http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-30

ความไร้ตัวตนของรัฐและสังคม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ความไร้ตัวตนของรัฐและสังคม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 32


รัฐและสังคมไม่ได้มีมาเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เรานิยามมันขึ้นมา ฉะนั้น จะพูดถึงรัฐและสังคมอย่างไรให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน วิธีหนึ่งที่ใช้กันมากมาแต่โบราณ คือเอารัฐและสังคมไปเปรียบกับสิ่งอื่นที่เราคุ้นเคย นับตั้งแต่ต้นไม้, รังผึ้ง, เครื่องจักร และร่างกาย เป็นต้น

แต่ถึงจะเปรียบอย่างไร ก็หนีไม่พ้นการนิยามอยู่นั่นเอง และขึ้นชื่อว่านิยาม ย่อมไม่ได้กำหนดแต่ความหมายเพียงอย่างเดียว หากยังกำหนดไปถึงสิทธิ, หน้าที่, ความชอบธรรม และอื่นๆ อีกหลายอย่างของรัฐและสังคมด้วย... จะกระทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 
ความเปรียบถึงรัฐและสังคมอย่างหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลายในเมืองไทยเวลานี้ คือเปรียบกับร่างกายมนุษย์ 
ผมคิดว่าคนที่ทำให้ความเปรียบนี้แพร่หลายมากคือ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี

ความเปรียบเช่นนี้มีมาเก่าแก่มาก เพื่อเน้นหน้าที่ของคนในช่วงชั้นต่างๆ ของสังคม เช่น ในอินเดียถือว่าวรรณะพราหมณ์ออกมาจากพระเศียรของพระเจ้า กษัตริย์จากพระพาหา ลงมาจนถึงศูทรที่ออกจากพระบาท 
หรือในรามเกียรติ์ไทย ก็เปรียบกษัตริย์เป็นศีรษะ ไล่ไปถึงไพร่คือขา ซึ่งต้องทำงานหนักเพื่อพยุงร่างกายให้ดำรงอยู่ไว้ 
ไม่กี่สิบปีมานี้เอง ปรัชญามหาดไทยยังยืนยันว่ามนุษย์เราไม่เท่ากัน แม้แต่นิ้วมือเรายังไม่เท่ากัน และหากนิ้วมือยาวเท่ากัน ก็ใช้มือทำอะไรได้ลำบาก 
แต่ผมไม่คิดว่าท่านอาจารย์ประเวศเปรียบรัฐและสังคมกับร่างกายมนุษย์ เพื่อเน้นหน้าที่ซึ่งแตกต่างกันของคนในช่วงชั้นต่างๆ แต่เป็นความเปรียบภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยม คือเพื่อให้ความสำคัญแก่ทุกเซลล์ของร่างกายเสมอกัน เปิดให้รัฐและสังคมไทยรับข้อมูลข่าวสารอย่างที่ร่างกายมนุษย์มีประสาทคอยรับข้อมูลอย่างละเอียดยิบ ตลอดจนความร่วมมือของทุกเซลล์ที่จะตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นได้อย่างไรก็ตาม ความเปรียบรัฐและสังคมเหมือนร่างกายมนุษย์ของท่านอาจารย์ประเวศ ถูกลูกศิษย์ลูกหานำไปใช้ต่ออย่างกว้างขวาง โดยอาจไม่ได้มีเป้าหมายเชิงเสรีนิยมอย่างท่านอยู่บ่อยๆ

ผมจึงอยากพูดถึงข้อจำกัดของความเปรียบนี้ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านท่านอาจารย์ประเวศ แต่เพื่อให้เห็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของความเปรียบ เนื่องจากว่ารัฐและสังคมคือรัฐและสังคม (ซึ่งเป็นแค่ความคิดของคน) ไม่ว่าจะเอาไปเปรียบกับอะไร ก็ล้วนมีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงทั้งสิ้น



ประการแรกเลย การที่ร่างกายมนุษย์สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือสารพิษนั้น จะว่าไปก็เพราะมันมีหน่วยความจำแฝงอยู่ในทุกเซลล์ว่า อะไรเป็นอันตรายและอะไรไม่เป็นอันตราย 
รัฐและสังคมก็มีหน่วยความจำอย่างนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเกิดจากการอบรมสั่งสอน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ใช้ทั้งวิธีกล่อมเกลาและบีบบังคับ เพื่อให้มองสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นอันตราย หรือเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ 
ดังนั้น รัฐและสังคมจึงไม่ได้ขจัดแต่สารพิษหรือเชื้อโรคเท่านั้น หากขจัดคนมีอำนาจน้อยกว่า เพราะคนมีอำนาจน้อยไม่สามารถร่วมกำหนดได้ว่า สิ่งใดเป็นอันตรายหรือไม่ ผู้มีอำนาจน้อยหรือผู้แข่งขันอำนาจกับคนมีอำนาจ จึงมักถูกขจัดอยู่เสมอ

อย่าว่าแต่รัฐและสังคมเลย แม้แต่ร่างกายมนุษย์ซึ่งทำงานสลับซับซ้อนได้อย่างดีเยี่ยม ก็ยังทำงานผิดอยู่บ่อยๆ ขจัดสิ่งที่ไม่ควรขจัดในคนที่เป็น "โรคพุ่มพวง" หรือดูดซึมสิ่งที่ไม่ควรดูดซึม เช่นสารตะกั่ว เป็นต้น 
เพราะสังคมไม่ใช่ร่างกายมนุษย์ เราจึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาซึ่งมาจากการตกลงร่วมกัน มีความเป็นธรรม และโปร่งใส ในการขจัดสิ่งที่ถือว่าไม่ดีออกไป ไม่ว่าจะขจัดไปไว้ในคุกหรือขจัดไปต่างประเทศ ไม่ว่าขจัดคนหรือขจัดความคิด


ในประการต่อมา กระบวนการเลือกสรรเพื่อดูดซึมหรือขจัดออกไปของร่างกายมนุษย์นั้น ค่อนข้างเสถียร คือไม่เปลี่ยนแปลง แต่รัฐและสังคมไม่ควรจะใช้กระบวนการที่เสถียรขนาดนั้นไม่ใช่หรือ อย่างน้อยเราก็ต้องหวังว่ารัฐและสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องถูกฉีดยาผ่าตัดกันขนานใหญ่เหมือนร่างกายมนุษย์
ผมคิดว่า การเปรียบรัฐและสังคมเป็นร่างกายมนุษย์จำกัดพลวัตของรัฐและสังคมลงไปมากทีเดียว


ประการต่อมา โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะแบ่งช่วงชั้นของคนนะครับ เมื่อรัฐและสังคมถูกเปรียบกับร่างกายมนุษย์ พลเมืองของรัฐและสมาชิกของสังคมก็ถูกแยกออกเป็นสองประเภท คือเซลล์ดีมีประโยชน์กับเซลล์เสียเป็นอันตรายต่อร่างกาย 
เซลล์เสียที่เป็นอันตรายนี้จะทำอย่างไรกับมันดี ก็ต้องขจัดออกไปเท่านั้น 
ผมคิดว่า โดยไม่ได้ตั้งใจอีกเหมือนกัน การเปรียบรัฐและสังคมเป็นร่างกายมนุษย์นี้ ได้ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูกถือว่าเป็นอันตรายลงไป และทำให้สะดวกในอันที่จะขจัดเขาด้วยวิธีต่างๆ เหมือนเราขจัดเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็ง 
และในทางตรงกันข้าม เซลล์ดีก็จะได้รับการพิทักษ์ปกป้องเป็นพิเศษ นี่คือที่มาของลัทธิคนดี

คนดีนั้นควรได้รับการยกย่องสรรเสริญในรัฐและสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่กระบวนการที่สังคมจะตระหนักรู้ว่าใครคือคนดีนั้น ใช้เวลาที่ยาวนานพอสมควร แต่ก็จำเป็น เพราะทำให้มองเห็นว่าดีตรงไหน และไม่ดี หรือก็งั้นๆ ตรงไหน เพื่อให้ในที่สุดแล้ว สังคมย่อมยกย่องความดีมากกว่าคนดี 
แต่ลัทธิคนดีที่แพร่หลายเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางสังคม หากอาศัยการชี้นิ้วของคนดีที่สังคมยกย่องแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ประกาศตัว-โดยตรงหรือโดยนัยยะ-ว่าตัวเป็นคนดี 
ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ ลัทธิคนดีให้อำนาจและสิทธิแก่คนดีไว้เหนือคนทั่วไป เกิดอภิสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบ หรือจับจองตำแหน่งในองค์กรสาธารณะที่ใช้เงินภาษีประชาชนหลายองค์กรด้วยกัน



อีกด้านหนึ่งของความเปรียบนี้ ก็คือรัฐและสังคมมีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เหมือนร่างกายมนุษย์ หากได้พลังงานที่เหมาะสมแล้ว มันก็ทำงานของมันไปโดยไม่มีใครสั่ง เพราะร่างกายมนุษย์มีเป้าหมายที่ค่อนข้างแคบ คือมีชีวิตรอดเท่านั้น 
อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า รัฐและสังคมไม่ใช่สิ่งธรรมชาติ หากเป็นสิ่งสร้างของมนุษย์เราเอง มันจึงมีเป้าหมายอื่นๆ มากกว่าเป้าหมายทางชีววิทยา เช่น ถึงอยากมีชีวิตรอดหรือดำรงอยู่สืบไปเหมือนร่างกายมนุษย์ แต่ก็อยากดำรงอยู่อย่างมีเกียรติอีกด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถใส่สิ่งที่เป็นคุณค่าลงไปในกระบวนการทำงานของร่างกายมนุษย์ได้ ในขณะที่รัฐและสังคมนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยข้ออ้างถึงคุณค่ามากมายเสียจนกระทั่ง ปราศจากคุณค่าเหล่านั้น รัฐและสังคมก็หมดความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ 
ถึงแม้จะให้ความสำคัญแก่ทุกเซลล์ของร่างกายเหมือนกันก็จริง แต่ก็ไม่ "เท่ากัน" เพราะแต่ละเซลล์มีหน้าที่เฉพาะของตนเอง ที่สามารถทำงานได้ ก็เพราะต้องประสานกัน และจะประสานกันได้ ก็ต้องมีสมองคอยสั่งการ

เมื่อจำลองร่างกายมนุษย์มาเป็นรัฐและสังคม หน้าที่ของคนส่วนใหญ่คือเชื่อฟัง เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล
นอกจากเป็นความคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นเองแล้ว รัฐและสังคมยังถูกความคิดมนุษย์สร้างขึ้นใหม่ หรือปรับเปลี่ยนจากของเดิมไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง รัฐและสังคมจึงเปรียบกับอะไรไม่ได้สักอย่าง เปรียบกับเครื่องจักร มันก็แน่นิ่งเสียจนเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย เปรียบกับต้นไม้ ถึงจะเปลี่ยนได้ ก็เปลี่ยนไปตามฟอร์มเดิม ไม่มีวันที่จะเอารากชี้ฟ้าได้

เพราะรัฐสังคมไม่มี "กาย" ที่หยุดนิ่งให้ไปเปรียบกับอะไรได้

ยิ่งกว่านี้ ไม่ว่าจะเอาไปเปรียบกับอะไร ก็ล้วนมีข้อจำกัดของความเปรียบเสมอ



.

ละคร โดย คำ ผกา

.

ละคร
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 89


ใครๆ ก็บอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์เป็นความเสื่อม

ความเสื่อมเบื้องแรกของนักศีลธรรมดัดจริตคือ "นม" ไม่สมควรมาอยู่ในที่สาธารณะ 
ในมาตรฐานเช่นนี้ฉันสงสัยมากว่า ลำพัง "นม" ทำไมจึงเป็นปัญหาแก่สังคมไทย ที่ใช้คำว่า "ลำพังนม" เพราะ "นม" ของหญิงสาวในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์นั้นไม่ใช่ "นม" ที่อยู่ในบริบทของความอนาจารหากเราจะมองว่าการอนาจารบาดศีลธรรมนั้นต้องมีนัยของการยั่วยวนทางเพศ ปลุกเร้า กระตุ้นความหื่นกระหาย
แต่ "นม" ที่ถูกเอาสีสาดจนมองไม่เห็น "นม" แล้วหันหลังไปป่ายซ้ายป่ายขวา นั้นเป็นความอนาจารที่ตรงไหน? (แต่หากจะประณามว่ารูปที่วาดออกมามันห่วยสิ้นดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่หรือไม่?)

หากสังคมไทยจะดีดดิ้นกับศีลธรรมทางเพศ ทำไมจึงยินดีกับโฆษณาอาหารเสริมที่ฉายอยู่ใน BTS อันมีหญิงสาวนั่งแสดงท่าทางอันยั่วยวนอยู่บนโซฟาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งเปิดเผยเจตนาไม่อยากให้ "ผู้ชาย" ออกไปทำงาน เธอจึงดื่มเครื่องดื่มที่มีอาหารเสริมที่ว่ากันว่าทำให้ผิวเปล่งปลั่ง ดื่มเข้าไปแล้ว ผิวก็เปล่งประกายออร่า ผู้ชายจึงเปลี่ยนใจจากการออกไปทำงานอันหามานัวเนียนั่งฟัดกับหญิงสาวบนโซฟาแทน
จากนั้นหญิงสาวก็หันมาสบตากับคนดูเป็นนัยบอกว่า "อยากให้ผัวรักผัวหลงไม่เป็นอันทำการทำงานก็ดื่ม...สิคะ"

คณะกรรมการสิทธิฯ กสทช. หากปรารถนาจะก้าวก่ายหวังดีต่อเรื่องศีลธรรมของสังคมไทยต้องจัดการกับ "สื่อลามก" ชิ้นนี้ เพราะมีเจตนาปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศทั้งชี้นำให้ประชาชนหมกมุ่นแต่ในเรื่องการร่วมเพศอย่างโจ๋งครึ่ม 
ผู้หญิงในโฆษณาชิ้นนี้ต้องถูกประณามเพราะ "ผู้ชาย" กำลังจะออกไปทำการ "ผลิต" เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเศรษฐกิจของชาติ กำลังจะออกไปสร้างจีดีพีให้กับประเทศ ไฉนต้องมาโยนสูททิ้งแล้วลงไปเกลือกกลั้วกับหญิงแพศยาเช่นนั้น

อันนี้สิ ทำลายชาติทำลายเศรษฐกิจของจริง แล้วประเทศชาติของเราจะปล่อยให้ผู้หญิงวันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากคิดเรื่องจะดื่มเครื่องดื่มผสมกลูต้า คอลลาเจน จะทาโลชั่นผสมชะมดเช็ด จะสระผมด้วยแชมพูอะไร ทาจั๊กแร้อย่างไรให้แห้งหอม จะล้างจิ๋มด้วยน้ำยาอะไรจึงดึงดูผู้ชายเข้ามาในซอกขา 
วันๆ เราดูแต่โฆษณาเช่นนี้ที่กล่อมเกลาผู้หญิงให้หมกมุ่นอยู่กับคำถามที่ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้ผู้ชายออกไปทำงานแล้ว..อยู่กับชั้น..ทั้งวัน?
ผู้หญิงของประเทศไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ของเราก็ไม่ต้องออกไปทำการผลิตอะไรแล้ว วันๆ คิดแต่เรื่องหาผัวและรักษาผัวไปกับตัวตลอดกัลปาวสาน!  
อีแบบนี้ ฉันไม่เห็นผู้คลั่งศีลธรรมมือถือสากปากท่องคาถาจะร้อนใจ


นี่ยังไม่นับดารานางแบบใส่เสื้อผ้าแต่เหมือนไม่ใส่ลงไปอาบน้ำโชว์กลางห้างดังที่ฮิตทำกันมากอยู่ช่วงหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สินค้า น้องอั้ม น้องอุ้ม น้องอะไรต่อมิอะไร อาบน้ำโชว์สื่อ สำแดงกิริยาที่ว่ากันว่า "ยั่วยวน" หรี่ตา เผยอปาก และอะไรต่อมิอะไร อันดูแล้วส่อความล่อแหลมทางศีลธรรมกว่า "นม" ดาดๆ ในไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์มากนัก
แต่เพราะเหตุใดนมของน้องอั้ม น้องอุ้ม จึงเป็นนมที่มีเกียรติ น่ายกย่อง แถมยังมีราคาแพงกว่านมของหญิงสาวในไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์หลายเท่า เพราะค่าตัวของหญิงสาวคนนั้นแค่หนึ่งหมื่นบท แต่นมน้องอ้อม อุ้ม อั้ม อั๋น ออย ฯลฯ ที่เป็นดารานั้นคงหลายแสน

ทีนี้ท่าจะบอกว่าก็นมของน้อม อั้ม อุ้ม อั๋น ออย ฯลฯ นั้นมีเป็น "นม" ที่สวย-โอเค หากเป็นเหตุผลนี้ก็จงจำกัดขอบเขตของการถกเถียงเอาไว้ตรงที่ "นมสวยโชว์ได้ นมไม่สวยอย่าโชว์" อย่าไปเลเพลาดพาดไปที่เรื่องศีลธรรม จรรยา ความลามกจกเปรต 
เพราะอย่างที่บอกว่าโฆษณาสินค้า โดยเฉพาะเครื่องสำอางของผู้หญิงเกือบทุกตัวในเมืองไทยนั้นส่อเจตนาทางเพศลามกกว่าการเปิดจิ๋มเปิดนมกันโต้งๆ หลายเท่า



พ้นจากเรื่อง "นม" ตัวการทำศีลธรรมและวัฒนธรรมไทยเสื่อม (ลืมคิดไปว่าหาก "ลำพังนม" ในฐานะที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ปราศจากบริบททางวัฒนธรรมมากำกับความหมายของ "นม" แล้ว มันสามารถสร้างความเสื่อมให้กับวัฒนธรรมไทยได้ ฉันคิดว่าอารยธรรมโบราณในโลกนี้ทุกอารยธรรมรวมทั้งสยามคงล่มสลายไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดไปหลายร้อยปีแสงแล้ว) รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ตกเป็น "จำเลย" ของสังคมไทยข้อหา หลอกลวง เพราะเรื่องโอละพ่อไปจ้างหญิงสาวคนหนึ่งมาสมอ้างว่าเป็น "ศิลปิน" มาแสดง "ทาเลนต์" ในการวาดรูป

ฉันซึ่งไม่ใช่ "แฟน" รายการโทรทัศน์ ทั้งประกาศตัวโจ่งแจ้งเสมอว่า รังเกียจรสนิยมบันเทิงที่อยู่ในโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ฟูมฟายอันเกินกว่าเหตุ ความขบขันบ้าคลั่งเกินกว่าเหตุ ความโรแมนติกกว่าเหตุ และอีกหลายต่อหลายสิ่งอันเกินกว่าเหตุ 
ทั้งยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า อาการรังเกียจรสนิยมในความบันเทิงของมวลชนนั้นมันคือ "ความดัดจริต" อย่างหนึ่งนั่นแหละ  
แหม...ปัญญาชนใครเขาจะมาอภิเชษฐ์กะอะไรดาดๆ อย่างนี้เล่า-คุณก็!


แม้จะไม่ใช่แฟนรายการโทรทัศน์ แต่รายการโทรทัศน์ในฐานะที่เป็นมหรสพอย่างหนึ่งมันย่อมไม่ได้นำเสนอ "ความจริง" ในระดับของ "สถานการณ์" ที่เกิดขึ้นใน Show มิใช่หรือ? 
จะรายการเกมโชว์ รายการแฟนพันธุ์เทียม รายการทอล์กโชว์ และอื่นๆ ของรายการ "เพื่อความบันเทิง" กระแสหลัก ล้วนถูกนำเสนอในฐานะที่เป็น "ละคร" มีการกำหนดบุคลิกตัวแสดง บุคลิกของคนที่จะได้เป็นแชมป์ มีการเขียนสคริปต์อย่างละเอียดไปพร้อมกับการกำหนดมุมกล้อง การจัดแสง การใช้เพลงประกอบ การจัดวางจังหวะของการตัดต่อเพื่อให้บรรลุผลทางอารมณ์
อย่างที่ โรลองด์ บาร์ตส์ บอกว่า มหรสพของมวยปล้ำนั้นคือการแสดง "ละครชีวิต" ที่เสนอ "ภาพของอารมณ์" มิใช่ "อารมณ์จริง"

ละคร ไม่ว่าจะเป็นละครหลังข่าวหรือละครที่แฝงตัวมาในทอล์กโชว์ (กะเทยถูกรถชนแล้วหายเป็นกะเทย, กะเทยกตัญญู ร้องเพลงเลี้ยงครอบครัว, นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแต่ทิ้งทรัพย์สินไปแสวงหาความสงบทางจิตและอยู่กับธรรมะ, ดาราที่แม้อยู่กับแสงสีแต่ฝักใฝ่ในการนั่งวิปัสสนา ฯลฯ) เหล่านี้ล้วนเป็นละครสะท้อนสถานการณ์เชิงคุณค่าอันเป็น "นามธรรม" ให้เข้าใจง่าย แจ่มแจ้งเป็นรูปธรรม 
และ "บทละคร" เหล่านี้จะบรรลุผลได้ต้องรู้จักเขียนให้สอดคล้องกับ "มายาคติ" ของคนในสังคมนั้นๆ 
เช่น คนอีกครึ่งโลก โดยเฉพาะโลกที่ 1 คงเข้าใจไม่ได้ว่าทำไม อีแพงต้องเกิดไปเป็นหมา เพราะหมาในโลกสมัยใหม่เป็นสัตว์ที่อยู่ดีกินดีได้รับการปกป้องสิทธิ การเหยียดหยามสัตว์ว่าต่ำกว่ามนุษย์แทบจะเป็น "บาป" ในโลกสมัยใหม่ การรักสัตว์อย่างล้นเกินก็แทบจะเป็นจริตหลักของโลกเช่นนี้   

ดังนั้น การที่คนชั่วตายไปแล้วเกิดเป็นหมา จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเข้าใจได้ หรือทำไมเมียหลวงไปนั่งสมาธิแล้วผัวกลับมาคืนดี 
เหตุที่ไม่เข้าใจก็เพราะว่า "มายาคติ" นั้นมันไม่สอดคล้อง ไม่ได้อยู่ในชุดคุณค่าและความเชื่อเดียวกัน


การพิจารณารายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยจึงไม่น่าจะใช่การด่า การประจาน การปรับเงินห้าแสน หรือการไปหมกมุ่นที่ประเด็น "หลอกลวง" 
เพราะ การ "สมมุติ" เหตุการณ์เป็นสิ่งจำเป็นของการทำมหรสพ อีกทั้งคนดูพึงรู้ทุกครั้งที่นั่งดู โชว์" เหล่านี้ว่า-มันคือการ "แสดง" ที่สะท้อนความปรารถนาและคุณค่าที่เราในฐานะคนดูยึดถือว่าเป็น "ความจริง" 
ดังนั้น สิ่งที่เราพึงทำคือตั้งสติสำรวจหา "ความจริง" ที่สังคมไทยยึดมั่นถือมั่นคลั่งไคล้ใหลหลงและอาจถึงขั้น ฆ่า ประหารชีวิต ปรับ ลงโทษใครก็ตามที่บังอาจไม่เชื่อในความจริงชุดเดียวกันกับที่พวกเขาเชื่อ 

หากสังคมไทยไม่เป็นโรคกลัว "นม" จนขึ้นสมอง "แผนการตลาด" ของทีมงานไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ จะได้ผลหรือไม่? 
หากสังคมไทยมีวุฒิภาวะเรื่องนม ดราม่าเรื่องนี้คงจะแป๊กเฟลเหลวไหลไม่เป็นท่าแถมยังน่าหัวเราะเยาะ ขาดทุนมากกว่าเงินห้าแสนที่โดนปรับกันไปหลายเท่า

ละครเรื่องต่อมาที่บอก "ความจริง" หลายอย่างของสังคมไทยคือ การล้างบาป ดูเหมือนจะหนทางเดียวเท่านั้นหญิงเสเพล ดอกทอง นอกคอก จะล้างบาปของเธอได้ คือการเปิดให้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของเธอในฐานะลูกกตัญญู ทุกวันนี้คนไทยยังถูกตอกตรึงในอยู่กับละครเรื่อง "วัลลี" เด็กหญิงที่กัดฟัน เสียสละ ยอมออกจากโรงเรียนเพื่อให้พ่อแม่ น้องได้มีกิน ได้หาเงินมารักษาพยาบาลพ่อที่นอนป่วยอยู่บนเตียง 
จากนั้นการ reconcile ทางชนชั้นจะเกิดขึ้น ในเรื่องสั้น "วัลลี" ครอบครัวเพื่อนของวัลลีที่ร่ำรวย สวยงามมาเยี่ยม แล้วช่วยเหลือวัลลี แม่ของเพื่อนวัลลีถึงกับอุ้มน้องของวัลลีที่ผอมแห้งเพราะไม่ได้กินนม เอามาดูดนมอันสมบูรณ์อวบอิ่มของตนเองอย่างไม่รังเกียจเลยสักนิด



ละครของไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์มาถึงตอนอวสาน 
เพราะตัวละครออกมาเล่นกันครบแล้ว ทั้งเด็กหญิงผู้เป็นเหยื่อนายทุน 
สังคมอันดีงามที่ต้องการพิทักษ์ศีลธรรม 
พ่อที่เป็นอัมพาต 
สุดท้ายแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะสังคมเปี่ยมศีลธรรมย่อให้อภัย "เหยื่อ" ผู้อ่อนแอ เขลา และหลงผิด

จากนั้นก็มีมือที่เกื้อกูลมา reconcile สังคมและความเหลื่อมล้ำทั้งหลายให้มลายลงไปด้วยเมตตา 
นี่คือ "ความจริง" ที่จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานเท่านาน และเราก็มีมีความสุขกับการได้ดูละครรีเมกซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ใครจะอยากดูละครที่วัลลีลุกขึ้นมาบอกว่าเธอไม่ต้องการสังคมสงเคราะห์แต่ต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคม
ใครจะอยากดูละครที่เหยื่อลุกขึ้นมายืนยันความถูกต้องชอบธรรมของ "นม" ตนเอง



.

ICTs : อาวุธใหม่ทางการเมือง โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ICT s : อาวุธใหม่ทางการเมือง
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 40


"เทคโนโลยีทำให้รัฐมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น
ในการควบคุมข่าวสารที่ประชาชนได้รับ" 
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
13 มิถุนายน ค.ศ. 1989



ในโลกของระบบสารสนเทศสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบันนั้น เรามักจะชอบพูดเสมอว่า "เราอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติสารสนเทศ"
และแน่นอนว่าการปฏิวัติเช่นนี้อาจดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง บางทีอาจจะตลอดช่วง 100 ปีข้างหน้าก็ว่าได้! 


เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ หรือบางทีเราอาจจะเรียกว่า "เทคโนโลยีดิจิตอล" (Digital Technologies) ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการการเก็บข้อมูลในปริมาณเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านข้อมูลเป็นจำนวนมากเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว 
ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อันได้แก่ "พื้นที่ข่าวสาร" (Infosphere)
ในพื้นที่เช่นนี้มีข่าวสารอยู่มากมายมหาศาล และการเข้าถึงข่าวสารเหล่านี้อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียแต่อย่างใด หรือหากจะมีอยู่บ้างก็อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก จนแทบจะไม่มีราคาค่างวดเท่าใดนัก
ตัวอย่างของการค้นหาข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากรู้ผ่านเว็บไซต์ของกูเกิล (Google) เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นใจและสนุกกว่าการที่ต้องเข้าไปค้นคว้าข้อมูลในห้องสมุดแบบเดิมอย่างมาก 

และการสืบค้นผ่านเว็บกูเกิลเช่นนี้ยังเชื่อมต่อไปสู่ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่รู้จบ จนทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับห้องสมุดที่เก็บหนังสือเป็นจำนวนมากไว้ในแบบเก่าว่า กำลังจะหมดยุคไปหรือไม่ 
เพราะห้องสมุดในโลกยุคใหม่กลายเป็น "ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์" (E-Library) ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและหนังสือต่างๆ ไว้ได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งสำหรับผู้ใช้แล้ว ห้องสมุดนี้อาจจะมีความหนาและหนักเท่ากับตัวแท็บเล็ตหนึ่งอันเท่านั้น


ลองยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับคนที่ชอบเก็บหนังสือเอ็นไซโคลพีเดียไว้ใช้เพื่อการค้นคว้า ซึ่งจะพบว่าหนังสือในลักษณะนี้มีความหนาและต้องใช้พื้นที่ในการเก็บอย่างมาก (และรวมถึงมีน้ำหนักอย่างมากด้วย) หรือกรณีของพจนานุกรมเล่มใหญ่ทั้งหลายก็ไม่แตกต่างกัน 
แต่วันนี้หนังสือเหล่านั้นถูกนำมาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์พกพาทั้งหลาย และขณะเดียวกันก็สามารถเรียกใช้ได้อย่างง่ายดายด้วย

ในทำนองเดียวกันข้อมูลอื่นๆ ก็มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่กล่าวถึงในข้างต้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ทำให้ข่าวสารเป็นจำนวนมากสามารถเก็บไว้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กมาก และขณะเดียวกันข่าวจำนวนมากเช่นนี้ก็สามารถส่งออกไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว และถึงผู้รับเป็นจำนวนมากโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นเขตอธิปไตยหรือเส้นใดๆ ที่รัฐกำหนดขึ้นทั้งสิ้น 
จนเสมือนหนึ่งโลกสารสนเทศนั้น ทำให้รัฐอยู่ในสภาพ "ไร้พรมแดน" เพราะข่าวสารต่างๆ สามารถข้ามเส้นเขตอธิปไตยของรัฐได้อย่างไม่มีขีดจำกัด 
สภาพเช่นนี้ทำให้ "พื้นที่ข่าวสาร" กลายเป็นพื้นที่ใหม่ไม่ว่าจะมองในมุมของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคงก็ตาม และขณะเดียวกันก็ทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ ไม่ว่าจะเพื่อเข้าถึงหรือเพื่อสร้างพื้นที่เช่นนี้ เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตทั้งของคน ของรัฐ และของสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน   
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีพื้นที่ของกิจกรรมใดของมนุษย์จะหนีจากระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันได้



ถ้าเรายอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นจริง สิ่งที่จะเป็นผลพวงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การจัดลำดับชั้นของบุคคลภายในองค์กร (organizational hierarchies) จะมีลักษณะแบนราบลง ไม่ใช่จะเป็นในรูปสามเหลี่ยมที่มีอำนาจสูงสุดอยู่บนยอดปลายแหลมของสามเหลี่ยมนั้นอีกต่อไป 
สถาบันหรือองค์กรที่มีลักษณะรวมศูนย์ก็จะถูกบังคับให้ต้องกระจายอำนาจออก ไม่ว่าพวกเขาจะยอมรับแนวคิดในเรื่องของการกระจายอำนาจหรือไม่ก็ตาม 
ปัจเจกบุคคลทั้งหลายจะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะเดียวกันการเชื่อมต่อของคนจะนำไปสู่การจัดกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันให้เข้ามาอยู่รวมกัน และกลายเป็นกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ หรือกลายเป็นเครือข่ายที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในรูปของ "ชุมชนอิเล็กทรอนิกส์" 
ผลของสภาพเช่นนี้ทำให้องค์กรขนาดใหญ่ในแบบเก่าไม่ว่าจะเป็นรัฐ บรรษัท หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ถูกสร้างเพื่อเก็บข้อมูลที่มีปริมาณเป็นจำนวนมหาศาลในรูปแบบที่เป็น "อนาล็อก" (analog) กลายเป็นความล้าสมัยเป็นอย่างยิ่ง

หากมองในบริบทของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ เราคงจะต้องยอมรับว่าการปฏิวัติด้านสารสนเทศส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของมนุษย์ไม่แตกต่างไปจากการปฏิวัติในอดีต เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในยุโรปในศตวรรษที่ 19 
หากแต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความรวดเร็วของผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมกว่าจะขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

แต่การปฏิวัติด้านสารสนเทศที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 นั้นขยายผลอย่างรวดเร็ว และข้ามข้อจำกัดของความเป็นรัฐที่ซึ่งเส้นเขตแดนไม่ใช่อุปสรรคที่จะกีดขวางการไหลข้ามของข่าวสารได้แต่อย่างใด 
และภายในรัฐเองก็แทบไม่มีอะไรหยุดยั้งการเคลื่อนตัวของข่าวสารเช่นนี้ได้เลย 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกร่วมสมัยของศตวรรษที่ 21 เป็นโลก "ไอซีที" หรือโลกของเทคโนโลยีติดต่อสื่อสารและข้อมูลข่าวสารที่เป็นดิจิตอล (Digital Information and Communication Technologies-ICTs) 
ซึ่งโลกชุดนี้ก่อให้เกิดคำถามโดยตรงว่า แล้วรัฐจะทำอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงด้านสารสนเทศที่เกิดขึ้น?


เราอาจจะกล่าวเป็นเชิงทฤษฎีได้ว่า ความเป็นรัฐในบริบทของข้อมูลข่าวสารก็คือ ประสิทธิภาพของรัฐเกิดขึ้นจากขีดความสามารถในการสะสม ประมวล (หมายถึงการจัดข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่) และใช้ หรือในบางกรณีก็รวมถึงการผูกขาดข้อมูลดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะพบว่าทุกรัฐมีระบบราชการขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และระบบราชการนี้ก็คือการใช้มนุษย์เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเก็บ รวบรวม สะสม ประมวล และใช้ข้อมูลต่างๆ

ดังได้กล่าวแล้วว่า ข้อมูลเช่นนี้เป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทหาร และข้อมูลเหล่านี้ในหลายๆ เรื่องเป็น "ความลับ" ซึ่งรัฐอาจจะถือว่าการรั่วไหลของข้อมูลเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบด้านความมั่นคงต่อรัฐได้ 
แต่เมื่อระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปในสังคมวงกว้าง รัฐจึงมิใช่องค์กรเดียวที่จะผูกขาดการมีและใช้ข้อมูลเช่นในอดีตอีกต่อไป
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐมิใช่ผู้ผูกขาดข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงข้อมูลข่าวสาร (decentralization of information) ซึ่งก็คือ รัฐไม่สามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของและการตีความข้อมูลข่าวสารเช่นในแบบเดิม 
รัฐจึงไม่ใช่ผู้เดียวที่จะบอกว่าอะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่เผชิญกับการท้าทายที่ถูกตอบโต้ว่า "ไม่จริง" หรือ "ไม่เชื่อ" อีกต่อไป 
ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกดิจิตอลเช่นนี้ตอบได้โดยตรงว่า รัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก

ความเป็นรัฐประชาชาติที่ก่อตัวมาตั้งแต่ ค.ศ.1648 พร้อมกับการผูกขาดหลายๆ เรื่องไว้ในความเป็นรัฐนั้นกำลังถูกลดทอนลง และอำนาจในการควบคุมและตีความข่าวสารต่างๆ ที่ผู้ปกครองหรือชนชั้นนำรัฐใช้เพื่อกำหนดทิศทางการเดินของสังคมไปตามทางที่พวกเขาต้องการนั้นกำลังกระจายตัวออก และควบคุมได้ยากขึ้น
สภาพเช่นนี้ทำให้การ "เซ็นเซอร์" ข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบัน กลายเป็นกลไกที่ใช้การไม่ได้ หรือทำให้การควบคุมข่าวสารของรัฐในแบบเดิมนั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง 
เมื่อรัฐต้องเผชิญกับข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงปรารถนา พวกเขาไม่อาจทำลายทิ้งได้ด้วยการฉีกหรือปิดสถานี เช่น การฉีกข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ข้อมูลที่รัฐไม่ต้องการ 
หรือไม่อาจกระทำได้ด้วยการปิดสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ในแบบเดิมที่ส่งข่าวสารที่รัฐไม่ปรารถนาจะให้ประชาชนในวงกว้างได้รับรู้

ถ้ามองปัญหาในบริบทด้านความมั่นคง การขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอลเช่นนี้นำพาปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ให้แก่รัฐ 
จนในบางรัฐมีข้อสรุปว่า เทคโนโลยีเช่นนี้เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง 
เช่น รัฐบาลในบางประเทศไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือของ BlackBerry เพราะควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารไม่ได้ หรือในอดีตรัฐบาลทหารของพม่าไม่อนุญาตให้ประชาชนมีเครื่องแฟ็กซ์ เป็นต้น



ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ICTs กับความมั่นคงของรัฐเป็นประเด็นที่จะต้องนำมาศึกษากันใหม่ ดังจะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "Arab Spring" นั้น เครื่องมือสำคัญของประชาชนที่ใช้ต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการก็คือระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ ยูทูบ หรือเฟซบุ๊กก็ตาม  
หรือหากย้อนกลับไปในอดีตไม่ไกลนัก เราจะพบว่าการรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน 1989 นั้น เครื่องแฟ็กซ์มีบทบาทอย่างมากในการกระจายข่าวสารของฝ่ายนักศึกษาในการต่อสู้กับรัฐบาลจีน 
ต่อมากับการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 1992 โทรศัพท์มือถือมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งข่าวสารและระดมพลเข้าร่วมการชุมนุม  
หรือก่อนการรัฐประหาร 2006 (พ.ศ.2549) ก็มีการใช้เว็บไซต์ในการโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาลทักษิณในเรื่องต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า การโจมตีด้านสารสนเทศเช่นนี้มีส่วนอย่างมากในการปลุกระดมชนชั้นกลางในเมืองให้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และมีส่วนโดยตรงต่อการสร้างความชอบธรรมที่ปูทางไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลในเวลาต่อมา
หรือหลังรัฐประหารดังกล่าวก็มีการใช้เครื่องมือสารสนเทศเหล่านี้ในการปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีการปลุกกระแสชาตินิยมจากปัญหาปราสาทพระวิหารในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เป็นต้น



ในต้นศตวรรษที่ 21 ความสำเร็จของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับมีเครือข่ายของระบบสารสนเทศเป็นอาวุธสำคัญของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะในตูนิเซีย อียิปต์ หรือลิเบีย ล้วนเป็นผลมาจากเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอล
จนบางทีเราอาจจะสร้างทฤษฎีใหม่ในทางการเมืองได้ว่า ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลในโลกร่วมสมัยก็คือ ขีดความสามารถในการควบคุมการไหลของข่าวสารในระบบดิจิตอล และขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข่าวสารดังกล่าวอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่รัฐเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมจะเผชิญกับการท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อประชาชนใช้ระบบสารสนเทศสมัยใหม่เป็นอาวุธในการต่อสู้  
หรือในทางกลับกันก็คือ ระบบสารสนเทศดิจิตอลกลายเป็นอาวุธชนิดใหม่ในทางการเมืองนั่นเอง


สงครามข่าวสารในโลกร่วมสมัยจึงเป็นรูปลักษณ์ของ "สงครามใหม่" ไม่ว่าจะเป็นเวทีการเมืองภายในหรือการเมืองระหว่างประเทศก็ไม่แตกต่างกัน 
และยังเห็นอีกด้วยว่า อาวุธแบบเก่าของสงครามในยุคอุตสาหกรรมกำลังสิ้นประสิทธิภาพลง
และข่าวสารกลายเป็น "อาวุธใหม่" ที่ทรงอานุภาพยิ่ง!



.

สหาย(ผรท.) เป็นเมล็ดพืชสีแดง หรือเบี้ยบนกระดาน โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

สหาย(ผรท.) เป็นเมล็ดพืชสีแดง หรือเบี้ยบนกระดาน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 20


ความเป็นมา ของเงินช่วยเหลือ ผรท.

ประมาณปี 2525 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ มีกองกำลังอาวุธเข้ารายงานตัวตามนโยบาย 66/2523 โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะช่วยเหลือแก้ไขความเดือดร้อน และดูแลเรื่องความปลอดภัยของคนเหล่านี้ซึ่งเรียกว่า...ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)...หลังจากเรียกว่า ผกค.มา 20 ปี แต่ก็ช่วยเหลือได้เพียงบางส่วน แล้วก็เงียบหายไปเป็น 10 ปี จนมีการเคลื่อนไหวทวงสัญญาในปี 2539-2544 จากสหายอีสาน และก็เงียบไปอีก 
หลังรัฐประหาร 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เห็นประโยชน์ของ ผรท. ได้สั่งการให้ช่วยเหลือเยียวยาแก่กลุ่ม ผรท.อีสาน 11 จังหวัด จำนวน 2,622 ราย แต่มีการคัดค้านจากกลุ่มที่ไม่มีรายชื่อ เรื่องจึงผ่านมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานและได้ขยายขอบเขตออกไปในทั่วประเทศ
ผรท.ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เลยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย

แต่ตัวแทนกองทัพภาคที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไม่แจกที่ดิน วัว ควาย แต่ขอจ่ายเงินทดแทน ครอบครัวละ 225,000 บาท 
มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับภาคและจังหวัด เพื่อตรวจสอบและคัดกรองคุณสมบัติ ผรท. ซึ่งหมายถึง  
1. ผู้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาเท่านั้น ส่วนมวลชน หรือทหารบ้าน ไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ 
2. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการในฐานะ ผรท. และไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดที่ดินจากทางราชการมาก่อน 
3. ต้องเป็นผู้มีฐานะยากจนรายได้ต่อปีไม่เกิน 6 หมื่นบาท 
4. ต้องเป็นบุคคลที่เกิดในปี 2509 หรือก่อนนั้นและต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี

ปรากฏว่ามี ผรท. เขตภาคกลาง 397 คน เขตอีสาน 11,000 คน ภาคเหนือ 1,431 คน จำนวน 12,828 คน
ใน 19 จังหวัดภาคอีสานนั้นดูมากผิดปกติเพราะเดิมแจ้งขึ้นบัญชีไว้เพียง 3,817 ราย 
แหล่งข่าวกล่าวว่า มีมากกว่า 50% ที่มีการยัดไส้ "ผรท.ปลอม" เข้ามาโดยร่วมมือกันระหว่าง สหายบางคนกับเจ้าหน้าที่บางคน ที่แอบทำหลักฐานผ่านการอบรมศูนย์การุณยเทพ หวังกินค่าหัวคิวรายละ 10-50% 
ในที่สุด ก็มีการจ่ายเงิน ให้กับ ผรท. ชุดแรกในอีสาน เมื่อ 14 มกราคม 2554 ที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 724 ราย ได้เงินช่วยเหลือ รายละ 225,000 บาท 
และต่อมา ก็มีการจ่ายเงินให้ในหลายเขต มี ผรท. ปลอมถูกตัดทิ้งไปได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็มีรายชื่อ ผรท. ที่ตกหล่นไปจำนวนหนึ่ง นั่นจึงเป็นเหตุให้มีการพยายามเสนอชื่อ ผรท. เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ 
แต่คราวนี้มีข่าวว่าจะมีจำนวนถึง 30,000 คน

ข่าวที่ได้ยินมา มีทั้งเรื่องโกหกและทุจริต แต่ฟังดูแล้วเหมือนอ้างจำนวนเป็นพลังต่อรอง ...เอาไว้ทำอะไร?



บทบาทของเบี้ยบนกระดาน

ข่าวแรก ในอดีต ยุคนายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผรท.ภาคอีสาน ได้มารวมตัวกันและยื่นในหนังสือ เพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี และคณะ คมช. ให้ทำงานต่อไป เนื่องจากปัจจุบันมีหลายกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งทาง ผรท.ทั่วประเทศเห็นว่าควรที่จะมาสมานฉันท์กันเพื่อบ้านเมืองของเรา 
และในตอนท้ายได้มีการนำรายชื่อของอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นรายชื่อตกหล่นในการรับการช่วยเหลือจากคำสั่ง 66/2523 เข้ายื่นต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

ข่าวที่สอง เร็วๆ นี้ ผรท.ขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงร่วม 2,000 คน ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด แสดงพลังสนับสนุนคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอพิจารณาร่าง รธน. ซัดกลุ่มบุคคลที่เคลี่อนไหวต้านคำสั่งศาลจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง สับเละ "จาตุรนต์" ยุยงคนให้ร้ายต่อศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการหมิ่นศาล

ข่าวที่สาม แกนนำ และสมาชิกกลุ่ม ผรท. 19 จังหวัดอีสานรวมตัวที่บุรีรัมย์ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มใด หลังมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มอ้างชื่อ ผรท. เคลื่อนไหวคัดค้านการลงชื่อถอดถอนตุลาการศาล รธน. พร้อมชี้เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง



เรื่องเล่าจาก สหายคำรณ

คนอื่นโกงเพื่อจะเป็นนายอำเภอ โกงเพื่อจะเป็นตำรวจ โกงเพื่อจะเป็นครู แต่สหายคำรณโกงเพื่อจะป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
...ผมจบ ม.สาม เคยเห็นป่า เคยเข้าไปหาหน่อไม้ หาเห็ด มีนายหน้ามาติดต่อให้เป็น ผรท.บอกว่าจะได้เงิน 50,000 แต่ต้องไปอบรม ที่รีสอร์ตใหญ่แห่งหนึ่ง ที่นั่นมีคนประมาณ 100 คน มีเวทีมีผ้ากำมะหยี่สีแดง มีรูปค้อนกับเคียวไขว้กัน ข้างล่างเวทีมีชายวัยใกล้หกสิบปีนั่งเรียงกันอยู่ ทั้งสามคนแต่งชุดสีเขียวขี้ม้าสวมหมวกติดดาวแดง แล้วชายคนที่สี่ตัดผมสั้นเกรียนและดูหนุ่มกว่าใคร ก็ขึ้นไปบนเวที 
"สวัสดีครับสหายทุกคน "ผมวิชัยครับ" ขอต้อนรับสหายทุกคนที่มาจากหลายที่หลายแห่งในอีสานเหนือนี้" 
"ขอให้สหายที่ได้รับแฟ้มเปิดดูชื่อของตัวเองแต่ปิดเป็นความลับ เราต้องรู้จักกันในชื่อใหม่ หรือในป่าเรียก "ชื่อจัดตั้ง" จำไว้นะครับ เพราะทุกคนที่เข้าป่าต้องปิดลับตัวเองไม่มีการบอกชื่อแซ่ ไม่บอกรายละเอียดส่วนตัว บ้านอยู่ไหน"

ในแฟ้ม หน้าแรกมีแบบฟอร์มกรอกข้อมูลประวัติส่วนตัว มีรูปถ่ายขนาดหนึ่งนิ้วเป็นภาพของผม บรรทัดแรกเขียนชื่อนามสกุลจริง บรรทัดที่สองเป็นชื่อจัดตั้ง ผมมีชื่อจัดตั้งว่า "สหายคำรณ"

วิทยากรสั่งให้เปิดหนังสือหน้า 5 วินัยของทหารปลดแอกมี 10 ข้อ ข้อแรก ปฏิบัติการทุกอย่างฟังคำบัญชา... สหายจงพูดเรื่องอาหาร ความขาดแคลนของในป่าตอนที่แกเข้าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ สหายแกนนำอีกคนชื่อชิตสอนให้รู้จักคำศัพท์บางคำที่คนในป่าใช้
"ในป่ามีเพลงร้องเยอะแยะเหมือนกัน ผมขอให้สหายพยายามร้องเพลงให้ได้สักสองสามเพลงเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะเพลงเด่นๆ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เช่น ภูพานปฏิวัติ สหายต้องร้องให้ได้ เพลงวีรชนปฏิวัติที่ถือว่าเป็นเพลงชาติของ พคท." สหายชิตย้ำ ให้พวกเราเปิดดูเนื้อร้องแล้วหัดร้องตาม...ลูกไทยห้าวหาญ สู้เผด็จการทารุณไม่เคยไหวหวั่น ...

ผู้อบรมนอนบ้านละสี่คน วันสุดท้ายของการอบรม มีการนำปืนอาร์ก้า เซกาเซ คาร์บิน ระเบิดด้ามและทุ่นระเบิดที่ทหารในป่าใช้มาให้ดู

สิ่งที่ผมต้องจำให้ขึ้นใจเพื่อตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ให้ได้ไม่ติดขัดคือ ...ผม... สหายคำรณ เข้าป่าตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยมีสายจัดตั้งพาไป หลังจากพ่อแม่ถูก อส. ฆ่าตายเพราะเป็นสายให้คอมมิวนิสต์ ได้รับการฝึกฝนด้านการเมืองการทหาร เคยเคลื่อนไหวในเขต...ออกรบหลายครั้ง มีการปะทะกับทหารที่ชายหมู่บ้าน...จนได้รับบาดเจ็บที่ไหล่ขวา...

ตอนนี้ผมชักรู้สึกว่าเงินห้าหมื่นน้อยมากเพราะผมอาจต้องติดคุกจากคดีฉ้อโกงเงินภาษีมาเป็นของตน และเมื่อเทียบกับนายหน้าที่หักหัวคิวไปให้ผู้ร่วมงานแสนกว่าบาท ลองเอาหนึ่งร้อยคูณพวกนี้จะมีรายได้เท่าไร ผมรู้มาว่าภาคอีสานจะมีคนปลอมเป็นสหายอีกมากมาย

คำเตือนจากชาวบ้าน...อยากให้รัฐบาลตรวจสอบรายชื่อตกหล่นที่ส่งให้นั้นเป็น ผรท. จริงๆ หรือไม่ บางคนยังไม่รู้เลยว่า ผรท. คืออะไร เขาบอกว่าให้สมัครก็สมัครกับเขา เสียเงินคนละ 3,000 บาท หวังจะได้เงิน 225,000 บาท แต่มีหักค่าหัวคิว ค่าดำเนินการ คนละหลายหมื่นบาท

ผรท. จริงๆ จะเป็นคนแก่แล้วทั้งนั้น ในหมู่บ้านของข้าพเจ้าเอง คือ บ้านนานกเค้า และบ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

เงิน ผรท. งวดเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา คนที่เป็นนายหน้าถึงกับออกรถป้ายแดงเลย



วิเคราะห์ เบี้ยสีแดง 2 ตัว

ปรากฏการณ์ที่ ผรท. เข้ามารับความช่วยเหลือและเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านซึ่งยากจนจะต้องการเงินไปเลี้ยงชีพ เพราะขนาดพวกลุงพวกป้าซึ่งเป็นสหายนำหลายคนยังวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ กลายเป็น พคท. รอ. (รอรับ...) ช่วยเคลื่อนไหวทางการเมือง รับค่าตอบแทนกันเยอะแยะ ทำไมชาวบ้านจะทำไม่ได้ 
แต่จะว่าไปแล้ว ทั้งปัญญาชน คนที่เคยก้าวหน้าจำนวนมาก ก็ออกมาหาอยู่หากินเพื่อแสวงหาเงินตราและอำนาจทั้งในรูปแบบของงาน NGO และ กรรมการองค์กรต่างๆ รับใช้กลุ่มการเมือง เคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มอำนาจ ได้ผลตอบแทนครั้งละมากๆ เช่นกัน  
ในที่สุดวันนี้ พวกซ้ายเก่าก็แยกเป็นสองฟาก ตั้งแต่ชาวบ้านที่ทำไร่อยู่ตีนภู จนถึงปัญญาชนระดับด๊อกเตอร์ ตั้งแต่ทหารบ้านจนถึงกรมการเมือง

มองเผินๆ เหมือนกับพวกเขาถูกระบบแยกออกจากกันและมาห้ำหั่นกันเอง

แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่า พวกเขาได้ผสมตนเองเข้ากับทั้งสองฝ่ายได้อย่างดี บางคนเปลี่ยนจากเบี้ยเป็นม้า หลายคนกลายเป็นแกนนำหรือเสนาธิการในเกือบทุกองค์กร คนเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญอยู่ในพรรคเพื่อไทย ในพรรคประชาธิปัตย์ ในกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มคนเสื้อเหลือง และอยู่แม้แต่วงในของกลุ่มทุนที่สนับสนุนและกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง  
จะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผู้มีอำนาจ, แกนนำและ เสธ. ได้ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว ทำให้อำนาจแห่งความอยุติธรรมกระจายออกจนทำให้เกิดคนเสื้อแดงขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง และได้นำพาทั้งสองฝ่ายคือกลุ่มนายทุนใหม่ กลุ่มหัวก้าวหน้า เข้าปะทะกับกลุ่มศักดินาขุนศึกและกลุ่มนายทุนเก่า

การปะทะครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วง 7 ปี ได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชนได้มากกว่าการเคลื่อนไหวของ พคท. และพรรคการเมืองต่างๆ ที่ทำงานในประเทศมากว่า 40 ปี 
ได้สร้างเงื่อนไขของการปฏิวัติ ขึ้นมาใหม่ทั้งๆ ที่เมื่อ 10 ปีก่อน แทบมองไม่เห็นเงื่อนไขนี้ในประเทศไทยเลย



เบี้ยหรือเมล็ดพืชสีแดง

วันนี้สถานการณ์คล้ายจะจบแล้ว ตัวละครถูกนำออกมาใช้งานเกือบหมด ทุกกลุ่มทุกองค์กร จะอิสระหรือมีสังกัดก็ตาม สหายเก่าบางคนเปลี่ยนจากเบี้ยเป็นม้า แต่ ผรท. บางส่วนยังเป็นเพียงแค่เบี้ยบนกระดาน 
เมื่อการต่อสู้ยกสุดท้ายมาถึง ไม่รู้ว่าใครจะหันคมหอกกระบอกปืนไปใส่ใคร ต้องตัดสินใจกันเอง ทั้งเพื่อความอยู่รอดและเพื่ออุดมการณ์

หลายปีที่ผ่านไป เมล็ดพืชเก่าอาจเปลี่ยนสีกลายพันธุ์ไปเป็นเหลืองบ้าง แสดบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่สายพันธุ์ใหม่ก็งอกงามขึ้นมามีสีแดงอ่อนที่แตกต่างกว่าเดิม เติบโตและกระจายไปทั่วประเทศ เป็น...เมล็ดพืชสีแดง แห่งประชาธิปไตย

ขยายตัว...ทั่วผืนแผ่นดิน...



.

2555-06-29

แมลงวันในไร่ส้ม: จากเขาพระวิหาร ถึง “นาซา-อู่ตะเภา” ข่าวสารจาก “ผู้รักชาติ”?!

.
คอลัมน์ ในประเทศ - “ปชป." เดิน “เกมรุก” เดินสาย ล้อม “รัฐบาล” “แนวรบ” พร้อม “แนวร่วม” พรึบ!

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จากเขาพระวิหาร ถึง “นาซา-อู่ตะเภา” ข่าวสารจาก “ผู้รักชาติ”?!
จากคอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 78


ข่าวนาซา หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ จะเข้ามาใช้สนามบิน "อู่ตะเภา" เพื่อดำเนินการ โครงการศึกษา การก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study : SEAC4RS เจอ "ตอ" เข้าอย่างแรง
เป็น "ตอ" จากฝ่ายค้านและเครือข่าย 
กลายเป็นข่าววนเวียนอยู่ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

บางฉบับถึงปลุกกระแสว่า เป็นการขายชาติ สูญเสียอำนาจอธิปไตย และปลุกอารมณ์ของสังคมให้มาร่วมกันร้องเพลง "อเมริกันอันตราย" ที่โด่งดังในห้วงขับไล่ฐานทัพเมื่อปี 2517-2518 
ที่แปลกประหลาด เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นในระยะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ในปี 2553 
เป็นเรื่องของการป้องปัดภัยพิบัติ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง 
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนมาเป็นยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล 
กลับกลายเป็นปัญหาความมั่นคง กลายเป็นเงื่อนไขกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน กลายเป็นการต่อรอง เพื่อแลกกับการให้สหรัฐอนุมัติวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศได้ 
และกลายเป็นกรณีเข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเอาเข้าหารือต่อที่ประชุม "รัฐสภา" ก่อน



กรณี "อู่ตะเภา" นับเป็นกรณีแรกๆ ที่มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นเอกภาพ ตอบโต้ต่อข้อสังเกตของฝ่ายค้านและเครือข่าย
ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร ผู้นำกองทัพ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯลฯ ไปจนถึงนักวิชาการ อาทิ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. หรือ "จิสดา" 
หรือแม้แต่ นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ยังออกมาชี้แจงสนับสนุนโครงการ ก่อนที่จะเงียบไปเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าลุย

พล.อ.อ.สุกำพล อธิบายว่า นาซาซึ่งเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์ ทำเรื่องขอเข้ามาสำรวจ เพื่อช่วยเรื่องการพยากรณ์ดิน ฟ้า อากาศของโลกเรา
นาซาก็ไปมาแล้วหลายๆ ที่ คอสตาริกาก็ไป ฮ่องกงและญี่ปุ่นก็ไป มาถึงภูมิภาคแถวนี้ก็ประเทศไทยนี่แหละที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด 
เราต้องแยกก่อนว่านาซากับกองทัพสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีอะไรยุ่งเกี่ยวกัน เหมือนกองทัพไทยกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แหละ

มีคนของเราไปพยายามดึงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกัน ดึงเข้ามาให้มั่วหมด นายกรัฐมนตรีจึงเรียกมาคุยกันในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านความมั่นคงว่ามันเป็นอย่างไร 
คนเป็นห่วงเป็นใยมีมากไปหน่อย เกินไป ไม่มีลิมิตเลยว่าจะเป็นอย่างไร ไม่มองเขาในแง่ดีเลย แล้วคนที่เป็นห่วงก็หน้าเก่าๆ ทั้งนั้น

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านก็พูดมาดี อย่าง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่เคยทำงานกับนาซา ก็ยืนยันแล้ว เพราะท่านรู้ ก็ยังไม่ว่าอะไรเลย
เราก็เข้าไปเกี่ยวข้องแค่เรื่องความมั่นคง ดูเรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก ไอ้ที่ว่าเครื่องบินที่มา 3 ลำนั้นมันเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่พูดๆ กัน 
ความสัมพันธ์กับจีน เราก็ต้องดู แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ผมก็บอกแล้วว่านาซาเขาก็ไปทำที่ฮ่องกง แล้วผมถามว่า ฮ่องกงล่ะของใคร?
แล้วที่จีนมาพบก็ไม่ได้สอบถามอะไร ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ไม่ได้แสดงความห่วงอะไรเลย มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ห่วงแทน

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่มีการโยงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ไม่ตอบละกัน เพราะตรงนี้คิดกันมากไป จนกลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องความมั่นคงเลย เอาเป็นว่าผมไม่ตอบละกัน เพราะไอ้คนที่มันคิดได้แบบนี้ มันเก่ง... ขอให้มาถามผมต่อหน้าผมจะฟัดเอง มันไม่ถูกต้องหรอก เอาเป็นประเด็นไปหมดทุกเรื่อง (มติชน 24 มิถุนายน 2555)


แม้แต่ข่าวเด็ด-ลับเฉพาะ จาก นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ระบุว่า นาซาขนอุปกรณ์ลงเรือเดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ทั้งที่ยังไม่มีการลงนามกับทางการไทย ก็มี พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาปฏิเสธ 
เช่นเดียวกับ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ชี้ว่าพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่นาซาขอใช้อู่ตะเภาเพื่อศึกษาวิจัยไม่เข้าข่ายที่จะต้องนำเข้าสภา เพราะหนังสือที่ทางการสหรัฐส่งคำขอเข้ามาไม่มีเนื้อหาส่วนไหนที่แสดงให้เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อดินแดนไทย  
รวมไปถึงความเห็นจากประชาชน เมื่อสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจ เมื่อ 24 มิถุนายน พบว่า ร้อยละ 63.5 เห็นว่าควรที่จะให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา และช่วยศึกษาด้านการก่อตัวของชั้นบรรยากาศโลก ขณะร้อยละ 36.5 ไม่เห็นด้วย


ส่วนการเสนอข่าวในสื่อต่างๆ เป็นไปในลักษณะ "แยกข้าง" ชัดเจน 
คอลัมนิสต์ดังแห่งหน้า 4 สำนักหัวเขียว ระบุอย่างพิสดารว่า เรื่องนี้เป็นแผนครองน่านฟ้าโลกของสหรัฐ เริ่มต้นจากการพบปะของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับประธานาธิบดีโอบามา ที่อินโดนีเซีย จากนั้นมี รมว.กลาาโหมและผู้นำกองทัพอเมริกันมาเข้าพบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 
และคาดหมายว่าจะไปเจรจากันอีกเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปเยือนสหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

อีกหนึ่งคอลัมนิสต์ ก็มีท่าทีแข็งกร้าว ต่อการขีดเส้นขอทราบการตัดสินใจของไทยภายในวันที่ 26 มิถุนายน โดยระบุว่า นาซาไม่มีสิทธิมากำหนดกะเกณฑ์ประเทศไทย 
ชั้นเมฆและมรสุมจะพัดมาพัดไปยังไง ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนไทยเข้าใจเสียก่อน เราอยู่มาอย่างนี้หลายร้อยปีแล้ว ไม่มีนาซามาสำรวจตรวจสอบให้เรา ก็ยังอยู่กันได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร 

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ "น้ำกรดแช่เย็น" ในเว็บประชาทอล์ก 
ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ของนาซา ที่จะเข้ามา ยังรวมถึง ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรไทย เพื่อให้ฝ่ายไทยสบายใจว่าจะไม่มีการปฏิบัติการทางทหาร
"...งานนี้เป็นอีกกรณีที่ทำให้เห็นชัดว่า ที่ไทยมีปัญหากับประเทศต่างๆ ในรัฐบาลก่อนหน้า หรือที่มีการปลุกเร้ากระแสรักชาติเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารจนหวิดเกิดเรื่อง และกระทั่งมาถึงเรื่องอู่ตะเภาในครั้งนี้ เป็นสไตล์หรือนิสัยของพรรคการเมืองบางพรรคที่ชอบก่อเหตุ..."

ถือเป็นกรณีศึกษา "นิสัย" และ "แนวทางการเมือง" ของบางพรรคได้เป็นอย่างดี



+++

“ปชป." เดิน “เกมรุก” เดินสาย ล้อม “รัฐบาล” “แนวรบ” พร้อม “แนวร่วม” พรึบ!
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 11


"รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตัดสินใจชะลอกระแสต้าน กรณีที่ "องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา" หรือ "นาซา" ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ "สนามบินอู่ตะเภา" จังหวัดชลบุรี เพื่อเข้ามาดำเนินการตามโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย กะทันหัน 
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับ "รัฐสภา" ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการยอมให้มีการเปิดทางให้ "รัฐสภา" อภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ 
แม้ฟากฝั่ง "รัฐบาล" จะยืนยันว่าต้องการใช้ "เวทีสภา" ในการชี้ให้เห็นว่า "ฝ่ายต่อต้าน" ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 
แต่แท้จริง เบื้องหลัง "ฝ่ายรัฐบาล" เอง ก็มองว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ "นาซา" จะเข้ามาขอให้สนามบินอู่ตะเภานั้น ทำให้ "รัฐบาล" ถูกกล่าวหา โจมตีอย่างหนักหน่วง แบบที่ยากยิ่งที่จะชี้แจงทำความเข้าใจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกล่าวหา "ทางการเมือง"
ทั้งการยอมให้ "สหรัฐอเมริกา" เข้ามาใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็น "ฐานทัพ" ในการถ่วงดุลอำนาจทางการทหาร ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย
การไม่คำนึงถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "สาธารณรัฐประชาชนจีน" 
ปมคาใจเกี่ยวกับวาระซ่อนเร้นเรื่อง "พลังงาน" โดยเฉพาะกระแสข่าว "คนใกล้ชิดรัฐบาล" ไปมีส่วนกับ "บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่" ของสหรัฐ 
ไปจนถึง ปัญหาเรื่องความพยายามที่จะเปิดประเทศไทยให้ "นาซา" เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ "อเมริกา" จะออก "วีซ่า" เข้าประเทศ ให้กับ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย "น.ส.ยิ่งลักษณ์"

ที่สำคัญคือ แม้จะเป็นข้อกล่าวหาทาง "การเมือง" จาก "ฝ่ายตรงข้าม" โดยเฉพาะจาก "พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" 
แต่ก็ยังเป็น "ข้อกล่าวหา" ที่มี "อานุภาพ" การทำลายล้างสูง โดยเฉพาะการทำลาย "ความน่าเชื่อถือ" 
จนเป็นเหตุให้ "รัฐบาล" ต้องเป็นฝ่าย ต้องตัดสินใจ "ชะลอ" เรื่องนี้ 
ซึ่งถือเป็นการ "ชะลอ" เรื่องสำคัญ ติดต่อกันเป็นเรื่องที่ 3 ในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน 
โดยเป็นการ "ชะลอ" ที่ติดต่อมาจากการผลักดัน "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ...." และการเดินหน้า "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ...." ที่ยังคงคาอยู่ในวาระการพิจารณาของสภา
ซึ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "ฝ่ายต่อต้าน" โดยเฉพาะ "ปชป." ที่หลายฝ่ายมองว่า "ลมหายใจรวยริน" มาตลอด
ตั้งแต่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง "3 กรกฎาคม 2554" ให้กับ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" และ "พรรคเพื่อไทย (พท.)" กลับมาแล้ว


การกลับมามีบทบาททางการเมืองครั้งนี้ ไม่ธรรมดา  
โดยเฉพาะหลังจากที่ "ปชป." ฮึกเหิม ได้ใจจากการเดิน "เกมเบรก" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง สำเร็จ 
หลังประกาศเดินหน้าต่อต้านทุกรูปแบบ ทั้ง "ในสภา" และ "นอกสภา" แล้ว ส่งผลให้ "รัฐบาล" ที่แม้จะยึดกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กว่า "300 เสียง" ถึงกับต้อง "สะดุด" และ "สะเทือน" อย่างหนัก 

จนกลายเป็นว่า "ปชป." ซึ่งถือเป็น "เสียงข้างน้อย" ในสภา กำลังเดิน "เกมรุก" เข้าใส่รัฐบาล ได้อย่างต่อเนื่อง หนักหน่วง และสุขุม
โดยเฉพาะ "ยุทธศาสตร์" แรกที่ "ปชป." ตัดสินใจ ตั้งหลักเดิน "เกมรุก" ผ่าน "เวทีเดินหน้าผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมาย ล้างผิดคนโกง" ซึ่งมีการกำหนด "ยุทธศาสตร์-เป้าหมาย" และระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างชัดเจน 
โดยเป็นการเดินสายปราศรัยไปตามจังหวัดต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค ในช่วง "ปิดสมัยการประชุมสภา"
แบบสัปดาห์ละจังหวัด สัปดาห์ละภาค ซึ่งถือเป็นการขยับ "หมาก" อย่างใจเย็น

มีเป้าหมายหลักเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะไปสู่ "ศึกใหญ่" ที่จะเกิดขึ้นหลัง "เปิดสมัยการประชุมสภา สมัยสามัญทั่วไป" ในช่วงเดือน "สิงหาคม" 
เริ่มจาก เสาร์ที่ "23 มิถุนายน" ที่จังหวัดพิษณุโลก 
จากนั้น เสาร์ที่ "30 มิถุนายน" ที่จังหวัดระยอง 
เสาร์ที่ "7 กรกฎาคม" ที่จังหวัดเพชรบุรี 
เสาร์ที่ "14 กรกฎาคม" ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 
เสาร์ที่ "21 กรกฎาคม" ที่จังหวัดกระบี่ 
โดยประเด็นในการ "ปราศรัย" ทุกเวที กำหนดให้เน้นย้ำ
1.การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
2.ขยายความ "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" ให้เห็นถึงความพยายามทำให้เป็นกฎหมายล้างผิด
3.ชี้ให้เห็นถึงสถานะความร่ำรวยนับหมื่นล้าน ที่ผิดปกติ ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ"

ซึ่งสุดท้าย "ปชป." นัดปิดท้ายเวที ในเสาร์ที่ "28 หรือ 29 กรกฎาคม" ก่อนเปิดสมัยการประชุมสภา ในเดือนสิงหาคม ด้วยการวกกลับมาตั้งเวทีที่ "กรุงเทพมหานคร" อีกครั้ง 
เพื่อเป็นการ "โหมโรง" ส่งท้าย เช็กความพร้อม ก่อนเข้าสู่โหมดของ "ศึกใหญ่" ในสภา



แน่นอนว่า "ปชป." ย่อมเล็งเห็นแล้วว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภา ในเดือนสิงหาคม ทั้ง "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ", "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" และปมปัญหาเรื่อง "นาซา" ที่ "รัฐบาล" จะนำเข้าหารือกับ "รัฐสภา" ตามมาตรา 179 ล้วนแต่พร้อมที่จะกลายเป็น "ปัญหา" ของ ฟากฝ่าย "รัฐบาล" มากขึ้น 
รวมไปถึงการที่ "ปชป." ตั้งแท่น เตรียมการ ยื่น "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" รัฐบาล 
จะกลายเป็นเวทีให้ "ฝ่ายค้าน" ได้เดินเกม "ในสภา" ชำแหละรัฐบาลอย่างหนักต่อเนื่อง 
ไปพร้อมกับการขับเคลื่อน "นอกสภา" ที่ได้มีการเตรียมการด้าน "มวลชน" เอาไว้ทั้งหมดแล้วจากทุกๆ "เวทีปราศรัย"

โดยเฉพาะในบรรยากาศการเมือง ที่กำลังค่อยๆ คุกรุ่นมากขึ้น ประกอบกับ "รัฐบาล" ที่มี "กรอบ" ต่างๆ ที่จะต้องระมัดระวังมากมาย 
จึงทำให้ "ปชป." ประเมินว่า สถานการณ์จะเข้าข้าง "ฝ่ายค้าน" และเป็น "แต้มต่อ" สำคัญ ให้กับ "ฝ่ายโจมตี" มากกว่า "ฝ่ายตั้งรับ"

และเมื่อมีการเตรียมการ "แนวรบ" ครบทุกด้าน ที่เหลือก็เป็นเรื่องของ "แนวร่วม" ที่จะลงมือ "จัดการ"
ซึ่งที่ผ่านมา ก็ทยอย "เปิดหน้า" กันบ้างแล้ว

นับจากนี้ไป จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง!!!  



.

ขี่พายุ ทะลุเมฆ, ลึกแต่ไม่ลับ29 มิ.ย.55

.
คอลัมน์ในประเทศ - ศาล รธน.“จัดหนัก” ยื่นถอนประกัน“จตุพร” แดงสะท้าน-รบ.สะเทือน
รายงานพิเศษ -ล้มปฏิบัติการ “ม้าแดง” แผนมะกัน ยึด “อู่ตะเภา” เมื่อศึกสีเหลือง-แดง โกอินเตอร์ “ปู”-กองทัพ ถอย-เมกา “จ๋อย”
คอลัมน์ โล่เงิน - โครงสร้าง บก.สกัดกั้นยาเสพติด 2 บอร์ดใหญ่ไฟเขียว 201 อัตรา ทุ่มอุปกรณ์ไฮเทค 111 จุดตรวจ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ขี่พายุ ทะลุเมฆ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 9


เมื่อโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศ ของนาซา ที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐาน "ศึกษา"
ได้กลายเป็น "โครงการก่อพายุ" ในการเมืองประเทศไทย 
เป็น "พายุ" ที่พร้อมจะพัดพารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไป คิลลิ่งโซน 
คิลลิ่งโซน ทั้งของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ 
อันสุ่มเสี่ยง จะนำไปสู่การ "ตายน้ำตื้น" ถูกถอดถอน พักงาน และโค่นล้ม ภายใต้ พายุตุลาการภิวัฒน์ เหมือนดั่งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เคยเจอมาแล้ว จากรายการ "ปรุงอาหาร" 

ซึ่งขณะนี้ "สัญญาณเตือนภัย" ก็ดังสนั่นหลายสัญญาณ
ไม่ว่ากรณี แก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ กรณีใบแดง นายการุณ โหสกุล รวมถึงคดีเก่าๆ ที่พร้อมจะฟื้นชีวิตขึ้นมาเขย่าคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย 
เหล่านี้เอง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระวังตัวแจ 
และที่สุด ก็ตัดสินใจถอย เรื่อง "นาซา" โดยโยนเรื่องให้ไปถกกันใน "รัฐสภา" ตามมาตรา 179 
ถอยเหมือนกับที่ถอยเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพื่อลดเงื่อนไข "ประหาร" ทางการเมือง

เพียงแต่การถอย กรณี "นาซา" ดูจะถอยเป็นกระบวน มากกว่า เรื่องปรองดองและรัฐธรรมนูญ อยู่ตามสมควร
หรือจะกล่าวให้มีสีสันขึ้นอีกเล็กน้อย 
นั่นก็คือ ไม่ใช่ถอยเพราะพายุพัดพา แบบผู้ถูกกระทำ
หากแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามที่จะ "ขี่พายุ" เพื่อเป็น "ผู้กระทำ" ระหว่าง "ถอย" ด้วย



ต้องไม่ลืมว่า การที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศ ครั้งนี้ 
สืบเนื่องจากสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (จิสด้า) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับนาซา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2553  
อยู่ในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
จากนั้นได้มีการจัดประชุมร่วมกันของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ 18 หน่วยงาน รวม 5 ครั้ง 
จึงได้มีข้อสรุปที่จะมีการศึกษาเรื่องดังกล่าว 
บนพื้นฐานของ "วิทยาศาสตร์" และ "วิชาการ"

ซึ่งจุดนี้เอง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หวังจะนำมาย้อนเกล็ดพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา โดยปราศจาก "ข้อสงสัย" หรือข้อท้วงติงใดๆ 
แต่เมื่อเป็นฝ่ายค้าน ท่าทีกลับเปลี่ยนแปลงไป 
โดยพยายามวาดภาพให้โครงการที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และวิชาการ กลายเป็น โครงการอันน่ากลัว ที่เกี่ยวพันกับภารกิจ "จารกรรม" และทหาร 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำเรื่องไปโยงให้สับสน และพิสดาร เข้ากับเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศในการกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค อีกด้วย 
ซึ่งว่าไปแล้ว เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับจีน ค่อนข้างสูงว่าสหรัฐจะใช้เป็นช่องทางเข้ามามีบทบาททางด้านความมั่นคง ในเอเชีย มากกว่าโครงการนาซา มากมายนัก

แต่เมื่อย้อนกลับไปที่ต้นตอของเรื่อง
ก็เหมือนดังกรณีของนาซา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นขึ้นมาเช่นกัน 
ทั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับเองว่า เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ เสนอไปยัง นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศหรัฐ และได้พูดคุยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศในการกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 
1. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไทย-สหรัฐ รวมทั้งมิตรประเทศอื่น 
2. เป็นโกดังเก็บอุปกรณ์รวมทั้งอาหาร โดยจะมีการพัฒนาอาหารที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน 
3. เตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติภารกิจใน 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค


ดูจากเป้าหมาย-วัตถุประสงค์ของศูนย์กู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าโครงการนาซา หลายเท่านัก 
และดูจะเปิดช่องให้สหรัฐมีบทบาทค่อนข้างสูง 
พรรคประชาธิปัตย์ ริเริ่มเอง แต่ไม่กังวล ไม่มีคำถาม เมื่อเป็นรัฐบาล 
เมื่อเป็นฝ่ายค้านกลับมากด้วยความกังวล และคำถาม

แถมผสมผสานเรื่องทั้งนาซา ทั้งศูนย์กู้ภัยพิบัติ เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมทั้งโยงใยไปเรื่องธุรกิจพลังงาน เรื่องข้อแลกเปลี่ยนการออกวีซ่าเข้าสหรัฐ ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติอันใหญ่โต ที่ใครดำเนินการต้องถูกตั้งคำถาม และถูกตั้งข้อสงสัย 
ขณะเดียวกัน ยังเสนอแบบหัวชนฝาให้นำเรื่องนี้เข้าสภา ตามมาตรา 190 เพื่อที่จะให้รัฐสภา ให้ความเห็นชอบก่อน 
เหล่านี้เอง ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองเห็น 
และหวังจะใช้เรื่องนี้ย้อนเกล็ดพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายทั่วไปในสภา ตามมาตรา 179 

ย้อนเกล็ดโดยชี้ให้เห็นว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มและรับรู้เรื่องนี้มาแต่ต้น
ขณะเดียวกัน ใครเป็นผู้ขัดขวาง จนโครงการทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ที่เป็นเรื่องดีและสร้างสรรค์ ต้องหยุดชะงักและอาจจะต้องล้มเลิกไป
ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ รวมทั้ง นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ เป็นต้น ต่างประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทย และเสียดายที่โครงการต้องหยุดชะงักลง 

ขณะที่ในประเด็นแง่กฎหมาย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ยืนยันว่า ที่นาซาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อศึกษาวิจัยไม่เข้าข่าย ที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามมาตรา 190 เพราะไม่เข้า 4 เงื่อนไขตามที่กำหนดคือ 
1. ไม่มีบทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย 
2. ไม่ต้องออกบทบัญญัติให้เป็นไปตามสนธิสัญญา 
3. ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม 
และ 4.ไม่ผูกพันทางการค้า การลงทุนของประเทศ

ทางด้านประชามติ ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 63.5 เห็นควรที่จะให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา
ยิ่งไปกว่านั้น ด้านความมั่นคง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็มีจุดยืนร่วมกันที่จะสนับสนุนโครงการนี้อย่างพร้อมเพรียงด้วย


"ฉันทามติ" เหล่านี้ แม้จะไม่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจถึงขนาดตัดสินใจเดินหน้าโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศของนาซ่า เพราะสัญญาณเตือนภัยที่ควบคุมและคาดการณ์ยาก จากกระแสตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระ แรงกว่า และอาจทำให้เกิดอุบัติทางการเมืองได้ จึงทำให้ตัดสินใจ "ถอย" 
แต่ก็พยายามถอย ที่ไม่ใช่ การ "ถอยกรูด" เป็นการถอยแบบตั้งรับ พร้อมทั้งออกอาวุธตอบโต้ไปด้วย โดยชี้เป้าไปที่ พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่หยิบฉวยเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตี ทำให้ประเทศเสียโอกาส ทางด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์  
โดยใช้เวทีสภา ตามมาตรา 179 ไม่ใช่ 190 มาเอาคืนฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน 
ซึ่งคงจะประดาบกันดุเดือด 
ส่วนจะ "ย้อนเกล็ด" แบบ ขี่พายุ ทะลุเมฆ ได้ผลมากน้อยเพียงใด ต้องติดตาม



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 8


ในที่สุด รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยอมหลบฉากประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีมตินำกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซ่า) ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศ ภายใต้โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC RS) เข้าสู่การประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. หลังจากมีเสียงคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้านคือ ประชาธิปัตย์ กับกลุ่มพันธมิตรฯ 
นับเป็นการเบี่ยงตัวหนีเผือกร้อนทางการเมืองอีกระลอก

ช่วงนี้ ถือว่าชะตาราหูของรัฐบาล "ปู" ไม่สู้ดี พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก "งานเข้า" ไม่หยุดหย่อน และแต่ละเงื่อนไขล้วนเป็น "ชนวนเสียว" ต่อจิ๊กซอว์มาเป็นชุดๆ ดังที่ได้ลำดับให้ดูชมไปแล้วใน "ลึกแต่ไม่ลับ" เมื่อสัปดาห์ก่อน และคาดหมายว่ายังมีวาระซ่อนเร้นอื่นๆ เตรียมปูดออกมาฟาดกระหน่ำอีกหลายประเด็นในโอกาสต่อๆ ไป 
"คนใน" ระดับ "สุชาติ ธาราดำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแท้ๆ ยังสวมบทโหร "ฟันธง" เสียงดังฟังชัดว่ารัฐบาลต้นสังกัด ส่อเค้าว่า "อยู่ไม่ยืด" 
ทั้งนี้ "เสมา 1" ซึ่งมีชื่อติดโผอยู่ระนาบหัวแถวมาตลอดว่าจะถูกเขี่ยออก หากมีการปรับ ครม. "ปู 3" ประเมินโดยพื้นฐานว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับมรสุมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็น "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำ นปช. ที่ถูกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นถอนประกันคดีก่อการร้าย-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปัญหาการแบ่งสีจะรุนแรงมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ อาจส่งผลถึงการยุบพรรคบางพรรค การถอดถอน ส.ส. จำนวนมาก จึงเป็นบทสรุปที่น่าสนใจว่า "อยู่ถึงสิ้นปีลำบาก"

ไม่เพียงแต่ "สุชาติ" ซึ่งอยู่ระดับคลุกวงใน จะรู้สึกหวั่นไหวกับสถานการณ์อันไม่สู้ดี คอการเมืองเอง จับกระแสโดยภาพรวมแล้ว ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน ว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" กำลังเจอคลื่นใต้น้ำแปลกๆ ละม้ายใกล้เคียงกับเหตุการณ์ก่อน "ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549" ผสมกับ เหตุการณ์ช่วงฆ่าตัดตอนรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์" 
ชงให้เจอทางตันเข้าแก๊ป "ปฏิวัติเงียบ" เพื่อล้างไพ่ทางการเมืองกันใหม่อีกรอบ และคาบนี้ จะไม่เรียกใช้บริการสูตร "เทพประทาน 2" เนื่องจากเกิดอาการผิดหวังมาจาก "เทพประทาน 1" อุตส่าห์กวาดบ้าน จัดสำรับกับข้าว ป้อนน้ำป้อนท่าให้ทุกกรณีแล้ว แต่กลับ "ไม่เอาอ่าว" พ่ายป่าราบ ถูก "ยึดเมือง" กลับไปต่อหน้าต่อตา  
กรณีหักโค่นรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" สำเร็จ ด้วยสูตร "ปฏิวัติเงียบ" ข่าวระบุว่ามีการวางตัวบุคคลที่ขึ้นมาขัดตาทัพเรียบร้อยแล้ว เป็น "น้ำดี" เพื่อมากอบกู้วิกฤตประเทศ ชื่อปรากฏออกมา จะไม่มีใครคัดค้าน...ข่าวลือ เขาว่ายังงั้น



เกมใต้ดิน-บนดิน ในการขยับขับเคลื่อน เพื่อหักโค่นรัฐบาล "ปู" ให้จอดป้าย อาศัยกลไก "นอกสภา" มาเป็นตัวกดปุ่ม "นายใหญ่ดูไบ" ย่อมรู้แจ้งแทงทะลุดีกว่าใครเพื่อน จึงสั่งถอยทุกกรณี และเช็กกระแส เตรียมทางหนีทีไล่ไว้รับมือแล้วทุกกระบวนท่า อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา เล่นแผน "ลับ-ลวง-พราง" ชื่อไปปรากฏอยู่ประเทศญี่ปุ่น เข้าออก 2-3 เที่ยว อ้างว่าเดินสายกินข้าว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกลอเก่าๆ แต่จังหวะปะเหมาะช่วงหนึ่งแอบตีกรรเชียงโฉบเข้าฮ่องกง และสิงคโปร์ ก่อนบินกลับนครดูไบ เพราะนัดหมายไว้กับ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะแม่ทัพศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี นำ "วิเชียร ขาวขำ" ที่ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายไปให้ "นายใหญ่" เป่ากระหม่อม 
มีข่าวว่า อีกไม่กี่วันที่จะถึง "ทักษิณ" จะโฉบมาเยี่ยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และย่องเข้าเขมรแบบเงียบๆ 
การบุกกัมพูชาคาบนี้ มีวาระพิเศษสุด คือ บุกไปเคลียร์ใจ และเงินกับ "สมเด็จฮุน เซน"
ประเด็นไม่เป็นเรื่องมีอยู่ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน "นายใหญ่" บินเข้ากรุงพนมเปญ เพื่อให้แกนนำ นปช. และกองทัพ "เสื้อแดง" แห่ไปรดน้ำดำหัว ดังที่เป็นข่าวว่า ยกพลไปสร้างสีสันกันครึกครื้นหลายหมื่นคน  
ตามข่าวเล่ากันเป็นตุเป็นตะในขณะนั้นว่า เพื่อเป็นการซื้อใจค่าใช้จ่ายทุกเม็ด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหารการกิน ยานพาหนะ ค่าธรรมเนียม ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ถูก "เจ้าภาพ" ใจป้ำบริการฟรีแบบคนกันเองให้ทั้งหมด
แต่ "นายใหญ่" ไม่ยอม สั่งคนใกล้ชิดประเมินตัวเลขแล้ว "เหมาจ่าย" ให้ ทั้งโรงแรม ค่าภาษี อาหาร และอื่นๆ ให้ประเมินตัวเลขไว้

ก่อนกลับ มีการโปะจ่ายให้เรียบร้อย ผ่าน "เสี่ย" รายหนึ่ง ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ชื่อดังคนหนึ่งและใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจใหญ่ 
ปรากฏว่า เงิน-ค่าใช้จ่าย ที่เคลียร์ก่อนเดินทางกลับ ประเมินว่าคงสมน้ำสมเนื้อ ไม่ถึงมือเจ้าของธุรกิจ และหน่วยงานที่ไปใช้บริการ 
จึงร้องเรียนกับ "สมเด็จฮุน เซน" 
"ฮุน เซน" ทำท่าจะเคือง "นายใหญ่" เลยต้องรีบไปเคลียร์กับเพื่อนเลิฟ
ส่วนการเข้าลาว จะมีนัยยะอะไร ไว้เป็นที่หลบฉากหลังพ่ายทัพหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบได้



+++

ศาล รธน." จัดหนัก" ยื่นถอนประกัน"จตุพร" แดงสะท้าน-รบ.สะเทือน
คอลัมน์ ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 10


นอกจากคำสั่งให้รัฐสภาชะลอลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 
เพื่อรอผลวินิจฉัย 5 คำร้องคัดค้าน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคิวนัดหมายคู่กรณีมาชี้แจงวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะมีคำตัดสิน 
กรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ในคดีก่อการร้าย 
ซึ่งศาลอาญารับคำร้องและออกหมายเรียกนายจตุพรมาสอบถามข้อเท็จจริง ในวันที่ 23 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาว่าจะถอนประกันตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร้องมาหรือไม่ 
คืออีกปมหนึ่งที่สังคมเชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนแรงมากขึ้น

การยื่นคำร้องต่อศาลอาญาครั้งนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจ นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 
ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้ 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้แจ้งความต่อกองปราบปราม ดำเนินคดีนายจตุพรกับพวก ฐานร่วมกันข่มขู่การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายความน่าเชื่อถือเพื่อหวังผลทางคดี 
ต่อมานายจตุพรถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 2 สิงหาคม 2554 นายจตุพรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญา ภายใต้เงื่อนไขห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย 
ล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2555 นายจตุพรขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมหน้ารัฐสภา โจมตีการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้ชะลอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องเข้าชื่อถอดถอนตุลาการ 
ในคำร้องยังยกถ้อยคำปราศรัยบางช่วงบางตอน รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจตุพรในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า 
มีลักษณะข่มขู่ ยุยง ปลุกปั่น คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ คุกคามสิทธิส่วนบุคคลตุลาการและครอบครัว 
ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมและบ้านเมือง มีลักษณะเป็นกลุ่มองค์กรทำลายล้างศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ชัดแจ้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้ไร้คุณค่า และเชื่อว่ายังจะมีการกระทำต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง แสดงถึงเจตนาขาดความเคารพยำเกรงต่อสถาบันศาล 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องปกป้องสถาบันศาลรัฐธรรมนูญมิให้เสียหาย 
จึงขอให้ศาลอาญาพิจารณาเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว



ท่ามกลางความแคลงใจของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าคำร้องขอให้ถอนการประกันตัวดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลหลายประการ 
ทั้งยังมีข้อสงสัยในขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากกรณีมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ยื่นคำร้อง และทราบเรื่องหลังจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นเรื่องต่อศาลอาญาไปแล้ว 
แต่ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ควรต้องดูแลความปลอดภัยของตุลาการทุกคนไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคามจากภายนอก 
อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ คนขับรถของนายวสันต์ ยังได้รับโทรศัพท์ข่มขู่จะพาคนบุกบ้านอีกด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกแถลง งดให้ความเห็นกรณีดังกล่าว
อ้างว่าเพื่อไม่ให้เป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลอาญา ที่ได้มีคำสั่งนัดสอบนายจตุพรแล้วในวันที่ 23 กรกฎาคม สำหรับข้อเท็จจริงทุกอย่างเป็นไปตามคำร้องที่ยื่นไป 


ด้านนายจตุพร ครั้งนี้ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่งเหมือนตอนศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 ให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา 
วันที่ 26 กรกฎาคม นายจตุพรเดินทางไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงการยื่นคำร้องขอถอนประกัน  
นายจตุพรต่อสู้ในแง่ที่ว่า การยื่นขอถอนประกันในคดีก่อการร้ายเป็นอำนาจของอัยการในฐานะโจทก์แห่งคดี ไม่ใช่อำนาจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการใดๆ โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้เห็นหรือมอบหมาย 
ดังนั้น การที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้สั่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญา จึงทำให้คำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายจตุพรอ้างด้วยว่า ถ้อยคำปราศรัยหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 3 และ 7 มิถุนายน 
ไม่มีข้อความใดเป็นการข่มขู่ ยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้ชุมนุมคุกคามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของตุลาการและครอบครัว 
ท้าว่าถ้ามีขอให้ระบุว่าเป็นถ้อยคำใด แล้วแจ้งความดำเนินคดี พร้อมเรียกร้องนายวสันต์เปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.ไปข่มขู่คนขับรถของนายวสันต์



นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งข้อสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 
ประเด็นคือ เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เป็นคู่กรณีกับนายจตุพร ในคดีที่ตุลาการมีมติมอบหมายเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีต่อกองปราบปรามเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 
แต่ตุลาการก็ยังทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดให้นายจตุพรสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. 
นายจตุพรอ้างว่าไม่เคยรู้เรื่องการแจ้งความดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องยื่นคัดค้านตั้งแต่การเป็นองค์คณะชี้ขาดคุณสมบัติให้ตนเองพ้นจากการเป็น ส.ส. แล้ว เนื่องจากเป็นคู่ปฏิปักษ์ต่อกัน  
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า การยื่นถอนประกันของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นทันที หลังมีข่าวพรรคเพื่อไทยอาจส่งนายจตุพร ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมแทน นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจกใบแดง  
เป็นฉากต่อเนื่องจากมติเชือดนายจตุพร หลุดจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปหมาดๆ ซึ่งปฏิบัติการ"จัดหนัก"ครั้งนี้ ส่งผลต่อนายจตุพรทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะยาวคือ หากศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชงเรื่องขึ้นมา นายจตุพรก็ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งโดยไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะ ส.ส. 
ถึงนายจตุพรจะสามารถลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ได้ แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าหากศาลไม่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 
รูปการณ์ก็จะซ้ำรอยการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เพราะต่อให้นายจตุพรชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น ส.ส. อยู่ดี

ส่วนผลกระทบในระยะสั้น นอกจากการที่นายจตุพร ขู่อดข้าวประท้วงตายคาคุก
ยังมีประเด็นที่แกนนำเสื้อแดงแสดงความวิตกกังวลว่าปัญหาจากการยื่นถอนประกันนายจตุพร อาจมีผลต่อการตัดสินใจของแกนนำรัฐบาล
ในการผลักดันนายจตุพรเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ที่คาดว่าจะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

เพราะหากรัฐบาลเสี่ยงหักดิบ ฝืนเอานายจตุพรเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เป้าต่อไปที่จะถูกโจมตีคงไม่พ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ
หมากตานี้ฝ่ายตรงข้ามหวังผลกิน 2 เด้ง
ขุดหลุมฝังนายจตุพร พร้อมเขย่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้สั่นสะเทือนอีกระลอก



+++

ล้มปฏิบัติการ "ม้าแดง" แผนมะกัน ยึด "อู่ตะเภา" เมื่อศึกสีเหลือง-แดง โกอินเตอร์ "ปู"-กองทัพ ถอย-เมกา "จ๋อย"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 14


กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว เมื่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายกลุ่มพันธมิตรฯ ปลุกกระแสต้านการให้นาซ่าใช้สนามบินอู่ตะเภาในการขึ้นบินสำรวจชั้นบรรยากาศ ในโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study campaign 
แม้ว่าสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะเคยอนุมัติให้นาซ่าทำหลายโครงการร่วมกับ GISTDA มาแล้วเมื่อปี 2553 มาแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ดูจะเป็นใจให้ใครๆ สงสัย 
แถมทั้งมีการโยงไปถึงการแลกกับการที่อเมริกาจะให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าอเมริกาได้ ที่ยิ่งทำให้เคลือบแคลง
รวมทั้งเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก เรื่องเก็บตัวอย่างเมฆ สำรวจชั้นบรรยากาศ แถมทั้งขึ้นชื่อว่า นาซ่า และอเมริกาด้วยแล้ว ย่อมไม่มีใครในโลกวางใจว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นในด้านการทหาร แถมเครื่องบิน ER-2 ของนาซ่า ที่นำมาใช้นั้นก็ระแวงกันว่าจะเป็นเครื่องจารกรรม เพราะพัฒนามาจากเครื่อง U-2


ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการมาปรับสมดุล Rebalancing ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีน ที่มีการขยายแสนยานุภาพทางทหารในแถบนี้ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้มากขึ้น จนมีการเผชิญหน้าของเรือรบจีนกับเรือรบฟิลิปปินส์ ประเทศน้องเลิฟของอเมริกา มาก่อนหน้านี้ 
อีกทั้งความข้องใจในความสัมพันธ์ของพม่ากับเกาหลีเหนือ ในเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ร่วมกัน จนเคยมีข่าวพม่ามีนิวเคลียร์นั้น ก็มีส่วนที่ทำให้อเมริกาต้องกลับมาในภูมิภาคนี้ และอาจมีส่วนที่ทำให้นาซ่าจะต้องขึ้นสำรวจชั้นบรรยากาศ ถึงชั้นสตาร์โตสเฟียร์ แต่ทว่า ไม่ได้บินเหนือน่านฟ้าพม่า เพราะไม่ยอม 

สหรัฐอเมริกา ที่มัวไปตามล่า บิน ลาเดน และทำศึกต่อต้านก่อการร้ายมาเป็นสิบปี จึงต้องประกาศว่า US is coming back เร่งกลับมาสู่ภูมิภาคนี้
ตั้งแต่ นางฮิลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ จนถึงการที่กลาโหมและ ทร.สหรัฐ เชิญ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ไปเยือนอเมริกา ในรอบ 19 ปี มาแล้ว จนมาถึง พล.อ.Martin Dempsy ผบ.สส.สหรัฐ โดยเฉพาะไฮไลต์สุดคือ การที่ นาย Leon E. Panetta รมว.กลาโหม สหรัฐ พบปะกับ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เมื่อ 1 มิถุนายน ในระหว่างการร่วมประชุมความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ และรับปากจะมาเยือนไทย ในฐานะแขกของกลาโหม ในปลายปีนี้ 
ซึ่งมีหัวข้อเรื่อง การขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เรื่อยมาตลอด ทั้งการเป็นศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ HADR-Humanitarian and Disaster Relief จนถึงนาซ่า 
แม้ว่ากองทัพไทยพยายามจะหันไปให้ความสำคัญกับจีน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากอเมริกา ตั้งแต่การเลือกซื้อเครื่องบิน Gripen ของสวีเดน แทนเครื่องบินตระกูล F ของอเมริกา และซื้อปืน Tavor ของอิสราเอล แทนปืน M-16 หรือ M-4 ของอเมริกา จนถึงมีการฝึกร่วมกับจีนมากขึ้น เริ่มจากฝึก Blue Strike ของนาวิกโยธินไทย-จีน จากที่ทหารรบพิเศษไทย-จีน ฝึก Strike กันอยู่แล้ว
รวมทั้งเมื่อ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นำทั้งปลัดกลาโหม ผบ.สส. และ ผบ. 3 เหล่าทัพไปเยือนจีนแบบทั้งครอบครัว ไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา แถมประกาศว่าจะไม่ไปเยือนประเทศไหนพร้อมหน้ากันเช่นนี้อีก เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้จีนทราบ แถมเพิ่มการฝึก ทอ.ไทย-จีน Lightning Strike และจะผลิตจรวดหลายลำกล้อง ร่วมกันอีกด้วย 
เทียบเชิญให้ พล.อ.อ.สุกำพล ออกมาจากปาก รมว.กลาโหมสหรัฐ ทันทีที่พบหน้ากันที่สิงคโปร์ เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ฝ่ายไทยขอให้ทางอเมริกามาเยือนก่อน ซึ่ง นาย Panetta ก็ตอบตกลงที่จะมาเยือนไทยในอีกไม่กี่เดือนนี้


แต่ดูเหมือนสิ่งที่มหาอำนาจอย่างอเมริกา ไม่ทันฉุกคิด ว่า จะเกิดการต่อต้านขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่เรื่องนี้รั่วไหลออกมาเป็นข่าว และกลายเป็นเกมการเมือง ที่พรรคฝ่ายค้านนำมาโจมตีและเล่นงานรัฐบาล จะเห็นได้ว่านาซ่าได้วางแผนเรื่องการขนย้ายอุปกรณ์จาก Ames Research Center ออกมาตั้งแต่กลางพฤษภาคม มาทางเรือ เพราะกว่าจะถึงแหลมฉบังหรืออู่ตะเภา ก็เดือนสิงหาคม ที่นาซ่าจะเริ่มต้นโครงการพอดี 
มหาอำนาจขั้นเทพอย่างอเมริกา ก็ยังคิดไม่ถึงเลยว่า ศึกสีเหลืองแดง และการเมืองภายในแบบสยามนี้ จะโกอินเตอร์ ลามไปถึงยุทธศาสตร์ระดับโลกของอเมริกา
จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่กล้านำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 มิถุนายน ทั้งๆ ที่เรียก ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ มาประชุมถึงพัทยาขอความเห็นก่อนแล้วเมื่อ 18 มิถุนายน 
แล้วที่สุดรัฐบาลก็ไม่กล้าเอาเสถียรภาพ และการเมืองภายใน มาเสี่ยงกับการเมืองระดับโลก โดยมีมติในการประชุม ครม. 26 มิถุนายน ให้นำเรื่องการพิจารณาในสภา ตามมาตรา 179 ก่อน แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะตีความว่าไม่ต้องเข้าสภาตามมาตรา 190 ไม่ว่าจะ วงเล็บ 1 หรือ 2 ก็ตามแล้ว เพราะกระแสต่อต้านแรง 

ทั้งๆ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้จี้ให้ทางกองทัพ โดยเฉพาะ ทร. ชี้แจง ปฏิเสธข่าวนาซ่าขนย้ายอุปกรณ์มาที่อู่ตะเภาแล้ว ที่ทั้ง บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. แจงไปรอบหนึ่ง แล้วให้ พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองเรือยุทธการ และ บิ๊กห้าว พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ เสธ.ทร. แจงอีกรอบ 
ทั้งๆ ที่ ทร. เตรียมหาสถานที่รองรับทั้งทีมนาซ่า อุปกรณ์ และที่จะเป็นศูนย์ HADR ในอู่ตะเภาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเลือกใช้อาคาร Red Horse หรือ ม้าแดง ซึ่งเป็นอาคาร รวมทั้งที่พักที่อเมริกาสร้างไว้ เพื่อให้ทหารอเมริกันเวลามาฝึก ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกหน่วย Combat Engineer Unit ของทหารอเมริกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ที่เคยมาใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานบินส่งกำลัง 
ทั้งๆ ที่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานไทย-สหรัฐ ที่มี พล.ท.สุรพงษ์ สุวรรณทัต เจ้ากรมยุทธการทหาร บก.กองทัพไทย ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนเสธ.สหรัฐระดับเหรียญรางวัลเป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้ากรมยุทธการ 3 เหล่าทัพ เพื่อเตรียมร่างข้อตกลง TOR และตรวจสอบเครื่องบินและอุปกรณ์ของนาซ่าทั้งหมดไว้แล้ว พร้อมมอบหมายให้กองทัพอากาศ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ ของนาซ่าทั้งหมด 
อีกทั้งตามปกติ ตามบันทึกข้อตกลงปี 2526 ที่ ทร.ไทยทำไว้กับ ทร.สหรัฐ ในการใช้อู่ตะเภา ทั้งการแวะจอดพัก เติมน้ำมัน นั้น ทางสหรัฐจะประสานไปยังกรมยุทธการทหาร บก.ทัพไทย ก่อนแล้วจึงแจ้งมาที่ ทร. แต่ตามอำนาจแล้ว ทอ. จะมีอำนาจในการตรวจสอบเครื่องบินทหารต่างชาติ 
เรียกได้ว่าทางกองทัพได้เตรียมมาตรการรองรับไว้หมดแล้ว เพราะ บก.กองทัพไทย ได้ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความเห็นร่วมของ 3 เหล่าทัพ ไปยังเลขาธิการ ครม. ตามนายกฯ ต้องการแล้วว่า พร้อมสนับสนุนภารกิจ และไม่กระทบต่อความมั่นคง



แต่ที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าเอาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และเสถียรภาพของรัฐบาลไปเสี่ยงกับความสัมพันธ์กับอเมริกา เพราะการให้นำเข้าสภา ที่อยู่ระหว่างการปิดสมัยประชุม จนกว่าจะเปิด 1 สิงหาคม ย่อมหมายถึงการล้มโครงการนาซ่านี้แล้ว 
อีกทั้งนาซ่า ก็มีกำหนดเส้นตาย ของงบประมาณ 30 ล้านเหรียญ ในการนำมาทำโครงการที่อู่ตะเภา ที่เขารอคำตอบแค่ 26 มิถุนายน เพื่อที่จะไปทำในพื้นที่อื่นแทน 
แน่นอนว่า งานนี้ ทางกองทัพไทย ซึ่งมีความสนิทสนมกับสหรัฐอเมริกามายาวนาน ย่อมเสียความรู้สึกไปบ้าง ที่ ครม. ไม่กล้าอนุมัติ และอาจส่งผลบางอย่างให้สหรัฐช่วยเหลือทหารไทยน้อยลง  
แต่ทางทหาร คาดหวังว่า เรื่องนี้จะแยกกับโครงการตั้ง HADR ที่ถือเป็นเรื่องทางการทหาร ที่เปิดเผย ไม่ได้เป็นการตั้งฐานทัพ ที่อาจจะมีการดำเนินการต่อไป แต่ก็หวั่นใจว่า จะถูกต่อต้านอีก เพราะกลายเป็นการเมืองไปแล้ว 

ประการหนึ่ง ที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่กล้าไฟเขียวนั้น อาจเป็นเพราะความห่วงใย ที่ ผบ.เหล่าทัพ ที่กลัวผลกระทบด้านเทคโนโลยี จิตวิทยาความมั่นคง และมิตรประเทศ ที่จะต้องทำให้โปร่งใส และทำความเข้าใจกับประชาชนและมิตรประเทศ 
ที่สำคัญคือ ทั้ง พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ผบ.ทร. และโดยเฉพาะ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้แสดงความเห็นในการหารือกัน รวมทั้งข้อห่วงใย 4 ข้อ จากกองทัพ ที่ทาง บก.กองทัพไทย เสนอมายังนายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุม ครม. 26 มิถุนายน เช่น ต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินการทั้ง HADR และ NASA การจัดทำร่างข้อตกลงร่วม ที่ต้องมีรายละเอียดและรอบคอบ และต้องประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนและมิตรประเทศรับทราบ เพื่อมิให้เกิดการหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และในการปฏิบัติภารกิจจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไทยร่วมทำงานด้วยตลอด เช่น นักบิน นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์   
เพราะในส่วนของ ทร. นั้น แม้ว่าจะไม่กระทบต่อปฏิบัติการทางทหารของกรมการบิน ทร.
แต่ก็มีข้อห่วงใย ในเรื่องของการทำให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งประชาชนคนไทย และให้ประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ไม่หวาดระแวง  
เหล่านี้อาจทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งเหวอ เกรงว่าจะมีผลกระทบที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการเป็นประเทศเล็กๆ อยู่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญสะเทือนเก้าอี้นายกฯ ไม่น้อย เธอจึงเลือกที่จะล้มโครงการ แบบนิ่มนวล ด้วยการโยนเข้าสภา


แต่อย่างไรก็ตาม ศึกอู่ตะเภา นี้ทำให้กองทัพกับรัฐบาล กระชับแน่นความสัมพันธ์ เพราะกลายเป็นพวกเดียวกันไปโดยอัตโนมัติ เพราะตลอดเวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ทั้ง รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ได้ชี้แจงมาตลอด จนถูกมองว่า เป็นการตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ แทนรัฐบาลด้วยซ้ำ
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่า กองทัพซึ่งดูแลความมั่นคง ไม่สามารถเข้าข้างใครได้ แต่จะทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของชาติ ถ้าเป็นโครงการดีก็น่าเสียดาย เพราะจะต้องทำให้โปร่งใส มีการชี้แจงกับประเทศต่างๆ ซึ่งยอมรับว่า กองทัพมีข้อห่วงใยอยู่ โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้านและเป็นมิตรต่อกัน ที่ต้องเปิดเผย 
"เรื่องบางเรื่องฝ่ายความมั่นคงเข้าข้างใครไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบให้ดูแลแผ่นดินภายในกติกาที่มีอยู่ ไม่ใช่ตามใจชอบ มีหลักการ อย่าเอาผมไปเข้าใครคนโน้นคนนี้ ประเทศชาติเป็นหลัก" บิ๊กตู่ เปรย

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีความสัมพันธ์ชื่นมื่นกันอยู่แล้ว ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะเป็นโอกาสให้นายกฯ เชิญ ผบ.เหล่าทัพ มาพบหารือ ทานข้าวด้วยกัน และมีนัดหมายที่จะทานข้าวกลางวันด้วยกัน 2 กรกฎาคม ในโอกาสที่ไปงาน 100 ปีการบิน ทอ. 
แถมเมื่อวันเกิด 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพก็ส่งเลขานุการเหล่าทัพไปมอบดอกไม้แฮปปี้เบิร์ธเดย์แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แบบพร้อมหน้า เพราะหาก ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ไปด้วยตนเองก็คงไม่เหมาะนัก แต่ก็ทำให้นายกฯ ปลื้มไม่น้อย  
แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าได้กล้าเสีย สั่งถอย กองทัพก็เข้าใจได้ เพราะมีทหารไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย กับการให้นาซ่าเข้ามา แต่หนุนการตั้ง HADR เพราะสถานะของสนามบินอู่ตะเภาก็เสมือนเป็น FOB-Forward Operating Base ของอเมริกา นั่นเอง

แม้บรรดา ผบ.เหล่าทัพ จะเสียดาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า "เสียดาย และเสียโอกาส รัฐบาลพยายามเต็มที่ ทำได้ก็ทำ ไปไม่ได้ก็หยุด ไม่ใช่ล่าถอยเสียหน้า" ก็ตาม แต่ก็รู้ดีว่าสะเทือนสัมพันธ์ทางทหาร และอาจส่งผลต่อการตั้ง HADR ไปด้วยก็ตาม แต่ก็ถือว่า ตัดไฟเสียแต่ต้นลมไปได้เรื่องหนึ่ง เพราะต่างก็คาดการณ์ไม่ถูกเหมือนกันว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากนาซ่าและอเมริกาเข้ามา ทั้งปัญหาการเมืองภายใน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ 
เพราะการเล่นเกมอำนาจ กับมหาอำนาจ อย่าง จีน และอเมริกา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และซับซ้อน ลับ ลวง พราง หลายชั้น แต่การเล่นเกมแห่งอำนาจภายในประเทศ ซับซ้อน และยากยิ่งกว่า หลายเท่าเลยทีเดียว 
รัฐบาลเสื้อแดง จึงต้องยอมล้มปฏิบัติการ ม้าแดง แผนยึดอู่ตะเภา ในที่สุด



+++

โครงสร้าง บก.สกัดกั้นยาเสพติด 2 บอร์ดใหญ่ไฟเขียว 201 อัตรา ทุ่มอุปกรณ์ไฮเทค 111 จุดตรวจ
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 99


หลังจากรัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยกำหนดยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 154/2554 และเปิดปฏิบัติการ "วาระแห่งชาติพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด" มาตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2554 ตั้ง "ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ" หรือ ศพส. มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศพส. ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 
ขณะที่การสกั้ดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด เป็น 1 ใน 7 ของยุทธศาสตร์ที่สำคัญของพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ในการกำหนดให้พัฒนาประสิทธิภาพจุดตรวจบริเวณเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ให้เป็นเครือข่ายสกัดกั้นทั่วประเทศ พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือจุดตรวจ พัฒนาความพร้อมจุดตรวจ จัดระบบจุดตรวจให้สัมพันธ์กันทั่วประเทศ วางระบบอำนวยการจุดตรวจ 
ด้วยความสำคัญดังกล่าว จึงเป็นที่มาของไอเดียการก่อตั้ง กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด (บก.สกัดกั้นฯ) ที่เสนอโดย พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) 
ซึ่งทั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นชอบไฟเขียวผ่านตลอด


โครงสร้างของ บก.สกัดกั้นฯ ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ และ 4 กองกำกับการ มีตำแหน่งทั้งหมด 201 คน แบ่งเป็น ผบก. 1 ตำแหน่ง รอง ผบก.3 ตำแหน่ง ผกก. 5 ตำแหน่ง รอง ผกก. 9 ตำแหน่ง สว. 20 ตำแหน่ง นว. 1 ตำแหน่ง รอง สว. 40 ตำแหน่ง และ ผบ.หมู่ 122 ตำแหน่ง
การดำเนินการของ บก.สกัดกั้นฯ จะใช้การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยี ระบบกล้องอ่านทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติ บันทึกเข้าเป็นระบบดิจิตอล ใช้ระบบวิเคราะห์ประมวลรถยนต์ต้องสงสัยในพื้นที่ บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 111 จุด พร้อมติดตั้งรถติดอุปกรณ์เคลื่อนที่ 19 คัน ฝึกอบรมข้าราชการตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจใน บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 โดยจะส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมสั่งการ ตั้งอยู่ที่ บช.ปส. วิภาวดี ปฏิบัติงานโดยกำลังเจ้าหน้าที่ ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนฝ่ายดูแลระบบข้อมูลจะวิเคราะห์พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของพาหนะและบุคคลต้องสงสัย ส่วนชุดปฏิบัติการจะตั้งด่านลอยร่วมปฏิบัติกับหน่วยงานหลักที่สำคัญ ทำหน้าที่สะกดรอยติดตามรถยนต์ต้องสงสัย  
ดูแลระบบฐานข้อมูลและพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับรูปแบบวิธีการลำเลียงยาเสพติดของกลุ่มนักค้ายา


พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดมักจะทะลักเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังภาคเหนือและภาคอีสาน ก่อนกระจายลงสู่พื้นที่ต่างๆ ตอนในของประเทศรวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มนักค้ายาเสพติดมักใช้ถนนเป็นเส้นทางลำเลียงยาเป็นส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ 
"แต่ปัจจุบันเรื่องการตั้งด่านสกัดกั้นยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. และตำรวจท้องที่ มีกำลังจำนวนน้อยและไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. ส่วนใหญ่มักจะดูแลติดตามจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ วิเคราะห์ข้อมูลด้านการข่าว เพื่อขยายผลจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ส่วนตำรวจท้องที่ อาทิ ใน บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 มีภารกิจอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งการตั้งด่านตรวจและต้องแบ่งกำลังไปติดตามจับกุมกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ 
"ผมมองเห็นว่าการตั้งหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดจะต้องเป็นคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตั้งด่านตรวจในเส้นทางหลักและรอง รวมทั้งเส้นทางเลี่ยง ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญ มีการวิเคราะห์เส้นทางของกลุ่มนักค้ายาเสพติด เฝ้าติดตามพฤติการณ์ เพราะกลุ่มนักค้ายามักจะใช้รูปแบบในการลำเลียงยาเสพติดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้รอดพ้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่"
ผบช.ปส.เผย


สําหรับวิธีการทำงานของ บก.สกัดกั้นฯ ผบช.ปส. เปิดเผยว่า จะทำหน้าที่อำนวยการสกัดกั้นยาเสพติด โดยควบคุมด่านตรวจและจุดตรวจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ติดตั้งระบบอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติและประมวลผล (License Plate Recognition) เฝ้าดูรถยนต์ทุกคันในเส้นทางลำเลียงยาเสพติด แล้วตรวจสอบหรือวิเคราะห์ว่ารถยนต์คันใดมีพฤติการณ์และเส้นทางเดินรถเข้าข่ายต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการลักลอบลำเลียงยาเสพติดหรือไม่ 
โดยมีโปรแกรมประยุกต์เป็นตัวช่วย คัดกรองรถยนต์ต้องสงสัย พร้อมทั้งแจ้งชุดปฏิบัติการสะกดรอยติดตามหรือแจ้งให้ด่านตรวจและจุดตรวจทำการตรวจค้น ติดตามจับกุมและขยายผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดวิธีการปฏิบัติ โดยจะต้องผสมผสานเทคนิคทั้งหมดเข้าด้วยกัน เน้นในพื้นที่ บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 ซึ่งกลุ่มนักค้ายาเสพติดมักใช้เส้นทางลำเลียงยาก่อนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ
ช่วงแรกจะตั้งจุดตรวจ 111 จุด และในปีงบประมาณ 2555 จะติดตั้งเพิ่มอีก 200 จุด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจากภารกิจสำคัญดังกล่าว ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. ที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอ ต้องขอกำลังพลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
ทั้งนี้ ผบช.ปส. กำหนดสเป๊กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บก.สกัดกั้นฯ ต้องมีความสนใจงานด้านนี้ มีความสามารถด้านการสกัดกั้นยาเสพติด มีประสบการณ์งานสืบสวน ละเอียดรอบคอบ รู้วิธีการสังเกตต่างๆ ตรวจสอบดูว่ารถคันไหนผิดปกติ รู้เทคนิคของคนร้าย มีความสามารถด้านการข่าว การวิเคราะห์ข้อมูล และการตั้งด่านตรวจ



ส่วนแผนการในอนาคต ผบช.ปส. กล่าวว่า การพัฒนาด่านตรวจในอนาคต ต้องเพิ่มกำลังพลให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจหนักและนานจนเกินไป ซึ่งอาจไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยจะลดเวลาทำงานจาก 8 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 6 ชั่วโมง หมุนเวียนกำลังพลมากขึ้น เพิ่มงบประมาณเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ ด้านกายภาพ จะปรับปรุงสถานที่ให้มีที่พักอาศัยใกล้ด่านตรวจ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อาบน้ำคลายร้อนให้เจ้าหน้าที่ด้วย และด้านเทคโนโลยีก็จะใช้กล้องวงจรปิดเข้าร่วมในการตั้งด่านเพื่อบันทึกข้อมูลรถยนต์ที่ขับผ่านด่านตรวจอีกด้วย 
"เป้าหมายเพื่อตัดวงจรขบวนการค้าและการลำเลียงยาเสพติดให้มากที่สุด ทำให้ยาเสพติดไม่สามารถกระจายลงสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศได้ ถ้าหากตัวยาน้อยลง จะทำให้ราคายาเสพติดแพงขึ้น ผู้เสพจะลงลด ลดความต้องการของผู้ค้าและผู้เสพจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมด้านอื่นๆ เพิ่มพยานหลักฐานในการดำเนินคดีในชั้นศาลให้หนักแน่นมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"ไม่รบกวนสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เส้นทางมากเกินไป เนื่องจากมีระบบที่สามารถคัดแยกรถปกติออกจากรถที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ มีการบูรนาการทั้งข้อมูล หน่วยงาน และวิธีการปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องทำควบคู่ไปกับขบวนการป้องกัน การเข้าโครงการบำบัดรักษา สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไปได้อย่างยั่งยืน" 
ผบช.ปส.ระบุ



.

สับสนฝ่ายค้าน, ถ่วงความเจริญ, กลัวนาซ่า, กระสุน(จริง), พิทักษ์อาปู ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม - (2475)โลกย์เป็นเช่นนั้น  โดย กระสา มันเสมอ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สับสนฝ่ายค้าน
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น


เป็นอันพับโครงการนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาไปแล้ว 
หลังครม.พิจารณาว่า การที่ นาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผล กระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 หรือไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 
แต่เพื่อความรอบคอบ เห็นควรให้เปิดอภิปรายทั่วไปในสภาโดยไม่ลงมติในเดือนส.ค.นี้

ตรงนี้แหละที่ทำให้โครงการศึกษาภูมิอากาศต้องล้มไป 
เพราะยังไงก็ไม่ทันตามกำหนดของนาซ่าที่วางไว้ในปลายเดือนมิ.ย.นี้ 
จากคำแถลงของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รู้สึกเสียดาย เพราะโครงการสำรวจภูมิอากาศของนาซ่าจะใช้ประกอบในการพยากรณ์อากาศ รองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 
เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภัยน้ำท่วมของไทยในอนาคตอย่างมาก

แต่จำเป็นต้องให้มีการอภิปรายในสภา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 
เพราะข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในเรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ 
ถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก!?


ตรงนี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูท่าทีของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ 
เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลประชาธิปัตย์นี่แหละที่ไปตกลงกับนาซ่า
แต่พอเป็นฝ่ายค้านก็กลับมาต่อต้านหน้าตาเฉย

งานวิจัยวิทยาศาสตร์กลายเป็นการเมืองน้ำเน่า 
ประโยชน์ของชาติก็กลายเป็นขายชาติ

ต้องยอมรับว่าการล้มโครงการนี้ ส่งผลกระทบต่อระบบการป้องกันน้ำท่วมของไทยในอนาคตแน่ๆ 
ในอดีตหากจำกันได้ เคยมีการขัดขวาง 2 พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อนำไปใช้ในโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยเมื่อต้นปี 
ถึงขั้นยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน 
สุดท้ายก็มีการวินิจฉัยออกมาว่า 2 พ.ร.ก.จำเป็นเร่งด่วนและโปร่งใสสุจริต

ทั้ง 2 กรณีนี้ทำให้ประชาชนสับสนมากถึงท่าทีของฝ่ายค้าน
เพราะมั่ว-พันกันไปหมด
ระหว่างการตรวจสอบ-การขัดขวาง!? 



++

ถ่วงความเจริญ 
โดย มันฯ มือเสือ  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ทั้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยัน 
กรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำโครง การตรวจสอบการก่อตัวของก้อนเมฆช่วงมรสุมเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้  
ไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

ทั้งที่นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐยืนยัน 
นาซ่าเป็นองค์กรด้านพลเรือน นักวิทยาศาสตร์ เครื่องบิน อุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพสหรัฐ

ทั้งที่ผู้นำเหล่าทัพไทยไม่ว่าทัพบกหรือทัพเรือยืนยัน 
ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องการสูญเสียอธิปไตย แต่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องทางวิชาการที่ไทยจะได้รับประโยชน์

ทั้งที่นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ไทยต่างเล็งเห็นประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ คือ ประโยชน์ด้านข้อมูลวิชาการ ประโยชน์ด้านการสร้างบุคลากรและการสร้างภาพลักษณ์
ตามที่นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนัก งานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. ระบุ 
"นานาชาติจะได้เห็นเจตนาดีของไทยที่จะช่วยมวลมนุษยชาติ ที่ผ่านมาทำมาแล้วสิบกว่าจุดกระจายทั่วโลก เมื่อเราร่วมมือทำโครงการนี้ไทยจะมีที่ยืนในฐานะประเทศที่ช่วยให้ได้ข้อมูลในภูมิภาค"

ไม่นับผลสำรวจเอแบคโพลที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 63.5 เห็นควรให้นาซ่าเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อศึกษาการก่อตัวของชั้นบรรยากาศโลก 
ถึงมีเสียงหนุนมากมาย

แต่เพื่อความรอบคอบ รัฐบาลให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 ในสมัยประชุมรัฐสภาที่จะเปิด 1 ส.ค.นี้ 
ตามเงื่อนไขวันเวลา จึงเป็นอันว่าโครงการของนาซ่าต้องล้มพับไปอย่างน่าเสียดาย


กระนั้นก็ตามในมุมกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลไม่นำเรื่องเข้ารัฐสภา ฝ่ายค้านก็จะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องก็ต้องถูกยับยั้งไว้อยู่ดีเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
เผลอๆ รัฐบาลยังจะโดนยุบพรรคซ้ำสาม 
ทีนี้รู้หรือยังว่า 
ใคร...ถ่วงความเจริญประเทศชาติ?



++

กลัวนาซ่า
โดย สับไก กระสุนธรรม  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม 
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


อาจเพราะการแข่งขันด้านการทหารของโลก รวม"การบินอวกาศ" ไว้ด้วย 
โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่โซเวียตกับสหรัฐ อเมริกาแข่งขันแสนยานุภาพและบารมีกัน 
กรณีองค์การการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซ่า ขอเข้ามา ตั้งศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์และอากาศ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติระดับภูมิภาค และฐานปฏิบัติการสำรวจสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อู่ตะเภา จึงชวนให้ผู้รู้ในเมืองไทยคิดไปต่างๆ นานา 
แล้วแต่ว่าใครจะจินตนาการบรรเจิดกว่ากัน

บ้างกลัวว่า สหรัฐอาจแอบเอาขีปนาวุธเข้ามาติดตั้ง
บ้างสงสัยว่า ข้อตกลงแบบนี้คงแอบทำสัญญา ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้วีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐได้ 
บ้างว่า นาซ่าไม่น่าบีบไทยด้วยการขีดเส้นให้รีบตัดสินใจ 

หากเจ้าหน้าที่องค์การนาซ่าทราบข่าวความเคลื่อนไหวนี้ของไทย นึกไม่ออกว่าเขาจะงงหรือขำ  
นาซ่ามีหน้าที่ชัดเจนว่า รับผิดชอบโครงการอวกาศด้าน"พลเรือน" ทำงานด้านวิจัยเกี่ยวกับ การบินและอวกาศ 
นอกจากสำรวจดาวและจักรวาลอื่นๆ นอกโลก ยังมุ่งเน้นการศึกษาโลก ในเรื่องดินฟ้าอากาศ ผ่านระบบสังเกตการณ์ 
เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปีก่อน นาซ่ามีภาพถ่ายดาวเทียมจากเครื่องมือบนยานอวกาศเทอร์รา แสดงเส้นทางการไหลของน้ำที่หลากท่วมพื้นที่ต่างๆ 

เป้าหมายที่จะเข้ามาตั้งศูนย์ที่อู่ตะเภาจึงจะเป็นไปตามภารกิจแบบนี้ 
ไม่มีเนื้อหาใดๆ ที่เกี่ยวกับ"การทหาร" ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เหล่าทัพต่างๆ รวมถึงบริษัทผู้วิจัยและพัฒนาอาวุธ 
โครงการต่างๆ ของนาซ่าคงไม่แตกต่างจากงานวิจัยด้านอื่นๆ คือมีกำหนดเวลาที่ต้องดำเนินการ มีเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องติดตั้ง จึงขีดเส้นให้ไทยต้องตัดสินใจ

เพราะหากเราคิดนานหรือไม่อนุญาต เขาจะได้ไปเลือกที่อื่น 
แต่ที่ตั้งประเด็นกันไปไกลและซับซ้อน อาจมีอิทธิพลมาจากทฤษฎีนอกเหนือนาซ่า ว่า"พ.ต.ท. ทักษิณเป็นศูนย์กลางของจักรวาล" นั่นเอง



++

กระสุน (จริง)
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ดูเหมือนว่าการเอาผิดคนสั่งปราบม็อบแดง 98 ศพจะคืบหน้าขึ้นมาก 
เมื่อนางธิดา โตจิราการ ประธานนปช. และญาติผู้เสียชีวิต จะเดินทางไปกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อนำข้อมูลคดีสลายม็อบ 98 ศพมอบต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในวันที่ 26 มิ.ย.นี้  
โดยนำคลิปวิดีโอและภาพนิ่งไปเปิดให้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ดูกันจะจะ
จะได้รู้ว่ามีการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามประชาชนจริงๆ

ความจริง 98 ศพต้องถูกเปิดเผยต่อสายตาชาวโลก!  
การทวงความยุติธรรมในระดับสากล จะได้เริ่มต้นอย่างจริงจังกันเสียที 
ขณะที่ในเมืองไทย ก็มีการไต่สวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เหมือนกัน


เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คอป.เรียก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผอ.ศอฉ.มาชี้แจง อีกครั้ง 
แต่มีเพียงนายอภิสิทธิ์เข้าชี้แจงคนเดียว 
นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่ามีการสั่งการให้ใช้อาวุธจริงในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ม็อบแดงเมื่อปี 2553
แต่ให้ใช้เฉพาะกรณีป้องกันตนเอง
หรือป้องกันประชาชนที่จะได้รับอันตราย

และไม่มีการใช้อาวุธปืนในการสลายการชุมนุม
ส่วนที่ติดประกาศว่า 'ห้ามเข้า เขตใช้กระสุนจริง' นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เป็นเพียง การติดเพื่อเตือนไม่ให้ประชาชนเข้าไปร่วมชุมนุมในพื้นที่เท่านั้น


ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ที่นายอภิสิทธิ์จะชี้แจง 
แต่ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ นายสุเทพมีคิวเข้าชี้แจงคอป. 
ก็อยากให้คอป.ถามเรื่องการใช้กระสุนปืนอีกครั้ง 

เพราะกองทัพรายงานการเบิกจ่าย-คืนเครื่องกระสุนในช่วงเหตุการณ์สลายม็อบแดงแล้ว 
พบว่ามีการใช้กระสุนจริงไปกว่าแสนนัดทีเดียว 
นายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ.ต้องชี้แจงให้กระจ่างด้วย

ทำไมต้องใช้กระสุนจริงนับแสนนัดในการป้องกันตัว
แล้วทำไมไม่ใช้กระสุนยาง !?



++

พิทักษ์อาปู
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เหมาะสมแล้วที่ "โอ๊ค"พานทองแท้ ชินวัตร ประกาศตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์อา (นายกฯ) ปู 
เพราะหลานโอ๊คอัดพวกกระแนะกระแหน-ค่อนแคะนายกฯยิ่งลักษณ์เสียอยู่หมัดจริงๆ 
การตอบโต้ก็ใช้ช่องทางผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ผ่านเฟซบุ๊ก 
แรกๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย

เป็นเรื่อง "ของดีราคาถูก" แนะนำร้านอาหารราคาถูก 
สู้กับกระแส "แพงทั้งแผ่นดิน" ที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามโหมกระหน่ำเล่นงานรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 
พยายามบอกว่าราคาอาหารถูกๆ ก็มีอยู่ ไม่ได้มีแต่แพงอย่างเดียว 
แต่ก็ดันเป็นเรื่องเป็นราว เพราะโอ๊คดันไปโพสต์ภาพนั่งกินข้าวหมูแดงราคาถูกร้านดัง ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ พรรคประชาธิปัตย์ 
เท่านั้นแหละ
เต้นผางกันทั้งพรรค ดาหน้าออกมาตอบโต้กันยกใหญ่

ถ้าเป็น นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค ตอบโต้ก็พอทำเนา 
แต่กลายเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคโดดลงมาเล่นเอง 
ให้สัมภาษณ์ว่า "รัฐบาลทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ของพ่อคุณพานทองแท้"

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาดูเหมือนว่าเป้าหมายโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ ก็กลายเป็น "โอ๊ค" ไปโดยปริยาย
มากันหมดทั้งโฆษกพรรคอย่าง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต 
หรือส.ส.มือปาแฟ้มอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

เล่นกันเลยเถิดถึงขนาดด่าพ่อล่อแม่กันเลย 
ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่ลูกชายทักษิณ ซึ่งไม่ได้เป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ 
ยังทำให้พรรคประชาธิปัตย์ออกอาการได้ขนาดนี้


แล้วดูลีลาการ "เอาคืน" ของโอ๊คแล้วก็ถึงพริกถึงขิงดี 
ใส่กันเต็มๆ ไม่ไว้หน้าอดีตนายกฯ มาร์คที่ระบุว่า สู้นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้ คือเรื่องเปลี่ยนชุดได้ไม่เท่า แล้วก็ตำส้มตำไม่เป็น
"โอ๊ค" ก็จัดเต็มด้วยการโพสต์ภาพ
นายอภิสิทธิ์ยืนยิ้มแป้นตำส้มตำโชว์สมัยเป็นนายกฯ 
กับภาพนายอภิสิทธิ์ยืนเต๊ะท่าถ่ายแบบหลายสิบรูป

โดนดอกนี้เข้าไป "มาร์ค" คงสะดุ้งโหยง !?



+++

โลกย์เป็นเช่นนั้น 
โดย กระสา มันเสมอ  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น. 


วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2555 เป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย 80 ปี

ท่านอาจารย์ ดุษฎี พนมยงค์ เขียนบทความเชิงถักร้อยถ้อยเรียง ลงมติชน หน้า 10 ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 24 ด้วยความเรียบไหล ทว่าลึกซึ้ง ถึงบุพการีของท่าน ผู้อภิวัฒน์คนสำคัญ ซึ่งมีทั้งความสุจริตต่อผู้คน สุจริตต่อแผ่นดินเต็มเปี่ยมคือ 
ท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งยงของไทย 
ข้อเขียนเท้าความตั้งแต่ พ.ศ.2468 บอกว่า

"...ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเศษ เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน 
แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด 
แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี...บางครั้ง ข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา 
ข้าพเจ้าไม่ได้นำความจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย 
ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ 
ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ 
ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี
"

พ.ศ.2475 มันสมองอันวิสุทธิ์ของกลุ่มคณะราษฎร์ ก็บอกอีกว่า 
"ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี 
พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ 
แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน 
และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น 
ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ
"



ประชาธิปไตยในทางรอดของไทย เป็นไปอย่างที่ท่านอาจารย์ปรีดีเขียน  
สรุปสังเขปคือ เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จากผู้ริเริ่มกระทำการด้วยความสุจริต ทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อแผ่นดิน

ไม่ใช่เกิดจากการทุจริตฉ้อฉลทุกรูปแบบด้วยความเห็นแก่ตัวชั่วชาติด้วยกากเศษไวน์ก้นแก้ว ซ้ำไม่รู้ถึงกะปิดีในรสน้ำพริกของประชาชน

ขนาดสุจริต ยังผิดหวัง 
ภายใต้เงื้อมมือทุจริตฉ้อฉล ใครคิดถึงทางออกอย่างไร?  



.