http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-25

แกะรอย ม.127-172 รัฐบาลหมดอายุ-หรืออยู่ต่อ..

.

แกะรอย ม.127-172 รัฐบาลหมดอายุ-หรืออยู่ต่อ เมื่อกฎหมายมาถึงทางตัน 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393338350
. . วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:31:20 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 25 ก.พ.2557 )


หมายเหตุ : ความเห็นของนักวิชาการ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ที่กำหนดให้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้มาประชุมนัดแรก และ 30 วันที่นับจากวันเลือกตั้ง จะตรงกับวันที่ 4 มีนาคมนี้ ในขณะที่การเลือกตั้งยังไม่เป็นที่เรียบร้อย


นางสดศรี สัตยธรรม
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


ถ้าหลัง 30 วัน ไม่มีการเปิดประชุมรัฐสภาก็จะเข้าสู่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่ระบุให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ดังนั้น จึงเป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่งว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดนี้หากรักษาการครบ 60 วัน จะสิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้งหรือไม่ หากมีการเลือกตั้งต่อไปใน 28 เขตเลือกตั้ง และการจัดเลือกตั้งทดแทนอีก 12,000 หน่วย จะส่งผลทำให้การเลือกตั้งไม่สมบูรณ์หรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์ไม่ครบทั่วประเทศ ก็น่าจะตีความได้ว่าวันเลือกตั้งอาจไม่ใช่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ก็ได้ เมื่อการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ การจะตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 อาจมีปัญหาได้ ดังนั้นก่อนที่จะครบ 30 วัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างว่าที่ ส.ส.ควรพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเช่นนี้

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหากต้องมีผู้รับผิดชอบคงหนีไม่พ้น กกต. เพราะ กกต.คือผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ เปรียบเสมือนผู้เล่น กระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่หากไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย กกต.ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ที่ระบุให้ผู้ตรวจการแผ่นดินขอหารือไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีอำนาจในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องว่างมาก ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงไม่ใช้ช่องทางนี้ เพราะน่าจะเป็นช่องทางที่น่าจะชี้ชัดที่สุด อีกทั้งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางการเมืองต่างก็จับตาการทำหน้าที่ของศาล เพราะไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาในแนวทางใดก็จะมีผลต่อความเป็นไปในทุกด้าน

การตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 กับ มาตรา 172 ยังไม่มีความชัดเจน กกต.ก็ควรป้องกันตัวเองด้วยการรักษารีบเร่งให้ศาลตีความมาตราทั้งสองโดยเร็ว เชื่อว่าจะปลอดภัยกว่าหากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป เมื่อศาลตัดสินใจอย่างไรก็ทำไปตามนั้นไม่ต้องมานั่งเถียงกัน


นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักวิชาการอิสระ


กฎหมายที่ระบุว่าต้องเปิดประชุมสภาใน 30 วัน ต้องตีความประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมี ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ปัญหาที่มีจำนวน ส.ส.ไม่ครบนั้นจึงต้องทำให้ครบ ถ้าได้ครบแล้วก็ต้องเปิดสภาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ดังนั้นระยะเวลา ในการตีความการเปิดประชุมสภา ต้องตีความให้ครบถ้วนทุกมาตรา ซึ่งหมายความว่าถ้ามีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 100 หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ครบ

สถานการณ์ขณะนี้ยิ่งบีบคั้นให้ กกต.ต้องเร่งจัดการเลือกตั้ง เพื่อหา ส.ส.ให้ได้ ภายในกรอบ 180 วัน และสังคมควรหันมาดูว่าอุปสรรคในการจัดการการเลือกตั้งอยู่ที่ไหน ในการประชุมร่วมกับ กกต.ที่เมืองทอง ที่ผมได้ทีโอกาสเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น เห็นตรงกันว่าปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง มาจากแกนนำ กปปส.ใน กทม. ที่พยายามส่งสัญญาณไปในแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีผู้ชุมไปคัดค้าน การแก้ปัญหาก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ต้องแสดงจุดยืน ในการประท้วงอย่างสันติจริงๆ ไม่ขัดขวาง แม้ว่าจะบอกว่าเป็นการคัดค้านก็ตาม แต่ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเช่นนี้ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ กปปส. ดังนั้นกกต.ต้องทำหน้าที่ ตามมาตรา 93 วรรค 6 และฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งห้าม ไม่ให้ผู้ชุมนุมมาขัดขวางการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กกต.ระบุว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีปัญหา แต่ กกต.กลับไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการหารือร่วม กกต.เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็ได้นำเสนอเรื่องนี้ เพื่อเป็นทางออกให้กับ กกต. ซึ่ง กกต.ก็รับฟัง แต่ไม่พูดว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร ก็เสียใจที่ กกต.ไม่ทำตามข้อเสนอ

กกต.มองแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใช้วิธีการตีความว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งให้ครบทุกหน่วย ซึ่งก็ขอเสนอว่าให้ กกต.ดูข้อกฎหมายกว้างๆ อย่างมาตรา 93 วรรค 6 ได้บอกไปแล้ว อยากถามว่าถ้ามีการเลือกตั้งได้หมด แล้วเหลือเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังทำการเลือกตั้งไม่ได้ ประเทศชาติต้องรอตรงนี้หรือไม่ การที่ประเทศเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นอันตรายหรือไม่ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศก็จะส่งผลกระทบกับประเทศเป็นอย่างมาก


นายเอกชัย ไชยนุวัติ
รองคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะหน้าที่การจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ ส.ส.ครบ 500 คน เป็นหน้าที่ของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 235 ที่ระบุว่า กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ที่ให้อำนาจ กกต.ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลาย อันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามมาตรา 235 ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ไปสั่งการอะไรได้ แต่ กกต.ต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหาในการจัดการเลือกตั้งให้ได้ตามรัฐธรรมนูญ

- บทบาทหน้าที่ของ กกต.มองว่าการจัดการเลือกตั้งยังเป็นปัญหาอยู่ในหลายเขต

ทุกคนกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งนั้น แม้ว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะพยายามอาศัยอำนาจ กกต.ในการพยายามหาทางแก้ปัญหาโดยมีการประชุมหารือสัปดาห์ละครั้งก็ตาม อีกทั้งยังมีการเสนอให้มีการสมัครผ่านทางระบบไปรษณีย์ในพื้นที่ที่ไม่มีผู้สมัคร จะเห็นว่า กกต.มีอำนาจล้นฟ้าในการแก้ปัญหาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

- ทางออกที่รัฐบาลกับ กกต.ต้องแก้ปัญหาการเลือกตั้งคืออะไร เพราะในที่สุดอาจนำไปสู่สุญญากาศทางการเมือง

กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์ตามหน้าที่ ให้อำนาจประชาชนมาเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แล้วมาสู้กันระบบรัฐสภา จะขับไล่นายกรัฐมนตรีก็มาไล่ในสภา วิธีการนี้ไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่มีใครตาย ไม่มีใครติดคุกด้วย แต่ข้อเรียกร้องที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากรักษาการนั้น นายกฯไม่สามารถปลดแอกข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ ดังนั้น เมื่อยุบสภาแล้ว ก็ถือว่ารัฐบาลได้คืนอำนาจให้ประชาชน และ กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมาใช้อำนาจในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ

- หากในวันที่ 4 มีนาคม ยังเปิดสภาไม่ได้จะถือว่ารัฐบาลพ้นสภาพรักษาการ และเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่

สุญญากาศทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้น และ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจ ถ้า กกต.ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ



.

2557-02-24

คณะรัฐบุคคล โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

.

คณะรัฐบุคคล
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
คอลัมน์ คนเดินตรอก
ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1393224114
. . updated: 24 ก.พ. 2557 เวลา 13:37:46 น.

( ภาพของเซีย จากไทยรํฐ ไม่เกี่ยวกับผู้เขียน ไม่มีในเพจประชาชาติ )


เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากวันเลือกตั้งทั่วไปเพียงวันเดียว มีการเปิดตัวคณะรัฐบุคคลโดยตั้งชื่อว่า "Man of The State" เป็นข่าวใหญ่ไปในหนังสือพิมพ์หลักทุกฉบับ โทรทัศน์พื้นฐานทุกช่อง

ที่เป็นที่ฮือฮาก็เพราะบุคคลที่เข้าไปร่วมชุมนุมนั้นล้วนแต่เป็นผู้สูงวัย นัยว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 70-90 ปีโดยเฉลี่ย ทุกคน
เคยทำงานในตำแหน่งระดับสูง ทั้งในกองทัพ กระทรวงทบวงกรม มหาวิทยาลัย เป็น ดร. เป็นศาสตราจารย์ทั้งจริงและปลอม เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก็หลายคน

ขอชมเชยที่ทุกคนมีจิตใจที่เห็นปัญหาของบ้านเมือง อยากจะมีส่วนคิดอ่านหาทางให้มีการแก้ไข ก่อนที่ประเทศชาติจะล่มสลายในสายตาของพวกท่าน


ความจริงมิได้มีแต่กลุ่มคณะรัฐบุคคล หรือ Man of The State ชุดนี้ชุดเดียวที่มีความกังวล แต่มีกลุ่มอื่น ๆ หลายกลุ่มที่มีความกังวลในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นไม่ได้ตั้งกล้องถ่าย ไม่ได้ตั้งไมโครโฟนอัดเสียง การเผยแพร่ความเห็นนี้จะมีเจตนาอย่างไรไม่ควรจะไปค้นหา ควรจะสนใจเฉพาะสิ่งที่ท่าน "ผู้เฒ่า" เหล่านี้ต้องการจะสื่อสารว่ามีอะไรบ้าง ดีหรือไม่ดี ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร

ที่จริงก็คุ้นหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ข้อสนทนาที่จับความได้ก็คือ บัดนี้ปัญหาของชาตินั้นรุนแรงหนักหนามาก ต้องหาคนมาแก้ไขเพื่อ การจัดการปฏิรูปประเทศในเวลาประมาณปีครึ่งถึง 2 ปี เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แก้กฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อจะได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศในระยะยาว

ส่วนในระยะสั้นนี้ก็สรรหา "คนดี" มีฝีมือหา "คนกลาง" ที่ประชาชนยอมรับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดกวาดบ้านเรือน ทำการปฏิรูปเสียให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง เราก็จะได้รัฐบาล "คนดี" มาปกครองบ้านเมือง แต่วงสนทนาก็พบกับปัญหาข้อแรกว่าถ้าจะได้รัฐบาลคนกลางที่เป็นคนดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี การมีสภาคนดีมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่บัญญัติก็จะต้องได้อำนาจ "รัฐ" มาเสียก่อน ปัญหาก็คือจะได้ "อำนาจรัฐ" มาได้อย่างไร

นักกฎหมายใหญ่และนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งเสนอว่า ไม่มีทางอย่างอื่นในการได้ "อำนาจรัฐ" มาเพื่อทำการปฏิรูป นอกจากทำการ "ปฏิวัติ" หรือรัฐประหาร จะใช้เครือข่ายองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น ป.ป.ช. กกต. ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะยังมีรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ขวางอยู่
แต่อย่างไรความเห็นของอดีตข้าราชการพลเรือน และ "นักวิชาการสมัครเล่น"ก็ถูกติติงโดย พล.อ.วิมล วงศ์วานิช จำได้ว่าท่านเป็น จปร.รุ่น 5


ฟังดูแล้วก็เหมือนความคิดคนรุ่นเก่าที่คิดถึงความรุ่งโรจน์ของกลุ่มตัวในสมัย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ร่วมกันทำปฏิวัติในปี 2519 และปี 2520 จัดระบบการปกครองโดยเอากองทัพมาคานกับสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวุฒิสภาที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งเป็นตัวแทนของกองทัพ มีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงอยู่ได้ถึง 8 ปีครึ่ง บวกกับช่วงที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ 10 ปีกว่า ๆ

ต่อมาเมื่อมีรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ชาติ ชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐประหารก็ไปเชิญ "คนดี" คุณอานันท์ ปันยารชุน คนกลางมาเป็นนายกฯเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังเลือกตั้งสภาผู้แทนฯเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไปไม่รอด เกิดการชุมนุมใหญ่ประท้วงคัดค้าน ในยุคนั้นเป็นม็อบของคนกรุงเทพฯที่อ้างว่าเป็น "ม็อบมือถือ"

เพราะสมัยนั้นคนชั้นกลางและคนรวยเท่านั้นที่มีมือถือ พล.อ.สุจินดาต้องการจัดระบบการปกครองให้เหมือนสมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ คือเอากองทัพมาคานกับสภาผู้แทนราษฎร แล้วตั้งพรรคคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างที่เคยทำมาสมัยพล.อ.เปรม สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีพลวัตสูงมากไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยมีใครหยุดยั้งได้ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเมื่อพรรคไทยรักไทยโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในวงการเมืองและชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ปลุกสำนึกของคนรากหญ้าทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดให้ตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก โดยการเปลี่ยนจากรัฐที่ทำการปกครองให้เป็นรัฐบริการ ซึ่งไม่เคยมีพรรคใดทำมาก่อน การปลุกกระแสตื่นตัวทางการเมืองของคนระดับรากหญ้าในต่างจังหวัด ในภาคอีสานและภาคเหนือนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และคงจะเป็นของที่ย้อนกลับไปอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิดของคนในต่างจังหวัดนั้น ปรากฏว่าคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในกรุงเทพฯ และอาจจะรวมถึงคนภาคใต้ด้วยไม่ยอมรับรู้หรือรู้แต่ยอมรับไม่ได้ ยังมีความคิดแบบเดิม ๆ ที่รังเกียจนักการเมือง รับผู้แทนราษฎรไม่ได้เพราะมีแต่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไร้การศึกษา



มีรายงานของมูลนิธิเอเชีย ซึ่งได้ทำวิจัยโดยส่งคนไปทำการสำรวจเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นข้อมูลที่เก็บจากการไปสัมภาษณ์ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคมศกนี้เอง จากผู้เข้าร่วมชุมนุม 350 คน จากเวทีประท้วง 3 แห่ง ซึ่งคุณฐากูร บุนปานนำมารายงานในมติชนรายสัปดาห์ฉบับวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์

รายงานการสำรวจนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนในกรุงเทพฯถึงกว่าครึ่ง คือร้อยละ 54 ส่วนร้อยละ 46 มาจากต่างจังหวัด สำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่มาจากภาคใต้และภาคกลางประมาณร้อยละ 75  ส่วนคนภาคเหนือและภาคอีสานมีเพียงร้อยละ 25 ซึ่งตรงกับความรู้สึกของพวกเรามาก่อนแล้ว

คนที่มาชุมนุมเป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชายคือร้อยละ 53 ผู้ชายร้อยละ 47 เป็นคนมีอายุตั้งแต่กลางคนขึ้นไปถึงร้อยละ 60 อายุระหว่าง 45-54 มากที่สุดถึงร้อยละ 25 และที่สำคัญผู้ชุมนุมเป็นผู้มีการศึกษาสูงกล่าวคือร้อยละ 54 จบปริญญาตรี ร้อยละ19 จบปริญญาโท กล่าวคือกว่าร้อยละ 73 หรือประมาณ 3 ใน 4 ของผู้มาชุมนุมนั้นมีการศึกษาระดับปริญญาตรี

จากองค์ประกอบของผู้ชุมนุมที่กล่าวมานี้ เห็นได้ชัดว่าผู้ที่มาชุมนุมประท้วงเป็นคนชั้นสูงของสังคมไทยที่มาจากกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นคนที่มีฐานะทางสังคม มีอายุวัยกลางคนขึ้นไป และกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้ค่อนข้างสูงคือเดือนละ 50,000-60,000 บาทขึ้นไป และกว่าครึ่งเคยบริจาคเงินให้กับแกนนำผู้ชุมนุม



เราจึงไม่แปลกใจว่าวาทกรรมที่ปลุกเร้าเข้าถึงใจคนชั้นกลางระดับสูง ทั้งในแง่พื้นที่ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษาวิธี คิดและทัศนคติของคนที่เป็นเป้าหมายนั้น ไม่ได้เกรงใจ ไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิดของคนชั้นล่างระดับรากหญ้าที่อยู่ในต่างจังหวัดเลย
กว่าร้อยละ 55 ให้เหตุผลของการมาชุมนุมก็เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ ปกป้องสถาบัน ให้มีการปฏิรูปก่อนจะมีการเลือกตั้ง
กว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาร่วมชุมนุมตอบว่าระบอบทักษิณไม่มีอะไรดีเลย
ร้อยละ 72 เห็นว่าข้อเสียของระบอบทักษิณคือการทุจริต ข้อเสียของประชาธิปัตย์ร้อยละ 55 ตอบว่าทำงานช้า เช้าชามเย็นชามไม่มีผลงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็เคยได้ยินบ่อย ๆ ในการโจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่เรื่องทุจริตกับเรื่องความจงรักภักดีเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯและคนชั้นกลางขึ้นไปให้น้ำหนักมากที่สุด หากผู้ใดถูกโจมตีด้วยข้อหาทั้งสองข้อนี้ก็มักจะอยู่ในฐานะที่ลำบาก

สำหรับความรู้ ความเข้าใจทางการเมืองของคนชั้นสูงในกรุงเทพฯนั้นค่อนข้างแปลก เพราะมีถึงร้อยละ 84 เห็นด้วยกับข้อเสนอในการจัดตั้งสภาประชาชน และมีถึงร้อยละ 81 เห็นว่าการปฏิเสธการลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ
ร้อยละ 72 ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือให้ทหารเข้ามาแทรกแซง
และกว่าร้อยละ 62 เห็นว่าไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างที่คณะรัฐบุคคลเสนอ


คนกรุงเทพฯยังสับสนและไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ในเรื่องทัศนคติของคนในกรุง เรื่องความเท่าเทียมกันทางการเมืองแล้วก็เห็นได้ชัด คนในกรุงยังยอมรับไม่ได้ ยังสับสน
แต่ไม่กล้าพูดออกมาตรง ๆ เพราะจำนวนคนประมาณเท่า ๆ กันตอบว่าถูกต้องและไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย แม้จะคิดว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องยอมรับ หรือถูกหลักประชาธิปไตยแต่คนนำไปใช้ผิด ๆหรือตีความผิด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกมากสำหรับกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงสุดของประเทศไทย



เมื่ออ่านรายงานผลสำรวจผู้ชุมนุมในวันที่ 13-14 มกราคมศกนี้ ซึ่งเป็นวัน "ปิด กรุงเทพฯ" ซึ่งรัฐบาลเป็นฝ่ายประโคมข่าวนี้อย่างมาก คงจะหวังให้คนกรุงเทพฯอึดอัด คัดค้าน แต่ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯรับได้ และยอมรับได้กับการดำเนินการปฏิรูป ซึ่งยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าหัวข้อหรือกรอบของการปฏิรูปคืออะไร

เป็นการย้ำให้เห็นว่าที่คนกรุงเทพฯออกมาร่วมชุมนุมนั้นเพราะไม่ชอบระบอบทักษิณ ซึ่งก็คงจะหมายถึงพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย

หลักการประชาธิปไตย ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน รวมทั้งหลักนิติรัฐ ไม่มีความสำคัญ ไม่สนใจเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ขอแค่นายกฯยิ่งลักษณ์ออกไป แล้วเอานายกฯคนกลางกับสภาประชาชนมาทำการปกครองแทน ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ ไม่สนใจ


เห็นได้ชัดว่าวิธีคิด ทัศนคติของคน กรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อการพัฒนาการเมืองของไทย ถ้าคนต่างจังหวัดยังไม่ตื่นตัวทางการเมืองก็คงไม่เป็นไร แต่บัดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯเริ่มตื่นตัวแล้ว ความขัดแย้งจะดำรงอยู่ไปอีกนาน และคงจะปะทุขึ้นเป็นระยะเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งระเบิดขึ้น วนเวียนเป็นวัฏจักรเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ 



.

คนกลางของผู้ใหญ่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

คนกลางของผู้ใหญ่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393244369
. . วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:56:46 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 24 ก.พ.2557 )


บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ใหญ่" พากันออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับทางออกจากวิกฤตทางการเมืองในครั้งนี้ไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน
นั่นคือต้องลืม, พักร้อน, เว้นวรรคหลักการความชอบด้วยกฎหมายไว้ก่อน เพื่อทำให้วิกฤตคลี่คลายลง
ดังนั้น ทางออกจากวิกฤตจึงอาจเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกหลักประชาธิปไตย
รวมทั้งอาจไม่ถูกใจคนจำนวนมากก็ได้


แต่ไม่มีใครใช้คำว่ารัฐประหารสักคนเดียว น่าประหลาดแท้ๆ ทั้งๆ ที่การกระทำที่พวกเขาเสนอก็คือ รัฐประหารนี่แหละ


กฎหมายเป็นเรื่องไม่สู้สำคัญนัก อย่างที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ชี้ว่ากฎหมายก็เขียนขึ้นโดยมนุษย์ แก้เสียก็ได้ หรือ (หากแก้ไม่ทัน) ก็ตีความให้มีความหมายไปในทางที่ปฏิบัติได้ หรือปฏิบัติแล้วดีแล้วกัน
สอดคล้องกับที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า "... ในเมื่อกฎหมายคนเขียน แม้แต่เวลาการประชุมนี่ คุณก็สามารถเปลี่ยนกฎการประชุมได้..." (ผมเรียกท่านว่านายกฯ นอกตำแหน่งตามคำสอนของครูผม - พระยาอนุมานราชธน - ซึ่งอธิบายว่า อดีตหมายถึงคนที่ตายแล้ว หากเขายังไม่ตายแต่อยู่นอกตำแหน่งก็ให้เรียกว่านอกตำแหน่ง เป็นความแตกต่างอย่างเดียวกับคำว่า past และ ex ในภาษาอังกฤษ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ แม้แต่กฎหมายยังไม่สำคัญ กะอีแค่เรื่องถ้อยคำจะสำคัญอะไรกันนักหนา อยากเรียกอะไรก็เรียกไปเถิดครับ)

เทคโนแครตซึ่งคณะรัฐประหารปี 2549 ชวนให้เข้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล บอกอย่างไม่ต้องเหนียมเลยว่า ให้นายกฯคนปัจจุบันลาออกเสีย เพื่อเปิดให้นายกฯคนกลางเข้ามารับตำแหน่งแทน

ไม่มีคำอธิบายว่า นายกฯคนกลางนั้นจะมาจากไหน อาศัยความชอบธรรมอะไร แต่นั่นเป็นเรื่องกฎหมายอีกแล้ว ก็กฎหมายไม่สำคัญไงครับ ที่สำคัญกว่าก็คือจะออกจากวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ได้อย่างไรสำคัญกว่า


ผมก็เพียงทะลึ่งคิดว่า กฎหมายอาจไม่สำคัญก็ได้ แต่ความชอบธรรมนั้นสำคัญแน่แม้แต่ในซ่องโจร ซึ่งไม่มีกฎหมายอะไรเลย อันที่จริงวิกฤตครั้งนี้ ไม่ใช่วิกฤตทางการเมืองเท่ากับวิกฤตความชอบธรรม เพราะอะไรที่คนทั่วไปยอมรับว่าถูกต้องชอบธรรม (ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่) ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเคยเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่ได้มาจากเสียงข้างมาก กฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือ จากการยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ หรือจากการรับรองจากสถาบันตามประเพณี ที่เราออกจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ ก็เพราะมันไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่ทุกฝ่ายยอมรับเหลืออยู่ในสังคมไทยอีกแล้วต่างหาก

เรากำลังเผชิญกับการพังสลายของสังคมทั้งสังคม และเรื่องนี้ใหญ่กว่าการพังสลายของเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ห่วงใยของ "ผู้ใหญ่" ทั้งหลายเสียอีก แต่ท่านเหล่านั้นดูเหมือนไม่ใส่ใจกันเลย

ที่สำคัญกว่าความชอบธรรมของนายกฯคนกลางก็คือ เขาคนนั้นเป็น "กลาง" ระหว่างอะไรหรือครับ
หากคิดว่าเป็นกลางระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและ กปปส. คนอื่นๆ อีกจำนวนมากในสังคมไทยจะเห็นว่าเขาเป็น "กลาง" หรือครับ 


ทั้งพรรคเพื่อไทยและ กปปส.ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยส่วนใหญ่ ความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่อยู่ข้างล่างซึ่งท่าน "ผู้ใหญ่" ไม่มอง หรือไม่เชื่อว่ามีอยู่นั้น ใหญ่กว่านั้นมาก ทั้งไม่อาจละเลยญาณทัสนะ (perception บางคนเรียกมโนทัศน์) ของเขาไปได้ด้วย



ยกตัวอย่างรูปธรรมก็ได้นะครับ นายกฯคนกลางยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด คิดหรือครับว่า ชาวนาจำนวนมากซึ่งได้รับเม็ดเงินจากโครงการรับจำนำค่อนข้างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นครั้งแรก จะยังมองเขาในฐานะเป็น "กลาง" ระหว่างชาวนา, รัฐ, โรงสี, ผู้ส่งออก และผู้ขายข้าวในประเทศ อีกหรือ

ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ อาจมองเห็นความซับซ้อนของปัญหานี้ จึงกล่าวก่อนจะสรุปลงท้ายให้ผิดฝาผิดตัวไป (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) ว่า "แต่คราวนี้ตัวละครเล่น ตัวเล่นมันมีมาก อาจจะมี 2 พรรค อาจจะมี 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายแต่ละพรรคก็ไม่ใช่มีตัวเล่นคนเดียว แต่ยังมีพวกตัวเล่นที่อยู่วงรอบนอก ยังมีอีกมาก ประเด็นก็มากมาย..."

ใช่เลยครับ มันซับซ้อนกว่าที่เทคโนแครตทางเศรษฐศาสตร์อย่างคุณปรีดิยาธรจะเข้าใจได้ ผมเพียงแต่อยากเตือนความเห็นแบบท่านนายกฯนอกตำแหน่งว่า หากเรายังมองพลังของความขัดแย้งในสังคมเป็นตัวบุคคล เช่นมองเห็นว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเล่นที่อยู่วงรอบนอกของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ประการแรก ก็จะทำให้ไม่อาจหยั่งถึงความซับซ้อนของความขัดแย้งได้ปรุโปร่ง เพราะตัวเล่นที่สำคัญกว่าบุคคลคือพลังทางสังคมต่างหาก เช่นเมื่อชาวนาผลิตข้าวสู่ตลาดเต็มตัวเช่นนี้ การแสวงหาความมั่นคงด้านรายได้ในการผลิตเพื่อตลาดย่อมเป็นพลังที่ไม่เกี่ยวกับลุงมาป้าเมี้ยนที่ทำนาเช่าอยู่แถวอยุธยา ประการที่สอง หากย่อพลังทางสังคมให้เหลือเป็นเพียงบุคคลเช่นทักษิณ อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิย่อพลังทางสังคมของฝ่ายตรงข้ามให้เป็นบุคคลได้เหมือนกัน และบุคคลคนนั้นเป็นใครท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์คงพอเดาได้



ผมเข้าใจว่า ข้อเสนอที่หยาบคายขนาดนายกฯคนกลางคงตกไป กลายเป็นการหาคนกลาง (อีกแล้ว) มาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย ข้อเสนอใหม่นี้ตัดปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมายออกไป (อย่างน้อยก็ตัดออกไปก่อน) จึงดูเหมือนเป็นที่รับรองได้ง่ายแก่ทุกฝ่าย ส่วนคนกลางดังกล่าวจะหาได้อย่างไรในสังคมที่ความชอบธรรมทุกชนิดกำลังล่มสลายลง ยกไว้ก่อน สมมุติว่ายังมีฤๅษีที่ไหนในป่าหิมพานต์เหลืออยู่สักคนที่พร้อมจะเป็นคนกลาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้

แต่ปัญหาเดิมก็ยังตามมาอีกว่า ใครควรเข้าร่วมการเจรจา โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งไปแล้ว สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยสัญญาว่าหากได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมากอีก ก็จะบริหารไม่เกิน 1 ปี แล้วจะยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ มันจะแฟร์แก่ผู้ที่ไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยหรือครับ หรือสัญญาว่าหากเป็นรัฐบาลอีกก็จะยกเลิกนโยบายจำนำข้าว มันจะแฟร์แก่ชาวนาหรือครับ หรือสัญญาว่าจะไม่ดำเนินคดีกับแกนนำกปปส. มันจะแฟร์ต่อสังคมไทยหรือครับ เพราะเราจะรื้อฟื้นความชอบธรรม (ทางกฎหมาย, ทางวัฒนธรรม, ทางศีลธรรม ฯลฯ) กลับคืนมาได้อย่างไร หรือเราจะอยู่ในสังคมที่ไม่มีฉันทานุมัติเกี่ยวกับความชอบธรรมเหลืออยู่อีกเลยต่อไป

ผมคิดว่าการเจรจาถ้าจะเกิดขึ้นอาจทำได้ผลเฉพาะในเรื่องที่แคบที่สุดเท่านั้น จนไม่สามารถทำให้วิกฤตคลี่คลายไปได้


ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศมามาก เสนอเทคนิคการเจรจาซึ่งได้ผลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้ นั่นคือไม่เจรจาเรื่องที่ไม่อาจจะมีความเห็นพ้องกันได้ไว้ก่อน แล้วหยิบเรื่องที่น่าจะสามารถเห็นพ้องกันได้ขึ้นมาเจรจาก่อน

ท่านยกตัวอย่างสองเรื่องที่ท่านเชื่อว่าล้วนอยู่ในวาระของทั้งสองฝ่าย คือเรื่องความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

ผมไม่แน่ใจว่าทั้งสองเรื่องนี้อยู่ในวาระของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ แต่สมมุติว่าอยู่จริง ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายมองมิติของสองเรื่องนี้แตกต่างกันมากพอสมควร ยังไม่พูดถึงมองทางออกของสองปัญหานี้แตกต่างกันสุดขั้วเลย

ยิ่งไปกว่านั้น หากรวมตัวเล่นในวงนอกที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่งพูดถึง (ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมวงเจรจาด้วย) สองประเด็นนี้ยิ่งมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น และยากจะประสานเป็นหนึ่งเดียวได้ เช่น ไม่มีฝ่ายใดในสองฝ่ายสนใจกับความยากจนของคนที่ถูกจัดอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพราะจำนวนไม่มากเท่าคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซ้ำเข้าถึงได้ยากทางการเมือง จึงไม่เป็นฐานคะแนนเสียงให้ใครได้

เคยมีงานวิจัยที่สอบถามความคิดเห็นของเสื้อแดงและเสื้อเหลือง น่าประหลาดที่คนเสื้อแดงไม่ค่อยเห็นว่าตัวคือคนจน ซ้ำยังรู้สึกว่ารับได้กับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย ในขณะที่คนเสื้อเหลืองรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมากจนรับไม่ได้

ความยากจนก็ตาม ความเหลื่อมล้ำก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วเป็นเรื่องของญาณทัสนะ หรือ perception อย่างที่ท่านกล่าวไว้นั่นแหละ ผมคิดว่าญาณทัสนะนั้นยังสัมพันธ์กับความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของบุคคลด้วย ผมจึงมองไม่เห็นว่าจะเจรจาระหว่างสองฝ่ายโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง ต่อสู้และต่อรองในกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร


สองฝ่ายคงเห็นพ้องต้องกันว่า สองเรื่องนี้มีความสำคัญ แล้วยังไงครับ ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านงั้นหรือ


คู่เจรจาในความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่างเป็นตัวแทนของประชาชนในฝ่ายของตน (แทนจริงหรือแทนไม่จริงก็ตาม แต่ข้อตกลงของเขาผูกมัดประชาชนของสองฝ่ายได้จริง) แต่การเจรจาของสองฝ่ายในวิกฤตภายใน จะไม่ผูกมัดใครเลยสักคนเดียว ขนาดการ์ดที่ตัวเสียเงินจ้างมาแท้ๆ ยังคุมไม่ได้ จะหวังให้แกนนำ กปปส.ไปผูกมัดอะไรกับผู้ร่วมชุมนุม เช่นเดียวกับประชาชนอีกจำนวนมากที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็ลงคะแนนเสียงช่องไม่ใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้

เพราะความซับซ้อนของวิกฤตดังที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่งได้แสดงสำนึกไว้แล้วนั่นแหละ ทำให้การพักร้อนประเด็นร้อนเพื่อเจรจากันในประเด็นเย็นของสองฝ่าย ไม่สามารถนำไปสู่การระงับความขัดแย้งของพลังทางสังคมได้

ในความขัดแย้งระหว่างประเทศ แม้แต่ในภาวะสงครามแย่งดินแดน หากทั้งสองฝ่ายมองเห็นแล้วว่าไม่มีฝ่ายใดชนะเด็ดขาดได้เลย ข้อเสนอหยุดยิงในการเจรจาก็อาจเป็นผลได้ เพราะสอดคล้องกับความต้องการของสองฝ่ายที่ไม่ต้องการสูญเสียมากไปกว่าจำเป็น แต่หากสองฝ่ายยังหวังจะกำชัยชนะเด็ดขาดได้ในบั้นปลาย ข้อเสนอหยุดยิง อาจถูกปัดไปจากโต๊ะเจรจาทันที แม้กระนั้น ก็ยังอาจมีอีกบางประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกัน เช่น แลกเปลี่ยนเชลยศึก เพียงเรื่องเดียวก็นำไปสู่การเจรจารายละเอียดได้อีกหลายเรื่อง



แต่ความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนซึ่งเกิดในประเทศไทยเวลานี้ ไม่ง่ายอย่างนั้น ผมมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะเรื่องเล็กๆ ที่ดูไม่เป็นสาระสำคัญของความขัดแย้ง ล้วนมีนัยยะไปถึงเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่านั้นเสมอ เช่นแลกเปลี่ยนการเปิดสถานที่ราชการบางแห่ง กับการถอนคดีของแกนนำบางคน ดูเป็นเรื่องง่ายและไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แต่การเปิดสถานที่ราชการขัดแย้งกับหลักการอารยะขัดขืนที่ฝ่าย กปปส.อ้างตลอดมา ไม่มีกำลังจะปิดได้เป็นเรื่องหนึ่ง การยอมถอยออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเท่ากับยอมรับที่จะ "เชื่อฟัง" กฎบางอย่างที่ทางฝ่ายรัฐบาลมีส่วนร่วมสร้างขึ้น เช่นเดียวกับการถอนฟ้อง เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าที่ต่อสู้กันมาตั้งนานนั้น ไม่ใช่ความพยายามจะรักษาระเบียบแบบแผนของสังคมท่ามกลางอุปสรรครอบด้านหรอก เป็นแค่การต่อสู้กับศัตรูทางการเมืองของตนเองเท่านั้น

บนโต๊ะเจรจา เราจะพักร้อนประเด็นใดก็ได้ แต่ในสถานการณ์จริง เช่น ในสงครามหรือในการแบกรับภาระเป็นรัฐบาลรักษาการของประเทศ ไม่มีใครมีสิทธิเลือกพักร้อนประเด็นอะไรได้ตามใจชอบ เช่น ในสงคราม การรุกของข้าศึกย่อมเป็นประเด็นที่เอามาพักร้อนไม่ได้ รัฐบาลรักษาการก็พักร้อนการเลือกตั้งไม่ได้เหมือนกัน การเลือกตั้งคือการคืนกลับสู่สภาวะของระเบียบสังคมเดิมอันเป็นสิ่งที่ กปปส.ปฏิเสธ ฉะนั้น กปปส.ก็พักร้อนประเด็นนี้ไม่ได้เหมือนกัน


แน่นอนว่า ในความขัดแย้งใดๆ การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอ แต่การเจรจาเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้การเจรจาเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแก่ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ผมคิดว่าขณะนี้เงื่อนไขนั้นพอมี แต่ยังไม่สุกงอมพอ เช่น ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยผ่านมาในสังคมไทยระยะหลัง มักมีอำนาจนอกระบบออกมายุติความขัดแย้งในรูปใดรูปหนึ่ง แต่ครั้งนี้ยังไม่มี (จึงทำให้ท่านนายกฯนอกตำแหน่งเห็นว่ากินเวลายาวนานกว่าวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา) หากเป็นที่แน่ชัดว่า จะไม่มีอย่างแน่นอนเมื่อไร ผมเชื่อว่าเงื่อนไขสำหรับการเจรจาก็จะสุกงอมจนเกิดการเจรจาขึ้นจนได้

ในสภาพที่สังคมกำลังปริ่มๆ จะพังสลายลงนี้ ผมคิดว่าเราต้องกู้สังคมให้ฟื้นกลับคืนมา นั่นคือยืนยันในหลักความชอบธรรมของกฎหมายไว้ก่อน จริงอยู่กฎหมายไม่ได้ผดุงความชอบธรรมไปหมดทุกมาตราหรือทุกฉบับ และด้วยเหตุดังนั้น จึงแก้ได้และควรแก้ แต่ก็มีกระบวนการแก้กฎหมายที่ชอบธรรม ซึ่งเราต้องยึดถือไว้อย่างมั่นคงด้วย

สักแต่ให้วิกฤตการเมืองหมดๆ ไป โดยไม่ต้องห่วงว่าสังคมที่เหลือคืออะไร จะเป็นสภาวะการลงทุนที่ดีได้อย่างไร
ทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนภายใน คงอยากวางทุนของตนไว้ในสังคมที่มีระเบียบแบบแผน มากกว่าไว้ในซ่องโจร ซึ่งแม้ไม่มีการชุมนุมปิดถนนเลย แต่ก็คือซ่องโจรอยู่ดี



.

ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/02/51927 
. . Mon, 2014-02-24 08:16



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 452 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557


ในระยะนี้ ลัทธิล่าหัวบุคคลที่เห็นต่างด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ได้หวนกลับมาสู่กระแสสูงอีกครั้ง โดยบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายในครั้งนี้ก็คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นนักวิชาการหัวแข็งระดับแนวหน้าคนหนึ่งของสังคมไทย

ทั้งนี้เริ่มจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้แถลงข่าวว่า ทางกองทัพบกได้ตรวจพบการเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่า อาจมีบางข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และด้วยข้ออ้างที่ว่า กองทัพบกเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ปกป้องสถาบันและดำรงพระเกียรติยศ ทางกองทัพบกจำเป็นต้องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการพิจารณาว่าข้อความใดเข้าข่ายหมิ่นหรือจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางสังคมเพื่อกดดันและปฏิเสธพฤติกรรมการกระทำที่ไม่ถูกต้อง


ข้อสังเกตต่อข่าวนี้ก็คือ ทางกองทัพก็ยังไม่ได้มั่นใจว่า การโพสต์เฟซบุ๊ค ของนายสมศักดิ์จะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ต้องให้ผ่ายกฎหมายของกองทัพตรวจสอบก่อน แต่กองทัพบกอ้างสิทธิ์ของความเป็นหน่วยราชการที่ภักดี ที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่นายสมศักดิ์  ซึ่งในกรณีนี้ นายสมศักดิ์ได้โพสต์ข้อความอธิบายว่า “ไม่ทราบว่า กองทัพบกอ่านภาษาไทยอย่างไรนะครับ คนรักเจ้า อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ 112 ตั้งแต่เมื่อไร และการที่ผมล้อเลียนวิจารณ์คนรักเจ้าและการรักเจ้าแบบเอาเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่รู้จักการตื่นรู้เตรียมปรับตัว เป็นการละเมิด 112 ไปได้อย่างไร”


ต่อมา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ก็มีกลุ่มราชนิกุล  21 คน เดินทางไปที่กองปราบเพื่อร้องทุกข์ให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง และติดตามบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามกฎหมายมาตรา 112 กลุ่มนี้มุ่งเป้าการโจมตีไปที่รัฐบาลและตำรวจว่า ปล่อยปละให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดย ม.ล.สุทธิฉันท์ วรวุฒิ ได้ยกตัวอย่างว่า “เราได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด และมีการตรวจสอบก่อนทั้งกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อก่อนก็โพสต์มาตลอด แต่ทำแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เลยเปิดเผยมากขึ้นและโพสต์ถี่ขึ้น เพื่อให้คนอื่นเข้ามาร่วม”

ในระหว่างนี้ ได้มีการโพสต์เลขที่บ้าน และเลขทะเบียนรถยนต์ของนายสมศักดิ์ในสื่ออินเตอร์เนต เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการเกลียดชังและคุมคาม และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลาเที่ยงครึ่ง การลงมือก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะมีคนร้าย 2 คนขี่จักรยานยนตร์มาจอดหน้าบ้านตะโกนโหวกเหวก ด่าทอ แล้วขว้างก้อนอิฐ โยนขวดใส่น้ำมันก๊าด แล้วยิงปืนใส่บ้านและรถของนายสมศักดิ์ที่รามอินทรา ทำให้กระจกบ้านแตกและรถยนต์เสียหาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้ความรุนแรงคุกคามโดยตรง


ตามประวัติที่รวบรวมได้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 มีชื่อเรียกเล่นกันว่า “หัวโต” จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มทำกิจกรรมมาตั้งสมัยนักเรียน และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำหนังสือสมานมิตร ฉบับ”ศึก”ที่เป็นที่วิจารณ์ของยุคสมัย ต่อมา ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พงศ.2519 และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษา เป็นโฆษกในการชุมนุม ในขณะที่ฝ่ายชนชั้นปกครองก่อการปราบปรามนักศึกษาประชาชนและก่อการรัฐประหารในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 สมศักดิ์ได้ถูกจับกุมคุมขัง และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์ เขาต้องถูกจองจำโดยปราศจากความผิดนานถึง 2 ปี จึงได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อ พ.ศ.2521 จึงถือได้ว่า สมศักดิ์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลาด้วย

หลังจากนั้น สมศักดิ์ก็ได้กลับมาเรียนหนังสือจนจบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้น ก็จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2535 แล้วกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระยะสั้น แล้วย้ายมาธรรมศาสตร์เมื่อ  พ.ศ.2537

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลถือว่าเป็นนักคิดและนักประวัติศาสตร์ ที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นพิเศษ  และมีผลงานการศึกษาค้นคว้า และการตีความประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะการศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2489 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 หนังสือที่ตีพิมพ์คือ เรื่อง “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ก็เป็นงานค้นคว้าที่น่าสนใจอย่างมาก และถือได้ว่าสมศักดิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในความรู้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในอันดับแรกๆ ในสังคมไทย เพียงแต่ว่า ทัศนะการนำเสนอและข้อมูลที่อธิบายนั้น เป็นทัศนะและข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ขัดกับสิ่งที่ถ่ายทอดให้เชื่อกันอย่างฝังหัวในสังคมไทย สมศักดิ์ได้อธิบายว่า เขาต้องการเสนอปัญหาในจุดยืนที่ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และให้ยกเลิกการใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ด้วยมาตรา 112 ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เคยด่าแบบหยาบคาย หรือใช้ข้อความโจมตีตัวบุคคล แต่เสนอด้วยเหตุผลและข้อมูลแบบอารยชน และเรียกร้องให้ฝ่ายคนรักเจ้าตอบโต้ด้วยการใช้เหตุผลและข้อมูลด้วยซ้ำ


โดยส่วนตัวแล้ว สำหรับนักศึกษาและเพื่อน ถือว่า สมศักดิ์เป็นอาจารย์ที่ทำตัวง่ายและมีอัธยาศัยดีคนหนึ่ง
แต่ในทางการเคลื่อนไหววิชาการ สมศักดิ์นั้นมีลักษณะ”บินเดี่ยว”อย่างยิ่ง ไม่เชื่อมกับใคร ไม่ร่วมทางวิชาการกับใคร เพราะมีลักษณะวิจารณ์แบบขวานผ่าซากไม่สร้างมิตร จนขัดแย้งกับนักวิชาการก้าวหน้ารายอื่นเสียแทบทั้งหมด ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ เช่น ขัดแย้งกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ ธงชัย วินิจจะกูล อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ใจ อึ๊งภากรณ์ พวงทอง ภวัครพันธ์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สุดา รังกุพันธุ์ เคยทะเลาะอย่างรุนแรงกับ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ กำพล จำปาพันธ์ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นต้น
แต่กระนั้น ข้อเสนอที่น่าสนใจและผลงานค้นคว้าที่มีคุณภาพ ก็ทำให้สมศักดิ์มีประชาชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย และถือว่าเป็นนักคิดที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง สำหรับในทางการเมือง แม้ว่า สมศักดิ์จะมีแนวโน้มอย่างมากในการสนับสนุนขบวนการคนเสื้อแดง แต่ไม่ถือได้ว่าเป็นแนวร่วมใดๆ ของพรรคเพื่อไทย และไม่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลยื่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลย


แต่กระนั้น ในสังคมไทยกระแสหลัก ที่มีความคับแคบทางความคิด และคุ้นเคยกับการมองสรรพสิ่งแบบด้านเดียว กลับมีความเห็นว่า การนำเสนอแบบสมศักดิ์เป็นการกระทำที่ผิด ฝ่ายนิยมเจ้าเสียอีกที่ใช้วาจาเกลียดชัง(hate speech) ใช้ความหยาบคายตอบโต้เสมอ และยังหาทางที่จะใช้กฎหมายมาตรา 112 มาเล่นงาน หวังให้นักวิชาการที่คิดต่างอย่างสมศักดิ์เข้าคุกให้จงได้ และยังใช้วิธีการรุนแรงให้ไร้เหตุผลมาเล่นงาน ซึ่งเป็นการประจานถึงความป่าเถื่อนของฝ่ายนิยมเจ้าเอง

ดังนั้น สำหรับบุคคลที่ฉลาดและตื่นรู้ จะต้องร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงข่มขู่คุกคามต่อสมศักดิ์ในลักษณะเช่นนี้ ต้องยืนยันว่า การนำเสนอสรรพสิ่งอย่างรอบด้านนั้น สอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตยของโลก เรื่องเสรีภาพทางความคิดเป็นเรื่องที่ได้รับการรับรองตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ในทางตรงข้ามการรับหรือเชื่ออย่างฝังหัวแบบด้านเดียว พร้อมที่จะให้ร้ายคนอื่น เป็นการแสดงความอับจนทางปัญญาอย่างยิ่งของสังคมไทย ที่ควรจะต้องขจัดให้หมดสิ้นไป



.

2557-02-22

อุ่นเครื่องโผทหารเมษาฯ กลางวิกฤติการเมือง ส่งท้าย “บิ๊กเจี๊ยบ-บิ๊กตู่-บิ๊กเข้-บิ๊กจิน”..

.
โพสต์ลิ้งค์เพิ่ม - พล.อ.ประยุทธ์ระบุกองทัพยึดถือ รธน. ขอให้ทุกฝ่ายหารือกัน-แก้ไขวิกฤตอย่างสันติ  ..อ่านที่ http://prachatai3.info/journal/2014/02/51943
______________________________________________________________________________

อุ่นเครื่องโผทหารเมษาฯ กลางวิกฤติการเมือง ส่งท้าย “บิ๊กเจี๊ยบ-บิ๊กตู่-บิ๊กเข้-บิ๊กจิน” จับตาทัพฟ้า ศึกเสืออากาศกับ“ม้ามืด”
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392900599
. . วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 19:52:02 น
.
( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ14-20 ก.พ. 57 ปี34 ฉ.1748 หน้า16 )


รายงานพิเศษมติชนสุดสัปดาห์

เมื่อมีแนวโน้มว่าทหารจะยังไม่ต้องการก่อรัฐประหาร แม้จะมีแรงเชียร์จากบางฝ่าย แล้วการชุมนุมของ กปปส. ก็จะยืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนถึงสงกรานต์

ในขณะที่การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ก็ยังประกาศรับรองผลไม่ได้ แล้ว กกต. ให้เลือกตั้งล่วงหน้าที่มีปัญหา 20 เมษายน และ 27 เมษายน สำหรับหน่วยที่มีปัญหาเลือกตั้งไม่ได้ 2 กุมภาพันธ์ งานนี้จึงยิ่งลากยาว

แต่ทว่าฤดูกาลในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารนั้นเริ่มแล้ว ตั้งแต่ตอนนี้ ที่ ผบ.เหล่าทัพ เริ่มพิจารณาจัดทำโผโยกย้ายนายพลเมษายน แล้ว เพราะในเดือนมีนาคม นี้ก็จะต้องให้เสร็จ เพราะจะต้องประกาศภายในมีนาคม และมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2557

แต่ด้วยการเป็น นายกรัฐมนตรีรักษาการ และรัฐบาลรักษาการ จึงอาจทำให้มีปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมทั้งทหาร ที่อาจจะต้องมีการร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาจจะมีเล่นแง่กฎหมายกันเกิดขึ้น

เวลานี้ กระทรวงกลาโหม ได้ส่งหนังสือไปยัง กกต. เพื่อสอบถามกรณีการทำหน้าที่ของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล 7 คน ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 เพราะจะต้องเร่งประชุมให้แนวทางในเร็วๆ นี้ แต่ กกต. ก็ยังไม่ได้ตอบมา

โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมที่จะเชิญ ผบ.เหล่าทัพ หรือบอร์ดกลาโหม เพื่อให้นโยบายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ นี้แล้ว

แต่ความสำคัญของการโยกย้ายทหารครั้งนี้ คือเป็นการรองรับการที่ ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้จะเกษียณราชการในเดือนกันยายนนี้ พร้อมกันหมด ทั้งบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ., บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.


แม้ในแต่ละเหล่าทัพจะมองเห็นกันแล้วว่า ใครจะเป็นผู้นำเหล่าทัพคนต่อไป แต่ก็ไม่อาจมองข้ามการโยกย้ายเมษายน ที่อาจมีเซอร์ไพรส์ในการดัน "ม้ามืด" ขึ้นมาเป็น ผบ.เหล่าทัพ หรือจ่อคิวใหญ่ไว้

โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ที่แม้จะมีบิ๊กตู่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ แกนนำเตรียมทหาร 14 เป็นเต็งหนึ่ง เพราะเป็นน้องรักของ พล.อ.อ.ประจิน ก็ตาม

แต่เพราะเส้นทางของ พล.อ.อ.ตรีทศ นั้น เติบโตมาในสายปลัดบัญชี โตมาในสายการศึกษา และจบจากเยอรมนี แต่ไม่ได้เป็นนักบินรบ แต่เป็นนักบินลำเลียง C-123 ซึ่งอาจไม่สมาร์ตนัก หากขึ้นเป็น ผบ.ทอ. ที่ธรรมเนียมส่วนใหญ่จะเป็นนักบินรบ โดยเฉพาะ F-5 หรือ F-16

เพราะแคนดิเดต ผบ.ทอ. ยังมีบิ๊กโหมด พล.อ.อ.พลเทพ โหมดสุวรรณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (ผบ.คปอ.) นักบิน T-33 แห่งเตรียมทหาร 15 ก็ยังมีสิทธิ์

แต่ทว่าเขาเหลืออายุราชการแค่ปีเดียว คือจะเกษียณกันยายน 2558 เสียเปรียบ พล.อ.อ.ตรีทศ ที่เกษียณปี 2559 ด้วย

แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูทิศทางการเมืองด้วย เนื่องจากหากเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็เชื่อกันว่าโอกาสของ พล.อ.อ.พลเทพ ที่จะเป็น ผบ.ทอ. มีน้อย

เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาร่ำลือว่า เป็นคนสำคัญในการสั่งเครื่องบิน เอฟ-16 ขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บินไป-กลับ กัมพูชา โดยทางรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ไม่ให้ผ่านน่านฟ้าไทย ทอ. จึงต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นไปตามระเบียบ

แม้แหล่งข่าวใกล้ชิดจะยืนยันว่า พล.อ.อ.พลเทพ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ตาม แต่ก็กลายเป็นข่าวเม้าธ์กันไปแล้ว

แต่หากอำนาจเปลี่ยนขั้ว หลังการเผด็จศึกของ กปปส. หรือตุลาการภิวัฒน์ องค์กรอิสระภิวัฒน์ ใดๆ ก็ตาม โอกาสของ พล.อ.อ.พลเทพ อาจมีอยู่บ้าง


ที่น่าจับตามอง หากอำนาจเปลี่ยนขั้ว ก็คือ บิ๊กดำ พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ ที่ถูกเตะโด่งไปเป็นรองปลัดกลาโหม แต่เขาเป็น ตท.14 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อ.ตรีทศ ที่เกษียณปี 2558 เนื่องจากเขาเป็นคนสุราษฎร์ธานี แม้จะไม่มีรายงานว่ามีสายสัมพันธ์ใดกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. หรือไม่ แต่ทว่าก็ถือว่า เป็นตระกูลใหญ่แห่งเมืองสุราษฎร์ อีกทั้งเขามีคุณสมบัติเพียบพร้อม เพราะเป็นนักบิน เอฟ-16 และโตมาในสายยุทธการ สายกำลังรบ

แต่ใน ทอ. ก็ยังมีบิ๊กบิ๊ก พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เตรียมทหาร 15 ที่เกษียณปี 2558 เพราะ พล.อ.อ.ประจิน ก็ใช้งานให้ศึกษาเรื่องสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเมือง และศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ

แต่ทว่า พล.อ.อ.อานนท์ ก็เป็นนักบิน OV-10 ซึ่งก็อาจจะไม่สมาร์ตนักในการขึ้นเป็น ผบ.ทอ.

ในเวลานี้จึงยังไม่มีใครเดาใจ พล.อ.อ.ประจิน ได้ออก ว่าเขาน่าจะเลือกใครเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ แทนเขา เพราะแม้จะดูว่า พล.อ.อ.ตรีทศ เป็นเต็งหนึ่ง

แต่การที่ พล.อ.อ.ประจิน ดันน้องรักคนนี้ขึ้นมาเป็น เสธ.ทอ. ก็ว่ากันว่า เพื่อตีกันบิ๊กโจ้ พล.อ.ท.วรฉัตร ธารีฉัตร ตท.15 ดาวรุ่งแห่งกองทัพอากาศ ที่เดิมมีชื่อเป็น เสธ.ทอ. แต่ก็ต้องขยับไปเป็นแค่ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (ผบ.อย.)



ดังนั้น ต้องจับตามองการโยกย้ายมีนาคมนี้ เพราะ พล.อ.อ.ประจิน ต้องมีการดันนายทหารยศพลอากาศโท ขึ้นมาเป็น พลอากาศเอก เพื่อเตรียมรองรับการโยกย้ายปลายปี ที่จะต้องส่งคนไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ทั้งนอกและใน ทอ.

เช่นที่จะต้องเกษียณราชการ ทั้ง บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส., พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุททานนท์ รอง ผบ.ทอ., บิ๊กแป๊ะ พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ ประธานที่ปรึกษา ทอ., บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.ชนัท รัตนอุบล และบิ๊กแหล่ม พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขตร ผช.ผบ.ทอ.

คาดการณ์กันว่า พลอากาศโท ที่จะได้ขึ้น พลอากาศเอก ในการโยกย้ายเมษายนนี้แล้ว ต้องจับตาด้วยว่า อาจจะมีคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนใหม่ ด้วย

ทั้ง บิ๊กโจ้ พล.อ.ท.วรฉัตร ธารีฉัตร ผบ.อย. ที่น่าจะได้ขึ้นเป็น พลอากาศเอก แล้วเขาเป็นคนที่ถูกจับตามองว่าเป็นอนาคต ผบ.ทอ. เพราะเป็น ตท.15 และมีอายุราชการถึงปี 2559 และเป็นนักบิน เอฟ-5 อีกด้วย แต่ทว่าจะฝ่าด่านอรหันต์ไปได้หรือไม่

เพราะต้องเบียดแข่งกับ ตท.16 ที่กำลังโตกันแบบหายใจรดต้นคอ


ส่วนคนที่มาแรงแบบเงียบๆ คือ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ท.สุทธิพันธุ์ กฤษณะคุปต์ รอง เสธ.ทอ. ซึ่งเป็นดาวรุ่งของ ตท.16 ที่ถือว่าเป็นนายทหารที่ พล.อ.อ.ประจิน ไว้วางใจ เพราะให้ดูแลด้านการข่าวและยุทธการ โดยเป็นนักบิน เอฟ-16 เคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน 103 จนเป็นผู้บังคับการกองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ และเป็นเจ้ากรมข่าว ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว จนมาเป็น รอง เสธ.ทอ. ที่สำคัญมีอายุราชการถึงปี 2560 เลยทีเดียว

รวมถึง รอง เสธ.ทอ. อีก 2 คน ทั้ง พล.อ.ท.จอม รุ่งสว่าง และบิ๊กโป่ง พล.อ.ท.ศิวเกียรติ ชเยมะ ที่เป็นเพื่อน ตท.16 ด้วยกันทั้งหมด

โดยเฉพาะ พล.อ.ท.จอม นั้น ก็เป็นที่จับตามอง เพราะเป็นคนเก่ง แถมมีอายุราชการถึงปี 2561 เลยทีเดียว ที่ก็อาจจะต้องรอต่อคิว แต่ก็ถูกเฝ้ามองว่า การที่เขาจบ ร.ร.นายร้อยญี่ปุ่น จะส่งให้มีปัญหาต่อการเป็น ผบ.ทอ. หรือไม่ เนื่องจากยังไม่เคยมี ผบ.ทอ. ที่จบต่างประเทศ

ดังนั้น เมื่อสร้าง พลอากาศเอก ขึ้นมาใหม่ ในโยกย้ายกลางปีนี้ พล.อ.อ.ประจิน ก็จะต้องเตรียมส่งไปทดแทนตำแหน่งที่เกษียณ

แต่ในเวลานี้ ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.อ.ประจิน จะเลือกเอาคนที่เป็น พลอากาศเอก อยู่แล้ว เป็น ผบ.ทอ. หรือว่าเลือกจาก คนที่กำลังจะขึ้นเป็น พลอากาศเอก ในโยกย้าย มีนาคม-เมษายน นี้

แต่ก็น่าจับตามองด้วยว่า หากโยกย้ายเมษายนนี้ พล.อ.อ.อารยะ ประธานที่ปรึกษา ทอ. จะลาออก เนื่องจากปัญหาสุขภาพ พล.อ.อ.ประจิน ก็อาจจะต้องดัน พลอากาศเอก คนใดคนหนึ่ง ขึ้นประธานที่ปรึกษา ซึ่งเป็นอัตราจอมพลด้วย ที่จะยิ่งทำให้เห็นชัดว่าใครจะเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป และการเมืองจะมีผลต่อการเลือกแม่ทัพฟ้าคนใหม่ หรือไม่


แต่ในส่วนของ ทบ. นั้น บิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.14 ยังคงเป็นเต็งหนึ่ง ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเกษียณ โดยมีบิ๊กต๊อก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. เตรียมทหาร 15 เป็นตัวสอดแทรก โดยทั้งคู่เกษียณปี 2558 เท่ากัน

ส่วน ผบ.ทร.คนใหม่นั้น มีแคนดิเดต 3 คน คือ พล.ร.อ.ไกรสรณ์ จันทสุวานิชย์ ผช.ผบ.ทร., บิ๊กจุ๊ พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ เสธ.ทร. และบิ๊กปุ้ย พล.ร.อ.พิจารณ์ ธีรเนตร ผบ.กองเรือยุทธการ

ก็ต้องดูว่า พล.ร.อ.ณรงค์ จะเลือกใคร ใน 3 คนนี้ เพราะเกษียณราชการปี 2558 เท่ากันหมด แต่ พล.ร.อ.ไกรสรณ์ นั้นเป็นเพื่อน ตท.13 เพื่อนรักของบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ อดีต ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.ณรงค์ เอง ด้วย

ขณะที่ พล.ร.อ.พิจารณ์ ตท.14 นั้นได้รับการสนับสนุนจากนายทหารเรือสายกำลังรบ ที่ต้องการให้ ผบ.กร. เป็น ผบ.ทร. แทนการให้ฝ่ายอำนายการ หรือขึ้นมาจาก เสธ.ทร. หรือ ผช.ผบ.ทร. แถม ตท.14 ยังเป็นรุ่นที่กำลังอยู่ในแผงอำนาจกองทัพ ทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม และ พล.อ.อุดมเดช ที่จ่อเป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.ตรีทศ ที่อาจได้เป็น ผบ.ทอ.

ส่วน พล.ร.อ.ทวีวุฒิ นั้น เป็น ตท.15 ที่ก็รับผิดชอบงานสำคัญ ในฐานะ เสธ.ทร. และถือว่าเป็นนายทหารที่ขยันทำงาน และที่ผ่านมาก็เคยได้ทำงานใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตลอด เพราะจะต้องไปร่วมประชุม หรือบรรยายสรุปให้ฟังบ่อยๆ

แต่ต้องยอมรับว่า กรณีของ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผบ.หน่วยซีล ที่ส่งทหารไปดูแลผู้ชุมนุม กปปส. นั้น ส่งผลต่อ พล.ร.อ.พิจารณ์ ไม่น้อย เนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ร.ต.วินัย แม้ว่า พล.ร.อ.พิจารณ์ จะไม่ได้รู้เห็นด้วยก็ตาม

แต่ภาพพจน์ของหน่วยซีล และกองเรือยุทธการ รวมทั้ง ทร.เอง ก็ถูกมองว่าเอนเอียงไปทางผู้ชุมนุม ไปแล้ว

แต่จะเป็นผลดี หากว่าอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนขั้ว ก่อนการโยกย้ายทหารปลายปี ในเดือนสิงหาคม-กันยายน นี้



กระนั้นก็ตาม มีการมองว่าหากวิกฤติการเมืองนี้ ยืดเยื้อไปจนถึงการโยกย้ายทหารปลายปี โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รักษาการ นั้น จะมีผลใดๆ หรือไม่

แต่น่าจะเป็นผลดีต่อกองทัพ ตรงที่ฝ่ายการเมืองจะไม่สามารถแทรกแซงการโยกย้ายทหารได้ เพราะจะเป็นอำนาจของ ผบ.เหล่าทัพ เต็มที่ อีกทั้งโดยปกติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการโยกย้ายทหารอยู่แล้ว

ส่วนตำแหน่ง ผบ.สส. นั้น คาดกันว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ จะเสนอชื่อบิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. เพื่อนรัก ตท.12 ขึ้นเป็น ผบ.สส.คนใหม่ อย่างแน่นอน โดยเขาก็มีอายุราชการแค่ปี 2558

ท่ามกลางการจับตามองว่า มีโอกาสที่ พล.อ.นิพัทธ์ ปลัดกลาโหม ที่ในการโยกย้ายปลายปีนี้ จะเป็นผู้นำทหารที่เหลืออยู่คนเดียวนี้ จะได้โยกกลับมาเป็น ผบ.สส. หรือไม่ ในเมื่อเขามีอายุราชการถึงปี 2559 และเป็นลูกหม้อ บก.กองทัพไทย มานาน

แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า การเมืองในเวลานั้นเป็นอย่างไร เพราะถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้ว พล.อ.นิพัทธ์ ก็อาจจะโดนพิษการเมืองเล่นงานได้ เพราะภาพพจน์เขาถูกมองว่าเป็นนายทหารที่ใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งบทบาทในช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมาด้วย

แต่หากมีปาฏิหาริย์ ที่ยังคงเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย พล.อ.นิพัทธ์ ก็จะกลายเป็นปลัดกลาโหม ที่มีเพาเวอร์ไม่น้อย


โชคดีที่ในเวลานี้ไม่ได้มีปัญหาในการแย่งชิงอำนาจกันแบบรุนแรงแบบต่างขั้วต่างสีกันเกิดขึ้น จึงทำให้โอกาสของการรัฐประหาร มีน้อยลง เพราะไม่มีปัจจัยภายในกองทัพมากระตุ้น รวมทั้งไม่ได้ถูกการเมืองแทรกแซงการโยกย้ายทหาร ดังนั้น โอกาสของการรัฐประหาร จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองหรือปัจจัยภายนอกกองทัพ เท่านั้น

ยิ่งเมื่อ กกต. ให้รอลากยาวการเลือกตั้งไปจนถึง 20 เมษายน และ 27 เมษายน 2557 ที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งได้ และได้ ส.ส. ครบหรือไม่ก็ตาม หากไม่เกิดอุบัติเหตุกับรัฐบาลรักษาการ จากองค์กรอิสระ เสียก่อน โอกาสที่ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้ จะนับถอยหลัง เคาต์ดาวน์รอเกษียณ ก็มีสูงกว่า โอกาสที่จะรัฐประหาร แล้วปล่อยให้ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ มารับผิดชอบในการแก้ปัญหาการเมืองแทน

ณ เวลานี้ ถือว่ากองทัพกับการเมือง แยกกันไม่ออกแล้วจริงๆ...


______________________________________________
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

ติดน้ำท่วมกับติดจรวด โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.
บทรายงานเพิ่ม - ผู้สื่อข่าวยียวน เขียน เงื่อนไขเดียว
__________________________________________________________________________________________

ติดน้ำท่วมกับติดจรวด
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392987035
. . วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:03:51 น.

( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 21 ก.พ. 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ถึงการสอบสวนคดีทุจริตการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552-2553

ตามที่มีการร้องเรียนโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมจึงล่าช้ามาก
ยิ่งมีคดีจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นข้อเปรียบเทียบ

นายวิชายืนยันว่า คดีระบายข้าวยุคอภิสิทธิ์นั้น เร่งไต่สวนอยู่แทบทุกวัน ไม่ได้หยุด แต่เกิดปัญหาเรื่องเอกสารหลักฐาน บางหน่วยงานไม่ได้ส่งให้ อ้างว่าเอกสารเหล่านั้นถูกน้ำท่วมไปเมื่อปี 2554

นักข่าวเลยถามว่า แต่ทำไมคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเสร็จเร็วกว่า นายวิชาตอบว่า "เพราะกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ เอกสารหลักฐานมันสดๆ ร้อนๆ จะเห็นว่าเมื่อถูกร้องท่านก็ยังอยู่ในตำแหน่ง เอกสารหลักฐานจะได้มาง่ายกว่า"


บางคนฟังคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแล้วก็เข้าใจและเห็นใจ


แต่บางคนก็ได้ข้อสรุปเชิงเปรียบเทียบว่า คดียุคอภิสิทธิ์

ปี 2552 ป่านนี้ยังไม่เสร็จด้วยเหตุผลเพราะติดน้ำท่วม


แต่คดียิ่งลักษณ์รวดเร็ว ด้วยเหตุผลเพราะเรื่องมันเกิดสดๆ ร้อนๆ

สรุปจบก็ได้แต่ส่ายหน้า

ช่างน่าทึ่งจริงๆ คดีหนึ่งติดน้ำท่วม อีกคดีติดจรวด


ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ตั้งข้อสงสัยว่า ป.ป.ช.ได้ให้ความยุติธรรมต่อตนเองในการสอบสวนคดีจำนำข้าวหรือไม่

"หากรวมเวลานับแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 จนถึงวันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อดิฉัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รวมเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดีเพื่อแจ้งข้อหากับดิฉันเพียง 21 วัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่กรรมการ ป.ป.ช.เคยปฏิบัติต่อการไต่สวนในคดีทางการเมืองอื่นๆ อย่างเช่นคดีของดิฉัน"

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังทวงถามกรณีที่ได้ขอให้กรรมการ ป.ป.ช. รายอื่นทำหน้าที่กรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนแทนนายวิชา โดยได้ยื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปตั้งแต่เมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ จนบัดนี้ยังไม่เคยมีคำตอบจาก ป.ป.ช.เลย




จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องข้าวมาร์คกับข้าวปูเท่านั้น

ยังต้องนึกถึงคดีร้องเรียนในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์อีกหลายต่อหลายคดีที่ค้างเติ่งไปหมด เช่น คดีเครื่องตรวจระเบิดทีจี 200 คดี 396 โรงพักที่มีแต่เสา ฯลฯ

รวมทั้งยังเคยมีคำถามต่อ ป.ป.ช.ในความแตกต่างระหว่างคดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 ยุครัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งรวดเร็วปานติดจรวดเช่นกัน ใช้เวลาแค่เดือนเดียว เชือด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. รวมทั้งตำรวจใหญ่อีกหลายนายตกเก้าอี้ไปตามๆ กัน ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลก็โดนกันระนาว

แต่คดีสลายม็อบเสื้อแดงยุคอภิสิทธิ์ ปี 2553 จนป่านนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งนายวิชาเคยชี้แจงทำนองว่า เนื่องจากมีการสอบสวนเป็นคดีอาญา ทำให้ ป.ป.ช.ต้องรอผลทางอาญาก่อน

นี่ก็ทำนองติดจรวด กับติดผลอาญา


ทั้งที่ความรุนแรงของคดีปี 2553 นั้นระดับ 99 ศพ ต่างกับคดีปี 2551 อย่างสิ้นเชิง

แม้ว่าศพประชาชนเพียงแค่ศพเดียวก็ไม่ควรจะให้ต้องล้มตาย แต่ยุคอภิสิทธิ์ล้มตายถึง 99 ศพทีเดียว



มีคนกล่าวว่า บ้านเมืองเรามีปัญหาวนเวียนแบบนี้มาตั้งแต่วิกฤตปี 2549 จนถึงวิกฤตปี 2557 นี้ ก็เรื่องทำนองเดียวกัน ตัวละครเดียวกัน

ถ้ายังเล่นกันแบบนี้ ก็ไม่มีทางจบสิ้น

คนกำหนดบทคนชักใย ไม่เคยสรุปบทเรียน



+++

ผู้สื่อข่าวยียวน เขียน เงื่อนไขเดียว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393051805
. . วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 13:55:10 น.

( ที่มา: คอลัมน์ ต้มยำทำข่าว โดย ผู้สื่อข่าวยียวน นสพ.มติชนรายวัน )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


สถานการณ์ของรัฐบาลตอนนี้เป็นรอง ตกชะตาตั้งรับ

พลิกกลับ จากได้เปรียบเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ม็อบแผ่วๆ หาของมาปลุกขึ้นได้ยาก มาเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอีกครั้ง

ปัญหาก็เรื่องจำนำข้าวนั่นแหละ ไม่มีเงินจ่าย กู้ไม่ได้ แบงก์ไหนคิดช่วย ได้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วว่า เกมนี้โหดร้ายมากไม่สนใจใครเดือดร้อน เกษตรกรชาวไร่ชาวนาก็ไม่เว้น

ทีนี้พอบีบแบงก์ กดดันด้วยวิธีการต่างๆ นานา รุกไล่จนล่าถอย มันก็เป็นอะไรที่หลายเด้ง นอกจากคงไม่มีใครกล้าแหลมมาช่วยอีก ที่ตรงๆ เลยก็คือ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ชาวนาก็ต้องไม่พอใจ ฮือทวง บีบหามาจ่ายให้ได้เป็นธรรมดา


องค์กรอิสระก็ได้ที บี้ติด โทษว่า นี่ไง ผลของการทำอะไรต่อมิอะไรในทางไม่ดี แบบนี้ก็ยุ่งน่ะสิ

ทุกอย่างกลับมาตึงเครียด จากคุมเชิงห่างๆ เริ่มกลับมาเผชิญหน้า ทำท่าเหมือนว่า สุดท้ายต้องจบที่รบกันหรืออย่างไร


แต่ช้าก่อน ไม่น่าถึงขนาดนั้น
รู้ไหมว่าอีกเวทีเริ่มมีไฟเปิดสว่างอีกครั้งแล้ว


หลังจากล้มวงเจรจาแก้ปัญหาขัดแย้งชั่วคราว เวทีใหม่เรื่องเก่าได้ฤกษ์เปิดใหม่ เที่ยวนี้จะคืบหน้าแค่ไหน ไม่มีใครกล้าการันตี เนื่องจากเปิดมาแล้วหลายรอบ หลายเวที ไม่มีสัญญาณจะคลิกได้

อย่างไรก็ตาม กระนั้นก็ดี ผู้สื่อข่าวยียวนยกธงเชียร์เต็มที่ เจรจาต้าอวย เป็นแนวทางสันติวิธีที่ทั่วโลกใช้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ยังไงเสียก็ต้องดีกว่าการใช้กำลัง ความรุนแรงอยู่แล้ว

รอบนี้จะคลิกหรือไม่ อย่างที่เกริ่นไว้ ไม่กล้าการันตี

เอาเป็นว่า ขณะนี้ เหลือ-ติดแค่เงื่อนไขเดียว ข้อเดียวโดดๆ นี้ ใครอย่าคิดว่า ทำไมไม่ยอมกันซะที จะได้จบๆ บ้านเมืองเดินต่อไปได้

เพราะมันเป็นระดับข้อเรียกร้องใหญ่


ฝ่ายไม่เอารัฐบาลยืนกรานสถานเดียว ยิ่งลักษณ์ต้องออกจากรักษาการ



เรื่องบิ๊กเบิ้ม ตรงนี้แหละ ที่ทำให้การเจรจาไปไม่ถึงไหน

การหารือรอบใหม่ ก็คงเปิดเจรจา เริ่มต่อรองกันที่หัวข้อนี้อย่างเคย แต่ที่เปลี่ยนไปคือสถานการณ์โดยรวม ที่รัฐบาลตกเป็นรอง ถูกบีบคั้น รุกประชิดทุกด้าน

สำหรับคนทั่วไป หากตกอยู่ในภาวะแบบนี้
อาจมีทางเลือกแค่ 2 คือยอมจำนน ทำตามข้อเรียกร้อง หรือไม่ก็สู้ตาย ไม่ยอมถอย ชนิดเป็นไงเป็นกัน


แต่สำหรับแวดวงการเมือง แวดวงธุรกิจ คนซึ่งไม่สิ้นไร้ไม้ตอก เขาคิดไม่เหมือนชาวบ้าน ยังไงก็ต้อง ดิ้นรนต่อรองไม่ให้เสียหาย โดยที่ไม่เหลืออะไรเลย และก็ไม่เสี่ยงที่จะสู้แตกหักด้วย
ก็ไม่รู้สินะว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จะทำให้การเจรจาเปลี่ยนหรือไม่


แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ เป้าชัดมาก


เดิมมี 3 ข้อ คือ 1.เลื่อนเลือกตั้ง 2.ปฏิรูปก่อน  3.ปูออกไป ตอนนี้สองข้อแรกหายต๋อม

ใครที่ไม่รู้ว่า ครั้งนี้เขาสู้อะไรกัน คงตาสว่างหมดแล้ว




.

เกรงใจ ปชช.บ้าง, ความต่าง2 รบ., คนดี-สร้างได้, สมุนขี้ข้า-พอกัน, มือที่กดปุ่มสั่งทั้งพรรค โดย วงค์ ตาวัน

.

เกรงใจประชาชนบ้าง
โดย วงค์ ตาวัน

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qazVOVGswTnc9PQ
. . วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.



เพราะการศึกครั้งนี้มันยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งรบยิ่งลากยาวไม่สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที เลยต้องปรับเปลี่ยนแผนกันเป็นระยะๆ เป็นเหตุให้ต้องเปิดตัวเปิดหน้ากันออกมาสู้มากมายหลากหลายขึ้น
แผนนี้ทำอะไรไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เปลี่ยนกระบวนใหม่ เปลี่ยนเรื่องใหม่ เปลี่ยนผู้คนและองค์กรใหม่ๆ มาจัดการ

นับวันชาวบ้านจึงได้เห็นชัดเจนขึ้นว่า รัฐบาลกำลังโดนรุมสกรัมจากสารพัดคณะสารพัดองค์กรเช่นไร!?
คนละไม้คนละมือ ปิดโน่น ขัดขวางนี่ ล็อกนั่น สกัดนี่ เงื้อดาบเตรียมเชือดในวันนั้นวันนี้ 
ตั้งแต่การเลือกตั้ง ไปยันการปฏิบัติหน้าที่ และกรณีการจ่ายเงินจำนำข้าว จนถึงคดีจำนำข้าว

พูดง่ายๆ ว่า กำลังทำทุกอย่างทุกวิถีทางเพื่อกำจัดรัฐบาลอย่างเดียว

เอาเรื่องปฏิรูปไม่เอาเลือกตั้งก็แล้ว ขัดขวางกลไกราชการก็แล้ว

หันซ้ายหันขวา เอาเรื่องความทุกข์ร้อนของชาวนานี่แหละมาจัดการก็ได้ 
จะใช้เงินจากแหล่งนี้ก็มีมือดีโผล่ขวาง หาเงินจากส่วนนี้โอนเข้าธนาคารนั้นก็โดนบีบจนติดขัด
เล่นกันอย่างประเจิดประเจ้อ ไม่ต้องแอบข้างหลังกันอีกแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวง ชาวบ้านเลยเข้าใจแล้วว่า ขบวนการเดิมๆ ไม่เคยเลิกรา


ปัญหาก็คือ จะขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจ จะหักโค่นกันเช่นไรก็ตาม ไม่เคยเกรงใจประชาชนบ้างเลย!!

รบกันอีนุงตุงนังท่ามกลางความย่อยยับที่เกิดกับชีวิตและเศรษฐกิจของชาวบ้าน แล้วลงเอยจะเอานายกฯคนกลางมาใหญ่ในบ้านเมือง

โดยไม่คิดเลยว่า แล้วระบอบประชาธิปไตย กติการัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนเลือกส.ส.เลือกพรรคที่นิยมเป็นเสียงข้างมากเพื่อมาเป็นนายกฯเล่า

จะละเมิดอำนาจของประชาชนอย่างง่ายๆ ได้หรือ!?!


วันนี้สนุกกันใหญ่ ทำนอกวิถีทางประชาธิปไตย นอกกฎหมายทุกอย่าง เพื่อจะเอาชนะกันให้ได้

นึกไหมว่า ถึงวันหนึ่งประชาชนส่วนอื่นเขาเกิดไม่ยินยอม แล้วลุกฮือขึ้นมาบ้างจะเหนื่อยกันทั้งประเทศอีกแค่ไหน

เพราะถ้าเอาวิธีนอกระบบมาโค่นล้มฝ่ายหนึ่งเสร็จ สถาปนาอำนาจของพวกตัวเอง โดยข้ามหัวประชาชนเจ้าของอำนาจไป

จะกลายเป็นแรงกดดันให้ประชาชนที่ทนนิ่งเฉยในวันนี้ จะถึงจุดทนไม่ไหวบ้าง

อย่านึกว่าเก่งคนเดียวพวกเดียว

เตือนกันมาเยอะแล้วว่า เอาชนะกันด้วยวิธีนอกกติกาเมื่อไร จะสร้างวิกฤตใหม่ไม่รู้จบ!



++

ความต่างของ 2 รัฐบาล
โดย วงค์ ตาวัน

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qZ3lORE16TVE9PQ   
. . วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.



ผลพวงจากความรุนแรง มีการใช้ปืน ระเบิด ไปจนถึงเอ็ม 79 ขณะเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า นำมาซึ่งความสูญเสียรุนแรง ตายทั้งตำรวจและชาวบ้าน

แน่นอน ไม่มีใครยอมรับว่า ตนเองเป็นฝ่ายผิด ตนเองต้องรับผิดชอบ

ผู้สูญเสียคือ ตำรวจที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง และประชาชนที่มาร่วมการชุมนุม ไปจนถึงที่มามุงดูเหตุการณ์

ผู้อยู่เบื้องหลังศึกแย่งชิงอำนาจ ไม่เคยต้องเสียเลือดเนื้ออะไรกับเขาหรอก


ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ควรจะได้ตระหนักเอาไว้ก็คือ
การปฏิบัติของรัฐบาลชุดนี้ กับการปฏิบัติของรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ เมื่อปี 2553
ต่างกันอย่างสิ้นเชิง!!

ทั้งๆ ที่มีเหตุการณ์ที่น่าจะเข้าข่าย
มีการใช้อาวุธอย่างโจ๋งครึ่มในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ก่อนวันเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่บริเวณหลักสี่ โดยกลุ่มมือปืนที่เรียกกันว่าป๊อปคอร์น ซึ่งแฝงตัวมากับม็อบไหนเห็นได้ชัดเจน
ใช้อาวุธสงคราม จนทำให้ประชาชนฝ่ายเรียกร้องเลือกตั้งถูกยิงร่วงไปหลายราย และบาดเจ็บสาหัส

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เคยนำมาเป็นข้ออ้าง ขยายความใส่สีตีไข่ เพื่อสั่งการให้ปราบผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริง
ด้วยข้ออ้างว่ามีการใช้อาวุธ มีผู้ก่อการร้าย แล้วใช้ทหารพร้อมกระสุนจริงจัดการได้
รัฐบาลนี้ ยังไม่เคยขยายเรื่องเพื่ออ้างเหตุใช้หน่วยรบเข้าสลายม็อบ!
ถึงวันนี้ยังใช้หน่วยปราบจลาจล โล่ กระบอง แก๊สน้ำตา ปืนยิงแห ปืนกระสุนยาง

ปฏิบัติการทุกครั้ง จะแจ้งสื่อมวลชนให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย



ในเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้า ภาพที่เห็นได้อย่างเปิดเผยทั่วไป เป็นหน่วยปราบจลาจลตามหลักสากลทุกประการ
แต่ในระหว่างที่เข้าประชิดกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเกิดเหตุชุลมุน เกิดเสียงปืน เสียงระเบิดขึ้น
ภาพที่สื่อถ่ายเห็นชัดเจนคือ แนวตำรวจโดนเข้าเต็มๆ ล้มกลิ้งเลือดสาดแดง

แต่ขณะเดียวกันก็น่าเศร้าสลด เมื่อผู้ชุมนุมก็ล้มตายไปด้วย

นี่เป็นอีกเหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนให้กับทุกฝ่าย

ใครที่เชื่อในหลักสงบสันติจริงๆ ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีก

รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติบนหลักสากลอย่างเคร่งครัดต่อไป!



++

คนดี-สร้างได้
โดย วงค์ ตาวัน

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qY3pPRGc0TkE9PQ
. . วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.

( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและข่าวสด )


ความจริงไม่ได้อยากจะรื้อฟื้นเพื่อจะตอกย้ำให้เป็นปมชีวิต แต่จำเป็นต้องพูดถึง "แท็กซี่สมพงษ์" ซึ่งเป็นผลงานข่าวเจาะอีกชิ้นของข่าวสดเมื่อหลายปีก่อน เป็นข่าวที่เปิดโปงเบื้องหลัง การสร้างเรื่องเพื่อให้เป็นคนดี การทำความดีที่ผ่านการวางแผนจัดการ
แล้วสังคมไทยก็แห่กันยกย่อง เชื่อกันทันทีโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ

การสร้างเรื่องให้ตัวเองเป็นแท็กซี่ฮีโร่เก็บเงินคืนฝรั่งผู้โดยสารนับสิบล้าน
นำไปสู่การรับโล่รางวัลยกย่องเชิดชูจากหลายองค์กร กลายเป็นคนดังทางรายการทีวี

ส่วนจะนำตราประทับคนดีนำไปสู่อะไรอื่นใดอีกหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ เพราะถูกจับได้ไล่ทันเสียก่อน
กรณีแท็กซี่สมพงษ์ได้ผ่านไปแล้ว ต้องติดคุกชดใช้กรรมไปแล้ว

หยิบยกมาพูดถึง ด้วยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่คนไทยจดจำได้ดี!
เอามาเน้นย้ำว่า อย่าไปโหยหาหรือยึดติดกับคำว่า คนดี เสียจนมองข้ามระบบระบอบที่ต้องมี


ไม่ต่างจากกรณีวงการแพทย์ สาธารณสุข ที่สังคมนับถือยกย่อง ออกมาบอกว่าต้องการนายกฯจากคนกลาง ปฏิเสธนายกฯปัจจุบันเพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่ดี
เพียงเท่านี้ คนจำนวนหนึ่งก็เฮตาม
ด้วยเชื่อในความเป็นหมอทันที ว่าคนระดับนี้ล้วนเป็นคนดีดูแลรักษาชีวิตมนุษย์ ถ้ามาบอกว่านายกฯนี้ไม่ดี ดังนั้น รัฐบาลนี้ต้องเลวแน่ๆ

แต่ในทางกลับกัน มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ฟังแล้วเกิดคำถามสวนกลับ!
ถามว่า ความรู้มีมากมาย สติปัญญาน่าจะบอกให้ยึดกฎระเบียบประชาธิปไตย

ทำไมไม่เคารพประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกนายกฯและรัฐบาลนี้เข้ามา

จะว่าไปแล้ว ใครจะเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว ไม่ใช่จะสรุปกันได้ง่ายๆ หรือหลงเชื่อกันได้ง่ายๆ


ดังนั้น การยึดในระบบและกฎหมาย จะเป็นบรรทัดฐานที่ไว้วางใจได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ความดีและคนดีนั้น ต้องสัมผัสหรือเรียนรู้กันในระยะเวลาพอสมควร
ไม่อาจสรุปได้ด้วยคำพูดคำจาหรือแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่

นักการเมืองใหญ่ระดับประเทศ เป็นสัญลักษณ์คนดี ซื่อสัตย์ สมถะ แต่เบื้องหลังมีคนบริหารจัดการจนเกิดภาพนั้นขึ้นมาหรือไม่

วันนี้ความจริงยิ่งกระจ่างชัด

เมื่อคนที่อยู่เบื้องหลังนั้น กดปุ่มสั่งให้กระทำ ตรงกันข้ามกับความเป็นนักประชาธิปไตยที่เชื่อในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ก็ทำตามแต่โดยดี!



++

สมุนขี้ข้า-พอกัน
โดย วงค์ ตาวัน

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qWTFNVE01TXc9PQ
. . วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.



คนในพรรคเพื่อไทย ถูกอีกพรรคป่าวประณามหยามเหยียดโดยตลอด ทั้งผ่านการให้สัมภาษณ์ และผ่านเวทีปราศรัย ทำนองว่าคนของเพื่อไทยก็แค่ลูกน้องทักษิณ พร้อมรับคำสั่งตลอดเวลาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
หรือเหยียดหยามรุนแรงกว่านั้น ว่าเป็นสมุนบ้าง เป็นขี้ข้าบ้าง

แต่มองย้อนกลับไปยังพรรคตรงข้ามพรรคเพื่อไทยดังกล่าว มองกันให้ดี
วันนี้มีคนคนหนึ่งกดปุ่มสั่ง ให้ขัดขวาง คัดค้านการเลือกตั้ง

แม้คนคนนี้ แยกตัวออกไปเดินบนท้องถนนแล้ว แต่เมื่อกดปุ่มปุ๊บก็ยอมกันหมด ระดับอาวุโส ระดับหัวหน้า ยันสมาชิกแทบทั้งหมด


จะมีก็แต่สมาชิกที่ยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยต้องพึ่งพาใครคนใดคนหนึ่งในพรรค ที่กล้าออกมาประกาศความเป็นอิสระ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ขัดกับความเป็นนักการเมืองอาชีพ

เพราะถ้าพึ่งพา วันหนึ่งเขาทวงบุญคุณ วันหนึ่งเขาถือว่ากุมความลับได้แทบทั้งหมด เขาก็สั่งได้ดุจซ้ายหันขวาหัน!



ไปกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทย ถูกทักษิณสั่งได้ทั้งหมด
แล้วถามพรรคอีกพรรคว่า สิ่งที่กระทำกันอยู่ในวันนี้ คือ ต่อต้านระบบรัฐสภา ต่อต้านการเลือกตั้ง
ก็ไม่ต่างอะไรกันกระมัง

คือถูกคนคนเดียว สั่งได้ทั้งหมด
พรรคนี้ก็มีคนกดปุ่มสั่ง เหมือนกับที่ไปกล่าวหาเพื่อไทยนั่นแหละ!!

ที่น่าตลกคือ ผู้อาวุโสที่เป็นเสมือนเครื่องหมายของพรรค
วันนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เพราะวางตัวซื่อสัตย์สมถะนั่นเอง จึงต้องมีเบื้องหลัง มีคนช่วยบริหารจัดการครอบครัว


สุดท้ายคนที่เข้ามาช่วยจัดการบริหารครอบครัว เพื่อให้ผู้อาวุโสวางตัวเป็นคนสะอาดสะอ้านต่อไปได้นั้น
เขาเป็นคนที่กุมชะตากรรมของผู้อาวุโสเอาไว้ในกำมือ!
ถึงเวลาเขาก็สั่งให้ผู้อาวุโส ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณผู้แทนฯ แห่งระบบรัฐสภาได้อย่างว่าง่ายใช้ฟัง
ไม่ลงสมัครก็ไม่ลง ให้ไปเดินถนนก็เดิน


แล้วไหนล่ะที่เรียกร้องการปฏิรูประบบพรรค การเมือง ต้องไม่ขึ้นกับนายทุนคนใดคนหนึ่ง
ประกาศจะเป็นพรรคที่มีอิสระ ใครคนใดคนหนึ่งมาสั่งไม่ได้!?

วันนี้ชัดเจนว่า มีพรรคการเมืองนี้ ถูกคนคนเดียวสั่งการกดปุ่มแน่ๆ
เป็นสมุน เป็นขี้ข้า พอกันกระมัง!



++

มือที่กดปุ่มสั่งทั้งพรรค
โดย วงค์ ตาวัน

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1qVTJORGM1TkE9PQ
. . วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.



หากมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ทักษิณสามารถกดปุ่มสั่งการได้เพียงผู้เดียวและโดยตลอดเวลา 

ครั้นมองไปยังอีกพรรคซึ่งอยู่ตรงกันข้าม

วันนี้ก็ชัดเจนว่า เป็นพรรคที่สามารถกดปุ่มได้ด้วยคน คนเดียวเหมือนกัน เดินอยู่นอกพรรคด้วยเช่นกัน

คนกดปุ่มพรรคเก่าแก่ วันนี้เดินอยู่บนท้องถนน


ระดับอาวุโสสุด เป็นสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งมีจิตวิญญาณนักการเมืองอาชีพเต็มเปี่ยม เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอย่างสูงยิ่ง
ยังต้องเชื่อฟังคนกดปุ่ม
เพราะอะไร

หรือว่า ภายใต้ความซื่อสัตย์สมถะนั้น มีผู้ที่คอยบริหารจัดการให้มายาวนาน!?!
นานเสียจนสามารถควบคุมสั่งการผู้อาวุโสสุดได้

การไม่ลงสนามผู้แทนฯ ซึ่งน่าจะฝืนจิตใจและ ตัวตนผู้อาวุโสอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องก้มหน้ายอมรับ
หรือว่า...ทั้งชีวิตเขาดูแลมาตลอด เป็นเสมือนกำทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดสิ้น!

ระดับหัวหน้าปัจจุบันก็ไม่ต่างกันหรอก
ถูกเขากุมชะตากรรมไว้หมด



สิ่งหนึ่งซึ่งพิสูจน์ได้ว่า สมาชิกพรรคเก่าแก่โดยส่วนใหญ่มีคำว่าระบบสภา มีการเลือกตั้ง อยู่ในทุกลมหายใจ แต่วันนี้แทบทั้งหมดต้องฝืนความรู้สึกของชีวิตนักการเมือง
เห็นได้จาก ยังมีบางคนไม่ยอมทำตามคนกดปุ่ม

จะมีเฉพาะคนที่มีความพร้อมในทางเศรษฐกิจ ดูแลตัวเองได้

ไม่เคยต้องให้คนคน หนึ่งคอยมาจัดการดูแล แล้วถูกเขากำชีวิตทางการเมืองเอาไว้


เฉพาะคนแบบนี้เท่านั้น ที่ประกาศความเป็นนักการเมืองอาชีพ ประกาศเสรีภาพทางความคิดและจุดยืนออกมาต่อสังคมได้

คนกดปุ่ม กุมไม่ได้ บังคับไม่ได้

สิ่งที่สมาชิกของพรรคเก่าแก่บางคน แสดงออกว่าไม่ยอมรับแนวทางขัดขวางเลือกตั้ง
สะท้อนว่า ยังมีบางคนไม่ถูกควบคุม

แต่ส่วนใหญ่ถูกกดปุ่มได้โดยคนคน เดียว

อนิจจา...พรรคเก่าแก่!



.

2557-02-20

หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ กรณี ‘นายกฯ คนกลาง’

.
บทความ2 - กฎหมาย-การเมือง โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
___________________________________________________________________________________

หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ กรณี ‘นายกฯ คนกลาง’
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392900265
. . วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 23:01:34 น.

( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ14-20 ก.พ. 2557 ปี34 ฉ.1748 หน้า10 )


เข้าท่วงทำนอง หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ จริงๆ สำหรับประเด็น "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" หรือ "นายกฯ คนนอก"

เพราะเมื่อมีคำถามนี้ขึ้นมา
คำตอบ มีหลากหลายจริงๆ

และนับวันจะแหลมคม และบีบคั้นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งขึ้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหล่าบุคคลที่มี "เครดิต" อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายวิษณุ เครืองาม นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ออกมาประสานเสียง เกี่ยวกับนายกฯ คนนอก


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อ้างเหตุ ว่ารัฐบาลรักษาการมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556

แต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญให้ลุล่วงไปได้ 
เช่นไม่สามารถจ่ายเงินในการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาได้
เกิดความขัดแย้งในนโยบายรัฐบาล การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่าง กระทรวงพลังงาน กับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน
รัฐบาลไม่จริงใจต่อการปฏิรูปประเทศไทย
การขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าได้
ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าจะฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

รัฐบาลจึงควรตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ

และเห็นว่า รัฐธรรมนูญ "มีช่องทาง" ให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้




ด้าน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี บอกว่ารัฐบาลอาจคิดว่ามีจุดแข็งคือมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
และได้เสียงจากนานาชาติเพราะยืนบนหลักประชาธิปไตย

แต่จะเป็นจุดแข็งได้นานเท่าใด ไม่ทราบ
เพราะรัฐบาลก็เผชิญจุดอ่อน 4-5 จุด

เช่น ปัญหาการชุมนุมจากกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ปัญหาจากองค์กรอิสระ
ปัญหาท่าทีฝ่ายทหาร
และปัญหาที่เกิดจากการเป็นรัฐบาลรักษาการที่เหมือนกับการเป็นง่อย ทั้งเรื่องการกู้เงินมาช่วยชาวนา การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

ฝ่ายคัดค้าน และรัฐบาล ควรต้องพบปะพูดคุยกันด้วยความอดทนอดกลั้นและยอมถอย

วันนี้ปัญหาทั้งหมดติดอยู่ที่กรอบรัฐธรรมนูญ แต่อย่ากอดรัฐธรรมนูญจนเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญอาจจะแก้ได้ หรือเลิกได้ รวมทั้งตีความผิดจากที่เคยตีความก็ได้

แม้นายวิษณุ จะไม่พูดถึง นายกฯ คนกลางตรงๆ
แต่การเน้นว่าอย่ากอดรัฐธรรมนูญจนเกินไป ก็ตีความเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากเป็นอย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอก นั่นคือ

รัฐธรรมนูญ "มีช่องทาง" ให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้




ส่วน นายอานันท์ ปันยารชุน ชี้ว่า หากปล่อยให้วิกฤตการเมืองเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

จากปัญหาการเมือง จะเปลี่ยนเป็นปัญหาเศรษฐกิจแทน

เพราะปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศไม่มีแล้ว 
ขณะที่การลงทุนในไทยเองก็ชะลอลง

เงินตราต่างประเทศที่จะเข้ามา ทั้งจากการโดยการลงทุน หรือจากการท่องเที่ยว หากปล่อยปัญหาไปอีก 3-4 เดือน รายได้ทุกตัวจะหายทั้งหมด
ประเทศไทยจะหายนะอย่างที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร บอก

ถ้า 3 เดือน ยังเถียงกันว่าเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง หรืออันนี้เป็นประชาธิปไตย หรือไม่ ออกไม่ได้ ถอยไม่ได้ ไม่มีความหมายแล้ว สิ่งที่คุยกันต่อไป คือ จะอยู่รอดอย่างไร แทน

หากรัฐบาลไม่ทำอะไร แล้วไม่ตั้งใจพักร้อน เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปถึงจุดหนึ่ง

สุดท้ายมันก็จะหายนะ



มีการมองว่าการเคลื่อนไหวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นายวิษณุ นายอานันท์

ก็คือการเคลื่อนไหวเดียวกับ นายธีรยุทธ บุญมี ที่ออกมาเสนอ "ทฤษฎีมะม่วงหล่น" ประสานการจัดตั้ง "เครือข่าย" รอรับใช้การปฏิรูปประเทศ


เป็นการเคลื่อนไหวเดียวกับ เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อันประกอบด้วย 9 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ม.สงขลานครินทร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.นเรศวร ม.รังสิต ม.บูรพา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์

รวมถึงนายกสภาวิชาชีพ 7 วิชาชีพ มีแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทยสภา ยังมีกลุ่มประชาคมสาธารณสุข

ที่ออกมาย้ำเป็นครั้งที่ 2 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก
และ เรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยอ้างว่าเพื่อความสงบสุขของประเทศ

บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นคนชั้นสูง เป็นอีลิตของสังคม
ความพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

ทำให้มองเห็น "อะไร" ที่ซ่อนแฝงอยู่ชัดเจน
โดยเฉพาะ "เครือข่าย" และ "คอนเน็กชั่น" ระดับมหึมาของผู้มีบารมีทางการเมือง

ที่ส่งสัญญาณอันเด่นชัดว่า ไม่เอารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

และพร้อมจะยืดหยุ่น และเบียดแทรกไปกับช่องว่างของรัฐธรรมนูญ เพื่อมองหา "นายกฯ คนนอก"

โดยมีเหตุผลโน้มน้าวที่ทวีความแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยวันนี้บอกว่า หากไม่เอา ประเทศจะหายนะ




อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่ใช่เพียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนในรัฐบาลเท่านั้น ที่มองว่า นี่เป็นเพียงเหตุผลที่ยกขึ้นมาขู่
เพื่อฉีก "รัฐธรรมนูญ" ทิ้ง ในนามของ "คนดี"


แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกว่า ข้อเรียกร้องของเหล่าคนชั้นสูง และคนดี เหล่านี้ ดูจะเป็นการเรียกร้อง จากฝ่าย "รัฐบาล" เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ขณะที่มีความผ่อนปรนให้กับฝ่าย กปปส. ค่อนข้างมาก

ไม่มีแรงกดดันให้ต้องถอย เหมือนอย่างเรียกร้องกับอีกฝ่าย


ทั้งที่ มีความชอบธรรม ตามกฎหมายและระบอบประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน


"สมลักษณ์ จัดกระบวนพล" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งข้อสังเกต อันแหลมคมเช่นกันว่า

การจะตั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการจากบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง และเป็นคนดี เป็นคนกลาง ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้

เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติว่า "ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ตามมาตรา 127"

ขณะนี้เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เพราะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาแล้ว จึงไม่มีผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 172 ดังกล่าว ตามมาตรา 171 วรรคสอง

ยิ่งกว่านั้น การตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง คนดี ยังไม่อาจทำได้ เพราะไม่มีบุคคลที่จะทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เพราะมาตรา 171 วรรคสาม บัญญัติว่า "ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี"

ส่วนที่มีบุคคลบางกลุ่มอ้างว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้เป็นหน้าที่ของประธานและรองประธานวุฒิสภารับสนองพระบรมราชโองการในเรื่องนี้ซึ่งทำได้ตามมาตรา 132 นั้น

ได้ตรวจดูมาตรา 132 แล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาได้เฉพาะตามมาตรา 132(1) คือ เรื่องเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเรื่องให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามเท่านั้น

นอกจากเงื่อนไขเรื่องนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะนอกจากจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ
เพราะคนดี คนกลาง ในสภาพบ้านเมืองขณะนี้คงไม่มีแล้ว

เพราะคนดี คนกลาง ของฝ่าย กปปส. ก็จะไม่ใช่คนดี คนกลาง ของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ กปปส. ข้อขัดแย้งในเรื่องสรรหาคนเพื่อทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีรักษาการ จึงคงมีต่อไป



นี่คือความเห็นต่างที่ต้องฟังเช่นกัน
แม้อาจจะถูกมองว่า กอดรัฐธรรมนูญมากเกินไป

แต่กระนั้น ถ้าเราไม่มีหลัก และพร้อมจะมีข้อ "ยกเว้น" กับระบบประชาธิปไตยโดยตลอด ด้วยการอ้างถึง ความเป็นคนดี คนเป็นกลาง 
ประเทศก็จะไม่ก้าวไปไหนเช่นกัน


ทำไมไม่มี ข้อเสนอ หรือการคิดค้น ให้แก้ไขวิกฤตโดยเดินไปตามระบอบ "ประชาธิปไตย" บ้าง

หรือเป็นอย่างที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกต ว่า
ข้อเสนอ นายกฯ คนกลาง ก็เหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร
เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้มีนายกฯ คนกลางได้ คือการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ


อีกทั้งประวัติศาสตร์การเมืองไทย สังคมต่างต่อต้านเรื่องของนายกฯ คนกลางมาโดยตลอด

เมื่อใดที่มีข้อเสนอนี้ เหตุการณ์ต่อไปก็มักจะนำไปสู่ความวุ่นวายและเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น

แม้มี นายกฯ คนกลาง ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบง่ายๆ



________________________________________________________________
อ่านบทสัมภาษณ์ เพิ่ม ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392949997
"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" แนะทางออกประเทศ เลิกพึ่ง "คนกลาง" 
. . วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 10:30:15 น.
สัมภาษณ์ โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี   ฯลฯ



+++

กฎหมาย-การเมือง
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392899117
. . วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:03:05 น.

( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 20 ก.พ.2557 )


นับวันความสูญเสียยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ตึกรามหรูหราของกรุงเทพมหานครยังอยู่ครบ
แต่ที่โดนเผามอดไหม้ไปแล้ว คือความรักความสามัคคีของคนในชาติ

ไม่รู้จะสร้างใหม่ จะฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาสู่สภาพปกติได้เมื่อไหร่


ข่าวความเสียหายทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า มีให้อ่านให้ติดตามทุกวัน

รัฐบาลซื้อข้าวชาวนาเอาไว้ พอยุบสภากลายเป็นรัฐบาลรักษาการ จะกู้เงิน หาแหล่งเงินมาจ่าย กฎหมายสั่งให้ขออนุญาต "กกต." ก่อน
ปรากฏว่าเจอปัญหาสารพัด 
จะใช้เงินของแบงก์ออมสิน ก็โดนประท้วงด้วยการแห่ไปถอนเงิน สองสามวันปาเข้าไป 7 หมื่นล้านแล้ว

เป็นการเมืองที่เล่นกันด้วยความวิบัติสูญเสียของสังคมโดยรวม


ล่าสุด ตำรวจขอคืนพื้นที่ผ่านฟ้า ระเบิด-กระสุนปลิวว่อน ตำรวจตายไป 1 บาดเจ็บจำนวนมาก ผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 4 ราย

ฟังแล้วสลดหดหู่ เพราะดูเหมือนว่ามีคนจ้องใช้ความรุนแรง พยายามให้เกิดความสูญเสียบาดเจ็บ เพื่อชง "เงื่อนไข" บางอย่างอยู่ตลอดเวลา

ความรุนแรงที่ถึงขั้นมีคนเจ็บคนตาย หากเกิดขึ้นด้วยความจงใจ เพื่อผลอะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว

ยังเอาความตาย ความสูญเสียมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง กล่าวหากล่าวร้ายกันต่อไปอีก



ต่อสภาพปัญหาอย่างนี้ อาจจะคิดได้ 2 อย่าง 2 แนว เป็นอย่างน้อย

แนวแรก คือ ข้องใจว่า ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ลาออก ม็อบจะได้เลิกชุมนุม เลิกชัตดาวน์ ความสงบจะได้กลับคืนมา
แนวสอง ตั้งคำถามต่อม็อบว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องใช้วิธีนี้ด้วยหรือ
ทั้งสองวิธีคิด ต่างมีเหตุผลของตัวเอง และได้แยกคนไทยออกจากกัน


แม้จะมี "คนกลาง" ออกมาพยายามเชื่อมโยง 2 แนวคิดนี้เข้าด้วยกัน เพื่อจะได้เป็นทางออกที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย

แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แถมยัง "วงแตก" อีกด้วย เพราะกำนันสุเทพประกาศลั่นเวทีว่าไม่เอา ไม่เจรจาด้วย



เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ยิ่งลักษณ์คงไปจบเห่แถวๆ ป.ป.ช. ตามวิธีคิดแบบที่ 1 โดยแจ้งให้นายกฯมารับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 27 ก.พ.นี้แล้ว

จากนั้นนายกฯต้องทำคำชี้แจงใน 15 วัน อาจจะบวกลบไม่กี่วัน จากนั้น ป.ป.ช.พิจารณาสำนวน แล้วลงมติชี้มูลความผิด

ถ้าเห็นว่ามีมูล นายกฯต้องหยุดทำหน้าที่ ทำเรื่องส่งให้วุฒิสภาถอดถอน และให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

คดีจะเดินไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายแบบเป๊ะๆ

แต่ "การเมือง" หลังจากนั้น จะเดินตามกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้



.

สื่อเทศชี้ คำสั่งศาลแพ่ง คล้าย‘ตุลาการรัฐฆาต’

.

สื่อเทศชี้ คำสั่งศาลแพ่ง คล้าย‘ตุลาการรัฐฆาต’
ใน http://thaienews.blogspot.com/2014/02/blog-post_9740.html
. . Posted by Maitri at Thu 2/20/2557 10:01:00 

( ที่มา Voice TV http://news.voicetv.co.th/thailand/97787.html )


นิวยอร์กไทมส์กับวอลสตรีทเจอร์นัลชี้ คำสั่งศาลแพ่งทำหมันพรก.ฉุกเฉิน ละม้าย 'รัฐประหารโดยศาล' ฝ่ายตุลาการทำเกินอำนาจ ไม่ได้เล่นบทกรรมการ แต่โดดขึ้นสังเวียนชกเอง

เมื่อวันพุธ (19 กุมภาพันธ์ 2557) ศาลแพ่งมีคำพิพากษา "คุ้มครองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยศาลแพ่งสั่งห้ามฝ่ายบริหารสลายการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล, ห้ามรื้อถอนทำลายสิ่งกีดขวางของผู้ชุมนุม, ห้ามสั่งห้ามการเข้าอาคาร, ห้ามสั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ชุมนุม และอื่นๆ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ศาลแพ่งของไทยได้จำกัดอำนาจของทางการอย่างมาก เป็นคำพิพากษาที่นักวิเคราะห์ด้านนิติศาสตร์บอกว่าเป็น "การขยับอีกก้าวไปสู่ตุลาการรัฐฆาตอย่างเต็มรูปแบบ"

ผู้สื่อข่าว Thomas Fuller รายงานในหัวข่าว "ศาลไทยห้ามสลายผู้ประท้วง" ว่า คำพิพากษานี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังเหตุปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 5 ราย รวมทั้งตำรวจนายหนึ่ง ทั้งนี้ หลังจากเกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้งตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีภาพถ่ายแพร่หลายแสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มชายติดอาวุธหนักในหมู่ผู้ชุมนุม ขบวนการประท้วงในไทยยิ่งดูเหมือนเป็นการก่อกบฏด้วยอาวุธต่อรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทอมัส ฟุลเลอร์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของแซมดิน เลิศบุศย์ แกนนำผู้ประท้วง ว่า กลุ่มชายติดอาวุธที่ "เป็นมืออาชีพมาก" กำลังช่วยผู้ประท้วง และ "ทำให้ตำรวจถอยร่น"

แต่แม้กระนั้น ศาลแพ่งของประเทศไทย บอกว่า การประท้วงดำเนินไป "โดยสงบ ปราศจากอาวุธ" และสั่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประท้วง "ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ประเทศไทยมีจารีตประเพณีมาช้านานในการโค่นล้มรัฐบาลด้วยการยึดอำนาจโดยกองทัพ หรือโดย "ตุลาการรัฐฆาต"  ซึ่งผู้นำรัฐบาลถูกปลดด้วยคำพิพากษาของศาล ดังเช่นกรณีนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของกลุ่มผู้ถืออำนาจในกรุงเทพ ต้องพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 เพราะรับค่าตอบแทนจากรายการทำกับข้าวทางทีวี


รายงานข่าวอ้างความเห็นของนายสุณัย ผาสุข แห่งกลุ่มสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเขียนข้อความทางทวิตเตอร์ ว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งทำให้พรก.ฉุกเฉิน "หมดความหมาย"


นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของผู้ประท้วง บอกว่า คำพิพากษานี้เป็นชัยชนะของฝ่ายตน รัฐบาลจะ "ไม่สามารถทำอะไรผู้ประท้วงได้"


นายวีรพัฒน์ ปริยะวงศ์ นักกฎหมายฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาเมื่อวันพุธช่วยให้ผู้ประท้วงมีข้ออ้าง "ความชอบธรรมจอมปลอมที่จะโค่นล้มรัฐบาล" และว่า ศาลแพ่งอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ว่า การประท้วงเป็นไปโดยสงบ แต่ทว่า "นับเป็นความไร้ตรรกกะทางกฎหมายที่ศาลแพ่งไม่พิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน" ซึ่งเขาหมายถึงเหตุรุนแรงเมื่อวันก่อน


นิวยอร์กไทมส์ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังถูกรูดบ่วงรัดคออย่างช้าๆ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เร่งรัดเล่นงานนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วยโครงการรับจำนำข้าว นักกฎหมายบอกว่า คดีนี้อาจนำไปสู่การตัดสิทธิ์ทางการเมืองของเธอ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังทำงานอย่างล่าช้า หรือที่นักวิจารณ์บอกว่า เป็นการขัดขวาง ที่จะจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ให้เสร็จสิ้น ตราบที่การเลือกตั้งยังไม่จบ รัฐบาลจะต้องมีสถานะรักษาการไปเรื่อยๆ โดยแทบไม่มีอำนาจใดๆเลย



"เชือกบ่วงกำลังรัดคอเธอแน่นเข้าๆ สถานการณ์ของเธอดูจะไปไม่รอด" นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว "สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับผลลัพธ์ต่อจากนี้ ถ้าฝ่ายต่างๆตกลงกันได้ ประเทศไทยก็ไปรอด แต่ถ้าไม่ได้ บ้านเมืองจะวุ่นวายหนักขึ้น"



เว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานข่าวนี้ในหน้าแรกของเพจ ด้วยหัวข่าว "ศาลไทยหนุนผู้ประท้วง" โดยบรรยายว่า ศาลไทยสั่งห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้กำลังสลายผู้ประท้วง ทำให้รัฐบาลตกเป็นเบี้ยล่างในการรับมือกับการประท้วงที่ดำเนินมาหลายเดือน

รายงานของผู้สื่อข่าว Warangkana Chomchuen และ Nopparat Chaichalermmongkol ระบุว่า นักวิเคราะห์บางรายมองว่า คำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าวได้ตีกรอบในการใช้บังคับกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งพรก.ฉุกเฉินเปิดทางแก่การใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง

แต่บางรายเห็นว่า ศาลทำเกินเขตอำนาจของตุลาการ ไม่ยอมรับอำนาจของฝ่ายบริหาร นับเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ว่า ตุลาการไทยเป็นผู้เล่นทางการเมือง แทนที่จะเป็นกรรมการตัดสิน.



.

นี่คือความขัดแย้งกลียุคขั้นสุดท้าย โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : นี่คือความขัดแย้งกลียุคขั้นสุดท้าย
ใน http://thaienews.blogspot.com/2014/02/blog-post_7904.html
. . Posted by Maitri at Thu 2/20/2557 08:08:00



นี่คือความขัดแย้งกลียุคขั้นสุดท้าย
ทุกสถาบัน ทุกองค์กรของระบอบเก่า ได้เปิดโปงตัวเองจนล่อนจ้อน เห็นทั้งแผลเป็นและแผลเน่าเฟะไปทุกขุมขน
เมื่อเผด็จการใช้ทั้งมวลชนอันธพาลเถื่อน โจร อาวุธ ทหาร ศาล ตุลาการ องค์กรจากรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
ใช้ทั้งสัญลักษณ์ธงชาติ มีด ปืน ระเบิด ไปจนถึงอำนาจอธรรมที่สวมเสื้อคลุมของ "กฎหมาย" รุมกันสกรัมและจ้วงแทงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม

นายกฯยิ่งลักษณ์และรัฐบาลนี้เหลือเวลาอีกไม่มาก ก็คงร่วงหล่นดังเช่นผลไม้เน่าที่ปลดลงจากต้นไม้
ขอให้ประชาชนเตรียมตัวให้พร้อม ในที่สุด เราจะได้ระบอบเผด็จการที่มาในรูป "รัฐบาลคนกลาง" และสภาทาสในรูป "สภาปรองดองแห่งชาติ" ตามมาด้วยการกดขี่ปราบปรามครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519


แต่พวกเผด็จการคิดผิดถนัด เขาล้มนายกฯและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เขาจัดการกับพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงทั่วประเทศได้
แต่เขาจะปกครองไม่ได้ เพราะจิตใจของประชาชนหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ "ไม่ได้เป็นของเขา" อีกต่อไปแล้ว


เมื่อเขาล้มรัฐบาลทักษิณปี 2549 "ความเสื่อม" ก็เริ่มมาเยือนเขา พอเขาล้มรัฐบาลสมัคร-สมชายปี 2551 "ความเสื่อมหนัก" ของเขาก็แพร่กระจายดุจโรคระบาด มาวันนี้ ปี 2557 พอเขาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ "ความเสื่อมสุดขีด" ของเขาก็มาถึงในที่สุด เป็นความเสื่อมของทั้งสัญลักษณ์และทุกองคาพยพของระบอบเก่า



เมื่อประชาชน "ไม่มีใจ" ให้เขาอีกแล้ว เมื่อเขาไม่สามารถ "ปกครองใจ" ของประชาชนได้อีกต่อไป เมื่อ "อำนาจทางใจ" ของเขาหมดไปแล้ว เขาก็มีทางเดียวที่จะปกครองประชาชนต่อไปได้ ก็คือ "ใช้ปืนและอำนาจทางกฎหมายกดหัวและกดขี่ประชาชน" เท่านั้น

แต่การปกครองใดที่ใช้แต่ "ปืนกับกฎหมาย" มากดขี่ประชาชน โดยปราศจาก "การปกครองด้วยใจ" แล้ว การปกครองนั้นย่อมอยู่ได้ไม่นาน ประชาชนจะต่อต้านทุกรูปแบบ ทุกวิธีการ แล้วจะคอยดูกันว่า ระบอบเก่าที่ลอกคราบใหม่นี้จะอยู่ได้สักกี่วัน!!!

..............................

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
https://th-th.facebook.com/pichitlk




++

โพสต์เพิ่มจาก https://www.facebook.com/pichitlk/posts/638776366190185
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ · 3,820 followers
. . February 20 at 12:34am ·


ศาลยุติธรรมนั้น แต่ไหนแต่ไรมา ในทุกประเทศ ต่างถือว่า เป็น "ที่มั่นสุดท้าย" ที่ประชาชนยังคงหวังพึ่งได้ เป็น "ปราการด่านสุดท้าย" ในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนด้วยสันติวิธี คือ ยึดหลักกฎหมาย ผิด ก็ว่าผิด ถูก ก็ว่าถูก ไปตามหลักนิติธรรม ให้ผู้ปกครองและประชาชนอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ประชาชนจึงยังคงยอม "ถูกปกครอง" ต่อไปโดยดี ถ้าพ้นด่านสุดท้ายนี้ไปแล้ว มันก็คือ "บ้านป่าเมืองเถื่อน"

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนว่า พวกเผด็จการไทยหมดอาวุธแล้ว เมื่อทั้งกกต. ศาลรธน. และปปช.ได้แสดงธาตุแท้เบี้องหลังออกมาอย่างโจ่งแจ้ง จนไม่มีใครเชื่อถืออีก

และการใช้ทหารเข้ายึดอำนาจอย่างเปิดเผยก็ยังไม่มีเงื่อนไข พวกเผด็จการจึงต้องทำอย่างที่เราได้เห็น ทำโดยไม่ยี่หระต่อความเกลียดชังของประชาชนและไม่แคร์ต่อสายตาเหยียดหยามจากนานาชาติ

พวกเผด็จการไม่ใช่แค่ "หน้ามืด" แต่ยัง "คิดสั้น" อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย
เพราะเมื่อประชาชนจำนวนมากหมดสิ้นแล้วซึ่งความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม เมื่อประชาชนมองว่า ตนไม่สามารถพึ่ง "ที่มั่นสุดท้าย" ไม่สามารถยึดหลักกฎหมายและสันติ เพื่อไปทัดทานอำนาจผู้ปกครองได้อีกต่อไป พวกเขาก็จะหันไปหาวิธีอื่นเพื่อต่อต้านผู้ปกครอง ซึ่งรวมทั้งวิธีที่ไม่อิงกฎหมาย ไม่สันติด้วย

ก้าวนี้ของเผด็จการไทยจึงเป็นการลากประเทศไทยและคนไทยให้ตรงเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!


......................................
. . มีต่อท้าย 356  shares




.

2557-02-18

กบฏกระฎุมพี (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อ่านตอนแรก - กบฏกระฎุมพี (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/02/n1bourgeoisie.html
......................................................................................................................................................................................

กบฏกระฎุมพี (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392649284
. . วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 08:00:03 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 17 ก.พ.2557 )


( ต่อ )

ในทางการเมือง กระฎุมพีอาจเคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว ทั้งใน 14 ตุลาและพฤษภามหาโหด แต่เผด็จการทหารที่กระฎุมพีไทยรับไม่ได้ คือเผด็จการทหารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างระบอบสฤษดิ์ หรือความพยายามจะรื้อฟื้นระบอบนั้นกลับคืนมาใหม่ของ รสช. เพราะเผด็จการแบบนั้นไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างอิสระของกระฎุมพี ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือการเมือง แต่กระฎุมพีไทยไม่รังเกียจระบอบปกครองที่อยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของทหาร ในทรรศนะของพวกเขา ระบอบนี้เท่านั้นที่จะดำรงรักษาระเบียบสังคมที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของพวกเขา เพราะเป็นระบอบที่เปิดให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพได้มาก ตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพไปบั่นรอนโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของสังคม ทุกคนมีตำแหน่งแหล่งที่ของตนเอง และตำแหน่งแหล่งที่ของกระฎุมพี ก็หาใช่ตำแหน่งแหล่งที่อันต้อยต่ำแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถเขยิบขึ้นได้อีกด้วย (หากใช้เส้นสายให้เป็นและถูก) คนอย่างทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละคือวีรบุรุษ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ของพวกเขา เพราะใช้เส้นสายเป็นและถูกจนเขยิบขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐี

กระฎุมพีไทยคือผู้ต้องการรักษาสถานะเดิม(status quo) ซึ่งทำให้เขาได้เปรียบ จึงพร้อมจะต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตและกฎกติกาใดๆ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้

ในคำว่าสถานะเดิมนี้ หมายถึงระเบียบสังคมประเภทใด สรุปให้เหลือสั้นๆ คือความลดหลั่นเป็นช่วงชั้นของสังคมนั่นเอง คนมีสถานะที่สูงต่ำโดยกำเนิด โดยการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือโดยทรัพย์สมบัติ เพราะทรัพย์สมบัติคือตัวกลางความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่กระฎุมพีรู้จักและคุ้นเคย

และด้วยเหตุดังนั้นกระฎุมพีไทยจึงมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูง(ส่วนจะจงรักภักดีหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เราต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาทและอิทธิพลสูงมากขึ้น อย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา (ไม่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงด้านวัฒนธรรม, สังคม และเศรษฐกิจด้วย) อันเป็นช่วงที่กระฎุมพีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าคนไทยที่เกิดก่อน 2500 และหลัง 2500 มีญาณทัศน์ (perception) ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างกันอย่างมาก

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระเบียบสังคมหรือสถานะเดิมที่กระฎุมพีไทยส่วนใหญ่ต้องการเหนี่ยวรั้งไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป



นับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา กระฎุมพีมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะกระฎุมพีคือลูกค้าของสื่อหลักแบบเดิม (หนังสือพิมพ์กระดาษ, ทีวีเสาอากาศ, วิทยุเสาอากาศ) กระจุกตัวในพื้นที่แคบๆ คือเมือง จึงอาจถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันแสดงพลังต่อรองทางการเมืองได้ง่ายและเร็ว เมื่อดึงความร่วมมือจากกลุ่มอื่นในเขตเมืองด้วยกันมาได้ เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม, สื่อ, นักวิชาการ และปัญญาชน ก็อาจกำหนดวิถีทางการเมืองและนโยบายสาธารณะได้เกือบเด็ดขาด

น่าสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งหรือการรณรงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองของกระฎุมพี (ก่อน 2540 สถิติผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของกรุงเทพฯ มักต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด)

การเป็นคนฉลาดจำนวนน้อยที่คอยดูแลปกครองคนโง่จำนวนมาก จึงรู้สึกเป็นภาระหน้าที่ของกระฎุมพี และเป็นความมีระเบียบของสังคมไปพร้อมกัน (นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งหลัง 6 ตุลา คิดว่าเพลโตคือผู้วางรากฐานประชาธิปไตย สะท้อนว่า "ประชาธิปไตย" ในทรรศนะของกระฎุมพีคือระบอบปกครองของคนฉลาด โดยคนฉลาด เพื่อประชาชน)



ผมควรกล่าวด้วยว่า ทัศนคติของกระฎุมพีเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับกระฎุมพีไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เคยเกิดแก่กระฎุมพีอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, ฯลฯ มาแล้ว เดอ ต๊อคเคอวิลล์ ผู้ให้อรรถาธิบายแก่ประชาธิปไตยอเมริกันที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เคยแสดงความวิตกว่า เมื่อประชาธิปไตยอเมริกันซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมวลชนมากขึ้น ข้อดีและพลังของประชาธิปไตยอเมริกันที่เขาชื่นชมก็จะเสื่อมลงไป แต่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ กระฎุมพีสามารถก้าวข้ามปรัชญา "คนไม่เท่ากัน" ไปได้ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยสนับสนุน ผมอยากพูดถึงปัจจัยเหล่านี้ในเมืองไทย

หลายคนมักนึกถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาได้ทั่วถึงจนฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นแต่ความจริงแล้วนี่คือสิ่งที่เกิดในเมืองไทยเวลานี้ซึ่งกลับทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจสืบเนื่องมาหลายปี ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวมากขึ้นแม้อย่างเสียเปรียบ แต่ก็ทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าสู่ตลาดบังคับให้เขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง เพราะนโยบายสาธารณะของรัฐกระทบชีวิตของเขา

ตรงกันข้ามกับที่เห็นในเมืองไทย ประชาธิปไตยอังกฤษและฝรั่งเศสขยายตัวไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนวงกว้างขึ้น (แม้ไม่ใช่ผ่านสิทธิเลือกตั้ง) ในขณะที่สังคมอังกฤษและฝรั่งเศสยังมีความข้นแค้น (pauperism) อยู่ดาษดื่นด้วยซ้ำ การต่อสู้เพื่อล้มเลิกกฎหมาย The Poor Law และ Corn Law ในอังกฤษนั้น แม้มีกระฎุมพีเป็นผู้นำ (เพราะกฎหมายเหล่านี้กีดกันมิให้แรงงานกลายเป็นสินค้าเต็มตัว จึงขัดขวางความก้าวหน้าของทุนนิยม) แต่ก็มีคนจนและคนข้นแค้นจำนวนมากหนุนช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา (เช่นก่อจลาจลด้วยความหิวอยู่บ่อยๆ)

เหตุใดในที่สุดแล้วกระฎุมพีอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐจึงยอมรับความเสมอภาคทางการเมืองของเพื่อนๆ โอลิเวอร์ ทวิสต์, พวก sans coulotte, และ hilly-billy ในเคนตักกี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเด็ดขาดเพียงปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน

ผมอยากให้คำตอบโดยสรุปแก่คำถามข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่สองด้าน
หนึ่งคือการลดความแปลกแยกของกระฎุมพีกับสังคมลง และอีกด้านหนึ่งคือการยอมให้ชนชั้นล่างได้เคลื่อนไหวเพื่อต่อรองทางการเมืองได้



การขยายการศึกษาคงมีส่วนสำคัญในการลดความแปลกแยกทางสังคมของกระฎุมพีลูกหลานของชนชั้นล่างได้เรียนหนังสือที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่ากันจนจำนวนไม่น้อยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับสูง กระฎุมพีและคนอื่นสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ในเมืองไทยแม้มีการขยายการศึกษาตลอดมา แต่เรามักเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เช่นผลิตแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น จึงแยกการศึกษาระหว่างลูกหลานกระฎุมพีไว้ในโรงเรียนดังเพื่อเตรียมนักบริหาร ส่วนคนอื่นเรียนในโรงเรียนทั่วไปซึ่งด้อยคุณภาพกว่ากันมาก ถูกเตรียมเพื่อเป็นแค่แรงงานฝีมือ กระฎุมพีไทยจึงยังแปลกแยกจากสังคมเหมือนเดิม

การศึกษากำหนดประสบการณ์ของกระฎุมพีให้ต้องมีวิถีชีวิตที่แปลกแยกต่อไปเพราะแทบไม่ได้สัมพันธ์กับคนต่างสถานภาพอื่นอีกนอกจากในฐานะนาย-บ่าว คำพูดของปัญญาชนกระฎุมพีคนหนึ่งที่ว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มและคนรับใช้สะท้อนประสบการณ์แห่งความแปลกแยกทางสังคมที่ชัดเจนที่สุด

นอกจากวิถีชีวิตแล้วอุดมการณ์ชีวิตในวัฒนธรรมไทยก็ไม่ส่งเสริมสำนึกความเสมอภาคมากนัก เช่นพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เน้นหลักบุญทำกรรมแต่งซึ่งทำให้ต้องยอมรับความไม่เสมอภาคของบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมมาในอดีตชาติของแต่ละคนในขณะที่หลักของพุทธศาสนาที่เน้นศักยภาพของมนุษย์ทุกคนซึ่งสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตได้เหมือนกัน ไม่เคยถูกเน้นเลยจนถึงคำสอนของท่านพุทธทาส

อาจเป็นเพราะความแปลกแยกดังกล่าวนี้ ทำให้กระฎุมพีไทยไม่เป็นปราการให้แก่สิทธิการเคลื่อนไหวต่อรองของชนชั้นล่าง รัฐทุนนิยมไทยใช้กำลังและมาตรการนอกกฎหมายนานาชนิดในการปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านที่ต่อต้านทุนในการแย่งยื้อทรัพยากร หรือทำลายทรัพยากรท้องถิ่น เกษตรกรที่เรียกร้องราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ฯลฯ ในขณะที่กระฎุมพีไทย ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างเหล่านั้น ตรงกันข้ามเสียอีก กระฎุมพีไทยอาจรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นที่มีรัฐคอยรักษาระเบียบสังคมของความไม่เท่าเทียมหรือสถานะเดิมไว้ให้อย่างเข้มแข็ง

และแล้ววันหนึ่งโลกทรรศน์และจินตนาการทางการเมืองเช่นนี้ก็เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยอีกต่อไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น โลกที่ปลอดภัยมั่นคงของกระฎุมพีกำลังสลายลงต่อหน้า จะหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยได้อย่างไร ดูจะไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากสองทาง หนึ่งคือปรับตัวเองให้เข้ากับระเบียบสังคมใหม่ที่ต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน(ซึ่งผมก็ยอมรับว่าประสบการณ์และทักษะของกระฎุมพีไทยในด้านนี้มีไม่มากนัก ทั้งๆ ที่กระฎุมพีมี "ทุน" ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสูงกว่าคู่แข่งมาก) หรือสองคือหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมนี้ทุกวิถีทาง

น่าเศร้าที่กระฎุมพีไทยเลือกหนทางที่สอง และนี่คือ ที่มาของกบฏกระฎุมพีที่เรากำลังเผชิญอยู่


.............



.