http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-30

ตำรวจยุคเสื้อยืด, คำให้การ 15 พ.ย., ผู้ก่อการร้ายหนังสติ๊ก โดย วงค์ ตาวัน

.


ตำรวจยุคเสื้อยืด
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630 หน้า 98


กล่าวกันว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร.ที่"มากับน้ำ" คือ เข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่ปริมาณน้ำมหึมาเคลื่อนจากภาคเหนือข้าสู่ภาคกลาง ก่อนจะโถมถล่มเข้าจมเมืองหลวงในที่สุด

ดังนั้น ภารกิจหลักของตำรวจในระยะนี้หนีไม่พ้นการร่วมช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตน้ำ

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มาพร้อมกับตำรวจในยุคน้ำ นั่นคือแต่งกายครึ่งท่อน สวมรองเท้าบู๊ตกันน้ำ และเสื้อยืดขาวสกรีนคำว่า "ตำรวจ" โดดเด่นสีแดง

เสื้อยืดสกรีนคำว่า ตำรวจ ถือว่าสะดุดตา

เดี๋ยวนี้เหลือบมองไปทางไหนก็เห็นชัดเจน

ไอเดียนี้จึงนับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องการให้ชาวบ้านมองเห็นว่าตำรวจลงพื้นที่เต็มตัว จากเดิมทีที่มักกล่าวขวัญกันว่า ไม่เห็นตำรวจยุคสถานการณ์น้ำท่วม

พอเปลี่ยนรูปโฉม เท่านั้นเอง ก็เห็นตำรวจในสายตาเต็มไปหมด

สามารถเข้าไปร้องขอความช่วยเหลือได้ ทั้งเรื่องการจัดรถขนาดใหญ่เพื่อเดินทางเข้าออกซอยที่น้ำสูง

แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ขโมยขโจร

สอบถามเส้นทาง หลีกเลี่ยงถนนน้ำท่วม

ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง แทนที่จะต้องมีแต่งเครื่องแบบเต็มยศ เสื้อผ้าหนาไม่คล่องตัว โดนน้ำกระฉอกกระเด็นได้เหม็นติดตัวไปทั้งวัน

การใส่เสื้อยืดพร้อมคำบ่งบอกความเป็นตำรวจ สอดคล้องกับสภาพการทำงานในท่ามกลางความเปียกโชกด้วย


แต่แน่นอน มีการตั้งคำถามว่า พอเป็นเสื้อยืดสีขาวแค่สกรีน ตำรวจ เดี๋ยวก็คงได้มีมิจฉาชีพลอกเลียนแบบ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องว่ากันต่อไป

เพราะการแอบอ้างเป็นตำรวจ หรือพวกตำรวจเก๊นั้น มีเป็นประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว

แต่ในสถานการณ์ที่ไปไหนเห็นแต่น้ำเวิ้งว้างทั่วเมืองหลวงเช่นนี้ ใครแต่งตัวใส่เสื้อยืดตำรวจ มีแต่ต้องรับภาระหนัก เพราะชาวบ้านเห็นต้องเข้ามาขอความช่วยเหลือ

มีแต่คนทุกข์ร้อนเต็มไปหมด

เรื่องใหญ่ที่สุด ไม่มีพาหนะสำหรับเดินทางไปไหนมาไหน ต้องพึ่งรถใหญ่ของทหารและของตำรวจนั่นแหละ

ไปจนถึงการสอบถามเส้นทางและสภาพน้ำ

โอกาสที่มิจฉาชีพจะหันมาใส่สื้อสกรีนตำรวจ ไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่แน่นอนโจรผู้ร้ายยังมีเป็นปกติ ชุกชุมเสียด้วย ฉวยโอกาสที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ทิ้งร้าง รถราไปจอดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ

โจรผู้ร้ายพวกนี้ไม่ต้องแต่งเสื้อตำรวจให้วุ่นวายเลย


ขณะเดียวกัน การจัดสายตรวจเพื่อตรวจหมู่บ้านจัดสรรที่ผู้คนอพยพหนีน้ำ และตามทางด่วน ตามสะพาน ที่รถจอดทิ้งเต็มไปหมด เดี๋ยวก็ยังพอเบาใจ ได้เห็นรถสายตรวจเปิดไฟวับวาบวิ่งตรวจตรา หรือไปจอดตามจุดต่างๆ เป็นระยะๆ

เมื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จริงจัง และยังออกตรวจพื้นที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง

เราได้เห็น ผบ.ตร. เสื้อยืดสกรีนตำรวจ ไปปรากฏตัวตามจุดต่างๆ เช่นนี้แล้ว ตำรวจก็ต้องตื่นตัว ประโยชน์จะตกกับชาวบ้าน

ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ตำรวจไม่ค่อยออกดูแลประชาชน

พร้อมๆ กับมีภาพทหารเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ได้เห็นทหารเป็นพระเอกดูแลประชาชน ไปจนถึงดูแลคันกั้นน้ำต่างๆ

เท่านั้นเองบรรดาผู้มีอารมณ์ค้างจากผลการเลือกตั้งก็ไม่รอช้า นำภาพทหารทำงานหนักเพื่อชาวบ้าน ออกมาขยายเพื่อโจมตีรัฐบาล

กล่าวหาว่ารัฐบาลทำงานไม่เป็น ต้องมีทหารออกมาช่วย

ดูจะเป็นมุมมองที่ข้ามประเด็นข้อเท็จจริงไปมาก เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ เป็นเรื่องปกติ ที่ทุกรัฐบาลจะต้องให้กองทัพเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากกำลังพลมีความพร้อม มีความแข็งแกร่ง เครื่องมือรถรามีมากมายมหาศาลกว่าทุกหน่วย

อย่างรถยีเอ็มซีพระเอกสำคัญในวิกฤตน้ำท่วมทุกครั้ง มีอยู่ในหน่วยทหารมากที่สุด ขนาดตำรวจเองยังไม่มีเลย

หนักกว่านั้นยกย่องทหารกันจนเลิศเลอ แล้วเร่งโหมโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์หวังให้ล้มคว่ำกลางอภิมหาอุทกภัยครั้งนี้


ฟังแล้วก็งง แทนที่จะสนับสนุนทหารให้ร่วมมือกับรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแท้ๆ ไม่ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารด้วยซ้ำ

กลับยกยอทหาร แล้วบดขยี้รัฐบาลประชาธิปไตย

ไม่รู้อยากได้รัฐบาลที่ทหารจัดตั้งหรืออย่างไร ก็ไม่เข้าใจ

ถ้าวิกฤตน้ำครั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลวจนถึงจุดสุดท้าย กลไกประชาธิปไตยจะจัดการกับรัฐบาลนี้เอง จะปรับ ครม. จะยุบสภา หรือจะอะไร ก็มีทางออกของประชาธิปไตยอยู่แล้ว

หรือถ้าเสื่อมมากๆ คงอยู่ไม่ครบวาระ เลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนจะแห่ไปเลือกประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลก็ได้

แต่การเห็นวิกฤตน้ำ เป็นเครื่องมืออันโอชะ เพื่อจะโค่นล้มรัฐบาล ขอได้โปรดคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านตาดำๆ บ้าง เพราะตอนนี้เขาต้องการรัฐบาล ที่ทุ่มเททำงาน สามารถระดมกลไกทหาร ตำรวจ มหาดไทย กรมกองต่างๆ เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้มากที่สุด

การเอาปัญหาที่คุกคามบ้านเมือง มาเป็นเกมทำลายล้างการเมือง ถือว่าใจร้ายใจดำอย่างยิ่ง

แล้วถามว่าจังหวะเวลาโอกาสเอื้ออำนวยหรือ

โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ราวกับว่า เข้ามามีอำนาจ 2 ปีกว่าแล้วแต่ไม่ยอมทำงาน

ทั้งที่เข้ามาแค่ 4-5 เดือน ยังไม่ทันตั้งตัว เจอน้ำโถมถล่มเข้าโส่ทันที


ต้องดีใจที่รัฐบาลสามารถใช้กลไกทหารออกมาร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้ ไม่ใช่มองทหารอยู่เหนืออำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ก็ต้องชื่นชมทหาร ที่เข้าร่วมทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ลงมาทำงานด้วยตัวเอง ไม่เอาปมการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ส่วนกลไกอื่นๆ ของรัฐบาล เช่น ตำรวจในยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ วันนี้ก็ออกมาเต็มท้องถนน ตามตรอกซอกซอย ให้ชาวบ้านได้พบเห็น ขอความช่วยเหลือ

เดิมทีอาจไม่ค่อยเห็น

พอเปลี่ยนโฉมใส่เสื้อยืดตำรวจ เท่านั้นเอง ก็เข้าตาประชาชนขึ้นมาทันที



++

คำให้การ 15 พ.ย.
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 98


ภาวะวิกฤตน้ำท่วม ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนคนไทยในวันนี้ แต่ใช่ว่าปัญหาอื่นๆ ของชาติบ้านเมืองจะหยุดนิ่งไปเสียทั้งหมด อย่างคดี 91 ศพที่ประชาชนจำนวนมากยังคงเฝ้ารอคอยวันแห่งความยุติธรรม ซึ่งมีโอกาสจะปรากฏขึ้นได้ในรัฐบาลยุคพรรคเพื่อไทยนี้ ล่าสุดก็ใกล้ความจริงเป็นลำดับ

หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต และ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ไปควบคุมอำนวยการ เพื่อดำเนินการรื้อฟื้นคดี

โดยนำสำนวนคดี 16 ศพจาก 91 ศพ ซึ่งเดิมทีดีเอสไอเคยทำเอาไว้แล้วพบว่า น่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

จึงให้ดีเอสไอส่งมอบสำนวน 16 ศพนี้ ให้กับพนักงานสอบสวนตำรวจเพื่อดำเนินการต่อ

พนักงานสอบสวนของตำรวจชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. เป็นหัวหน้า ได้ระดมสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

แล้ววันสำคัญของการรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ก็มาถึง

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะโฆษกของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. พร้อมด้วยนายทหารอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนชุดใหญ่เพื่อให้ปากคำ

แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารทยอยเข้าให้ปากคำแล้วหลายต่อหลายปาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในภาคสนาม

กรณี พ.อ.สรรเสริญ ถือเป็นนายทหารระดับคีย์แมนที่นั่งอยู่ใน ศอฉ.

เป็นกุญแจสำคัญอีกดอก ในการไขปมประเด็น 'คนสั่งการ' ได้อย่างชัดเจน



ดูเหมือนจะสอดรับกับนโยบายของพนักงานสอบสวนที่วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ทำตามคำสั่ง หากให้ความร่วมมือด้วยดี จะถือเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะพยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา

เพราะเจตนารมณ์ของการทำคดีนี้คือ หาตัวการที่สั่งการจนนำมาสู่ความผิดพลาด เป็นเหตุให้มีประชาชนล้มตายเกือบร้อยชีวิต

พ.อ.สรรเสริญ จึงเป็นพยานปากสำคัญ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการสั่งการได้เป็นอย่างดี

ในคำให้การเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนดังกล่าวนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง

พ.อ.สรรเสริญ ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า โดยปกติแล้วภารกิจของกองทัพนั้น จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเมืองเลย

อำนาจและหน้าที่ของทหารนั้น จะต้องคอยปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูในเขตป่าเขา ทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ที่จะเข้ามาเดินถือปืน ขับรถถัง รถหุ้มเกราะ ในเขต กทม. ได้เลย

โฆษก ศอฉ. ให้การว่า ดังนั้น การที่ทหารเข้ามาปรากฏตัวอยู่ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มาด้วยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาทหาร ไม่ได้มาด้วยคำสั่งของกองทัพ เพราะกองทัพไม่มีอำนาจจะออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาได้

นั่นคือการปูพื้นฐานของภารกิจกองทัพให้เห็น

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นก็คือ เหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้น ถือเป็นเหตุการณ์เฉพาะกิจ ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติทั่วไป จู่ๆ ทหารจะเข้ามาปฏิบัติการในเมืองย่อมไม่ได้ แต่ต้องมาด้วยคำสั่งพิเศษ มาด้วยอำนาจพิเศษ

และผู้ที่ออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาอยู่ใน กทม. ได้ก็คือ ศอฉ.

พ.อ.สรรเสริญ ให้การอีกว่า ศอฉ. ก็มิใช่องค์กรที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่องค์กรที่เกิดขึ้นเองได้เฉยๆ

แต่ ศอฉ. เกิดขึ้นด้วยคำสั่งที่เซ็นโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พร้อมกับมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.

ศอฉ. ที่นายอภิสิทธิ์เซ็นตั้งขึ้นกับมือนี่เอง ที่เป็นองค์กรซึ่งออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาปฏิบัติการในเมือง พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

นอกจากนั้น โฆษก ศอฉ. ยังให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ถึงโครงสร้าง ศอฉ. ระบบการบังคับบัญชาการสั่งการต่างๆ ในฐานะที่นั่งทำหน้าที่อยู่ใน ศอฉ. ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ผลจากการสอบปากคำ เสธ.ไก่อู คนดัง ทำให้พนักงานสอบสวนได้ข้อมูลเชื่อมโยงถึงผู้สั่งการอย่างชัดเจน แน่นอนว่าทั้งหมดพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้ก่อตั้ง ศอฉ. และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ ศอฉ. กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ.



จุดสำคัญก็คือ พ.อ.สรรเสริญ เน้นย้ำว่า อำนาจของกองทัพเอง ไม่สามารถสั่งการให้ทหารเข้ามาปฏิบัติการเช่นนี้ได้ เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปภายใต้โครงสร้างอำนาจของ ศอฉ. ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับอำนาจของฝ่ายทหารเลย ในทางรูปคดีจึงช่วยยืนยันว่าผู้บังคับบัญชาของทหารเอง ไม่สามารถออกคำสั่ง กระทั่งไม่มีอำนาจจะออกคำสั่งในปฏบัติการเหล่านี้ได้

ยิ่งหากประกอบเข้ากับเอกสารบันทึกสั่งการของ ศอฉ. ก็จะพบว่าลายเซ็นที่ออกคำสั่งต่างๆ นั้นมาจากผู้อำนวยการ ศอฉ. และในคำสั่งก็มักจะอ้างอิงคำสั่งของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นปรากฏชัดแจ้งอีกด้วย

คำให้การเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ของนายทหารระดับคีย์แมนใน ศอฉ. จึงช่วยให้คดีนี้รุดหน้าไปได้มากขึ้น มุ่งไปสู่ผู้สั่งการตัวจริง!

ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทหารเอง ซึ่งมีความสบายใจขึ้นที่จะร่วมมือกับพนักงานสอบสวน ก็ได้เข้าให้ปากคำที่เป็นประโยชน์ต่อคดีเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของ 16 ศพ ที่ดีเอสไอทำเอาไว้และบ่งชี้ว่ามาจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น พนักงานสอบสวนก็ได้พยานในที่เกิดเหตุมากขึ้น ไปจนถึงหลายศพ พบหัวกระสุนในร่างผู้ตาย อันเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจหาต้นตอกระบอกปืน

เอาเฉพาะ 16 ศพนี้ หากพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตำรวจ รองรับกับที่ดีเอสไอทำไว้เดิมอย่างชัดเจน จนสามารถสรุปได้ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริง

**นั่นก็แปลว่า คำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปราบปรามม็อบเสื้อแดง ถือเป็นคำสั่งที่นำมาสู่ความรุนแรงจนทำให้ประชาชนถูกกระสุนของเจ้าหน้าที่ล้มตาย**


ขณะเดียวกัน กระบวนการสอบสวนเริ่มปรากฏชัดเจนว่า ทหารปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

แล้วผู้บังคับบัญชานั้นเป็นใคร

*ในเมื่อฝ่ายทหารยืนยันว่า นี่เป็นปฏิบัติการที่มิได้ดำเนินไปด้วยอำนาจของกองทัพ*

หากแต่ดำเนินไปด้วยอำนาจของ ศอฉ.

แล้วใครคือผู้สั่งการในนาม ศอฉ. เล่า

*เสธ.ไก่อู ได้เฉลยต่อพนักงานสอบสวนไปเรียบร้อยแล้ว!*



++

ผู้ก่อการร้ายหนังสติ๊ก
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 98


จากคำให้การเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะตัวแทนกองทัพ ซึ่งเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 อันสั่นสะท้านไปทั้งวงการ

เพราะเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนทหารให้ปากคำอย่างตรงไปตรงมาถึงโครงสร้างการบังคับบัญชาในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งพาดพิงถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เต็มๆ

บทสรุปสำคัญของคำให้การนี้ก็คือ ทหารไม่สามารถจะเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่เมืองหลวงได้เลย หากใช้อำนาจปกติของกองทัพ

แต่ในเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธเข้ามาได้ ด้วยคำสั่งของ ศอฉ.

ศอฉ. ที่ พ.อ.สรรเสริญ ให้การระบุว่า ก่อตั้งด้วยลายเซ็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ

คำให้การของตัวแทนทหาร ขมวดปมชัดเจนว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ด้วยคำสั่งของกองทัพ แต่ด้วยคำสั่งของ ศอฉ. ที่มีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นผู้สั่งการ

นี่คือคำให้การของตัวแทนทหาร ที่พนักงานสอบสวนรู้สึกได้ทันทีว่าคดีนี้สมบูรณ์แบบมาก เพราะเป็นการบอกถึงขั้นตอนสั่งการชัดเจน

นี่จึงบ่งบอกอนาคตของคดีนี้ ซึ่งกำลังคืบหน้าไปอย่างมาก!


คดี 91-92 ศพ ที่พนักงานสอบสวนนครบาล ได้รับสำนวนจากดีเอสไอจำนวน 16 ราย ซึ่งได้พยานหลักฐานในเบื้องต้นชี้ว่าเกิดจากการกระทำของทหาร

อยู่ระหว่างเร่งปิดสำนวนเพื่อทยอยส่งอัยการ ก่อนนำขึ้นสู่ศาลเพื่อไต่สวนว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร และใครทำให้ตาย

ในสำนวนดังกล่าวพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ทหารทำให้ตาย

ก่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปว่า ใช้ทหารกระทำให้ตายจริงใช่หรือไม่ หากใช่ก็จะต้องมีคำตอบว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

ถ้าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ก็จะกลายเป็นคดีอาญา จะนำไปสู่การฟ้องร้องอีกระลอกใหม่

แนวทางการทำคดีก็ชัดเจนว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง หรือคำสั่งของ ศอฉ.

จะมีการกันเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพยาน เพื่อดำเนินคดีเฉพาะผู้สั่งการตัวจริง!



พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีแรกไปถึงอัยการเพื่อเตรียมนำขึ้นไต่สวนชั้นศาลแล้ว นั่นคือ คดีการตายของ นายชาญณรงค์ พลศรีลา แท็กซี่วัย 45 ปี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ที่ถนนราชปรารภ

เรื่องราวความเป็นมาของคดีนี้เป็นที่เศร้าสะเทือนใจอย่างมาก

หลังเหตุการณ์นองเลือดสิ้นสุดลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แม้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะพยายามออกข่าว "เผาบ้านเผาเมือง" เพื่อกลบเกลื่อนการเข่นฆ่า 91 ศพก็ตามที แต่การค้นหาความจริงของสื่อมวลชนหาได้หยุดนิ่งไปกับการโหมโฆษณาบิดเบนดังกล่าวไม่

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งติดตามเรื่องนี้อย่างไม่ลดละ ได้พาดหัวข่าวใหญ่ ในฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2553 หรือราว 1 เดือนจากนั้น

นักข่าวเยอรมัน รุดพบ ตร. ค้นหา นปช. ถูกยิง

เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เมื่อ นายนิก นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน ได้ปรากฏตัวขึ้นที่ สน.พญาไท

โดยได้เข้าพบ พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แสงกล้า พนักงานสอบสวน เพื่อติดตามข้อมูลชะตากรรมของผู้ชุมนุมเสื้อแดงรายหนึ่ง ที่เขาถ่ายภาพเอาไว้ได้เมื่อ 15 พฤษภาคม หลังถูกยิงล้มหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถ.ราชปรารภ กทม.

ต้องการรู้ถึงชะตากรรมผู้ชุมนุมรายนี้ เพราะค้างคาอยู่ในจิตใจ


ตำรวจจึงนำแฟ้มผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์มาให้ดูและพบว่าชายคนดังกล่าวคือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา จากสภาพศพเมื่อมาประกอบกับภาพถ่ายของนายนิก ปรากฏว่าเป็นรายเดียวกัน

เมื่อนายนิกเห็นภาพถึงกับหน้าสลด นิ่งอึ้งอยู่พักใหญ่

จากนั้นพนักงานสอบสวน จึงขอสอบปากคำนายนิกเพื่อเป็นพยานนานกว่า 2 ชั่วโมง พร้อมกับขอภาพถ่ายที่บันทึกไว้ในวันเกิดเหตุเป็นหลักฐานด้วย

นายนิก เล่าให้ผู้สื่อข่าวที่ สน.พญาไท ฟังว่า เสียใจมากที่ชายคนนี้ตาย เพราะหลังเหตุการณ์นั้นทั้งภาพและเสียงร้องขอความช่วยเหลือของชายคนนี้ติดตามาตลอด

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ชายคนนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่พยายามนำยางรถยนต์มาขวางถนนราชปรารภ ห่างจากทหารราว 80 เมตร ชายคนนี้เข้ามาพูดคุยกับนักข่าวต่างประเทศ พร้อมชูหนังสติ๊กแล้วคุยว่านี่คืออาวุธที่จะสู้กับทหาร จากนั้นไม่นานชายคนนี้ก็ถูกยิงล้มลง เจ้าตัวพยายามคลานเข้ามาหลบในปั๊มแล้วปีนข้ามกำแพงปั๊มไปหลบในบ่อบัวของบ้านหลังหนึ่ง

นายนิก เล่าอีกว่า ทั้งหมดตนเองเห็นกับตา แม้อยู่ในน้ำแล้ว ทหารยังปีนตามมาลากตัวออกไป ทั้งยังด่าว่าอย่างหยาบคาย

จากวันนั้นมา นายนิกพยายามตามหาชายผู้นี้ เพราะอยากรู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร!


ไม่เข้าใจว่าทหารไทยทำแบบนี้ได้อย่างไร ไม่มีการยิงแก๊สน้ำตา ไม่มียิงขู่ แต่ยิงตรงๆ ชายคนนี้ไม่ควรต้องมาตาย เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ ผมพร้อมเป็นพยานกับตำรวจเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ตายรายนี้ และในวันเกิดเหตุมีนักข่าวต่างประเทศยืนอยู่ด้วยหลายคน มีทั้งภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอเป็นหลักฐาน

นั่นคือความในใจของ นิก นอสติทช์ พร้อมทั้งแสดงความจำนงต้องการพบกับครอบครัวของนายชาญณรงค์

จนกระทั่งวันถัดมา 18 มิถุนายน 2553

นายนิกก็ได้พบกับ น.ส.มนชยา หรือ ส้มโอ พลศรีลา อายุ 25 ปี บุตรสาวของผู้ตาย ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านสายไหม พร้อมกับนำภาพถ่ายที่บันทึกเอาไว้ และบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง

*น้ำตาแทบจะท่วมไปทั้งร้าน*

ทั้งคนเล่าเหตุการณ์และคนรับฟัง โศกสลดอย่างที่สุด แต่ก็มีความเห็นตรงกันว่า จะต้องทวงถามความยุติธรรมให้กับคนตาย และต้องมีคนรับผิดชอบกับความตายของนายชาญณรงค์ นักสู้ที่มีเพียงหนังสติ๊กในมือ

จนผ่านไปอีกปีเศษ เมื่อประชาชนกว่า 15 ล้านเสียง ช่วยกันเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ความหวังที่คดี 91 ศพจะเกิดความเป็นธรรมก็มีมากขึ้น

**ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา 2 รอง ผบ.ตร. ดำเนินการเร่งคดี**


จนกระทั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะเจ้าของท้องที่เกิดเหตุ ได้ตั้งพนักงานสอบสวน นำโดย พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. รับสำนวน 16 ศพแรกจากดีเอสไอ มาเร่งรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์เพื่อนำขึ้นสู่ศาลไต่สวน

ก่อนจะนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญาต่อไป

*โดยมีคำให้การของ พ.อ.สรรเสริญ มัดเอาไว้แล้ว!*

สำนวนแรกที่สรุปเสร็จสิ้นคือความตายของนายชาญณรงค์ ซึ่งนายนิกได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ว่า จะติดตามเป็นพยานให้ถึงที่สุด รวมทั้งผู้สื่อข่าวอื่นๆ อีกหลายปาก จนเป็นสำนวนที่สมบูรณ์และแน่นหนา

เรื่องราวของนายชาญณรงค์เป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลก เมื่อนายนิกได้เขียนบันทึก in the killing zone ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ New Mandala

**โดยมีภาพบันทึกทุกนาที โดยเฉพาะขณะถูกยิงล้มจมเลือด ก่อนจะช่วยกันหิ้วปีก หลบหนี แต่ก็หนีการตามล่าไม่พ้น**

แน่นอนว่า ภาพที่สะเทือนใจคนทั่วโลกก็คือ ขณะนายชาญณรงค์เงื้อหนังสติ๊ก ใบหน้ายิ้มแย้มมุ่งมั่น

* "เห็นมั้ย นี่ไงอาวุธที่เราใช้สู้กับทหาร " *



.