http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-29

2555-ปฏิรูปภาคความมั่นคง กุญแจสู่สันติภาพและประชาธิปไตย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

2555-ปฏิรูปภาคความมั่นคง กุญแจสู่สันติภาพและประชาธิปไตย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 36


"ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดสำหรับรัฐบาลที่เลวร้าย
ก็คือ การเริ่มต้นปฏิรูป "
Alexis de Tocqueville
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส


หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นที่เริ่มต้นขึ้นจากการรวมชาติของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 2532 (ค.ศ.1989) นั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในหลายๆ เรื่อง

และหนึ่งในเรื่องเหล่านี้ก็คือ "การปฏิรูปความมั่นคง" ที่แต่เดิมนั้นอาจจะมีความหมายโดยตรงถึงการปฏิรูปกองทัพ (military reform) หรือการปฏิรูปด้านการป้องกันประเทศ (defense reform)

แม้เรื่องเช่นนี้จะมีคำเรียกหลายชื่อ รวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านการป้องกันประเทศ (defense transformation) ก็ตาม แต่สาระหลักแล้วเป็นเรื่องของการปฏิรูปกองทัพ หรือการปฏิรูปด้านกิจการทหารเป็นประเด็นหลัก

ดังได้กล่าวแล้วว่า นัยสำคัญของการปฏิรูปกองทัพก็เพื่อมุ่งให้ประเทศมีกองทัพที่เข้มแข็งในด้านการทหารและการป้องกันประเทศ การปฏิรูปนี้มีนัยทางการเมืองน้อยกว่านัยทางทหาร เพราะการกระทำดังกล่าวนี้ได้มุ่งให้เกิดเงื่อนไขทางการเมืองใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล

โจทย์เช่นนี้ดูจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นนั้น กองทัพข้าศึกในฐานะของภัยคุกคามขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โอกาสของการรบในสงครามตามแบบอย่างเต็มรูปนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น เมื่อโจทย์ไม่ใช่เป็นแต่เรื่องของการปฏิรูปกองทัพเพื่อความเข้มแข็งในทางทหารเท่านั้น หากแต่ยังกินความถึงเรื่องของการปฏิรูปความมั่นคงเพื่อก่อให้เกิดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันก็หวังว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้เกิดธรรมาภิบาลในมิติด้านความมั่นคงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลของความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์จากการยุติของสงครามเย็น ยังทำให้เกิดความคิดในการขยายกรอบของนิยาม ดังได้กล่าวแล้วว่า ในอดีตนั้น หน่วยงานความมั่นคงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของการปฏิรูปนั้น มักจะเป็นองค์กรทหาร

แต่ข้อเสนอใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่อง "การปฏิรูปภาคความมั่นคง" (Security Sector Reform หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อจากตัวย่อว่า "SSR")



โดยทั่วไปแล้ว ภาคความมั่นคง (security sector) ในความหมายอย่างแคบหมายถึงทหาร ตำรวจ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานลับในด้านความมั่นคง (ต่างจากแนวคิดเดิมที่เน้นเฉพาะเรื่องทหารเท่านั้น)

แต่หากจะกล่าวให้ครอบคลุมแล้ว ภาคความมั่นคงอาจจะรวมถึงส่วนงานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม 8 ส่วนงาน ได้แก่ กองทัพ ตำรวจ หน่วยงานข่าวกรอง กระบวนการยุติธรรม งานราชทัณฑ์ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านความมั่นคง ปัญหาของสตรีที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และในบางประเทศรวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านลดอาวุธ จำกัดอาวุธของประเทศ และการปรับลดกำลังพล ตลอดรวมถึงการบูรณาการกองกำลังติดอาวุธ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในบริบทขององค์ประกอบแล้ว ภาคความมั่นคงพิจารณาได้ดังนี้

1) กลุ่มที่มีอำนาจและเครื่องมือในการใช้กำลัง ซึ่งได้แก่ ทหาร (ในรูปแบบต่างๆ) ตำรวจ กองกำลังกึ่งทหาร หน่วยงานลับ

2) สถาบันและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการติดตามและบริหารจัดการภาคความมั่นคง ได้แก่ กระทรวงต่างๆ รัฐสภา

3) โครงสร้างที่มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการดำรงไว้ซึ่งนิติธรรมของรัฐ ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ศาล ราชทัณฑ์ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดรวมถึงกลไกความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ

4) ในบางกรณี ภาคความมั่นคงของบางประเทศอาจจะรวมถึงตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล หรือบริษัททหารรับจ้าง อันเป็นตัวแสดงที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในโลกปัจจุบัน เป็นต้น



จากนิยามข้างต้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า แนวคิดใหม่ก้าวไปสู่การคิดถึงการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นกับภาคความมั่นคงในขอบเขตที่กว้างขวางคือ ครอบคลุมทั้งในเรื่องของกลุ่ม องค์กร และโครงสร้างของส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังของรัฐ

แนวคิดในการปฏิรูปนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาที่เกิดกับการเมืองในอดีต อันเป็นผลจากการที่ทหาร ตำรวจ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานลับ มักจะมีอำนาจอย่างมาก โดยเฉพาะในบางครั้งอำนาจของหน่วยงานเหล่านี้อาจจะอยู่ "เหนือกฎหมาย"

สภาพเช่นนี้ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านความมั่นคงแทนที่จะรับใช้ประชาชน กลับกลายเป็นองค์กรที่ถูกใช้เพื่อล้อมปราบประชาชน และบางครั้งก็กลายเป็นจุดของการสร้างแนวคิดทหารนิยม (Militarism) ในสังคมนั้นๆ

นอกจากนี้ สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในบางประเทศยังพบอีกด้วยว่า กองทัพที่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองนั้นได้กลายเป็นปัจจัยของความไร้เสถียรภาพ หรือบางทีองค์กรเหล่านี้ก็มักจะได้รับงบประมาณเป็นจำนวนมาก จนเกิดความไม่สมดุลในสัดส่วนงบประมาณของประเทศ

เช่น จะพบว่าในบางประเทศ รัฐบาลอาจจะลงทุนด้านความมั่นคงและการทหารเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านการพัฒนาสังคม หรือด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ฉะนั้น การปฏิรูปความมั่นคงจึงเป็นความหวังที่จะเปลี่ยนทิศทางของนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศในภาวะหลังความขัดแย้งใหญ่ หรือหลังสงครามแล้ว การปฏิรูปภาคความมั่นคงจะเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง

และที่สำคัญก็คือจะเป็นหนทางของการสร้าง "การเมืองใหม่" ของประเทศ



ดังนั้น ความสำเร็จของการปฏิรูปความมั่นคงจะเป็นการสร้างหลักประกันทั้งทางการเมืองและความมั่นคงในประเด็นดังต่อไปนี้

1) กองกำลังติดอาวุธภายในรัฐ จะไม่เป็นปัจจัยบ่อนทำลายเสถียรภาพ หรือกลายเป็นปัจจัยที่คุกคามต่อสันติภาพ

2) การปฏิรูปจะเป็นปัจจัยในการลด และ/หรือยุติการติดสินบนและการคอร์รัปชั่นในวงการความมั่นคง

3) การปฏิรูปจะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ทำให้องค์กรความมั่นคงมีความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือ และได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน

4) หากการปฏิรูปกระทำได้อย่างไม่พอเพียงและไม่ทันการแล้ว ก็จะส่งผลให้การจัดสรรและการใช้งบประมาณด้านความมั่นคงผิดทิศผิดทาง และผลอย่างสำคัญก็คือจะทำให้เกิดข้อจำกัดในกระบวนการทางการเมืองหลังความขัดแย้ง

จนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยของสังคมในอนาคต



นอกจากนี้ หากพิจารณาการปฏิรูปนี้ในระยะยาวแล้ว จะพบว่ามีผลใน 4 มิติที่สำคัญ ได้แก่

1) มิติทางการเมือง

การปฏิรูปภาคความมั่นคงจะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะนำไปสู่แนวคิดเรื่อง "การควบคุมโดยพลเรือน" (civilian control) ต่อองค์กรทหารและหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ

2) มิติเชิงสถาบัน

การปฏิรูปภาคความมั่นคงจะผูกโยงกับการปรับเปลี่ยนทั้งทางกายภาพและทางเทคนิคขององค์กรความมั่นคง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง การปรับลดจำนวนกำลังพลทหาร การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ เป็นต้น

3) มิติทางเศรษฐกิจ

การปฏิรูปเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องของการจัดหาและการบริหารจัดการด้านงบประมาณด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นทั้งเรื่องของงบประมาณทหาร หรืองบประมาณด้านการข่าว เป็นต้น

4) มิติทางสังคม

การปฏิรูปดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบาทขององค์กรทางสังคมในการตรวจสอบและติดตามโครงการและนโยบายด้านความมั่นคงและด้านการทหารของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากระบวนการเช่นนี้เป็นความหวังขององค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) ธนาคารโลก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลอังกฤษ (DFID)

โดยองค์กรเหล่านี้เชื่อว่าการปฏิรูปภาคความมั่นคงจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากสภาวะสงครามไปสู่สันติภาพ หรือเปลี่ยนผ่านจากการเมืองแบบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย

อันทำให้การปฏิรูปนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างระบอบการเมืองหลังความขัดแย้งที่มีสันติภาพและเป็นประชาธิปไตย

และที่สำคัญก็คือ จะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการควบคุมโดยพลเรือน และหวังอย่างมากว่าจะเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดธรรมาภิบาลด้านความมั่นคง เช่น ลดการคอร์รัปชั่นในวงงานความมั่นคง หรือทำให้เกิดความโปร่งใสในกิจกรรมด้านความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ องค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายจึงหวังที่จะเข้ามาเป็นทั้งผู้ช่วยและผู้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปดังกล่าว



โดยทั่วไปแล้วองค์กรเหล่านี้จะช่วยเหลือในประเด็นดังต่อไปนี้

1) ช่วยเหลือในการให้ความรู้ทางเทคนิคแก่รัฐบาลที่ต้องการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตรวจสอบด้านงบประมาณและการเงิน

2) จัดทำโครงการฝึกอบรมแก่ผู้นำทั้งพลเรือนและทหารในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องของความโปร่งใส การตรวจสอบได้ ตลอดรวมถึงเรื่องของปัญหาสิทธิมนุษยชน

3) ช่วยในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันของฝ่ายพลเรือน เช่น บทบาทของการอำนวยความยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

4) สนับสนุนและสร้างขีดความสามารถของภาคสังคมในการมีบทบาทด้านความมั่นคง

5) จัดให้มีการฝึกเพื่อให้เกิด "ความเป็นอาชีพนิยม" (professionalism) แก่บุคลากรในกองทัพและในองค์กรตำรวจ

6) ช่วยเหลือในกระบวนการลดอาวุธ และการปลดกำลังพลหลังจากความขัดแย้งได้สิ้นสุดลง

7) ผลักดันให้เกิดความช่วยเหลือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปภาคความมั่นคงอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสในเวทีโลกที่อาจจะกล่าวได้ว่า การปฏิรูปภาคความมั่นคงเป็นหนึ่งประเด็นของกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีความพยายามในการผลักดันจากเวทีภายนอกให้เรื่องของการปฏิรูปเช่นนี้เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้มีฐานะเป็น "วาระสำหรับปี 2555"

ซึ่งก็น่าสนใจว่าแนวคิดนี้จะสามารถนำมาปรับใช้กับสังคมไทยได้อย่างไรหรือไม่

เพราะในทางหลักการแล้วเป็นที่เชื่อกันว่า การปฏิรูปภาคความมั่นคงคือคำตอบของสังคมหลังความขัดแย้ง

และเป็นกุญแจสำคัญของการเดินทางสู่สันติภาพและประชาธิปไตยในอนาคต!



.

2555-02-28

3 กูรูมอง "สสร.ใหม่" ความหวัง หรือ ทางตันการเมืองไทย

.

3 กูรูมอง "สสร.ใหม่" ความหวัง หรือ ทางตันการเมืองไทย
ในข่าวสด ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:36 น.


หมายเหตุ : วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องกระดังงา รร.โกลเด้นทิวลิป สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการ “ มาตรา 291 : ว่าด้วย สสร. 3 ในมุมมองอดีต สสร.” มีนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสสร. 2540 นายเดโช สวนานนท์ อดีตสสร. 2550 และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต สสร.2540 ร่วมเสวนา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้


พงศ์เทพ เทพกาญจนา

เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่กำลังจะยกร่างน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด เพราะปี 2540 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากให้ผู้สมัครแต่ละจังหวัดเลือกกันเองจนเหลือ 10 คน แล้วให้สภาเลือกจนเหลือจังหวัดละคน

ส่วนปี 2550 มีสมัชชา 2,000 คน เลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกเหลือ 100 คน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อย่างน้อย สสร.ส่วนใหญ่ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ใครที่กลัวว่าวิธีนี้พรรคการเมืองจะเข้ามาครอบงำ แสดงว่าท่านไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตย

มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ จึงกำหนดให้มี สสร. คนเดียวเท่ากัน ทำไมไม่ใช่ระบบสัดส่วน ส่วนตัวมองว่า สสร.จะทำงานได้ดี ต้องมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไป

ถ้ามีจำนวนมากเท่า สส. ก็จะใช้เวลาทำงานมากขึ้นอีก ที่ผ่านมามี สสร.ประมาณ 100 คน ก็ทำงานคืบหน้า และกระชับเวลาดีพอสมควร หรือถ้าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่ควรเกิน 120-130 คน อีกส่วนที่หนักใจคือภาคของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกระบวนการสรรหาจะยุ่งยากมาก สสร. จะมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวก็เป็นไปได้ เพราะถ้าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถเรียกมาช่วยในฐานะคณะอนุกรรมการได้

ที่มีความกังวลว่าจะมีการครอบงำ สสร. นั้น อยากให้สังเกตดูว่า สสร.ปี 2540 ที่ตนเป็นอยู่ และสมาชิกรัฐสภามีบทบาทมากในการเลือกเข้ามา ก็ไม่ได้ถูกครอบงำ เพราะรัฐบาลในขณะนั้น คือพรรคความหวังใหม่ แกนนำหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการยกร่าง ส่วนสว. ที่ว่ากันว่ามีบทบาทมาก ร่างที่เราเสนอในขณะนั้นก็เปลี่ยนที่มาของ สว.จากแต่งตั้ง เป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่า แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาไม่สามารถครอบงำได้เลย ปัจจุบันยิ่งเป็นสว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งไม่ต้องกังวลเลย

ขอให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อครหาที่บอกว่ายกร่างเพื่อพรรคโน้นพรรคนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และสื่อมวลชนเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง ถ้ากระบวนการเป็นอย่างนี้ สุดท้ายก็จะได้รัฐธรรมนูญที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และเป็นรัฐธรรมนูญที่เรากลั่นกรองความคิดได้ดีที่สุดในระยะเวลาเช่นนี้

ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อของฝ่ายค้าน ตนรู้สึกแปลกใจที่มีการพูดถึงหมวดสถาบัน เพราะเข้าใจมาตลอดว่า สสร. ไม่ว่าชุดไหน ไม่คิดจะไปแก้ไขหมวดนี้เองอยู่แล้ว จึงรู้สึกว่าเป็นความพยายามใช้ประเด็นนี้ปรักปรำผู้อื่นมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องศาลและองค์กรอิสระ โดยหลักการแล้วควรมีการถ่วงดุล ตรวจสอบกันและกัน เมื่อรัฐบาลถูกตรวจสอบ สมาชิกสภาถูกตรวจสอบ องค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกตรวจสอบด้วย ขณะที่เรื่องการนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญปี 2550มาตรา 304 พูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมให้ผู้ก่อการยึดอำนาจ จึงไม่แน่ใจว่าทางฝ่ายค้านต้องการให้ยกเลิกมาตรานี้ หรือต้องการให้รับรองต่อไป

ที่มีการเสนอว่าควรจำกัดคุณสมบัติ สสร. ว่า ไม่ควรเป็นสมัครชิกพรรคการเมือง และไม่ควรเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารนั้น เห็นว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ไม่ควรมีใครถูกกีดกันออกจากกระบวนการยกร่าง น่าเสียดายถ้าจะมีการกีดกันคนเหล่านี้ เพราะคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีอยู่มาก และล้วนเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมือง ควรให้โอกาสเขาและประชาชนจะเป็นคนกลั่นกรองเอง

ส่วนเรื่องระยะเวลา เห็นว่าถ้าสั้นไปจะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ทั่วถึง จะเพิ่มจาก 180 วัน เป้น 210 หรือ 240 วัน ไม่มีปัญหา ถ้าคิดว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ถ้าเกินกว่านี้ก็ไม่จำเป็น


เดโช สวนานนท์

ไทยมี สสร. มาแล้วมากกว่า 3 ชุด ชุดแรกเมื่อปี 2492 ชุดที่ 2 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้นสสร. ชุดต่อไป จึงจะเป็นชุดที่ 5 ซึ่งควรจะเป็น สสร. ชุดสุดท้ายเสียที ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก คือ 18 ฉบับ สสร.ชุดใหม่ควรตั้งเป้าให้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างใหม่นี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสียที

สาเหตุที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาก เพราะมีการปฏิวัติกันมาก

ปฏิวัติครั้งหนึ่งก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เสมอ ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 14 ฉบับ มีแค่ 4 ฉบับเท่านั้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ เราน่าจะใส่กรอบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัดเจนว่า มีเจตจำนงที่ไม่ยอมรับการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ก็เขียนข้อนี้ไว้ ยุคนั้นเป็นยุคที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว และเป็นยุคที่มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ ถ้าไม่มีมาตรานี้ เขาก็นิรโทษกรรมกันทุกที

ส่วนเขียนแล้วจะมีประโยชน์จริงหรือ
ผมเห็นว่าอย่างน้อยก็ใส่ไว้เตือนสติ เดี๋ยวถ้าพอใจเหตุผล ทุกคนก็รับได้ปฏิวัติไม่ได้
ต้องเปลี่ยนเป็นไม่ให้มีเหตุผลใดสำหรับการปฏิวัติ ถ้าทำอย่างนี้ได้ รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจึงจะมีความหมาย กฎหมายข้ออื่นๆ ก็เช่นกัน ขอให้ระบุว่าแต่ละมาตรามีเจตนารมณ์อย่างไร เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่วินิจฉัยตามความต้องการของใคร

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่น่าสังเกตอีกอย่างคือเรื่องของเวลา ถ้าเร่งรัดเกินไปจะทำให้กระบวนการแปรญัติติเสียหาย ถ้าไม่ให้เวลาก็ไม่มีประโยชน์ ผมเคารพรัฐธรรมนูญปี 2540 มาก เพราะให้เวลา สสร. แปรญัติแบบไม่อั้น แต่ สสร.ปี 2550 กลับระบุว่า การแปรญัติมาตราใดๆ จะต้องมีผู้รับรอง 10 คน ทำให้แปรได้เพียง 7 ประเด็น จากกว่า 100 ประเด็น

มีคนพูดกันมากว่า ทำอย่างไรให้ สสร.ปลอดการเมือง ผมแปลกใจว่าทำไมต้องกีดกันนักการเมือง ถ้าเรากีดกันคนได้ 1 ประเภทแล้ว ก็ไม่รับประกันว่าจะมีการกีดกันคนประเภทอื่นๆ ต่อไปอีก สสร. 3 ถ้ามีการสมัคร ผมก็อาจจะพิจารณาลงสมัคร แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งผมไม่รับ

กระบวนการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ต้องเคารพ ที่บอกว่า สสร.จำเป็นต้องมีสัดส่วนของนักวิชาการด้วยนั้น ผมว่าไม่จริง เราควรมีนักวิชาการมาช่วยแปรญัติ แต่เรื่องความคิดพื้นฐานควรมาจากประชาชน และประชาชนไม่ได้โง่ อย่างไรก็ตามการกำหนดคุณสมบัติ ผู้สมัคร สสร. ไว้สูงยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมได้ แต่ก็ควรกำหนดไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าระดับใด

ทั้งนี้ไม่ควรห้ามคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมายุ่งกับรัฐธรรมนูญ เพราะองค์คุลีมาลยังกลับใจ คนที่ทำรัฐประหารแล้วกลับใจอยากเลือกตั้งก็มี ปล่อยให้บทเรียนของประชาธิปไตยสอนเขาดีกว่า อย่าไปกีดกัน แต่ว่าให้ลาออกจากตำแหน่งที่อยู่เสียก่อนเป็นสำคัญ

ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากความโปร่งใส สังเกตได้จาก สสร. ไม่มีการประชุมลับเลย แต่เปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตตลอด นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับผุ้นำ คือ ประธาน สสร. และประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องของเวลา เสนอให้ต่อเวลาได้ถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะครั้งละ 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ถ้าร่างได้ภายใน 180 วันก็ถือว่าดีไป


คณิน บุญสุวรรณ

เห็นด้วยที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย แต่ละฉบับที่เกิดจากการรัฐประหารสร้างความเสียหายใหญ่หลวงมาก สิ่งที่อยากเสนอ คือ

1. ที่มาขององค์กรร่าง ตั้งแต่มี สสร.มา ปี 2540 ชอบธรรมที่สุด แต่ยังไม่พอ เพราะที่มาต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม คือทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง

2. กระบวนการยกร่างต้องเป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระ ไม่เฉพาะจากพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเป็นอิสระจากระบบราชการและระบบศาลด้วย

3.โครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ต้องแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน เป็นอิสระ และถ่วงดุลกันได้ และต้องยึดโยงกับประชาชน

4.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และผู้อยู่เบื้องหลัง ต้องไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน

5.การมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเริ่มตั้งแต่ที่มาของ สสร. และการมีส่วนร่วมต้องเป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่ระยะเวลาแปรญัติต้องมากพอ เพราะ สสร. ไม่ได้เอาความคิดของตัวเองมาแปร แต่เป็นตัวแทนเอาความคิดประชาชนมาเสนอ คิดว่า 240 วัน ยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ

6. เห็นด้วยกับการบัญญัติเรื่องห้ามกระทำปฏิวัติรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับต่อจากนี้ไปต้องมีภูมิต้านทานรัฐประหาร

ส่วนตัวเห็นว่า ทั้ง 3 ร่างที่ผ่านสภาไปแล้ว ร่างของรัฐบาล มีที่มาขององค์ร่างเหนือว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่ที่แตกต่างกันคือร่างของรัฐบาลไม่ได้กำหนดว่า ผู้สมัคร สสร. ต้องจบปริญญา ซึ่งเป็นร่างที่ก้าวหน้าที่สุด เพราะจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมว่าเขาเองเป็นเจ้าของประเทศ

แต่การกำหนดให้มี สสร. จังหวัดละ 1 คน นั้นขัดต่อหลักนิติธรรม ต้องเอาจำนวนประชากรเป็นหลัก มิฉะนั้นจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในเมืองใหญ่ เพราะผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็อยู่ในเมืองใหญ่ และการให้มี สว.จังหวัดละ 1 คน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ

ถ้าจะมีการห้ามคุณสมบัติต่างๆ ของ สสร. ควรห้ามเฉพาะคน 2 กลุ่ม ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง คือ 1. สส. สว. ข้าราชการการเมือง และ 2. ข้าราชประจำ ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี แต่ท่านเป็นคนที่มีส่วนได้เสีย ส่วนสมาชิกพรรคการเมืองธรรมดา ไม่ควรจะไปจำกัด

ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัจจัยสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะสมาชิกสภา หลุดพ้นจากพันธะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยรัฐบาล ทำให้สมาชิกสภาหลุดพ้นจากพันธะนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า สสร. ร่างแล้วต้องส่งให้สภาพิจารณาก่อน แต่ที่รัฐบาลนี้เสนอคือ สสร. ร่างแล้วยกไปให้ประชาชนพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องผ่านสภา สภาจึงหลุดพ้นจากข้อครหาใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนเรื่อง สสร.ผู้เชี่ยวชาญก็สร้างปัญหาให้มาก ไม่ต้องห่วงว่า สสร.จะขาดผู้เชี่ยวชาญ ถ้ากติกาดีจะมีผู้เชี่ยวชาญไปร่วมลงสมัคร สสร.แน่นอน และถ้า สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็จะพ้นจากข้อครหาใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำว่าควรให้การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของ สสร. ประชาชน และสื่อมวลชน อย่าให้มีการเมืองเข้าไปยุ่งเลย

ประการสุดท้าย ไม่ควรให้ สสร. สิ้นสลายไปเลยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เพราะคนที่มาใช้อำนาจตีความบังคับใช้รัฐธรรมนูญจะเป็นคนใหม่ทั้งสิ้น หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ขอเวลาให้ สสร. เดินสายชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ถึงบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก่อน



.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "หมิ่นศาล"

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หมิ่นศาล
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ผมคิดว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายที่เรียกกันว่า "หมิ่นศาล" บางคนไปคิดว่ากฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษา บางคนไปคิดว่ากฎหมายนี้ให้อภิสิทธิ์แก่บุคคลที่มีอาชีพเป็นผู้พิพากษา บางคนเชื่อว่าขึ้นศาลต้องผูกเนกไท แม้แต่คนที่เป็นผู้พิพากษาเอง ก็อาจเข้าใจผิดได้ ดังเช่นมีข่าวหนังสือพิมพ์หลายปีมาแล้วว่า ผู้ประกอบอาชีพนี้ท่านหนึ่งในจังหวัดสงขลา เกิดเหตุพิพาททางจราจรกับผู้ขับรถยนต์อีกท่านหนึ่ง ในการทุ่มเถียงกันนั้น ผู้มีอาชีพเป็นผู้พิพากษาขู่คู่กรณีในถนนว่า ตัวเขาเป็นผู้พิพากษา หากล่วงเกินด้วยวาจาก็จะโดนคดีหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง

ในฐานะคนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเลย ผมจึงอยากทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ เพราะความเข้าใจอื่นๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดนั้น บั่นรอนหลักการประชาธิปไตย ซึ่งผมเห็นว่าย่อมเป็นไปไม่ได้


กฎหมาย "หมิ่นศาล" ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 อยู่ในลักษณะความผิดที่เรียกว่า "ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม" และในหมวดที่ 1 ว่าด้วยความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม รวมความผิดเช่น ให้การเท็จ ฟ้องเท็จ ฝ่าฝืนคำพิพากษาด้วยประการต่างๆ เป็นต้น ความผิดอื่นในหมวดเดียวกันนี้ ย่อมสะท้อนเจตนารมณ์ของ ม.198 ให้เห็นได้ ความของ ม.198 ก็คือ

"ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษ..."

เห็นเจตนารมณ์ได้ชัดเจนว่า กฎหมายมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายจะพิทักษ์ปกป้อง กระบวนการ พิจารณา พิพากษาคดี ให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย คำว่า สงบเรียบร้อยที่ผมใช้ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องนั่งพับเพียบหมดนะครับ แต่หมายความว่าทำให้กระบวนการแห่งการพิจารณาพิพากษา สามารถดำเนินไปจนผู้พิพากษาพอจะจับความจริงจากทุกแง่มุมได้หมด และสามารถประเมินได้ว่า จำเลยทำผิดกฎหมายจริงหรือไม่ จึงจะสามารถให้คำพิพากษาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้

ฉะนั้น หากจำเลยลุกขึ้นด่าแม่หรือเถียงพยานโจทก์ที่กำลังให้การอยู่ด้วยเสียงอันดังตลอดเวลา แม้ไม่ได้ละเมิดผู้พิพากษาด้วยวาจาแต่ประการใด ก็อาจถือว่า "หมิ่นศาล" ได้ ถ้าผู้พิพากษาได้สั่งให้เงียบแล้วไม่ยอมเงียบ (น่าสังเกตด้วยว่า กฎหมายใช้คำว่า "หมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา" แปลว่าสองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ศาลรวมทุกอย่างนับตั้งแต่ตัวจำเลยเองไปจนถึงทนายทั้งสองฝ่ายและพยานทั้งสองฝ่าย และแน่นอนตัว ผู้พิพากษาด้วย ทุกคนต้องสามารถทำหน้าที่ของตนได้โดยสะดวกใจ นับเป็นส่วนสำคัญของ "กระบวนการ" ที่จำเป็นในการพิจารณาพิพากษาคดีตามระบอบประชาธิปไตย)

เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว ท่านจึงให้อำนาจ ผู้พิพากษาในคดีนี้ไว้เป็นพิเศษ คือสามารถ "สั่ง" (ซึ่งบางกรณีหมายถึงการลงโทษจำขังหรือปรับ) ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติในการนำคดีขึ้นสู่ศาล (จากตำรวจถึงอัยการถึงศาล) เพราะผู้พิพากษามีหน้าที่ในการรักษาให้กระบวนการพิจารณาและ พิพากษาดำเนินไปได้โดยยุติธรรม จึงต้องมีอำนาจพิเศษตรงนี้

ดังนั้นการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว ต้องคิดให้รอบคอบว่า การกระทำของบุคคลนั้นๆ ไปขัดขวางกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่เพียงไม่ชอบการกระทำนั้นๆ เท่านั้น เพราะ "หมิ่นศาล" ไม่ได้หมายถึงหมิ่นตัวผู้พิพากษา



ความต่อมาในกฎหมายที่ว่า "กระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล" ตอกย้ำว่ากฎหมายต้องการให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาสามารถดำเนินไปจนบรรลุเป้าหมายอันเป็นอุดมคติให้ได้มากที่สุด

นั่นคือความจริงและความยุติธรรม

แต่ความตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าการลุกขึ้นด่าแม่พยานหรือผู้พิพากษา เพราะการกระทำหลายอย่างอาจเป็นการ "ขัดขวาง" กระบวนการได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เช่นเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดี แต่ตดเหม็นมากทุก 3 นาที ตลบอบอวลไปทั้งห้องพิจารณา ผู้พิพากษาอาจขอให้ผู้นั้นออกจากห้องพิจารณาคดีเสีย (แม้ว่าเขามีสิทธิที่จะนั่งฟัง เพราะการพิจารณาคดีในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นการพิจารณาเปิด คือไม่แอบทำในห้องลับ) แต่เพื่อเคารพต่อสิทธิของเขา จึงจะถ่ายทอดเสียงให้เขาไปฟังในที่โล่งคนเดียว

โดยไม่ได้เจตนา บุคคลผู้นั้นขัดขวางกระบวนการ พิจารณาพิพากษาคดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องมันไม่ง่ายเพียงแค่นี้ แต่ไปกระทบกับพฤติกรรมอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณา พิพากษาคดีได้อีกหลายอย่าง

ทำไมถึงต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ที่จริงเรียบร้อยในที่นี้ไม่เกี่ยวกับเนกไท แต่ต้องทำให้คนอื่นในห้องไม่เสียสมาธิในการพิจารณาพิพากษา เช่นโป๊เกินไป หรือเหม็นเกินไป หรือดูน่ากลัวเกินไป (สวมแว่นดำหรือพกปืนอันเป็นเครื่องแบบของมาเฟีย เป็นต้น) แต่มาตรฐานความเรียบร้อยในการแต่งกายเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัญหามาอยู่ที่ว่าผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการรักษาระเบียบในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี จะตามทันความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ หากเคร่งครัดตามแบบแผนเก่าอย่างไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงเลย ก็อาจทำให้ห้องพิจารณาคดี รวมทั้งผู้พิพากษาเอง "ศักดิ์สิทธิ์" เกินไป อันเป็นบรรยากาศที่ไม่เหมาะแก่การดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อบรรลุความยุติธรรมได้เหมือนกัน

ผมเคยขึ้นศาลหนเดียวในชีวิต ในฐานะพยานจำเลย และได้พบว่าแบบธรรมเนียมต่างๆ ของการเข้าไปในห้องพิจารณาพิพากษาคดี ตามที่ทนายสรุปให้ฟังก่อนเข้าห้อง ดูจะเป็นแบบธรรมเนียมโบราณ คงจะใช้กันมาตั้งแต่เราเริ่มมีระบบศาลยุติธรรมในรัชกาลที่ 5 และในปัจจุบันก็ไร้ความหมายไปหมดแล้ว แบบธรรมเนียมที่ใช้ผิดยุคผิดสมัยเช่นนี้ ทำให้ทุกคนรู้สึก "ระย่อ" ไปหมด และเจ้าความ "ระย่อ" นี้เองที่ผมเห็นว่าขัดขวางกระบวนการเสียยิ่งกว่าการนุ่งกางเกงขาสั้นเสียอีก

ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของศาลนั้นต้องมีแน่ แต่ไม่ใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้พิพากษา หากเป็นเพราะศาลคือส่วนสำคัญของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย อันเป็นอำนาจสูงสุด

การทำให้อำนาจส่วนนี้ของปวงชนชาวไทย ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม หรือ เป็นที่ระแวงสงสัยว่าเป็นอำนาจที่ถูกฉ้อฉลได้โดยง่ายก็ตาม อำนาจนี้ก็ขาดความศักดิ์สิทธิ์ และอาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างใหญ่หลวง


ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำนอกห้องพิจารณาคดีจะถือว่าเข้าข่ายมาตรานี้หรือไม่ ผมคิดว่ามีเหมือนกันที่เข้าข่าย แต่ไม่สู้จะมากนัก เช่นพ่อของจำเลยประกาศแก่สาธารณชนว่า หากลูกของเขาถูกพิพากษาประหารชีวิต ผู้พิพากษาก็จะถูกเขาพิพากษาอย่างเดียวกัน ผมคิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างแน่นอน ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ ย่อมมีความกลัวเป็นธรรมดา การข่มขู่เอาชีวิตผู้พิพากษาจึงอาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีให้บิดเบือนไปได้ แม้แต่ผู้พิพากษาที่ไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ แต่พิพากษาไปตามเนื้อผ้ายกฟ้องจำเลย สาธารณชนก็อาจระแวงสงสัยต่อ "กระบวนการ"ได้ ไม่เป็นผลดีแต่อย่างไรต่ออำนาจตุลาการ

ตรงกันข้าม หลังจากที่ผู้พิพากษาได้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยซึ่งเป็นลูกไปแล้ว ในเวลาต่อมาพ่อจำเลยได้พบบุคคลซึ่งเป็นผู้พิพากษากลางตลาด และตะโกนให้ของลับแก่ผู้พิพากษา พ่อของจำเลยทำผิดกฎหมายแน่ แต่ไม่ใช่มาตรา 198 เพราะการกระทำของเขาไม่ได้ขัดขวางกระบวนการพิจารณา พิพากษาแต่อย่างใด



คราวนี้มาถึงประเด็นที่พูดกันมาก นั่นคือเรา วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้หรือไม่ หลักการที่มักพูดกันก็คือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตราบเท่าที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ ผมไม่สู้จะเห็นด้วยกับหลักการนี้นัก เพราะเท่ากับปิดปากคนไปกว่า 99% ของประเทศ (เพราะแม้แต่นักวิชาการอื่นที่ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ก็อาจพูดอะไรไม่ "มีเหตุมีผล" ทางวิชาการไปได้ด้วย)

ความมีเหตุมีผลนั้น ไม่ได้มีอยู่อย่างเดียว ฉะนั้น นักวิชาการจะผูกขาดการตราว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรไม่ใช่แต่เพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ ถึงที่สุด แล้วระบบเหตุผลทุกชนิดก็ไปสิ้นสุดลงที่สมมติฐานบางอย่างซึ่งตกลงรับร่วมกันเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือความเชื่อแหละครับ

ยิ่งกว่านี้ในฐานะที่เคยทำอะไรที่เรียกกันว่า "วิชาการ" มาบ้างนิดๆ หน่อยๆ ผมพบว่าระบบเหตุผลที่ผมใช้นั้น ก็หาได้แตกต่างจากระบบเหตุผลของช่างตัดผมไม่ หากวิชาการมีระบบเหตุผลที่ไม่อาจสื่อกับช่างตัดผมได้ วิชาการมีปัญหาแล้วล่ะครับ เพราะอยู่ไปก็รุงรัง

ผมจึงเห็นว่า ใครๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ ตามเหตุผลของตนเองซึ่งอาจไม่ตรงกับนักวิชาการก็ได้ ตราบเท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ได้ปั้นแต่งข้อเท็จขึ้นมาเป็นข้อจริง เพราะการกระทำเช่นนั้นย่อมบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการพิจารณา พิพากษาคดี และตราบเท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ได้มีเจตนาจะทำให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่ใช้ในระบบยุติธรรมของไทยไม่เป็นที่น่าไว้วางใจลงทั้งหมด

หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนของกระบวนการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงย่อมทำได้ เพราะเจตนาก็เห็นชัดอยู่แล้วว่ายังศรัทธาต่อกระบวนการทั้งหมดอยู่

ประเด็นสำคัญคือต้องดูที่เจตนาครับ เหมือนความผิดในกฎหมายอาญาส่วนใหญ่ก็ต้องดูที่เจตนา (ทั้งในตัวบัญญัติและในการกระทำของจำเลย)

การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาทั้งในทางวิชาการและโดยคนธรรมดานั้น ทำได้และพึงทำอย่างยิ่งด้วย ไม่ควรทำให้กฎหมาย "หมิ่นศาล" คลุมเครือจนอำนาจตุลาการกลายเป็นอำนาจอิสระ จนหลุดลอยออกไปจากอธิปไตยของปวงชนชาวไทย



.

นามนั้นสำคัญไฉน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นามนั้นสำคัญไฉน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 30


หนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีชื่อฉบับหนึ่ง เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะเรียกชื่อประเทศพม่าว่าเมียนมาร์ตามที่รัฐบาลพม่าได้ประกาศเปลี่ยนชื่อไปนานแล้ว

เหตุผลที่เขาอธิบายไว้ก็คือ คำว่าพม่า (Burma) ในภาษาอังกฤษ มีความหมายแฝง (loaded) มากกว่าคำว่าเมียนมาร์ เพราะตอนที่รัฐบาลทหารประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น โลกตะวันตกกำลังต่อต้านรัฐบาลนั้น จึงไม่ยอมเปลี่ยนตาม ความหมายแฝงของคำว่าพม่าจึงชัดเจนว่า รัฐชนิดที่รัฐบาลทหารสร้างขึ้นนั้น ไม่ควรเป็นที่ยอมรับ

อันที่จริงคำว่าเมียนมาร์เองก็มีความหมายแฝงไม่น้อยไปกว่าคำว่าพม่า คำนี้ไม่ใช่คำใหม่อะไร ตรงกับคำไทยที่ใช้กันในวรรณคดีว่า "มรัมมะประเทศ" มีความหมายถึงดินแดน ไม่ใช่ราชอาณาจักร เพราะชื่อของราชอาณาจักรก็เหมือนธรรมเนียมไทย คือใช้ชื่อของราชธานี เช่น กรุงรัตนบุระอังวะ เป็นต้น และคำนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่าพม่าในภาษาไทย หรือ Burma ในภาษาอังกฤษ

การย้อนกลับไปใช้ชื่อเก่าที่ออกเสียงตามเสียงของชาวพื้นเมือง แฝงความหมายว่ารัฐบาลที่นั่นไม่ต้องการใช้ชื่อประเทศตามสำเนียงของเจ้าอาณานิคม เพราะรัฐบาลทหารพม่าสร้างภาพว่า ประเทศของตนกำลังถูกเบียดเบียนด้วยประการต่างๆ จากเจ้าอาณานิคมเก่ากับพรรคพวก ชื่อเมียนมาร์จึงเป็นการประกาศอิสรภาพครั้งที่สองจากเจ้าอาณานิคม

ในขณะเดียวกัน การเอาชื่อดินแดนมาเป็นชื่อรัฐ ก็เท่ากับประกาศด้วยว่า ระหว่างการเป็นสหพันธรัฐกับการเป็นรัฐเดี่ยวนั้น รัฐบาลทหารเลือกจะเป็นรัฐเดี่ยว ฉาน, มอญ, คะฉิ่น, กะเหรี่ยง, ยะไข่ ฯลฯ ล้วนเป็นพลเมืองของรัฐเดี่ยวนี้เหมือนๆ กัน (แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่เท่าๆ กัน) เพราะเป็นคนที่อยู่ในดินแดนนี้เหมือนกัน



ผมเองก็ถือแบบปฏิบัติเหมือนหนังสือพิมพ์ฝรั่ง คือไม่ยอมเปลี่ยนไปเรียกชื่อประเทศว่าเมียนมาร์ แต่ยังคงเรียกว่าพม่าตลอดมา ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลคนละอย่างกับฝรั่ง

ผมคิดว่าผมโชคดีที่เกิดมาในภาษาที่ไร้ความสำคัญอะไรในโลก และยังโชคดีที่ไม่ต้องเขียนอะไรที่แสดงจุดยืนของประเทศไทย ภาษาไทยรู้จักดินแดนนี้มาแต่โบราณว่าพม่า ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลไปอย่างไร ก็ยังเป็นพม่าที่เรารู้จักอย่างสืบเนื่องมาแต่โบราณ จะมีชื่อใหม่ว่าอะไร เราก็เรียกอย่างที่คนไทยทั่วไปรู้จักได้เหมือนเดิม

อย่างเดียวกับที่เราเรียกฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน, ฯลฯ อย่างที่เคยเรียกกันมาแต่โบราณ

ก่อนหน้าที่ประเทศลาวจะกลายเป็น สปป. ฝรั่งเรียกลาวว่า Laos เพราะประเทศนั้นประกอบด้วยราชอาณาจักรลาวถึงสามราชอาณาจักรรวมกัน แต่เราก็ยังเรียกลาวว่าลาว ไม่ใช่ลาวทั้งหลายหรือลาวส์ แต่เมื่อกลายเป็น สปป. เขาก็เปลี่ยนเป็น Lao เฉยๆ ซึ่งมีความหมายแฝงแน่นอน นั่นคือ สปป.ลาวได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ไม่รับมรดกของราชอาณาจักรทั้งสามและมรดกของยุคอาณานิคมอีกต่อไป

ผมยกเว้นให้แต่ชื่อของประเทศที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น หลายรัฐในแอฟริกาและละตินอเมริกา ก็เมื่อไม่รู้จักก็ไม่มีชื่อเดิมให้เรียก หรือยกเว้นให้แก่ดินแดนที่เราเคยรู้จัก แต่บัดนี้กลายเป็นรัฐใหม่แล้ว เช่น แคว้นเบงกอลหรือบังกลาหรือกุลาในภาษาไทยเดิม บัดนี้กลายเป็นรัฐใหม่ชื่อบังกลาเทศ ก็ต้องเรียกรัฐนั้นว่าบังกลาเทศ ขืนไปเรียกประเทศบังกลาก็อาจทำให้คนอื่นไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้น หลักเกณฑ์อีกอย่างที่ผมยึดถือก็คือเรียกชื่อที่คนอื่นรู้เรื่องในภาษาไทย



ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องชื่อประเทศนั้นเป็นกรรมของภาษาอังกฤษ เพราะเมื่ออยากเป็นภาษากลางของโลก ใครเปลี่ยนชื่อประเทศ ก็ต้องกำหนดไว้ในภาษาอังกฤษ กลายเป็นปัญหาแก่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า จะใช้ชื่อใหม่หรือชื่อเก่าดี แต่ปัญหาอย่างนี้ไม่น่าจะมีในภาษาไทยและภาษาสวาฮิลี เราเคยเรียกมาอย่างไร ก็เรียกไปอย่างนั้น

ถึงอย่างไร ชื่อต่างๆ ก็ล้วนมีความหมายแฝงทั้งนั้น บางทีก็ตั้งใจให้มี บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจ ขึ้นชื่อว่าภาษาของมนุษย์ จะไม่ให้มีความหมายแฝงเลย เราก็ไม่มีวรรณคดีสิครับ

และเพราะความหมายแฝงนี่แหละครับ ที่ทำให้ปัญหามันยุ่งยากในการตัดสินมากขึ้น

ความหมายที่แฝงอยู่ในชื่อเก่าๆ ที่เราเคยใช้กันมาในทุกภาษา มันมีความทรงจำ, ความรู้สึก, และความรู้บางอย่างที่แฝงอยู่ในนั้นด้วย และความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้นี่แหละครับ ที่อาจไปกำหนดทัศนคติของเราที่มีต่อปัจจุบันด้วย บางครั้งก็กำหนดไปในทางดี บางครั้งก็กำหนดไปในทางไม่ดี

หากเราเรียกเมืองทวายว่าทะวอย เรียกเมืองตะนาวศรีว่าเทนแนสเซอริม (อย่างที่ผมเคยได้ยินจากทีวีบางช่อง) คนไทยพลัดถิ่นซึ่งอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ก็ดูเป็นคนแปลกหน้าซึ่งไม่น่าจะได้สิทธิพิเศษอะไรในการแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่หากเราเรียกชื่อเดิม ความรู้สึกที่มีต่อพวกเขาก็น่าจะเปลี่ยนไป กลายเป็นพี่น้องที่ตกระกำลำบากเพราะผลของระบบจักรวรรดินิยมเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ชื่อมะระแหม่ง, เมาะตะมะ, เมาะลำเลิง ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่าคนมอญกับเราก็ญาติๆ กันนั่นแหละ แต่โมลเมน และมะตะบัน ทำให้รู้สึกว่ามอญเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้

ชื่อพม่านั้น หากหลังหัวเรามีคำว่า "ข้าศึก" ต่อท้ายอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะมองเห็นพระพุทธศาสนาและประชาชนผู้มีคุณสมบัติดีๆ ที่น่าคบหา ก็มองเห็นแต่ความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมซึ่งเราต้องซ่อนมีดไว้ข้างหลังในการจับมือกันทุกครั้งไป แต่ชื่อพม่าเดียวกันนี้แหละ เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์มุเตา, พระธาตุอินทร์แขวน และพระมหาเจดีย์ชเวดากอง อันล้วนเป็นพุทธเจดีย์ที่คนไทยสมัยหนึ่ง อยากได้ไปกราบไหว้บูชา

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ยังเป็นดินแดนที่แพร่พระพุทธศาสนานิกายภุกามเข้ามาในบางส่วนของเราด้วย


เมืองบัตตัมบอง เป็นเมืองในกัมพูชาที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา แต่เมืองพระตะบองนั้น มีตำนานที่เชื่อมโยงอีสานแถบนครพนม, ลาวแถบเวียงจันทน์ และบางส่วนของกัมพูชาเข้าหากันหมด เตือนให้เราระลึกได้ว่า เส้นเขตแดนระหว่างสามประเทศซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ น่าจะไร้ความหมายแก่คนทั้งสามประเทศที่ยังธำรงความทรงจำบางอย่างร่วมกัน

เมืองกึงตั๋งไม่เหมือนเมืองกว่างโจว เพราะกึงตั๋งเป็นแหล่งที่สำเภาจากเมืองไทยเคยนำสินค้าออกขาย และกว้านซื้อสินค้าที่ต้องการลงสำเภากลับเมืองไทย เตือนให้เรารำลึกได้ว่า จีนไม่ได้เพิ่งเป็น "ตลาด" หลักของไทยหลังกลับมาเปิดประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงอย่างไรจีนที่ใหญ่โตเทอะทะมาแต่โบราณนี้ ก็ต้องเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาจึงมาอยู่ที่เราจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่เป็นนักเลงใหญ่นี้ได้อย่างไร ไม่ติดอยู่เพียงแค่จะทำเงินด่วนจากมหาอำนาจนี้ได้อย่างไรเท่านั้น

เช่นเดียวกับเอ้หมึงกับเซียะเหมิน ชื่อหลังคือเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ในนั้นคงมีการแข่งขันกันของธุรกิจจากหลายชาติหลายภาษา ซึ่งยากที่ไทยจะเข้าไปแข่งด้วยได้ แต่ถ้าเรียกเอ้หมึง ดูเราจะคุ้นเคยเสียจนไม่หวั่นกับการแข่งขันของใคร เพราะสำเภาจากไทยเคยทำการค้าที่นี่ ทำโดยเปิดเผย เมื่อจักรพรรดิจีนอนุญาตให้ทำ และลักลอบทำ ถ้าจักรพรรดิไม่อนุญาต ก็แถวหลังบ้านเรานี่เอง

เกาะลูซอนในฟิลิปปินส์ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจนไม่เป็นที่รู้จัก ในแผนที่เก่าของไทยเรียกว่า "ลือซ่ง" ไต้หวันคือ "ไท้วันฮู" (คงจะเป็นโจ่วภาษาจีนซึ่งแปลว่าจังหวัด) เช่นเดียวกับ "เตียจิวฮู" เมืองนานกิงก็ปรากฏในแผนที่เรียกว่า "นำเกีย"

อินเดียยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเราน่าจะรู้จักมาอย่างดีแต่ดึกดำบรรพ์ ฝั่งตะวันออกของอนุทวีปซึ่งบางทีคนไทยก็เรียกตามฝรั่งว่าฝั่งโคโรแมนเดล คำนี้คือโจฬมณฑลซึ่งติดต่อสัมพันธ์กับไทยมามากแต่โบราณ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียเปลี่ยนชื่อเมืองต่างๆ ที่คนไทยเคยรู้จักดี กลับไปใช้ภาษาพื้นเมืองหมด เช่นบอมเบย์กลายเป็นมุมไบ แต่ก็ยังมีอีกหลายชื่อซึ่งเป็นที่คุ้นเคยพอสมควรในเมืองไทยอยู่แล้ว ยังคงใช้ชื่อเดิมซึ่งสามารถออกเสียงเป็นไทยได้ (หลายชื่อปรากฏในชาดกเป็นประจำ) เช่น เมืองพาราณสี ไม่ใช่เบนาเรส, ราชวงศ์กุษาณะ ไม่ใช่กุชาน, แคว้นพิหาร ไม่ใช่บีฮาร์, เมืองมัทราสไม่ใช่มะดราส,

เลยไปถึงเมืองคันธาระในอัฟกานิสถาน ไม่ใช่กันดาฮาร์ ฯลฯ



การเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งคนไทยเคยรู้จักมาอย่างดีด้วยสำเนียงฝรั่ง จึงเท่ากับตัดขาดจากความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้ที่สังคมของเราเคยมีมาทั้งหมด

ผมก็ไม่ปฏิเสธนะครับว่า ความทรงจำ, ความรู้สึก และความรู้ของเราที่ติดอยู่กับชื่อเก่าๆ เหล่านั้น ไม่จำเป็นว่าจะให้แต่สิ่งดีๆ เสมอไป ให้ความเคียดแค้น, การเหยียดหยาม และความชิงชังก็มีเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า คำอะไรๆ ในโลกนี้ล้วนมีนัยยะบางอย่างแฝงอยู่มากกว่าความหมายเฉพาะทั้งนั้น

นัยยะทั้งหลายที่แฝงอยู่นี้ ตัวคำไม่ได้สร้างขึ้น สังคมเป็นคนยัดมันลงไปในคำนั้นๆ เอง

ผมจึงตัดสินไม่ได้หรอกครับว่า เราควรรักษาชื่อโบราณเหล่านั้นเอาไว้ เพื่อให้เกิดความสืบเนื่อง หรือควรเปลี่ยนเรียกตามฝรั่ง ซึ่งไม่ค่อยมีความหมายแฝงในวัฒนธรรมไทยดี

ผมชอบชื่อโบราณโดยไม่ได้มีเหตุผลดีวิเศษอย่างไร นอกจากว่าผมแก่และชอบอะไรเก่าๆ เท่านั้น



.

2555-02-27

มุกดา: ระเบิดที่กรุงเทพฯ สะเทือนถึงอ่าวเปอร์เซีย และถังน้ำมันของรถทุกคัน

.

ระเบิดที่กรุงเทพฯ สะเทือนถึงอ่าวเปอร์เซีย และถังน้ำมันของรถทุกคัน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 20


ในท่ามกลางความขัดแย้ง มีหลายเรื่องที่เป็นข่าวอยู่ แต่มีบางเรื่องที่อาจปะทุแตกขึ้นมาก่อน และบางเรื่องก็อาจจะแก้ไขไม่ได้กลัดหนองอีกนานนับปี

แต่ทุกเรื่องเป็นความขัดแย้งกันตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น เช่น กรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ที่เข้าใจและเขียนเตือนเรื่องนี้ได้ดีมากคือ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ควรไปหาอ่านอย่างละเอียด แต่ทุกฝ่ายคงต้องใช้เวลาสู้กันทางความคิดอีกนาน

เรื่องที่มีโอกาสปะทุก่อน คือวิกฤติน้ำมัน นักวิเคราะห์หลายค่ายคาดว่าจะตามมาหลังเหตุระเบิดที่สุขุมวิท เพราะแรงระเบิดสะเทือนไปถึงอ่าวเปอร์เซีย

แม้ประเทศไทยจะพยายามปลีกตัวออกจากความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลและอเมริกา แต่ถ้าความขัดแย้งถึงจุดระเบิด แม้ไทยจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็ต้องได้รับผลสะเทือนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้รัฐบาลทำถูกต้องแล้ว ที่สนใจปัญหาใหญ่ 2 เรื่องคือวิกฤติ (ราคา) น้ำมันสูง และวิกฤติ (ระดับ) น้ำสูง


ส่วนฝ่ายค้านจะสนใจเรื่องนายกรัฐมนตรีจะไปคุยกับใคร กินข้าวที่ไหน แต่งชุดสีอะไรก็พอเข้าใจวิสัยทัศน์ของคนกลุ่มนี้ได้เมื่อติดตามรายการสายล่อฟ้า

แต่คนไทยควรติดตามเรื่องที่รัฐบาลเตรียมการแก้ไขว่าจะมีน้ำยาหรือไม่ เพราะสภาพภูมิอากาศในปีนี้เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากทั่วทั้งโลก ดังนั้น สิ่งที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ทุกคนต้องไม่ประมาท วิกฤติน้ำสูงก็ยังมีโอกาสเกิดได้แม้พยายามป้องกันแล้ว เรื่องนี้จะพูดถึงในโอกาสต่อไป

แต่เรื่องด่วนวันนี้คือความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งถูกลากเข้ามาระเบิดในบ้านเมืองเราแล้ว และมีแนวโน้มจะแตกหักในเร็ววันนี้


สาเหตุของการระเบิด
มาจากการสกัดกั้นการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน

เรื่องการระเบิดในกรุงเทพฯ ต้องย้อนกลับไปดูอดีต 10 ปีที่ผ่านมา จึงรู้ว่าสาเหตุสำคัญจากการที่อิสราเอลและอเมริการะแวงว่าการพัฒนานิวเคลียร์ในอิหร่านจะไม่ใช่ปรมาณูเพื่อสันติ แต่เป็นการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ ถ้าอิหร่านทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นเหมือนกับเกาหลีเหนือซึ่งทุกวันนี้อเมริกาก็ทำอะไรไม่ได้

ส่วนอิสราเอล ซึ่งมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่แล้วก็กลัวว่าจะถูกอิหร่านโจมตีด้วยนิวเคลียร์ อิสราเอลไม่ต้องการแลกหมัดแบบต่างฝ่ายต่างเสียหายแต่ต้องการความได้เปรียบอย่างเด็ดขาด

ดังนั้น อิสราเอลจะทำทุกทาง เพื่อขัดขวางการพัฒนานิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน

ที่จริงเรื่องนี้อิหร่านทำมานานแล้วแต่เพิ่งมาเปิดเผยในปี 2546 และยอมรับว่าไม่ได้รายงานให้สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ...IAEA) ให้รับรู้มาก่อน

เมื่อ IAEA และประเทศตะวันตกขอร้องให้ระงับโครงการนี้ อิหร่านก็ไม่สนใจ อ้างว่าต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ในเวลานั้นไม่เพียงอิสราเอลที่มีหัวรบนิวเคลียร์ ปากีสถานและอินเดียก็กำลังพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์เช่นกัน ไม่ต้องนับถึงมหาอำนาจที่มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่มากมาย

ต่อมาเมื่อเห็นอิรักถูกบุก บ่อน้ำมันถูกยึดไปต่อหน้าต่อตา อิหร่านยิ่งต้องหาวิธีปกป้องบ่อน้ำมันของตนเอง


ระเบิด...ใครเป็นคนทำ?
และใครบงการ?

วันนี้มีเสียงโวยวายมาจากอเมริกาและอิสราเอลว่า อิหร่านเกี่ยวข้องกับการระเบิดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ทั้งที่อินเดีย จอร์เจีย และประเทศไทย โดยคาดว่าเป็นฝีมือ หน่วยคุดส์ ของอิหร่านเพราะต้องการสังหารนักการทูตอิสราเอลเพื่อล้างแค้นให้นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ถูกลอบสังหาร เสียชีวิตไปสามคน บาดเจ็บสาหัส 1 คน ซึ่งอิหร่านระบุว่าเป็นฝีมือของหน่วยมอซสาสของอิสราเอล

สำหรับเหตุระเบิดที่เกิดในประเทศไทย ผู้วิเคราะห์ไม่กล้าสรุปว่าเป็นฝีมือของใคร? เพราะ...

1. แม้มือระเบิดจะถือพาสปอร์ตของประเทศอิหร่านทำให้เชื่อได้ว่าคนเหล่านั้นมีสัญชาติอิหร่านแต่รัฐบาลอิหร่านปัจจุบันมีศัตรูในประเทศเยอะมาก จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าใครเป็นผู้บงการคนเหล่านั้น

2. เรื่องที่เกิดขึ้นเรียงไปตามบทง่ายเกินไป เริ่มตั้งแต่อเมริกาประกาศเตือนเรื่องการระเบิดในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดการระเบิดขึ้น มีคำถามตามมาเช่น บ้านระเบิดพังไปทั้งหลังแต่ทำไมทุกคนจึงสะพายเป้เดินออกมานอกบ้านได้ มีคนบาดเจ็บเล็กน้อยเพียงคนเดียว ซึ่งออกมาขว้างระเบิดต่ออีกสองลูกใส่แท็กซี่และตำรวจจนตัวเองขาขาด

หนังตัวอย่างที่อเมริกาฉายให้ดู เมื่อหลายวันก่อนก็มาเกิดขึ้นจริง แต่ผู้ร้ายไม่ได้วางระเบิดที่ไหน ถูกผีบ้านผีเมืองดลบันดาลให้เกิดระเบิดขึ้นเองและถูกจับในที่สุด

เรื่องนี้อิหร่านเป็นผู้ร้ายตามบท คนดูเห็นภาพขาดแต่เพียงบทสนทนาของตัวละคร ขนาดผู้ร้ายไปเที่ยวพัทยา ไปคุยกับผู้หญิงคนไหน ยังรู้ และถ่ายคลิปเก็บไว้ เหมือนจะใช้ข้ออ้างในการโจมตีอิหร่าน แบบเดียวกับเมื่อครั้งบุกอิรัก

3. ผู้วิเคราะห์เห็นว่าการที่นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกลอบสังหาร ก็อาจเป็นสาเหตุให้อิหร่านต้องการแก้แค้น แต่ถ้าอิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์จริงและจะทำเกือบสำเร็จตามที่กล่าวอ้าง อิหร่านจะต้องอดทนไม่เปิดช่องว่างให้ถูกโจมตีในช่วงเวลานี้

4. ผู้วิเคราะห์บางคนมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมีจริงและก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่อิหร่านปกปิดไว้ ซึ่งอิสราเอลและอเมริกาก็รู้ทันจึงต้องหาทางหยุดยั้งให้ได้ จึงต้องสร้างสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้มีเหตุผลในการโจมตี ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ทำให้มีหลายประเทศออกมาเตือนทั้งสองฝ่าย ให้ยับยั้งชั่งใจอย่าใช้กำลัง เพราะจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในอ่าวเปอร์เซียลุกลามได้

มีคำถามจากเด็กๆ ว่าทำไมอเมริกาจึงต้องห้ามอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ทำไมไม่ห้าม อิสราเอล ปากีสถาน อินเดีย ฯลฯ และถ้าจะบุกไปยึดไปค้นระเบิดนิวเคลียร์ในอิหร่านแบบที่ทำกับอิรักจะได้หรือไม่? ถ้าทำได้ จะยึดระเบิดจากอิสราเอลด้วยหรือไม่? แล้วคนอื่นจะห้ามอเมริกามีอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่?

ผู้เขียนตอบไม่ได้ แต่มีคนตอบแทนว่า ชาวบ้านธรรมดาห้ามพกปืน มีเฉพาะนักเลงกับผู้มีอิทธิพลเท่านั้นที่พกปืนได้

ส่วนการบุกเข้าไปแล้วจะพบอาวุธหรือน้ำมัน ผู้วิเคราะห์คาดว่าที่อิหร่านจะพบแค่ ยูเรเนียม กับน้ำมัน

แต่มหาอำนาจอื่นๆ คงไม่ยอมให้ใครมาฮุบเอาน้ำมัน 5% ของโลกไปง่ายๆ



น้ำมันของอิหร่าน

ประเทศอิหร่านเคยผลิตน้ำมันได้สูงถึงวันละ 6 ล้านบาร์เรล และปัจจุบันลดลงเหลือ 2.5 ล้าน-3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปัญหาการคว่ำบาตรแต่อิหร่านก็ขายน้ำมันเพื่อเลี้ยงประเทศได้ทุกวัน การคว่ำบาตรอิหร่านในปี 2549 และ 2550 ไม่สามารถสกัดกั้นการค้าน้ำมันของอิหร่านได้เพราะลูกค้ารายใหญ่ เช่น อินเดีย จีน และญี่ปุ่น มิได้ร่วมคว่ำบาตรด้วย แถมยังซื้อได้ราคาถูกกว่าปกติเล็กน้อย

นอกจากนี้ อิหร่านยังขายผ่านคนกลาง ซึ่งนำไปผสมกับน้ำมันจากหลายชาติ ส่งไปขายทั่วโลกเพราะไม่มีใครแยกออกว่าน้ำมันหยดไหนมาจากชาติใด

วันนี้แทบไม่มีใครรู้ว่าในความเป็นจริง อิหร่านผลิตน้ำมันออกขายเป็นตัวเลขเท่าไหร่กันแน่

อิหร่านจึงมีเงินพัฒนาประเทศ พัฒนานิวเคลียร์ต่อไปท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตร

แต่รัฐบาลอิหร่านก็มีศัตรูที่เป็นคนอิหร่านมากมายเช่นกันแม้รัฐบาลพยายามปราบ ก็ทำไม่สำเร็จ


การโจมตีที่ตั้งโรงงานวิจัยนิวเคลียร์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย

ผู้วิเคราะห์คิดว่าเมื่อวิธีต่างๆ ใช้ไม่ได้ผลทั้งทางจัดการเศรษฐกิจ การสกัดกั้นการส่งวัตถุดิบ การกำจัดบุคลากรที่มีความรู้ทางนิวเคลียร์ ก็จะเหลือวิธีสุดท้าย คือการเข้าโจมตีสถานที่ที่คิดว่าเป็นแหล่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
สถานที่ที่เปิดเผยคือ โรงงานวิจัยนิวเคลียร์ ที่นาทานซ์ ทางตอนเหนือของกรุงเตหะราน (แต่จะมีอีกกี่แห่งไม่มีใครรู้ และขณะนี้จะมีอะไรเหลือไว้ให้เป็นเป้า)
อิหร่านมีซีเรียและเลบานอนเป็นพวก แต่อีกหกประเทศคือ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เข้าข้างอเมริกา

ถ้ามีการโจมตีอิหร่าน คาดว่าการต่อสู้ในอัฟกานิสถานและอิรักคงขยายตัวรุนแรงขึ้น ความวุ่นวายในซีเรียก็คงขยายตัวมากขึ้น
ประเทศที่จะเป็นตัวกลางเจรจายับยั้งความขัดแย้งครั้งนี้หรือจะทำให้ลดระดับลงได้น่าจะเป็น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย
ส่วนสหภาพยุโรป อิหร่านไม่ฟังแล้ว



ถ้าเกิดการโจมตีอิหร่านจะมีผลอย่างไร?

ไม่ว่าการโจมตีนี้จะเรียกว่าสงครามหรือการก่อการร้าย แต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น (ผู้วิเคราะห์คิดว่าคงเป็นระดับส่งฝูงบิน โจมตีด้วยระเบิดแบบพิเศษไม่ใช่การเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่) คงทำให้อ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซเกิดความวุ่นวาย ซึ่งจะมีผลต่อคนทั้งโลกเพราะอ่าวเปอร์เซียคือขวดน้ำมัน

ช่องแคบฮอร์มุซคือคอขวด น้ำมันที่ผลิตจากประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย ต้องขนผ่านทางทะเล ออกจากช่องแคบฮอร์มุซ วันละประมาณ 16 ล้านบาร์เรล การส่งผ่านท่อส่งน้ำมันไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีประมาณวันละ 2 ล้านบาร์เรลเท่านั้น

วันนี้อเมริกาและอังกฤษส่งกองเรือรบเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย ถ้าเกิดการปะทะในรูปแบบใดก็ตาม กองเรือบรรทุกน้ำมันของทุกชาติจะไม่กล้าขยับตัว เพราะอาวุธจรวดไม่เข้าใครออกใคร

นั่นหมายถึงน้ำมัน 40% ของโลกที่ขนผ่านทางทะเลจะเกิดปัญหา และประเทศในเอเชียส่วนใหญ่รวมทั้งไทยใช้น้ำมันจากแหล่งนี้

ระเบิดที่ซอยสุขุมวิท 71 ทำให้บ้านพังไปหนึ่งหลัง มือระเบิดขาขาด รถแท็กซี่พัง 1 คัน

แต่แรงสะเทือนของระเบิด อาจเป็นข้ออ้างที่ใช้ในการจุดชนวนให้มีการโจมตีประเทศอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซลุกเป็นไฟ ในเมื่อขนน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจมีผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงถึงบาร์เรลละ 200 เหรียญ

นั่นหมายความว่าเราอาจต้องซื้อน้ำมันในราคาลิตรละ 60 บาท ผู้วิเคราะห์จึงบอกว่าระเบิดลูกนี้สะเทือนถึงถังน้ำมันของรถทุกคัน


การเตรียมการของรัฐบาลไทย

ส่วนประเทศไทยหลังถูกลากเข้าไปพัวพันในเหตุการณ์ระเบิด หลังจากนี้ คงได้แต่นั่งมองเฉยๆ ซึ่งก็ถูกแล้วเพราะไทยมีสัมพันธ์ทางการทูต และการค้ากับคู่ขัดแย้งทุกประเทศ และเราไม่สามารถสรุปความถูกผิดได้ จึงไม่ควรชักศึกเข้าบ้าน เพราะอเมริกาไม่มาช่วยเราแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้แน่นอน

สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมการคือการแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะพุ่งสูงขึ้นในอนาคต แหล่งพลังงานสำรองต่างๆ ของไทยควรจะถูกนำออกมาใช้ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดอีกหลายครั้ง

สำหรับปีนี้ผู้วิเคราะห์กังวลว่าสถานการณ์น้ำมันกับน้ำฝนอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นศึกหนักของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีต้องตั้งสมาธิให้ดีเพราะงานที่ทำวันนี้ รัฐบาลเปรียบเหมือนคนที่ขับรถไปส่ง หิน ปูน ทราย เพื่อซ่อมถนนที่ถูกน้ำเซาะจนพัง เงยหน้ามองไปข้างหน้าก็เห็นพายุ 2 ลูกกำลังมาแต่ไกลอีกแล้ว จะมาสนใจเสียงนกเสียงกา เสียงหมาเห่าไม่ได้

ไม่จำเป็นไม่ควรจอดรถ มีแต่เร่งเครื่องให้ถึงปลายทางเพื่อทำงานในภาระหน้าที่ให้เสร็จได้ทันเวลา



.

2555-02-26

หนุ่มเมืองจันท์: เปลี่ยนมุมมอง, + จุดเปลี่ยน

.

เปลี่ยนมุมมอง
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 24


วันที่นั่งฟัง "ต้อ" บินหลา สันกาลาคีรี สอนเรื่องการเขียนเรื่องสั้น
ผมชอบวิธีคิดเรื่องหนึ่งของ "ต้อ"
เขาบอกว่าตอนเขียนเรื่องสั้น เขาจะมีเก้าอี้ 3 ตัววางอยู่กลางห้อง
เก้าอี้ตัวแรก คือ เก้าอี้นักเขียน
ตัวที่สอง คือ เก้าอี้ตัวละคร
ตัวที่สาม คือ เก้าอี้คนอ่าน

เมื่อเขาเขียนเรื่อง ตัวละครก็จะโลดแล่นอยู่บนกระดาษ
คุยกัน ทะเลาะกัน รักกัน
เขาจะเขียนไปเรื่อยๆ บนเก้าอี้ของ "นักเขียน"
พอถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "ตัวละคร"
สมมุติตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง
อ่านเรื่องที่ "นักเขียน" เขียน
แล้วถามตัวเองว่าถ้าเราเป็นนักธุรกิจคนนี้ เราจะตัดสินใจแบบนี้หรือเปล่า
จะพูดแบบนี้หรือเปล่า

ถ้าเราเป็นเด็กนักศึกษาคนนี้ เราจะ "ครับผม-ครับผม" ทุกครั้งที่รุ่นพี่สั่งหรือเปล่า
ถ้ารู้สึกขัดหู ขัดใจ
"ต้อ" ในฐานะ "ตัวละคร" ก็จะบอก "นักเขียน" ว่าในชีวิตจริง ผมจะไม่พูดแบบนี้
แล้วเขาก็จะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "นักเขียน"
แก้ไขบทสนทนาใหม่

จากนั้น "ต้อ" เปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "คนอ่าน"
นักเขียนนั้นมีอภิสิทธิ์อยู่ข้อหนึ่ง คือ เขาอยากเล่าอะไร จะเล่าแบบไหนก็ได้
หรือจะขยักไม่ยอมเล่าเรื่องไหนก็ได้
บางทีก็เขียนเป็น "สัญลักษณ์" เพื่อให้ผู้อ่านตีความ
แต่เมื่อ "ต้อ" เปลี่ยนเก้าอี้มาเป็น "คนอ่าน"
เขาจะอ่านแบบ "คนอ่าน" ที่ไม่รู้ความคิดของ "นักเขียน"
อ่านตัวอักษรในเรื่องแล้วถ้าไม่เข้าใจ
หรือไม่รู้สึกอะไรกับ "สัญลักษณ์"

"คนอ่าน" ชื่อ "บินหลา" ก็จะตะโกนบอก "นักเขียน"
"อ่านไม่รู้เรื่องโว้ย"
"ต้อ" ก็จะรีบวิ่งไปนั่งเก้าอี้ "นักเขียน" แล้วแก้ไขงานใหม่ทันที

"ทฤษฎีเก้าอี้ 3 ตัว" ของ "ต้อ" คือ วิธีการคิดให้ครบทุกมุมมอง

วิธีคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ

หรือการใช้ชีวิตของเรา



วันก่อน เจอเทปการบรรยายเรื่อง "คำถามเปลี่ยนชีวิต" ของ พระไพศาล วิสาโล ใน youtube
พระไพศาล เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่าเคยเห็นนกกระเรียนหลับไหม
นกกระเรียนนั้นจะยืนหลับ
และยืนขาเดียว

ถ้าเราถามว่าทำไมนกกระเรียนยืนขาเดียวเวลาหลับ
เราจะตอบยาก
แต่ถ้าถามว่าทำไมนกกระเรียนหดขาเดียวเวลาหลับ
เราจะตอบง่าย

คำตอบของ "พระไพศาล" คือ "ถ้าหด 2 ขา นกกระเรียนจะล้ม"
เป็นมุขเริ่มต้นของการบรรยายธรรมของพระไพศาลครับ

จากนั้นท่านยกตัวอย่างเรื่องการตั้งคำถามในชีวิตของเรา
เช่น พอมีปัญหาว่าเพื่อนไม่เข้าใจ แฟนไม่เข้าใจ แม่ไม่เข้าใจ
ก็ "ทุกข์"

พระไพศาลบอกว่าแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไม "เพื่อน-แฟน-แม่" ไม่เข้าใจ
เราน่าจะตั้งคำถามใหม่
"แล้วเราเข้าใจเขาแล้วหรือยัง"

ทุกข์ของเราที่เกิดขึ้นเพราะเราเรียกร้องคนอื่นมากเกินไป
จนลืมเรียกร้อง "ตัวเอง"
หรือทักทายเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ตอบ ถามแล้วไม่ได้คุย
แวบแรกเราจะโกรธ
คิดว่าเพื่อนไม่สนใจเรา

แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมคิดใหม่
สงสัยว่าเพื่อนเป็นอะไรหรือเปล่า ทุกข์ร้อนเรื่องอะไร
แล้วเดินเข้าไปถามด้วยความห่วงใย
บางทีเราจะรู้ว่าที่เพื่อนทำท่าเฉยเมยกับคำทักทายของเรา
เพราะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ภายใน

หรือกรณีที่เกิดเงินหาย มือถือหาย
ส่วนใหญ่จะนึกอยู่ในใจว่าทำไมต้องเป็นเรา
เราซวยจริงๆ
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่
คนอื่นก็เคยทำเงินหาย มือถือหาย
"ทำไมจะเป็นตัวเราไม่ได้ เราพิเศษมาจากไหนหรือ"

แค่เปลี่ยนมุมมอง เราก็จะเห็นความจริงของชีวิต
แล้วความทุกข์ก็จะลดลง



อีกเรื่องหนึ่ง เพิ่งอ่านเจอในหนังสือ "สุดยอดเรื่องน่าอ่าน...เพื่อการพัฒนาตนเอง" ของ ดร.ชัยเสฎฐ์ พรหมศรี
มีผู้ชายคนหนึ่ง ขับรถไปบนถนนพบคน 3 คนยืนรอรถเมล์ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก
คนหนึ่ง เป็นหญิงชราที่กำลังป่วยหนัก
คนที่สอง เป็นเพื่อนที่เคยช่วยชีวิตของเราไว้
และคนที่สาม เป็นผู้หญิงสาวสวยที่เราเฝ้ารอมาทั้งชีวิต
เมื่อรถคันนี้นั่งได้ 2 คน คำถามก็คือเราจะรับใครขึ้นรถ

ถ้าเลือกหญิงชราใกล้ตาย เราก็อาจไม่มีโอกาสตอบแทนเพื่อนที่เคยช่วยชีวิตเรา
ถ้าเลือกเพื่อน หญิงชราก็อาจเสียชีวิต
ถ้าเลือกสาวสวย หญิงชราก็อาจเสียชีวิต และไม่มีโอกาสช่วยเพื่อนอีก

ลองคิดดูสิครับว่าคุณจะทำอย่างไรก็สถานการณ์นี้
คำถามดังกล่าวใช้ในการสัมภาษณ์งานในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ส่วนใหญ่คนจะตอบวนเวียนอยู่ที่ หญิงชรา เพื่อน และสาวสวย
พร้อมกับเหตุผลที่แตกต่างกัน

แต่มีอยู่คนหนึ่งเขาตั้งคำถามใหม่

...รถนั่งได้ 2 คน แต่ไม่จำเป็นที่เขาต้องอยู่บนรถ

คำถามนี้ทำให้คำตอบกว้างขึ้นกว่าเดิม

ในที่สุด เขาก็เลือกแนวทางใหม่
เขาจะมอบกุญแจรถให้เพื่อน
และขอให้เพื่อนขับรถพาหญิงชราไปโรงพยาบาล
ส่วนเขาจะลงจากรถ และยืนรอรถเมล์เป็นเพื่อนหญิงสาว

ทางเลือกนี้เขาได้ช่วยชีวิตหญิงชรา ได้ตอบแทนบุญคุณเพื่อน

และได้อยู่ใกล้ชิดกับหญิงสาวที่เฝ้ารอมาทั้งชีวิต

เป็น "คำตอบ" ที่ได้ครบทุกความต้องการ
ครับ เขาได้รับเลือกให้ทำงานในบริษัทนี้

แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

ลองใช้ "ทฤษฎีเก้าอี้ 3 ตัว" ของ "ต้อ" ดูสิครับ

เปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ของ "สาวสวย" คนนั้น
เธอคงคิดอยู่ในใจ ก่อนหน้านี้อยู่กัน 3 คน แม้ฝนจะตก แต่ก็ปลอดภัย
แต่ตอนนี้อยู่กับชายหนุ่มที่แสดงความมุ่งมั่นในตัวเธออย่างชัดเจน

สองต่อสอง

บางทีหญิงสาวอาจตัดสินใจเสี่ยงตาย

เกาะหลังคารถไปดีกว่า



++++

บทความต้นปีที่แล้ว 2554

จุดเปลี่ยน
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 24


เมื่อปลายปีที่แล้ว ในแวดวงธุรกิจ ข่าวการลาออกที่ดังที่สุด คือ "ตัน ภาสกรนที" ลาออกจาก "โออิชิ"
ตัดนามสกุล "โออิชิ" ทิ้งไป แล้วเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ไม่ตัน"
จาก "ตัน โออิชิ" เป็น "ตัน ไม่ตัน"

มาต้นปีนี้ คนที่ลาออกแล้วเป็น "ข่าวใหญ่" ก็คือ "ธนา เธียรอัจฉริยะ"
"ธนา" เป็นคนหนุ่มอายุเพียง 41 ปี แต่เป็นถึง "รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร"
เบอร์ 2 ของ "ดีแทค"
บริษัทที่มียอดขายประมาณ 70,000 ล้านบาท กำไรปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท
"ธนา" คือ คนสำคัญคนหนึ่งที่พลิกฟื้น "ดีแทค" จากบริษัทที่เกือบจะเจ๊งให้กลายมาเป็น "ยักษ์ใหญ่" แห่งวงการโทรคมนาคม

"Happy" ที่รู้จักกันดีก็มาจากฝีมือของ "ธนา"
แต่วันนี้เขาตัดสินใจลาออกจาก "ดีแทค" ไปอยู่ "แม็คยีนส์"
บริษัทผู้ผลิตกางเกงยีนส์ที่มียอดขายประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท กำไรปีละ 200 ล้านบาท
เล็กกว่า "ดีแทค" 60 เท่า

"ธนา" คุยกับ "สุนี เสรีภาณุ" เจ้าของ "แม็คยีนส์" 3 ครั้ง
ทุกครั้งที่คุย เขารู้สึกเลือดสูบฉีดแรง
รู้สึกท้าทายและอยากทำ

การตัดสินใจครั้งนี้ "ธนา" ใช้ "ความรู้สึก" เป็น "เข็มทิศ" นำทาง
เชื่อไหมครับว่าวันที่เขายื่นใบลาออก "ธนา" เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเขาไม่ได้ถาม "สุนี" อยู่เรื่องหนึ่ง
จะให้เขาไปนั่งเก้าอี้ตัวไหน
"กรรมการผู้จัดการ" หรือ "ซีอีโอ"

หลังการลาออก มีโทรศัพท์จากคนที่คุ้นเคยมาสอบถามเรื่องนี้กันมากมาย
แต่มีประโยคหนึ่ง ที่ "ธนา" ชอบที่สุด
"พาที สารสิน" ซีอีโอ ของ "นกแอร์" ครับ
เขาโทรมาถามว่าจะไปอยู่ที่ไหน
พอ "ธนา" บอกว่า "แม็คยีนส์" เขาก็หลุดปากออกมาทันที
"คุณบ้ากว่าที่ผมคิดจริงๆ"



คนที่กระตุ้นต่อมการลาออกของ "ธนา" คือ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
"ธนา" เจอ "ดร.วิทย์" ซึ่งอายุประมาณ 40 ต้นๆ เล่นไอซ์สเก็ตที่เซ็นทรัลเวิลด์
ในบรรดาคนที่เล่นสเก็ตน้ำแข็งทั้งหมด "วิทย์" อายุมากที่สุด
เล่นแล้วก็ล้ม ล้มแล้วก็ลุก
"ธนา" เห็นแล้วอายแทน

เขาถาม ดร.วิทย์ ว่าทำไมถึงมาเล่นกีฬาประเภทนี้
คำตอบของ "วิทย์" ก็คือ "ผมอยากออกจาก คอมฟอร์ต โซน อยากลองล้มดูบ้าง จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ"
"คอมฟอร์ต โซน" หรือพื้นที่ที่สุขสบาย น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ความปลอดภัยที่มากเกินทำให้เรากลัว
ไม่กล้าเดินไปสู่ที่ใหม่ที่ไม่รู้จัก
ประโยคนี้เองที่กระตุ้นให้ "ธนา" เริ่มคิด

ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจโทรคมนาคม และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ "ดีแทค" ทำให้เขาเริ่มทำอะไรไม่ผิด
เดินเข้าห้องประชุม พูดอะไรก็พูดได้ คนไม่ค่อยเถียง เหมือนรู้ไปหมดทุกอย่าง
ไม่เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่
"มันสบายจนถึงขนาดว่าผมเข้าไปเสิร์ชกูเกิ้ล หรือเข้าไปอ่านหนังสืออะไรใหม่ๆ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาใช้อะไร เพราะเหมือนเราทำมาหมดแล้ว"

"ธนา" เรียกภาวะนี้ว่า "รู้จนโง่"
"รู้" มากจนกลายเป็น "ไม่รู้"
อายุ 41 ปีของ "ธนา" ไม่พร้อมที่จะสบายแบบนี้
ช่วงนั้นมีบริษัทยักษ์ใหญ่หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งทาบทาม "ธนา" ไปทำงานด้วย
แต่เขาไม่รู้สึกอยากไป

จนวันหนึ่ง "สุวภา เจริญยิ่ง" เจ้านายเก่าชวนเขาไปคุยกับ "สุณี" เจ้าของ "แม็ค ยีนส์"
"สุณี" ให้เกียรติ "ธนา" มาก
และที่สำคัญคือ ธุรกิจเสื้อผ้าเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้เรื่อง
มันแปลก มันท้าทาย
และเป็น "มวยรอง" แบบที่เขาชอบ
เพราะ "แม็ค ยีนส์" เป็นบริษัทของคนไทย ต้องสู้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก

"ธนา" บอกว่า ความรู้สึกของเขาเริ่มตื่นเต้น
เลือดลมสูบฉีดแรง
คุย 3 ครั้งก็ตัดสินใจเลย

วันก่อน ผมเจอ ดร.วิทย์ ในงานหนึ่ง
เราคุยกันเรื่อง "ธนา" และ "คอมฟอร์ต โซน" อย่างสนุกสนาน
ดร.วิทย์ บอกว่าเขาเล่นสเก็ตน้ำแข็งเพราะไม่อยากแก่
อยากเล่นอะไรที่คนหนุ่มสาวเล่นกัน
"มันท้าทายดี"

ผมบอกเขาว่ารู้ไหม ถ้า "ธนา" ล้มเหลวที่ "แม็ค ยีนส์" คนที่ต้องรับผิดชอบมีอยู่คนเดียว
"คือ ดร.วิทย์"



"ธนา" ให้สัมภาษณ์ใน "aday BULLETIN" ว่าเคยเห็นบทเรียนสำคัญเมื่อครั้งลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
มีพนักงานหลายคนที่อายุ 50 ปีตกงาน แล้วไม่รู้จะไปไหน
เพราะเขาไม่ได้เตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลง
"ธนา" บอกว่า "มืออาชีพ" ที่ดี ต้องนึกถึง "จุดจบ" ของตัวเองเสมอ
คิดแบบวันนี้คือวันสุดท้ายของชีวิต
คิดแบบนี้ในมุมหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำงานอย่างเต็มที่
ในอนาคตจะได้ไม่ต้องเสียดายว่าทำไมวันนั้นถึงไม่ทำ
แต่อีกด้านหนึ่ง คือ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

"การที่เราคิดว่าจะต้องออกในวันใดวันหนึ่ง เป็นความคิดที่ไม่เลวนะ จะได้เตรียมตัวว่าถ้าออกแล้วจะทำอะไร คือ ไม่ได้ออกจริงๆ แต่อย่างน้อยจะมีความคิดถึงจุดจบไว้บ้างว่าวันหนึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ไปชั่วชีวิต"
เพราะถ้าคิดว่าจะอยู่องค์กรใดองค์กรหนึ่งไปชั่วชีวิต
"เราอาจจะนิ่ง สบายๆ ไม่ได้ขวนขวายอะไร"

"ธนา" เล่านิทานเรื่อง "คนตัดฟืน" กับ "เจ้านาย"

คนตัดฟืนรักเจ้านายมาก เขาจะตัดฟืนมาให้เจ้านายผิงไฟ
วันแรกใช้เวลา 10 ชั่วโมงได้ฟืนมา 1 กอง
วันที่สองใช้เวลา 11 ชั่วโมง ได้ฟืนมา 1 กอง
วันที่สามใช้เวลา 12 ชั่วโมงได้ฟืนมา 1 กอง
ยิ่งตัดยิ่งใช้เวลานานขึ้น

เขาถาม "เจ้านาย" ว่าเขาทำอะไรผิด ทั้งที่เขาตั้งใจตัดฟืน แต่ทำไมถึงใช้เวลานานขึ้น

"เจ้านาย" ยิ้มและถามสั้นๆ

"ลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไร"

ครับ การลับขวานก็คือการฝึกตัวเองให้มีทักษะมากขึ้น เพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง

เพราะไม่ได้ลับขวาน จึงตัดฟืนได้น้อยลง

"ธนา" บอกว่า บางครั้งถ้าคิดว่าจะทำงานที่ใดที่หนึ่งตลอดไป
อยู่ที่นี่ forever
"เราก็จะไม่ได้ลับขวานตัวเอง เราจะทื่อ"



.

คนขาว โดย คำ ผกา

.

คนขาว
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 89


"อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นหนึ่งล้านบาท ทำไง?"
อยู่ๆ เพื่อนที่กำลังเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ถามขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ฉันมัวแต่งงง เพื่อนเลยตอบให้เสร็จสรรพว่า
"หาผัวฝรั่งดิมึง" ฟังคำตอบเพื่อนยิ่งงงเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งเพื่อนพูดต่อว่า
"ตรูจะไปเรียนภาษาอังกฤษกับมึงทำไมให้เสียเวลา"-อ๋อ-เพื่อนไม่ได้คุยกับฉันสักหน่อยแต่กำลังโต้ตอบกับป้ายโฆษณาที่แปะหราอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้านั้นต่างหาก

ป้ายนั้นเขียนว่า "อยากหาเงินเพิ่มหนึ่งล้านบาท ทำอย่างไร?" คำตอบมีให้เลือกจากรูปภาพ ผู้หญิงหัวฟูแบบแอฟโฟร หน้าตาเปิ่นเทิ่น บูดบึ้ง มีพวงมาลัยแบบคล้องศาลพระภูมิห้อยอยู่เต็มคอ จากนั้นเขียนว่า "เป็นนักร้อง" อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพหญิงสาวผมยาวสลวย ยิ้มสวย อันเป็นรอยยิ้มแบบฉบับการโฆษณาผงซักฟอก นม เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ คะนอร์ซุปไก่ คือเป็นรอยยิ้มที่มีความเป็นแม่ ลูกสาว และเมียที่ดี สวมเสื้อยืดเขียนคำภาษาอังกฤษถึงโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่ง

สารที่โฆษณานี้ต้องการจะบอกกับเราคือ หากคุณอยากมีรายได้เพิ่มหนึ่งล้านบาท คุณจงมาเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาของเรา
มิหนำซ้ำยังอ้างผลสำรวจว่าคนเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนแห่งนั้นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 20% และเก็บเงินได้ถึง หนึ่งล้านบาท

เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่คงต้องเป็นเรื่องของ สคบ. ที่จะต้องตรวจสอบ เพราะการเก็บเงินได้ถึงหนึ่งล้านบาทนั้น เก็บได้เพราะประหยัดมาก เก็บได้เพราะเงินเดือนสูงมาก เก็บได้เพราะอาศัยอยู่ร่วมชายคากับพ่อ-แม่ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากับข้าว
เก็บเงินได้เพราะผัวเลี้ยง
เก็บเงินได้เพราะเป็นนายหน้าขายที่ดินเป็นรายได้เสริม และอีกสารพัดปัจจัยที่อาจทำให้คนเก็บเงินได้ หนึ่งล้านบาท อันมิใช่เงินก้อนใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
พิสูจน์ได้อย่างไรว่า เก็บเงินได้เพราะเรียนภาษาอังกฤษ?

เอาประโยคนี้ไปไว้ในโฆษณาธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดกับการฝากประจำหรือโฆษณาสลากออมสิน ยังจะน่าเชื่อถือเสียมากกว่า



คนเรียนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาแล้วมีรายได้สูงขึ้น 20% เป็นถ้อยคำที่โกยผลประโยชน์เข้าตนโดยอาศัยความกำกวม เพราะทักษะภาษาอังกฤษที่มากกว่าคนอื่นย่อมทำให้มีโอกาสรับรายได้หรืออัตราเงินเดือนที่สูงกว่าผู้อื่นอยู่แล้ว

ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษ ความรู้ภาษาต่างประเทศทุกภาษาย่อมเป็นหนทางเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี พม่า เขมร ฯลฯ เพื่อนของฉันที่รู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างเลิศนั้นสามารถหาเงินล้านจากการเป็นล่ามได้ไม่ยากเย็นเลย

แต่สิ่งที่ฉันสนใจไม่ใช่เรื่องการโฆษณาว่าเกินจริงหรือไม่ แต่เป็น "รหัส" ที่อยู่ในโฆษณาชิ้นนี้ และอาจจะจริงอย่างที่เพื่อนของฉันแสดงความคิดเห็นไปว่า "หาผัวฝรั่งจะเร็วกว่าไปนั่งเรียนภาษาอังกฤษ-ที่ไม่รับประกันว่าสอนดีจริงหรือไม่ แถมยังอาจแพงระยับ"

รหัสแรกคือ รูปลักษณ์ของผู้หญิงที่ไม่เป็นที่พึงปราถนาของสังคมไทย-ผมหยิกฟูฟ่อง ปากหนา ตาโตไม่เท่ากัน จมูกบาน ปากหนาแดงเจ่อ

ทั้งหมดนี้ มันคือการจำลองถอดภาพจำแลงอย่างย่นย่อของผู้หญิงผิวสี

ฉันมั่นใจว่าคนที่ทำภาพนี้ไม่ได้ตั้งใจ และไม่รู้ตัว แต่เขาหรือเธอคือผลผลิตของสังคมที่เชื่อว่าความขาวคือความงาม จมูกโด่ง ริมฝีปากเรียวเล็กคือความงาม

และคงยากที่คนเหล่านี้จะเห็นว่านักร้องทรงเสน่ห์อย่าง Jill Scot นั้น "งาม" หรือจะเลือกระหว่าง ริฮานน่า กับ แอฟ ทักษอร-ก็คงเห็นว่า แอฟ ทักษอร นั้น "งาม" กว่าอย่างแน่นอน

เพราะความน่าปรารถนานั้น ไม่ได้อยู่ที่ความสวยแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องบรรจุ "คุณภาพ" แห่งความเป็นกุลสตรีของยุคสมัย เช่น มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาดี ผิวพรรณ รูปลักษณ์ ทรงผม เสื้อผ้า-ย่อมบอกคุณภาพทางชนชั้นอุดมการณ์ของผู้หญิง


คำถามคือ ทำไมต้อง "นักร้อง?" พวงมาลัยที่คล้องคอผู้หญิงในโฆษณาดังกล่าว บอกเราว่า นี่ไม่ใช่นักร้องของเอเอฟ หรือเดอะสตาร์ อย่างแน่นอน แต่คือนักร้องคาเฟ่

คงมีแต่สังคมที่หูหนาตาเล่อต่อการเหยียดหยามเพศ ชาติพันธุ์ ชนชั้น อาชีพ สีผิว อย่างสังคมไทยเท่านั้นที่ปล่อยให้โฆษณาชิ้นนี้ลอยนวลอยู่ได้

เพราะคำถามแรกที่เราต้องถามคือ "เป็นนักร้องแล้วไง?" ที่สำคัญ "เป็นนักร้องคาเฟ่แล้วไง?"

เมื่อไหร่สังคมจะเติบโต บรรลุวุฒิภาวะ เลิกเป็นเด็กอมมือและรู้สำเหนียกอย่างคนที่มี cultivation-นิยามของผู้มีวัฒนธรรมนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับสยามเมืองยิ้ม ไม่เกี่ยวกับโขน ละครนอก ละครใน วัดวาอาราม ไม่เกี่ยวกับความภูมิใจในภาษาไทยที่ไม่เหมือนใคร แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ โดยไม่เกี่ยงสัญชาติ สีผิว ชนชั้น อาชีพ

และการเคารพนี้ไม่เป็นเรื่องเดียวกันกับความสงสาร เห็นใจ ไปจนถึงสมเพช เวทนา นักร้องคาเฟ่ หมอนวด กะหรี่ สามล้อ คนงานต่างด้าว และอีกหลายอาชีพที่ "คนขาว" ในสังคมไทยทั้งหลายรังเกียจนั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการความปรานี เห็นใจ ไม่ต้อง กรี๊ดกร๊าด เข้าไปสังคมสงเคราะห์ หรือ ยื่นมือลงไปอยากช่วยให้พวกเขาพ้นจากความเป็นกะหรี่มานุ่งซิ่นนั่งทอผ้าขายโอท็อป

สิ่งที่พวกเขาต้องการก็เหมือนกับสิ่งที่มนุษย์ต้องการคือ "การเคารพในความเป็นมนุษย์" ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน



การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ไม่ได้อยู่ที่การลดจำนวนกะหรี่หรือลดจำนวน "คนจน" แต่คือการเริ่มต้นที่เราต้องเห็น "คน" ในฐานะที่เป็น "พลเมือง" ของรัฐที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน

เห็นดังนี้ เราจึงจะสามารถคิดถึงนโยบายที่เอื้อต่อ "สาธารณะ" หรือคนส่วนใหญ่ของสังคมมากกว่าจะออกแบบการพัฒนาประเทศหรือเมืองที่เอื้อประโยชน์และอภิสิทธิ์ต่อคนส่วนน้อย ขณะเดียวกันก็แบ่งเค้กชิ้นบางๆ ไปทำการสงเคราะห์คนจนไปวันๆ

นโยบายที่ให้ความสำคัญกับ "สาธารณะ" ที่จะไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้โดยอัตโนมัติ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย (หรือเกิดแต่ไม่สำเร็จเพราะไม่ได้รับการสานต่อ ) เช่น นโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย แฟลตของการเคหะ หรือ บ้านเอื้ออาทร
หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สองโครงการใหญ่นี้จะต้องมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
มากไปกว่านั้น มันต้องไม่มาพร้อมกับทัศนคติที่ว่า แฟลตหรือบ้านของคนจนต้อง "อัปลักษณ์"

ปฏิเสธได้หรือไม่ว่า บ้านเอื้ออาทรและแฟลตของการเคหะส่วนใหญ่นั้น ปราศจากซึ่งการใส่ใจในการออกแบบเพื่อคุณภาพของการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง

ไปถามสถาปนิกคนไหนก็ได้ว่า ที่อยู่อาศัยราคาถูกไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับรสนิยมที่แย่
หากรัฐบาลไม่มีทัศนคติดูถูก "คนจน" เสียแล้วก็จะสามารถออกแบบแฟลตหรือบ้านเอื้ออาทรให้มี "รสนิยม" มีฟังก์ชั่นการใช้สอยที่ดีในราคาที่เหมาะสมได้


มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังสามารถ "ออกแบบ" ไลฟ์สไตล์ใหม่ให้แก่ชีวิตคนจนทั้งเมืองใหญ่ และเมืองเล็กผ่านการ "ออกแบบ" ทั้งตัวบ้าน แฟลต และแลนด์สเคป เช่น การออกแบบสวน หรือพื้นที่ที่ชุมชนจะใช้สอยร่วมกัน เช่น สนามเด็กเล่น อันเชื่อมโยงกับบริการสาธารณสุขในชุมชน


นอกจากที่อยู่อาศัย สิ่งที่รัฐไทยล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ได้ล้มเหลวเพราะไร้ความสามารถแต่ล้มเหลวเพราะไม่เคยเห็นคนจนเป็นพลเมือง แต่เป็น "ผู้ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์" เมื่อเป็นเช่นนั้นนโยบายเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงอัปลักษณ์มาตลอดประวัติศาสตร์ของมัน

เพราะเราเชื่อเสียแล้วคนจนต้องนั่งรถเมล์ช้าๆ เหม็นๆ แน่นๆ รถเมล์ไม่มีความจำเป็นต้องสะอาด สวยงาม ไม่ต้องมีตารางเส้นทางและเวลาการเดินรถ ไม่จำเป็นต้องกวดขันเรื่องความปลอดภัย จะกี่สิบปีรถเมล์ก็ยังไม่จอดตรงตามป้าย

แทนนโยบายการขึ้นรถเมล์ฟรี-มาเปลี่ยนความคิดกันใหม่ไหมว่า บริการขนส่งมวลชนสาธารณะนั้นมีไว้สำหรับ "พลเมือง" ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน จะคนเงินเดือนสามแสนหรือเงินเดือนสามพันก็ย่อม "แชร์" พื้นที่บนรถเมล์ที่มาตรฐานการให้บริการสำหรับ "คน"

เช่น มีความสะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ขับรถด้วยความสุภาพ มีเส้นทางการเดินรถที่แน่นอน ชัดเจน มีป้ายรถเมล์ที่น่านั่ง

"คนจน" ไม่ได้ต้องการนั่งเมล์ฟรี "จน" ไม่ได้แปลว่าไม่มีเงินค่ารถเมล์ คนจนยอมจ่ายค่ารถเมล์ในราคาสมเหตุสมผลแต่เขาต้องการรถเมล์ที่มีคุณภาพและให้เกียรติผู้ใช้บริการต่างหากเล่า

รถเมล์ฟรีคือการ "สงเคราะห์" แต่การปรับปรุงมาตรฐานของรถเมล์คือการให้เกียรติกับ "พลเมือง" ของรัฐในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่ากัน

ไม่เพียงแต่รถเมล์ ทำอย่างไรจะขยายบริการขนส่งมวลชนให้ได้ทั้งกว้างขวาง ครอบคลุม หลากหลาย ทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถราง รถไฟ

แต่ปัญหาของสังคมไทยคือทัศนคติที่แบ่งคนจนออกจากความเป็น "คน" สิ่งใดก็ตามที่เป็นบริการสาธารณะของ "คนจน" จึงมีมาตรฐานการให้บริการที่ต่ำกว่าที่ "มนุษย์" พึงได้รับ

ไม่เชื่อลองไปนั่งรถไฟชั้นสามดู


หากรัฐไทยมีสิ่งที่เรียกว่า "จิตสาธารณะ" (มิใช่จิตอาสา) รัฐไทยคงจะให้ความสำคัญกับเลนจักรยานทั่วประเทศ การเอาสายไฟฟ้าลงดิน การลงทุนกับระบบการส่งก๊าซโดยท่อ มิใช่ยกกันเป็นถังๆ อย่างทุกวันนี้

พูดง่ายๆ ว่า รัฐไทยคงจะให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับ "มวลชน" และแน่นอนว่า หากฝันของฉันเป็นจริง ป่านนี้เราคงมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดินอันจะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดก เพื่อจะนำภาษีเหล่านี้กระจายมาเป็น "สวัสดิการ" ของสาธารณะ

จินตนาการเล่นๆ ว่าหากหกสิบเปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยสามารถเดินทางด้วยจักรยาน-เพียงเท่านี้ คนไทยจะ "รวย" ขึ้นอีกสักกี่เท่าจากการที่ไม่ต้องซื้อรถให้ตัวเอง ให้ลูก ให้เมีย ไม่ต้องเติมน้ำมัน คนมีรายได้น้อยสามารถเอาเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ามอเตอร์ไซค์ไปเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ เช่น อาจจะซื้อหนังสือมากขึ้น หรือเก็บเงินซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกได้ ฯลฯ

จินตนาการเล่นๆ ว่าหากคนไทยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ใช้บริการจากการขนส่งมวลชน คนไทยจะรวยขึ้นอีกเท่าไหร่-การทำให้คนหายจนไม่ใช่เรื่องการเพิ่มรายได้ แต่หมายถึงการลดรายจ่ายมิใช่ด้วยการรัดเข็มขัดในระดับเศรษฐกิจครัวเรือน แต่คือการเพิ่มสวิสดิการสังคม

จินตนาการเล่นๆ ต่อไปว่าหากมีโรงเรียนรัฐบาลคุณภาพดีให้เรียนฟรีตั้งแต่ ป.1-ม.6 มีสถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐที่พึ่งพาอาศัยได้ คนไทยจะรวยขึ้น ไม่เพียงแต่รวยเพราะค่าใช้จ่ายลดลง แต่คน "จน" จะหายจนเพราะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรุ่นลูกและรุ่นหลานได้ด้วยการศึกษา ที่ไม่จำเป็นต้องไปที่โรงเรียนสอนภาษา

จินตนาการเล่นๆ ต่อไปว่าหากรัฐลงทุนกับห้องสมุดสาธารณะให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ไม่ได้เห็นว่า "สถานที่ราชการห้ามเข้า" หรือ ห้องสมุดของคนจนให้อ่านแต่นิยายกับคู่สร้างคู่สม-เพียงมีห้องสมุดที่ริเริ่มด้วยการเห็น "คน"เป็น "คน" เห็นคนเท่ากัน

เพียงเท่านี้ คนไทยก็จะร่ำรวยขึ้นในทางสติปัญญาและวัฒนธรรมอย่างมหาศาล



ฝันหวานไปเรื่อย แต่ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า สังคมไทยได้ฉีกขาดออกจากกันอย่างยากจะเยียวยา
มีแต่ "คนขาว" เท่านั้นที่ได้เป็น "คน" ในสังคมไทย
คนที่ขาวด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า
คนขาวที่นั่งอยู่ในรถติดแอร์เย็นฉ่ำและตลอดชีวิตนี้ไม่เคยขึ้นรถเมล์เพราะเป็นบริการสาธารณะสำหรับสิ่งมีชีวิตอีกสปีชี่ส์หนึ่งที่ "คนขาว" ต้อง เอื้อเฟื้อแกมรำคาญ
คนขาวที่ไม่จำเป็นต้องนั่งรถทัวร์ รถตู้ รถไฟเหม็นขี้เหม็นเยี่ยว ไม่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาลราคาถูก ที่ตรวจผม ตรวจเล็บนักเรียนราวกับเป็นนักโทษ
คนขาวที่ไม่จำเป็นต้องเข้าคิวยาวเหยียดในโรงพยาบาล

คนขาวที่รังเกียจเคียดขึ้งไม่เข้าใจว่าสิ่งมีชีวิต "จนๆ" นั้นทำไมต้องมีเสียงโหวตหนึ่งเสียงเหมือนกัน โง่ก็ปานนั้น จนก็ปานนั้น

ที่น่าขำในโฆษณาชิ้นนั้นคือ-การเข้าสู่ความเป็น "คนขาว" อาจทำได้ด้วยการ "เรียนภาษาอังกฤษ"!!!



.

ปรารถนา: ชื่นชมเธอ..แม่หญิงลาว, +Esperanza..กายของกันและกัน

.

Calendar in Laos :: Pride of the nation :*ชื่นชมเธอ ... แม่หญิงลาว
โดย ปรารถนา รัตนะ คอลัมน์ Se[XO]ver
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 82


Street of Vientiane

แวบไปเวียงจันทน์ จากเชียงใหม่ หลังจากตั้งใจไปเข้าลาวทางเชียงของ และผ่านหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ แต่เวลาไม่พอ ต้องเข้าเวียงจันทน์ทางหนองคาย แต่ไม่เป็นไร ไปขี่จักรยานกัน

ข้าพเจ้าซิ่งจักรยานด้วยความเร็วแบบมอเตอร์ไซค์ เมื่อเจอนักเรียนนุ่งซิ่น ก็จอดเอี๊ยด ขออนุญาตน้องถ่ายรูป บอกเธอว่า มีคนฝากให้ถ่ายรูปมาฝาก พวกเธอละจากลูกชิ้นและตั้งแถวยิ้มพร้อมกันน่ารักจริงๆ

ทำให้รู้สึกถึงอารมณ์โหยหา สิ่งที่เราอาจจะหายไปหมดแล้ว

จากซิ่งจักรยานอย่างไร้ขอบเขต (ลาวใช้ถนนเลนขวา ทำให้ลืมไปเลนซ้ายอยู่บ่อยๆ) เข้าไปกินร้านเฝอที่ขนส่งตลาดเช้า ทำตัวเป็นชาวลาว

พอหันไปเจอปฏิทินเบียร์ลาว แล้วก็คิดถึงปฏิทินเบียร์ของประเทศเรา นึกกินไปคิดไป อยากเล่าเรื่องปฏิทิน

เราจะเขียนในมุมไหน ศึกษาเปรียบเทียบ หรือสะท้อนการเมืองการปกครอง และวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสภาพเศรษฐกิจ

โอ เออ ปฏิทินมันบอกได้ขนาดนั้นน่ะนะ



Listen to what Cadendar said

เอ่อ แล้วปฏิทินบอกอะไร ปฏิทินมีงานหลักคือบอกวันที่และวันหยุด (ฮา)

แต่ปฏิทินเบียร์ลาว โชว์ผ้าไหม โชว์ความหวานของลาวสาว ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน

และไม่เพียงที่สาวๆ จะอ่อนหวาน หนุ่มๆ ก็นุ่มนวลจนข้าพเจ้าเพิ่งรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนพูดเร็วเกินไป และทำอะไรรีบๆ จนเป็นนิสัย

เราคงไม่ได้เห็นหญิงลาวเปลือยๆ บนปฏิทิน หรือแบบปฏิทินบ้านเรา เพราะรูปแบบสังคมขนบที่เธอเองภูมิใจและช่างสง่างาม แม้ยามเดินถนนก็มองดูราวหงส์เหิน อันหาได้เร่งร้อน ด้วยประชากรจำนวนไม่มาก

และรัฐเป็นผู้คุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ โดยปล่อยให้เอกชนเดินหน้า



นักธุรกิจรุ่นเยาว์แห่งลาว

หลังไปเจอปฏิทินเบียร์ลาวตอนเช้า ข้าพเจ้ากลับมานั่งร้านประจำในลาว ที่กลายเป็นญาติไปแล้ว เพราะอาศัยร้านนี้เป็นที่นัดพบนักธุรกิจที่ข้าพเจ้านัดหมายไว้

เป็นร้านเฝอเทรนดี้ มีไวไฟ มีปลั๊กเสียบ และพวกเขาอาจจะแปลกใจที่มีคนไทยเดินเข้ามา "สวัสดีค่ะ" ขณะที่พวกเขากล่าว "สบายดี"

วันแรกข้าพเจ้าก็ยิงคำถามว่า เจ้าของร้านน่าจะต้องเป็นอินทีเรียร์ สถาปนิก ประมาณนั้น คนที่อยู่ในร้านบอกน้องสาวทำรับเหมา ข้าพเจ้านึกชื่นชม อีกทั้งพอนักธุรกิจที่ข้าพเจ้านัดมาถึงก็รู้จักเจ้าของดี อีกทั้งบอกว่าเธอเก่งมากเป็นนายกสมาคมเฟอร์นิเจอร์ และบอกว่า ถ้าข้าพเจ้าไปอีกจะนัดนักธุรกิจรุ่นเยาว์มาพบ

ก่อนอำลาเวียงจันทน์ ข้าพเจ้าเริ่มเชื่อมสัมพันธ์ด้วยการขอปฏิทินที่วางอยู่ตรงหน้าในร้านเฝอ

"ขอได้ไหมคะ อยากได้ไปเป็นของที่ระลึก"

ข้าพเจ้าพยายามพูดช้าและทำเสียงให้หวานที่สุด (ฮา)



บทจบ เรียนเพื่อรู้ รู้เพื่อเคารพ

ระหว่างรอรถกลับฝั่งไทยที่ตลาดเช้า จึงเดินหาตำราเรียนภาษาลาว เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะอาจจะต้องมีบ้านสักหลังในลาวซะแล้ว (ฮา) และแวบไปห้างใหม่เอี่ยมถอดด้าม

ด้วยใจเสน่หาแม่หญิงลาว ผู้สง่างาม ยามย่างเยื้อง เธอคือความภาคภูมิใจของชาติโดยแท้ อีกทั้งหลังจากคุยกับหนุ่มลาวที่พูดจานุ่มหู แล้วอยากได้ยินบ่อยๆ กลับจากลาวแล้ว รู้สึกว่าตัวเองหยาบกระด้างเกินไป จึงตั้งใจจะฝึกเขียนภาษาลาว เอาใจคนที่นั่น ถ้าพูดได้ก็จะพูด

โดยพยายามทำตัวเป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์ หาใช่ไปหลงเสน่ห์หนุ่มลาวแต่ประการใดนะคะ!



+++
บทความของปีที่แล้ว 2554

Esperanza เซ็กซี่...ถึงจิตวิญญาณ ;*เพราะเราต่างใช้ร่างกายของกันและกัน
โดย ปรารถนา รัตนะ คอลัมน์ Se[XO]ver
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1596 หน้า 82


Once upon a time > อยู่ที่เราจะเล่าขาน...

เป็นอีกปีของรางวัลแกรมมี่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ จบลงด้วยชัยชนะของชาวผิวสี จากสาว Rihanna กับเพลงดังสุดน่ารัก Only a girl : in the world หนุ่ม Jay- z จนถึง Cee lo Green และเป็นเวทีของ underdog หมารองบ่อนอีกครา จึงเป็นเวลาของวงดื้อๆ Arcade Fire ขึ้นรับรางวัลใหญ่เกียรติยศอย่างอัลบั้ม ออฟ เดอะเยียร์

และวงคันทรี่ที่กวาดรางวัล Lady antebellum ก็หน้าใหม่ที่น่าสนใจยิ่งนัก ด้วยเพลงกวาดหัวใจมวลชนทั่วโลก need you now

และที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ (ดิฉัน) มากๆ คือ Best New Artist เธอคนนี้ เธอไม่เหมือน เอมี่ ไวน์เฮาส์ หรือตอนนี้เอา เลดี้ กาก้า ไปเก็บก่อน ขอตั้งสมาธิมองเธอนิ่งๆ



Welcome Esperanza เซ็กซี่หาใช่ที่ใบหน้า

และวันนี้ Esperanza สาวอเมริกันแบล๊ก วัยยี่สิบกว่า ที่ก้าวขึ้นมารับรางวัล Best New Artist เธอทำให้คิดถึง นีน่า ซีโมน ลอรีน ฮิลล์ มากกว่า เพราะเธอให้ฟีลร้องเพลงด้วยชีวิต ด้วยความเป็นแจ๊ซ อาจจะทำให้คนคิดถึง นอร่าห์ โจนส์

โลกเราเต็มไปด้วยการขับขานเพื่อชื่อเสียง เงินตรา หรือแค่การแจ้งเกิด แต่เธอคนนี้บรรเลงเครื่องดนตรีด้วยแบ๊กกราวด์ชีวิตหญิงผิวสีไม่มีง่ายแม้แต่คนเดียว (เส้นทางชีวิตของเธอไม่ต่างจาก มิเชล โอบาม่า สตรีหมายเลขหนึ่งที่เชิญเธอไปเล่นที่ทำเนียบขาว มิเชลนั่งมองเธอตาโปนเลยทีเดียว)

แต่เรื่องหนึ่งที่คงกลายเป็นตำนานคือการหาเงินเรียนเบิร์กเลย์ ด้วยการจัดคอนเสิร์ตระดมทุน หรือการที่เป็นโปรเฟสเซอร์ที่อายุน้อยที่สุดของเบิร์กเลย์หลังจากเรียนจบที่นั่น



While her Double bass gently rapes

หากกีตาร์คือสะโพกหญิงสาว แล้วดับเบิ้ลเบสคืออะไร

ใครไม่รู้บอกว่ากีตาร์เหมือนสะโพก หรือนักกีตาร์บางคนบอกรักกีตาร์มากกว่าหญิงสาว

และถ้ากีตาร์เป็นผู้หญิง กีตาร์คงครวญครางร้องได้ดังใจ แต่นิ้วมือที่ไต่ขึ้นลงบนดับเบิ้ลของเอสเพอรันซ่า นั้น บดขยี้ดั่งชำเราและเมกเลิฟกัน

ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ดับเบิ้ล เบส ทำเอาเธอลืมไวโอลินอันละเมียดไปเสียสิ้น



บทจบ เราต่างใช้ร่างกายของกันและกัน

หลายวันมานี้ฉันนั่งดูยูทูบของเธอซ้ำไปซ้ำมา และมีความรู้สึกว่า น้องนางเอสเพอร์แรนซ่าคนนี้ ช่างเซ็กซี่ เร้าใจ เธอซ่อนเร้นความคึกคะนอง ความหยิ่งผยอง ยามเธอเล่นดับเบิ้ล ในระดับชอบกล

อยากให้ลองชมคลิปใน youtube.com ชื่อ Esperanza Spalding, Wild Is The Wind, Summerstage, NYC 6-28-09 เธอขย้ำขยี้คันชักบนร่างกายยักษ์ๆ ของดับเบิ้ลเบส ประหนึ่งเธอมีเจ้าโลกเป็นของตัวเอง

อืมม์ นะ ลองดูแล้วกัน บางทีเราอาจจะไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและไม่ใช่ผู้ชาย เพราะเราใช้ร่างกายของกันและกัน!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

Esperanza Spalding - "Wild Is The Wind" (Live in San Sebastian july 23, 2009 - 5/9)
www.youtube.com/watch?v=0IqcmhkfJRE




.

2555-02-25

ชู้รัก "ศรีจุฬาลักษณ์" ไม่ใช่ "ศรีปราชญ์" โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ชู้รัก "ศรีจุฬาลักษณ์" ไม่ใช่ "ศรีปราชญ์"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 76


ตอนที่แล้วกล่าวถึงความอีนุงตุงนังเรื่องพระโอรสลับของพระนารายณ์ โดยมีพระเพทราชาเป็นตัวแปร หากถามว่าพระเพทราชามีฐานะเป็นพระญาติส่วนไหนกับพระนารายณ์หรือ? ก็คงยากที่จะตอบ

ฐานะแรกมีศักดิ์เป็น "พี่เขย" เหตุเพราะน้องสาว ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นสนมเอกของพระนารายณ์

อีกฐานะหนึ่งกลายเป็น "น้องเขย" ด้วยหลังจากที่สำเร็จโทษพระนารายณ์แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ได้สถาปนาพระขนิษฐาของพระนารายณ์มาเป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา นามกรมหลวงโยธาทิพ

เท่านั้นไม่พอ ยังเป็น "ลูกเขย" อีกสถานะหนึ่งด้วย เหตุที่ได้สถาปนาเจ้าฟ้าสุดาวดีพระราชธิดาของพระนารายณ์ ขึ้นเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย นามกรมหลวงโยธาเทพ

สรุปแล้วพระเพทราชาผู้เป็นสหชาติ พระสหายร่วมน้ำนมมารดาเดียวกันกับพระนารายณ์นี้ ได้ทำการยึดครองทั้งน้องและลูกแบบเทครัวมาเป็นชายาคู่ซ้าย-ขวา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้พสกนิกรเห็นว่าราชินีในรัชกาลถึงสององค์ มีสายเลือดเดียวกันกับราชาองค์ก่อน

กรณีของน้องสาวพระเพทราชา (บางฉบับระบุว่าเป็นพี่สาว) นามท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น มีประวัติโลดโผนไม่แพ้พี่ชาย เป็นถึงชายาองค์หนึ่งของกษัตริย์แท้ๆ แต่กลับมาจบชีวิตอนาถด้วยเรื่องฉาวโฉ่กับชายสองคน ชายคนแรกที่โจษขานให้เรารับรู้คือ "ศรีปราชญ์" นั้นมีประเด็นชวนสงสัยไม่น้อย

ส่วนชายอีกคนคืออนุชาของพระนารายณ์ บุรุษนิรนามไม่เป็นที่คุ้นหูของผู้คน แต่กลับมีพลานุภาพยิ่ง ทำให้หญิงสาวสองคนต้องพบกับโศกนาฏกรรม

คนหนึ่งหัวใจสลาย อีกคนต้องสังเวยชีวิต?



ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เป็นชู้กับศรีปราชญ์จริงหรือ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ คงต้องทำความกระจ่างเรื่องการมีตัวตนเป็นๆ ของศรีปราชญ์หรือไม่เสียก่อน เพราะแนวโน้มของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเชื่อกันมานานแล้วว่า "ศรีปราชญ์" นั้นเป็นชื่อตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกวีในราชสำนักพระนครศรีอยุธยา

หาใช่เป็นชื่อเฉพาะเรียกขานลูกชายอัจฉริยะของพระโหราธิบดีที่สามารถโต้ตอบโคลงกับใครต่อใครได้ตั้งแต่วัยเพียง 8-9 ขวบไม่

หากเชื่อว่าศรีปราชญ์คือผู้เขียนกำสรวลสมุทร (หรือที่เรียกแบบคลาดเคลื่อนว่า "กำสรวลศรีปราชญ์") ก็ย่อมหมายความว่ามีศรีปราชญ์อีกคนหนึ่ง ที่เกิดก่อนศรีปราชญ์ยุคพระนารายณ์ร่วม 200 ปี เหตุเพราะรูปแบบคำประพันธ์นั้นจัดเป็นโคลงโบร่ำโบราณที่เก่าถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ใช้ภาษาแตกต่างไปจากอยุธยาตอนปลายโดยสิ้นเชิง

ให้เผอิญว่า ศรีปราชญ์ทั้งสองยุค ต่างก็มีผู้หญิงชื่อ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เหมือนกันเข้ามาพัวพัน เรื่องเลยยุ่งพัลวันพัลเกไปกันใหญ่

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่กำสรวลสมุทรพรรณนาถึงอย่างสุดซึ้งนั้น มีฐานะเป็น "คนรัก" ร่วมหอห้องอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับผู้รจนา มิใช่ชู้รักที่กวีแอบหลงใหลได้ปลื้มในตัวพระสนมของกษัตริย์เพียงข้างเดียว หลายตอนพรรณนาถึงบทอีโรติกเข้าพระเข้านาง เกินกว่าจะเป็นจินตนาการของชายชู้

ดวงเดียวนาภิศน้อง นางสวรรค์ กูเอย
กระแหน่วแนวนาภี พี่ดิ้น
ใครเห็นอรเอววรรณ ใจวาบ วางฤๅ
ปานปีกน้อยน้อยริ้น ฤๅร้างกลัวตาย

ชื่อ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เองก็เป็นตำแหน่ง 1 ใน 4 ของพระสนมเอกที่เจ้านายหัวเมืองสำคัญต้องนำธิดามาถวายเป็นบาทบริจาริกาแด่กษัตริย์พระนครศรีอยุธยา กอปรด้วย ท้าวศรีสุดาจันทร์ (จากเมืองละโว้) ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (จากสุโขทัย) ท้าวอินทรสุเรนทร์ (จากสุพรรณภูมิ) และท้าวอินทรเทวี (จากนครศรีธรรมราช)

สนมนางใดสามารถประสูติพระโอรสได้ก่อน ก็จะเลื่อนฐานะเป็นอัครมเหสีทันที

ดังนั้น จึงไม่แปลก หากจะมีบทกวีที่พรรณนาถึงหญิงสาวในนาม "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ของคนสองยุคสมัย ที่พ้องจองกันโดยบังเอิญ รายแรกเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นมเหสีของพระบรมราชาที่ 3 ไม่ใช่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวพระเพทราชา ที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกับ "ศรีปราชญ์"


สิ่งที่ทำให้คนไทยไขว้เขวมาตลอด ก็คือโคลงบทแรกของกำสรวลสมุทร ฉบับที่คัดลอกใหม่ลงในสมุดข่อยนั้นขึ้นต้นว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบนา
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว หนึ่งน้อยยืมถวาย

พิจารณาให้ดี ทั้งเรื่องมีการใช้คำว่าศรีปราชญ์เพียงครั้งเดียว เนื้อหาโคลงบทแรกนี้ อันที่จริงเสมือนบทนำของกวีว่าเขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการรวบรวมต้นฉบับโคลงในอดีตแล้วแต่งเสริมบางท่อนที่หายไปเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้รวบรวมนี้มีทินนามว่า "ศรีปราชญ์"

นักวรรณกรรมเห็นพ้องว่าผู้รจนากำสรวลสมุทรคือพระบรมราชาที่ 3 หรือพระอินทราชา ผู้เป็นพระโอรสของพระบรมไตรโลกนาถ เขียนนิราศคราวออกศึกไปรบกับหัวเมืองมอญ ในช่วงที่พระราชบิดาเสด็จไปพิษณุโลก แล้วฝากฝังให้ดูแลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ไม่ค่อยสันทัดการสงครามนักเพราะมีนิสัยค่อนไปทางศิลปิน

เนื้อหาในโคลงนิราศจึงแต่งขึ้นขณะเดินทางไปเป็นแม่ทัพศึกที่เมืองทวาย หาใช่การที่ศรีปราชญ์แต่งด้วยความอาดูรตอนที่ถูกพระนารายณ์เนรเทศให้ไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไม่

เพราะหากไปเมืองนครฯ จริง ไยจึงไม่มีการพรรณนาเมืองเบี้ยบ้ายรายทางที่อยู่ตอนใต้เลยปากน้ำเจ้าพระยาลงไปถึงเพชรบุรี ประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ ทำไมฉากภูเขาลำคลองจึงหยุดอยู่แค่ภาคกลาง?

ในขณะที่ศรีปราชญ์ยุคพระนารายณ์นั้น ไม่ได้แต่งโคลงกำสรวลบทยาวๆ ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีแต่บทเกี้ยวพาราสีสั้นๆ ในทำนองสับปะดี้สีปะดน ทะลุ่มปุ่มปู โกวาปาเปิด บุคลิกของศรีปราชญ์เองอาจรูปชั่วตัวดำ ปากคอเราะราน ไม่น่าจะถูกสเป๊กท้าวศรีจุฬาลักษณ์เท่าใดนัก มิเช่นนั้นนางคงไม่เยาะเย้ยถากถางให้ก้มมองเงาหัวของตัวเองด้วยบทกวีชิ้นลือลั่นว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน

จนศรีปราชญ์ต้องตอบโต้ ด้วยบทกวีชิ้นท้าทายที่มีนัยะถึงการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับโคลงกำสรวลสมุทรนั้น โวหารกวีมีความอาจหาญประหนึ่งเจ้ามิใช่ไพร่ เพราะแค่จะออกเดินทางไป ก็มีสาวสนมมาแหนห้อมพิไรรำพันกันถึงท่าเรืออย่างอึกทึก ฉากนี้ยิ่งตอกย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่กำนัลนางในทั้งหลายจะแห่มาส่ง "ชายผู้ถูกเนรเทศ" เหตุเพราะเป็นชู้กับสนมของกษัตริย์

ถ้าเช่นนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (น้องของพระเพทราชา) ลอบเป็นชู้กับใคร หากไม่ใช่ศรีปราชญ์?



ชู้รักตัวจริงของท้าวศรีจุฬาลักษณ์

บุรุษผู้นั้นคือเจ้าฟ้าน้อย มีศักดิ์เป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระนารายณ์ มีน้องชายอีกคนชื่อเจ้าฟ้าอภัยทศ เชื่อว่าเจ้าฟ้าน้อยนี่ต้องเป็นคนหล่อเหลาเอาการ เพราะไม่เพียงแต่จะมีเสน่ห์ทำให้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล้านอกใจพระนารายณ์ได้เท่านั้น ทว่ายังทำให้หญิงสาวอีกคนลุ่มหลงอย่างหัวปักหัวปำ นางคือเจ้าฟ้าสุดาวดี

เจ้าฟ้าสุดาวดี คราวก่อนบอกไปแล้วว่าแอบหลงรักอาของตัวเอง เพียงแต่มีความสับสนว่าควรเป็นอาองค์ไหน ระหว่างเจ้าฟ้าน้อย คนพี่ หรือเจ้าฟ้าอภัยทศ คนน้อง เอกสารฝรั่งเศสระบุว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ แต่เอกสารฝ่ายไทยกล่าวว่า ชายคนรักของสุดาวดีคือเจ้าฟ้าน้อย

รักกับสุดาวดีอยู่ดีๆ ไฉนเจ้าฟ้าน้อยจึงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ลงคอ เอกสารบางเล่มระบุว่า ความจริงแล้วเจ้าฟ้าน้อยไม่ได้เป็นชู้ แต่ถูกกลั่นแกล้งโดยนางสนมท้าวอื่นที่ริษยา จับมือกับพระปีย์ (โอรสลับที่แท้จริงของพระนารายณ์?)

เมื่อเรื่องชู้ๆ คาวๆ แดงขึ้น พระนารายณ์จับได้คาหนังคาเขา เนื่องจากพบรองเท้าของอนุชาถอดวางอยู่หน้าห้องพระสนม ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าใครแกล้งเอาไปวาง หรือทำบ่อยจนเผลอไผล บทลงโทษของหญิงชั่วชายโฉดคู่นั้นที่ได้รับออกจะป่าเถื่อนเกินมนุษย์มนา

คือฝ่ายหญิง จับไปโยนกลางป่าให้เสือกิน (มีบางฉบับระบุว่าจับถ่วงน้ำ) ส่วนฝ่ายชาย ในฐานะที่เป็นน้องชายต่างมารดา แค่จับเฆี่ยนโบย เอาเหล็กร้อนหนีบแก้ม จนพิกลพิการ ไม่ถึงกับฆ่า


เหตุการณ์ตอนนี้บาดหลวงชาวฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระเพทราชาไม่ขออภัยโทษไว้ชีวิตให้แก่น้องสาว(ท้าวศรีจุฬาลักษณ์) ทั้งๆ ที่ตัวก็ได้ดิบได้ดีเข้านอกออกในวังกลายเป็นคนสนิทของพระนารายณ์ขึ้นมา ก็ด้วยใช้น้องสาวเป็นสะพานเชื่อมในฐานะสนมนำร่องมาก่อน เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าพวกฝรั่งเศสถือหางฟอลคอน จึงย่อมเกลียดพระเพทราชาไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ตามย่อมผิดเสมอ

ในขณะที่พระเพทราชากับพระปีย์กลับแย่งชิงกันขอทำหน้าที่โบยเจ้าฟ้าน้อย จนหลังจากสลบแล้วฟื้น กลับกลาย (หรือแกล้ง) เป็นคนใบ้ไม่พูดไม่จาอีกเลย แม้กระนั้นเจ้าฟ้าสุดาวดีก็ยังสวามิภักดิ์และพร้อมที่จะให้อภัยกลับมาครองคู่อยู่เช่นเดิม แต่แล้วไม่นานเลยเจ้าฟ้าน้อยก็ถูกกำจัด ส่วนเจ้าหญิงสุดาวดีต้องตกเป็นของพระเพทราชา

สถานะของเจ้าฟ้าน้อยนั้น แท้จริงก็คืออุปราชว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไปนั่นเอง เหตุเพราะพระนารายณ์ไม่ทรงมีพระโอรสอย่างเปิดเผย เจ้าฟ้าน้อยจึงถูกรุมรังแกทั้งโดยพระเพทราชาและพระปีย์


เรื่องที่น่าคิดอย่างหนักก็คือ บทลงโทษของเจ้าฟ้าน้อยนั้นถึงขั้นเฆี่ยนโบยปางตาย แต่ทำไมหากศรีปราชญ์เป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จริง (หมายถึงหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเจ้าฟ้าน้อย) ไยจึงแค่ถูกเนรเทศไปอยู่นครศรีธรรมราช ทั้งๆ ที่เจ้าฟ้าน้อยเป็นพระอนุชา ส่วนศรีปราชญ์เป็นแค่กวีไพร่

ความวุ่นวะวุ่นวายในราชสำนักพระนารายณ์นี้จะว่าไป ก็คล้ายนิยายประโลมโลกย์สิบตังค์ ประเภทรักห้าเส้าหกเส้า ไม่ผิดเพี้ยน ตัวละครแต่ละตัวก็ช่างแสบสันต์สุดๆ

จนเชื่อว่าหากนำไปสร้างภาพยนตร์แล้ว "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" อาจสนุกน่าตื่นเต้นเสียยิ่งกว่าเรื่อง "ท้าวศรีสุดาจันทร์" แม่หยัวเมืองวางยาเบื่อสวามี ฆ่าลูก แล้วยกบัลลังก์ให้ชู้รักนั้นก็เป็นได้

ว่าแต่ว่าเมื่อไหร่ แบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยจักมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขประวัติของผู้แต่งกำสรวลสมุทรให้ถูกต้องกันเสียทีว่า เป็นศรีปราชญ์ยุคอยุธยาต้น คนละคนกับกวีเอกสมัยพระนารายณ์



.