้าประเทศไทยได้ ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ก็ยังไม่ใช่หลักประกัน อาจมีการยึดอำนาจอีกครั้งก็ได้ ขณะนี้รัฐบาลยังมีคนเสื้อแดงหลายล้านเป็นกำแพงค้ำยัน ให้เผชิญกับแรงกดดันต่างๆ ได้ แต่จะต้องเดินหน้าเปลี่ยนประเทศไทยให้มีสภาพประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยกันทำ

สำหรับทักษิณ เขาไม่มีโอกาสได้เดินดินตามปกติ แต่ก็มีงานที่ต้องเคลื่อนไหวอีกแล้วเป็นการเคลื่อนไหว ที่ต้องเหยียบเมฆแทนดิน บินแทนเดิน เพื่อส่งคนแคระทั้งเจ็ดไปช่วยหนูน้อยหมวกแดง ยิ่งลักษณ์ เพื่อสู้กับหมาป่าแต่จะใช้คนแคระทั้ง 7 ได้ก็ต้องบินไปกัมพูชา

หลายคนถามว่าอดีตนายกฯ ทักษิณไปเยือนกัมพูชาทำไม ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แถมยังอยู่ยาวนานกว่าหลายวัน

มีคำตอบให้เลือกหลายข้อ

ก. ไปร่วมงานประชุมองค์กรรัฐสภาเอเซีย-แปซิฟิก

ข. ไปดูฟุตบอลกระชับมิตรนักการเมืองไทยกับกัมพูชา

ค. ไปพบคนเสื้อแดง

ง. ไปเยี่ยมนายกฯ ฮุน เซน ตามคำเชิญ และปาฐกถาเรื่องธุรกิจให้กลุ่มผู้ลงทุนฟัง

ที่จริงถูกทุกข้อ เพราะทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ประกาศถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของอดีตนายกฯ ทักษิณกับนายกฯ ฮุน เซน และเป็นการแสดงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของรัฐบาลไทยปัจจุบัน กับรัฐบาลกัมพูชา นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงการยอมรับฐานะทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง แม้ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง

ผู้สังเกตการณ์ที่มีความรู้เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ร่วมกันวิเคราะห์ไว้ดังนี้

ทักษิณไม่เคยมองการเติบโตของประเทศไทยอย่างโดดๆ แต่มองไปพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นวงรอบใกล้ชิด เช่น กัมพูชา ลาว พม่า

มาเลเซียและประเทศอาเซี่ยน จากนั้นจึงโยงไปถึงวงรอบที่สอง คือประเทศใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในตะวันออกกลาง สุดท้ายก็พยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศใหญ่ทั่วโลก

หลังถูกรัฐประหาร ทักษิณบินไปทั่วโลกได้รู้มากขึ้น เห็นมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น คิดอะไรได้มากขึ้น แต่ที่ทักษิณคิด รัฐบาลจะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การร่วมมือเพื่อต่อสู้ยกระดับราคาของยางพาราในเมื่อหลายปีที่แล้ว ทำให้ทักษิณมองเห็นพลัง ถ้าประเทศเพื่อนบ้านร่วมมือกันทางด้านการค้า เช่น ข้าว แก๊ส น้ำมัน ช่วงที่เป็นรัฐบาลเขาดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนหน้า ซื้อก๊าซจากพม่า ซื้อไฟฟ้าจากลาวและมองเห็นปัญหาการขาดแคลนพลังงาน

ในอ่าวไทยซึ่งเป็นเขตทะเลตื้นมีแหล่งน้ำมันและก๊าซอยู่มากมาย ข้อมูลเหล่านี้บริษัทที่ทำมาหากินอยู่ตลอด 50 ปีพยายามปิดเป็นความลับแต่ก็ทำไม่สำเร็จ

ถามว่าแหล่งทรัพยากรเหล่านี้มีมากมายขนาดไหน คำตอบคือ มีมากพอสมควรถ้าดูจากข้อมูลที่สำรวจแล้วในปี 2542 จะพบว่าจากหลุมสำรวจ 200 หลุม พบก๊าซจำนวน 20 หลุม พบน้ำมันจำนวน 4 หลุม พบก๊าซและก๊าซเหลว จำนวน 1 หลุม พบก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันจำนวน 2 หลุม พบน้ำมันและก๊าซจำนวน 2 หลุม

ในปี 2548 บริษัทเชฟรอน (Chevron Crop) ประกาศว่าพบน้ำมันดิบที่หลุมทดสอบ 5 ใน 7 แห่งนอกชายฝั่งสีหนุวิลล์ และจากการประเมินของธนาคารโลกคาดว่าพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาในอ่าวไทยตามกฎหมายทางทะเลซึ่งกินเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรจะมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลอยู่ข้างใต้ โดยการคาดคะเนว่าจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาร์เรล มีก๊าซธรรมชาติอยู่ 10 ล้าน ล้านลูกบาศก์ฟุต

อย่าคิดเป็นเงิน เพราะนี่คือแหล่งพลังงานที่จะเลี้ยงโลกอีกหลายปี



ไทยและกัมพูชา
จะบริหารผลประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย
ให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร

แน่นอน ว่าข่าวของปลาที่ยังตกไม่ได้ย่อมตัวใหญ่เสมอ เพชรที่ยังขุดไม่พบก็มีขนาดใหญ่มากตามจินตนาการ เป็นความฝันของผู้ลงทุนทั่วทั้งโลกเพราะวันนี้ราคาน้ำมันแพงมาก อีก 10 ปีข้างหน้าน้ำมันและก๊าซจะยิ่งขาดแคลน ราคาก็ยิ่งแพงไปกว่าอีกหลายเท่าตัว แต่เรื่องแบบนี้เป็นทั้งประโยชน์และโทษ

ตัวอย่างก็คือ อิรักซึ่งเคยขายน้ำมันนำรายได้เข้าประเทศ แต่ก็ถูกอเมริกาบุกเข้าไปยึด อเมริกาไม่พบนิวเคลียร์และอาวุธเคมีตามที่อ้างแต่หลังจากที่โค่นซัดดัมลง ก็ได้น้ำมันมาขาย

กรณีลิเบียก็เช่นกัน ประชาธิปไตยที่ได้มาของลิเบียในวันนี้จะเป็นประชาธิปไตยในบ่อน้ำมันซึ่งฝรั่งเศสและอังกฤษจะได้ประโยชน์สูงสุด

การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นทักษิณก็เริ่มในปี 2548 และถูกรัฐประหารในปี 2549 เป็นช่วงที่ข่าวการแย่งชิงน้ำมันในอ่าวไทยกำลังดัง

ดังนั้น ไทยและกัมพูชาจะต้องจัดการเรื่องน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยให้ได้ประโยชน์ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันพลังงานเป็นสินค้าที่ไม่ต้องง้อลูกค้า จะมีคนมาต่อคิวซื้ออยู่เสมอแต่จะจัดสรรอย่างไรให้เหมาะสมเพราะเป็นความจำเป็นของคนทั้งโลก

วันนี้ข่าวเรื่องแหล่งน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยกระจายไปทั่วโลกไม่เพียงบริษัทเชฟรอน จากอเมริกาที่เฝ้าอ่าวไทยมา 50 ปี แต่ยังมี บริษัทชีนุก (China national offshore Oil Crop - CNOOC) ของประเทศจีน บริษัท Total SA ของฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีบริษัทจากออสเตรเลีย อังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง

แน่นอนว่า บริษัท ปตท. สผ. ของประเทศไทยก็ย่อมสนใจการลงทุนในแหล่งนี้เช่นกัน ถ้าจัดการไม่เหมาะสม แม้จะได้เงินแต่อาจมีผลเสียทางการเมืองใหญ่หลวง



ไทยและกัมพูชา จะทำอย่างไร...

กลุ่มผู้วิเคราะห์ประเมินไว้ดังนี้

1.หลังการรัฐประหาร 2549 ทำให้โครงการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันชะงักลงเมื่อความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชาเกิดการร้าวฉานในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โอกาสลงทุนก็แทบจะหมดไป แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยได้รับชัยชนะ โอกาสการลงทุนก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นักลงทุนทั่วโลกจ้องดูการพบปะของนายกฯ ยิ่งลักษณ์กับนายกฯ ฮุน เซน กับความหวัง แต่ทุกคนสนใจการจับมือกันอย่างแนบแน่นของ ฮุน เซน กับทักษิณมากกว่า เพียงแต่ว่าวันนี้ทักษิณมีความรู้เรื่องพลังงานมากกว่าเดิม หลายปีในดูไบและจากการเดินทางไปทั่วโลก ทำให้เขารู้และเข้าใจกลไกและเล่ห์เหลี่ยมของการค้าน้ำมันและก๊าซ

2. ทั้งทักษิณและ ฮุน เซน ก็เข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเป็นอย่างดี ทั้งสองคนรู้ดีว่าแหล่งทรัพยากรในอ่าวไทยไม่ใช่ปั๊มน้ำมันที่จะขายให้รถคันไหนก็ได้ แต่จะเป็นสนามการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศใหญ่เป็นศิลปะขั้นสูง จะถูกขย้ำหรือได้ประโยชน์ก็อยู่ที่การเดินหมากของไทยและกัมพูชา

ในขณะที่พวกความคิดคับแคบ ก็ยังคิดเรื่องผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ จะมีการโกงกันไปกี่พันกี่ร้อยล้าน

3. ทั้ง ฮุน เซน และทักษิณกำลังประเมินน้ำหนักของอเมริกา จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น คิดถึงโรงกลั่นในไทย โรงกลั่นสิงค์โปร์ วันนี้ อำนาจกับเงินไหลปนกันอยู่ในน้ำมัน แต่ทักษิณยังต้องการความมั่นคงทางการเมือง ต้องการได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก ความไว้วางใจจาก ฮุน เซน และการที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ โดยมีเสียงสนับสนุนถึง 16 ล้านเสียง ทำให้ความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศของตัวเขาแข็งแรงขึ้นมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

การร่วมมือของไทยกับกัมพูชาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะใช้เสียงของมหาอำนาจมาปกป้องประชาธิปไตย ปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้พ้นจากการรัฐประหาร ไม่ว่าด้วยกฎหมายหรือปืน เพราะไม่มีใครอยากเห็นการต่อสู้และความวุ่นวายในสองประเทศนี้ อิทธิพลของประเทศใหญ่ทั้งหลาย คือ คนแคระทั้ง 7 ที่จะคอยช่วยหนูน้อยเสื้อแดงยิ่งลักษณ์ ทำให้หมาป่าไม่กล้าเข้าจู่โจมโดยตรง

4. เชื่อว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะไม่รีบให้สัมปทานกับใครง่ายๆ เพราะน้ำมันแพงขึ้นทุกปี และ ประเทศมหาอำนาจต่างก็จะได้แบ่งแปลงสัมปทานกันไปตามสัดส่วนของอำนาจและเงิน แต่จะมีส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้เพื่อเป็นพลังสำรองทางเศรษฐกิจและใช้ต่อรองทางการเมือง

การเดินทางไปกัมพูชาของทักษิณครั้งนี้ เหยียบไปบนเมฆ แต่เปิดเผย เพื่อบอกให้ทั้งโลกรู้สถานะทางการเมืองของเขา ใครที่คิดว่าน้ำมันเป็นแค่เรื่องเงิน กลับไปคิดใหม่ ปฏิบัติการกัมพูชา...เพื่อประชาธิปไตยจะจบลง เมื่อเสียงนกหวีดของกรรมการในสนามฟุตบอลเป่าหมดเวลา

คนเสื้อแดงเก็บกระเป๋ากลับบ้าน แต่ทักษิณไม่มีบ้านให้กลับ ชีวิตเหมือนนักรบพเนจร เขาถูกฝ่ายตรงข้ามบังคับให้ต้องบินไปรอบโลกอีกหลายรอบ บินไปรบไป จนกว่าจะได้รับชัยชนะ



++

บทความปีที่แล้วช่วงใกล้เคียงกัน ( พ.ศ. 2553 )

เขาเตรียมจะทำสงครามกันแล้วหรือ ?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1565 หน้า 30


ข่าวการตั้งกองพลทหารราบที่ 7 และ ข่าวการวางระเบิดกลางเมืองหลวงและ ทำให้บางคนตั้งคำถามว่าการต่อสู้ทางการเมืองกำลังขยายไปสู่การใช้กำลังอาวุธทำสงครามกันแล้วหรือ ?

สามารถวิเคราะห์เรื่องนี้และสรุปความเป็นไปได้ดังนี้

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐกับผู้ที่ต่อต้านยังคงดำรงอยู่ ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐยังคงใช้นโยบาย "มือขวาถือกฎหมาย มือซ้ายถือปืน" มีทหารเป็นส่วนสำคัญในการค้ำอำนาจรัฐให้ดำรงอยู่ได้

องค์กรที่ออกหน้าคือ ศอฉ., ดีเอสไอ นอกนั้นส่วนอื่นคือตัวประกอบ

นโยบายที่ใช้ทหารเข้าควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองยังดำรงอยู่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงเป็นอำนาจสารพัดนึก ที่สามารถใช้ปราบปรามจับกุมควบคุมสอบสวนได้ตั้งแต่เด็กนักเรียนถึงคนแก่

นับแต่มีการรัฐประหารประชาชนได้จับตามองการเคลื่อนไหวของกองทัพมาตลอดไม่ว่าจะเรื่องซื้อ GT-200 รถเกราะ เรือเหาะ เครื่องบิน

พอมีข่าวว่าจะตั้ง พล.ร.7 ที่อาจจะใช้งบถึงหมื่นล้าน ก็เลยมีคนสงสัยว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเตรียมไว้ใช้ต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐใช่หรือไม่

กองทัพชี้แจงเหตุผลว่ามีความจำเป็น เนื่องจากกองพลทหารราบที่ 4 ไม่สามารถดูแลพื้นที่ชายแดนภาคเหนือได้ทั่วถึง และที่ต้องขออนุมัติในช่วงนี้เพราะรัฐบาลยังต้องพึ่งพาทหารในเรื่องความมั่นคงเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ขอตอนนี้จะไปขอตอนไหน แม้ว่าช่วงนี้เงินจะหายากก็ตามแต่เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องยอมแน่นอน



การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นความจำเป็นอีกสองสามประการคือ

1. สภาพการแข่งขันแย่งตำแหน่งกันในกองทัพมีสูงมากเพราะตำแหน่งมีน้อย การเพิ่มกำลังระดับกองพลจะช่วยระบายความอึดอัดลงไปได้บ้าง เพราะไม่ใช่มีแค่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยังมีรองผบ...เสธ...ผู้การกรม...ผบ.พัน...ไล่ไปจนถึงชั้นประทวน ถ้าทำได้สำเร็จก็จะหายใจกันได้สะดวกขึ้นลดความขัดแย้งได้บางส่วน แต่ใครจะได้ตำแหน่งเหล่านั้นก็ต้องแล้วแต่ว่าเป็นคนของใครไปแย่งกันเอาเอง

2. สถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ยังต้องใช้กำลังทหาร และงบประมาณมากที่สุด แม้จะมีการหมุนเวียนกำลังพลลงไปผลัดกันปฏิบัติหน้าที่ แต่ในพื้นที่อันตรายอย่างนั้นไม่มีใครอยากลงไป การเพิ่มกำลังพลให้มากขึ้นและผลัดกันไปนานๆ ครั้งก็ลดความเครียดของกำลังพลลงได้

3. มีคำถามว่าตั้งกองพลใหม่ขึ้นมาจะเอามาใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านหรือเปล่า ฝ่ายทหารก็ปฏิเสธ ชี้แจงว่าสถานการณ์ปัจจุบันนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังมากมายอะไร

คำตอบนี้เป็นทั้งเรื่องจริงและไม่จริง ที่ว่าจริงก็คือในปัจจุบันการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลด้วยการชุมนุมมีน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเลย และที่บอกว่าไม่จริงก็เพราะนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ยังมีการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งในระบบสากลเขาไม่ทำกัน

แต่เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาทหารได้เข้ามายุ่งกับการเมืองไปแล้ว นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 จนถึงการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และถลำลึกเข้าไปปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ จนกระทั่งมีประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยคน บาดเจ็บเกือบสองพันคน หลังจากนั้นยังไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามจนต้องหนีลงใต้ดิน หรือไม่ก็ต้องถูกจับไปขัง

เป้าหมายการคงอำนาจรัฐไว้ให้นานที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่มีศอฉ.หรือพรก.ฉุกเฉินแต่ถ้าหากมีการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลขึ้นอีก การใช้กำลังทหารเข้าควบคุมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นคาดว่าจะมีจำนวนคนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา และไม่เพียงเกิดการชุมนุมในกรุงเทพฯ อาจจะเกิดในต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัดพร้อมกัน

การใช้กำลังทหารจำนวนมากเพื่อควบคุมฝูงชน กระชับพื้นที่ ขอคืนพื้นที่ ฯลฯ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน กองพลใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจึงหนีไม่พ้นที่จะมาทำหน้าที่นี้เช่นกัน

และไม่เพียงทำหน้าที่ในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ต้องลงมาปฏิบัติการในกรุงเทพ ฯซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐ



มาดูเรื่องระเบิดกลางกรุงเทพฯ กันบ้าง

ตอนนี้ดีเอสไอจับผู้ต้องสงสัยซึ่งดูแล้วคงห่างไกลจากความเป็นจริง ถ้าสองสามคนนี้ไม่มีภรรยาคงไม่สารภาพหรอก

เรื่องนี้มีผู้วิเคราะห์ว่าระเบิดลูกแรกเป็นการสร้างสถานการณ์

ส่วนระเบิดลูกที่สอง ก็วิเคราะห์ว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเตือนผู้สร้างสถานการณ์ว่า "อย่าทำอีก เดี๋ยวบ้านเอ็งจะพัง" ระเบิดทั้งสองลูกจึงไม่ได้หมายความถึงการส่งสัญญาณพร้อมรบ เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครพร้อมทำสงคราม ที่วิเคราะห์อย่างนี้บางคนอาจคิดว่าสวนกับกระแสข่าวที่พูดถึงการลงใต้ดิน การใช้ความรุนแรง การฝึกอาวุธ (ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐก็ออกมาปฏิเสธ)

ทำไมวิเคราะห์อย่างนี้...เพราะการทำสงครามต้องมีปัจจัยพร้อมสามอย่าง

1. แนวคิดเกี่ยวกับการใช้กำลังอาวุธเพื่อสร้างอำนาจรัฐและแผนการ

การยึดถือทฤษฎีว่า "อำนาจรัฐมาจากกระบอกปืน" ดูแล้วฝ่ายต่อต้านไม่เคยยึดถือทฤษฎีนี้ ยังคงใช้การต่อสู้ทางรัฐสภา ยังอยากเป็นรัฐมนตรี ยังอยากเป็น ส.ส. ส่วนหนึ่งก็ชอบประท้วงอยู่ตามท้องถนน ขึ้นไปปราศรัยร้องเพลงอยู่บนเวที ในทางตรงกันข้ามฝ่ายกุมอำนาจรัฐกลับยึดถือทฤษฎี อำนาจรัฐมาจากกระบอกปืนได้ดีกว่า ดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมาพวกเขาใช้กำลังทหารกำลังปืนเข้ายึดอำนาจรัฐเมื่อปี 2549 และต่อมาก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร สุดท้ายก็ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามฝ่ายต่อต้านกลางเมืองหลวงสรุปได้ว่าฝ่ายรัฐบาลกุมทฤษฎีอาวุธคืออำนาจได้มั่นกว่า

ส่วนเรื่องแผนการ ดูเหมือนฝ่ายต่อต้านจะไม่มีเอาเลย ดูการเคลื่อนไหวหลังการสลายชุมนุมก็รู้แล้ว พวกเขายึดหลักอหิงสาจริงๆ

2. โครงสร้างขององค์กรฝ่ายต่อต้านต้องพร้อมสู้รบ

แต่ในความเป็นจริงฝ่ายต่อต้าน เป็นองค์กรแนวร่วมที่ค่อนข้างหลวม หน่วยนำก็ไม่แน่นอนว่าเป็นใคร ไม่เคยมีการจัดตั้งกองทัพหรือกำลังทหารใดๆ ขึ้นมาควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความเห็นเรื่องการใช้กำลังก็ไม่เป็นเอกภาพ ส่วนใหญ่แล้วต้องการประท้วงและต่อสู้อย่างสันติ เมื่อโครงสร้างองค์กรเป็นแบบนี้จึงไม่มีลักษณะสู้รบ ไม่มีโอกาสจัดตั้งกองทัพใหญ่น้อยอะไรในช่วงนี้แน่นอน

3. บุคลากรและอาวุธสำหรับปฏิบัติงานทางการทหาร

ฝ่ายต่อต้านไม่เคยเตรียมบุคลากรประเภทนี้ไว้ในทุกระดับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาสร้างนานพอสมควรส่วนอาวุธ บั้งไฟกับหนังสติ๊กและระเบิดขวดเอ็ม 100 คงไม่พอ

วิเคราะห์ได้ว่าวันนี้ยังไม่มีสงคราม...แต่วันหน้าอาจจะเกิดได้ เพราะ... นโยบายและการปฏิบัติของฝ่ายกุมอำนาจรัฐ จะทำให้เกิดการโต้ตอบด้วยความรุนแรงแบบอนาธิปไตย

นี่แหละสิ่งที่น่ากลัวในอนาคต

อาจมีการใช้กำลังจากบางคนหรือบางกลุ่ม เป้าหมายกำหนดกันเองดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ประกายไฟเหล่านี้สามารถจะลุกลามต่อไปได้ กลายเป็นสงครามที่ไร้แนวรบ รูปแบบเดียวกับสามจังหวัดภาคใต้ แต่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ จากนั้นจะเกิดความวุ่นวาย สงคราม และจะทำให้เกิดกองทัพของฝ่ายต่อต้านขึ้นจริงๆ

ฝ่ายต่อต้านขอเพียงการปฏิรูปเช่นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม การเลือกตั้งอย่างยุติธรรม อย่าไปผลักพวกเขาเข้าสู่เส้นทางปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรง

ไม่ว่าระยะสั้นหรือยาวไม่มีใครต้องการสงครามและความรุนแรง


++

สู้กันได้ทุกรูปแบบ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1564 หน้า 27


ข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทุกวันนี้คือการต่อสู้กันทางการเมือง สู้กันไม่หยุดหย่อนชนิดที่หนังสือพิมพ์ไม่มีโอกาสได้พาดหัวข่าวอื่นเลย นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจเกิดขึ้น 4 เหตุการณ์คือ

1. การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 6

2. การผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์และการทำบุญในวัดปทุมวนาราม

3. การยกป้ายประท้วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเด็กๆ ในจังหวัดเชียงราย

4. การระเบิดบริเวณริมถนนย่านราชดำริ และซอยรางน้ำ

ทั้ง 4 เหตุการณ์เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแต่อาจมีแนวรบที่แตกต่างกันบ้าง



เหตุการณ์ที่ 1 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม.

เป็นการต่อสู้แนวทางรัฐสภาตามกติกาประชาธิปไตย จะผิดปกติไปบ้างก็ตรงที่เบอร์ 4 นายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยถูกคุมขังอยู่ในสถานกักกัน ไม่มีโอกาสมาหาเสียง (แต่สามารถอัดเทปออกมาเผยแพร่ได้นานถึงสามนาที)

แม้กระนั้นก็ยังถือว่านี่เป็นแข่งขันทางการเมืองกับผู้สมัครเบอร์ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์

แน่นอนว่าคนหาเสียงอยู่นอกคุกย่อมชนะคนที่อยู่ในคุกอยู่แล้ว ผลการนับคะแนนคือเก้าหมื่นกว่าต่อแปดหมื่นกว่า

พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะรู้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่สี่วันก่อนการลงคะแนน พวกเขาประเมินว่าจะแพ้นิดหน่อยประมาณ 9 : 8 เพราะอีกฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ แต่พรรคพวกของคนที่อยู่ในคุกก็พยายามต่อสู้อย่างเต็มที่

ถือว่ายุติธรรมมากพอแล้วในสถานการณ์แบบนี้ ผู้กุมอำนาจย่อมชิงความได้เปรียบทุกอย่างนี่เป็นเรื่องปกติ ฝ่ายที่อยู่ในที่คุมขังก็หาทางสู้เท่าที่จะทำได้

เห็นมั้ยว่าแบบนี้ก็สู้กันได้ แม้ได้คะแนนน้อยกว่าแต่ชนะใจคนดูทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นี่ถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมที่อีสานอีกครั้ง น่าจะส่งผู้สมัครที่ถูกคุมขังอีกคนไปลงแข่ง คงจะตื่นเต้นกว่านี้



เหตุการณ์ที่ 2 การผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์และการทำบุญที่วัดปทุมวนาราม

เป็นกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เป็นการสู้กันทางการเมืองที่มีรูปแบบที่นิ่มนวลที่สุด แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะมาจับตัวคนผูกผ้าแดง (ซึ่งภายหลังก็ต้องปล่อยตัวออกมา) แต่ข่าวก็ดังไปทั่วโลกแล้ว

พอมาทำซ้ำอีกครั้งก็พบเจ้าหน้าที่เป็นร้อยมาล้อมป้ายไว้ แถมยังมีการย้ายป้ายหนี นับเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่มีสาระเรียกร้องความสนใจได้ทั้งในและต่างประเทศ

คราวหน้าหาต้นโพธิ์ใหญ่ๆ แถวๆ นั้น แล้วยกขบวนคนเสื้อแดงไปผูกผ้าแดงไว้ คงไม่มีใครย้ายต้นโพธิ์หนีไปได้ ส่วนการทำบุญในวัดปทุมวนารามถือเป็นรูปแบบการพบปะชุมนุมของคนจำนวนมาก ที่ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีใครกล้าคัดค้านเป็นกิจกรรมที่ทุกฝ่ายรับได้แม้แต่รัฐบาล

เห็นมั้ยว่านี่เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการต่อสู้ในขอบเขตที่กระทำได้ไม่ยาก สามารถใช้ต่อสู้ได้ดีมากๆ ด้วย

ลองนัดกันในคาราโอเกะบ้างสิอาจจะได้นักร้องใหม่ๆ เพิ่มขึ้น



เหตุการณ์ที่ 3 มีเด็กๆ ยกป้ายประท้วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เชียงราย

ต้องเข้าใจก่อนว่าอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ประโยชน์แก่ผู้กุมอำนาจรัฐ และให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหลายระดับ มีประโยชน์ในเชิงนโยบายจนกระทั่งถึงเบี้ยเลี้ยง

สำหรับผู้กุมอำนาจรัฐถือว่าในสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี่เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นเรื่องจำเป็นมากถ้าอำนาจของตัวเองไม่มั่นคง

แต่คนที่เดือดร้อนคือคนค้าขาย คนลงทุน ธุรกิจท่องเที่ยว คนเหล่านี้อยากให้ประเทศไทยดูสงบเรียบร้อยเป็นธรรมดา ไม่ต้องการให้มีบรรยากาศที่ดูเหมือนจะมีผู้ก่อการร้ายออกมาอาละวาดรบรากับทหาร

เมื่อมีคนไม่พอใจ พวกเขาก็คัดค้านด้วยรูปแบบต่างๆ ที่เห็นได้ทุกวันคือในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน คนอ่านเห็นการคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนเป็นสิ่งชินชาไปแล้ว

กรณีเด็กๆ ที่ถือป้ายประท้วง เนื้อหาที่เขียนออกมาเบากว่าบทความหรือบทนำในหนังสือพิมพ์เสียอีก แต่โดยรูปแบบเป็นการแสดงความไม่พอใจและเป็นการแสดงการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย

ความสำเร็จของการประท้วงครั้งนี้อยู่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เรียกตัวพวกเด็กๆ ไปสอบสวนและต้องการลงโทษ เจ้าหน้าที่อาจลืมคิดไปว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนมีสิทธิแสดงความไม่พอใจและคัดค้านได้

แนวความคิดที่ต้องการปรามไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ใครทำตาม แต่ไม่ได้คิดว่าอาจจะมีคนท้าทายเพิ่มขึ้นอีกห้าสิบคนหรือห้าพันคน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไรหรือว่าจะเลิก พ.ร.ก.นี้เสียดีมั้ย

นี่ก็เป็นวิธีต่อสู้ทางการเมืองแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แบบนี้สามารถสู้กันไปสู้กันมาได้อีกยาวนาน ฝ่ายไหนจะชนะยังต้องใช้เวลาพิสูจน์

แต่ฝ่ายธรรมะคงไม่มีโอกาสแพ้ในระยะยาว


เหตุการณ์ที่ 4 การเกิดระเบิดบริเวณริมถนนราชดำริ และซอยรางน้ำ

การวางระเบิดริมถนนกลางเมืองแบบนั้นเป็นระเบิดการเมืองแน่นอน ไม่มีเป้าหมายทางการทหาร ทั้งบุคคลและยานพาหนะของคู่ขัดแย้ง

จุดนั้นไม่ใช่จุดสำคัญทางยุทธศาสตร์และไม่ใช่จุดสำคัญทางยุทธวิธี

แต่ผลก็คือมีคนไม่รู้เรื่องได้รับบาดเจ็บล้มตายและกลายเป็นข่าวใหญ่

เรื่องแบบนี้ไม่มีใครแสดงตัว ไม่เห็นชัดว่าใครสู้กับใคร ต่างก็กล่าวหาหรือคาดเดากันไป กลุ่มที่อยากทำกิจกรรมทางการเมืองย่านราชประสงค์ ก็ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ทำแน่นอน และรู้สึกเหมือนถูกขู่ว่า "อย่าเข้ามาทำกิจกรรมแถวนี้นะ มีระเบิด" ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐก็ปฏิเสธเสียงลั่นว่า "ผมเปล่านะผมไม่ได้สร้างสถานการณ์เพื่อขอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แค่นี้ผมก็เสียพอแล้ว"

ถึงตรงนี้ผู้กุมอำนาจรัฐก็ต้องไปสืบค้นหาคนทำ จะบอกให้ก็ได้ว่าคนร้ายชื่อ "ลอยนวล" แต่เหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตสองสามประการคือ มีเสียงแว่วมาว่า "กูว่าแล้ว ถ้าถูกกดดันมากๆ ก็จะมีระเบิดเกิดขึ้น"

หรือเสียงแสดงความสะใจอื่นๆ



อยากจะเตือนว่า ความรุนแรงอย่างเดียวไม่มีทางทำให้ได้รับชัยชนะในทางการเมือง ถ้าความรุนแรงถูกใช้ในช่วงเวลาไม่เหมาะสมจะทำลายการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ ให้เสียหายได้

การต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้เป็นการต่อสู้ของคนในชาติเดียวกัน คนที่เคยรู้จักกันเคยเป็นเพื่อนกัน แนวรบสามสี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายสามารถต่อสู้กันในเกมได้ โดยที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ยกเว้นเรื่องเดียวคือการวางระเบิดซึ่งอาจจะไม่ใช่ฝีมือของทั้งสองกลุ่มก็เป็นได้ (เรื่องนี้ต้องโทษมือที่สาม)

ถึงอย่างไร โอกาสประนีประนอมก็ยังมีอยู่ ขอเพียงผู้กุมอำนาจรัฐผ่อนคลายแรงกดดันลง ปรับท่าทีความเป็นมิตรอย่างจริงใจให้มากขึ้น ฝ่ายที่ต่อต้านเองก็ต้องเข้าใจว่านี่คือการต่อสู้ทางการเมือง มีเวทีให้ต่อสู้ มีเกมให้เลือกเล่นได้พอสมควร มองดูสถานการณ์โดยรอบแล้ว ต้องรู้จักคิดว่าช่วงเวลานี้สมควรทำอะไร

ทำอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อประเทศ และมีโอกาสได้รับชัยชนะจริงๆ


+ + + +

โพสต์ลิงค์ข่าวที่แสดงความขยันของรัฐบาลเงา ที่ต้องการโชว์ชนชั้นสูงว่า ถ้าช่วยให้ได้เป็นรัฐบาลอีกรอบ จะขยันทุกวันไม่ขี้เกียจเหมือนรอบที่แล้ว

ปชป.แนะสังคมจับตาดู"นิติราษฎร์"อาจเป็นส.ส.ร.54
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=531082&lang=T&cat=

ฝ่าย กม.ปชป.เตรียมร้องผู้ตรวจการแผ่นดินฯถอดถอน"ปู"ส่อมีผลประโยชน์โครงการบ้านหลังแรกกับ บ.เอสซี
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317019539&grpid=00&catid=&subcatid=

อสส.เห็นพ้องศาลอุทธรณ์ ไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ชี้ไม่มีเหตุทั้งข้อเท็จจริง-กฎหมาย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317028572&grpid=00&catid=&subcatid=

รัฐมนตรี "เงา" ประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้ใจนอกสภา จากไร่นาถึงบ้านหรู-น้ำมัน และภาษีรถยนต์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317193204&grpid=01&catid=&subcatid=

เพื่อไทยโวย ปชป. บิดเบือนข้อมูล
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=531153&lang=&cat=

"ปชป."ซัดเพื่อไทยเล่นการเมืองไม่สร้างสรรค์
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=531013&lang=T&cat=


.