http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-31

พี่สาวขี้เมาของผม โดย จอห์น วิญญู

.

พี่สาวขี้เมาของผม
โดย จอห์น วิญญู spokedark.tv www.facebook.com/spokedarktv
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 79


พี่สาวผมขี้เมาทั้งคู่เลยครับ ทั้งคนที่เป็นเจ้าของเว็บสโป๊กดาร์กและคนที่จบ Ph.D. ประวัติศาสตร์ จาก Oxford (บ้านผมก็มีคนจบ Oxford กะเค้าเหมือนกันนะฮ้าร์ฟว์ลวกเพี่ย!!)
พี่สาวของผมสองคนนี้ทำอะไรได้หลายอย่างครับ ผลิตรายการทีวี ทำข่าว ทำหนัง สอนหนังสือ ทำงานวิจัย พรีเซนต์เปเปอร์ในเวทีระดับนานาชาติ กระทบไหล่คนดัง ทำอาหารอร่อย รับเชิญไปเทศกาลหนัง หาสามีดีๆ เลี้ยงแมว ดูแลชาวบ้านชาวช่องเค้าได้ร้อยแปด


เรื่องมันแน่นอนอยู่แล้วครับ ว่าก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ she ทำไม่ได้
she ขับเครื่องบินกันไม่เป็น เขียนโปรแกรมไม่ได้ สอนให้แมวมาหาเมื่อเรียกไม่ได้ แต่เชื่อว่านอกจากเรื่องแมวแล้ว ถ้า she จะหัดขับเครื่องบินหรือเขียนโปรแกรม ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถึงกับ "เหลือบ่ากว่าแรง" ซะทีเดียว
แต่มีอย่างนึงครับ ที่ sheๆ ทำไม่ได้ และไม่ใช่แค่ทำไม่ได้ด้วยนะ แต่ทำไม่ได้แล้วยังโดนประจานต่อหน้าธารกำนัลอีกต่างหาก 
นั่นก็คือ การซื้อไวน์ซักขวดก่อน 11 โมงเช้าครับ


สัปดาห์ที่แล้วพี่สาวคนโตของผมแกกำลังจะไปถ่ายรายการ "อร่อยสร้างภาพ" ของ พี่ทราย เจริญปุระ (หญิงสาวผู้ซึ่งลีลาการทำอาหารแสนจะตรงไปตรงมาแต่เซ้กกกกซี่ชะมัด ---) she ก็ไปซื้อเครื่องเคราประกอบอาหารเพื่อไปถ่ายรายการตามปกติที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงแถวๆ ออฟฟิศ ขณะนั้นเป็นเวลา 10 โมงเช้าครับ 
ในระหว่างช็อปปิ้ง she เห็นไวน์ขวดหนึ่งที่ได้พิสูจน์ตนมาหลายครั้งแล้วว่าอร่อยได้ใจ เห็นแล้วก็ชวนให้เกิดอาการคันอยากซื้อไปเป็นบรรณาการพิธีกรคนสวยบ้าง (บริษัทนี้ใช้วิธีเหล้าแลกข้าวกันครับ --- เอาเหล้าไปแลกกับข้าวที่พี่ทรายทำ บาร์เตอร์ซิสเต็ม อิอิอิ) ไปถึงแคชเชียร์ เอาผักเอาเนื้อเอาเครื่องปรุงวางๆ แล้วก็ตามด้วยไวน์อย่างไม่ทันคิด ฉับพลัน คุณแคชเชียร์ก็ประกาศออกมาด้วยเสียงอันดังให้คนที่ยืนต่อแถวอยู่ยันไปถึงคนในแถวข้างๆ ด้วย ได้ยินอย่างทั่วถึงกันว่า "ยังไม่สิบเอ็ดโมงเช้ายังซื้อเหล้าไม่ได้นะคะ"

มีสองอย่างที่เป็นสาเหตุให้มนุษ์คนหนึ่งต้องพูดกับมนุษย์อีกคนหนึ่งด้วยเสียงอันดังในสถานที่ที่ไม่ใช่ผับ เธค หรือ ไซต์ก่อสร้าง สาเหตุที่หนึ่ง ใครคนใดคนหนึ่งหูตึง และสอง อยากพูดให้คนอื่นๆ ในรัศมีได้ยินด้วย --- พี่สาวผมไม่ได้หูตึงแน่นอนครับ (บางครั้งออกจะหูดีเกินไป นี้สนุงด้วยซ้ำ) แคชเชียร์ก็คงไม่หูตึง เพราะถ้านางหูตึง นางคงพูดเสียงดังแบบนั้นกับมนุษย์ที่เข้าแถวก่อนหน้าทั้งหมด

พูดจบ นางก็คว้าเอาไวน์ของกลางนั้นไปไว้ทางด้านในของแคชเชียร์ นัยว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อีลำยองที่คงกำลังอยากเหล้าจนตัวสั่นคว้าไวน์ขวดนั้นวิ่งหนีออกนอกห้างได้  
ขี้เกียจให้ยามตามไปจับละกระมัง ---


โถ --- แม่คุณ ปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็งจริงๆ ไปเอาโล่กับใบประกาศฯ มาเซ้ะ ! 
การไปเหวี่ยงวีนแคชเชียร์ซุปเปอร์มาร์เก็ตคงไม่ใช่ทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับปัญหานี้ซักเท่าไหร่หรอกครับ เพราะแคชเชียร์ก็แค่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎที่อัจฉริยะที่ไหนก็ไม่ทราบรังสรรค์ขึ้นมา 
และแคชเชียร์กำลังปฏิบัติตามสัญชาตญาณที่ถูกปลูกฝังมาโดยรัฐและกลุ่มผู้มี "ความเหนือกว่าทางศีลธรรม" ว่า สุราเป็นสิ่งชั่วร้าย คนที่ดื่มสุราเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ ผู้หญิงที่ดื่มสุรายิ่งน่ารังเกียจกว่า  

และผู้หญิงที่ดื่มสุราก่อนสิบเอ็ดโมงเช้านั้น น่ารังเกียจเป็นที่สุด สมควรถูกประจานให้ได้อับอาย 
(ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรถูกแคชเชียร์อบรมต่อหน้าธารกำนัล และถ้ายังไม่สำนึกด้วยการทุ่มตัวเองลงไปบนพื้น ร้องไห้ด้วยความละอาย ขอร้องให้แคชเชียร์ให้อภัยและสัญญาว่าจะกลับเนื้อกลับตัวมาเป็น "ผู้หญิงที่ดี" แล้วล่ะก็ ควรจะถูกทุ่มด้วยหินให้ตายโดยกลุ่มแคชเชียร์และธารกำนัลเสียไม่ให้หนักแผ่นดินอีกต่อไป --- เค้าเรียกกันเก๋ๆ ว่า "การกดดันทางสังคม")



เราจะมีบทสนทนาอย่างลึกซึ้งกับแคชเชียร์ว่าด้วยกฎห้ามซื้อเหล้าก่อน 11 โมงเช้า หลังบ่ายสอง และหลังเที่ยงคืน คงจะลำบากน่าดู เพราะฉะนั้น เราละแคชเชียร์ไว้ครับ 
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ ว่า 11 โมงเช้านั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร

สิบโมงครึ่งไม่ได้เหรอ? ทำไมไม่ 11 โมงครึ่ง? ทำไมไม่เที่ยงสี่สิบห้า? 
ทำไมต้องบ่ายสอง ทำไมต้องเที่ยงคืน? 
มีเหตุผลอะไรที่มากไปกว่าคนออกกฎเห็นว่านี่แหละ "เหมาะสม" หรือเป็น "ความเชื่อ" ของคนออกกฎว่าบังคับแบบนี้แล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลง? คนติดเหล้าจะลดลง? จะมีเหตุทะเลาะวิวาทลดลง?


ผมเป็นราษฎรธรรมดาครับ สิ่งที่ผมเห็นด้วยตาตัวเองและรู้สึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ ระเบียบวินัยในสังคมมันลดน้อยลงทุกวัน ผมเชื่อว่าอุบัติเหตุทางการจราจรเกิดขึ้นเพราะคนไม่เคารพกฎ เพราะกฎไม่ได้ถูกบังคับใช้ ผมเห็นว่าเด็กช่างกลก็ยังคงตีกันตาย -่า ทำชาวบ้านชาวช่องเค้าเดือดร้อนโดนลูกหลงกันเหมือนเดิม กี่ปีๆ ก็ไม่เห็นจะดีขึ้น  
ผมเชื่อว่ากฎหมายและการทำสงครามกับยาเสพติดของรัฐ เป็นการต่อสู้ที่ล้มเหลวและน่าอับอายอย่างที่สุด 
แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นแค่ "ความเชื่อ" ของผม 
มันไม่มีผลอะไรหรอกครับ ตราบใดที่มันยังไม่ได้ถูกทดสอบและยืนยันว่ามันเป็นความจริง


ในฐานะประชาชน 
ผมก็อยากได้รับเกียรตินั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง ก่อนที่ท่านจะออกกฎเกณฑ์อะไรมาบังคับหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ท่านน่าจะมีบางสิ่งบางอย่างมายันกับพวกเราบ้าง ว่าการออกกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ ได้รับการพิสูจน์แล้ว (ด้วยกระบวนการที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล) ว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 

บางทีก็แค่อยากรู้ว่า ทำไมต้อง 11 โมง? 
เช่นเดียวกับกฎอีกมากมายที่ให้ดุลพินิจกับคนบางจำพวกที่ไม่สามารถอธิบายการกระทำของตัวเองได้อย่างมีเหตุมีผล และแอบซ่อนอยู่หลังคำเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น "ความเหมาะสม" หรือ "ศีลธรรมอันดี"

นักวิจัยทางสังคมวิทยาเป็นจำนวนมาก ได้ศึกษาและได้ผลแบบเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้วว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างการเสพสื่ออนาจารกับการก่ออาชญากรรมทางเพศ  
แต่ถึงกระนั้น ผู้ถืออำนาจรัฐไทยก็ยังคงให้เหตุผลซ้ำๆ ซากๆ ทุกครั้งที่เกิดเรื่อง นมๆ ตูดๆ ในสื่อ

จะยกตัวอย่างก็คงได้อีกเป็นหางว่าวครับ 
อ้อ ช่างหัว 11 โมงเช้าเถอะครับ สุราไม่ใช่ของหายากอะไร 
วันก่อนผมยังเห็นคนซื้อเบียร์ในเซเว่นไม่ได้เพราะติดเวลา แต่พอเดินออกมาที่ร้านขายของชำข้างๆ ก็เห็นซื้อได้อยู่เลย 
ขำขำน่า ฮ่าๆๆ



เรื่องสนุกตบท้ายนิดหน่อยเกี่ยวกับสถิติและการศึกษาเรื่องบางเรื่องอย่างจริงจังและลึกซึ้ง 
ที่ประเทศเกาหลีใต้ครับ ไฟจราจรสีแดงของเค้ามีระบบการนับถอยหลัง คนที่รถติดอยู่จะได้ไม่ประสาทเสียมากนักเวลาที่ต้องรอ ซึ่งก็เกิดจากการศึกษาที่พบว่า ระดับความเครียดของมนุษย์ลดลงเมื่อสามารถทำนายอนาคตได้ แม้จะนั่งรถติดในปริมาณเวลาเท่าเดิม แต่ถ้ารู้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน ยังทำให้รู้สึกดีกว่าต้องนั่งรออย่างไร้จุดหมาย
แต่เกาหลีใต้ไม่มีการนับถอยหลังเวลาไฟเขียวครับ เนื่องจากว่าอะไรก็คงพอทราบๆ กันอยู่ เมื่อคุณเห็นมาแต่ไกลว่าไฟเขียวกำลังจะกลายเป็นไฟเหลือง คนส่วนมากจะเหยียบคันเร่งจนมิด 
และเป็นเหตุให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

เมืองจีน ใช้วิธีเดียวกับเกาหลีใต้ แต่สงสัยไม่ได้อ่านงานวิจัยควบคู่ 
เลยแถมการนับถอยหลังไฟเขียวเข้าไปด้วย ได้ผลครับ 
ตายเกลื่อน

เป็นวิธีง่ายๆ ในการลดจำนวนประชากรได้ดีทีเดียว 
ทำอะไรไม่มีหลักการ ไม่รู้จักศึกษาเล้ยยยย ให้ตายสิ ! แย่จริงๆ



.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(17) (18): นักเขียนโนเบล“วิพากษ์” , เสียงกึกก้องต้าน.. โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (17) นักเขียนโนเบล “วิพากษ์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 41


เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ปี 2537 ที่ชาวโลกยกย่องในความเป็นอัจฉริยะด้านการใช้สื่อภาษาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึกมีพลัง เป็นหนึ่งในนักคิดชั้นนำที่ประกาศตัวต่อต้าน "นิวเคลียร์" อย่างแข็งขัน
"โอเอะ" วัย 77 ปี วิพากษ์พฤติกรรม "มัตสุทาโร โชริกิ" เจ้าของ "ยูมิโอริ ชิมบุน" หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นว่าใช้สื่อในมือเกื้อหนุนแผนส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในยุคของ นายยาสุฮิโร นากาโซเน่ เป็นนายกรัฐมนตรี

ย้อนอดีตนายนากาโซเน่ เป็นสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพีที่มีชื่อเสียงมาก หลังจากพ้นรั้วของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ลงเล่นการเมืองจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อปี 2490 
นากาโซเน่ มีแนวคิด "ชาตินิยม" จัดอยู่พวกสายเหยี่ยว ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลชุดต่างๆ หลายตำแหน่ง รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2502 
การเป็น ผอ.สำนักงานวิทยาศาสตร์ฯ มีส่วนทำให้ "นากาโซเน่" เกิดแรงจูงใจผลักดันนโยบาย "นิวเคลียร์" ให้เป็นพลังงานหลักของประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา 
นายนากาโซเน่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2525 ได้ปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ให้กระชับแนบแน่น 
สื่อญี่ปุ่นบอกว่าทั้งคู่ไม่ชอบบทบาทรัสเซีย และนั่นทำให้เกิดแนวทางการทูต "รอน-ยาสุ" (Ron-Yasu Diplomacy) ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่น 
ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทางการทูตนี้เอง ดึง "ญี่ปุ่น" เข้าสู่ยุคนิวเคลียร์และการสร้างความแข็งแกร่งทางการทหาร


นักเขียนรางวัลโนเบล ขุดคำพูดของนายนากาโซเน่สมัยเป็นนายกฯ มาแฉให้สื่อฟังว่า "นากาโซเน่บอกคนสมัยนั้นว่าเพราะญี่ปุ่นไม่มีแหล่งพลังงานจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีนี้เรียบร้อยแล้ว
โอเอะบอกว่า สหรัฐหยิบยื่นความรู้เรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ให้เครื่องจักรและเชื้อเพลิงกับญี่ปุ่น 
กากของเสีย "นิวเคลียร์" คือผลจากการผลิตเชื้อเพลิงที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดปัญหาใหญ่ 
"โครงสร้างของประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้มีผลมาจากอดีตและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ผลักเราให้เข้าสู่ยุคแห่งความสูญเสียเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง เหมือนเช่นเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปีที่แล้ว" โอเอะชำแหละประวัติศาสตร์

โอเอะ เป็นเจ้าของวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น A Quiet Life หรือเรื่อง The Silent Cry และ A Personal Matter แถลงที่มา "นิวเคลียร์" ระหว่างประกาศชักชวนให้ชาวญี่ปุ่นร่วมขบวนประท้วง "นิวเคลียร์" ครั้งใหญ่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ 
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา "โอเอะ" และบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านต่างๆ อาทิ นายเรียวอิชิ ซากาโมโต นักประพันธ์เพลงเจ้าของรางวัลออสการ์ นายคัตสุโตะ อูชิฮาชิ นักเศรษฐศาสตร์ นายซาโตชิ คามาตะ นักหนังสือพิมพ์เข้าร่วมต่อต้านนิวเคลียร์ ในกรุงโตเกียว 
ผู้ประท้วงลงชื่อต่อต้านนโยบายเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ในจังหวัดฟูกุย ร่วมกับชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ 7.5 ล้านคน


แต่ปรากฏว่า รัฐบาลนาย "โยชิฮิโกะ โนดะ" เมินเสียงประท้วงและสั่งเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโออิเป็นแห่งแรกหลังจากรัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ 54 แห่ง เพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัย ป้องกันเหตุซ้ำรอย "ฟุคุชิมา"
นั่นเป็นเหตุให้นายโอเอะและแกนนำต้าน "นิวเคลียร์" ต้องกลับมาแถลงข่าวพร้อมเรียกร้องให้บรรดาสื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวให้ชาวญี่ปุ่นร่วมคัดค้านนโยบายพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (18) เสียงกึกก้องต้าน “นิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 39


นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ตีแผ่ปรากฏการณ์ของชาวญี่ปุ่นรวมใจกันลุกฮือต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง 
ไม่เพียงนักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม อย่าง "เคนโซซาบุโร โอเอะ" และบุคคลที่มีชื่อด้านต่างๆ จำนวนมากเข้าร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งม็อบต้านนิวเคลียร์ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ลาก่อนนิวเคลียร์ (Sayonara Nukes) เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมล้วนแล้วมีความตั้งใจโชว์ให้โลกรู้ว่า "ชาวญี่ปุ่นไม่ต้องการนิวเคลียร์
นิตยสารเศรษฐกิจชื่อดังก้องโลกฉายภาพม็อบโตเกียวในวันนั้นว่า พลังประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากเกิดม็อบในยุคต่อต้านสงครามเวียดนามและต่อต้านสนธิสัญญาญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

"ดิ อีโคโนมิสต์" บรรยายว่า "ม็อบไม่เอานุกส์" ราว 170,000 คนยืนหยัดร่วมชุมนุมในสวนสาธารณะโยโยงิ ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสอย่างทรหดอดทน 
คนที่เข้าร่วมชุมนุมมีทุกระดับชั้นของสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมที่ได้ชื่อว่าทันสมัยพัฒนาแล้วและเป็นม็อบที่ส่งสัญญาณบอกให้รัฐบาล นายโยชิฮิโกะ โนดะ ได้รู้ว่า พวกเขาพร้อมจะทลายกระแสนิยมของพรรคถ้ายังขืนสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป


เดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลนายโนดะ เปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โออิ" ตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก ท่ามกลางความวิตกกังวลของชาวญี่ปุ่นว่าจะเกิดอันตรายซ้ำรอยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ และไม่แน่ใจว่าการตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 50 แห่งนั้นได้มาตรฐานแค่ไหน 
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ และเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา เมื่อเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างละเอียด โดยตั้งข้อสมมติฐานว่าสาเหตุสำคัญมาจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ทั้งนี้ พื้นที่ของญี่ปุ่นตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหว และมีสถิติเกิดแผ่นดินไหวติดอันดับหนึ่งใน 5 พื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวรุนแรงถี่บ่อยที่สุดของโลก

แต่ในผลสรุปของคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ชี้ว่า เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดและมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องอพยพประชาชนนับแสนคนออกจากพื้นที่ สั่งควบคุมบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าห้ามใครเข้าออก รวมไปถึงคำสั่งห้ามกินพืชผักเนื้อสัตว์ที่มาจากเขตอันตรายดังกล่าว มาจากน้ำมือของคนเป็นสำคัญ 
การจัดการบริหารของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ เจ้าของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา พนักงานโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล บกพร่อง ขาดความโปร่งใส ทั้งสามฝ่ายงุบงิบตั้งกฎกติกาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยกันเอาเอง 
โดยเฉพาะระบบมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัตินั้น ว่ากันว่า มีจุดโหว่ ไม่สามารถรับมือกับเหตุรุนแรงอย่างแผ่นดินไหวที่มีขนาด 9.0 ริกเตอร์



กลุ่มคนต่อต้านนิวเคลียร์ วิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บกพร่องหละหลวมว่า "เมด อิน เจแปน"
เปรียบเทียบเหมือนสินค้า "ญี่ปุ่น" ที่ตั้งมาตรฐานเอาเอง ไม่ยอมขึ้นกับสากลโลก 

ชินิจิโร วาตานาเบะ ชาวฟุคุชิมา เดินทางเข้ามาร่วมชุมนุม "ลาก่อนนิวเคลียร์" บอกนักข่าวดิ อิโคโนมิสต์ว่า ในพื้นที่รอบๆ ฟุคุชิมา ยังปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี แต่รัฐบาลกลับให้เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งอีกครั้ง 
"ทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบขนาดนั้น" วาตานาเบะ ตั้งคำถาม

ดิ อีโคโนมิสต์ตอบคำถามผ่านบทความชิ้นนี้ว่า เงินคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่บีบบังคับให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกรอบ เพราะขืนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไม่กำหนด เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถึงขั้นง่อยเปลี้ยเสียขา และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อาจพังทลาย
เมื่อพลังงานขาดแคลน โรงงานอุตสาหกรรมไม่มีพลังงานป้อนเพียงพอ พากันย้ายโรงงานไปตั้งในประเทศอื่นๆ เงินทุนย้ายตามไปด้วย อนาคตประเทศญี่ปุ่นจะตกต่ำ ไม่ได้กลายเป็นมหาอำนาจโลกอีกต่อไป

เพียงแค่หนึ่งปีครึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งระงับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ รัฐบาลต้องสั่งนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากต่างประเทศเพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นวันละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 3 พันล้านบาท ยิ่งนานวัน ญี่ปุ่นเสียดุลการค้ามากขึ้น 
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี 
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นายโนดะต้องบอกกับสื่อถึงเหตุความจำเป็นต้องเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปเพราะว่า "ไม่มีทางเลือก"


การตัดสินใจของนายโนดะได้รับเสียงสนับสนุนจากนักธุรกิจชั้นนำจากกลุ่มไคดันเรนและสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน 
"ดิ อีโคโนมิสต์" บรรยายว่า การได้รับเสียงสนับสนุนจากนักธุรกิจและสื่อมวลชน เช่น โยมิอุริชิบุน ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลได้คะแนนเสียงนิยมจากประชาชนนิยมเพิ่มขึ้น 
โออิขึ้นเวที "ลาก่อนนุกส์" พร้อมกับกล่าวโจมตีการจัดการแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา 
"พวกเรายอมทุกอย่างมอบความไว้วางใจให้กับผู้เชี่ยวชาญ เราเชื่อเขา แต่ในที่สุดเราเจ็บปวดและจบลงด้วยความเศร้าโศกในเหตุการณ์ฟุคุชิมา พวกเราที่คิดว่าพลังงานนิวเคลียร์ให้ประโยชน์ บัดนี้กลับกลายเป็นเหยิ่อไปแล้ว"

ฝ่าย ซาโตชิ คามาตะ นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของการประท้วงครั้งนี้บอกว่า การชุมนุมต่อต้านนิวเคลียร์ที่โยโยงิ เป็นสัญญาณบอกให้โลกรู้ว่า "ญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยน" รัฐบาลเผชิญกับแรงกดดัน 
"นี่เป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายสิบปี ที่เกิดแรงกดดันกับรัฐบาล เป็นแรงกดดันจากภายในของรัฐบาลเอง จากนักธุรกิจ สื่อมวลชน และเกิดจากแรงกดดันของประชาชนที่ไม่เอานิวเคลียร์" คามาตะ บอก

เสียงโห่ร้องตบมือระหว่างที่นักเขียนรางวัลโนเบลหรือนักคิดชั้นนำขึ้นปราศรัยบนเวที "ลาก่อนนุกส์" ดังก้องสนั่นทั่วสวนสาธารณะ "โยโยงิ" และได้ยินไปถีงบ้านพักนายกฯ ญี่ปุ่นที่นายโนดะเข้าพักระหว่างรับตำแหน่ง  
นายกฯ โนดะ อาจจะได้ยินเสียง "ไม่เอานิวเคลียร์" ดังก้องทั่ว "โตเกียว" ในวันหยุดสุดสัปดาห์ต่อๆ ไป



.

ภัยแล้งสหรัฐ กับวิกฤตอาหารโลก โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทความของปี 2554 - โลกร้อนกับ "ชีส" ใครคิดว่าไม่สำคัญ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ภัยแล้งสหรัฐ กับวิกฤตอาหารโลก
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 100


ถ้าแบ่งธัญพืชทั้งหมดที่ปลูกกันในโลกออกเป็นห้าส่วน ในนั้นจะเป็นข้าวโพดที่สหรัฐอเมริกาปลูกถึงสี่ส่วน เอาข้าวเจ้าข้าวสาลีทั้งหมดที่จีนปลูกมารวมกันก็ยังน้อยกว่าข้าวโพดของสหรัฐ สหรัฐเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงข้าวสาลีและถั่วเหลือง
แต่ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู๋ในสหรัฐคือภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบห้าสิบกว่าปี ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อพืชผลของสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวโพดนั้น รายงานล่าสุดของกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่าตอนนี้ที่ยังอยู่ในสภาพดีมีแค่ร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับตอนฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดีและมีการปลูกกันมากจนคาดว่าข้าวโพดจะมีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
พอเข้าฤดูร้อนทุกอย่างก็กลับตาลปัตร

ผลจากภัยแล้งที่สหรัฐเผชิญนั้นมีต่อราคาอาหาร ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น แต่กระทบไปทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าอาหาร ราคาสินค้าคอมโมดิตี้ตอนนี้ถีบตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์อีกแล้ว ราคาอาหารเริ่มไม่มีเสถียรภาพเมื่อตลาดเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมีตัวแปรที่สำคัญคือการเก็งกำไร โดยผู้เก็งกำไรที่ไม่ใช่เกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้ามาเล่นในตลาด ทั้งสถาบันการเงิน เฮดจ์ฟันด์ และผู้ลงทุนภายนอก 
ความจริงมีการทำแบบจำลองโดยกลุ่ม Bar-Yam ที่ชี้ให้เห็นว่าเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งแย่งชิงธัญพืชอาหารไปผลิตเชื้อเพลิงและทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ประกอบกับการเก็งกำไรจะส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีหน้าจะเข้าสู่สภาวะฟองสบู่อาหาร หรือ ฟู้ด บับเบิ้ล กล่าวคือ ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง 
ทว่า ในแบบจำลองสิ่งที่ไม่ได้ใส่ลงไปคือ "ภัยแล้ง" และเมื่อนำตัวแปรภัยแล้งเพิ่มเข้าไปในแบบจำลอง ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ก็จะยิ่งหนักขึ้นและรวดเร็วกว่าที่คาด และเกิดผลทันทีอีกด้วย


ผลพวงที่จะตามมาจากราคาอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงคือความไม่สงบในสังคม
ในปี 2007 และปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมาก เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น อาหรับ สปริง หรือเหตุการณ์ในเยเมนปี 2008 ก็ค่อนข้างชัดเจน
แน่นอนว่าในประเทศที่มีการลุกฮือขึ้นของประชาชนเหล่านั้น มีปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เป็นพื้นหลังอยู่ แต่ราคาอาหารที่แพงขึ้นเป็นตัวจุดประกายสำคัญที่ทำให้คนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล

New England Complex Systems Institute (NECSI) เคยทำการศึกษาความสัมพันธ์ของราคาอาหารกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และพบความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างชัดเจน

แต่บ้านเราไม่ต้องห่วงครับ เรามีข้าวที่รัฐรับจำนำไว้บานเบอะ พร้อมขายขาดทุนอยู่แล้ว



++++
บทความของปี 2554

โลกร้อนกับ "ชีส" ใครคิดว่าไม่สำคัญ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 100


ทุกวันนี้ผมใช้แอพพลิเคชั่นบนไอแพดที่ชื่อว่า Zite ในการคัดเลือกหัวข้อข้อมูลข่าวสารที่จะดึงมาจากอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่แล้วจะหยิบขึ้นมาไล่เปิดๆ ดูตอนว่างๆ อ่านแต่ละเรื่องไปแบบผ่านๆ เรื่องไหนน่าสนใจก็กดเยสเข้าไปเพื่อให้มันจดจำชนิดของข้อมูลข่าวสารที่ชอบเอาไว้ จากนั้นความเคยชินถัดมาก็คือการกดปุ่มเก็บไว้อ่านทีหลัง

เก็บไว้อ่านทีหลัง คือการเก็บลิงก์ของหน้าเว็บนั้นไปฝากไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของแอพพลิเคชั่นอีกตัวที่ชื่อว่า Read It Later พอได้จังหวะที่จะอ่านกันจริงจัง ซึ่งมักจะเป็นเมื่อกลับจากงานไปบ้านแล้ว ค่อยกลับมาเปิดอ่านจาก Read It Later ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะหน้าเว็บในหัวเรื่องที่เลือกไว้จะมีข่าวสารข้อมูลใหม่อัพเดตเข้ามาตลอดเวลา บางทีแค่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงย้อนหลังกลับไปหล่นจากหน้าสุดท้ายไปเสียแล้ว 
นอกจากนั้นบางครั้งก็อ่านเอาบนคอมพิวเตอร์นี่แหละครับ บราวเซอร์ไฟร์ฟอกซ์ที่ใช้อยู่ ติดตั้ง Read It Later ไว้เป็นแอพพลิเคชั่นเสริมที่เรียกว่าแอดออน เมื่ออยู่บนบราวเซอร์ผมก็คลิกไปตรงไอคอนของมันในแถบเมนู ลิงก์เรื่องที่เก็บไว้ก็จะมีเป็นรายการออกมาให้เลือกคลิก และค้นหาได้สะดวก

เก็บไว้อ่านทีหลังนี่บางทีก็เก็บแบบงกมาก ทำให้หลายต่อหลายครั้งลืมเรื่องที่เก็บไปสนิท อย่างเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ เกี่ยวกับชีสกับผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านไปสิบกว่าวันแล้วผมลองคุ้ยๆ Read It Later ดู แล้วก็พบว่ามันก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เหมือนจะเป็นเรื่องเบาๆ แต่โดยแก่นแท้แล้วไม่เบาเลยเชียวแหละ 
โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นคนชอบกินชีสเหมือนอย่างผม ซึ่งทั้งที่ไม่กินนมวัวแต่กลับชอบชีสเสียอย่างนั้น


รายงานชิ้นที่ว่านี้เป็นของ คณะทำงานสิ่งแวดล้อม (Environmental Working Group - EWG) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และพยายามให้ข้อมูลทางด้านนี้ออกมา เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจและใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
อันที่จริงมันเป็นรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากเนื้อสัตว์ แหล่งโปรตีนใหญ่ที่คนบริโภค รวมกันแล้วถึง 20 ชนิด โดยใช้วิธีประเมินร่องรอยคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พูดง่ายๆ คือวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงตอนที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย 
ผลปรากฏว่าเนื้อแกะ เนื้อวัว ชีส เนื้อหมู และแซลมอนเลี้ยง ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายที่สุดยกเว้นแซลมอน เนื่องจากการผลิตอาหารเหล่านั้นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย

ชีสของผมไปติดอยู่ถึงอันดับที่สามของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รองจากเนื้อวัวและแกะ
สาเหตุสำคัญก็คือ การจะได้ชีสแข็งมาสัก 1 ปอนด์ ต้องใช้นมวัวถึง 10 ปอนด์ และการผลิตนมวัวจากวัวนมเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศมากกว่าคาร์บอนถึง 25 เท่า ออกมามหาศาล มีเทนและไนตรัสออกไซด์ในมูลวัว และมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธัญพืชและอาหารสัตว์อื่นที่นำมาใช้เลี้ยงวัว และอื่นๆ ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

สรุปคือ ตลอดทั้งวงจรชีวิตในอาหารจากเนื้อสัตว์ ชีสนำหน้ามาเป็นที่สาม เพราะฉะนั้น เวลากัดกินชีสเข้าไปสักคำ (รวมทั้งที่มันอยู่ในหน้าพิซซ่าด้วยนะครับ) ขอให้รำลึกด้วยว่าคุณกำลังมีส่วนร่วมทำลายสภาพภูมิอากาศด้วยความอิ่มหนำสำราญ

ฉลากร่องรอยคาร์บอนน่าจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกกินอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น หรือไม่ก็ค่อยๆ อดตายไปเพราะแทบไม่รู้จะกินอะไร



.

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (8)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (8)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 38


สถานการณ์วิกฤติหนี้ยุโรปขณะนี้ยังอยู่ในขั้นลุกลาม เหมือนไฟป่าที่ยังไม่มอดเชื้อ คาดหมายว่าคงต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะดับไฟและฟื้นสภาพได้ การเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้งทั่วไป การประชุมสุดยอด เหล่านี้เป็นเพียงความพยายามทางอัตวิสัยในการเยียวยาแก้ไข ซึ่งที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นเพียงปรากฏการณ์ภายนอก การเจรจาที่สำคัญมักกระทำกันในที่ลับ 


ที่สถานการณ์อยู่ในขั้นลุกลามก็เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่

ก) ปริมาณหนี้ใหญ่มากเหมือนกำแพงยักษ์หรือขุนเขา ต้องใช้เวลานานถึงจะสามารถปัดกวาดหนี้เสียไปได้มากพอสมควรที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปเป็นปกติ 

ข) ในขณะที่กวาดล้างหนี้เก่าออกไป ก็มีการสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีกโดยการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ธนาคารกลาง และธนาคารใหญ่ เข้าลักษณะกู้หนี้เพื่อชำระหนี้คล้ายแชร์ลูกโซ่ เมื่อเป็นเช่นนี้การจะล้างหนี้ให้หมดก็คงจะต้องใช้เวลานานมาก 

ค) เกิดปรากฏการณ์ทั้งการบริโภคต่ำไป (Under-consumption) และการผลิตล้นเกิน (Over-production) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การบริโภคต่ำไปเนื่องจากชนชั้นกลางถูกทำให้ยากจน ช่องว่างทางเศรษฐกิจขยายตัว เงินและความมั่งคั่งไปกระจุกตัวที่เศรษฐีพันล้านที่บริโภคไม่ได้มาก
ในด้านการผลิตล้นเกินนั้น เห็นได้ชัดในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ในจีนเกิดเมืองร้างสร้างใหม่หลายเมือง นอกจากนี้ ยังไปสร้างเมืองร้างที่บางประเทศในแอฟริกา เช่น แองโกลา อีกด้วย 
ในสหรัฐมีบ้านว่างไม่มีผู้อาศัยถึงเกือบ 20 ล้านหน่วย ขณะที่มีผู้ไม่มีบ้านอยู่ราว 3.5 ล้านคน (ดูบทความของ Diane Sweet ชื่อ 3.5 Million Homeless and 18.5 Million Vacant Homes in the US ใน occupyamerica.crooksandliar.com, 301211
ในการผลิตสินค้าสำคัญอื่นก็เข้าลักษณะการผลิตล้นเกินจำนวนมาก มีนักวิชาการบางคนคือ โรเบิร์ต เบรนเนอร์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมีชื่อเสียงของสหรัฐได้ชี้ว่าวิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤติการเงินแต่เป็นวิกฤติการผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะประเทศจีน (ดูคำสัมภาษณ์ของท่านผู้นี้ชื่อ Overproduction not Financial Collapse is the Heart of the Crisis : the US, East Asia, and the World ใน japsnfocus.org, 050609)

ง) ที่สำคัญมากก็คือธนาคารกลางในเขตยูโรและในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ดูจะหมดความสามารถในการแก้ปัญหาหนี้ขึ้นทุกที ทั้งนี้ ตามรายงานของธนาคารเพื่อการตกลงชำระบัญชี (Bank for International Settlements-BIS) ที่เป็นเหมือนธนาคารของธนาคารทั่วโลกได้รายงานประจำปีที่เผยแพร่เดือนมิถุนายน 2012 ว่า "ธนาคารกลางทั้งหลายกำลังถูกต้อนเข้ามุมจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานาน ขณะที่รัฐบาลยังเดินลากขาและการปรับแก้ล่าช้า"
และว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินทั้งแบบธรรมดาและไม่ใช่ธรรมดา เป็นเพียงการบรรเทาและมีข้อจำกัดของมัน" มาตรการอย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำมาก การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มของธนาคารกลางยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนจะหมดเครื่องมือในการแก้ไขแล้ว (ดูบทความของ Jennifer Ryan ชื่อ Central Banks Face Limits Of Power As Crisis Persists ใน bloomberg.com, 250612)


วิกฤติหนี้ยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมทั่วโลก การผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2012 ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการสั่งซื้อลดลงและการส่งออกก็ตกลงมาก
ดัชนีฝ่ายจัดซื้อของโรงงาน (Purchasing Managers" Index-PMI) ลดลงเหลือ 49.7 ต่ำกว่า 50 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ยังมีการเติบโต และที่สำคัญดัชนีฝ่ายจัดซื้อของจีนและของญี่ปุ่นก็ลดลงด้วย (ดูบทความชื่อ Europe crisis blow for world manufacturing ใน gulf-daily-news.com, 030712

ในช่วงวิกฤติ 2008 จีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจแห่งชาติขยายตัวอย่างน่าพิศวง จนกล่าวกันว่าจีนสามารถแยกตัวจากวิกฤติของสหรัฐได้ และกลายเป็นเหมือนหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ร่วมกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นมีอินเดีย บราซิล และรัสเซีย เป็นต้น
แต่เมื่อเผชิญวิกฤติหนี้ยุโรปซ้ำสองดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนต้องเผชิญการท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี 
การที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วนี้ มีบางสำนักวิเคราะห์ทางสถานการณ์โลกชื่อออกซ์ฟอร์ด อะนาลิติกา (ดู oxan.com) เห็นว่า ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็วเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดของโลกในปีนี้และปีหน้า

จึงควรจะได้กล่าวถึงเป็นกรณีใหญ่ของการลุกลามของวิกฤติหนี้ยุโรป




มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน 
: เหตุปัจจัยบางประการ

การเติบทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 
การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ได้ทำให้จีนพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา ยากจนและโดดเดี่ยว กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก ปลดปล่อยผู้คนจากความยากจนหลายร้อยล้านคน และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ถูกรุมจีบ เป็นตลาดใหญ่ของการลงทุน ศูนย์กลางการเงินและการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก และกำลังส่งทุนออกนอกอย่างเป็นจริงเป็นจัง 
จีนได้กลายเป็นประเทศโรงงานโลก เป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ในยามที่สหรัฐ-ยุโรปและญี่ปุ่นอ่อนแรงในวิกฤติร้ายแรง

ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่อาทิตย์กำลังอัสดงที่โลกตะวันตก และสหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย
ซึ่งเหตุการณ์นี้ประจวบกับการเกิดวิกฤติน้ำมันโลกหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 1973 มา ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างได้มีการย้ายฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม มาอยู่ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญได้แก่ประเทศจีนที่ได้รับเงินลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ของโลกไว้

การที่จีนได้รับเลือกให้เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมของโลกน่าจะเกิดจาก

(ก) มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ภายใต้การนำที่ค่อนข้างมีเอกภาพ มีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

(ข) มีกองทัพคนงานที่อดทน ฉลาดเฉลียวและราคาถูก บรรษัทที่มาลงทุนทำการผลิตได้กำไรงาม

(ค) จีนมีทรัพยากรธรรมชาติมาก ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ การที่ตะวันตกมายกให้จีนเป็นโรงงานโลกเท่ากับเป็นการยกภาระในการต้องใช้หรือแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติออกจากบ่าของตนมาวางไว้ที่จีน 
ที่สำคัญ จีนยังมีแร่ธาตุหายากที่จำเป็นสำหรับผลิตสินค้าไฮเทคตั้งแต่โทรศัทพ์มือถือ แบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้มาก ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะผสมบางชนิด โดยจีนเป็นผู้ผลิตสู่ตลาดโลกเกือบทั้งหมด ซึ่งต้องสิ้นเปลืองพลังงานและมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมาก
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านติดกันของจีน ได้แก่ มองโกเลียก็มีถ่านหินและแร่ธาตุมาก ปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกประเทศหนึ่งจากการขายทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่จีน และหลายประเทศในเอเชียกลางก็มีทรัพยากรธรรมชาติมากอีกเช่นกัน เป็นแหล่งสนองวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมและพลังงานได้อีกนาน

(ง) จีนมีประชากรมาก เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบันจีนได้เป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก และอย่างอื่นๆ ก็จะตามมาอีก โดยเฉพาะในด้านอาหารและธัญพืช


มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนกับวิกฤติหนี้โลก

จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือนธันวาคม 2001 เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนได้บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกซึ่งแกนกลางก็คือเศรษฐกิจของสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ และได้มีส่วนสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น  
ซึ่งในตอนแรกก็ดูส่งผลดีในการเติบโตทางเศรษฐกิจของขบวนโลกาภิวัตน์ 
แต่ภายหลังได้เกิดการเห็นว่าเป็นตัวสร้างความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติหนี้ในโลก 
ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้แก่จีนเป็นประเทศผู้ผลิต ส่วนสหรัฐและยุโรปเป็นประเทศผู้บริโภค

แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงการกล่าวเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ที่ตัดกันชัด ที่จริงนั้นสหรัฐก็ยังมีอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก บางประเทศ ได้แก่ เยอรมนีก็เป็นประเทศผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปขายรายใหญ่ของโลก หรือโรงงานอุตสาหกรรมในจีนจำนวนมากเป็นของบรรษัทข้ามชาติในสหรัฐและยุโรป 
จากนี้มีการกล่าวกันว่าจีนเดินนโยบายขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออก เลียนแบบญี่ปุ่น แต่ทำได้ยาวนานกว่าและในขนาดที่ใหญ่โตกว่า ส่วนสหรัฐและอังกฤษเป็นต้น อาศัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภค ตัวเลขการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีสูงมากถึงราวร้อยละ 70 ส่วนของจีนอยู่ที่การลงทุนและการผลิต

ภาวการณ์นี้เมื่อดำเนินไปนานเข้าก็ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลกอย่างที่กล่าวกัน 
การดำเนินนโยบายเติบโตจากการส่งออกแบบจีนนี้ หาได้ยากที่ประเทศใดจะทำได้ และทำให้จีนรุ่งเรืองขึ้นโดยตลอดในท่ามกลางวิกฤติและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐง่วนทำอยู่เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว และดูจะยังต้องทำต่อไปอีก 
สินค้าราคาถูกจากจีนมีส่วนช่วยให้สหรัฐและหลายประเทศในยุโรปดำเนินกิจการอย่างที่เคยทำต่อไปได้



วิกฤติหนี้โลก
กับปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน


ที่จริงแล้วแม้ว่าจะไม่มีวิกฤติหนี้ที่สหรัฐและยุโรป เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการขยายตัวลดลงในตัวของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ กล่าวคือเมื่อหันมาเดินหนทางทุนนิยม มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมจำนวนมาก และพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมักสูง การยกระดับการพัฒนาประเทศจากระดับยากจนสู่ฐานะระดับปานกลางขั้นต้นนั้นไม่สู้ยาก เพราะว่าทำสิ่งใดก็ล้วนทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากด้วยกันทั้งนั้น  
แต่เมื่อระดับการพัฒนาถึงระดับกลางแล้วต้องใช้ความพยายามมากจึงจะเอาชนะการแข่งขันทั้งจากประเทศที่จนกว่าและรวยกว่า จึงพบว่ามีน้อยประเทศมากที่สามารถทะลุผ่านแนวต้านนี้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ เช่น กรณีของเกาหลีใต้ เป็นต้น

เมื่อประเทศพัฒนาถึงระดับปานกลางก็จะเผชิญกับปัญหาใหญ่ ได้แก่

(ก) ทรัพยากรร่อยหรอ เช่น จีนเคยส่งออกน้ำมัน ปัจจุบันต้องนำเข้าสุทธิ มีการขุดถ่านหินไปใช้มาก และต้องนำเข้าจากมองโกเลียและออสเตรเลียอีก 
(ข) คนงานเริ่มมีการเรียกร้องนัดหยุดงานมากขึ้น 
(ค) ผลด้านลบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ช่องว่างในสังคมก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจและการประท้วงอย่างกว้างขวางในจีน
(ง) ปรากฏข่าวว่ามีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้นำของจีน ว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจให้กลายเป็นผู้นำในกระบวนโลกาภิวัตน์ หรือจะหันมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่น ช่องว่างทางเศรษฐกิจดี  
(จ) เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น มักเป็นที่อิจฉาหวาดระแวงแก่มหาอำนาจเดิมที่จะเข้ามาขัดขวาง หากเป็นประเทศเล็กบางทีใช้มาตรการรุนแรงถึงขั้นล้มล้างระบอบปกครองที่ไม่เป็นผลเดีแก่ตน สำหรับประเทศจีนที่ใหญ่มาก ใช้การปิดล้อม


การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวจากการส่งออก เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ก็ทำให้ต้องสูญเสียตลาดใหญ่ที่สุดที่สหภาพยุโรปและสหรัฐลงไป โดยที่ไม่มีตลาดใดจะเข้ามาแทนที่ได้ในเฉพาะหน้า ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้เศรษฐกิจของจีนจำต้องชะลอตัวตามไปด้วย และเนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้กลายเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของจีนก็จะวนรอบกลายเป็นเหตุให้เศรษฐกิจในสหรัฐและสหภาพยุโรปเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก ประเทศต่างๆ ที่เคยส่งวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบให้จีนเพื่อผลิตหรือประกอบขึ้นเป็นสินค้า อย่างเช่นออสเตรเลียและไทยก็ย่อมเผชิญปัญหาตามไปด้วย 
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ดึงกันไปมาทั่วโลกนี้ ถ้าหากไม่จัดการแก้ไขให้ทันการณ์ ก็จะแข็งตัวกลายเป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่ปรับแก้ได้ยากยิ่ง

ตอนหน้าซึ่งเป็นตอบจบ จะกล่าวถึงการครุ่นคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลบางคน และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์บางประการเพื่อการแก้ไขวิฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้



.

2555-07-30

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : AEC

.

AEC 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมิติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:19:51 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน  30 กรกฎาคม 2555 )


ผมจะจั่วหัวเรื่องเป็นภาษาไทยก็ได้ แต่จะทำให้ผมดูไม่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า
ในทรรศนะของผู้รู้ประเภทต่างๆ ในเมืองไทย ภาษาอังกฤษดูจะเป็นมิติหลักเพียงมิติเดียวของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพราะตรงกันข้ามกับความคิดเริ่มต้นในการประชุมอาเซียน ที่จะสร้างพื้นที่แห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องตนเองและแข่งขันกับภูมิภาคอื่น



ท่ามกลางความเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของจีนและอินเดีย ท่านผู้รู้ในเมืองไทยมองประชาคมเศรษฐกิจเป็นเวทีการแข่งขันกันเองในระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน มากกว่าเวทีแห่งความร่วมมือ 
หลายท่านพูดถึงความถนัดภาษาอังกฤษของพม่า, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือไทย ข้อนี้จริงอย่างแน่นอน แต่ได้เปรียบทางไหน? คำตอบคือได้เปรียบในการได้งานทำ เมื่อตลาดงานกว้างขึ้นในประชาคม นายจ้างย่อมอยากจ้างคนที่สื่อสารกันได้มากกว่าเป็นธรรมดา 
แต่ที่จริงแล้ว การรู้ภาษาที่สองอย่างดี ทำให้ประเทศเหล่านั้นได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและความคิดที่แตกต่างออกไปกว้างขวางขึ้น (ส่วนจะก้าวหน้าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ความรู้ทางภาษาอย่างเดียวไม่พอ เพราะระบบการศึกษาของประเทศต้องกระตุ้นให้ผู้คนไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ๆ ด้วย หากระบบการศึกษาไม่เอื้ออำนวย ความรู้ภาษาที่สองก็ทำให้ประชาชนมีความถนัดจะเป็นคนรับใช้ในครอบครัวคนต่างประเทศเท่านั้น
อันที่จริง แม้ในภาษาไทยเอง ก็มีข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ให้ค้นหามากมาย แต่คนไทยก็ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาที่ตัวถนัดเพื่อการนี้เท่าไรนัก


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรนำเราไปสู่ปัญหาที่ลึกกว่าภาษาอังกฤษเพื่อหางานทำ เช่นนำเราไปสู่การเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน และหากดูลำดับมหาวิทยาลัยอาเซียน จะพบว่ามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างบ๊วย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ความได้เปรียบไม่ได้อยู่ที่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่มีอะไรที่เป็นแก่นสารกว่าซึ่งผู้รู้ไทยไม่ใส่ใจเท่ากับงานคนรับใช้ 
ที่วิศวะ, นักบัญชี, พยาบาล ฯลฯ ไทยไม่ถูกเลือกใช้ในตลาดอาเซียน อาจไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ความรู้ในสาขาอาชีพของตัวก็ไม่ดีโดยเปรียบเทียบกับคนอื่นก็อาจเป็นไปได้

แต่ความได้เปรียบของคนอื่นอาจเป็นคุณแก่เราก็ได้ เช่นเพราะเป็นประชาคมเดียวกัน โอกาสที่เราจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพเหล่านั้น เพื่อพัฒนาตัวเราเองก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น หากมองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเชิงร่วมมือ แทนที่มองแต่มิติด้านการแข่งขันเพียงอย่างเดียว 
ยิ่งกว่านั้น ควรคิดในทางกลับกันบ้างว่า ในฐานะร่วมประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน เรามีอะไรจะให้คนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดแต่จะเอาเพียงอย่างเดียว
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เข้มแข็ง ทำงานได้ดี จะเป็นประโยชน์ต่อเราและประเทศอาเซียนอื่นๆ ในระยะยาวเสียยิ่งกว่างานคนรับใช้ที่จะได้มาในช่วงนี้ 
การผนึกกำลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน มีความหมายถึงความเข้มแข็งของทุกประเทศ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับร่วมกัน
หากนำไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประชาชนใน 10 ประเทศ ย่อมหมายความว่า เราจะเป็นตลาดที่ใหญ่ครึ่งหนึ่งของจีนและอินเดีย และน่าจะมีกำลังซื้อสูงกว่าทั้งสองแห่งนั้นด้วย จึงเป็นตลาดสำคัญของโลก ที่คุ้มแก่การลงทุนในด้านต่างๆ ไม่แพ้จีนและอินเดียเช่นกัน



การผนึกกำลังได้แท้จริงจึงน่าเป็นเป้าหมายที่เหนือกว่าการขยายตัวของตลาดงานจ้าง มีสามอย่างเป็นอย่างน้อยที่สำคัญยิ่งในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคม แต่ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจมากไปกว่าภาษาอังกฤษและภาษาชาติอื่นของอาเซียน


1. เราควรรู้จักเพื่อนอาเซียนของเราให้มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การเต้นระบำรำฟ้อน แต่ควรรวมถึงประวัติศาสตร์, ชีวิตความเป็นอยู่, ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่, การเมืองและเศรษฐกิจ, ความภาคภูมิใจ, ความละอาย ฯลฯ ของเขาด้วย การเรียนภาษาของเขาไม่ใช่เพื่อหางานทำในประเทศของเขาเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็เพราะภาษาเป็นสะพานไปสู่ความรู้จักคุ้นเคย สามารถทำความเข้าใจเขาจากจุดยืนของเขาเอง ไม่ใช่จากคำพิพากษาตายตัวของเรา (ซึ่งมักรับมาจากฝรั่งอีกทีหนึ่ง) 
คนไทยควรเป็นคนน่ารักแก่เพื่อนบ้านมากกว่าที่เราเป็นอยู่อย่างมาก และนั่นคือทางที่จะได้มาซึ่งความรักความเข้าใจจากเพื่อนบ้านตอบแทน เป็นความไว้วางใจที่เหมาะสำหรับการร่วมทุน, ร่วมตลาด, และร่วมธุรกิจกันได้ในระยะยาว  
น่าสังเกตด้วยว่า ครูตามโรงเรียนชายแดน และอาจารย์ในราชภัฏชายแดน ดูจะสำนึกประเด็นนี้ยิ่งกว่าผู้รู้ในกรุงเทพฯ โรงเรียนและราชภัฏหลายแห่งจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพื่อนบ้านให้แก่นักเรียนและนักศึกษาของตน


2. อาชีพ 7 อย่างที่กำลังจะเปิดเสรี ไม่ใช่ช่องสำหรับตลาดงานของคนในอาชีพนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปรับมาตรฐานเข้าหากันของประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย เช่นภาระของนักบัญชี ไม่ใช่เพียงการต้องไปสอบให้ได้รับใบอนุญาตในประเทศอื่นเท่านั้น แต่หมายถึงความพยายามของวงวิชาชีพบัญชี ที่จะปรับระบบเข้าหากัน ให้ได้มาตรฐานที่สูงจนเป็นที่ยอมรับของโลก (มาตรฐานบัญชีของประเทศเดียว ย่อมต่อรองเพื่อการยอมรับได้ยากกว่ามาตรฐานของ 10 ประเทศ) จะเกิดตลาดงาน และเปิดโอกาสให้คนอาเซียนประมูลงานนอกอาเซียนได้สะดวกขึ้น


3. มาตรฐานวิชาชีพของทั้ง 7 สาขานั้น หากร่วมกันพัฒนาให้เป็นระบบที่โปร่งใส และอาจถูกตรวจสอบจากสาธารณชนได้ง่ายขึ้น ก็จะมีการโอนย้ายทุน และฝีมือแรงงาน ได้สะดวกกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะมีความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น


นี่เป็นการมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ก็มีส่วนในการปรับระบบการเมืองของแต่ละประเทศเข้าหากันด้วย ในเวลานี้อาเซียนทุกประเทศล้วนเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรีทั้งสิ้น การที่สาธารณชนทั้งในแต่ละประเทศ หรือข้ามประเทศ (เช่นในกรณีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์) สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แจ่มกระจ่าง เท่ากับเพิ่มพลังของสังคมอาเซียนในการกำกับควบคุมรัฐและทุนให้มีมากขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยของแต่ละประเทศในระยะยาว
ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในทุกประเทศอาเซียนด้วย

ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้?
หากเรายังสนใจอยู่แต่เพียงโอกาสของการจ้างงาน หรือปกป้องตลาดงานภายในประเทศ เราก็ยังไม่พร้อม



.

เขื่อนราษีไศล-หัวนา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ทวนความจำและข้อเสนอ

.

เขื่อนราษีไศล-หัวนา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ทวนความจำและข้อเสนอ
จาก www.prachatai.com/journal/2012/07/41790 . . Sun, 2012-07-29 23:21


จดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี)

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง การแก้ไขปัญหากรณีผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศลและโครงการเขื่อนหัวนา

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี)

ตามที่รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และภาคประชาชนในนามองค์กรเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ได้มีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีเขื่อนทั้งสองเขื่อนจนเกิดผลเป็นรูปธรรมในบางส่วน เช่น การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา และการอนุมัติ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎร เป็นเงิน ๑๓๓,๕๔๒ ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าวได้ เหตุเพราะกรมชลประทานยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ

ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกหลายด้าน และหลายเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา และมีความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาแนวทางด้านนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นแนวทางในการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งแยกออกเป็นรายกรณีดังนี้


ก. กรณีเขื่อนราษีไศล

ความเป็นมา
เขื่อนราษีไศล เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล  วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเก็บกักน้ำในลำน้ำมูนและลำสาขา และผันน้ำโขงเข้ามาเติมปริมาณในพื้นที่ชลประทานของโครงการ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่รับผิดชอบโครงการในขณะนั้นให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะก่อสร้างเป็นฝายยาง เก็บน้ำแค่ริมตลิ่งน้ำแม่มูน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๔ ตรงบริเวณปากห้วยทับทันไหลลงสู่แม่น้ำมูน ตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณ บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค  อำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีษะเกษ ดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี ๒๕๓๖  การดำเนินงานโครงการไม่มีไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนดำเนินโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน และไม่มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

เมื่อมีการเก็บกักน้ำได้เกิดผลกระทบขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า ๑๐ รัฐบาล

ภายหลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมปี ๒๕๔๕ เป็นผลให้การแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศลถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนราษีไศล-หัวนา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ (๑) การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล เพื่อพิจารณาชดเชยการสูญเสียที่ดินทำกินของราษฎร ปัจจุบันคงเหลืออีกประมาณร้อยละ ๓๐  (๒) การศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันผลการศึกษาดังกล่าวได้ผ่านมติรับทราบและเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบอย่างยั่งยืน ดังนี้

๑. แผนแก้ไขและป้องกันผลกระทบ
๑) การแก้ไขผลกระทบจากการสูญเสียที่ดินและพื้นที่การใช้ประโยชน์
        ๑.๑. การจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ๑.๒จ่ายค่าสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์ในบุ่งทาม    ๑.๓ ให้ตั้งคณะทำงาน/กรรมการชดเชยผลกระทบ

๒) การแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ
         ๒.๑) เร่งรัดการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม (Dike) ๒.๒) เร่งรัดการปรับปรุงคันไดค์/ซ่อมแซม ๒.๓) เร่งรัดการติดตั้งสถานีสูบน้ำบนพนังกั้นน้ำ ๒.๔) การสร้างบันไดน้ำในลำน้ำมูน ลำห้วยเสียว,ห้วยทับทัน ๒.๕) สร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่ ๒.๖)สร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ๒.๗)จัดสร้างคลองส่งน้ำระบบท่อพร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำ ๒.๘ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม ๒.๙) ค่าชดเชยที่ดิน

๒. แผนควบคุมติดตาม/เฝ้าระวัง/ใช้ประโยชน์
๑) การตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเขื่อนราศีไศล ๒) การศึกษาเพื่อติดตามสถานภาพผลกระทบและประเมินผลทุก ๕ ปี (คณะทำงาน/ทีมประเมินผล) ๓) การตั้งกองทุนเพื่อประกันความเสี่ยง ๔) การตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวัง-พิทักษ์สิ่งแวดล้อม

๓. แผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑) แหล่งน้ำ/การใช้น้ำ ๒) ป่าทาม ๓) ทรัพยากรดิน

๔.แผนฟื้นฟู/สร้างความเข้มแข็ง
๑) พัฒนาอาชีพ ๒) องค์กรชุมชน กองทุน วิสาหกิจ สวัสดิการชุมชน

๕. แผนการจัดการความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม
๑) การจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการฟื้นฟูป่าทามแม่น้ำมูน ๒) การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ๓) สนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชน ๔) การจัดทำวิทยุชุมชนและสื่ออื่นๆ

กลไกในการแก้ไขปัญหา
๑. กรณีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินได้นำเอามติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ เมษายน  ๒๕๓๙ โดยให้นำเอามติ ครม. ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ มาอนุโลมใช้ และมติ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ มาประกอบกันเพื่อจัดทำเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล โดยกระบวนการ ๙ ขั้นตอนในการพิจารณา โดยคณะกรรมการในสมัยรัฐบาลท่าน มี รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

๒. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ครอบคลุมครบทุกด้าน จะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน ๕ ชุด เพื่อร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และนำเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี

๑. คณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการบริหารเขื่อนราศีไศล(ตั้งแล้ว)

๒. คณะอนุกรรมการแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ(ตั้งแล้ว)

๓. คณะอนุกรรมการด้านการฟื้นฟูชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ (ตั้งแล้ว)

๔. คณะอนุกรรมการจัดการองค์ความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม(ตั้งแล้ว)

๕. คณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ(ยังไม่ได้ตั้ง)

ปัญหาและอุปสรรค

๑. กรณีค่าชดเชยที่ดินยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจริงทั้งหมด
         ๑.๑) กรณีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศลแต่อยู่เหนือระดับน้ำ + ๑๑๙ ม.รทก. รัฐบาลไม่รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าว โดยให้คำนิยามว่าเป็นที่ “นานอกอ่าง” ซึ่งความเป็นจริงผลกระทบน้ำท่วมจริงถึงไหนก็จะต้องแก้ไขปัญหาและเยียวยาถึงตรงนั้น ด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม

        ๑.๒) กรณียังมีราษฎรผู้ตกหล่นยังไม่ได้ตรวจสอบที่ดินทำกินและทรัพย์สินในปี ๒๕๔๖ หลายครอบครัว เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาในขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการยื่นคำร้องของราษฎร

๒. กรณีการแก้ไขปัญหาตามผลการศึกษา ปัจจุบันคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธานได้แต่งตั้งอนุกรรมการ จำนวน ๔ ชุดแต่ในปัจจุบันยังเหลืออีกคณะอนุกรรมกรรอีก ๑ ชุด ที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง คือ คณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ ตามผลการศึกษา

แนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อรัฐบาล
๑. เร่งรัดกรณีการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ได้อนุมัติจ่ายเป็นเงิน ๑๓๓,๕๔๒ ล้าน

๒. เร่งรัดให้มีการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนราษีไศลระดับจังหวัดทั้ง ๓ จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จโดยเร่งด่วน

๓. เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ หรือ ค่าสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์บุ่งทาม ตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีมติ ครม. เห็นชอบไปแล้ว

๔. รัฐบาลควรเร่งรัดการแก้ไขปัญหากรณีผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลให้แล้วเสร็จทุกกรณี เนื่องจากราษฎรได้รับความเดือดร้อนมานานกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว



ข. กรณีเขื่อนหัวนา

ความเป็นมา
เขื่อนหัวนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ  สร้างกั้นแม่น้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิ.ย ๒๕๓๕ ตัวเขื่อนมีประตูเหล็กควบคุมน้ำขนาด ๑๒.๕ x ๗.๕ เมตร  จำนวน  ๑๔ บาน เพื่อเก็บกักน้ำ ๑๑๕.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ ๑๑๕ ม.รทก. ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขนาด ๑๘.๑๑ ตร.กม. โดยปลายน้ำจะจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล ระยะทางตามลำน้ำมูน ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ๒,๕๓๑.๗๔ ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียงการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน โครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์

ในการก่อสร้างเขื่อนหัวนา ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนการก่อสร้าง ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบ เช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล ทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่เขื่อนหัวนามีความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน และยังมีความกังวลว่าน้ำอาจท่วมที่ทำกิน เมื่อมีการเก็บกักน้ำแล้วได้ส่งผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการสูญเสียป่าทามและที่ทำกินของชาวบ้าน โดยไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจากรัฐบาล ซึ่งมีกรณีเขื่อนราษีไศลเป็นตัวอย่าง และด้วยกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ทำให้เพิ่มความกังวลให้กับชาวบ้าน เช่น

        กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ให้ข้อมูลกับสภาตำบลในพื้นที่ว่า จะก่อสร้างเป็น “ฝายยาง” เพื่อเก็บน้ำไว้เพียงระดับตลิ่งแม่น้ำมูน โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ณ บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ แต่เมื่อลงมือก่อสร้างกลับสร้างเขื่อนคอนกรีต ขนาด ๑๔ บานประตู ณ บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากที่ตั้งเดิม ตามลำน้ำเป็นระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร

        การก่อสร้างหัวงานของโครงการ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จ่ายค่าชดเชยที่ดินเฉพาะในส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ ในราคาที่ประมาณไร่ละ ๑๔,๐๐๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงในท้องถิ่น ส่วนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะจ่ายให้เฉพาะที่ดินที่มีตอฟางข้าวอยู่เท่านั้น โดยจ่ายในอัตราไร่ละ ๘,๔๐๐ บาท และพื้นที่ส่วนใหญ่ของราษฎรไม่ได้รับการชดเชย

        การสร้างพนังกั้นน้ำ บริษัทรับเหมามาขุดดินในที่สาธารณะของชุมชน และที่ดินของชาวบ้าน โดยพลการ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าว

        พนังกั้นน้ำเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูนได้ตามปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านโพนทรายพนังกั้นน้ำทำให้น้ำท่วมดินปั้นหม้อซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของชุมชน

        พ.ศ.๒๕๓๖ ในพื้นที่ อ.ราษีไศล อ.อุทุมพรพิสัย กรมที่ดินได้ร่วมกับสภาตำบล ออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (นสล.) และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยที่ดินของชาวบ้าน นสล. ดังกล่าว ทับที่ดินของชาวบ้านทั้งที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์

        พ.ศ.๒๕๔๓ กรมพัฒนาฯร่วมกับชาวบ้านปักหลักเขตระดับน้ำ ๑๑๕ ม.รทก. แต่ในช่วงฤดูฝนของปีนั้นเอง เมื่อเกิดน้ำหลาก ระดับน้ำเมื่อเทียบกับหลักระดับของกรมพัฒนาฯ มีความแตกต่างกันมาก บางหลักท่วมแล้ว บางหลักยังห่างจากระดับน้ำทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อขอบเขตระดับน้ำของกรมพัฒนาฯ

ด้วยความวิตกกังวลของชาวบ้านดังกล่าวนั้น เมื่อมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศลซึ่งได้เกิดผลกระทบที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่างชัดเจนและรุนแรง ทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่เขื่อนหัวนาได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในนามสมัชชาคนจน จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ดังนี้

๑) เห็นชอบให้ระงับการถมลำน้ำมูนเดิมไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

๒) เห็นชอบให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐

๓) เห็นชอบให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายจากการดำเนินโครงการฝายหัวนาร่วมกับราษฎร

ภายหลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมปี ๒๕๔๕ เป็นผลให้การแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศลถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กลไกการแก้ไขปัญหา

๑. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓  มีมติ รับทราบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม โครงการเขื่อนหัวนา และเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

๒. ปัจจุบัน ปี ๒๕๕๕ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา จำนวน ๓ ชุด ได้แก่

        ๑) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ

        ๒) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดอุบลราชธานี

        ๓) คณะอนุกรรมการสืบเสาะราคาที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธ์

๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นตามผลการศึกษา โดยจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนฟื้นฟู อีก ๑ คณะ

ปัญหาอุปสรรค

๑. ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่เกิดความล้าช้าเนื่องจากกรมชลประทานมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไม่พอเพียงต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหา

๒. การถมลำน้ำมูนเดิมของกรมชลประทาน ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามสัญญาที่ทำร่วมกับบริษัทเอกชน ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี ๒๕๕๕ นี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกักเก็บน้ำในอนาคต โดยใช้งบประมาณกว่า ๗๘ ล้านบาท แต่การแก้ไขปัญหาผลกระทบให้กับราษฎรกลับล่าช้า ทำให้ราษฎรในพื้นที่เกิดความวิตกกังวลว่าจะมีการปิดประตูเขื่อนกักเก็บน้ำก่อนการจ่ายค่าชดเชย และจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหา ซ้ำรอยเขื่อนราษีไศล

๓. การกำหนดขอบเขตอ่างเพื่อกักเก็บน้ำในระดับ +๑๑๒ ม.รทก. และจ่ายค่าชดชดเชยในระดับ +๑๑๔ ม.รทก. โดยคำนิยามของกรมชลประทานตามมติ ครม. นั้นจะมีการดำเนินการจ่ายในระดับ +๑๑๔ ม.รทก. กับพื้นที่ทั้งหมดจากหน้าเขื่อนหัวนาจนเขื่อนราษีไศลนั้นทำให้การจ่ายค่าชดเชยไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบจริง ดังนั้นมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินด้านการปักขอบเขตอ่าง เมื่อระดับน้ำที่หน้าเขื่อนหัวนาอยู่ในระดับ +๑๑๒ ม.รทก. และ +๑๑๔ ม.รทก. เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายค่าชดชดเชย โดยได้มีการดำเนินการปักขอบเขตอ่างร่วมกันระหว่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎร ในพื้นที่ กรมชลประทาน และคณะทำงานปักขอบเขตอ่าง ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำลด อยู่ในระดับ +๑๑๔ มร.ทก ที่หน้าเขื่อนหัวนา พร้อมกับการจัดทำแผนที่ตามขอบเขตที่ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการนำเอา เอกสารสำคัญ รว๔๓ก. มาทาบกับแผนที่ขอบเขตอ่างในระดับ +๑๑๔ มร.ทก ที่หน้าเขื่อนหัวนา เพื่อคัดแยกรายชื่อและจำนวนแปลงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจริงตามแผนที่ดังกล่าว ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรองนายกเป็นประธาน ในการจ่ายค่าชดเชยต่อไป ซึ่งชาวบ้านยังมีความกังวลใจว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการจ่ายตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ตามผลการปักขอบเขตของคณะทำงานวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แล้ว ก็จะเกิดกรณีปัญหา “นานอกอ่าง” และแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ขาดความเป็นธรรมและสร้างปัญหาต่อเนื่อง เหมือนเช่นกรณีเขื่อนราศีไศล

๔. กรมชลประทานยังมีความพยามสร้างผนังกั้นน้ำ DIKE หรือคันเขื่อน ในพื้นที่โครงการเขื่อนหัวนามาตลอด ทั้งที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหากรณีค่าชดเชยราษฎรผู้เดือดร้อนให้แล้วเสร็จ และไม่มีแนวทางการศึกษาผลกระทบจากคันเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำก่อนการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งกรณีตัวอย่างเขื่อนราษีไศลได้เกิดปัญหาพื้นที่นานอกอ่างที่แก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน

แนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อรัฐบาล
๑. ให้รัฐบาลมีการนำเอาผลการลงพื้นสำรวจและที่ปักขอบเขตอ่างที่ได้รับผลกระทบจริง ตามที่คณะทำงานปักขอบเขตอ่าง ที่แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำลด และระดับน้ำที่หน้าเขื่อนหัวนาอยู่ในระดับ +๑๑๔ มร.ทก เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาในการจ่ายค่าชดเชยตามความเป็นจริง

๒. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยการจัดสรรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการอย่างเพียงพอ

๓. ผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนหัวนาและชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม คือ ให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการปิดประตูเขื่อนหัวนา

๔. ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลกระทบ ทั้งในเรื่องของอาชีพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตามผลการศึกษาที่มีมติ ครม. รองรับแล้ว

๕. การกำหนดราคาในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินของราษฎร ให้ยึดหลักการรวมกันเพื่อเป็นกรอบการทำงานในการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนา ดังนี้

๕.๑) กรอบการทำงาน โดยยึดหลักการ “ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาจะต้องมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเท่าเดิม” ๕.๒) ราคาการชดเชยที่ดินทำกินของราษฎร ต้องเป็นราคาของที่ดินแปลงใหม่ต่อไร่ที่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบสามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่หรือการมีที่ดินทำกินใหม่ได้

๖. รัฐบาลและกรมชลประทานจะต้องไม่ดำเนินก่อสร้างผนังกั้นน้ำ DIKE ในพื้นที่โครงการเขื่อนหัวนา เพื่อป้องกันปัญหาพื้นที่นานอกอ่างเหมือนกรณีเขื่อนราษีไศลที่แก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน



ค.ข้อเสนอต่อนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลในอนาคต

๑. รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการ โขง เลย ชี มูล ต่อราษฎรกลุ่มผู้เดือดร้อนจากโครงการโขง ชี มูล เดิมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะราษฎรเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ใดๆต่อไปในอนาคต เพื่อแสดงจริงใจของรัฐบาลว่าโครงการดังกล่าวจะไม่สร้างปัญหาและผลกระทบซ้ำเติมความเดือดของราษฎรในพื้นที่อีกในอนาคต

๒. โครงการจัดการน้ำตามแผนงานที่รัฐบาลจะใช้เงินกู้ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาทในการจัดการซึ่งมีแผนงานมากมายที่ไร้หลักประกันว่าจะไม่ก่อผลกระทบซ้ำรอยโครงการเก่าๆ ในอดีต
เราขอเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 
๒.๑ ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้าน
๒.๒ ให้เปิดเผยข้อมูลต่อชุมชนที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ
๒.๓ ต้องเปิดให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
๒.๔ ต้องมีมาตรการที่เชื่อถือได้ว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆดังกล่าว
๒.๕ รัฐบาลต้องเปิดรับความคิดเห็นจากสังคมอย่างกว้างขวางถึงทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการน้ำ ซึ่งมีทางเลือกที่หลากหลาย มากมายที่เป็นโครงการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งไม่ก่อผลกระทบ ได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า และเกิดการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม มิใช่สักแต่ให้ผู้เชี่ยวชาญ และบริษัทธุรกิจเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณา



.

2555-07-29

พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?) โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?)
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:15:00 น. 


บางคนอ่านชาดกเรื่องพระเวสสันดรแล้วรับไม่ได้ เพราะเห็นว่า การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสรับใช้คนอื่นจะเป็นความดีได้อย่าง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดๆ ยิ่งกว่านั้นหากคิดอย่างมีเหตุผลแล้ว การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสจะถือว่าเป็นความดี หรือบุญบารมีขั้นสูงจนส่งผลให้บรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะได้อย่างไร ถ้าพระเวสสันดรเป็นคนอเมริกันคงถูกลูกเมียฟ้องเอาผิดทางกฎหมายแน่ๆ

แต่บางทีคนที่คิดเช่นนี้ก็ลืมไปว่า เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้วมีสังคมอเมริกันหรือยัง หรือมีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโลกนี้หรือยัง!


ประเด็นคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า เป็นเรื่องเล่าในกรอบความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมศาสนาของชาวอารยันในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว พระเวสสันดรนั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอำนาจออกแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและกำหนดคุณค่าทางจิตวิญญาณว่า สังคมต้องมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยาและลูก พูดอีกอย่างว่าเมียและลูกเป็นสมบัติของสามีหรือพ่อ การกำหนดสถานะเช่นนี้ทำให้มีข้อผูกพันตามมาว่า เมียและลูกมีหน้าที่ต้องทำตามความประสงค์ของสามีหรือพ่อ

ทีนี้ตัวพระเวสสันดรนั้นก็รับเอาคุณค่าทางศาสนา คือ "ความหลุดพ้น" มาเป็นอุดมการณ์สูงสุดของตนเอง และเนื่องจากผู้เล่าเรื่องนี้คือพุทธะซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมฮินดู (ปราชญ์อินเดียอย่าง รพินทรนาถ ฐากูร คนหนึ่งล่ะที่ยืนยันเรื่องนี้) ก็เลยกำหนดให้ความปรารถนาพุทธภูมิหรือการบรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะเพื่อสอนสัจธรรมแก่ชาวโลกเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระเวสสันดร ผู้ซึ่งตั้งปณิธานว่า การให้ทานหรือการเสียสละคือความดี อันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อมองตามกรอบคิดของวัฒนธรรมทางสังคมและคุณค่าทางจิตวิญญาณคือ "ความหลุดพ้น" และผู้หลุดพ้นคือ "บุคคลในอุดมคติ" ซึ่งเป็นที่พึ่งของสังคม อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดทางศาสนาในยุคนั้น การเสียสละลูกเมียของพระเวสสันดร จึงเป็นการกระทำที่ดีงามน่าสรรเสริญ


ทำไมคนยุคนั้นถึงเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ดีงามน่าสรรเสริญ? เราอาจเข้าใจโดยเปรียบเทียบความเสียสละเพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา เช่น บางคนอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จนต้องละทิ้งครอบครัวเข้าป่าจับอาวุธ ยอมติดคุก กระทั่งยอมสละชีวิต คนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นต้องเสี่ยง อาจทำให้เขาต้องพลัดพรากครอบครัว อาจถูกสังคมประณาม ติดคุก ถูกอุ้ม กระทั่งถูกฆ่าตาย แน่นอนว่า สำหรับบางครอบครัวเมื่อขาดผู้นำ ทุกอย่างอาจพังทลายลง เราจะบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนไม่ดี เพราะไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวได้หรือ ผมคิดว่าเราคงไม่มองเช่นนั้น แต่เราคิดว่าคนแบบนี้น่านับถือ เพราะเขายอมสละทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ที่เขาศรัทธาซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

เรื่องพระเวสสันดร เราก็อาจเข้าใจได้ทำนองเดียวกันนี้ คนยุคนั้นเชื่อว่าศาสดาผู้ค้นพบและสอนสัจธรรม/ศีลธรรมเป็นคนอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม เพราะศาสดามีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นเท่านั้น หมดภาระที่จะทำอะไรเพื่อตัวเอง ฉะนั้น คนที่ยอมสละทุกอย่างเพื่อจะเป็นศาสดา (พุทธะ) ในอนาคตอย่างพระเวสสันดร จึงเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ เหมือนกับคนที่เสียสละครอบครัว แม้กระทั่งอิสรภาพของตนเองบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา ก็คือคนที่กระทำสิ่งที่ทำได้ยากและน่าสรรเสริญเช่นเดียวกัน


สมภาร พรมทา เสนอไว้ใน An Essay Concerning Buddhist Ethics (สรุปใจความได้) ว่า เราสามารถเข้าใจการบริจาคลูกเมียของพระเวสสันดรได้ด้วยการเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา ("เขา" นี่แปลมาจาก “his” ไม่มีราชาศัพท์) เช่น เมื่อเห็นชูชกโบยตีลูกชายลูกสาว พระเวสสันดรโกรธมากเกือบจะไม่ยอมให้ลูกแก่ชูชกอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นความเจ็บปวดจากความรักลูกก็ทำให้เขาทุกข์ทรมานใจเป็นทวีคูณ ความโกรธนั้นอาจหายไปได้ในเวลาไม่นาน แต่ความเจ็บปวดโศกเศร้าเพราะต้องสละลูกเมีย ทั้งที่รู้ถึงความทุกข์ทรมานของลูกเมียที่ต้องตกเป็นทาสของคนอื่นนั้นเป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งยากที่จะหายไปได้ แต่พระเวสสันดรก็ต้องทำตามอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ

ลองเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเดินบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในยุคสมัยของเรา เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ในคุก ทุกข์ทรมานจากการพลัดพรากพ่อแม่ คนรัก ลูกเมีย ออกจากป่ามาก็เจ็บปวดสับสนกับความพ่ายแพ้ อีกทั้งอาจรู้สึกผิดที่ตนเองละทิ้งความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นต้น นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราเข้าใจได้ พระเวสสันดรก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมเสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในยุคสมัยนั้น เช่นเดียวกับคนในยุคเราที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในบริบทปัจจุบัน

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น สอนว่า "ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ" แม้ว่าจะต้องเสียสละและเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม ดังคำกล่าวที่ว่า "พึงสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาธรรม" มีชาดกจำนวนมากที่เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมหรือความถูกต้อง พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ "วิถีที่ถูกต้อง" มาก เพราะคุณค่าชีวิตและอิสรภาพงอกงามออกมาจากการฝึกฝนตนเองตามวิถีที่ถูกต้อง (มรรค/ไตรสิกขา) พระเวสสันดรคือตัวอย่างของผู้ที่เดินทางยากในวิถี (means) สู่เป้าหมาย (end) ที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง



สมมติว่า มียาวิเศษที่กินแล้วทำให้คนพ้นทุกข์กลายเป็นพุทธะได้ทันที พุทธศาสนาย่อมไม่สนับสนุนให้กินยาเช่นนั้นแน่นอน เพราะยาวิเศษไม่สามารถทำให้ชีวิตมีคุณค่าได้ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการการใช้เสรีภาพเลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ใช้ศักยภาพและความพยายามของเราเองอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคและความเจ็บปวดใดๆ ก็ตาม แต่โดยการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ถูกต้องนั้นเอง ความหมายของชีวิต การเติบโตทางความคิด และจิตวิญญาณจึงอาจงอกงามปรากฏออกมาได้ ฉะนั้น วิถีกับจุดหมายไม่อาจแยกจากกัน

แต่ก็น่าเสียดาย หากจะมีการเข้าใจผิดๆ ว่า เรื่อง "ทาน" ของพระเวสสันดร และการทำบุญเชิงประเพณีต่างๆ เป็น "ยาวิเศษ" ดลบันดาลทุกสิ่งได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความปรารถนาสุขส่วนตัว จนทำให้ค่านิยมทำดีของชาวพุทธจำกัดอยู่แค่ "การทำดีตามแบบแผนพิธีกรรม" เพื่อหวังผลดลบันดาลจากยาวิเศษให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นค่านิยม "ทำดีเสพติดยาวิเศษ" จนไม่ลืมตามาดูทุกขสัจจะของสังคม

และทำให้ชาวพุทธปัจจุบันไม่สนใจการ "ทำดีอย่างมีอุดมการณ์" หรือการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ว่าตนเองต้องทนทุกข์ดังพระเวสสันดรทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราอาจนำหลักคิดนี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันได้ ไม่ใช่รับมาทั้งดุ้น หรือด่วนปฏิเสธอย่างขาดการทำความเข้าใจสาระสำคัญ!


______________________________________________

ลองอ่านอีกบทความ เพื่อเป็นอีกแง่มุม หรือปรับใช้ในภาคปฏิบัติ
ที่  "มรดกอกแตกของ 14 ตุลาฯ" โดย เกษียร เตชะพีระ  http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/14ks301.html



.

ใครคือ “มหาเทวีแม่ลูกสอง” ผู้มิใช่ “มหาเทวีสองแม่ลูก” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ใครคือ “มหาเทวีแม่ลูกสอง” ผู้มิใช่ “มหาเทวีสองแม่ลูก”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 76


ชื่อบทความชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจจะหาเรื่อง "คำ กวน วอน" ด้วยการพลิกศัพท์ดอกนะคะ

คำว่า "มหาเทวีแม่ลูกสอง" กับ "มหาเทวีสองแม่ลูก" นั้นมีอยู่จริง เป็นฉายาที่พบอยู่ในตำนานจารึกยุคที่อาณาจักรล้านนากำลังรุ่งโรจน์ ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 
สมัญญาแรก "มหาเทวีแม่ลูกสอง" นั้นมีการถกเถียงกันอย่างหนักว่าควรหมายถึงใครกันแน่ เพราะจารึกที่พบนั้นมีเพียงชิ้นเดียว แถมยังอยู่สูงลิบลิ่ว ถึงแหงนคอตั้งบ่าอย่างไรก็มองไม่เห็น ด้วยจารอยู่บนแผ่นทองจังโก (แผ่นทองเหลืองปิดทองคำเปลว) ที่หุ้มองค์พระบรมธาตุหริภุญไชยโน่น 
ส่วนฉายาหลัง "มหาเทวีสองแม่ลูก" เป็นจารึกที่พบกลาดเกลื่อน อาจหมายถึง "แม่-ลูก" คู่ไหนก็ได้ จารึกแต่ละหลักจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึง "แม่-ลูกคู่นั้นเพียงคู่เดียว" เสมอไป



"มหาเทวีแม่ลูกสอง"
แสนสับสนโอละแม่...


"มหาเทวี" คือพระราชมารดาของกษัตริย์ เป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดในบรรดาขัตติยนารีล้านนา ถือว่ามีบทบาทสูงกว่าสมัยที่ยังเป็นพระอัครมเหสี สามารถชี้นำควบคุมกิจการบ้านเมืองให้แก่ลูกผู้เป็นยุวกษัตริย์ในฐานะ "อดีตราชินี" หรือซูสีไทเฮาผู้มากประสบการณ์

เรื่องราวของ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" พบอยู่บนแผ่นทองบุองค์ระฆังเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ระหว่างลายกลีบบัวบาน 8 ดอก สลับด้วยพระพุทธรูปดุนนูนประทับยืนปางถวายเนตร 5 องค์ และพระพุทธรูปลีลา 3 องค์ 
พื้นที่ใกล้กับพระพุทธรูป 3 ใน 8 องค์ พบจารึกอักษรฝักขามระบุนามของผู้สร้าง 
2 ใน 3 เป็นพระมหาเถระ จารึกหนึ่งลบเลือนมีเพียงคำว่า "มหาเถร..." ชื่อตอนท้ายหายไป ส่วนจารึกที่ชัดอีกด้านเขียนว่า "มหาเถรสุเมธังกร" 
จารึกที่เหลืออีกหนึ่ง คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือกลับทิ้งปริศนา ถอดความได้ว่า
"เจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพระญาทั้งสองพี่น้อง ผู้เป็นมหาอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย ด้วยผลแห่งการสร้างพระพุทธรูปขอให้ถึงซึ่งมหานิพพาน และได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย"

อุตส่าห์พบจารึกแต่กลับไม่ระบุศักราช การปรากฏจารึกนี้จึงไม่ทราบว่าหมายถึง "แม่คนไหนที่มีลูกชายเป็นราชาถึงสองคน" ยิ่งพระธาตุหริภุญไชยถือเป็นวัดสำคัญที่สุดของล้านนา กษัตริย์ทุกองค์ต้องทำนุบำรุงอยู่แล้ว ก็ยิ่งชวนให้คลำทางยากขึ้นไปกันใหญ่ 
นักวิชาการหลายฝ่ายพยายามถอดรหัสไล่เลียงความเป็นไปได้ เพื่อตามหา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" แห่งราชวงศ์มังราย มีข้อสันนิษฐานหลายแนวทาง ตามลำดับองค์ความรู้ที่ค้นพบดังนี้

แนวทางแรก เคยพุ่งตรงไปยัง "พระมหาเทวีอโนชา" หรือ "พระนางโป่งน้อย" มเหสีของพระญายอดเชียงราย ซึ่งระบุไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เป็นพระมารดาของกษัตริย์สองพี่น้อง คือพระเมืองแก้ว กับพระเมืองเกษเกล้า (พระญาแก้ว-พระญาเกส) แต่แล้วเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยจัดสัมมนาเปิดประเด็นเรื่องพระญาแก้ว-พระญาเกส ได้ข้อสรุปว่าชินกาลมาลีปกรณ์เป็นเอกสารเพียงเล่มเดียวที่ระบุว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน แตกต่างไปจากตำนานอื่นทุกเล่ม ซึ่งกล่าวว่า พระญาเกสเป็นโอรสของพระญาแก้ว
ฉะนี้แล้ว ประเด็นที่เคยเชื่อกันว่า "มหาเทวีแม่ลูกสอง" หมายถึงพระนางโป่งน้อยจึงตกไป แต่ไม่ตกสำหรับฉายา "มหาเทวีสองแม่ลูก" อันเป็นคู่แม่-ลูกที่พบว่าทำบุญมากที่สุดในบรรดาจารึกล้านนา โชคดีที่จารึกหลายหลักระบุศักราชชัด แม้จะไม่ระบุพระนามจริง


ในเมื่อ พระนางโป่งน้อย-พระญาแก้ว ได้กลายเป็น "มหาเทวีสองแม่ลูก" ไม่ใช่ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ไปเสียแล้ว ทำให้นักวิชาการล้านนาเจองานเข้าอย่างหนัก
เริ่มด้วย ดร.ฮันส์ เพนธ์ รวมทั้ง รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้สันนิษฐานแนวทางที่สองว่า อาจหมายถึง พระมเหสีของพระญาไชยสงคราม (ขุนคราม) ซึ่งไม่ทราบนาม ผู้เป็นชนนีของพระญาแสนภูกับท้าวน้ำถ้วม
อันที่จริงขุนครามมีโอรสสามองค์ องค์สุดท้องชื่อท้าวน่านเชียงของ แต่องค์ที่ได้เสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่-เชียงรายมีแค่สอง บางทีนัยที่ว่า เป็นแม่แก่เจ้าพระญาทั้งสอง จึงอาจไม่จำกัดว่าต้องมีลูกชายแค่สองคนเท่านั้น ทว่าในบรรดาโอรสหลายองค์ ต้องมีอยู่สองที่ได้เป็นกษัตริย์

หากแนวทางนี้เป็นจริง ย่อมส่งผลสะท้านสะเทือนถึงเขาพระสุเมรุ ขั้นพลิกประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างถล่มทลายทีเดียว เหตุเพราะเราไม่เคยพบจารึกอักษรฝักขามในล้านนาที่เก่าเกินไปว่าศิลาจารึกวัดพระยืนที่ลำพูน ยุคพระญากือนา (1912) มาก่อนเลย 
หากจารึกมหาเทวีแม่ลูกสองเขียนขึ้นในยุคพระญาแสนภู (กษัตริย์ลำดับ 3 หลานปู่พระญามังราย) ก็เท่ากับว่าแผ่นทองจังโกนี้ต้องเก่ากว่าศิลาจารึกวัดพระยืนร่วม 5 ทศวรรษ มาถึงจุดนี้ชักจะทำให้หลายคนผงะ 
ทฤษฎีนี้จึงถูกแขวนพักไว้ก่อน


สำหรับแนวทางที่สาม เชื่อกันว่าหมายถึง "พระนางจิตราเทวี" มเหสีในพระญาผายู ผู้เป็นมารดาของพระญากือนา และท้าวมหาพรหม องค์น้องนี้ได้นั่งเมืองเชียงรายในฐานะอุปราช เป็นทฤษฎีที่มีผู้สนับสนุนอย่างแน่นหนา 
อาทิ อ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ นักจารึกวิทยาผู้คร่ำหวอดด้านจารึกล้านนา เป็นผู้ปริวรรตถอดคำแปลสู่ภาษาไทย ก็ยืนยันว่าไม่เคยเห็นจารึกชิ้นใดที่เก่าเกินไปกว่าจารึกวัดพระยืนได้ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านรูปแบบอักขระ ฉะนั้น จารึกมหาเทวีแม่ลูกสองชิ้นนี้จึงกำหนดอายุให้ไม่เกินพระญากือนา 
ต่อมาผู้สันทัดกรณีด้านพระพุทธปฏิมา อาทิ สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์ และ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ แห่ง ม.ศิลปากร ต่างก็สนับสนุนทฤษฎีนี้ โดยนำพระพุทธรูปลีลาบนแผ่นดุนนูนที่อยู่ใกล้กับจารึก ไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปลีลาที่วัดป่าสักเชียงแสน อันเป็นผลงานสมัยพระญากือนา ว่ามีรูปแบบละม้ายศิลปะสุโขทัยเหมือนๆ กัน อันเป็นการรับอิทธิพลผ่านมาทาง "พระมหาสุมนเถระ" ที่เดินทางจากสุโขทัยมายังวัดพระยืน

ฟังๆ ดูแล้ว ก็มีน้ำหนักมากพอที่ชวนให้คล้อยตาม และน่าจะยุติปริศนา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ไว้เพียงเท่านี้ แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่



ปรัศนีแห่ง "มหาเทวีแม่ลูกสอง"
ยังไม่อวสาน


ปี2552 ดิฉันได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง "พระธาตุหริภุญไชย" สิ่งที่คาใจก็คือการหาข้อสรุปไม่ลงตัวว่าใครคือ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" บนจารึกองค์พระธาตุนั่น จึงได้ขอคำปรึกษาจาก อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร 
ท่านกลับเห็นแย้ง ไม่เชื่อว่าคำจารึกนั้นทำขึ้นในยุคพระญากือนา ด้วยเหตุผลสามประการที่น่ารับฟังยิ่ง

ประการแรก วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นวัดหลวง หากพระญากือนามาบูรณะปฏิสังขรณ์จริง ไฉนจึงไม่พบเรื่องราวที่กล่าวอ้างเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ในเอกสารตำนานอื่นใดอีก 
ในทางกลับกัน ตำนานเอกสารหลายเล่มกลับระบุชื่อกษัตริย์ล้านนาองค์ต่างๆ ว่ามีส่วนมาบูรณะพระธาตุหริภุญไชย บ้างก็ยกยอดฉัตร บ้างก็ปิดทองคำเปลว บ้างก็สร้างเสริมความสูง บ้างก็ซ่อมแผ่นทองจังโกที่ชำรุด แต่ในทำเนียบนามเหล่านั้น กลับไม่มีชื่อของพระญากือนา

ในส่วนนี้ ฝ่ายที่เชื่อว่ามหาเทวีแม่ลูกสองทำขึ้นในสมัยพระญากือนา ก็อาจแย้งได้ว่า เหตุเพราะตำนานที่เขียนขึ้นนั้นเป็นตำนานฝ่ายวัดป่าแดงที่เน้นการสรรเสริญบารมีของพระเจ้าติโลกราชและพระเมืองแก้วเป็นสำคัญ โดยพยายามบลัฟพระญากือนาให้ด้อย จึงอาจจงใจลบชื่อให้ตกหล่นไปก็เป็นได้

ประการที่สอง พระญากือนาพยายามสถาปนานิกายใหม่คือสวนดอก แน่นอนว่าต้องเป็นคู่แข่งกับนิกายหริภุญไชยดั้งเดิม ฉะนี้แล้ว พระญากือนาสมควรจะไปยุ่มย่ามกับพระธาตุหริภุญไชยอีกล่ะหรือ?

ประการสุดท้าย นอกจากอาจารย์พิเศษแล้ว หลายคนยังสงสัยว่าทำไมจึงมีการปรากฏนามของพระมหาเถรสุเมธังกร ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นพระสังฆราชาองค์สำคัญในสมัยพระเจ้าติโลกราช แม้บางท่านแย้งว่า "สุเมธังกร" เป็นฉายา ตำแหน่ง และอาจมีหลายองค์ ไม่ใช่ชื่อเฉพาะก็ตาม
หากคิดเช่นนี้ ไยจึงไม่ฟันธงไปเลยเล่า ว่ามหาเทวีองค์นั้นคือพระมารดาของพระเจ้าติโลกราช ในเมื่อตำนานหลายฉบับระบุแน่ชัดว่า มหาราชผู้นี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหริภุญไชยครั้งใหญ่เพื่อฉลองสหัสวรรษ 2000

การที่ไม่มีใครกล้าจินตนาการถึงแม่ของพระเจ้าติโลกราช ก็เพราะพระญาสามฝั่งแกนนั้นมีชายาหลายองค์ พระมหาเทวีผู้เป็นมารดาของพระเจ้าติโลกราชมิใช่มเหสีเอก ทั้งยังคลุมเครือว่าพระเจ้าติโลกราชมีพระอนุชาด้วยไหม หรือแม้แต่น้องชายต่างมารดาคนไหนบ้างที่ได้นั่งเมือง คือยุคนั้นเราพบแต่เหตุการณ์ในทำนองซูเปอร์ฮีโร่ "ข้ามาคนเดียว" ตลอดรัชกาล ทำนองหากพ่อแม่พี่น้องคนใดเผยอหน้ามาทาบบารมีก็ต้องมีอันเป็นไป 
หรือนี่เรากำลังจะบอกว่า จารึกทองจังโกบนองค์ระฆังสองชิ้นนั้นทำขึ้นต่างยุคกัน ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคำว่าพระมหาเถรสุเมธังกร ทำในยุคพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ.2000 ส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีคำว่ามหาเทวีแม่ลูกสอง ทำขึ้นในยุคพระญากือนา อาจร่วมสมัยหรือหลังจากจารึกวัดพระยืนปี 1912 เล็กน้อย  
หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมพระเจ้าติโลกราชจึงไม่ทำลายทองจังโกของพระญากือนานั้นเสีย เหมือนกับที่พยายามเปลี่ยนแปลงตำนาน ทุบทิ้งศิลาจารึกต่างๆ ที่กล่าวถึงบุญญาบารมีของพระญากือนาเจ้าลัทธิสวนดอกลงอย่างมากมาย ที่เล็ดรอดหลงเหลือก็มีเพียงศิลาจารึกวัดพระยืน เนื่องจากเป็นเขตอรัญวาสีอยู่นอกเมืองลำพูน จึงรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกามาได้ 
ฤๅมาดแม้นพระเจ้าติโลกราชจะรับรู้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา แต่ก็เห็นว่าเป็นความตั้งใจของ "แม่" ไม่เกี่ยวกับ "ลูก" จึงไม่อยากละลาบละล้วงจ้วงจาบ และมันก็อยู่สูงเท่านกเขาเหินมากเกินกว่าจะให้ใคร (นักจารึกวิทยารุ่นหลัง) มาซอกแซกอ่านได้ ถึงอ่านออกก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะไม่ระบุนามอยู่ดี


ในเมื่ออาจารย์พิเศษปฏิเสธพระญากือนา ภารกิจของดิฉันจึงยังไม่จบ ต้องค้นคว้าต่อว่า ควรหมายถึงใคร 
ในที่สุดก็เสนอแนวทางที่สี่ เนื่องจากพบข้อมูลว่าในสมัยพระญาแสนเมืองมาก็มีการบูรณะแผ่นทองจังโกหุ้มองค์พระธาตุ เป็นไปได้ไหมว่า จารึกนั้นทำขึ้นในสมัยพระญาแสนเมืองมา (เป็นโอรสของพระญากือนา เป็นบิดาของพระญาสามฝั่งแกน และเป็นอัยกาของพระเจ้าติโลกราช)
ส่วน "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ยังคงเป็น "พระนางจิตราเทวี" ตามข้อสันนิษฐานเดิม เพียงแต่ว่ามีอายุยืนยาวในฐานะ "เจ้าตนย่า" มาจนถึงยุคที่หลานชายคือพระญาแสนเมืองมาได้ครองราชย์ ครั้นพระเจ้าติโลกราชมาบูรณะอีกครั้ง เหตุที่ไม่ทำลายจารึกของปู่ (แสนเมืองมา) ก็เพราะมีใจฝักใฝ่ในนิกายป่าแดงเหมือนกัน 

ทฤษฎีประนีประนอมขนาดนี้แล้ว น่าจะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดในการค้นหา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ให้จบลงเสียที แต่แล้วที่ไหนได้


เมื่อดิฉันไปพลิกอ่านตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย ที่มหาสิงฆะ วรรณสัย ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลานอักษรธรรม ระบุปีที่เขียนคือ 2109 ได้พบข้อความชวนระทึกใจอีกว่า "มหาเทวีผู้เป็นมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า (ก็คือจิรประภา) ผู้เป็นแม่แก่โอรสทั้งสอง ได้ทำการบูรณะบุทองจังโกแด่องค์พระธาตุเจ้าหริภุญไชย"
อุแม่เจ้า! จิรประภามหาเทวีจอมนางมากตำนาน ก็มีลูกชายสองคนกับเขาด้วย คือท้าวซายคำ (ครองราชย์ต่อจากพระญาเกส) และเจ้าจอมเมือง (เพียงแต่สงสัยว่าองค์น้องได้นั่งบัลลังก์ที่ไหนหรือเปล่า) อันเป็นเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันมากกับจารึกบนแผ่นทองจังโก

จึงขอเพิ่มมหาเทวีจิรประภาให้ช่วยกันพิจารณาอีกรายเป็นแนวทางที่ห้า ไม่ทราบว่ายังมีใครอยากเสนอแนวทางที่หก เจ็ด แปด อีกบ้างไหม?



.

2555-07-28

ชนส่วนใหญ่และความเป็นไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ชนส่วนใหญ่และความเป็นไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 32


Dru C Gladney ประกาศในหนังสือชื่อ Making Majorities ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการ ว่า "ชนส่วนใหญ่ [ในทุกชาติ] ถูกสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดเอง... ไม่มีชนส่วนใหญ่ในแถบเอเชียแปซิฟิกหรือในโลกตะวันตก ไม่ว่าในทางจำนวน, ทางชาติพันธุ์, ทางการเมือง และในทางวัฒนธรรม สังคมต่างๆ ล้วนสร้างและหมายว่าใครเป็นชนส่วนใหญ่ ใครเป็นชนส่วนน้อย ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์, การเมือง และสังคมทั้งนั้น"

เอาล่ะสิครับ ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน จึงไล่อ่านบทความในหนังสือ ซึ่งพูดถึงกระบวนการสร้างชนส่วนใหญ่-ส่วนน้อย, ความสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่ม และความสัมพันธ์ของสองกลุ่มกับรัฐและความทันสมัย ในสังคมต่างๆ นับตั้งแต่สหรัฐ ไล่มาถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ไปจนถึงฟิจิ แล้วในที่สุดก็เห็นว่า เออจริงว่ะ

คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเมื่อต้นรัตนโกสินทร์คงเรียกตัวเองว่า "คนไทย" สืบต่อมาจากเมื่อครั้งอยุธยา แต่ "คนไทย" ก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในจำนวนไพร่ฟ้าของพระเจ้าแผ่นดิน ทางเหนือสุดเรียกตัวเองว่ายวนหรือโยน (นักประวัติศาสตร์ล้านนาคนหนึ่งเคยบอกผมว่า คำว่า "คนเมือง" เพิ่งมาปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์รุ่นหลัง-ผมเลยเดาเอาเองว่า เมื่อมี "ชาวเขา" อพยพมาอยู่มากขึ้นแล้วคือประมาณเมื่อ 150 ปี เป็นต้นมา)
ส่วนทางใต้สุดเรียกตัวเองว่า "มลายู" อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ เพราะแม้แต่คำนี้ที่ใช้ในความหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ก็เพิ่งมาใช้กันมากขึ้นในระยะประมาณ 200 ปีมานี้เอง (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) 
ส่วนประชาชนในแถบที่ไม่ใช่รัฐมลายูคงเรียกตัวเองว่า "คนไทย" เหมือนกันกระมัง ในขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับไปเรียกเขาว่า "ชาวนอก" หรือเรียกตามชื่อเมืองเช่น "ชาวละคร" หรือ "ชาวตะลุง" แสดงว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดว่าเป็น "พวก" เดียวกันกับเขา

ทางอีสานจนเลยข้ามแม่น้ำโขงไป ก็ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่าเขาเรียกตัวเองว่า "ลาว" คำนี้เองก็น่าสนใจในตัวของมันเองด้วย เพราะกลายเป็นชื่อของชนส่วนใหญ่ในประเทศลาวภายหลัง และคงมีกระบวนการเฉพาะของตนเองที่จะสร้างชนส่วนใหญ่ขึ้นในประเทศของเขา



ที่พูดมานี้เป็นการผูกชื่อชาติพันธุ์ไว้กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นะครับ ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราไปรับการสร้าง "ชนส่วนใหญ่" ในท้องถิ่นต่างๆ ไว้โดยไม่ตั้งคำถามต่างหาก เพราะในความเป็นจริง มีคนที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่า "ไทย", "ลาว", "ยวน", "มลายู" ฯลฯ อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ อีกมากมาย

เช่น จีน (ซึ่งก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าจีนเสมอไป แต่มักเรียกตามภาษาถิ่นของตัวมากกว่า) กะเหรี่ยง, เขมร, แสก, กูย, โท้, อุรักลาโว้ย, ม่าน, มอญ, เม็ง, ถิ่น, ลัวะ, ลื้อ, ยอง, ฯลฯ อีกมากมาย ทั้งนี้ ยังไม่นับการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพที่ดึงเอาคนจากที่ต่างๆ มาอยู่นอกภูมิภาคของตนเอง

แม้แต่ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราคุ้นเคยในเวลานี้ เช่น "ไท-ไต" ก็คงไม่ใช่ชื่อที่เขาเรียกตัวเอง ส่วนใหญ่ก็มักเรียกและถูกเรียกไปตามถิ่นที่อยู่, หรือสีของเสื้อผ้า (อย่างเดียวกับชาวเขา) เช่น ไทคำตี่, ไทอะหม, ไทน้อย, ไทใหญ่, ไทดำ, ไทแดง ฯลฯ คำว่า "ไท" ไม่จำเป็นต้องหมายถึงชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่น่าจะแปลว่า "คน" เหมือนที่ใช้ในภาษาอีสานทุกวันนี้ 
อย่างน้อยเขาต่างไม่รู้สึกว่าเป็น "พวก" เดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะรบราฆ่าฟันกันหน้าตาเฉยอย่างไร (เช่น สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองรุมเมืองคัง-ก็ "ไท" ด้วยกันนะครับ หรือในทางกลับกันไทใหญ่เป็นกำลังสำคัญของกองทัพพม่าในการตีกรุงศรีอยุธยาทุกครั้ง) อีกทั้งไม่เคยมี "มหาราช" พระองค์ใดในกลุ่ม "ไท-ไต" ที่พยายามสร้างราชอาณาจักรขึ้นจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติพันธุ์เลย

แสดงให้เห็นว่าไท-ไทย ถูกสร้างให้เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเป็นชนส่วนใหญ่ของ "ชาติ" ในภายหลัง 
ข้าราษฎรของราชอาณาจักรอยุธยาและสืบมาอีกนาน คือประชากรหลากหลายกลุ่ม ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งในเชิงชาติพันธุ์, การเมือง และเศรษฐกิจ-สังคม



กระบวนการสร้าง "ชาติ" ในสมัย ร.5 เป็นต้นมา คือกระบวนการเดียวกันกับการสร้างและหมายชนส่วนใหญ่ของ "ชาติ" ไปพร้อมกัน ขยายการใช้ภาษากรุงเทพฯ ออกไปผ่านหนังสือราชการซึ่งต้องมีมากขึ้นเป็นธรรมดา เพราะการจัดการปกครองแบบใหม่ ใช้ภาษานี้เป็นภาษาของการศึกษามวลชนซึ่งริเริ่มขึ้นมาแต่แรก พัฒนาการพิมพ์ด้วยภาษาและอักษรของ "คนไทย" ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เกิดเป็นหนังสือและหนังสือพิมพ์ในภาษา "ไทย" ยิ่งหลังจากการสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น ภาษา "ไทย" ก็กลายเป็นความจำเป็น (พนักงานโทรเลขไทยคงส่งรหัสมอสส์ด้วยตัวอักษรยาวี, อักษรธรรม, หรือแม้แต่ไทยน้อย ไม่ได้) 
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึง "แฟชั่น" ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่เพลงดนตรี, การแต่งกาย, เครื่องเล่น, มารยาท, ฯลฯ ซึ่งแม้มีกำเนิดมาจากวัฒนธรรมอื่น (เช่น กินข้าวด้วยช้อนและส้อม) แต่ก็ถูกหมายเรียกว่า "ไทย" ไปหมด 
ใครที่ใช้วัฒนธรรมใหม่เหล่านี้ ก็คือ "คนไทย" และเริ่มหมายคนอื่นที่ใช้วัฒนธรรมเดียวกันว่าเป็น "คนไทย" เหมือนกัน "ชนส่วนใหญ่" จึงค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นในประเทศสยาม จนกระทั่งเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะไปนึกว่าคนที่ไม่ใช่ "ไทย" คือ "ชนส่วนน้อย" ที่ควรจะกลืนตัวเองให้เป็น "ไทย" ไปในที่สุด 
ลืมไปว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็ไม่ได้เป็น "ไทย" เหมือนกัน


คําว่า "มลายู" ในแถบที่เป็นประเทศมาเลเซีย, ฝั่งตะวันออกของสุมาตรา และบางส่วนของเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ก็เหมือนกัน ปัจจุบันเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่ามลายูหมด คือพูดภาษาเดียวกัน, นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน, และมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 
แต่ที่จริงแล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับพบว่าเฉพาะประชาชนของรัฐมะละกาเท่านั้น ที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นชาวมลายู ยิ่งไปกว่านั้นคนยังอาจเปลี่ยน "ชนชาติ" (ซึ่งภาษามลายูในภายหลังเรียกว่า bangsa) ได้ด้วย ผมเข้าใจว่าเมื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในปัตตานี หันมานับถือศาสนาอิสลาม เขาก็ได้เปลี่ยนความเป็น "ชนชาติ" ฮกเกี้ยนของเขาไปแล้ว

ก่อนอังกฤษจะยึดครองแหลมมลายู ประชาชนในแถบนี้มองตัวเองว่าเป็นคนของสุลต่านองค์ไหน (คือของเมืองอะไร) เช่น เป็นชาวเปรัก, ชาวยะโฮร์, ชาวปัตตานี ไม่ได้คิดว่าตัวมีชาติพันธุ์มลายูร่วมกัน จีนและอินเดียซึ่งเข้ามาจำนวนมากในสมัยอังกฤษ ก็มักเรียกตัวเองตามภาษาถิ่นของตัวมากกว่าจะมีสำนึกร่วมกันว่าเป็น "จีน" เหมือนกัน คนจากคาบสมุทรอินเดียก็เช่นเดียวกัน ย่อมรู้สึกว่าตัวเป็นชาวกลิงก์, ชาวมัทราส, หรืออื่นๆ มากกว่า

(กรณีอินเดียไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะตอนนั้นยังไม่มี "อินเดีย" ในฐานะหน่วยการเมืองอันหนึ่งด้วยซ้ำ)



มลายูในฐานะชาติพันธ์ร่วมกันมาเกิดขึ้นจากคนต่างชาติครับ คนแรกคือ Munshi Abdullah นักเขียนที่กล่าวกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดภาษามลายูสมัยใหม่ เขาเป็นคนเชื้อสายอาหรับผสมอินเดีย งานเขียนของเขาปลุกสำนึกว่า ชาวพื้นเมืองที่เขาเรียกว่ามลายูนั้น ควรตื่นขึ้นมาขยันขันแข็ง เพื่อทำให้ชนชาติของตัวเข้มแข็งเหมือนชนชาติอื่นๆ (เช่น อังกฤษ) 
อับดุลลาห์ทำงานกับอังกฤษทั้งที่มะละกาและสิงคโปร์ และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานของฝรั่งแยะ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้ความหมายใหม่แก่มลายูในฐานะชาติพันธุ์คืออังกฤษ ภายใต้ความคิดเรื่องการแบ่งคนออกเป็นเชื้อชาติ (race) ต่างๆ ซึ่งกำลังแพร่หลายในยุโรป อังกฤษทำสำมะโนประชากรในรัฐมลายู โดยแบ่งคนออกตาม "เชื้อชาติ" อย่างที่ฝรั่งจะพึงเข้าใจ คือชาวมลายู, จีน และอินเดีย 
มลายูจึงกลายเป็นที่ยึดถือว่าหมายถึงชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันของประชาชนชาวพื้นเมืองในแหลมมลายู 
แม้กระนั้น ก็ยังไม่ได้กลายเป็นชื่อของ "ชนส่วนใหญ่" ไปโดยปริยาย ยังต้องอาศัยการสร้างอุดมการณ์, ภาวะทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองอีกหลายอย่าง กว่าที่มลายูจะกลายเป็น "ชนส่วนใหญ่" อันที่จริงคงทราบอยู่แล้วว่า ก่อนได้รับเอกราชนั้น คนที่เรียกตัวว่ามลายูไม่ใช่ประชากรที่มีจำนวนมากสุดในมลายูของอังกฤษ (เพราะรวมสิงคโปร์ไว้ด้วย)

แม้ในการต่อสู้ทางการเมืองช่วงที่กำลังจะได้เอกราช พรรคฝ่ายซ้าย (ซึ่งในตอนนั้นใช้ชื่อว่า "พรรคชาตินิยมมลายู"-PKMM) ก็ยังเสนอว่า คนภายนอกที่หันมารับวัฒนธรรมมลายู เช่น รับภาษาและประเพณีแบบมลายู ย่อมเป็นพลเมืองเต็มขั้นของรัฐมลายูซึ่งจะเกิดในภายหน้า เหมือนกับสมัยโบราณที่ความเป็นชนชาติย่อมโยกย้ายถ่ายโอนกันได้ในชีวิตจริง พรรคนี้แยกสองคำออกจากกันคือ bangsa หมายถึงชนชาติซึ่งได้มาโดยกำเนิด และ kebangsaan หมายถึงความเป็น (พลเมืองของ)ชาติ 
แน่นอนว่าพรรค UMNO ซึ่งเป็นของเจ้าและขุนนางย่อมไม่เห็นด้วย และดังที่ทราบอยู่แล้วว่าพรรค UMNO ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและปกครองมาเลเซียสืบมาจนทุกวันนี้ 
มลายูในฐานะ "ชนส่วนใหญ่" ของมาเลเซียจึงถูกสร้างขึ้น เช่นเดียวกับคนไทย, คนจีน (ฮั่น), คนญี่ปุ่น, เกาหลี, ฟิจิ และเติร์ก หรือคนเชื้อสายอังกฤษในสหรัฐ


ชนส่วนใหญ่ของชาติใดชาติหนึ่ง เป็นสิ่งสร้างทางสังคมทั้งนั้น กล่าวคือไม่มีอยู่จริง แต่คือคนที่ถูกเกณฑ์หรืออาสาสมัครให้เข้ามาจองแถวหน้าในชาติก่อนคนอื่น สร้างมาตรฐานที่คนอื่นต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้ยึดถืออัตลักษณ์เดียวกันเสียก่อน แล้วจึงได้ที่นั่งถัดกันมา

"ความเป็นไทย" จึงไม่ได้ระเหิดไปไหนในยุคโลกาภิวัตน์หรอกครับ แต่มันกลวง คือไม่มีอะไรในนั้นมาแต่ต้นแล้ว ถ้าจะดูเหมือนว่ามี ก็เพราะใครบางคนยัดลงไว้ในนั้น และก็ยัดด้วยเหตุผลทางสังคมและการเมืองในยุคหนึ่งๆ ฉะนั้น มันจึงเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่เงื่อนไขทางสังคมและการเมืองซึ่งเปลี่ยนไป

ถ้าจะว่ามันระเหิดไปหมดก็ได้ เพราะหาอะไรที่เหมาะกับสังคมและการเมืองของโลกปัจจุบันยัดลงไปไม่ได้อีกแล้ว มันจึงยิ่งกลวงกว่าที่เคยกลวงมาแล้ว



.

นักเสรีนิยมในกะลาออกทัศนศึกษา โดย คำ ผกา

.

บทความของปี 2554 

นักเสรีนิยมในกะลาออกทัศนศึกษา
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 89


มติชนสุดฯ ฉบับวันศุกร์นี้ได้ฤกษ์งามยามดีมากเพราะตรงกับวันปฏิวัติสยาม 2475 (1932) จึงขอให้พื้นที่ในคอลัมน์สักเล็กน้อยเพื่อระลึกถึงวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่สยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ราษฎรได้เปลี่ยนมาเป็น "ประชาชน" หรือ "พลเมือง" 
และได้ใช้สิทธินั้นปกครองตนเองโดยผ่านตัวแทนที่เราเรียกว่า "ผู้แทนราษฎร"
(แอบแปลกใจว่าทำไมไม่เป็น "ผู้แทนประชาชน" หรือ "ผู้แทนพลเมือง" ละหนอ)


จากการเมืองระดับชาติ อาทิตย์นี้อยากจะนำคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับการเมืองเรื่องอุดมการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ เยาวชน คนหนุ่มสาว ที่ฉันเองก็เพิ่งจะได้เรียนรู้ (ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน?) และตื่นเต้นกับความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่ตนเองได้รับเป็นอย่างยิ่ง
เหตุเกิดมาจากที่ฉันตกปากรับคำเชิญของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ไปพูดเรื่องการรับน้อง อีกทั้งทราบมาว่าที่นี่มีการรับน้องที่จริงจังไม่แพ้สถาบันไหนในประเทศไทย 

ด้วยความที่เป็นนักเขียนอยู่ในกะลาของเสรีนิยมจึงกระตือรือร้นที่จะไปพูดเอามากๆ คิดเองเออเองว่าเผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ปีหนึ่งมีกำลังใจลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า 
"ไม่เข้าร่วมได้ไหม การรับน้อง?" 
"ทำไมต้องมีการรับน้อง?" 
ทั้งนี้ นักเสรีนิยมในกะลาอย่างฉันคิดง่ายๆ ว่าใครๆ ก็ต้องรักและชื่นชมในเสรีภาพ และใครๆ ก็น่าจะรังเกียจการถูกบังคับ กดขี่ ขืนใจ (โดยมาทราบภายหลังว่า คนที่ชื่นชอบเสรีภาพในทุกเงื่อนไขอย่างฉันนั้นเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย) 

เมื่อคิดโดยมิได้เฉลียวใจเช่นนั้น จึงพ่นพล่ามนานาเหตุผลที่ไม่ควรมีการรับน้องและยืนยันว่ามีแต่น้องปี 1 เท่านั้นที่ต้องกล้าจินตนาการถึงสังคมใหม่อันมนุษย์ทุกผู้ทุกนามพึงมีความสัมพันธ์กันในแนวราบมิใช่แนวดิ่งทั้งไม่ผ่านการใช้พิธีกรรมมาสะกดจิตให้เรา "รัก" หรือ "บูชา" ไม่ว่าจะเป็น "คน" "สถาบันการศึกษา" "เพื่อนร่วมสถาบัน, คณะ, ภาควิชา" อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะปัญญาชนพึงมีคุณสมบัติในการตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์

ทีนี้ประเด็นที่ทำให้เกิดการเดือดดาล กลายเป็นดราม่า และเพจ รายการ คิด เล่น เห็น ต่าง ของฉันที่เคยเงียบงันกลับเดือดพล่านไปด้วยความคับข้องใจจาก "หลายภาคส่วน" เพราะไม่พอใจที่ฉันบอกว่า 
1. ทำไมน้องปีหนึ่งต้องห้อยป้ายชื่อพร้อมหมายเลขประจำตัวราวกับสัตว์ในฟาร์มที่มี serial number 
2. แทนความรักและภาคภูมิใจในสถาบันเพียงเพราะเราเป็นคนของสถาบันนี้ แทนการการภูมิใจในเพลง ในพิธีกรรม น่าจะตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยของเราผลิตศิลปินระดับโลกออกมากี่คน 
และหากยังเป็นกันอยู่อย่างนี้ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีศิลปินระดับโลก


ข้อแรก : คนที่เดือดดาลมากๆ บอกว่าการห้อยป้ายชื่อเพราะจะได้รู้จักกัน คำถามคือ สมมติว่าหากไม่มีป้ายชื่อแล้วเราไม่อาจรู้จักกันได้ 

คำถามต่อมาคือ เราจำเป็นต้องห้อยป้ายอันใหญ่ๆ และห้อยเกือบตลอดเวลาในทุกๆ กิจกรรมด้วยหรือไม่? คำถามของฉันคือ 
"เหตุใดมนุษย์อย่างเราจำยอมให้ถูกกระทำและลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราด้วยการแขวนป้ายบอก identity เช่นนั้น ในเมื่อเราเป็นคน มิใช่สัตว์ในฟาร์มที่ต้องมีเลขประจำตัวเพื่อบันทึกเวลากินอาหารและฉีดวัคซีน เราควรมีวิธีการทำความรู้จักเพื่อน และการเข้าสังคมอย่างศิวิไลซ์หรือมีอารยธรรมได้หรือไม่?" - บอกตัวเองไว้ ว่าเราเป็นคนที่คิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ และเลือกได้ว่าอยากจะจำชื่อใครและใครที่เราอยากให้จำชื่อของเรา 
นั่นคือสิ่งที่อยากจะ "สื่อสาร" แต่นั่นก็ทำให้ฉันนึกถึงทฤษฎี "การอ่าน" ที่ว่าบางครั้งคนเราอ่านหนังสือแบบ "ตกปลา" คือเลือก "เกี่ยว" เอาเฉพาะ "คำ" ที่เราสนใจ จากนั้นก็แต่งประโยคเชื่อมโยงความหมายไปตาม "ความรู้หรือความเข้าใจเดิม" ที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็น "ตัวบท" อันใหม่ เป็นเอกเทศจากความหมายในตัวบทเดิม 
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ประเด็นนี้จะถูกนำไปขยายอย่างกว้างขวางจากคำคำเดียวในประโยคที่โดดเด่นที่สุด


ข้อที่ 2 อาการหนักที่สุด เพราะมีนัยในเชิงดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าศิลปากรไม่มีศิลปินระดับโลก

ซึ่งข้อนี้ฉันยอมรับผิดว่าได้ใช้ "มาตรฐานส่วนตัว" ของตนเองไปตัดสิน "ความเป็นระดับโลก" ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

และได้ชี้แจงไปในเพจว่า "นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1942 ได้ผลิตบุคลากรที่น่านับถือและมีชื่อเสียงระดับโลกออกมาอย่างไม่ต้องสงสัย" เพราะฉะนั้น โปรดสบายใจว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในกะลาอย่างฉันต้องทราบแน่นอนถึงชื่อเสียงและเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร 

เกี่ยวกับความสำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร (และเกี่ยวเนื่องกับวันสถาปนารัฐประชาชาติในวันที่ 24 มิถุนายน 1932) ทำให้ฉันนึกถึงบทความของ เดวิด เทห์ ที่พูดถึง บทบาทของ คอร์ราโด เฟโรซี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ความสัมพันธ์ของศิลปะสมัยใหม่ในบริบทของไทยและรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย (เดวิด เทห์ กล่าวว่า "ความพยายามที่จะทำตัวให้ "ทันสมัย" ของไทยนั้น ศิลปะที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐกลับไขว่คว้าไปยังความสมัยใหม่ของต่างชาติ ที่กลับกลายเป็นทั้งขนบและอนุรักษนิยม...เฟโรซีเองมิได้มีแนวคิดต่อต้านขนบเดิมแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขากลับระมัดระวังเลือกสรรให้การสอนศิลปะแบบยุโรป "สมัยใหม่" ของเขาเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีสยาม เมื่อพิจารณาผ่านผลงานของลูกศิษย์เฟโรซี จะพบว่าเขาบ่มสร้างความกำกวมขึ้นมาอย่างรอบคอบให้แก่แต่ละสิ่งที่อาจมองว่ามีความเป็นไทยก็ได้ หรือเป็นตะวันตกก็ได้..." (วารสาร "อ่าน" หน้า 147 หมายเหตุด้วยว่าในเวลาที่ ศิลปะสมัยใหม่เดินทางมาพร้อมกับเฟโรซีและการตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 1942 ในโลกตะวันตกได้เกิดการท้าทายความหมายของคำว่า "ศิลปะ" อย่างแหลมคมตั้งแต่ครั้ง Duchamp นำผลงาน Fountain ของเขาออกแสดงในปี 1917
ในวารสาร "อ่าน" เล่มล่าสุด ได้เขียนเอาไว้อย่างวิจิตร ผู้ที่รักมหาวิทยาลัยศิลปากรทุกท่านควรจะได้อ่านอย่างละเอียด (อย่าเพิ่งรังเกียจว่าเป็นบทความที่เขียนโดยคนต่างชาติ ต่างภาษา เพราะ อาจารย์ศิลป์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเองก็เป็นชาวอิตาลี ได้ชื่อ-นามสกุลไทยมาโดยหลวงวิจิตรวาทการในบริบทของสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ เวลานั้น)


อย่างไรก็ตาม ความเดือดดาลต่อ statement ที่ฉันได้แสดงเอาไว้ในวันนั้นได้นำไปสู่สิ่งที่ฉันจะเรียกว่า "นิทรรศการแสดงปัญญา วิสัยทัศน์ และ อุดมการณ์" ของนักศึกษา คนหนุ่มสาว ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในรอบปี และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้ดาหน้าออกมาแสดงทัศนคติของคนเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นที่น่าชื่นชม
เพราะที่ผ่านมา สังคมบ่นว่า ทำไมนักศึกษาสมัยนี้ไม่ค่อยได้แสดงพลังทางความคิดออกมาให้สังคมเป็นที่ประจักษ์ ยกเว้นกิจกรรมของกลุ่ม สนนท. ที่มีนักศึกษาเข้าร่วมในจำนวนน้อยนิดในกิจกรรมทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย

ผู้สนใจอยากชมนิทรรศการแสดงปัญญา วิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ ของนักศึกษาและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์การรับน้องและการหมิ่นแคลนมหาวิทยาลัยศิลปากรของฉัน (ด้วยเหตผลตื้นๆ ว่า พูดที่ ม.ศิลปากร ก็เลยยกตัวอย่างศิลปากร ถ้าไปพูดที่ มช. ฉันก็คงบอกว่า ทำไม มช. ไม่มีนักวิชาการระดับโลกอยู่นั่นเอง) สามารถเข้าไปชมนิทรรศการได้ที่ เพจ คิด เล่น เห็น ต่าง, เพจ มั่นใจว่าชาวศิลปากรไม่พอใจคำพูดของ คำ ผกา, เพจ รวมพลคนเกลียด คำ ผกา - ไม่นับกระทู้ในพันทิป และ เว็บ drama addict 
ความคึกคักนี้ เห็นได้จากยอดผู้เข้าชมเพจ ทะลุสามพันคนในเวลาอันสั้น 
เพราะฉะนั้น ใครที่บอกว่า นักศึกษาไทยขี้เกียจหรือไม่กล้าแสดงทัศนคติ ความคิดเห็นในที่สาธารณะ คงจะต้องเปลี่ยนความคิด



ในข้อถกเถียง ส่วนหนึ่งที่ดูเหมือนจะไร้สาระ แต่สำหรับฉันทัศนคติเหล่านี้ไม่ไร้สาระ แต่มีคุณค่าสำหรับใช้ศึกษาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย
เช่น ส่วนหนึ่งที่พอใจจะใช้วิธีการดิสเครดิตด้วยประเด็นที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นสิ่ง "ต่ำ" สำหรับสังคมไทย 
เช่น บอกว่า "คำ ผกา ผู้หญิงที่หน้าเหมือนจิ๋มปลาดุกชนบ่อ", "เห็นฟันล่าง คำ ผกา แล้ว อยากพาไปหาหมอฟัน" และที่ได้รับความนิยมมากคือการใช้ความ "โสเภณี" มาเพื่อการประณาม เช่น "คำ ผกา คือใคร?" ตอบ "คือกะหรี่คนหนึ่ง" รวมไปถึงการอ้างถึงเรื่องชู้สาวคาวสวาท หรือในทางกลับกันก็บอกว่า "ไม่มีใครเอส", การถ่ายนู้ด (ซึ่งเป็นความภูมิใจของฉัน)
ทัศนคติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเหล่านี้มีทักษะอันแหลมคมในการใช้รหัสทางวัฒนธรรมในการโต้เถียงและลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม - ทักษะเช่นนี้หากฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ และใช้ให้ถูกวิธี ในอนาคตเราจะสร้างนักสัญศาสตร์ที่มีคุณภาพขึ้นมาในสังคมไทยได้อีกหลายคนทีเดียว

ข้อถกเถียงอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ "คนที่ไม่เคยผ่านการรับน้อง ไม่มีสิทธิ์วิจารณ์การรับน้อง" ซึ่งมีการตอบโต้จากเพื่อนนักศึกษาด้วยกันว่า "งั้นหมอรักษาคนบ้าต้องเป็นบ้าก่อนหรือเปล่า?" เรื่องนี้คงต้องกลับไปดูที่คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าได้สอนเรื่องทฤษฎีการวิจารณ์กันอย่างไร

ข้อถกเถียงต่อมา "จะวิจารณ์เรื่องการรับน้องอย่างไรก็ได้ แต่ขอร้อง อย่าพาดพิงถึงสถาบันการศึกษาของเรา มหาวิทยาลัยใครใครก็รัก คณะใคร ใครก็รัก รับน้องของเราไม่เหมือนที่ไหน คุณไม่รู้หรอกว่าเรารักกันอย่างไร ถ้าไม่มีการรับน้อง เราคงไม่รัก ไม่ช่วยเหลือกันอย่างนี้ ฯลฯ
อันนี้ ฉันอ่านแล้วเข้าใจทันที แบบว่า ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณจะสามารถเข้าใจตรรกะนี้อย่างรวดเร็ว ไร้ข้อถกเถียง - ความรักเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดแต่ทรงพลังที่สุดในบรรดาอารมณ์ทุกอารมณ์ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคนฆ่าตัวตายเพราะอกหัก หรือ ในเนื้อเพลงชาติไทยก็บอกอยู่แล้วว่า "สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี" 
โธ่ คำ ผกา เธอพลาดไปได้อย่างไร???

ว่าแล้วไปค้นหาความหมายของคำว่า Fundamentalism ที่ไม่มีใครให้ความหมายในภาษาไทยได้ดีไปกว่า มุกหอม วงษ์เทศ ว่า 
"Fundamentalism อ้างความเคร่งครัดสูงสุดต่อ "จารีตดั้งเดิม" ทว่าในความจริงแล้วอาจเป็น "ประเพณีประดิษฐ์" และในขณะเดียวกันก็สร้าง "จารีตใหม่" ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของขบวนการ หากจารีตดั้งเดิมในสมัยโบราณเป็นจารีตที่กดขี่ การกดขี่นั้นก็ต้องดำเนินต่อไปในยุคปัจจุบันโดยมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ท่าทีแบบ Fundamentalism มักไม่มีความอดทนอดกลั้นใดๆ ทั้งสิ้นให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม โต้แย้งด้วยเหตุผล เสียดสีหรือยั่วล้อ "บรมครู" ของพวกตน (มุกหอม วงษ์เทศ)"


ข้อถกเถียงที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ "ถ้าคุณเชื่อมั่นในเสรีภาพ ทำไมคุณไม่เคารพในเสรีภาพของคนที่สนับสนุนและอยากให้มีการสืบทอดประเพณีการรับน้อง อีกทั้งการเคารพความอาวุโสอันเป็นวัฒนธรรมไทยมันผิดตรงไหน?"
นับว่านักศึกษาและผู้ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาได้อยู่ในข้อถกเถียงร่วมสมัย ขอยืนยันว่าด้วยข้อถกเถียงนี้ คุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแน่นอน เพราะในขบวนการเรียกร้องให้ยกเลิกการคลุมหน้าของสตรีมุสลิม ฝ่ายที่ต่อต้านก็ออกมาปกป้องด้วยเหตุผลชุดเดียวกันนี้ว่า "วัฒนธรรมการคลุมหน้าเป็นสิทธิของมุสลิมที่พึงได้รับการเคารพโดยไม่เอามาตรฐานว่าด้วยสิทธิแบบตะวันตกมาตัดสิน"

หรือขบวนการต่อต้านการขริบอวัยะเพศสตรีในแอฟริกาก็โดนตอบโต้เช่นนี้ว่า "นี่เป็นความสมัครใจของผู้หญิงที่จะเข้ารับการขริบและเป็นความภาคภูมิของพวกเธอที่ผ่านพ้นความเจ็บปวดนั้นและผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสง่างาม และโปรดอย่าเอามาตรฐานของวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้กับเรา
ดังนั้น สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้อีกจากนิทรรศการทางปัญญาครั้งนี้คือได้เห็นการปะทะกันระหว่างคุณค่าของความเป็น "สากลนิยม" และ "ท้องถิ่นนิยม" (และเริ่มคล้อยตามว่า อือม...โอท็อปก็ไปตลาดโลกได้นี่นา)


ยังมีอีกหลายแง่มุมให้เข้าไปศึกษาจากนิทรรศการทางปัญญาครั้งนี้ บางอย่างก็ทำให้ถึงกับอมยิ้ม เช่น "จะรวมตัวกันเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกคืนปริญญาบัตรของ คำ ผกา"

จากนั้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ ก็ได้เข้ามาเฉลยปริศนาการรับน้องของมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างน่าฟังอย่างยิ่งใน facebook ว่า
"ดังที่เราทราบลักษณะการถ่ายทอดแบบช่างนั้นอิงอาศัยความสัมพันธ์เชิงศิษย์กับครูเป็นอันมาก โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ช่างทั้งหลายเป็นพระและถ่ายทอดกันในวัด ดังนั้น คณะทั้งหลายในมหาวิทยาลัยศิลปากรยุคแรกจึงมีลักษณะดังเป็นอาราม มากกว่าคณะการศึกษา เราไม่ได้มีเพียงพิธีการไหว้ครูแต่ยังมีพิธีการครอบครูที่ไม่ต่างจากพิธีกรรมการบวชย่อยๆ ที่ผู้มาใหม่จะต้องถูกเจิมดังการรับศีล ดังนั้น การเคารพอาวุโสในคณะจึงไม่ต่างจากการที่พระพรรษาอ่อนกว่า ไม่ว่าจะมีอายุมากเพียงใดก็ต้องทำความเคารพพระที่มีพรรษาแก่กว่าเพราะการครองตนที่สงบรำงับยิ่งๆ ไป การรับน้องในมหาวิทยาลัยศิลปากรยุคแรกๆ จึงไม่ใช่เพียงการประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือชนชั้น หากแต่หยิบยืมการเข้าสู่อารามใหม่ที่ผู้มาใหม่จะต้องถูกกดข่มสภาวะที่มีมานะหรือการถือตัวให้หมดสิ้นไป เพื่อเข้าสู่สภาวะผ้าขาวที่จะซึมซับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไม่ลังเล พัฒนาการจากอุดมทัศน์นี้อาจเปลี่ยนแปลงเฉไฉบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับถูกทำลายเสียเลย ดังการเคารพรุ่นพี่ยังอิงกับความสามารถในเชิงช่างที่สูงกว่า ไม่ใช่การแสดงอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจเรียกพิธีกรรมรับน้องในรูปแบบนี้ได้ว่าเป็นดังการปวารณาตนเข้าสู่โลกของช่างที่มีศีล และวินัยในแบบของมัน"

ในฐานะของนักเสรีนิยมในกะลาที่มีความรู้กระจิ๊ดเดียว ฉันได้ถาม อนุสรณ์ ไปว่า
"ขอความรู้เป็นวิทยาทานเถิดว่า ช่างกับศิลปินต่างกันอย่างไร?"



.