http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-31

ทำไปทำไม, +อวสานพรรคประชาธิปัตย์ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

.

ทำไปทำไม
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391077945
. . วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 07:06:00 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 30 มกราคม 2557 )


เหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา คงเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คงจะไม่มีทางเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯและจังหวัดในภาคใต้ แล้วเหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด จะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงไม่มีใครเดาได้

หากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. มีเหตุการณ์ที่ทำให้การเลือกตั้งในกรุงเทพฯต้องเลือกตั้งซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็คงเป็นเรื่องที่แปลก ไม่เป็นไปตามปกติ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ จนครบ 180 วัน แล้วจึงมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปอย่างนั้นได้หรือไม่ ก็น่าคิด

หากไม่ทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากการประกาศยุบสภา แต่ไปตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ยกเลิกกระบวนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งเริ่มเดินหน้าแล้วทั้งการลงคะแนนเสียงของคนไทยในต่างประเทศและการเลือกตั้งล่วงหน้า แม้ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะทำตัวเป็น "รัฐธรรมนูญ" เสียเอง ก็เท่ากับรัฐบาลร่วมมือกับกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญทำการฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้วบ้านเมืองจะยึดหลักอะไร พรรคการเมืองอื่นๆ ที่เขาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต ไปแล้วจะว่าอย่างไร

บรรยากาศการเมืองหลายปีมานี้บางทีเราก็ลืมไป นึกว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองเพียง 2 พรรค คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

การที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดม็อบชุมนุมต่อต้านการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย พยายามร่วมมือกันให้เกิดภาวะทางตัน เพื่อเชิญทหารออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลก ถึงแม้จะ "อาย" ไม่พูดตรงๆ แต่ "กรรมก็เป็นเครื่องชี้เจตนา"


ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อทหารยังไม่ยอมปฏิวัติรัฐประหารตามสูตรเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา อาจจะเป็นเพราะ 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือบัดนี้ประชาชนมิได้มีแต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือมิได้มีแต่ฝ่ายเหลืองในกรุงเทพฯและภาคใต้เท่านั้น แต่มีฝ่ายแดงในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัดในภาคกลาง เหนือ อีสานและตะวันออก

เรื่องที่ 2 มีประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศทั่วโลกไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลทหาร

เรื่องที่ 3 หากมีการบาดเจ็บล้มตายกันอีก บัดนี้มีศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว แม้ประเทศไทยยังมิได้ให้รัฐสภาให้สัตยาบัน แต่ถ้ามีต่างชาติเข้าเกี่ยวข้องด้วย ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจจะประทับรับฟ้องได้

ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นน่ากลัวกว่าศาลไทยมากนัก ทหารคงจะทราบดีอยู่แล้วเพราะเรื่อง "ขอพื้นที่คืน" และ "กระชับพื้นที่" ในปี 2553 อาจจะไปโผล่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้




เมื่อผิดแผนที่ทหารยังไม่ออกมาทำการปฏิวัติ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติซึ่งจะเรียกชื่ออะไรก็แล้วแต่ แล้วออกประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางซึ่งที่จริงแล้ว "ไม่มี" ตั้งคณะทำงานทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากขบวนการบางส่วน เช่น การปลุกระดมมวลชนซึ่งคราวนี้ "จุดติด" เพราะประชาชนมีอารมณ์ค้างคามาจากการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย อารมณ์ค้างของผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งที่มาเองและที่ "จัดตั้ง" มา จึงดำเนินการต่อเพื่อให้มี "สภาประชาชน" และ "รัฐบาลคนกลาง" เพื่อให้มีการ "ปฏิรูป" ก่อนการเลือกตั้ง

สมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์ผู้จัดการชุมนุมทำได้สำเร็จ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหันกลับไปร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์และผู้ชุมนุม ไม่ยอมอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มี "รัฏฐาธิปัตย์" หรือ หัวหน้าคณะ "รัฐประหารที่ทำการสำเร็จ" แล้วใครจะเป็นผู้สถาปนาสภาประชาชน ถ้ากรรมการอะไรก็ไม่ทราบแต่งตั้งตัวเอง โดยไม่มีปากกระบอกปืนกับรถถังออกมาตั้งจังก้าอยู่ใครจะไปยอม แล้ววุฒิสภาที่มีอยู่จะให้เป็นอะไร คงยังอยู่คู่กับสภาประชาชนหรือจะถูกยุบไป


อยากจะรู้ว่าผู้ที่เป็น "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ตามมาตรา 7 จะเป็นใคร เห็นมีรายชื่ออยู่ 2-3 ชื่อ ดูก็เข้าทีดีอยู่เหมือนกันก็น่าจะลองดู แล้วหัวหน้าม็อบกับแกนนำการชุมนุมจะเอาท่านไปไว้ที่ไหน ท่านนายกฯคนกลางก็คงต้องคิดหนัก ว่าจะจัดการกันอย่างไร หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีก็พบปัญหานี้กับผู้นำนักศึกษาซึ่งใหญ่โตคับบ้านคับเมืองมาแล้ว จนต้องลาออกแล้วตั้งรัฐบาลใหม่คลอดรัฐธรรมนูญปี 2517 ออกมาได้ แต่คราวนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกับคราวนั้น

นึกไม่ออกว่าถ้ามีเว้นวรรคแล้วนายกรัฐมนตรีคนกลางจะทำอะไร จะบริหารราชการเพื่อทำการปฏิรูปการเมือง ก็ยังนึกไม่ออกอีกเหมือนกันว่าจะปฏิรูปอะไรแบบไหน จะได้ใครมาเป็น "สถาปนิกการเมือง" หรือ "Political Architect" หรือวิศวกรการเมือง "Political Engineer" เพราะอย่างไรเสีย รูปแบบของรัฐก็ดี รูปแบบของรัฐบาล รูปแบบของรัฐสภา ก็คงเหมือนเดิม จะกลับไปให้วุฒิสภาแต่งตั้งทั้งสภา มีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีสมาชิกสภาประเภทสอง เหมือนอย่างที่เคยทำก็คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว จะจัดรูปแบบการเมืองให้กองทัพกับรัฐสภาคานอำนาจกัน อย่างที่เคยเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบก็คงทำไม่ได้อีกแล้ว จะให้สภากับนายกรัฐมนตรีแบ่งแยกอำนาจกันเด็ดขาดโดยทั้ง 2 ฝ่ายให้ประชาชนเลือกมาโดยตรงก็ทำไม่ได้



เราเคยรณรงค์ว่า จะใช้ระบบพรรคการเมืองเป็นแกนกลางของระบอบการปกครองโดยรัฐสภา โดยยึดถือคำขวัญที่ว่า "พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค" หรือ "เลือกพรรคเหมือนฟังดนตรีทั้งคณะ" บัดนี้ประชาชนเขาก็เลือกผู้แทนราษฎรเป็นพรรคอย่างที่รณรงค์กันมา มีปัญหาก็เพราะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเกินไป ถ้าจะกลับไปอย่างเดิมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอิสระก็ได้ ก็จะเกิดปัญหาเดิมอีกคือพรรคควบคุม ส.ส.ของตนไม่ได้ ส.ส.วิ่ง "ขายตัว" ให้กับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ จนรัฐบาลอ่อนแอเกินไปทำงานไม่ได้ จึงได้เขียนรัฐธรรมนูญว่า ผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง

ที่ปลุกระดมกันไปต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านทักษิณ ให้ไปเลือก "คนดี" เข้าไปเป็นสมาชิกสภา จะเลือกอย่างไร คนดีก็ต้องสังกัดพรรค ทั้ง 2 พรรคใหญ่ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ตกลงจะเอาอย่างไรดีหรือเลือกปนๆ กันไปในแต่ละเขต ช่วยบอกทีจะได้ทำถูก

เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นแต่ก็เข้มแข็งไม่เท่ากัน พรรคการเมืองหนึ่งชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้ง และทำท่าจะชนะการเลือกตั้งอีก บัดนี้ก็มีการรณรงค์ให้ "เลือกคนดีให้เข้ามาทำงานให้บ้านเมือง" ซึ่งไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอย่างไร ไม่ควรเลือกพรรคหรืออย่างไร ฟังๆ ดูไม่ทราบว่าจะเอาอย่างไร ก็ในเมื่อมีระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องเลือกพรรคอยู่แล้ว ส่วน ส.ส.เขตให้เลือกคน หรืออย่างไร

ฟังดูจุดหมายปลายทางการปฏิรูปการเมืองก็คือ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง โดยมีสมมติฐานว่า ถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงแล้วพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับเลือกมาเป็นพรรคใหญ่ สภาจะมีพรรคเล็กหัวแหลกหัวแตกอย่างนั้นหรือ แล้วการมีการเมืองหลายพรรคแบบหัวแหลกหัวแตกจะดีกว่าการเมืองระบบพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่างนั้นหรือ เมื่อปฏิรูปการเมืองโดยเว้นวรรคสักปีสองปีแล้วกลับมาเลือกตั้งกันใหม่จะได้สภาผู้แทนราษฎรที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างนั้นหรือ ยังนึกไม่ออก ฟังดูก็สับสน ท่านผู้นำประเทศทั้งหลาย ท่านจะเอาอย่างไรก็แถลงมา จะได้ปฏิบัติตนได้ถูก


จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะเขียนกฎหมายเลือกตั้งอย่างไร จึงจะได้สภาผู้แทนในอุดมคติ แล้วสภาผู้แทนในอุดมคติรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อยากจะเห็นจริงๆ คนกรุงเทพฯจะได้พ้นวัยฮอร์โมนเสียที

ผู้แทนราษฎรต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใด ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ก็ขัดกับธรรมชาติของการเมืองระบบพรรคอีกนั่นแหละ เพราะถ้าสมาชิกพรรคไม่ปฏิบัติตามมติพรรค พรรคการเมืองก็ไม่เป็นพรรคการเมือง ตราบใดที่ประชาชนเลือกพรรคหาก ส.ส.ผู้ใดย้ายพรรคก็จะไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.แนวโน้มที่ว่านี้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อพรรคเข้มแข็งขึ้น พรรคมีจำนวนมากขึ้น อันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเสียงนิยมเลือกพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองจะยอมทำตามคำชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ขณะเดียวกัน การยอมอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจนเป็นที่ปรากฏ ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองนั้น จะยังยินยอมเลือกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ ถ้ายินยอมลงคะแนนเสียงให้อยู่ แล้วจะทำอย่างไร จะมีมาตรการปฏิรูปอย่างไร มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า "ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นอย่างไรก็ได้รัฐบาลเป็นอย่างนั้น"


หรือ "people deserve their own government" ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร มีแต่การปกครองระบอบอื่นเท่านั้นที่ได้รัฐบาลที่ดีกว่าหรือเลวกว่าประชาชน

จึงไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่า ศาลก็ดี องค์กรอิสระก็ดี ทำตัวเป็นกฎหมายเสียเองทำไม เพราะเมื่อไหร่มีเลือกตั้ง ผลก็ออกมาเหมือนเดิม

แล้วทำไปทำไม




++

อวสานพรรคประชาธิปัตย์
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1390812383
. . updated: 27 ม.ค. 2557 เวลา 15:39:34 น.

( ที่มา: คอลัมน์ คนเดินตรอก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ )


อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เคยประกาศว่า "ผมเชื่อในระบอบรัฐสภา" ก็เลยเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่น เคารพ และศรัทธาในประชาธิปไตย และเป็นสถาบันการเมืองที่จะพาประเทศชาติสู่ความเป็นชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นระบบการเมืองพรรคใหญ่2พรรค เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
เคยฝันหวานว่า เราจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม ตัวแทนของคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้า และจะเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับล่างและคนในระดับรากหญ้าที่ต่างช่วยกันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติทั้ง2พรรคจะต่อสู้ แข่งขันกัน ในกรอบของประชาธิปไตย ในสนามเลือกตั้ง ผลัดกันแพ้เป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันชนะเป็นรัฐบาล ตามแต่กระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก

การเป็นพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองทุกแห่งในโลกก็มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นจำนวนมาก ไม่แต่คนในเมือง คนต่างจังหวัดก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าพวกหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จิตวิญญาณของนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น


แต่บัดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ล้มเลิกความคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วาทกรรม และการกระทำ กลายเป็นพรรคที่สนับสนุนทหาร สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านประชาธิปไตยไปเสียหมด

เริ่มจากเป็นพรรคนำ พรรคแรกของการเป็นพรรคภูมิภาคหรือพรรคภูมิภาคนิยม หาเสียงในภาคใต้โจมตีคู่ต่อสู้ โดยการปลุกเร้าภูมิภาคนิยม ดูถูกดูหมิ่นคู่แข่งทางภาคอีสานและเหนือว่าเป็น "ลาว" ดูถูกหัวหน้าพรรคชาติไทยว่าเป็นจีนเกิดในเมืองจีน ดูถูกว่าหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็น "ลาว" ใช้การดูหมิ่น "เชื้อชาติ" เป็นยุทธวิธีในการหาเสียง

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จเป็นพรรคของคนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามและทำได้สำเร็จเป็นพรรคภาคอีสานและภาคเหนือ พรรคชาติไทยเป็นพรรคภาคกลาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง


ความที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด30ปี และแพ้หนักมากในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีกองทัพและอำนาจเก่ารวมทั้งสื่อมวลชนหลักในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวช่วยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สักที เพราะความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มผู้นำพรรคที่ล้าสมัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อนประชาธิปัตย์จึงกลัวการเลือกตั้ง

การเป็นพรรคการเมืองที่กลัวการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น Paradoxy เมื่อกลัวการเลือกตั้งก็ตั้งป้อมหาเรื่อง ติเตียนประณามการเลือกตั้ง เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูของพรรค พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งอย่างที่สุด

เมื่อต่อต้านหลีกเลี่ยงประณามการเลือกตั้งตนก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตัวไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนระบอบการปกครองที่ใช้การแต่งตั้ง หรือไม่ก็ใช้วิธีสรรหา ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หันไปสู่การสนับสนุนทหาร พูดจาสนับสนุนองค์กรอิสระที่ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วว่า องค์กรอิสระเหล่านี้มีที่มาจากการรัฐประหารของทหาร หรือกระแสกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งไม่ต้องการประชาธิปไตยแทนที่จะปฏิรูปตัวเองที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ก้าวหน้าได้ ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในต่างจังหวัด เลิกใช้วาทกรรมบิดเบือน กล่าวเท็จในเรื่องข้อกฎหมายและหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวอย่างให้ยกมาเทียบเคียงได้มากมาย หากต้องการ

ทำไปทำมา "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปไตย" นั่นเอง หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาพาดหัวตัวใหญ่ว่า "The Enemy of the Democrat party of Thailand is Democracy" ซึ่งเป็นความจริง แม้ว่าแฟนคลับของประชาธิปัตย์อย่างหนังสือพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่นจะออกมาแก้ตัวให้ก็ตาม


การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยโดยวิธีฉ้อฉลของพรรคเพื่อไทยใคร ๆ ก็เห็นด้วยจนรัฐบาลต้องถอย แต่กลับฉกฉวยโอกาสชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯว่าเป็น "มวลมหาประชาชน" ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่จริง ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ขโมยสิ่งของของราชการ บังคับขู่เข็ญไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ทำการ ข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เสนอตั้งองค์กรทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและกรอบของประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์รุนแรง ยั่วยุให้มีความรุนแรงเพื่อกรุยทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร

การดำเนินการชุมนุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย เพราะดำเนินการโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ ชวน อภิสิทธิ์ ชินวร ถาวร และผู้นำพรรคคนอื่นที่ยึด "ข้างถนน" เป็นเวทีอภิปราย โจมตีด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ใช้วาทกรรมที่โกหกมดเท็จซ้ำ ๆ ซาก ๆปั้นน้ำเป็นตัวครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมิได้เกรงใจสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เขาเป็น "ผู้ดี" มีจิตใจเป็นธรรมและเป็นนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

การที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เกรงกลัวการ "เลือกตั้ง" และยอมรับว่า "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตย" อย่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พาดหัวข่าว ประชาธิปัตย์ไม่อาจแก้ตัวได้เลย พฤติกรรมที่แสดงว่ากลัวการเลือกตั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็คือการประกาศ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้ง

ปฏิรูปอย่างไร ถ้าประชาชนเขาไม่เลือก ประชาธิปัตย์ก็แพ้อยู่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดการเลือกตั้ง หรือกฎหมายเลือกตั้ง

ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่เลือกมากกว่า จะให้แก้กฎหมายเลือกตั้งอย่างไรก็ยังแพ้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังถูกเกาะกุมโดยกลุ่มผู้นำเก่าที่ล้าสมัย ยังคิดแบบเดิม ๆ ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการแข่งขัน ที่สำคัญ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลโดยการช่วยเหลือของกองทัพ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าทำงานไม่เป็น คิดไม่เป็น เป็นแค่ทำความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ทั้งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ภาพพจน์ของประเทศเสียหายเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ




พรรคการเมืองนั้นต้องเอาดีในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นของแท้
ถ้าประชาธิปัตย์เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูและพยายามต่อสู้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยการออกตัวไปเป็น "เครื่องมือรับใช้สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" แต่มีอำนาจแฝง เช่น กองทัพ องค์กรอิสระ รวมทั้งการได้ขายจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่สง่างาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วในระยะยาว

การ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการบังคับตัวเองให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประณามไปทั่วโลก จะมีชมเชยบ้างก็สื่อมวลชนที่ล้าหลังภายในประเทศ
การที่พรรคคว่ำบาตร ทำให้ผู้นำพรรคก็ดี สมาชิกที่ภักดีต่อพรรคก็ดี ถูก "บังคับ" ให้ทำตัวเป็นนักต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย วาทกรรมดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จทั้งในด้านหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่สำคัญก็คือบังคับตัวเองให้ขัดขวางต่อต้านองค์กรที่จัดเลือกตั้งคือ กกต.และกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ให้ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง แม้จะพยายามหาเหตุผลมาบิดเบือน


อย่างไรก็ตามถ้า กกต.เกิดถูกบังคับ จะโดยกฎหมาย หรือความกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่อย่างหนักจนต้องจัดการเลือกตั้งนี้ไปได้ ก็จะไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสภา จะมีพรรคอื่นมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแทน และถ้าฝ่ายค้านนั้นมีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีวาทกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย เลือกตั้งคราวต่อไป อย่างน้อยคนกรุงเทพฯอาจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยก็ได้ ถึงเมื่อนั้นประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปก็ได้

ถ้ายังยืนกรานไม่เปลี่ยนตัวผู้นำในพรรคที่เกาะกุมอำนาจในพรรคมากว่า40ปี ยังมีความคิดเดิม ๆ ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิม คิดอะไรไม่เป็นเหมือนเดิม เอาแต่คิดว่าจะพูดจาถากถางเหน็บแนมปั้นน้ำเป็นตัวทำลายผู้อื่นเพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแก่ตัวอายุมากขึ้นทุกวัน ก็เชื่อได้ว่าเลือกตั้งอีกไม่กี่ครั้ง นอกจากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ผู้นำฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้เป็น

ถ้ายังเป็นพรรคที่เชื่อในตัวบุคคล หรือลัทธิบุคลาธิษฐานอยู่ ไม่ได้เชื่อในระบบ เหมือน ๆ กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้า สังคมไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานความเชื่อในลัทธิบุคลาธิษฐานจะคลายความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เพราะบุคคลไม่อาจดำรงคงอยู่ตลอดกาล และเมื่อถึงจุดนั้น การชูบุคคลเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะลดความสำคัญลง พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ควรจะคิดถึงเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่น ๆ


การใช้กลเม็ดในการหาเสียงหรือดำเนินการทางการเมืองด้วยการไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีนอกกรอบประชาธิปไตย นอกระบบพรรคการเมือง เท่ากับเป็นการต่อต้านพลวัตทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ของพรรคการเมือง เป็นวิธีการรับ "ความรู้สึก" ของประชาชนฐานเสียงของตัวเองอย่างแท้จริงว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้วอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร 



.

2557-01-29

ศยามล: หยุดความรุนแรงและเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

.
เชิญอ่าน - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แนะทางออกการเมือง"วิน-วิน"
                  ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391009574
               - มีชัย ฤชุพันธุ์: เราควรออกไปเลือกตั้งหรือไม่...
                  ที่ http://prachatai3.info/journal/2014/01/51492
_________________________________________________________

หยุดความรุนแรงและเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย
โดย ศยามล ไกยูรวงศ์

ใน http://blogazine.in.th/blogs/noksayamol/post/4581
. . 29 มกราคม, 2014 - 21:31
| โดย noksayamol
( ภาพของเซีย ไทยรัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียน )


นับวันสถานการณ์บ้านเมืองเกิดความรุนแรงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ  โดยมีประชาชนที่มาชุมนุมด้วยใจบริสุทธิ์เป็นกองกำลังสร้างความชอบธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย ประชาชนที่มาชุมนุมของทั้งสองฝ่ายต่างมีความหลากหลายทางชนชั้น คงไม่เพียงแต่ประชาชนของ กปปส. ที่มีแต่คนกรุงเทพฯ และคนใต้  หากแต่ยังรวมถึงเกษตรกร คนจนในชนบท ซึ่งก็มีกลุ่มประชาชนในลักษณะดังกล่าวมาร่วมชุมนุม   การวิเคราะห์ทางชนชั้นแยกฐานะทางเศรษฐกกิจและแยกภาคแบบเหมาเข่ง เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดและจะนำพาไปสู่การหาทางออกที่เหมาเข่งและไม่สอดคล้องกับความจริงเช่นกัน  และการวิเคราะห์เช่นนี้ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกที่เลวร้ายไปจากเดิม

รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังใช้อำนาจของตนเองสร้างความรุนแรงให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ กปปส. ก็ใช้ความรุนแรงไปละเมิดสิทธิของผู้ที่ต้องการไปเลือกตั้ง  ทั้งสองการกระทำล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนที่บริสุทธิ์    ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องหยุดการใช้ความรุนแรง
และเชื่อมั่นว่าหากการชุมนุมของมวลมหาประชาชนใช้หลักอหิงสาสันติวิธีแล้ว การกระทำของคนพาลก็จะต้องพ่ายไปในที่สุด

การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร

ไม่ว่าปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นอย่างไร แต่เราคนไทยต้องการให้มีการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย โดยไม่ต้องหวังรอนักการเมืองอีกต่อไป   การได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพ เป็นอันธพาลนักเลง ก็เนื่องมาจากวงจรอุบาทของวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทย  ระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบพรรคพวก ระบบการพึ่งพาซึ่งกันและกัน  การออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ หรือระบบแบบเบอร์เดียวคนเดียว ไปจนถึงระบบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัดและตำบล  ก็ไม่สามารถที่จะได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ  การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 25557  เราก็ยังคงได้นักการเมืองแบบระบบพรรคพวกและไม่มีคุณภาพ ภาษีประชาชนที่เป็นเงินของเราก็จะถูกใช้ละลายไปอย่างไร้ค่า

นักกฎหมายในยุคเผด็จการ ทรราชย์ หรือยุคประชาธิปไตย ก็ยังคงใช้ความรู้ของตนให้มีอิทธิพลในการตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดแบบระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เรียนกันมา  กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือของรัฐาธิปัตย์เสมอ  แต่กลับไม่ใช่เครื่องมือของประชาชนแต่อย่างใด  แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญสีเขียว สีเหลือง สีแดง ก็ตาม   สัจธรรมบนโลกใบนี้ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า  ไม่ว่าเราจะเขียนกฎหมายให้ดีอย่างไร   ผู้เขียนกฎหมายก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ากฎหมายจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดในอนาคตได้หรือไม่  เพราะต้องมีการปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายและต้องสรุปว่ากฎหมายยังมีข้อจำกัดและมีช่องว่างเสมอ

ระบบกฎหมายของไทยได้ออกแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจและมีดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่ไม่ได้มีการออกแบบให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างไร แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ก็ได้รับการกำกับควบคุมโดยสถาบันทางปกครองและหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิม  จึงทำให้ระบบรัฐราชการยังคงดำรงแนวคิดแบบอมาตยาธิปไตยที่พึ่งพากับนักการเมืองนายทุน    ระบบการเลือกตั้งทุกวันนี้นำมาจากการเลือกตั้งในประเทศตะวันตกที่วัฒนธรรมของคนตะวันตกมีวัฒนธรรมการแสดงออก และเคารพในสิทธิและหน้าที่ของเขาเองอย่างเคร่งครัด แต่คนไทยยังไม่มีวัฒนธรรมแบบคนตะวันตก
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนเอเชียแบบสังคมไทย  ด้วยการออกแบบกฎหมายที่ให้ประชาชนมีพื้นที่ของการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ และการปกป้องสิทธิของตนเองที่ถูกละเมิดโดยรัฐราชการ ... 


ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะสั้น (หนึ่งปี) คือ การได้มาซึ่งอำนาจหน้าที่ของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร  โดยการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และการกระจายอำนาจให้มีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระ  ในระยะยาวให้มีการปฏิรูปประเทศไทยโดยการปฏิรูปกฎหมายทั้งหมดในระยะเวลาสองปี  เนื่องจากมีกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน ไม่ทันสมัย ไม่กระจายอำนาจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดแย้งกันเอง

ข้อเสนอของระบบการเลือกตั้งควรมีการเลือกตั้งผู้แทนของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน  ควรให้มีเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและทีมงานบริหารโดยตรง  ซึ่งต้องมีคุณสมบัติของการมีนโยบายการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน มีทีมงานบริหารที่เป็นมืออาชีพ   และมีการบริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ของหลักธรรมาภิบาล   ในขณะที่การเลือกผู้แทนของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไปทำหน้าที่ออกกฎหมายกฎหมาย และตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล คุณสมบัติของผู้แทนต้องมีความรู้และประสบการณ์ทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การออกกฎหมาย และการนำเสนอที่ทำให้สาธารณชนมีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมตรวจสอบฝ่ายบริหาร  ดังนั้นที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารต้องแยกขาดจากกัน  และแยกคุณสมบัติที่ชัดเจน  เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน    การไปเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่จึงเลือกตัวบุคคลเพราะรู้จักคนนั้นและช่วยเหลือกันมา  มากกว่าการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายและคุณสมบัติของนักการเมืองว่าเหมาะสมหรือไม่

รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องมีการปกครองส่วนภูมิภาค  แต่ให้กระจายอำนาจไปที่ระดับจังหวัดเพื่อให้มีการบริหารจังหวัดและมีการออกกฎหมายของจังหวัดอย่างเป็นอิสระ   การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีความสำคัญ มีระยะเวลาการบริหารประเทศสี่ปี  ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ดีกว่าการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี และ สส.ที่เลือกตั้งขึ้นไป  ดังคำกล่าวที่ว่า “ไปชุมนุมที่จังหวัดยังง่ายกว่าไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล  ไปตามการแก้ไขปัญหากับผู้ว่าฯก็ยังง่ายไปกว่าไปตามให้แก้ไขปัญหากับนายกรัฐมนตรี   ไปร่วมเสนอกฎหมายในระดับจังหวัดก็ยังมีข้อเสนอที่ดีกว่าเสนอที่รัฐสภา เพราะรู้ว่าบ้านตัวเองต้องการอย่างไร รัฐบาลจะทำโครงการเงินกู้สองล้านล้านบาท ไม่เห็นรู้เรื่อง แต่ถ้าบอกว่าจะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านตัวเองหรือไม่ บอกได้ทันทีว่า ไม่”

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมีการดำเนินการแบบกรุงเทพมหานคร และมีสภาจังหวัด โดยใช้ระบบเดียวกันคือเลือกผู้ราชการจังหวัดโดยตรง และเลือกฝ่ายนิติบัญญัติในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ยังคงการเลือกตั้งในระดับตำบล ซึ่งจะมีการยกระดับเป็นเทศบาลทั้งหมด  กล่าวคือให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล  ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีการกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย   เพราะเป็นการมอบอำนาจให้มีการบริหารจังหวัดอย่างเป็นอิสระ สำหรับข้าราชการท้องถิ่นให้มีการสอบคัดเลือกในระดับจังหวัด  เพื่อได้บุคลากรที่เป็นคนในจังหวัดและตำบล  ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการบริหารงาน บุคคลากร งบประมาณ และการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรภายในจังหวัดได้อย่างเป็นอิสระ ในกรณีของกรุงเทพมหานคร ก็ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่ยังไม่กระจายอำนาจให้ กทม.อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน


การคืนอำนาจให้คนไทยได้ปกครองตนเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยทันที เพราะปัญหาหลายประการไม่สามารถรอคอยให้นักการเมืองระดับประเทศแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป ในสภาวะที่มีความขัดแย้ง แต่คนไทยกลับต้องรอว่านักการเมืองจะเลิกทะเลาะกันเมื่อไร เราจึงต้องเริ่มทันที



.

2557-01-28

ปฏิรูปการปฏิรูป โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ปฏิรูปการปฏิรูป
โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390820438
วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 07:15:07 น.

( ที่มา: มติชนรายวัน 27 มกราคม 2557 ) 


แม้มีการ "ปฏิรูป" ในเมืองไทยมาหลายครั้งแล้ว แต่การตอบรับอย่างกว้างขวางในครั้งนี้ ดูเหมือนจะสะท้อนสำนึกของคนหลายกลุ่มหลายเหล่าว่า เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผู้นำกลุ่ม กปปส.ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องในระยะแรก อาจไม่ได้คิดอะไรมากกว่ายุทธวิธีทางการเมือง ในการให้ความชอบธรรมแก่การประท้วงของตน

แต่การตอบรับของคนหลายกลุ่มหลายเหล่าให้เปลี่ยนประเทศไทยนั้น อาจมาจากแรงจูงใจที่ต่างกัน
บางกลุ่มอาจต้องการเพียงควบคุมทิศทางความเปลี่ยนแปลงให้เอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนยิ่งขึ้น บางกลุ่มอาจต้องการควบคุมทิศทางความเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับอุดมคติบางด้าน เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, การกลับคืนสู่สังคมอดีตในอุดมคติ, การมีอำนาจต่อรองของประเทศเพิ่มขึ้นในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ฯลฯ

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ รวมทั้งคนที่อยู่ในการชุมนุมของ กปปส.ด้วย อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจริง และอย่างกว้างขวางกว่านั้นมาก


อันที่จริง คนไทยจำนวนมากถูกทำให้เข้าใจผิดตลอดมาว่า การเปลี่ยนประเทศมีสูตรสำเร็จ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เท่านั้นที่รู้ว่าควรจะเปลี่ยนอะไรและอย่างไร ความจริงแล้ว เมื่อสังคมจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ย่อมมีคนได้และมีคนเสียในความเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ แต่ "การเมือง" ของความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้เข้ามาต่อรอง เสนอแนะ ทัดทาน ควบคุม หรือประนีประนอมกัน ในทิศทางของความเปลี่ยนแปลงเลย

การเมืองของความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย นับตั้งแต่การ "ปฏิรูป" ของ ร.5 เป็นต้นมา คือการแย่งชิงความชอบธรรมของความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งของกระบวนการแย่งชิงนี้คือการใช้กำลังในการสถาปนาอำนาจนำทางการเมือง แต่กำลังอย่างเดียวไม่พอ ยังมีการแย่งชิงในเชิงวัฒนธรรม, วิชาการ และการสร้างพันธมิตรทางการเมืองด้วยการกระจายผลประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงไปสู่พันธมิตรอีกด้วย

เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจนในการ "ปฏิรูป" ของ ร.5 และการ "พัฒนา" ของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาหลังการอภิวัฒน์ใน 2475 ต้องเสียไปกับการแย่งชิงและครอบครองอำนาจนำทางการเมืองกับฝ่ายเจ้า จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นได้จำกัด

ตรงกันข้ามกับการ "ปฏิรูปการเมือง" ในปลายทศวรรษ 2530 อันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ฝ่ายปฏิรูปแทบจะกุมอำนาจนำทางการเมืองไม่ได้เลย ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของการต่อรองกันเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองเท่านั้น โดยมีกรอบใหม่ของการแย่งชิงอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่คอยกำกับ เนื้อหาทางการเมืองเปลี่ยนไปก็จริง แต่ไม่ใช่ในทิศทางที่นักปฏิรูปต้องการ

แต่สิ่งที่ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งในการเปลี่ยนประเทศไทยทุกครั้งที่ผ่านมาก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปแต่อย่างใด มีคนเสียเป็นอันมากโดยไม่มีโอกาสต่อรอง ไม่ว่าต่อรองกระบวนการเปลี่ยนหรือจังหวะการเปลี่ยน ยังไม่พูดถึงต่อรองเนื้อหาการเปลี่ยน



กระแสปฏิรูปในครั้งนี้ ขยายตัวอย่างกว้างขวางกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา (หรือไม่น้อยกว่าเมื่อครั้งปลายทศวรรษ 2530) จากคนหลายสีทางการเมือง และหลายสถานภาพ อย่างไรเสียผู้กุมอำนาจนำทางการเมืองได้ก็ต้องตอบสนอง

แต่น่าเสียดายที่ กลุ่มที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองในเวลานี้ (ทั้งด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและนอกวิถีทาง) ยังเห็นกระบวนการเปลี่ยนประเทศในลักษณะที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทั้งหมดในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่เปิดโอกาสของการต่อรองแก่คนทุกกลุ่ม

วิธีการสุดโต่งคงเป็นของ กปปส. ซึ่งจะตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเอง โดยไม่ผูกโยงกับประชาชนส่วนใหญ่ แล้วให้อำนาจสภาประชาชนตั้งคณะกรรมการ หรือสภาปฏิรูปขึ้นเองเหมือนกัน
วิธีที่รัฐบาลรักษาการทำก็ไม่สู้จะต่างกันนักในแง่วิธีการ คือเชิญกลุ่มที่มีเสียงดังทางการเมืองเข้าไปหารือเพื่อกำหนดเนื้อหาของการปฏิรูป

แต่ปัญหาของการปฏิรูปหรือเปลี่ยนประเทศทุกครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทยคือ คนไม่มีเสียงหรือเสียงไม่ดังซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมต่างหาก เขากลับเป็นผู้เสียในการเปลี่ยนแปลงที่คนเสียงดังผลักดันผ่านการ "ปฏิรูป" หรือการ "พัฒนา" เสมอมา


เนื้อหาของการปฏิรูป ไม่ได้ถูกผลักดันเข้าไปเป็นญัตติในการเลือกตั้ง (ฝ่าย กปปส.ไม่ต้องการให้มีเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปด้วยซ้ำ) พรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคมีข้อเสนอด้านความเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มีพรรคใดที่เสนออย่างเป็นระบบเท่าพรรคคนธรรมดา ซึ่งด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ ไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง (หรือมีโอกาสแต่ไม่มีทุนหาเสียงก็ไม่ทราบได้) อย่างไรก็ตามพรรคเล็กมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล

น่าตลกที่สุดคือ พรรคที่มี "พิมพ์เขียว" การปฏิรูปพร้อมมูลที่สุด กลับตัดสินใจไม่ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ก็ไม่ทราบว่าเขาจะเสนอ "พิมพ์เขียว" ของเขาสู่การพิจารณาตัดสินใจของประชาชนได้อย่างไร หรือเขาต้องการเสนอ "พิมพ์เขียว" แก่อำนาจนอกระบบพิจารณาเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับย้อนกลับไปเปลี่ยนประเทศด้วยวิธีการอย่างที่ผ่านมาแล้วทุกครั้ง
ส่วนภาคเอกชนที่รวมตัวกันเสนอการปฏิรูป ก็มีแต่องค์กรธุรกิจและเครือข่ายของตน ไม่แปลกที่ข้อเสนอของพวกนี้แคบอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะคนเหล่านี้ย่อมไม่อยากเปลี่ยนประเทศมากนัก ในเมื่อสภาวะทุกอย่างในประเทศไทยขณะนี้เอื้อต่อผลประโยชน์ของพวกเขาเต็มที่อยู่แล้ว เนื้อหาการปฏิรูปของพวกเขาจึงชูอยู่เรื่องเดียวคือการปราบคอร์รัปชั่นคนอื่น โดยไม่มีวาระการปราบคอร์รัปชั่นในวงการธุรกิจด้วยกันเอง ไม่ว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชั่นเชิงผูกขาด หรือคอร์รัปชั่นเชิงการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีเรื่องของสวัสดิการแรงงาน, การปรับโครงสร้างภาษี, โอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่เท่าเทียมกัน, การกำหนดนโยบายสาธารณะที่เปิดกว้างแก่คนทุกกลุ่ม ฯลฯ

ได้ยินข่าวว่า เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมก็กำลังจะจัดสภาปฏิรูปของตนเองขึ้นด้วย ซึ่งก็มีประโยชน์แน่หากเสนอแผนปฏิรูปเป็นสาธารณะ และผลักดันไปสู่การแข่งขันกันทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไม่ใช่ขอทำปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง


โดยสรุปก็คือ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แผนปฏิรูปไม่ว่าจะแคบหรือกว้างอย่างไร ต้องกระทำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และทำโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมดเวลาที่จะมีผู้เชี่ยวชาญสรุปแผนปฏิรูปในห้องปิด แล้วบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน


ดังนั้น การปฏิรูปและการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะผลักดันแผนปฏิรูปของตนได้อย่างไร หากไม่ผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง คนส่วนใหญ่จะอาศัยช่องทางอะไรในการต่อรองแผนปฏิรูป หากไม่มีรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน คนที่สามารถล็อบบี้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือจากสภาประชาชนซึ่งแต่งตั้งกันเอง มีจำกัดอยู่ในกลุ่มคนหน้าเดิมไม่กี่กลุ่ม (รวมคนในตระกูลชินวัตรด้วย) แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงรัฐบาลประเภทนั้น

ปฏิรูปของ กปปส.และบริษัทของตน เป็นเพียงยุทธวิธีทางการเมือง เพื่อทำลายล้างกระบวนการประชาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอให้ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะอาจทำให้การปฏิรูปที่มีผู้ตอบรับเสียงเรียกร้องจำนวนมาก กลายเป็นการเลือกข้างทางการเมือง และเมื่อกลายเป็นการเลือกข้าง ก็เท่ากับทำให้คนอีกมากหมดความสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูปไปเสีย
หรือถึงสนใจการปฏิรูปต่อไป ก็กลับไปฝากการปฏิรูปของตนไว้กับอำนาจ แทนที่จะฝากไว้กับระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชาธิปไตย ในที่สุดการปฏิรูปก็จะเป็นการกระทำจากบนลงล่างอย่างที่ผ่านมาอีก ซึ่งในครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่ากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

กลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวผลักดันการปฏิรูปด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงควรตั้งสติให้ดี อย่ามักง่ายอาศัยอำนาจเถื่อนของ กปปส.เพื่อผลักดันการปฏิรูป แต่ควรหันมายึดกติกาประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยไม่ทิ้งวาระการปฏิรูปของตน ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ผลักดันประเด็นการปฏิรูปของตนอย่างเข้มแข็ง แสวงหาพันธมิตรและร่วมกันทำให้ข้อเสนอของตนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ดึงความสนใจจากสังคมในวงกว้าง จนรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ต้องระดมทรัพยากรมาทำการปฏิรูปภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย กล่าวคือมีคนอื่นเข้ามาคัดค้าน ตรวจสอบ และต่อรองในประเด็นนั้นๆ อย่างกว้างขวาง

ปฏิรูปด้วยวิธีนี้เท่านั้น จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีการรอมชอมกันได้ ระหว่างผู้ที่ได้กับผู้ที่เสีย ไม่มีใครเสียหมด และไม่มีใครได้หมด คนเสียมีโอกาสได้ในวันหน้า คนได้ก็จะได้โดยไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น



.

2557-01-27

จำลอง: เลื่อนฟรี?, กกต.-บอร์ดประเทศ

.

เลื่อนฟรี?
โดย จำลอง ดอกปิก
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390812357
วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:01:26 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 27 มกราคม 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนหรือมติชน )


แนวโน้มความเป็นไปได้ในการเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปมีค่อนข้างสูง เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักพิง

หากสามารถทะลุข้อจำกัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายเกี่ยวข้อง รวมถึงความหวั่นเกรง ผลอันอาจเกิดขึ้นตามมา จากการปฏิบัติตามคำตัดสินได้

และยิ่งถ้าพอมีหลักประกันบ้าง เมื่อเลื่อนวันออกไปแล้ว จะไม่ถูกยื่นร้องเอาผิด เหมือนกับที่เคยประสบมา

การยอมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ไม่น่ามีปัญหา


เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำ คือแก้ไขรายมาตรา ในที่สุดก็ถูกร้อง และมีความผิด
จึงเป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีคิดหนัก ต้องสุขุม รอบคอบทุกย่างก้าว

ประเด็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลื่อนวันเลือกตั้งที่ยังคลุมเครือ มีข้อโต้แย้ง ไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนในขณะนี้ น่าจะเป็นหัวข้อหลัก ถูกหยิบยกมาพูดคุยในการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต.วันที่ 28 มกราคมนี้ ว่าจะเดินหน้าอย่างปลอดภัยได้อย่างไร เพื่อให้รัฐบาลอุ่นใจ ไม่พลาดตกหลุมพราง
หากมีข้อสรุปชัดเจน คงนำมาสู่การตัดสินใจในลำดับถัดไป


เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ดูจากถ้อยแถลงฝ่ายรัฐบาล และ กกต. ท่าทีสองฝ่ายค่อนข้างตรงกัน กกต.นั้นชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร เรียกร้องต้องการเลื่อนวันเลือกตั้ง มาวันนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งว่าต้องการใช้กระบวนการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ฝ่ายรัฐบาลจับสัญญาณจากคำพูดวราเทพ รัตนากร ผู้ได้รับมอบหมายเป็นกระบอกเสียงนายกฯเรื่องนี้ ก็ไม่มีท่าทีขัดข้อง
อาจมีลีลา เงื่อนไขบ้าง เช่น ต้องไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง เลิกชุมนุม และไม่บอยคอต ถือว่าเป็นธรรมดาของนักการเมือง ยังเปิดกว้างให้ต่อรอง หารือแลกเปลี่ยนได้

วาระควรเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่นี้ ฝ่ายสนับสนุนเดินหน้าต่อ เคยตั้งคำถามกับ กกต.และกลุ่มผู้เรียกร้องให้เลื่อนมาแล้ว

มีหลักประกันคุ้มค่าอันใด เมื่อเลื่อนแล้ว จะไม่เกิดปัญหาวุ่นวายเหมือนที่เป็นอยู่เวลานี้ ถ้าไม่มี เลื่อนไปไม่มีประโยชน์

ก็แค่ซื้อเวลา เลื่อนปัญหาให้ยืดยาวออกไป
ขณะที่ผลเสียของการร้างไร้รัฐบาลตัวจริงมาบริหารประเทศนั้น มหาศาล



วันนี้ทุกฝ่ายน่าจะร่วมกันค้นหาคำตอบของคำถามหลักนั้น ก่อนคุยเลื่อนวันเลือกตั้ง คือถ้าเลื่อนฟรี ไม่ช่วยคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง อย่าเลื่อนดีกว่า ใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ติดขัดตรงไหนก็แก้กันไปตามอาการของโรค ตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้ จนกว่าได้ ส.ส.ครบตามเกณฑ์

เว้นแต่ว่าเลื่อนแล้ว คลี่คลายปัญหาได้

อย่างที่ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ระบุไว้ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ต้องมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ปัญหาคือระหว่างทางที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมยุติลงได้อย่างไร และเรื่องนี้ กกต.มีแนวคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุย ถอยคนละก้าว

การคิดใช้กระบวนการเลื่อนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่ธีรวัฒน์พูดไว้นี้ เป็นแนวทางหนึ่ง ของการไม่เลื่อนฟรี มีเหตุผลรับฟังได้


ถ้าเลื่อนแล้วคุ้มค่าเชื่อว่า แม้แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยากใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็คงเห็นดีเห็นงาม


ยกธงสนับสนุน อย่าเลื่อนฟรี




++

กกต.-บอร์ดประเทศ
โดย จำลอง ดอกปิก
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390211587
. . วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:08 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 20 มกราคม 2557 )


เมื่อยุบสภาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการประคับประคอง มิให้ประเทศต้องหยุดชะงัก ในยามไร้ผู้นำ-ฝ่ายบริหารมีอำนาจเต็ม
นอกจากภาระหน้าที่โดยตรง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว

ยังทำหน้าที่เสมือน ′ครม.′?!


กล่าวคือ เมื่อยุบสภาแล้ว ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ได้อยู่ในฐานะตัวแทนผู้ถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหาร ที่จะตัดสินใจอะไรก็ได้ในกรอบขอบเขตกฎหมายชนิดเต็มร้อยได้อีกต่อไป

หากอยู่ในตำแหน่ง เพียงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ระหว่างรอชุดใหม่จากการเลือกตั้งนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไข

1.ไม่กระทำการ อันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับการเห็นชอบ จาก กกต.ก่อน

2.ไม่กระทำการ อันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

3.ไม่กระทำการอันมีผล เป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ชัดเจนเป็นที่ยิ่งว่า เมื่อยุบสภาแล้ว กกต.มีบทบาทสูงมาก เปรียบได้กับเป็นบอร์ด หรือคณะกรรมการประเทศไทยเลยทีเดียว


การใดก็ตามจะกระทำมิได้เลย หาก กกต.ไม่เห็นชอบ 
อย่างไรก็ตาม การจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างโปร่งใส ให้ ส.ส.มีที่มาชอบธรรม ตัดสินปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างเที่ยงธรรม
การพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องต่างๆ ในกรอบที่ฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจาก กกต.

ภาระรับผิดชอบหนักอึ้งของ กกต.เหล่านี้ จะบรรลุเป้าหมาย งานคุณภาพไม่ได้เลย หาก กกต.ไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่อย่างแท้จริง มีวาระแอบแฝง ไม่ดำรงความเป็นกลาง


ขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างฟ้องการทำงานของ กกต.บางรายว่า อาจเป็นปัญหา

หากปล่อยไว้ไม่ปรับแก้ มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ คุณค่าองค์กรที่ทรงความหมายอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย ในยามประเทศว่างเว้นจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และในยามสถานการณ์ที่ประเทศต้องการ องค์กรที่เป็นหลักพิงอันมั่นคงของสังคมโดยรวมเช่นปัจจุบัน

เพราะเมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เอนเอียง ฝักใฝ่ เอาตัวเองเข้าไปเป็นคู่กรณี ก็ย่อมไม่อยากทำหน้าที่ หรือทำอย่างเสียมิได้ มีแต่เงื่อนไข


และเมื่อไม่ตรงไปตรงมาเสียแล้ว การควบคุม จัดการเลือกตั้งก็อย่าได้หวังว่าจะมีการบริหาร จัดการให้เกิดปัญหาวุ่นวายน้อยที่สุด ให้ออกมามีคุณภาพมากที่สุด

เมื่อไม่ได้มาตรฐาน แน่นอน ย่อมเกิดผลกระทบ ความเสียหายอะไรต่อมิอะไรตามมา
ไม่เพียงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น


หากแต่ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน ด้วยเช่นกันจากการทำหน้าที่ไม่ต่างกับบอร์ดประเทศ หากมีการนำปัจจัยทางการเมืองมาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องที่รัฐบาลเสนอให้พิจารณาเห็นชอบ แทนที่การพิจารณาด้วยเหตุผลความจำเป็นตามกรอบกฎหมาย

ในฐานะบอร์ดประเทศไทย กกต.เลือกได้ อยากให้ประชาชนจดจำแบบไหน


________________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline 




.

จดหมายจากเนติวิทย์ถึงลุงกำนันสุเทพ

.

จดหมายจากเนติวิทย์ถึงลุงกำนันสุเทพ
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51432  
. . Sun, 2014-01-26 23:54


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
27 มกราคม 2557

เรียน ลุงกำนัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และคณะ
เรื่อง ข้อสงสัยและความห่วงใยจากนักเรียนคนหนึ่ง 



กำนันสุเทพที่เคารพ กระผมนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนมัธยม ม.5 คนหนึ่งที่สนใจและศึกษาข่าวสารทางการเมืองคนหนึ่ง มีความเป็นห่วงอย่างแรงกล้าต่อวิกฤติบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งมันรุนแรงมากและมีการเสียเลือดเสียเนื้อเกิดขึ้นแล้ว กระผมเห็นว่าลุงกำนันเป็นส่วนสำคัญของวิกฤติครั้งนี้ด้วย กระผมจึงปรารถนาเขียนจดหมายถึงลุงกำนันด้วยความเคารพ พร้อมตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นอันระคนไปด้วยความรู้สึกห่วงใยอย่างแรงกล้า ลุงกำนันจะพอใจหรือไม่ก็ตามแต่กระผมรู้สึกกังวลใจต่อบ้านเมืองจริงๆ

1) กระผมมีความสงสัยมาตลอดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของลุงกำนันมีจุดประสงค์อย่างไรกันแน่ ต้องการอะไรกันแน่ มันเป็นความสงสัยอย่างแรงกล้าที่ไม่อาจปิดบังได้เลย ลุงกำนันออกมาเรียกร้องคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ผมซึ่งติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็เข้าใจและเห็นด้วยว่ารัฐบาลทำไม่ถูกต้อง แต่เมื่อรัฐบาลได้ถอนร่างออกแล้ว เหตุใดการเคลื่อนไหวจึงยังไม่ยุติซ้ำยังมีความรุนแรงมากขึ้นเสียอีก ลุงกำนันก็เคยบอกเองว่าจะจบวันนั้น วันนี้ เป็นครั้งสุดท้ายครั้งแล้วครั้งเล่าให้เร็วที่สุด เข้าใจว่าพูดแบบนี้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ เหตุใดยืดเยื้อยาวนานถึงบัดนี้

2) ดังที่กระผมได้กล่าวถามไปแล้วว่า “มีความต้องการอะไรกันแน่” ลุงกำนันอาจจะตอบผมว่าก็ดูที่ตำแหน่งห้อยท้ายของลุงสิ ลุงกำนันกำลังจะทำการปฏิรูปให้นำไปสู่ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” แต่ผมก็เกิดความสงสัยว่า วิธีการของลุงกำนันและมวลมหาประชาชนภายใต้การนำของลุงกำนันจะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้จริงละหรือ กปปส.ของลุงกำนันเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่สภาปฏิรูปของลุงเสนอให้มี 75 เปอร์เซ็นต์มาจากการแต่งตั้ง และ 25 มาจากการเลือกตั้ง ลุงกำนันยังเคยเสนอให้ทหารออกมาทำการรัฐประหาร ลุงกำนันยังได้แสดงทัศนะและทำการขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้น ลุงรู้หรือไม่ว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิเสียงของคนจำนวนมากของประเทศนี้เช่นกัน เขาก็เป็นประชาชน ลุงกำนันก็เป็นประชาชน ต่างก็ต้องอยู่ในกติกาที่เคารพซึ่งกันและกันมิใช่หรือ ผมไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ลุงกำนันทำมันเป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติจริงหรือไม่ หรือเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยที่ลากตั้งกันและอวดอ้างว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

3) กระผมทราบว่ามีนักวิชาการบางคนเรียกลุงกำนันและขบวนการ ว่าเป็นดั่งมหาตมะคานธี เป็นเหมือนสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ กำนันสุเทพอาจจะรู้สึกดีใจจนตัวลอยกับถ้อยคำของนักวิชาการพวกนี้ก็ได้ แต่พวกเขาพูดจริงละหรือ ถ้อยความดังกล่าวมันเป็นการยกยอปอปั้นหลอกลวงกำนันสุเทพหรือเปล่า เป็นที่เข้าใจกันดีว่า มหาตมะคานธีเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้อหิงสา แต่สิ่งที่มหาตมะคานธีกระทำนั้นมิใช่เป็นเพียงลมปากที่พ่นออกมาเท่านั้น อหิงสาของคานธีประกอบไปด้วยความรักและสัจจะ อหิงสาของคานธีมาควบคู่กับสิ่งที่เรียกว่าสัตยาเคราะห์ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Truth Force – The power of Truth) คือการใช้สัจจะเป็นอาวุธ ใช้ความรักความเข้าใจพิชิตความโกรธความเกลียดชัง ขบวนการและตัวลุงกำนันเดินตามทางนี้ละหรือ

4) ถ้าคุณสุเทพเดินตามขบวนการแห่งอหิงสาวิธีดังที่นักวิชาการบางคนสรรเสริญยกยอ แล้วถ้อยความที่ว่า “สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยทำคือทุจริตคอร์รัปชั่นตลอดชีวิตนักการเมือง” หลุดออกจากปากของลุงกำนันได้อย่างไร ทั้งๆที่ก็เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าลุงกำนันได้กระทำอะไรไว้บ้าง ใยต้องหลอกลวงตัวเองและคนอื่นด้วย ในอัตชีวประวัติของมหาตมะคานธี (หมายถึง “The Story of My Experiments with Truth”) เขียนโดยตัวเขาเองก็มิได้มุสาวาทต่อสิ่งที่เขาได้เคยทำผิดไว้เลย ลุงกำนันโปรดพิจารณาดูเถิด ขบวนการของลุงกำนันและตัวลุงมีพร้อมด้วยสัจจะไหม มีพร้อมด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์ไหม คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของลุงกำนันกลายเป็นว่าเป็น “ขี้ข้าระบอบทักษิณ” เป็น “ควายแดง” ทำไมลดทอนศักดิ์ศรีและเหมารวมกันเยี่ยงนี้ ผมยังรู้สึกเศร้าใจบ่อยครั้งเมื่อฟังเวทีปราศรัยของคุณลุงที่เต็มไปด้วยคนที่มีการศึกษา แต่ด้อยสติปัญญาและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ มีนายแพทย์พูดจาอย่างน่าบัดซบ (ทำรีแพร์ให้นายก) มีอาจารย์มหาวิทยาลัยหยาบคาย (ล่อเพื่อชาติ) เป็นต้น มันน่าปวดใจมากที่เยาวชนและประชาชนต้องฟังคำหยาบคายหยามหมิ่นมนุษย์ด้วยกันแม้เขาจะเป็นตำแหน่งไหนๆก็ตาม จากผู้ที่อวดอ้างเรียกตัวเองว่ามีการศึกษาเป็นคนดีมีศีลธรรมอันอวดอ้างทั้งหลายมันน่าเจ็บใจจริงๆ แลการปลุกระดมคนไปคัดค้านขัดขวางสิทธิเลือกตั้ง มิใช่เป็นการต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือ


สิ่งที่ผมถามลุงกำนันไป และแสดงความเห็นอันห่วงใยกังวลนี้ ผมหวังว่าลุงกำนันจะตอบผม ผมเขียนด้วยความหวังดีเป็นกัลยาณมิตรต่อลุงกำนัน แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับลุงกำนัน แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กระผมรักและหวังดีกับลุง กระผมรู้สึกและเห็นประจักษ์แล้วว่าการศึกษาสูงในระบบไม่ใช่ว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ จากการเล่าเรียนอันน้อยนิดของผมก็รู้ว่า ขบวนการที่โกรธเกลียดเหยียดหยามหมิ่นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่อาจนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ มันรังแต่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ลุงกำนันรู้ไหมการดื้อรั้นที่จะ “ปฏิรูป” ของลุงกำนัน อันไม่มีรูปธรรมชัดเจนและปลุกปั่นด้วยความเกลียดชัง มันนำไปสู่ความรุนแรงมากแค่ไหนแล้ว ในส่วนของโรงเรียน ตอนนี้มีกี่แห่งแล้วที่ประสบเหตุไปเรียนไม่ได้ และนักเรียนไปเรียนด้วยความเสี่ยงในอันตราย


ผมไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าอย่างไร ความรุนแรงจะสงบไหม ถ้าลุงกำนันยังดื้อรั้นในวิธีการแบบนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมหวังเสมอแม้มันอาจริบรี่ อยากให้สังคมของเราปฏิรูป แต่มันต้องไปในทางประชาธิปไตย เป็นไปในทางสันติประชาธรรม มีขันติ มีกติการ่วมกัน ยึดมั่นเคารพศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ ขอให้สำเร็จเถอะ


ด้วยรักและห่วงใย

(นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล)




.

2557-01-26

สุวพงศ์: เสร็จ‘มือล่องหน’?, รับ‘บัตรเชิญ’เสียดีๆ

.

เสร็จ‘มือล่องหน’?
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
  คอลัมน สถานีคิดเลขที่ 12
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390746522
. . วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:27:51 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2557 หน้า 2 )


อนาคตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ง่อนแง่นเต็มที
"การเลือกตั้ง" ที่เป็นจุดแข็งสุด
ก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอน ว่าจะต้อง "เลื่อน" ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปอีกนานเท่าใด

3 เดือน หรือ 6 เดือน ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

เพราะ "มือล่องหน" กำลังเร่งทำงานพัลวัน เพื่อเช็กบิลรัฐบาลและเพื่อไทย

เหตุระเบิด เหตุลอบยิงม็อบ ที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากโดยยังจับมือใครดมไม่ได้นั้น
กดดันให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งกำลังถูกจับตาว่า รัฐบาลได้มากกว่าเสียหรือไม่


เพราะแค่เริ่มต้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้สังคมเห็นว่า "กองทัพ" ไม่ได้ยืนข้างรัฐบาล

ไม่ว่ากองทัพบก ที่นอกจากขอยืนอยู่แถวหลังแล้ว

การคงรถหุ้มเกราะไว้ที่ราบ 11 ไม่ยอมเอากลับหน่วยหลังเสร็จสิ้นภารกิจสวนสนามวันกองทัพไทยก็ทำให้คนขี้ระแวงสงสัยว่ามีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่

ด้านกองทัพอากาศ การปฏิเสธไม่ให้ตั้งศูนย์ "ศรส." ในพื้นที่ก็ชัดเจนถึงการขอมี "ระยะห่าง" กับรัฐบาล

ส่วนกองทัพเรือ การจับ 3 ทหารหน่วยซีลที่ป้วนเปี้ยนอยู่กับม็อบ ตามด้วย "จุดยืน" ทะลุปรอทของ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ที่เคียงข้างม็อบ กปปส. แบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม พร้อมข้อมูลเขย่ารัฐบาล เรื่องการขนต่างชาติ 10 คันรถตู้เข้ามาใน กทม.นั้น

แม้ผู้บัญชาการทหารเรือ จะบอกว่ากองทัพเรือ "เป็นกลาง"

แต่ก็ดูจะเป็นกลางใจในหัวใจม็อบมากกว่า

จึงไม่แปลก ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ "ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถส่งทหารบก เรือ อากาศ เอาอาวุธร้ายแรงมาทำร้ายผู้ชุมนุม"

เป็นการส่งสัญญาณให้มวลมหาประชาชน รับรู้ว่ากองทัพอยู่ข้าง

เพียงแต่ยังไม่เต็มตัว ถึงขั้นออกโทรทัศน์ไล่รัฐบาล อย่างที่นายสุเทพ ร้องขอเท่านั้น


แต่ถามว่า มีโอกาสไหม

ก็คงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนั่นแหละ "แล้วแต่สถานการณ์กำหนด"

ซึ่งหาก "มือล่องหน" เร่งลั่นเสียงปืน เสียงระเบิดให้ "รุนแรง" ขึ้นไม่หยุด

ทั้งต่อฝ่ายม็อบ กปปส.เอง

และทั้งต่อฝ่ายคนเสื้อแดง อย่างกรณีมือมืดถล่มอาก้า นายขวัญชัย ไพรพนา

เชื้อความรุนแรง ถูกฉีดเข้าไปในใจของทุกฝ่าย ที่เข้ามาเล่นหรือถูกบีบให้เข้ามาเล่นในเกมอำมหิตมากขึ้นตามลำดับ

อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกวินาทีต่อจากนี้


และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังจะกลายเป็นอาวุธกลับมาเชือดคอรัฐบาลเสียเอง

เมื่อ ส.ว.สรรหาและประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งส่งคนลงสมัคร ส.ส. แล้วใช้อำนาจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และยังถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้ยุบพรรคเพื่อไทย

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังออกมารับลูก แถลงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่อเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบ กกต.ด้วย

รับลูกเป็นทอดๆ

ซึ่งเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมาหวาดเสียวต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง

นี่เป็นการจัดการของ "มือล่องหน" อีกหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก


จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะประเมินว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3-6 เดือน ที่แท้ก็คือการเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระทั้งหลายเร่งสะสางคดีความของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

และมีจุดหมายที่การยุบเพื่อไทยนั่นเอง



++

รับ‘บัตรเชิญ’เสียดีๆ
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร 
คอลัมน สถานีคิดเลขที่ 12
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389585931
. . วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 11:12:05 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2557 )


กองทัพบกแถลงย้ำจุดยืนอีกครั้ง ว่า กองทัพบกทำหน้าที่ตามพันธกิจภายใต้กรอบกฎหมาย

"สิ่งที่ยึดมั่นอยู่เสมอคือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตราบใดที่ทั้ง 4 สถาบันหลักยังไม่ถูกทำลายโดยคนกลุ่มใด กองทัพจะยังเป็นกองทัพที่มีระเบียบ วินัยอยู่เสมอ...ทหารจะไม่ยอมให้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายใด เพราะทหารจะต้องเป็นผู้รักษากฎ ระเบียบ กติกาของสังคม และหยุดความแตกแยกให้ได้ เพื่อนำพาประเทศให้ปลอดภัย"

สอดประสานกับกองทัพภาคที่ 1 เจ้าของพื้นที่ "ปิดกรุงเทพฯ"
ยืนยันต่อสาธารณชนว่า
"เชื่อมั่นในจุดยืนและการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหาร ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและมุ่งมั่นที่จะนำพากองทัพไปบนแนวทางที่ถูกต้อง รักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ทั้งปวงภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของกฎหมายที่มีอย่างดีที่สุด"

ภายใต้ "กรอบกฎหมาย" ที่ว่า จึงน่าจะอนุมานได้ว่าคงจะรวมถึง การไม่ปฏิวัติรัฐประหาร ด้วย

ซึ่งก็คงต้องฟัง
และให้เกียรติกองทัพว่าจะรักษา "คำมั่น" นั้นเอาไว้


กระนั้น แม้กองทัพจะยืนยันว่าไม่ทำ

แต่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้านี้ ที่ว่า "แล้วแต่สถานการณ์กำหนด" นั่นต่างหากคือปัญหา

กล่าวคือ ถึงกองทัพจะไม่ได้ทำหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อปูทางไปสู่การปฏิวัติ

แต่เราก็สามารถจับอาการของผู้ที่พยายามยัด "บัตรเชิญ" ให้กองทัพและทหารออกมา "รัฐประหาร" ได้ "ชัดเจน"


อย่างน้อยที่สุด การ "ปิดกรุงเทพฯ" ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 มกราคม แม้ กปปส.จะอ้างถึงการชุมนุมสงบ สันติ อหิงสา
แต่ดูเหมือนคนจะไม่เชื่อมั่นเช่นนั้น
เพราะการเอาคนไปนั่งๆ เดินๆ บนถนน 7 จุด ก็ไม่น่าจะสร้างแรงกดดันบีบคั้นให้รัฐบาลต้องพ่ายแพ้

จึงมีความเชื่อค่อนข้างมาก ว่า จะมีผู้เติมเชื้อและจุดไฟ ให้การปิดกรุงเทพฯครั้งนี้ต้องแตกหัก
และ "เลือด" ก็เริ่มไหลนองแล้ว

แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส.จะอ้างถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์

แต่มีคนมากมายเชื่อว่า นอกเหนือตัวละครที่โลดแล่นบนท้องถนนอย่างนายสุเทพแล้ว

ยังมี "ผู้กำหนดพิมพ์เขียว" เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการ ยังดำรงอยู่ 


และขณะนี้มีการขับเคลื่อน สอดคล้อง เป็นเครือข่าย เพื่อทำให้ สถานการณ์กระชับมั่นไปสู่เป้าหมายสุดท้าย นั่นคือ การยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จ

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเพื่อไทย ตกอยู่ในสถานการณ์ถูกไล่บดขยี้อย่างหนัก 
นอกเหนือจากต้องลุ้นว่า การปิดกรุงเทพฯจะนำไปสู่สถานการณ์ร้ายแรงขนาดไหนแล้ว
ความชอบธรรมที่หวังพึ่ง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ก็เข้าสู่ภาวะ "เดดล็อก" ยิ่งขึ้นทุกที

กกต.เสนอทุกโอกาสและจังหวะให้เลื่อนเลือกตั้ง
ขณะที่ภาวะ "สันหลังหวะ" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้ช่องไว้ก็มี อีกาเข้าจิกตีและขยายแผลกันยกใหญ่

องค์กรอิสระ ไม่ว่า ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำงานกันคึกคัก
ซึ่งความคึกคักนั้น ชาวบ้านไม่ได้โง่ และย่อมสามารถต่อจิ๊กซอว์เอง ได้ว่า มี "นัยยะ" อย่างไร

ภาวะที่คับขันเข้าไปทุกทีนี้


ที่สุดก็จะกลายเป็น "สถานการณ์กำหนด" ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองทัพไม่มีทางเลือกอื่น

นอกจากต้องยื่นมือ รับ "บัตรเชิญ"

เพื่อทำรัฐประหาร ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือซ่อนรูป

ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว!?!

...........


.

ดาวดินเสวนา ‘ภูมิแพ้รัฐประหาร’ ชี้ ‘การเลือกตั้ง’ คือทางออกความขัดแย้ง

.
โพสต์ลิ้งค์บทความ-กราฟิก
- กางกฎหมายไปเลือกตั้ง ถ้าถูกขัดขวางการใช้สิทธิจะทำอย่างไร  (กราฟิก: วศิน ปฐมหยก)
ที่ http://prachatai3.info/journal/2014/01/51411
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ดาวดินเสวนา ‘ภูมิแพ้รัฐประหาร’ ชี้ ‘การเลือกตั้ง’ คือทางออกความขัดแย้ง  
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51415
. . Sun, 2014-01-26 02:48

รายงานโดย ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)


นักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเสวนา ‘ภูมิแพ้รัฐประหาร’ วิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ ‘รัฐประหารโดยทหาร’ ไม่น่ากลัวอีกต่อไป แต่ ‘รัฐประหารโดยนักนิติศาสตร์’ น่ากลัว เหตุสร้างระบอบแบบใหม่โดยไม่รู้ตัว

25 ม.ค. 2557 เวลา 13.30 น. นักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (ดาวดิน) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ภูมิแพ้รัฐประหาร” ณ ห้องทองใบ ทองเปาด์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันซึ่งจะนำไปสู่การรัฐประหารในอนาคต วิทยากรที่มาร่วมเวทีเสวนาประกอบด้วยอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคามและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีนักศึกษาและผู้ที่สนใจร่วมรับฟัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมของเวทีเสวนาพูดถึงทหารกับระบอบประชาธิปไตยและอำนาจในทางการเมือง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการระบุว่าการทำรัฐประหารโดยทหารในปัจจุบันนี้ไม่น่ากลัวอีกต่อไป แต่ความน่ากลัวอยู่ที่การทำรัฐประหารโดยนักนิติศาสตร์ เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นสามารถอ้างอิงในสังคมกลายเป็นการสร้างระบอบแบบใหม่ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว


นายถิรนัย อาป้อง ให้ความเห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นต้องเชื่อในเสียงของประชาชน แต่ในความเป็นจริง ทหารมีอำนาจในการชี้นำรัฐบาลได้ สะท้อนให้เห็นว่าทหารในสังคมพร้อมที่จะทำรัฐประหารได้ทุกเมื่อ และถ้ามีการรัฐประหารในครั้งนี้จริงๆ ทหารจะไม่นำกำลังออกมารัฐประหาร แต่เป็นการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและไปสถาปนาองค์กรอิสระให้มีอำนาจสูงสุดรองจากทหาร

ส่วนนายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติกล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการปล้นอำนาจไปจากประชาชนโดยตรง ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างแน่นอน และตามสถิติแล้ว ทุก 3.6 ปี มีการจ้องที่จะแย่งชิงอำนาจกัน ในประเทศไทยจะมีการรัฐประหารทุกๆ 7 ปี

นายกรชนก แสนประเสริฐ ในฐานะที่เป็นนักนิติศาสตร์กล่าวว่า การรัฐประหารโดยทหาร คือ การตบหน้านักกฎหมายอย่างชัดเจน นั่นก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ อีทั้งทหารเป็นผู้ที่มาปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำตลอดเวลา และสิ่งที่ กปปส.พยายามจะทำในตอนนี้ก็คือ 1.หยิบยกเรื่องคอรัปชั่นขึ้นมาให้เห็น 2.สร้างความเกลียดชังจนถึงที่สุดและจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง 3.กปปส.ไม่ได้มีแนวคิดที่จะนำไปสู่การสร้างสิ่งที่ดีขึ้น สุดท้าย การทำรัฐประหารครั้งนี้จะแยบยลกว่าเดิม

การหาทางออกสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ คือการเลือกตั้ง เป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้สิทธิของคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน เมื่อเปรียบเทียบการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนเมืองกับคนชนบทแล้วการเลือกตั้งก็เป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้คนชนบทสามารถต่อสู้กับคนเมืองได้และเป็นวิธีที่สันติที่สุด ซึ่งในขณะนี้เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้งหรือการไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น นั่นเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่เลือกตั้งล่วงหน้าแล้วทั้งที่อยู่ต่างประเทศและภายในประเทศ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการทำให้ถูกบิดเบือนทางความเชื่อในสังคม เช่น ถ้ามีการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความรุนแรงจนถึงขั้นสงครามทางการเมือง เช่นนั้นแล้วพื้นที่ยืนของภาคประชาชนไม่ใช่ขั้วที่ 3 ทางการเมือง (นอกจากขั้วเหลือง-แดง) แต่ประชาชนกำลังต่อสู้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบไม่รู้ตัว

“วิธียุติความรุนแรงคือ กปปส. ต้องยุติการชุมนุม และถ้าวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กปปส.จะได้ทุกอย่างในประเทศไทยและนำไปสู่ความรุนแรง” นายกรชนก ได้ทิ้งท้ายไว้ในเวที



ต่อจากนั้นเวลา 18.00 น. กลุ่มนักศึกษาดาวดิน ได้จัดงานในชื่อ “จุดเทียนเขียนสันติภาพ” ณ ลานข้างคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกันจุดเทียนในเวลา 19.00 น. ซึ่งเป็นการจัดงานเพื่อแสดงพลังให้เกิดการรับรู้ถึงกลุ่มที่จุดเทียนทั่วประเทศ และอยากทราบความคิดเห็นทางการเมืองจากคนที่มาร่วมงาน

นายเจตน์สฤษฎิ์ นามโคตร นักศึกษากลุ่มดาวดิน กล่าวว่า การจัดงานได้แรงบัลดาลใจจากเพจ “พอกันที” ทาง facebook ซึ่งในงานเป็นการแสดงจุดยืนถึงการหยุดการชุมนุมที่มีเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องดี ก็เลยเปิดพื้นที่ที่เป็นของทุกคนซึ่งไม่ระบุว่าเป็นฝ่ายไหน

“เราต้องสร้างเครือข่ายและร่วมเดินไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขและยุติความรุนแรง” นายเจตน์สฤษฎิ์กล่าว



.

2557-01-24

เลื่อนเลือกตั้ง:ทางออกหรือทางตัน โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

.

เลื่อนเลือกตั้ง : ทางออก หรือทางตัน
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
www.facebook.com/verapat
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390570600
วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:29:53 น.



ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับตีความคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องที่ว่า 1.สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้หรือไม่ และ2.องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ และมติ 7 ต่อ 1 ว่า ให้นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. หารือกันเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ได้แสดงความคิดเห็น โดยเขียนเป็นบทความ ดังนี้ ...



เลื่อนเลือกตั้ง : ทางออก หรือทางตัน โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ช่องให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้นั้นมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาดังนี้


ประเด็นที่ 1 คำวินิจฉัยมีฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับหรือไม่ ?

ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลได้อ้างอำนาจจาก รัฐธรรมนูญมาตรา 214ซึ่งบัญญัติว่า

"ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภาคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"

ถ้อยคำใน มาตรา 214บัญญัติชัดเจนว่าจะต้องมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หมายความว่า จะต้องมีการโต้แย้งกันว่าอำนาจหน้าที่เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายข้อใดที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งโดยอ้าง"ความกังวล" ว่าจะจัดเลือกตั้งไม่สำเร็จ


ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้เล็งเห็นอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งอาจมีปัญหาได้จึงมีบทบัญญัติที่สามารถตีความต่อไปได้ว่า หากการเลือกตั้งมีปัญหาและส่งผลให้ได้ส.ส.ไม่ครบ 95%ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีปัญหาให้ได้ครบจำนวนภายใน 180วันและหากเขตใดมีปัญหาสุดวิสัย ก็ดำเนินการแก้ไขเฉพาะในเขตนั้น

ดังนั้น กฎหมายจึงได้กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาไว้อยู่แล้วและไม่มีประเด็นความขัดแย้งของอำนาจหน้าที่ใดที่ต้องตีความประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความสงสัยและนึกขึ้นเอาเองของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งแม้อาจจะหวังดีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เหตุในการให้ศาลต้องชี้ขาด
แต่หากกรณี ′นึกเอาเอง′แบบนี้ศาลรับมาชี้ขาดได้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐาน ′เปิดประตูอภินิหาร′ให้ศาลกลายเป็นผู้เพิ่มและลดอำนาจองค์กรอื่นได้ตามใจปรารถนา

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ศาลได้อธิบายว่าอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นอำนาจซึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องหารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นกรณีที่ศาลได้สารภาพในคำวินิจฉัยเองว่าคดีนี้ไม่มีความขัดแย้งหรือแย่งชิงอำนาจหน้าที่เพราะศาลยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายมีอำนาจร่วมกันและไม่มีอำนาจที่เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะโต้แย้งกันได้



ส่วนการที่ศาลได้อ้างตัวอย่างการเลือกตั้งในปี 2549ที่เคยถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะและต้องจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงต่างกัน เนื่องจากเป็นกรณีที่ในปี2549ได้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้ว และถูกประกาศให้เป็นโมฆะ แต่กรณีปัจจุบันยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและไม่มีเหตุใดที่จะอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ดังนั้น คำวินิจฉัยนี้จึงตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดพลาดในหลักกฎหมายและมีความขัดแย้งเชิงเหตุผลอยู่ในตัวเองจนไม่อาจยอมรับว่าถูกต้องได้ในทางนิติศาสตร์และหากมีการยอมรับเป็นบรรทัดฐานก็จะเป็นการเปิดช่องการใช้อำนาจผ่านมาตรา 214ให้ศาลสามารถเพิ่มหรือลดอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นได้อย่างไร้เหตุผลและตามอำเภอใจ อันเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจอันเป็นหัวใจของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญในที่สุด


นอกจากนี้แม้จะสมมติว่าคำวินิจฉัยนี้มีฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับ แต่ก็ยังทำให้เกิด ′คำถามทางกฎหมาย′ตามมาอีกว่า หากคณะรัฐมนตรี และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัดสินใจตรา ′พระราชกฤษฎีกา′ฉบับใหม่เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งตามแนวทางของคำวินิจฉัยแล้วไซร้จะสามารถเลื่อนออกไปได้นานเพียงใดจะมีผลต่อการรับสมัครที่ดำเนินการไปแล้วอย่างไรและจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?



ประเด็นที่ 2 หากจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปได้นานเพียงใด ?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 108วรรคสอง บัญญัติว่า

"การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร..."

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ยุบสภา คือวันที่ 9ธันวาคม2556ดังนั้น หากจะตีความว่าเลื่อนได้ ก็ต้องเลื่อนไม่เกิน 60วันจากวันที่ 9ธันวาคม 2556ซึ่งเท่ากับว่าเลื่อนออกไปได้เพียงเล็กน้อยจากวันที่2กุมภาพันธ์ 2557

คำถามก็คือ การเลื่อนเช่นนี้ จะทำให้แก้ปัญหาได้หรือไม่ ?และหากจะเลื่อนไกลกว่านี้จะมีกรอบกำหนดเพียงใดในเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับว่าไม่ให้เกิน 60วันจากวันยุบสภา ?



ประเด็นที่ 3 หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้ง จะต้องเริ่มต้นการรับสมัครใหม่หรือไม่ ?

มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2550บัญญัติว่า

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(๒) กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม(๑)และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

...

ดังนั้น หากตีความ มาตรา 7อย่างตรงไปตรงมา หากมีการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งกฎหมายก็จะบังคับให้ต้องมีการประกาศการรับสมัครและยื่นบัญชีรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาใหม่เช่นกัน

ผลที่อาจตามมาก็คือ ความสูญเปล่าของกระบวนการรับสมัครตลอดจนการดำเนินการอื่นที่ได้ดำเนินการมา รวมไปถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรซึ่งไม่ได้เกิดความเสียหายเฉพาะภาครัฐหรือตัวผู้สมัครเท่านั้นและความเสียหายจะเกิดต่อประชาชนไทยในแต่ละประเทศที่ได้มีต้นทุนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วด้วย




ประเด็นที่ 4: การเลื่อนวันเลือกตั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ?

ประเด็นแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจประสบปัญหาจากการชุมนุมประท้วงและการปิดล้อมสถานที่เลือกตั้งจนทำให้เลือกตั้งไม่สำเร็จลุล่วง

ด้วยเหตุนี้ การเลื่อนวันเลือกตั้ง (ซึ่งศาลเองก็มิได้บังคับ) นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มเติมตามมาดังที่ได้อธิบายไปแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วยเพราะแม้จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปทางฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงก็จะยังปฏิเสธการเจรจาหารือใดๆ และวันเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปก็จะยังมีปัญหาอยู่ดี


ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดจึงไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องแก้ไขที่ "ต้นเหตุ" ของปัญหานั่นก็คือการจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงที่อ้างเสรีภาพจนเกินเลยขอบเขตตามรัฐธรรมนูญเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้ง อันเท่ากับเป็นการมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนวิธีการได้อำนาจการปกครองให้ผิดไปจากวิถีทางตามรัฐธรรมนูญอาทิ

-อัยการสูงสุดควรเร่งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา68สั่งห้ามการกระทำเพื่อปิดกั้นการเลือกตั้งดังกล่าว

-ประชาชนทั่วไปผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิการเลือกตั้งที่ถูกกระทบกระเทือนก็ควรดำเนินการทางศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิในการไปเลือกตั้งของตน

-เจ้าหน้าที่ทหารต้องสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มความสามารถ



เมื่อได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้หากการเลือกตั้งจะยังมีปัญหาอยู่แต่ก็ยังแก้ไขได้โดยการจัดการเลือกตั้งใหม่เฉพาะในเขตที่มีปัญหา มิใช่คาดเดาและเหมารวมว่าปัญหาจะต้องเกิดขึ้นในทุกเขตประหนึ่งว่ารัฐไทยเป็นรัฐล้มเหลวที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้แต่อย่างใด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาล พรรคการเมือง แกนนำผู้ชุมนุมและทุกฝ่าย ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างจริงใจและจริงจัง ซึ่งย่อมต้องรวมไปถึงการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน.


__________________________________________________________________________________

โพสต์เพิ่มจาก www.facebook.com/verapat
# วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
ตรรกะพิสดารจริง ๆ ... การพยายามขอให้ศาล "เลื่อนวันเลือกตั้ง" โดยอ้างเหตุว่ามีการชุมนุมปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง ...

คือแทนที่ศาลต้องมาคิด "เลื่อนวันเลือกตั้ง" เหตุใดศาลไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการ "สั่งห้ามการชุมนุมปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง" ละครับ ? อำนาจตาม มาตรา 68 ก็มีอยู่ ...

นั่งคิดแล้วก็ได้แต่เศร้าแบบขำ ๆ ...

# วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
หาก 'กปปส.' ยืนยันชัดเจนและจริงใจว่า มีมติ "ไม่ขัดขวาง" การเลือกตั้ง เพียงแต่จะนำมวลชนไปแสดงออก "คัดค้าน" ตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี...

ผมเสนอให้ กปปส. ประกาศทำข้อตกลงกับสังคมไทยว่า การ "แสดงออกคัดค้าน" นั้น จะจำกัดอยู่แค่การเดินขบวน ชูป้าย ปราศรัย และเป่านกหวีดในบริเวณที่ไม่รบกวนผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะไม่ปิดถนนและทางสัญจรที่ประชาชนจะไปเลือกตั้ง และจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่เข้าไปก่อกวน หรือสร้างความลำบากใจให้กับผู้อื่นในบริเวณสถานที่เลือกตั้ง

ถ้า กปปส. ประกาศตกลงได้เช่นนี้ ผมก็ขอชื่นชมครับ.



.

ทำไมต้องยกเลิก“องค์กรอิสระ” โดย บก.นสพ.เลี้ยวซ้าย

.

ทำไมต้องยกเลิก“องค์กรอิสระ”
โดย บก.นสพ.เลี้ยวซ้าย

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51385
. . Fri, 2014-01-24 21:05



บทบรรณาธิการ นสพ.เลี้ยวซ้าย

องค์กรอิสระในปัจจุบัน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล้วนแต่เป็นองค์กรเผด็จการ เพื่อลดพื้นที่ประชาธิปไตย

หลายคนคงแปลกใจที่เราฟันธงแบบนี้ เพราะในกระแสการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 40 นักวิชาการและขบวนการ NGO พยายามสร้างภาพว่าองค์กรอิสระ มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและคานอำนาจทางการเมืองเพื่อทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ และ แนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ล้วนแต่เป็นลัทธิทางการเมืองของพวกเสรีนิยมฝ่ายขวา และ แนวเสรีนิยมนี้ เป็นแนวคิดของชนชั้นนายทุน

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังผู้ที่ผลักดันเรื่ององค์กรอิสระ  เป็นแนวคิดที่ดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ มองว่าเขาไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกผู้แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขา นอกจากนี้มันเป็นแนวคิดที่มีอคติต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะไม่ไว้ใจระบบการเลือกตั้ง


ตุลาการรัฐธรรมนูญ กกต. และ สว. ลากตั้ง ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากชนชั้นปกครองหรือทหาร พลเมืองธรรรมดาไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบ ถอดถอน หรือ ปลดพวกเผด็จการเหล่านี้ได้เลย  แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ บังอาจมองว่าตนเองมีสิทธิที่จะห้ามไม่ให้รัฐบาลหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งออกนโยบายเศรษฐกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของสังคม พวกนี้บังอาจคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูง และ บังอาจบอกว่าเราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สว. ทุกคนมาจากการเลือกตั้งได้

ผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยชนชั้นปกครองเพื่อให้ดำรงตำแหน่งใน กกต. แทนที่จะมองว่าหน้าที่ของตนเอง คือ การจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ท่ามกลางความวุ่นวายที่มาจากการกระทำของอันธพาลที่ต่อต้านประชาธิปไตย กลับมองว่าหน้าที่ของตนเองคือการเลื่อนวันเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้พวกที่ต้องการลดพื้นที่ประชาธิปไตยได้ประโยชน์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ถูกแต่งตั้งมาโดยชนชั้นปกครอง พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคณะกรรมการสิทธิของอภิสิทธิชนเท่านั้น เข้าข้างม๊อบสุเทพ สนับสนุนการใช้กฎหมายเผด็จการ 112 และ เพิกเฉยต่อการเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย


พวกนักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมขวาจัด ที่คลั่งระบบกลไกตลาดของนายทุน เช่น ในสถาบันวิจัย TDRI มองว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้ที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ควรมีสิทธิที่จะจำกัดนโยบายของรัฐบาลในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป พวกนี้มองว่าตัวเองควรมีอำนาจเหนือผู้แทนที่มาจาการเลือกตั้งโดยประชาชน เขาขยันด่าสิ่งที่เขาเรียกผิดๆ ว่า “ประชานิยม” แต่เงียบเฉยต่อการใช้งบประมาณรัฐมหาศาลเพื่อทหาร หรือ เพื่อพิธีกรรมฟุ่มเฟือย เขาอ้างประโยชน์ชาติเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นตัวแทนของชาติและชาติของเขาไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นพวกนี้โกหกว่าเศรษฐศาสตร์มีแค่แนวเดียว แนวของเขา อ้างว่าเป็นแค่ “เทคนิค” เหมือนการซ่อมเครื่องจักร แทนที่จะเป็นเรื่องถกเถียงทางการเมือง

สังคมไทยมีพื้นที่ประชาธิปไตยน้อยเกินไป และ พื้นที่ประชาธิปไตยอันมีค่าที่เรามีอยู่ ถูกจำกัดโดยองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  ถ้าเราจะปฏิรูปการเมืองไทยให้มีประชาธิปไตยมากขึ้นเราต้องยกเลิกองค์กรอิสระทั้งหมดและเคารพวุฒิภาวะของประชาชนส่วนใหญ่


การตรวจสอบหรือคานอำนาจของรัฐบาลและรัฐสภา ถ้าจำเป็น ต้องมาจากการกระทำขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น  เช่น สภาที่เลือกมาจากท้องถิ่นพื้นที่ 4 ภาค หรือ ตุลาการที่ได้รับการเลือกตั้ง
นอกจากนั้นควรมีการใช้ประชามติเพื่อให้ “มวลมหาประชาชน” ที่แท้จริง ตัดสินกรณีที่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่าง


พวกที่สนับสนุนอำนาจขององค์กรที่อิสระจากกระบวนการประชาธิปไตย และพวกที่ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยประนีประนอมกับอันธพาลเผด็จการของสุเทพ เป็นเพียงคนที่ต้องการถ่มน้ำลายใส่พลเมืองส่วนใหญ่ และสร้างระบบกึ่งเผด็จการนั่นเอง เขาไม่ใช่นักปฏิรูปแต่อย่างใด



.

ประวิตร: จิปาถะข้อสังเกตวิกฤตการเมือง, +จดหมายถึงผู้ชุมนุมผู้มีอันจะกินชาวกรุงเทพฯ

.

ประวิตร โรจนพฤกษ์: จิปาถะข้อสังเกตวิกฤตการเมือง
ใน http://blogazine.in.th/blogs/pravit/post/4569 
. . ศ 24 มกราคม, 2014 - 08:28
| โดย pravit


วิกฤติการเมืองปัจจุบันอาจทำให้หลายคนหน้ามืดตามัวตกหล่มความเกลียดชัง
แต่สำหรับผม ผมถือว่ามันช่วยให้ผมได้คิดและเข้าใจสังคมไทยดีขึ้น

เหล่านี้คือข้อสังเกตโดยสังเขป

1)           คนไทยควรเรียนรู้ที่จะสื่อสารพูดจากันโดยไม่ต้องพึ่งนกหวีด ตีนตบ ระเบิดมือหรือปืนอาก้า
2)           แดงเคยต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไรในปี 53 วันนี้พวกคุณก็ควรต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นกันแม้ใช้กับฝ่ายตรงข้าม >กฎหมายเผด็จการย่อมเป็นกฎหมายเผด็จการอยู่วันยังค่ำ
3)           หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้ปัญหาได้จริง ปัญหาคงจบสิ้นไปตั้งแต่ตอนอภิสิทธิ์ใช้แล้ว หรือถ้ายังไม่เข้าใจ ขอให้ดูสามจังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่างเสริม
4)           ระหว่างเลือกตั้งกับเทือกตั้ง ผมคงไม่ต้องบอกนะว่าผมเลือกอะไร
5)           เวที กปปส. มักมีการแสดงฉ่อยสลับกับการพูดถ่อยๆ แต่เวทีแดงก็ไม่น้อยหน้าเช่นเดียวกัน
6)           ตอนปี 53 คนตายรวมทุกฝ่าย 99 ศพ คุณยังไม่เคยเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ลาออก มาอาทิตย์ที่แล้วตายหนึ่งศพเพราะระเบิด คุณกลับบอกยิ่งลักษณ์หน้าด้านไม่ยอมลาออกเสียที
7)           เวลาคุณดูถูกความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ไม่ว่าเพศหญิงหรือเกย์ตุ๊ด คุณกำลังประจานตนเอง
8)           เวลาคุณสะใจกับความตายของฝ่ายตรงข้าม คุณกำลังสูญเสียความเป็นคนของคุณเอง
9)           บางทีความเกลียดชังอาจทำลายผู้ที่เกลียดมากกว่าผู้ที่ถูกเกลียดเสียอีก
10)   Respect My Vote แปลว่า เห็นหัวกูหน่อย
11)   สิ่งตรงข้าม Respect My Vote คือ Respect My Privileges  (..เอกอภิสิทธิ์)
12)   กรุงเทพฯ มิใช่ประเทศไทยทั้งหมดหากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเทศ
13)   กรุงเทพมหานครหาใช่สุเทพมหานครไม่
14)   คุณจะเอา ‘สภาประชาชน’ คุณเคยถามผมและคนอีกหลายล้านหรือยัง? ทำไมเราตัดสินเรื่องนี้ผ่านประชามติกันไม่ได้?
15)    ผมจะไม่ยอมให้ กปปส. ละเมิดสิทธิทางการเมืองของผมและของคนอีกนับสิบล้าน
16)   เวลาคุณเป่านกหวีดดังๆ ปี้ดๆ คุณมักไม่ได้ยินอะไรนอกจากเสียงนกหวีดของคุณเอง
17)   เสื้อแดงควรมีขันติต่อผู้ชุมนุม กปปส. เพราะตอนปี 53 พวกคุณก็ปิดถนนอยู่เป็นเดือน ทำผู้อื่นเดือดร้อนมิใช่น้อยเช่นเดียวกัน
18)   ถ้าคุณคิดว่าเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจบ ขอให้คิดใหม่ ถ้าคุณคิดว่ามีสภาประชาชนแล้วจบ ขอให้คิดใหม่ ถ้าคุณคิดว่ามีรัฐประหารแล้วทุกอย่างจบ ขอให้เลิกคิด
19)   ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของทักษิณอาจเป็นตัวทักษิณเอง
20)   เผื่อคุณยังไม่ทราบ: การขับไล่ทักษิณยิ่งลักษณ์เกี่ยวพันกับความรู้สึกไม่มั่นคงอย่างยิ่งยวดในสถาบันกษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างปฏิเสธมิได้ เสื้อยืดประเภท ‘รักที่สุดคือในหลวง’ หรือ ‘ประชาชนของพระราชา’ จึงหาดูได้ไม่ยากในม็อบ กปปส. บรรดาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงรับไม่ได้ที่จะยอมให้ทักษิณยิ่งลักษณ์มีอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล
21)   ความเกลียดชังมิสามารถรังสรรค์ประชาธิปไตยได้
22)   ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย การฆ่ากันเพราะความเห็นต่างตะหากที่ไม่ปกติ
23)   ผมยังรอคำขอโทษจากยิ่งลักษณ์เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่งอยู่
24)   เหตุผลที่ผมต้านสภาประชาชนคือเหตุผลเดียวกับที่ผมต้านการฆ่าตัดตอนของสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ >มันไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิผู้อื่น
25)   ประชาธิปไตยมิอาจสร้างได้ด้วยวิธีอันเป็นเผด็จการ
26)   ผมเข้าใจว่าทำไมวันนี้คุณมองว่ารัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมแล้ว แล้วพวกคุณเข้าใจไหมว่าทำไมคนอื่นถึงมองวิธีไล่รัฐบาลของพวกคุณว่าไม่ชอบธรรม?
27)   ผมไม่มีปัญหากับการปฏิรูป แต่ผมมีปัญหากับการปฏิรูปแบบเผด็จการอันปราศจากความชอบธรรม
28)   กรุงโรมมิได้สร้างภายในหนึ่งวันฉันใด ประชาธิปไตยก็มิอาจสร้างได้โดยการไล่คนที่คุณเกลียดออกจากอำนาจฉันนั้น
29)   พวกคุณ shutdown กรุงเทพฯ ได้ แต่พวกคุณชนะใจผมไม่ได้
30)   เห็นต่างไม่จำเป็นต้องฆ่ากัน
31)   สังคมที่พยายามทำให้ทุกคนคิดเห็นเหมือนกันเรื่องการเมือง คือสังคมที่ไม่ต้องการให้ประชาชนคิดเอง
32)   ผมเคารพสิทธิไม่ไปเลือกตั้งของพวกคุณ แล้วพวกคุณเคารพสิทธิเลือกตั้งของผมไหม?
33)   หากคุณสะใจกับความตายของฝ่ายตรงข้าม ขอให้คุณตรวจเช็คความเป็นคนของคุณด่วน!
34)   หากคุณเกลียดคนที่เห็นแตกต่างจากคุณทางการเมือง ผมเกรงว่าคุณอาจมิได้ชื่นชมประชาธิปไตยอย่างที่คุณหลงคิด 



++

ประวิตร โรจนพฤกษ์: จดหมายถึงผู้ชุมนุมผู้มีอันจะกินชาวกรุงเทพฯ
ใน http://blogazine.in.th/blogs/pravit/post/4492
. . พ 11 ธันวาคม, 2013 - 19:06
| โดย pravit


วันก่อนพวกคุณได้ร่วมการถกเถียงเรื่องที่ว่าม็อบวันจันทร์ที่ 9 ธันวา ที่ผ่านมามีคนมาร่วมชุมนุมถึงห้าล้านอย่างที่ท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ อ้างหรือเพียงแค่แสนห้ากันแน่หรือไม่ -ผมอดนึกมิได้ว่าการถกเถียงอย่างดุเดือดเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดียโยงกับความรู้สึกไม่มั่นคงเรื่องความชอบธรรมและข้อสงสัยที่ว่าพวกคุณเป็นคนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ในสังคมกันแน่

ท่านสุเทพทำผมตาค้างแทบตกเก้าอี้เมื่อผมได้ยินท่านผู้นำสูงสุดของพวกคุณประกาศตอนบ่ายแก่ๆวันจันทร์ว่าอีกไม่นานท่านจะขึ้นมาแถลงบนเวทีหน้าทำเนียบฯในนามของมวลมหาประชาชนไทยทุกคน เอ่อ…คือ… คือผมจำไม่ได้จริงๆว่าผมเคยยินยอมให้ท่านสุเทพหรือผู้นำของพวกคุณเอาหนึ่งเสียงของผมไปอ้างตั้งแต่เมื่อไหร่ และผมก็มั่นใจว่าลึกๆพวกคุณก็คงทราบดีว่าคนไทยอีกหลายสิบล้านก็มิเคยได้มอบอำนาจให้แก่ท่านสุเทพเช่นกัน

แต่ไม่ว่าจำนวนผู้ชุมนุมบนท้องถนนในวันนั้นจะมากถึงห้าล้านหรือแค่แสนห้า ความจริงก็คือว่าไม่มีผู้ใดจะสามารถอ้างว่าตนพูดในนามของประชาชนทั้งประเทศได้ ผมอยากย้ำเตือนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงชาวกรุงเทพฯผู้มีอันจะกินอย่างพวกคุณทุกคนที่ได้ออกไปใช้สิทธิทางการเมืองโดยการชุมนุมประท้วงมา ณ ที่นี้ด้วยว่าพวกคุณมิใช่คนส่วนใหญ่ของสังคม และเมืองไทยก็มิใช่สมบัติของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ เท่านั้น กรุงเทพฯเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเทศไทย และประเทศเป็นของคนไทยทุกคนร่วมกัน


ผมทราบดีว่าพวกคุณคงรู้สึกอกหักช้ำใจ เพราะพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วยนักการเมือง ‘ดีๆ’ ผู้ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศมาอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจาก Oxford Cambridge หรือ Ivy League กลับพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างซ้ำซาก แล้วพวกคุณก็ต้องทนกับนายกรัฐมนตรีที่พูดภาษาอังกฤษห่วยแตก แถมออกเสียงคำภาษาไทยบางคำก็ยังผิด แถมยังต้องมาทนกับพี่ชายแสนดีของเธอที่พยายามบริหารราชการแผ่นดินผ่านโทรศัพท์มือถือไม่รู้กี่เครื่องที่แกมี

ผมทราบดีว่าพวกคุณรู้สึกว่าทักษิณ ยิ่งลักษณ์นั้นชั่ว กร่าง โกง กิน ชอบใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ -ในบางแง่ผมก็เห็นด้วย ก็ดูการผลักดันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งตอนตีสี่ที่่ทักษิณได้ประโยชน์สิ มันหน้าด้านมาก แม้ญาติคนเสียชีวิตปี 53 อย่างแม่น้องเกดหรือคนเสื้อแดงที่ไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่แคร์

ผมทราบดีเช่นกันว่าพวกคุณชินกับการชี้นิ้วสั่งลูกน้องสั่งคนขับรถ สั่งเด็กเสิร์ฟ ออเดอร์สาวอาบอบนวดและชนชั้นแรงงานให้ทำโน่นนี่ตามใจชอบ พวกคุณจึงรู้สึกรับไม่ได้ที่บรรดาผู้ที่มีการศึกษาต่ำและคนจนเหล่านั้นดันกลับมีบทบาทชี้ชะตาสังคมผ่านการเลือกตั้ง ผมเคยได้ยินบางคนในกลุ่มพวกคุณพูดแม้กระทั่งว่า เมืองไทยน่าจะมอบสิทธิเลือกตั้งเฉพาะคนที่จบปริญญาตรีหรือจ่ายภาษีรายได้ทางตรงเท่านั้น บรรดา ‘ควายแดง’ คนชนบทที่ด้อยการศึกษามิควรมีโอกาสกำหนดทิศทางการเมืองสังคมไทย เพราะคนพวกนี้โง่ จน และถูก ‘ไอ้เหลี่ยม’ หลอกซ้ำซากไม่รู้จักจบ แต่เวลาผมได้ยินเช่นนี้ ผมกลับอดนึกถึงระบอบเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้สมัยหลายสิบปีก่อนมิได้

นี่มิใช่หนทางรอดหรือทางออกของสังคมไทยสำหรับพวกเรา ผมใช้คำว่า ‘พวกเรา’ เพราะผมก็เป็นคนกรุงเทพฯ และกำพืดก็มิได้ต่างจากพวกคุณที่มักทา sunblock ก่อนออกไปตากแดดชุมนุมหรือชอบหลบไปนั่งร้านกาแฟเย็นๆ ติดแอร์มีลาเต้รสดีให้ดื่มเอาแรงระหว่างรอออกไปเดินขับไล่ทักษิณยิ่งลักษณ์ต่อ ความจริงคือว่า สังคมไทยคงเดินต่อไปลำบากยิ่ง หากเรายังดันทุรังกดหัวคนส่วนใหญ่ในสังคมมิให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมเรา -มันเหมือนรถสิบล้อที่เคลื่อนที่โดยอาศัยล้อเพียงล้อเดียว



เราควรพยายามสื่อสารกับคนอื่นที่เห็นต่างจากเรามากกว่านี้ หันไปมองมนุษย์เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันไม่ว่าการศึกษาในระบบเขาจะน้อยเพียงไร เราควรจะพยายามพูดจากันอย่างสันติด้วยเหตุผล แทนที่จะตะโกนด่าว่ากันด้วยคำหยาบสารพัดอย่างไร้สติและเกลียดชังจนไม่มีใครฟังใคร หรือเกลียดกันจนไม่รู้สึกอะไรเวลาผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

สังคมต้องการพื้นที่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงโต้เถียงกันด้วยเหตุผลอย่างสันติและขันติ ระบอบประชาธิปไตยไทยยังเยาว์และเปราะบางบางนัก แต่ผมหวังว่าทั้งประชาธิปไตยและประชาชนทั้งสังคมจะมีโอกาสได้เดินหน้าเติบโตไปพร้อมกัน และนั่นหมายความว่าเราไม่สามารถปล่อยให้คนไม่กี่คนแอบอ้างเสียงคนทั้งชาติและกำหนดชะตาสังคมอย่างเผด็จการได้ เพราะฉะนั้นอย่าพยายามลากรถถังออกมาอีก และกรุณาอย่าเข้าใจผิดคิดว่าม็อบคน ‘ห้าล้าน’ มีสิทธิตัดสินใจแทนคนทั้งแผ่นดิน

เราทุกคนคงจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองอย่างสันติและสร้างสรรค์ เคารพเสียงทุกเสียง ยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพรับฟังเสียงส่วนน้อย

ผมได้ยินเสียงพวกคุณชัดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป่านกหวีดบ่อยๆ จนแก้วหูพัง ทีนี้ช่วยกรุณาไปบอกท่านสุเทพด้วยว่า ท่านควรเลิกอ้างเสียงมวลมหาประชาชนคนทั้งประเทศได้แล้ว

ด้วยความจริงใจ

ประวิตร โรจนพฤกษ์
นสพ. The Nation
11 ธันวาคม 2556

ปล. ถอดความดัดแปลงจากจดหมายภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ The Nation วันที่ 11 ธันวาคม 2556 หน้า 11A ชื่อ A letter to the well-heeled protesters of Bangkok by Pravit Rojanaphruk



.

2557-01-23

เอกสิทธิ์: วิกฤตการเมืองกับความหวาดกลัวของชนชั้นนำของไทย

.

วิกฤตการเมืองกับความหวาดกลัวของชนชั้นนำของไทย
โดย เอกสิทธิ์ หนุนภักดี

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51353 
. . Thu, 2014-01-23 19:41



คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เป็นชนชั้นนำของไทย เมื่อประเมินจากความสามารถในการเข้าถึงอำนาจและทรัพย์สินในครอบครอง ความพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คัดค้าน ถ่วงเวลา โจมตีผู้สนับสนุนการเลือกตั้งและการปฏิเสธการเลือกตั้งของคุณสุเทพและบรรดาแกนนำทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย สะท้อนความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทย

ชนชั้นนำไทยมีความพยายามคุมความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่จะส่งผลให้อำนาจและทรัพย์สินของพวกเขาลดลงด้วยวิธีการต่าง ๆ เสมอมา ทั้งในทางกฎระเบียบ กฎหมาย อุดมการณ์ วัฒนธรรม ประเพณี หรือด้วยกำลังเพื่อมิให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจจนโครงสร้างนั้นหลุดจากการกำกับของตนเอง
เพียงแต่วิธีการควบคุมดังกล่าวนี้ จำนวนมากถูกใช้อย่างแนบเนียน แม้เป็นความรุนแรงก็เป็นความรุนแรงในที่ลับ


ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างอุจาดในที่สาธารณะ จึงสะท้อนความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงของชนชั้นนำ ซึ่งอาจจะเกิดจากการตื่นตระหนกกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อับจนปัญญาที่จะเหนี่ยวรั้งสังคมไว้เช่นเดิม หรืออยู่ในสภาพสิ้นหวังไม่เห็นอนาคตจนตรอก จึงมุ่งเป้าหมายไม่เลือกวิธีการกระทั่งยินยอมใช้ความรุนแรง


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเผชิญความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองบ่อยครั้ง บางส่วนยุติลงด้วยการรัฐประหาร ส่วนที่ขัดแย้งลึกซึ้งมักเกิดความรุนแรง ในจำนวนนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองที่เดิมพันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจอย่างน้อย 2 ครั้งใหญ่ คือ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังปฏิรูปสังคมที่ก่อตัวในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา19 และความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังประชาธิปไตยโดยมีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นหมุดหมายสำคัญ

ความขัดแย้งทั้งสองครั้งนี้แม้ได้เกิดความรุนแรงขึ้นแล้วก็ยังไม่สามารถยุติปัญหาลงได้ ก่อนและหลังเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ในที่สาธารณะก็ยังปรากฏความรุนแรงในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในปี พ.ศ. 2514 กระแสปฏิรูปสังคมของนักศึกษาปัญญาชนช่วงปี พ.ศ. 2516 การโค่นระบอบกษัตริย์ของลาวในปี พ.ศ. 2519 ทำให้ชนชั้นนำวิตกและหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 - เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานและกลุ่มพลังตอบโต้การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและอบรมอุดมการณ์รักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์อย่างเข้มข้น มีการคุกคาม ทำร้ายและลอบสังหารนักศึกษา ผู้นำชาวนา ผู้นำสหภาพแรงงาน นักวิชาการและนักการเมืองผู้ชูธงปฏิรูปสังคม ก่อนจะนำไปสู่การปิดล้อมสังหารหมู่นักศึกษาจำนวนหลายร้อยคนกลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ผลักไสขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนชั้นแนวหน้าของไทยเข้าป่าอีกจำนวนนับพัน
ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนที่ความขัดแย้งนี้จะยุติลงในปี พ.ศ. 2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้กับ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ กลับจากป่าคืนสู่เมือง


หากยึดโครงสร้างทางสังคมที่ยังสามารถผลิตความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเกณฑ์ก็อาจจะสรุปได้ว่า ชนชั้นนำคือผู้ชนะในความขัดแย้งครั้งนี้


วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่พยายามสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายติดต่อกันของพรรคไทยรักไทยนับจากปี พ.ศ. 2544 และพฤติกรรมอำนาจนิยมอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้ชนชั้นนำตระหนักถึงภัยคุกคามของประชาธิปไตยต่อพวกเขา
หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยา 49 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าฉบับ ‘หมายจับทักษิณ’ ที่ติดตั้งกลไกถ่วงดุลอำนาจเสียงข้างมากด้วยเสียงข้างน้อยที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง สร้างตุลาการภิวัตน์และตุลาการธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของชนชั้นนำด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถกำกับประชาธิปไตยได้

การเมืองไทยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าความพยายามดังกล่าวนั้นสูญเปล่า นอกจากชนชั้นนำจะไม่สามารถกำกับประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กระบวนการในการกำกับประชาธิปไตยของชนชั้นนำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับความรุนแรงและความอุจาดมากขึ้น กล่าวคือ เพื่อที่จะจำกัดประชาธิปไตยลง

ชนชั้นนำไทยเลือกใช้รูปแบบและวิธีการที่สังคมกังขามากขึ้นกระทั่งบางครั้งยอมละเมิดหลักการ เปิดเปลือยตัวตนด้านอุจาดโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการให้ทหารปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งด้วยกระสุนจริงในปี พ.ศ. 2553 การเข้ามาก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติของฝ่ายตุลาการ การตัดสินคดีปกครองและการตีความกฎหมายอย่างน่าฉงนในหลักกฎหมายหลายครั้งหลายครา รวมถึงการให้ความเห็นด้วยถ้อยคำปลุกปั่นยุยงสร้างความเกลียดชังกระทั่งหยาบช้าเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งหมดนี้สะท้อนความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทย



ความหวาดกลัว ความอับจนปัญญาและความสิ้นหวังมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและพฤติกรรมอุจาดแต่ไม่ประกันว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ชัยชนะของชนชั้นนำ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังปฏิรูปสังคมในพุทธทศวรรษที่ 2510 และ 2520 แตกต่างไปจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วย อย่างน้อย 4 ประการ คือ

ประการแรก ความขัดแย้งในรอบนี้ชนชั้นนำไทยไม่มีความเป็นปึกแผ่นเช่นเดียวกับในอดีต นักวิชาการหลายท่านสรุปว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันเป็นผลมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำที่เอามวลชนเป็นเครื่องมือเท่านั้น

ประการที่สอง ฐานกำลังของคู่ขัดแย้งหลักของชนชั้นนำในปัจจุบันนั้นขยายออกไปกว้างขวาง มีจำนวนมาก มีการจัดตั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่นกว่ากลุ่มนักศึกษาปัญญาชน

ประการที่สาม อุดมการณ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชนชั้นนำในปัจจุบันคืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ลงหลักปักฐานมั่นคงในระดับสากลและในประเทศไทยแล้ว แตกต่างจากอุดมการณ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชนชั้นนำในอดีตคือ ‘อุดมการณ์คอมมิวนิสต์’ หรือ ‘อุดมการณ์สังคมนิยม’ ที่ในขณะนั้นเป็นกระแสทางเลือกหนึ่งท่ามกลางตัวเลือกอื่น ๆ ก่อนจะมีผลยุติเด็ดขาดด้วยชัยชนะของอุดมการณ์ประชาธิปไตยหลังสงครามเย็น

ประการที่สี่ การขัดแย้งกับประชาธิปไตยทำให้ชนชั้นนำขาดพันธมิตรนอกประเทศสนับสนุน ในทางกลับกันมิตรประเทศเช่น สิงคโปร์และพม่า และประเทศมหาอำนาจใกล้ชิดกับไทยทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ต่างติเตียนและเห็นพฤติกรรมต้านประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยเป็นอันตรายต่อการเมืองและเศรษฐกิจของโลก


อีกนัยหนึ่งคือ ความขัดแย้งกับประชาธิปไตยที่กลายเป็นความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยผลักดันพวกเขาไปสู่
หนึ่ง ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน
สอง ขัดแย้งกับประชาชนจำนวนมาก
สาม  ขัดแย้งกับอุดมการณ์และแนวทางพัฒนาหลักของสังคมโลก
ไปจนถึง สี่ ขัดแย้งกับมิตรประเทศและประเทศมหาอำนาจ


การต่อสู้ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้อาจทำให้พวกเขาต้องใช้ความรุนแรงและพฤติกรรมอุจาดเหมือนที่เคยกระทำมา แต่จะสามารถรักษาสถานะทางอำนาจของตนเองได้ดังเช่นในอดีตหรือ?

ประชาธิปไตยอาจสร้างความหวาดกลัวให้ชนชั้นนำ แต่ในโลกปัจจุบันดูเหมือนว่า พวกเขาจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องอยู่กับประชาธิปไตยต่อไป



.