http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-28

นิธิ: อนาคตของ“ม็อบ”และของ“ชาติ”

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตของ“ม็อบ”และของ“ชาติ”
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:50:38 น.
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359343654
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 28 ม.ค. 2556 )



จนถึงนาทีนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่า การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันรัฐบาลให้ไม่รับอำนาจของศาลโลก (ในกรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสิน) จะขยายตัวเป็นวิกฤตทางการเมือง

จริงอยู่ศาลโลกยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา จะรับตีความตามคำร้องของกัมพูชาหรือไม่ และถ้าตีความจะกระทบต่อข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้แน่ แต่ดูเหมือนคาดกันในเมืองไทยเสียแล้วว่า ศาลโลกจะตีความคำร้องไปในทางที่ทำให้ไทยต้องถอยออกมาจากพื้นที่พิพาท

เหตุใดจึงเกิดการคาดเดาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาล โดยผ่านคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ที่ส่อไปในทางที่ระแคะระคายว่า การตีความจะไม่เป็นคุณแก่ไทย แต่จะถึงกับต้องถอยออกจากพื้นที่พิพาทหรือไม่ รมต.ไม่ได้กล่าวชัดนัก สรุปว่า "เจ๊งกับเจ๊า" คือถึงไม่ถอย ก็ตกอยู่ในสภาพเก่าคือ ยังต้องสงวนพื้นที่นั้นไว้เป็นพื้นที่พิพาทต่อไปเหมือนเดิม

แต่อีกส่วนหนึ่งที่คาดเดาอย่างนั้นก็เพราะการเมืองภายใน พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในศาลโลก แต่ก็ไม่ได้แนะนำว่าควรต่อสู้ให้เต็มที่กว่าที่ได้เต็มที่อยู่แล้วเวลานี้อย่างไร เช่น จะให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศชาวต่างชาติขึ้นอีก ปลดคนที่จ้างไว้แล้วออก หาคนใหม่แทน หรืออะไรก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ ประชาธิปัตย์ไม่ตกขบวนที่จะเก็บคะแนนเสียง อย่างที่ไม่เคยยอมตกขบวนตลอดมา


น่าสังเกตว่าประชาธิปัตย์ยังมีสติดีพอที่จะไม่เรียกร้องเท่ากับกลุ่ม "แนวร่วมหัวใจรักชาติ" (หนังสือพิมพ์ The Nation เรียกว่าเสื้อเหลืองเลย) คือให้ถอนตัวจากศาลโลก, คณะกรรมการมรดกโลก, หรือเรียกร้องให้ทหารยกกำลังไปตั้งแนวตามชายแดน อย่างน้อยประชาธิปัตย์ก็คงรู้ว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ล้วนไม่น่าทำทั้งนั้น เพราะไม่เป็นประโยชน์อย่างใดต่อประเทศไทยเลย

แต่ที่น่าสนใจกว่าประชาธิปัตย์คือท่าทีของฝ่ายทหารต่อกรณีนี้

ผบ.สส.พูดว่า "...หน่วยงานด้านความมั่นคงก็รู้สึกกังวลว่า เรื่องนี้ (คือการเคลื่อนไหวของแนวร่วมฯ) จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ตามแนวชายแดน... ต่างคนต่างต้องสู้ในหนทางที่สันติ ถ้ารบกันมันง่าย แต่คนที่ได้รับความสูญเสียคือประชาชน แล้วจะทำอย่างไรตามแนวชายแดนก็ไม่สงบ" ส่วน ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ว่า "... (การเคลื่อนไหว) อย่าให้เกิดความรุนแรง อย่าให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย หรือให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ โดยอย่านำไปเป็นคดีทางการเมือง... จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยไม่ละเมิดกติกา... ถ้าหลีกเลี่ยงการรบกันได้ก็ดี..."

สรุปก็คือ "ขาใหญ่" ทางการเมืองยังลังเลที่จะใช้ประเด็นกัมพูชาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง
ปชป.ยังรอดูท่าที ส่วนกองทัพนั้น เข้าใจว่ามีแผนรับมือไปในทางการทูตมากกว่าการทหาร ฉะนั้นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงเป็นการดำเนินการของแกนนำอย่างอิสระ หากจุดประเด็นนี้ได้ติด ก็จะมีมวลชนติดตามอีกมากและกลายเป็นอำนาจนอกระบบอีกอย่างหนึ่งไว้ต่อรองทางการเมืองได้ (เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ตาม)



ท่าทีของ ปชป.และกองทัพในขณะนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากแกนนำสามารถดึงมวลชนเข้าร่วมได้จำนวนมหึมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในอนาคต หลังจากที่ศาลโลกประกาศคำตัดสินการตีความแล้ว จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำตัดสินเท่ากับขึ้นอยู่กับพลังมวลชนที่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวจะสามารถระดมมาได้

หากแกนนำประสบความล้มเหลวที่จะดึงมวลชนจำนวนมหึมาออกมาหนุน แม้สมมุติให้การตีความของศาลโลก มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดน กล่าวคือ ไทยต้องยอมสละพื้นที่พิพาทอย่างถาวร (ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ อย่างเลวที่สุดน่าจะเป็นให้การคุ้มครองชั่วคราวแก่กัมพูชา เพื่อจัดการปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก) ผมคิดว่า ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ก็ไม่น่าจะปะทุเป็นการปะทะกันที่ชายแดน หรือถึงกับต่างเรียกทูตกลับ
ขาใหญ่ทางการเมืองทั้งไทยและกัมพูชาต่างเห็นร่วมกันว่า การพิพาทถึงขั้นใช้อาวุธและระงับความสัมพันธ์ล้วนทำให้ขาดทุนกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย
คำแถลงของนายกฯฮุน เซน ต่อเรื่องนี้ (น่าประหลาดที่สื่อกระแสหลักไม่รายงานเลย ผมได้ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท) ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาห่วงใยกับข้อพิพาททางทะเลมากกว่า และเร่งรัดรัฐบาลไทยให้เจรจาอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป (ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เองกลับใช้วิธีเจรจาลับที่ฮ่องกง และคุนหมิง) เพราะทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อน เช่น ขุดน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้ ไทยอาจใจเย็นในเรื่องนี้ได้ เพราะไทยได้สำรวจและขุดเจาะในอ่าวไทยไปมากแล้ว ในขณะที่กัมพูชายังไม่อาจนำทรัพยากรใต้ทะเลมาใช้ได้เลย

หากไม่มีม็อบขนาดใหญ่ ฝ่ายไทยก็น่าจะรักษาท่าทีอย่างเดิมต่อไป นั่นคือ หาหนทางที่จะเจรจาต่อรองกันทางการทูต และไม่มีเหตุที่จะยกทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ไปตั้งประจันหน้าที่ชายแดน
และในบรรยากาศอย่างนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอีกเช่นกันที่ทางฝ่ายกัมพูชาจะเคลื่อนกำลังเข้าประชิดชายแดน หรือปล่อยให้หน่วยทหารตามชายแดนยิงปืนใหญ่ผิดเป้าเข้ามาตกทางฝั่งไทย

และถ้าเป็นอย่างนั้น ไทยจะเสียดินแดนเกินหนึ่งตารางนิ้วหรือไม่
ผมอยากตอบว่าไม่ ดินแดนที่เป็นของไทยอย่างแน่นอน ด้วยการรับรองจากนานาชาติ จะไม่เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว แต่พื้นที่ตามชายแดนบางส่วน ซึ่งเป็นของไทยหรือไม่ก็ไม่แน่นั้น เราอาจต้องสละอธิปไตยออกไป หรือสูญเสียอำนาจในการกำกับควบคุมไป
พูดอย่างนี้ด้วยความรักชาติ แต่ไม่รักชาติในลักษณะเดียวกับม็อบพันธมิตร หรือ "แนวร่วมหัวใจรักชาติ"


คนเรามีวิธีรักชาติได้หลายวิธี

ต้องเข้าใจก่อนว่า เส้นเขตแดนของทุกประเทศในโลกนี้ไม่ได้เป็นสิ่งประทานจากพระเจ้า ล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเป็นความสัมพันธ์เชิงสงครามระหว่างสองรัฐหรือหลายรัฐ อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความยินยอมของประเทศ "ขาใหญ่" ในโลกนี้

เวียดนาม, มาเลเซีย, และอินโดนีเซีย หาได้มีเส้นเขตแดนอย่างปัจจุบันไม่เมื่อประกาศเอกราช หดหายไปบ้าง มีเพิ่มขึ้นบ้าง แม้แต่ในยุโรป เส้นเขตแดนของหลายประเทศในปัจจุบันก็ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งมีประเทศเกิดใหม่อีกหลายประเทศ อันเป็นเหตุให้ประเทศเก่ากว่าเช่นโซเวียตหดตัวลงไปหรือหายไปเลย

และด้วยเหตุดังนั้น เส้นเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศจึงไม่ชัดเจนไปทุกจุด ถ้าเราใช้วิธีรบเพื่อสถาปนาเส้นเขตแดนตามที่เราเห็นควรทั้งหมด ป่านนี้คงยังไม่ได้ทำอะไร นอกจากรบกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ วิธีที่เรากับเพื่อนบ้านใช้ตลอดมาก็คือ เจรจาตกลงกันโดยสันติ ในกรณีที่ตกลงกันได้ ก็วางหมุดลากเส้นกันให้ชัด เขาอาจยื่นเข้ามาในประเทศเราบ้าง เราอาจยื่นเข้าไปในประเทศของเขาบ้าง ฝ่ายละไม่กี่ ตร.กม.
กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็วางไว้ก่อนถือเป็นดินแดนที่ยังไม่มีเจ้าของแน่ชัด ในปัจจุบัน เรากับมาเลเซียก็มี No Man's Land แบบนี้อยู่บางส่วน 
หรือมิฉะนั้นก็อาจเลิกเถียงกันเรื่องอธิปไตย แต่มาแบ่งผลประโยชน์กันบนดินแดนที่เป็นปัญหาดีกว่า อย่างที่เราทำกับมาเลเซียในทะเล และหวังว่าจะทำกับกัมพูชาบ้าง



มีเพียงกรณีเดียวที่ขัดแย้งกันเรื่องดินแดน แล้วต้องนำขึ้นสู่ศาลโลก นั่นคือ กรณีกัมพูชาสมัยที่เจ้าสีหนุเป็นผู้นำ ถ้ากลับไปพลิกประวัติศาสตร์ช่วงนั้นดู ก็จะพบด้วยความประหลาดใจว่า ไทยเองเป็นฝ่ายไม่ยอมเจรจา ทั้งภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้กัมพูชาไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นศาลโลก มีคำอธิบายในสมัยหลังว่าเพราะรัฐบาลทั้งสองได้รับคำแนะนำผิดๆ ว่า การครอบครองปราสาทพระวิหารของไทยนั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศแน่

ดังนั้น หากเราต้องสูญเสียอำนาจเหนือพื้นที่ชายแดนอันเป็นปัญหาบางส่วนที่ยังตกลงกันไม่ได้ เราไม่ได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น เนื่องจากเรายังไม่มีอธิปไตยที่แท้จริงเหนือพื้นที่ตรงนั้น อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า อธิปไตยเหนือพื้นที่ชายแดนนั้น พระเจ้าไม่ได้ประทานลงมา แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการตีความของศาลโลก ผมยืนยันได้ว่า เราไม่ได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนส่วนใดสักตารางนิ้วเดียว


ศาลโลกสำคัญอย่างไร อาจไม่สำคัญแก่เรามากนัก แต่เราสะบัดก้นออกมาไม่ได้ หรือเอาหูทวนลมกับคำวินิจฉัยก็ไม่ดี

ศาลโลกมีความสำคัญแก่ "ระเบียบของโลก" ที่เราไม่อาจสะบัดก้นหนีไปไหนได้ "ระเบียบของโลก" นี้ อาจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ แต่เขาก็มีอำนาจที่จะบังคับให้ประเทศเล็กๆ อย่างเราต้องเคารพเชื่อฟัง "ระเบียบของโลก" ที่เขากำหนดขึ้น เช่น ข้อพิพาทระหว่างประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่เรื่องพรมแดน แต่อื่นๆ อีกจิปาถะย่อมมีเสมอ หากต้องให้มหาอำนาจแทรกเข้ามาทุกเรื่อง ก็เสี่ยงที่จะเกิดสงครามใหญ่ เพราะแต่ละมหาอำนาจก็คงแทรกเพื่อประโยชน์ของตนเอง อันอาจขัดแย้งกับประโยชน์ของอีกมหาอำนาจหนึ่ง "ระเบียบของโลก" จึงต้องสร้างกลไกอันหนึ่งที่คอยระงับความขัดแย้งเช่นนี้ โดยมหาอำนาจไม่ต้องมาเกี่ยว ศาลโลกเป็นหนึ่งในกลไกประเภทนี้ อาจเป็นกลไกที่ไม่ได้เรื่องก็ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่มีความสำคัญต่อ "ระเบียบของโลก"

การสะบัดก้นจากศาลโลก หรือทำหูทวนลม จึงเท่ากับเรากำลังบ่อนทำลาย "ระเบียบของโลก" ผมจึงไม่คิดว่าคนที่ได้ประโยชน์จาก "ระเบียบของโลก" จะปล่อยให้เราลอยนวล ไม่ถึงกับยกกำลังทหารมาบังคับเราหรอกครับ ไม่ถึงแม้แต่จะตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเราด้วยซ้ำ แต่เครื่องมือในการสั่งสอนประเทศเล็กๆ นั้นมีมากกว่านั้นอีกมาก ซึ่งไม่ส่งผลดีแก่เราแน่ๆ

ชูกำปั้นขึ้น ตะโกนว่ารักชาติ หรือสร้างอนาคตที่ดีแก่ลูกหลานของเราในเงื่อนไขที่เป็นจริง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์แก่ชาติกว่ากัน



.

2556-01-24

บันทึกวันพิพากษา ม.112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์

.

บันทึกวันพิพากษา ม.112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/01/44863
. . Thu, 2013-01-24 15:05


ประวิตร โรจนพฤกษ์
@PravitR


หมายเหตุ: ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในวันพิพากษา 10 ปีใต้ ม.112 (+1ปี) และมีเกร็ดจำนวนหนึ่งที่บันทึกไว้เพื่อสังคมและคนรุ่นหลัง ดังนี้


1
โซ่ตรวน: สมยศบอกผมว่าแกได้ขอให้ทางผู้คุมลดขนาดโซ่ตรวนที่จองจำข้อเท้าทั้งสอง แต่ก็ถูกปฎิเสธ – อย่างไรก็ตาม สมยศบอกว่าขนาดโซ่ตรวนที่ติดข้อเท้าทั้งสองของแก ก็หาใช่ขนาดที่หนาและหนักที่สุดที่นักโทษไทยโดนไม่

ผมมองโซ่ตรวนด้วยตาและยกมันชั่งดูกับมือ เส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กน่าจะประมาณครึ่งนิ้วถึงสองในสามนิ้ว ส่วนน้ำหนักนั้นก็หลายกิโลอยู่

ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ลูกชายสมยศ ซึ่งนั่งอยู่ที่นั่งแถวหน้าระหว่างรอผู้พิพากษาปรากฎ ก็ได้บอกผมว่าการล่ามโซ่ก่อนตัดสินนั้นขัดรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 39 วรรค 3 ที่เขียนว่า ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ที่ยังไม่ถูกตัดสินจะถูกปฎิบัติเป็นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาสมยศได้ยินเช่นนั้นก็พูดเสริมว่าทางกรมราชทัณฑ์อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่พอ จึงต้องล่ามโซ่เพื่อป้องกันผู้ต้องหาหลบหนีเวลาขึ้นศาล

หลังจากนั้นสักพัก คุณสมยศได้โชว์แผลเป็นบนข้อเท้าซ้าย 2 แผลสีดำเป็นวงใหญ่เห็นชัด อันเกิดจากอาการติดเชื้อและเน่าของผิวหนังบริเวณนั้นเป็น พร้อมบอกว่าอยู่ในคุก ถ้าไม่มียาฆ่าเชื้อย่อมลำบาก แต่ดีที่ภายหลังมีภรรยาคอยส่งยาให้

สมาคมนักข่าว: คุณสุกัญญาบอกผมว่า แม้สมยศจะถูกจองจำในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin มากว่า 21 เดือนก่อนพิพากษา แต่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยไม่เคยออกแถลงการณ์อะไรเกี่ยวกับการจองจำ บก.ผู้นี้เลย

เสรีภาพ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอด 21 เดือนที่ถูกจองจำและปฎิเสธการประกันตัว 12 ครั้ง: ผมถามสมยศว่าได้เรียนรู้อะไรตลอด 21 เดือนในคุกและจากการถูกปฏิเสธให้ประกันตัวถึง 12 ครั้ง แกตอบว่า “สิ่งที่สำคัญคือเสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่ เพราะเท่ากับเราถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงไป คือที่มันเจ็บใจ มีสิทธิประกาศตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฎิบัติ ตรงข้าม และระบบนี้ก็บังคับให้สารภาพอย่างเดียว แล้วก็ยังมีรูปแบบการทรมานแบบใหม่เกิดขึ้น คือการไม่ให้ประกันตัว”

“ลองคิดดู ให้ไปตระเวนต่างจังหวัดอยู่ 5 เดือน เปลี่ยนคุกไป 5 คุก กลับมา บอกให้สารภาพดีกว่า… คนที่สู้ไม่ไหวก็ยอม หมดสภาพ หมดสภาพความเป็นคน ถ้ายอมเรื่อยๆ มันก็จะเหวี่ยงแหใครก็ได้ ไม่งั้นอีกหน่อย กล่าวหาใครก็ได้ แล้วไม่ให้ประกันตัว มันก็จะกลายเป็นกฎหมายเลวร้าย”

“น่าจะไม่มีการเลือกปฎิบัติ อริสมันต์หนีไป 1 ปี กลับมาได้ประกัน สนธิ ลิ้ม ถูกตัดสิน 85 ปี ยังได้ประกันตัวตอน 5 ทุ่ม –ขนาดสารภาพว่าผิด”


2
เสียงคนอื่น: ป้าอุ๊ (อาม่า) ภรรยาอากง SMS ผู้เสียชีวิตในคุกภายใต้ ม.112 ก็ได้มาให้กำลังใจ ป้าอุ๊บอกผมที่ศาลอาญาหลังสมยศถูกพิพากษาว่า: “มีความหวังมาก คิดว่าจะได้รับการปลดปล่อย แต่พอฟังคำพิพากษาก็ใจหายมาก มีความรู้สึกเหมือนวันนั้น [ที่อากงถูกพิพากษา]”

สุวรรณา ตาลเหล็ก หนึ่งในผู้สนับสนุนสมยศ ผู้เคยร่วมงานขบวนการแรงงานกับสมยศนั่งร้องไห้อยู่หน้าห้องพิพากษาหลังทราบคำพิพากษา เธอบอกผมว่า: “มันไม่เหลือแล้ว ต่อไปนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร?”

แต่สุกัญญา ภรรยาสมยศนั้นใจแกร่งไม่ร้องไห้ พร้อมบอกจะยื่นอุทรณ์และขอประกันตัวสามีเธออีก “ก็ยื่นต่อไป สู้ต่อไป สองศาลไม่จำเป็นต้องมีความเห็นสอดคล้องกัน”

สุกัญญาจำแม่นว่าสามีเธอติดคุกมากี่เดือน และเธอจำได้ละเอียดกว่านั้น

“634 วัน” เธอบอกผม

ส่วนสมยศนั้นแทบไม่ทันได้พูดอะไรหลังถูกพิพากษา เพราะเขาถูกรีบนำตัวออกไป นางธิดา ถาวรเศรฐ โตจิราการ ประธาน นปช. เดินมาบอกให้ทำใจดีๆ ก่อนถูกพาตัวไป

ก่อนหน้าศาลขึ้นบัลลังก์ ผมได้ถามนางธิดาว่า นปช.ได้ผลักดันเรื่อง ม.112 มากพอหรือไม่?

ธิดาตอบว่าได้พยายามอยู่: “แต่เราไม่อยากให้เน้น คือเราไม่อยากให้สะดุด [เรื่องนิรโทษกรรมกับร่างรัฐธรรมนูญ]”


3
นักข่าวหญิงประชาไทบอกผมว่าสมยศถูกพากลับคุกไปเร็วกว่าปกติ 

มันทำให้ผมนึกถึงที่สมยศบอกผมเกี่ยวกับการพนันในคุกในหมู่นักโทษด้วยกันช่วงระหว่างกำลังรอผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์

การพนัน: สมยศบอกว่านักโทษที่รู้จักแกได้พนันกันเองด้วยบุหรี่และพิซซ่า ว่าวันนี้แกจะถูกตัดสินว่าผิดหรือบริสุทธิ์ แกบอกว่าส่วนใหญ่แทงว่าแกจะได้รับอิสรภาพในวันนี้



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-01-22

เกรียนไม่เกรียน ยังคงเป็นประเด็น โดย จอห์น วิญญู

.

เกรียนไม่เกรียน ยังคงเป็นประเด็น
โดย จอห์น วิญญู spokedark.tv www.facebook.com/spokedarktv
( ในมติชน ออนไลน์  วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:45:00 น.
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 86  www.facebook.com/matichonweekly
. . ภาพประกอบในเพจนี้ ผู้เขียนและมติชนฯมิได้เกี่ยวข้อง-จัดวาง )



ยังคงเป็นประเด็นอยู่ครับ ในวาระสั่นสะเทือนความมั่นคงระดับชาติ 
คือการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการให้ยกเลิกกฎบังคับนักเรียนชายให้ตัดผมเกรียน
และนักเรียนหญิงสามารถเลือกที่จะไว้ผมยาวหรือผมสั้นก็ได้---


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีสถานีวิทยุโทร.มาถามความเห็นของผมอยู่
สังคมออนไลน์ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อยู่อย่างฟ่างฝาง 
รายการทอล์กทางโทรทัศน์ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันแบบเอิกเกริก



ความน่าสนใจมันอยู่ที่ระดับความรู้สึก"ไม่ปลอดภัย"ของคนที่พ้นวัยเกรียนไปแล้วจำนวนมากที่แสดงออกมาผ่านการประชดประชันการแสดงความ"เป็นห่วง"หรือบางทีไปไกลถึงขนาดข่มขู่กันแบบ"ลอยๆ"เลยทีเดียว ว่านี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของความดีงามในสังคมไทย
ว่าไปนั่น


โทษนะครับพี่ครับ---เค้าแค่อนุญาตให้เด็กไว้ผม"รองทรง"ได้เท่านั้นเองแค่ไม่ต้องไถเกรียนสามด้านข้างหน้า5เซนติเมตรเท่านั้น กรุงโรมของพี่จะถล่มทลายเลยเชียว เล่นใหญ่อีกแระ

สังคมเรายังเหมือนเดิมอยู่นั่นแหละครับไม่ต้องตกใจน้า แต่ช้าแต่---เรายังเป็นสังคมที่รัฐ "ยังคง" ยืนยันที่จะยื่นจมูกเข้ามากำหนดว่าเด็กชายเด็กหญิงวัยรุ่นในโรงเรียนจะไว้ผมทรงไหนได้บ้างน่ะ ยังอยู่จ้า เค้ายังอยู่ 

การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในแนวที่จะเรียกได้ว่า "สะเทือน" พื้นฐานของสังคมสุดเพอร์เฟ็กต์ของท่านได้นั้น กระทรวงศึกษาธิการจะต้องออกมาบอกว่า "เฮ้ย --- หัวกบาลใครหัวกบาลมันว่ะ เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หัวของเอ็ง ข้าไม่เกี่ยว" นั่นแหละ กลุ่มผู้อนุรักษ์ความ "เหมือนเดิม" ถึงควรออกมาร้องแรกนะครับ

นี่แค่ออก "อนุญาต" ให้เด็กมันไว้ผมได้ยาวขึ้นอีกนิดหน่อย 
ยังคงยึดมั่นถือมั่นกับอำนาจที่จะ "อนุญาต" ได้เหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เป็นหัวกบาลของมัน มิได้หนักหัวกบาลของใครแต่อย่างใด

ไม่ต้องกังวลนะครับ หานมอุ่นๆ กินแล้วเข้านอนกอดตุ๊กตาหมีหลับให้สบาย เลิกหมกมุ่นนะตัวเธอว์!



จอห์น วิญญู ไม่ใช่คนประเภทได้คืบจะเอาศอกหรอกนะครับ ผมก็ดีใจกับน้องๆ ด้วย ที่ต่อไปนี้คุณจะได้มีอ็อพชั่นเพิ่มขึ้นในชีวิตบ้าง บางคนอาจจะสบายใจขึ้นที่ไม่ต้องเปลืองตังค์ตัดผมบ่อยๆ บางคนอาจจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น บางคนอาจจะเลือกตัดผมเกรียนอย่างเดิมเพราะสบายหัว แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นทางเลือกของเราเอง

การที่เราได้รู้สึกว่าเรามีทางเลือกนั้นเป็นความรู้สึกที่สำคัญมากนะครับเพราะเมื่อเลือกแล้วก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เลือก ต้องอยู่กับมันให้ได้ โยนความผิดให้คนอื่นก็ลำบากเพราะเลือกเอง

ใจจริงของผมน่ะเชื่อว่าเมื่อยังอยู่ในวัยเรียนเด็กไม่ควรจะถูกบังคับในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกอะไรเลยด้วยซ้ำ ในเมื่อวัยเรียนคือวัยแห่งการเรียนรู้ (แม้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นต่อไปตลอดชีวิตก็ตาม เรียนรู้ให้ได้เยอะที่สุดตั้งแต่ตอนเรียนอยู่มันจะเป็นอะไรไป) ก็ควรจะได้เรียนรู้เรื่องการแต่งตัว แฟชั่น ภาพลักษณ์ และ กาลเทศะ ไปเลย จะไม่เป็นการเสียเวลานะครับ


ผมเห็นว่าช่วงเวลาแห่งการเป็นเด็ก หรือเป็นวัยรุ่นนั้นถ้าเด็กไทยได้ลองผิดลองถูกกับเรื่องการแต่งตัว ทำผม ไว้ผม และแฟชั่นเสีย เราจะมีผู้ใหญ่ที่แต่งตัวเก่ง แต่งตัวเป็น มีความสร้างสรรค์ และรู้จักกาลเทศะอย่างแท้จริงเพิ่มขึ้นอีกเยอะ นับเป็นคุณูปการต่อตลาดแรงงาน วงการแฟชั่น วงการบันเทิง และความสุขโดยรวมของประชากรเป็นอย่างยิ่ง  
จำนวนคนแต่งตัวผิดๆ แต่งตัวแย่ๆ แต่งตัวไม่เป็น แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ ไม่รู้จักให้เกียรติสถานที่หรือคนอื่นจะลดลงจนน่าปลื้มใจมากทีเดียว

ไม่ใช่โตขึ้นมารู้จักแต่ว่าแต่งตัวดีต้องแบรนด์เนมไม่มีตังค์ก็ไปดิ้นรนหาของก๊อปปี้แต่งตัวอะไรก็แต่งตามๆกัน
เข้ากับสภาพอากาศหรือไม่ก็ไม่รู้เข้ากับรูปร่างและบุคลิกหรือไม่ก็ไม่รู้
ผู้ชายบางคนโตจนใกล้แก่ยังไม่เข้าใจคำว่า"สุภาพ" ไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องการให้เกียรติคนอื่นด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม
พวกนี้คงเก็บกดมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษเห็นแล้วก็เศร้าใจ

เช่นเดียวกับการอนุญาตให้เด็กหญิงวัยแรกแย้มเริ่มรู้จักกับเครื่องสำอางและอุปกรณ์ดูแลความสวยความงามซะตั้งแต่เริ่มเป็นสาว 
ไม่ใช่ว่าห้ามกันแทบตายจนเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้นแหละโรงงิ้วแทบแตกไม่มีใครเลือกรองพื้นสีที่ถูกต้องกับสีผิวหน้าตัวเองได้ซักคนเดียว 
สยองอ่ะน้องเอ๊ย 
และนี่ไม่ใช่ความผิดของน้องด้วยซ้ำไป

ในสหรัฐอเมริกาเด็กหญิงมัธยมเป็นมนุษย์จำพวกที่แต่งหน้าเยอะที่สุดครับเพราะเพิ่งเริ่มรู้จักกับเครื่องสำอางก็ประโคมกันเข้าไปแบบไม่บันยะบันยังแถมแต่งตัวกันจัดมาก 
หลายคนโชว์เนื้อหนังกันอย่างเต็มที่ คืออีกนิดเดียวข้าน้อยก็หัวใจจะวายอยู่แล้วล่ะ แต่พอก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยหญิงสาวเหล่านั้นก็จะ"เบาลง" ครับ
ทั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรอกนะ แต่มันเหมือนได้ปล่อยผีไปเรียบร้อยแล้ว และได้ประสบกับความเข้าใจว่า ความพอดีสำหรับตัวเองนั้นมันเป็นอย่างไร ทำแค่ไหนจึงสวยพอดี แต่งตัวแค่ไหนถึงจะดูสวยแบบแพง ไม่ใช่สวยแบบถูกๆ หรือ สักแต่ว่าจะโชว์


คนเราต้องผิดพลาดมาก่อนครับ ถ้าไม่เคยทำผิดเลยแสดงว่ายังไม่เคยลองทำอะไรเลย

แล้วมันจะดีแค่ไหนถ้าได้เริ่มเรียนรู้เร็ว ไม่ใช่โดนเก็บดองไว้ให้เปลือกนอก "เป็นเด็ก" เพื่อสร้างความสบายใจให้กับผู้ใหญ่ให้นานที่สุดเพื่อที่จะมาปล่อยผีกันลับหลังหรือเมื่อถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ "เห็นสมควร" เท่านั้น 
อย่าอยู่กันในความฝันมากนักเลยครับ 


เวลาพูดมากๆ ในความฝัน เค้าเรียกเพ้อ
เผลอตื่นเต้นมากไป จนลุกมาออกท่าออกทางทั้งๆ ที่หลับ เค้าก็เรียกละเมอ


จบนะครับ สวัสดีครับ



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

ออกจากถ้ำเถอะ โดย คำ ผกา

.

ออกจากถ้ำเถอะ
โดย คำ ผกา
( ในมติชน ออนไลน์  วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:45:00 น.
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 89  www.facebook.com/matichonweekly
ภาพ: ไม่เกี่ยวกับ ผู้เขียนและมติชน
)


หลายวันที่ผ่านมามีเรื่องรำคาญใจเกี่ยวกับผม เช่น เวลายืนเบียดเสียดอยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถบีทีเอส แล้วพลันรู้สึกจั๊กกะเดียมที่แก้ม หรือ แขน ขา เนื้อ ตัว เปล่าไม่ได้มีใครแอบลวนลาม แต่แสดงให้เห็นว่าในขบวนรถนั้นมีสาวๆ ผมสยายสลวยสะบัดยามเธอเคลื่อนไหวร่างกาย เดินขึ้นและลงรถ หลายครั้งที่แพผมสลวยนั้นสะบัดโดนใบหน้าของฉันเข้าไปเต็มโดยที่เจ้าตัวหารู้ไม่ เพราะผมนั้นอยู่ข้างหลัง สะบัด สยายไปโดนใครเจ้าตัวก็มองไม่เห็น 
ส่วนประสบการณ์การโดนผมสยายใส่หน้าของฉันพบว่าบางคนก็ผมหอม บางคนก็ผมเหม็น บางคนก็ผมเหนียวเพราะใส่น้ำมันเจลสเปรย์


แต่บ่อยครั้งจะถามตนเองเสมอว่าการปล่อยผมยาวสยายในที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่อง"เหมาะสม"หรือไม่?
ถามตัวเองในใจปุ๊บก็ขนลุกซู่ ที่คนเขาว่า คนเรายิ่งแก่ยิ่งอนุรักษนิยมเห็นทีจะจริง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มเห็นว่าหญิงสาวไม่พึงปล่อยผมยาวสยายในที่สาธารณะ เมื่อนั้นมันแสดงว่าเราต้องอนุรักษนิยมมากแน่ๆ 
มิหนำซ้ำยังขัดตาเวลาที่เห็นนักศึกษาสาวใส่ชุดนักศึกษาเหมือนเรียบร้อยแต่กลับมีผมยาวแถมยังม้วนเป็นหลอดเป็นริ้วอันทรงผมม้วนปลายเป็นหลอดอย่างที่นิยมกันนี้ว่ากันว่าทำให้ผู้หญิงดูเซ็กซี่และไร้เดียงสาในเวลาเดียวกัน
ยิ่งมาปะทะกับ"ยูนิฟอร์ม"เข้าด้วยแล้วผลของมันคือทำให้นักศึกษาผู้นั้นดูเหมือนกำลังสวมบทบาทดาราเอวีของญี่ปุ่นมากกว่าเป็นนักศึกษา


ฉันต้องหยิกตัวเองอีกรอบและถามตัวเองว่า-นี่เราเป็นพวกหัวโบราณอนุรักษนิยมใช่ไหม?


แต่ความเข้าข้างตัวเอง(การเป็นลิเบอรั่นมันเท่กว่านี่นา)ทำให้ฉันคิดว่าความขัดหูขัดตารำคาญใจ(อาจเป็นเพราะโดนผมผู้อื่นปัดแก้มอยู่เป็นนิตย์ในชั่วโมงเร่งด่วน) นั้นเป็นความรำคาญใจเดียวกันกับเวลาเห็นหญิงสาวใส่รองเท้ากลางคืนกับชุดกลางวัน ใส่ชุดที่ควรจะเดินชายหาดในห้างสรรพสินค้า ใส่ชุดที่ควรจะไปทำงานในออฟฟิศที่ชายทะเล ใส่รองเท้าแตะกับสูท ใส่บู๊ตเหนือเข่ากับเฟอร์ที่เชียงใหม่ ฯลฯ
ฉันกำลังจะบอกว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า "กาละเทศะ"

หลังจากที่พูดและเขียนเรื่องการยกเลิกกฎระเบียบว่าด้วยทรงผมและเครื่องแต่งกายของทั้งนักเรียนและนักศึกษาเหตุผลที่คนคัดค้านมักจะอ้างเสมอคือ"กลัวเด็กจะแต่งตัวไม่เรียบร้อย" 
คำถามของฉันคือ"การแต่งตัวเรียบร้อยคืออะไร?" 
สำหรับฉันการแต่งกายสุภาพคือการแต่งกายได้ถูกต้องตามกาละเทศะ ไม่เกี่ยวกับโป๊ไม่โป๊สั้นหรือยาวคอกว้างหรือคอเต่า

เช่นหากอายุห้าสิบก็ไม่ควรแต่งตัวเหมือนเด็กสาวอายุสิบแปด ถ้าไปทำงานก็ไม่แต่งตัวเหมือนไปเดินชายหาด ถ้าไปเดินชายหาดก็ไม่ควรแต่งตัวเหมือนไปทำงาน ไม่ใส่ชุดทำงานไปงานกลางคืน ไม่ใส่ชุดกลางคืนขึ้นรถเมล์ตอนกลางวัน ไม่ใส่รองเท้าแตะเป๊าะแป๊ะไปพบลูกค้า ฯลฯ
เช่นเดียวกับที่ฉันรู้สึกขัดตากับผมยาวสลวยปล่อยสยายที่ค่อนข้างผิดกาละเทศะ-ยอมรับตรงจุดนี้ก็ได้ว่าเป็นคนหัวโบราณ ฉันเห็นว่าสำหรับในชั่วโมง"ทำงาน"ผู้หญิงควรเก็บผมของเธอให้เรียบร้อยด้วยการมวยการรวบหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อป้องกันเส้นผมไปปะทะร่างกายของผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะ"ผม" นั้นเป็นอวัยวะที่เป็น "ส่วนตัว" เอามากๆ


และหากจะปล่อยผม ควรปล่อยอย่างตั้งใจปล่อย คือปล่อยให้เป็นทรงที่จัดแต่งมาอย่างดี ส่วนผมยุ่งเหยิงปลิวตามลมนั้นเอาไว้ดูกันเองในครอบครัว 
และนั่นย่อมหมายความว่าชุดนักศึกษาฟิตเปรี๊ยะสั้นจู๋ กับผมยาวสยายสุดเซ็กซี่นั้นย่อมไม่ใช่การแต่งกายที่ถูกต้องตามกาละเทศะแม้จะถูกระเบียบ



วัฒนธรรมว่าด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้นก็เหมือนกับวัฒนธรรมอื่นๆนั่นคือเป็นผลผลิตของระบบสังคมการเมืองและเป็นหนึ่งในความเป็น"สมัยใหม่"ที่สังคมไทยเข้าใกล้มันแต่ไม่เคยไปถึงมัน ซ้ำยังอยู่กับมันอย่างลักลั่นเต็มทนเฉกเดียวกับที่เราอยู่กับความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ 
มันคงสายเกินไป (อย่างน้อยสำหรับฉัน) ที่จะปฏิเสธ หรือเป็นกบฏต่อวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับการสถาปนายอมรับไปทั่วโลกแล้วว่าเป็น "สากล" เช่น ชุดกลางวัน กลางคืน รองเท้า กระเป๋า แต่ละแบบที่ถูกกำหนดมาว่าสำหรับวาระโอกาสไหน ในฤดูกาลอย่างไร เสื้อผ้าสำหรับเดินทางเป็นอย่างไร เสื้อผ้าสำหรับประกอบธุรกิจการงานเมืองเป็นอย่างไร เสื้อผ้าอย่างไม่เป็นทางการ ลำลองนั้นเป็นอย่างไร

ดังนั้น เมื่อไม่คิดจะกบฏต่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ สิ่งที่ควรต้องเรียนรู้คือเรียนรู้ที่อยู่กับมันอย่างเหมาะสมเหมือนเราเรียนรู้วิธีใช้ตะเกียบ ช้อน ส้อม มีด เรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร ฯลฯ  
หรือแม้แต่อยากจะกบฏ เราก็จะกบฏได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า อะไรคือ "มาตรฐาน" ที่เราต้องการกบฏ 
เช่น เราไม่แคร์วัฒนธรรมมนุษย์เงินเดือนที่ต้องใส่สูทไปทำงานจึงเลือกที่จะสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ไปทำงาน
หรือเราไม่อยากเป็นผู้หญิงที่ถูกสอนมาให้หมกมุ่นอยู่กับการเอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกไว้กับนมกับก้น จึงเลือกจะปลดปล่อยร่างกายออกจากเสื้อที่รัดรึงหันมาสวมเสื้อผ้าหลวมสบาย 
ดีไซเนอร์บางคนปฏิเสธรองเท้าส้นสูงโดยสิ้นเชิงด้วยเห็นว่ามันเป็นพันธนาการของผู้หญิงทำไมผู้หญิงต้องทรมานกระย่องกระแย่งเดินบนรองเท้าที่ทำให้เธอเจ็บทุกๆก้าวก็ออกแบบแต่เสื้อผ้าที่เหมาะกับจะสวมกับรองเท้าแบนราบสวมสบายเท่านั้น 


แต่นั่นต่างจากการแต่งตัวแบบผิดกาละเทศะเพราะความ"ไม่รู้"อย่างมาก ไม่นับความสัมพันธ์ทางอำนาจของ เพศ วัย ชนชั้น ที่สัมพันธ์กับกาละเทศะของการแต่งกายและการเป็นกบฏ

แต่ปัญหาของสังคมไทยคือ เรามีคนที่แต่งตัวได้ถูกต้องตามกาละเทศะ (จะเรียกว่า conform, conventional, conservative ก็ได้) น้อยเกินไป

ขณะเดียวกันก็มี กบฏทางการแต่งกายที่รู้ตัวว่ากำลังกบฏกับอะไรน้อยเกินไปด้วย ทว่ามีคนที่สักแต่แต่งตัวให้ถูก "ระเบียบ" หรือสักแต่แต่งตัวตามคนอื่นโดยไม่รู้ที่มาที่ไปมากเกินไป 
เรายังมีผู้หญิงวัยกลางคนที่ใส่ชุดผ้าไหมตีผมโป่งในทุกวาระโอกาสสถานที่ 
มีสาวน้อยที่ปล่อยผมสยายในทุกเวลาและสถานที่ 
เรายังมีสุภาพบุรุษที่แต่งตัวเหมือนกันตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่บนภูเขาหรือทะเลจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน


เหตุที่เรา(รวมทั้งตัวฉันเอง)อยู่ในวัฒนธรรมที่คนใส่ชุดปีนเขามาเดินห้าง ใส่ชุดทำงานไปเที่ยวทะเลหรือมีแนวโน้มจะแต่งตัวผิดกาละเทศะตลอดเวลาก็เป็นเพราะเราไม่เคยสมาทานความเป็นสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นModernThaiที่หลุดออกจากความเป็นไทยแบบจารีตอย่างหมดจิตหมดใจนั่นเอง 
แต่ได้สร้างความเป็นไทยสมัยใหม่แบบพันทางขึ้นมาห่อหุ้มจิตวิญญาณแบบไทยจารีตเอาไว้ และเที่ยวหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่า"นี่ไงฉันได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เหมือนนานาอารยประเทศแล้ว"

แทนที่เด็กๆของเราในระบบการศึกษาสมัยใหม่จะได้รู้จัก"วิถีชีวิตสมัยใหม่"ผ่านทุกๆกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ การแต่งกายอย่างสากล-เราไม่ได้ฟรีซลูกหลาน "ไพร่" ให้เปลือยร่างกายท่อนบน ไม่สวมรองเท้าอย่างคนป่าอีกต่อไป-แต่เราประยุกต์ใช้ "เครื่องแบบ" ของคนพื้นเมืองภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมให้เป็นเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษาไทยเสีย รวมถึงเครื่องแบบข้าราชการด้วย 
อีกทั้ง "หมายหัว" ความเป็นไพร่ไว้บนกบาลของพวกเขาด้วยทรงผมที่เป็นกฎข้อบังคับอันจะล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิตนักเรียนทุกคน

ซากเดนอาณานิคมนี้เห็นได้จากกฏข้อบังคับของทรง "เกรียน" และ "ติ่งหู" อีกทั้งกางเกง "สีกากี" นั้นสงวนใช้สำหรับโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล อันลูกหลานสามัญชนเรียน ลูกหลานผู้มีอันจะกินนั้นเรียนโรงเรียนเอกชนที่ส่วนใหญ่ให้นักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ภายใต้ข้อแม้ว่าต้องถักเปียแน่นหนา(ซึ่งถูกต้องจะได้ไม่สยายผมรุ่ยร่ายผิดกาละและเทศะ)
ส่วนลูก"ชนชั้นสูง" โดยมากไม่เรียนในโรงเรียน "ท้องถิ่น" แต่มักถูกส่งไปเรียนยังประเทศ "แม่" อันเป็น "เจ้าอาณานิคม" เสียตั้งแต่ยังเด็ก ในปัจจุบันกาลลูกหลานชนชั้นกลางชนชั้นกลางระดับสูงก็ไม่ได้ร่วมชะตากรรมเกรียน, ติ่งหู กับลูกไพร่ทั่วไป เพราะถ้าไม่เข้าโรงเรียนสาธิต, โรงเรียนทางเลือก ก็เรียนโรงเรียนนานาชาติ อันเป็น "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ "กฎ" ของไทย


การฟรีซนักเรียนไว้ในเครื่องแบบและการ "หมายหัว" ในนามของระเบียบ วินัย ความภาคภูมิใจทำให้ "สามัญชนชาวไทย" ไม่อาจก้าวเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เสรีภาพและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล
เมื่อกำกับบงการร่างกายให้เชื่องได้ การกำกับจิตสำนึกก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่เพียงแต่ไม่เห็นว่าร่างกายของตนเองถูกบงการกักขัง-พวกเขายังภาคภูมิใจที่ได้แบกกรงขังนั้นไว้บนกบาลและกล้าบอกว่านี่คือเอกลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจ

หลุดจากการถูกบงการโดยเครื่องแบบร่างกายของพวกเขาก็ประกาศความบกพร่องของการเป็น"สมัยใหม่"ด้วยการไม่สามารถแต่งกายให้ถูกต้องตามกาละเทศะเฉกเดียวกับที่พวกเขาไม่รู้มารยาทของการใช้พื้นที่สาธารณะ
มารยาทการใช้ถนน มารยาทในการใช้บริการขนส่ง มวลชนมารยาทในการใช้บันได้เลื่อน มารยาทในการใช้และรักษาความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ และนานทีเดียวกว่าพวกเขาจะคุ้นเคยกับการเข้าคิว มารยาทในการใช้เสียง 
ไม่รู้ว่าผมที่ยาวนั้นเมื่อไหร่ควรเก็บให้เรียบร้อย เมื่อไหร่ควรปล่อยยาวสยาย 

และแยกไม่ออกระหว่างการปล่อยยาวสยายอย่างประณีตกับการยาวสยายอย่างไม่ "สำรวม"-ทั้งๆ ที่พวกเขาและพวกเราอ้างว่า เราคือมนุษย์ที่มีระเบียบเรียบร้อยภายใต้เครื่องแบบและทรงผมมาตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน

อาจจะสายไปมาก แต่ขอร้อง-ช่วยเปลี่ยนไปโดยสารขบวนรถที่ชื่อ Modernity เสียที



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

การเมืองเรื่องทรงผม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

การเมืองเรื่องทรงผม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 30
(ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358671584 . . อาทิตย์ 20 ม.ค. 2556 เวลา 15:59:55 น.)


ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ผมสงสัยว่าเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้นักเรียนชายตัดผมทรงลานบินครั้งแรก ตามอย่างนักเรียนญี่ปุ่นสมัยสงคราม ก็คงมีการถกเถียงกันแล้ว แต่ไม่ดังเพราะบรรยากาศทางการเมืองระหว่างนั้น ไม่มีใครกล้าส่งเสียงดังๆ 
ใช่ครับ ทรงลานบินคือการกล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจแบบทหาร ฉะนั้น จึงตามมาด้วยวินัยการแต่งกายอีกหลายอย่าง เช่น สีของกางเกง, ความยาวของขอบกางเกง, ถุงเท้า, รองเท้า, เข็มขัด, หัวเข็มขัด, ฯลฯ เป็น "เครื่องแบบ" ครบบริบูรณ์อย่างที่เรารู้จัก และนี่คือกองกำลังยุวชนของชาติไงครับ ช่วยเสริมให้การศึกษาของเราแข็งแกร่งขึ้นด้วยการเชื่อฟังครูหรือผู้บังคับบัญชาอย่างมืดบอดสืบมา

จิตใจแบบทหารสอดคล้องกับเผด็จการทหารที่ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องในประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนถึงอย่างน้อยก็ 14 ตุลาคม 2516 การเรียกร้องของนักเรียนในแนวทางเสรีนิยมหลัง 14 ตุลาคม ทำให้กระทรวงศึกษาออกระเบียบ 2518 ผ่อนปรนทรงผมนักเรียนทั้งหญิงและชายลงไปเป็นอันมาก เช่น ผู้ชายจะไว้ผมรองทรงก็ได้ ผู้หญิงไว้ผมยาวเกินต้นคอก็ได้ แต่ต้องรวบผม เป็นต้น แต่น่าประหลาดที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังบังคับให้นักเรียนไว้ผมตามระเบียบเดิมต่อไป ครูและผู้บริหารคงรู้ว่าเสรีนิยมที่ทรงผมอาจซึมลงไปถึงหัวสมองของเด็ก และทำให้การศึกษาแบบเผด็จการที่ดำเนินมานานแล้ว ดำเนินต่อไปไม่ได้

ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ ที่นักเรียนเคลื่อนไหวกันเรื่องทรงผมอีกครั้งในตอนนี้ รัฐมนตรีศึกษาจึงอ้างระเบียบปี 2518 ขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ต้องตัดสินใจทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดการกระเพื่อมทางการเมือง ไม่ว่าจากนักเรียนหรือจากครู


ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมและเครื่องแบบในครั้งนี้ก็คือ เราไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้จากอุดมการณ์เสรีนิยม v.s. อุดมการณ์ทหารได้อีกแล้ว เพราะกระแสสังคมนิยมในช่วงนี้ไม่ได้ปะทุขึ้นแรงกว่าที่ผ่านมา
ผมคิดว่าการทำความเข้าใจกับการยอมรับและการปฏิเสธทรงผม-เครื่องแบบนักเรียน ทั้งในครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา อาจทำได้ดีกว่าหากมองจากแง่ของ "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" (Politics of Identity) เพราะนอกจากเราอาจเข้าใจการยอมรับหรือปฏิเสธแล้ว ยังอาจทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทยด้วย

ในสังคมการเมืองทุกประเภทในโลกนี้ อัตลักษณ์คือเครื่องมือสำคัญในการต่อรองอำนาจ เพราะฉันหรือเรา มีผลประโยชน์, วิถีชีวิต, ความใฝ่ฝัน, โลกทรรศน์, ฯลฯ แตกต่างจากคนอื่น จึงจำเป็นต้องจัดการทางสังคมที่เอื้อต่อฉันหรือเราด้วย ใครที่ไม่สร้างลักษณะเฉพาะของฉันหรือเรา คือคนที่ไม่มีอัตลักษณ์ และผลประโยชน์, วิถีชีวิต, ความใฝ่ฝัน, โลกทรรศน์, ฯลฯ ของเขาจึงถูกคนอื่นมองข้าม และด้วยเหตุดังนั้น เราจึงอาจมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าระหว่างหมู่ชนในสังคม หรือระหว่างปัจเจกบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปว่า คือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

เมื่อตอนที่ จอมพล ป. บังคับให้นักเรียนตัดผมทรงลานบินตามอย่างญี่ปุ่น สืบมาจนถึง 14 ตุลาคม นักเรียนและผู้ปกครองทั่วไปก็ยอมรับโดยดี เหตุผลก็เพราะมันสอดคล้องกับการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของกลุ่มคนที่เรียกว่า "นักเรียน" (และครอบครัวของเขาโดยนัยยะ)
"นักเรียน" นั้นแทบไม่เคยเป็นอัตลักษณ์ของคนกลุ่มใด และเราจะเห็นความไม่มีอัตลักษณ์ร่วมของนักเรียนได้ดีจากเครื่องแบบ

เมื่อก่อนสงคราม เฉพาะโรงเรียนหลวงในกรุงเทพฯ เช่น เทพศิรินทร์, สวนกุหลาบ, วชิราวุธ, เท่านั้นที่มีเครื่องแบบนักเรียน ซ้ำเป็นเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดขึ้นเอง ที่น่าสนใจคือเครื่องแบบเหล่านั้นคือการจำลองเครื่องแต่งกายของผู้ดีใหม่ ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับราชการของรัฐ นั่นคือนุ่งผ้านุ่ง (ตามสีที่โรงเรียนกำหนด) สวนเสื้อราชปะแตน และสวมหมวกกะโล่ตามสีที่โรงเรียนกำหนดเช่นกัน นักเรียนเหล่านี้คือคุณหลวงน้อย ทั้งในสายตาของผู้พบเห็นและในสำนึกของตัวนักเรียนเอง
"นักเรียน" ไม่ใช่อัตลักษณ์อีกอันหนึ่งในสังคม
เพราะนักเรียนในโรงเรียนที่เรียกว่า "ประชาบาล" ทั่วประเทศ (ซึ่งก็ยังมีไม่มากนัก) หาได้มีเครื่องแบบแต่อย่างใดไม่ แต่งตัวไปเรียนหนังสือเหมือนหรือเกือบเหมือนกับตอนที่อยู่บ้าน ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องแต่งอย่างไรหรือไว้ผมทรงอะไร

คณะราษฎรทำให้การศึกษาที่เป็นทางการขยายตัวขึ้นอย่างมากในเมืองไทย (แต่ครูประวัติศาสตร์กลับไปยกให้ ร.6) เพราะเป็นรัฐบาลแรกที่ดึงงบประมาณมาสร้างโรงเรียนอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ชนทุกชั้นสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึง แทนที่จะสนับสนุนการศึกษาด้วยลมปากอย่างที่ผ่านมา มีคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ลูกคุณหลวงกลายเป็น "นักเรียน" มากขึ้น
แต่ดูเหมือนกระทรวงก็ยังไม่ได้กำหนดเครื่องแบบตายตัว หรือถึงกำหนดก็คงไม่เคร่งครัดนัก เพราะผมจำได้ว่าเมื่อแรกเรียนหนังสือยังไม่มีเครื่องแบบ และนักเรียนโรงเรียนประชาบาลที่อยู่ใกล้ๆ ก็ยังไม่ได้สวมเครื่องแบบต่อมาอีกนาน



ผมลานบินตามคำสั่ง จอมพล ป. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีเครื่องแบบนักเรียนแห่งชาตินี่แหละ คือการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ "นักเรียน" อันเป็นคนกลุ่มใหม่ ซึ่งถูกสอนโดยการศึกษาให้เห็นความบกพร่องของอัตลักษณ์เดิมของครอบครัวตนเอง ดังนั้น จึงตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาพอดี
เครื่องแบบและทรงผมคือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ตัวเอง จาก "ลูกชาวบ้าน" ให้กลายเป็น "นักเรียน" แม้เป็นภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว แต่อัตลักษณ์ใหม่ก็ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมขึ้นมา แทนอัตลักษณ์เดิมที่แทบไม่เหลือศักดิ์ศรีไว้ต่อรองกับใครได้เลย 
เครื่องแบบและทรงผมเปลี่ยน "ไอ้ตี๋" ให้กลายเป็น "นักเรียน" เปลี่ยนลูกคนจนให้กลายเป็น "นักเรียน" และในสมัยหลังเปลี่ยนลูกชาวเขาให้กลายเป็น "นักเรียน" เช่นกัน
ซ้ำเป็นนักเรียน "แห่งชาติ" ด้วย เพราะการศึกษาไทยถูกกำกับโดยชาติ ฉะนั้น "นักเรียน" คือคนที่มีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งในชาติ ทั้งปัจจุบันและอนาคต พูดอีกอย่างหนึ่งคือผูกพันลูกเจ๊ก, ลูกชาวเขา, ลูกขอทาน กับชาติ เป็นอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าในตัวมันเองอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธ กลายเป็นอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ผมคิดว่าไม่ต่างจากที่ชาวนาต้องเสียแรงงานไปกับการเกณฑ์ทหาร ในแง่หนึ่งก็เสียดายแรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกชายในเครื่องแบบทหาร เพราะเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติไปแล้ว จากอัตลักษณ์เดิมที่ไม่มีใครมองเห็นและยอมรับ มาเป็น "รั้วของชาติ" ที่ได้รับการตอกย้ำในความสำคัญตลอดมา 

เครื่องแบบและทรงผมนักเรียนจึงดำรงอยู่สืบมา 40 ปี (เกินหนึ่งชั่วอายุคน) โดยไม่มีกระแสคัดค้านต่อต้านมากนัก



แต่ใน 40 ปีนี้ อัตลักษณ์ใหม่ไม่ได้สร้างความเสมอภาคขึ้นในคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่านักเรียน ความไม่เท่าเทียมอันเป็นเอกลักษณ์ไทยยังดำรงอยู่ได้ภายใต้อัตลักษณ์ใหม่นี้ เพราะแต่ละโรงเรียนสามารถกำหนดอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นได้ นับตั้งแต่สีของกางเกงและโบว์ ไปจนถึงชื่อย่อและเข็มกลัดโรงเรียนบนอกเสื้อ มีความแตกต่างที่พอจะเห็นได้ไม่ยากระหว่างนักเรียนโรงเรียนวัดลิงค่างบ่างชะนีกับโรงเรียนสวนกุหลาบ หรือราชวินิต อัตลักษณ์ใหม่ของนักเรียนจึงไม่ใช่อัตลักษณ์ของการปฏิวัติ เป็นแต่เพียงการดูดกลืนคนกลุ่มใหม่เข้ามามีที่ยืนในชาติ แต่ยืนที่บันไดของตนเอง ไม่ใช่รื้อทำลายบันไดลงทั้งหมด 
และด้วยเหตุดังนั้น พลังต่อรองของอัตลักษณ์ใหม่จึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ การต่อรองในสังคมสมัยใหม่เน้นอัตลักษณ์ของปัจเจกมากขึ้น สะท้อนให้เห็นในการแต่งกายของผู้คนที่แสดง "ตัวตน" ของตนเองมากกว่าของกลุ่ม ผมอาจไม่มีเสื้อยืดเวอร์ซาเช่สวมเหมือนคุณ แต่ผมเป็นแฟนตัวจริงของนักร้องชื่อดังนะเฟ้ย ขนาดมีลายเซ็นของเขาประทับอยู่บนอกเสื้อของผมด้วย ผมอาจจะจน แต่ผมไว้ผมทรงหนามซึ่งแสดงความเป็นแนวหน้าของกระแส อัตลักษณ์ของปัจเจกก้าวข้ามความไม่เสมอภาคไปได้ง่ายกว่า และเร็วกว่าอัตลักษณ์ของกลุ่ม

ผมคิดว่านี่คือกระแสใหญ่ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนในช่วงนี้ น่าสังเกตด้วยนะครับว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เลิกเครื่องแบบ-ทรงผมนักเรียนลงทั้งหมด อย่างที่เคยเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลาคม แต่ให้เปิดเสรีมากขึ้นกับทรงผม (อาจรวมถึงการแต่งกายส่วนอื่นด้วย) 
นั่นก็คือในอัตลักษณ์ของ "นักเรียน" ยังต้องมีอัตลักษณ์ของนักเรียนที่เป็นปัจเจกแต่ละคนด้วย อัตลักษณ์ของกลุ่มไม่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมกับคนอื่น ซึ่งล้วนสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นทั่วไป ผมเป็นนักเรียนแน่ ไม่ต้องการปฏิเสธ แต่จะให้ผมเชยจากหัวจรดเท้าได้อย่างไร


แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก เพียงแต่ข้อมูลที่ผมมีอยู่ค่อนข้างหยาบมากเท่านั้นเพราะเอามาจากรายการทีวีของ คุณสรยุทธ สุทัศนจินดา คนทำสื่อซึ่งแค่เห็นหน้าแกทางทีวีก็ทำให้ตาร้อนผ่าวไปด้วยความริษยาเสียแล้ว

เช้าวันหนึ่ง คุณสรยุทธไปเชิญนักเรียนมากลุ่มหนึ่ง ให้มาเถียงกันทางทีวีว่า ควรให้ใช้ระเบียบการแต่งกายของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งออกเมื่อปี 2518 หรือไม่ และแค่ไหน ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า นักเรียนชายเห็นด้วยกับการปล่อยให้นักเรียนไว้ผมอย่างไรก็ได้ตามใจนั้นถูกต้องแล้ว ส่วนนักเรียนหญิงไม่เห็นด้วยเลย ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นระหว่างชาย-หญิงอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีนักเรียนชายอยู่ฝ่ายหญิง และไม่มีนักเรียนหญิงอยู่ฝ่ายชายเลย
ด้วยข้อมูลเพียงเท่านี้ ผมถามตัวเองว่า ทำไมผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยจึงอยาก "อยู่ในร่องในรอย" มากกว่าผู้ชาย
ผมคิดว่าคำตอบนั้นค่อนข้างชัด การไม่อยู่ในร่องในรอยทำให้ผู้หญิงถูกลงโทษมาก ในขณะที่ผู้ชายได้รับอนุญาตให้ออกจากร่องจากรอยมากกว่ากันมาก ที่รู้กันดีก็เช่นพฤติกรรมทางเพศ ผู้หญิงจะถูกประณามอย่างมากหากมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรส ในขณะที่ผู้ชายได้รับการให้อภัย เพราะถือเป็นเรื่องปรกติตามธรรมชาติ และคงยกตัวอย่างอื่นๆ ได้อีกมาก

และด้วยเหตุดังนั้น ผู้หญิงจึงรู้สึกปลอดภัยมากกว่า หากจะออกนอกร่องนอกรอยเมื่อทำกันเป็นกลุ่ม และในความเป็นจริงนักเรียนผู้หญิงก็ดัดแปลงเครื่องแบบ-ทรงผมให้แสดงอัตลักษณ์ส่วนตัวไปมากแล้ว ไม่ต่างจากนักเรียนชาย แต่ไม่ได้ทำคนเดียว หากทำร่วมกับเพื่อนนักเรียนหญิงทั่วไป จะให้มาออกจากร่องจากรอยทางทีวีคนเดียว คงไม่ปลอดภัยแก่เธอ

ถึงอย่างไร แม้ไม่ลุกขึ้นมายืนยัน นักเรียนหญิงก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ในเชิงปัจเจกอยู่แล้ว 
จะมายืนยันในที่สาธารณะเช่นทีวี ทำไม




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-01-21

“ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน..” โดยยุกติ มุกดาวิจิตร

.
บทความเพิ่ม - ยุกติ มุกดาวิจิตร: อำนาจนิยมของเครื่องแบบ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน..”
โดยยุกติ มุกดาวิจิตร

ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:36:34 น.


หมายเหตุ : วันที่ 19 ม.ค. 56 ที่ห้องอดุล วิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) มีงานวิชาการจัดเสวนาเรื่อง "ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน" โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มธ. และตัวแทนกลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทย ซึ่งผศ.ดร.ยุกติ ได้กล่าวขณะร่วมการเสวนาดังกล่าว ดังนี้


วันนี้เรากำลังถกเถียงกันเรื่องทรงผมนักเรียนและเครื่องแบบชุดนักเรียน ซึ่งกำลังถูกต่อต้านอย่างมาก เพราะประวัติการมีผมเกรียนนั้นเกิดในช่วงเผด็จการ
ส่วนตัวเองก็เคยเป็นนักเรียนที่ต้องตัดผมเกรียนเช่นกัน ซึ่งในเวลานั้นยังไม่รู้สึกว่าผิดระเบียบ

 ความจริงอยากเรียกร้องให้เลิกมีเครื่องแบบชุดนักเรียนไปด้วย
สังคมที่ควบคุมว่านักเรียนจะต้องแต่งตัวแบบไหน เป็นการควบคุมที่รุนแรงที่สุด เพราะเราจะยอมรับระเบียบนี้ไปจนถ้าเราไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับแล้วจะกลายเป็นคนที่ชั่วร้ายของสังคม ซึ่งสังคมที่ควบคุมร่างกายเราได้ย่อมง่ายที่จะควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ


 คำถามคือทำไมต้องเป็นแบบนี้?
 เมื่อดูจากเรื่องชนชั้นจะเห็นว่า รัฐได้ทำให้การมีอยู่ของโรงเรียนเป็นการเอาเด็ก หรือลูกชาวไร่ชาวนาเข้ามาเรียนเพื่อสร้างแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่รัฐเกรงว่าจะเป็นแรงงานที่ขาดวินัยไร้คุณภาพ เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างระเบียบวินัยในโรงเรียนด้วยการควบคุมทรงผมและเครื่องแต่งกาย แล้วก็เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษา

 ชอบคำพูดที่ว่าเราไม่ได้ทำผิดระเบียบแต่ระเบียบต่างหากที่ผิด แล้วก็ปล่อยให้ผิดมานานเป็น 10 ปีโดยเฉพาะเรื่องทรงผม

 ถ้าเป็นที่ประเทศเวียดนามเขาจะเรียกพวกที่ตัดผมเกรียนว่าเป็นพวกญี่ปุ่น เพราะมีประสบการณ์การต่อสู้กับประเทศเผด็จการชาตินิยมมา ซึ่งทหารญี่ปุ่นตอนนั้นตัดผมเกรียนทั้งหมด 
 ส่วนสมัยนี้โรงเรียนในเวียดนามนั้นก็มีเครื่องแบบ แต่เขาจะอะลุ่มอะล่วยสำหรับลูกคนจน ถ้าไม่มีเงินซื้อจะแต่งอะไรมาเรียนก็ได้ เพราะเขาเรียกร้องให้เด็กเข้าถึงการศึกษาก่อนเรื่องอื่นๆ


 ประเด็นของตนคือวันนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาถึงยังยอมรับการถูกบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักศึกษาอยู่ ซึ่งถ้าจะให้เสมอภาคจริงๆ อาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรใส่เครื่องแบบราชการมาสอนทุกวันด้วยใช่หรือไม่

 "ส่วนตัวไม่ได้สุดโต่งถึงขนาดว่าจะใส่อะไรหรือไม่ใส่อะไรมาเรียนก็ได้ แต่ผมคิดว่าความสะดวกสบายก็อยู่บนความสุภาพได้ แต่คนไทยนั้นถูกเพาะบ่มให้มีเพียงหน้าที่เท่านั้น แต่ไม่ตระหนักในสิทธิ เพราะแม้แต่กรรมการสิทธิชนก็ทำหน้าที่ตามกฎหมาย แต่สิทธิมนุษยชนกว้างใหญ่กว่ามาก ไม่ได้อยู่ในกะลาเหมือนในประเทศไทย

 "เมื่อก่อนในโรงเรียน ครูยังใช้ไม้เรียวซึ่งใครที่ใช้ไม้เรียวจะดูเป็นคนที่ถือระเบียบสามารถสร้างคุณธรรมให้เด็กนักเรียนได้ แต่วันนี้ไม่มีใครเชื่อแบบนั้นแล้ว ถ้าครูคนไหนยังทำอยู่เขาอาจจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องศาลปกครองก็ได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว"
ผศ.ดร.ยุกติ กล่าว



+++

ยุกติ มุกดาวิจิตร: อำนาจนิยมของเครื่องแบบ
จาก http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/3900 . . 12 มกราคม, 2013 - 15:16
( รวมบทความ  http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra )


หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร

การบงการร่างกายเป็นก้าวแรกของการบงการทางสังคม ในทางจิตวิทยาสังคม การควบคุมการขับถ่ายเป็นจุดแรกเริ่มของอำนาจควบคุมทางสังคมในตัวมนุษย์ การควบคุมเรือนร่างมีในทุกสังคม แต่ต่างรูปแบบและต่างวัตถุประสงค์กันออกไป อำนาจบนเรือนกายคืออำนาจที่ใกล้ตัวที่สุด สังคมอำนาจนิยมจึงอาศัยการควบคุมเรือนร่างเป็นเครื่องมือที่สำคัญทั้งสิ้น

สังคมที่บังคับให้สมาชิกสวมเครื่องแบบเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมแบบนี้มักควบคุมการแสดงออกด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการแสดงออกทางเรือนร่าง เช่น สังคมของคนเคร่งศาสนาหรือนักบวช สังคมของค่ายทหาร โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ สังคมลักษณะนี้ต้องการเอกภาพ จึงมีความเข้มงวดสูง และต้องควบคุมสมาชิก ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางเรือนร่าง สมาชิกในสังคมเหล่านี้จึงต้องแต่งกายให้เหมือนกัน สังคมเหล่านี้จึงมีระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวด

ไปๆ มาๆ เครื่องแบบไม่เพียงเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม แต่เครื่องแบบยังกลายเป็นตัวสถาบันของอำนาจในตัวของมันเอง เมื่อมันสวมลงมาในตัวแล้ว กลายเป็นว่าผู้สวมใส่ต้องเคารพมัน เครื่องแบบกลายเป็นนายเหนือเรา เครื่องแบบกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง เครื่องแบบกลายเป็นตัวสถาบันที่เข้ามาครอบเราเมื่อเราสวมใส่ เราเป็นเพียงร่างทรงของเครื่องแบบ


คำถามคือ ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมของการใช้ความคิด การแสดงความคิดเห็น ความกล้าแสดงออก เราจะยังต้องควบคุมการแสดงออกขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งคือการแสดงออกของเรือนร่างไปทำไม หากเราควบคุมนักเรียนนักศึกษาให้แต่งกายอย่างไร ย่อมหมายถึงว่า เรากำลังควบคุมให้พวกเขาอยู่ในระบบระเบียบ กำลังลดทอนความเป็นคนของพวกเขา กำลังใช้อำนาจกดพวกเขาอยู่ด้วย

หลักการต่างๆ สำหรับบังคับให้นักศึกษาใส่เคร่่ืองแบบจึงล้วนเป็นข้ออ้าง ไม่ใช่เหตุผล เป็นข้ออ้างที่ยกมาเพื่อกลบเกลื่อนการใช้อำนาจควบคุม หากใช้เหตุผล ข้ออ้างเหล่านี้ล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

(1) ข้ออ้างเรื่องความประหยัด? ฟังไม่ขึ้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียเงินซื้อชุดนักเรียนในวันเปิดเทอมแต่ละภาคสิ้นเปลืองเพียงใด ย่อมรู้กันดี ในต่างจังหวัดห่างไกล การบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นปัญหามายาวนาน และอันที่จริง เมื่อเทียบคุณภาพของเนื้อผ้าและความสะดวกสบายแล้ว เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ทั้งถูกและทนกว่าชุดนักเรียนนักศึกษาแน่นอน แถมเด็กๆ และนักศึกษายังสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ใช่เอาไว้ใส่ไปโรงเรียนไปสถานศึกษาเท่านั้น 
แต่หากไม่ใส่ชุดนักเรียน การเปิดโอกาสให้สามารถหาเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมกับอากาศ ลักษณะนิสัย รสนิยม และกำลังทรัพย์ของผู้ปกครองเอง จะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กๆ มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะสิ้นเปลืองเงิน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ไปกับการพยายามรักษาความขาวของเสื้อนักเรียน เสื้อยืดราคาย่อมเยากับกางเกงยีนส์หรือกางเกงขาสั้นราคาประหยัดที่มีอยู่มากมายตามตลาดนัด จะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดได้เช่นกัน

(2) ข้ออ้างเรื่องความสะอาด? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนทั้งหญิงและชายต้องใส่รองเท้าหนังหรือผ้าใบและถุงเท้าตลอดเวลานั้น ขัดกับอากาศบ้านเราอย่างยิ่ง ยิ่งพวกนักเรียนมักวิ่งเล่นกันตลอด ทำให้เหงื่อสะสมในถุงเท้ารองเท้ามาก โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่มีห้องอาบน้ำรองรับ ไม่มีการให้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าในวิชาพละ มาแต่เช้าชุดไหน ก็เรียนพละชุดนั้น ใส่ชุดนั้นวิ่งเล่นต่อตอนเย็น แล้วกลับบ้านโหนรถเมล์ เบียดเสียดยัดทะนานกันก็ไปในชุดนั้น

มีเกร็ดเกี่ยวกับเท้าผมคือ ตอนเด็กๆ เท้าผมเป็นเชื้อราตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ผมซักรองเท้าทุกสัปดาห์จนสีซีดและพังไวจนต้องเปลืองเงินซื้อใหม่บ่อยๆ ส่วนถุงเท้า ผมซักเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มันดำมากและเหม็นเพราะต้องถอดเดินในห้องเรียน จนผมพัฒนาวิธีซักถุงเท้าด้วยการซักถึง 3 น้ำ รอบแรกน้ำเปล่า ขยี้ถี่ๆ แรงๆ ความสกปรกจะออกไปจนย้อมให้น้ำใสๆ กลายเป็นดำเลยทีเดียว รอบสองใช้ผงซักฟอก รอบสุดท้ายน้ำเปล่า แต่จนแล้วจนรอด เท้าผมก็ยังเป็นเชื้อรา มีใครเคยสนใจเท้านักเรียนบ้างหรือไม่ สนใจสุขภาพบนเรือนกายจากการบังคับให้แต่งตัวแบบไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศร้อนชื้นบ้างหรือไม่

พอเข้ามหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ผมดำเนินชีวิตแบบ "3 ย" คือเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง ไม่เคยมีชุดนักศึกษา เคยใส่กางเกงสีดำ เสื้อเชิ้ตขาว รองเท้าหนังไปเรียนอยู่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ไม่เคยมีเข็มขัดหัวตรามหาวิทยาลัย ชีวิตปลายเท้าผมดีขึ้นมาก ไม่เป็นเชื้อราอีกต่อไป และทำให้เพิ่งเข้าใจว่า ที่ผ่านมาเท้าตัวเองไม่ปกติ

แต่มีวิชาหนึ่ง ผมใส่รองเท้าแตะ กางเกงยีนส์ เสื้อยืดเข้าไปเรียนในวันเปิดเทอมวันแรก ซึ่งก็เหมือนๆ กับไปเรียนวิชาอื่นๆ แต่ที่จริงผมตั้งใจจะไปเรียนวิชานี้มาก เพราะสนใจเนื้อหา แต่อาจารย์ไม่ค่อยเปิดสอน วันแรกเข้าไป เจออาจารย์ดุเอาว่า "เธอแต่งตัวแบบนี้แสดงว่าไม่เคารพอาจารย์และวิชานี้เลย" ผมไหว้อาจารย์ ไม่ได้ขอโทษแต่ร่ำลา แล้วหันหลังเดินออกจากห้อง ไปถอนวิชานั้นทันที

(3) ข้ออ้างเรื่องความเหมาะสมกับเพศและวัย? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนหญิงนุ่งกระโปรงและสวมรองเท้าหนัง ซึ่งเป็นแบบของรองเท้าที่ใส่ไม่สบายเลย นับเป็นการกดขี่ทางเพศ เป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กผู้หญิง แถมการนุ่งกระโปรงยังล่อแหลมต่อการล่วงละเมิดทางเพศได้มากกว่าการสวมกางเกง

เมื่อเร็วๆ นี้เห็น infographic ที่แชร์กันมากๆ ว่าประเทศไหนยังบังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษาอยู่แล้วขัดใจ เนื่องจากรวมประเทศเวียดนามไว้กับไทยด้วย คนทำคงนั่งเทียนคิดเอาเองว่าเวียดนามคงบังคับเหมือนไทย แต่ที่จริงเวียดนามไม่ได้บังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษา ไม่มีชุดนิสิตนักศึกษาในเวียดนาม แม้แต่ชุดนักเรียนหญิงเวียดนามก็ยังเป็นกางเกงเลย ไม่บังคับให้ต้องนุ่งกระโปรง

(4) ข้ออ้างเรื่องไม่ให้ไขว้เขวไปแต่งตัวยั่วเพศ? ฟังไม่ขึ้น การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก เป็นการแสดงออกทางเรือนร่าง การแต่งกายแสดงความคิดเกี่ยวกับตัวเอง แสดงการให้ความหมายแก่ตัวเอง เป็นการสื่อสารทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่อาศัยอยู่ ผู้แต่งกายทุกคนจึงต้องรู้จักตนเอง รู้จักเลือกที่จะบอกว่าฉันเป็นใคร เลือกที่จะสื่อสารกับสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เพื่อเรียกร้องความสนใจทางเพศเท่านั้น

ตรงกันข้าม ดังที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ปัจจุบันชุดนักเรียนชุดนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ได้ไม่แพ้บิกินี่เช่นกัน


หากปลดแอกจากการใส่ชุดนักเรียนนักศึกษา การแสดงออกย่อมหลากหลายกว่านี้ เหมือนการแต่งตัวของวัยรุ่นทั่วไปเมื่อเขาไม่ได้ไปโรงเรียนหรือไม่ได้เข้าห้องเรียน ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะยั่วสวาทกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าชุดรัดรูป แหว่งเว้าที่นั่นที่นี่จะยั่วยวนทุกคนได้เสมอไป และไม่ใช่ว่าการแสดงออกของวัยรุ่นจะต้องมุ่งกระตุ้นเร้าทางเพศกันตลอดเวลา 
ที่สำคัญคือ การแสดงออกทางร่างกายเป็นด้านหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะดูสร้างสรรค์หรือไม่ในสายตาผู้ใหญ่ก็ตาม การแต่งกายเป็นการบอกเล่าความคิด ความรู้สึก ความหมาย กระทั่งจิตวิญญาณของผู้สวมใส่ ไม่เช่นนั้นทำไมนักบวช ทหาร ข้าราชการ จึงไม่แต่งกายให้เหมือนไปกันหมดทั้งประเทศเล่า

หากเด็กวันนี้ถูกปิดกั้นการแสดงออก ทำให้ไม่สามารถแม้แต่จะบอกได้ว่าตนเองเป็นใคร ผ่านเรือนร่าง ผ่านการแต่งกายของพวกเขา
แล้วเราจะคาดหวังให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดต่อสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไรเล่า
จะให้พวกเขาสร้างสรรค์ความคิดความอ่านที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเองได้อย่างไร
จะให้พวกเขากล้าแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมและประเทศชาติได้รับรู้ได้อย่างไร

ถ้าแม้แต่กับร่างกายของเขาเองก็ยังไม่ให้พวกเขาคิดเห็น ไม่ให้พวกเขาแสดงออก



.

นิธิ: การเมืองมวลชนกับการปรองดอง

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองมวลชนกับการปรองดอง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:19:17 น.
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 21 ม.ค. 2556 หน้า 6 )
( และจาก www.prachatai3.info/journal/2013/01/44795 . . Mon, 2013-01-21 00:13 )



นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลายปีมาแล้ว ผมเสนอการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยว่า ระบบการเมือง (ความสัมพันธ์ทางอำนาจ) ไม่สามารถปรับตัวเอง ให้รองรับการขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ซึ่งผมเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างได้ คนเหล่านี้มีจำนวนมหึมาและจำเป็นต้องมีพื้นที่ต่อรองทางการเมืองในระบบ เพราะชีวิตของเขา โลกทรรศน์ของเขา และผลประโยชน์ของเขาเปลี่ยนไปแล้ว
ตราบเท่าที่ชนชั้นนำในระบบการเมืองไม่ยอมปรับตัว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็จะดำเนินต่อไป และในหลายปีที่ผ่านมา ผมยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าชนชั้นนำสำนึกถึงความจำเป็นในแง่นี้ หรือพร้อมจะหาหนทางต่อรองกับคนกลุ่มใหม่ เพื่อปรับระบบการเมือง


แต่ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าโอกาสดังกล่าวเริ่มปรากฏให้ทุกฝ่ายมองเห็นได้ชัดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับระบบการเมือง จนทุกฝ่ายพอยอมรับได้ และหันมาต่อสู้กันในระบบ (ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ที่รัฐสภาอย่างเดียว) โดยไม่เกิดความรุนแรง เริ่มจะมีลู่ทางมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอุปสรรคอีกหลายอย่างที่จะทำให้เส้นทางสู่ความเป็นระเบียบนั้น อาจมีลักษณะกระโดกกระเดกบ้าง แต่ผมคิดว่าดีกว่าที่ผ่านมา

ฉะนั้น ผมจึงขอพูดถึงนิมิตหมายดีๆ ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงนี้

ผมทายไม่ถูกหรอกว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ แต่รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดิมเสียแล้ว อย่างน้อยการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ชี้ให้ชนชั้นนำเดิมเห็นประจักษ์แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้บางคนในหมู่ชนชั้นนำเดิม ซึ่งยังอาจมองไม่เห็น (เช่นผู้อยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวกลุ่มพิทักษ์สยาม) ก็ไม่อาจใช้การรัฐประหารได้ เพราะกองทัพไม่ยอมเคลื่อนเข้ามาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันสั้นข้างหน้า

ปราศจากเครื่องมือในการยับยั้งหรือชะลอการปรับระบบการเมือง ชนชั้นนำเดิมต้องหันมาใช้เครื่องมืออื่น ซึ่งดูเป็นการเคารพต่อ "ระเบียบสังคม" ทางการเมืองมากกว่า เครื่องมือสำคัญคือที่ได้ออกแบบฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก่องค์กรอิสระซึ่งไม่ได้อิสระจริง กระบวนการทางตุลาการนานาชนิดซึ่งไม่มีใครสามารถตรวจสอบยับยั้งได้ นอกจากกลุ่มชนชั้นนำเดิม รวมทั้งวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่งด้วย

นี่คือเหตุผลที่ต้องขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ "คำแนะนำ" ที่ไม่เกี่ยวกับคดี

แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ แม้มีมวลชนเข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อของตนเองในการโต้เถียงกัน ด้วยเหตุผลบ้าง ด้วยอารมณ์บ้าง แม้กระนั้นก็ไม่ปะทุกลายเป็นการยกพวกตีกัน หรือจลาจลกลางเมือง

เช่นเดียวกับการรัฐประหาร การชุมนุมใหญ่เพื่อสร้างเงื่อนไขเชิงบังคับกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยลงแก่ขบวนการมวลชน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมใหญ่จนปะทะกันจึงมีน้อยลงไปมาก ความจริงผมคิดด้วยว่า ประเด็นใหญ่ที่จะดึงผู้คนมาร่วมชุมนุมใหญ่นั้น หมดความขลังไปเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเด็นการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยดึงคนมาได้มากมายนับตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ไม่ขลังดังเดิมเสียแล้ว
ผู้ที่ยังต้องการใช้ประเด็นนี้ ต้องกลับไปคิดว่าจะเสนอการละเมิดในลักษณะใด จึงจะปลุกคนขึ้น ประเด็นอื่นเช่นบุรณภาพเหนือพื้นที่ชายแดน จะปลุกขึ้นหรือไม่ ต้องรอคำตัดสินของศาลโลก แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ขึ้นอีกนั่นแหละ เพราะที่จริงแล้ว มีพื้นที่ชายแดนของไทยซึ่งยังมีสถานะคลุมเครืออีกทั่วทุกด้าน และกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดการความคลุมเครือนั้นไปในทางใด - สันติภาพ หรือสงคราม - ต่างหาก



แท้ที่จริงแล้ว ผมสงสัยว่าชนชั้นนำการเมืองทุกฝ่ายกำลังตกใจกับ "การเมืองมวลชน" ชนชั้นนำไทยเคยใช้ "การเมืองมวลชน" มานานแล้วก่อน 14 ตุลา แต่ใช้เพียงรูปแบบ เช่นการประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ, เรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส, และล้มการเลือกตั้ง "สกปรก"
14 ตุลา เป็นการใช้ "การเมืองมวลชน" กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยความหวังแบบเก่าว่า เมื่อล้มกลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจอยู่ขณะนั้นได้แล้ว มวลชนก็จะกลับบ้านนอนตามเดิม การณ์ไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เพราะ 14 ตุลาเป็น "การเมืองมวลชน" ที่แท้จริง มากกว่ารูปแบบ ปีกหนึ่งของมวลชนคือนิสิตนักศึกษาไม่ยอมกลับบ้านนอน ซ้ำยังอยู่ห่างจากการกำกับของชนชั้นนำอีกด้วย และด้วยเหตุนั้นจึงต้องสร้าง "การเมืองมวลชน" จากอีกปีกหนึ่งมาล้างผลาญปีกนิสิตนักศึกษา
ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังให้แก่พรรคฝ่ายค้านของระบบที่แท้จริงคือ พ.ค.ท. กลายเป็นบทเรียน (ซึ่งชนชั้นนำได้เรียนหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ว่าการทำลายพลังของ "การเมืองมวลชน" ด้วยวิธีรุนแรงแบบนั้น จะยิ่งทำให้ศัตรูของระบบเข้มแข็งขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว "การเมืองมวลชน" ที่แท้จริง เป็นอันตรายต่อชนชั้นนำทางการเมืองมาก เพราะพลังทำลายล้างระบบของ "การเมืองมวลชน" รุนแรงมาก และกำกับไม่ได้ โดยเฉพาะกำกับไม่ได้โดยฝ่ายอำนาจ ระบบการเมืองตามประเพณีของสังคมทั้งหลายในโลกนี้พังทลายลงด้วย "การเมืองมวลชน" ทั้งนั้น


ว่าถึงสถานการณ์ของ "การเมืองมวลชน" ในประเทศไทย ผมคิดว่าทั้งกลุ่มเหลืองและแดง ค่อยๆ พัฒนาเจตจำนงอิสระของตนเองขึ้น จนผู้อยู่เบื้องหลังกำกับควบคุมยากขึ้นทุกที การทำงานของเหลืองไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับ "แนวหน้า" กลุ่มจารีตนิยมฝ่ายอื่น เช่น กองทัพ หรือพรรค ปชป. รวมไปถึงองค์กรอิสระ เช่น กกต.และ ป.ป.ช.ด้วย

วีรบุรุษของฝ่ายแดงคือคุณทักษิณรู้สึกถึงความหนักของเสื้อแดงมากขึ้นทุกที แม้แต่จะเอาชีวิตเลือดเนื้อของฝ่ายแดงไปแลกกับการพ้นคดีของตนเองก็ทำไม่ได้ เพราะมวลชนฝ่ายแดงจำนวนมากไม่ยอม และถึงกับออกมาประณามวีรบุรุษอย่างรุนแรง คุณทักษิณต้องรีบออกมาขอโทษ ซัดทอดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียไข้หวัดไปโน่น นับวัน "การเมืองมวลชน" ก็เป็นภาระที่หนักขึ้นทุกที คุณทักษิณจึงได้แต่ขอบคุณ "เรือ" เสื้อแดงที่มาส่งถึงฝั่งแล้ว ขอแยกย้ายกันต่างคนต่างไปเสียที

แม้อ่อนกำลังลง แต่ "การเมืองมวลชน" ก็ยังอยู่นะครับ ยังไม่สลายสิ้นซากเสียทีเดียว เพราะตราบเท่าที่ระบบการเมืองไม่ถูกปรับให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม "การเมืองมวลชน" ก็ยังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองจนได้
แต่ผมคิดว่า "การเมืองมวลชน" เป็นอิสระมากขึ้น และสุขุมคัมภีรภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะต่างฝ่ายยังต้องสะสมพลังมากกว่านี้อีกมาก เพื่อจะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองอย่างได้ผล ผมรู้สึกว่า แม้แต่แกนนำที่พูดเก่งๆ อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็กุม "การเมืองมวลชน" ได้น้อยลง "การเมืองมวลชน" อาจกำลังเดินไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าก็ได้ นอกจากนี้ ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างรู้แล้วว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

ในสภาวะที่ความขัดแย้งพัฒนาถึงจุดงันทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการปรองดอง เสียงของคนอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้ยินมาก่อน ก็จะมีคนฟังบ้าง การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างมวลชนของสองฝ่าย อาจเกิดขึ้นได้โดยโคตรเหง้าเหล่ากอไม่ถูกสื่อของทั้งสองฝ่ายพล่าผลาญเกียรติคุณลง

อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงความปรองดอง สื่อและผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่สนใจ "มวลชน" และไปคิดว่า หากผู้นำคู่ขัดแย้งสามารถจับเข่าคุยกันได้ ทุกอย่างก็จะจบ แต่นั่นเป็นการจบแบบเกี้ยเซี้ย ซึ่งความขัดแย้งในเมืองไทยได้เดินเลยจุดที่ผู้นำเกี้ยเซี้ยกันได้ แล้วทุกอย่างจะจบลงเสียแล้ว อย่าลืมว่าความขัดแย้งกันครั้งนี้ออกมาในรูป "การเมืองมวลชน" นับตั้งแต่แรก


ในสถานการณ์ดังที่กล่าวนี้ น่าสังเกตด้วยว่า ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (เช่น รับจำนำข้าว, ค่าแรง 300 บาท หรือรถคันแรก) มีการนำปรัชญาแนวคิดของทั้งตะวันตกและตะวันออกมาใช้เพื่อโต้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ ผมรู้สึกว่าการโต้เถียงกันด้วยคำบริภาษหยาบคาย หรือข้อโต้แย้งแบบเดิมๆ กำลังลดน้อยถอยลง (อาจยังเหลืออยู่ใน ASTV กับพรรค ปชป.) ข่าวเรื่องบุคคลชาวเสื้อเหลืองที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะถูกกล่าวหาว่าเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยการขับรถชนและทับ ได้รับความเห็นใจและให้การปฏิบัติฉันมิตรจากชาวเสื้อแดงในเรือนจำ นับเป็นข่าวดี และสะท้อนบรรยากาศที่คลี่คลายไปในทางดีในช่วงนี้

แต่อย่าเพิ่งมองเห็นฟ้าทองผ่องอำไพ หนทางยังไม่ราบรื่นอย่างนิมิตหมายที่ดีซึ่งมองเห็นได้ในปัจจุบัน 
ขบวนการของมวลชนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้ "การเมืองมวลชน" นำไปสู่การปรับระบบการเมือง แต่อาจลงเอยที่การเกี้ยเซี้ยของกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะเกิดความสงบขึ้นได้

นับวันสื่อที่มุ่งจะทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตมีน้อยลง คนทำสื่อก็เป็นมนุษย์ ย่อมเลือกข้างได้ แต่เลือกข้างแล้วก็ยังต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรงต่อไป คนกวาดถนนเลือกข้างแล้ว แต่แอบเจาะโพรงในถนนเพื่อให้ข้างปรปักษ์ตกลงไปขาหัก ก็ไม่น่าจะเรียกตนเองว่าคนกวาดถนนได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น

มีความรู้อีกมากที่สังคมควรรู้ แต่เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นจากการศึกษาวิจัย นักวิชาการออกมารณรงค์ร่วมกับมวลชนก็ได้ แต่ยังมีหน้าที่เฉพาะของตนต้องทำต่อไป อย่างซื่อตรงต่อหน้าที่ด้วย


ผมคิดว่าสื่อและความรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราขัดแย้งกันต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แต่เราขาดทั้งสองอย่างในเวลานี้

สังคมขาดเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้พรรคการเมืองเพื่อแก้ความขัดแย้งไม่ได้เลย เพราะพรรคการเมืองนำความขัดแย้งไปสู่การแย่งอำนาจ แทนที่จะนำไปสู่การต่อรองของฝ่ายต่างๆ
ยังไม่มีนิมิตหมายอะไรที่แสดงว่าพรรคการเมืองจะเปลี่ยนตัวเอง

ผู้ทำความล้มเหลวแก่สังคมไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เสื้อสี
แต่คือส่วนอื่นๆ ที่กุมเงื่อนไขของ "การเมืองมวลชน" ให้ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสร้างความไร้ระเบียบขึ้นต่อรองกัน




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-01-20

การเมืองไทย2556 เมื่ออังคารอ่อนแรง! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

การเมืองไทย 2556 เมื่ออังคารอ่อนแรง!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 36-37
(ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid
=1358670847 . . อาทิตย์ 20 ม.ค. 2556 เวลา 19:19:19 น.)



"วันที่ 23 เมษายน 2556 ดาวอังคารโคจรทับลัคนาราศีเมษของดวงเมืองร่วมกับดาวศุกร์มีตำแหน่งในราศีเมษ เล็งดาวเสาร์กับราหูในราศีตุล ทำมุมฉากกับเกตุในราศีมังกร ทำให้ดาวอังคารอ่อนเปลี้ยเพลียแรงหมดสภาพไปในปีนี้
...
ดาวอังคารเป็นดาวของผู้มาดูแลบ้านเมือง เป็นบุคคลในเครื่องแบบ จึงส่งผลให้บุคคลผู้มีอำนาจอยู่ในมือพร้อมอาวุธอ่อนกำลังอ่อนแอลงไป"
โสรัจจะ นวลอยู่
ศาสตร์แห่งโหร 2556



สําหรับท่านที่สนใจเรื่องโหราศาสตร์แล้ว คำทำนายทางการเมืองของ โสรัจจะ นวลอยู่ ที่ปรากฏในหนังสือ "ศาสตร์แห่งโหร 2556" น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พลังทหารซึ่งเป็นแกนกลางของกลุ่มอำนาจนิยมไทยมาโดยตลอดนั้นมีสภาพที่จะอ่อนกำลังลง หรือสรุปง่ายว่า กองทัพจะอ่อนแรงลงในการเมืองไทยของปี 2556
แต่ถ้าพิจารณาอีกมุมหนึ่งที่ไม่ต้องอ้างอิงตำราทางโหราศาสตร์จากการเดินทางของดวงดาวในเรื่องของดวงเมืองแล้ว เราก็อาจจะเห็นภาพที่คล้ายคลึงกัน

เพราะหลังจากการล้อมปราบใหญ่ด้วยการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งในปี 2552 และ 2553 แล้ว กองทัพได้ตกเป็นจำเลยของการ "สังหารหมู่ 98 ศพ" แม้จะมีการกล่าวว่า ปฏิบัติการล้อมปราบที่เกิดขึ้นเป็นไปตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นก็ตาม หรือแม้นว่า กระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้นจะมุ่งไปสู่การเอาผิดผู้ออกคำสั่งในเหตุการณ์นั้นๆ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากกระสุนของอาวุธสงคราม


ในความเป็นจริงเช่นนี้ แม้จะถูกปกป้องด้วยการกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารปฏิบัติการใช้ "กระสุนจริง" ตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง โดยมีคำสั่งของ ศอฉ. เป็นเครื่องยืนยัน 
แต่ในทางศีลธรรมแล้ว กองทัพปฏิเสธไม่ได้ว่าความตายที่เกิดขึ้น เป็นผลของปฏิบัติการทางทหาร 
ซึ่งหากกระบวนการสอบสวนเดินหน้าไปอีกขั้นหนึ่งจากการเอาผิดฝ่ายการเมืองในฐานะผู้ออกคำสั่งแล้ว ก็น่าสนใจว่า ผู้ปฏิบัติการทางทหารในระดับใดบ้างต้องอยู่ในฐานะ "ผู้รับผิดชอบร่วม" ด้วย

แต่ด้วยเงื่อนไขการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องยอมรับความจริงว่า การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างแท้จริง กลไกรัฐในหลายๆ ส่วนยังมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอยู่มาก 
ยิ่งในส่วนของผู้นำกองทัพแล้ว ก็น่าสงสัยอย่างมากว่า พวกเหล่านั้นยอมรับหรือไม่ว่า กองทัพเป็น "กลไก" ของรัฐบาล หรือพวกเขายังเชื่อว่า กองทัพเป็น "องค์กรอิสระ" ที่แม้จะได้รับงบประมาณของรัฐ แต่พวกเขาก็เป็นอิสระจากรัฐ และไม่ใช่กลไกรัฐแต่อย่างใด


สถานภาพทางการเมืองเช่นนี้ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีท่าทีประนีประนอมกับผู้นำกองทัพอย่างมาก จนหลายๆ ครั้งทำให้กลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกไม่พอใจ 
หรือในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นท่าทีเช่นนี้จากการที่รัฐบาลแทบไม่ได้มีบทบาทที่เด่นชัดในงานด้านทหาร 
เช่น กรณีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่ง กอ.รมน. เป็นเสมือน "กล่องดวงใจ" ของกองทัพโดยเฉพาะมิติด้านงบประมาณ และได้รับการยอมรับว่าเป็น "สิ่งที่แตะต้องไม่ได้" จากรัฐบาลพลเรือน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น "untouchable" ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพทุกยุคทุกสมัย

การที่รัฐบาลเองไม่ได้มีฐานะทางการเมืองที่เข้มแข็ง และประกอบกับฝ่ายการเมืองบางส่วนมีทัศนะแบบ "หนีความขัดแย้ง" เพราะเชื่อว่า การไม่เข้าไปยุ่งในพื้นที่ที่เป็นปริมณฑลแห่งอำนาจของทหารนั้น จะเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ชีวิตของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยืนนานต่อไปได้ 
พวกเขาจึงมักจะมีท่าทีแบบ "ประนีประนอมสูง" กับฝ่ายทหาร

อีกทั้งหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลเมื่อต้องเผชิญกับ "มหาอุทกภัย" ในช่วงปลายปี 2554 นั้น รัฐบาลได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากผู้นำกองทัพในการนำเอาทหารออกมาแสดงบทบาทในการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ 
จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตน้ำท่วมกลายเป็นช่วงเวลาของ "น้ำผึ้งพระจันทร์" ทางการเมืองระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล

สำหรับผู้นำรัฐบาลและฝ่ายการเมืองบางส่วนดูจะเชื่อว่า น้ำผึ้งพระจันทร์ไม่ได้หายไปกับสายน้ำหลาก เพราะหลังจากวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ต้องยอมรับอย่างมากว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำหญิงของรัฐบาลกับผู้นำทหารนั้น เป็นไปด้วยดี และดูจะดีมากกว่าที่หลายคนประมาณการเอาไว้เช่นในช่วงต้นของรัฐบาล 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ท่าทีของรัฐบาลดูจะไม่ประสงค์ที่จะให้การชี้ความผิดในคดีสังหารหมู่ 98 ศพ ไปไกลเกินจากฝ่ายการเมือง
หรือกล่าวในทางคดีอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลดูจะต้องการกันฝ่ายทหารไว้เป็นพยาน มากกว่าจะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดร่วม
และก็มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการเดินไปให้ถึงจุดที่กองทัพจะตกเป็น "จำเลยร่วม" แต่อย่างใด



การเมืองในสภาพเช่นนี้ยังผสมกับเงื่อนไขของความจำกัดอันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 2549 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่าแม้รัฐประหารดังกล่าวจะล่วงเลยมามากกว่า 6 ปีแล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ยังเกิดขึ้นโดยตลอด 
อีกทั้งผู้นำรัฐประหารดังกล่าวก็แสดงออกถึงการต่อต้านการยึดอำนาจด้วยการพาตัวเองลงสู่สนามเลือกตั้ง และเข้าสู่รัฐสภาด้วย "รถหาเสียง" ไม่ใช่ด้วย "รถถัง" การกระทำดังกล่าวของผู้นำรัฐประหารจึงเท่ากับเป็นการทำลายเครดิตและความขลังของการยึดอำนาจอย่างหมดสิ้น 
และเท่ากับเป็นการยืนยันว่าในที่สุดแล้ว ถ้าผู้นำทหารต้องการเล่นการเมือง ก็สามารถทำได้ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นนักการเมืองโดยทั่วไป และหากความน่าเชื่อถือยังคงพอมีอยู่แล้ว การได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาก็เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยขบวนรถถังเช่นในยามรัฐประหาร
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า รัฐประหาร 2549 เป็นผลในด้านกลับ ถือเป็นการยึดอำนาจที่ทำลายพลังของกองทัพในทางการเมืองได้อย่างชัดเจน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการรัฐประหารที่ทำลายตัวเองอย่างรวดเร็ว อาจจะมากกว่ารัฐประหาร 2534 เสียด้วย 

แม้จะมีข้อโต้แย้งได้ว่า รัฐประหาร 2534 นั้นในที่สุดแล้วก็จบลงด้วยวิกฤตการเมืองด้วยการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งกองทัพพ่ายแพ้และคลี่คลายต่อมาด้วยการออกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผลกระทบเกิดขึ้นในปี 2535 เป็นหลัก แต่กับอำนาจในส่วนอื่นๆ ของกองทัพนั้นดูจะถูกปรับเปลี่ยนไปน้อยมาก 
สำหรับรัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยการล้อมปราบครั้งแรกในสงกรานต์ปี 2552 และล้อมปราบใหญ่ในปี 2553 นั้น แม้กองทัพจะเป็นฝ่ายชนะในการล้อมปราบ แต่ก็ส่งผลกระทบกับกองทัพอย่างมาก จนกลายเป็น "ตราบาป" ของนายทหารที่เกี่ยวข้องเพราะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 98 ศพ

และการเสียชีวิตในครั้งนี้ไม่ได้ถูกปล่อยให้กลายเป็น "คลื่นกระทบฝั่ง" เช่นในปี 2516 หรือ 2519
หรือจบลงด้วยการประนีประนอมจนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเช่นในปี 2535
หากกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียหลายๆ คนตัดสินใจสู้ เพื่อไม่ให้ทุกอย่างเงียบไป ประกอบกับการเติบโตของสื่อใหม่อย่าง "โซเชียลมีเดีย" ทำให้เรื่องราวของการเสียชีวิตครั้งนี้ได้รับการกระตุ้นเตือนอยู่ตลอด 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยกเครดิตในอีกส่วนหนึ่งให้แก่กลุ่มนักวิชาการของ "ศูนย์ข้อมูลติดตามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.)" ซึ่งได้จัดทำรายงานการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และมีความยาวถึง 1,390 หน้า(เอกสารตีพิมพ์ในปี 2555)



เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดทางการเมืองของกองทัพโดยตรง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องของการล้อมปราบที่ราชประสงค์ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงบทบาทของปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นด้วย 
อีกทั้งในการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ได้มีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอดที่ต้องการให้รัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "ICC" (ไอซีซี) 

การเรียกร้องเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องเช่นนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย
เพราะจากการล้อมปราบทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด เมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ล้วนเป็นเรื่องของการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของฝูงชนที่ต่อต้านรัฐบาลทั้งสิ้น

ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยตอบรับในการเข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าว การใช้กำลังทหารในการปราบปรามทางการเมืองจะเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง 
เพราะปฏิบัติการทางทหารเช่นนั้นอาจถูกฟ้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกลายเป็น "อาชญากร" ในศาลดังกล่าวได้ไม่ยากนัก

ฉะนั้น แม้หลายคนจะคิดว่า การผลักดันให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ยอมรับในเรื่องของศาลนี้แล้ว จะเป็นเสมือนการ "ปิดประตู" ของการใช้กำลังทหารในทางการเมือง โดยเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลพลเรือนยอมรับอำนาจของศาลดังกล่าว จะทำให้เกิดเครื่องมือของ "การป้องกัน" บทบาทของการใช้กำลังทหารในการปราบปราม หรือบางทีอาจจะเป็นกลไกของ "การป้องปราม" รัฐประหารในตัวเองด้วย 
แต่ว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลพลเรือนจะกล้าตัดสินใจในเรื่องเช่นนี้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องจนรัฐบาลอาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ในปี 2556

แต่อย่างน้อยก็คงพอคาดการณ์ได้ว่า เสียงเรียกร้องเรื่องนี้อาจจะมีมากขึ้น และแม้รัฐบาลอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่ในทางกลับกันก็จะกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้นำทหารในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน 
และขณะเดียวกันหากมองในทางที่ดีแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารหลังปี 2549 เองก็มีบทเรียนอยู่หลายเรื่อง 
และหลายคนก็ดูจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่พอสมควร และไม่มีผู้นำทหารคนใดอยากตกเป็น "จำเลยการเมือง" อีก




อย่างไรก็ตามการอ่อนพลังลงของอำนาจทางทหารนั้นถูกพิสูจน์ด้วยผลของรัฐประหาร 2549 เอง เพราะเป็นการยึดอำนาจซึ่งในที่สุดแล้ว กลุ่มพลังที่ถูกทำลายลงจากการรัฐประหารกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในรูปของขบวนของคนเสื้อแดง จนสามารถชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2554 
และขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารนั้น นอกจากจะแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาตั้งรัฐบาลได้ก็ต่อเมื่อต้องใช้อำนาจทางทหารบีบคั้น จนเกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้ 


นอกจากนี้ นับวันจะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า กระแสการเมืองภายนอกไม่ยอมรับการเมืองนอกระบบที่ต้องอาศัยพลังทหารเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนแต่อย่างใด 
และยิ่งในช่วงปลายปี 2555 ที่เห็นถึงการเดินทางเยือนไทยทั้งของผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีนแล้ว ก็พอจะตีความได้ว่า ชาติมหาอำนาจที่ไทยต้องเกี่ยวข้องด้วยนั้น ไม่ได้ต้องการเห็นการเมืองไทยถอยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมอีกแต่อย่างใด
และทั้งการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัยเหนี่ยวรั้งหนึ่งในเรื่องของทหารกับการแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำทหารพม่ากำลังคลายมือออกจากการเมืองแล้ว ในภูมิภาคนี้จึงไม่มีใครอยากเห็นผู้นำทหารไทยพยายามกระชับมือกับการเมืองไทยอีกแต่อย่างใด

ถ้าพิจารณาจากคำอธิบายอย่างสังเขปในข้างต้นแล้ว รัฐศาสตร์กับโหราศาสตร์ดูจะตอบคล้ายกันว่า ดาวอังคารน่าจะอ่อนแรงในปี 2556... แต่ก็อย่าประมาทจนเกินไป !



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-01-19

ศึกชิงผู้ว่าฯ 2556..ฐานเสียง 6 แสนจะสู้กับ 9 แสน อย่างไร โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ศึกชิงผู้ว่าฯ 2556..ฐานเสียง 6 แสนจะสู้กับ 9 แสน อย่างไร
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 20


คู่แข่งหลักในศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 2556
คือ เพื่อไทย และ ปชป.


การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคการเมืองเลือกข้าง คู่แข่งหลักจะมาจากค่ายการเมืองใหญ่ ผู้สมัครอิสระที่เคยมีโอกาสชนะพรรคการเมืองหลายครั้ง คราวนี้เหลือโอกาสน้อยมากๆ

ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้คะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกินกว่า 900,000 ในสามครั้งหลัง แต่เพื่อไทยสนับสนุนใครไม่ว่าโดยตรงโดยอ้อม ก็ได้เพียง 500,000-600,000 เท่านั้น แล้วจะสู้กันได้อย่างไร? (ผู้วิเคราะห์ใช้ตัวเลขกลมๆ เพื่อจะได้จำง่าย) ลองย้อนดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอดีต ว่าใครแข่งกับใคร แพ้-ชนะ อย่างไร?


ตำนานการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ปี2518 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก นายธรรมนูญ เทียนเงิน จาก ปชป. ชนะ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพลังใหม่ ได้คะแนน 99,000 มีผู้ใช้สิทธิเพียง 13.8% แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เพียงหกเดือน ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งก็ถูกปลดจากตำแหน่ง และกลับไปใช้การแต่งตั้งเหมือนเดิม 
จนกระทั่งถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบก็มีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2528 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้รับเลือกด้วยคะแนนประมาณ 400,000 นายชนะ รุ่งแสง จาก ป.ช.ป.ได้ประมาณ 240,000 พรรคประชากรไทยได้ 140,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 34.6% พลตรีจำลองเป็นผู้ว่าฯ จนหมดสมัย ก็ได้รับเลือกอีกครั้งด้วยคะแนนประมาณ 700,000 พรรคประชากรไทยได้ 280,000 พรรค ปชป.ได้ 60,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 35.8% แต่พลตรีจำลองก็ลาออกกลางคันเพื่อไปเล่นการเมืองระดับชาติ

การเลือกตั้งในปี 2535 ร.อ.กฤษดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ ของพลตรีจำลองลงสมัครและได้รับเลือกด้วยคะแนน 360,000 ชนะ ดร.พิจิตต จาก ปชป. ซึ่งได้ 300,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 23% 
เมื่อครบวาระในปี 2539 พลตรีจำลองกลับมาเล่นการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง แต่ ร.อ กฤษดาผู้ว่าฯ ไม่ยอมหลีกทางให้ จึงต้องชนกันเอง ส่วน ดร.พิจิตตก็ชิ่งออกจาก ปชป.ลงสมัครอิสระอีกครั้ง เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นการแข่งขันของตัวเต็งเก่า 
ผลปรากฏว่า ดร.พิจิตตชนะ ได้คะแนนประมาณ 770,000 พลตรีจำลองได้ประมาณ 520,000 ร.อ.กฤษดา ผู้ว่าฯ เก่าได้ 240,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 43.5% 
การแพ้ของพลตรีจำลองครั้งนี้มีคนกล่าวว่าสาเหตุมาจากการตัดคะแนนกันเองกับ ร.อ.กฤษดา

การเลือกตั้งปี 2543 ดร.พิจิตตเป็นมาครบสี่ปีไม่ได้ลงสมัครอีก ครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่ง คือ 58.8% ผู้ได้รับเลือกตั้งคือ นายสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนเกินหนึ่งล้านคะแนน (ถือเป็นคะแนนสูงสุดจนถึงปัจจุบัน) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากไทยรักไทยได้ 520,000 ปชป.ได้ 250,000

การเลือกตั้งปี 2547 ผู้ได้รับเลือกตั้ง คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จาก ปชป.ได้ 910,000 นางปวีณา หงสกุล สมัครอิสระได้ 620,000 นายชูวิทย์ กมลวิสิษฎ์ ได้ 330,000 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงได้ 160,000 การเลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินการตามกฎหมายใหม่ ควบคุมโดย กกต. ปีนี้มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 62.5% 
เมื่อผู้ว่าฯ อภิรักษ์ครบวาระในปี 2551 ก็ลงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ได้คะแนน 990,000 ชนะ นายประภัสร์ จงสงวน จากพลังประชาชนซึ่งได้ 540,000 นายชูวิทย์ กมลวิสิษฎ์ ได้ 340,000 ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้ 260,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 54% แต่หลังเลือกตั้งเพียงเดือนเศษ ป.ช.ป. ก็ชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์เรื่องคดีรถและเรือดับเพลิง จึงต้องลาออก

การเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกด้วยคะแนน 930,000 พรรคเพื่อไทยส่ง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงแข่งได้ 610,000 และ มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (หม่อมปลื้ม) สมัครอิสระได้ 330,000 นายแก้วสรร อติโพธิ 140,000 ผู้มาใช้สิทธิ 51%
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ลาออกตามวาระเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 และจะมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 3 มีนาคม 2556 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้มิได้เป็นเพียงการเลือกผู้บริหาร แต่จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการเมืองส่วนอื่นๆ และแนวรบอื่นที่กำลังขัดแย้ง ทั้งปัจจุบันและอนาคต



ปัจจัยที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงมาจากไหน?

1.ฐานเสียงของพรรค 2.คุณสมบัติของผู้สมัคร 3.นโยบาย 4.กำลังคนสนับสนุน และเสบียงกรัง 5.ยุทธวิธีในการหาเสียงและหาคะแนน 6.ทีมงานและทีมเสนาธิการ 7.ใครเป็นคู่แข่งและใครเป็นตัวแปร

เราจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ การแข่งขันและสถานการณ์ในอดีตเพื่อทำความเข้าใจกับฐานคะแนน

1. ฐานเสียง ใน กทม.ของพรรคเพื่อไทย และ ปชป.แบบเลือกข้าง ในสถานการณ์ หลังรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์

ปี 2551 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยุคแบ่งข้างแบ่งสี เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ช่วงระหว่างการรัฐประหาร ผู้ว่าฯ กทม. คือนายอภิรักษ์ ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกปลดเหมือนสมัยนายธรรมนูญ แม้จะถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องคดีทุจริตรถดับเพลิง 
และเมื่อหมดสมัย ปชป.ก็ยังส่งนายอภิรักษ์ลงสมัครอีก ส่วนพรรคพลังประชาชนส่ง นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ลงแข่งขัน

การเลือกตั้งกำหนดไว้วันที่ 5 ตุลาคม 2551 แต่การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้นในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกกดดันด้วยการชุมนุม วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมยืดเยื้อ มีการยึดทำเนียบในเดือนสิงหาคม 2551 กลบข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกือบหมด 
และกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังรุกต่อไปด้วยตุลาการภิวัฒน์ จนนายกฯ สมัครต้องถูกปลดด้วยข้อหาทำกับข้าวออกทีวี เมื่อ 9 กันยายน 2551 แม้หานายกฯ ใหม่คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาได้แล้วแต่ยังไม่มีโอกาสเข้าทำเนียบ การเลือกตั้งครั้งนั้นจึงเป็นการเลือกตั้งที่พลังประชาชน ไม่มีโอกาสสู้ เพราะมัวแต่หนีตาย (ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่รอด) 
ผลการเลือกตั้ง ปชป.จึงได้ไป 990,000 ขณะที่พลังประชาชนได้ 540,000

ดูเหมือนว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้นำให้กลุ่มอำนาจเก่าได้ใจ วันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 จึงได้เคลื่อนกำลังปิดล้อมรัฐสภา จึงเกิดเรื่องราวมีทั้งตำรวจและประชาชนได้รับบาดเจ็บ 
จากนั้นวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2551 ก็บุกยึดสนามบิน วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ปลดนายกฯ สมชาย ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย 
สรุปผลการต่อสู้ปี 2551 เสียนายกไป 2 คน ถูกยุบไปอีก 3 พรรค ผู้ว่าฯ กทม. เป็นของ ปชป.แถมได้นายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน (มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร โดยพรรค ปชป.ขึ้นมาเป็นแกนนำ มีอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551)

วันที่ 11 มกราคม 2552 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้งแทน นายอภิรักษ์ที่ลาออกเพราะถูก ป.ช.ป. ชี้มูลความผิด วันนั้นกลุ่มอำนาจเก่าก็มีอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีทั้งมหาดไทย กลาโหม กกต. และ ป.ช.ป. หรือองค์กรอิสระอื่นๆ

ผลคะแนนที่ออกมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จาก ปชป. ได้ 930,000 และพรรคเพื่อไทย (ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อจากพลังประชาชนที่ถูกยุบ) ได้ 610,000


การปรับฐานเสียงของสองพรรคใหญ่
หลังการสลายการชุมนุม 2553


พรรคเพื่อไทย การเลือกตั้ง กทม. 4 ครั้ง ในปี 2543, 2547, 2551, 2552 ในสถานการณ์การเมืองต่างๆ คะแนนเสียงเพื่อไทย อยู่ที่ประมาณ 5-6 แสน เป็นฐานคะแนนที่สวิงน้อยมาก เมื่อเทียบกับ ปชป.นี่จึงเป็นสมมุติฐานที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะชนะ ปชป.ได้ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
กว่าคะแนนเสียงใน กทม.ของเพื่อไทย จะขยับ ต้องรอจนหลังเกิดเหตุการล้อมปราบเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รอจนประชาชนเห็นฝีมือการบริหารของ ปชป. 2 ปีกว่า จึงจะมีการเปลี่ยนความนิยม ดูได้จากคะแนนของเพื่อไทย เขต กทม. ในการเลือกตั้งใหญ่ กรกฎาคม 2554 ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกุมทุกอย่าง เพื่อไทย ดิ้นหนีตาย ระดมสุดแรง มีเสื้อแดงช่วย ได้มาถึง 1.2 ล้านเสียง เพิ่มขึ้นเกือบ 100%

ปชป. การเลือกตั้ง สามครั้งหลังจะเห็นว่าปชป.ได้คะแนนระดับเก้าแสนเศษทั้งสิ้น ก่อนหน้านั้นในวันที่ตกต่ำอาจจะอยู่ที่หกหมื่น และเมื่อ ปชป.ไม่ได้อยู่ในยุครุ่งโรจน์ ปี 2543 ส่ง นายธวัชชัย สัจจกุล (บิ๊กหอย) ซึ่งเป็นที่รู้จักของแฟนฟุตบอล ก็ได้คะแนนประมาณ 250,000 ก่อนก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 910,000 ในปี 2547 เพราะในครั้งนั้นกระแสต่อต้านทักษิณเพิ่งจะเริ่มขึ้น 
หลังจากนั้น ปชป.ก็เก็บกระแสต้านทักษิณมาเป็นคะแนนได้แทบทั้งหมด แต่คะแนนเก้าแสนสองครั้งหลังในปี 2551 และ 2552 น่าจะเกิดจากองค์ประกอบทางการเมืองและอำนาจอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริม หลังสลายการชุมนุม 1 ปีและเป็นรัฐบาล 2 ปี ปชป.มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ คุม กทม. ทุกปัจจัยพร้อม วันเลือกตั้งใหญ่ กรกฎาคม 2554 มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ทุ่มสุดกำลังทุกวิถีทาง ได้มาถึง 1.30 ล้านเสียง เพิ่มขึ้น 40%

ดังนั้น ถ้านำการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายมาร่วมพิจารณาด้วย ลดปัจจัยตัวบุคคลของอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ลง ยังไม่นำนโยบายที่จะเสนอในปี 2556 มาคิด ความเหนือกว่าของฐานคะแนน ปชป. ใน กทม. ต้องมากกว่า เพื่อไทยประมาณ 10% (ประมาณ 80,000-100,000 คะแนน) ซึ่งถือว่าไม่ห่างกันเกินไป

สามารถเบียดกันเข้าเส้นชัยได้ถ้าเพื่อไทยมีความเหนือกว่าด้านอื่น


ต้องทำคะแนนเท่าไรจึงมีโอกาสชนะ

ที่ผ่านมาคะแนนของที่ 1...ที่ 2... จะมีความห่างกันประมาณ 200,000 เป็นอย่างน้อย ยกเว้นปี 2535 ร.อ.กฤษดา ชนะ ดร.พิจิตต เพียง 60,000 คะแนน ส่วนคะแนนที่เลือกผู้สมัคร ลำดับ 3-5 จะรวมกันได้ประมาณ 400,000-600,000 คะแนน แต่ การต่อสู้ครั้งนี้คะแนนที่จะกระเด็นออกไปจากพรรค ปชป. และเพื่อไทยคงจะไม่มากเท่าเก่า เนื่องจากเป็นยุคการเมืองที่เลือกข้างแล้ว

ปี 2556 กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่แรงเท่าเลือกตั้งใหญ่ 2554 การออกสตาร์ตถ้าคิดตามฐานเสียงของคู่แข่งจากสองพรรค จะมิได้อยู่ที่ 1.3 ล้าน ต่อ 1.2 ล้าน ผู้ที่เคยลงคะแนน 30% จะถอยกลับมาคิด บางคนไปลงให้คนใหม่ๆ หรือสลับข้าง
บางคนผิดหวังไม่เลือกใคร ผลงานและพฤติกรรม ของพรรคและผู้สมัครจึงมีส่วน 
ดังนั้น ฐานคะแนนน่าจะเริ่มจาก 9 แสน ต่อ 8 แสนจากนั้นก็จะต้องมีการทำคะแนนเพิ่มจาก ปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบาย ครั้งนี้ ผู้ชนะจะต้องได้เกิน 1 ล้าน และทำลายสถิติเดิมของนายสมัคร แต่คะแนนหลักหมื่น ก็อาจชี้ขาดชัยชนะได้

เกมนี้ไม่มีเสมอ จะแพ้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องมีคนแพ้ เพราะคนชนะมีคนเดียว

นี่ว่ากันเฉพาะฐานเสียง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะชี้ขาดชัยชนะ ที่สำคัญ เพื่อไทยต้องระวังอย่าให้ถูกยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง เดี๋ยวคนเลือกจะจำชื่อใหม่ไม่ได้เหมือนปี 2551

(การวิเคราะห์การเลือกตั้ง กทม. จะมีทุกสัปดาห์ในบางส่วนของบทความนี้ จนสิ้นสุดการเลือกตั้ง)



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

สกัด“น้ำเน่า”, พริกปูม“พงศพัศ”, ขนมพอสมน้ำยา, หวังว่าไม่ใช่, บุญคุณต้องทดแทน, ปัญหายุคไหน? ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.

สกัด“น้ำเน่า”
โดย สมิงสามผลัด
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


เพิ่งเริ่มหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็สาดโคลนสาดกันเปรอะเปื้อนไปหมด
ในโลกออนไลน์งัดกันออกมาฟาดฟันฝ่ายตรงข้าม
ทั้งจริงบ้าง-เท็จบ้าง อุตลุด กันไปหมด

ข้อมูลบางเรื่องก็ยกเมฆกันขึ้นมาดื้อๆ ขยายความกันต่อจนกระหึ่มไปทั้งบ้านเมือง
ตัดต่อภาพป้ายหาเสียง เพื่อดิสเครดิตกันง่ายๆ

จนล่าสุด พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานกกต.กทม.ต้องออกมาตักเตือน ห้ามใช้ความเท็จโจมตีคู่แข่งเด็ดขาด เพราะถือเป็นความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ. เลือกตั้ง
"ขอเตือนผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงให้ระวังการวิจารณ์หรือปราศรัยโจมตีใส่ร้าย ด้วยข้อความอันเป็นเท็จที่จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีการโจมตีเรื่องคุณสมบัติของว่าที่ ผู้สมัครบางคนตามสื่อต่างๆ กกต.กทม.ต้องจับตา เพราะการกระทำดังกล่าวอาจถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง" พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ระบุ
การออกมาเตือนของกกต.ครั้งนี้ เพราะมีหลักฐานแล้วว่าโจมตีกันว่า พล.ต.อ.พงศพัศมีคดีอาญาติดตัวเมื่อสมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐนั้นไม่เป็นความจริง
มีเอกสารผลการสอบสวนชัดเจน 
เช่นเดียวกับการระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ เปลี่ยนจากเดิม ไพรัช เพื่อขอพระราชทานยศพล.ต.ต.
ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน
หากมีการนำเรื่องนี้ไปขยายผลไปหาเสียงโจมตีก็จะถือว่ามีความผิดทันที

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ยังเตือนถึงการนำคดีที่ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส มาเป็นประเด็นหาเสียงโจมตีคู่แข่ง
ก็เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.เลือกตั้งเช่นกัน
เพราะคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จึงยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความผิด

ปรามกันไว้ก่อนแบบนี้ก็ดี

จะได้ไม่หาเสียงกันแบบน้ำเน่า ชาวบ้านจะได้ไม่เบื่อการเมือง



++

พลิกปูม“พงศพัศ”
โดย สมิงสามผลัด
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


พลันที่พรรคเพื่อไทยมีมติส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร.และเลขาฯ ป.ป.ส. ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
ก็มีการเปิดสโลแกนหาเสียงทันที
"วางยุทธศาสตร์ สร้างอนาคตกรุงเทพฯ ร่วมงานกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ" 
จุดขายคือทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ ไม่มีปัญหา
ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่กทม.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าเดินคนละทางกับรัฐบาล

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พงศพัศเปิดใจเป็นครั้งแรกในเฟซบุ๊กว่า "ผม ขออาสาคืนความสุข สร้างรอยยิ้ม ให้กับพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ทุกท่าน" 
ลองพลิกดูประวัติของผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.รายนี้
เป็น นรต.รุ่น 31 สอบได้ที่ 1 ทุกชั้นปี
ได้ทุนจากก.พ.ไปศึกษาต่อด้านอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต สหรัฐอเมริกา จนกระทั่ง จบปริญญาเอก
เส้นทางชีวิตราชการตำรวจ

รับตำแหน่ง ผบก.สารนิเทศในปี 2540 ได้รับ การพระราชทานยศเป็นพล.ต.ต. ซึ่งถือเป็นนายพลตำรวจ คนแรกในรุ่น

ขึ้นรองผบช.สตม. และได้เลื่อนยศเป็นพล.ต.ท.ในตำแหน่ง ผบช.ประจำตร. (ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรีและมหาดไทย) ก่อนโยกมาเป็นผบช.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ตร.ในปี 2550

ถัดมาอีก 3 ปีขึ้นเป็นที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ติดยศพล.ต.อ. และโยกเข้าสู่ตำแหน่ง รองผบ.ตร.ในเวลาต่อมา

และได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาฯ ป.ป.ส.ควบคู่อีกตำแหน่ง



พล.ต.อ.พงศพัศเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะเคยดำรงตำแหน่งโฆษกตำรวจถึง 5 สมัยซ้อน 
มีผลงานโดดเด่นด้านมวลชนสัมพันธ์ 
เป็นเจ้าของไอเดียฝากบ้านไว้กับตำรวจอันโด่งดัง 
โครงการตำรวจไฮเทคอีกหลายโครงการ 
มีผลงานปราบปรามยาเสพติดที่ยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มุ่งเน้นแต่การกวดขันจับกุมอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการบำบัดควบคู่ไปด้วย

เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2553 พล.ต.อ.พงศพัศก็ยังรับตำแหน่งเป็นโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) 
เป็นนักการเมืองหน้าใหม่
แต่เป็นตำรวจหน้าเก่าที่เชี่ยวชาญทั้งงานบริหาร และมวลชนสัมพันธ์
ที่ขันอาสาเข้ามารับใช้คนกรุงเทพฯ



++

ขนมพอสมน้ำยา
โดย คาดเชือก คาถาพัน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


ไม่งามแน่นอนครับ ที่ทหารในเครื่องแบบจะยกพวกกันไปทีละ 40-50 คนเพื่อประท้วงอะไรที่ไหน
เพราะภาพที่ทหารหรือกองทัพพยายามสร้างให้สังคมรับรู้มาหลายสิบปี (ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธอย่างถูกกฎหมายได้ไม่กี่กลุ่มในสังคม) ก็คือความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นลูกผู้ชาย (ที่ไม่ได้แปลว่าเอะอะก็ยกพวกตีกันหรือใช้กำลังตัดสินปัญหา แต่เป็นคนมีเหตุผล)
จะบอกว่าไปสุภาพ ไปนอกเวลาราชการ แต่ถ้ายังอยู่ในเครื่องแบบ
ไม่งาม

เพราะฉะนั้นถูกต้องแล้วครับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกมาตัดไฟ ทั้งด้วยการปรามผู้ใต้บังคับบัญชา และการขอโทษสังคม
ออกรูปนี้ "เท่"กว่าตั้งเยอะ
ใหญ่จริงต้องนิ่งเป็น

ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือที่ไหนๆ
ผบ.ทบ.นิ่งนี่น่ากลัวกว่าผบ.ทบ.โวยวายตั้งไม่รู้กี่เท่า (ฮา)


แต่เชื่อว่าที่พล.อ.ประยุทธ์ "ยอม" นิ่งครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะให้น่ากลัว หรือไม่ได้เพราะท้อถอยจำนนอะไร
ยอมถอยให้หนึ่งก้าวเพราะไม่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน "หลุม" ที่มีคนพยายามขุดดักไว้ให้สังคมไทยตกลงไป
เมื่อไม่ต่อความยาวสาวความยืดแล้ว ดูกันต่อไปว่าตบมือข้างเดียวจะดังหรือไม่

จะยังมีรายการบิดเบือนข้อมูล มีถ้อยคำประณามหยามเหยียด หรือวาจาหยาบคายตามมาอีกหรือไม่
ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้าย
แต่มีตัวอย่างหลายครั้งหลายกรณีในอดีตเป็นเครื่องยืนยันอยู่
ถ้ามาแก้ตัวได้หนนี้ก็สาธุ


และสำหรับองค์กรวิชาชีพสื่อที่พยายามเข้ามาเล่นบทคนกลางหรือผู้พิทักษ์คุณธรรมนั้น
คำถามมีอยู่ว่าจะพิทักษ์อะไร? 

ลูกหลานในบ้านไปขโมยของบ้านอื่น เขาตามมาทวงยังไปด่าพ่อล่อแม่ แต่ไปบอกว่าให้เลิกรากันทั้งสองฝ่าย

ไม่แยกผิดชอบชั่วดีให้ชัด ศรัทธาก็ถอยลงไปทุกที

ถ้ายังมีเหลืออยู่บ้างน่ะนะ



++

หวังว่าไม่ใช่ คำตอบที่สงสัย
โดย จ่าบ้าน 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


มีผู้พยายามแสดงความคิดเห็นร่วมช่วยคิดแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย อาจเป็นเพราะเห็นว่าเวลาผ่านมาเนิ่นนานขึ้นปีที่ 10 แล้ว แม้มีความพยายามใช้ไม่รู้กี่วิธีการในการแก้ปัญหา แต่ความรุนแรงยังเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เช่นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ยังมีเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บอีก

เมื่อหลายปีก่อน สหราชอาณาจักรมีปัญหาการก่อการร้ายเกิดขึ้นในมหานครลอนดอน ทั้งการลอบวางระเบิดใหญ่หลายครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ทั้งรัฐบาล และตำรวจต่างหาวิธีการเข้าถึงปัญหาและนำไปสู่การเจรจา กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายควบคู่ไปกับการปราบปรามและ ป้องปราม
ในที่สุด หลังจากเหตุเกิดขึ้นยาวนานถึง 10 ปี ประเทศอังกฤษก็กลับมาสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง
ลักษณะการก่อการร้ายในมหานครลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร ถ้าจะว่าไปแล้วร้ายแรงและรุนแรงมาก เนื่องจากไม่เพียงแต่ชาวลอนดอนเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน นักท่องเที่ยว นักธุรกิจก็เดือดร้อนไปด้วย

การแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ความสงบสันติของรัฐบาลอังกฤษน่าจะเป็นแบบอย่างของรัฐบาลไทย หรือผู้รับผิดชอบความสงบภายในประเทศของเราได้เป็นอย่างดี 
แม้การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้จะมีพื้นที่หลายจุด แต่เชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อการไม่สงบถึงขั้นก่อการร้ายสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและประชาชนน่าจะเกิดจากกลุ่มเดียวกัน หรือผู้ที่มีแนวทางความคิดอย่างเดียวกัน

ไม่ทราบว่าวันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบความสงบในสามจังหวัดภาคใต้ทราบอย่างถ่องแท้หรือยังว่า การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการปล้นปืนในค่ายทหารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2547 ถึงวันนี้มีกลุ่มใดบ้าง
เป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง กลุ่มรับจ้างก่อความไม่สงบ กลุ่มอาชญากรที่หวังผลประโยชน์ทางการค้าสิ่งผิดกฎหมาย หรือกลุ่มนักธุรกิจบางกลุ่มที่ดำเนินการผิดกฎหมายอยู่เบื้องหลัง

หวังว่าวันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบคงมีคำตอบบ้างแล้ว

กระนั้นขอให้คำตอบไม่ใช่กลุ่มราชการที่หวังผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างที่สงสัยนะครับ 



++

บุญคุณต้องทดแทน จริงหรือ?
โดย จ่าบ้าน 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


แม้เรื่องการไปปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเสียงไม่เห็นด้วยกับการจับสลากของนายตำรวจคนหนึ่ง ทั้งในที่สุด ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ตัดสินใจให้ใช้วิธีสมัครใจของนายตำรวจเจ้าพนักงานสอบสวนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่
ผลของการสมัครใจ ในหลายกองบัญชาการ มีผู้สมัครใจเกินกว่าจำนวนหลายแห่ง เป็นอันว่าผู้ที่จะลงไปปฏิบัติในพื้นที่ดังกล่าวครบตามจำนวนแล้ว 

กระนั้นการสมัครใจมิได้หมายความว่าเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการเสียทีเดียว แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่ออันตรายอาจถึงแก่ชีวิต 
แต่ต้องยอมรับว่าการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจยังมีผลประโยชน์แอบแฝงพอตัวทีเดียว


แม้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว จะมีความพยายามไม่ให้มีการวิ่งเต้นในการโยกย้ายแต่งตั้ง เช่นเดียวกับมีคำสั่งไม่ให้ข้าราชการตำรวจเข้าอวยพรในโอกาสปีใหม่ที่ผ่านมา กระนั้นภาษิตไทยที่ว่า "ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น" ก็ยังใช้ได้อยู่ 

เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ พลตำรวจเอกอชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตำรวจ ให้ความเห็นไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่วางตลาดขณะนี้น่ารับฟัง โดยเฉพาะที่ว่า
"ทุกวันนี้ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งได้รับใบสั่งจากฝ่ายนโยบายการเมือง และใบสั่งอย่างไม่เป็นทางการจากบุคคลอื่นที่เคยมีความสัมพันธ์ มีบุญคุณต่อกัน หัวหน้าส่วนราชการถึงทางตัน คือรับฝากไม่ไหว...ยกตัวอย่าง ผบ. อดุลย์ ผ่านงานมากี่หน่วย กี่กองบัญชาการ...มีคนมีบุญมีคุณมากมาย ทุกคนมีสายสัมพันธ์ส่งเสริมกันมา ถ้าคนเหล่านี้ขอ พล.ต.อ.อดุลย์หมดทุกคน...แค่ 50 คน คนละตำแหน่ง จะทำอย่างไร พอไม่ได้ก็เสียมิตรหมด"

พลตำรวจเอกอชิรวิทย์ให้ความเห็นว่า "ถ้าวันนี้เราสนับสนุนให้คนมีความรู้ ความสามารถ มีที่ยืน ได้มาเป็นผู้บริหาร องค์กรจะดี"
แล้วทิ้งท้ายให้คิดว่า "ผู้มีอำนาจกล้าจะทำหรือไม่"
นั่นซิท่านผู้กำกับ



++

ปัญหายุคไหน?
โดย สมิงสามผลัด
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:01 น.


มีหลายฝ่ายเตือนไว้แล้วว่าปัญหาพื้นที่ทับซ้อนปราสาทพระวิหาร จะลุกลามวุ่นวายอีก
หากมีการหยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง
เพราะความขัดแย้งเรื่องเขตแดนของ 2 ประเทศ ต้องแก้ปัญหาด้วยการทูต
ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการหาข้อสรุป

แต่กลับมีบางกลุ่มบางพวกจุดประเด็นคลั่งชาติ 
เพื่อใช้เป็นอาวุธเล่นงานรัฐบาล 
ผลักไสให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกไม่รักชาติ


การเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกกรณีปัญหาปราสาทพระวิหารนั้น
ต้องย้อนถามว่าแล้วการถูกลากเข้าสู่เวทีศาลโลกเกิดขึ้นในสมัยไหน 
หากจำกันได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยที่ยังเป็น นายกฯ เป็นคนเซ็นตั้งทีมทนายไปสู้คดีที่ศาลโลกเมื่อ ปี 54 

ฉะนั้น การเข้ามาต่อสู้คดีเขาพระวิหารของรัฐบาลนี้ 
เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดในยุครัฐบาลที่แล้วด้วยซ้ำ


ล่าสุดก็มีข่าวดีว่าทางการกัมพูชาเตรียมพระราชทานอภัยโทษให้กับน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ 
โดยจะปล่อยตัวได้ 1 ก.พ.นี้ ในช่วงงานพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระนโรดมสีหนุ
ส่วนนายวีระ สมความคิด จะได้ลดหย่อนโทษให้เป็นเวลา 6 เดือน
เพื่อเตรียมพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อไป

การเจรจาปล่อยตัวทั้งคู่ครั้งนี้ มีนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโทร.หารือกับนายกฯฮุนเซนเอง 
หากจำกันได้กรณี "วีระ-ราตรี" ถูกทางการเขมรจับกุมพร้อมกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขณะยกขบวนข้ามแดนไปกัมพูชา
เป็นที่มาของวาทะกระฉ่อนเมือง
"อย่าให้ใครรู้นะ เพราะมีนายกฯ(อภิสิทธิ์)รู้อยู่คนเดียว"



นี่ก็ชัดเจนว่าปัญหา "วีระ-ราตรี"ก็เกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว
ต่อมามีการช่วยเหลือ กลับมาได้บางคน
แต่กลับปล่อย"วีระ-ราตรี"โดนจองจำในคุกเปรย์ซอร์นาน 2 ปี

การเจรจาช่วยเหลือทั้งคู่ จึงถือเป็นผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เป็นการแก้ปัญหาที่ก่อในยุครัฐบาลเก่าอีกครั้ง



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย