http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-30

เขื่อนกับ“พระราชอำนาจ” โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์

.

เขื่อนกับ “พระราชอำนาจ”
โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ใน www.prachatai.com/journal/2013/09/48955  (..มีความคิดเห็นท้ายบท)
. . Thu, 2013-09-26 12:21



เสียดายกรณีค้านเขื่อนแม่วงก์ทำท่าจะจบลงง่ายดายไปหน่อย แต่ที่ยังคาใจผมอยู่เช่นเดิมคือ ทำไมค้านแค่บางเขื่อน? ทำไมเขื่อนบางเขื่อนมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมน้อยกว่าปรกติ? เป็นเรื่อง “บังเอิญ” หรือที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา บรรดาเขื่อนที่มีสร้อยต่อท้ายชื่อว่า “โครงการตามพระราชดำริ” เท่านั้นสามารถก่อสร้างได้ แต่โครงการอื่นที่คล้ายคลึงกันกลับถูกต่อต้าน?  

ผมไม่ได้ท้าทายต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวในการริเริ่มโครงการเหล่านี้ แต่บางคนเข้ามาเถียงว่าการมีพระราชดำรัสไม่ได้มีผลอะไรต่อโอกาสที่จะสร้างเขื่อนได้ ก็ต้องเถียงว่าไม่จริง ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างสามเขื่อนเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองท่าด่าน และเขื่อนห้วยโสมง ซึ่งล้วนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ส่งผลกระทบตั้งแต่การโยกย้ายประชาชนหลายหมื่นคน ไปจนถึงผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าป่าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่สามารถก่อสร้างได้


ถามว่าพระราชดำรัสได้ถูกเปลี่ยนเป็นผลในเชิงปฏิบัติหรือไม่? มีแน่นอน นอกจากสร้อยต่อท้ายโครงการแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับและปฏิบัติให้พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นผล อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) เป็นต้น

ถามว่าการตั้งหน่วยราชการขึ้นมาโดยอ้างพระราชดำรัสก็ดี พระราชดำริก็ดี การใช้พระราชทินนาม หรือนามพระราชทานเป็นชื่อโครงการเขื่อน สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักการ Constitutional Monarchy หรือไม่ ? สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” หรือที่เรียกว่าหลักการละเมิดมิได้ (Inviolability) หรือไม่ กรณีที่โครงการเหล่านี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือเกิดการปฏิบัติมิชอบขึ้นมา หรือมีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา? 


ที่สำคัญกว่านั้นคือ การอ้างพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้นจะกระทบต่อหลักธรรมภิบาลของหน่วยงานพัฒนาโครงการ กำกับดูแล อนุมัติ และปฏิบัติตามโครงการหรือไม่ จะกระทบต่อหลักการตรวจสอบได้ (accountability) ความโปร่งใส (transparency) และความไม่ลำเอียง (impartiality) ในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อ “คุณภาพ” ของการสำรวจผลกระทบด้านต่าง ๆ ก่อนการอนุมัติโครงการ

รวมทั้งการสำรวจผลกระทบเพิ่มเติมภายหลังการดำเนินโครงการแล้วหรือไม่

ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่อยากเสนอว่าว่าเป็นประเด็นที่สังคมควรถกเถียงกัน



ส่วนกรณี “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในไทยและในภูมิภาค เป็นไปตามหลักฐานที่ผมแสดง อย่าง "โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา" ("โครงการ ธ ประสงค์ใด") ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้จัดทำ และเป็นที่มาของโครงการเขื่อนใหญ่อย่างแม่วงก์ โครงการผันน้ำ (เขื่อนแก่ง
เสือเต้น) ฯลฯ และทำไมครม.ต้องอนุมัติเมื่อ 30 ตุลาคม 2544 ให้สำนักงานทรัพย์สินฯ? เป็นผู้จัดทำโครงการนี้ หน่วยงานนี้เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร?

และผมบอกว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้สนับสนุนการสร้างเขื่อนเฉพาะเมืองไทย แต่เคยมีหุ้นถึง 10% อยู่ในบริษัท MDX มีคนแย้งว่า “แค่ถือหุ้นไม่ได้หมายถึงว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัท” อันนั้นผมเข้าใจ แต่ข้อความที่ว่า “บริษัท จี เอ็ม เอส เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้งบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ ลาว จำกัด ขึ้นในปี 2537 โดยร่วมทุนกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าเอกชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว)” มาจากรายงานประจำปีของบริษัท MDX เอง

MDX มีส่วนในการพัฒนาและก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในลาว อย่างโครงการเทิน-หินบูน (210 เมกะวัตต์) โครงการน้ำงึม 3 (400 เมกะวัตต์) และในจีน อย่างโครงการจินหง (3,000 เมกะวัตต์) รวมทั้ง MDX ยังเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนในไทยหลายโครงการ (ดูรายงานที่อ้างแล้ว หน้า 7-10)


ส่วนรายงานข่าวต่างประเทศก็ระบุเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ทั้งในรูปการถือหุ้นในบริษัทที่สร้างเขื่อนและหุ้นในธนาคารที่ปล่อยกู้ให้โครงการเขื่อน (คงไม่ต้องพูดถึงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทขายปูนด้วยกระมัง)

การที่หน่วยงานใหญ่ อย่างสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการตรวจสอบจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนใด ๆ และยังมีส่วนยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ (การใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ และการใช้ประโยชน์จากรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ “ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ”) เข้ามาพัวพันกับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมมากเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ควรตรวจสอบหรือไม่? 

การที่หน่วยงานใหญ่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นภาคการธนาคาร ปูนซีเมนต์ ประกันภัย และอื่น ๆ ทำหน้าที่เสนอและกำหนดนโยบายในกิจการที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุน อย่างเช่น การสร้างเขื่อนและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ จะถือว่าเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest) หรือไม่?

ผมย้ำว่าไม่มีคำตอบสำเร็จรูปในเรื่องนี้ แต่อยากถามว่าเป็นสิ่งที่สังคมควรถกเถียงหรือไม่ และถ้าจะมีการถกเถียงก็ควรทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาจริงหรือไม่?


อ้างอิง

*รายงานประจำปี 2549 บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หน้า 7
http://www.mdx.co.th/textfile/report/AR%20MDX%2049.pdf

โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/2011-05-02-14-11-54/59-2011-05-08-14-36-21/159-2011-05-17-06-29-39

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลพบุรี
http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/2011-05-02-14-11-54/60-2011-05-08-14-36-40/260-2011-10-29-07-54-16

โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก
http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/2011-05-02-14-11-54/60-2011-05-08-14-36-40/483-2013-07-09-09-00-23

โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี
http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/2011-05-02-14-11-54/58-2011-05-08-14-35-37/150-2011-05-17-06-17-24

เปิดเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ วางแผน3ระยะ สั้น-กลาง-ยาว แก้ปัญหาน้ำ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321065977&grpid=01&catid=01
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

มาตรา 4 ตรี   "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้ จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน”

มาตรา 6 “...รายได้ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ”

กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใน MDX สร้างเขื่อนเทินหุนบุนในลาว
http://www.adbi.org/working-paper/2010/09/02/4056.national.regional.investors.financing.infrastructure.asia/crossborder.investment.projects.in.asia.review.of.selected.case.studies/

กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใน MDX เพื่อสร้างเขื่อนในกัมพูชา
http://www.phnompenhpost.com/national/thai-dam-builders-say-they-will-hire-kr

หมายเหตุ: ภาพจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.)
http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/Projects/RDPBProjectType.aspx?p=39



.

2556-09-29

เขื่อนแม่วงก์กับคนเสื้อแดง โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เขื่อนแม่วงก์กับคนเสื้อแดง
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/09/48967 . . Fri, 2013-09-27 01:19
( ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 431  28 กันยายน 2556 )


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ข่าวเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ได้กลายเป็นกระแสใหญ่อีกครั้ง เมื่อ คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เป็นผู้นำในการรณรงค์ โดยใช้วิธีการเดินเท้าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นครสวรรค์ โดยมีปลายทางที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มาบุญครอง การเดินรณรงค์นี้ เป็นระยะทาง 338 กิโลเมตร เริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน ใช้เวลา 13 วัน โดยมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 22 กันยายน

เป้าหมายของการรณรงค์ครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนและคัดค้านขบวนการอีเอชไอเอ.(รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม)ของเขื่อนแม่วงก์ ประเด็นสำคัญของการคัดค้าน คือ การสร้างเขื่อนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อผืนป่าอย่างมากมาย อีกทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพราะเขื่อนที่สร้างแล้วก็ยังรับน้ำได้เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมากของน้ำที่ท่วม การสร้างเขื่อนจึงไม่มีความคุ้มค่าต่อการทำลายสภาพแวดล้อม

ข้อมูลจากคุณนณณ์ ผาณิตวงศ์ อธิบายว่าเขื่อนแม่วงก์เป็นเขื่อนที่มีปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ค่าก่อสร้างปัจจุบัน อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดน้ำท่วม 2 % ของป่าแม่วงก์ แต่บริเวณนี้เป็นป่าที่ราบริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการหากินและ ขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าในพื้นที่ราบอยู่น้อยมาก การสร้างเขื่อนทำให้ป่าถูกทำลาย 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ 500,000 ต้น เป็นไม้สัก 50,000 ต้น ป่าแม่วงก์เป็นแหล่งสัตว์อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าราว 549 ชนิด ปลา 64 ชนิด ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน การต่อต้านการสร้างเขื่อน จึงเป็นการรักษาป่าไม้และสภาพธรรมชาติเอาไว้


ปรากฏว่า ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน เวลาราว 15.00 น. ที่บริเวณด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ เสื้อแดงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) ได้จัดงาน“เปิดโปง สนับสนุน ผลักดัน” ในโอกาส 7 ปี รัฐประหาร เพื่อต่อต้านองค์กรอิสระและสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และผลักดันจัดตั้งสภาประชาชนแห่งประเทศไทย” ซึ่งไม่ได้มีการเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์
แต่สำนักข่าวทีนิวส์ ได้รายงานว่า ขณะที่กลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เคลื่อนขบวนมานั้น “ได้มีกลุ่มเสื้อแดงชูป้ายสนันสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หวังความปั่นป่วนขึ้น ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์  แต่ในเวลานี้ยังไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น” พร้อมกับเสนอภาพกลุ่ม กวป. ที่ชุมนุมหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งที่เส้นทางเคลื่อนขบวนของกลุ่มต่อต้านเขื่อนก็ไม่ได้ผ่านเซนทรัลเวิร์ด

หมายถึงว่า สำนักข่าวทีนิวส์เสนอข่าวโดยไม่ต้องมีข้อเท็จจริง ต่อมา จึงลบข่าวนี้ออกไป แต่ยังลงอีกข่าวว่า "สมศักดิ์ เจียมเฮี้ยนไม่เลิกฉะพวกค้านเขื่อนแม่วงก์อีเดียด ขณะเพจแดง ไล่ไปค้านยึดภูเขา ยึดสปก. พร้อมเย้ยถ้าไม่สร้างเขื่อน จะรักษาป่าได้ไหม” ทั้งที่ในเนื้อข่าว ก็ไม่มีสาระที่จะชี้ได้ว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลจะไปโจมตีพวกต่อต้านเขื่อนแต่อย่างใด เพียงแต่ยกเพจคนเสื้อแดงมาพียงกรณีเดียวมาอ้างว่าคนเสื้อแดงสนับสนุนการสร้างเขื่อน

ต่อมา สำนักข่าวไทยโพสต์ได้นำข่าวคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ไปรายงานต่อโดยพาดหัวว่า  “สุดอุบาทว์ เสื้อแดงนำคนมาต้านพร้อมสนับสนุนให้สร้าง” นอกจากนี้ ยังลงอีกข่าวในพาดหัวว่า “ภาพชัดๆ!! เนติวิทย์ เด็กติ่งแดง ร่วมค้านเขื่อนแม่วงก์” โดยอธิบายในเนื้อข่าวว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล บุคคลที่เคยสนับสนุนให้ปฎิรูปการศึกษา และข้อเสนอให้ยกเลิกความเป็นไทย ล่าสุด ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ของนาย ศศิน ซึ่งแนวคิดต่างจากพวกเสื้อแดงและรัฐบาล

สรุปแล้วสื่อมวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ พยายามสร้างภาพให้ได้ว่า คนเสื้อแดงจะต้องหนุนการสร้างเขื่อน ถ้าใครที่มีแนวโน้มทางเสื้อแดงมาต่อต้านเขื่อนหมายถึงแหกคอก และการเสนอข่าวเหล่านี้ก็ไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่รอบด้านอะไร แต่ใช้วิธีการสื่อสารมวลชนที่เรียกว่า”เต้าข่าว”เป็นหลัก



ก่อนอื่นผู้เขียนเองในฐานะคนเสื้อแดงระดับ“กระบือแดง”คนหนึ่ง ต้องขอเรียนให้ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงมีความเห็นที่หลากหลายได้ ไม่มีความจำเป็นเลยที่คนเสื้อแดงทั้งหมดจะต้องเห็นด้วยกับเขื่อนแม่วงก์
ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่เคยเอาเขื่อนเสมอมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บก.ลายจุด หรือแม้กระทั่งแกนนำ นปช.ก็ยังไม่มีใครสักคนที่ออกมาแถลงสนับสนุนเขื่อนแม่วงก์ แต่แน่นอน มีคนเสื้อแดงและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน สนับสนุนการสร้างเขื่อน ซึ่งคงไม่อาจสรุปเป็นระเบียบวาระอันชัดเจนได้ว่า คนเสื้อแดงจะต้องเอาเขื่อนแม่วงก์
ความเชื่อที่ว่า คนเสื้อแดงจะต้องสนับสนุนรัฐบาลทุกเรื่องทุกนโยบาย เป็นเรื่องเข้าใจเอาเองของพวกสื่อฝ่ายขวาและกลุ่มสลิ่มหลากสี เพราะพวกนี้ไม่เคยสนใจว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องคุมขังนักโทษการเมือง วางเฉยต่อเรื่องมาตรา 112 และปฏิรูปการเมืองล่าช้า และเรื่องคนเสื้อแดงติดคุกจะกลายเป็นประเด็นแตกหักระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงจำนวนมากเสียด้วยซ้ำ ที่เป็นดังนี้เพราะสื่อฝ่ายขวาและกลุ่มสลิ่มหลากสี ก็ไม่เคยอินในประเด็นสิทธิของประชาชนเช่นกัน


สำหรับเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ขอให้ลองมาดูข้อมูลอีกด้านหนึ่ง จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายนว่า นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติพัฒนา ได้นำกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.ลาดยาว อ.แม่วงก์ อ.ชุมตาบง อ.แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยนายประสาท กล่าวว่า จะมีการจัดการชุมนุมรวมพลคนรักเขื่อน บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอแม่วงก์ ซึ่งตนคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมในหลักหมื่น และอยากเชิญให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ไปพบกับประชาชนผู้ชุมนุมด้วย

สำหรับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ได้อธิบายข้อมูลว่า เขื่อนแม่วงก์เคยเสนอเมื่อ 15 ปีก่อน ในฐานเขื่อนชลประทาน โดยกรมชลประทานประเมินไว้ว่าจะสามารถส่งน้ำไปในพื้นที่เกษตรได้สามแสนไร่ เวลานั้นก็ถูกคัดค้านเพราะทำให้สูญเสียป่าหมื่นกว่าไร่ สัตว์ป่าก็ต้องหนีน้ำท่วมจึงไม่คุ้มกับการสร้างเขื่อน
ในขณะนั้น คุณปลอดประสพเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ก็ไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ เพราะพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี นั้น เป็นพื้นที่ชัน ไม่มีพื้นที่ชลประทาน คุณปลอดประสพก็คัดค้านด้วย โครงการก็ล้มไป แต่มาวันนี้โครงการเขื่อนถูกรื้อฟื้น เพราะแม่น้ำแม่วงก์ไหลลงแม่น้ำสะแกกรัง และมาไหลลงเจ้าพระยา ในฤดูน้ำ จะมีน้ำทั้งจากแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน รวมทั้งแม่น้ำสะแกกรังมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา จนแม่น้ำเจ้าพระยารับไม่ไหว การสร้างเขื่อนรับน้ำไว้ก่อน จะเป็นการช่วยภาระของเขื่อนชัยนาท เพื่อจะบรรเทาน้ำท่วมในที่ลุ่มแม่น้ำ คือ ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง และ อยุธยา คุณปลอดประสพเห็นว่า การบรรเทาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ.2554 เป็นจำนวน 1.4 ล้านล้าน เป็นเรื่องมโหฬารมาก รัฐบาลจึงต้องวางแผนในการแก้ไข 

ส่วนที่ผู้คัดค้านเห็นว่า เขื่อนแม่วงก์กักเก็บน้ำได้น้อย คุณปลอดประสพอธิบายว่า “ไปคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเขื่อนเล็กเขื่อนใหญ่ มารวมกัน ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ทุกเขื่อนเล็กใหญ่มีความสำคัญเท่ากัน” ในกรณีที่ทำให้ป่าเสียหาย ก็สามารถทำโครงการฟื้นฟูป่าโดยการปลูกทดแทน 3 เท่า ก็จะมีป่าที่สมบูรณ์ขึ้นได้


สรุปแล้ว เรื่องเขื่อนแม่วงก์คงจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงและรณรงค์กันต่อไป
แต่อยากจะเสนอให้รณรงค์โดยพิจารณาคนที่เห็นต่างกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ การไม่เห็นด้วยกับคุณปลอดประสพคงไม่เป็นปัญหา แต่ไม่ควรใช้วิธีลดคุณค่าความเป็นมนุษย์(dehumanize)ทั้งคุณปลอดประสพและคนเสื้อแดง
และต้องช่วยกันปฏิเสธสื่อเต้าข่าว สังคมไทยก็จะอุดมสติปัญญาขึ้นได้



.

2556-09-28

พรรคประชาธิปัตย์ โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พรรคประชาธิปัตย์
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/09/48981 . . Sat, 2013-09-28 14:48
ใน http://thaienews.blogspot.com/2013/09/blog-post_3303.html
. . 9/27/2556 11:13:00 หลังเที่ยง


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 )


พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 แต่ได้แจ้งเป็นทางการว่า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 ซึ่งเป็นวันจักรี เพื่อแสดงจุดยืนว่า เป็นพรรคนิยมกษัตริย์และเป็นศัตรูกับรัฐบาลคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ในขณะนั้น

ตลอดหลายสิบปีมานี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่และตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” มาโดยตลอด ความเชื่อนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลชนของพรรค แม้แต่การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ก็ยังอ้างความเชื่อดังกล่าวในปริบทปัจจุบันว่า “ต่อต้านเผด็จการรัฐสภาของระบอบทักษิณ”


แต่ถ้าหากเราเข้าใจว่า ประเด็นใจกลางของการต่อสู้ทางการเมืองไทยนับแต่ 2475 จนถึง 2500 รวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือเป็นของพระมหากษัตริย์?” แล้ว เราก็จะเห็นทะลุถึงเนื้อแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างถึงแก่นว่า ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาไม่ใช่การต่อสู้กับเผด็จการทั้งทหารหรือพลเรือน หากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งของพวกอำนาจเก่าในการ
ทำลายล้างใครก็ตามที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นภัยคุกคาม


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์มีความปรารถนาที่จะ “ปรองดอง” กับคณะเจ้า จึงหาทางยุติความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ให้บุคคลในคณะเจ้าซึ่งถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศในเวลานั้นได้กลับคืนสู่เสรีภาพ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ยินยอม “ปรองดอง” กับนายปรีดี หากแต่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้แค้นคณะราษฎรและรื้อฟื้นอำนาจเก่ากลับคืนมา เครื่องมือชิ้นแรกสุดที่คนพวกนี้สร้างขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์

ภารกิจชิ้นแรกของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นจึงเป็นการใช้เวทีทั้งในและนอกรัฐสภามาทำลายล้างคณะราษฎร โดยมีเป้าหมายใหญ่คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของการปฏิวัติ 2475 พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีว่า เป็นผู้บงการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขให้คณะทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อการรัฐประหาร 2490 ทำลายล้างกลุ่มนายปรีดีได้สำเร็จ

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็หันปลายหอกการโจมตีมายังส่วนที่เหลืออยู่ของคณะราษฎรคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็มีความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยม มีการปราบปราม จับกุมคุมขังและสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” จึงเริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต่อต้านจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เอง จนกระทั่งพวกนิยมกษัตริย์ร่วมมือกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก่อรัฐประหาร 2500 โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของคณะราษฎร ถอนรากถอนโคนการปฏิวัติ 2475 จนหมดสิ้น



ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์และช่วงต้นของเผด็จการถนอม-ประภาส พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านแต่อย่างใดเพราะนี่เป็นช่วงเถลิงอำนาจอย่างเต็มรูปของแนวร่วมเผด็จการสฤษดิ์กับพวกจารีตนิยม จนกระทั่งเมื่อกลุ่มถนอม-ประภาสก่อรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในกลุ่มตระกูลของตน จนอาจเป็นอันตรายต่อพวกจารีตนิยมแล้วนั่นแหละพรรคประชาธิปัตย์จึงได้มีการเคลื่อนไหว

โดยอดีต สส. 3 คนยื่นฟ้องคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อศาลอาญา แต่กลับถูกจอมพลถนอมสั่งจำคุก ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำนิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ”

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทเพียงเข้าร่วมรัฐบาลผสม เป็นขาหยั่งในรัฐสภาสนับสนุนพลเอกเปรมยาวนานถึงแปดปี และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคสมัยของพลเอกเปรมเป็นช่วงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูพระราชอำนาจมากที่สุดนับแต่ 2475 เป็นต้นมา

เมื่อเกิดรัฐประหารของ รสช.ในปี 2534 พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารแต่อย่างใด แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมที่สนับพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อต้านพลเอกสุจินดาในเดือนพฤษภาคม 2535 แล้วกลับฉวยโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ด้วยวาทกรรม “เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” และ “จำลองพาคนไปตาย”



บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นเครื่องมือของจารีตนิยมในปัจจุบันยิ่งชัดเจนเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถูกมองว่า เป็นภัยคุกคาม จนเกิดเป็นขบวนการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2549 โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทเป็นตัวจุดชนวนหรือตัวเร่งสถานการณ์ในทุกขั้นตอน

ตั้งแต่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย บอยคอตการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน ร่วมกับพันธมิตรเสื้อเหลืองโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แล้วอาศัยคณะนายทหารก่อรัฐประหารเงียบจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จากนั้นก็ยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 หลังแพ้เลือกตั้ง ก็ตั้งหน้าเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ นิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” มีคนเชื่อน้อยลงไปทุกที เพราะคนไทยวันนี้จำนวนมากไม่ได้ขี้หลงขี้ลืมอีกต่อไป

หากแต่ได้ “รู้ความจริง” กันอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ พฤติการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์คือเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่า เนื้อแท้ของพรรคการเมืองนี้ไม่ใช่ต่อต้านเผด็จการ หากแต่เป็นการรับใช้พวกจารีตนิยมที่ครอบงำระบอบรัฐสภาในปัจจุบัน


อนาคตของระบอบเผด็จการในประเทศไทยนั้นริบหรี่เต็มที อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันถ้าไม่สามารถวิวัฒน์ตนจากการเป็นมือเท้าของพวกจารีตนิยมไปเป็นพรรคการเมืองที่เสนออนาคตที่เป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทย

ดังเช่นพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษที่เริ่มต้นหลายร้อยปีก่อนก็เป็นเพียงพรรคนิยมกษัตริย์ที่ดื้อดึงล้าหลัง แต่ภายหลัง “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์”

ปี 1688 เมื่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องยินยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พรรคอนุรักษ์นิยมก็สามารถปฏิรูปตนเอง กลายเป็นทางเลือกที่ไม่อาจมองข้ามได้ของคนอังกฤษมาทุกยุคสมัย ผลัดกันแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งกับพรรคเสรีนิยมและพรรคแรงงานจนถึงปัจจุบัน


พรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละที่จะต้อง “ข้ามพ้นทักษิณ” ให้ได้ เลิกงมงายไล่กวดอยู่กับเงาของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เงยหน้าขึ้นสูง แล้วมองไปในอนาคตข้างหน้า 

ถึงวันที่เผด็จการสิ้นสุดลงและพรรคไม่ได้รับการคุ้มกะลาหัวจากพวกจารีตนิยมอีกต่อไป แล้ววันนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลายไปกับเผด็จการ
หรือจะผันตัวเองมาเป็นทางเลือกที่จริงจังในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย?



.

2556-09-27

เศรษฐกิจในมือที่สั่นของเฟด โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

.

เศรษฐกิจในมือที่สั่นของเฟด
โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ 
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380276761
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:30:08 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน  27 กันยายน 2556 )


ตําแหน่งประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเป็นที่สนใจอย่างมาก ปัจจัยสำคัญคงเป็นเพราะธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีบทบาทอย่างยิ่งยวดต่อตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งผลประโยชน์จากเฟดมากขึ้นเรื่อยๆ
ตลาดเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดประธานคนใหม่ที่จะมาแทนศาสตราจารย์เบน เบอร์นันกี้ ถึงกับมีการเคลื่อนไหวทั้งในระดับการเมืองและระดับนักวิชาการที่คัดค้านมิให้ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโอบามา

และซัมเมอร์ก็ต้องถอนตัวจากโอกาสนี้จริงๆ



การกำหนดผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปล่อยสภาพคล่องซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรที่เรียกว่า QE ซึ่งมาตรการทางการเงินทั้งสองมาตรการนี้มีผลต่อภาคการเงินและเสถียรภาพของภาคการเงินที่จะส่งผลต่อเนื่องไปที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

โดยกระบวนการแห่งอำนาจหน้าที่แล้ว มาตรการดังกล่าวจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ FOMC ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 17 ท่าน ทว่ากรรมการเหล่านี้มีอิทธิพลและวาระเวลาไม่เท่ากัน กรรมการที่มีสิทธิออกเสียงและมีตำแหน่งประจำมี 3 ท่าน ที่เหลือต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกปี โดยส่วนที่หมุนเวียนกันนี้มีเพียง 4 ท่านที่มีสิทธิออกเสียง

และหนึ่งในสามท่านที่เป็นขาประจำก็คือ ประธานธนาคารกลางซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้นำของระบบธนาคารกลางนั่นเอง



วิกฤตเศรษฐกิจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงต้องพึ่งการทำงานของเฟด ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตและช่วงที่กำลังออกจากวิกฤต โดยต้นทุนจากการดำเนินนโยบายสภาพคล่องทั้งสองช่วงนี้จะตกอยู่ที่อนาคตอันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติแต่เสี่ยงต่อปัญหาใหม่อันได้แก่ปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง

ในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ การล่มสลายของสถาบันการเงินหลายแห่งมาจากการขยายตัวของการก่อหนี้ที่ขยายตัวมากเกินกว่ามูลค่าสินเชื่อของภาคธนาคารที่ปรากฏให้เห็นในขณะนั้น
การล่มสลายนี้ทำให้ความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในขณะการหมุนเวียนของสภาพคล่องล้มเหลวตามการทำงานที่ชะงักงันของระบบสถาบันการเงิน

เฟดจึงมีกลไกที่สำคัญเพียงกลไกเดียวที่สามารถเติมสภาพคล่องเข้าไปทดแทนส่วนที่ล่มสลายไปได้ และเฟดก็ได้ดำเนินบทบาทที่มีเหตุผลนี้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นมาตรการที่ใช้กันเป็นปกติทั่วไป แต่ในระยะต้นนโยบายนี้ไม่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟดจึงเพิ่มสภาพคล่องมากยิ่งขึ้นโดยต้องการให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำและยิ่งไปกว่านั้นก็คือต้องการให้ราคาสินทรัพย์ไม่ตกต่ำมากเกินไปจากภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ที่แตกลง
นี่คือที่มาของมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เรียกว่า QE


การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อสินทรัพย์จึงเป็นการเติมสภาพคล่องเข้ามาทดแทนสภาพคล่องที่หดตัวไป

และเป็นมาตรการเติมสภาพคล่องจำนวนมหาศาล ที่ศาสตราจารย์เบอร์นันกี้ทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องดิ้นรนหาทางรอดให้ได้


ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว สภาพคล่องที่อัดฉีดเป็นจำนวนมหาศาลจึงเป็นภาระที่เฟดจะต้องทำให้ลดลง เพื่อประคับประคองให้ระบบการเงินไม่เข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพ


ในช่วงออกจากวิกฤต สภาพคล่องยังมีความสำคัญแต่ก็เป็นช่วงที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์เพราะช่วงระยะนี้อาจไม่นานเพียงพอต่อการดูแลสภาพคล่องให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว

ถ้าภาวะปกติมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามขนาดสภาพคล่องที่ล้นเกินและความต้องการสภาพคล่องที่ปกติจะต้องลดลง คนจนและคนชั้นกลางที่ขาดความสามารถในการปรับตัวก็จะต้องแบกรับภาระความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 
ภาระนี้จะมีมากมหาศาลตามขนาดของสภาพคล่องที่เฟดปล่อยออกมาก่อนหน้านั้น

และหวังว่าโชคจะเข้าข้างให้เฟดรวมทั้งชาวบ้านชาวอเมริกันประมาณการสถานการณ์ในอนาคตไว้ได้อย่างถูกต้อง




ในทางทฤษฎี การถอนสภาพคล่องกลับ อาจไม่ใช่เรื่องซับซ้อน
และถ้ามีขนาดไม่มากเหมือนในตำรับตำรา การถอนสภาพคล่องค่อยดำเนินการเมื่อมีสัญญาณเงินเฟ้อก็ได้ และผลที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับที่รับได้เพราะสภาพคล่องที่ล้นเกินมีไม่มาก


ทว่าในทางปฏิบัติ เฟดไม่สามารถรู้อนาคตได้แน่นอนในขณะที่รอบนี้มีสภาพคล่องออกมามากมายมหาศาลโดยที่สถาบันทางการเงินยังทำงานไม่ปกติอย่างมาก ถ้าเกิดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและการถอนสภาพคล่องจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาอันสั้น จึงอาจนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพอย่างหนักได้

ในอดีต เฟดเคยเรียนรู้มาก่อนบ้างแล้วว่าการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อนั้นยากเพียงใด หากทว่ายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการลดสภาพคล่องจำนวนมากมายมหาศาลมาก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะต้องลดให้อยู่ในระดับปกติภายในระยะเวลาที่ไม่นานนัก

การถอนปริมาณสภาพคล่องที่มาจากขนาดสินทรัพย์ที่เฟดถือครองจำนวน 3.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในขณะนี้ เทียบกับขนาดสินทรัพย์ของเฟดช่วงก่อนวิกฤตจำนวน 5-8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นเรื่องเครียดสำหรับเฟดถ้าไม่มีการค่อยๆดำเนินการล่วงหน้า


ทุกคนจึงต้องมุ่งส่งสายตาไปที่เฟด ตั้งแต่ผู้ที่ยังต้องการให้เฟดช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานมากๆ จนกระทั่งผู้ที่ห่วงภาวะเงินเฟ้อที่อาจสร้างความเสี่ยงในอนาคต แม้กระทั่งประเทศต่างๆ ที่ห่วงว่าเงินทุนที่เคยไหลเข้าประเทศตนอาจต้องไหลกลับออกไป

เศรษฐกิจจึงเปรียบเสมือนอยู่ในมือของเฟดซึ่งมีบทบาทครอบงำระบบการเงินและการถือครองสินทรัพย์มากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ซึ่งในระยะต่อไป เฟดต้องมีวิสัยทัศน์ และมีมือที่ปรับนโยบายการเงินด้วยความมั่นใจได้



ทำเนียบขาวนั้นคงเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีความหมายต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป จึงต้องการผู้ที่ห่วงปัญหาเงินเฟ้อและไม่เน้นปัญหาที่ใกล้จะผ่านไปด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องมากจนสร้างปัญหา

ในขณะที่ตลาดยังต้องการมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเพียงพอและไม่ต้องการให้ราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ตนเองลงทุนไปแล้วตกลงตามต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ตลาดและนักวิชาการที่ห่วงภาวะการว่างงานและการไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอจึงไม่แปลกที่ไม่อยากได้ศาสตราจารย์ซัมเมอร์ผู้มีบุคลิกเฉพาะ แต่อยากได้ศาสตราจารย์แจนเนท เยนเลน ที่สนับสนุนมาตรการสภาพคล่องกระตุ้นการจ้างงานคล้าย (แต่หนักกว่า) ศาสตราจารย์เบอร์นันกี้



ในช่วงไม่นานมานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินทรัพย์ประเภทหุ้นและที่อยู่อาศัยเริ่มมีลักษณะอาการบางอย่างคล้ายฟองสบู่หรือมีราคาเกินระดับของปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น กรรมการเฟดก็ยอมรับมากขึ้นว่ามาตรการ QE ต้องมีระยะสิ้นสุด การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าเฟดอาจต้องเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ก่อนสิ้นปีจึงเป็นเรื่องที่เราเข้าใจความลำบากใจและการส่งสัญญาณที่สับสนของเฟดได้ ทั้งๆ ที่เมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา เฟดเองเพิ่งเพิ่มปริมาณการซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ QE3 (ที่เรียกว่า QE Infinity) เป็น 85,000 ล้านเหรียญต่อเดือน

โครงการลดทอนขนาดของการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ที่คาดหมายกันว่าจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนนี้แต่ต้องเลื่อนออกไปจึงเป็นครั้งที่สองที่เฟดสร้างความแปลกใจในเรื่องความไม่คงเส้นคงวาของเฟด


ความไม่แน่นอนของนโยบายที่เฟดส่งสัญญาณสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงตัวทางความคิดของคณะกรรมการ FOMC ของเฟด ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่สนับสนุนมาตรการ QE แบบที่ไม่ถึงกับสุดซอยของเบอร์นันกี้


การถอนมาตรการซื้อสินทรัพย์จะราบรื่นถ้าเป็นการค่อยๆถอนซึ่งการเริ่มต้นเร็วย่อมหมายถึงการมีเวลาดำเนินการที่นานขึ้นและสร้างต้นทุนความเสี่ยงที่น้อยลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่ไม่ลื่นของเฟดอาจมีมากขึ้นตามระดับความยากของการถอนมาตรการในยุคที่ภาคการเงินต้องพึ่งการตัดสินใจของเฟดและประชาชนได้เสพติดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและราคาสินทรัพย์ที่สูงมาอย่างยาวนานแล้ว

คณะกรรมการ FOMC ที่จะหมุนเวียนเข้ามาปีหน้านี้และต้องการหั่นมาตรการซื้อสินทรัพย์จะมีสามจากสี่ท่านซึ่งจะทำให้โครงสร้างเสียงก้ำกึ่งกันอย่างมาก
และถ้าศาสตราจารย์เยนเลนที่สนับสนุนมาตรการซื้อสินทรัพย์อย่างมากเป็นประธานแทน ก็จะเพิ่มความแตกต่างทางความคิดภายในคณะกรรมการนโยบายการเงินนี้ซึ่งจะมีผลต่อความไม่แน่นอนในการตัดสินใจของเฟด

นี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนอยากเห็นความคิดสายกลางในคณะกรรมการชุดนี้
ดังตัวอย่างเช่นที่นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ อยากเห็นการต่อวาระให้เบอร์นันกี้อีกเพื่อความราบรื่นในการแก้ไขวิกฤต (ซึ่งอาจสายไปแล้วสำหรับประธานาธิบดีโอบามา)


และที่สำคัญคือทำให้แผนการลดทอนการซื้อสินทรัพย์จำเป็นต้องเริ่มให้เร็วและชัด



.

ยุทธศาสตร์ ปท.ไทย ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค โดย พิชัย นริพทะพันธุ์

.
บทความ 2 - ทำไมลาวยังไม่ได้สร้าง รถไฟความเร็วสูง? โดย ธีรภัทร เจริญสุข

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ยุทธศาสตร์ ประเทศไทย ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค
โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ 
อดีต รมว.พลังงาน
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380189088
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:32:04 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 26 ก.ย.2556 )


คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2555 ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และผู้นำเหล่าทัพ ในวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเป็นผู้ร่วมคิดและเป็นผู้ร่วมนำเสนอด้วย พร้อมกับ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล จากสภาพัฒน์ และ ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี พลโท พฤษภะ สุวรรณทัต เจ้ากรมการพลังงานทหาร เป็นประธานฝ่ายวิชาการ ซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศไทยในอนาคต จึงขอนำเสนอรายละเอียดและข้อคิดเห็นดังนี้

จากการวิเคราะห์ภาวะแวดล้อมของโลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมถึงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง ซึ่งสามารถที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกได้ ประเทศไทยที่มีความได้เปรียบในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ประกอบกับมีการพัฒนาที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)

ดังนั้นจึงขอเสนอจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ให้ "ประเทศไทย เป็น ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค? เพราะเห็นว่าจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับและเห็นด้วย โดยประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีความเจริญสูงสุดเพื่อที่จะกระจายความเจริญไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เสมือนว่ามีบทบาทเป็นผู้ให้มากกว่าจะเป็นผู้รับ หากไปกำหนดว่าจะเป็นผู้นำของภูมิภาค อาจจะเกิดแรงต่อต้านและไม่เห็นด้วยได้ แต่ที่จริงแล้วการที่ประเทศไทยยิ่งให้เท่าไหร่ ประเทศไทยก็จะยิ่งได้รับกลับมามากกว่า เพราะในอนาคต ประเทศเพื่อนบ้านนอกจากจะเป็นตลาดสำหรับสินค้าและบริการให้กับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและใช้แรงงานมากที่ประเทศไทยจะโยกย้ายไป อีกทั้งจะเป็นแหล่งผลิตห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้กับอุตสาหกรรมหลักที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทย

โดยภาพรวมคือ การที่จะต้องทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้เป็นประเทศที่รายได้สูงขึ้น

คาดหวังว่า อีกสิบปีข้างหน้าจะเพิ่มรายได้ต่อหัว ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ให้ขึ้นเป็น 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งหมายถึงการต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งที่จะโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ภาคบริการที่จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น



คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรปี 2555 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับรัฐบาลใน พ.ร.บ.ลงทุน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม โดยจะต้องพัฒนาระบบคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้สอดประสานกัน และมีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดสำหรับการลงทุนเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในทางบก ขอเสนอการพัฒนาเชิงพื้นที่

หลังจากที่รัฐบาลได้มีแนวทางการพัฒนาการคมนาคมทางบก ระบบราง ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และระบบถนน พร้อมจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การพัฒนาในเชิงพื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากพื้นที่ในจังหวัดที่มีการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องมีการพัฒนารองรับ การค้า การลงทุน ที่จะเกิดขึ้น และหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต้องมีเมืองใหม่มารองรับการเจริญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่ย้ายการลงทุนมากจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และกระจายสินค้าในภูมิภาค หรือเมืองสำหรับให้บริการในด้านต่างๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

การพัฒนาเชิงพื้นที่ในเมืองต่างๆ ตามแนวระบบคมนาคมนี้ จะทำให้เกิดการกระจายความเจริญเข้าสู่ภูมิภาคและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

ในทางน้ำ ขอเสนอ Energy Bridge

ประเทศไทยมีพื้นที่ติดทะเลเป็นระยะทางยาวทั้งสองฝั่งทะเล รัฐบาลมีแนวทางที่จะลงทุนทำท่าเรือหลายแห่งเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมทางน้ำ แต่โครงการเพิ่มเติมที่เห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุดคือโครงการ Energy Bridge ที่จะทำท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อสองฝั่งของมหาสมุทร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานอย่างถาวร

ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือได้ใช้ช่องแคบมะละกา ที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นมาก เป็นเส้นทางหลัก หากประเทศไทยทำ Energy Bridge จะช่วยให้ร่นระยะเวลาการขนส่งน้ำมันได้ถึง 3-4 วัน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างมาก ดังนั้น การขนส่งน้ำมันดิบจะมาใช้ Energy Bridge ของไทยอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันดิบผ่านประเทศไทยตลอดเวลา ปีละหลายล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ Energy Bridge จะไม่ใช่แค่ท่อส่งน้ำมัน แต่จะมีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่พร้อมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งจะสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ จากเดิมที่ ปตท.มียอดขายปีละประมาณ 3 ล้านล้านบาท และธุรกิจปิโตรเคมีของไทยที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 8 ของโลก ก็คงจะได้ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ และโครงการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพลังงานในภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยจะเป็นศูนย์กลางของน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า หลังจากที่มีข้อตกลงของอาเซียนในการเชื่อมต่อทางท่อก๊าซและเชื่อมต่อทางไฟฟ้าโดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์อยู่แล้ว และยังจะช่วยแก้ปัญหาให้กับพี้นที่ภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบเพราะจะนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งของทุกโครงการในพื้นที่จะต้องถูกนำมาพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้นี้

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเชื่อมต่อถึงการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของภูมิภาค และแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการทำเกษตรโซนนิ่งเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม ผลผลิตพืชพลังงานจะสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อส่งออกร่วมกับน้ำมันที่กลั่นได้

อีกทั้งหน่วยธุรกิจของประเทศไทยยังสามารถไปทำคอนแทรกฟาร์มมิ่งในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกพืชพลังงาน ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของภูมิภาคด้วย

ทางอากาศ ขอเสนอการบริหารห้วงอากาศ

เมื่อพูดถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทางอากาศ คนส่วนใหญ่จะนึกถึง การสร้าง การปรับปรุง การขยาย สนามบิน แต่ความจริงก็คือ การพัฒนาห้วงอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน

ปัจจุบันประเทศไทยรองรับเที่ยวบินประมาณ 600,000 เที่ยวบินต่อปี และมีการขยายตัวปีละประมาณ 10% ทุกปี ซึ่งอีกไม่เกิน 10 ปี จะต้องรองรับเที่ยวบินถึงปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบิน แต่ปัจจุบัน รูปแบบการจัดการแบบเดิมทำให้การบินหนาแน่นแล้ว หากไม่ปรับปรุงแก้ไขก็จะเป็นปัญหาในอนาคต

หากมองประเทศเยอรมนีที่เป็นศูนย์กลางการบินของยุโรป ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินถึง 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าหากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน และด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โอกาสที่ไทยจะรองรับเที่ยวบินในปริมาณเดียวกันก็เป็นไปได้สูง ดังนั้น การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสนามบินจึงเป็นสิ่งต้องเร่งดำเนินการ

การสำรวจพบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยใช้ระบบคมนาคมทางอากาศ ซึ่งหากมีปัญหาการรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นไม่ได้ก็จะส่งผลถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


อุตสาหกรรมที่จะน่าเป็นอนาคตของประเทศไทยคือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกษตรแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แฟชั่น พลังงานและพลังงานทดแทน ปิโตรเคมี เป็นต้น โดยประเทศไทยจะต้องโยกย้ายอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและใช้แรงงานมากให้ไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะเดียวกันก็จะต้องย้ายแรงงานจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามาสู่ภาคบริการเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว
ธุรกิจบริการที่น่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยว ที่อาจจะเห็นนักท่องเที่ยว เฉพาะจากประเทศจีนและประเทศอินเดียที่มีประชากรมากและมีเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น มาเที่ยวเมืองไทยถึงปีละ 50 ล้านคน ศูนย์กลางเมดิคัลฮับที่ไทยมีความชำนาญและมีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว ศูนย์กลางให้บริการทางการเงิน และเป็นศูนย์กลางตลาดทุน ศูนย์กลางการให้บริการทางพาณิชย์ เช่นการรับคำสั่งซื้อมากระจายการผลิตในภูมิภาค หรือการรับสินค้ามากระจาย ศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานและพลังงานทดแทน ศูนย์ให้บริการทางโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายสิบปีที่ตั้งไว้


นอกจากนี้ ยังมีอีกนโยบายสำคัญที่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์อย่างยอดเยี่ยม ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดไว้แล้วคือ การใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค ซึ่งหากสามารถยกระดับเงินบาทให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคได้ ก็เหมือนกับว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมระบบการเงินในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังสามารถลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้กับภาคธุรกิจของไทย

ประเทศไทยยังจะสามารถให้เงินกู้ในรูปเงินบาทแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาประเทศ โดยอาจจะจัดตั้งกองทุนในรูปเงินบาทเพื่อพัฒนาเฉพาะด้าน เช่น กองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยหวังว่าเงินบาทจะถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเมื่อประเทศไทยพัฒนาไปมากและเริ่มมีภาวะถดถอย ประเทศไทยก็ยังสามารถที่จะออก QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนที่สหรัฐและญี่ปุ่นดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

การใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักในภูมิภาคยังเป็นตัวบังคับให้ประชาชนไทยจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมเพื่อให้ไม่กระทบกระเทือนต่อค่าเงิน จะมาสร้างความวุ่นวายแบบในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการที่จะต้องปรับวิธีคิดและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทันกับสถานการณ์เพื่อรองรับกับนโยบายนี้




ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศของภูมิภาค ศูนย์กลางพลังงานและพลังงานทดแทน ศูนย์กลางการให้บริการในรูปแบบต่างๆ และมีเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคแล้ว เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความเจริญมากที่สุด และจะเป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้การเตรียมพร้อมของประชาชนไทยเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างประเทศนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาทางความคิดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะไม่สามารถพัฒนาได้เลย หากประชาชนไทยไม่พร้อม

ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีแนวความคิดในการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า และเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม

พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนนี้และยังจะมีแนวความคิดย้อนหลังจะกลับไปอาศัยอำนาจนอกระบบเพื่อแสวงอำนาจ ไม่น่าจะสามารถพัฒนาประเทศในแนวทางนี้ได้ น่าจะเปลี่ยนความคิดและหันมาแข่งกันคิดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศน่าจะดีกว่ามาก



+++

ทำไมลาวยังไม่ได้สร้าง รถไฟความเร็วสูง?
โดย ธีรภัทร เจริญสุข  คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380255953
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 11:49:47 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับ พุธ 25 ก.ย.56 หน้า 20 )


วันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง หรืออีกชื่อคือ พ.ร.บ.สร้างอนาคตไทย 2020 ซึ่ง ส.ส. ก็ได้อภิปรายกันอย่างเข้มข้น
แต่มีข้อเท็จจริงสองประการที่ทั้ง ส.ส. สำนักข่าวและบุคคลทั่วไป ยังเข้าใจไม่ค่อยถูกต้อง คือการร่วมทุนกับเอกชน โดยเฉพาะเอกชนจากประเทศจีน และสภาพการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกับ ส.ป.ป.ลาว ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน


เดิมทีนั้น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาวโดยบริษัทเอกชนของจีน มีแผนเริ่มก่อสร้างในปี 2010 และจะแล้วเสร็จในปี 2014 โดยการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัทเอกชนของจีน แต่เมื่อได้ดำเนินการสำรวจเส้นทางเพื่อสร้างรถไฟ พบว่า 2 ใน 3 ของเส้นทางจากแขวงซำเหนือถึงนครหลวงเวียงจัน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางเวียดนามที่เมืองวินห์ ต่อไปถึงชุมทางรถไฟที่เมืองหนานหนิงนั้น เป็นภูมิประเทศป่าเขาสูงชัน ต้องขุดอุโมงค์และทำสะพานกันต่อเนื่อง ส่งผลให้งบประมาณที่ประเมินกันว่า เดิมจะใช้งบก่อสร้างไม่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ทวีขึ้นเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจีนก็ประสบปัญหา

การหาบริษัทเอกชนมาดำเนินโครงการตาม MOU ที่ทำไว้กับรัฐบาลลาว จนต้องตั้งข้อเสนอเพื่อความคุ้มทุนและรับประกันรายได้ของเอกชนในการก่อสร้างต่อรัฐบาลลาวล่าสุดในเดือนเมษายน 2013 ดังต่อไปนี้

ข้อแรก รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมดที่บริษัทเอกชนของจีนมาร่วมลงทุน 100%

ข้อสอง รัฐบาลลาวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ประการ คือ

1. ต้องตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการรายได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีสถานะเป็นลูกหนี้รัฐบาลจีน

2. ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้สินในอัตรา 2% เป็นเวลา 30 ปี โดยมีระยะปลอดการชำระหนี้ (แต่ยังคิดดอกเบี้ย) 10 ปีแรก

3. รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมดด้วยทรัพย์สินของโครงการ รวมรายรับในอนาคตต่อรัฐบาลจีน ซึ่งหมายถึงที่ดินตลอดแนวทางรถไฟ

4. รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเพิ่มเติมด้วยรายได้จากเหมืองทองคำ 2 แห่งในแขวงเซโปน



เงื่อนไขดังกล่าวนั้นชวนให้คิดถึงสัญญาสร้างทางรถไฟที่บริษัทยูไนเต็ด ฟรุตส์ ของสหรัฐอเมริกาทำกับประเทศในเขตอเมริกากลาง ที่สร้างทางรถไฟให้แลกกับที่ดินตามแนวรถไฟ เพื่อนำไปปลูกกล้วย จนบริษัทสามารถแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศต่างๆ ตามอำเภอใจ เป็น "สาธารณรัฐกล้วย : Banana Republic" ซึ่งหากลาวยอมแลกแบบเดียวกัน คงไม่พ้นที่สองข้างทางรถไฟความเร็วสูง จะถูกตัดทำลายป่าเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา และถูกแทรกแซงจนกลายเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนยาง : Rubber′s People Democratic Republic" บ้างในไม่ช้า


รัฐบาลลาวจึงเปลี่ยนแนวคิดจากการพึ่งพาการลงทุนจากจีนฝ่ายเดียว มาเป็นการเปิดเจรจาร่วมกับไทยให้ช่วยต่อรองกับรัฐบาลจีน โดยมีการเจรจากันในการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย-ลาว ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และแสวงหาการลงทุนเพิ่มเติมจากประเทศอื่น เช่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

โดยล่าสุด ได้มีแผนการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อสะหวันนะเขด-ลาวบาว เพื่อเชื่อมไปสู่ท่าเรือด่าหนัง (ดานัง) ของเวียดนาม โดยมีกลุ่มทุน ไจแอนท์ คอนโซลิเดต สัญชาติมาเลเซียและสถาบันการเงินริช แบงโก เบอร์ฮัดที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เข้ามาลงนามข้อตกลงการสำรวจและก่อสร้างแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ความคืบหน้าทั้งหมดก็ยังต้องชะลออยู่ เพราะสิ่งสำคัญคือ แผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของลาวไม่ว่าจะสายไหน ก็ต้องต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของไทย ลำพังเพียงแค่การขนส่งหรือโดยสารในลาว ซึ่งมีประชากรเพียง 6.5 ล้านคน ย่อมไม่อาจขยายตัวจนถึงจุดคุ้มทุนได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหรือด้านเศรษฐกิจมหภาค


ดังนั้น "การร่วมทุนกับเอกชน" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมี "ค่าตอบแทน" ที่ต้องจัดหาให้อย่างคุ้มค่า ซึ่ง "ค่าตอบแทน" นั้น อาจจะมากกว่าผลที่ได้รับซึ่งผู้ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนอาจไม่รู้และไม่เคยเข้าใจ



.

2 ล้านล้านแบบ ปชป. เมื่อไอ้เสือกลับใจ โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

.
บทความ 2 - ดิสเครดิต-จิตสาธารณะ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
บทความ 3 - ชำแหละ“ไทยเข้มแข็ง”2020 ความแตกต่าง ยุค รบ.ปชป.“กู้เงิน”2009 
____________________________________________________________________________________

2 ล้านล้าน แบบประชาธิปัตย์ เมื่อไอ้เสือกลับใจ
โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ
  bcheewatragoongit@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380253764
มติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 10:48:52 น.



เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรทีเดียวครับ กับการโชว์วิสัยทัศน์ ชงอนาคตที่เลือกได้ของ หนุ่มมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ...เห็นหรือยังว่าเมื่อคิดให้มันเข้าท่า พูดให้มันสุภาพ ก็สามารถเรียกเรตติ้งได้กระฉูดดีกว่ากล่าวคำผรุสวาทตั้งแยะ นี่จึงเป็น Lesson Learned ที่ท่านผู้นำฝ่ายค้านคงต้องเก็บไว้ใน Long Term Memory โดยมิพักต้องไปวิเคราะห์อะไรให้เสียเวลาอีก

อดคิดไม่ได้ว่าใครนะช่างใจร้ายเป็นกุนซือให้คุณอภิสิทธิ์ขึ้นไปแสดงบท "ผู้นำม็อบ" อยู่บนเวทีผ่าความจริงเสียเป็นวรรคเป็นเวร ช่วยตรวจสอบลึกๆ หน่อยว่านี่เป็นแผนฆ่าหัวหน้าพรรคที่อนาคตก็ไม่สู้จะสดใสนักให้จมดิ่งหนักข้อขึ้นไปอีกหรืออย่างไร ดีนะที่กลับลำทัน อย่างที่หน้า 3 ไทยรัฐฉบับวันที่ 24 กันยายน จั่วหัวว่า..."กลับฝั่งหลังออกทะเล" นั่นแหละครับ

Welcome back to the club ครับ ท่านอดีตนายกฯอ๊อกซฟอร์ด การนำเสนอสิ่งที่ (คิดว่า) ดีกว่านี่ต่างหากที่สังคมไทยเฝ้ารออยู่ พรรคประชาธิปัตย์มีขุนพลระดับยอดเยี่ยมก็หลายคน อย่างเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ก็ไม่แพ้ใครในตองอู เสียดายที่ถูกนำไปซุกไว้ตรงซอกไหนก็ไม่ทราบ แล้วงัดเอาตัวโกง หน้าดำ รูปร่างประหลาดๆ ออกมาอาละวาดบาดทะลวงทั้งในและนอกสภา เล่นเอาประดาแฟนานุแฟนสะดุ้งโหยงไปตามๆ กัน...!

ผินพักตร์กลับไปดูโครงการ "อนาคตที่เลือกได้ อนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ที่ต้องใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้าน ใกล้เคียงกับเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของรัฐบาล ก็พบว่าเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้าน คมนาคม ศึกษา สาธารณสุข และชลประทานเพื่อการเกษตร โดยเม็ดเงินกว่าครึ่งหนึ่งจะถูกจัดสรรลงไปในในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม (คล้ายของเพื่อไทย แต่ใช้เงินน้อยกว่าประมาณ 1.2 ล้านล้าน) ที่เหลืออีกแปดแสนล้าน เป็นการศึกษาเสีย 4 แสนล้าน การสาธารณสุขและชลประทานอีกอย่างละ 2 แสนล้านบาท

ผมชื่นชมตรงที่ข้อเสนอนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในระบอบประชาธิปไตย เมื่อทำเป็นนโยบายแล้ว ประชาชนจะเลือกใคร ก็ให้เป็นอำนาจของประชาชน ข้อสำคัญ หลังเลือกตั้งเสร็จ คงต้อง (พยายาม) เคารพเสียงประชาชน นี่เป็น "จุดอ่อน-Weakest Link" ที่ชัดเจนที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ และก็แปลกที่พรรคไม่เคยรู้ตัว หลังแพ้เลือกตั้ง สมาชิกทั้งหัวหงอกหัวดำต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ว่าพรรคแพ้เพราะเขาซื้อเสียง ...ถ้าประชาธิปัตย์ก้าวข้ามจุดนี้ไปได้อีกเปลาะหนึ่ง พรรคก็จะดูดีขึ้นอีกมากมายก่ายกอง

ในฐานะนักวิชาการด้านการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ผมมองว่าโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีจุดโฟกัสครับ ดูคล้ายการจัดงบประมาณประจำปีให้กับ 4 กระทรวง คือ คมนาคม ศึกษา สาธารณสุข และเกษตรฯ เสียมากกว่า เป็นงบประมาณในลักษณะงาน Routine แทนที่จะเป็นงานยุทธศาสตร์ โครงการหรือแผนงานเชิงกลยุทธ์ควรจัดทำงบประมาณแบบ Project Based Budgeting ที่มุ่งหวังผลลัพธ์ (Output) ที่ชัดเจนอันหนึ่ง

การไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด ขาดการศึกษาในรายละเอียด และยังไม่มีที่มาที่ไป ทำให้โครงการดูยังหละหลวมอยู่ ต่างจากของคุณชัชชาติซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดมากในการที่จะสร้างสมรรถนะ (Competencies)ด้านการคมนาคมขนส่งให้กับชาติ ในสถานการณ์ที่ AEC เปิด ภายใต้ยุทธศาสตร์ Connectivity เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในแถบอุษาคเนย์เข้าด้วยกัน และวางตำแหน่งประเทศไทยเป็น "นครหลวงของอาเซียน-Capital of Asean" ทำนองเดียวกับประเทศเบลเยียมใน EU

โครงการลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณต่างหาก ไม่ใช่งบประจำ (Ongoing Budget) และประเมินโครงการด้วยผลประโยชน์ของชาติในองค์รวม (Overall Benefit) เทียบกับต้นทุนทั้งสิ้น (Overall Cost) ที่ลงไป ไม่ใช่การควบคุม Expense แบบงาน routine ครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่โครงการเชิงยุทธศาสตร์ ต้องใช้เงินนอกงบประมาณประจำปีก็เพราะโครงการเหล่านี้ต้องการเงินจำนวนมากในการพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การกู้ก็เพื่อให้โครงการสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาที่เหมาะสม (คล้ายเรากู้เงินสร้างบ้าน) ถ้าจะให้รอจนเก็บเงินได้ครบแล้วจึงค่อยสร้าง โอกาสด้านเศรษฐกิจที่ประเทศของเราจะได้จากการเป็นศูนย์กลางอาเซียนคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลก็อาจหลุดลอยไป...!

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันดูแลก็คือ "ความโปร่งใส" ของการใช้เงินขณะพัฒนาโครงการ เพราะนี่เป็นงานพัฒนาสมรรถนะชาติ (National Competencies) ของคนไทยทุกคน รัฐบาลถ้าฉลาดจะต้องทำเรื่องนี้ให้สะอาดบริสุทธ์เกินความคาดหมายของประชาชน อาจต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตาในกระบวนการเบิกใช้เงิน ฝ่ายค้านเองก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นแบบสร้างสรรค์ ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น ประชาชนไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่ยอมทั้งนั้นแหละครับ

การออกมาแถลงนโยบาย 2 ล้านล้าน ไทยเข้มแข็ง 2020 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการขานรับจากสื่อทุกแขนงแทบทุกฉบับ นี่อาจเป็นบาทก้าวแรกที่พรรคเก่าแก่พรรคนี้มีโอกาสที่จะ turn around ได้อย่างยิ่งใหญ่ต่อไปในกาลข้างหน้า ถ้าไม่ไปสะดุดขาตัวเองด้วยบทบาทนักเลงโตที่เล่นแล้วมีแต่เสีย ดังที่ก็เห็นๆ กันอยู่ 



+++

ดิสเครดิต-จิตสาธารณะ
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380189328
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 22:51:08 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน  26 ก.ย.2556 )


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และคณะ ยกทีมแถลงแผนโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ชี้ให้เห็นถึงจุดที่แตกต่างจากโครงการตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยสรุปคือ ประเด็นแรกใช้เงินลงทุนจากงบประมาณปกติ กรอบการจัดสรรภายในเวลา 7 ปี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่ามีความโปร่งใสกว่า ในขณะที่ของรัฐบาลใช้เงินกู้ เป็นเงินนอกงบประมาณปกติ ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำตลอดการประชุมสภามาตั้งแต่วาระแรก

ประเด็นต่อมา กระจายการใช้เงิน 2 ล้านล้าน ไปยังการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้าน การศึกษา การพัฒนาและการวิจัย 4 แสนล้าน การสาธารณสุข 2 แสนล้าน ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร 2 แสนล้าน ขณะที่ของรัฐบาลใช้ไปในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นหลัก


ครับ โดยหลักการ การนำเสนอสิ่งที่แตกต่างเพื่อให้ประชาชนคนกลางตัดสินเป็นเรื่องที่ดีน่าสนับสนุน เพราะเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ แข่งขันเชิงนโยบายที่เน้นเนื้อหาสาระของงานหรือโครงการที่จะดำเนินการเป็นสำคัญ

ไม่ใช่มุ่งแต่สำนวน โวหาร เอาชนะคะคาน เล่นเกมการเมืองยืดเยื้อ กระทั่งใช้ความรุนแรง ขว้างปาเอกสาร ทุ่มเก้าอี้ ตีรวนในที่ประชุมเพื่อป่วน ถ่วงเวลาการบัญญัติกฎหมายออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม ทำให้เกิดภาพลบต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.และภาพลักษณ์ของรัฐสภาโดยรวมมากกว่า

การปรับเปลี่ยนมานำเสนอสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ด้วยท่าทีปกติธรรมดาแต่น่าเชื่อถือ ใช้เหตุใช้ผล ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำก้าวร้าว กราดเกรี้ยว โกรธขึง น่าจะเป็นแนวทางที่ได้รับการตอบรับมากกว่า

ด้วยความหวังถึงผลได้อีกข้อหนึ่ง หากเกิดการยุบสภาขึ้นก่อนเวลาปกติ การนำแสนอเรื่องนี้ในขณะที่ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ยังร้อนๆ อยู่ เท่ากับหาเสียงล่วงหน้าไปในตัว เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ตลอดเวลา


แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาคือทำอย่างไรแนวทางที่แตกต่าง ที่ว่าดีกว่านี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ในเมื่อเพิ่งมานำเสนอเอาเมื่อกฎหมายผ่านวาระสามของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กำลังจะเข้าสู่การประชุมของวุฒิสภา

เหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่เสนอก่อนหน้านี้ ก่อนกฎหมายเข้าสภาวาระแรก หรือในการพิจารณาวาระแรก หรือในขั้นกรรมาธิการแปรญัตติ เมื่อข่าวสารเผยแพร่ออกไป แรงกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงน่าจะมีมากกว่าเสนอเมื่อสายเสียแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ ผมคิดเองว่า พรรคประชาธิปัตย์คงคิดว่าเสนอก่อนหน้านี้หรือตอนไหนๆ ผลเหมือนกัน รัฐบาลคงไม่รับฟังและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด ความตั้งใจที่มีอยู่เดิมแน่

อย่างน้อยการเสนอแนวทางใหม่ก่อนหน้านี้ ทำให้สังคมได้รับความคิดเห็น มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เมื่อเกิดภาพเปรียบเทียบ จะช่วยเพิ่มแรงกดดันที่มีต่อฝ่ายบริหารได้มากกว่ามาเสนอเอาภายหลัง

ถ้าเสนอขึ้นมาก่อนแล้วรัฐบาลไม่ฟัง ไม่รับ ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งๆ ที่มีเหตุผลที่ควรรับฟัง ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง ใครควรจะได้คะแนน ใครควรจะเสียคะแนน



แต่เพราะหวังผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต กับการบั่นทอนความน่าเชื่อถือรัฐบาลเป็นหลัก มากกว่าที่จะคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ในเรื่องอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม ใช่หรือไม่

ด้วยความคิดและการปฏิบัติทำนองนี้ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน ถึงทำให้เรื่องดีๆ นโยบายดีๆ ความคิดดีๆ หลักการดีแต่วิธีการแตกต่าง จึงไม่มีการสานต่อและปรับวิธีการเข้าหากัน


นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าคิดอีก ในเมื่อได้นำเสนอทางเลือกที่มั่นใจว่าดีกว่าแล้ว เหตุใดประชาธิปัตย์ยังเดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยวินัยทางการคลังหรือไม่

เพราะยังคงต้องการล้ม หรือขัดขวางไม่ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาดำเนินโครงการได้ ฉะนั้น ที่พูดว่าเห็นด้วยกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นแค่หลักการ ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ

การเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่ดีกว่า แต่ต้องรอเวลาจนกว่าจะครบวาระให้ประชาชนตัดสินใจ นักการเมืองไทยวันนี้คงรอไม่ไหว

แนวทาง ขัดขวางทุกอย่างที่ขวางหน้า โค่นล้มทุกนาทีที่มีจังหวะโอกาส จึงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยถาวรไปแล้ว เพราะมาตรการในระดับ กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม ใช้ไม่ได้ผลทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพเพียงพอ จริงหรือไม่ น่าคิดนะครับ



+++

ชำแหละ“ไทยเข้มแข็ง”2020 ความแตกต่าง ยุค รบ.ปชป.“กู้เงิน”2009
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380187876
มติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:46:08 น.



พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดตัว "อนาคตที่เลือกได้" ผ่าน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ยืนยันใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยการลงทุนด้วยเงินในระบบงบประมาณปกติ

เป็นวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เท่ากับการที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กู้เงินผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยกฎหมายพิเศษนอกระบบงบประมาณ

ใน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ให้รายละเอียดการใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ใน 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการคมนาคม 1,200,000 ล้านบาท ผ่านรถไฟความเร็วสูง 36,722 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 507,933 ล้านบาท รถไฟฟ้ามหานคร 410,966 ล้านบาท ปรับปรุงระบบรถไฟ 19,303 ล้านบาท ถนนทั้งระบบและสถานีขนส่ง 198,423 ล้านบาท และท่าเรือ 26,623 ล้านบาท

2.ด้านการศึกษา 400,000 ล้านบาท ผ่านโรงเรียนวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิจัย 150,000 บาท อาชีวะสร้างชาติ 50,000 ล้านบาท ครูพันธุ์ใหม่ พัฒนาคุณภาพครูและ Excellence Centre 110,000 ล้านบาท ปรับปรุงอุปกรณ์ และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 90,000 ล้านบาท

3.ด้านสาธารณสุข 200,000 ล้านบาท ผ่านการพัฒนาโรงพยาบาล 12,000 แห่ง 100,000 ล้านบาท และการพัฒนาบุคลากรและสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 100,000 ล้านบาท

4.ด้านการชลประทานเพื่อการเกษตร 200,000 ล้านบาท ผ่านระบบชลประทาน 75 ล้านไร่ ทั่วประเทศ


ไม่เพียง "ไทยเข้มแข็ง 2020" จะยืนยันไม่ต้องกู้เงิน เพราะเป็นการลงทุนในระบบงบประมาณปกติ จึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พัฒนาระบบคมนาคม และโลจิสติกส์

พร้อมกันนี้ยังพัฒนาคนพัฒนาชาติ พัฒนาเรื่องน้ำ เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร เป็นเงินวิจัยสร้างอนาคตชาติ ทำให้เงินถึงมือคนทุกกลุ่ม


หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ "รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" บริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกจากสภาผู้แทนราษฎร

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ได้ลงมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 อำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลตาม พ.ร.ก.นี้ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2553

ในมาตรา 4 ยังบัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 3 ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้สมทบเป็นเงินคงคลัง"

จะเห็นได้ว่า ในสมัยรัฐบาล ปชป. มีการผลักดัน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 2552 หรือ 2009 ผ่านการกู้เงินโดยไม่ต้องนำส่งคลัง



ในขณะที่ "โครงการไทยเข้มแข็ง 2020" ซึ่ง ปชป. ประกาศสู้กับ "โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2020" ของ รัฐบาลเพื่อไทย (พท.) ยืนยันอย่างชัดเจนจะใช้วิธีการผ่าน "งบประมาณปกติ"

เป็นความต่างของ "ไทยเข้มแข็ง 2009" และ "ไทยเข้มแข็ง 2020"

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ให้กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ให้ตั้งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพราะเห็นว่าสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีกระทำได้

หากพิจารณาตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0900/ล 384 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งลงนามเสนอโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552

ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเสนอกฎหมายกู้เงิน เพราะรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ขึ้น หรือเอสพี 2 โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญและจำเป็นต่างๆ ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2555 คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท ซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงาน

นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ในนาม "ครม." ยังระบุไว้ในหนังสือด่วนที่สุดดังกล่าว ว่าเงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเว้นแต่ ครม.จะมีมติสมทบให้เป็นเงินคงคลัง

การที่ ปชป.เสนอโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ด้วยการจัดสรรวงเงินในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องมีการกู้เงินหรือเฉลี่ย 7 ปี ใช้วงเงินต่อปี ปีละ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามงบประมาณปกติ จะสามารถลงทุนและได้รถไฟรางคู่ ระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งประเทศได้หรือไม่

เพราะขณะที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต้องใช้เงินนอกงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในภาวะที่ค่าครองชีพ และค่าแรงสูงขึ้น

ทำให้ นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. ในฐานะมือกฎหมาย พท. ตั้งข้อสังเกตถึงเมื่อครั้งที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยเสนอร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 ซึ่งขัดแย้งกับการที่ ปชป.เสนอโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ที่ไม่ผ่านการกู้เงินแต่ใช้วิธีการงบประมาณปกติ

"ผมขอสรุปใน 2 ประเด็น ว่า 1.ขอจับผิดเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายเมื่อครั้งกู้เงินผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง 2552 ใน 3 ปีงบประมาณที่จะใช้เงิน 1.56 ล้านล้านบาท แต่ปีนี้ของแพง ค่าแรงแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอในวงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านคมนาคม และ 2.ผมจะชี้ให้เห็นว่าสมัยรัฐบาล ปชป.ไม่ตระหนักจะเงินในงบประมาณปกติเลย" นายพิชิตกล่าว

แม้ฝ่ายกฎหมาย พท. ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา169 แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้เสนอ พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้านบาท มีสาระสำคัญว่าไม่ต้องนำส่งคลังไม่ถือเป็นเงินแผ่นดิน ต้องเว้นไว้ตามมาตรา 169

ทำให้ "พิชิต" ตั้งคำถามไปยัง "ปชป." ว่าเหตุใดเมื่อครั้งเสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ไม่เสนอให้ใช้จ่ายเงินในระบบงบประมาณปกติ เหมือนที่เสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ในขณะนี้!



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

2556-09-26

ทางคู่ โดย ฐากูร บุนปาน +..ฯประกบ“2 ล้านล้าน” ดู“เนื้อใน”ใครคุ้ม

.
บทความ 2 - ไทยเข้มแข็ง 2020 ประกบ“2 ล้านล้าน” ดู“เนื้อใน”ใครคุ้ม

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทางคู่
โดย ฐากูร บุนปาน

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380104368
วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:30:22 น.

( ที่มา : คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  นสพ.มติชนรายวัน 25 ก.ย.2556 )


มองโลกในแง่ดีเข้าไว้นะครับ

วันนี้พรรคเพื่อไทยทำอะไร พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำออกมาประกบตลอด
พอฝ่ายหนึ่งเริ่มเดินเรื่องปฏิรูปการเมือง อีกฝ่ายก็ตัดหน้าเดินงานปฏิรูปทันที
พอกฎหมายลงทุน 2 ล้านล้านบาทผ่านสภา ประชาธิปัตย์ก็มี 2 ล้านล้านบาทอีกแบบออกมาให้เลือก

แต่ไม่รู้ว่าทำไมยังใช้ชื่อ "ไทยเข้มแข็ง" ซึ่งเสียหายยับเยินไปแล้วตั้งแต่ตู้น้ำที่ไม่มีน้ำ หรือโรงพักที่มีแต่เสา

ไม่เป็นไร บอกแล้วว่ามองโลกในแง่ดี
คิดช้าก็ยังดีกว่าไม่คิดเลย


และดีกว่าตีรวน ป่วนสภา หรือยกพวกกันขึ้นไปด่าฉอดๆ บนเวทีด้วยคำหยาบคายเป็นไหนๆ

ควรจะอนุโมทนาด้วยซ้ำไปที่กลับตัวได้ และต้องอวยชัยให้พรให้เลือกแนวทางนี้ต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง



อย่ามาแต่เปลือก อย่าแค่สร้างภาพ

เช่นการปฏิรูปการเมืองที่ชิงตัดหน้าเดินสายไปหาคนนั้นคนนี้ เดินแล้วก็ต้องไม่แค่เดินเฉยๆ

แต่เดินเสร็จแล้วต้องมีทางเลือกทางออกมาให้ชาวบ้านพิจารณาด้วยว่า

การเมืองที่ไม่อับอยู่แต่ในตรอกตันนั้นมีทางเลือกทางออกตรงไหนบ้าง



หรือ 2 ล้านล้านแบบไทยเข้มแข็ง อย่ามาแค่ตัวเลขกลมๆ ดูสวยหรูแต่ไม่มีเนื้อใน

2 ล้านล้านของรัฐบาลนั้นยังพอรู้กันอยู่ว่ามี 53 โครงการ จะไปลงตรงไหนบ้าง ทำอะไรก่อนหลังบ้าง

ถ้าไทยเข้มแข็งบอกว่ารางอย่างเดียวไม่พอ ต้องไปเน้นคน และทุ่มไปที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์-มหาวิทยาลัยวิจัย 150,000 ล้านบาท

ก็ต้องบอกได้ว่าจะใช้เงินอะไรมหาศาลขนาดนั้น

หรือรถไฟความเร็วสูงที่ตัดไปจนจุ๊ดจู๋เหลืออยู่แค่ 36,722 ล้านบาท

ต้องบอกว่าจะให้วิ่งกี่เส้น กี่สาย กี่กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงอะไรถึงได้ลงทุนถูกขนาดนั้น

พัฒนาโรงพยาบาล 12,000 แห่งทั่วประเทศ 100,000 ล้านบาท จะออกมาแบบเดียวกับไทยเข้มแข็งเดิมที่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนป้าย เปลี่ยนหลังคา เท่านั้นหรือเปล่า


จะฟังหรูดูดี ต้องมีไส้ข้างในด้วยนะครับ



จะเป็น "ทางคู่" วิ่งขนานไปกับแนวทางของรัฐบาล เป็นทางเลือกสำหรับให้ชาวบ้านพิจารณา 
ต้องมีเนื้อหา มีกึ๋นด้วย

ยุคนี้หล่ออย่างเดียวหากินไม่คล่องแล้ว


อย่าให้ซ้ำรอยในอดีตที่เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้า
มาสมัยแรกแล้วตัดสินใจทำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคทันที แล้วมีผู้ใหญ่ของประชาธิปัตย์บอกว่า จริงๆ ศึกษามาไว้ก่อนแล้ว


ชาวบ้านเขาอาจจะต้องการรัฐบาลที่ศึกษาอะไรให้รอบคอบก่อนลงมือทำ
แต่ที่ต้องการมากกว่าคือรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจ และทำเป็น


เขาไม่ค่อยสนใจหรอกครับ ใครจะศึกษามากี่สิบปี

เขารู้แต่ว่า ใครตัดสินใจลงมือทำให้เขาเห็น

ไม่อย่างนั้นถ้ามีแต่เปลือกอย่างเรื่องโลโก้
ลอกเขามาก็ยอมรับไป

จะแถทำไมให้เสียรังวัดซ้ำสอง



++

ไทยเข้มแข็ง 2020 ประกบ“2 ล้านล้าน” ดู“เนื้อใน”ใครคุ้ม
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380184713
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:40:16 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 26 กันยายน 2556 )


23 กันยายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมแกนนำพรรค อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ร่วมแถลง "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020"

โครงการที่ผลักดันขึ้นมาเป็นภาพเปรียบเทียบคู่ขนานกับกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของรัฐบาล

โดยระบุว่าแผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลมีปัญหาหลัก 4 ข้อ คือ
1.เป็นการกู้เงินที่ขาดวินัย ขาดการตรวจสอบ และขาดความโปร่งใส
2.ตอบโจทย์ความต้องการด้านเดียวคือคมนาคม
3.รายละเอียดโครงการขาดความพร้อม ไม่มีความชัดเจน
4.การประเมินความคุ้มค่าโครงการมีปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงตลอด



หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุด้วยว่า เงินไทยเข้มแข็ง 2 ล้านล้านทั้งหมดจะอยู่ในระบบงบประมาณ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และจะจัดสรรเงินดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้าน, การศึกษา พัฒนาและวิจัย 4 แสนล้าน, สาธารณสุข 2 แสนล้าน ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร 2 แสนล้าน


มีรายละเอียดเบื้องต้นคือ

1.โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง 36,722 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 397,377 ล้านบาท รถไฟทางคู่สายใหม่ 110,555 ล้านบาท รถไฟฟ้า 410,996 ล้านบาท ปรับปรุงระบบรถไฟ 20,912 ล้านบาท ถนนทั้งระบบและสถานีขนส่ง 198,422 ล้านบาท ท่าเรือ 26,622 ล้านบาท

2.การศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยวิจัย 150,000 ล้านบาท อาชีวะสร้างชาติ 50,000 ล้านบาท ครูพันธุ์ใหม่ พัฒนาคุณภาพครู และ Excellent Centre 110,000 ล้านบาท ปรับปรุงอุปกรณ์และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 90,000 ล้านบาท

3.สาธารณสุข ประกอบด้วย พัฒนาโรงพยาบาล 12,000 แห่งทั่วประเทศ 100,000 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสถานศึกษาด้านสาธารณสุข 100,000 ล้านบาท

4.พัฒนาระบบนํ้าเพื่อการเกษตร ลงทุนพัฒนาการชลประทานสำหรับพื้นที่เกษตร 75 ล้านไร่ทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าไทยเข้มแข็ง 2020 นั้น

1.รักษาเสถียรภาพทางการคลังได้ดีกว่า
2.โปร่งใสและสามารถลดทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากกว่า
3.ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศได้ดีกว่า
4.เป็นการใช้ "เงินแผ่นดิน" ที่มีความยุติธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน ทุกชนชั้นมากกว่า




ปฏิกิริยาที่ตามมาภายหลังการนำเสนอแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง ที่กลับมา "เข้ารูปเข้ารอย" ของพรรคประชาธิปัตย์มีอยู่ 2-3 ด้านที่น่าสนใจ

ด้านหนึ่ง กลุ่มที่ไม่เชื่อถือ หวาดระแวง และมี "แผลในใจ" อยู่กับประชาธิปัตย์อยู่แล้วเป็นทุน ปรามาสคาดหน้า ไม่เชื่อว่าข้อเสนอข้างต้นจะเป็นจริงขึ้นมาได้
พร้อมยกตัวอย่างว่า แม้แต่โลโก้ของโครงการยัง "ลอก" รัฐบาลมา
แล้วจะเชื่อถืออะไรกับเนื้อหาภายใน


ด้านหนึ่ง กลุ่มที่เป็นขาประจำ-แม่ยก ผู้เชื่อถือเชื่อมั่นในทุกท่วงท่าอิริยาบถของประชาธิปัตย์ ก็ส่งเสียงเชียร์กันอย่างกึกก้องกัมปนาท

แต่ที่ค่อยๆ รวมตัวกันขึ้นมาเป็นหมวดหมู่และมีน้ำหนัก มีผู้รับฟังมากขึ้น
คือด้านของคนที่ "เป็นกลางๆ"



ซึ่งด้านหนึ่งแม้จะยินดีที่ประชาธิปัตย์กลับหลังหันจากแนวทาง "เกเร" มาเป็นการคัดค้านและตรวจสอบรัฐบาลตามหลักการและมาตรฐาน

แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังตั้งข้อสงสัยเอากับ "เนื้อใน" ของข้อเสนอจากฝั่งประชาธิปัตย์


ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของแนวคิด หรือรายละเอียดที่จับต้องได้ของวงเงินที่แยกไว้แต่ละประเภท

อาทิ ทำไมรถไฟความเร็วสูงจึงลดงบประมาณลงมาเหลือเพียง 36,722 ล้านบาท
จะสร้างกี่เส้น ระยะทางเท่าไหร่ หรือมีแนวทางอื่นๆ อย่างไร

อาทิ แม้ประเทศไทยมีความต้องการสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเสริมพื้นฐานด้านการค้นคว้าวิจัย แต่งบประมาณที่จะใช้กับโรงเรียนวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยวิจัย จะสูงถึง 150,000 ล้านบาทดังที่ตั้งไว้หรือไม่ 

สามารถแจกแจงรายละเอียดออกมาได้หรือไม่



เพราะเมื่อในคำแถลงของพรรคประชาธิปัตย์เอง ระบุว่า
ส่วนหนึ่งปัญหาของโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทอยู่ที่
- 3.รายละเอียดโครงการขาดความพร้อม ไม่มีความชัดเจน
- 4.การประเมินความคุ้มค่าโครงการมีปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงตลอด
ขณะที่ตัวโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านมีรายละเอียด 53 รายการ ไปจนกระทั่งถึงกำหนดการว่าทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไหร่


ประชาธิปัตย์ก็พึงแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนและคุ้มค่ากว่าของไทยเข้มแข็ง 2 ล้านล้าน

แบบที่จับต้องได้จริงด้วย




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

ภูฏานกับอนาคตของGNH โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

.
เพิ่มบทความก่อนหน้า - คนสวิสกับโสเภณี โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ภูฏานกับอนาคตของดัชนีมวลรวมความสุข
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380105244
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:55:37 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 25 ก.ย.2556 )


ราชอาณาจักรภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยล้อมรอบด้วยประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 แห่งทวีปเอเชียคือ อินเดียทางใต้และจีนทางเหนือ ซึ่งการรักษาเอกราชของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง
ในขณะที่ประเทศทิเบตที่ตั้งอยู่ทางเหนือพรมแดนติดกับภูฏานก็ถูกจีนยึดครองใน พ.ศ.2493 และประเทศสิกขิมที่อยู่ทางทิศตะวันตกพรมแดนติดกับภูฏานเช่นกันก็ถูกอินเดียยึดครองไปใน พ.ศ.2518


ภูฏานเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า "แผ่นดินบนที่สูง" แต่คนภูฏานเรียกดินแดนของพวกเขาว่า "ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า" ภูฏานมีเนื้อที่ประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่ขนาดจังหวัดนครราชสีมากับอุบลราชธานีรวมกันเท่านั้นแหละ) มีประชากรประมาณ 750,000 คน
ภูฏานเป็นประเทศที่ถูกจัดโดยสหประชาชาติว่าเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country-LDC) ที่มีอยู่ 14 ประเทศในทวีปเอเชียโดยวัดจากความยากจน, ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอทางด้านโภชนาการ, สุขภาพ, การศึกษากับจำนวนผู้รู้หนังสือ และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่มีราคาปรวนแปรสูง เป็นต้น

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของภูฏานเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2450 เมื่อราชวงศ์วังชุกขึ้นเถลิงอำนาจเป็นพระราชาธิบดีปกครองภูฏานแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองภูฏานภายใต้พระราชาธิบดีทั้ง 2 รัชกาลสงบราบรื่นดี หลังจากนั้น พระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จิ วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์วังชุก พระองค์ทรงเป็นผู้นำสมัยใหม่ นำความทันสมัยของโลกมาสู่ภูฏาน ทรงปรับปรุงประเทศจนได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่" พระองค์ทรงนำภูฏานเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้สำเร็จใน พ.ศ.2514
(สำคัญมากนะครับสำหรับประเทศเล็กๆ ที่จะต้องเป็นสมาชิกสหประชาชาติเพื่อป้องกันการถูกรุกรานหรือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยักษ์ใหญ่ ประเทศไทยของเราเองก็ดิ้นรนเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาติเมื่อ พ.ศ.2489 และโมนาโกก็พยายามเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติจนสำเร็จใน พ.ศ.2536 เช่นเดียวกับภูฏานนั่นเอง)



พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2517 เป็นพระราชาธิบดี องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงนำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

ภูฏานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ.2548 โดยศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี ระบบรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 75 คน และวุฒิสภา 25 คน ส่วนพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้มีเพียง 2 พรรคเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดวาระการครองราชย์ของพระราชาธิบดีให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 65 พรรษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภูฏานต้องการลดบทบาทของพระราชาธิบดี และต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น


ประเทศภูฏานจัดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2550 ซึ่งจะเป็นวาระที่ภูฏานมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี

พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ยังเป็นผู้เสนอและนำแนวทางของความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness, GNH) เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Gross Domestic Product, GDP) แต่เน้นมุมมองเรื่อง "ความสุข" ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลัก
ปัจจุบันแนวคิด GNH กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็นเกณฑ์นั้นมักนำมาซึ่งผลกระทบในทางลบมากขึ้นทุกที


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นวันชาติภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญและประกาศจะทรงสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในปี พ.ศ.2549

ภูฏานจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551 มีพรรคการเมืองสองพรรคคือพรรคภูฏานสันติภาพและรุ่งเรือง (DPT) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเหนือพรรคประชาธิปไตยประชาชน (PDP) ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมด้วยที่นั่งในรัฐสภา 45:2 ซึ่งในช่วง 4 ปีของการบริหารงานของพรรค DPT จึงเน้นเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) มากและได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก


แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่สองของภูฏานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2513 ปรากฏว่าเกิดการพลิกล็อกครั้งใหญ่เนื่องจากว่าพรรค PDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รณรงค์หาเสียงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทุนนิยม นั่นคือ การเน้นการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ (GDP) มากกว่าความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)

ปรากฏว่าพรรค PDP ได้รับที่นั่งในรัฐสภา 32 ที่นั่ง ส่วนพรรค DPT ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของภูฏานคือ นายซีริง โทบเก อายุ 47 ปี ผู้จบปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งพิตสเบิร์กและปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยรับราชการเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา ก่อนที่จะมาเล่นการเมืองโดยเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภามาตลอด 4 ปี ก่อนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปีนี้เอง

นายซีริง โทบเก ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AFP อย่างชัดแจ้งว่า GDP ต้องมาก่อน GNH
เพราะว่าการเสียเวลาพูดถึงความสุขมวลรวมประชาชาติมากๆ โดยไม่ทำงานนั้นทำให้ประเทศภูฏานไม่ใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าคือหนี้สาธารณะของภูฏานได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วมากจนเกิดการขาดแคลนเงินตราระหว่างประเทศ อัตราการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่างงานของคนหนุ่มสาวและการคอร์รัปชั่นที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาหลัก 4 ประการนี้ ทางการภูฏานต้องเร่งจัดการเป็นการเร่งด่วน


ยิ่งกว่านั้น นายกรัฐมนตรี ซีริง โทบเก ยังกล่าวอย่างประชดประชันว่า GNH คือ "Government Needs Help" ต่างหาก



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บทความที่เกี่ยวข้อง

คนรุ่นใหม่ในภูฏานต่อต้าน 'GNH'
by Sutthiporn 
. . 27 มิถุนายน 2556 เวลา 08:22 น.
อ่านที่ http://news.voicetv.co.th/global/73745.html



+++
บทความก่อนหน้า

คนสวิสกับโสเภณี
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1377688762
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:32:15 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 28 ส.ค. 2556 )


คนสวิสโดยทั่วไปแล้วเป็นคนประเภทปฏิบัตินิยม (pragmatism)
คือเป็นคนประเภทที่ไม่ยึดถือเอาคำสอนของศาสนาเป็นมาตรฐานวัดว่าอะไรถูกอะไรผิด แบบว่าคุณธรรม จริยธรรมของศาสนา โดยเฉพาะของศาสนาคริสต์นั้นเป็นเรื่องเหลวใหลอย่างสิ้นเชิงไปเลยทีเดียว


ดังนั้น คนสวิสจึงประกาศตั้งตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งทั้งปวงในทวีปยุโรปมาร่วม 500 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยสงคราม 30 ปีโน่น สงคราม 30 ปี เป็นสงครามใหญ่ระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันตก (พ.ศ.2161-2191) โดยสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งภายในศาสนาคริสต์ระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์และนิกายโรมันคาทอลิกในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) แต่ความขัดแย้งทางอำนาจ ทางการเมืองภายในจักรวรรดิก็เป็นส่วนสำคัญด้วย ในที่สุดสงครามก็ขยายออกไปเป็นความขัดแย้งของอาณาบริเวณต่างๆ ทั่วยุโรปในช่วงการต่อสู้ทั่วไปสงคราม 30 ปี เป็นสงครามที่ต่อเนื่องมาจากสงครามความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ในการเป็นมหาอำนาจในยุโรป และในที่สุดก็บานปลายไปเป็นสงครามที่ไม่มีเหตุผลใดที่เกี่ยวกับศาสนาเลยในที่สุด

การเป็นกลางของชาวสวิสเกิดจากความปฏิบัตินิยม โดยเฉพาะชายชาวสวิสจำนวนมากมีอาชีพเป็นทหารรับจ้าง (Mercenary) บริการทางทหารให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งความเป็นทหารมืออาชีพ (Professional) ของทหารรับจ้างสวิสเป็นที่นิยมของประเทศต่างๆ ในยุโรปมานานแล้ว แม้ในปัจจุบันทหารของนครรัฐวาติกันก็ยังใช้ทหารรับจ้างชาวสวิสอยู่จนทุกวันนี้

ซึ่งผลก็คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็อยู่สงบสุขดี แต่คนสวิสก็ไปรับจ้างเป็นทหารรบทั่วยุโรป จนมีคำพูดที่ติดปากชาวยุโรปว่า "ที่ไหนไม่มีเงิน ที่นั่นไม่มีคนสวิส"


การออกเสียงประชามติ (Referendums) กับชาวสวิสนั้นเป็นของคู่กัน
เนื่องจากที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีการลงประชามติในระดับท้องถิ่น ระดับกังตอง (มลรัฐ) และระดับชาติทุกปี ซึ่งการลงประชามตินี้มีบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญนะครับ


เนื่องจากการออกเสียงประชามติเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ดีกว่ายอมแต่ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งบรรดาผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วส่วนใหญ่จะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเสียเป็นส่วนใหญ่


อย่างเรื่องโสเภณีนี่นะครับ เป็นเรื่องสำคัญในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะให้มีโสเภณีอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะป้องกันการค้ามนุษย์ ป้องกันการแพร่กระจายของกามโรคและโรคเอดส์ และยังเป็นการกำจัดองค์กรอาชญากรรม (ขบวนการแมงดาที่หากินกับโสเภณี) ไปในตัวด้วย ที่สำคัญคือ รัฐสามารถเก็บภาษีจากโสเภณีและมีสวัสดิการให้กับโสเภณีที่เป็นอาชีพที่ถูกต้องและมีศักดิ์ศรีตามกฎหมาย

ในทวีปยุโรปมีประเทศที่มีโสเภณีและซ่องโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย 7 ประเทศ คือเดนมาร์ก, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ และตุรกี ส่วนประเทศที่ให้โสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแต่ห้ามมีซ่องโสเภณีมีอยู่ 16 ประเทศ คือ ฟินแลนด์, โปแลนด์, เช็ก, สโลวัก, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, บัลแกเรีย, อังกฤษ, ไอร์แลนด์, สโลวาเกีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย และฮังการี

มี 3 ประเทศที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง เพราะออกกฎหมายที่ก้าวหน้าและยุติธรรมที่สุดคือ นอร์เวย์, สวีเดน และไอซ์แลนด์ ที่ถือว่าโสเภณีผิดกฎหมาย แต่หากมีการละเมิดกฎหมาย ผู้ผิดคือลูกค้าครับ ไม่ใช่ตัวโสเภณี



คราวนี้มีเรื่องที่น่าสนใจจากสำนักข่าวเอเอฟพี คือ ในสวิตเซอร์แลนด์ การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย โสเภณีส่วนใหญ่ทำงานในซ่องและเอเยนซี่ขายบริการ แต่ผู้หญิงบางส่วนจะเตร็ดเตร่หาลูกค้าตามริมถนน ทำให้ชาวบ้านในเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะย่าน Sihlquai ซึ่งเป็นแถบใจกลางเมืองย่านถนนสายโลกีย์ของเมืองซูริกร้องเรียนว่า เซ็งกับภาพอุจาดตาของกระบวนการต่อรองระหว่างโสเภณีกับลูกค้า ดังนั้น จึงได้มีการออกเสียงประชามติกันเรื่องย้ายไปสร้างซ่องแบบไดร์ฟอิน (เหมือนโรงภาพยนตร์กลางแจ้งที่ขับรถเข้าไปดูหนังในรถในซอยลาดพร้าว 130 สมัยก่อน) แต่แบ่งเป็นช่องๆ (ดูรูป) ให้อยู่ที่ชานเมือง โดยเทศบาลเมืองซูริก ออกค่าใช้จ่ายจากเงินภาษีของชาวซูริกเอง

เรื่องนี้ได้ผ่านการออกเสียงประชามติของชาวเมืองซูริกแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ทางเทศบาลนครซูริกจึงได้ลงมือสร้างสถานบริการทางเพศรูปแบบใหม่ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "คูหาเซ็กซ์ (sex boxes)" มีกำหนดทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2556 นี้เอง โดยซ่องโสเภณีแบบไดร์ฟ อิน นี้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมเก่าแห่งหนึ่งทางตะวันตกของเมืองซูริก

สำหรับผู้ชายที่ต้องการใช้บริการแบบนี้ต้องขับรถเข้ามาคนเดียวเท่านั้น โดยขับผ่านประตูเข้ามาเพียงลำพัง ก็จะได้รับการสนองความต้องการทางเพศจากหญิงโสเภณีประมาณ 40 คน ที่ประจำอยู่ และพอตกลงราคากันได้ ทั้งสองคนก็จะขับรถเข้าไปยังช่องสี่เหลื่ยมลักษณะคล้ายกับห้องล้างรถ เพื่อมีเพศสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ ด้วยห้องดังกล่าวติดอุปกรณ์เตือนภัยเอาไว้ ก็ทำให้โสเภณีสามารถแจ้งกับตำรวจได้อย่างรวดเร็ว หากตกอยู่ในอันตรายจากลูกค้าหน้ามืดทั้งหลาย มาตรการใหม่จะช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแล และจัดระเบียบโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย


มาตรการที่ทางเทศบาลนครซูริกสร้างซ่องไดร์ฟอินขึ้นนี้ เพื่อที่จะรับประกันความปลอดภัยแก่หญิงโสเภณี กำจัดเครือข่ายอาชญากรรมค้ามนุษย์ และลดบทบาทของการค้าประเวณีอย่างผิดกฎหมาย

อ้อ! ซ่องโสเภณีไดร์ฟอินนี้ไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดนะครับ แล้วก็ไม่มีตำรวจประจำการอย่างถาวร แต่จะมอบหน้าที่ดูแลนี้แก่เจ้าหน้าที่ทางสังคม กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแทน เป็นการช่วยให้ลูกค้าโสเภณีที่หน้ามืดแต่หน้าบางด้วย เข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกใจ

คูหาเซ็กซ์นี้จะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00-05.00 น. โดยมีข้อกำหนดว่า ผู้ใช้บริการต้องขับรถผ่านประตูเข้าไปเพียงคนเดียวเท่านั้น



ที่เมืองซูริกนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา บรรดาโสเภณีทุกคนต้องมีใบอนุญาตเดินเร่ขายบริการ โดยต้องมีใบอนุญาตการทำงานและใบประกันสุขภาพเสียก่อน และเสียภาษีจำนวน 5 ฟรังก์สวิสต่อคืนด้วย ขณะเดียวกัน ทางด้านลูกค้าหน้ามืดในซูริกก็สามารถมองหาหญิงโสเภณีได้เพียง 3 จุดที่กำหนดไว้ ได้แก่คูหาเซ็กซ์ที่เพิ่งสร้างเสร็จดังกล่าว แล้วก็จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง โดยแห่งที่สองจะตั้งอยู่ใกล้ๆ ถนนหลวง ส่วนอีกแห่งคือ ในย่านเมืองเก่าที่มีไว้บริการคนที่ไม่มีรถยนต์ต้องเดินเท้าเข้ามาใช้บริการ

ดังนั้น นับแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป นักเที่ยวหน้ามืดคนใดไปซื้อหาบริการทางเพศนอกพื้นที่ที่จัดให้ จะมีโทษปรับเป็นเงิน 50 ฟรังก์สวิส

ครับ ! คนสวิสนี่เขาเป็นพวกปฏิบัตินิยมจริงๆ



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

2556-09-23

นิธิ : เกาะเสม็ดในลูกโลกสีเขียว

.

เกาะเสม็ดในลูกโลกสีเขียว 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379940140
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:30:39 น.
( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 23 ก.ย. 2556 )


ผมไม่เคยคิดว่า ปตท.เป็นบริษัทที่มีประวัติดีในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนั่นคือเหตุผลที่โฆษณาของบริษัทต้องเน้นแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม

แม้กระนั้น ผมก็ไม่เข้าใจปฏิกิริยาของคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีต่ออุบัติการณ์น้ำมันรั่วจนกระทบเกาะเสม็ด จะเว่อร์ไปหน่อยหรือไม่ เว่อร์บ้างก็ไม่เป็นไรนะครับ คนเราควรมีโอกาสเว่อร์บ้างเป็นครั้งคราว อย่างน้อยก็เพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวเองให้ชัดขึ้น แต่ถ้าเราเอาแต่เว่อร์อย่างเดียว จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ หรือถึงหาได้ เขาก็รับผิดชอบไม่ทั่วถึง


น้ำมันรั่วในการขนถ่ายเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีฝ่ายใดอยากให้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นบ่อยทั่วโลก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุสองอย่าง หนึ่งคือพระเจ้าสาปหรือซวย พูดให้ฟังดูน่าเชื่อถือขึ้นก็คือเกินขีดความสามารถมนุษย์จะควบคุมได้ตลอดไป และสอง เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อ

ถ้าเป็นประการหลัง ก็ต้องสืบสวนสอบสวนให้ได้ความว่า ใครเลินเล่อ และจะพบเสมอว่า คนไม่ได้เลินเล่อ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่เลินเล่อ แต่ระบบต่างหากที่เลินเล่ออย่างไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

ในกรณีน้ำมันรั่วครั้งนี้ ปตท.ได้จัดการสืบสวนแล้วพบว่า มีเหตุมาจากท่ออ่อนท่อแข็งอะไรสักอย่างที่ต้องใช้ในการขนถ่ายน้ำมันเข้าแท็งก์เกิดฉีกขาด และด้วยเหตุดังนั้น ปตท.จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนท่อดังกล่าว จากอ่อนไปหาแข็ง หรือจากแข็งไปหาอ่อน (ผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง) เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก

กลายเป็น วัสดุเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุ

ถามว่าถึงที่สุดของการสอบสวนที่สมควรหรือยัง ผมคิดว่ายัง เพราะความรู้เพียงเท่านี้แก้ได้แต่เปลี่ยนวัสดุ ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุจริงอาจไม่ได้อยู่ที่วัสดุเพียงอย่างเดียว


การสอบสวนน่าจะไปถึงคำถามว่า ปตท. (ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบการขนถ่ายน้ำมัน) เคยรู้มาก่อนหรือไม่ว่า ท่อประเภทนี้อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลในการขนถ่ายน้ำมันได้ง่าย ถ้าบอกว่าไม่รู้ ก็ต้องถามว่าทำไมไม่รู้ ในเมื่อประสบการณ์การขนถ่ายน้ำมันมีอยู่ทั่วโลก ไม่เคยสนใจศึกษามาก่อนเลยหรือ จึงเพิ่งมารู้เมื่อน้ำมันรั่วไปแล้ว (และก็รู้ได้เร็วมาก จนน่าเชื่อว่าความรู้นั้นต้องแพร่หลายอยู่พอสมควรแล้ว)

หากทำงานโดยไม่สนใจจะรู้อะไรที่ต้องรู้อย่างนี้ ยังสมควรทำงานต่อไปหรือไม่


หากตอบว่ารู้อยู่แล้ว ก็ต้องถามว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงตัดสินใจใช้ท่อที่อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลได้ง่าย หรือท่อนั้นมีอายุการใช้งานแล้วไม่เปลี่ยนตามกำหนด ถ้าฝ่ายขนถ่ายน้ำมันรู้ แต่ฝ่ายบริหารไม่รู้ ก็แสดงว่าระบบการทำงานของบริษัทใช้ไม่ได้ เพราะข่าวสารข้อมูลไม่ไหลภายในบริษัทอย่างสะดวก จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ทำเสีย แค่เปลี่ยนท่ออย่างเดียวไม่ประกันว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก

หากฝ่ายบริหารก็รู้ แต่ตัดสินใจใช้ท่อที่มีข้อบกพร่องอย่างนี้ หรือไม่อนุมัติให้เปลี่ยนท่อตามกำหนด ทำไมถึงตัดสินใจอย่างนั้น ถ้าพบว่าเหตุผลของการตัดสินใจคือผลกำไรของบริษัทและเงินปันผลผู้ถือหุ้น เรื่องก็ใหญ่มากขึ้น เพราะนี่เป็นระบบการบริหารธุรกิจของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งรัฐและสังคมต้องเข้าไปควบคุมมิให้ผู้บริหารรับใช้แต่ผู้ถือหุ้น โดยไม่รับใช้สังคมเลยไม่ได้ (ไม่ว่าผู้บริหารจะเชื่อว่ามี "สังคม" อยู่จริงหรือไม่ก็ตาม)
และการนำประเทศไปสู่รัฐเสรีนิยมใหม่นั้นมีอันตรายแค่ไหน ประชาชนก็จะได้เห็นถนัดขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังการทำเอฟ ที เอ อย่างมืดบอดไปพร้อมกัน (เพราะนี่ขนาดเป็นบริษัทไทยนะครับ)



การสอบสวนนี้อาจทำให้ต้องปลดผู้บริหารหรือพนักงานบางส่วนที่รับผิดชอบออก จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อการลงโทษเท่ากับการทำให้ตัวระบบประกันความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เพราะผมเชื่อว่าตัวระบบนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าคน (นับตั้งแต่โรงงานลูกชิ้นขึ้นไปถึง ปตท.)

ผมจึงเห็นว่า เว่อร์ก็เว่อร์ได้ แต่ต้องเว่อร์อย่างมีสติ เหลือส่วนที่ไม่เว่อร์ไว้กดดันไปสู่ความรู้และการแก้ปัญหาให้สังคมโดยรวมไว้ด้วย กดให้ถูกจุด ทั้งเว่อร์ๆ อย่างนี้แหละครับ


สิ่งที่ ปตท.ทำหลังอุบัติเหตุต้องถือว่าฉลาดมาก (คือมากกว่าสังคมไทยและนักเว่อร์ครับ) นั่นคือขมีขมันรับผิดชอบกับสองส่วน คือสิ่งแวดล้อม และคนที่ได้รับผลกระทบ ปตท.จะทำเพื่อรักษาภาพพจน์ทางธุรกิจของตนอย่างไรก็ช่างเถอะ ควรได้รับการสนับสนุนชมเชย (โดยหลักการ) แต่ทำแล้วได้ผลอย่างไร ปตท.เป็นคนบอกให้เรารู้ว่าได้ผลดีมากเลย

ปตท.บอกโดยสองช่องทาง หนึ่งคือโฆษณาของบริษัท ซึ่งย่อมไม่น่าเชื่อถือนักเป็นธรรมดา แต่ทางที่สองคือแทรกเข้าไปในข่าวของสื่อประเภทต่างๆ อันนี้ฟังดูน่าเชื่อถือกว่ากันแยะเลย แต่คิดอีกทีก็ดูแปลกๆ  เช่น ตอนเกิดเรื่องขึ้น มีการสัมภาษณ์ชาวประมงท้องถิ่น ที่ไม่สามารถออกจับปลาได้ เพราะไม่มีตลาดรับซื้อ ครั้นเมื่อ ปตท.เอาเงินไปชดเชยค่าเสียหายซึ่งก็เป็นข่าวใหญ่อีกเหมือนกัน ไม่เห็นมีใครกลับไปสัมภาษณ์ชาวบ้านอีกว่า เงินนั้นพอชดเชยค่าเสียหายหรือไม่ และปัจจุบันกับอนาคตการทำกินของเขาเป็นอย่างไร ชาวบ้านหายตัวไปจากข่าวพร้อมกับเงินชดเชยเสียเฉยๆ อย่างนั้น

ในส่วนสิ่งแวดล้อม ก็มีข่าวการระดมกำลังทั้งจาก ปตท.และหน่วยงานของรัฐไปล้างชายหาดและทะเลกันยกใหญ่ ได้ผลอย่างไร ปตท.เป็นคนบอกว่า ฟื้นธรรมชาติกลับคืนมาได้แล้ว ไชโย แต่ไม่มีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ (ซึ่งน่าจะมีคนและเครื่องไม้เครื่องมือดีกว่าองค์กรพัฒนาเอกชน) ออกมาศึกษาประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน แล้วรายงานให้ประชาชนได้รับรู้เลย
โดยสรุปก็คือ การออกมารับผิดชอบและแก้ปัญหาของ ปตท.นั้น ไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอ เพราะ ปตท.เป็นคนตรวจสอบเอง และรายงานเอง ผมคิดว่าเราควรเว่อร์ไปและกดดันรัฐและสื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ไปอย่างเป็นกลาง (แม้ยังรับเงินโฆษณาของ ปตท.อยู่ก็ตาม)


ความรู้ที่ได้จาก ปตท.และการตรวจสอบที่เป็นกลาง จะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะสักวันหนึ่งก็จะต้องเกิดอุบัติเหตุต่อสิ่งแวดล้อมอีกจนได้ - - เราจะพัฒนาดรรชนีชี้วัดการฟื้นตัวของธรรมชาติและชีวิตผู้คนซึ่งเป็นของพื้นถิ่นประเทศไทยเอง เราจะรู้ว่าผลกระทบที่ผู้คนได้รับจากการเปลี่ยนระบบนิเวศนั้นมีอะไรบ้าง เกิดมาตรฐานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตผู้คนมากขึ้นว่า การชดเชยเยียวยาต้องทำแก่อะไรบ้าง - อย่าลืมว่า จะชอบหรือไม่ก็ตาม เรากำลังเปลี่ยนระบบนิเวศใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพื่อการ "พัฒนา" อีกมาก - แต่ทั้งหมดนี้จะได้มาก็ต้องไม่เว่อร์เพียงอย่างเดียว ต้องมีสติเหลือไว้สำหรับผลักดันไปสู่ความรู้ที่สร้างสรรค์เหล่านี้ไปพร้อมกัน

จะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวดีหรือไม่ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า คุณไปรับมันมาทำไมแต่แรก คุณไม่รู้หรือว่า ปตท.ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลนี้ทำอะไรอยู่ คุณเห็นชอบกับการกระทำของ ปตท.ที่ผ่านมาหรือ ถ้าอย่างนั้นก็ควรยอมรับด้วยว่า กิจการของ ปตท.ย่อมเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่การสำรวจ, ขุด, ขาย และใช้

แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นนะครับ อยากคืนก็คืน อย่างน้อยก็เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอาไว้ แต่แค่นั้นไม่พอหรอกครับที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีไว้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ปตท.
เรากำลังเผชิญกับปัญหาการทำกำไรอย่างมโหฬารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ที่มุ่งจะแย่งยื้อทรัพยากรทุกชนิด (รวมแม้แต่รัฐและชาติ) ไปหากำไร โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อม


มีอะไรที่เราต้องร่วมกันทำมากกว่านี้อีกมาก นอกจากคืนรางวัล



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.