http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-11-24

อารยะขัดขืนอีกแย้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อารยะขัดขืนอีกแย้ว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5USTJOemMxTnc9P
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 11:35 น.

(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2556 หน้า 25)
ภาพจากเวบบอร์ด มิใด้เกี่ยวข้องกับ มติชนหรือผู้เขียน


อารยะขัดขืนคือคำแปลของภาษาอังกฤษว่า civil disobedience ซึ่งนักเรียนอักษรศาสตร์ต้องรับไปด้วยความพะอืดพะอม เพราะมีรูปเหมือนคำสมาส ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเอาสองภาษามาสมาสกันได้ ถ้าแปลว่าขัดขืนอย่างอารยะ ก็ฟังเป็นไทยกว่า แม้ความเป็นคำนามดูจะหายไปก็ตาม

ผมจู้จี้กับเรื่องนี้เพราะ “อารยะ” มีความสำคัญมากในศัพท์นี้ ทั้งที่ในภาษาอังกฤษ ผมเข้าใจว่า civil ในที่นี้หมายถึงอะไรที่ไม่ใช่รัฐ มากกว่าหมายถึงนาครธรรม (civility) แต่โดยรากศัพท์สองคำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน จะแปลว่าอารยะก็ได้ เพราะฝรั่งเชื่อว่าอารยธรรมมากับความเป็นเมืองหรือ “นาคร” และที่จริงอารยธรรมก็เป็นรากศัพท์เดียวกันในภาษาฝรั่งอีกนั่นแหละ

อารยะสำคัญอย่างไรในการทำอารยะขัดขืน ผมหวังว่าผู้อ่านจะเห็นได้เองข้างหน้า


คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำฝูงชนที่ประท้วงรัฐบาลอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยกระดับการประท้วงไปสู่การทำอารยะขัดขืนสี่แนวทางด้วยกัน

1. หยุดจ่ายภาษี แต่มาขยายความในภายหลังว่าให้ชะลอการจ่ายภาษี

2. หยุดงานและหยุดเรียนทั่วประเทศ

3. ชักธงชาติขึ้นทุกบ้านเป็นสัญลักษณ์การประท้วง

4. เป่านกหวีดใส่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกในเมืองไทยที่อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืน ผู้ประท้วงรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนรัฐประหารก็อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืนเช่นกัน พันธมิตรฯ ก็เคยอ้างการละเมิดกฎหมายของตนว่าเป็นการทำอารยะขัดขืน

แต่มันใช่หรือครับ?

หลักข้อแรกของการทำอารยะขัดขืนซึ่งคุณสุเทพหรือใครอื่นที่อยากทำควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ สิ่งที่ทำนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย แต่เพราะกฎหมายไม่ชอบธรรม หรือเพราะรัฐทำสิ่งที่เสียหายมากจนต้องประท้วงด้วยการละเมิดกฎหมาย แต่ผู้ประท้วงไม่ต้องการทำลายรัฐ อันเป็นรากฐานสำคัญของ “อารยะ” ถึงประท้วงรัฐก็ยอมรับอำนาจของรัฐ และความจำเป็นที่รัฐจะต้องดำรงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุดังนั้นจึงยินดีรับโทษด้วยความยินดี นักปฏิบัติอารยะขัดขืนเห็นว่า การรับโทษนั่นแหละยิ่งทำให้ผู้คนมองเห็นความไม่ชอบธรรมของรัฐมากขึ้น จนออกมาร่วมประท้วงจำนวนมาก กลายเป็นพลังที่สามารถกำกับควบคุมให้รัฐยุติการกระทำที่ไม่ชอบธรรมนั้นได้

ผมไม่ทราบว่า คุณสุเทพยอมรับหลักการนี้แค่ไหนเพียงไร แต่อยากเตือนว่า นักปฏิบัติอารยะขัดขืนที่เข้าคุกหรือโดนยิงเป้า แล้วก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง มีจำนวนน้อยมากในโลก เท่าที่ผมนึกออกก็มีกรณีที่เห็นได้ชัดคือท่านมหาตมะคานธี และ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ที่เห็นไม่ชัดอาจมีอีกก็ได้ (เพราะมักแยกไม่ออกระหว่างนักปฏิบัติอารยะขัดขืนกับนักปฏิวัติ เช่น โฮเซ่ ริซาล แห่งฟิลิปปินส์) ส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติอารยะขัดขืน มักรับโทษไปคนเดียว ดังเช่นเดวิด โธโรส์ เจ้าตำรับชาวอเมริกัน

ในอนาคต คุณสุเทพอาจมีชื่อในประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในตอนนี้ เพราะถึงมีรัฐประหาร เขาก็คงไม่ชักสายล่อฟ้าอภิสิทธิ์ขึ้นอีก แค่ไม่มีอภิสิทธิ์ ยังไม่รู้ว่าจะปรามการจลาจลได้อย่างไร


ยิ่งคิดถึงผู้เข้าร่วมประท้วง ผมยิ่งค่อนข้างเชื่อว่า ส่วนใหญ่คงไม่อยากจะหยุดการชำระภาษี เพราะมีโทษปรับเป็นอย่างน้อย หากชำระเกินเวลาที่รัฐกำหนดไว้ อย่าลืมสิ่งที่เบนจามิน แฟรงกลิน กล่าวไว้นะครับว่า สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมนุษย์นั้นมีอยู่สองอย่างคือความตายกับภาษี

อันที่จริง ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะดำเนินการอะไรต่างๆ ทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม การหยุดชำระภาษีจึงเท่ากับปลดอาวุธของรัฐได้ราบเรียบอย่างแน่นอน และนักประท้วงรัฐทั่วโลกก็คิดเรื่องนี้มาหลายศตวรรษแล้ว แม้ไม่ได้คิดประท้วงรัฐเลย ก็ไม่อยากเสียภาษีอยู่ดีแหละครับ

คนที่ไม่รู้ว่าจ่ายภาษีครบหรือไม่ และออกมาพูดว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่พลเมืองนั้น ผมคิดว่าพลาดประเด็นไปถนัด ก็เพราะเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐกำหนดขึ้นล่ะสิครับ จึงเอามาขัดขืนอย่างอารยะได้

แต่การไม่เสียภาษีบำรุงการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐโดยไม่ต้องรับโทษนั้นมีวิธีครับ หากเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ซึ่งใจไม่ถึงทำไม่ได้ นั่นก็คืออย่ามีรายได้หรือมีกำไรในการค้าสิครับ รวมทั้งไม่ซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ไม่ง่ายครับ แต่มีคนใจถึงทำมาแล้ว นั่นคือ นายเดวิด โธโรส์ ที่กล่าวถึงไปแล้ว เขาเลิกทำงาน แล้วออกไปอยู่ดงหนองน้ำ Walden คนเดียวทั้งปี กินอาหารตามธรรมชาติ ไม่มีรายได้ที่จะนำมาประเมินภาษีได้ รวมทั้งไม่ซื้อหาอะไรมาบริโภคอีกด้วย เขาเห็นว่ารัฐเอาเงินภาษีไปทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ ไม่ชอบธรรม การเสียภาษีจึงเท่ากับร่วมมือกับรัฐในการประกอบอาชญากรรมระหว่างประเทศไปด้วย

นายโธโรส์ทำอะไรเหมือนบรรพบุรุษของคนทั้งโลกเคยทำมาแล้ว คือเมื่อทนเสียภาษี ถูกเก็บส่วยและเกณฑ์แรงงานไม่ไหว ก็หนีออกไปอยู่ในที่ซึ่งมือของรัฐเอื้อมไปไม่ถึง แต่รัฐสมัยใหม่ที่นายโธโรส์มีชีวิตอยู่มือมันยาวมาก ไม่มีที่ไหนจะหนีรอด จึงต้องยากลำบากถึงเพียงนั้น เพื่อให้พ้นมือของรัฐไปได้

ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมประท้วงกับคุณสุเทพสักคนเดียวที่พร้อมจะหยุดจ่ายภาษีด้วยวิธีอารยะขัดขืน เพราะมันแพงไปในทุกทาง แพงค่าปรับ และแพงชีวิตเกินกว่าคนทั่วไปจะรับไหว



ผมอดคิดถึงการประท้วงธนาคารของคนจนฟิลิปปินส์ไม่ได้ ดูเหมือนธนาคารเรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชีอะไรทำนองนั้น คนจนจึงประท้วงด้วยการถอนเงินและฝากเงินที่เคาน์เตอร์กันทั้งวัน จนธนาคารแทบทำอะไรไม่ได้ นอกจากบริการลูกค้าที่ถอนๆ ฝากๆ อยู่ทั้งวัน นี่คืออารยะขัดขืนจริง และทำได้ในโลกสมัยปัจจุบัน ยังมีวิธีอารยะขัดขืนที่คนจนทั่วโลกคิดขึ้นอีกหลายวิธี ล้วนเด็ดๆ และเป็นการขัดขืนอย่างอารยะทั้งนั้น เพราะอารยะคือเกราะป้องกันตัวของคนจนคนไร้อำนาจ อาวุธของคนจนจึงล้วนเป็นอารยาวุธทั้งสิ้น

แต่อาวุธที่อารยะเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ขึ้นไปร้องตะโกนบนเวที แล้วให้ปรบมือหรือเป่านกหวีดรับเป็นมติ อาวุธอารยะเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกัน คิดร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องและอุดช่องโหว่ต่างๆ จึงลงมือปฏิบัติการร่วมกันให้ได้ผล การดำเนินการแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการคนจน ไม่ใช่การนำของวีรบุรุษเอกชนคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว

ยกเว้นแต่มีผู้นำระดับมหาตมะคานธี แต่คนอย่างคานธีไม่ได้เกิดมีขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กระบวนการประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทำอารยะขัดขืน เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า ในรัฐปัจจุบัน การทำอารยะขัดขืนโดยปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ยากเกินไป จำเป็นต้องทำเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่พอสมควร กลุ่มก้อนนั้นจะรวมตัวกันติดเป็นเวลานานได้ ก็คือการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมเท่านั้น ทุนอุดหนุนการชุมนุมก็ตาม, วาทศิลป์ของผู้นำก็ตาม, ความบันเทิงบนเวทีก็ตาม ฯลฯ มาแทนที่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมไม่ได้

เพราะดูยังไงๆ ก็เป็นการประท้วงของคุณสุเทพและแฟนานุแฟนของ ปชป. อยู่ดี ไม่ใช่อารยะขัดขืน

การหยุดงานและหยุดเรียนก็มีราคาเหมือนกัน หากผู้ประกอบการทั้งหลายพากันปิดงานประท้วง ราคาที่ต้องจ่ายก็คือ อาจผลิตสินค้าได้ไม่ทันออเดอร์ ในขณะที่พนักงานไม่มีราคาต้องจ่าย ยกเว้นแต่ลูกจ้างรายวัน (ซึ่งมีจำนวนมหึมาในแรงงานไทย) แต่หากให้พนักงานแต่ละคนหยุดงานโดยสมัครใจ คงทำได้จำนวนน้อยเท่านั้น เพราะพนักงานส่วนใหญ่คือคนที่ต้องเกรงใจนายจ้าง คนที่นายจ้างเกรงใจมีจำนวนน้อย แม้แต่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็มีเฉพาะบางหน่วยที่ไม่ต้องกลัวนายเท่านั้น เช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บางคณะ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางหน่วย ก็อย่างที่บอกแล้วว่ามันมีราคาที่ประมาณลำบาก เรี่ยไรเงินยังพร้อมจ่ายมากกว่า เพราะรู้แล้วว่าจะจ่ายเท่าไร

ผมไม่ทราบว่าเหตุใดผู้นำการประท้วงจึงเลือกวิธีนี้ในการทำอารยะขัดขืน เพราะเป็นวิธีที่หวังผลได้น้อย อยากจะเดาว่าประเมินกำลังของตนเองผิด เหมือนการนำคนเดียวในที่อื่นและสถานการณ์อื่น

การประเมินผิดเป็นจุดอ่อนของระบบนำคนเดียวเสมอ นับตั้งแต่นโปเลียนมาถึงฮิตเลอร์ สตาลิน เหมาเจ๋อตง คุณทักษิณ และคุณสุเทพ


ส่วนชักธงชาตินั้น ผมมองไม่ออกว่าขัดขืนอะไร ประเทศนี้ใช้ธงชาติกล่อมให้ประชาชนลืมความอยุติธรรมและความยากลำบากมานานแล้ว ยิ่งชักยิ่งชอบ ผมเห็นหลายบ้านชักธงชาติคู่กับธงตราประจำรัชกาลมานานแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาชักเพื่อร่วมประท้วง หรือเขาชักอยู่เป็นประจำ ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เสนอให้นุ่งกางเกงประท้วงเป็นสัญลักษณ์ล่ะครับ พรึบเลย นับเป็นการขัดขืนที่ “อารยะ” จริงๆ เลยทีเดียว คือเอากิจวัตรปรกติมาเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน เสียแต่ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะรู้ไหมเนี่ย ว่าถูกขัดขืนไปแล้ว


มาถึงการเป่านกหวีดใส่นักการเมืองพรรคเพื่อไทย คิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า การรังแกผู้อื่นเป็นอารยะขัดขืนไปได้อย่างไร มหาตมะคานธีตั้งกฎการเดินขบวนที่แม้แต่สาวกใกล้ชิด (เช่นท่านเนห์รู) ก็ทำไม่สำเร็จ นั่นคือเมื่อตำรวจอินเดียซึ่งใช้ไม้กระบองยาวเป็นอาวุธ (ลาธิ) ยกขึ้นจะตีหัวผู้เดินขบวน ท่านแนะว่า อย่าแม้แต่ยกมือรับกระบองเพื่อป้องกันศีรษะ (อันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์) เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อรับกระบอง สอดรับกับการใช้ความรุนแรง อันเป็นเหตุให้ตำรวจยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้น นี่เป็นสุดโต่งของอารยะขัดขืน แต่เห็นหลักการของอหิงสาซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของอารยะขัดขืนได้ชัดดี

ถึงยกเรื่องอารยะขัดขืนออกไป การเป่านกหวีดใส่ปฏิปักษ์ก็ทำได้ยากในวัฒนธรรมไทย ครูของผมคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เฮอเบิร์ต ฟิลลิปส์ พูดถึงบุคลิกภาพของชาวนาไทย (ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยทั่วไปด้วย ไม่มากก็น้อย) เรื่องหนึ่งไว้ว่า คนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้าตรงๆ (face-to-face conflict) แต่เลี่ยงไปเกาะกลุ่มนินทา บัตรสนเท่ห์ หรือโจมตีปฏิปักษ์ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เห็นคู่ขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้ง

การเป่านกหวีดเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนถูกเป่าก็เห็นหน้าคนเป่าอย่างถนัด ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากทำ ยกเว้นในสถานการณ์ที่มีผู้เป่านกหวีดมากเสียจนหน้าของผู้เป่าถูกกลบไปในฝูงชน เสียงบ่นของ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกนักการเมืองเป่านกหวีดใส่นั้นน่าสนใจนะครับ ท่านบอกว่าก็คนรู้จักกันมานานๆ ทั้งนั้นไม่น่าทำอย่างนี้เลย คุณจาตุรนต์ลดการประท้วงมาเป็นเรื่องส่วนบุคคล และด้วยเหตุดังนั้น จึงกลายเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนไทยฟังแล้วคงเห็นว่า อ้าว ไม่ใช่เรื่องบ้านเมืองหรอกหรือ ที่แท้ก็เรื่องหมากัดกัน กูไม่เกี่ยวดีกว่า

ผมอยากช่วยคงความหมายของ civil disobedience มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จสักที เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ว่า civil disobedience เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นต้องมีสำนึกในเรื่อง civil society อย่างชัดเจนและเต็มเปี่ยมกว่านี้ การเกาะกลุ่มกันเพื่อแย่งอำนาจรัฐจึงถูกบิดเบือนความหมายเป็น civil disobedience ได้ง่ายด้วยประการฉะนี้



.

2556-11-13

พิชญ์: จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ

.

จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 
madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384249824
วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:00:29 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน อังคาร12พ.ย.2556 )


เรื่องราวที่อยากจะเขียนถึงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของปฏิกิริยาของการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนฯนั้นมีมากมาย แต่เรื่องที่น่าจะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งนั่นก็คือเรื่องของ "ม็อบต้านโกง"

หรือจะให้กล่าวอีกอย่างก็คือ เราจะพบว่า การต้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น มีลักษณะของความซับซ้อนเพราะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนฯนั้น ในความรับรู้ร่วมกันของสังคมก่อนที่จะผ่านสภานั้น เป็นเรื่องของการพยายามนิรโทษกรรมบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกม้วนเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และก่อนที่จะมีประเด็นการถกเถียงเช่นวันนี้ ก็มีแต่เรื่องราวสำคัญที่เป็นข่าวอยู่เรื่องเดียวหลักๆ ก็คือว่า ตกลงทหารจะหลุดหรือไม่ (วันนี้เรื่องนี้เงียบไป) เพราะแกนนำการชุมนุม และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่านั้นต่างก็เชื่อมั่นว่าตนนั้นถูกต้องและพร้อมจะสู้คดี

แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเนื้อหาของตัวร่างกฎหมายในขั้นกรรมาธิการ และเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เรื่องราวก็เปลี่ยนไปจากเรื่องราวของการนิรโทษกรรมมาสู่เรื่องของระบอบต้านโกงเป็นเนื้อหาหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน คนโกงก็จะได้รับการนิรโทษ และเรื่องของการโกงในสังคมไทยก็จะกลายเป็นเรื่องที่รับได้


ทั้งที่ในเรื่องของการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังมีเรื่องของการคัดค้านในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นก็คือ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าผู้ชุมนุมนั้นหลุดรอดไปด้วย แต่เรื่องราวในฝั่งนี้ถูกนำเสนอในแง่ของความแตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับพรรค หรือในแง่ของการถูกหลอกของคนเสื้อแดงเสียมากกว่า


ขณะที่ข่าวการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมในแบบต้านโกงนั้นถูกนำเสนอในแง่ของม็อบที่จุดติด และพลังจำนวนมหาศาลของมวลมหาประชาชน ด้วยภาพสีสันของข่าวและความสอดคล้องกันของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

โดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยถึงลักษณะที่อาจจะขัดกันเองหลายๆ ประการของม็อบที่น่าจะเรียกง่ายๆ ว่า "ม็อบต้านโกง" เช่นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้แล้ว ทางออกของการนิรโทษกรรมคืออะไร? เพราะเรื่องนี้ควรจะกลับไปตั้งหลักที่ เรื่องของการนิรโทษกรรม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความปรองดอง แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่เรื่องของการต้านโกง การไม่นิรโทษคนโกง และการไม่ปรองดองกับคนโกง


หรือการที่แกนนำของม็อบเองนั้นก็เคยเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงมาก่อน หรือระบอบที่มาจัดการคนโกงอย่างการทำรัฐประหารเองนั้นก็นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยเพราะว่าผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากระบอบรัฐประหารก็ถูกกล่าวหาว่าโกงเช่นกัน


คําถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมการต้านโกงของประเทศนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเสียจนทำให้คุณค่าในส่วนอื่นๆ ของสังคมนั้นสามารถถูกลดทอนลงได้ อาทิ เรื่องของสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวหรือการพิจารณาในแง่ของการให้อภัยสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกม้วนตัวเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรือในแง่ของประชาธิปไตย-ที่ข้อกล่าวหาเรื่องของการโกง ทำให้การทำรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายกฎหมายและระบบนิติรัฐ-นิติธรรม รวมทั้งระบอบการเลือกตั้งและประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้ (ยิ่งโดยเฉพาะกับคนหลายคนที่ยอมรับว่าไม่ต้องการการรัฐประหาร แต่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะหนทางปกติในการต้านโกงนั้นทำงานไม่ได้)

ถ้าเราไม่ด่วนสรุปกันจริงๆ ว่า ม็อบต้านโกงนั้นเป็นเรื่องที่เท่ากับม็อบต้านคุณทักษิณ เราก็คงต้องมานั่งคิดมากอยู่ว่าสังคมไทยรับไม่ได้กับการโกงเอาเสียเลย หรือสังคมไทยนั้นรับไม่ได้กับการโกงอะไรบ้าง

หรือถ้าคิดอีกทีว่า ถ้าเรากล้าฟันธงไปเลยว่า ถ้าม็อบต้านโกงกับม็อบต้านคุณทักษิณนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เราก็ต้องมานั่งคิดว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงรับคนอย่างคุณทักษิณไม่ได้เอาเสียเลย

พูดอีกอย่างก็คือ ระบอบต้านโกงแบบบ้านเรานั้นมีชีวิตที่เติบโตขึ้นอย่างใหญ่โต มีตรรกะของมันเอง และมีพัฒนาการไปสู่เรื่องที่ใหญ่โตขึ้นไปกว่านั้นคือ ระบอบต้านโกงนั้นมิได้มีความสำคัญในด้านของเนื้อหาสาระว่าการโกงคืออะไร

แต่ยังรวมไปถึงการทำหน้าที่ทางการเมืองของการกล่าวหาคนโกงที่สามารถรองรับการละเมิดกฎเกณฑ์ปกติของการจัดการการโกงได้ด้วย
ซึ่งหมายถึงว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเรากล่าวหาว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องของการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ แต่ท้ายที่สุดเราก็จัดการ-การไม่ทำตามกฎเกณฑ์ด้วยการล้มกฎล้มเกณฑ์ด้วยอำนาจนอกระบบเช่นกัน โดยเฉพาะการทำรัฐประหาร และที่สำคัญจะพบว่าการทำรัฐประหารในสองครั้งหลังคือเมื่อ 2534 และ 2549 นั้นก็มีเรื่องของการโกงเป็นข้ออ้างสำคัญในการทำรัฐประหาร และมีกระบวนการจัดการการโกงในลักษณะพิเศษทั้งสองครั้ง


ทีนี้เมื่อมาพิจารณาในเรื่องของการโกง เราคงต้องตั้งคำถามก่อนว่า การโกงมีกี่แบบ และแบบไหนที่สังคมไทยรับไม่ได้มากที่สุด

ผมอยากจะลองตอบว่า การโกงน่าจะมีอยู่สักสี่แบบ หรือสี่กลุ่มใหญ่ นั่นก็คือ ชาวบ้าน นักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมือง

การโกงของชาวบ้านนั้นไม่ค่อยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างกัน หรือเป็นเรื่องที่สามารถใช้อำนาจรัฐในการไล่จับได้

การโกงของเอกชนก็เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่สุดก็คงจะมีสองเรื่องคือ โกงประชาชน และโกงภาษี ซึ่งก็จะรุนแรงมากขึ้นไปกว่าการโกงของชาวบ้าน

การโกงของข้าราชการในอดีตนั้นจับได้ยาก และประชาชนไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่น เพราะข้าราชการเขาเป็นผู้ปกครองประเทศเสียเอง แต่ในระยะหลังเมื่อมีองค์กรที่ตรวจสอบ หรือมีสื่อต่างๆ เรื่องของการโกงของข้าราชการนั้นก็ถูกตรวจสอบมากขึ้น


การโกงของนักการเมืองนั้นเป็นการโกงที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในความรู้สึกของเรา อันนี้จะว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองก็อาจจะไม่ได้ เพราะนักการเมืองนั้นเมื่อโกงก็จะรุนแรงที่สุดในความหมายที่ว่า เขาเข้ามาสู่อำนาจรัฐ (หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ) จึงจับได้ยาก และหากนักการเมืองนั้นมาจากนักธุรกิจและโกงให้ธุรกิจตนเองด้วยก็จะยิ่งทำให้กลไกการตรวจสอบมันทำงานได้ยาก

และที่สำคัญนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้นถูกมองว่าร้ายที่สุดก็เพราะว่าเมื่อนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น-มาจากประชาชนด้วย ก็จะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเปราะบางเข้าไปใหญ่ ทั้งจากคนที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเอง และสำหรับคนที่ไม่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยนั้น
การมีนักการเมืองจากประชาชนแล้วถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น ยิ่งเข้าทางของการเป็นเงื่อนไขที่บอกว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง และมันไม่ยุติธรรมในความหมายที่ว่ามันไม่สอดคล้องกับความจริงอันแสนจะงดงามที่ว่าคนแต่ละคนควรจะทำหน้าที่ตามคุณสมบัติ/คุณลักษณะของตนเอง (ขณะที่ความยุติธรรมอาจจะมีความหมายในแง่อื่นๆ อีก เช่นความเท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับการพิจารณา)

นอกจากนั้น การโกงของนักการเมืองนั้นเลวร้าย เพราะว่านักการเมืองนั้นสามารถสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ได้ด้วย เพราะเขาไม่ใช่แค่คนคุมกฎเหมือนข้าราชการ แต่เขาสามารถเขียนกฎหมายใหม่ได้ด้วย


คนที่รักประชาชนเอามากๆ ก็จะยิ่งรับนักการเมืองที่โกงไม่ได้ เพราะเชื่อว่านี่คือปัญหาศีลธรรมที่สูงที่สุดอันหนึ่ง เพราะการโกงของนักการเมืองนั้นไปเปลี่ยนแปลงประชาชนให้ยอมรับการโกงต่อไป จึงเป็นอันตรายต่อประชาชนในระยะยาว ทั้งนี้ เพราะโดยทั่วไปการโกงนั้นถูกมองมาตลอดอยู่แล้วว่าเกิดได้เพราะวัฒนธรรมบางอย่าง-อาจจะมองว่าการโกงบางเรื่องนั้นรับได้ และยิ่งการโกงมีมากขึ้น และมีการลดแลกแจกแถมหรือแลกเปลี่ยนกันอีก การโกงก็จะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมให้รับการโกงได้มากขึ้น และทำร้ายประชาชนในระยะยาว ซึ่งส่งผลมากกว่าในเรื่องทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก



เท่าที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำให้กระจ่าง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นก็คือ ระบอบต้านโกงที่ดำรงอยู่นั้นไม่ใช่ว่าไม่มี แต่อาจจะทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่เราก็อาจจะต้องพิจารณาว่า ที่ทำไม่ได้เต็มที่นั้นเพราะว่าระบบเราไม่เข้มแข็ง หรือเพราะว่าวิธีคิดเรื่องของการต้านโกงนั้นมันก็มีประเด็นท้าทายสำคัญอยู่ในนั้นกันแน่? (หรือทั้งสองอย่าง?)

กล่าวคือ หากพิจารณาให้ดี ระบอบต้านโกงโดยเฉพาะระบอบต้านโกงที่มุ่งไปที่นักการเมืองนั้นปรากฏตัวอย่างชัดเจนนับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมือง ที่มุ่งเน้นที่จะจัดการนักการเมืองที่โกงให้ได้ ดังที่จะพบในกรณีของการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหนึ่งในองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือที่มาทีหลัง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (2542) กรมสืบสวนคดีพิเศษ (2545) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ในยุคหลังรัฐประหาร และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน


งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของอาจารย์ประเทือง ม่วงอ่อน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ชี้ให้เห็นว่าระบอบการจัดการการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเมื่อนับงบประมาณรวมกันแล้ว (ไม่นับในส่วนของศาล) มีสถานะเท่ากับกระทรวงย่อมๆ หนึ่งกระทรวง ซึ่งหมายถึงว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ ในทุกองค์กร นอกจากนั้น ยังมีลักษณะที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และทับซ้อนของอำนาจหน้าที่ ไม่รวมถึงความลักลั่นของการทำงานเช่นการไล่จับนักการเมืองท้องถิ่น แต่ก็ของบประมาณและความร่วมมือไปที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นด้วยในกรณีของจังหวัดกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่จับเขาด้วยและขอการสนับสนุนด้านงบประมาณกับเขาด้วย

ประเด็นท้าทายที่สำคัญอีกประเด็นที่อาจารย์ประเทืองชี้ให้เห็น ก็คือ ระบบการต้านการทุจริตฯในประเทศไทยนั้นมีลักษณะที่ถูกจัดตั้งมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลบางยุคสมัยเช่นกัน โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการพยายามนิยามความดีและคุณธรรมที่องค์กรต่างๆ เชิดชู

หรือกล่าวอีกอย่างเมื่อพิจารณาจากงานวิจัย ก็คือการอ้างอิงถึงความดีและคุณธรรมนั้นบ่อยครั้งทำหน้าที่เป็นฐานความชอบธรรมของการมีระบอบต้านโกง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไปไกลถึงการมองว่าประชาชนนั้นยังขาดการศึกษา หรือไม่พร้อมที่จะดูแลตนเอง ดังคำสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้านโกงเหล่านั้นในงานวิจัยของอาจารย์ประเทือง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยในภาพรวมด้วย
และเรามักจะไม่ค่อยนึกกัน ว่าสุดท้ายแล้วหากระบอบต้านโกงนั้นทำงานใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าระบอบได้พัฒนาขึ้นมาเสียจนสามารถจัดการทุกคนทุกเรื่องได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ระบอบต้านโกงก็อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาไปด้วย

ยิ่งในกรณีที่ระบอบต้านโกงที่เกิดขึ้นในวันนี้ยิ่งกว้างขวางไปกว่ากลไกตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานระบอบต้านโกงที่ทำงานอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องต้านโกงการเป็นการช่วงชิงกันในแง่ของการกล่าวหาทางการเมือง และการรณรงค์ด้านจิตสำนึกมากกว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ระบอบการต้านโกงแบบไทยๆ ที่มีลักษณะปฏิบัตินิยมสูง (คือมุ่งไปที่ผลโดยอาจไม่สนใจกระบวนการ)เช่นนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความเป็นธรรมและอาจเต็มไปด้วยอคติอีกมากมายที่เรานึกไม่ถึงก็อาจเป็นได้



.
___________________________________________________________________________________

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

2556-11-11

ราคาสุดซอย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ราคาสุดซอย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384095819
วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:11:26 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. 2556 หน้า 6 )
ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ www.thairath.co.th 


ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ผมอยู่ห่างจากสี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์กว่า 800 กม. ไม่มีญาติคนใดเข้าไปอยู่ในการประท้วงที่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายสักคนเดียว แต่ผมเจ็บปวดกับการล้อมปราบด้วยอาวุธจริง จนเป็นเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตเกือบร้อย และบาดเจ็บกว่า 2,000 รวมทั้งการใช้ (abuse) กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมแก่ผู้คนอีกร่วม 1,000 หลังจากนั้น

จึงอยากเรียนให้ ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทราบว่า ผมไม่มีความ 'เจ็บปวด'(เจ็บแค้น) ส่วนตัวกับใครแต่อย่างใดทั้งสิ้น แม้กระนั้นผมก็ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะผมห่วงลูกหลานในอนาคตว่าจะอยู่กันต่อไปในสังคมที่ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงเยี่ยงนี้ได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป ก็ต้องเดินหน้าไปสู่ความเป็นสังคมที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย (ไม่ใช่เพียงอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับใดก็ได้)



ผู้มีอำนาจไทยใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับประชาชนมาหลายครั้ง ทุกครั้งก็จะได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยข้ออ้างอย่างเดียวกับที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้ คือเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่สนใจว่าแล้วจะเดินหน้าไปสู่อะไร ถ้าเห็นแก่ลูกหลานจริง ต้องหยุดความป่าเถื่อนของผู้มีอำนาจลงให้ได้ ไม่ใช่การให้อภัยตั้งแต่ผู้ทำผิดยังไม่สำนึกผิดเลย ดังร่าง พ.ร.บ.ซึ่งผ่านสภาผู้แทนฯไปด้วยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์เป็นสมาชิกคนสำคัญอยู่

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อบอกว่า คำประกาศถอยหลังสุดซอยของท่านนายกฯ ไม่ช่วยให้คะแนนเสียงของรัฐบาลดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะคนที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยความคิดเหมือนกับผม คือไม่ใช่ความเจ็บแค้นส่วนตัว แต่เป็นความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทย คงรู้สึกถูกสบปรามาสเหมือนกัน ผมเชื่อว่านอกจากผมแล้ว ยังมีคนอย่างนี้อีกมาก แม้เราไม่มีกำลังออกไปเดินประท้วงในถนนให้ทีวีรายงานข่าวก็ตาม

ผมไม่รู้ว่ากุนซือคนไหนที่ร่างแถลงการณ์ให้คุณยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อออกจากปากของคุณยิ่งลักษณ์ได้ ก็เป็นสิ่งที่พวกเราควรเรียนรู้และจดจำไว้ ว่าคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมีความเห็นต่อเราอย่างไร

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงปฏิปักษ์ของคุณยิ่งลักษณ์ซึ่งอาจใช้ความกำกวมในการประกาศถอยหลังครั้งนี้ ไปในทางให้ร้ายคุณยิ่งลักษณ์ได้ถนัด เช่นข่าวของสำนักข่าวอิศราในสังกัดสมาคมนักข่าว ที่รายงานข่าวว่าคุณยิ่งลักษณ์ประกาศสู้สุดซอย ถ้านักข่าวอ่านหนังสือไทยไม่แตกได้ถึงแค่นี้ สิ่งที่สมาคมน่าจะฝึกอบรมนักข่าวก่อนอื่นคือวิชาอ่านเอาเรื่อง

ผมก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดกุนซือถึงไม่ร่างประกาศให้ตรงไปตรงมาว่า จะถอยโดยมติของวุฒิสภา เพราะความคิดของรัฐบาลในเรื่องนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมาก... ทั้งที่แสดงออกในถนน และนอกถนน



ในขณะเดียวกัน ข้อค้านของกลุ่มที่ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ก็น่าสังเวชพอๆ กัน นักกีฬา, ดารา, ป.ป.ช., ตุลาการ, และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พากันออกมาประท้วงให้เป็นข่าวทั่วไป แต่เกือบทั้งหมดของแถลงการณ์หรือคำให้สัมภาษณ์ที่ผมได้อ่านและฟัง ล้วนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยเหตุผลที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ปล่อยให้คุณทักษิณ ซึ่งต้องโทษในกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รอดพ้นจากการถูกลงโทษทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างจากคำให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างก็ได้ ท่านบอกว่าร่าง พ.ร.บ.ทำลายระบบนิติรัฐ ส่งเสริมการคอร์รัปชั่น เพราะถึงโกงไปก็จะไม่เป็นไร เพราะจะได้รับนิรโทษกรรม ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกเดือดร้อน เพราะจะสอนลูกศิษย์ให้มีคุณธรรมได้อย่างไร ถ้าการคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องที่สังคมถูกบังคับให้ไม่เอาโทษ

แต่ท่านไม่พูดถึงการรัฐประหาร ว่าทำลายระบบนิติรัฐไปอย่างไร ท่านไม่พูดถึงรายละเอียดของคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครได้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนี้) ท่านไม่พูดถึงรายละเอียดในคดียึดทรัพย์ และข้อฉงนของนักกฎหมายอีกมากที่สงสัยว่าหลักฐานเหล่านั้นประกอบกันขึ้นเป็นความผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ และแน่นอนท่านไม่พูดถึงกระบวนการของคดี ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของการรัฐประหาร


ผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญกว่านั้นอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ เช่น กรณีกรือเซะ, ตากใบ, ฆ่าตัดตอน, การหายตัวไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ ล้วนยังไม่มีการสอบสวนให้กระจ่างสักเรื่องเดียว แม้แต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อต่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีทุจริตที่เกิดขึ้นต่ออุปกรณ์ของสนามบินสุวรรณภูมิ หรือราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตของหุ้นบริษัทมือถือของชินวัตร ฯลฯ ล้วนยังไม่มีการสืบสวนจนกระจ่าง หรือมีคำอธิบายที่พอจะรับได้จากใครทั้งสิ้น

คุณทักษิณนั้นรอดตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปทันที ที่กระบวนการทำคดีกลายเป็นผลมาจากการรัฐประหาร (ทั้งด้วยอาวุธและตุลาการภิวัฒน์)

เพราะใครๆ ก็อาจเคลือบแคลงได้ว่าทั้งหมดคือการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยไม่เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ

ท่านอธิการบดีกำลังพูดถึงนิติรัฐด้านเดียว และกำลังพูดถึงการเว้นโทษแก่คนโกงโดยไม่ใส่ใจต่อรายละเอียดที่คนอื่นอาจใช้เพื่อสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้ ถ้าเราเป็นครู ให้ข้อมูลด้านเดียวเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปตามอคติส่วนตน จะถือว่าเป็นการโกงนักศึกษาหรือไม่ และนี่ใช่การคอร์รัปชั่นหรือไม่ เพราะครูไม่ใช่นักปลุกระดม


ยิ่งกว่านี้ ท่านอธิการไม่พูดถึงความสูญเสียที่ประชาชนได้รับ ไม่ว่าในกรณีกรือเซะ ตากใบ การอุ้มหาย การสังหารหมู่กลางเมืองที่สี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์เลย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับให้สังคมเว้นโทษแก่ฆาตกรด้วย ทั้งๆ ที่การสืบสวนสอบสวนของบางเหตุการณ์กำลังดำเนินไปอย่างรัดกุมและโปร่งใส (เพราะสาธารณชนอาจตรวจสอบได้) นี่คือเรื่องชีวิตจริง เลือดเนื้อจริง และความทุกข์ยากจริงที่ครอบครัวญาติมิตรของเหยื่อได้รับ ลืมไปได้เฉยๆ เลย เหี้ยมไหมครับ

คุณธรรมที่จุฬาฯ อยากปลูกฝังให้ลูกศิษย์ของตนคืออย่าโกง แต่เหี้ยมโหดอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่


การต่อต้านกลางถนนที่ดำเนินไปในกรุงเทพฯ จึงช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่พรรคเพื่อไทย เพราะเสื้อแดงที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันมาก ไม่เคลื่อนไหวอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมนัก เพราะความเหี้ยมของขบวนการต่อต้านกลางถนนเหล่านี้


อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาดูทางฝั่งพรรคเพื่อไทย การก้าวพลาดทางการเมืองในครั้งนี้ มีราคาที่ต้องจ่ายหรือไม่ และมีราคาสักเท่าไร

ผมคิดว่ามีแน่ และเท่าที่จะพอประเมินได้ในขณะนี้ คงมีดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ช่วยชุบชีวิตของพรรคคู่แข่งคือ ปชป.ให้กลับมากระปรี้กระเปร่าในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ได้อีกครั้ง แนวทางทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพที่เผชิญหน้าอย่างไม่ลดละนั้น ผมเชื่อว่าไม่เข้ากับอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของคนในเขตเมืองเสียแล้ว และการเมืองภายในของพรรคทำให้หันเหออกจากแนวทางนี้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลานี้ แต่แนวทางนี้กลับดูมีเหตุผลมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับการหักด้ามพร้าด้วยเข่าของพรรคเพื่อไทย

ปชป.ก็คงรู้ว่าตัวได้รับส้มหล่น และคงพยายามยืดเวลาบทพระเอกในท้องถนนของตนออกไปให้นานที่สุด เช่น คุณสุเทพเพิ่งประกาศเมื่อเขียนบทความนี้ว่าจะไม่เลิกการชุมนุมจนกว่าร่าง พ.ร.บ.ต้องตกไปจากรัฐสภาโดยสิ้นเชิง... คือวุฒิฯไม่รับร่าง ต้องส่งกลับมาสภาผู้แทนฯ ต้องโหวตให้ตกไป (หรือแก้ไขตามที่วุฒิฯเสนอ)... ทั้งหมดนี้กินเวลาพอสมควร


2. ความเนิ่นนานหมายถึงเหยื่อของฝ่ายเสื้อแดงต้องทนทุกข์ในคุกต่อไป อย่าลืมว่าพรรค พท.เองก็ปล่อยให้คนเสื้อแดงอยู่ในคุกมานานแล้ว คนเสื้อแดงที่ค้านร่าง พ.ร.บ.นี้กลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการเหมาเข่ง คือญาติมิตรของคนที่อยู่ในคุก ถ้าพวกเขายัง'เจ็บปวด'ไม่พอ ก็จะได้รับความ'เจ็บปวด'มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เสื้อแดงทุกฝ่ายเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า เพื่อแลกกับการกลับบ้านของคุณทักษิณนั้น พรรคเพื่อไทยพร้อมแลกแม้แต่คุณค่าชีวิตของ'ไพร่'เท่าไรก็ได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยเชื่ออย่างจริงใจว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ 'ควายแดง' เขาคงเรียนรู้พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณไปได้มากทีเดียว ดังนั้น จะหวังให้เขามีพฤติกรรมทางการเมืองเหมือนเดิม จึงไม่พึงคิด

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงกลุ่มนี้จะไม่เลือกพรรค พท. แต่จำนวนไม่น้อยจะเลือก พท.ในเชิงยุทธศาสตร์ ในฐานะนักการเมือง-สมาชิก พท.น่าจะรู้ดีว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์นั้นแตกต่างจากการเลือกตั้งเชิงความภักดีอย่างไร


3. ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงน้อยลง แม้ยังเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนสูงสุด และเพื่อไทยจะได้เรียนรู้การเป็นรัฐบาลผสมที่ตัวไม่ได้มีเสียงเด็ดขาด ในขณะที่ปฏิปักษ์ของเพื่อไทยในสังคมยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม พท.จะดำเนินนโยบายในการบริหารได้ยากขึ้น จนทำให้โครงการดีๆ เช่นปรับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่อาจทำได้ราบรื่นยิ่งขึ้นไปอีก จนถึงอาจทำไม่ได้เลย ซึ่งย่อมทำให้คะแนนนิยมของพรรคเสื่อมลงไปอย่างหลีกไม่พ้น


4. ราคาที่ต้องจ่ายสูงไม่น้อยเหมือนกันคือคุณทักษิณ ชินวัตร โอกาส "กลับบ้าน" คงจะเนิ่นนานออกไป ชัยชนะของฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณในครั้งนี้ ทำให้ผู้มีอำนาจนอกและเหนือการเมืองทั้งหมด ต้องต่อรองการ "กลับบ้าน" ในราคาที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก เช่นคุณทักษิณอาจต้องยอมเข้าคุก อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสั้นๆ อันหนึ่ง



.