http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-31

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ของขวัญปีใหม่

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ :ของขวัญปีใหม่
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:10:10 น.
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 31 ธันวาคม 2555 )


ในท่ามกลางความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธต่อกันอย่างรุนแรงในภาคใต้ตอนล่าง และระหว่างสีในประเทศไทยโดยรวม ของขวัญปีใหม่ที่คนไทยอยากได้ที่สุดน่าจะเป็นความสงบสันติ แต่ดูจะเป็นของขวัญที่ไกลสุดเอื้อม ผมไม่มีสติปัญญาพอจะมอบของขวัญอันมีค่าขนาดนี้ได้ แต่อยากมอบของขวัญชิ้นเล็กๆ กว่านั้นแยะ แต่ผมคิดว่าสำคัญ 
นั่นคือการมองปัญหาความขัดแย้งให้ซับซ้อนกว่าที่เคยมองมา และด้วยเหตุดังนั้นจึงมองทางออกซับซ้อนกว่าที่เคยมองมาด้วย กล่าวคือไม่ใช่ความขัดแย้งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าจะที่ดูไบ หรือที่มาเลเซีย รวมทั้งอาจไม่ต้องเดินไปบนหนทาง "ความจริง-ความยุติธรรม-การให้อภัย-ความปรองดอง" ด้วย ไม่ใช่เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง แต่เพราะเป็นเส้นทางที่น้อยสังคมจะเลือกเดินได้ แม้แต่ในสังคมที่เลือกเดินไปแล้ว ก็ไม่ใช่เพราะ "เลือก" แท้ๆ แต่มีปัจจัยอื่นผลักดันอยู่ด้วย


มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มีโครงการวิจัยใหญ่อันหนึ่งชื่อ "เปรียบเทียบการสร้างสันติภาพ" ซึ่งเกิดขึ้นหลายแห่งในโลก งานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาชิ้นแรกคือกรณีศึกษาอินโดนีเซีย (John Braithwaite, et.al., Anomie and Violence, Non-Truth and Reconciliation in Indonesian Peacebuilding)

ทำไมถึงต้องเป็นอินโดนีเซีย คำตอบก็เพราะความขัดแย้งในอินโดนีเซียนั้นซับซ้อนหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์, หรือเกิดจาก "คำสาปของทรัพยากร" คือเพราะมีทรัพยากรมากจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง และสนับสนุนให้ความขัดแย้งสามารถดำรงอยู่หรือรุนแรงขึ้นได้ทุกฝ่าย, หรือความขัดแย้งระหว่างศาสนาและอัตลักษณ์, หรือการแยกดินแดน, หรือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น, หรือการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มการเมือง ฯลฯ และเอาเข้าจริง ในทุกๆ ความขัดแย้งก็มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งเสมอ จึงทำให้ซับซ้อนมาก
หลังการลาออกและการพังทลายของระบอบเผด็จการซูฮาร์โต อินโดนีเซียก็ย่างเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Anomie หมายถึงสภาวะที่ปราศจากความเชื่อฟังต่อ "ประชาวิถี" ซึ่งรวมถึงกฎหมาย, ประเพณี, และอาชญาสิทธิ์ทั้งปวง ความตายอันเนื่องมาจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 9 รายใน พ.ศ.2541 (เมื่อซูฮาร์โตประกาศลาออก) เป็น 233 รายใน พ.ศ.2545 แต่พอถึง พ.ศ.2551 การตายจากเหตุก่อการร้ายเหลือสูญราย ไม่เฉพาะแต่การก่อการร้าย แต่รวมถึงสถิติอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย ในปัจจุบันสถิติฆาตกรรมในอินโดนีเซียลดลงเหลือเพียง 1 ต่อ 100,000 ราย ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในยุโรป มีสถิติการติดคุกต่ำสุดในโลกคือ 28 ต่อ 100,000 ฯลฯ 
จากประเทศที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการก่อการร้าย กลายเป็นประเทศที่สงบเกือบที่สุดในโลกภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองอินโดนีเซียในทศวรรษนี้ คือการก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจากเบื้องล่างที่รวดเร็วมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถคุมกองทัพได้สมบูรณ์ แต่ก็คุมได้มากขึ้น เช่นถอนคนของกองทัพออกไปจากผู้ว่าฯ, นายอำเภอ, และกำนัน ได้หมด ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น และดังนั้นข้อสรุปอันแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ การล่มสลายของระบอบเผด็จการ และการเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ย่อมนำมาซึ่งสภาวะที่ปราศจาก "ประชาวิถี"

บทเรียนนี้มีความสำคัญแก่ไทยอย่างมาก เพราะชนชั้นนำไทยรู้ว่า เราไม่อาจหวนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสได้แล้ว แต่หากปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย (anomie) จึงควรเป็นประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ
บทเรียนจากอินโดนีเซียชี้ว่าเป็นความเข้าใจผิด ประชาธิปไตยครึ่งใบนั่นแหละที่เป็นตัวนำความปั่นป่วนวุ่นวายมาให้มากเท่ากับการพังทลายของระบอบเผด็จการ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบต่างหาก ที่อาจนำมาซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงจัดการกับความขัดแย้งได้


เมื่อความเชื่อฟังประชาวิถีพังทลายลง ย่อมเกิด "โอกาส" ใหม่ๆ ขึ้นแก่คนหลายกลุ่ม "โอกาส" เหล่านี้อาจได้มาจากระบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของประชาวิถีเก่า (ทำได้โดยถูกกฎหมาย) หรืออาจได้มาโดยการฉวยเอาด้วยการลงทุนน้อยที่สุด และส่วนใหญ่ของ "โอกาส" ที่เกิดใหม่เหล่านี้ย่อมฉวยได้โดยไม่ต้องเคารพประชาวิถีใดๆ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ (ทำได้โดยผิดกฎหมาย)

ฉะนั้น หากปล่อยให้สภาวะไร้ประชาวิถีเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ เช่นในภาคใต้ตอนล่าง "โอกาส" ย่อมเพิ่มทบทวีคูณ และการฉวยเอาโดยผิดกฎหมายย่อมเป็นไปได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการค้าน้ำมัน, ค้าของเถื่อน, ค้ามนุษย์, ค้ายาเสพติด, ฉ้อฉลงบประมาณ, ตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อขายการคุ้มครอง, ฯลฯ และอาจทำได้จากทุกฝ่าย ทหาร, เจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายพลเรือน, ผู้นำท้องถิ่น, ผู้ก่อการ, ครูทั้งอุสตาซในโรงเรียน และโต๊ะครูในปอเนาะ, คนธรรมดา ทั้งมุสลิมและพุทธ ฯลฯ  
ทั้งหมดเหล่านี้หล่อเลี้ยงความรุนแรงให้ดำรงอยู่ หรือเข้มข้นขึ้น บทเรียนจากความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในหลายทำเลของอินโดนีเซีย สอนให้รู้ว่าความซับซ้อนของความขัดแย้งนั้น มีปัจจัยท้องถิ่นช่วยผลักดันมากกว่าความขัดแย้งที่เป็นประเด็นกว้างๆ เช่นระหว่างคริสต์กับอิสลาม, ระหว่างผู้อพยพชาวมาดูรากับชาวพื้นเมืองมลายู, หรือระหว่างรัฐอินโดนีเซียกับชาวพื้นเมืองปาปัวต่างชาติพันธุ์ ฯลฯ

ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ตอนล่างหรืออีสาน-เหนือ-ใต้-กลาง ไม่เคยลงลึกไปถึงปัจจัยระดับท้องถิ่นสักกรณีเดียว จึงได้แต่แตะอยู่ระดับอุดมการณ์ ซึ่งทำให้มองไม่เห็นทางออกอื่นใดนอกจากดึงเอาอุดมการณ์อื่นที่คิดว่าอาจทำให้คนสามัคคีกันได้ (เช่นชาติ, ศาสน์, กษัตริย์) มาถ่วงดุล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอุดมการณ์ เช่น ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์นั้นเอง อาจมีความหมายในท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งเสียเองก็ได้



ผู้ศึกษากรณีความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในอินโดนีเซีย สรุปเงื่อนไขสำคัญๆ ของการสร้างสันติภาพในโครงสร้างระดับใหญ่เหนือท้องถิ่นว่ามีอยู่ 4 ประการดังนี้

1. บ้านเมืองต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยให้มาก ซึ่งบังเอิญอินโดนีเซียหลังซูฮาร์โตสามารถพัฒนาไปในแนวทางนี้ได้อย่างดี ในกรณีไทยอาจต้องรวมถึงการลดอำนาจและบทบาทของกองทัพลงด้วย (demilitarization) ในความขัดแย้งทางศาสนาของมณฑลมาลูกูของอินโดนีเซีย กองทัพเองนั่นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระพือความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แม้กระทั่งเข้าร่วมในการสังหารหมู่ชาวคริสต์ด้วย

ในประเทศไทย กองทัพถูกมองว่าเป็นคู่ความขัดแย้ง (ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร) ทั้งในภาคใต้ตอนล่าง และในความขัดแย้งระหว่างสี แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลกลับให้อำนาจและบทบาทของกองทัพในความขัดแย้งทั้งสองนี้สูง

2. ต้องมีสื่อที่เสรีและยุติธรรม โชคดีที่สื่ออินโดนีเซียตอบรับประชาธิปไตยซึ่งเบ่งบานขึ้นหลังซูฮาร์โตได้ดีกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้

ในขณะที่สื่อในประเทศไทยกลายเป็นตัวเร่งความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสงครามเสื้อสี อย่างอัปลักษณ์กว่าสมัยใดๆ ในประวัติศาสตร์สื่อไทย เราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร ผมก็คิดไม่ออกเพียงแต่อยากเตือนว่า เมื่อประชาวิถีของสื่อถูกล้มล้างไปตั้งแต่คำประกาศว่า สื่อจะเป็นกลางระหว่างฝ่าย "ผิดและถูก"ไม่ได้  "โอกาส" มีให้แก่นักทำสื่อฉวยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะถูกต้องทำนองคลองธรรมหรือไม่

แม้แต่องค์กรของสื่อเองก็ไม่สามารถฟื้นฟูประชาวิถีของสื่อกลับมาได้ใหม่ หรือร้ายกว่านั้นช่วยทำลายหลักเสรีและยุติธรรมของสื่อลงด้วยซ้ำ

3. ต้องมีผู้นำของการสร้างสันติภาพที่มีประสิทธิภาพจริง เขาอาจเป็นผู้บริหารระดับสูง (ซึ่งมักไม่ใช่) หรืออาจเป็นผู้นำท้องถิ่นซึ่งเคยทำให้เกิดความขัดแย้งเอง หรืออาจเป็นคนใหม่ที่แปรบทบาทเก่าของตนออกไปในทางสร้างสันติภาพอย่างได้ผล

ในกรณีไทย นอกจากเราไม่ได้ผู้นำฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ที่มีความสามารถพอจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไขของสันติภาพได้แล้ว เรายังพยายามเข้าไปควบคุมกระบวนการสร้างสันติภาพที่เกิดจากคนเล็กๆ ในท้องถิ่น ด้วยความระแวงสงสัยตลอดมา หน่ออ่อนๆ ของการสร้างสันติภาพจึงงอกไม่ค่อยได้

องค์กรในท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญมากในการสร้างสันติภาพ ผมขอยกตัวอย่างกรณีมาลูกูอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างสงครามศาสนาที่ทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันอย่างเมามันนั้น มีกลุ่มผู้หญิงคริสเตียนและกลุ่มผู้หญิงมุสลิม ซึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเป็นผลให้ผู้ว่าการรัฐต้องคล้อยตาม แม้ว่าในระยะแรกๆ กลุ่มผู้หญิงทั้งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ผู้นำของทั้งสองกลุ่มแอบติดต่อกันตลอดมา ความสงบสันติที่ได้มาหลังความบ้าเลือดของทั้งสองฝ่ายนั้น คงมาจากปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน แต่การดำเนินงานของกลุ่มผู้หญิงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

ในอีเรียน (ปาปัว) ประเพณีสงครามระหว่างเผ่าซึ่งทำกันมานมนานกาเลก็คือ ต้องฆ่ากันให้ได้จำนวนศพเท่ากันเสียก่อนจึงจะเจรจาปรองดองกันได้ (มีพิธีกรรมการปรองดองที่สลับซับซ้อนและใช้เวลาอาจถึง 2 ปี) แต่ในความเป็นจริงจะให้ศพมีจำนวนเท่ากันนั้นเกิดขึ้นได้ยาก จึงมีประเพณีการชดเชยแก่เผ่าที่เสียศพไปมากกว่า อาจชดเชยเป็นหมู หรือส่งคนจากเผ่าที่ฆ่าได้มากกว่าให้อีกเผ่าหนึ่งฆ่าเสีย (มักส่งคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชู้หรือคนที่เผ่ารังเกียจมาให้ฆ่า) มีประเพณีกินเลี้ยงร่วมกันและสาบานกันว่าจะเลิกแล้วต่อกัน หากใครก่อเรื่องขึ้น เผ่าของตัวเองนั้นแหละที่จะฆ่าคนนั้นทิ้งเสีย 
ประเพณีทำนองเดียวกันนี้ พบได้ในชาวแอฟริกาของแอฟริกาใต้เหมือนกัน การชดเชยทำให้ไม่ "ขาดทุน" ที่ต้องเสียสมาชิกของเผ่าไป และการชดเชยและสงบสันติเป็นประโยชน์แก่อนาคตของเผ่า ว่ากันว่าที่ชาวผิวดำในแอฟริกาใต้ให้อภัยแก่ชาวผิวขาว ก็เพราะได้เห็น(จากประเพณีเก่าของตน)แล้วว่า การสร้างคุกเพื่อขังคนขาวนั้นไม่ได้ประโยชน์เท่ากับเอาเงินนั้นมาสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กผิวดำ


ผมคิดว่ามีการศึกษากระบวนการปรองดองตามประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ ในเมืองไทยน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะเราไปเชื่อเสียแล้วว่าชุมชนไทยโบราณนั้นสมัครสมานปรองดองกันแนบแน่น ผลก็คือเราไม่มีความรู้กลไกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ รวมทั้งมองไม่เห็นบทบาทของคนเล็กคนน้อยอีกมาก ซึ่งอาจมีส่วนในการสร้างสันติภาพขึ้นได้

4. ผู้นำทางศาสนา อาจพบได้ว่าผู้นำทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพขึ้นในอินโดนีเซียหลายกรณี เพราะผู้นำทางศาสนาได้หูที่พร้อมจะฟังจากประชาชนอยู่แล้ว
แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทย ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นในช่วงที่อำนาจของผู้นำทางศาสนากำลังถูกท้าทาย เราไม่อาจนิยามได้ชัดเจนว่าใครกันแน่คือ "ผู้นำทางศาสนา" เหมือนเมื่อสัก 30 ปีที่แล้วมา (ทั้งอิสลามและพุทธ) ความพยายามที่น่ายกย่องของผู้นำศาสนาเพื่อสร้างสันติภาพจึงบังเกิดผลไม่สู้มากนัก
ส่วนในกรณีความขัดแย้งเรื่องสี แทบจะไม่เห็นบทบาทของผู้นำศาสนาเอาเลย เว้นแต่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงบทบาทของผู้นำทางวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน, ผู้ตรวจการรัฐสภา, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สกว., สสส. ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ช่วยเสริมให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ


นี่เป็นของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่ผมพอให้ได้ในเทศกาลปีใหม่ แต่ของขวัญนี้จะเป็นเพียงอากาศธาตุ หากไม่ช่วยทำให้การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่เวลานี้ ได้หันไปจากการนับศพและอุดมการณ์ สู่การศึกษารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อเข้าใจปัจจัยที่อำนวยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่หรือทวีความรุนแรงขึ้น

เพราะความรู้ที่ถูกทางเท่านั้น ที่จะทำให้เราไปพ้นจากสภาพไร้ประชาวิถีที่นำเราสู่ความขัดแย้งอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้



.

“ใบตองแห้ง” วิจารณ์“เพื่อไทย” ชม“ประชาธิปัตย์” ต้อนรับปีใหม่ 2556

.

“ใบตองแห้ง” วิจารณ์ “เพื่อไทย” ชม “ประชาธิปัตย์” ต้อนรับปีใหม่ 2556
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:49:00 น.
( ดูต้นฉบับและรับชมข่าว VDO-ส่วนหนึ่ง ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356784897 )


ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ รอยต่อแห่งปีที่การแบ่งสีเลือกข้างยังดำรงอยู่ทุกแห่งหน ไม่เว้นแม่แต่วงการสื่อมวลชน "มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ "อธึกกิต แสวงสุข" เจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ฝีปากกล้า ผู้มีจุดยืนในแนวทางเดียวกับ "คนเสื้อแดง" แม้ว่าเจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม บทสนทนาชิ้นนี้ จงใจให้ "ใบตองแห้ง" วิจารณ์ "พรรคเพื่อไทย" และขบวน "คนเสื้อแดง" ขณะเดียวกันให้มอง "พรรคประชาธิปัตย์" และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในแง่บวก อย่างไรก็ดี เขาแถมท้ายด้วยการวิจารณ์ "ตัวเอง" ในฐานะ "สื่อมวลชน"


@ ในฐานะ มีจุดยืนเป็นคนเสื้อแดง อยากให้ลองวิจารณ์คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

เวลาคนบอกว่าเป็นแดง เราก็ไม่ค่อยยอมรับหรอกนะ แต่เราถูกผลักให้มาเป็น (หัวเราะ) ถ้าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2555 อันนี้ โอเค เราเป็นเสื้อแดง แต่เราก็ยังมีความแตกต่าง ยังไงเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ นปช. หรือ พรรคเพื่อไทย ทั้งหมด

ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ก็คือนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ มีผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอง ในรอบปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็เป๋ไปเป๋มา ไม่ได้มีธาตุแท้ ที่จะสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก  โอเค มีนักต่อสู้ในพรรคจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางทีก็แพ้เสียงข้างมากที่เอาตัวรอด แม้บางครั้งฝ่ายประชาธิปไตยในพรรค เสนอเรื่องดีๆ ได้ แต่ฝ่ายที่ต้องการครองอำนาจ ก็กุมอำนาจเหนือกว่า

ตลอดปี 55  หรือตั้งแต่ ตั้งรัฐบาลมา ฝ่ายที่คิดเรื่องครองอำนาจและผลประโยชน์มากกว่าประชาธิปไตย ยังเป็นฝ่ายคุมอำนาจนำเหนือกว่า เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไขอันเดียว คือ คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี)  ติดชนัก ด้วยตัวรัฐธรรมนูญ ความไม่เป็นประชาธิปไตย ผลพวงของรัฐประหาร ก็เลยบีบให้คุณทักษิณกับพรรคเพื่อไทยต้องสู้ ในเงื่อนไขนี้ เขาต้องสู้ไปสู่ประชาธิปไตย จึงเป็นจุดที่เขาต้องสู้อยู่ตลอด แต่ถ้าพูดถึงว่า “เพื่อไทย” เป็นพรรคการเมือง  ที่มาจากการเลือกตั้งธรรมดา ไม่มีเงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐประหาร  ไม่มีเงื่อนไขตุลาการภิวัฒน์ ที่จ้องล้มรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสนับสนุนนัก 


@ มองว่า เพื่อไทย ไม่ต่างจากพรรคอื่น

ไม่ต่างจากพรรคอื่น มาตรฐานบางอย่างพรรคเพื่อไทย แย่กว่าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำไป  เช่น เรื่องตัวบุคคล คือเราจะเห็นว่า รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเอง จำนวนหนึ่งก็คือรัฐมนตรี ที่มาตามโควต้าของกลุ่มก๊วนการเมือง กลุ่มทุน กลุ่ม ส.ส. ซึ่งแทบไม่ได้เปลี่ยนเลย คนที่มีบทบาทก้าวหน้าในพรรคเองก็ถูกมองข้ามไปเยอะ  ทั้งที่ เราก็ท้วงตั้งแต่ตอนต้นรัฐบาลแล้วว่า ครั้งนี้ ไม่ได้ชนะเพราะเงิน หรือเพราะกลุ่ม ส.ส. นะ แต่เป็นการชนะ เพราะ มวลชน  ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสูงในชัยชนะปี 54 ฉะนั้น การตอบแทนตัวมวลชนยังไม่เพียงพอเท่าไหร่ การที่จะทำงานจริงจัง อุทิศตัวเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังไม่เพียงพอ

แต่แน่นอน มันเป็นสภาวะจำเป็นที่ว่า คนที่รักประชาธิปไตย ก็ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในระยะเฉพาะหน้านำไปสู่ประชาธิปไตย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่จำเป็นต้องสู้ และถูกบีบให้ต้องสู้ด้วย ตอนแรกคนก็กลัวกันว่า อาจจะมีการประนีประนอมฮั้วกัน แต่ถึงตอนนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า ยังต้องสู้กันอยู่ แล้วอีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีอำนาจนอกระบบก็พยายามจะล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ มันเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมา และยังไม่เปลี่ยน

ปัญหาคือ เราอยู่ในจุดที่ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เวลาเราพูดถึงพรรคเพื่อไทย ก็มีปัญหาว่า การแยกแยะระหว่างการปกป้องประชาธิปไตยกับการปกป้องรัฐบาล ความจริงเราควรจะแยกแยะระหว่างกันว่าการปกป้องประชาธิปไตย จริงๆ มันไม่ใช่การปกป้องรัฐบาลนะ แต่บางที เส้นแบ่งตรงนี้ มันก็...  เราเองก็ลำบากใจบางทีเราก็ตัดสินใจไม่ได้ บางทีมันคลุมเครือ บางทีมันขีดเส้นยาก เช่น ถามว่าเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีทุจริตไหม ผมคิดว่ามี  แต่เราก็ไม่เห็นด้วย หากเป็นเรื่องแล้วถึงขั้นถอดถอนยุบพรรค เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย  แต่ถ้าเป็นการลงโทษตัวบุคคล เราไม่ว่ากัน เหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค เพราะเป็นการทำลายเสียงประชาชน นี่เป็นสิ่งก้ำกึ่งกันอยู่ตลอด

แล้วเวลาถกเถียงเรื่องพวกนี้ ฝ่ายประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ  จะยกมาให้น้ำหนัก ไม่ใช่การตรวจสอบทุจริตธรรมดา แต่เป็นการมุ่งล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่ระบอบที่มีอำนาจแทรกแซง นำกลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ เต็มที่ หรือ กลับไปกึ่งรัฐประหาร พอมีความพยายามล้มรัฐบาลแบบนี้ เราก็จำเป็นต้องปกป้องรัฐบาล แล้วถามว่า เราจะเอาเรื่องที่ไม่ดีไม่งามของรัฐบาลไปไว้ตรงไหน นี่เป็นปัญหามาก


@ ในฐานะสื่อมวลชน จะเอาปัญหานี้ไว้ตรงไหน

ในฐานะสื่อ และในฐานะคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งถูกผนวกมาเป็นคนเสื้อแดง ก็มีปัญหาว่าเราจะทำอย่างไร แต่แน่นอนเรื่องบางเรื่อง เราก็ไม่ควรปกป้อง

ผมว่าปี 2556 เราควรต้องทำให้ชัด แยกว่าการปกป้องรัฐบาลกับการปกป้องประชาธิปไตย ต้องแยกกันอย่างไร แต่ว่าสถานการณ์มันทำให้ แยกกันไม่ค่อยออก เหมือนกับว่า ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องเอาเรื่องนี้ขึ้นมาล้มประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ล้มรัฐบาล

ผมไม่ได้เกี่ยงว่าการล้มรัฐบาล ล้มได้ แต่การล้มรัฐบาลของเขา มันคือความหมายของการล้มประชาธิปไตย ไปเกือบทั้งหมด มันจึงเป็นปัญหาว่าทำอย่างไรเราจะแยกแยะเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่แยกแยะเรื่องพวกนี้เหมือนกัน
มันเป็นปัญหากับสื่อเกือบทั้งหมดในฝ่ายที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย แล้วก็เป็นกับนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวต่างๆ โอเค นักวิชาการเขาก็จะพูดได้ในแต่ละเรื่อง สามารถฉีกตัวออกไป เช่น นิติราษฎร์ ก็พูดเรื่องกฎหมาย ซึ่งถ้ารัฐบาลออกกฎหมายที่ไม่ชอบ เขาก็ต้องพูดเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องๆ ไป


@ ถ้ามองพรรคประชาธิปัตยในแง่ดี ด้วยจุดยืนของ “ใบตองแห้ง”

ถ้าจะให้มองประชาธิปัตย์ในแง่ดี ผมว่าคงไม่ขึ้น (หัวเราะ) พรรคประชาธิปัตย์ มีตัวบุคคลดีๆ พอสมควร แม้แต่ คุณอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี)  ผมเสียดายคุณอภิสิทธิ์มาก ถ้าไม่เกิดวิกฤตทางการเมือง ถ้าคุณอภิสิทธิ์ ไม่ประกาศสนับสนุน ม.7 (นายกฯพระราชทาน) เมื่อปี 49 แล้วบอยคอตการเลือกตั้ง นำมาสู่การรัฐประหาร แล้วมารับเป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรค สมมุติไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา แล้วตอนนั้น คุณทักษิณ เป็นนายกฯ แล้วถูกกระแสสังคมบีบ เลือกตั้งแล้วอาจจะชนะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะถล่มทลายเหมือนในอดีต แล้วฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะพัฒนาตัวเองเป็นพรรคใหญ่ที่สู้กับพรรคไทยรักไทยได้ ถ้ามันเดินไปตามวิถีนั้นเนี่ย คุณอภิสิทธิ์ ก็จะเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งน่าเสียดายมาก เราไม่ได้เห็นภาพนั้น มันเกิดขึ้น

ผมมองประชาธิปัตย์ในแง่ดี ไม่ขึ้นเลย เพราะผมไม่ชอบวัฒนธรรมแบบประชาธิปัตย์ ซึ่งเล่นการเมืองแบบที่เห็นอยู่ เพื่อเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ซึ่งเป็นวลี ประนามประชาธิปัตย์ ติดตัวอยู่ตลอด

เวลาปิดเทปคุยกับคนประชาธิปัตย์ ก็คุยกันดี ตอนสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เขาก็บอกว่า รัฐบาลไทยรักไทยทำถูกต้องหลายอย่าง ประชาชนจึงนิยม เราก็มีข้อบกพร่อง แต่พอเปิดเทปสัมภาษณ์ เขากลับไปเป็น ประชาธิปัตย์ คือด่ารัฐบาลไทยรักไทยอย่างเดียว แล้วก็บอกว่า ตัวเองถูกทุกอย่าง ถามว่าทำไมเขาไม่ประสานให้ทั้ง 2 อย่างไปด้วยกันได้ ทำไมต้องเป็นสายล่อฟ้าอยู่ตลอด ความจริงเขามีคนที่ยอมรับความจริงอยู่เยอะเลย แต่วัฒนธรรมการเล่นการเมืองของเขา เป็นปัญหา และเขาจะเดินอย่างไรต่อไปในสถานการณ์นี้ จะมายืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดหรือ หรือจะรณรงค์ประชาชนภาคใต้ ไม่ให้ไปลงประชามติ เพื่อไม่ให้ประชามติผ่าน คุณเป็นพรรคการเมือง ทำอย่างนั้นได้หรือ ต้องมีความละอายอดสูไหม
ถ้าประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบแฟร์ๆ ยอมรับข้อบกพร่องตัวเอง ยอมรับข้อดีของคนอื่น แล้วก็สรุปแล้วจริงๆ เขามีข้อดีกว่าพรรคอื่นด้วยซ้ำไปในหลายๆ เรื่อง  เช่น เรื่องตัวบุคคล การคิดนโยบายเชิงสร้างสรรค์ การดำเนินนโยบายหลายๆ อย่างของประชาธิปัตย์  เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ปัญหาคือ ตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา  พอคิดว่าตัวเองไม่ชนะเลือกตั้ง  ไม่มีความอดทนพอ คุณไปผูกกับรัฐประหาร คุณไปผูกกับอำมาตย์ หวังพึ่ง อำนาจตุลาการ หวังพึ่งรัฐประหาร มันทำลายตัวเองหมด

ประชาธิปัตย์ มีตัวบุคคล มีคนสนันสนุน สามารถระดมความสามารถของตัวเองมาใช้ได้เยอะ แต่คิดว่าตัวเองแพ้เลือกตั้งตลอด คิดได้ยังไงว่าตัวเองจะแพ้เลือกตั้งตลอดไม่คิดที่จะเอาชนะใจคนเลย ใช่ไหมครับ

ประชาธิปัตย์ อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผมคิดว่า เขาควรจะต้องปรับ ถ้าเดินอยู่ในแนวทางนี้ต่อไป เขาก็มีอยู่แค่นี้ หมายความว่า ถ้าแนวทางนี้ต่อไป เขาไม่สามารถ ที่จะชนะใจคนภาคอีสานภาคเหนือ ไม่สามารถที่จะชนะใจ คนเสื้อแดง ที่ต่อให้คนเสื้อแดง ไม่เอาคุณทักษิณ ก็ไม่เอาประชาธิปัตย์ อยู่ดี ถ้าคุณยังเล่นการเมืองแบบนี้ ถามว่าทำไมไม่คิดเรื่องการเอาชนะใจคนบ้างละ แล้วก็หันมาเล่นการเมืองแบบแฟร์ๆ ยอมรับความผิดพลาด แต่ถึงขั้นนี้ มันอาจจะต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค และกรรมการส่วนหนึ่ง แล้วหาคนใหม่ที่เขาสามารถกลับมาพร้อมรับฟังประชาชน รับฟังคนที่เห็นต่าง พร้อมสามัคคีกับคนที่รักประชาธิปไตย เดินไปกับประชาธิปไตยจริงๆ เขามีโอกาสที่จะชนะในอนาคต แต่อดทนหน่อย อาจจะ 3 ปี 7 ปี ก็ยังพอมีโอกาส ไม่ใช่ไม่มี แต่อยู่อย่างนี้ ก็จะทำให้ประชาธิปัตย์ หดเล็กลงไปเรื่อยๆ หดเล็กลงไปเรื่อยๆ ยังมองไม่เห็นทางชนะ ตราบใดที่เขายังเล่นบทต่อต้านประชาธิปไตยแล้วก็ประนามมวลชนเสื้อแดง ซึ่งก็รวมถึงคนเหนือ คนอีสานทั้งหมด เล่นการเมืองแบบนี้ ตั้งป้อมเป็นศัตรูกันแบบนี้ เขาจะไปชนะใจคนเหนือ คนอีสานได้ยังไง ก็ไม่มีทางชนะ


@ จุดแข็งของ ประชาธิปัตย์  ที่ดีกว่าพรรคอื่น มีอะไรบ้าง

ระบบพรรคประชาธิปัตย์ เอื้อให้คนสามารถเข้าไปโดยไม่ต้องเป็นกลุ่มก๊วนมากนัก ไม่ต้องเป็นกลุ่มทุนแบบ มี ส.ส. ในมือ 10 คนจะได้เป็นรัฐมนตรี ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่มีระบบพรรค ที่สร้างรากฐานตัวเอง เช่น ในภาคใต้ มีระบบอาวุโส มีความสามารถ มีใครเป็นดาราก็จะมี

แต่ไม่ได้บอกว่า พรรคเพื่อไทย จะเป็นแบบที่เป็นอยู่ตลอดไป ขึ้นอยู่กับ พรรคเพื่อไทย ปรับตัวไหม ถ้าพรรคเพื่อไทยปรับตัว ก็ต้องรับระบบมวลชน เช่น ที่มวลชนเสื้อแดง เรียกร้องให้มี ไพรมารี่โหวต พรรคเพื่อไทย ต้องปรับตัว ให้มีพลัง มวลชนมาร่วมกับพรรค ถ้าไม่เอามวลชนมาเป็นฐานของพรรค มีส่วนคัดเลือกผู้สมัคร คัดเลือกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ รรคจะอยู่เป็นระยะเฉพาะหน้า เป็นเครื่องมือ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น


@ นอกจากมองพรรคการเมืองแล้ว มองขบวนการมวลชน ของ 2 ปีก เหลือง –แดง  อย่างไร

ส่วนตัว ผมกับแกนนำ นปช. แทบจะไม่มีความสัมพันส่วนตัวอะไรกันเลย อาจจะยกเว้น พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งแกก็ห่าง แต่ฝั่งพันธมิตร ที่จริง ผมมีความสัมพันธ์ ส่วนตัว ค่อนข้างดี แต่ความคิดต่างกันมาก

อย่าง พี่พิภพ ธงชัย สุริยะใส กตะศิลา มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกัน ที่จริงคิดคล้ายกันมากกว่า มีความคิดเชิงสังคม ต่อสู้เพื่อ ประชาชน ส่วนตัวผมมีด้านที่ร่วมกับพวกเขามากกว่า แกนนำ นปช. เพราะ ผมไม่ได้คบตู่ เต้น (จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) เพราะ ความคิดเชิงสังคมประชาธิปไตย ลึกๆ ยังน้อยกว่าแกนนำ พันธมิตรฯ  จากการนั่งคุยวิธีคิด

เพราะสายพันธมิตรฯ  มาจากภาคประชาสังคม ซึ่งคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ คิดเรื่องความเป็นธรรม คนยากจน ชีวิตประชาชน ถูกเอารัด เอาเปรียบ ความคิดด้านนี้มีมากกว่า แน่นอน พี่จรัล ซึ่งเป็นเสื้อแดงก็มี เหมือนกัน นี่ก็คือ ธาตุเดียวกัน(กับแกนนำพันธมิตรฯ) แต่เลือกวิธีการเดินทางการเมืองคนละด้าน

ปัญหาคือ พันธมิตรฯไปคิดเรื่องการเอาชนะ ไปคิดเรื่องล้มระบอบทักษิณอย่างเดียว กระทั่งยอมเสียจุดยืนประชาธิปไตยไป ก็เลยเตลิดเปิดเปิง ผมว่าเขากลับไม่ได้ ผมก็รับไม่ได้ที่เขาบอกว่าให้ประชาชน ปฏิวัติร่วมกับทหาร สนับสนุนม็อบแช่แข็ง คือมันยิ่งถลำ

ผมเจ็บปวด  หลายๆ คนที่ผมรัก อย่างผมเห็น อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ์  ขึ้นเวที เสธ.อ้าย (องค์การพิทักษ์สยาม) ผมรู้สึกเซ็ง ผมรักอาจารย์แก้วสรร พอสมควร เรื่องความคิด เรื่องอะไรต่างๆ   แกมีด้านที่ดีเยอะ หลายเรื่องแกมีความจริงใจ แต่ไม่รู้ทำไม ต้องเอาตัวไปทุ่มขนาดนั้น


@ เวที เสธ.อ้าย ผิดตรงไหน ทำไม อาจารย์แก้วสรร จึงไม่ควรขึ้นปราศรัย

เขาเรียกหาการรัฐประหารโดยตรง ถึงแม้จะอ้างว่า ใช้การปกครองโดยคณะบุคคลอะไรก็ตามแต่ ผมว่าถลำไปอย่างนั้นมันมากไป ทั้งที่ความจริง แกมีด้านที่ดีเยอะ แต่ว่าพวกนี้ ถือเอาการต่อสู้ กำจัดคุณทักษิณ เป็นเรื่องหลักไปแล้ว จนกระทั่งมองข้าม ทำไมไม่กลับมาสู่หลักเกณฑ์ประชาธิปไตย เหมือนเราถกเรื่อง รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างมาเพื่อทักษิณ กำจัดทักษิณ จำเป็นต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ กฎหมายสูงสุด ของคนทั้งประเทศ ของคน 70 ล้านคน จะมาทำเพื่อคนคนเดียวทำไม แล้วตอนนี้ ที่บอกว่า แก้เพื่อคนคนเดียว ก็ถูกนะ เพราะรัฐธรรมนูญ ร่างเพื่อคนคนเดียว ก็ต้องแก้เพื่อคนคนเดียว ให้มันพ้น จากรัฐธรรมนูญที่เล่นงานคนคนเดียว แต่ กลับไปสู่หลักการ แล้วสู้เพื่อหลักการ

ผมเข้าใจว่า พันธมิตรฯกลัว ถ้าไม่มีกลไก ตุลาการภิวัฒน์ การรัฐประหาร  ที่ติดชนักคุณทักษิณ ไว้แล้ว พรรคเพื่อไทยจะครองอำนาจเต็มตัว แล้วไม่มีใครเบรคได้อีก ซึ่งผมไม่เชื่อเรื่องพวกนี้   ผมคิดว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น ยังไง ก็ต้องมีพลังที่ขึ้นมาทวง มาตรวจสอบ ถ้าคิดงั้น ก็ต้องแก้กลไกรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่ารัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรอก เพราะเขาจะไม่คิดเรื่องการตรวจสอบมากนัก  แต่ถ้าเราคิดเชิงประชาธิปไตย ก็ต้องคิดเรื่องการตรวจสอบ แต่ทำอย่างไร ไม่ให้การตรวจสอบ ไปผูกกับตุลาการ อำมาตย์ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การตรวจสอบ ควรไปผูกประชาชนมากขึ้น การกระจายอำนาจเพิ่งเริ่มเมื่อปี 40  ต้องเอาหลักการมาถ่วงไม่ใช่คิดง่ายๆ เอาศาล เอาตุลาการเข้ามา คอยยุบพรรค จะเป็นสงครามไม่สิ้นสุด

การไล่ทักษิณ ในปี 49 ถูกต้อง แต่เลยเถิดไปถึงการรัฐประหาร เกิดสงครามสี ถ้าพันธมิตรฯ  คิดว่าจะเดินทางนี้ต่อไป ซึ่งก็คงเดินต่อไป  จะหมดความหมายลงไปทุกวัน กลายเป็นสุดขั้วสุดโต่ง อาจจะเหลือกอดกันอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน หรือหากนับทั่วประเทศ อาจหลายแสน แต่ไม่ชนะใจคนส่วนใหญ่ จะฆ่าตัวตายทางการเมืองไปเรื่อยๆ และพรรคเพื่อไทย จะตีตะล่อมชนะใจคนส่วนใหญ่


@ มองขบวนการเสื้อแดง อย่างไร

ขบวนการเสื้อแดงยังไม่เป็นขบวนการ มีทั้ง  นปช. ลักษณะขึ้นกับพรรคเพื่อไทย และ เสื้อแดงลักษณะที่เป็นอิสระมากมาย ผมคิดว่า เขาทำเป็นองค์กรไม่ได้ นี่เป็นความหลากหลายกระบวนการประชาธิปไตย เสื้อแดงเกิดขึ้นมาเอง จากวิทยุชุมชน จากสื่อและความไม่พอใจฝ่ายตรงข้าม และบอกไม่ได้ว่าเสื้อแดงเหมือนกันหมด หรือดีทั้งหมด เพราะก็มีการโกงกัน ต้มกันพากันไปกัมพูชา ไปลอยแพ อมเงิน ก็มี มีความหลากหลายมาก คนที่ต่อสู้ก็มี

ตัวแกนนำก็ผูกติดกับพรรคจนไม่มีความเป็น ตัวของตัวเอง ทีนี้ มีปัญหาว่า ความกระจัดกระจาย จะไปกันยังไง ต่อ ผมยังมองว่า ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อะไร ก็ให้กระจัดกระจายแบบนี้ การจะให้มวลชน ไปไพรมารีโหวตยังไกลไป แต่ถ้าวิจารณ์ เฉพาะ แกนนำ นปช. หลายเรื่องเขาควรจะเป็นตัวของตัวเอง มีทิศทางตัวเอง

ส่วนที่ผูกติดกับพรรค ก็เพราะ มีทรัพยากร จัดตั้งองค์กรง่าย แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้อง นึกถึงการให้มวลชน มีอำนาจต่อรองกับพรรคมากขึ้น ซึ่งยังเป็นไปได้ยาก แต่ผมคิดว่า มันก็จะพัฒนาไป เช่น ถ้าพรรคจัดเวที มีเครื่องเสียงพร้อม มวลชนก็ไปฟัง แต่ขณะเดียวกัน มวลชนก็ฟังคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ พูด ฟังนิติราษฎร์พูด คือเขาไม่ได้ผูกติดกับใคร เขาจะฟังหมด ซึ่งเป็นอย่างนี้ดีสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นขบวนการต้องบลอคกันแบบ เป่านกหวีด(หัวเราะ) ประชาธิปไตย คือการสร้างคนที่มีความเห็นหลากหลาย ไม่ใช่สร้างประชาชนที่เดินตามท่านผู้นำ


@มองว่า สื่อมวลชน มีอะไรยังขาด อะไรยังเกิน

สื่อตอนนี้ ต้องแบ่ง 2 ค่าย คือค่ายที่ออกแนวโน้มไปทางสนับสนุน พันธมิตรฯ  ยัง ผูกติดรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์อยู่ กับค่ายที่หันมาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุน พรรคเพื่อไทย ซึ่งฝ่ายหลังนี่ก็ถูกวิจารณ์เยอะ เช่น ทัวร์แดงเดือดซึ่งก็ไม่เหมาะสม เป็นการคิดไม่ถี่ถ้วนไม่ระมัดระวังตัว สะท้อนว่าสื่อฝ่ายแดงต้องแยกการปกป้องรัฐบาล กับการปกป้องประชาธิปไตย อะไรที่รัฐบาลทำผิดเราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่แน่นอน มีความลำบากใจ ตรงที่ ถ้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก ก็กลัวจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม แล้วเขาฉวยไปเป็นช่องล้มประชาธิปไตย นี่คือความลำบากใจ ที่เวลาทำหน้าที่ต้องพยายามแยกแยะตรงนี้ให้ได้ ปีหน้าต้องแยกแยะมากขึ้น อย่างผมอยู่วอยซ์ ก็มีความลำบากใจ แต่เวลาเขียนอะไรเฉพาะตัวก็แยกแยะให้ชัด ส่วนการทำงานวอยซ์ ก็เปิดกว้าง ไม่ต้องสนับสนุนรัฐบาล แต่บางทีลำบากใจ ตรงที่เราอิน บางทีผูกพัน ถ้าปกป้องประชาธิปไตย ต้องปกป้องรัฐบาล กับเรื่องที่ไม่ใหญ่กลับถูกโจมตี แต่บางทีเรื่องใหญ่จริงๆ เราก็สะอึก เช่น งบน้ำท่วม จำนำข้าว ซึ่งเราเชื่อว่า มีการทุจริต ก็ต้องพูดบ้างเหมือนกัน เพียงแต่วิธีพูด จะพูดยังไงให้มวลชนซึ่งส่วนใหญ่เสื้อแดง เข้าใจว่า ต้องมองด้านนี้ของรัฐบาลบ้าง อย่าไปเชียร์รัฐบาลไม่ลืมหูลืมตา ต้องพยายามพูดเรื่องนี้ ให้มวลชนที่อ่านสิ่งที่เราเขียน ต้องมอง 2 ด้าน  มีด้านที่นักการเมืองไม่สนใจเสียงมวลชน เป็นกลุ่มก๊วนเกาะเก้าอี้ ไม่เห็นทำงานประชาธิปไตย บางทีกลายเป็นพวกขี้กลัว ไม่กล้าตัดสินใจ เช่น ตอนรับร่างวาระ 3 พรรคเพื่อไทยถอยกรูดทั้งที่ มวลชนดันหลังให้สู้ นักวิชาการดันหลังให้สู้ แถมอยู่ดีไม่ว่าดี ไปเอา พ.ร.บ.ปรองดอง มาจากไหน ยัดเข้าไป ทำให้เสียกระบวนกันหมดนี่พรรคเพื่อไทยทำเป๋เอง ทำเสียเอง

พรรคเพื่อไทย พอถึงจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตย จะเป๋อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยด้วยว่า บางสิ่งบางอย่าง มันไม่ถูกต้อง เช่นจำนำข้าว เป็นเรื่องสู้เชิงนโยบาย แต่สิ่งที่เป๋ คือ แม่งมีบริษัทผีอะไรไม่รู้ โผล่มารับซื้อข้าว สาวไปสาวมาพัวพันคนนั้นคนนี้ นี่เป็นเรื่องทำลายนโยบายและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย ทีนี้ปัญหาของสื่อเราต้องพูดเรื่องพวกนี้พอสมควร ซึ่งเป็นประเด็นต้องตีให้แตก

ผมจะไม่พูดสื่อเหลืองที่สุดๆ เพราะเขาคงไม่กลับแล้ว ปลุกความรุนแรง น่าเกลียดน่าชัง เช่นเขียนการ์ตูนว่า มวลชนเสื้อแดงเป็นควาย เขาควรตรวจสอบจรรยาบรรณกันเอง ว่าอะไร คือสิ่งต่อสู้เรื่องหลักการ แล้วมาพูดว่า หลักการคืออะไร ไม่ใช่ปลุกการเกลียดชังอย่างเดียว สื่อแดง ก็มีการปลุกความเกลียดชัง เช่น วิทยุชุมชน แต่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ส่วนสื่อกระแสหลัก ทางฝ่ายเสื้อเหลือง  ซึ่งอยู่ในสังกัดองค์กร สมาคม ทำไมไม่ตรวจสอบ วิจารณ์เรื่องพวกนี้บ้าง แต่ผมเข้าใจว่า สื่อเหลืองสุดโต่งจริงๆ มันเหลือน้อย  แต่พวกที่มีมากกว่าคือ สื่อทัศนะที่ตั้งตัวเองเป็นตะเกียงชี้นำประชาชน คิดว่าจะต้องนำไปสู่ทิศทางที่ตัวเองเชื่อถือ เท่าที่คุยกับหลายราย ยังคิดเรื่องเกมอำนาจ คือสื่อเอาตัวเอง ไปเล่นเกม มองเรื่องเกมมากกว่าเรื่องหลักการ คุยกับน้องบางคน เขาบอกว่า ที่พี่พูดหลักการมันถูกหมดแหละ แต่เราต้องคิดเรื่องเกมด้วยว่า ในการเอาชนะการต่อสู้กัน จะเป็นอย่างไรต่อไป อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป พูดง่ายๆ ถ้าเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ พรรคเพื่อไทย จะมีอำนาจแบบล้นเหลือ คิดแบบพันธมิตรฯ พอคิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยต้องเบรคแล้ว ให้กลไกตุลาการภิวัฒน์ คานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย  คือเขาไม่เชื่อเรื่องหลักการ ถ้ากระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนตื่นตัวจะตรวจสอบรัฐบาลเอง เขาไม่เชื่อ แต่เขาคิดว่า ต้องพึ่งอำนาจอีกฝ่ายจึงจะถ่วงดุลพรรคเพื่อไทยได้ คือความคิดแบบนี้ ทำให้สื่อ มองการทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของเกมอำนาจ และพยายามผลักดันให้เป็นไปตามตัวเองต้องการ คือ ยอมให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ไม่ได้ ทัศนะแบบนี้ มันสะท้อนออกค่อนข้างเยอะ

เวลาที่เราดูนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้บอกว่าเหลืองจัด  แต่ที่เหลือ ก็ยังมีทัศนะอย่างนี้อยู่เยอะ คือ คิดว่าต้องมีบทบาทชี้นำประชาชน ให้ขวางการเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ เพื่อไม่ให้เพื่อไทยครองอำนาจเต็มที่ ทัศนะแบบนี้แฝงในสื่อเยอะ โดยเฉพาะผู้มีบทบาทนำๆ ในวงการ บางครั้งยอมรับหลักการแต่เขามองเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องสถานการณ์เรื่องเกม


@ที่ควรจะเป็น ต้องเป็นอย่างไร

บางครั้งการมองเป็นเกม การเล่นเกมทำได้บางระดับที่ไม่ลบหลักการ แต่ไม่ใช่ ตะแบงจนทำลายหลักการ เช่น เวลาเราพูด รัฐธรรมนูญ  ยกตัวอย่าง ม. 237 เรื่องการยุบพรรค หลัก ผิดคนเดียวประหาร 7 ชั่วโคตร มันไม่ใช่หลักนิติรัฐ แต่สื่อในช่วงก่อน แถว่าเหมาะที่สุดกับสังคมและการเมืองไทย ซึ่งเป็นการทำตัวเองให้เสีย ทั้งที่สื่อต้องตระหนักเรื่องหลักการประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพเป็นสำคัญ

กติกาประชาธิปไตย ยังมีอะไรอีกตั้งเยอะที่จะมาตรวจสอบนักการเมือง  ไม่ใช่มาพึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรค หรือ พึ่งป.ป.ช. ถอดถอน ทั้งที่ ป.ป.ช. 9 คน ตั้งมาจากการรัฐประหาร ทำไมเราไม่นำเสนออะไรที่เก้าหน้าศึกษา วิธีการตรวจสอบ ให้นำไปสู่ ประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น การปฏิรูปตำรวจ ผมไม่ค้าน ตำรวจไม่ต้องขึ้นตรงรัฐบาล แต่กระจายไปท้องถิ่นจังหวัด ให้คานอำนาจเพื่อเราจะก้าวไปข้างหน้า

ถ้าเราจะเป็นสื่อ ที่เป็นตะเกียงจริง ไม่ต้องไปผูกกับอำนาจเก่า ที่มันล้าหลัง แล้วคิดว่าอันนั้น จะเป็นตัวถ่วงพรรคเพื่อไทย เพราะมันถ่วงประชาธิปไตยไปด้วย



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ใบตองแห้งวิจารณ์พท.-ชม ปชป.ปีใหม่56 
www.youtube.com/watch?v=8bSaueZ5N-4





.

2555-12-30

750 ปีเชียงราย ส่งท้ายมะโรงฯ “ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
บทความเกี่ยวข้องก่อนหน้า - 750 ปี“พระญามังราย”หรือ“พ่อขุนเม็งราย”? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/08/p-750pymr.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

750 ปีเชียงราย ส่งท้ายมะโรง-ต้อนรับมะเส็ง “ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 76


ปีพ.ศ.1805 พระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้น จากนั้นขยายอาณาเขตไปยึดแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) สร้างเวียงกุมกาม และเชียงใหม่ ตามลำดับ
นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงนับว่าปี 2555 นี้ เป็นปีที่สำคัญยิ่ง เพราะครบรอบ 750 ปี แห่งการสถาปนาเมืองเชียงราย จึงได้จัดกิจกรรมทั้งด้านวิชาการ สลับกับศิลปะการแสดง กันมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ก่อนที่วาระ 750 ปี เชียงรายกำลังจะผ่านเลย ขอส่งท้ายปีมะโรง ต้อนรับปีมะเส็งด้วยประเด็นเดือด แบบยิงหมัดตรงไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ว่า
"ไม่มีพ่อขุนเม็งราย-มีแต่พระญามังราย"!


"มังราย" มิใช่ "เม็งราย"

ตกผลึกนานแล้ว แต่เก็บพับอยู่บนหิ้ง 
อันที่จริงดิฉันเคยเปิดประเด็นเรื่องพระนามและความหมายของ "มังราย-เม็งราย" มาแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้เมื่อปี 2554 ตามหาอ่านได้ในบทความ "การเมืองเรื่องชื่อ พระญามังราย หรือพ่อขุนเม็งราย" 
กล่าวโดยย่นย่อที่สุด (เพื่อมิให้ท่านที่เคยอ่านบทความดังกล่าวมาแล้วรู้สึกรำคาญใจ) ให้แก่บางท่านที่ยังไม่เคยผ่านสายตาก็คือ

คำว่า "มังราย" เป็นคำเรียกที่ถูกต้อง เพราะเป็นคำโบราณที่ปรากฏในจารึกและตำนานทุกฉบับ แต่มาถูกเบี่ยงเบนไปเป็น "เม็งราย" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลทางการเมืองด้วยเกรงว่าชื่อนี้จะไปพ้องกับภาษาพม่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชื่อ "เม็งราย" จึงปรากฏอยู่ใน "พงศาวดารโยนก" เอกสารที่เรียบเรียงขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ฝ่ายสยามเพียงฉบับเดียว
ส่วนคำนำหน้าพระนามของกษัตริย์เมืองเหนือก็ใช้คำว่า "พระญา/พระญา/พญา" ไม่มี "พ่อขุน"

ทว่า "พ่อขุนเม็งราย" กลับเป็นคำที่ถูกย้อมเสียจนเป็นไทย บังคับให้กลายเป็น "แบบเรียน" ในวิชาประวัติศาสตร์ จนคนไทยทั้งประเทศคิดว่านั่นคือคำที่ถูกต้องแล้ว 
กระทั่งปราชญ์ผู้รู้ด้านจารึกวิทยาและเอกสารโบราณกลุ่มหนึ่ง อาทิ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ศ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ศ.ดร.มณี พยอมยงค์ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อ.ทิว วิชัยขัตคะ เป็นต้น ได้ฉุกใจคิดว่าเหตุไฉนหลักฐานในจารึกทุกหลักต่างเขียนว่า "พ(ระ)ญามังราย" ยกเว้นแต่พงศาวดารโยนกเพียงฉบับเดียวที่ใช้ "เม็งราย" แต่ก็หาได้ใช้คำว่า "พ่อขุน" นำหน้าไม่

ระหว่างปี 2523-2525 จึงได้มีการชำระตรวจสอบหลักฐานด้านล้านนาคดีครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับประเด็นชื่อของ "ลานนา-ล้านนา" และ "พ่อขุนเม็งราย-พ(ระ)ญามังราย" เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการเรียบเรียงเอกสาร เสร็จทันงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เนื่องจากวาระนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำริจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ กลางเวียงเชียงใหม่ ฉะนั้น ควรมีการทำแผ่นป้ายพระนามให้ถูกต้อง 
นักวิชาการทั้งจากสยามและฝ่ายเมืองเหนือ ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องต้องตรงกันด้วยหลักฐานฟ้องมัดชนิดดิ้นไม่หลุดและไร้ข้อโต้แย้ง (ยิ่งกว่ากรณี "ลานนา-ล้านนา") ว่า คำว่า "พระญามังราย" เห็นสมควรได้รับการนำมาใช้ให้ถูกต้องแทนที่คำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ซึ่งใช้กันอย่างผิดๆ มานานนับแต่เริ่มมีการก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

แต่ด้วยเหตุที่ว่า ยุคกระโน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงแคบ เฉพาะรายรอบรั้วมหาวิทยาลัย หรือบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อาทิ กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสถาน ทำให้ไม่มีการแก้ไขป้ายชื่อวัดวาอาราม ถนนหนทาง รวมไปถึงไม่มีการสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนในล้านนา เห็นได้จากชื่อเฉพาะของห้างร้านเอกชน ยังคงยืนกรานใช้คำว่า "เม็งราย" อย่างกล่นเกลื่อน
พูดง่ายๆ ก็คือ ยุคนั้นไม่มี "สื่อกลาง" ที่จะช่วยทำหน้าที่ หยิกยกเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ หรือนักประวัติศาสตร์ไปสานต่อ จึงไม่เกิดการขยายผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใหม่ในวงกว้าง 

สุดท้ายความนิยมใช้คำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ก็ยังคงยืดเยื้อมาจวบยุคสมัยนี้ คิดดูเถิดว่าต่อสู้กันมาตั้งแต่ฉลอง 200 ปีรัตนโกสินทร์แล้ว จนล่วงเข้า 750 ปี เชียงราย กระบวนการสร้างองค์ความรู้เรื่องชื่อ "พระญามังราย" ยังเหมือนถูกแช่แข็ง



หยุดปลูกฝังลูกหลานให้ชิงชังพม่ากันเสียที

หลายคนตั้งคำถามว่าเดือดร้อนอะไรกันนักหนาหรือ กับชื่อ "มัง" หรือ "เม็ง" ของปฐมกษัตริย์ล้านนาเพียงพระองค์เดียว ใครอยากจะเรียกด้วยนามใดก็ปล่อยเขาไปสิ ในเมื่อคนส่วนใหญ่คุ้นชินติดปากว่า "พ่อขุนเม็งราย" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พวกนักวิชาการมีหน้าที่อะไรที่จะต้องเข้ามายุ่มย่าม
จริงอยู่ ที่ใครจะยังคงเรียกปฐมกษัตริย์พระองค์นี้ว่า พ่อขุนเม็งรายดุจเดิม แบบตกยุคก็ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หาใช่ความผิดร้ายแรง อีกทั้งไม่มีกฎหมายฉบับใดกล่าวโทษกันอยู่แล้ว

เสียงทักท้วงจากนักวิชาการที่ดังขึ้นครั้งนี้ ก็ด้วยตระหนักถึงข้อเท็จจริง และเห็นปรากฏการณ์อันบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ได้เวลาแล้วหรือยังที่เราควรก้าวออกมาให้พ้นจากลัทธิราชาชาตินิยมอันคร่ำครึ ณ ยุคที่จอมพลสฤษดิ์ได้สถาปนาแบบเรียนไว้ โดยประเมินศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ชายขอบปริมณฑลสยามนั้นแสนต่ำ

ทุกครั้งที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้ใช้คำที่ถูกต้อง ไม่ว่ากรณีของ "สาทร" แทนที่ "สาธร"/ฟ้าแดดสงยาง" แทนที่ "ฟ้าแดดสูงยาง"/หรือ "ภูเก็จ" แทนที่ "ภูเก็ต" สังเกตว่ามักจะมีคนกลุ่มหนึ่งดาหน้ากันออกมาปัดแข้งปัดขายืนกรานที่จะขออนุรักษ์คำผิดๆ นั้นไว้เสมอ เหตุก็เพียงเพื่อปกป้อง "หน้าตา" ของคนเขียนตำราดั้งเดิมไว้ไม่ให้ถูกมองว่าเคยทำงานพลาด 
เช่นเดียวกันกับกรณีนี้ ปรากฏว่ามีครูตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศหลายแห่ง ไม่เพียงแต่จักปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้ใช้คำว่า พ่อขุนเม็งราย เท่านั้น แต่กลับสร้างคำอธิบายชุดใหม่ที่ดูน่ากลัวเหมือนนาซีหลงยุคว่า ปฐมกษัตริย์ของล้านนาจะมีชื่อว่า "มังราย" ได้อย่างไรกัน ในเมื่อ "มัง" นั้นเป็นคำของพม่า และพม่าเป็นชาติที่รังแกไทย
ที่แท้ครูก็เอาปัญหา ความเกลียดชังพม่าส่วนตัว มายัดเยียดครอบใส่สมองเด็กนักเรียนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

จึงต้องขอนุญาตนำคำอธิบายเรื่อง "มัง" มาฉายซ้ำ โดยยกมาจากบทความชิ้นเดิม เพื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว "มัง" ของพระญามังราย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพม่าแต่อย่างใดเลย หากเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ 
"...เหตุที่มีนามนำหน้าว่า "มัง" นั้น ก็เพราะการตั้งชื่อของพระองค์ ได้มีการนำตัวอักษรและสระย่อจาก นามของพระราชบิดาชื่อ "ลาวเมง" ผสมกับพระฤๅษี "ปัทมังกร" (ได้คำว่า "มัง") บวกกับนามพระราชอัยกา (ตา) กษัตริย์แห่งเชียงรุ่งนามว่า "ท้าวรุ่งแก่นชาย" (ได้ตัว "ร") ในขณะที่พระราชมารดามีนามว่า "นางเทพคำขร่าย" (คำขยาย) (ได้สระอา + ย) โดยตัดเอาพยัญชนะ+สระย่อของแต่ละคนมารวมกันใหม่ ได้ "ม/ัง/ร/าย" หรือมีพระนามแบบเต็มยศว่า "มังคลนารายณ์" แปลว่า พระนารายณ์ผู้เป็นมงคล"


ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นก็คือ หากการเรียก เม็งราย เกิดจากความเคยชิน หรือความสับสน ก็ยังพอให้อภัยได้ คือเข้าใจว่าคนยุคก่อนต่างก็ถูกปลูกฝังด้วยชุดความรู้ "พ่อขุนเม็งราย" แบบผิดๆ มาตลอด 
แต่ทว่า พ.ศ. นี้ อายุของเมืองเชียงรายครบ 750 ปีแล้ว ข้อมูลวิชาการด้านล้านนาคดีได้ถูกบันทึกไว้ในโลกออนไลน์มากเกินคณานับ หากครูเหล่านั้นสงสัยว่าคำไหนถูก แค่กดเพียงคลิกเดียว ขี้คร้านไฟล์คำอธิบายก็จะโผล่ขึ้นมาพึ่บพั่บ 
แต่นี่กลับสร้างชุดความรู้เชิงเผด็จการ "ล้าหลังคลั่งชาติ" ไว้ในหัวสมองเด็ก ไม่ว่า "มังราย" จะถูกหรือผิด ก็ห้ามเรียกเด็ดขาด เพราะมันเป็นคำภาษา "พม่า" หากการกล่าวผิด "โดยสุจริตใจ" ยังพออภัยได้ แต่นี่เป็นความอคติโดย "สติวิปลาส" ไปเสียแล้ว 
สะท้อนถึงจิตใจคับแคบ มุ่งรังเกียจเดียดฉันท์เพื่อนบ้าน ชาติพันธุ์พม่า ยังคงมองเห็นว่าพวกเขาเป็นผีสาง เป็นศัตรู จนขึ้นสมองอยู่อีกหรือนี่ อนาถแท้ๆ จะเปิดพรมแดนเป็นประชาคมเดียวกันวันนี้วันพรุ่งอยู่รอมร่อ

พึงสังวรไว้เถิดว่า ทัศนคติด้านลบต่อชาวอุษาคเนย์ด้วยกันทุกวันนี้ แท้จริงคือบาดแผลที่ได้มาจากบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยลัทธิชาตินิยมที่ถูกบิดเบือน 
โดยลืมคิดไปว่า ไม่มีใครเลยที่จักมีเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ ยิ่งประชากรในล้านนาปัจจุบัน กว่า 70-80 % นั้น ในอดีตบรรพบุรุษของแต่ละชนเผ่าล้วนอพยพถ่ายเทไปมาจากแผ่นดินพม่าทั้งสิ้น ไม่ว่าไทลื้อ ไทยอง ไทขึน ไทใหญ่ กะเหรี่ยง มูเซอร์ ฯลฯ


เห็นใจอยู่ก็แต่นักขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมในเชียงรายบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มสถาบันยวนศึกษา (คำว่า "ยวน" มาจาก "โยนก" ก็ไม่เห็นจะต้องกลัวว่าไปพ้องกับคำว่า "ญวน" อันหมายถึงเวียดนามแต่อย่างใดเลย) ที่ต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว ผ่านไป 5-6 ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ยังไม่เป็นมรรคเป็นผล
สะพาน ถนน หอนาฬิกา โรงเรียน โรงพยาบาล อนุสาวรีย์ ร้านค้า เอกสาร ตำราเรียน ยังคงปักป้าย "พ่อขุนเม็งราย" ไว้เด่นหราไม่มีวี่แววว่าจะปรับเปลี่ยน

นอกจากจะไม่แก้ไข "พ่อขุนเม็งราย" ให้เป็น "พ(ระ)ญามังราย" แล้ว แถมยังเกิดขบวนการเบี่ยงเบนปลุกระดมให้รังเกียจคำว่า "มัง" เพราะเป็นภาษาพม่าเข้าไปอีก

สงครามคือขัตติยะมานะของกษัตริย์ แต่ประชาชนคือเพื่อนบ้าน

จึงขอตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า "เพียงหงสารบกับอยุธยา ส่วนไทยรบพม่านั้นไม่มี" สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมน์ข้างเคียงเคยกล่าวไว้



.

2555-12-29

จารีตนิยมกับเหตุผลนิยมในพุทธศาสนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

จารีตนิยมกับเหตุผลนิยมในพุทธศาสนา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 30


พรรคพวกตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลในเครือข่ายของคำสอนพุทธศาสนาสายเหตุผลนิยม ในบัดนี้กลายเป็นแนวหน้าของผู้อนุรักษ์ระบอบเก่าไปเสียเป็นส่วนมาก ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยเป็นผู้นำการปฏิรูป ทั้งด้านสังคมและการเมืองมาก่อน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้
ผมย้อนคิดถึงหลายท่านซึ่งใช้ระบบเหตุผลและตรรกะแบบชาวพุทธ ผสมกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านต่างๆ เมื่อ 10-20 ปีก่อน และหลายท่านในบัดนี้ร่วมกับเครือข่ายของท่าน กลายเป็นผู้นำในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดในสังคมไทยปัจจุบัน จะว่าท่านเหล่านั้นอนุรักษ์ระบอบเก่าก็อาจไม่เป็นธรรมนัก เพราะดูเหมือนท่านจะสำนึกได้ดีว่าระบอบเก่านั้นจำเป็นต้องปฏิรูป เพียงแต่จะปฏิรูปอย่างไรจึงจะไม่ทำลายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ลงทั้งหมด 
ข้อสังเกตของพรรคพวกก็ฟังดูเข้าเค้าอยู่ และผมอยากจะหาคำอธิบายที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลมาคุยกับผู้อ่าน


อันที่จริงสายเหตุผลนิยมของศาสนาทุกศาสนา เคยเป็นพื้นที่แห่งการคัดค้านมาก่อนทั้งนั้น กล่าวคือเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้แก่การต่อต้าน "อาชญาสิทธิ์" (authority) บางอย่างในสังคมนั้นๆ อาจเริ่มต้นที่อาชญาสิทธิ์ทางศาสนา แต่ศาสนาก็แยกไม่ออกจากการเมืองและสังคม ฉะนั้น พื้นที่แห่งการคัดค้านจึงขยายไปทั่วทุกปริมณฑล ไม่ช้าก็เร็ว
ในเมืองไทย ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ คณะธรรมยุติกนิกาย ใน ร.3 ซึ่งในรัชกาลต่อๆ มาก็กลายเป็น "อาชญาสิทธิ์" ทางศาสนาเสียเอง

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาสายเหตุผลนิยม ซึ่งคราวนี้อาจไม่ใช่ธรรมยุติกนิกายแล้ว ก็ยังคงเป็นพื้นที่แห่งการคัดค้านต่อมาในสมัยหลัง โดยเฉพาะคัดค้านแนวคิดหลักๆ ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เช่น การจำกัดคำสอนให้เน้นเฉพาะโลกียธรรม ความเคร่งครัดตำรับตำราซึ่งมาจากการตีความของนักปราชญ์ในสมัยปฏิรูปคณะสงฆ์, หรือการให้ความสำคัญแก่พระสงฆ์ไว้เหนือการปฏิบัติตามเนื้อแท้ของคำสอน หรือการปล่อยปละละเลยให้พิธีกรรม ลัทธิพิธีนอกคำสอน และพุทธพาณิชย์ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง

คำสอนของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยมใหม่นี้แหละ ที่ดึงดูดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเข้าไปเป็น "สานุศิษย์" จำนวนมาก จนกระทั่งในที่สุด ก็พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยก็ต้อง "กลืน" (co-opt) เข้าไว้กับตัว แม้อย่างไม่เป็นเนื้อเดียวกันนักก็ตาม 
นักปฏิรูปสำคัญๆ ของไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ก็เป็น "สานุศิษย์" ของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยม คนเหล่านี้ขยายพื้นที่แห่งการคัดค้านออกไปคลุม "อาชญาสิทธิ์" อื่นๆ นอกวงการพระศาสนาอีกมาก



บัดนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองและสังคม อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาหลายทศวรรษก่อนหน้า แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมกระทบต่อสถาบัน, องค์กรทางการเมือง และกระบวนการทางการเมืองในหลายๆ ด้าน โฉมหน้าของประเทศกำลังเปลี่ยนไป 
จำนวนไม่น้อยของท่านที่เคยขยายพื้นที่แห่งการคัดค้านมาก่อนเหล่านี้ยืนอยู่ตรงไหน?

จะว่าท่านต่อต้านความเปลี่ยนแปลงก็ไม่เชิงทีเดียวนัก ผมคิดว่าท่านมักเป็นเบรก คือคอยยับยั้งมิให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีทางของมันมากกว่า (แต่เครือข่ายของท่าน-และแต่ละท่านก็มักจะรุงรังไปด้วยเครือข่าย-อาจต่อต้านความเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามืดตามัว)

มันต้องมีอะไรบางอย่างในกระแสคำสอนของพระพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยม ที่ทำให้เหล่า "สานุศิษย์" มีจุดยืนทางการเมืองและสังคมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผมอยากอธิบายตรงนี้ แต่ด้วยความเกียจคร้าน จึงไม่ได้ศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยมในเมืองไทยมากไปกว่าคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ 
ผมคิดว่าผมได้พบคำอธิบายดังนี้


1.
การปฏิรูปศาสนาทุกแห่งในโลกย่อมมีพื้นฐานจารีตนิยม (conservative) ทั้งนั้น เพราะการปฏิรูปต้องอ้างว่า ตนกำลังกลับไปหาคัมภีร์ต้นตำรับเดิม (back to the Book) เสมอ เพราะถ้าไม่กลับไปหาอะไรที่เชื่อว่าเป็น "หลัก" เสียก่อน ก็ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการตั้งศาสนาใหม่เลยทีเดียว แม้การกลับไปหาคัมภีร์เดิมแล้วตีความใหม่ อาจเป็นผลเหมือนกลายเป็นศาสนาใหม่ไปเลยก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้อง back to the Book ก่อน
ธรรมยุติกนิกายก็อ้าง back to the Book โดยเฉพาะพระวินัย เพื่อจะทำให้พระสงฆ์บริสุทธิ์ (อันเป็นหน้าที่ตามประเพณีของกษัตริย์ ไม่ใช่ของเจ้าฟ้าที่ออกผนวช) ท่านพุทธทาสก็ back to the Book เหมือนกัน โดยเฉพาะพระสูตร

จารีตนิยมของท่านพุทธทาสไม่ได้จำกัดอยู่แต่การตีความคำสอน แต่รวมไปถึงมิติทางสังคมด้วย ความหลุดพ้นจากทุกข์ในทุกระดับ เป็นภาระหน้าที่ของปัจเจกบุคคล เกี่ยวกับสังคมเหมือนกันแต่ไม่สู้จะมากนัก ไม่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีทางรอดของจิตวิญญาณเหลือให้แก่ปัจเจกบุคคลเสมอ 
ข้อนี้ไม่ต่างอะไรจากการปฏิรูปคณะสงฆ์ใน ร.5 (และย่อมมีนัยยะถึงศาสนาด้วย) เพราะการปฏิรูปในครั้งนั้นได้ดึงเอาทั้งพระสงฆ์และคำสอนให้หลุดออกมาจากชุมชน (และอาจจะ "ชนชั้น" ด้วย) กลายเป็นความผูกพันระหว่างคำสอนกับปัจเจกบุคคล

ทั้งนี้ นับว่าสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการปฏิรูป คือสร้างไพร่ทั้งหมดให้เป็นข้าราษฎรปัจเจกที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และกีดกันมิให้พระสงฆ์มีบทบาททางสังคมอันอาจนำไปสู่บทบาททางการเมือง


2.
แม้จะเน้นปัจเจก แต่ก็ไม่มีศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะท่านพุทธทาสเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยคือผลผลิตของทุนนิยม และทุนนิยมนั้นตั้งอยู่บนฐานของความโลภ, โกรธ, หลง ระบอบปกครองของทุนนิยมจึงใช้ฐานอันเดียวกันนี้ เลือกผู้แทนด้วยมาตรวัดว่าตัวจะได้ประโยชน์อะไร (นับตั้งแต่เงินซื้อเสียงไปจนถึงนโยบายที่ถูกใจ) ไม่ได้สิ่งที่ถูกใจก็มีช่องทางให้ใช้อกุศลมูลเหล่านี้เพื่อต่อต้านคัดค้าน หรือเป็นอริกับคนที่เห็นต่าง ทำลายความสามัคคี 
ดังนั้น ท่านจึงเสนอระบอบปกครองที่เรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม กล่าวคือปฏิเสธการรวบรวมทรัพยากรไว้กับคนมือยาวแบบทุนนิยม แต่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงแก่บุคคลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แบบที่ท่านเชื่อว่าเป็นลักษณะของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทรัพยากรจะถูกกระจายไปแก่ทุกคนโดยธรรม กล่าวคือสามารถบรรลุมาตรฐานการครองชีพขั้นพื้นฐานได้ (เศรษฐกิจพอเพียง) แต่ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่และสุจริต (ไม่สู้จะชัดนักว่า ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น เพราะการปกครองที่ปราศจาก "ทัณฑะ" คงไม่มีในโลกนี้)

ในระบอบนี้ ใครจะเป็นผู้ถืออำนาจทางการเมืองหรือเป็นผู้ปกครอง คำตอบก็คือคนดี (ระบอบธรรมราชา) ไม่สู้จะชัดอีกเช่นกันว่าคนดีดังกล่าวนี้มาจากไหน ในสังคมเล็กๆ อย่างในอัคคัญสูตร ทุกคนคงหมายรู้ได้ว่าใครคือคนดี แต่ในสังคมที่มีประชากรถึงกว่า 60 ล้าน ซ้ำมีความหลากหลายอย่างมาก ทุกคนจะหมายรู้ได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่ได้พูดถึงกระบวนการที่จะควบคุมคนดีซึ่งถืออำนาจทางการเมืองเลย ธรรมะเท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดสรรให้คนดีได้ดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเลิกเป็นคนดีแล้ว ในระหว่างนั้นคนที่ดีน้อยกว่าอาจติดคุกติดตะราง หรือถูกประหารชีวิตไปสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ (กระนั้นหรือ?)

ผมคงไม่ต้องพูดว่า ทฤษฎีคนดีนี้ถูกใช้อ้างเป็นความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองนอกกฎหมายตลอดมา ตั้งแต่ พ.ศ.2519 และในทางตรงกันข้าม ก็ถูกใช้โจมตีและต่อต้านทั้งการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปพร้อมกัน


3.
ไม่ต่างจากศาสนาพราหมณ์และฮินดู ท่านพุทธทาสเน้นเรื่อง "หน้าที่" ของบุคคลเป็นอย่างมาก การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงตนเองคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง (เช่น ทหารยิงข้าศึกโดยสำนึกว่าเป็นหน้าที่ของตนในการต่อสู้ขัดขวางผู้รุกราน โดยไม่คำนึงถึงเหรียญตราหรือการเลื่อนขั้นเลย คือการปฏิบัติธรรม-จิตว่าง-อย่างหนึ่ง)
แต่น่าประหลาดที่ว่า "หน้าที่" ของบุคคลนั้นไม่ได้มีมาตามธรรมชาติ (นอกจากดำรงชีวิตให้รอด) แต่เป็นสิ่งที่สังคมนิยามให้ต่างหาก ถ้าไม่มีพระกฤษณะ พระอรชุนก็คงไม่ลั่นศรประหารเหล่าญาติและครูเก่าที่เป็นศัตรู แต่เอาเข้าจริง คำสอนของพระกฤษณะก็ไม่ใช่ของพระกฤษณะ หากเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่เน้นเรื่องหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ยกขึ้นมาให้เหนือการปฏิบัติธรรมทั้งปวงเท่านั้น (เช่น เหนือการงดเว้นจากการฆ่า) เช่นเดียวกับทหารที่เล็งปืนยิงข้าศึก เขาไม่ได้เป็นผู้นิยามเองว่าอะไรคือการรุกราน อะไรคือภยันตรายต่อประเทศชาติ มีคนอื่นหรือสังคมนิยามให้เขาต่างหาก รวมทั้งไม่ได้นิยามด้วยว่าใครคือ "ข้าศึก" ก็คนอื่นอีกนั่นแหละที่เป็นผู้นิยามให้เขา การปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีตัวกูของกูอยู่เลย จึงอาจหมายถึงการปฏิบัติธรรมอย่างมืดบอดก็ได้ 
ก็วิวาทบาดทะลุงกันระหว่างสีเสื้อต่างๆ ในทุกวันนี้ ต่างฝ่ายก็ต่างอ้าง "หน้าที่" ซึ่งอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตัวกันทั้งนั้น ไม่ใช่หรือ

ดังนั้น เพื่อจะเข้าใจความเป็นจารีตนิยมของท่านพุทธทาส ก็ต้องมาดูว่า "หน้าที่" ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยไม่มีตัวกูของกูคอยกำกับตามทัศนะของท่าน เป็นหน้าที่ซึ่งถูกสังคมประเภทใดนิยามเอาไว้ เนื้อที่ไม่พอที่ผมจะแสดงการวิเคราะห์ได้ แต่ขอสรุปว่าเป็นสังคมจารีตนั่นเอง


4.
ผมเข้าใจจากการอ่านงานเขียนของท่านพุทธทาสว่า ท่านไม่ค่อยใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากไปกว่าระดับปรากฏการณ์ อันที่จริงครึ่งหลังชีวิตของท่านนั้น ท่านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารภายใต้นโยบายพัฒนา ความเปลี่ยนแปลงนี้ กระทบต่อ "ศีลธรรม" มากน้อยเพียงใด (เช่น เกิดความขัดแย้งกันเองในกฎศีลธรรม) หรือควรกระทบหรือไม่ คงเถียงกันได้ แต่ท่านพุทธทาสยึดถือ "ศีลธรรม" ที่เป็นมาตรฐานตายตัว (ซึ่งส่วนใหญ่ตอบรับกับสังคมก่อนความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา) และอาศัยมาตรฐาน "ศีลธรรม" อันนี้เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทางสังคม "ใหม่ๆ แปลกๆ" ที่เกิดขึ้น ผมคิด (ซึ่งอาจผิด) ว่า วิธีคิดอย่างนี้มีปัญหา แต่ก็เหมาะกับวิธีคิดเชิงจารีตนิยม คือต้องมีมาตรฐานตายตัวของความดี, ความงาม, ความจริง ซึ่งปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เป็นอกาลิโก เช่น ที่เราได้ยินคำกล่าวเสมอว่า คนดีควรปกครองประเทศ โดยไม่ต้องอธิบายถึงเงื่อนไขของความดีที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่

ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากสานุศิษย์ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสมานานว่า ท่านไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโสเภณี และอาจประณามผู้หญิงเหล่านั้นอย่างไม่เป็นธรรม แต่ท่านก็พร้อมจะรับฟังความเห็นต่างที่สานุศิษย์ผู้นั้นชี้แจง อันที่จริงโสเภณีในช่วงสงครามเย็นนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางการล่มสลายของเกษตรกรรมตามจารีต หรือยิ่งกว่านั้นของสังคมจารีตทั้งองคาพยพในชนบทเลยทีเดียว เพราะถูกแย่งทรัพยากร ในขณะที่ "ศีลธรรม" เดิมก็ยังดำรงอยู่ คือความกตัญญูต่อบิดามารดา และความรับผิดชอบต่อพี่น้องเครือญาติและครอบครัว ดังนั้น "ศีลธรรม" ตามมาตรฐานของสังคมจารีตอย่างเดียว จึงไม่ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์การระบาดของโสเภณีไทยในช่วงนั้นได้... รวมทั้งไม่เข้าใจทุกข์ของเธอด้วย



กล่าวกันว่า คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุดึงดูดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเข้าไปเป็นสาวกจำนวนมาก แต่อาจจะเกิดความเข้าใจผิดว่า เพราะการศึกษา (แบบตะวันตก) จึงทำให้คนชั้นกลางสามารถเข้าถึงคำสอนได้ ผมคิดว่าข้อนี้ไม่น่าจะจริง เพราะถึงไม่มีการศึกษา (แบบตะวันตก) ก็อาจเข้าถึงได้เหมือนกัน แต่เหตุผลนิยมในคำสอนต่างหากที่สอดคล้องกับโลกทรรศน์ของคนชั้นกลางที่มีการศึกษา

และยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ คนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทยนั้นเติบโตและก้าวหน้ามาได้ในระบบจารีตนิยมทั้งทางสังคมและการเมือง เขาไม่ใช่ชนชั้นใหม่ที่เกิดอยู่นอกระบบศักดินาเหมือนคนชั้นกลางในโลกตะวันตก

ในโลกทรรศน์ของเขา ระบบการเมืองและสังคมแบบจารีตนิยมนี่แหละคือระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด อำนวยทั้งความมั่นคงแก่รัฐและแก่ตัวเขาเอง



.

มหาการแข่งขัน! ภูมิทัศน์ใหม่ 2556 โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

มหาการแข่งขัน! ภูมิทัศน์ใหม่ 2556 
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 36 


"วิกฤตการเงิน 2551 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และทำให้ไม่มีอะไรเป็นเหมือนเก่าอีกต่อไป... วิกฤตการณ์นี้ ในที่สุดได้ปลุกให้คนอเมริกันตื่นมาพบกับความจริงที่ว่า จีนได้กลายเป็นนายธนาคารของพวกเขาไปแล้ว
ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้หมายความว่า ดุลแห่งอำนาจก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย"
Martin Jacques
When China Rules The World (2012)



ภูมิทัศน์ใหม่

ถ้าเราเอาข้อสังเกตของ มาร์ติน จักส์ ในข้างต้นเป็นจุดเริ่มแล้ว เราคงจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ.2008) 
ภาพจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันนั้น ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อสถานะเชิงอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก 
อันทำให้เกิดความเชื่อในหมู่นักสังเกตการณ์มากขึ้นว่า ศูนย์กลางอำนาจของโลกจากที่มีความเป็น "ขั้วเดียว" (unipolar) ที่สหรัฐ เป็น "ผู้ครองความเป็นใหญ่" หรือที่เรียกกันว่า "hegemony" นั้น กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับตัว

เพราะไม่ว่าจะมองโลกในทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติก็จะพบความจริงประการสำคัญว่า รัฐที่มีระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอนั้น มักจะไม่สามารถดำรงความเป็น "อำนาจแห่งจักรวรรดิ" (imperial power) ไว้ได้
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจที่แข็งแรงเป็นรากฐานสำคัญของการมีกองทัพที่เข้มแข็ง
และในประวัติศาสตร์ก็แทบไม่เคยมีมาก่อนเลยว่า เมื่อรัฐมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว รัฐจะยังคงดำรงอำนาจทางทหารที่เข้มแข็งของตนไว้ได้

ภายใต้สภาพของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ภาพคู่ขนานที่เกิดขึ้นก็คือ การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนจนกลายเป็น "ความมหัศจรรย์" ที่กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการประเมินของบริษัทโกลแมน แซคส์ (Goldman Sachs) ในปี 2550 ที่คาดการณ์ในอนาคตว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดเท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐ ในปี 2568 (ค.ศ.2025) 
และในปี 2593 (ค.ศ.2050) จีนจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของเศรษฐกิจอเมริกัน

จากการคาดคะเนจากการประมาณการของบริษัทโกลแมน แซคส์เช่นนี้ ตอบได้อย่างชัดเจนว่า ศูนย์กลางของโลกในอนาคตจะย้ายจากตะวันตกไปสู่จีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
และเช่นเดียวกันสิ่งที่เกิดคู่ขนานอีกประการก็คงหนีไม่พ้นบทบาทของจีนในเวทีโลกจะมีมากขึ้น และอาจจะเป็นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นด้วย พร้อมๆ กับการขยายตัวของกองทัพจีนก็คงมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน 
ซึ่งผลของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ (landscape) ทั้งในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของ "ภูมิทัศน์ใหม่" ในปี 2556 อันเป็นผลโดยตรงจากบทบาทและสถานะของสหรัฐ และจีน ซึ่งก็คือการบ่งบอกถึงโลกในอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาค 
และสิ่งเหล่านี้อีกด้านหนึ่งก็คือสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ชุดใหม่ที่รัฐไทยต้องเผชิญนั่นเอง



การกลับสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
ของสหรัฐอเมริกา


หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว มักจะมีข้อสังเกตเสมอว่า สหรัฐมีท่าทีที่ลดบทบาทของตนในเอเชียลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว บทบาทของสหรัฐดูจะลดลงอย่างมาก 
ซึ่งแน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้มิได้มุ่งหวังว่า สหรัฐจะต้องมีบทบาทสูงมากเช่นในยุคสงครามเวียดนาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับยุโรปและตะวันออกกลางอย่างมาก หรือเป็นไปตามคำวิจารณ์ที่ว่า สำหรับสหรัฐแล้ว ศูนย์กลางของโลกยังอยู่กับยุโรปมากกว่าเอเชีย

จนกระทั่งการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ นายบารัค โอบามา จึงเห็นความพยายามที่จะนำพาสหรัฐกลับเข้าสู่เวทีในเอเชียให้มากขึ้น โดยเฉพาะการประกาศ "นโยบายเอเชียเอเชียตะวันออกของโอบามา" (The Obama East Asian Policy) ที่จะให้สหรัฐเป็นเสมือน "หมุดกลาง" ของเอเชีย หรือ "The Asian Pivot" 
และเราอาจต้องยอมรับว่าหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลสหรัฐชุดอื่นๆ แล้ว บางทีโอบามาดูจะเป็นรัฐบาลที่มีนโยบายต่อเอเชียมากขึ้น

รูปธรรมดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2554 จากการประกาศถึงการขยายกำลังพลนาวิกโยธินของสหรัฐในออสเตรเลียจาก 250 นายเป็น 2,500 นาย และมีภารกิจโดยตรงต่อการให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่อประเทศในเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และในช่วงกลางปี 2554 ยังเห็นถึงความพยายามของผู้นำสหรัฐที่จะ "เปิดประตูพม่า" ให้ได้ และความพยายามดังกล่าวสำเร็จได้จริง เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ นางฮิลลารี คลินตัน เดินทางเข้าพบกับผู้นำทหารของพม่า และที่สำคัญก็คือการพบกับผู้นำพรรคฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี

ความสำเร็จในการเปิดประตูพม่าของผู้นำสหรัฐเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าอีกด้วย
ท่าทีใหม่ของสหรัฐยังถูกตอกย้ำจากการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา
ซึ่งในการนี้ประธานาธิบดีสหรัฐยังได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการแวะเยือนไทย และเดินทางต่อไปในพม่า อันทำให้โอบามาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐที่เดินทางเยือนพม่า 
ภาพเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐพร้อมที่จะกลับเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง และยิ่งพิจารณาประกอบกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ (กรณีพิพาทระหว่างจีนกับเวียดนาม และระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์) ด้วยแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ดูจะมีท่าทีที่ต้องการให้สหรัฐกลับสู่ภูมิภาคในฐานะของการเป็นปัจจัยถ่วงดุลกับการขยายตัวของจีน

ดังนั้นในปี 2556 น่าจะเห็นบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนหนึ่งจะมาจากการขยายขีดความสามารถในการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติที่สหรัฐอยากจะเป็นผู้นำสำหรับบทบาทด้านนี้ในภูมิภาคมากขึ้น 
และนอกจากนี้ก็น่าจับตามองอย่างมากกับการเพิ่มสมาชิกของการฝึกร่วมผสมค้อบราโกลด์ว่า ในปี 2556 พม่าจะเข้ามาร่วมการฝึกดังกล่าวหรือไม่ 
และที่ต้องติดตามอย่างสำคัญในปี 2556 ก็คือ สหรัฐจะเปิด "เกมรุก" อย่างไรหลังจากการเยือนของประธานาธิบดีเมื่อตอนปลายปี 2555 แล้ว


การมุ่งใต้ของจีน

นักสังเกตการณ์ทุกคนดูจะมีความเห็นตรงกันว่า การเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ก็คือช่วงเวลาที่บ่งบอกถึงการขึ้นสู่อำนาจของจีนในเวทีโลก และดูจะไม่มีใครปฏิเสธว่าในโลกปัจจุบัน จีนได้ก้าวสู่สถานะของความเป็น "มหาอำนาจใหญ่" ของโลกแล้ว 
พร้อมกันนี้ จีนก็ได้ขยายบทบาทของตัวเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในเอเชียอย่างมากด้วย

ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น การขยายบทบาทของจีนปรากฏใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ในบริเวณทะเลจีนใต้ อันเป็นพื้นที่พิพาทของการอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองเกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้เห็นถึงการขยายขีดความสามารถของกำลังรบทางทะเลของจีน 
ขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่ามีอีกพื้นที่หนึ่งที่มักจะไม่ได้รับความสนใจมากเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของทะเลจีนใต้ ก็คือพื้นที่ที่เป็นเสมือน "หลังบ้าน" ของจีนหรือเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับจังหวัดทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ 
พื้นที่นี้เดิมอาจจะทำให้เราคิดถึงแต่ในกรณีของพม่า แต่ปัจจุบันพื้นที่เช่นนี้กลายเป็นการเชื่อมต่อกับส่วนภาคพื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
กล่าวคือ เป็นการเชื่อมต่อกับทั้งพม่า ลาว เวียดนาม และไทย เข้ากับพื้นที่ภาคใต้ของจีน 
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การขยายบทบาททางเศรษฐกิจและการสร้างเครือข่ายของการเชื่อมต่อ โดยผ่านระบบขนส่งทั้งที่เป็นระบบรางและระบบถนนที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการไหลบ่าของอิทธิพลจีนเข้าสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการไหลบ่าของอิทธิพลและอำนาจของจีนเข้าสู่ประเทศในแถบนี้เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนดังเช่นที่เป็นอยู่ พร้อมกับการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น จีนจึงเป็นเสมือนโลกอนาคตที่รัฐต่างๆ ในแถบนี้ต้องการเข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วย 
นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจากจีนก็มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่กำลังบดบังอิทธิพลของสหรัฐมากขึ้น 

ดังนั้น ภูมิทัศน์ใหม่ของปี 2556 จะเห็นการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาคมากขึ้น และปัจจัยจีนเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนวณทางการเมืองและความมั่นคงในปี 2556 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะเก่าที่มองว่า จีนเป็นเพียง "มหาอำนาจชั้นสอง" นั้น อาจจะต้องนำมาคิดทบทวน 
อีกทั้งปัจจัยจากการขยายทั้งพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารในเอเชีย ทำให้สิ่งที่นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกว่า "ไพ่จีน" นั้น เป็นสิ่งที่น่าเล่นเป็นอย่างยิ่ง



มหาการแข่งขัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจกลับเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ในขณะที่จีนเองก็ตัดสินใจเปิดประตูออกสู่พื้นที่ "หลังบ้าน" ของตัวเองเช่นนี้ ทำให้การแข่งขันเชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคนี้เป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 
และถ้าใช้ภาษาเก่าในวงการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ก็คงสรุปได้ง่ายๆ ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2556 จะเป็นพื้นที่ของ "มหาการแข่งขัน" หรือที่ใช้คำเก่าในภาษาอังกฤษว่า "The Great Game"
คำนี้ในอดีตมีความหมายโดยตรงถึงการแข่งขันเชิงอำนาจของรัฐมหาอำนาจในขณะนั้น คือระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิรัสเซียในเอเชียกลาง โดยเฉพาะการแข่งขันในพื้นที่ของอัฟกานิสถานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20

แต่ว่าที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์ของ "มหาการแข่งขัน" เกิดขึ้นทั้งในช่วงยุคของการสร้างจักรวรรดิ ไม่แตกต่างจากยุคสงครามเย็น และจนมาถึงยุคปัจจุบัน ก็คงอธิบายสภาพของการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในเอเชียด้วยคำว่า "มหาการแข่งขัน" ก็คงไม่ผิดอะไรนัก 
และสภาพเช่นนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับบรรดารัฐในภูมิภาค ตลอดรวมถึงอนาคตของการสร้างประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันเช่นนี้


นอกจากนี้ การแข่งขันดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดทำ "สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคง" (security architecture) ของแต่ละประเทศอีกด้วย เนื่องจากสถาปัตยกรรมเดิมนั้นถูกออกแบบไว้ด้วยกรณีความสัมพันธ์กับสหรัฐเป็นหลัก

แต่เมื่อบทบาทของจีนขยายเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็อาจจะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาต่อไปในอนาคตว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งของประเทศและของภูมิภาคนี้ในอนาคตจะอยู่ในรูปแบบใด!



.

ประชามติ (2)..แก้รัฐธรรมนูญ..แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
บทความตอนแรก - ประชามติ (1)..แก้รัฐธรรมนูญ..แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง โดย มุกดา สุวรรณชาติ
อ่านที่
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/12/m-rfrndum1.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประชามติ...แก้รัฐธรรมนูญ...แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 20


พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
การลงประชามติมาตรา 9
งูพิษ...ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ตามใบสั่ง


แผนจงอางหวงไข่ ดั้งเดิมคือ ใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ มาตรา 9 มาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างเสร็จแล้ว แต่แผนถูกเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ในกลางปี 2555 เมื่อฝ่ายเพื่อไทยเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญในสภา ก็มีใบสั่งใหม่ ด่วนมาก ออกมาให้ลุยต่อต้านและถ่วงเวลา แต่ก็ดึงเกมในสภาไม่อยู่ ผ่านไปถึงวาระ 2 
เมื่อรู้ว่าสภาสู้ไม่ได้ ก็มีการให้คนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการยับยั้ง แถมยังจะเอาผิด ส.ส. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

แต่กระแสต้านกลับของฝ่ายประชาชนแรงมาก ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ออกมาในรูปที่ว่า...ทำได้..ไม่ผิด... แต่ควรลงประชามติก่อนแก้ทั้งฉบับ มิฉะนั้น ต้องแก้รายมาตรา แต่วันนี้ถ้าทำตามคำแนะนำของศาล ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ...

การออกเสียงประชามติ (1) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง (2) หรือเป็นการออกเสียง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

...

หลักเกณฑ์และการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาดำเนินการและจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ

ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ มาตรา 9 ซึ่งออกมาในปี 2552 ว่าไว้ดังนี้...
การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น 
การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
ในที่สุดรัฐธรรมนูญ GMO 2550 ก็ฟักไข่ออกเป็นตัวในปี 2552 เป็นงูพิษมาตรา 9 ที่สามารถกัดคนที่จะเข้าไปล้วงไข่ที่เหลือของมันให้ถึงตายได้ การลงประชามติเที่ยวนี้จึงยากกว่าสมัยปี 2550 เยอะ



ย้อนดูการลงประชามติ 
รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550


จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ผ่านได้แล้ว จะมา 5 ล้านคน 10 ล้านคน ก็ใช้ได้ ไม่ต้องถึงครึ่งของผู้มีสิทธิตามมาตรา 9 แถม คมช. ยังขู่ว่า ถ้าไม่เห็นชอบ คมช. จะพิจารณานำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทนก็ได้ และรัฐมนตรีกลาโหมสมัยนั้นได้ระบุว่า "การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้รับประชามติ ถ้าหากไม่รับก็จะวุ่นวายต่อเนื่องไม่จบง่ายๆ (แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า รับไปแล้ว มันจะยุ่งขนาดฆ่ากันกลางเมือง) 
นอกจากนั้น ยังออก พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุว่าความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี สำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายหรือจูงใจหรือใช้อิทธิพลคุกคาม ให้คนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง ฯลฯ

ผลการลงประชามติ "รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีผู้มีสิทธิลงคะแนน 45,092,955 คน ผู้มาใช้สิทธิกว่า 25,978,954 คิดเป็นร้อยละ 57.61 (ไม่มีการบอยคอต)
เห็นชอบ 14,727,306 ไม่เห็นชอบ 10,747,441 เสียง 
จะเห็นว่า กลุ่มอำนาจเก่ารณรงค์ให้ ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทั้งหลอก ทั้งบีบ ทั้งขู่ ยังรู้สึกว่าลำบาก แต่พอนำไปใช้ก็ยังแพ้เลือกตั้งต่อพรรคพลังประชาชน จึงต้องทำการตุลาการภิวัฒน์และเปลี่ยนขั้วอำนาจในค่ายทหารในปี 2551

คนกลุ่มนี้คาดว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แน่ จึงวางหมากกล ไว้ให้ผู้ที่ต้องการแก้ไข มีความยากลำบากในการแก้ยิ่งกว่าโดยแอบออก พ.ร.บ.ประกอบฯ เรื่องประชามติมาตรา 9


พลิกตำรา สู้กับใบสั่งปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ GMO

เมื่อฝ่ายคนเสื้อแดงและประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมา เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง กลายเป็นแรงบีบที่พรรคเพื่อไทยต้องอยู่ตรงกลางระหว่างใบสั่งปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 กับประชาชนที่ต้องการแก้

หลังจากถูกถ่วงเวลาในสภา ถูกยับยั้งโดยศาล และเจอกับม็อบแช่แข็งในถนน พรรคเพื่อไทยก็คิดออกว่า เรื่องอะไรพรรคเพื่อไทยจะยืนอยู่ตรงกลาง ใครอยากจะรบกับประชาชน ก็ควรจัดให้ จึงพลิกสถานการณ์เป็นเกมลงประชามติโดยประชาชน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ 
นี่คือการท้าพิสูจน์พลังของฝ่ายประชาชน กับพลังที่สนับสนุนอำนาจรัฐประหาร

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของการถกเถียงกันโดยหวังว่าจะหาทางแหวกวงล้อมทางกฎหมาย เพื่อแก้รัฐธรรมนูญแบบสันติให้ได้ ถึงวันนี้ เพิ่มเป็น 4 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ยอมลงประชามติ ก่อนสภาโหวตวาระ 3 โดยคิดว่า...หมูมาก...เพราะกุมอำนาจรัฐอยู่ และคนเสื้อแดงหนุน ประชาชนอยากแก้ไข จึงมีทางชนะและจะมีผู้มาร่วมเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ 48 ล้านคนคือเกิน 24 ล้านคน

แนวทางที่ 2 หนุนให้สภาโหวตวาระ 3 เลย แล้วให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร. โดยมีเหตุผลว่าในเมื่ออำนาจการแก้รัฐธรรมนูญเป็นของสภา กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องลงประชามติก่อน จึงมีสิทธิโหวตวาระ 3 ได้เลย จะไปทำตามกับดักมาตรา 9 ก่อนทำไม

แนวทางที่ 3 มีบางคนเสนอให้ใช้การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โอกาสผ่านแน่ๆ จากนั้นสภาก็ค่อยมาโหวตวาระ 3

แนวทางที่ 4 แก้รายมาตราแบบ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ โดยเลือกมาตราที่มีปัญหามาแก้ไข


วิเคราะห์ความเป็นไปได้


แนวทางที่ 1 ติดกับดักทันที แม้มีคนคิดว่าเลือกตั้ง 2554 เพื่อไทยยังได้ 15.7 ล้านเสียง ทำไมจะหาเพิ่มไม่ได้ แต่คนที่ค้านบอกว่ายากมาก...ให้เหตุผลว่าไม่เหมือนกับ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2554 ที่มีผู้มาลงคะแนนสูงถึง 35 ล้านคน และได้ 15.7 ล้าน เพราะในการเลือกตั้ง 2554...ทั้งสองฝ่ายเดิมพันกันด้วยอำนาจรัฐและชีวิตของผู้คน ต่างฝ่ายก็ต่างระดมสรรพกำลังทั้งคน เงิน อำนาจ อย่างเต็มที่ มีนโยบายเกี่ยวข้องที่เป็นผลได้ผลเสีย ต่อคนจำนวนมาก มีความรัก ความเกลียด ความแค้น มีสินจ้าง รางวัล เป็นแรงจูงใจ 
ทั้งสองฝ่ายใช้กำลังคนจำนวนมากเคลื่อนไหว ปลุกประชาชนให้ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง มีกลไกย่อยๆ จากพรรคผ่านผู้สมัคร ผ่านกลไกรัฐ ผ่านหัวคะแนนเละผู้สนับสนุน จึงทำงานอย่างแข็งขัน

แต่การลงประชามติครั้งนี้ไม่มีตำแหน่ง ส.ส. เป็นเดิมพัน การแพ้ชนะไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่มีนโยบายอื่นจูงใจนอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญ 
ถ้าฝ่ายคัดค้านการแก้ไขไม่ออกมาลงประชามติ แม้ฝ่ายสนับสนุน ออกแรงเต็มที่ เสียงสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญมาจากฐานเสียงของพรรครัฐบาล ประมาณ 17 ล้าน และหาเพิ่มจากคนกลางๆ หรือผู้ไม่เคยออกเสียง อีก 3-4 ล้าน รวมแล้วมีความเป็นไปได้สูงสุด ที่ 20-21 ล้าน การลงประชามติก็จะไม่ผ่านเพราะไม่ถึง 24 ล้าน ติดกับดักมาตรา 9 ไปไม่รอด

แนวทางที่ 2 ทั้ง ส.ส.ร. และรัฐธรรมนูญใหม่จะถูกคว่ำหมด เพราะถึงจะให้สภา ลุยลงมติวาระ 3 แต่อาจไม่ผ่านถ้า ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนเกิดกลัวว่าไปละเมิดคำสั่งศาล เสียงอาจไม่ถึง
แต่ถ้าหากผ่านด่านนี้ไปได้ดำเนินการตั้ง ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เสร็จ ก็ต้องจัดการให้มีการลงประชามติรับรองร่างใหม่ แต่จะผ่านได้ ก็ต้องมีคนมาใช้สิทธิเกิน 24 ล้านเสียง
ถ้าทำไม่ได้ นั่นก็คือการจบด้วยติดกับดักมาตรา 9 เช่นกัน

แนวทางที่ 3 ติดกับดัก เหมือนแนวทางที่ 2 แต่ยุ่งยากกว่า เพราะต้องทำประชามติสองรอบ รอบแรกแบบให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง อาจชนะ 15 ล้านต่อ 10 ล้าน แต่พอร่างเสร็จ ตอนลงประชามติรับร่างใหม่ ต้องใช้มาตรา 9 พวก 10 ล้าน ที่คัดค้านจะไม่มาออกเสียง ดังนั้น อย่าว่าแต่ 24 ล้านเลย 20 ล้านก็หายาก

แนวทางที่ 4 แม้ยอมเสียเวลาแก้รายมาตรา แต่มาตรา 9 จะถูกดึงมาใช้จนได้ การแก้รายมาตราดูคล้ายจะไปได้เรื่อยๆ ช้าแต่ชัวร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าเริ่มแตะต้อง มาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ศาล วุฒิสภา รับรองว่าจะถูกต้านทั้งในและนอกสภา พอวุ่นวาย ก็จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และจะเสนอให้ต้องลงประชามติทุกมาตราที่กระทบอำนาจ จึงต้องติดกับดักมาตรา 9 อีกเหมือนเดิม

สรุปว่าทุกแนวทาง ติดกับดัก พ.ร.บ.ประกอบการลงประชามติ มาตรา 9



ต้องทำลายกับดัก พ.ร.บ.ประกอบฯ
การลงประชามติ มาตรา 9 
ก่อนเดินหน้า


ใครจะมีอำนาจไปบังคับให้ประชาชนไปลงมติออกความเห็น ถ้าเขาคิดว่าเขาไม่พร้อม ไม่เข้าใจ หรือไม่อยากไปยุ่งในความขัดแย้ง ถ้าคิดว่าไม่มีสิทธิไปบังคับประชาชนได้ ก็ต้องยกเว้น ไม่นำคนเหล่านั้นมานับรวมในการตัดสินปัญหา ควรใช้เฉพาะความเห็นของคนที่มาลงประชามติ

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการลงประชามติมาตรา 9 สรุปได้ว่ามีไว้เพื่อแช่แข็งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ถ้าหากไม่แก้ไข จะสร้างปัญหาต่อไปและอาจจะลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นที่จำเป็นต้องขอมติมาจากประชาชน เพราะบางฝ่ายจะใช้เงื่อนไขการที่ต้องมีเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ มาล้มการลงประชามติในทุกเรื่อง มีข่าวว่าเพื่อไทยเคยถกเรื่องนี้กันแล้วแต่ไม่กล้าแก้กลัวจะถูกโจมตีว่าสร้างเงื่อนไขให้ชนะ

สรุปสถานการณ์วันนี้ ดูคล้ายฝ่ายรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง โดยใช้ยุทธศาสตร์การระดมกำลังที่เหนือกว่าเข้าตีโดยไม่สนใจกับดักหลุมพราง คิดว่าตัวเองเป็นกระทิงลุยเหยียบงูพิษให้แหลกได้ ถูกกัดก็แค่ เจ็บเล็กน้อยแต่ได้ 25 ล้านเสียงแน่ และชนะ 
แต่วันนี้ประชาชนทั้งเสื้อแดงและไม่แดงก็มีความคิดของตนเอง ถ้ามีแค่บางส่วนไม่ขยับตัวตามจะมีบทเรียนแบบการเลือกตั้งปทุมธานีเกิดขึ้นได้อีก

ถ้าระดมคนได้น้อย และยังทะเลาะกัน อาจได้แค่ 15 ล้านเสียงและแพ้ ถ้าไม่มั่นใจ ทำไมไม่ปลดกับดักก่อน เพราะไปเล่นตามกฎเกณฑ์ ที่อีกฝ่ายหนึ่งวางกับดักไว้ เหมือนไปแข่งฟุตบอลที่คู่แข่งกำหนดให้พวกเขามี 11 คน พวกแก้รัฐธรรมนูญมี 8 คน แถมกรรมการอยู่ฝ่ายเขา จะชนะได้ยังไง คงทำได้แค่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามวางกับดักอยุติธรรมไว้อย่างไร

ทีมวิเคราะห์รวมความเห็นจากผู้รู้หลายท่าน เสนอมาดังนี้ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขเป็นสิ่งถูกต้อง แต่ควรทำทุกแผนคือ...

1. แก้รายมาตราที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และกฎหมายประกอบการลงประชามติให้ ยุติธรรมและเหมาะสม

2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมศึกษาและออกเสียง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี

3. ให้สภาโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ เลือก ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

4. จัดให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว ตามกติกาที่เหมาะสมซึ่งแก้ไขแล้ว



ถ้าเพื่อไทยยอมรับอำนาจจากการรัฐประหารได้โดยยอมถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ยอมรับการแทรกแซงอำนาจสภาจากศาลได้โดยไม่โหวตวาระ 3 ถ้ายอมรับแม้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นงูพิษได้ ก็เท่ากับยอมเล่นตามกฎเกณฑ์ ที่อีกฝ่ายหนึ่งวางกับดักไว้

ถ้าวันนี้กลัวคำขู่จนยอมทุกเรื่องจะไปดิ้นรนเร่งแก้รัฐธรรมนูญแบบไม่สำเร็จไปทำไม แถมยังต้องมาทะเลาะกันเองอีก ใจเย็นๆ รวมความกล้า รวมกำลังแล้วหาช่องทางบุกใหม่



.

คำ ผกา (ส่งท้ายปี2555)

.

คำ ผกา (ส่งท้ายปี2555)







http://news.voicetv.co.th/thailand/43572.html
Home>News>Thailand> 3 ปี อนาคตประเทศไทย
3 ปี อนาคตประเทศไทย

รายการพิเศษ ''3 ปีอนาคตประเทศไทย'' 
ครั้งแรกของการประชันความคิดระหว่าง Wake Up Thailand ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล 
และ Divas Cafe คำ ผกา คุณลักขณา  ปันวิชัย
by Wootichai
3 กรกฎาคม 2555 เวลา 19:11 น.



.

2555-12-28

ทำไม“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” จึงให้ “ผ่าน”ผลงาน รบ.ปี 55 และบทบาทฝ่ายค้าน“ที่อยากเห็น”

.

ทำไม“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” จึงให้ “ผ่าน”ผลงานรัฐบาลปี 55 และบทบาทฝ่ายค้าน“ที่อยากเห็น”
สัมภาษณ์ โดย วีรวุธ พรชัยสิทธิ์
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:37:00 น.


การเมืองไทยในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะที่มีความเคลื่อนไหวและน่าจับตามองตลอดเวลา ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ ตลอดจนความแตกแยกทางความคิด แรงกดดันทางการเมืองข้างต้น เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยตลอด 1 ปีที่ผ่าน แต่ทว่ารัฐบาลที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำก็ยังกุมบังเหียนคณะรัฐบาลฟันฝ่าจนก้าวเข้าสู่ปีใหม่ได้สำเร็จ 
วันนี้ "มติชนออนไลน์" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีผลงานในการวิพากษ์สังคมและการเมืองมาแล้วหลายชิ้น


# การทำงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
รัฐบาลปัจจุบันได้รับการผลักดันจากประชาชนค่อนข้างมาก  และหลังจัดตั้งรัฐบาล โพลล์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนคาดหวังในรัฐบาลที่จะอยู่ครบ 4 ปี และจะเลือกพรรคเพื่อไทยอีกหากมีการเลือกตั้ง  แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะที่มีความมั่นคงตามสมควร
เพราะวิธีการทำงานมีความน่าสนใจ มีการทำงานที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่ในภาวะที่ปกติให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากประชาชนได้ผ่านความยุ่งยากทางการเมืองมาเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงที่จะต่อกรและโต้เถียงกับฝ่ายตรงข้ามเป็นรายวันและพยายามให้เห็นความจงรักภักดี รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพที่ทำให้ระบบการเมืองลื่นไหลตามสมควร โดยที่รัฐบาลจะพยายามอยู่ให้ครบเทอมเพื่อพยายามให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความมั่นคง


# หากจะให้ประเมินแล้วผลงานของรัฐบาลถือว่าผ่านหรือไม่ 
นโยบายของรัฐบาลหลายๆอย่าง ประชาชนไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวซึ่งก็ทำได้ดีตามสมควร
ดังนั้นดิฉันให้ผ่าน ในแง่ที่ค่อนข้างจะดีด้วย


# นโยบายที่อยากให้รัฐบาลเดินหน้าทำ
อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการที่สัญญากับประชาชนโดยอย่าไปพึ่งเพียงการกู้เงินและใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะอาจจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลน่าจะปรับปรุง การเก็บภาษีอากร ซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นก็ระบุว่าไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่าอุดช่องโหว่ของการเก็บภาษีในโครงสร้างปัจจุบัน เช่น ภาษีรายได้นิติบุคคล  ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงต่างๆ ก็จะสามารถเพิ่มภาษีได้ถึงร้อยละ 3 - 4 ของจีดีพี แต่การจะผลักดันต้องมาจากฝ่ายการเมือง
ส่วนภาษีอื่นๆ ที่น่าจะปรับปรุงได้เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ยกเลิกไป น่าจะนำมาพิจาณาใหม่


# เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ดำเนินนโยบายเหล่านั้น
นักการเมืองอาจจะคิดว่าการเพิ่มภาษีใหม่ๆอาจจะทำให้รัฐบาลขาดความนิยม
แต่ยังไม่ต้องทำในขณะนี้ก็ได้ แต่ต้องหาทางอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบว่าการที่จะทำนุบำรุงให้ประชาชนให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้นได้ ต้องมีการปรับปรุงระบบภาษีด้วย เพราะจริงๆแล้ว มันไม่ได้เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากมายเพราะเป็นต้นทุนที่ต่ำ
และภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นก็ควรที่จะพิจารณาได้แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่รีบด่วน  แต่ว่าเรื่องรายได้นั้นไม่ควรลดภาษีมากนัก


# ถ้าหากนำรายได้ที่เพิ่มจากภาษีเหล่านั้นไปอุดหนุนนโยบายประชานิยมจะมีปัญหาหรือไม่
ไม่อยากจะให้เรียกนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมีสถานภาพการครองชีพที่ดีขึ้นเป็นมาตรการประชานิยมเสมอไปเพราะถ้าหากมีเงินรายได้มาอุดหนุน จะทำให้ผู้คนมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้น
เช่น หากจะให้คนมีโอกาสด้านการเรียนที่ดีขึ้นโดยไม่เสียเงิน ซึ่งถ้ามองในแง่การลงทุนในด้านสังคมถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำ แต่มูลค่าเพิ่มกลับมาจะได้สูงกว่าที่ลงทุนไปแต่เป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ควรจะทำ  และต้องนึกถึงคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งถือว่าคุ้มเพราะจะได้ประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้น รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น


# นโยบายใดที่รัฐบาลยังไม่ทำสักที ทั้งที่มีความจำเป็น 
ดิฉันอยากเห็นรัฐบาลสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานให้เป็นสหภาพแรงงานและอยากให้มีบทบาทต่อรองค่าจ้างของคนงานกับนายจ้างเนื่องจากปัญหาในเรื่องรายได้และแรงงานบ้านเรามีช่องว่างที่ต่างกันมากกว่าประเทศอื่นๆ
ในประเทศอื่นๆ ช่องว่างเหล่านี้ประมาณเท่าตัว แต่ประเทศไทยในบางครั้งห่างถึง 20 เท่าตัว ซึ่งเป็นความไม่แฟร์ของระบบเศรษฐกิจและการจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นเมื่อเป็นดังนี้จะเห็นความเหลื่อมล้ำของรายได้  ลองคิดดูว่าถ้าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยได้ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อครัวเรือน เขาจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนดีในอนาคต ดิฉันจึงสนับสนุนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลนี้ ที่จริง 300 บาทไม่ได้มากไปเลย ในภาวะเศรษฐกิจ และขาดแคลนของแรงงาน
แน่นอนว่าฝ่าย SME น่าจะมีปัญหาแต่ก็ต้องหาทางออกกันไป หรือลูกจ้างที่ออกมาอาจมาทำธุรกิจขนาดย่อมก็ได้ นอกจากนี้ยังควรให้มีการฝึกทักษะของผู้ที่ต้องออกจากงานเพื่อให้สามารถไปทำในธุรกิจที่ใหญ่กว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าที่ประกาศไป 7 จังหวัด ก็ไม่เห็นว่าจะล้มละลาย แน่นอนว่าผู้ประกอบการฟังแล้วอาจจะไม่ชอบ แต่ผู้ประกอบการอาจจะไปเพิ่มประสิทธภาพการจัดการ ให้ดีขึ้นเพื่อลดต้นทุนได้


# นโยบายจำนำข้าวซึ่งมีปัญหามากในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นแค่ไหน
เป็นการหวังผลทางการเมืองสูงจึงกำหนดราคาจำนำสูง จึงได้รับผลบวกทางการเมือง แต่ควรมีความยืดหยุ่นกว่านี้ในการตั้งราคา ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องใส่ใจราคาที่เสนอด้วยว่าจะทำให้เราขายข้าวได้โดยไม่เป็นหนี้มากหรือไม่ และอยากให้รัฐบาลลงไปดูกระบวนการในระดับพื้นที่ให้แน่ใจว่าชาวนาได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ


# นโยบายของรัฐบาลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากแค่ไหน
ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ก็ควรปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนโยบายอื่นๆ เช่น ค่าแรง 300 บาท การรับจำนำข้าว ก็มีผลในด้านการลดความเหลื่อมล้ำแต่ไม่ยั่งยืน เพราะหากจะยั่งยืนต้องประกอบไปด้วยมาตราการทางด้านภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐที่จะป้องกันที่จะให้คนที่มั่งคั่งพอกพูนความมั่งคั่งของตัวเองไปเรื่อยๆโดยไม่ได้ช่วยสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเรื่องของภาษีอากร


# แล้วนโยบายรถคันแรกเป็นการอัดฉีดเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับจะทำให้รถติดหรือไม่
เรื่องรถติดเป็นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าไประยะสั้นในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่เป็นนโยบายที่เลวร้าย แต่ต้องมีความลุ่มลึกตามสมควร 
รายงานหลายฉบับของนักวิเคราะห์ทางการเงินส่วนใหญ่จะพอใจเพราะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ดีขึ้น เพียงแต่ต้องป้องกันไม่ให้ภาวะฟองสบู่ก่อตัวขึ้น แต่ดิฉันไม่ค่อยเป็นห่วง


# การดำเนินนโยบายสร้างหนี้ประชาชนจะเกิดประโยชน์หรือไม่
นักธุรกิจก็ต้องเป็นหนี้สร้างหนี้เรื่อยๆไม่เห็นมีใครว่า แต่หากประชาชนจะสร้างหนี้ แต่อาจมีปัญหาบ้าง เขาอาจไม่มีประสบการณ์ แต่ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ โครงการกองทุนหมู่บ้านก็มีหนี้เสียไม่มาก ปัญหาน่าจะอยู่ที่นโยบายที่ให้ธนาคารออกบัตรเครดิตได้โดยง่ายมากกว่า โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหามากกว่านโยบายรัฐบาล


# การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร 
ดิฉันอยากจะเห็นฝ่ายค้านในด้านที่เป็นบวกมากกว่านี้เพื่อเป็นคู่แข่งของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มองว่าฝ่ายค้านมีลักษณะตั้งรับ ไม่ค่อยเป็นบวกมากเท่าที่ควร อยากเห็นบทบาทที่ไม่เป็นฝ่ายตั้งรับแต่อยากเห็นการทำให้พรรคก้าวหน้าและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องที่ควรจะร่วมมือในส่วนที่มีผลบวกซึ่งกันและกันในอนาคต ฝ่านค้านอาจจะมองการเมืองในแบบวันต่อวันมากเกินไป จึงอยากให้มองเป็นระยะปานกลางหรือระยะยาวมากกว่านี้


# แล้วนโยบายใดที่ฝ่ายค้านควรสนับสนุนรัฐบาล
ดิฉันเห็นว่าทำไมฝ่ายค้านไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 เพื่ออนาคตของระบอบประชาธิปไตย การไม่สนับสนุนของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองวันต่อวันมากเกินไป จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550 น่าจะเป็นผลดีกับพรรคการเมืองมากในอนาคต ส่วนการลงประชามติก็ต้องติดตามว่าจะลงเอยอย่างไร ที่จะเป็นผลบวกและไม่เกิดความขัดแย้ง


# การต่อสู้แรงกดดันของรัฐบาลทำได้ดีไหม
ต้องยอมรับว่าสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่คล้อยไปตามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเราจึงเห็นข่าวในทางที่ไม่ค่อยจะสวยงามนัก แต่ถ้าอ่านการวิเคราะห์ของต่างประเทศจะเห็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้ดีตามสมควร แต่รัฐบาลต้องใส่ใจในข้อครหาในเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือประเด็นที่ไม่มองระยะยาวให้มากกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้ว นโยบายของรัฐบาลยังไม่น่ากลัว เพราะสมัยรัฐบาลทักษิณก็กระตุ้นเศรษฐกิจจนหนี้สาธารณะสูงขึ้น แต่จริงๆ และไม่ได้สูงอย่างที่คิด คือไม่ถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี เช่นเดียวกับตอนนี้ แต่กระแสจากข่าวให้ภาพน่ากลัว แต่ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะร้อยละ 200 ด้วยซ้ำ


# ..อวยพรปีใหม่ให้กับคนไทย
ขอให้ทุกคนตั้งสติ เพราะความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น และจะมีผลในทางบวกเพราะทำให้เราต้องตื่นตัว ว่าการเมืองของเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่า คนที่คุ้นเคยกับอะไรเก่าๆ น่าจะหวั่นไหว ขอให้อย่าหวั่นไหวเลยเพราะการทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงอาจจะดีขึ้นก็ได้ และขอให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพดีค่ะ



.

2555-12-22

ประชามติ (1)..แก้รัฐธรรมนูญ..แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ประชามติ...แก้รัฐธรรมนูญ...แก้ปัญหาประเทศ อย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (1)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1688 หน้า 20


วันนี้จำเป็นต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อีกครั้ง 
ทั้งพิษร้ายและวิธีแก้ไข
ที่ยังถกเถียงกัน

รัฐธรรมนูญ GMO...
สร้างยีนไดโนเสาร์ ใส่ไว้ในงูเหลือม


ปี2550 มีการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms-GMO) โดยใช้เทคโนโลยี DNA Recombinant โมเลกุลของดีเอ็นเอจากไดโนเสาร์ หลายมาตราถูกผสม เพื่อสร้างยีนขึ้นมาใหม่ 
จากนั้นดีเอ็นเอนี้ก็ถูกถ่ายลงไปในงูเหลือม กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดแต่งทางพันธุกรรมและผ่านการผสมข้ามพันธุ์ จึงให้กำเนิดรัฐธรรมนูญกลายพันธุ์ ฉบับ 2550 ซึ่งมีบางส่วนเป็นประชาธิปไตย บางส่วนเอื้อเผด็จการ
เวลาลงน้ำใช้ทั้งหางและขาก็ว่ายได้คล่อง แต่เวลาอยู่บนบกไม่แน่ใจว่าจะเลื้อยดี หรือจะคลานด้วยขาดี

รัฐธรรมนูญ GMO เป็นผลผลิตของกลุ่มรัฐประหารที่ยึดอำนาจมา เพราะประเทศเราการได้อำนาจในยุคใหม่มีสองทาง คือใช้กำลังและเล่ห์เหลี่ยมแย่งยึดมา หรือผ่านการเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ 
สำหรับผู้ที่รู้ว่าเลือกตั้งสู้ไม่ได้ ก็ต้องยึดอำนาจเป็นธรรมดา แต่เมื่อการยึดอำนาจไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ต้องลอกคราบเปลี่ยนตัวและรักษาอำนาจไว้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ GMO ฉบับ 2550 นี้และฟักไข่เป็นตัวไว้ในตำแหน่งสำคัญ หาวิธีหลอกให้คนยอมรับรัฐธรรมนูญนี้และเอาไว้ใช้ให้นานที่สุด 
ข้ออ้างง่ายๆ คือป้องกัน...ระบบทักษิณ... 

นักวิชาการที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้ เลวร้ายได้ระดับจริงๆ เพราะได้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับคนทั้งประเทศมาหลายปี เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ


เป้าหมายแรก
รักษาและสืบทอดอำนาจ 
ของกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหาร ให้นานที่สุด


ลักษณะเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คืออำนาจการแต่งตั้งจะอยู่ที่ วุฒิสภา+ตุลาการกลุ่มหนึ่ง+ประธานองค์กรอิสระ นี่เป็นการ...ร่วมกันเขียน เวียนกันแต่งตั้ง เพื่อรั้งอำนาจไว้ ชั่วนิรันดร์ 
วุฒิสภามีสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน (เดิมมี 76 จังหวัด) มาจากการสรรหา 74 คน หมายความว่า คน 60 ล้านคน สามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 76 คน และคนพิเศษ ที่เป็นผู้สรรหา 7 คน (ประชาชนก็ไม่ได้เลือกมา) ก็สามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 74

ผู้สรรหาทั้ง 7 ประกอบด้วยใครบ้าง? 
1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2. ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3. ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 4. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 5. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 6. ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 7. ตัวแทนตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 
จะเห็นว่ากรรมการสรรหาทั้ง 7 คน มาจากการเลือกของศาลต่างๆ และสมาชิกวุฒิสภา ส่วนวุฒิสภาก็มีสิทธิเลือกกรรมการหรือรับรองกรรมการจากองค์กรต่างๆ 
ถ้าพิจารณาจากวิธีการเลือก จะพบว่า ประธานตุลาการในศาลต่างๆ จะมีบทบาทสูงในการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 
สายตุลาการส่วนใหญ่จะมีเสียงเกินครึ่ง แม้ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ดังนั้น เสียงส่วนนี้จะมีน้ำหนักในการตัดสินว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเกือบทุกองค์กร

ส่วนกรรมการ ปปช.ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คปค. ตั้งแต่ 22 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ถ้ามีการสรรหาก็ต้องผ่านศาลและวุฒิสภาเช่นกัน 
ลักษณะการเลือกแบบนี้จึงเป็นการที่คนกลุ่มเดียวผลัดกันเลือก บุคคลที่ตนเองพอใจหรือเลือกตามคำสั่ง ของผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ชี้เป็นชี้ตาย ปัญหาความขัดแย้งใหญ่ๆ ในสังคม การทำงานของบุคคลและองค์กรต่างๆ จึงเป็น กระบวนการอยุติธรรมต่อเนื่อง และวุ่นวาย แบบที่เห็นมาตลอด 6 ปี


เป้าหมายที่สอง 
คือคุ้มครองคนทำรัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลังไม่ให้ถูกลงโทษ 
ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต


การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2550 มาตรา 309 เพื่อช่วย...ทักษิณ...หรือใครกันแน่? 
"มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้" 
ส่วนไอ้ที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 คือ...บทนิรโทษกรรมอยู่ในมาตรา 37 
"มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะ... (คปค.หรือ คมช.) ...ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" 
แสดงว่า "บทนิรโทษกรรม" ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คปค. หรือ คมช.ประกาศใช้เพื่อปกป้องตนเองและผู้อยู่เบื้องหลังไม่ให้ต้องรับโทษ ถึงขั้นประหารชีวิต เนื่องจากการกระทำรัฐประหาร ตามมาตรา 113

รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "เราจะเขียนกฎหมายมาตราหนึ่งบอกว่า การกระทำใดๆ ของคนคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอดีตที่ทำไปแล้วในอดีตถือว่าถูก อันนี้ยังพอรับได้ แต่ที่จะทำต่อไปในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้างก็ให้ถูกอีก อันนี้คงไม่ได้ แล้วมาตรานี้ กกต.ก็เอามาใช้เลย จำได้ไหมเรื่องเอกสารลับที่ คมช. มีเอกสารลับที่แสดงถึงความไม่เป็นกลาง แม้จะเป็นความผิด ก็ยกเว้นตาม 309 ในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมโดย concept ของกฎหมายก็ไม่ผิดนะ แต่จะนิรโทษกรรมได้มันต้องมีความผิดเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่นิรโทษกรรม นี่คือการไฟเขียวไว้ก่อนว่าในอนาคตไปทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าพูดให้สุดขั้ว คือให้ไฟเขียวไว้ก่อนว่าคุณไปยิงใครตายก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิดไง ทั้งก่อนและหลัง" 
สรุปว่าวันนี้กลุ่มที่ทำรัฐประหารยังสามารถรักษาอำนาจตามเป้าหมายแรกสำเร็จ จึงยังไม่มีใครถูกลงโทษ และความอยุติธรรมจะดำเนินต่อไปอย่างนี้ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญ GMO



ถ้าไม่อยากใช้รัฐธรรมนูญ GMO ฉบับ 2550 
จะทำอย่างไร?


ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตยและต้องการล้ม ก็มีอยู่ 2 วิธีเช่นกัน คือ 
ใช้กำลังฉีกทิ้งด้วยการปฏิวัติ หรือใช้วิธีแก้ไขตามช่องทางประชาธิปไตย


มีคนคิดเรื่องการปฏิวัติโดยประชาชน ตั้งแต่ 2553 มา มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงบีบคั้นของความอยุติธรรม  
ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วยเบี่ยงกระแสไปสู่การปฏิรูป แต่วันนี้คนพวกนี้ไม่มาร่วมถกเถียงด้วย พวกเขารอคอย ให้โอกาสแก่ผู้เดินแนวทางสันติก่อน

เส้นทางสันติต้องใช้ความพยายาม และอดทนอย่างมากเพื่อแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตย  
แต่ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ความอยุติธรรมยังเดินต่อ ทุกอย่างก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติ และที่อยากมีเรื่องจะได้มีแน่นอน


แต่วันนี้ทั้งรัฐบาล สภา และประชาชนทั่วไป ที่เลือกเอาวิธีแก้ไข ผ่านระบอบประชาธิปไตยยังเห็นต่างเป็นสองแนวทาง
1. แนวทางแรกไม่สนใจคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สนับสนุนแนวนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพรรค และคนเสื้อแดงบางส่วน บอกว่าให้เดินหน้าต่อ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สภาลงมติผ่านวาระ 3 และเลือกตั้ง สสร. เรื่องการลงประชามติว่า ยอมรับหรือไม่ ควรทำหลังร่างเสร็จแล้ว  
2. แนวทางที่สอง คนที่สนับสนุนมีทั้งคนในพรรคและคนนอกทั่วไป อยากให้ทำตามคำแนะนำของศาล คือ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรจะลงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะร่างใหม่ทั้งฉบับ และควรชี้แจงเหตุผล ทำความเข้าใจกับประชาชน รวบรวมความเห็นต่างๆ ที่ จะให้ประโยชน์ในการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการรณรงค์ครั้งใหญ่ 
นี่เป็นประชาธิปไตยทางตรง เป็นการปูรากฐานทางประชาธิปไตยลงลึกไปสู่ประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอยู่แล้ว ให้แข็งแรง มั่นคงและมีเหตุผล



ตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตย
ต้องมาทะเลาะกันว่าจะสู้กับพวกสนันสนุนรัฐประหารอย่างไรดี?


ก่อนอื่นต้องย้อนดูว่า ที่ผ่านมาการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เจอมาหลายด่าน ตั้งแต่เกมหนัก ถ่อย และถ่วงเวลาในสภา  
เจอการฟ้องมาตรา 68 ผ่านศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แล้วก็โดนล็อกไม่กล้าลงมติ วาระ 3 
ด่านที่สามอยู่บนถนนคือ ม็อบสนามม้าและม็อบแช่แข็ง

การต่อต้านทุกรูปแบบของกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้บางคนไม่คิดว่าแนวทางสันติจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ 
พวกนี้เชื่อว่าถ้าผ่านไปได้ จะเจอด่านที่สี่คือการใช้กำลังรัฐประหารและก็จะวนกลับไปสู่ปี 2549 อีกครั้ง



แต่พวกอยากเดินตามระบอบประชาธิปไตยจะเดินอย่างไร เพราะฝ่ายตรงข้ามวางกับดักไว้ทุกเรื่อง ถ้าแยกกันเดินแพ้แน่นอน แต่ถ้าไปด้วยกันต้องตกลงวางแผนร่วมกัน 
พวกที่คิดให้โหวตวาระ 3 เลย ก็มีเหตุผล ว่าเป็นอำนาจสภา จึงไม่กลัวอำนาจศาล และมองว่าถึงลงประชามติผ่าน ก็จะเจอข้อหาอื่นๆ อีกจนได้ ถ้าจะปะทะก็เปิดหน้าเลย ส่วนการลงประชามติ ที่ต้องมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่ง คือ 24 ล้านคน ก็ทำได้ยาก จึงไม่ควรเสียเวลา

ส่วนพวกที่เดินแนวทางลงประชามติก่อนร่าง ก็กังวลว่าการจะต้องหาถึง 24 ล้านเสียงมาลงประชามติ ทำยากแต่ช่วยกันทำก็พอผ่านได้และมีข้อดีอื่นๆ เช่น การให้การศึกษาประชาชนก่อนลงประชามติประมาณ 3 เดือนเป็นเรื่องที่ดีมาก ประชาชนควรรู้ปัญหาของโรคก่อนทำการรักษา ด้วยกำลังของทุกฝ่ายตั้งแต่รัฐบาล องค์การบริหารท้องถิ่นจนถึงประชาชน เมื่อทำความเข้าใจแล้วจะต้องช่วยกำหนดทิศทางหรือทางเลือกว่าจะแก้สถานการณ์ประเทศไทยด้วยวิธีไหน 
นี่จะเป็นการสร้างเส้นทางประชาธิปไตยที่มั่นคง

แต่ข้อดีข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ของทั้งสองแนวทาง และทำอย่างไรจึงจะมีคนออกมาเกิน 24 ล้านเสียง เป็นปัญหาที่ต้องวิเคราะห์ อย่าทะเลาะกันแต่ถกเถียงเพื่อหาทางสู้ที่ดีที่สุด แล้วร่วมกันสู้



.

ยะเยียบ โดย คำ ผกา

.

ยะเยียบ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1688 หน้า 89


จะว่าไป การอยู่ในประเทศไทยแลนด์นั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมาตามลำดับของการเจริญทางสติกอปรด้วยปัญญาคือการเรียนรู้ว่า อย่าไปอินังขังขอบกับการมอบ "รางวัล" ใดๆ ในประเทศนี้

ไม่เพียงแต่ไม่อินังขังขอบ เรายังเรียนรู้ว่าใครก็ตามที่ได้รับรางวัลอะไรสักอย่างในประเทศนี้ มันแสดงให้เห็นว่ารางวัลนั้น และคนผู้นั้นชักจะมีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือพูดให้ง่ายลงว่า คนผู้นั้นคือคนที่ "เขา" อยากขอไปเป็นพวก หรือ คนผู้นั้นได้ไปเป็นพวกของ "เขา" แล้ว 
จากประสบการณ์ เราได้เห็น "คน" เปลี่ยนพวก เปลี่ยนข้าง เปลี่ยนอุดมการณ์ เพราะหวังรางวัลกันมาก็มาก บ้างก็รู้ตัวบ้างก็ไม่รู้ตัว


รางวัลเหล่านั้นอาจไม่ได้นำมาซึ่งทรัพย์ศฤงคารโดยตรงแต่ก็นำมาซึ่งวิถีแห่งการไหลมาเทมาของศฤงคารนั้นๆ เพราะมันเอาไปหลอมให้คนเชื่อถือไว้ใจเป็นต้นทุนทางสังคมที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับสังคมที่บูชาโล่ ประกาศนียบัตร และถ้อยแสดงเกียรติคุณอย่างฟุ้งเฟ้อ 

เราอยู่ในสังคมที่ยกย่องผู้คนกันที่
- หูย เขาจบจากอ๊อกซ์ฟอร์ดเชียวนะ จะมาว่าเค้าหนีทหาร สั่งใช้กระสุนจริง ไม่เข้าใจประชาธิปไตยได้ยังไง เค้าไม่ใช่พวกโกงบ้านโกงเมืองนะ
- หูย นี่เขาได้รางวัลกวีแห่งชาติเชียวนะ เพราะฉะนั้น เขาต้องเป็นคนดีแน่ๆ 
- หูยนี่ ต้นตระกูลเค้ารับใช้ชาติมาหลายชั่วคน เป็นไปไม่ได้ที่เค้าจะทำอะไรไม่ดี
- หูยนี่ คนนี้เค้าบริจาคเงินตั้งเยอะ คนดีๆ แบบนี้หายาก 
- หูยนี่ เค้าได้รับรางวัลส่งเสริมมนุษยชนดีเด่นเชียวนะ เราต้องศรัทธาสิ่งที่เค้าทำนะ ถ้าเค้าเป็นคนไม่ดี จะได้รางวัลได้ไง ฯลฯ

(เอ๊ะ คำว่า ตรรกะ สะกดยังไงเหรอ?)



แม้จะเรียนรู้ว่าไม่ต้องไปอะไรนักหนากับรางวัลที่ประเทศนี้เค้ามอบให้กัน ไปอวยกันเองเออกันเอง แต่สำหรับรางวัลเกียรติยศ "ผู้ส่งเสริมมนุษยชน" ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบให้แก่ นายวีระ สมความคิด, พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นั้นเป็นที่กังขาของสังคมเป็นอย่างยิ่ง 
อีกสองท่านคือ นางอรุณี ศรีโต และ นางสายสุรีย์ จุติกุล-ซึ่งหากคณะกรรมการสิทธิฯ อยากให้รางวัลของท่านเป็นรางวัลระดับกรม, กอง แจกๆ กันให้หมดหน้าที่ แจกกันเงียบๆ รู้กันสัก 15 คน เป็นข่าวสัก 2 นาที ไม่มีบทสนทนา ชื่นชม หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีความเห็นบวกหรือลบตามมา เรียกว่าให้แล้วเท่าทุน การมอบรางวัลให้คุณอรุณี หรือคุณสายสุรีย์ ก็ดูเหมาะสม เข้าเป้า

แต่ดูเหมือนคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้อยากเข้าเป้าแต่อยากล่อเป้า หวยจึงมาออกที่บุคคลสามท่านที่สังคม-อึ้ง-ว่า เอ่อ...เป็นผู้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร? 
อย่าลืมว่าการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เป็นคนใจบุญ ชอบเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ช่วยหมาจรจัด ทำงานอาสาสมัคร บำเพ็ญประโยชน์ เป็นอาสาสมัครกู้ภัย หรือมีความชำนาญในการผ่าศพ ฯลฯ แล้วมันจะทำให้คุณเป็นนักส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยอัตโนมัติ

การที่องค์กรธุรกิจหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายมือถือ หรือขาย "สุขภาพจิต" การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรผ่านการทำการกุศลหรือทำประโยชน์แก่สาธารณะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่อง win-win องค์กรได้ภาพลักษณ์ สังคม (เชื่อกันว่า) ได้ประโยชน์ 
องค์กรนั้นอาจจัดงานดนตรี กวี ศิลปะ รับบริจาคหนังสือ แจกหนังสือ ทำห้องสมุด สุดท้ายได้ชื่อว่า โอ้ววว ช่างเป็น "คนดี" จังเลย พอเป็นคนดี ครานี้จะขายอะไร ราคาเท่าไหร่ คนก็ไม่เกี่ยงที่ซื้อเพราะเชื่อว่า "กำไร" นั้นจะกลับคืนสู่ชุมชน สู่สังคม (อย่างน้อยก็เชื่อ) 
แต่ลำพังการทำการตลาดแบบนี้คงไม่พอที่จะทำให้ได้รางวัลส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เว้นแต่กิจกรรมดนตรี กวี ศิลปะ ที่เขาจัดนั้นมีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเพื่อนมนุษย์ที่ถูกละเมิดอย่างเอาจริงเอาจัง 
แต่เท่าที่เห็น ดนตรี กวี ศิลปะ และหนังสือในกิจกรรมเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของการ "ละเมิด" สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศเสียด้วยซ้ำไป


ไม่เพียงแต่การ "ทำความดี" จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการ "ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" การที่ใครคนใดคนหนึ่งไม่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยอดเยี่ยม 
เพราะมิเช่นนั้นเราต้องให้รางวัลแก่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะทุกคนที่ปฏิบัติตามกฎจราจรและไม่ดื่มสุราขณะขับรถ! 

ก่อนจะดูรายชื่อรางวัลล่อเป้าของคณะกรรมการสิทธิฯ เรามาทบทวนกันหน่อยดีกว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร? ทำไมมันจึงสำคัญ
มันสำคัญมานานหรือยัง หรือว่าเพิ่งจะสำคัญ?


จะเปิดกี่ตำราก็จะเขียนตรงกันว่า : สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อการใช้ชีวิต และโดยสิทธิเหล่านี้จะไม่มีใครสามารถมาพรากไปจากบุคคลนั้นๆ ได้ 
นอกจากนี้ อาจจำแนกเป็น สิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม

ดังนั้น เราจึงได้ยินกันอยู่เนืองๆ ว่า คนคนหนึ่งเกิดมาย่อมมีสิทธิที่จะเชื่อ จะนับถือศาสนา จะธำรงไว้ซึ่งความเชื่อทางการเมืองของตนเอง จะทำมาหากินอย่างไม่ถูกกีดกัน มีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีใครมากล่าวโทษว่า "สมน้ำหน้า อยากกินลูกชิ้นผสมบอแรกซ์มากจนเป็นมะเร็ง แล้วต้องมาเข้าโรงพยาบาลผลาญเงินภาษีประชาชนคนอื่น" 
(สำหรับบางประเทศเขาบ่นว่าพวกกินเหล้า สูบบุหรี่นี่เป็นภาระในการรักษา ดูแล แทนที่หมอ จะไปดูแลคนป่วยคนอื่น ต้องมารักษามะเร็งปอด มะเร็งตับให้ขี้เหล้า แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครตั้งคำถามว่า แล้วถ้าคนป่วยคนนั้นเป็นคนไม่กินเหล้าสูบบุหรี่เลย แต่เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ หมอจะพูดอย่างเดียวกันหรือไม่ว่า-ทำไมต้องมานั่งเสียเวลารักษาโรคให้อาชญากร?) 
ความหมายอย่างเป็นทางการนี้มีขึ้นเมื่อสมัชชาสหประชาชาติประกาศรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วันที่ 15 ธันวาคม 2491

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยปี 2491 ยังจับไข่ล้มต้มไข่กินเพราะการรัฐประหารปี 2490 ไม่ต้องพูดถึงว่าเราได้บรรจุเอาความหมายของคำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "อัตลักษณ์" รัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ เพราะในเวลานั้น ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเวลาของการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอุดมการณ์สองกลุ่ม 
คือกลุ่มที่มั่นใจในลัทธิรัฐธรรมนูญกับกลุ่มที่พยายามจะบอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ และพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มรัฐธรรมนูญ และเราก็ล้มมาได้สำเร็จเรื่อยมา จนเป็นประเทศที่เขาบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยนะ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มีการเลือกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
มีไรป่าววว? 

เหตุที่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็เพราะหา "คนดี" ไม่ได้ นักการเมืองมีแต่เลวๆ ขืนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งประเทศชาติก็ล่มจมกันพอดี อีกประการหนึ่งประชาธิปไตยเสียงข้างมากไม่เหมาะกับประเทศไทย คนไทยยังโง่อยู่ มีโจรมากกว่าพระ จะให้เสียงข้างมากชนะก็เป็นโจราธิปไตย-แย่จุงเบย-อย่ากระนั้น เรามาเป็นธรรมาธิปไตยกันดีกว่าพี่น้อง



สิทธิมนุษยชน? อร้ายยย นั่นมันของฝรั่ง ไม่ต้องไปลอกเขามา เรามีสิทธิมนุษยชนแบบไทย ไพร่ฟ้าหน้าใส มีอะไรไปสั่นกระดิ่ง ผู้ปกครองเราดูแลทุกคนทั่วหน้าไม่เลือกยากดีมีจน เรามีผู้ปกครองดีแบบนี้เลยไม่ต้องฆ่าฟันกันจนต้องประกาศสิทธิมนุษยชนแบบฝรั่ง เพราะคนไทยจิตใจดีงาม เอื้อเฟื้อ ประนีประนอม แล้วเราพากันฝ่าวิกฤตการณ์มาได้เพราะผู้นำเราเก่ง ฉลาด เพราะฉะนั้น ให้กลับไปดูหลักการสิทธิมนุษยชนของเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยเลย ใครก็สู้เราไม่ได้ 
สอนกันมาแบบนี้ พอเด็กอ้าปากจะถามเรื่องการเกณฑ์แรงงาน ระบบมูลนาย ไพร่ทาส สิทธิเหนือร่างกายของ "มนุษย์" ที่สังกัด "รัฐ" โบราณเหล่านั้นว่าหากมีคอนเซ็ปต์ว่าด้วยสิทธิไฉนผัวจึงขายเมียได้ พ่อขายลูกได้ ตกลงใครเป็นเจ้าชีวิตใครบ้าง?
ถามมากเข้าก็จะโดนเอ็ดกลับมาว่า-บอกว่าอย่าไปเอาหลักการของฝรั่งมาใช้กับของเรามันไม่เหมือนกัน พวกเธอนี่รู้ครึ่งๆ กลางๆ เรื่องไทยก็ไม่รู้ เรื่องฝรั่งก็ไม่กระจ่าง ไปดูสิระบบทาสไทยกับทาสฝรั่งต่างกันราวฟ้ากับเหว ระบบมูลนายกับระบบฟิวดัลของฝรั่งมันเหมือนกันที่ไหน!

กว่าคำว่า "สิทธิมนุษยชน" จะได้ลงหลักปักฐานในเมืองไทยก็เมื่อเรามีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก มีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 2530 
มีเพื่อจะได้ตอกย้ำกันอีกคราว่า เป็นไงเล่า ประชาธิปไตยเต็มใบมันนำมาซึ่ง บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ตไงจ๊ะ ทหารออกมาทำรัฐประหารกันเถิดจะเกิดผล



การต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2535 และรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเป็นครั้งแรกที่สิทธิมนุษยชนต้องกลายมาเป็นแก่นสารที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ  
แต่กระนั้น ด้วยความที่เชื่อว่าชาวบ้านยังโง่ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงผลิตองค์กรอิสระมากมายตามกลุ่มอาการหวาดกลัว "การเลือกตั้ง" หวาดกลัว "ดุลยพินิจของประชาชน" องค์กรอิสระอันยุ่บยั่บนี้ไว้เพื่อถ่วงดุลนักการเมืองเลวที่ประชาชนเลือกมาเพราะยังโง่ ยังถูกนักการเมืองหลอก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีขึ้นด้วยปรัชญาว่าด้วยการประกันสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดจึงเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง!!!! ที่ไม่มีการถ่วงดุลจากเสียงของประชาชนเลยแม้แต่น้อย (ที่มาของคณะกรรมการก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้วนี่หว่า) 
ทว่า ตอนนั้นพวกเราต่างไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะถูกล้างสมองมานานว่า เฮ้ยยยย ท่านๆ พวกนี้ ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เล่นพวกเหมือนพวกมาจากการเลือกตั้ง อู๊ยยยย เค้าต้องเลือกเอาแต่คนดีๆ น่านับถือมาทั้งนั้นแหละ อีคำ อีศรี อย่างเราจะไปรู้อาร้ายยย 

ค่ะ อีคำ อีศรี อีแจ๋ว อย่างเราจะไปรู้อารายย จนกระทั่งมีการทำรัฐประหาร จนกระทั่งมีการล้มการเลือกตั้งด้วยการบอยคอต จนกระทั่งมีการสังหารประชาชนด้วยอาวุธสงครามแล้วคณะกรรมการสิทธิฯ ท่านนั่งเป็นเบื้อใบ้ นั่งสวยๆ นั่งนิ่งๆ  
อ้อ ท่านไม่นิ่งบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ท่านเดินทางไปแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย 
โอ้ว ท่านทำหน้าที่ของท่านยอดเยี่ยมมากค่ะ 
มีนักโทษการเมืองเต็มคุก โดนจับกุมคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม โดนขังทั้งที่คดียังไม่ตัดสินจนถึงที่สุด นักโทษการเมืองถูกใส่ตรวน นักโทษที่ต้องคดีที่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองตายในคุก ท่านก็ยังนั่งสวย ไม่สวยเปล่า เลือดท่านเย็นยะเยียบทีเดียว


แล้วท่านก็ลุกขึ้นมาตบหน้าประชาชนด้วยเลือดอันเย็นยะเยียบของท่านด้วยการประกาศรางวัลแก่บุคคลที่สนับสนุนการใช้เครื่องตรวจจับระเบิดกำมะลอ ไม่นับผลงานชันสูตรศพกำมะลอหลังการสลายการชุมนุม (โปรดดูคลิปการตรวจกระสุนพยาบาลกมลเกด)

ท่านประกาศรางวัลแก่คนที่ปลุกเร้าให้เราต้องขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยสำนึก patriotic อันล้าหลัง การกระทำของเขานำมาซึ่งสงครามชายแดน สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ท่านมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะ "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" โดยที่ท่านมิได้เฉลียวใจว่าการฆ่าเวลานั้นเป็นบาปไปตั้งแต่เมื่อไหร่????

การที่ท่านนั่งเป็นกรรมการสิทธิฯ โดยมิได้ปกป้องสิทธิของมนุษย์นั้นถือว่าท่านนั่งฆ่าเวลาอยู่หรือไม่? และบาปหรือเปล่า?
หรือการนั่งเฉยของท่านนำมาซึ่งการฆ่า สิ่งนั้นบาปหรือไม่?


แต่เอาล่ะ เราจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไรว่าทำไมการถักโครเชต์ฆ่าเวลาของฉันจึงบาปกว่าการฆ่าคนไปได้ ไม่นับว่าวาทะนี้เปล่งออกมาในช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรงของการเมืองไทยกำลังพุ่งขึ้นสูงสุด  
และบุคคลเดียวกันนี้ได้กล่าวว่า "คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องหนทางพ้นทุกข์"

วาทะนี้เป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยที่ยึดเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะกำลังใช้โวหารลวงว่า "คนส่วนใหญ่" คือคนไม่มีปัญญา เป็นพวกดาดๆ พื้นๆ 
ในขณะที่คนมีปัญญาย่อมมีจำนวนน้อยกว่า ทำในสิ่งที่ฉลาดกว่าคือไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชน แต่สนใจหนทางพ้นทุกข์!


หากท่านเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ซื่อตรงต่อหลักการของสิทธิมนุษยชน ท่านจะมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะที่เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งเป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ได้อย่างไร? เพราะคำว่าหนทางพ้นทุกข์นั้นกำกวมและเปิดทางให้เจ้าของวาทะกล่าวอ้าง บิดพลิ้วไปต่างๆ นานาตามสถานการณ์และกลุ่ม "เป้าหมาย" ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างไม่มีวันอับจน


ขอยอมรับ ณ บรรทัดนี้ว่า ต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่กินภาษีประชาชนถึงปีละเกือบสองร้อยล้านบาท
พวกท่านช่างมีจิตใจที่ "เย็น" และมีดวงหน้าที่ "แกร่ง" มากเหลือเกินในการคัดเลือกบุคคลมารับรางวัลของท่าน



.