http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-08-30

ศ.ดร.อานันท์ : การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา

.

อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/08/48475
Fri, 2013-08-30 00:05 


www.youtube.com/watch?v=dC2Dkt6F6yE
อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา



การปาฐกถา "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง" โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์ เมื่อ 24 สิงหาคม 2556 ในการประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการปาฐกถาเปิด "การประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก" (International Conference: Thai Studies through the East Wind) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : http://prachatai.com/category/ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก ) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง"

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมฟูรามา จ.เชียงใหม่ โดยคณะมนุษยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The Japanese society for Thai Studies

000

โดยในการปาฐกถา อานันท์ เห็นว่าการพัฒนาการของการศึกษาด้านไทยศึกษา ด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวกับสังคมไทย ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของสังคมไทย ที่ตามไม่ทันเป็นเพราะสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก แต่มุมมองที่เกี่ยวกับข้องกับการอธิบายการเปลี่ยนแปลงยังอยู่กับที่



สาเหตุที่อยู่กับที่เป็นเพราะว่า เรามักจะมองสังคมไทยในลักษณะไทยแบบยึดติดว่าสังคมไทยมีความกลมกลืน ค่อนข้างชาตินิยม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาอย่างยิ่ง ทำให้เราคิดว่าเราต้องเป็นเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงปัจจุบัน สังคมไทยมันมีความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่หลากหลาย ซับซ้อนยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้มีคำพูดว่า "สังคมไทยคืบคลานไปสู่ลักษณะพหุวัฒนธรรมรวดเร็ว" ที่จริงสังคมไทยก็เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็มีอัตราเร่งที่เร็วมาก

พหุวัฒนธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีความแตกต่างหรือหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา แต่เป็น "ลีลาชีวิต/Life style" อีรุงตุงนัง คือมีความเป็นพหุวัฒนธรรมหลายมิติ แต่คนยังเข้าใจความหลากหลายในความหมายแบบแคบ ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า ทำให้เรามองข้าม หรือมองไม่เห็นกลุ่มคนที่แตกต่างจำนวนมากในสังคมไทยอย่างมหาศาล

ผมมักใช้คำว่า เวลานี้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็น "มนุษย์ล่องหน" เขาก็อยู่ในสังคม แต่เรามองไม่เห็นเขา ความสามารถในการมองเห็นคนที่แตกต่างไม่มี ทำให้เรามีมุมมองที่ค่อนข้างกระเดียดไปทางใดทางหนึ่ง และเมื่อเรามองอะไรทางเดียว ก็เหมือนเส้นผมบังภูเขา ที่ทำให้เรามองอะไรอย่างอื่นนอกจากที่เราจ้องมองนั้นไม่ได้



ตรงนี้ทำให้เป็นปัญหาอย่างมาก ยกตัวอย่าง ผมเดินทางไปศึกษาในหลายพื้นที่ เพื่อเรียนรู้จากคนอื่น สำรวจจากนักศึกษาบ้าง หรืองานวิจัยบ้าง
ตอนนี้ไปถามคนในชนบทเขาบอก "ผมอยากเป็นเสี่ย" คืออยากรวยน่ะ แต่เรายังมองสังคมในชนบทว่า "ขอให้เหมือนเดิม" "ขอให้เป็นเกษตรกรเหมือนเดิม" แต่เขาบอกอยากเป็นเสี่ย แต่เรายังอยากให้เขาอยู่เหมือนเดิม ก็ลำบากที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

หรือคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย พยายามเสนอมาตรการที่จะช่วยคน เช่นมีเรื่องโฉนดชุมชน หรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แต่ตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดคือ "เราอยากช่วยเหลือคนจน" ซึ่งเป็นศีลธรรม มโนคติที่ดี 
แต่มโนคติเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของลักษณะสังคมไทยปัจจุบัน สังคมไทยปัจจุบันติดอยู่ภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง แปลว่า เวลานี้คนไทยมีรายได้มากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก้าวไม่พ้นที่จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง เพราะการจะก้าวไปได้ทางสังคม จำเป็นต้องมีกลไกรองรับทำให้ขับเคลื่อนไปได้ แต่เรายังยึดกลไกแบบเก่า และที่ผ่านมาก็ไม่มีการสร้างกลไกแบบใหม่ กินบุญเก่าใช้มรดกเดิมๆ มีปัญหาอะไรก็นึกถึงบ้าน วัด โรงเรียน หรือชุมชน คือใช้กลไกเก่าๆ จนพุพังไปหมดแล้ว ไม่มีสติปัญญาพอที่จะสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสังคมรายได้ปานกลางไปสู่อีกระดับหนึ่งได้


และไทยศึกษาค่อนข้างติดอยู่กับการศึกษาในพรมแดนค่อนข้างมาก ทั้งพรมแดนของสาขาวิชา และพรมแดนของประเทศ ดังนั้นการที่เราไม่เข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่กว้างไปกว่าพรมแดน เลยเกิดสภาวะที่ไร้น้ำยา คือความสามารถในการอธิบายด้านวิชาการต่ำ คืออธิบายไม่ครอบคลุมกับความเป็นจริงทางสังคมที่หลุดไปจากพรมแดนมากแล้ว ยังอธิบายว่าขอให้เหมือนเดิม มองอยู่แค่นี้ เลยทำให้ความสามารถในการอธิบายไม่เพียงพอ เมื่อไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้



ความสำคัญของวิชาการคือต้องเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้ทางหนึ่ง แต่อย่างหนึ่งที่ผมสะท้อนตัวเองมาคือเราไร้น้ำยาว่ะ เราไม่หลุดออกจากพรมแดนเก่าๆ ที่เราเคยยึดถือกันมานาน ถ้าหากเรายังมองความซับซ้อนหลากหลายของวัฒนธรรมไม่ได้ ไม่เคารพความแตกต่างของคนอื่น เห็นคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่คน ไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนที่เห็นต่างจากเรา ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิด พลังไม่มี พลังจะมีก็คือ ความเห็นใหม่นั้นต้องมาจากความแตกต่าง ไม่ใช่ความเหมือน แต่เราชอบของเดิม แล้วเราจะก้าวหน้าได้อย่างไร

ผมมานั่งนึกดู ทำไมเราถึงรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้มามาก ซึ่งที่เราก็ไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง แต่เพราะเสือกกับเขาเรื่อยๆ ไปยุ่งกับคนนั้นคนนี้ เราถึงได้ความรู้ที่แตกต่างมาก เราถึงไม่เป็นตัวของเรา ไม่ใช่ยึดติดว่าเราคิดดีด้วยตัวเอง แต่ที่คิดได้เพราะเรียนรู้จากคนอื่น คนที่คิดไม่เหมือนกับเรามา

การที่เราเคารพความแตกต่างของคนอื่น สามารถทำให้เราพัฒนาความคิดได้ แต่สภาวะไร้น้ำยาเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าคนอื่นไม่ดี ความคิดเราถูกคนเดียว ความคิดแบบนี้เลยมาบั่นทอนพลังทางวิชาการที่จะทำให้เราขับเคลื่อนไปได้

ส่วนความเป็นอัมพาตทางการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แก้ด้วยการมองทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานมากกว่า จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมการเมืองเป็นอัมพาต เพราะสิ่งที่เป็นด้านสังคม เราไม่มีความเข้าใจเลย 
และประเด็นทางการเมืองที่เป็นมาตลอดเวลาก็ไม่ได้ยกระดับที่จะทำให้เกิดการคำนึงถึงปัญหาสังคมเหล่านี้เพียงพอ ทำให้การเมืองเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม แต่ไม่สามารถตอบสนองของคนกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายได้เพียงพอ และพลังที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนกดดันให้การเมืองตอบสนองความแตกต่างหลากหลายนี้ยังไม่มี จึงทำให้เป็นอัมพาตกินอย่างที่เป็นอยู่


อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหา เพราะมุมมองทางเศรษฐกิจปัจจุบันยังมองจากมุมการผลิต ถ้าแต่ละประเทศที่แยกกันอยู่ต่างคนต่างอยู่อาจไม่เป็นปัญหา หากเราใช้มุมมองทางเศรษฐกิจจากการผลิตมาเป็นกรอบอธิบาย เรามองแต่ละประเทศแยกจากการกัน
แต่อย่างที่เราทราบ สังคมไทย ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว มีภาวะไร้พรมแดน และเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงนี้คือโลกาภิวัฒน์ มันมีการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมหาศาลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการ อะไรเกิดในโลกก็รู้ได้ในวินาทีนั้น ความรวดเร็วนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันใหม่อย่างมหาศาล คือการเปลี่ยนแปลงของการสื่อสาร หรือการเข้าใจในสารหรือความหมาย มันสื่อกันเร็วมาก 

ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อสถานการณ์มันเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ ทำให้ความสำคัญของเรื่อง "ความหมาย" มีมหาศาลขึ้น ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้พึ่งการขายสินค้าอย่างเดียว แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับการขาย "ความหมาย" ซึ่งความหมายอาจจะสำคัญกว่าตัววัตถุที่ขาย เราซื้อเพราะความหมายของวัตถุที่เราจะซื้อ ดังนั้นการมองแต่กรอบการผลิตทางเศรษฐกิจจะไม่มีทางเข้าใจ เพราะเมื่อความหมายมีความสำคัญมากขึ้น วิธีการศึกษาต้องให้ความสำคัญในการมองทางเศรษฐกิจในกรอบของการบริโภคมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าทำไมเขาบริโภคเช่นนั้น

ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ตรรกะของการทำงานทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับอุดมการณ์บางอย่างที่เราเรียกว่า "เสรีนิยมใหม่" ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเสรี ซึ่งทุกคนติดอยู่กับความเข้าใจหรือการครอบงำของความหมายแบบนี้ ที่เชื่อว่าตลาดทำงานได้ดีและจะทำให้เราดีขึ้นได้ แต่เราไม่เข้าใจว่าปัญหาที่เป็นทุกวันนี้เป็นเพราะตลาดด้วย
อย่างเช่น วิกฤตปี 2540 หรือวิกฤตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาพร้อมๆ กับตรรกะของเสรีนิยมใหม่เชื่อในระบบตลาดจนมองไม่เห็นข้อผิดพลาด

ทั้งที่เราเผชิญข้อผิดพลาดนั้นทุกวี่ทุกวัน บ่อยครั้ง และถี่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นทางออกทางเดียว
พูดง่ายๆ ว่าเรามั่นใจในกลไกตลาดเกินไป ทั้งที่ตลาดมันทำงานได้เพราะรัฐสนับสนุนทั้งนั้น



* * * * * * * * * * *
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ดุลยภาพทางการเมืองในสายตาชนชั้นนำไทย
http://www.prachatai3.info/journal/2013/08/48403

ทามาดะ โยชิฟูมิ: การจับมือเป็นพันธมิตรกันของพลังต้านประชาธิปไตย
http://www.prachatai3.info/journal/2013/08/48377



.

2556-08-22

ใจ: ความคิดบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในอียิปต์

.

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความคิดบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในอียิปต์
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/08/48275   
. . Sun, 2013-08-18 23:27


ใจ อึ๊งภากรณ์

เวลาเห็นมวลชนพรรคมุสลิมโดนฆ่าเหมือนผักปลาหลายร้อยคน ตอนแรกมันยากที่จะพูดอะไรออกมาด้วยสติปัญญา นอกจากจะหลุดปากออกมาว่า “ทหารระยำชาติหมา” แต่สักพักเราต้องตั้งสติเพื่อวิเคราะห์และเรียนบทเรียน อย่างน้อยเพื่อคนที่ตายไป ในอียิปต์และไทย และเพื่อเราเองที่รอดมาด้วย

ภาพอาชญากรรมรัฐ ที่ทหารก่อต่อประชาชนอียิปต์ เป็นภาพการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนเพื่อระงับกระบวนการปฏิวัติอียิปต์ และทำลายพรรคมุสลิม มันเป็นวิธีการที่ชนชั้นปกครองเดิมจากสมัยเผด็จการมูบารักหวังจะได้อำนาจกลับคืนมา
และถ้าเขาทำกับมวลชนพรรคมุสลิมได้ เขาก็จะเดินหน้าทำกับนักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม และคนหนุ่มสาว ที่เป็นแกนหลักของการปลุกกระแสการปฏิวัติเมื่อสองปีก่อน แต่เรื่องยังไม่จบ

ในการปฏิวัติทุกครั้ง ทุกยุค ทุกที่ เราจะเห็นการเดินหน้าและถอยหลัง และที่เราเห็นวันนี้คือการถอยหลัง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นจุดจบ


พรรคมุสลิมเป็นฝ่ายค้านในสมัยเผด็จการมูบารักมานาน แต่เป็นฝ่ายค้านที่พยายามหาทางประนีประนอมตลอด ตอนแรกที่มวลชนออกมาประท้วงมูบารัก พรรคมุสลิมไม่เอาด้วย ต้องให้สมาชิกหนุ่มสาวลากไปจนยอมร่วมต้านมูบารักในจตุรัสทาห์เรีย พอมูบารักถูกล้ม ทหารอ้างว่าเป็นมิตรประชาชน แต่มวลชนที่ออกมาล้มมูบารักเริ่มตาสว่างและเบื่อทหารภายในไม่กี่เดือน เพราะทหารอยากแช่แข็งความเหลื่อมล้ำและปกป้องอำนาจเก่า
   
หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่พรรคมุสลิมชนะ ประธานาธิบดีมูรซี่ของพรรคมุสลิม รีบประนีประนอมกับกองทัพและสหรัฐอเมริกา และเริ่มมีท่าทีเผด็จการมากขึ้น มีการใช้นโยบายกลไกตลาดเสรี ซึ่งเผด็จการยุคก่อนเคยใช้ และคนจนจำนวนมากเดือดร้อนต่อไป มีการปราบการนัดหยุดงานและคนที่เห็นต่าง ในที่สุดมวลชนอียิปต์ออกมาประท้วงเป็นล้านๆ คน และในนั้นรวมถึงคนที่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคมุสลิมของมูรซี่ด้วย แต่แล้วกองทัพอียิปต์ก็ชิงการนำโดยล้มมูรซี่และนำเผด็จการทหารมาปกครองแทน การกระทำนี้เพื่อยับยั้งการเดินหน้าของการปฏิวัติ และเพื่อปกป้องอำนาจเก่า แต่ทหารโกหกว่าทำเพื่อประชาชน

ล่าสุด หลังจากที่มวลชนหลายส่วนที่ต้านพรรคมุสลิม ไปแสดงท่าทีสนับสนุนทหาร เพราะหลงเชื่อว่าทหาร “อยู่ข้างประชาชน” ทหารได้ความมั่นใจมากขึ้น จึงลงมือปราบพรรคมุสลิมด้วยความป่าเถื่อนอย่างที่เราเห็น


คำถามแรกที่บางคนอาจถามคือ “การออกมาประท้วงประธานาธิบดีมูรซี่ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้ง ผิดหรือไม่? เพราะดูเหมือนเปิดโอกาสให้ทหารยึดอำนาจ???”
คำตอบคือไม่ผิด เพราะถ้ากระบวนการปฏิวัติอียิปต์จะเดินหน้าไปสร้างประชาธิปไตยแท้ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน การปฏิวัติต้องจัดการกับมูรซี่ด้วย เนื่องจากมูรซี่ก็ต้องการหยุดกระบวนการปฏิวัติ และแช่แข็งความเหลื่อมล้ำ แต่ทำผ่านรัฐสภา

คนที่ประท้วงมูรซี่ไม่ได้ชวนให้ทหารทำรัฐประหาร ไม่เหมือนเสื้อเหลืองในไทย

ไทยอาจไม่ตื่นเต้นน่ากลัวเท่าอียิปต์ แต่เราก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงที่จบลงกับแค่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย นำไปสู่การแช่แข็งความเหลื่อมล้ำต่างๆ นาๆ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง และการหักหลังอุดมการณ์ของการต่อสู้ที่เคยถูกทหารปราบ


ปัญหาที่อียิปต์คือ มวลชนส่วนสำคัญที่ออกมาประท้วงล้มมูรซี่ หลงเชื่อว่าทหารคือมิตรของประชาชนหลังจากทหารยึดอำนาจ
องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์พูดมาตลอด ตั้งแต่สมัยล้มมูบารัก ว่าทหารคือศัตรูของประชาชนและกระบวนการปฏิวัติ แต่องค์กรนี้เล็กเกินไปที่จะเปลี่ยนใจมวลชนเป็นล้านๆ ส่วนพวก “เสรีนิยม” เป็นพวกที่วิ่งเข้าไปจับมือกับทหารมือเปื้อนเลือด
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อคนอียิปต์จำนวนมากเห็นความป่าเถื่อนของทหาร และเมื่อรัฐบาลทหารไม่ยอมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จุดประกายการปฏิวัติแต่แรก เขาสามารถจะตาสว่างเปลี่ยนใจได้ และออกมาต้านทหารเพื่อให้กระบวนการปฏิวัติเดินหน้าต่อไป
นักสหภาพแรงงานที่จะต้องเผชิญหน้ากับทหาร เมื่อเรียกร้องเรื่องปากท้อง จะตาสว่างเร็วและมีพลังทางเศรษฐกิจ


แต่ไม่มีอะไรอัตโนมัติหรือหลักประกันว่าฝ่ายประชาชนจะชนะ ความก้าวหน้ามาจากการต่อสู้เท่านั้น

บทเรียนสำคัญสำหรับคนทั่วโลกคือ อย่าหลงเชื่อว่ากองทัพที่ไหนเป็นมิตร อย่ารอให้คนข้างบนมาแก้ปัญหาให้ เพราะพวกที่อยู่เบื้องบนเรา เขาอยู่ตรงนั้นเพื่อกดขี่ขูดรีดเราเท่านั้น

มวลชนรากหญ้าต้องจัดตั้งตนเองทางการเมือง ต้องจับมือกับกรรมาชีพในสหภาพแรงงานและคนหนุ่มสาว และต้องมั่นใจว่า ถ้าเรารวมพลังเราเปลี่ยนโลกได้



.

2556-08-20

ข่าวสด: บนทาง 2 แพร่งของ ปชป., โทสาวาทของ ปชป.

.

บนทาง 2 แพร่งของ"ประชาธิปัตย์" ต่อสู้ การเมือง
ใน www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dOVEl3TURnMU5nPT0
ที่มา ข่าวสดรายวัน วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8300 หน้า 6 


การไปปรากฏตัวของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ณ เวทีปราศรัย "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" เมื่อตอนเย็นวันที่ 18 สิงหาคม
มิได้เป็นเรื่อง "นอกเหนือ" จากความคาดหมาย


ขณะเดียวกัน การตามขบวนไปด้วยของ นายกรณ์ จาติกวณิช และ นายกษิต ภิรมย์ ณ ที่ชุมนุมบริเวณสวนลุมพินี
ก็มิได้ดำเนินไปในลักษณะ "เปิดบริสุทธิ์" ทางการเมือง


อย่าลืมเป็นอันขาดว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ร่วมกับการชุมนุมของ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ตั้งแต่แรกดำเนินการในเวทีลีลาศสวนลุมพินีเมื่อปลายปี 2548 มาแล้ว
กระทั่ง นำเคลื่อนขบวนจาก "สวนลุมฯ" ไปยัง "ทำเนียบรัฐบาล" ด้วยซ้ำ


อย่าลืมเป็นอันขาดว่า เมื่อมีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในทำเนียบรัฐบาล นายกษิต ภิรมย์ และ นายกรณ์ จาติกวณิช ก็เคยไปร่วม
อาหารดี ดนตรีไพเราะ


จากนี้จึงเห็นได้ว่าการพบระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กับแกนนำบางคนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตยเมื่อ 2-3 วันก่อนเป็นไปตามคิว

ในจำนวนนั้นอาจมี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นคนหน้าใหม่
แต่หน้าเก่าก็ยังมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ นายกษิต ภิรมย์ ซึ่งคุ้นเคยกับพันธมิตรอยู่แล้วเป็นอย่างดี

พันธมิตรนั้นเล่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อาจไม่คุ้นเคยนัก
แต่เมื่อมี นายประพันธ์ คูณมี อยู่ด้วยก็มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ประการใด เพราะว่า นายประพันธ์ คูณมี เคยเป็นผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นที่ปรึกษา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน



พลันที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ขึ้นเวทีปราศรัยของ "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" ก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเมืองในระบบกับนอกระบบใกล้กันมากยิ่งขึ้น

แม้การขึ้นเวทีจะเป็นการเดินตาม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
แม้การขึ้นเวทีจะเหมือนกับประสบการณ์เดิมซึ่ง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เคยร่วมกับเวที "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล

แต่ก็ทำให้ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย
นั่นก็คือสัมผัส "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" แตะไปยัง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
"สวรรค์" น้อยๆ ย่อมอยู่ใน "วงรำ"



พรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ระหว่าง 2 หนทางเลือกอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง ในทางการต่อสู้

หนทาง 1 คือ การต่อสู้ในระบบรัฐสภาอันสะสมความจัดเจนมาอย่างยาวนาน
หนทาง 1 คือ การต่อสู้นอกระบบรัฐสภา การต่อสู้บนท้องถนนอันเป็นประสบการณ์ใหม่ ความตื่นเต้นใหม่

ไม่นานหรอก การตัดสินใจจะระเบิดขึ้น



++

โทสาวาทของ ปชป.
โดย คาดเชือก คาถาพัน
ใน www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNVEUwTURnMU5nPT0
ที่มา: คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม ข่าวสดรายวัน วันพุธที่ 14 ส.ค. 2556 ปี23 ฉ.8294 หน้า6



คําพูดประเภท "ม็อบผู้ดี-ม็อบคนดี" ที่หลุดจากปากของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
และมีการนำไปเปรียบเทียบกับ "ม็อบไพร่" ก็ดี
หรือเสียงตะโกนโห่ลั่นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
หรือบนเวทีปราศรัยนอกสภา ที่เรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกฝ่ายว่า "ขี้ข้า" ก็ดี


ไปจนกระทั่งถึงคำประกาศว่าด้วย "เผาบ้านเผาเมือง-คนชุดดำ" ที่ติดตามปาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ มาตลอด
แม้กระทั่งในวันที่ศาลมีคำพิพากษาและวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่การเผาบ้านเผาเมือง และไม่มีชายชุดดำแล้วก็ดี


ล้วนเป็นคำพูดที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปลจาก hate speechในภาษาต่างประเทศ เป็นไทยว่า "โทสาวาท" ทั้งสิ้น


โทสาวาทเหล่านี้ส่งผลชัดเจนหลายประการด้วยกัน

ประการแรก ก็คือไม่ทำให้คนรักกันนั้นแน่นอน ร้ายกว่านั้นก็คือจะยิ่งทำให้คนในสังคมแบ่งฝักฝ่ายและเกลียดชังกันมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้เหตุผลข้อเท็จจริงเข้ามารองรับ
ใช้แต่อารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ

ประการต่อมา เมื่อเริ่มพูดจาภาษาเหล่านี้แล้ว พูดหนต่อไปก็มีแต่จะต้องเท่าเดิมหรือแรงกว่า ที่จะหันกลับมาเสียงอ่อยลง น้ำหนักหรือเนื้อหาเบาลงนั้นยากที่จะเป็นไปได้
ดูตัวอย่างจากพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ก็เห็นชัด

ประการถัดไป ก็คือเมื่อเดินลึกเข้าไปทุกที เหวี่ยงตัวเองออกไปอยู่สุดปลายของสังคมที่เป็นขั้วเป็นฝักฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
ก็ยิ่งห่างไกลจากมวลชนส่วนใหญ่ที่อยู่ตรงกลางมากขึ้นไปทุกที



เป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมประชาธิปัตย์ถึงแพ้เลือกตั้งใหญ่มาแทบทุกครั้งในระยะหลัง และยังมีแนวโน้มจะแพ้ในหนต่อๆ ไป 
ถ้ายังไม่ปรับปรุงตัวแก้ไขอะไร


ซึ่งดูจากสภาพความเป็นจริงแล้ว-ยากส์ 
มีแต่จะยิ่งเกรี้ยวกราดขึ้นไปอีก

เผื่อฟลุกลูกเดียว



.

2556-08-16

เสร็จศึกฆ่าขุนพล โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เสร็จศึกฆ่าขุนพล       
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376640799
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:18:02 น.
(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 9 ส.ค. -15 ส.ค.56 ปีที่ 33 ฉ.1721 หน้า30)


สํานวนไทยว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" มาจากพระราชพงศาวดารมอญฉบับแปลคือราชาธิราช ผมไม่ทราบว่ามีในราชาธิราชฉบับมอญหรือผู้แปลไทยแต่งใส่ลงไปเอง แต่ก็เป็นสำนวนที่ใช้แพร่หลายในภาษาไทยสืบมาจนทุกวันนี้

ในราชาธิราชไม่แสดงเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ซ้ำยังเสนอประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำด้วย เพราะที่จริงเมื่อฆ่าขุนพลนั้น ศึกยังไม่ได้เสร็จจริง พูดภาษาปัจจุบันคือ ยังไม่เสร็จสงคราม


แต่เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็ควรฆ่าขุนศึกเสีย ไม่ด้วยคมหอกคมดาบ ก็ด้วยระบบปกครอง


อำนาจของขุนศึกในยามสงครามนั้นยิ่งใหญ่อย่างที่จะหาใครเทียบมิได้ อำนาจนั้นจึงคุกคามอำนาจอื่นๆ ทั้งหมด แม้แต่อำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบราชาธิราช หรือนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อำนาจนั้นไม่ได้สูญหายไปไหน ก็ยังอยู่กับขุนพลเหมือนเดิม แต่ขุนพลไม่ว่าในระบอบอะไร ก็ควรมีอำนาจอยู่จำกัดคือแค่บริหารจัดการกองทัพ ให้พร้อมจะใช้กำลังเมื่อได้รับคำสั่งเท่านั้น


แต่สงครามในรัฐโบราณ (รวมทั้งรัฐสมัยใหม่ที่พยายามเก็บความโบราณไว้เป็นฐานอำนาจของบางองค์กรและบางสถาบันการเมือง) ทำกำไรแก่ขุนพลสูงสุด จะเป็นรองอยู่บ้างก็อาจเป็นพันธมิตรที่สูงกว่าของขุนพล อันได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน หรือสภาขุนนางที่ยึดอำนาจมาได้

ถ้าพูดถึงรัฐมอญและไทยโบราณ สงครามคือการกวาดต้อนผู้คนและยึดทรัพย์สมบัติของศัตรู ยึดมาได้แล้วจะเป็นกำลังของใคร ที่ถูกก็คือเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ขุนพลก็ได้ส่วนแบ่งมากที่สุดเหมือนเป็นบำเหน็จ ทั้งนี้ยังไม่นับส่วนที่เม้มไว้อีก

แต่กำลังที่สำคัญกว่าผู้คนและทรัพย์สมบัติคือความภักดี ซึ่งผู้อื่นแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่สามารถแบ่งปันไปได้ เพราะแม้แต่คนในสังกัดของพระเจ้าแผ่นดินเอง นับตั้งแต่ขุนนางจนถึงไพร่หลวง ก็อาจจะภักดีต่อขุนพลอย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งแปลว่าหากต้องเลือก บางทีก็เลือกขุนพลยิ่งกว่าเลือกพระเจ้าแผ่นดิน

สงครามจึงเป็นธุรกิจของขุนพล ผมใช้คำว่าธุรกิจอาจทำให้ไขว้เขว ควรพูดว่าเป็นธรรมชาติของขุนพลมากกว่า หมายความว่ามีความถนัดที่จะทำสงคราม ความหมายของชีวิตอยู่ที่ทำสงคราม ซ้ำยังได้กำไรจากการใช้ชีวิตที่เป็นธรรมชาติของตัวด้วย เหมือนปิกัสโซแหละครับ หยิบกระดาษมาขีดอะไรเล่นตามธรรมชาติของตัว แต่ผ่าทำเงินไปด้วยโดยไม่ทันตั้งใจ


กรณีในประวัติศาสตร์มีมากมาย ที่เมื่อเสร็จศึกแล้ว ขุนพลก็ชิงราชบัลลังก์เสียเลย ซ้ำไม่ใช่แค่มีบ่อยเท่านั้น แต่มีในทุกสังคมตั้งแต่จักรวรรดิโรมันมาจนถึงอินเดียจีนและไทย (หรือทุกประเทศของอุษาคเนย์)

อันที่จริง เมื่อปลายรัชกาลพระเจ้าตากสิน ซึ่งท่านไม่ได้ออกทำศึกเองอีกหลัง พ.ศ.2318 ท่านก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีกับขุนพลของท่าน แต่แทนที่ท่านจะฆ่าทิ้งเสีย ท่านกลับพยายามเอาใจสารพัด แม้กระนั้นก็ไม่สำเร็จ เพราะอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อไม่ฆ่าขุนพล ขุนพลก็ฆ่าเสีย

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้มีอำนาจควรจะฆ่าขุนพลเสียเมื่อเสร็จศึก แต่ดูให้ดีๆ หน่อยว่าเสร็จศึกแล้วจริงๆ



แต่ว่าที่จริง เราก็ไม่เกี่ยวนะครับ ใครจะแย่งอำนาจกันอย่างไร ประชาชนก็เหมือนเดิม คือถูกเกณฑ์แรงงานและเกณฑ์โน่นเกณฑ์นี่ต่อไป

แต่คิดให้ดีๆ จะว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้นะครับ เพราะการปกครองของขุนพลนั้นมีอะไรที่แตกต่างจากการปกครองตามปรกติอยู่เหมือนกัน และส่วนนี้แหละครับที่เข้ามาเกี่ยวกับชีวิตประชาชน

นั่นก็คือ ขุนพลส่วนใหญ่หยุดสงครามไม่ได้ ไอ้ที่หยุดไปแล้ว ก็มักไปรื้อฟื้นให้มันเกิดใหม่

อย่างนโปเลียน หันมาทำนุบำรุงฝรั่งเศสที่ปฏิวัติแทนการทำสงครามได้หรือไม่ จากความรู้กะพร่องกะแพร่งของผม คิดว่าน่าจะได้ในระดับหนึ่งนะครับ

เมื่อนโปเลียนนำทัพฝรั่งเศสต่อสู้การรุกรานของกองทัพโบราณราชาธิปไตยยุโรป จนชนะหมดแล้ว เข็ดที่จะรุกรานฝรั่งเศสอีก จะป้องกันฝรั่งเศสที่ปฏิวัติให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ผมคิดว่ามีหลายวิธีนะครับนอกจากยกทัพไปครอบครองราชาธิปไตยเหล่านั้น แต่นโปเลียนเลือกการยึดครองแทนวิธีอื่นๆ

ฝรั่งเศสจึงต้องเข้าสู่สงครามอย่างสืบเนื่องยาวนานเป็นสิบปี



สงครามนั้นไม่ร้ายแรงเท่ายาเสพติดหรอกครับ แต่มันทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง มีอะไรติดขัดก็พร้อมจะทำลายล้างมันเสีย ทั้งๆ ที่ยังมีวิธีอื่นซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าให้เลือกได้อีกแยะ ก็ไม่ยอมเลือก เพราะไปเชื่อเสียแล้วว่า ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทหารในกองทัพที่สังหารหมู่ประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 และ 2519, พฤษภามหาโหด 2535 และ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ล้วนมาจากกองทัพที่ได้รบกับ พคท. มาเป็นแรมปี ด้วยวิธีเก็บ, ถังแดง, ถีบลง ฮ., นาปาล์มล้างหมู่บ้าน ฯลฯ มาแล้วทั้งสิ้น

เป็นความเคยชินทั้งนายทหารและกำลังพลชั้นผู้น้อยทั่วไปในกองทัพ



อีกกรณีหนึ่งที่ผมนึกออกคือเขมรแดง หนึ่งในวิธีการที่เขมรแดงจะคุมอำนาจไว้ได้ คือสร้างภาวะแห่งสงครามให้ดำรงอยู่ตลอดไป สาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตยถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากจักรวรรดินิยมทุนนิยม และจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม

มีสายลับและเอเย่นต์บ่อนทำลายแทรกอยู่เต็มไปหมด แม้แต่เจ็บป่วยบ่อยเกินไป ก็อาจเป็นแผนบ่อนทำลายของข้าศึกได้ จะหาหลักฐานให้มั่นคงหนักแน่นจนรื้อทลายเครือข่ายของแผนบ่อนทำลาย ก็ไม่มีสมรรถภาพทำได้ (หรือไม่ใส่ใจจะทำ) ยิงมันทิ้งหรือปล่อยให้มันตายง่ายกว่า

ยิ่งมาในภายหลังที่รู้แน่ชัดว่าความแตกร้าวนั้นรวมไปถึงสมาชิกพรรคระดับสูงด้วย ก็ต้องตูลสเลงสิครับ ระแวงใครก็เอามาไว้ตูลสเลงก่อนปลอดภัยกว่า

ยิ่งระแวงคนภายนอก ก็ยิ่งระแวงคนภายใน ยิ่งระแวงคนภายใน ก็ยิ่งระแวงคนภายนอก เมื่อสมาชิกระดับนำพากำลังของตนหนีไปพึ่งเวียดนาม ก็ยิ่งทำให้เชื่อว่าเวียดนามอยู่เบื้องหลังการบ่อนทำลายที่หวาดระแวงอยู่แล้วแน่

จึงต้องเปิดสงครามกับเวียดนามอย่างไม่ให้โลกรู้มานานก่อนที่เวียดนามจะยกทัพมาเผด็จศึก

ความจริงแล้ว เขมร (ทั้งแดงและไม่แดง) ไม่ไว้วางใจเวียดนามมานานแล้ว เพราะเวียดนามในประวัติศาสตร์ได้ผนวกเอาดินแดนของกัมพูชาไปผืนมหึมา พอๆ กับไทยเช่นเดียวกัน ซ้ำร้าย ประสบการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) กับเวียดนามยังค่อนข้างจะเลวร้ายด้วย เพราะในระยะแรก เวียดนามต้องการครอบงำพรรคเขมรแดงเพื่อใช้ประโยชน์ในสงครามของตน (กับสหรัฐในเวียดนามใต้) กว่าจะหลุดจากการครอบงำก็ใช้เวลานาน หลุดออกมาแล้ว เวียดนามก็ยังมีทัศนะหมิ่นๆ ต่อกองกำลังเขมรแดง

ขนาดวันที่ เอียง สารี ไปบอก เล ดุ๊ก โธ (ซึ่งรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา) ว่า "เรายึดพนมเปญได้แล้ว" เลยังเตือน เอียง สารี อย่างแสบๆ ว่า "ระวังอย่าปล่อยให้การข่าวผิดๆ ทำให้ไขว้เขว และอย่าลืมว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณเคยบอกเราว่ายึดตาแก้วได้แล้ว" (ซึ่งตอนที่บอก ยังยึดไม่ได้)

แต่เขมรแดงก็เคยทนเวียดนามมาหลายปี แม้เมื่อแยกตัวออกจากเงาของเวียดนาม ก็พยายามไม่ให้เกิดความแตกร้าวขึ้น เหตุใดเมื่อได้อำนาจแล้วจึงไม่อดทนต่อไป กลับเปิดศึกตามชายแดนกับเวียดนาม

ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุผลที่กล่าวแล้ว คือระแวงคนภายในจนไปเชื่อสนิทเสียแล้วว่า มีเวียดนามหนุนอยู่เบื้องหลัง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะระบอบเขมรแดงต้องการศัตรูสำหรับทำสงคราม เนื่องจากสงครามยิ่งให้อำนาจเด็ดขาดแก่ผู้นำมากกว่ายามปรกติ การจับคนไปตูลสเลงนั้น เพื่อป้องกันชาตินะครับ ไม่ใช่ขจัดศัตรูของผู้นำ



ขุนศึกที่ผมนึกถึงอีกคนหนึ่งคือไอเซนฮาวเออร์ ประธานาธิบดีสหรัฐหลังสงคราม ออกจะแน่ชัดว่าคนที่จะเป็นประธานาธิบดีต่อจากทรูแมนต้องเป็นขุนศึก ผู้พิชิตศัตรูของชาติได้อย่างสะใจ หากไม่ใช่ไอก์ ก็ต้องเป็น แม็ก อาเธอร์

ผมควรกล่าวด้วยว่า ขุนศึกในโลกสมัยใหม่นั้น มี "บารมี" มากกว่าขุนศึกสมัยโบราณเสียอีก เพราะสื่อมวลชนสมัยใหม่ทำให้วีรกรรมของเขา (ทั้งที่จริงและไม่จริง) กลายเป็นนิยายประจำชาติไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อย่างที่นโปเลียนหรืออเล็กซานเดอร์ หรืออโศกมหาราชไม่อาจเทียบได้เลย

ไอก์อาจไม่ใช่ผู้เริ่มสงครามเย็น แต่เขารับมรดกการเริ่มสงครามมาจากทรูแมน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีจากพรรคคู่แข่ง และทำให้การแข่งขันระหว่างสองค่ายดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น ด้วยการตั้งนายดัลเลสเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายดัลเลสคือผู้ที่เที่ยวตั้งองค์กรโน้นองค์กรนี้เพื่อปิดล้อมมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโนและนโยบายปิดล้อม (containment) ซึ่งตัวเขาและสมัครพรรคพวกคิดขึ้นเอง

โดยมีไอก์คอยให้การสนับสนุนอย่างไม่เสื่อมคลาย


แม้กระนั้น ไอก์ก็ไม่ได้นำสหรัฐเข้าสู่สงครามร้อน นอกจากใช้กำลัง (ทั้งกองทัพและเงิน) เที่ยวครอบงำประเทศในละตินอเมริกา และนโยบายขยายอิทธิพลไปทั่วโลกของสหรัฐหลังจากนั้น จะโทษเขาคนเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะมันมีอะไรสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังมากกว่าบุคคลที่เป็นประธานาธิบดี


แม้เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคคู่แข่ง เช่นเคนเนดี้และจอห์นสัน นโยบายครอบงำโลกของสหรัฐก็ไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำยังอาจรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ

มองในแง่นี้ ขุนศึกอย่างไอก์ ไม่มีอันตรายมากไปกว่าที่โครงสร้างของสหรัฐมีอันตรายอยู่แล้ว การจับเขาขึ้นไปนั่งในตำแหน่งประธานาธิบดีเสียอีก ที่ทำให้ "บารมี" ของเขาถูกจำกัดและถูกกำกับโดยอะไรอื่นๆ ในโครงสร้างของเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมสหรัฐ เท่ากับขุนศึกถูกฆ่าไปแล้ว  
หากไม่ได้ถูกฆ่าด้วยคมหอกคมดาบ หากถูกฆ่าด้วยระบบการเมืองที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

มองไปให้กว้างอย่างนี้แล้ว เสร็จศึกก็ควรฆ่าขุนพลเสีย



.

2556-08-14

เอาอีกแล้ว..ปฏิรูปประเทศ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

.

เอาอีกแล้ว...ปฏิรูปประเทศ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376385158
วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:30:04 น.
ที่มา :  มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2556 


ผมจำไม่ค่อยจะได้แล้วว่าในชีวิตนี้มีคำพูดและความพยายามในการปฏิรูปประเทศกันมากี่หนแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าบ้านนี้เมืองนี้จะชื่นชอบการปฏิรูปประเทศเป็นพิเศษ

ทั้งที่บางทีคำว่า "ปฏิรูป" นั้นก็อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน หรือบางทีคนใช้คำนี้เองก็อาจจะไม่เข้าใจเอาเสียเลยว่าปฏิรูปนั้นแปลว่าอะไร แต่เมื่อใช้คำว่าปฏิรูปแล้วมันดูดี ก็น่าจะหยิบมาใช้อยู่

ก็เพราะยังเชื่อว่าตนเองนั้นมีเจตนาดีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและต้องการความร่วมมือร่วมใจกันของหลายฝ่าย




ทีนี้เรื่องที่ควรจะตั้งคำถามก่อนที่จะเริ่มปฏิรูปประเทศก็คงจะมีกันอยู่หลายๆ คำถามนั่นแหละครับ

หนึ่ง เราได้เคยสรุปบทเรียนและติดตามกันบ้างไหมว่าการปฏิรูปประเทศในแต่ละครั้งที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จอย่างไร และมีอะไรที่ยังเป็นประเด็นท้าทายอยู่ ทั้งในแง่ที่อ้าง/ต้องการจะทำแต่ทำไม่ได้ หรือมันมีผลบางประการที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศ ที่นำไปสู่ปมปัญหาใหม่ๆ ที่ตามมา

อาทิ เราเคยพูดถึงการปฏิรูปประเทศที่เรียกตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ห้าว่า "Government Reform" หรือการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง ซึ่งนำมาสู่บูรณภาพดินแดน เอกราชและอธิปไตย และเครื่องมือเครื่องไม้ใหม่ที่เรียกว่า ระบบราชการ แต่ในวันนี้เราก็รู้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในท้ายที่สุด รวมทั้งระบบราชการอย่างกองทัพ และกระทรวงมหาดไทยเอง ก็ถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ทั้งจากการกำหนดภารกิจของตนเอง ตั้งแต่การ "กำหนด-ต่อสู้กับศัตรู" และการ "บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ของประชาชน


หรือเมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองในสมัย 2540 เราก็พบว่ามีความตื่นตัวและความเปลี่ยนแปลงของประเทศมากมายในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีเหตุมีผลมากขึ้น แต่เราก็รับรู้ว่าประเด็นท้าทายในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้นก็มีอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่สัญญาเอาไว้ และการหลบเลี่ยงที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกาของการปฏิรูป ไม่ว่าจะจากการคอร์รัปชั่นที่สลับซับซ้อน หรือการปฏิเสธที่จะใช้กลไกภายในรัฐธรรมนูญเองในการแก้ปัญหาทางการเมือง แต่ไปใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งได้แก่การผลักดันจนทำให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นในปี 2549

และก็จะอดกล่าวถึงไม่ได้ในกรณีของการพยายามในการปฏิรูปประเทศอีกครั้งในยุคสมัยหลังการกระชับพื้นที่และความขัดแย้งของสังคมหลังจากมีคนตายไปเกือบจะร้อยคนภายใต้การนำของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการตีฆ้องร้องป่าว รวมทั้งผูกพันงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้ากับคณะกรรมการสองชุดที่นำโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน และหมอประเวศ วะสี ซึ่งสุดท้ายเราก็จำกันไม่ได้แล้วว่าประเด็นหลักๆ ของการปฏิรูปในรอบล่าสุดนั้นคืออะไร เว้นแต่จะ "พอเดาทางได้" ว่าหาก "หมอประเวศและทีมงาน" อยู่ในการขับเคลื่อนประเทศในชุดไหน ในเรื่องไหน เรื่องราวก็จะออกมาในลักษณะของการขับเคลื่อนประเทศทุกองคาพยพ ดึงการมีส่วนร่วม ลดอคติ และเร่งกระจายอำนาจเพราะประชาชนพร้อมแล้ว (แต่ว่าต้องพร้อมในแบบที่หมอประเวศและทีมงานเชื่อว่าพร้อม จะพร้อมแบบอื่นไม่ได้ เช่นพร้อมกันเองบนท้องถนน หรือพร้อมกันเองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าทีวีดาวเทียม หรือพร้อมกันนอกโครงการ "ตระกูล ส." อะไรทำนองนี้)

กล่าวโดยสรุป จะเดินไปข้างหน้าด้วยคำว่าปฏิรูป ก็ต้องทบทวนก่อนว่าปฏิรูปครั้งที่แล้วๆ มานั้นทำอะไรกันไปบ้างแล้ว ไม่เช่นนั้นคำว่าปฏิรูปก็จะเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างจะ "กลวงเปล่า" ที่พร้อมจะกลายเป็นเรื่องของพื้นที่ที่ช่วงชิงกันกำหนดนิยามหรือผลักดันเรื่องราวที่อาจจะไม่ค่อยจะเข้าใจหรือร่วมมือกันมากนัก



สอง คำถามที่สำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองในรอบนี้ก็คือ โครงสร้างการเมืองของประเทศนี้ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งมาเล่นการเมืองแบบปฏิรูปได้แล้ว เพราะว่าผู้ใหญ่จำนวนนั้นอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อื่นๆ ในสังคมนี้

อธิบายให้ชัดเจนก็คือ การไปเชิญคนอย่างคุณชวน หลีกภัย หรือคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมขบวนนั้น ไม่ใช่ว่าจะไปโทษว่าท่านเหล่านี้ไม่มาร่วมงาน แต่ต้องตระหนักว่าการเมืองแบบรัฐสภานั้น อดีตนายกรัมนตรีเองก็ยังสามารถมีบทบาทในรัฐสภาได้อยู่ เขายังไม่ได้วางมือจากตำแหน่งเหล่านั้น และก็ไม่ได้มีสัญญาณว่าคนเหล่านี้จะไม่ได้พยายามทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดในตำแหน่งเหล่านั้น

เรื่องเดียวกันนี้สามารถอธิบายตำแหน่งของผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านในเมือง อาทิ ที่ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้คงจะยุ่งกับการเมืองได้ลำบาก (แม้ว่าบางท่านจะถูกกล่าวหาว่ายุ่งกับการเมืองก็ตาม)

ดังนั้น การนำเสนอวิธีคิดว่าควรเอาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาช่วยกันทำงานในองค์กรใหม่นี้จึงไม่น่าจะสามารถเข้าถึงตัวผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจริงๆ ในบ้านเมืองวันนี้ได้สักเท่าไหร่ ด้วยว่าตำแหน่งที่ตัวเองมีอยู่ก็ไม่ได้ทำให้มาเข้าร่วมได้ง่ายนัก

เว้นแต่ว่าการเชื้อเชิญให้เกิดการปฏิรูปประเทศในรอบนี้จะทำไปในลักษณะที่เป็นการไป "ส่องไฟ" ถึงตัวผู้ใหญ่เหล่านั้นทีละคนว่ามีท่าทีอย่างไรในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกับความพยายามในรอบนี้ ซึ่งเรื่องน่าสนใจสำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องของการตอบรับ

แต่เป็นเรื่องของการให้เหตุผลในการปฏิเสธเสียมากกว่า

และเรื่องที่น่าสนใจก็คือ คนหน้าเดิมๆ ที่มีการเปิดเผยชื่อขึ้นมาในอุตสาหกรรมปฏิรูปนั้นจะมีใครกันบ้างนั่นแหละครับ



สาม แก่นสารสาระของการปฏิรูปน่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง?

1. การปฏิรูปประเทศไม่ควรจะเป็นเรื่องของคำถามสำเร็จรูป หรือความใฝ่ฝันอะไรให้มันยิ่งใหญ่มากนัก เพราะประเทศชาตินั้นมีหน่วยงานที่ว่าด้วยการวางแผนอยู่มากมายอยู่แล้ว และวิธีคิดเรื่องการวางแผนนั้นก็ถูกใช้ราวกับยาสามัญประจำบ้าน ทั้งที่การวางแผนในสมัยใหม่นี้เขาพัฒนาทฤษฎีไปอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ว่าด้วยเรื่องของการสร้างฉันทามติร่วมกัน หรือการผลักดันให้เกิดความแตกต่างหลากหลายมากกว่าเนื้อหาสาระและเหตุผลชุดเดียวของกลุ่มคนที่ครอบงำกลุ่มอื่นๆ

การปฏิรูปประเทศจึงน่าจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถามว่าจะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่มีแนวโน้มของการทำลายล้าง และการใช้กำลัง (หรืออ้างว่าจะใช้กำลัง) ให้มาอยู่ในกระบวนการสันติได้อย่างไร

นั่นหมายถึงการยอมรับว่าความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่มองว่าสังคมนั้นจะต้องมีอภิมหาเหตุผลแห่งความดีงามหนึ่งเดียวที่ทุกคนจะต้องก้มหัวให้ร่วมกัน เว้นแต่เรื่องของการจำกัดให้มิติของความขัดแย้งแตกแยกนั้นอยู่ภายใต้กระบวนการที่มีส่วนร่วมและไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

2. การปฏิรูปประเทศควรจะมุ่งเน้นไปที่การยอมรับมิติการมีส่วนร่วมและการทำงานที่มีอยู่เดิม แต่ทำให้ข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมนั้นลดลง อาทิ การยอมรับการเลือกตั้ง การทำงานในรัฐสภา การเมืองบนท้องถนน และการเมืองในสื่อทางเลือกใหม่ๆ โดยมองว่าแต่ละภาคส่วนเดิมนั้นก็มีคุณค่าอยู่ด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการประสานสอดคล้องกัน ไม่ใช่คิดแต่จะทำแต่หน่วยงานใหม่ๆ แล้วก็อ้างว่าของใหม่ไฉไลกว่าเดิม และ "จริงแท้" กว่าเดิม

3. การปฏิรูปประเทศควรผลักดันประเด็นที่คิดว่ากระบวนการที่มีอยู่เดิมนั้นเกิดการสะดุดติดขัด และควรมีลักษณะของการทำงานที่มีเงื่อนเวลาที่ชัดเจน ซึ่งในวันนี้สิ่งที่ยังคาอกคาใจของคนทุกฝ่ายสำหรับผม โดยที่กระบวนการที่มีอยู่เดิมไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าจะมีความเข้าใจและทางออกร่วมกัน นั่นก็คือ เรื่องของ "ความยุติธรรม" เพราะการเมืองในวันนี้วนเวียนอยู่ในเรื่องของการอ้างถึงความยุติธรรมและการไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการไม่ยอมรับคำอธิบายเรื่องความยุติธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง นับเนื่องมาจากเรื่องของนโยบายสาธารณะ รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ต่อตัวบุคคล หรือคณะบุคคล

และที่ทำให้เรื่องมันมีทางออกยากขึ้นก็คือ สถาบันที่เชื่อว่าจะผดุงเอาไว้ซึ่งความยุติธรรมเองที่มีอยู่บ่อยครั้งก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย หรือไม่สามารถที่จะอธิบายจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับได้ว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร

ดังนั้น หากจะปฏิรูปประเทศในรอบนี้ การพูดถึงความยุติธรรม ซึ่งย่อมจะโยงไปถึงเรื่องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมน่าจะเป็นเรื่องราวที่สำคัญ

4. การปฏิรูปประเทศไม่ควรมีลักษณะของการจัดแถวจัดระเบียบว่ามีลักษณะเดียวที่ถูกต้อง หรือจะต้องเน้นเรื่องความสามัคคีพร้อมเพรียงหนึ่งเดียวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดแถวแบบที่ชอบอ้างถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่ทุกฝ่ายร่วมใช้อำนาจกันโดยไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการคิดต่าง หรือการชอบอ้างว่าประชาชนนั้นจะต้องเข้าร่วมกลไกใหม่ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะหลากหลายและยืดหยุ่น แต่สุดท้ายก็เป็นการกำกับและสร้างวินัยให้ประชาชนมีเงื่อนไขการมีส่วนร่วมในแบบเดียวคือต้องเข้าร่วมเครือข่ายภาคีภายใต้กระบวนการที่คนฉลาดไม่กี่คนวางแนวทางให้เดิน

แต่ต้องหมายถึงการส่งเสริมความหลากหลายและส่งเสริมแนวทางต่างๆ ให้นวัตกรรมทางการเมืองนั้นเกิดได้โดยไม่ทำให้ทุกอย่างอยู่ในระเบียบแห่งความถูกต้องหนึ่งเดียวเสียมากกว่า



สี่ เราจะปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องใกล้ตัวด้วย นั่นก็คือการสื่อสารสาธารณะ และท่าทีของฝ่ายที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่มีอยู่แต่เห็นไม่ชัดเช่น สื่อ  และที่เห็นชัดเช่น พรรคฝ่ายค้าน

ถ้ายังจำบทเรียนเรื่องของการจุดประเด็นเรื่องความปรองดองและรายงานเรื่องการปรองดองที่จัดทำขึ้นจากสถาบันพระปกเกล้าได้ เราก็คงจะจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับข้อเสนอต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเล่ม

รวมทั้งถ้าเรายังลืมไปแล้วว่ากระบวนการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและงานวิจัยที่รัฐบาลมอบหมายให้สถาบันการศึกษาทำมาในเรื่องของความปรองดองว่า ตกลงผลออกมาหรือยัง? เราก็คงจะเดินกันไม่ได้ง่ายนักหรอกครับ


แต่กระนั้นก็ตาม การปฏิรูปก็ยังเป็นคำที่มีเสน่ห์อยู่ดี แต่มันมีเสน่ห์ตรงที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เพราะใครๆ ก็มีแนวทางเป็นของตนเองเสียล่ะมั้งครับ



.

2556-08-05

มุกดา: เหตุผลที่ต้องโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ดาวแดง..หน้ากากขาว..อัลกอ อิดะฮ์.. พัดลม ต้านมรสุม

.

เหตุผลที่ต้องโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ดาวแดง..หน้ากากขาว..อัลกอ อิดะฮ์.. พัดลม ต้านมรสุม
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375520493 )
วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:02:06 น.
ที่มา: คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มติชนสุดสัปดาห์ 2- 8 ส.ค. 2556 ปี33 ฉ.1720 หน้า20


สําหรับกลุ่มอำนาจเก่า มีเหตุผลที่จำเป็นต้องโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล หลังจากโค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 และตั้งรัฐบาลจากการรัฐประหารปี 2550 พอมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2551 นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ก็ถูกโค่นลงในปีนั้น แม้เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ยังถูกตุลาการภิวัฒน์โค่นอีกครั้งในปลายปี 2551 และมีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเมื่อปี 2552
จนมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ปี 2554 ก็ได้รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ยังมีคนพยายามล้มด้วยสารพัดวิธี


อะไรเป็นแรงจูงใจ ที่จะต้องออกมาโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้?


1.เป็นการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ตามปกติ ของการต่อสู้ทางชนชั้น

แม้ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่อำนาจและผลประโยชน์ก็กระจายลงมาอยู่กับชนชั้นปกครองใหม่ซึ่งเป็นทหาร นักการเมือง และข้าราชการ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ยังสลับสับเปลี่ยนกับอำนาจการปกครองของเผด็จการทหารตลอดทั้ง 80 ปี

ในช่วงสิบปีหลัง ประชาชนชั้นล่างจึงได้สัมผัสกับประชาธิปไตยที่กินได้ใช้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ผลประโยชน์ที่กระจายสู่คนชั้นล่างย่อมทำให้กลุ่มผู้ปกครองซึ่งเคยอยู่ข้างบนสูญเสียประโยชน์ไปบ้าง มากน้อย ตามแต่ฐานะและอาชีพของแต่ละกลุ่ม

ซึ่งขณะนี้บางคนมองว่า ถ้าขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ประชาชนจะเรียกร้องมากขึ้น แต่มันสายไปแล้วประชาชนได้ลิ้มรสเสรีภาพ ได้อำนาจในการปกครองท้องถิ่น และผลประโยชน์จากส่วนกลางที่ถูกถ่ายเทมาสู่ทุกท้องถิ่นมากขึ้น ไม่มีใครอยากไปหาบน้ำไกลเป็นกิโล ชาวบ้านอยากได้ประปาหมู่บ้าน อยากได้ถนน พวกเขาดูโทรทัศน์ ใช้โทรศัพท์ ใช้รถไถนา มีมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ ไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่แบบ 30 ปีที่แล้ว

แม้ไม่คิดถึงเรื่องชนชั้น การต่อสู้ก็จะขยายไปเรื่อยๆ



2.กลัวถูกลงโทษ เพราะ...ยิ่งทำ ยิ่งผิด

เรื่องนี้เปรียบเหมือนกลุ่มโจรที่อยากได้ทรัพย์ จึงเข้าปล้นบ้าน ให้เจ้าของบ้านเงียบ ห้ามต่อสู้ จับขัง จับมัด พอมีคนสู้ก็ฆ่าตาย มีพยานรู้เห็นก็จะฆ่าพยาน ตอนนี้คิดฆ่าเจ้าหน้าที่
กลุ่มอำนาจเก่ากลัวความผิดที่ทำซ้ำซากหลายครั้ง คือความผิดจากการทำรัฐประหารในปี 2549 ทำตุลาการภิวัฒน์โค่นสองนายกฯ ในปี 2551 ปราบประชาชนจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายในปี 2553 ซึ่งข้อหาต่างๆ ร้ายแรงถึงขั้นติดคุกหรือประหารชีวิต ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตย พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นแบบสากล คดีต่างๆ จะถูกนำมาสะสางย้อนหลัง ทั้งคดีการเมือง เช่น การปราบประชาชนหรือรัฐประหาร คดีเศรษฐกิจที่มีลักษณะคอร์รัปชั่น เช่น คดี ปรส. โครงการไทยเข้มแข็ง สร้างโรงพัก ซื้อรถดับเพลิง ฯลฯ และคดีส่วนตัว เช่น กรณีที่ดิน กรณีหนีทหาร

ถ้าสามารถยึดอำนาจรัฐมาได้ และตั้งกลุ่มตนเองเป็นผู้ปกครอง ก็จะสามารถดึงหรือเป่าคดีเหล่านั้นให้หายไปได้

ตรงกันข้าม ถ้าปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยจนกล้าแข็ง ไม่เพียงจำเลยจะถูกดำเนินคดี แต่คนที่คอยช่วยเหลือและปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องทั้งที่อยู่ในระบบยุติธรรมและองค์กรอิสระก็จะโดนเล่นงานไปด้วย

แต่วันนี้คนทั่วไปต่างก็มองเห็นว่าคนกลุ่มนี้ยิ่งดิ้นยิ่งติด ยิ่งทำยิ่งผิดถลำลึกลงไป และพยายามลากพาคนอื่นๆ เข้าไปสู่วังวนของวงจรอุบาทว์


3.ไม่เชื่อมั่นระบบรัฐสภาอีกแล้ว... เลือกตั้งไม่ชนะ จำเป็นต้องใช้วิธีแย่งชิง

จากการเลือกตั้งหลายปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า กลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ( เพราะประชาชน เลือกแต่พรรคที่มีนโยบายกระจายผลประโยชน์ลงสู่ชั้นล่าง ) แนวทางการเลือกตั้งจึงเป็นเพียงยุทธวิธีที่ใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง เลือกเข้าไปเพื่อเป็นฝ่ายค้านในสภา และใช้โจมตีคัดค้านรัฐบาล ความมุ่งหวังที่จะได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีแล้ว จึงมองรัฐสภาเป็นแค่ฉาก

ในทางยุทธศาสตร์ต้องทำให้รัฐบาลบริหารยากที่สุด และเก็บความได้เปรียบในรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้

ในทางยุทธวิธี ต้องป่าวร้องว่าทุกเรื่องทำเพื่อทักษิณ หรือทุจริต จึงต้องหยุดนำกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา เดี๋ยวจะวุ่นวาย หยุดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทนอยู่อย่างอยุติธรรมไปก่อน จะได้ไม่ทะเลาะกัน หยุดโครงการจัดการน้ำ หยุดโครงการรถไฟรางคู่ เดี๋ยวมีทุจริต

แต่คนที่ติดตามข่าวก็พอเข้าใจ ทั้งเหตุและผลว่า...ถ้าไม่มีรัฐประหาร ชาวบ้านก็ไม่ออกมาต่อต้าน ถ้าไม่มาจับชาวบ้านไปขัง โดยไม่ให้ประกัน ก็ไม่ต้องนิรโทษกรรม ถ้าไม่รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับสืบทอดอำนาจเผด็จการมาใช้ ก็ไม่ต้องแก้ไข

ดังนั้น การอ้างเหตุต่างๆ ต่อประชาชน แล้วหาเรื่องมาล้มรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย คงทำได้ผลเฉพาะคนบางกลุ่ม บางองค์กรที่เป็นพวกเดียวกัน


การแย่งชิง ไม่ใช่ยุบสภาแล้วเลือกตั้ง แต่ต้องโค่นรัฐบาลเก่าแล้วตั้งใหม่ ซึ่งคือการปล้นอำนาจ เพียงแต่ผู้ปล้นตัวจริงวันนี้จะใช้อะไรปล้น และไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องสร้างเรื่อง สร้างฉากนอกสภา



กลุ่มคนที่จ้องโค่นรัฐบาล พัดลมหลายยี่ห้อ

ที่จริงแล้ว การล้มรัฐบาลแบบมาตรฐานก็คือการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง โจมตีตามระบอบประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลทำงานไม่ดี และประชาชนเห็นด้วยกับเหตุผลของฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลก็จะถูกโค่นล้มไปตามระบบ แต่ปัจจุบัน ยุทธวิธียอดนิยมก็คือจัดตั้งกลุ่มพลังมวลชนขึ้นมากดดันหาประเด็นต่างๆ เข้ามาโจมตี

คนที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล พอแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ

กลุ่มแรก ระดับผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อพิทักษ์อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมากมายมหาศาล จึงต้องลงทุน ทั้งเงิน สมอง หาคนที่เป็นแกน ใช้คนที่มีอำนาจหน้าที่เป็นแขนขา

กลุ่มที่สอง มีผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย บางส่วนได้โดยอ้อม ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่หลายปีมานี้ถูกทำให้เชื่อว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่สมัยนายกฯ ทักษิณ จนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กำลังทำให้ประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจพินาศ ความเป็นชาติไทยต้องเสื่อมลง จึงยอมเข้าร่วมตามแห่ไปด้วย แต่ในกลุ่มนี้ บางคนมาเอง บางพวกมาตามบท

แต่ผลที่ปรากฏยิ่งนานวันเข้า กลุ่มมวลชนที่เข้าต่อต้านรัฐบาลกลับน้อยลง แม้จะพยายามตั้งชื่อองค์กรให้มีลักษณะหลากหลายแต่ก็ปรากฏว่ายังเป็นคนกลุ่มเดิมที่เรียกว่าเป็นขาประจำเจ้าเก่า

ล่าสุด มีการใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้ดูน่าสนใจขึ้น เช่น เพิ่มสีเสื้อ ใส่หน้ากาก หรือจัดตั้งมาแบบมี story ในช่วงหลังล้วนแล้วแต่มีชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวทางที่เคยใช้ความรุนแรง

เช่น กลุ่ม พคท. เก่าใส่ที่หมวกดาวแดง ในอดีต ก็เคยร้องเพลง ...เราคือทหารของประชา ...จับอาวุธขึ้นมาปลดปล่อยไทย... คล้ายกับว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกมีอุดมการณ์ยังมาค้านรัฐบาล

แต่ความเป็นจริงก็มาเปิดเผยว่าในร้อยคนจะมีอยู่เพียงสองสามคนเท่านั้นที่เคยอยู่กับ พคท. นอกนั้นเป็นเด็กเกิดใหม่ที่รับจ้างเข้ามาพิทักษ์ระบอบเก่า ถูกหลอกให้เชื่อว่า ถ้าชนะจะได้เงินหลายแสน



ส่วนพวกสวมหน้ากากขาวแถวราชประสงค์ เป็นคนขี้อายที่ไม่อยากให้ใครรู้ว่า เป็นพวกสนับสนุนการรัฐประหาร ถือเป็นการเปลี่ยนรูปโฉมของฝ่ายต่อต้านให้มีสีสันมากขึ้นเท่านั้น การตีหัวกันแย่งเบี้ยเลี้ยงก็เป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อกระแสไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ล่าสุดก็มีการปล่อยคลิป เวอร์ชั่น นกกรงหัวจุกของกลุ่มที่อ้างว่า เป็น อัลกอ อิดะฮ์ 3 คนที่ประกาศตามล่าทักษิณซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยินดีในหมู่คนเกลียดทักษิณ โดยไม่ได้คิดต่อไปว่าจะมีผลเสียหายใดๆ ต่อประเทศหรือต่อกลุ่มของตนเอง

ทำให้คนทั่วไปคิดว่าคนพวกนี้เรียกทหารมาเป็นพวก เมื่อทหารไม่เอาด้วย จึงสร้าง พคท. และ อัลกอ อิดะฮ์ ปลอม มาเป็นพวก ...ใครกำกับ ใครเขียนบทแบบนี้ คิดได้ซับซ้อน แต่ฉลาดน้อย

การสร้างกลุ่มแปลกๆ ออกมาต่อต้านหรือโค่นล้มรัฐบาล โดยที่ชาวบ้านธรรมดาร่วมน้อยลง เป็นการบอกอาการถดถอยของเหตุผล และความชอบธรรม อีกไม่นานคงขอให้มนุษย์ต่างดาวมาร่วม




ประเมินการชุมนุม ของกลุ่มที่ต้องการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าการชุมนุมจะมีอีกหลายครั้ง ถ้านับจากการชุมนุมในวันที่ 4 หรือวันที่ 7 ถ้าจะต้านทุกเรื่อง คงต้องขยันมาบ่อยๆ

1. เป็นไปได้ที่จะมีคนมาร่วมหลายพัน ถ้าจะให้ภาพที่ออกมาดูแล้วไม่น่าเกลียด ก็ต้องมีคนชุมนุมมาประมาณ 5,000-10,000 คน ถ้าประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระดมคนจริง ตามที่อดีตเลขาฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป่านกหวีด สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่คงจะต้องเป่าอีกหลายครั้ง กลุ่มเสื้อแดงคงไม่มาปะทะโดยตรง แต่อาจมีจุดคุมเชิงทางยุทธศาสตร์ หรืออาจมีจุดสำแดงพลัง

2. คนสองกลุ่มที่ไม่ค้าน อยู่ในข่ายนิรโทษโดยตรง กลุ่มแรกคือ คนเสื้อแดงที่ไม่ได้เป็นแกนนำ ประมาณ 1,800 คน ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว และยังมีหมายจับอีกนับร้อย (เช่น พวกที่มีรูปยืนดูไฟไหม้อยู่หน้าศาลากลาง)

กลุ่มที่สองคือคนเสื้อเหลือง ที่ไม่ใช่แกนนำ แต่อาจถูกดำเนินคดี มีหลายพันคน เพราะไปยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ สถานีโทรทัศน์ ถ้านำคลิปที่ถ่ายไว้ตามสถานที่ต่างๆ มาเป็นหลักฐาน คนขายก๋วยเตี๋ยวที่จันทบุรี คนที่กรีดยางอยู่ชุมพร คนขายเสื้ออยู่ในตลาดเพชรบุรี อาจได้รับหมายจับ ล่าสุด ศาลเลื่อนคดีไปถึงปลายปี ถ้าการนิรโทษกรรมสำเร็จ จำนวนคดีจะไม่เพิ่มขึ้น และไม่ต้องนอนสะดุ้งไปอีก 20 ปี

3. ตำรวจจะไม่ให้ผู้ชุมนุมขัดขวางการประชุมสภา และคงกันให้ห่างจากทางเข้าออกเพื่อป้องกัน เหตุสุดวิสัย กำลังตำรวจน่าจะมีมากกว่าผู้ชุมนุมในอัตรา 2 ต่อ 1 และเพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่าทำผิด ตำรวจคงใช้กล้องจำนวนมากเป็นพยานและเป็นหลักฐานในการออกหมายจับคนที่กระทำผิดกฎหมายในภายหลัง

4. การนิรโทษกรรม เป็นเรื่องที่พอทำได้ เพราะยังไม่มีผลให้เกิดการแพ้ชนะแบบเด็ดขาด แต่บางคนอาจหวังต่อรองกับการยืดเวลาแก้รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ นี้อาจเป็นผลงานทางการเมืองชิ้นแรกของ ส.ส.เพื่อไทย แต่การแก้รัฐธรรมนูญคงยากกว่าหลายเท่า

ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทำไม่สำเร็จ เรื่องอื่นก็จะเป็นเพียงดีแต่พูดเช่นกัน



อย่าเอาพัดลม มาต้านลมมรสุม

การต่อต้านกระแสการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมทั้งระบบการเชื่อมโยงของโลก ไม่ใช่เรื่องที่ฝืนได้ เพราะสิ่งเหล่านี้พัฒนาไปตามธรรมชาติ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในโลก ตามการพัฒนาความรู้และการสื่อสารซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก

ปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนลมมรสุมที่พัดพาเมฆฝนให้เข้ามาตามฤดูกาลให้แผ่นดินได้รับความชุ่มชื้นจากสายฝน ซึ่งต้องมีเปียกกันบ้าง แต่บางคนไปยกพัดลมในบ้านมาสามตัว เปิดพัดลมเพื่อให้ต้านกับพายุฝน เมื่อรู้สึกว่าไม่พอก็ไปหาพัดลมตัวที่สี่ตัวที่ห้ามาตั้งอีก

เวลาตนเองไปยืนอยู่หน้าพัดลมก็รู้สึกว่าลมแรงดีมาก แต่แท้จริงแล้ว พื้นที่ของพายุในท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล พัดลมห้าตัวเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ไม่อาจต้านพายุฝนตามธรรมชาติได้


หน้ากากขาวและคนคลุมหน้าถือปืนที่อ้างว่าเป็น อัลกอ อิดะฮ์ ก็เป็นเพียงพัดลมอีกสองยี่ห้อที่ไม่อาจยกมาต้านลมมรสุมในฤดูฝนนี้ได้



.

2556-08-02

ฝันสุดท้าย เจ้าชายแช่แข็ง

.

ฝันสุดท้าย เจ้าชายแช่แข็ง
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375461990 )
วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:50:09 น.
(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 26 ก.ค.-1 ส.ค.2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1719 หน้า 9)


แม้ภาพ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมากด้วย "กิจกรรม"
ไม่ว่าเดินป่า โดดร่ม หรือการดำน้ำ
อย่างที่ปรากฏบนปก "มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับนี้ เป็นกิจกรรมดำน้ำ ผูกทุ่นจอดเรือ ปล่อยหอยมือเสือ ในโครงการอาสาอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา

แม้จะมากด้วยกิจกรรมมากมาย แต่ชื่อของ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ดูเหมือนจะไม่พ้นไปจากวังวน "การเมือง"

2 เหตุการณ์ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ก็คือ

การปรากฏชื่อในคลิปลับ การสนทนาของคนเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่กล่าวหาว่าโอเวอร์รีแอ็ก เปิดปฏิบัติการถล่มปืนใหญ่เข้าใส่ฝ่าย "ตรงข้าม" ในพื้นที่ประเทศพม่า ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ต้องของบฯ จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ นับพันล้านเพื่อ "ปิดปฏิบัติการ" และนำไปสู่ ความไม่วางใจอย่าง "ลึกซึ้ง" ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.อ.สุรยุทธ์

เหตุการณ์ที่สอง ก็คือ การฟื้นกลับมาของ กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) หลังจากที่เคยนำม็อบออกขับไล่รัฐบาล จนถูกสลายอย่างหมดรูป เมื่อครั้งชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าปลายปี 2555 ที่ผ่านมา

มาคราวนี้ เปลี่ยนโฉมเป็น "กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ" 
มีชื่อ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน
พล.ร.อ.ชัย ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 1 
ร่วมรุ่นกับ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ผู้นำม็อบแช่แข็งรุ่นแรก
รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และองคมนตรี นั่นเอง



ทำให้การเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลครั้งนี้ ถูกเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.สุรยุทธ์ ด้วย แม้เจ้าตัวเองอาจจะไม่รู้เรื่อง

แต่ก็ดูจะมีความจงใจทำให้เห็นสัมพันธ์ลึกๆ ที่หวังจะให้การขับเคลื่อนครั้งนี้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น

โดยประสานเคียงคู่ไปกับทีมงานขึงขังในนาม "คณะเสนาธิการร่วม" ของ "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" มี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ,

พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัฒน์ (อดีตนายทหารคนสนิท พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร), พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคณี อดีตโฆษก อพส., นายพิเชษฎ พัฒน

โชติ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 และ นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ เป็นผู้ประสานงาน



"กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ประกาศภารกิจสำคัญที่จะเคลื่อนไหว 6 ประการคือ

1. ให้รัฐบาลแสดงจุดยืนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทันที

3.ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาข้าวยากหมากแพง ยุติการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ลดราคาน้ำมันทุกประเภท ให้ ปตท. หยุดค้ากำไรเกินควร และปฏิรูป ปตท. ให้กลับมาเป็นของประชาชน โดยทันที

4. ให้ยุติโครงการกู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550

5. ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกฉบับที่ล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

6. ให้เอาผิดกับผู้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในทุกขั้นตอน ยกเลิกการสอบสวน น.ส.สุภา ปิยะจิต รองปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งคืนตำแหน่งให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี ตามคำสั่งศาล ทันที

โดยนัดจะแสดงพลังในวันที่ 4 สิงหาคม ก่อนการเปิดประชุมสภา

การปรากฏตัวขึ้นมาของ "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ครั้งนี้ แม้จะมีคำถามโตๆ เกี่ยวกับศักยภาพของพลังมวลชน
แต่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ได้ลองประเมินกำลังว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน
พบว่าอาจมีผสานความเคลื่อนไหวเข้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ อาทิ

กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนไทย โดย นายสุชาติ ศรีสังข์ และ นายทองดี นามแสงโคตร ที่ชุมนุมบริเวณทางเดินสนามหลวง ตรงข้ามศาลฎีกามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว
กลุ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีดำ
กลุ่มหน้ากากขาว (V For Thailand) ที่นัดรวมตัวกันในทุกวันอาทิตย์ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 
กลุ่มนักรบนิรนาม นำโดย ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม
กลุ่มไทยสปริง ที่นัดทำกิจกรรมผ่านออนไลน์ ภายใต้การนำของ นายแก้วสรร อติโพธิ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร และ นายขวัญสรวง อติโพธิ

ซึ่งประเมิน "ภาพ" แล้วอาจดูคึกคัก แต่ก็ยังมีคำถามว่า เมื่อแปรไปสู่ การชุมนุม จะสามารถระดมพลออกมาได้เพียงใด




มีความเห็นและให้น้ำหนัก ต่อ ม็อบแช่แข็ง ภาคสอง แตกต่างกันไปในฝ่ายค้านและรัฐบาล

ฝ่ายค้านโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างจะให้น้ำหนัก และเชื่อมั่นในคำทำนายที่ว่าเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง

โดยมีการเปิดสภาวันที่ 1 สิงหาคม เป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะมีเรื่องใหญ่ 3 เรื่องที่ต้องสู้กัน ทั้งในและนอกสภา

เรื่องแรกคือ การออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

เรื่องที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองบ้านเมือง

และเรื่องที่ 3 คือเขียนกฎหมายพิเศษล้มล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และสมุนบริวาร

นายสุเทพเชื่อว่า "ถ้ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจอมบงการที่ดูไบ ยังไม่เลิกข่มขู่คุกคามประชาชน ใช้พวกมากลากไปในสภา รับรองรัฐบาลนี้เจอประชาชนแน่นอน ถึงเวลาที่ประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องลุกขึ้นสู้ และเตรียมพกนกหวีดไว้ ถ้าเสียงนกหวีดดังพร้อมกันเมื่อไหร่

เราจะได้เห็นกันว่าเดือนสิงหาคม และกันยายน จะเป็นไปตามคำทำนายของโหรหรือเปล่า"

ดูตามนี้ดูเหมือนนายสุเทพให้น้ำหนักม็อบแช่แข็งค่อนข้างสูง



ตรงกันข้าม ฝ่ายเพื่อไทย นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มองว่า เป็นความเคลื่อนไหวของพวกหลงยุค 
ยังคิดว่าจะแก้ไขปัญหาระบอบประชาธิปไตยโดยการรัฐประหาร ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชาติมากกว่า

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมินว่าต้องรอดูในวันที่ 4 สิงหาคม ก่อนว่า อพส. จะมีแนวร่วมมากน้อยเพียงใด

และต้องจับตาดูทางพรรคประชาธิปัตย์จะมีการกดดัน หรือนำคนเข้าสมทบกับเครือข่ายเหล่านี้ด้วยหรือไม่


หากประชาธิปัตย์เล่นเต็มตัว โอกาสที่จะเกิด "เหตุการณ์" อย่างที่นายสุเทพทำนายก็พอมี

แต่ประเมินท่าทีหลายฝ่ายในนาทีนี้ มองสอดคล้องกันว่า หากยังมีภาวะสับสนในกลุ่มนำอย่างที่เป็นอยู่

และหากสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอ

มวลชนที่ระดมได้ก็อาจอยู่ในระดับหลักพันหรือหลักหมื่นต้นๆ

แม้จะขับเคลื่อน หรือผลักดันหนักเพียงใด บทเรียนม็อบแช่แข็งก็อาจจะซ้ำรอยครั้งแรก

คือกลายเป็นฝันสุดท้าย ของ "เจ้าชายแช่แข็ง"  อีกรอบ




.

2556-08-01

ประชาธิปไตยนิยาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยนิยาม
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375374594
วันพฤหัสบดีที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:29:41 น.
(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 26 ก.ค.-1 ส.ค.56 ปีที่ 33 ฉ.1719 หน้า30)


นิยามประชาธิปไตยที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คงจะเป็นของประธานาธิบดีลิงคอล์นที่ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นนิยามที่หละหลวมจนหาความหมายอะไรไม่ได้เอาเลย กระทั่งแค่เอากระดิ่งไปแขวนปากประตูไว้ใบเดียว หรือสั่งลูกน้องว่า หากกูชักดาบมึงต้องห้ามกูนะเฟ้ย ก็กลายเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว

ความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าประชาธิปไตยคืออะไรนี้ ทำให้เผด็จการทั่วโลก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พากันอ้างระบอบอำนาจนิยมของตนว่าเป็นประชาธิปไตยกันหมด อย่างน้อยก็โดย "จิตวิญญาณ"


ในเมืองไทย แม้แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยยิ่งเสียกว่าประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในสมัยหลัง หรือรัฐประหารโดยกองทัพก็อ้างว่าเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือปกป้องประชาธิปไตย

แล้วจะเหลือระบอบปกครองอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่อีกเล่าครับ



แนวทางนิยามประชาธิปไตยในฐานะระบอบปกครองนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสามแนวทาง
หนึ่งคือที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์ในรัฐนั้นๆ
สองคือจุดมุ่งหมายของการปกครอง
และสามคือกระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)


ทั้งสามแนวทางนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง แต่ถ้าเราต้องการแยกระบอบปกครองประชาธิปไตยออกจากระบอบปกครองอื่นอย่างชัดเจน ก็ต้องมองหาเงื่อนไขอะไรที่ระบอบปกครองอื่นไม่สามารถมีได้ นั้นคือแนวทางที่สาม ได้แก่กระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)

กระบวนการดังกล่าวนั้นประกอบด้วยการกระทำหลายอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) แต่ในบรรดาการกระทำหลายอย่างนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง (ที่เสรีและเป็นผลโดยตรงต่อการจัดตั้งอำนาจรัฐ) แม้ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบปกครองประชาธิปไตย

แต่แนวทางนี้กลับเป็นแนวทางการนิยามที่ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ กลับไปเน้นแนวทางที่หนึ่งและสองมากกว่า แนวทางที่หนึ่งและสองนั้นก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ถูกเบี้ยวโดยจับเอาระบอบปกครองอื่นๆ เข้ามาอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้ง่าย


และปัญญาชนไทยจำนวนไม่น้อยก็มักทำอย่างนั้นอยู่เป็นประจำด้วย

เช่น ระบอบปกครองไทยโบราณก็เป็นประชาธิปไตย เพราะที่มาของพระราชอำนาจนั้นคือประชาชน โดยอ้างอัคคัญสูตรในพระไตรปิฎก และ/หรืออ้างหลักการ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ"


แต่ทั้งพระสูตรและหลักการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการจำลองภาพอุดมคติ เพื่อสะดวกในการอธิบายเท่านั้น อย่างเดียวกับ "รัฐธรรมชาติ" ของฝรั่ง ซึ่งไม่มีจริงและไม่เคยมีจริงในโลก สร้างขึ้นเพื่ออธิบายเรื่องสิทธิและการสละสิทธิบางส่วนเพื่อผดุงสิทธิเสรีภาพหลักเอาไว้เท่านั้น

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไม่เคยมีการสร้างกระบวนการขึ้นมารองรับหลักอัคคัญสูตรหรือ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" เลย


ผมคงต้องอธิบายหลักทั้งสองอย่างคร่าวๆ ไว้ด้วย


อัคคัญสูตรอ้างว่ากิเลสของมนุษย์คือโลภ โกรธ หลง ทำให้มนุษย์สั่งสมทรัพยากรธรรมชาติไว้เป็นของตนเองแต่ผู้เดียว จึงเกิดความไร้ระเบียบขึ้นในสังคมขนานใหญ่ จนในที่สุดจึงต้อง "เลือก" คนดี (พระโพธิสัตว์) ขึ้นมาเป็นพระราชา (ผู้ยังให้เกิดความยินดีแก่หมู่ชน) เพื่อรักษาฟื้นฟูระเบียบของโลกกลับคืนมาใหม่

แน่นอน เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง (จากหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่พอหาได้) แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า ผู้ปกครองไทยไม่เคยพยายามสร้างกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนได้เลือกผู้นำของตนเลย ผู้นำคือเชื้อสายของผู้นำ หรือถ้าเป็นคนอื่น ก็คือคนที่มีอำนาจดิบสูงสุด ยิ่งมาในสมัยหลังเมื่อสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นแล้ว ผู้ปกครองก็ยิ่งเน้นสิทธิโดยกำเนิดของ "สุขุมาลชาติ" หรือผู้มีกำเนิดสูง แม้แต่พวกขาใหญ่ทั้งหลายที่เคยมีส่วนเลือกรัชทายาทก็ไม่มีส่วนไปหมด


อย่าว่าแต่เลือกพระราชาเลยครับ เลือกนายอำเภอ, ศึกษาอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาโดยตรง ประชาชนยังเลือกไม่ได้เลย บัดนี้ทำท่าว่าจะเลือกกำนันก็ไม่ได้เสียแล้ว


ส่วนหลัก "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ฟังดูเหมือนให้ประชาชนหลากหลายกลุ่ม (อเนกนิกร) "สมมติ" ใครก็ได้ขึ้นเป็นพระราชา ก็เป็นเพียงชื่อหรูๆ ที่ไม่เคยมีการปฏิบัติสักครั้ง

การประชุมเพื่อหารัชทายาทเกิดขึ้นจริง ในรัชกาลที่ไม่อาจหนุนให้โอรสองค์ใดองค์หนึ่งสั่งสมกำลังไว้ให้สูงสุดได้ เมื่อสิ้นรัชกาลจึงต้องประชุมตกลงกันในหมู่ "ขาใหญ่" ทั้งหลาย นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง, ขุนนางชั้นสูง และพระภิกษุชั้นสูง แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเป็นตัวแทนของประชาชนสักคนเดียว "นิกร" ที่ได้มาประชุมกัน จึงไม่ได้ "อเนก" ตรงไหน เป็นเพียง "ขาใหญ่" จำนวนน้อยเท่านั้น

ซ้ำในการประชุมก็รู้ๆ กันอยู่ว่าใครพวกมากกำลังมาก คนอื่นก็ได้แต่เออออห่อหมกกับคนนั้น นี่คือเหตุผลที่ขุนนางสกุลบุนนากสามารถตั้งพระเจ้าแผ่นดินได้สามรัชกาลต่อกัน คือ ร.3, ร.4 และ ร.5


คนที่อยู่ในข่ายให้เลือกก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้ จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แม้มีจำนวนมาก แต่พันธะหลักของเขาเหล่านั้นคือพระราชวงศ์ (ซึ่งทำให้เขาอยู่ในข่ายถูกเลือก) ไม่ใช่ประชาชน



แนวทางการหาแหล่งที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์เช่นนี้ยังเปิดช่องให้เบี้ยวได้อีกหลายทาง เช่น ในอัคคัญสูตรก็เหลือเชื้อให้เบี้ยวเอาไว้ คือพระมหาสมมติราชที่ถูกเลือกนั้น เป็นคนดีมีศีลธรรม (ก็เป็นพระโพธิสัตว์) จึงได้รับเลือกให้เป็นราชา

หลักการข้อนี้เป็นที่มาอย่างหนึ่งของทฤษฎีธรรมราชา พูดอีกอย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์ในรัฐคือธรรมะ ประชาธิปไตยกลับต้องมานิยามกันว่าอะไรคือธรรมะ (อันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับโลกุตตรธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน) ที่น่าอัศจรรย์คือ คนที่อ้างตัวว่าเป็นธรรมราชานั่นแหละเป็นคนนิยามเอง หรือให้ลิ่วล้อช่วยนิยามตามแนวของตัว แล้วก็ปิดปากคนอื่นด้วยมะพร้าวห้าวบ้าง กฎหมายปิดปากอย่างอื่นบ้าง

ธรรมราชาจึงกลายเป็นประชาธิปไตยในทัศนะของปัญญาชนไทยไปอย่างมหัศจรรย์พันลึก เพราะเป็น "การปกครองของประชาชน"

แนวทางนิยามประชาธิปไตยอย่างที่สองซึ่งปัญญาชนไทยนิยมก็คือ เป้าหมายของรัฐ(บาล) ในการปกครอง ถ้าทำดีจนประชาชนชอบ ก็ถือว่านั่นคือประชาธิปไตยแล้ว เช่น พัฒนาเศรษฐกิจ, ปราบศัตรูของชาติ, ปราบยาเสพติด จนกระทั่งตัวเลขจีดีพีกลายเป็นดัชนีวัดความเป็นประชาธิปไตยไปก็ได้

อันที่จริง สมรรถภาพและประสิทธิภาพในการปกครองย่อมมีความสำคัญแก่รัฐบาลของทุกระบอบ รัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพและประสิทธิภาพย่อมอยู่ไม่ได้ รวมทั้งรัฐบาลของระบอบประชาธิปไตยด้วย แต่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่รัฐบาลถูกล้มได้ โดยระบอบไม่ถูกล้มตามไปด้วย


ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้หน่อยนะครับ รัฐบาลอำนาจนิยมทุกแห่งนั้น เมื่อถูกล้มเพราะไร้สมรรถภาพและประสิทธิภาพ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวระบอบเผด็จการมักถูกล้มไปด้วย (จากระบอบ ถนอม-ประภาส กลายเป็นประชาธิปไตยจากระบอบ ธานินทร์ กรัยวิเชียร กลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จาก รสช. กลายเป็นประชาธิปไตย 2540) มีเผด็จการบางประเทศที่พยายามแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของระบอบปกครอง เช่น บราซิลและเม็กซิโก สมัยที่ยังอยู่ภายใต้เผด็จการมาอย่างยาวนาน นั่นคือมีกฎข้อบังคับว่าผู้เผด็จการจะสืบทอดตำแหน่งไม่ได้ พ้นวาระแล้ว ต้องให้ทหารคนอื่นหรือเผด็จการพลเรือนคนอื่นขึ้นมาเป็นแทน ตัวระบอบเผด็จการยังอยู่ แต่ตัวผู้นำเปลี่ยนไปได้ มาอย่างสืบเนื่องยาวนาน

การมีรัฐบาลที่มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพนั้นดีแน่ แต่ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รัฐบาลในทุกระบอบล้วนอ้างว่าตัวมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพทั้งนั้น แต่ในระบอบประชาธิปไตย คนอื่นค้านได้ว่าไม่จริง ส่วนในระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ ค้านไม่ได้ โทษอาจถึงตายทีเดียว
อย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนอยู่เวลานี้ มากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการทุกชุดของไทยเคยโดนมาแล้ว


เพราะปัญญาชนไทยมองผลของการปกครองมากกว่ากระบวนการ มหาราชของไทยทุกพระองค์จึงกลายเป็นนักประชาธิปไตยไปหมด โดยเฉพาะ ร.5 ผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น

ตลกดีนะครับ อดีตปัญญาชนท่านหนึ่งถึงกับประกาศว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราเป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าหลังการปฏิวัติสยาม ถือว่าเป็นการปกครอง "เพื่อประชาชน" ไงครับ




แนวทางที่สาม ซึ่งนิยามประชาธิปไตยได้ชัดเจนที่สุดคือกระบวนการที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐ นักวิชาการให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้ง (เช่น Samuel Huntington ใน The Third Wave เพราะต้องการเงื่อนไขตายตัวบางอย่างในการวิเคราะห์การแพร่หลายของประชาธิปไตยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20) แต่ผมอยากแปลงให้กว้างขึ้นว่า กระบวนการที่กระจายอำนาจต่อรองออกไปยังคนทุกกลุ่มในสังคม
แน่นอนครับว่า การเลือกตั้ง (ที่เสรี, ให้สิทธิแก่ทุกคนเท่ากัน, เป็นผลให้ได้อำนาจรัฐระดับหนึ่ง) ย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการต่อรองของคนทุกกลุ่ม

และแน่นอนครับว่า เลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้เกิดการต่อรองได้อย่างเท่าเทียมกันจริง ต้องมีอย่างอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สื่อที่เสรีและมีกึ๋นมากกว่าที่เรามีอยู่เวลานี้ เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเคลื่อนไหวทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่มาจากการวิจัยซึ่งมีโอกาสเผยแพร่อย่างเท่าเทียมกัน พื้นที่สาธารณะซึ่งทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสรีและสะดวก ฯลฯ สรุปคือเครื่องมือทางสังคม


ผมไม่ปฏิเสธว่า เครื่องมือทางสังคมที่เรามีอยู่เวลานี้ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะยกเลิกการเลือกตั้ง เพราะในระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่เคยเห็นมีใครผลักดันเครื่องมือต่อรองเหล่านั้นสักรายเดียว ซ้ำร้ายยังอาจขัดขวางเสียอีก

หรือแม้ในระบอบที่มีการเลือกตั้ง ก็ใช่ว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งส่งเสริมให้เครื่องมือเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องสร้างเอาเองครับ
และในบรรยากาศแบบไหนกันแน่ที่สังคมจะมีศักยภาพสร้างเครื่องมือเหล่านี้เองได้ดีกว่า  
..ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์หรือเผด็จการทหาร


ผมคิดว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยเวลานี้ มาจากการนิยามที่ไม่ชัดเจนของประชาธิปไตยนี่แหละครับ
ใครใกล้ชิดปัญญาชนมากกว่า ก็นิยามแบบปัญญาชนคือแนวทางที่มาของอำนาจและอาญาสิทธิ์ และแนวทางเป้าหมายของการปกครอง 
ใครอยู่ห่างๆ ปัญญาชนไทยได้ ก็จะนิยามประชาธิปไตยที่กระบวนการที่จะได้มาซึ่งอำนาจหรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อรองที่เท่าเทียมกัน



++++
โพสต์ภายหลัง 
หมายเหตุ บรรณาธิการ มติชน วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:00:37 น.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เขียนบทความหน้า 6 ประจำวันจันทร์ ต้องเข้าผ่าตัดตาและพักรักษา จนกว่าสายตาจะฟื้นตัว จึงของดส่งบทความระยะหนึ่ง

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน


.