http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-31

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

.

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1383210181 
วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:15:59 น.

( ที่มา นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร  http://www.enlightened-jurists.com )


แถลงการณ์นิติราษฎร์

------------------------------

หมายเหตุ : วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่ “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” จากถ้อยคำดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” แล้ว ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆ การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

3) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

4) ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรมก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

5) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2547 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. 2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

6) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้



ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

1) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

2) ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้

3) สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

  4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

  4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่



คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
31 ตุลาคม พ.ศ. 2556




- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ เมื่อต้นปี 2556 

“นิติราษฎร์” เสนอร่าง รธน.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุม ..ย้ำทุกสี ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ 
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2013/01/ej-blog75.html


____________________________________________________________________________________

หมายเหตุ Admin บทความดี 

ในสถานการณ์ที่กำลังมีการเปลี่ยนตัวละครสำคัญในระบบการเมืองและมีการตกลง-ถอยๆยันๆของชนชั้นนำ จึงนำมาซึ่งชุดแก้ปัญหาพิกลพิการ(..ที่จริงก็เกิดอยู่แล้วเป็นระยะๆมาช้านาน)ที่ประชาชนต้องกลืนเลือดอีกครั้ง กำลังกลายเป็นบทเรียนเชิงซ้อน และสร้างความแตกแยกกันเอง-เข้าทาง-ได้ประโยชน์ของกลุ่มอนุรักษ์ที่กำลังรู้ตัวว่าหลังฝุ่นตลบตนจะเพลี่ยงพล้ำมากกว่าเดิม(..จึงขยันเล่นละครต่อต้านเพื่อพยุงตนเองเท่าที่จะเป็นไปได้) ....ฝ่ายประชาชนควรรณรงค์ให้อำนาจตุลาการที่สองมาตรฐาน(เป็นต้นตอความขัดแย้ง)มานาน เร่งรัดดำเนินคดีแก่ฝ่ายอนุรักษ์ก่อน พรบ.พิการนี้มีผล และเปิดโปงแผนการเกลียดตัวกินไข่ของพวกต่อต้านประชาธิปไตย-อยากมีอิทธิพลในการเปลี่ยนตัวละครให้ตนได้ประโยชน์มากที่สุด -อยากล้มรัฐบาลนี้โดยฉวยใช้การปั่นกระแสความไม่พอใจ    มิตรของเรามิใช่ผู้ร้ายตัวจริงในขั้นนี้หรอกนะ(แม้อาจเป็นมิตรชั่วคราวไม่ถึง10ปีก็ตาม)
Admin บทความดี เชื่อว่า หากประชาชนเสื้อแดงผ่านการทดสอบครั้งนี้ โดยไม่มัวตีกันเองในซอยสภา มุ่งรักษาแนวทางใหญ่นอกสภาให้ก้าวไปข้างหน้าได้ และเมื่อสถานการณ์พิษนี้ถูกแทนด้วยเหตุการณ์ถัดไป ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ที่ผ่านมาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องต่อรัฐสภา



.

2556-10-29

อะไรอยู่ในเข่ง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อะไรอยู่ในเข่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382960763
วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:55:47 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 28 ต.ค.2556 )


คุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นใครหรือครับ เขาเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คงเป็นเพราะความอาวุโสทางการเมืองของเขาเป็นสำคัญ เท่าที่ทราบเขาไม่มี ส.ส.ใน "สังกัด" และเขาไม่มีส่วนร่วมในทุนของพรรคอย่างสำคัญ ด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงไม่อยู่ในกรรมการบริหารพรรคสมัยนี้อีกแล้ว

เป็นไปได้หรือครับ ที่นักการเมืองระดับคุณประยุทธ์จะสามารถเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในคณะกรรมาธิการ จนเป็นผลให้ผิดหลักการที่ได้รับอนุมัติจากสภาในวาระแรก และยังสามารถนำคะแนนเสียงของคณะกรรมาธิการจาก พท.ทั้งหมดให้สนับสนุนการแก้ไขอย่างถ้วนหน้าเช่นนั้น

หันไปดู สมาชิก พท.ในคณะกรรมาธิการบ้าง มีนักการเมืองอาวุโสอย่างคุณสามารถ แก้วมีชัย และคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นแกนนำ ทั้งสองไม่อยู่ใน "เครือข่าย" ของคุณประยุทธ์แน่ เหตุใดจึงลงมติสนับสนุนข้อเสนอของคุณประยุทธ์พร้อมเพรียงกันถึงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง แต่เอากระดูกมาแขวนคอชัดๆ ไม่ว่าที่นครสวรรค์หรือเชียงราย คะแนนเสียงของเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของฐานเสียงคนทั้งสองแน่ การโยนซากศพของเสื้อแดงทิ้งอย่างง่ายๆ ในเขตเลือกตั้งที่คนเสื้อแดงเป็นเสียงส่วนใหญ่เช่นนี้ มองไม่เห็นว่าจะให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่คนทั้งสองอย่างไร


เรื่องมันใหญ่ขนาดนี้ และทำได้พร้อมเพรียงขนาดนี้ เกิดขึ้นโดยพรรค พท.ไม่รู้เห็นอะไรมาก่อนเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ คุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค (ที่ยุบได้ไม่เดือดร้อน) ทำคนเดียวไม่ได้ คณะผู้บริหารพรรคต้องร่วมรู้เห็นมาก่อน

คนทั่วไปอ่านการแก้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ว่ามาจากคำสั่งนายใหญ่ แต่นายใหญ่อ่านไม่ออกหรือว่า คิดจะกลับบ้านกันง่ายๆ เช่นนี้ ไม่น่าจะรอดจากการต่อต้านอย่างหนักจากปฏิปักษ์ โดยไม่มีกำแพงรั้วแดงคอยปกป้องด้วย จนอาจเกิดจลาจล อันเป็นเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่คงอนุญาตให้กองทัพยึดอำนาจได้

นายใหญ่จะสั่งได้ ก็ต้องมีไพ่อีกบางตัวในมือที่ไม่ได้แบออกให้ใครเห็น (อาจยกเว้นคนใกล้ชิดซึ่งกุมพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังคณะกรรมการบริหาร)


น่าสนใจที่จะพยายามคาดเดาว่าไพ่ใบนั้นคืออะไร และผมขอเริ่มคาดเดาด้วยการวิเคราะห์เบื้องต้นว่าใครจะได้ประโยชน์บนซากศพและบาดแผล (ทั้งกายและใจ) ของเสื้อแดงบ้าง

คุณทักษิณซึ่งเคยพูดว่าจะกลับบ้านอย่างมีเกียรตินั้นได้แน่ (และน่าเอาไปเปรียบเทียบกับคุณสุกรี ตาเลห์ แห่งสุไหงปาดี ซึ่งได้ต่อสู้ให้แก่ลูกชายซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนในการฆาตกรรมใน พ.ศ.2551 ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาในขณะนั้นติดคุกอยู่ในคดีอีกข้อหาหนึ่ง กว่าได้ปล่อยตัวก็ตกถึง 2555 และหนีไปมาเลเซีย จนเข้าปีนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงซึ่งได้รับการร้องเรียนอย่างสืบเนื่องจากคุณสุกรี จึงยืนยันว่าลูกชายของเขาติดคุกอยู่ในระหว่างนั้นจริงๆ และขอให้ทางตำรวจยกเลิกหมายจับเสียที เป็นการต่อสู้ต่อเนื่องกัน 5 ปี เพื่อเอาลูกชายกลับบ้าน "อย่างมีเกียรติ") และไม่ใช่เพียงแค่กลับบ้านเท่านั้น คดีอื่นๆ ทั้งหมดที่ยังติดค้างในศาลเวลานี้ ก็จะถูกระงับไปหมดด้วย ฉะนั้นเมื่อคุณทักษิณกลับบ้านด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งฉบับนี้ จะมีเกียรติจริงหรือไม่ก็ตาม คุณทักษิณก็จะตัวเบาเท่ากับก่อนรัฐประหาร แม้อาจไม่ได้เป็นนายกฯ อย่างออกหน้าอีกก็ตาม

แต่คุณทักษิณไม่ได้เป็นคนเดียวที่ได้

แกนนำเสื้อแดง และแกนนำเสื้อเหลืองซึ่งถูกกันออกไปในร่างฉบับคุณวรชัย เหมะ ก็ได้ด้วย ไม่ว่าคดีที่ติดค้างในศาลจะร้ายแรงขนาดไหนก็ตาม แม้ว่าแกนนำของทั้งสองฝ่าย ต่างยืนยันจะสู้คดีในศาลจนถึงที่สุด แต่ผลจากการชุมนุมทางการเมืองที่เลยไปถึงขั้น "วางเพลิง" หรือยึดทำเนียบและสนามบิน จะผ่านไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย คงเป็นไปได้ยากในศาลที่อำนวยความยุติธรรม ไม่เฉพาะแก่จำเลย แต่แก่สังคมด้วย และการเลื่อนคดี จะทำไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดย่อมเป็นไปไม่ได้

ทหารทั้งหมดที่ปฏิบัติการในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ว่าจะปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรือสั่งการให้ปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรืออย่างไม่รอบคอบรัดกุม ก็ได้หมด คุณเฉลิม อยู่บำรุงเมื่อเป็นรองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า คดีที่กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ นี้ทำความ "ไม่สบายใจ" แก่ผู้นำกองทัพอย่างยิ่ง หากกฎหมายนี้ผ่านสภาไปได้ ความ "สบายใจ" ก็จะกลับคืนมา

แน่นอน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ด้วย แม้พวกเขายืนยันที่จะสู้คดีในศาลให้ถึงที่สุดเช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปแค่ไหน การเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ยอมให้การสังหารหมู่ประชาชนลอยนวลได้แน่


และในประโยคสุดท้ายของข้อเสนอแก้ไขมาตรา 3 แห่งร่าง พ.ร.บ.คือ "ไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ชัดเจนลงไปแทนร่างฉบับวรชัย เหมะ ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากการกระทำความผิดในมาตรานี้มีเหตุทางการเมือง ก็อาจได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย (ตามความเข้าใจของผมซึ่งไม่เคยเรียนกฎหมาย)

หากดูในเข่งที่จะถูกเหมาด้วยการแก้ไขของกรรมาธิการ ก็จะเห็นว่าอำนาจในโครงสร้างทางการเมืองของไทยทั้งหมด ต่างล้วนจะ "สบายใจ" ได้หมดทุกฝ่าย พรรค พท.อาจมีบทบาทเป็นผู้เสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่น่าจะได้รับอนุมัติจากฝ่ายอื่นๆ มากกว่านายใหญ่เพียงคนเดียว

ในส่วนอำนาจใหม่ คือแกนนำเสื้อเหลือง, แกนนำเสื้อแดง และทักษิณหรือที่บางคนเรียกว่ากลุ่ม "ทุนใหม่" ก็จะถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอย่างมีขั้นตอน อย่างที่แกนนำของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา และนักธุรกิจ-เจ้าพ่อในชนบทได้เคยถูกผนวกมาแล้ว... เป็นไปอย่างช้าๆ มีขั้นมีตอน อาจถูกเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง เพื่อให้เรียนรู้ว่าไผเป็นไผในโครงสร้างนั้น โครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม แม้มีคนหน้าใหม่โผล่เข้ามาแจมบ้างก็ตาม

ส่วนมวลชนทั้งเหลืองและแดง ก็ควรกลับไปอยู่ตามที่ตามทางของตน รอรับการอนุเคราะห์จากชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ในโครงสร้างอำนาจตามจังหวะเดิมๆ ต่อไป ไม่ต่างจากผลบั้นปลายที่เกิดขึ้นในการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภามหาโหด 2535

ถ้าเรียกสิ่งนี้ว่าการ "เกี้ยเซี้ย" มันไม่ใช่การ "เกี้ยเซี้ย" ระหว่างคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (อย่างเปิดเผยหรือโดยนัยะ) เท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือการ "เกี้ยเซี้ย" เพื่อจรรโลงระบบอำนาจเดิมเอาไว้ โดยชนชั้นนำทุกกลุ่ม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ได้หมด เป็นการหันคืนสู่ "ความสงบเรียบร้อย" อย่างที่เอื้อต่อประโยชน์ของชนชั้นนำมานานแล้ว



ปราศจากเป้าหมายใหญ่ที่ครอบคลุมชนชั้นนำทุกกลุ่มได้เช่นนี้ ไม่มีใครกินเหล็กกินไหลมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการพรรค พท., พรรค พท., ทักษิณ ชินวัตร, หรือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะกล้าแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้เหมาเข่งเช่นนี้ได้

สังคมไทยซึ่งถูกทอดทิ้งก็จะเปลี่ยนไม่ผ่านอีกครั้งหนึ่ง
คุณทักษิณจะทุจริตคดโกงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะนักการเมือง คุณทักษิณต้องถูกฟ้องตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดาได้ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้เว้นคุณทักษิณจากการถูกกล่าวหา แต่ต้องเป็นการกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดา แม้เป็นข้อกล่าวหาของ คตส.ก็ตาม แต่ต้องผ่านการพิจารณาไตร่ตรองจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทีละขั้นทีละตอน คำพิพากษาจึงเป็นที่ยุติ จึงต่างจากนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เพราะไม่ได้ยกเว้นให้แก่คนทุจริตอยู่เหนือกฎหมาย แต่ให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น


นิรโทษเหมาเข่งจึงทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะนักการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายแก่การกระทำของตนอีกต่อไป

ไม่ต่างจากการเว้นโทษแก่ผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชน
จะผิดหรือไม่ผิดก็ตาม แต่คนเหล่านั้นควรถูกตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรม และไม่ต่างจากการกระทำของกองทัพและตำรวจซึ่งเคยเป็นผู้ลงมือสังหารหมู่ประชาชนมาหลายครั้งแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอีกต่อไป

สังคมไทยจึงเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะมีอำนาจดิบที่คอยกดหัวประชาชนอยู่อย่างเดิม


จนถึงที่สุด เราจะมีสถาบันทางการเมืองที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ต่อไป ตรวจสอบไม่ได้เพราะการตกลงกันหลังฉากระหว่างผู้นำยังมีความสำคัญกว่าการตรวจสอบต่อสาธารณชนซึ่งเป็นเพียง "ป่าหี่" หรือตรวจสอบไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามตรวจสอบก็เหมือนกัน

ส่วนมวลชนซึ่งถูกจัดให้กลับไปที่เดิม ก็จะพบว่าไม่มีที่เดิมให้กลับไปอีกแล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่สู่พื้นที่ซึ่งไม่มีใครเปิดให้ การชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของพวกเขา ก็จะไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนเหมือนเดิม จึงง่ายที่จะถูกสไนเปอร์เมื่อไรก็ได้

ความรุนแรงที่เกิดในการเมืองไทยระยะ 50 ปีที่ผ่านมา จึงจะยังเกิดอยู่ต่อไป ซ้ำอาจรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า



___________________________________________________________________________________
___________________________________________________________________________________

หมายเหตุ Admin บทความดี 

อย่าลืม คนที่ภาพพจน์ไม่ดี มีตำหนิให้คนสงสัย ผู้คนจึงพากันเฝ้าสังเกตุตรวจสอบ อันตรายน้อยกว่า คนที่ภาพพจน์ดี ดูมีปัญญา-เมตตาสูง เลยไม่มีคนกล้าตั้งคำถามตรวจสอบ สื่อก็เสนอแต่ด้านเปิดเผยดีงาม

อย่าลืม บรรดาพวกขุนพลอยพยัก ชอบผู้นำที่เขาเข้าถึงแล้วชักจูงได้ง่ายๆ มากกว่าผู้นำที่เข้าหายาก-เป็นตัวของตัวเองสูง เพราะเขาจะเลือกทางที่ได้ประโยชน์เข้าพวกพ้องแคบๆเป็นกอบเป็นกำมากกว่าความเป็นประโยชน์ก้าวหน้าแก่สังคม



.

2556-10-23

“ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเลิกทาส” โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

.

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเลิกทาส
ใน http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4415
บล็อกของ yukti mukdawijitra . . 23 ตุลาคม, 2013 - 12:52


คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี

ความเชื่อที่ว่าระบบทาสในสังคมไทยเป็นระบบที่แทบจะไม่มีอยู่จริง หรือที่มีก็เป็นเพียงส่วนน้อย เฉพาะบางคนที่ขายลูก ขายตัวเองเพราะติดหนี้สิน และหากมีทาส ทาสในสังคมไทยก็ไม่ได้รุนแรงเลวร้ายแบบในยุโรป อเมริกานั้น หากยังสอนอยู่อีกก็น่าสงสัยมาก ว่ากำลังเพ้อฝันถึงสังคมทาสราวกับว่ามันเป็นสังคมยูโทเปียหรืออย่างไร


แคทเธอรีน บาววี่ (Katheirne A. Bowie) เคยเขียนบทความรวบรวมเอกสารที่กล่าวถึงสยาม แสดงข้อมูลมากมายถึงความป่าเถื่อนของระบบทาสในสยาม (ไทยภาคกลาง) และโยนก (ไทยภาคเหนือ)
ทาสที่เป็นกำลังสำคัญก่อนการนำเข้าชาวจีนมาเป็นแรงงานสำคัญ (ต่อการขยายตัวของทุนนิยมภายใต้การกระจุกตัวของผลประโยชน์เศรษฐกิจในมือชนชั้นนำสยาม) คือทาสจากเชลยสงคราม (war captive)


ทาสเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจด้อยกว่าจากลาว เวียดนาม พม่า พวกเขาล้วนถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานให้ราชสำนักสยามและราชสำนักเชียงใหม่ ทุกวันนี้ชุมชนรายรอบกรุงเทพและเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานปลูกข้าว
ไม่ต้องคิดถึงว่าพวกเขาจะบาดเจ็บล้มตายระหว่างการเดินทางไปมากน้อยแค่ไหน แต่ในระหว่างการทำงานเพื่อเสียภาษี หลายต่อหลายปีพวกเขาต้องอดอยาก เพราะถูกเก็บภาษีเป็นผลผลิตมากเกินกว่าที่เขาจะเก็บไว้กินเอง

ฉะนั้นใครที่ใฝ่ฝันว่าชีวิตของชุมชนในอดีตน่าพิสมัยกว่ายุคปัจจุบันน่ะ ช่วยอ่านประวัติศาสตร์แบบนี้เสียบ้างนะครับ นอกเสียจากว่าพวกคุณจะเป็นเจ้านาย



ภาพดังกล่าวยิ่งสะท้อนว่าการเลิกทาสของ ร.5 คือสิ่งที่ดีงามเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย เพราะการเลิกทาสมีขึ้นพร้อมๆ กันกับการสร้างรัฐรวมศูนย์ที่เราเรียกกันว่า "สมบูรณาญาสิทธิราช" กล่าวอีกอย่างหนึ่ง นี่คือการที่ชนชั้นนำสยามลิดรอนอำนาจของรัฐและเจ้าครองนครต่างๆ ในท้องถิ่น ให้มาขึ้นกับสยามอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์นั่นเอง

กระบวนการนี้ทำให้เจ้าครองนครท้องถิ่นไม่สามารถสืบทอดอำนาจตามสายตระกูลเดิมของตนได้อีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือการที่สยามทำให้นครเล็กน้อยรายรอบสยาม ไปจนจรดขอบเขตของบริทิชอินเดีย (รวมพม่า) ในฝั่งตะวันตก และอินโดจีนในฝั่งตะวันออก กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นก็จริง แต่สยามทำให้นครรัฐเล็กๆ กลายเป็นเมืองขึ้นของตนเอง กระบวนการนี้ไม่ได้ราบเรียบ มีการต่อต้านมากมาย ทั้งจากเจ้าครองนคร (เช่น กบฏเมืองแพร่) และจากประชาชน (บรรดาผีบุญ)

การเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวอะไรกับการเลิกทาส เกี่ยวตรงที่ว่า ทาสเป็นกำลังสำคัญของ ซุ้ม-กลุ่ม-ก๊กของ "นาย" ต่างๆ ทาสและไพร่จะต้องมีสังกัดขึ้นต่อนายอย่างชัดเจน อยู่ใต้อำนาจของหัวหน้ากลุ่มก๊กต่างๆ อย่างแน่นิ่ง ไม่สามารถเคลื่อนกายย้ายถิ่นได้ง่ายๆ เนื่องจากจะกลายเป็นการเคลื่อนกำลังพล หรือไม่ก็กลายเป็นการเสียทั้งฐานการผลิตและฐานกำลังในการปกป้องตนเองของหัวหน้ากลุ่มก๊ก


อ.อคิน รพีพัฒน์เขียนให้ภาพระบบนี้เอาไว้นานแล้วว่า นี่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบพิรามิด ในระบบเช่นนี้ ผู้ใดที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ก็เนื่องมาจากเป็นผู้ที่มีไพร่-ทาสในสังกัดเป็นจำนวนมากที่สุด ในสมัยใดที่มีกษัตริย์สององค์ ก็เนื่องจากทั้งสองกษัตริย์นั้นมีไพร่-ทาสจำนวนไล่เลี่ยกัน ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นการมีกำลังคนในสังกัดมากน้อยเท่าใด

การเลิกทาสที่เกิดพร้อมๆ กับการลิดรอนอำนาจเจ้านครท้องถิ่นต่างๆ ทำลายอำนาจการผูกขาดกำลังคนของรัฐท้องถิ่นลง ทำลายอำนาจที่จะมาท้าทายอำนาจกษัตริย์ลง
การเลิกทาสจึงเปลี่ยนไพร่-ทาสที่มีสังกัดมูลนายที่อาจมีอำนาจท้าทายกษัตริย์ ให้กลายเป็นพลเมืองที่ขึ้นกับกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว พลเมืองเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่เคลื่อนย้ายถิ่นได้ สามารถดูดมาเป็นกำลังแรงงานทำการผลิตใต้อำนาจทางการผลิตของชนชั้นนำสยามที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพได้


คำอธิบายการเลิกทาสในตำราเรียนเป็นนิยายที่อาศัยฉากอดีต ที่เขียนเพื่ออำพรางการยักย้ายถ่ายเทอำนาจ การจัดสรรอำนาจรัฐแบบใหม่ ปิดบังการรวบอำนาจเพื่อสร้างรัฐอาณานิคมขนาดย่อมไว้ใต้ภาพความการุณ



.

เบื้องหลังการเลิกทาสเลิกไพร่ของรัชกาลที่5 โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

.

ใจ อึ๊งภากรณ์: เบื้องหลังการเลิกทาสเลิกไพร่ของรัชกาลที่5
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/10/49372
. . Wed, 2013-10-23 15:33



ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาของระบบทุนนิยมทั่วโลก บวกกับการขยายตัวของระบบการค้าเสรี สร้างทั้งปัญหาและโอกาสให้กับกษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากการพยายามผูกขาดการควบคุมระบบแรงงานบังคับและการค้าขาย
ปัญหาคือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดลดลงหรือหายไป  แต่ในขณะเดียวกันการเปิดเศรษฐกิจเชื่อมกับตลาดโลกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผลในการสร้างโอกาสมหาศาลสำหรับนายทุนที่สามารถลงทุนในการผลิตสินค้า แต่โอกาสนั้นจะใช้ไม่ได้ ถ้าไม่รีบพัฒนาแรงงาน

การผลิตข้าวในไทยเป็นตัวอย่างที่ดี  ระหว่างปี ค.ศ. 1870-1880 การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาที่เคยอาศัยการเกณฑ์แรงงาน เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม
แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนระบบแรงงานไปเป็นแรงงานรับจ้าง เพื่อขยายกำลังงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และต้องนำแรงงานรับจ้างเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้อัตราการค่าจ้างลดลงเมื่อกำลังงานเพิ่มขึ้น ในไทยค่าแรงลดลง 64% ระหว่างปี ค.ศ. 1847 กับ 1907


ในขณะเดียวกันต้องมีการสร้างชนชั้นชาวนาแบบใหม่ขึ้นด้วย ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยอิสระที่มีเวลาและแรงบันดาลใจในการผลิตข้าวมากกว่าไพร่ในอดีต
ใครที่คุ้นเคยกับเขตรังสิตจะทราบดีว่าที่นี่มีคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง และการลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนของระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ผู้ที่ลงทุนคือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กรุงเทพฯ และนายทุนต่างชาติ  หลังจากที่มีการขุดคลองก็มีการแจกจ่ายกรรมสิทธ์ที่ดินบริเวณริมฝั่งคลอง และชาวนาที่ปลูกข้าวในพื้นที่นี้เป็นชาวนาอิสระที่มาเช่าที่นา


นอกจากนี้ในการแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ รัฐที่ยกเลิกแรงงานบังคับไปแล้ว เช่นอังกฤษ อาจใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับการปลดปล่อยทาสเพื่อโจมตีรัฐคู่แข่งที่ยังมีระบบนี้อยู่ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการยกเลิกระบบแรงงานบังคับในไทย

ในประเด็นการเมือง การที่รัชกาลที่ 5 ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานบังคับ ซึ่งต้องอาศัยเจ้าขุนมูลนาย ถือว่าเป็นการตัดอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองของเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้นไป เพื่อสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรวมศูนย์รัฐแบบทุนนิยมเป็นครั้งแรกในไทย



.

2556-10-22

สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน? เสื้อแดงหรือทักษิณ? โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

.
+บทความปี 2555 - ใจ อึ๊งภากรณ์: 6 ปีหลังรัฐประหาร สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน 'เสื้อแดง' หรือ 'ทักษิณ'

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน? เสื้อแดงหรือทักษิณ?
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ใน http://prachatai3.info/journal/2013/10/49337
. . Mon, 2013-10-21 13:35


ใจ อึ๊งภากรณ์


รัฐบาลเพื่อไทยหักหลังวีรชนเสื้อแดง นิรโทษกรรมทหารและนักการเมืองมือเปื้อนเลือด หวังทักษิณได้กลับไทย ทิ้งนักโทษทางความคิด 112 ให้ตายในคุก นี่คือผลพวงของการจับมือกันระหว่างชนชั้นปกครองซีกทักษิณและทหาร เป็นสิ่งที่ผมและเลี้ยวซ้ายคาดว่าจะเกิดนานแล้ว เราเถียงกับพวกเสื้อแดงที่เชียร์ยิ่งลักษณ์จนหน้าดำหน้าแดง
... ข้อสรุปที่เราต้องยืนยันอีกครั้งคือ คนเสื้อแดงก้าวหน้าต้องจัดตั้งกลุ่มหรือพรรคการเมืองอิสระจาก นปช. และเพื่อไทย และต้องไม่พึงพอใจกับการจัดตั้งกระจัดกระจายที่ต่างคนต่างเคลื่อนไหว
ถ้าทักษิณจับมือกับทหารซีกรัฐประหารได้ คนก้าวหน้าน่าจะจับมือกันได้


ใน “สงคราม” ของเสื้อแดงกับอำมาตย์หลังรัฐประหาร 19กันยา มีสองสงครามคู่ขนานคือ.......

หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคมไทยจากมุมมองชนชั้น อย่างน้อยก็มองว่ามีสองฝ่ายหลักคือ “เรา” ที่เป็น “ไพร่” กับ “เขา” ที่เป็น “อำมาตย์” และเสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปขบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้
   
สอง ฝ่ายทักษิณกับพรรคพวกไม่ได้สู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียมแต่อย่างใด เขาไม่ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ไม่ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง และไม่ต้องการให้ปฏิรูปขบวนการยุติธรรม เป้าหมายของเขาคือการกลับมาปรองดองกับคู่ขัดแย้ง และเพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพ “ปกติ” ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด อย่างที่เป็นก่อน 19 กันยา


ทักษิณพูดเองเมื่อต้นปี 2555 ว่าเขามองว่าวิกฤตไทยมาจากการทะเลาะกันระหว่างนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพวก กับทักษิณและพรรคพวกของเขา และแน่นอนคำพูดนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างถึงที่สุด เพราะตัดบทบาทของทหารที่ทำรัฐประหารและฆ่าประชาชนออกไปหมด และลบทิ้ง “สงคราม” ของประชาชนเสื้อแดง เพื่อให้มีแค่การต่อสู้เพื่อตัวทักษิณเอง สรุปแล้วในความฝันของทักษิณ คนเสื้อแดงคือแค่ไพร่รับใช้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
   
เป้าหมายของทักษิณและพรรคพวก โดยเฉพาะนักการเมืองเพื่อไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือแค่การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและอภิสิทธิ์ชนซีกทักษิณ นั้นคือสาเหตุที่รัฐบาลปัจจุบันเต็มไปด้วยรัฐมนตรีที่ไม่เคยสู้เพื่อประชาธิปไตย และหลายคนก็มีประวัติการเป็นโจรอีกด้วย และเป้าหมายของทักษิณกับยิ่งลักษณ์หมายความว่าจะไม่กล่าวถึงอาชญากรรมของทหาร เพราะจับมือจูบปากทหารแล้ว จะไม่ลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์ และจะไม่ป้องกันไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีก
   
ข้อเสนอให้ฟอกตัวพวกมือเปื้อนเลือดของทักษิณกับเพื่อไทย เป็นการ “ถุยน้ำลายใส่” วีรชนเสื้อแดงที่เสียสละในการต่อสู้ และทำการปรองดองบนซากศพเขา ไม่มีการนำทหารกับนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาล และมีการปล่อยให้นักโทษการเมือง 112 ติดคุกต่อไป คนเหล่านี้ติดคุกเพราะกล้าคิดต่าง เช่นสมยศกับดา

ถ้ามีการนำทหารและนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์มาขึ้นศาลในคดี “อาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน” ในอนาคตอาจต้องนำทักษิณมาขึ้นศาลได้ในคดีอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนที่ตากใบ และในเรื่องการฆ่าวิสามัญยาเสพติด ดังนั้นคำวัญสำคัญของชนชั้นปกครองไทยคือ “เรารู้จักปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราเสมอ” และกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 คือกฏหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของทหาร นายทุน และข้าราชการชั้นสูง


ผู้เขียนเคยอธิบายมานานแล้วว่ามีการจับมือกันระหว่างทหารกับเพื่อไทย และแม้แต่ อภิสิทธิ์ หรือสุเทพ จะไม่ถูกนำมาลงโทษ แต่บ่อยครั้งเสื้อแดงที่เป็นกองเชียร์ของรัฐบาลจะหาข้ออ้างต่างๆ นาๆ มาเถียง และกล่าวหาว่าผมรีบสรุปเกินไป ตอนนี้เราเห็นชัดว่าอะไรเกิดขึ้นแล้ว
   
สำหรับแกนนำ นปช. พวกนี้มองว่าภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทย “กลับคืนสู่สภาพปกติท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด” ดังนั้นทั้งๆ ที่มีการใช้วาจาสร้างภาพว่าจะไม่ “ทอดทิ้งกัน” แกนนำ นปช. ก็ค่อยๆ สลายขบวนการเสื้อแดง และหันหลังให้กับนักโทษการเมือง โดยเฉพาะนักโทษ 112 ไม่มีการรณรงค์อย่างเต็มที่ให้ลบผลพวงของรัฐประหาร ให้มีการยกเลิก 112 และให้มีการนำทหารและนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาลแต่อย่างใด และเวลาก็ผ่านไปนานแล้วหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง

การที่แกนนำ นปช. สามารถทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ ไม่น่าจะทำให้เราแปลกใจมากเกินไป
ถ้าเราเข้าใจว่าเสื้อแดงก้าวหน้าบกพร่องในการสร้างองค์กรทางการเมืองที่อิสระจาก นปช.


แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการออกมาต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดงเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าเข้าใจผิดว่าการออกมาต่อสู้ของประชาชนไม่เคยได้อะไร อย่าเข้าใจผิดว่าเราต้องถูกแกนนำหลอกเสมอ
   
ถ้าเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้ เราจะไม่มีกระแสสำคัญๆ ในสังคมไทยที่อยากปฏิรูปการเมืองจริงๆ เช่นการรณรงค์ของนิติราษฎร์หรือผู้ที่ต้องการจัดการกับกฏหมาย 112 และถ้าพวกเราไม่ได้ออกมาสู้อำมาตย์ก็จะมั่นใจยิ่งกว่านี้ว่าทำอะไรกับเราก็ได้
   
การต่อสู้ของมวลชน... ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้... การเสียเลือดเนื้อของประชาชน... การเลือกตั้ง... การปรองดองของชนชั้นปกครองบนซากศพวีรชน... ฆาตกรลอยนวล... อำนาจอำมาตย์ถูกปกป้อง... พรรคการเมืองทำลายความฝันของประชาชน:  นั้นคืออ่างน้ำเน่าของการเมืองไทยในรอบห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเราอยากให้เรื่องแบบนี้จบสักที คนก้าวหน้าต้องรู้จักรวมตัวกันทางการเมืองในลักษณะที่อิสระจากพวก “ผู้ใหญ่” เราต้องมาร่วมกันสร้าง “พรรคสังคมนิยม”
   
พรรคสังคมนิยมมีหน้าที่สร้างผู้ปฏิบัติการจากคนที่เข้าใจประเด็นการเมืองทางชนชั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการขยายความคิดนี้ไปสู่คนส่วนใหญ่ที่มีความคิดกลางๆ ระหว่างความก้าวหน้ากับความล้าหลัง หรือระหว่างความเป็นซ้ายกับความเป็นขวา พรรคไม่ได้ตั้งเป้าหมายหลักในการทำงานกับคนที่ล้าหลังที่สุด ถูกกดขี่มากที่สุด หรือเข้าใจการเมืองน้อยที่สุดเพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนความคิดง่ายๆ นั้นคือสาเหตุที่พรรคฝ่ายซ้ายควรทำงานกับคนเสื้อแดงก้าวหน้า คนหนุ่มสาว และนักสหภาพแรงงาน



แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพแท้ได้ การเปลี่ยนสังคมดังกล่าวต้องเป็นการกระทำของมวลชนส่วนใหญ่เอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่การกระทำของกลุ่มเล็กๆ หรือ "กองหน้า" หรือการกระทำของพรรค “เพื่อปลดแอกคนส่วนใหญ่”
   
เราไม่ควรไปเสียเวลากับคนชั้นกลางเท่าไร เพราะในวิกฤตปัจจุบัน และในยุค 6 ตุลา คนชั้นกลางส่วนใหญ่ในไทยเลือกข้างของความป่าเถื่อน และทั่วโลกมักเป็นพลังสำคัญของกระแสฟัสซิสต์

พรรคสังคมนิยมต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต
   
พูดง่ายๆ พรรคหรือกลุ่มสังคมนิยมควรรับภาระในการต่อสู้ต่อไปของคนชั้นล่างท่ามกลางการหักหลังทรยศของพรรคเพื่อไทยและ นปช.



+++

บทความของปี 2555

ใจ อึ๊งภากรณ์: 6 ปีหลังรัฐประหาร สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน 'เสื้อแดง' หรือ 'ทักษิณ'
ใน http://prachatai.com/journal/2012/09/42468
. . Tue, 2012-09-04 17:42

( ภาพจาก http://thaireddenmark.blogspot.com/2013/02/blog-post_6977.html )


ใจ อึ๊งภากรณ์

ในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ 70 ปีก่อน มีสงครามคู่ขนานในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ คือเยอรมัน อิตาลี่ และญี่ปุ่น เพราะประชาชนธรรมดา โดยเฉพาะมวลชนก้าวหน้า สู้เพื่อทำลายระบบฟาซิสต์เผด็จการ และสู้เพื่อเสรีภาพกับความเท่าเทียม คนจำนวนมากยังสู้เพื่อสังคมนิยมอีกด้วย แต่ฝ่ายชนชั้นปกครองทุนนิยมตลาดเสรีในอังกฤษ สหรัฐ กับฝรั่งเศส และชนชั้นปกครอง “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในเผด็จการคอมมิวนิสต์รัสเซีย สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและจักรวรรดินิยมเท่านั้น แต่ในการปลุกระดมมวลชนให้รบในกองทัพของรัฐบาล ชนชั้นปกครองต้องใช้วาจาในการสร้างภาพว่า สงครามนั้นเป็น “สงครามต้านฟาสซิสต์เพื่อเสรีภาพ” ในขณะเดียวกัน โรสเวลต์ เชอร์ชิล และสตาลิน เคยแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงจับมือกับฟาสซิสต์

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างผิวเผิน เราอาจมองไม่เห็นว่า สงครามของประชาชน กับสงครามของนายทุนประเทศพันธมิตรต่างกันเท่าไร เพราะทั้งสองรบกับฝ่ายอักษะ วิกฤติไทยหลัง 19 กันยา มีส่วนคล้ายตรงนี้ ถ้าดูผิวเผินอาจมองว่า เสื้อแดงกับทักษิณสู้กับศัตรูเดียวกัน

ใน “สงคราม” ของเสื้อแดงกับอำมาตย์หลังรัฐประหาร 19 กันยา ก็มีสองสงครามคู่ขนานเช่นกัน คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้ มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคมไทยจากมุมมองชนชั้น อย่างน้อยก็มองว่า มีสองฝ่ายหลักคือ “เรา” ที่เป็น “ไพร่” กับ “เขา” ที่เป็น “อำมาตย์กับพรรคประชาธิปัตย์ และสลิ่มฟาสซิสต์” และเสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้

แต่ฝ่ายทักษิณกับพรรคพวกไม่ได้สู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียมแต่อย่างใด เขาไม่ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ไม่ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง และไม่ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป้าหมายของเขา คือการกลับมาปรองดองกับคู่ขัดแย้ง และเพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพ “ปกติ” ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด อย่างที่เป็นก่อน 19 กันยา

ทักษิณพูดเองเมื่อต้นปี 2555 ว่า เขามองว่า วิกฤตไทยมาจากการทะเลาะกันระหว่างนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพวก กับทักษิณและพรรคพวกของเขา และแน่นอนคำพูดนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างถึงที่สุด เพราะตัดบทบาทของทหารที่ทำรัฐประหารและฆ่าประชาชนออกไปหมด และลบทิ้ง “สงคราม” ของประชาชนเสื้อแดง เพื่อให้มีแค่การต่อสู้เพื่อตัวทักษิณเอง สรุปแล้ว ในความฝันของทักษิณ คนเสื้อแดงเป็นแค่ไพร่รับใช้ทักษิณเท่านั้น

เป้าหมายของทักษิณและพรรคพวก โดยเฉพาะนักการเมืองเพื่อไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือแค่การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและอภิสิทธิ์ชนซีกทักษิณ นั่นคือสาเหตุที่รัฐบาลปัจจุบันเต็มไปด้วยรัฐมนตรีที่ไม่เคยสู้เพื่อประชาธิปไตย และหลายคนก็มีประวัติการเป็นโจรอีกด้วย และเป้าหมายของทักษิณกับยิ่งลักษณ์หมายความว่า จะไม่กล่าวถึงอาชญากรรมของทหาร เพราะจับมือจูบปากทหารแล้ว จะไม่ลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์ และจะไม่ป้องกันไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีก

ในสงครามคู่ขนานที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างน้อยชนชั้นปกครองยังให้เกียรติทหารธรรมดาที่ล้มตายในสงครามบ้าง แต่ในกรณีสงครามเสื้อแดงไม่มีเลย ทักษิณกับเพื่อไทย “ถุยน้ำลายใส่” วีรชนเสื้อแดงที่เสียสละในการต่อสู้ และทำการปรองดองบนซากศพเขา ไม่มีการนำทหารกับนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาล และมีการปล่อยให้นักโทษการเมืองติดคุกต่อไปจนบางคนต้องตายในคุก แต่เราอธิบายได้ เพราะถ้ามีการนำทหารและนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์มาขึ้นศาลในคดี “อาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน” ในอนาคตอาจนำทักษิณมาขึ้นศาลได้ในคดีอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนที่ตากใบ และในเรื่องการฆ่าวิสามัญยาเสพติด คำขวัญสำคัญของชนชั้นปกครองไทยคือ “เรารู้จักปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราเสมอ” นั้นคือสาเหตุที่ผมเชื่อว่า แม้แต่ อภิสิทธิ์ หรือสุเทพ จะไม่ถูกนำมาลงโทษ อย่าว่าแต่ทหารมือเปื้อนเลือดเลย และสิ่งที่เราเห็นอยู่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือการสืบคดีสไนเปอร์ เป็นแค่ละครตลกร้ายเท่านั้น

ในสงครามของประชาชนชั้นล่าง สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บ่อยครั้งประชาชนชั้นล่างสามารถปลดแอกตนเองโดยการเอาชนะฝ่ายอักษะได้ โดยไม่อาศัยกองกำลังของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การปลดแอกเมืองปารีส การปลดแอกประเทศกรีซ หรือมลายู ซึ่งกระทำโดยกองกำลังของแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกตอนนั้น มองว่าภาระหลักคือการสนับสนุนรัสเซียภายใต้สตาลิน และการเคารพข้อตกลงที่สตาลินมีกับผู้นำตะวันตก ดังนั้นกองกำลังของประชาชนที่ปลดแอกตนเอง กลับยอมมอบอาวุธให้ศัตรูและสลายตัว ผลคือการ “กลับสู่สภาพปกติ” ของทุนนิยมในฝรั่งเศสและกรีซ และการ “กลับสู่สภาพปกติ” ของการเป็นอาณานิคมของมลายู

สำหรับสงครามเสื้อแดง แกนนำ นปช. ซึ่งบางคนเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ก็มองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทย “กลับคืนสู่สภาพปกติท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด” ดังนั้นทั้งๆ ที่มีการใช้วาจาสร้างภาพว่าจะไม่ “ทอดทิ้งกัน” แกนนำ นปช. ก็ค่อยๆ สลายขบวนการเสื้อแดง และหันหลังให้กับนักโทษการเมือง โดยเฉพาะนักโทษ 112 ไม่มีการรณรงค์อย่างเต็มที่ให้ลบผลพวงของรัฐประหาร ให้มีการยกเลิก 112 และให้มีการนำทหารและนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาลแต่อย่างใด และเวลาก็ผ่านไปกว่าหนึ่งปีหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งแล้ว


แต่อย่าเข้าใจผิดว่า การออกมาต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดงเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าเข้าใจผิดว่า การออกมาต่อสู้ของประชาชนไม่เคยได้อะไร อย่าเข้าใจผิดว่าเราต้องถูกแกนนำหลอกเสมอ

ถ้าเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้ เราจะไม่มีกระแสสำคัญๆ ในสังคมไทยที่อยากปฏิรูปการเมืองจริงๆ เช่น การรณรงค์ของนิติราษฎร์หรือผู้ที่ต้องการจัดการกับกฏหมาย 112 และถ้าพวกเราไม่ได้ออกมาสู้ อำมาตย์ก็จะมั่นใจยิ่งกว่านี้ว่า ทำอะไรกับเราก็ได้ เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็อาจไม่เกิดด้วย

การที่แกนนำ นปช. สามารถทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ ไม่น่าจะทำให้เราแปลกใจมากเกินไป ถ้าเราเข้าใจว่า เสื้อแดงก้าวหน้าบกพร่องในการสร้างองค์กรทางการเมืองที่อิสระจาก นปช. เหมือนกับที่ประชาชนก้าวหน้าสมัยสงครามโลก มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถสร้างองค์กรฝ่ายซ้ายที่อิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินได้

การต่อสู้ของมวลชน... ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้... การเสียเลือดเนื้อของประชาชน... การเลือกตั้ง... การปรองดองของชนชั้นปกครองบนซากศพวีรชน... ฆาตกรลอยนวล... อำนาจอำมาตย์ถูกปกป้อง... พรรคการเมืองทำลายความฝันของประชาชน:  นั้นคืออ่างน้ำเน่าของการเมืองไทยในรอบห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเราอยากให้เรื่องแบบนี้จบสักที คนก้าวหน้าต้องรู้จักรวมตัวกันทางการเมืองในลักษณะที่อิสระจากพวก “ผู้ใหญ่” เราต้องมาร่วมกันสร้าง “พรรคสังคมนิยม”

พรรคสังคมนิยมมีหน้าที่สร้างผู้ปฏิบัติการจากคนที่เข้าใจประเด็นการเมืองทางชนชั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการขยายความคิดนี้ไปสู่คนส่วนใหญ่ที่มีความคิดกลางๆ ระหว่างความก้าวหน้ากับความล้าหลัง หรือระหว่างความเป็นซ้ายกับความเป็นขวา พรรคไม่ได้ตั้งเป้าหมายหลักในการทำงานกับคนที่ล้าหลังที่สุด ถูกกดขี่มากที่สุด หรือเข้าใจการเมืองน้อยที่สุดเพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนความคิดง่ายๆ นั้นคือสาเหตุที่พรรคฝ่ายซ้ายควรทำงานกับคนเสื้อแดง ก่อนที่ขบวนการนี้จะสูญหายไปหมดภายใต้นโยบายของ นปช. และเพื่อไทย

แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพแท้ได้ การเปลี่ยนสังคมดังกล่าวต้องเป็นการกระทำของมวลชนส่วนใหญ่เอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่การกระทำของกลุ่มเล็กๆ หรือ "กองหน้า"

พรรคสังคมนิยมต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต

เราไม่ควรไปเสียเวลากับคนชั้นกลางเท่าไร เพราะในวิกฤตปัจจุบัน และในยุค 6 ตุลา คนชั้นกลางส่วนใหญ่ในไทยเลือกข้างของความป่าเถื่อน และทั่วโลกมักเป็นพลังสำคัญของกระแสฟาสซิสต์

พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา พรรคต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนมีเงิน และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรค คือการเป็นพรรคของมวลชนจริงๆ การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน


พรรคสังคมนิยมไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่างที่โกหกว่า “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้คุณทุกอย่าง” ในระยะสั้นพรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน การจดทะเบียนพรรคจึงไม่สำคัญ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบปัจจุบันอาจเป็นโอกาสดีสำหรับการโฆษณาแนวคิดในอนาคต พรรคจะต้องเป็นแหล่งรวมของประสบการณ์และทฤษฎีการต่อสู้ แหล่งรวมของนักเคลื่อนไหวไฟแรง และเป็นเครื่องมือในการประสานงานและปลุกระดมการต่อสู้ในหมู่กรรมาชีพกับคนจน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยตามความไฝ่ฝันของเสื้อแดง

พูดง่ายๆ พรรคสังคมนิยมควรรับภาระในการต่อสู้ต่อไปของคนชั้นล่าง ท่ามกลางการหักหลังทรยศของพรรคเพื่อไทยและ นปช.



.

การเลือกตั้ง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

การเลือกตั้ง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382357046
วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:12:08 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 21 ต.ค.2556 )


ถ้าสักวัน เราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ เราน่าจะคิดกันเรื่อง กกต.ใหม่ด้วย

การเลือกตั้งเฉยๆ นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่เหมือนกัน
ในบรรดากลไกสำหรับกำกับควบคุมการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น (เช่น สื่อ, การศึกษา, การรวมตัวเพื่อแสดงออกทางการเมือง, ฯลฯ) แม้จะมีประสิทธิภาพสักเพียงไร ก็ไม่มีผลในบั้นปลายอย่างเต็มที่ หากไม่มีการเลือกตั้ง


เคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาเกือบตาย ก็หวังผลว่า ในที่สุด เราจะเปลี่ยนหรือสอนบทเรียนแก่บุคคลที่อาสาเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราได้ในการเลือกตั้ง

จริงอยู่ ผลบั้นปลายอาจเกิดขึ้นเมื่อครบ 4 ปี แต่ระหว่างนั้นก็ใช่ว่า ประชาชนไม่สามารถกำกับควบคุมผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราเสียเลย กลไกอื่นๆ ช่วยระงับยับยั้งการกระทำที่ประชาชนไม่เห็นชอบได้อีกมาก นับตั้งแต่สื่อรุมโจมตี ไปจนถึงศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., และ ฯลฯ แต่การเคลื่อนไหวทั้งหมดนอกจากมีผลระงับยับยั้งความเห็นหรือการกระทำที่ประชาชนไม่เห็นด้วยแล้ว ยังมีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคตด้วย


ผมคิดว่า การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องไม่ลืมเป้าหมายการเลือกตั้งเสมอ แม้ว่าหวังผลให้ระงับการสร้างเขื่อนบางเขื่อน แต่ควรมีผลไปถึงการทบทวนนโยบายการจัดการน้ำด้วยเขื่อน ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะที่พรรคการเมืองต่างเสนอแนวทางที่ต่างกัน แล้วสักวันหนึ่ง ประชาชนก็จะลงคะแนนเสียงเลือกว่าเห็นชอบด้วยกับแนวทางใดในการเลือกตั้ง

เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลเฉยๆ โดยไม่หวังให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง คือการเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล


ขออนุญาตพูดอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่เกี่ยวโดยตรงไว้หน่อยว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ถ้าเราเห็นคนอื่น - ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, สื่อเลือกข้าง, ทักษิณ, กรรมการ ป.ป.ช., บอร์ด ส.ส.ส. ฯลฯ - เป็นปีศาจหรือเป็นเทวดา เราจะไม่สามารถกำกับควบคุมคนเหล่านั้นได้เลยนอกจากใช้วิธีรุนแรง เพราะกลไกการกำกับควบคุมของระบอบประชาธิปไตยนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า คนอื่นล้วนเป็นคนเหมือนเรา จึงต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันประเภทเดียวกับเรา เช่น ส.ส.ที่ถูกสังคมโจมตีมากๆ ย่อมนอนไม่หลับ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และห่วงว่าจะสอบตกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคของเขาก็มองเห็นเขาเป็นภาระอันหนัก จนไม่กล้าใช้เขาทำหน้าที่สาธารณะมากไปกว่าเป็น ส.ส. และอาจไม่กล้าส่งเขาลงสมัครในนามของพรรคอีก นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครอง, ศาลยุติธรรม, ตำรวจ ฯลฯ ก็เป็นคนเหมือนกัน ย่อมตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางสังคมเหมือนมนุษย์ทั่วไป

เมื่อไรที่เราคิดว่า บุคคลสาธารณะเป็นเทวดาหรือปีศาจ เราก็หมดอาวุธสำหรับการกำกับควบคุมเขา จะขจัดเขาออกไปได้ก็ต้องฆ่าเขา, ชวนทหารทำรัฐประหาร, ขอพระราชอำนาจซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญมาขจัดเขา, หรือเผาบ้านเขา ฯลฯ เท่านั้น

ในการปกครองของมนุษย์ด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับปีศาจหรือเทวดานั้น การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการเลือกตั้งเป็นผลบั้นปลายของกลไกการกำกับควบคุมทั้งหลาย


ฉะนั้น กกต.จึงมีความสำคัญ


ผู้จัดการเลือกตั้งในเมืองไทยตลอดมาจน 2540 คือมหาดไทย ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี เพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากและกระจายไปทั่วประเทศ แต่มหาดไทยย่อมอยู่ในกำกับดูแลของคณะบริหาร (ซึ่งมักมาจากการรัฐประหาร หรือแรงสนับสนุนของกองทัพ) จึงมีการทุจริตในการเลือกตั้งอยู่เสมอ และเป็นการทุจริตที่ทำได้เพราะผู้จัดการเลือกตั้งยินยอม หรือแม้แต่รู้เห็นเป็นใจ เช่น พลร่ม ไพ่ไฟ หรือการนับคะแนนที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นต้น เมืองไทยไม่ได้มีแต่ "เลือกตั้งสกปรก" ใน พ.ศ.2500 เท่านั้น มีเสมอมา แล้วแต่จะใช้ความสกปรกของการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น

ก่อน 2540 จึงมีความเห็นกันกว้างขวางพอสมควรแล้วว่า ผู้จัดการเลือกตั้งต้องเป็นคนกลาง ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญ 2540 ตอบสนองต่อความเห็นนี้ โดยการตั้ง กกต.ขึ้น ให้ดูแลการเลือกตั้งทุกระดับทั่วประเทศ แล้ววางกฎการนับคะแนนให้ประชาชนในพื้นที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ..

แต่สิ่งที่เป็นกระแสที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงนั้นยังมีอีกอย่างหนึ่งคือการซื้อเสียง นักการเมืองอนุรักษนิยม โดยเฉพาะที่มีฐานคะแนนเสียงในเขตเมือง มักใช้เรื่องนี้โจมตีพรรคคู่แข่งที่มีฐานคะแนนเสียงในต่างจังหวัดว่า เมืองไทยนั้นซื้อได้ด้วยเงินไม่กี่ร้อยล้านบาท ทำให้ กกต. ตั้งแต่ชุดแรก วางภารกิจตนเองไว้ที่ป้องกันปราบปรามการซื้อเสียง และระดมคนให้ไปใช้สิทธิ (ซึ่งตอนนั้นก็เชื่อว่าทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น รัฐธรรมนูญปี 40 จึงกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง)

แม้ว่าการซื้อเสียงมีจริง และทำกันเกือบจะทั่วไป (รวมทั้งในเขตเมืองด้วย) แต่การซื้อเสียงเป็นเพียงส่วนเดียวของการหาเสียง ยังมีเงื่อนไขอื่นที่สำคัญกว่าการซื้อเสียงด้วย เช่น ความเป็นญาติหรือเป็นพวก, ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ, ประสบการณ์ของผู้สมัคร ฯลฯ ถ้าสรุปจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำเกี่ยวกับการซื้อเสียงแล้ว ผมอยากชี้ว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะได้รับคะแนนเสียงคือ "สายสัมพันธ์" (connection) การซื้อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง "สายสัมพันธ์" กับชาวบ้าน และไม่ใช่ส่วนเดียว


อันที่จริง ก่อนที่ "โรคร้อยเอ็ด" จะระบาดนั้น "สายสัมพันธ์" ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะ "สายสัมพันธ์" กับอำนาจที่เป็นทางการทั้งของท้องถิ่น และระดับชาติ (เช่น เรื่องเล่าของ ส.ส.นครศรีธรรมราชท่านหนึ่ง ซึ่งฝากเงินให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ช่วยส่งทางโทรเลขให้ตน แล้วก็เดินทางกลับไปหาเสียง เมื่อโทรเลขมาถึง ก็มีข่าวลือหนาหูว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสส่งเงินมาช่วย ผู้สมัครจึงกลายเป็นคนของท่านในสายตาของผู้เลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งไปในที่สุด)

แต่ต่อมา "อำนาจท้องถิ่น" ในเมืองไทยเริ่มแตกตัว นอกจากอำนาจที่เป็นทางการแล้วยังมีอำนาจที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย อำนาจที่เป็นทางการถูกควบคุมไม่ให้ออกหน้าช่วยผู้สมัคร อำนาจที่ไม่เป็นทางการจึงขยาย "สายสัมพันธ์" ของตนให้เหมาะกับการเลือกตั้ง คือสร้างเครือข่ายการเลือกตั้งไปจนถึงระดับตำบล เครือข่ายนี้เกิดขึ้นมาก่อนจากการร่วมผลประโยชน์ทางธุรกิจ จะขยายไปเป็นเครือข่ายการเลือกตั้งได้ "เจ้าพ่อ" ก็สนับสนุนด้านการเงินไปด้วย เกิดการซื้อเสียงซึ่งเป็นการกระชับ "สายสัมพันธ์" ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การซื้อเสียงเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยว

ปัญหาจึงไม่ใช่การซื้อเสียงโดยตรง แต่เป็นปัญหาของ "สายสัมพันธ์" ซึ่งโดยตัวของมันเองก็ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ เราสร้างกลไกการบริหารที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการบางราย สร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ทำให้ตนตักตวงทรัพยากรประเภทต่างๆ (ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสังคม) โดยผิดกฎหมายหรือปริ่มกฎหมายได้ กลายเป็น "เจ้าพ่อ" ในท้องถิ่น ฉะนั้นหากอยากแก้ปัญหาการซื้อเสียงจริง ต้องแก้ตรงนี้ ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ต้องกระจายการปกครองตนเองให้ครอบคลุมไปในส่วนต่างจังหวัดให้ยิ่งขึ้น



รัฐธรรมนูญปี 40 ก็พูดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไปเน้นเพียงเรื่องกระจายงบประมาณจากส่วนกลาง โดยไม่พูดถึงอำนาจการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งสำคัญเสียยิ่งกว่าส่วนแบ่งงบประมาณที่พึงได้จากส่วนกลาง เพราะจะเป็นผลให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำกับและตรวจสอบ "เจ้าพ่อ" ได้

จนถึงทุกวันนี้ กกต.ก็ยังคงรบกับกังหันลมการซื้อเสียงอย่างไม่ลดละ ในขณะที่มีงานอื่นซึ่งตามความเห็นของผม น่าจะช่วยให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการลงคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธภาพมากขึ้น (แม้ยังรับเงินของผู้สมัครอยู่ก็ตาม)

ประการแรก ผมคิดว่า กกต.ควรมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในเมืองไทยให้มากขึ้น ทั้งความรู้ทางมานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, จิตวิทยาสังคม ฯลฯ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงจริงๆ ของคนไทย แทนที่จะเข้าใจเอาเอง

ประการที่สอง จากความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นนั้น กกต.ควรมีความเห็นที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า คนไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ และในส่วนใดบ้างที่เป็นปัจเจกบุคคล (individuals) ไปแล้ว และสักกี่เปอร์เซ็นต์ในส่วนไหนบ้างที่ยังเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม (dividuals) การรณรงค์ให้ไปเลือกตั้ง, ไม่ซื้อเสียง, ใช้วิจารณญาณอย่างไร ฯลฯ ของคนสองประเภทนี้ไม่เหมือนกันนะครับ

ประการที่สาม ช่วยการใช้วิจารณญาณของประชาชนให้ง่ายขึ้น เช่นมีคณะกรรมการในท้องถิ่น สรุปนโยบายสาธารณะที่ผู้สมัครแต่ละคนหาเสียงออกมาให้ชัด กรรมการจะทำตัวเหมือนนักข่าวก็ได้ คือไปถามต่อถึงวิธีการ หากตอบไม่ได้ก็แจ้งให้ประชาชนทราบว่า เมื่อถามแล้วเขาไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ ถ้าหากรรมการที่ยุติธรรมจริง ก็ไม่ต้องหวั่นวิตกว่าจะเป็นการให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัคร เพราะตัวผู้สมัครเองต่างหากที่เป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่ตนเอง คงต้องร่วมมือกับสื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะวิทยุท้องถิ่น

ประการที่สี่ ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญต่อการเลือกตั้งซึ่ง กกต.ควรดูแล เช่นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องริเริ่มที่ กกต. โดยตั้งกรรมการอันประกอบด้วยหลายฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมืองซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเข้ามาต่อรองกัน จนลงตัวแล้วจึงยื่นเป็นกฎหมายให้สภารับรอง เพราะเขตเลือกตั้งจะเกิดจากเสียงข้างมากในสภาย่อมไม่เป็นธรรมแน่

ประการที่ห้า คิดไปเถิดครับ มีเรื่องสำคัญๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นธรรม และมีความหมายแก่สังคม อีกหลายอย่างซึ่ง กกต.ควรทำ
แทนการรณรงค์ต่อต้านการซื้อเสียง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนลงคะแนนเสียงอย่างไร และเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่อยู่นอกอำนาจหน้าที่ของ กกต.อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ย่อมกระทบไปถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญด้วย




.

2556-10-19

วิจารณ์ บทความ“คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!” โดย อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

.

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์: วิจารณ์ บทความเรื่อง "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!"
ใน http://prachatai3.info/journal/2013/10/49325 . . Fri, 2013-10-18 23:20 


อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบจนถึงระดับที่พออ้างได้ว่าตนมีความรู้ในด้านนี้พอกล้อมแกล้ม และเมื่อได้อ่านบทความที่ชื่อ "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!" ของคุณชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ในเว็บไซต์ของผู้จัดการแล้วรู้สึกว่าอยากจะใช้ความรู้ที่ศึกษามาวิเคราะห์วิจารณ์นักเขียนท่านนี้บ้าง

ผู้เขียนใคร่อยากชี้ว่าบทความของคุณชัชวาลย์ค่อนข้างเขียนกำกวม ขาดการอ้างอิง (แน่นอนว่าบทความเช่นนี้ก็ไม่มีการอ้างอิงเท่าไรนักแต่ผลก็คือการยกขึ้นลอยๆ  โดยไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง)  และได้นำอคติมาชี้นำหรือรองรับประโยคที่ตนเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เช่นมีประเด็นที่น่าสนใจว่าท่านมักจะนำคุณค่าคำว่า "ดี" หรือ"เลว"มาใช้ในการเขียนบทความอยู่เสมอ ซึ่งการเป็นการขัดกับหลักการศึกษารัฐศาสตร์ที่พยายามไม่ใช้คุณค่าทั้ง 2  อย่างซึ่งเป็นจิตวิสัยมาตัดสินหรือเกี่ยวข้องให้มากนัก

เช่นท่านเขียนบทความเป็นนัยว่าการปกครองเผด็จการและประชาธิปไตยดูไม่แตกต่างกันเท่าไรเพราะ

"เผด็จการทหารในโลกใบนี้..มีทั้งดีและเลว! ประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบตะวันตก..มีทั้งดีและเลว! ระบอบการปกครองที่มิใช่เผด็จการทหารและเผด็จการเลือกตั้งฯ บนโลกใบนี้..ก็มีทั้งดีและเลวเช่นกัน!"


ตรรกะเช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดเพราะมันเป็นเป็นประโยคทำนอง “คนมีทั้งดีและเลว” ซึ่งพูดกันเกร่อ (cliché)  แต่ผู้เขียนคิดว่าในเรื่องมิติทางการเมือง เกณฑ์เช่นนี้น่าจะซับซ้อนไปกว่านั้น  ถ้าเป็นจริงอย่างที่คุณชัชวาลย์ได้ว่าไว้ข้างบน การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในวันที่  14 ตุลาคม 2516  ก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นนักเพราะเราสามารถอ้างได้ว่าเผด็จการในช่วงของจอมพลถนอมเป็นเผด็จการที่ดีจากในหนังสือหลายเล่มหรือในหลายเว็บไซต์เองก็ยกย่องจอมพลถนอมนั้นเป็นคนซื่อสัตย์และยังทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมากมาย (1) ดังนั้นการที่คุณชัชวาลเปิดฉากมาว่า

 “นักศึกษา-ประชาชน ฯลฯ เสียสละชีวิตต่อสู้เอาชนะรัฐบาล “เผด็จการทหารชั่ว”

คนที่สนับสนุนจอมพลถนอมอาจจะใช้ตรรกะของคุณชัชวาลย์เองมาแย้งกับคุณชัชวาลย์ในประเด็นนี้ก็ได้    เช่นเดียวกับการประท้วงหรือการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยในหลายวาระเช่น 6 ตุลาคม  2519  หรือแม้แต่พฤษภาทมิฬ  2535  ก็ไม่มีความหมายอีกเช่นกันเพราะจะมีคนแก้ต่างให้กับเผด็จการในสมัยนั้นได้เหมือนกันหมด (เอาง่ายๆ อย่างหนังสือเรียนวิชาสังคมในโรงเรียนอย่างไร)   นอกจากนี้อาจมีผู้ที่นำเอาหลักตรรกะนี้มาใช้ในหลายกรณีที่น่าขนลุกเช่น   "เผด็จการนาซีและฮิตเลอร์มีทั้งดีและเลว" เป็นต้น

นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ยังเขียนแบบตีขลุมเอาเองอย่างเช่น

"ระหว่างคนกับระบอบการเมืองนั้น บ้างว่า-คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง บ้างว่า-ระบอบการเมืองสำคัญกว่าคน บ้างว่า-ทั้งคนและระบอบการเมืองสำคัญทั้งคู่!
แต่คอการเมืองส่วนใหญ่ฟันธงว่า คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง!"


ประเด็นความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่ว่ามนุษย์ในฐานะปัจเจกชนกับกรอบทางสังคมหรือการเมืองสิ่งไหนมีอิทธิพลมากกว่ากันหรือว่ามีอิทธิพลควบคู่กันไป  ซึ่งคำถามนี้ยังมีการถกเถียงกันอีกมามาย แต่ท่านก็ได้สรุปไปแล้ว โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนว่าท่านไปทำวิจัยสำรวจ “การฟันธง” ที่ไหน กลุ่มคอการเมืองกลุ่มใด   หรือว่าที่จริงเป็นความคิดของท่านเอง เข้าทำนองเหมือนโฆษณาที่อ้างว่า "คนส่วนใหญ่เลือกใช้ยาสีฟันยี่ห้อ......." และยิ่งเป็นบาปมหันต์อย่างยิ่งสำหรับวงวิชาการัฐศาสตร์เพราะการวิเคราะห์เฉพาะตัวบุคคลจะทำให้ปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ เช่นโครงสร้างทางการเมือง สถาบันทางการเมือง คุณค่าทางการเมืองด้อยค่าไปเสีย มุมมองเช่นนี้เองยังทำให้วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะแบบเรียนของเยาวชนย่ำอยู่กับที่คืออยู่กับทฤษฎี "บุรุษผู้ยิ่งใหญ่" (Great man theory)


ในส่วนของทหารนั้น ท่านแสร้งเขียนเป็นกลางแต่ถ้าอ่านให้ดีจะทราบว่ามีแนวคิดบางอย่างแฝงอยู่

"ดังนั้น หากผู้นำเผด็จการทหารเป็นคนดี ชาติและประชาชนย่อมได้ประโยชน์ ถือว่าทำคุณมากกว่าโทษให้กับชาติบ้านเมือง ทว่าหากผู้นำหรือรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นคนชั่ว โกงชาติบ้านเมืองด้วยความเห็นแก่ได้ ก็จะถูกสังคมประณามสาปแช่งชั่วลูกชั่วหลานตราบทุกวันนี้"

หากอ่านในบริบทของสังคมไทย ก็จะทราบว่าแบบเรียนหรือการให้คุณค่าแก่บุคคลในประวัติศาสตร์นั้นมักจะเป็นอนุรักษ์นิยมที่เอียงข้างเข้าสถาบันสำคัญๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยจะพบการก่นด่าประณามผู้นำทางทหารเท่ากับนักการเมืองเท่าไรนัก ดังกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีความชั่วค่อนข้างชัดเจนเช่นประหารชีวิตคนตามอำเภอใจ ฉ้อราษฎรบังหลวงเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่ก็มีสื่อแนวอนุรักษ์นิยมจำนวนที่ยังเข้าข้างจอมพลผ้าขะม้าแดงท่านนี้เพียงเพราะเป็นผู้นิยมเจ้า  ดังนั้นหากผู้อ่านใช้ความรู้สึกที่ถูกปลูกฝังจากสื่อหรือบทเรียนก็จะรู้สึกว่าไม่มีผู้นำเผด็จการทหารคนไหนชั่วเท่าไรนัก (อันเป็นเหตุที่ทำให้มักมีคนมาแก้ต่างแทนเผด็จการเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ และก็ยังมีคนเชื่ออีกเรื่อยๆ )

 ดังนั้นประโยคของท่านที่ต้องการโต้กับเสื้อแดงที่มักประณามทหารว่า

"บทสรุป-คือ-เผด็จการทหารชั่ว และเผด็จการรัฐสภาทุนสามานย์ ล้วนเป็นระบอบการปกครองอันไม่พึงประสงค์ของประชาชน เพราะโกงชาติและชั่วร้ายด้วยกันทั้งคู่!"

ประโยคเช่นนี้จึงเบาหวิว เพราะ "เผด็จการทหารชั่ว" นั้นดูลอยๆ ไม่มีน้ำหนักเท่าไรนัก ไม่มีตัวตน ใครก็ไม่ทราบแต่รัฐสภาทุนสามานย์นี่ทักษิณโดนเต็ม ๆ



จากนั้นคุณชัชวาลย์ก็รีบเขียนโจมตีประชาธิปไตยตะวันตกทันที

"ส่วนระบอบการเมืองเลือกตั้งแบบตะวันตก ซึ่งนักการเมืองทุนสามานย์ใช้เป็นช่องทางทุ่มเงินซื้อเสียงการเลือกตั้ง จนได้ ส.ส.เข้าสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง ก่อนที่สภาฯ เผด็จการจะตั้งนายกฯ ชั่วบริหารชาติบ้านเมือง"

บทความนี้อาจจะไม่ผิดถ้าท่านระบุประเทศ (เช่นประเทศไทยตามความคิดของท่าน)  แต่การเขียนลอยๆ เช่นนี้ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งแบบตะวันตกทั้งหมด แถมยังพยายามโยงไปยังสหรัฐอเมริกา ทั้งที่สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  ที่สำคัญสหรัฐฯ นั้นได้ถูกจัดอันดับของการเป็นประชาธิปไตยได้เพียงอันดับที่ 17 เอง   การตีขลุมของคุณชัชวาลจึงทำให้คนอ่านมองข้ามประเทศที่มีการเลือกตั้งแบบตะวันตกอีกมากที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างเช่นนิวซีแลนด์  ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียอย่างเช่นเดนมาร์ก หรือสวีเดนซึ่งมีลำดับความเป็นประชาธิปไตยอันดับต้นๆ (1)

นอกจากนี้คุณชัชวาลยังพยายาม justify หรือสร้างความถูกต้องแก่เผด็จการอย่างตรงไปตรงมาโดยการเปรียบเทียบสหรัฐฯ กับจีน เช่น

"อเมริกาที่เป็น “มาเฟีย” แห่งการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาโกงการเลือกตั้ง มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากมาย สังคมอเมริกาจึงเต็มไปด้วยความอยุติธรรมทุกหัวระแหง

ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา ไม่อาจแก้ปัญหาคนรวยเอาเปรียบคนจนได้ และนับวันปัญหาเลวร้ายทุกมิติของสังคมอเมริกัน จึงเป็นปัญหา “ดินพอกหางหมู” มากขึ้นเรื่อยๆ

จีน-ในอดีตที่มีพลเมืองยากจนกว่าพันล้านคน จนชาวจีนบางส่วนต้องหนีความอดอยากไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อการปฏิวัติชนะและ “เหมา เจ๋อตุง” สิ้นชีพ จีนที่นำโดย “เติ้ง เสี่ยวผิง” ได้นำสังคมนิยมเข้าผสมพันธุ์กับทุนนิยม พัฒนาประเทศจีนในทุกมิติให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว"

คิดว่าคุณชัชวาลย์คงไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่นทำให้คนอ่านสับสนเข้าใจว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้นเป็นสิ่งเดียวกับระบบทุนนิยม ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ คือระบบทุนนิยมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และถึงแม้ระบบทุนนิยมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองของสหรัฐฯ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ต้องตำหนิเพียงประการเดียว 


นอกจากนี้ที่ท่านชอบประณามว่าสหรัฐฯ เต็มไปด้วยการโกงการเลือกตั้งนั้นก็ไม่หลักฐานมายืนยันชัดเจน  คำว่า "เต็ม" นั้นยังคลุมเครือไม่ระบุเวลาแน่นอนซึ่งคนอ่านอาจะเข้าใจว่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ จึงเต็มไปด้วยการซื้อขายเสียงอย่างน่าละอายใจดังนั้นสหรัฐฯก็คงจะไม่ได้อยู่ในลำดับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในลำดับต้นๆ  หากจะเขียนอย่างรัดกุมกว่านี้ก็น่าจะเขียน “สหรัฐฯ ก็พบกับสภาวะเช่นนี้เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วไป แม้แต่อังกฤษ ฝรั่งเศส “

ส่วนประวัติศาสตร์ของประเทศจีนถือว่าเป็นส่วนที่ให้อภัยไม่ได้เพราะคุณชัชวาลย์ซ่อนเร้นข้อมูลหลายส่วนไว้ไม่ยอมเขียนรายละเอียดลงไปด้วยวัตถุประสงค์คือเชิดชูจีนและเหยียบสหรัฐฯ  เช่นท่านไม่ได้บอกว่า คนจีนจำนวนมากก็ได้หลบหนีจากประเทศในช่วงหลังพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจอีกเช่นกัน นอกจากนี้เหมา เจ๋อตงนั้นมีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้คนจีนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคนจากนโยบายการก้าวกระโดดไกล (Great Leap forward) และการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural revolution) ซึ่งเกือบทำให้ประเทศจีนแตกเป็นเสี่ยงๆ จนผู้เขียนเคยคิดว่าถ้าจีนเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมและทุนนิยมมาตั้งแต่ปี 1949  จีนอาจจะเจริญและยิ่งใหญ่กว่าจีนในปัจจุบันหลายเท่านักไม่ต้องรอให้เติ้งเปิดประเทศเพราะจีนเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว  นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ซึ่งเชิดชูวีรกรรม 14 ตุลาคมยังมองข้ามวีรกรรมของเติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 1989 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนได้และยังไปอ้างทฤษฎีแมวจับหนูซึ่งก็ถือว่าเป็น cliché อีกเช่นกัน 

ถึงแม้ว่าจีนจะกลายเป็น
"ผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ของอเมริกา ปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังพัฒนากองทัพให้ทัดเทียมอเมริกาอย่างเร่งด่วน!"

แต่ปัญหาของจีนก็ยังมีอีกมายที่อยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของมวลผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) หรือการเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ  จีนยังมีความด้อยความสามารถในการกระจายความมั่งคั่ง ดัชนี Gini coefficient ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวยของจีนนั้นพุ่งสูงขึ้น (2)  ความร่ำรวยยังคงกระจุกตัวอยู่กับเศรษฐีและนายทุนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์ จีนยังเต็มไปด้วยการฉ้อราษรบังหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับตั้งแต่ล่างจนถึงระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์  รวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทำให้ประชาชนจีนต้องเดินขบวนประท้วงรัฐบาลกันเป็นแสนๆ ครั้งต่อปี (3) ส่วนศักยภาพกองทัพของจีนยังห่างไกลสหรัฐฯ อยู่มากแม้ว่าจะใช้งบประมาณทางการทหารเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ตาม (4) นอกจากนี้จีนในปัจจุบันก็มีคุณสมบัติบางส่วนดังที่ท่านได้โจมตีสหรัฐฯ หากเราติดตามข่าวของจีนอยู่เสมอ ดังนี้

"เพราะอภิมหาเศรษฐีอเมริกันไม่กี่ตระกูล เอาเปรียบคนอเมริกันทั้งชาติอยู่ตลอดเวลา สวัสดิการชาวอเมริกันผู้ยากไร้-ถูกตัด"


แนวคิดของคุณชัชวาลจึงเป็นแนวคิดที่มีหลักตรรกะที่ขัดแย้งกันเองคือพยายามรักษาสปิริตของ 14 ตุลาคมไว้  แต่ก็พยายามสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการโดยอาศัยเครื่องมือ คือการโจมตีทักษิณอย่างรุนแรงและการพยายามนำเสนอเป็นเชิงบิดเบือนข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาแล้วจนเป็นเหตุให้เกิดบทความที่เกิดปัญหาบทนี้ขึ้นมา

อนึ่ง ถ้าจะมีการแก้ต่างว่าข้อมูลเหล่านี้ที่ผู้เขียนอ้างเป็นการใส่ร้ายจากสื่อตะวันตก อันนี้ก็ผู้เขียนคงจะช่วยอะไรไม่ได้!



เชิงอรรถ

(1) http://th.wikipedia.org/wiki/ถนอม_กิตติขจร
และ
http://www.thaiswatch.com/politician/info/pid/POL0000002524

(2)   http://graphics.eiu.com/PDF/Democracy_Index_2010_web.pdf

(3)  http://english.caixin.com/2012-12-10/100470648.html

(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Protest_and_dissent_in_the_People's_Republic_of_China

(5) http://www.foreignpolicy.com/articles/2010/02/22/think_again_chinas_military



.

บ้าก็บ้าวะ โดย คำ ผกา

.

คำ ผกา : บ้าก็บ้าวะ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382097874
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:29:41 น.

(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 ต.ค. 2556  ปี33 ฉ.1730 หน้า88-89 ) 


คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่าในสังคมไทย โซเชียลมีเดียได้กลายเป็น "สื่อทางเลือก" สำหรับคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างแท้จริง

และในความเป็น "สื่อทางเลือก" มีความหมายสองอย่างสำหรับฉัน

อย่างแรก เป็นสื่อทางเลือกในความหมายของการที่เราสามารถ "เลือก" บรรณาธิการ "ข่าว" ของเราจากบรรดาคนที่เราเลือกเป็น "เพื่อน"

เช่นในกรณีของฉันเอง หลังจากใช้เฟซบุ๊กมาหลายปี ฉันเริ่มจัดหมวดหมู่ "เพื่อน" ที่เป็น "บรรณาธิการข่าว" (ส่วนตัว)
เช่น จะมีเพื่อนที่คอยแชร์ข่าวเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์ข่าวเรื่องเพศวิถีโดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการคัดสรรข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจโดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์ข่าวเกี่ยวกับสิทธิชนกลุ่มน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์ข่าวเกี่ยวกับคนเสื้อแดงและกิจกรรมคนเสื้อแดงโดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์ข่าวตลกๆ เรื่องเพศ หรือทัศนคติทางเพศแปลกจากสื่อต่างประเทศโดยเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์คลิปงานเสวนาการเมือง วรรณกรรม วิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์เป็นการเฉพาะ
มีเพื่อนที่แชร์เกี่ยวกับการรีวิวหนังสือ
มีเพื่อนที่แชร์ข่าวงานวิจารณ์ภาพยนตร์ ฯลฯ

ลองคิดดูก็แล้วกันด้วยแพล็ตฟอร์มอันหลากหลายขนาดนี้ มันเหมือนเป็นทางลัดที่นำเราไปสู่ข้อมูล ข่าวสาร ที่กลายเป็นเครือข่ายโยงใยกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมการเสพ "สื่อ" ของเราในปัจจุบัน มันไม่ใช่การที่เราคลิกเข้าไปในหน้าเพจของหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วเริ่มอ่านตั้งแต่หน้า หนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อยๆ

แต่ด้วยการผ่านโซเชียลมีเดีย ภายใต้เครือข่ายของบุคคลที่เราติดตาม เราได้สร้างเครือข่ายของข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคและความสนใจของตัวเราเอง


สื่อทางเลือกในความหมายที่สองคือ หลังการรัฐประหาร เรา "เลือก" แล้วจริงๆ ว่าเราจะไม่ "เสพ" สื่อจากข้างที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย เชียร์ให้รัฐบาลออกมาฆ่าคน

ยกตัวอย่างเลยก็แล้วกัน เช่น ฉันเลือกแล้วที่ไม่ให้ "ราคา" กับข่าวจากสำนักข่าวอิศรา, ไทยโพสต์, แนวหน้า เป็นต้น

แม้จะเข้าไปอ่านบ้างแต่เป็นการอ่านเพื่อดูว่า สื่อเหล่านี้ "ประกอบสร้าง" ข้อเท็จจริงอะไรในข่าวของพวกเขา ไม่เพียงแต่เลือก "ข้าง" สื่อ เรายังเลือก "ข้าง" เพื่อนไปเรียบร้อยอีก


เช่น ในกรณีของฉันอีกนั่นแหละ ขอสารภาพว่าไม่มีเพื่อนที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเลย

อันนี้ออกจะอาการหนักอยู่ เพราะหากมองตัวเองเป็น "นักเขียน" ที่ต้องสังเกตโลกทุกใบ อย่างน้อยฉันน่าจะติดตามเฟซบุ๊กของคนอย่างหลากหลายไม่เลือกข้างไม่เลือกสี แต่ในเมื่อ social media คือสื่อทางเลือก ฉันก็เลย "เลือก" เสียเลย คือ เลือกที่จะไม่รำคาญใจจาก "ทัศนคติ" ที่เรา "รำคาญ"

ยิ่งพวกคนที่แอ๊บว่าเป็น "กลาง" มีหลักการ ยึดมั่นในคุณธรรมความดี เชื่อมั่นในภาคประชาสังคมพลังของคนตัวเล็กตัวน้อย สู้เพื่อโลกสีเขียว แต่ลึกๆ แล้วเชียร์ประชาธิปัตย์แทบตาย-ประเภทนี้-คือ "สื่อ" ที่ฉันเลือกจะไม่เสพ



พร่ำมายาวๆ นี่เพียงเพื่อจะบอกว่า จะดีจะชั่ว คนไทยยังมี "ทางเลือก" อย่างน้อยเมื่อเทียบกับ จีน เวียดนาม พม่า ลาว เกาหลีเหนือ

เรายังไม่ถูกบล็อกจากการเข้าถึงบริการของอินเตอร์เน็ต แม้ว่าข้อมูลข่าวสารบางอย่าง บางเรื่องจะเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ทว่า ผ่านอินเตอร์เน็ต เราสามารถเรียนรู้จากกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ ได้

เพื่อจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสถานการณ์ของไทยดีกว่าประเทศอื่นที่ถูกห้ามการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิงอย่างไร

จะขอยกตัวอย่างกรณี เกาหลีเหนือ


ในเว็บไซต์ http://gawker.com/5869210/giant-rabbits-and-double-rainbows-the-10-most-insane-delusions-of-kim-jong+il
มีบทความชื่อ 
"Giant Rabbits and Double Rainbows : The 10 Most Insane Delusions of Kim Jong-Il"
ขอแปลใส่อารมณ์แบบไทยว่า
"กระต่ายยักษ์ และ สายรุ้งซ้อนสองชั้น : สุดยอด 10 ความเพี้ยนพันลึกของ คิม จอง อิล"

10 ข้อนี้มีอะไรบ้าง ฉันจะแปลสรุปคร่าวๆ ดังนี้

- โรงเรียนในเกาหลีเหนือสอนนักเรียนว่ามีการณ์อัศจรรย์หลายอย่างบังเกิดตอนที่ คิม จอง อิล ถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้ โดยบอกว่า เขาเกิดในกระท่อมไม้ซุงบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ Paekdu เขาเกิดมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของดาวดวงใหม่ และการเกิดของเขาทำให้ฤดูหนาวเปลี่ยนเป็นฤดูใบไม้ผลิ ไม่เพียงเท่านั้นยังบังเกิดโค้งรุ้งสองสายพาดบนขอบฟ้าเป็นที่อัศจรรย์ แถมยังเกิดภูเขาน้ำแข็งที่พูดได้ (แต่ตามหลักฐานอื่นกล่าวว่าเขาเกิดที่รัสเซีย)

- ปี 2006 คิม จอง อิล ได้ข่าวว่าที่เยอรมนี มีผู้ชายคนหนึ่งเพาะพันธุ์กระต่ายยักษ์สำเร็จ เขาเชื่อว่า กระต่ายยักษ์คือ กุญแจที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความอดอยากในเกาหลีเหนือได้ เขาจึงติดต่อนาย Karl Szmolinsky ผู้เพาะพันธุ์ กระต่ายยักษ์ เพื่อเชิญเขามาริเริ่มฟาร์มกระต่ายยักษ์ที่เปียงยาง จากนั้นคิมได้ซื้อกระต่ายยักษ์มา 12 ตัว ตัวละ 115 เหรียญ เขาบอกนาย Szmolinsky ว่าจะเอากระต่ายเหล่านี้มาเลี้ยงในสวนสัตว์ หลังจากนั้น ไม่กี่เดือน นาย Szmolinsky ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลเกาหลีเหนือให้เขาเดินทางมาที่เกาหลีเหนือ เพื่อเริ่มทำฟาร์มกระต่าย ทว่าเดือนกุมภาพันธ์ปี 2007 เขาได้รับการติดต่อจากทางการเกาหลีเหนือว่า เขาไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่เกาหลีเหนือแล้ว ทำไม? Szmolinsky เชื่อว่าคงเป็นเพราะ กระต่ายทั้ง 12 ตัวนั้นคงกลายเป็นอาหารฉลองวันเกิดของคิมไปแล้ว

- แบบเรียนของรัฐระบุว่า คิมไม่มีอุจจาระและปัสสาวะเฉกมนุษย์อย่างเราๆ

- ในปี 1994 สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่า คิม จอง อิล เป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เขาทำ 38 อันเดอร์พาร์ 5 โฮลอินวันในการออกรอบครั้งเดียว

- ปี 1989 ที่เปียงยางเป็นเจ้าภาพงาน World Festival of Youth and Students คิมได้ "กำจัด" คนพิการ คนเตี้ย ด้วยการนำไปปล่อยเกาะร้าง เพื่อปกป้อง "ชาติ" เกาหลีเหนือให้ปลอดจากยีนส์ด้อยทั้งมวล

- คิมให้จำคุกญาติผู้กระทำผิด (กฎหมาย) ด้วย เพราะเขาเชื่อว่า อาชญากรนั้นถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ถึงสามรุ่น

- ผู้นำคิมเป็นคนที่กลัวการนั่งเครื่องบินมาก เพราะฉะนั้น เขาจะเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยรถไฟกันกระสุนสุดหรูเท่านั้น และว่ากันว่า บนรถไฟที่เขานั่งจะมีกุ้งล็อบสเตอร์เป็นๆ "บิน" (airlifted) ตรงมาเสิร์ฟในขบวนรถไฟของเขา-และน่าจะเป็นขบวนที่เขาถึงแก่อสัญกรรมนั่นเอง

- คิม จอง อิล เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเฮนเนสซี่ในปี 1993 และ 1994 ลำพังซื้อคอนญัคอย่างเดียวก็ปาเข้าไป 850,000 ดอลลาร์

- ปี 1978 คิมไปลักพาตัวนักทำหนังชาวเกาหลีใต้และภรรยาชื่อ Shin Sang-ok มาเพื่อทำหนังโฆษณาชวนเชื่อให้เกาหลีเหนือในชื่อของคิมในฐานะผู้อำนวยการผลิต สองคนผัวเมียหนีออกมาได้ตอนไปถ่ายหนังที่ออสเตรียหลังจากถูกลักพาตัวไปแปดปี

- ปี 1950 คิม อิล ซุง สร้างเมืองสมมุติชื่อ Kijong-Dong ที่ชายแดนเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เมืองนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เกาหลีใต้เห็นว่าเกาหลีเหนือเจ๋งกว่า เจริญกว่า ร่ำรวยกว่า เกาหลีใต้ ทว่า มันเป็นเมืองหลอกๆ ไม่มีคนอยู่จริง มีตึกที่มีหน้าต่างแต่ไม่มีกระจก

แกล้งๆ ทำเป็นแท่งคอนกรีตขึ้นมาเฉยๆ


สิบข้อนี้ยังไม่นับการอัศจรรย์ที่นักเรียนเกาหลีเหนือได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "ผู้นำที่ยิงใหญ่" คิม จอง อิล ว่า เขาเดินได้เมื่ออายุเพียงสามอาทิตย์ และพูดได้เมื่ออายุเพียงแปดอาทิตย์

นอกจากนี้ ขณะที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย ภายในสามปี เขาแต่งโอเปราขึ้นมาถึง 4 เรื่อง แต่งหนังสือ 1,500 เล่ม เป็นอัฉริยะทางสถาปัตยกรรม และการกำกับภาพยนตร์

นอกจากนี้ สื่อเกาหลีเหนือยังรายงานว่า คิม จอง อิล คือ ผู้นำทางด้านแฟชั่นของโลกที่คนทั้งโลกพากันแต่งตัวเลียนแบบเขา หลังจากที่ คิม จอง อิล ถึงแก่อสัญกรรม ก็มีการแต่งเพลง "No Mother Land Without You" หรือ "ไม่มีท่านก็ไม่มีแผ่นดินแม่" เพื่อสรรเสริญท่านผู้นำ หลังอสัญกรรมมีการออกกฎหมายให้ไว้ทุกข์สามปี ใครละเมิดการไว้ทุกข์ เช่น บังอาจดื่มสุราก็จะถูกจับมีโทษจำคุก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมกับ "เกาหลีเหนือ" เราอาจต้องเผื่อใจว่าทั้งหมดนี้อาจเป็นแค่มุขเย้ยหยันประเทศเกาหลีจากประเทศ "ตะวันตก" ที่จะไปรู้อะไร้กับเกาหลีเหนือ (แต่ภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารอย่างหนักจนผู้คนล้มตายจำนวนมากนั้นมีจริง)


แม้กระนั้นได้ฟังข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ได้เห็นภาพโฆษณาชวนเชื่อที่ออกมาจากสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ฉันก็ได้แต่เห็นใจว่า เป็นเพราะประชาชนเกาหลีเหนือถูกกีดกันมิให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก เคยฟังหญิงสาวชาวเกาหลีเหนือพูดในงาน Ted Talk ว่าก่อนที่เธอจะหนีออกมาจากเกาหลีเหนือได้นั้น เธอเคยเชื่อว่าเกาหลีเหนือคือประเทศที่ดีที่สุดในโลก


เขียนถึงตรงนี้ ฉันดีใจจริงๆ ที่คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลาย เราไม่ถูกปิดกั้นจากสัญญาณอินเตอร์เน็ต ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาในประเทศไทยเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดเสมอ และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปรากฎการณ์อย่างเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นที่นี่

ป.ล. อย่าลืมว่าฉันเขียนจากการเลือก "ข้าง" เพื่อนและคนรู้จักในโลกโซเชียลมีเดียแล้ว จึงได้ข้อสรุปเช่นนี้



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

เบื่อระอาม็อบเหลวไหล โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.
บทความก่อนหน้า - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา !

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เบื่อระอาม็อบเหลวไหล
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

( https://www.facebook.com/profile.php?id=100003359048125 )
ใน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=428510157270949&id=100003359048125
. . October 17 at 9:19pm

( ภาพ FB: Thai Innomemes
https://www.facebook.com/profile.php?id=100003673618021 )



ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้ชื่อกันว่า กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) นำโดยบุคคล เช่น นายไทกร พลสุวรรณ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เป็นต้น ได้เคลื่อนจากสวนลุมพินี มายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ถนนพิษณุโลก แล้วประกาศค้างคืน เพื่อรอรับวันที่ ๘ ตุลาคม ที่มีคำทำนายของพวกโหรการเมืองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดย พล.ร.อ.ชัยแถลงว่า กลุ่มของพวกเขาคัดค้านการที่นายกรัฐมนตรีจะยื่นทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ยกเลิกวุฒิสมาชิกสรรหา เพราะถือว่ารัฐบาลมีเจตนาจะละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ และว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนไม่เห็นด้วย

    รายงานข่าวแจ้งว่า มีประชาชนมาร่วมชุมนุมด้วยน้อยมาก ที่มาร่วมปักหลักเพียงไม่กี่ร้อยคน แต่กระนั้น ในวันที่ ๙ ตุลาคม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตอบโต้โดยการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงรอบบริเวณทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและเขตพระราชฐาน ด้วยเหตุผลคือ หวั่นเกรงจะมีการบุกรุกสถานที่สำคัญ ในโอกาสที่ นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม หลังจากนั้น รัฐบาลได้ตั้งด่านตำรวจหลายพันคนปิดล้อมบริเวณที่เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมทั้งหมด รวมทั้งล้อมรอบผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย

    บ่ายวันที่ ๑๐ ตุลาคม กลุ่มผู้นำการชุมนุมของ กปท. ตัดสินใจถอนกำลังกลับที่ตั้งที่สวนลุมพินี แต่กลับมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่พอใจ เช่น กลุ่มนักศึกษาอาชีวะพิทักษ์ราชบัลลังก์ กลุ่มกองทัพนิรนาม และองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงแยกตัวมาจัดชุมนุมกันเองโดยปิดถนนที่บริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม ๖ ซึ่งเป็นบริเวณนอกเขตที่ประชิดพื้นที่ประกาศควบคุมตาม พรบ.ความมั่นคง ขณะที่ กทม. ได้ส่งรถสุขาเคลื่อนที่ และรถปั่นไฟมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ ได้จัดตั้งเป็น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และการชุมนุมก็ยังยืดเยื้อต่อมา

    รายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองส่วน ต่างก็พยายามในการเรียกระดมมวลชนฝ่ายขวาครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม เพื่อจะยกระดับการต่อสู้ให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะในวันนั้น ก็จะมีการเคลื่อนไหวประจำของกลุ่มหน้ากากขาวที่นัดรวมตัวกันหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในที่สุด กลุ่มหน้ากากขาวก็เดินขบวนมาสมทบกับผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ โดยมีคนสำคัญปรากฏตัวเข้าร่วม เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เช่นเดียวกับเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) ก็ได้ประกาศสนับสนุนการชุมนุมประชาชนที่อุรุพงษ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที เรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ครองบ้านเมืองอย่างทุจริต และเป็น”เผด็จการรัฐสภา”

    แต่ในที่สุด ความพยายามในการยกระดับก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม สถานการณ์ก็กลับคืนสู่ภาวะกระแสต่ำปกติ แม้ว่า กลุ่มกปท. และ กลุ่ม คปท. จะยังไม่สลายการชุมนุมก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ก็คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากแทบทุกภาคส่วนในสังคม ประชาขนที่เป็นกลางจำนวนมากเบื่อระอากับการชุมนุมอันเหลวไหลขององค์กรเหล่านี้ เพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้อคติแห่งความเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ แต่ประชาชนส่วนข้างมากในประเทศไทยเขาไม่ได้ร่วมแชร์อคติเช่นนี้ด้วย การเคลื่อนไหวจึงได้เหี่ยวเฉาไปทุกครั้ง



    ปัญหาที่ชัดเจนประการหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาทั้งหมดนี้ก็คือ การที่ไม่สามารถจะหาข้อเรียกร้องที่เป็นที่เห็นพ้องสำหรับทุกภาคส่วนของสังคมได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างประเด็นร่วมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เอกภาพของกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหมดก็ไม่มี การเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประธานของกลุ่มเอเอสทีวี ผู้จัดการ ได้กล่าวไว้ในวันที่ ๑๑ ตุลาคมว่า ม็อบมางวดนี้ถึงเสียเที่ยว ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ผิด ทั้งที่ใจคนที่ไปชุมนุมเกินร้อยแล้ว พร้อมที่จะเสี่ยง ปัญหาคือ ทั้งการชุมนุมทั้งที่อุรุพงษ์และสวนลุมพินี ต่างก็มีประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น “แต่ประชาธิปัตย์ไม่ออกมาเต็มตัว ให้คนออกไปตายแทนจะได้ขึ้นเสวยสุข” คุณสนธิจึงบอกประชาชนฝ่ายเหลืองว่า อย่าไปตายแทนประชาธิปัตย์ ให้รอหน่อยก็ไม่เสียหาย ถ้าสู้แล้วไม่ชนะจะออกไปทำไม

    ข้อวิเคราะห์ของนายสนธินับว่า ถูกต้อง เพราะการเคลื่อนไหวที่ดำเนินอยู่นี้ มีลักษณะอับจนในด้านยุทธวิธีที่จะสร้างผลสะเทือน แต่ปัญหาหลักคือเรื่องในทางยุทธศาสตร์ เพราะไม่สามารถเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงได้อย่างไร และถ้าหากล้มได้แล้ว รัฐบาลใหม่หรือคนกลุ่มใหม่ที่จะมาบริหารแทนจะมีวิธีการมาอย่างไร ถ้าจะหวังให้เกิดการล้มรัฐบาลในลักษณะเดียวกับรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ก็คือให้ศาลยุบพรรค แล้วให้พรรคเพื่อไทยแตกโดย มี ส.ส.กลุ่มใหญ่ย้ายข้างมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ก็ไม่เห็นทางเป็นจริง หรือถ้าหากมีการล้มโดยยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่เห็นทางที่พรรคเพื่อไทยจะแพ้เลือกตั้ง แต่ถ้าจะล้มโดยการสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหาร ก็กลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อต้านอำนาจรัฐลุกลาม บ้านเมืองจะกลายเป็นทุรยุค เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร เหลือวิธีเดียวคือล้มด้วยอำนาจศาล แต่ทุกวันนี้ความเชื่อถือในศาลก็เสื่อมลงมาก การล้มโดยศาลก็ไม่ได้ใจประชาชน และไม่ได้เป็นการคลี่คลายปัญหาอะไรเลย

    ดังนั้นความพยายามในการก่อม็อบล้มรัฐบาลในวันนี้ จึงเป็นไปเพียงเพื่อสนองความสะใจของพวกเกลียดทักษิณสุดขั้วจำนวนน้อยนิด ไม่สามารถจะตอบได้เลยว่า การเคลื่อนไหวเชนนี้จะก่อให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาบริหารประเทศตามหลักการและกติกาประชาธิปไตย ความพยายามในการล้มรัฐบาลก่อนวาระจึงต้องล้มกติกาประชาธิปไตยลงไปด้วย การเคลื่อนไหวจึงกลายเป็นความพยายามอันเหลวไหลที่ไม่มีทางบรรลุผล



    ถ้าต้องการโค่นระบอบทักษิณและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหลายกลับไปหาวิธีการใหม่น่าจะเป็นการดีกว่า นั่นคือ การคอยเวลาอีก ๒ ปี เพราะนี่เป็นกรอบเวลาที่กำหนดล่วงหน้าแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะหมดวาระไม่เกินเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ และในระหว่าง ๒ ปีนี้ก็รวบรวมข้อมูลความผิดพลาดหรือความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล แล้วมานำเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นระบบมีเหตุผล ทำสงครามต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เป็นสงครามแห่งความรู้ พร้อมทั้งนำเสนอทางออกใหม่แก่สังคม รวมทั้งเสนอบุคคลที่เป็นทางเลือกใหม่ที่ภาพลักษณ์ดี ไม่เป็นพวกฆาตกรมือเปื้อนเลือดแล้วโกหกปลิ้นปล้อนรายวัน โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากจะหันมาสนับสนุนก็เป็นไปได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงประเทศก็จะเป็นไปอย่างสันติวิธีและตามกติกา

    สรุปแล้ว ถ้าจะล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แทนที่จะใช้วิธีการม็อบบังคับประชาชน ก็ใช้วิธีเคลื่อนไหวทางความคิดให้คนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย จะไม่ดีกว่าหรือ


    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
    จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๔๓๔ วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๖




++

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา !
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/10/49089
. . Sat, 2013-10-05 10:51



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 432 วันที่ 4 ตุลาคม 2556


สำนักข่าวเอเอสทีวี-ผู้จัดการเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รายงานข่าวโดยเสนอประเด็นว่า ในการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลาประจำปี พ.ศ.2556 นี้ มีการจัดงานเป็นสององค์กรแยกกันโดยชัดเจน คือ ฝ่ายมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ซึ่งจัดงานเป็นประจำอยู่ทุกปี แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์” และได้จัดงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และงานของฝ่ายเสื้อแดงนั้น เอเอสทีวีเห็นว่ามีปัญหา เพราะ จัดให้ “จาตุรนต์จ้อ พร้อมไฮไลต์ อำมาตย์เต้นทอล์กโชว์” ซึ่งหมายถึงรายการที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมากล่าวปาฐกถาในงานวันที่ 13 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตของประชาธิปไตย” และการที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมาเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ในเวลาบ่ายวันเดียวกัน

แต่ความจริง รายการที่น่าสนใจจากการจัดงานของฝ่ายกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังมีอีก โดยเฉพาะรายการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรายการเด่นที่ลงทุนค่อนข้างสูง รายการวัฒนธรรมนี้จะแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเย็นทั้งวันที่ 6 และ วันที่ 13 ตุลาคม นั่นคือ ละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ของประกายไฟ ลิเกกายกรรมเรื่อง “บัลลังก์เลือด” โดย มะขามป้อม และ งิ้วธรรมศาสตร์19 เรื่อง “เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ” ซี่งแน่นอนว่า งานวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะสะท้อนแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสำคัญ

ส่วนมูลนิธิ 14 ตุลา ได้มีการจัดกิจกรรมหลายอย่างปูทางมาสู่กระแส 40 ปี 14 ตุลาเช่นกัน เช่น การเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับวันที่ 14 ตุลาเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย การผลักดันให้ออกแสตมป์ที่ระลึก 40 ปี 14 ตุลา เป็นต้น แต่งานสำคัญคงอยู่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่ง ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปณิธานประเทศไทย” ที่น่าสนใจคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รับจะมาปาฐกถาทั้ง 2 งาน คือ ในวันที่ 13 ตุลาคม จะปาฐกถาเรื่อง “เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือ ประชาธิปไตย” ให้กับกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย และบ่ายวันที่ 14 ตุลา ก็จะปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความฝันเดือนตุลา 40 ปี” ที่หมุด 14 ตุลา ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายถึงว่า เสกสรรค์พยายามวางตัวเป็นกลางที่ประสานกับทั้งสองฝ่ายได้


มีคำถามที่ถามกันว่า การจัดเป็นสองงานเช่นนี้ หมายความว่าคนเดือนตุลาขัดแย้งแตกแยกกันใช่หรือไม่ หรือน่าจะมีความพยายามรวมกันเป็นงานเดียวได้หรือไม่ ต่อคำถามนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม คนเดือนตุลาก็ขัดแย้งกันมานานแล้ว ไม่เคยเป็นเอกภาพ และยิ่งขัดแย้งกันทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 จึงได้สะท้อนออกมาในการจัดงานครั้งนี้

จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้อธิบายว่า ในช่วง 7 ปีมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในกลุ่มนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดงาน 14 ตุลาด้วย ทำให้มีอีกหลายคนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดง ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น คนเสื้อแดงคงไม่มีใครสนใจที่จะไปฟังปาฐกถาของคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นแน่ ดังนั้น กลุ่มคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงต้องจัดงานขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเข้าร่วมด้วยได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการให้ความหมายแก่กรณี 14 ตุลา เพราะการที่คนรุ่น 14 ตุลาจำนวนมาก หันไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตีความประวัติศาสตร์ 14 ตุลาว่า ไม่ได้เป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นชัยชนะของฝ่ายศักดินาที่ฉวยโอกาสใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ในความเห็นของคนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่ชื่นชม 14 ตุลา แต่มีความชื่นชมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า เพราะรู้สึกว่าถูกปราบปรามสังหารจากต้นเหตุรายเดียวกัน ดังนั้น ฝ่ายของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย จึงต้องการให้มีการจัดงานเพื่อรื้อฟื้นความสำคัญของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาในฝ่ายประชาชนให้ชัดเจนขึ้น

ฝ่ายกรรมการ 14 ตุลาของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังอธิบายด้วยว่า เป้าหมายของการจัดงาน 14 ตุลา จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการตอบโจทย์ 14 ตุลา อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคลที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน และไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การจัดงาน 14 ตุลาอย่างเป็นเอกภาพเพียงงานเดียว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อันที่จริงตามหลักการของประชาธิปไตย ก็ยอมรับในความเป็นอิสระของความคิดที่แตกต่าง เพราะการบังคับให้คนคิดอย่างเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพนั้นคือระบอบเผด็จการ การยอมรับในความแตกต่าง และให้แต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตามทิศทางของตนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และยังเป็นวิธีการระดมคนเข้าร่วมได้หลากหลายที่สุด


ส่วนงาน 6 ตุลาครบรอบ 37 ปีในปีนี้ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเดือนตุลา เป็นเจ้าภาพในการจัดด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฝ่ายเหลืองสลิ่มส่วนมากก็ไม่จัดงานและไม่ค่อยร่วมงาน 6 ตุลามานานแล้ว จึงกลายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นคนจัดงานโดยปริยาย แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะหันไปจัดงาน และสดุดีวีรชน 7 ตุลาแทน

สรุปแล้วเจตนารมณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ได้ถูกตีความใหม่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันถึงจิตใจแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการ 14 ตุลา เพียงแต่ว่าการตีความประชาธิปไตยในวันนี้มีความแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การจัดงานที่แยกจากกัน ซึ่งถือได้ว่าทำให้งาน 14 ตุลาปีนี้มีความคึกคักขึ้นกว่าปีก่อนมาก

สำหรับประเด็นในทางประวัติศาสตร์ การตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแสดงให้เห็นด้วยซ้ำว่า ประเด็นทางประวัติศาสตร์นั้นยังไม่ตายและยังเป็นที่สนใจ เช่นเดียวกับประเด็นประวัติศาสตร์ 14 ตุลาที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้



.