http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-12-31

ปฏิวัติประชาชน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


.

ปฏิวัติประชาชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1388385118
วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:32:16 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 30 ธ.ค.2556 ) 
( ภาพจาก http://pantip.com/topic/31411558 )


สภาประชาชนของ กปปส.ถูกอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมียกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติของประชาชนไปแล้ว

คำว่า "ประชาชน" นี้น่าสนใจเป็นพิเศษ และควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน "ประชาชน" เป็นนามธรรม หมายถึงองค์รวมของคนทั้งหมดในชาติ ไม่ใช่คน 65 ล้านคนรวมกัน ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนๆ ได้ และอาจตรวจวัดว่าแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรได้

ดังนั้น "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมจึงไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถยึดกุม "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ แล้วอ้างเอาเจตจำนงทางการเมืองของตนไปเป็นเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่อยู่ในหมอกควันนี้เท่านั้น


วิธีในการยึดกุมหมอกควัน "ประชาชน" นี้ ทำได้หลายอย่าง อาจารย์ธีรยุทธยกกรณีที่ประมุขแห่งรัฐให้การรับรอง ซึ่งก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองทัพอ้าง "ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน" เข้าไปยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารในนามของ "ประชาชน" ที่เป็นแค่หมอกควัน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนไทยคุ้นเคย

แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมาก เช่นตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ทำสงคราม "ประชาชน" จนได้ชัยชนะแล้วก็สถาปนาระบอบปกครองของตนเองขึ้น ตามเจตจำนงของหมอกควัน "ประชาชน"

บางคนยังสามารถทำให้การอ้างของตนน่าเชื่อถือกว่านั้นอีก เช่น ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของตนราบคาบไปแล้ว หรือ นโปเลียนจัดให้ลงประชามติหลอกๆ ว่า "ประชาชน" ในหมอกควันมีเจตจำนงที่จะให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ



แม้ว่า "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมเป็นเพียงหมอกควันที่ไม่มีใครจับต้องได้ แต่คำนี้กลับมีพลังไพศาล เพราะมันเกิดความชอบธรรมใหม่สำหรับอำนาจทางการเมือง ที่ทำลายล้างความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองแบบเก่าไปหมด นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ก็ถูกนักการเมืองแย่งยื้อกัน เพื่อแปรเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ในหมู่คนทั่วไป พลังของคำนี้อยู่ที่ตัวเขาเองถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเป็นครั้งแรก ฉะนั้นแม้เป็นหมอกควัน แต่ก็เป็นความมัวซัวที่มีตัวเขาอยู่อย่างเด่นชัดในนั้น
ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ โดยแบ่งแยกคนจำนวนมากให้กลายเป็นคนนอก เพราะมีการศึกษาต่ำ ถูกซื้อเสียง หรือยากจน (sans-culottes-ไร้สมบัติ) คาถา "ประชาชน "ของเขาจึงไร้มนตร์ขลัง ที่จะปลุกคนส่วนใหญ่ให้ลุกขึ้นมาร่วม "ปฏิวัติ" ด้วย

ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายเป็นนามธรรม เราใช้คำว่า "ราษฎร" มาก่อน และนั่นคือที่มาของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เพื่อประกาศว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ข้าราษฎร" และคำนี้หมายรวมถึงทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก


หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ที่เกิดการ "ปฏิวัติประชาชน" ตามมาอีกมากมาย อันที่จริง แม้แต่ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คำนี้ก็ถูกใช้มาแล้วในการปฏิวัติของอเมริกัน เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษถูกมองว่าเป็นสงคราม "ประกาศอิสรภาพ" มากกว่าการ "ปฏิวัติประชาชน" เท่านั้น สงครามกู้เอกราชของนักชาตินิยมซึ่งเริ่มในละตินอเมริกามาก่อนใคร ก็เป็น "ปฏิวัติประชาชน" เหมือนกัน เพราะนักชาตินิยมอ้างเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้เช่นกัน ลัทธิชาตินิยมขยายไปทั่วโลก นำไปสู่"ปฏิวัติประชาชน"ในทุกทวีปของโลกต่อมา

"ปฏิวัติประชาชน" จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ตรงกันข้าม เกิดขึ้นบ่อยทั่วทั้งโลก และ (เท่าที่ผมนึกออก) การ "ปฏิวัติประชาชน" ทุกครั้ง หากทำสำเร็จก็มักจบลงที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สามารถยึดกุมอำนาจไว้เหนือผู้คนทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นหมอกควัน

แม้แต่การปฏิวัติอเมริกัน ก็มีคนอเมริกันอีกมากในช่วงนั้นที่ไม่ต้องการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน เฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ผลักดันให้แยกตัวจากอังกฤษ ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นใคร มีการตีความของนักประวัติศาสตร์ไว้หลายอย่าง นับตั้งแต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ ไปจนถึงพ่อค้าในเมืองใหญ่ และพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ "ปฏิวัติประชาชน" ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นรัสเซีย, จีน, ละตินอเมริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างหมอกควัน "ประชาชน" เข้ามายึดกุมอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง เพื่อชนชั้นของตน, ตระกูลของตน, หรือพรรคของตน

มีตลกอเมริกันที่เล่ากันว่า มัคคุเทศก์ซึ่งนำคณะทัวร์เที่ยวมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่า บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่มหานครนิวยอร์กแล้ว ระวังกระเป๋าสตางค์ของท่านให้ดี ผมจึงอยากสรุปอย่างเดียวกันว่า เมื่อไรได้ยินใครอ้างถึง "ประชาชน" ในความหมายนามธรรม จงระวังสิทธิเสรีภาพของท่านให้ดี


"ประชาชน" ในความหมายหมอกควันเช่นนี้มีใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ในความหมายตามหลักการบางกรณี เช่นในการฟ้องร้องคดีอาญาของสหรัฐ โจทก์จะเป็น"ประชาชน"เสมอ เป็นคดีระหว่าง"ประชาชน"กับนาย ก. นาย ข. เพราะความผิดทางอาญา คือการล่วงละเมิดต่อ "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ ในอังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ใช้คำว่า The Crown แทน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่หมายถึงสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

"ประชาชน" ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นนี้ หากเป็นกรณีประเทศไทย ก็ต้องหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากหมายถึงอธิปไตยของปวงชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทรงใช้ผ่านสภาเทือกตั้งได้

ส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ที่ใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของรถติดในกรุงเทพฯ

เพราะเป็นรูปธรรม จึงอาจนับหัวได้ แม้ว่าอาจนับยาก แต่ก็นับได้หากอยากนับ ระบอบเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนหัวของคน ซึ่งนับได้ กิจการสาธารณะใดๆ ย่อมตัดสินใจกันที่จำนวนของหัว เสียงข้างมากจึงมีความสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างเสรีและอิสระจึงเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบอบปกครองนี้


เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่มีคุณภาพที่สุด ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เราย่อมเห็นผิดได้เสมอ รวมทั้งเห็นผิดพร้อมกันจำนวนมากๆ จนกลายเป็นเสียงข้างมากก็ได้ เสรีประชาธิปไตยจึงต้องเป็นระบบที่เปิดให้เสียงข้างน้อย ได้แสดงออกอย่างอิสระเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและประเพณี เพื่อจะได้ขี้แจงแสดงเหตุผล จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่หลงผิด คิดใหม่และตัดสินใจใหม่จากข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า

เสียงข้างน้อยของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เคยทำอย่างนี้สำเร็จมาไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว แต่ที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ต้องมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความอดทนที่จะชี้แจงแสดงเหตุผล ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของนโยบายที่แตกต่างกัน

เสียงข้างน้อยที่ปราศจากความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จะไม่มีความอดทนเช่นนี้ หันไปใช้การขว้างเก้าอี้และเข้าของในสภา หรือลาออกจากสมาชิกภาพ หรือบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า ถึงพูดไปคนส่วนใหญ่ซึ่งโง่เง่ากว่าพรรคพวกของตนก็ไม่มีวันเขัาใจ

การสงวนกระบวนการปฏิรูปไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ก็มาจากความไม่เคารพในศักยภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง เพราะกระบวนการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย คือการต่อรองกันของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่ควรมีคนกลุ่มใดมีอำนาจสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว

แต่เพราะต้องการยึดกุมอำนาจไว้กับกลุ่มของตนเพียงฝ่ายเดียวต่างหาก จึงเหยียดหยามดูถูก "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยกย่องสรรเสริญ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรม เพราะ "ประชาชน" ประเภทหลังนี้แหละที่คนกลุ่มนี้สามารถอ้างตนเองเป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ สามารถจัดการประโยชน์สาธารณะให้เข้ามือตนเองฝ่ายเดียวได้ง่าย การปฏิรูปของพวกเขา (ซึ่งถูกอาจารย์ธีรยุทธยกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติไปแล้ว) โดยเนื้อแท้แล้วคือการปล้นกันกลางวันแสกๆ นี่เอง

. . . . . . . . . .


.

2556-12-29

อาเร็นดท์..ของนิธิและมวลชนแบบไทยๆ..ฯ โดย อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง

.

อาเร็นดท์ของนิธิและมวลชนแบบไทยๆในการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
โดย อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง

ใน http://prachatai3.info/journal/2013/12/50795
. . Sun, 2013-12-29 10:40

( ภาพในอดีต : หัวหน้ารัฐบาลหอย หวังแช่แข็งเผด็จอำนาจ๑๒ปี )


อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง
อาจารย์สอนปรัชญาและทฤษฎีการเมืองที่หลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ความต่างอย่างสำคัญระหว่างผู้ศึกษาปรัชญา(และทฤษฎี)การเมืองกับผู้ศึกษาปรัชญาโดยทั่วไปก็คือ ในขณะที่ฝ่ายหลังอาจทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อทำความเข้าใจปมปัญหาทางนามธรรมที่จับต้องได้ยาก ฝ่ายแรกกลับให้ความสำคัญกับแนวคิดที่มิเพียงซับซ้อน ลึกซึ้ง หากยังต้องมีปฏิสัมพันธ์สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจบริบท สภาพสังคมที่แวดล้อมแนวคิดเหล่านั้นได้ด้วย ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงเป็นศาสตร์ที่แม้อาจวางอยู่บนแนวคิดนามธรรมจับต้องได้ยาก แต่ก็ยังมุ่งให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมได้อย่างแหลมคม ทรงพลัง ด้วยเหตุนี้ บทความของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เรื่อง “มวลมหาประชาชน” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา[1] จึงเป็นบทความที่น่าสนใจสำหรับผู้ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นบทความที่นำเอาแนวคิดทฤษฎีมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยได้อย่างหลักแหลม แยบคายแล้ว ยังตอกย้ำถึงพันธกิจของการศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมือง พันธกิจซึ่งคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการไขปริศนาและสร้างความกระจ่างต่อปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมทั้งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหลักใหญ่ใจความสำคัญของบทความเรื่อง “มวลมหาประชาชน” นี้ก็คือการทำความเข้าใจแบบแผนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ามวลมหาประชาชน โดย อ.นิธิได้ชี้ให้เห็นว่าที่สุดแล้ว มวลมหาประชาชนอันเป็นผลรวม(แบบหยาบๆ) ของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้หงุดหงิดกับปัญหาคอรัปชั่นและเกลียดชังอดีตนายกทักษิณ ชิณวัตรนั้น หาใช่อะไรเลยนอกจากการรวมตัวตามแบบซึ่งในทางทฤษฎีเรียกกันว่ามวลชน หรือ Mass ที่มีลักษณะสำคัญคือ การเป็นอณู หรือก็คือ:

    “ประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่นเครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น... กลายเป็น...อณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ”
[2]

โดย อ.นิธิยังชี้ให้เห็นว่าในกรณีของไทยนั้น การเกิดขึ้นของอณูดังกล่าวจะสอดคล้องต้องกันกับกระแสของการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์คือพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่-และดังนั้นจึงอาจสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับ-ชีวิตของอณูเหล่านี้[3]  ในแง่นี้ มวลมหาประชาชน-จากสายตาของ อ.นิธิ-จึงไม่ต่างอะไรกับมวลชนซึ่งเป็นฐานให้กับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเฉกเช่นเดียวกับลัทธินาซีในเยอรมันหรือเผด็จการฟาสซิสต์ในอิตาลี ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ ความรู้สึกซึ่งไม่พอใจ-จนพร้อมจะล้มล้าง-กลไก สถาบันที่คอยค้ำจุนระเบียบการเมืองปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา กฎหมายหรือกระทั่งรัฐธรรมนูญซึ่งเอื้อให้ความฉ้อฉล(ตามสายตาของพวกเขา)ดำรงอยู่ได้[4]


ชัดเจนว่าข้อวิเคราะห์ของอ.นิธิข้างต้นเป็นข้อวิเคราะห์ภายใต้อิทธิพลจากกรอบทฤษฎีของฮานน่า อาเร็นดท์ (Hannah Arendt) หนึ่งในนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญเมื่อศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ ในส่วนที่สามของหนังสือเรื่อง กำเนิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือ The Origins of Totalitarianism ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไม่กี่ปี อาเร็นดท์ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้หากขาดปัจจัยรองรับสำคัญอย่างการสนับสนุนจากมวลชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาเร็นดท์มองว่าปราศจากสำนึกถึงผลประโยชน์ร่วมทางชนชั้น ขาดความสนใจทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกระทั่งอาจไม่เคยไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ[5] มวลชนสำหรับอาเร็นดท์จึงเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ได้วางอยู่บนการใช้เหตุผล ครุ่นคิดหรือวางแผนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ แต่จะเป็นการรวมกลุ่มที่หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ตลอดจนความเกลียดชังทางการเมืองเท่านั้น[6]

แต่มวลชนมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แม้มวลชนอาจเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่การก่อเกิดขึ้นของมวลชนย่อมต้องถูกกำกับจากเงื่อนไขทางสังคมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ ในแง่นี้ อาเร็นดท์จึงชี้ให้เห็นต่อมาว่าการก่อตัวดังกล่าวของมวลชนนั้น เอาเข้าจริงแล้วคือผลลัพธ์จากความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา พรรคการเมืองและสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่ไม่สามารถเชื่อมต่อ ประสาน ถ่ายทอดและสร้างผลประโยชน์ร่วมกับผู้คนจำนวนมากจนผลักไสให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นอณูอันล่องลอย ไม่สามารถยึดโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มก้อนทางการเมืองในระบบปกติ ทำให้กลายเป็นมวลชนผู้อัดแน่นไปด้วยความเกลียดชังต่อระเบียบการเมืองชุดเดิมและไม่ได้มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากการทำลายล้างระเบียบดังกล่าวให้สิ้นซากลงไปในท้ายที่สุด[7] นั่นจึงไม่แปลก ที่อาเร็นดท์จะย้ำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มแบบมวลชนนั้นหลักๆแล้วจะเป็นการรวมกลุ่มของเหล่าชนชั้นกระฎุมพีในเมืองใหญ่ผู้ถูกผลักให้หลุดออกจากสายสัมพันธ์ทางชนชั้นที่คอยเชื่อมโยงและเป็นตัวแทนพวกเขา(รวมทั้งผลประโยชน์ของพวกเขา)ในระบบการเมืองตามปกติ เพราะกระฎุมพีเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่น พึ่งพาได้แต่ตนเอง ไว้ใจใครไม่ได้และมักพบว่าตนเองคือผู้แพ้จากโลกของการแข่งขันอันโหดร้ายจนหมดสิ้นความหวัง ไร้ซึ่งความภาคภูมิใจต่อตนเองและกลายเป็นพาหะแห่งความคั่งแค้นต่อระบบระเบียบทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่สามัญสำนึกและการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐานของตน[8]

โดยไม่จำเป็นต้องประเมินถึงการใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยของ อ.นิธิ(ซึ่งทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว) ลำพังแค่ข้อเสนอข้างต้นของอาเร็นดท์เองก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงพลังทางการเมืองอันมหาศาลของมวลชน จริงอยู่ แม้คำอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เพราะนักปรัชญา/ทฤษฎีจำนวนไม่น้อยต่างก็เคยอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนมาก่อนแล้ว หากแต่คำอธิบายทางทฤษฎีเหล่านั้นมักเพิกเฉยต่อพลังทางการเมืองของมวลชนราวกับว่ามวลชนเป็นเพียงแค่ฝูงชนอันโง่เขลาที่ปราศจากการครุ่นคิดด้วยปัญญา ไร้รากทางวัฒนธรรมและเสพย์ติดสินค้าบันเทิงอันปราศจากแก่นสารจนเป็นได้แค่เพียงเหยื่ออันโอชะที่รอคอยการกดขี่ขูดรีดจากชนชั้นปกครองและระบอบทุนนิยมซ้ำแล้วซ้ำเล่า[9] ด้วยเหตุนี้ คำอธิบายของอาเร็นดท์ที่ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์จากความกระตือรือร้นทางการเมืองอันทรงพลังของมวลชนอย่างการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นคำอธิบายที่นักทฤษฎีการเมือง นักรัฐศาสตร์ตลอดจนผู้สนใจวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองไม่อาจเพิกเฉย มองข้ามไปได้ โดยเฉพาะบทบาทของความเกลียดชัง(Terror) ที่สำหรับอาเร็นดท์แล้ว คือแรงผลักสำคัญต่อการรวมกลุ่มและแสดงออกอันคลุ้มคลั่งของมวลชน ในแง่นี้ นอกจากการรวมกลุ่มของมวลชน อีกเงื่อนไขหนึ่งที่คอยรองรับการก่อตัวของเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากความเกลียดชังซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนอย่างสม่ำเสมอ[10]

นั่นจึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะตั้งอยู่บนการสร้างศัตรูร่วมในจินตนาการทุกครั้ง สำหรับอาเร็นดท์แล้วประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าศัตรูร่วมดังกล่าวมีตัวตนดำรงอยู่จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการกระตุ้น ปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดชังของมวลชนให้พร้อมออกมาต่อสู้ ทำลายล้าง “เป้าหมาย” เหล่านั้นให้สิ้นซากต่างหาก[11]  (แม้ในหลายๆครั้งศัตรูที่กล่าวมานี้อาจเป็นเพียงแค่จินตนาการหาได้ต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด) ทั้งกำเนิดของลัทธินาซีซึ่งด้านหนึ่งอาศัยพลพวงจากความเกลียดชังชาวยิวของคนเยอรมันในขณะนั้น หรือการครองอำนาจของโจเซฟ สตาลินที่ใช้ความกลัวจากการปั้นแต่งให้ผู้คนที่มีทัศนะแตกต่างจากตนกลายเป็นศัตรูของพรรคและต้องถูก “จัดการ” ให้หมดสิ้น ในแง่นี้ การทำความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนจึงมิเพียงแต่ต้องทำความเข้าใจลักษณะเชิงสังคมวิทยาของผู้เข้าร่วม หากแต่ยังต้องชี้ให้เห็นถึงความเกลียดชังในฐานะแรงผลักที่คอยปลุกเร้าและหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งอาจารย์นิธิก็ไม่พลาดที่จะชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว(แม้อาจไม่ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมานัก)ดังเนื้อหาในบทความที่ว่า:

    “จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ...ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ... หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่นตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง...เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ”
[12]



อย่างไรก็ตาม แม้การนำทฤษฎีของอาเร็นดท์มาใช้อธิบายการดำรงอยู่ของมวลมหาชนข้างต้น อาจเต็มไปด้วยความแม่นยำ น่าชื่นชม แต่การใช้ทฤษฎีดังกล่าวก็กลับสร้างความลักลั่นในระดับทฤษฎีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ เพราะมวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธินั้น หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือการรวมกลุ่มซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วกลับคือ “เสียงข้างน้อย” เมื่อเทียบกับจำนวนของพลเมืองไทยทั้งสังคม มวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธิจึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย หากเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ย่อมจะต้องเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยเสียงข้างน้อยดังที่ อ.นิธิได้เขียนว่า

    “การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี...เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร”


แน่นอน หากพิจารณาจากประสบการณ์ทางการเมืองที่แต่ละคนคุ้นชิน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มวลมหาประชาชนดังกล่าว-หากคือการรวมกลุ่มที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นกระฎุมพีดังที่ อ.นิธิวิเคราะห์-คือการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย กระนั้น เมื่อพิจารณาการรวมกลุ่มตรงนี้ผ่านแว่นตาทางทฤษฎีที่มีชื่อว่า “มวลชน” คำอธิบายของ อ.นิธิก็กลับเกิดปัญหาในระดับทฤษฎีขึ้นมาโดยทันที เพราะถ้ามวลชนคือกรอบทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้วิเคราะห์การรวมกลุ่มของมวลมหาประชาชน และถ้ามวลมหาประชาชนคือเสียงข้างน้อยของสังคม นั่นก็เท่ากับ อ.นิธิกำลังกล่าวว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อยของสังคมตามไปด้วย ซึ่งผู้ศึกษาทางด้านปรัชญาหรือทฤษฎีการเมืองคงต้องรู้สึกแปลกแปร่งเป็นแน่ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการทางความคิดของโลกตะวันตก(ซึ่งให้กำเนิดแนวคิดเรื่องมวลชน) ด้วยแล้ว ก็จะพบว่า “มวลชน” นั้นมิเพียงแต่ไม่สอดคล้องกับ “เสียงข้างน้อย” หากแต่ยังมีสถานะเคียงคู่กระทั่งเป็นคำที่ใช้แทน “เสียงข้างมาก” มากกว่า อันที่จริงการกล่าวถึงมวลชนในโลกตะวันตกยังมีนัยยะส่อถึงภัยคุมคามต่อการดำรงอยู่ของเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ[13] แม้แต่ อาเร็นดท์ในทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้เองก็ยังไม่กล้าที่จะสรุปแบบ อ.นิธิว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อย ใกล้เคียงที่สุดก็แค่กล่าวว่ามวลชนซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นหาได้นำมาสู่การจัดตั้งรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สามารถกำกับครอบงำผู้คนได้ทั้งสังคม[14] (หรือพูดง่ายๆคือมวลชนไม่เท่ากับคนทั้งสังคม แต่การไม่เท่ากับคนทั้งสังคมย่อมมิได้ทำให้มวลชนเท่ากับเสียงข้างน้อยเป็นแน่) ดังนั้นหากพิจารณาจากสายตาทางทฤษฎี แม้การวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ อาจเป็นการวิเคราะห์ที่แหลมคม ทรงพลัง แต่พร้อมๆกันนั้น การวิเคราะห์ดังกล่าวก็กลับเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นโลดโผนพิสดารไม่น้อยทีเดียว

กระนั้น การกล่าวข้างต้นนี้ย่อมมิได้มีเป้าประสงค์ที่จะโจมตี อ.นิธิ ว่าใช้ทฤษฎีผิดหรือมองไม่เห็นความลักลั่นจากการใช้ทฤษฎีของตน เพราะข้อจำกัดประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองสมควรตระหนักก็คือ ทุกๆทฤษฎี-ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่-ต่างก็วางอยู่บนประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองภายใต้บริบท พื้นที่และห้วงเวลาที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีของอาเร็นดท์ซึ่งตั้งอยู่บนประสบการณ์ทางการเมืองภายใต้บริบทของยุโรปช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่แล้วที่อาจสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภูมิปัญญาของโลกตะวันตกเท่านั้น[15] การนำทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมจึงย่อมต้องได้รับการปรับแต่งไม่มากก็น้อย หาไม่แล้ว ทฤษฎีก็คงเป็นได้แค่บทเรียนทางสังคมที่สรุปจากบริบทและห้วงเวลาหนึ่งๆโดยไม่อาจก้าวข้ามไปสร้างความกระจ่างให้กับปรากฏการณ์ทางสังคมในบริบทอื่นๆได้เลย ในแง่นี้ ความน่าสนใจในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ จึงมีได้เพียงแค่วางอยู่บนการนำทฤษฎีตะวันตกมาปรับใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ยังอาจสร้างบทสนทนาทางทฤษฎีเพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้ทฤษฎีดังกล่าวสามารถปรับระดับ ก้าวข้ามเพดานที่เคยจำกัดขอบเขตของตัวมันเองตามไปด้วย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “มวลชน” ที่แม้ในโลกตะวันตกอาจมีนัยหมายถึง “เสียงข้างมาก” แต่เมื่อได้รับการปรับแต่งเพื่ออธิบายสังคมการเมืองไทยแล้ว มวลชน(แบบไทยๆ)ก็อาจไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการรวมกลุ่มของชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงเอง


ว่าไปแล้ว ความพยายามในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงกับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในไทยนั้น ก็หาใช่การค้นพบที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุด เบเนดิก แอนเดอร์สัน(Benedict Anderson) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังก็เคยชี้ให้เห็นเงื่อนปมความสัมพันธ์ดังกล่าวในบทความ-ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงปัจจัยที่นำมาสู่เหตุการณ์ “ฆาตกรรมแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519-เรื่อง “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” โดย อ.แอนเดอร์สันได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชนชั้นใหม่อย่างกระฎุมพีกับการก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งในรูปของผู้กระทำการ(ผ่านสายสัมพันธ์กับกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านตลอดไปจนถึงข้าราชการท้องถิ่น) และในรูปของเสียงโห่ร้อง สนับสนุนให้เกิดการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น[16] ทั้งนี้ อ.แอนเดอร์สันได้วิเคราะห์ว่าการที่ชนชั้นกระฎุมพีสนับสนุนกระทั่งลุกขึ้นมาก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวคือผลโดยตรงของความความเกลียดชังในหมู่พวกเขาซึ่งก่อตัวอยู่บนอาการวิตกจริต ไม่มั่นใจกับอนาคตที่จะมาถึงโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความโกลาหลทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ว่าจะเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในพ.ศ. 2517 เสรีภาพอันล้นเกินของกลุ่มนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ จนทำให้ชนชั้นใหม่นี้-ซึ่งโดยตัวมันเองเป็นอณูอันล่องลอย ไม่อาจเชื่อมต่อเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในอดีต-ต้องหันกลับไปยึดโยงตนเองเข้ากับสถาบันกษัตริย์ในฐานะพันธะเดียวที่ช่วยปลอบประโลมและสร้างความมั่นคงทางใจให้กับพวกเขาพร้อมๆกับเร่งเร้าความเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อขบวนการนักศึกษาซึ่ง-ในสายตาของกระฎุมพีเหล่านี้แล้ว- คือผู้ทรยศ ไม่จงรักภักดีกระทั่งเป็นข้าศึกที่ควรต้องถูกชะล้างให้หมดสิ้นไป ดังย่อหน้าที่ว่า:

    “ถึงตรงนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า เพียงไม่นานหลังจากมีการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ . . การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เริ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้ปกครองโกรธแค้นนักศึกษา นักพูดหัวรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการอันต่อเนื่องของวิกฤติสังคมไทยทั้งหมด เริ่มตกผลึกรอบๆสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ การสิ้นสุดของเศรษฐกิจบูมที่มีมายาว ความหงุดหงิดอย่างคาดไม่ถึงที่เกิดจากการขยายการศึกษาอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งระหว่างวัย และความวิตกที่เกิดการการถอนตัวทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา รวมทั้งผู้นำทหารที่หมดความน่าเชื่อถือ วิกฤติต่างๆที่ผูกโยงกันอยู่นี้เป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วง สำหรับพวกกระฎุมพีใหม่ พวกชนชั้นใหม่นี้นั้นถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นทั้งหลักชัยและเกราะคุ้มกันทางจิตใจ รากลึกทางประวัติศาสตร์และความมั่นคงของสถาบันดูจะเป็นของขลังกั้นยันความไร้ระเบียบและความพินาศให้ และไม่ว่าจะมีความเลวร้ายของชีวิต หรือการที่ต้องพึ่งพิงทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชาวต่างชาติจะเป็นเช่นไรก็ตาม สมาชิกของชนชั้นนี้ก็รู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมของตัวตนนั้น ประกันได้ด้วยความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์รวมของมรดกชาติ ดังนั้น การโจมตีใดๆต่อสิทธิอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นโดยอ้อมก็ตาม จะเป็นที่รู้สึกได้เลยว่าคุกคามต่อเกราะคุ้มกันนั้น”[17]


น่าสนใจว่าขณะที่มวลชนโดยทั่วไป(หรืออย่างน้อยในโลกตะวันตก) อาจสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้ผูกขาดเสียงข้างมาก มวลชนแบบไทยๆกลับคือชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้เต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งแม้อาจไม่ได้เป็นเสียงข้างมากของสังคม แต่ก็ครอบครองพื้นที่สื่อสารมวลชนที่คอยขยายระดับความดังให้กับเสียงของพวกเขาจนจำนวนอันน้อยนิด(เมื่อเทียบกับผู้คนทั้งประเทศ)หาได้เป็นอุปสรรคต่อพลังและการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกตนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม-หากเราเชื่อตามข้อสรุปของ อ.แอนเดอร์สัน-หรือในรูปของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ จริงอยู่ แม้ยุคสมัยที่แตกต่างอาจทำให้รายละเอียดของทั้งสองเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน
แต่ความเกลียดชังที่รายล้อมควบคู่ไปกับความภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาจไม่ได้ทำให้บทบาทของชนชั้นกระฎุมพีมีความแตกต่างจากเมื่อปี พ.ศ.2519 มากนัก
คำถามสำคัญก็คือ ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ชนชั้นกระฎุมพีรวมทั้งสังคมไทยโดยรวมไม่เคยเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของตนเลยหรือ? เหตุใดชนชั้นกระฎุมพีไทยถึงยังไม่สามารถก้าวข้ามความเกลียดชังซึ่งเคยหลอกหลอนตนเมื่อเกือบสี่ทศวรรษที่แล้วไปได้?
บางที คำตอบอาจมาจากข้อเท็จจริงอันโหดร้ายที่ว่าพลังจากความเกลียดชังดังกล่าวไม่เคยเลยที่จะประสบพบเจอกับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามกับลัทธินาซี ฟาสซิสต์ที่ต่างก็พ่ายแพ้ในสงครามโลกจนถูกทำลายล้างอย่างราบคาบ พลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังกลับยังคงดำรงอยู่ แฝงฝังและเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีไทยมาโดยตลอด[18] ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ พ่อค้ายาเสพย์ติดหรือระบอบทักษิณในปัจจุบัน และคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากความเกลียดชังดังกล่าวอาจดำรงอยู่ต่อไปถ้าการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ประสบกับ “ชัยชนะ”

หรือนี่คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายสำหรับการทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเพียงบาดแผลทางประวัติศาสตร์เท่านั้น... 



--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ

[1 ]ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน” เข้าใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม, 2556.

[2] เพิ่งอ้าง

[3] เพิ่งอ้าง

[4] เพิ่งอ้าง

[5] Hannah Arendt, The Origins of Totalitarianism(New York: A Harvest Book, 1968), pp 311-2

[6] Ibid., p 311  

[7] Ibid., pp 312-5  

[8] Ibid., pp 315-8

[9] ดู Jose Ortega y Gasset, The Revolt of the masses (New York: w.w. Norton & Company, Inc, 1964) และ Dialectic of Enlightenment: Philosophical Fragment. Edmund Jephcott (Translated), Gunzelin Schmid Noerr (Edited)(Stanford: Stanford University Press, 2002), Ch.3 อนึ่ง ทัศนะที่มองมวลชนว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่ปราศจากพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมและมักตกเป็นเหยื่อของชนชั้นปกครองตลอดจนระบอบทุนนิยมนั้นยังเป็นทัศนะที่ทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ที่แม้อาจพยายามชี้ให้เห็นพลังของมวลชน แต่ก็ยังมิวายพิจารณาว่าพลังดังกล่าวคือความเงียบ ความเฉยชาที่สื่อและสัญลักษณ์ต่างๆไม่สามารถทำหน้าที่ดูดกลืน ถ่ายทอดและแสดงตนเป็นตัวแทนของมวลชนได้ โปรดดู Jean Baudrillard, In The Shadow of The Silent Majorities, Paul Foss, John Johnston, Paul Patton and  Andrew Berardini(Translated)(Los Angelis: Semiotext(e), 2007)  

[10] Arendt, “On the Nature of Totalitarianism: an Essay in Understanding”, in Essays in Understanding 1930-1954: Formation, Exile, and Totalitarianism, pp 341-4. 

[11] Ibid., p 342

[12] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน” .
และแทบจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่เดียวที่บุคคลซึ่งอาจยืนยันความถูกต้องจากการใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์ดังกล่าวก็คือ อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ผู้ออกตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ อ.นิธิ ดังเนื้อหาในบทความที่ต้องการจะโต้ อ.นิธิในเรื่องนี้ ซึ่ง อ.อรรถจักรเองยังยอมรับถึงปฏิสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกระหว่างมวลมหาประชาชนกับความเกลียดชังทั้งที่ถูกสร้างโดยระบอบทักษิณและที่มีต่อตัวระบอบทักษิณเอง ปัญหาเดียวที่ดูเหมือน อ.อรรถจักร มีต่อข้อวิเคราะห์ของ อ.นิธิ ก็คือการไม่เห็นด้วยที่ อ.นิธิมองว่ามวลมหาประชาชนเป็นการรวมตัวของอณูที่ปราศจากความคิด ตรงกันข้าม อ.อรรถจักรกลับมองว่า ความรู้สึกหวาดกลัวต่อระบอบทักษิณต่างหากที่ทำให้มวลมหาประชาชนต้องคิดและลุกขึ้นมาแสดงตัวตนบนท้องถนน ( ดู อรรถจักร สัตยานุรักษ์, “มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นอณูในสุญญากาศ” เข้าใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556) แน่นอน ข้อวิจารณ์ของ อ.อรรถจักรตรงนี้ย่อมเป็นข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับการคิด ซึ่งคงน่าสนใจเป็นอย่างมากหากว่า อ.อรรถจักรจะไม่กล่าวอ้างไปถึงฐานทฤษฎีของอาเร็นดท์ เพราะสำหรับอาเร็นดท์แล้ว อารมณ์ความรู้สึกกับการคิดเป็นคุณลักษณะทางจิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกอาจตอกย้ำถึงชีวิตและการเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับครรลองของสังคมและโลก การคิดกลับเป็นกิจกรรมที่ผู้คิดต้องแยกตัวออกจากโลกและกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน เพื่ออยู่(และสนทนา)กับตนเองเพียงลำพังโดยทิ้งโลกซึ่งคุ้นเคยอยู่ตรงหน้าเอาไว้เบื้องหลัง ดู Arendt, The Life of the Mind(New York: Harcourt, 1978), 1:197-9.

[13] ทัศนะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ชื่นชม “วัฒนธรรมชั้นสูง” (High Culture) อย่างแวดวงวรรณคดีศึกษาและวรรณกรรมวิจารณ์ในช่วงต้นศตวรรษก่อน ที่มองว่าการเติบโตของมวลชนนั้นหาใช่อะไรเลยนอกจากสัญญาณทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกว่ารสนิยมอันสูงส่งแบบชนชั้นนำ(ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม) กำลังถูกคุกคามจากรสนิยมอันต่ำช้า สามานย์ของคนทั่วไป(หรือก็คือกลุ่มคนส่วนมากของสังคม) ดู F.R. Leavis, “Mass Civilization and Minority Culture”, In Popular Culture : A Reader, Raiford Guins, Omayara Zaragaza Cruz (Edited)(London: Sage Publications, 2005),pp 33-8 

[14] Arendt, The Origins of Totalitarianism, p 310

[15] ดูรายละเอียดได้ใน Dana Villa, “Totalitarianism, Modernity and the Tradition”, in Politics, Philosophy, Terror: Essays on the Thought of Hannah Arendt(Princeton: Princeton University Press, 1999) , ch.8

[16] เบเนดิก แอนเดอร์สัน, “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม”, ใน จาก 14 ถึง 6 ตุลา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551), หน้า 99-164.

[17] เพิ่งอ้าง, หน้า 135 การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน ( หมายเหตุ adminบทความดี : ต้นฉบับที่เราคัดลอกมิได้แสดงการเน้นข้อความไว้ จึงขออภัย.. )

[18] ตัวอย่างอันน่าเศร้าที่ช่วยสะท้อนประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นสถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เอง ดังข้อมูลจากงานวิจัยของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล ที่ชี้ให้เห็นว่านอกจากไม่ค่อยได้รับการตระหนัก จดจำจากสังคมเท่าที่ควรแล้ว การกระทำอันโหดร้าย ป่าเถื่อนในเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เคยถูกประเมินว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ไม่สมควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำความรุนแรงในเหตุการณ์วันนั้นเองที่แม้อาจเก็บตัวเงียบ ไม่ออกมาแก้ต่างการกระทำของตนแต่ก็เป็นความเงียบที่ยังคงเป็นชัยชนะอยู่วันยังค่ำ ดู ธงชัย วินิจจะกุล, “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ(แต่ยังชนะอยู่ดี)”, ใน ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2553), หน้า 407-512.



.

2556-12-17

มวลมหาประชาชน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มวลมหาประชาชน
ใน http://prachatai3.info/journal/2013/12/50488
. . Tue, 2013-12-17 13:58
ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556
(แฟ้มภาพ: ประชาไท 9 ธ.ค.2557)


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล(มหาประชา)ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้าง
ขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล(มหาประชา)ชน

ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้

บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง

ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล


เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้

และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ  อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคล ยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ

ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้

ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี


เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง

ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง

เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ

ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง

การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา

ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้ กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้


นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน"

อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป

ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"

น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล(มหาประชา)ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ 
ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี 

คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล(มหาประชา)ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล(มหาประชา)ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า


จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก
นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง
เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ


ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้

เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล(มหาประชา)ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส


ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล(มหาประชา)ชน ชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่

เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้

หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า

จะถูกมวล(มหาประชา)ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต



.