http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-03-31

สงครามความชอบธรรม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

สงครามความชอบธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1396065853
. . วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:11:21 น.
( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ28 มี.ค.-3 เม.ย.57 ปี34 ฉ.1754 หน้า 30 ) 


หลายคนพูดว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ฝ่าย "อำมาตย์" หรือพูดให้เป็นวิชาการหน่อยคือ ฝ่าย "อำนาจในระบบ" (The Establisment) ทั้งหมด พากันเปิดหน้าออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยกันอย่างไม่อาย สำนวนของผมคือพากันแก้ผ้าหมด

อันที่จริงแล้ว ดูไม่จำเป็นเลย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพยายามสถาปนาระบอบปกครองที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไว้อย่างเป็นระบบระเบียบกว่าที่ผ่านมา ก็เพียงพอที่จะถ่วงดุลประชาธิปไตยให้อยู่ในกรอบที่น่าจะเป็นที่พอใจของพวกเขาอยู่แล้ว ซ้ำยังมีกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของฝ่ายอำนาจในระบบไม่มีทางทำได้ (เช่น ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการสรรหาไม่ได้)

ทุกอย่างก็ดูจะไปได้ดีกับอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วเหล่านี้ เหตุใดจึงต้องพากันออกมาแก้ผ้าหมดเช่นนี้ ผมตอบไม่ได้ (บางคนอธิบายว่า เป็นเหตุการณ์ "ปรกติ" ในปลายรัชกาลของไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ผมก็ยังจับตรรกะของคำอธิบายนี้ไม่ได้สักที)


อย่างไรก็ตาม มีผีตองเหลือง และชีเปลือยเต็มเมือง (ขอประทานโทษชาวมราบลี ผมไม่เจตนาจะเหยียดชาติพันธุ์ แต่นึกคำไม่ออก อย่างน้อยผมคิดว่า "ผีตองเหลือง" เป็นจินตนาการของคนพื้นราบซึ่งไม่มีชาติพันธุ์นี้จริงในโลก)

พื้นฐานที่มาของอำนาจในระบบมีสองอย่าง คือกฎหมายและประเพณี เพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนจะเพียงพอสำหรับให้พวกเขาได้กำกับควบคุมสังคมไทยไปในทิศทางที่ต้องการ หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์และสถานะของพวกเขาได้ แม้กระนั้นพวกเขาก็รู้ดีว่า การยอมรับของประชาชนมีความสำคัญ เพราะการยอมรับคือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของกฎหมายและประเพณีที่ให้อำนาจแก่พวกเขา

แต่พวกเขาอาจลืมไปว่า การยอมรับนั้นไม่ได้มาจากกฎหมายและประเพณีเฉยๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือความชอบธรรม ซึ่งไม่มีใครบัญญัติให้เป็นไปตามใจชอบได้ เราลองพิจารณาความชอบธรรมที่ว่านี่สักหน่อย


โดยไม่ต้องเรียนกฎหมายเลย มนุษย์ทุกคนก็พอหยั่งได้ว่า คำสั่ง, คำพิพากษา, หรือวิธีการใด ชอบธรรมหรือไม่ จริงอยู่การหยั่งรู้ความชอบธรรมของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็พอจะมีแนวกว้างๆ ตรงกัน มิฉะนั้นก็คงเถียงกันไม่ได้ว่าคำสั่งนั้น, คำพิพากษานั้น, วิธีการนั้น เป็นธรรมหรือไม่

บางศาสนาเชื่อว่า สำนึกในความชอบธรรมนี้เป็นมโนธรรมซึ่งพระเจ้ามอบให้แก่มนุษย์ทุกคน จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่า ในทุกวัฒนธรรม มนุษย์ถูกกล่อมเกลาสั่งสอนให้ยอมรับระบบคุณค่าของสังคม ยอมรับว่าอะไรดี อะไรถูก อะไรชั่ว อะไรผิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ฉะนั้น อย่างน้อยมโนธรรมสำนึกถึงความชอบธรรมของคน ถ้าไม่ได้มาจากพระเจ้าก็ย่อมต้องมาจากวัฒนธรรมอยู่ดี

วัฒนธรรมไทยก็วางรากฐานมโนธรรมสำนึกด้านความชอบธรรมไม่ต่างจากวัฒนธรรมอื่น และนี่เป็นความแข็งแกร่งและน่าชื่นชมสำหรับวัฒนธรรมไทยซึ่งนักปราชญ์และปัญญาชนไม่ค่อยพูดถึง

แต่เพราะมโนธรรมสำนึกความชอบธรรมมาจากวัฒนธรรม มันจึงไม่หยุดนิ่งกับที่ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นที่เคยยอมรับสถานภาพสูงต่ำของคน และยอมรับอภิสิทธิ์และสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็เริ่มยอมรับได้น้อยลง มองเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างน้อยก็ด้านอำนาจทางการเมืองเป็นความไม่ชอบธรรมไปแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กฎหมายยับยั้งไว้ไม่ได้ ตรงกันข้ามเสียซ้ำ กฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์ต่อไปได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึกความชอบธรรมที่เปลี่ยนไป

ในแง่นี้แหละ ที่ผมเห็นว่าความชอบธรรมอยู่เหนือกฎหมายเสียอีก อย่าพูดถึงการตีความของเนติบริกรที่อ่านกฎหมายเพื่อเอาใจอำนาจเลย นั่นยิ่งหาความชอบธรรมใดๆ ไม่ได้เลย


การแก้ผ้ากันถ้วนหน้าของอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วในวิกฤตการเมืองครั้งนี้ คือการละทิ้งทั้งกฎหมายและละทิ้งทั้งความชอบธรรม ไม่ว่าในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด, การระงับโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การปฏิเสธไม่รับพิจารณาคำร้องว่า กปปส. ฝ่าฝืนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ, การห้ามมิให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายในการจับกุมและดำเนินคดีผู้นำ กปปส., การกีดกันการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง, การตั้งบังเกอร์ทั่วกรุงเทพฯ ของกองทัพบก โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้รับผิดชอบทางการเมือง, การไม่ออกหมายจับให้แก่ผู้กระทำความผิด "ซึ่งหน้า" จำนวนมาก, ฯลฯ

องค์กรและสถาบันของอำนาจในระบบตามรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมาทำงานกันอย่างสุดตัว โดยไม่ต้องเคารพทั้งกฎหมายและความชอบธรรม สอดรับกับการเคลื่อนไหวของ "ผู้ใหญ่" ของอำนาจในระบบ ที่เสนอนายกฯ คนกลางบ้าง เว้นวรรคทางการเมืองบ้าง ฯลฯ แม้แต่คนที่อำนาจในระบบไม่ยอมรับให้เป็น "ผู้ใหญ่" ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

การยอมสละละทิ้งความชอบธรรมของกลไกตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ จะเป็นภาระอันหนักแม้แต่แก่อำนาจในระบบในอนาคต รัฐบาลคนกลางซึ่งถึงอย่างไรก็จะมีอำนาจจำกัด (เพราะส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของสังคมไทยย่อมไม่อาจยอมรับได้) ย่อมไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้งขององค์กรอิสระเหล่านี้ไว้ได้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนบุคคลในองค์กรเหล่านี้ ด้วยความหวังว่าจะเพิ่มความชอบธรรมแก่ตนเองขึ้นมาบ้าง

อย่าว่าแต่บุคคลและองค์กรอิสระเลย แม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งคงถูกระงับใช้ไปหลายมาตราพอสมควร) ยังจะรักษาไว้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ระบบตุลาการซึ่งการอภิวัฒน์ใน พ.ศ.2475 ไม่ได้แตะเข้าไปถึง ก็อาจจำเป็นต้องถูกปฏิรูปในระดับหนึ่ง หรือถูกปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะจะต้องถูกตรวจสอบอย่างมีนัยยะสำคัญจากคนภายนอก ที่เชื่อมโยงกับประชาชนบ้าง หากความพยายามจะตั้งรัฐบาลคนกลางไม่ประสบความสำเร็จ

และหากความพยายามนี้ล้มเหลว ไม่เพียงแต่ระบบตุลาการเท่านั้นที่จะถูกปฏิรูปขนานใหญ่ ผมสงสัยว่าจะถึงเวลาที่ the establishment หรืออำนาจในระบบทั้งยวง จะถูกปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ตามไปด้วย เพราะบัดนี้มองเห็นชัดเจนแล้วว่า ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น แท้จริงแล้วมาจากองค์กรและสถาบันทั้งหมดของอำนาจในระบบนี่เอง หากเราจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาเพื่อไปให้ถึงสังคมประชาธิปไตย อย่างไรเสียก็ต้องเข้ามาจัดการกับอำนาจในระบบเหล่านี้ให้ได้

ที่หนังสือพิมพ์ฝรั่งบางฉบับให้ความเห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ อาจเป็นโอกาสทางบวก คือทำให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลับมาลงเลือกตั้งใหม่และการเมืองไทยเดินต่อไปได้ ผมคิดว่าเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป พรรค ปชป. นั้นกระจอกเกินกว่าจะเป็นอุปสรรคของการเมืองแบบประชาธิปไตยในเมืองไทยได้ ปชป. ยอมตัวเป็นเครื่องมือของอำนาจในระบบ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่ตนเอง ในสนามที่ไม่ต้องมีการแข่งขันอย่างยุติธรรมต่างหาก

โอกาสทางบวกของคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากจะมีจริง ก็คือการละเมิดความชอบธรรมอย่างอุจาดในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเป็นครั้งแรกที่จะรื้อโครงสร้างของอำนาจในระบบลงทั้งหมดต่างหาก



คราวนี้ หันกลับมาดูว่า ฝ่ายประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจะต่อสู้กับอำนาจในระบบ ซึ่งได้ละทิ้งความชอบธรรมไปจนสิ้นเชิงนี้อย่างไร

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ เรากำลังเข้าสงครามความชอบธรรม ไม่ใช่สงครามปะทะกันด้วยกำลัง ฉะนั้น การต่อสู้ต้องทำบนฐานของความชอบธรรมอย่างเคร่งครัด แฉโพยความไม่ชอบธรรมของอำนาจที่สถาปนาไว้แล้วในทุกวิถีทาง รวมทั้งการล่อให้พวกเขาทำสิ่งที่ไร้ความชอบธรรมอย่างเห็นๆ มากขึ้น ไม่ใช่เห็นเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น แม้แต่คนต่างประเทศก็ได้เห็นความไม่ชอบธรรมไปพร้อมกันด้วย

ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ควรยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต. และ กปปส. บังคับให้พวกเขาต้องให้คำพิพากษาที่ใครๆ ทั้งในและต่างประเทศก็เห็นว่าไม่ชอบธรรม (เพราะการลงทุนทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่สามารถให้คำพิพากษาที่ชอบธรรมได้)

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตราบเท่าที่ยังปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลอยู่ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต. ในขณะเดียวกันก็ผลักดันการฟ้องร้องคดีอาญากลุ่ม กปปส. อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้หน้าที่การฟ้องร้องเอาผิดกับ กปปส. กลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล (อย่างที่ คุณฉลาด วรฉัตร พูด) ซึ่งแม้แต่รัฐบาลใหม่ที่มาจากอำนาจในระบบ จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ยากที่สุด

ถ้ารัฐบาลคนกลางคิดว่าแน่มาก ก็ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเลย ยิ่งจะทำให้ใครๆ เห็นต้นสายปลายเหตุและความไม่ชอบธรรมยิ่งขึ้น


เรื่องเล็กๆ เช่น สวมเสื้อสีบางสี หรือจุดเทียนประท้วง หรือโพกศีรษะด้วยข้อความประท้วง ฯลฯ ถูกจับกุม หรือถูกอันธพาลซ้อม ก็ยิ่งแฉโพยความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น เพราะการสวมเสื้อ, จุดเทียน, ประดับศีรษะ เป็นกิจกรรมปรกติในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป กลับถูกห้ามหรือถูกกำกับควบคุม อำนาจที่ใช้ในการห้ามหรือกำกับควบคุมก็จะกลายเป็นอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น

สงครามกลางเมืองจะเกิดหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับเรา แต่สงครามความชอบธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่สงครามที่แบ่งแยกประเทศตามภูมิภาค แต่เป็นสงครามที่แบ่งแยกระหว่างความชอบธรรมและความไม่ชอบธรรม จะมีคนอีกมากในทุกภาคของประเทศที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเรา คือฝ่ายความชอบธรรม

แล้วเราจะชนะ



.

2557-03-30

‘พิลึกกึกกือ’ข้อสังเกตเรื่องการเลือกตั้ง สว.ประเทศไทย โดย ดวงจำปา

.

‘พิลึกกึกกือ’ข้อสังเกตเรื่องการเลือกตั้ง สว.ประเทศไทย
โดย Doungchampa Spencer

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/03/52512
. . Sat, 2014-03-29 23:52

( ที่มา: https://www.facebook.com/doungchampa/posts/598398640257039 )


สิ่งที่แปลกใจกับดิฉันมากๆ เกี่ยวกับ การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคมนี้ (ตัวดิฉันอาจจะไม่เข้าใจหลักการ เพราะไม่เคยประสบกับระบบที่ "พิลึกกึกกือ"ขนาดนี้) ก็เลยขอเขียนแบบเปิดใจหน่อยนะคะ:


1. ทางการใช้คำว่า "การเลือกตั้ง" แต่กลับห้ามทำการ "หาเสียง" เพื่อประกาศให้ผู้คนที่จะออกไป "เลือกตั้ง" ได้ทราบกันว่า "ผู้สมัคร" แต่ละคน มีนโยบายอย่างไร ซึ่งทำให้ประชาชนอย่างเราๆ และท่านๆ ไม่รู้จักบุคคลชื่อเสียงเรียงนามเหล่านี้ว่า เป็นใคร มาจากไหน มีคุณสมบัติอย่างไร เพราะไม่เคยมีการขึ้นเวทีปราศรัยหรือตอบคำถามจากประชาชน ด้วยการแนะนำตนเองให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบเกี่ยวกับประวัติพื้นเพหรือสิ่งที่ตนเองต้องกระทำ เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว


2. การที่ สมาชิกวุฒิสภา ไม่สามารถจะสังกัดพรรคการเมืองได้นั้น ดิฉันสงสัยเหมือนกันว่า เวลาพวกนี้เขาไปโหวดในการเลือกตั้งใหญ่ (อย่างเช่นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์) เขาหรือเธอก็ต้องเลือกพรรคที่ตนชื่นชอบ แต่ตัวผู้สมัครเองกลับสังกัดพรรคการเมืองไม่ได้อย่างนั้นหรือ? (จะมาอ้างว่า คนที่สมัครพวกนี้ โหวต "โน" เพื่อแสดงความ "เป็นกลาง" ในทางการเมือง มันก็กระไรอยู่นะคะ)


3. ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถประกาศอย่างเปิดเผยได้ว่า จะทำงาน "ร่วมกัน" อย่างไรกับพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร มันก็ทำให้ประชาชนรู้สึกแปลกๆ เพราะ หน้าที่หลักของสมาชิกวุฒิสภา ก็เป็นเรื่องการปรึกษาและออกกฎหมาย ซึ่งต้องประสานงานกับทางสภาผู้แทนราษฎรแทบทั้งสิ้น เมื่อไม่สามารถป่าวประกาศว่า จะทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้กับรัฐบาลได้อย่างไร มันไม่มีความ "เข้าท่า" เลยในเรื่องนี้
ขนาดตัวผู้สมัคร ก็ยังไม่สามารถประกาศนโยบายได้ว่า ถ้าตนเองได้รับเลือกเข้าไปแล้ว จะทำอะไรในสภาบ้าง พูดง่ายๆ คือ ไม่สามารถทำสัญญาประชาคมได้เลย แต่เมื่อได้รับเลือกเข้าไป ก็กินเงินภาษีจากประชาชนเป็นเงินเดือนค่าตอบแทนอยู่ดี

แต่มันแปลกหรือไม่ ที่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจาก "การแต่งตั้ง" นั้น กลับป่าวประกาศนโยบายอย่างชัดเจน (จากการให้สัมภาษณ์หรือออกข่าวแบบ 40 สว ในอดีต) ว่า เป็นปรปักษ์กับฝ่ายประชาธิปไตย เพราะพวกนี้ จะทำการค้านมันแทบทุกเรื่องเช่นกัน


4. พรรคการเมืองที่ประกาศบอยคอทท์การเลือกตั้งใหญ่ กลับเห็นเรื่อง "การเลือกตั้ง" อย่างนี้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีการประกาศทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มันก็เป็น "การเลือกตั้ง" ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการ "กาบัตร" อย่างนี้มันต่างกับการเลือกตั้งใหญ่ตรงไหนหรืออย่างไร? จะต้อง "ปฎิรูป" การเลือกตั้งก่อนอย่างนั้นหรือเปล่า?


5. ระบบการเลือกตั้ง สว แบบนี้ เป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะ เหมือนกับว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ไม่มี "ความมั่นใจ" แต่อย่างใด เมื่อตอนที่จะลงคะแนนเสียงให้กับบุคคลๆ ใดคนหนึ่ง

ข้อมูลที่บุคคลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้รับ ก็มาจาก "การฟอร์เวิร์ด" ข้อความหรือ จากอีเมล์ หรือ จากภาพที่แชร์กันบนหน้า Facebook ซึ่งสร้างด้วย "ความเชื่อ" จากคนอื่นๆ (ไม่ใช่จากการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเอง) พูดง่ายๆ ก็คือ ท่านไม่ได้ตัดสินใจเลือก สว คนนี้ด้วยตัวท่านเอง ส่วนใหญ่มาจาก "ความเชื่อ" จากอีเมล์หรือการโพสต์หน้า Facebook แทบทั้งสิ้น ใช่ไหมคะ?

เรื่องนี้มันกลับกลายเป็นวิธีการที่กระทำตาม "คำบอกเล่า" หรือ "ข่าวลือ" เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลผู้สมัครเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น เหตุผลที่จูงใจให้เรา "กา" คะแนนให้นั้น เป็นเรื่องของ "ความเชื่อ" จาก "ตัวหนังสือ" แทนที่จะเหมือนกับ ผู้แทนราษฎรที่เรา "มั่นใจ" ว่า เรา "กา" ให้กับคนที่เราชื่นชอบจริงๆ


เราถึงเห็น การ "ถามคำถาม" ตามหน้าเว็บกันให้วุ่นว่า "จะเลือกใครดี" หรือ "ใครเป็นผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย" กันบ้าง? งงไหมคะ กับ ตรรกะแบบนี้?



สรุปแล้วก็คือ การ "กา" ให้กับ ผู้สมัคร สว คนใดคนหนึ่งนั้น ทำไมต้องถามกับตนเองด้วยว่า เรา "กา" ถูกคนหรือเปล่า? นี่คือ สิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในการ "เลือกตั้ง" ที่ไม่มีการออกหาเสียง สังกัดพรรคการเมืองก็ไม่ได้ และประชาชนก็๋เลยไม่ทราบว่า เขาจะทำงานร่วมกันกับอีกสภาหนึ่งได้อย่างไร

น่าจะส่ง บทบาทของการ "เลือกตั้ง" แบบนี้ ไปให้กับ Ripley's Believe it or not เพื่อตีพิมพ์เรื่องที่ ประหลาดๆ ที่สุดในโลกกัน...



2557-03-25

หัวร่อมิได้ .. อินโดฯ เดินหน้า 14 ล้านล้าน

.

หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก! ประเทศไทยคว่ำ 2 ล้านล้าน อินโดฯ เดินหน้า 14 ล้านล้าน
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395748788
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:55:28 น.



ประเทศไทยคว่ำ 2 ล้านล้าน
อินโดนีเซีย เดินหน้า 14 ล้านล้าน

หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือที่เรียกกันติดปากว่า "พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน" ต้องพับไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่า ร่างกฎหมาย ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ

แต่ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน กลับเตรียมที่จะลงทุนด้านโครงการสร้างพื้นฐาน วงเงิน 4.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 14 ล้านล้านบาท


ล่าสุด  มติชนออนไลน์  เปิด พิมพ์เขียว   การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของอินโดนีเซีย มูลค่า 14 ล้านล้าน  วิสัยทัศน์เพื่อต้องการก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก

ประเทศอินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา แต่เศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก จึงได้รับสมญานามว่า “ยักษ์หลับของเอเชีย”

ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความเชื่อมโยงที่เข้มแข็งกับจีน และสถานะการประเทศผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อินโดนีเซียถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการพัฒนาใน 20 ปีข้างหน้าที่เรียกว่า MINT ประกอบด้วย เม็กซิโก อินโดนิเซีย ไนจีเรีย และตุรกี ทั้งนี้ การไปสู่ศักยภาพดังกล่าวได้จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เป็นอันมาก



กรุงจาการ์ตาของประเทศอินโดนีเซียเป็นเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายโดยมีทั้งรีสอร์ทริมชายหาดอันหรูหราและย่านพักอาศัยที่ยากจนการเดินทางในจาการ์ตาเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกเนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัดตลอดทั้งวัน มลพิษทางอากาศและสภาพอากาศที่ร้อน ตลอดจนอันตรายในการเดินข้ามถนน จาการ์ตามีประชากร 26 ล้านคน และมีการเติบโตของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว แต่ยังขาดระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ แม้ว่ามีโครงข่ายรถไฟชานเมืองที่กว้างขวาง แต่การเชื่อมต่อระบบและการเข้าถึงยังขาดประสิทธิภาพ รถโดยสารประจำทางบางเส้นทางมีช่องทางพิเศษแต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาจราจร ประชาชนจำนวนมากจึงต้องเดินทางด้วยความยากลำบากหากไม่มีรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคล

สถานการณ์การขนส่งในกรุงจาการ์ตาได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่เหลือของเกาะชวาซึ่งมีประชากรกว่า135 ล้านคน และมีผลผลิตทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 60 ของประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างมาก เมืองใหญ่อื่นๆ ได้แก่ บันดุง เซมารัง และสุราบายา ล้วนประสบกับปัญหาการจราจรติดขัด ในขณะที่โครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองยังมีข้อจำกัด โดยยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว มีขบวนรถและระบบอาณัติสัญญาณที่ล้าสมัย มีเพียงถนนหลัก 2 สายที่เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญของเกาะชวา การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงเป็นร้อยละ 17 และส่งผลต่อราคาสินค้าภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีต้นทุนโลจิสติกส์เพียงร้อยละ 10

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 6-6.5 แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 7-9 หากโครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อปี 2538-2539 รัฐบาลได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประมาณร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) แต่หลังจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเอเชียในช่วงตั้งแต่ปี 2540 ทำให้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลดลง โดยเหลือเพียงร้อยละ 2.1 ในปี 2554

ในปี 2555 การลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการริเริ่มแผนพัฒนาประเทศระยะกลาง พ.ศ. 2553-2557 (National Medium-Term Development Plan 2010-2014) วงเงิน 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาตามแผนแม่บทการเร่งรัดและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย (Masterplan for the Acceleration and Expansion of Indonesia’s Economic Development) วงเงิน 468,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GDP เป็น 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 และอินโดนีเซียจะต้องติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก

ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวมีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จำนวน 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.32 ล้านล้านบาท) ซึ่งได้รวมโครงการพัฒนารถไฟในเกาะต่างๆ ภายในระยะเวลา 11ปี รวม 49 โครงการ วงเงิน 47,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท) ไว้ด้วย


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซีย (Dr.Bambang Susantono) กล่าวว่า ในปี 2557 งบประมาณสำหรับรถไฟจะมีจำนวนสูงที่สุดในกระทรวงคมนาคม เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาเป็นระบบราง ที่ผ่านมานโยบายการขนส่งมุ่งเน้นการพัฒนาทางถนนส่งผลให้ปัจจุบันต้องประสบปัญหาจราจรติดขัดบนทางหลวงสายหลักของอินโดนีเซียแนวทางนี้จะเป็นการแก้ปัญหาทั้งการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าวิสัยทัศน์ของอินโดนีเซีย คือ การมีโครงข่ายรถไฟเพื่อเป็นเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

ขั้นตอนหลักในบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวเริ่มต้นจากการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ช่วงกรุงจาการ์ตา-สุราบายาระยะทาง 727 กิโลเมตร (ในเดือนมีนาคม 2557) รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ ระยะทาง 465.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระหว่าง 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะชวาได้มากกว่าร้อยละ 300 โดยปัจจุบันการขนส่งทางถนนระหว่างกรุงจาการ์ตากับสุราบายา มีปริมาณ 2 ล้าน TEU ต่อปี อินโดนีเซียจึงต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ระบบราง โดยมีเป้าหมาย 1 ล้าน TEU ต่อปี

ปัจจุบันรถไฟอินโดนีเซียมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพียง 200,000 TEU ต่อปี ในเดือนธันวาคม 2556 การรถไฟของอินโดนีเซีย (Indonesian Railway Directorate) ได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเปกาลองกัน-เซมารัง แล้วเสร็จ และคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟจาก ร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 15 ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในปี 2573 การดึงดูดให้มีการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นจะเกิดจากการเชื่อมต่อโครงข่ายเข้าท่าเรือในกรุงจาการ์ตา ซีเรบอน เซมารัง และสุราบายา

โครงการรถไฟเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่บรรจุในแผนแม่บทฯ การลงทุนดังกล่าวรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้หวังผลตอบแทนทางการเงิน ในการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟ นอกจากทางรถไฟ จะมีการปรับปรุงให้เป็นระบบรถไฟไฟฟ้าและปรับปรุงสถานี ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียระบุว่า โครงการรถไฟมีความสำคัญในทุกพื้นที่แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณจราจรไม่มากนัก เนื่องจากรัฐจำเป็นต้องเชื่อมโยงพื้นที่ดังกล่าวกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเจริญมากกว่า

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอินโดนีเซียจะดำเนินการโดยภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจแต่ก็มีการเปิดให้รัฐบาลท้องถิ่นร่วมลงทุนกับรัฐบาลกลางภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการหรือให้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐพัฒนาขึ้น ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียใช้ความระมัดระวังมากในการค้ำประกันเงินกู้สำหรับการดำเนินโครงการ การที่ภาครัฐไม่พิจารณาบริหารความเสี่ยงเป็นรายโครงการและการไม่ให้ความคุ้มครองหรือให้การสนับสนุนในทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาลประเทศอื่นทำให้นักลงทุนภาคเอกชนปฏิเสธหรือชะลอการลงทุนออกไปดังนั้น ในการพัฒนาตามแผนแม่บทฯ




นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ริเริ่มการส่งเสริมเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟ 3 วิธีการ ดังนี้

1. การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบสัมปทาน เป็นรูปแบบที่ภาครัฐจัดให้มีทางรถไฟและเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาให้บริการเดินรถ โดยมีการให้สัมปทานการให้บริการขนส่งมวลชนซึ่งมีเงื่อนไขในการแข่งขันว่าผู้เสนอราคาที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยที่สุดจะได้รับการคัดเลือกในรูปแบบนี้ภาครัฐจะให้การสนับสนุนทางการเงิน 2 ประเภท คือ

  1.1 กระทรวงการคลังให้การสนับสนุนผ่านกองทุน Viability Gap Fund (VGF) โดยจะนำเงินในกองทุนมาชดเชยส่วนที่เอกชนต้องขาดทุนจากการควบคุมราคาค่าโดยสาร ทำให้การดำเนินการไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์
  1.2 รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ผ่านกองทุนค้ำประกันโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซีย (Indonesia Infrastructure Guarantee Fund) สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนภาคเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศ

2. การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) หรือเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone: FTZ) ซึ่งมีการจูงใจทางทางภาษีสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนในพื้นที่ที่กำหนด โดยมีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่ผ่อนปรนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และการให้ความสะดวกเป็นกรณีพิเศษในการออกใบอนุญาตต่างๆ ผ่านหน่วยงานบริหาร SEZ/FTZ

3. การออกใบอนุญาตสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ
 บริษัทเอกชนจะได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้งบประมาณของตัวเองโดยต้องดำเนินการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและด้านความมั่นคงที่รัฐกำหนดวิธีนี้จะดึงดูดบริษัทที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าปริมาณมากระหว่างแหล่งผลิตและแหล่งบริโภค เช่น ในกิจการเหมืองแร่

การดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ จะเน้นการลงทุนซึ่งจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น มีการระบุว่าร้อยละ 85 ของผลผลิตของโครงการก่อสร้างต้องใช้วัสดุภายในประเทศ (Local Content) หรือร้อยละ 90 ต้องจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทเอกชนภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในบางโครงการก็ได้เปิดให้ใช้ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศด้วย




แม้ว่าในปี 2557 นี้ อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียจะสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯอย่างต่อเนื่องโดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซียทุกคนมั่นใจในการดำเนินโครงการพัฒนาด้านรถไฟตามแผนแม่บทฯ และที่สำคัญการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ทุกคนรู้ดีว่าในปัจจุบันการขนส่งทางถนนสร้างภาระให้ประเทศมากและจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ระบบรางหรือการขนส่งชายฝั่งให้มากยิ่งขึ้นรัฐบาลใหม่จะมองว่าการลงทุนเป็นโอกาสซึ่งไม่ใช่เฉพาะของรัฐบาลเอง แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องการให้เกิดขึ้น

ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง(สนข.)



.

ตลาด โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ตลาด
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/03/52424
. . Mon, 2014-03-24 17:44

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ21-27 มี.ค.57 ปี34 ฉ.1753 หน้า 32)


ชาวบ้านที่รณรงค์รักษาป่าชุมชนมักพูดว่า ป่าของเขาคือตู้เย็นของชุมชน จะทำอาหารก็เข้าป่าเก็บวัตถุดิบมาปรุงอาหารได้ทุกเมื่อ

คนที่ใช้ตู้เย็นจริงๆ อย่างผมฟังแล้วรู้สึกดีจัง เพราะรู้ว่าของที่อยู่ในตู้เย็นนั้น ไม่ได้งอกขึ้นมาเอง ต้องเอาเงินไปซื้อหามาจากตลาดทั้งนั้น

ชาวบ้านกำลังพูดถึงการบริโภคนอกตลาด ซึ่งเป็นแบบแผนการบริโภคของคนทั้งโลกตลอดมา จนเมื่อสองสามร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง


การบริโภคนอกตลาด หมายถึงการผลิตและกระจายสินค้าที่จำเป็นแก่การบริโภคด้วยตนเอง ในครอบครัวหรือในชุมชนหรือในเผ่า อาจตั้งใจผลิตเกินกว่าที่จะบริโภคได้หมด เพื่อไปแลกกับสิ่งอื่นที่จำเป็นบ้าง เช่นผลิตเกินเพื่อเอาไปถวายนายแลกกับสิทธิการใช้ที่ดิน ชุมชนเลี้ยงสัตว์ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เกิน เพื่อไปแลกอาหารที่มาจากพืชกับชุมชนอื่นหรือเผ่าอื่น

ขอให้สังเกตอะไรสองสามอย่างในการผลิตแบบนี้ด้วยนะครับว่า ประการแรก การบริโภคเกินจำเป็นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิต แต่ละคนก็มีเวลาพอๆ กัน จะเหนื่อยเพื่อบริโภคให้เกินหน้าคนอื่นไปทำไม

ก็มีเหมือนกันครับ คนที่บริโภคได้มากกว่าคนอื่น นั่นคือคนที่บริโภคได้โดยไม่ต้องผลิต ได้แก่มูลนายซึ่งได้สินค้ามาจากการเก็บส่วยจากไพร่ นักรบของนายเช่นอัศวินในยุโรปหรือซามูไรในญี่ปุ่น อาจไม่ได้ผลิตอะไรเลย วันๆ ได้แต่แลกดอกไม้กับผ้าเช็ดหน้าของผู้หญิงสวยไปเรื่อยๆ พวกนี้ก็ได้บริโภคส่วนแบ่งของนายโดยไม่ต้องผลิตเหมือนกัน

แต่จำนวนของคนที่บริโภคได้โดยไม่ผลิตในทุกสังคมโบราณ มีจำกัด เพราะมีมากเกินไป ไพร่ก็จะหนีนายเข้าป่าหมด เพราะเหนื่อยเกินกว่าจะเลี้ยงดู “ชนชั้นเวลาว่าง” ได้ไหว รัฐโบราณเกณฑ์ทัพขนาดใหญ่ได้เป็นครั้งคราว แต่มีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังจะหาสินค้ามาบริโภคโดยคนจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำการผลิต


ดังนั้น เวลาเราแสดงความชื่นชมยินดีกับชัยชนะอันรุ่งโรจน์ของกษัตริย์โบราณแต่ละครั้งนั้น ก็ควรคิดถึงความอดอยากแสนสาหัสของผู้คนจำนวนมาก ที่ขาดกำลังการผลิตไปปีสองปี กว่าจะกลับมาผลิตจนมีอาหารบริบูรณ์ได้ใหม่หลังสงคราม ก็ต้องกินเวลาหลายเดือน หรือบางครั้งหลายปี


ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผลิต-บริโภค-กระจายสินค้าของโลกโบราณนั้น แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อแยกไม่ได้ ก็ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนเป็นคนละด้านกันนั้น แยกจากกันไม่ได้ไปด้วย กิจกรรมทางวัฒนธรรมและสังคมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเดียวกัน เข้าร่วมงานบุญผะเหวด ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสังคม อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการผลิตและบริโภค

ที่เรามองเห็นวิชาความรู้ก็ตาม แม้แต่ชีวิตก็ตาม สามารถแยกออกได้เป็นส่วนๆ โดยไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ล้วนเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ทั้งนั้น

ดังนั้น แบบแผนการบริโภคของคนโบราณทั้งโลก จึงแตกต่างจากการบริโภคในสมัยปัจจุบันอย่างมาก กล่าวโดยสรุปก็คือพวกเขาบริโภคนอกตลาด ในขณะที่พวกเราบริโภคในตลาด


บริโภคในตลาด หมายถึง แยกการผลิตและการกระจายสินค้าออกไปจากการบริโภค คนไม่ได้กินหรือใช้สิ่งที่เขาผลิต ไม่ได้รับสินค้ามาบริโภคผ่านการกระจายในครอบครัว, ชุมชน, หรือเผ่า ดังนั้น เครือข่ายความปลอดภัยในการบริโภคจึงไม่มี หากไม่มีเงินเสียอย่างเดียว ก็ไม่สามารถบริโภคได้หรือเพียงพอ

โลกเผชิญความอดอยากอย่างกว้างขวางกว่ายุคสมัยใดๆ เมื่อทุกคนต้องบริโภคในตลาด มีคนขาดปัจจัยจำนวนมากที่ถูกกีดกันออกไปจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า หรือตลาดบริการ เช่น โรงเรียน, โรงพยาบาล ตลอดไปจนถึงบริการจากรัฐซึ่งหลายครั้งก็จัดการกระจายกันใน “ระบบ” ตลาด

เมื่อขาดปัจจัยที่จะบริโภค โอกาสการพัฒนาก็หายไปด้วย เช่นไม่มีเงินเรียนหนังสือ (ในโรงเรียนดีๆ) ก็ทำให้ไม่สามารถก้าวไปหาเงินค่าตอบแทนงานของตนในอัตราสูงได้ จึงเป็นผู้ขาดปัจจัยการบริโภคไปตลอดชีวิต หรือตลอดโคตร คือมีผลไปถึงลูกหลานด้วย

ตรงกันข้ามกับไม่มีปัจจัยเพื่อบริโภค คือมีปัจจัยล้นเกิน คนกลุ่มนี้ก็จะบริโภคมากเกินความจำเป็น เพราะการบริโภคในตลาดทำให้แบบแผนการบริโภคกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผู้บริโภค เช่น บอกสถานภาพทางสังคม, บอกรสนิยม, บอกระดับการศึกษา, บอกสถานภาพทางเศรษฐกิจ และแน่นอน บอกสถานภาพทางการเมือง (หรือในความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคม) สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเสียยิ่งกว่าตัวสินค้า จนนักปราชญ์บอกว่า เรากำลังบริโภคสัญญะ ไม่ใช่บริโภคสินค้า ซึ่งทำให้เราบริโภคอย่างไรก็ไม่อิ่มสักที

บริโภคนิยมเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราบริโภคในตลาด เพราะการบริโภคไม่สัมพันธ์กับการผลิตของแต่ละคน จึงมีคนที่มีปัจจัยสำหรับบริโภคเกินกำลังการผลิตของตนไปมากมาย




ตลาดมาจากไหน?

สถานที่หรือช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการคงมีมาแต่บรมสมกัลป์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคในตลาด ถึงมีสินค้าบางตัวที่จะบริโภคได้ก็ต้องไปแลกเปลี่ยนเอามาจากตลาดบ้าง เช่น คนยุโรปจะได้กินน้ำตาลอ้อยหรือเครื่องเทศ ก็ต้องไปแลกเปลี่ยนเอามาจากตลาด หรือคนไทยอยุธยาไปแลกยาสูบมาจากตลาด แต่สินค้าเหล่านี้เป็นส่วนน้อยมากในชีวิต ส่วนใหญ่ของสินค้าที่บริโภคกันก็ผลิตขึ้นในครอบครัว, ชุมชน หรือเผ่าของตนเอง

ตลาดจึงสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนไม่สู้จะมากนัก ดังเช่นอยุธยานั้นเป็นแหล่งค้าขายที่คึกคักมากแห่งหนึ่งของภูมิภาค มีสินค้าหลากหลายประเภทไหลเข้าและออกจากอยุธยา แต่สินค้าเหล่านั้นก็แทบไม่ได้กระทบการบริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ หากจะกระทบบ้างก็คือถูกเกณฑ์แรงงานไปหาสินค้าบางอย่างในป่าเพื่อส่งส่วยให้หลวง

(แม้ว่าหนังฮอลลีวู้ดและหนังไทยมักแสดงภาพคนเดินขวักไขว่ในตลาดโบราณ แต่ที่จริงแล้ว คนเหล่านั้นคือพ่อค้าหรือคนเมืองฐานะดีจำนวนน้อยเท่านั้น)

ตลาดเริ่มขยายตัวเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าของคนจำนวนมากขึ้นก็เพราะความรุ่งเรืองของการค้า และเกิดในยุโรปก่อน คนเข้ามาในอาชีพค้าขายและผลิตสินค้าป้อนตลาดมากขึ้น ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคอย่างที่เคยเป็นมา เช่นเมื่อค้าขายทางไกลมากขึ้น ก็ต้องมีลูกเรือมากขึ้น มีคนขนของมากขึ้น มีช่างสร้างซ่อมเรือกำปั่นมากขึ้น มีคนผลิตน้ำมันมะกอกเพิ่มขึ้น ฯลฯ คนเหล่านี้บริโภคจากการผลิตของตนไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปแลกเปลี่ยนในตลาด

การผลิตขนแกะและผลิตภัณฑ์จากขนแกะของเจ้าที่ดินในอังกฤษอย่างเดียว ก็ทำให้เกิดคนที่ไม่ได้บริโภคจากการผลิตของตนเองไปไม่รู้เท่าไรแล้ว ทาสติดที่ดินถูกขับไล่ออกไปจากที่ทำกินของตน ต้องมาเช่ากระท่อมของเจ้าที่ดินอยู่ชายขอบ เพื่อขายแรงงานในอุตสาหกรรมขนแกะของเจ้าที่ดิน และมีชีวิตอย่างอดอยากยากแค้นแสนสาหัส


Pauperism หรือความอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ที่เกิดแก่คนจำนวนมาก เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคมที่มากับการขยายตัวของตลาด ก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวในยามที่มีภัยพิบัติทางสังคมเช่นสงคราม หรือธรรมชาติ เช่นแห้งแล้งผิดธรรมดา หรือโรคระบาดร้ายแรง แต่ก็จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมได้ในเวลาต่อมา ไม่ได้อยู่ติดกับผู้คนจำนวนมากอย่างไม่มีอนาคตเลย

ยิ่งตลาดขยายตัว ก็ยิ่งเร่งเร้าให้ผู้ผลิตเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของตน จนในที่สุดก็นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มจำนวนคนที่ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคมากขึ้น ขยายจากอังกฤษไปยังยุโรปภาคพื้นทวีปและทั่วโลกในเวลาต่อมา

ตั้งแต่นั้นมา คนส่วนใหญ่ก็บริโภคในตลาดสืบมา แม้แต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหาร ส่วนใหญ่ของสิ่งที่ใส่ลงไปในไร่นาก็หามาได้จากตลาด หรือแม้แต่ส่วนใหญ่ของสิ่งที่บริโภคในชีวิตประจำวันก็หามาได้จากตลาดเหมือนกัน


ตลาดในความหมายที่เป็นแหล่งบริโภคของคนทั่วไปเช่นนี้ นับเป็นสถาบันใหม่ ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาก่อน ในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สร้างความมั่งคั่งขึ้นแก่มนุษย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเหมือนกัน เพราะตลาดกระตุ้นสมรรถภาพการผลิตอย่างไม่รู้จบ ตลาดต้องการผู้บริโภคในตลาด ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้ตลาดขยายตัว แต่ในอีกแง่หนึ่ง ตลาดก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งถูกแยกออกเป็นปัจเจกที่ไร้พลังต่อรอง ต่างคนต่างต้องหาความมั่นคงให้แก่ตนเองตามวิถีทางที่เลือกไม่ได้มากนัก ตลาดทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไม่ระมัดระวังจนระบบนิเวศน์อาจไม่ยั่งยืน และตลาดยังทำให้ปัจเจกบุคคลที่ขาดปัจจัยจะเข้าถึงตลาดได้ ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราคุมตลาดได้หรือไม่ และคุมสักแค่ไหน จึงจะทำให้ตลาดส่งผลร้ายแก่คนน้อยลง โดยยังส่งผลดีได้เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม (ในระยะยาว)

หากมองย้อนหลังของตลาดไปในประวัติศาสตร์ อย่างที่ผมกล่าวมา ตลาดก็เป็นสถาบันที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำหน้าที่สำคัญบางอย่างในชีวิตของสังคม เหมือนสถาบันอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นแหละครับ ดังนั้น จึงไม่ประหลาดที่ตลาดควรจะถูกควบคุมด้วย จะโดยสังคมหรือโดยรัฐก็ตาม

ตลาดแบบที่บังคับให้ทุกคนเข้าไปบริโภคในตลาดนั้น เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐเริ่มเข้มแข็งมากขึ้นด้วย ฉะนั้น อำนาจที่พอจะคุมตลาดได้คือรัฐแน่นอน แม้ไม่ปฏิเสธว่าสังคมหากจัดองค์กรให้เหมาะก็สามารถคุมตลาดได้ด้วย


แต่ในช่วงที่ตลาดชนิดนี้กำลังขยายตัวไปทั่วโลกนี้เอง ก็เกิดทฤษฎีประหลาดขึ้นว่า ตลาดมีกฎเกณฑ์ของตนเองซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนที่สุด ตราบเท่าที่ตลาดยังมีเสรีภาพ กฎเกณฑ์นั้นก็จะทำงานของมันไปอย่างราบรื่น อำนวยความเป็นธรรมแก่ทุกคนต่อไป

ทฤษฎีตลาดควบคุมตัวเองได้นี้ กลายเป็นรากฐานของเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้ หากมีการแทรกแซงตลาดจากอำนาจใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเสมอไป


แต่ในตลาดนั้น ไม่ได้มีแต่สินค้าและบริการที่มีผู้ผลิตขึ้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกสามอย่างซึ่งไม่มีบุคคลใดผลิตขึ้น แต่กลับถูกดึงไปเป็นสินค้าในตลาด นั่นก็คือที่ดิน, แรงงาน และเงินตรา

กว่าทั้งสามอย่างนี้จะกลายเป็นสินค้าในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการแทรกแซงของรัฐอย่างหนัก แต่พอสามอย่างนี้กลายเป็นสินค้าไปแล้ว กลับบอกว่าตลาดสามารถควบคุมตัวเองได้ และรัฐไม่พึงแทรกแซงอีกเลย


ทั้งหมดที่พูดมานี้ ก็เพื่อบอกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของตลาดก็ตาม ความสามารถในการควบคุมตัวเองของตลาดจนเกิดความเป็นธรรมขึ้นก็ตาม กลไกตลาดก็ตาม เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรทบทวนดูให้ดี ก่อนที่จะยอมรับคำชี้แนะจากนักเศรษฐศาสตร์อย่างตายตัว


( เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 มีนาคม 2557 หน้า 32)


.

2557-03-07

จับอารมณ์แบ่งแยกดินแดน แรงผลักของความอยุติธรรมที่ต่อเนื่อง (สัมภาษณ์จอน อึ๊งภากรณ์)

.

สัมภาษณ์จอน อึ๊งภากรณ์: จับอารมณ์แบ่งแยกดินแดน แรงผลักของความอยุติธรรมที่ต่อเนื่อง
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/03/52153 
. . Fri, 2014-03-07 00:32 

สัมภาษณ์-เรียบเรียง: พิณผกา งามสม
วีดีโอ: บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล



ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของกองทัพอันแสนจะดุดัน เป็นปฏิกิริยาต่อป้าย สปป. ล้านนาที่นำเสนอโดยสื่อฉบับหนึ่ง ดูท่าจะเพิ่มเชื้อฟืนให้กับความขัดแย้งทางการเมืองระลอกนี้หนักยิ่งขึ้น โดยมิพักต้องดูข้อเท็จจริงกันว่า สปป. นั้นย่อมาจาก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย แต่ยังพยายามเดินหน้าดำเนินการตามกฎหมาย หยิบยกจากคลิปคำปราศรัยและข้อความที่สื่อสารกันต่างกรรมต่างวาระมากล่าวหาคนคิดต่างทางการเมืองซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป ก็ดูมีทีท่าว่า ข่าวขำๆ เงิบๆ เรื่อง สปป. ล้านนา อาจจะกลายมาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนที่อาจจะมีคนได้รับผลกระทบไปเสียจริงๆ ได้ในเร็ววันนี้

ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หากใครติดตามเฟซบุ๊กของ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. เลือกตั้ง และนักกิจกรรมทางสังคมที่คร่ำหวอดอยู่กับประเด็นสิทธิมนุษยชนมายาวนาน จะพบว่า เขาพยายามพูดเรื่องผลเสียหายจากภาวะสงครามกลางเมืองและการแบ่งแยกดินแดน มีนัยยะเหมือนจะส่งสาสน์ไปถึงอารมณ์ความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ในหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นหลังๆ อยู่ในที ว่าการพูดถึงการแบ่งแยกประเทศกันด้วยอารมณ์อันคุกรุ่น และบางทีดูเหมือนมีความหวังในเชิงบวกว่าอะไรๆ อาจจะดีขึ้นก็ได้นั้น อาจจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียขนานใหญ่ในความเป็นจริง


ประชาไทสัมภาษณ์ จอน อึ๊งภากรณ์ ด้วยเหตุผลของความประจวบเหมาะในการหยิบยกประเด็นการแบ่งแยกดินแดนขึ้นมากล่าวถึง แต่ด้วยท่าทีที่ต่างกัน จากฐานคิดที่ต่างกันกับกองทัพ จอนกล่าวในตอนหนึ่งว่า การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะไม่อยากให้มองการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องโรแมนติก และบทเรียนจากประเทศต่างๆ บอกกับเราว่ามันไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และไม่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการสูญเสียขนาดใหญ่ แต่เขาไม่ได้เห็นเหมือนกองทัพว่าขณะนี้กำลังมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนใดๆ อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่มันคือการสะท้อนภาวะอารมณ์ของคนที่ถูกกดขี่ด้วยความอยุติธรรมอันยาวนาน

สำหรับท่าทีของกองทัพต่อประเด็นนี้เขาเห็นว่า กองทัพควรจะหยุดแสดงบทบาทเช่นนี้เสียที และหากเข้าใจความหมายของความมั่นคงจริงๆ แล้ว ก็ควรจะเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติขณะนี้คือการเคลื่อนไหวนอกระบอบรัฐธรรมนูญของ กปปส.



www.youtube.com/watch?v=RcQ7eky1-dI
จอน อึ๊งภากรณ์: จับอารมณ์แบ่งแยกดินแดน แรงผลักต่อเนื่องของความอยุติธรรมที่ต่อเนื่อง
 Published on Mar 6, 2014  ประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ 'จอน อึ๊งภากรณ์' อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนักพัฒนาเอกชนอาวุโส ถึงทัศนะต่อกระแสแบ่งแยกประเทศในขณะนี้

0 0 0 0 0 0 0 0

ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คนที่ติดตามเฟซบุ๊กของอาจารย์ก็จะเห็นว่าอาจารย์พูดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามชี้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ทำไมอาจารย์ถึงเริ่มพูดประเด็นนี้

สิ่งที่ผมเป็นห่วง ความรู้สึกของผมในระยะหลังคือฝ่ายประชาธิปไตยกำลังหมดหวังกับทางออกที่ยังสามารถที่จะรักษาประชาธิปไตยได้ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองปัจจุบัน เพราะว่ามองว่าสถาบันสำคัญๆ ในสังคมนี้เอียงไปทางด้านสนับสนุนข้อเสนอ กปปส. เป็นหลัก แม้แต่ระบบศาล ระบบยุติธรรม ทหาร และก็ทำให้รู้สึกว่าในที่สุดอาจจะแพ้ อาจจะต้องมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาปกครองประเทศ อาจจะมีการปฏิรูปที่เป็นวาระของฝ่ายคุณสุเทพ แต่ไม่ได้เป็นวาระของประชาชนทั้งประเทศเกิดขึ้น อาจจะมีมาตรการที่พยายามบังคับไม่ให้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณได้มีโอกาสมาลงเลือกตั้งอีก เพราะฉะนั้นทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตย คนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยกับคนที่สนับสนุนคุณทักษิณก็จะรู้สึกว่า เอ้อ ถ้าเป็นอย่างนี้แบ่งแยกประเทศดีกว่า

ทีนี้เราจะไม่พูดถึงในแง่กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญนะ อันนั้นมันผิดกฎหมายอยู่แล้ว ผิดรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
แต่ว่าผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเป็นความคิดแบบโรแมนติก มันเป็นความคิดแบบโรแมนติกที่ไม่มองความเป็นจริง คือลองดูประวัติการแบ่งแยกในประเทศอื่น โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างอินเดีย ปากีสถาน เขาตกลงกันที่จะแบ่งแยกแต่พอแบ่งแยกจริงๆ ฆ่ากันตายเยอะมากเลย ฆ่ากันตายอย่างโหดร้ายทารุณ น่าจะตายเป็นแสน สู้กันระหว่างชุมชนด้วยซ้ำไป ไม่ใช่การสู้กันระหว่างกองทัพ เป็นการฆ่ากันตายในชุมชน เพระว่าอะไร เพราะว่าชุมชนมุสลิมในอินเดียก็มี ชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิมในปากีสถานก็มี มันก็เกิดลักษณะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน

ลองดูประเทศไทยจะแบ่งยังไง จะแบ่งเป็นเหลืองกับแดงเหรอ ท่ามกลางจังหวัดที่บอกว่าเป็นแดง ก็จะมีชุมชนของคนที่มีความคิดเห็นไปทางเหลือง ท่ามกลางจังหวัดที่ว่าเหลือง จังหวัดในภาคใต้ก็มีชุมชนของคนเสื้อแดง
แบ่งประเทศอย่างนั้นมันไม่เกิดการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง การฆ่ากันเหรอ
ผมว่ามันไม่มีทาง และก็การแบ่งแยกประเทศก็คือเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกลางเมือง มันแยกกันไม่ออก เพราะว่ามันไม่ใช่การแบ่งแยกประเทศที่เป็นที่ตกลงกันของทุกฝ่าย ไม่ได้มาจากการเจรจาตกลงกันว่าทุกฝ่ายทุกส่วนเห็นสมควรที่จะแยกประเทศ อันนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง  อันนี้เป็นการแบ่งแยกที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของทุกฝ่ายมันก็คือสงครามกลางเมืองนั่นแหละ และสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องโหดร้าย เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องต่อสู้กันทั้งประเทศ คือผมเป็นคนเชื่อในระบอบประชาธิปไตย คนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยต้องต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยทั้งประเทศ แล้วถ้าแพ้ ผมก็เชื่อว่าแค่แพ้ชั่วคราว ไม่มีทางที่จะกดระบอบประชาธิปไตยลงไปได้นาน ยิ่งในบรรยากาศโลกปัจจุบันนี้ สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสากล ระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากล คนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองทั้งประเทศ มันไม่สามารถที่จะกดระบอบประชาธิปไตยได้นาน เพราะฉะนั้นเราคงต้องอดทนถ้าหากว่าเกิดฝ่าย กปปส. ชนะ แล้วเกิดรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เกิดการพยายามแก้ไขกติกาต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นตามความต้องการของคนทั้งประเทศ เราก็ต้องต่อต้าน ต่อสู้ แต่ผมเชื่อในการต่อสู้โดยสันติวิธี ต่อสู้แบบต่อต้าน ไม่ร่วมมือด้วย ใช้สื่อทุกประเภท เพราะว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนทุกคนก็สามารถมีสื่อของตัวเองได้ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ ผมเชื่อว่าเขาไม่สามารถปิดอินเตอร์เน็ตได้ ก็ต้องต่อสู้กับระบอบเผด็จการจนได้ชัยชนะ

นั่นคือทางที่ทำได้โดยสันติวิธี อาจจะมีการเสียชีวิตบ้าง อาจจะมีการถูกจับ อาจจะถูกขังอยู่บ้าง แต่ไม่โหดร้ายเหมือนการทำสงครามกลางเมืองและสิ่งที่เราต้องการคือประชาธิปไตยทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเฉพาะในส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศ


ที่อาจารย์พูดมาคือการจับอารมณ์ของคนในฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ใช่ ผมอ่านเฟซบุ๊กมันเห็นชัดอยู่แล้ว ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนคือ การตัดสินของศาลแพ่ง อันนั้นเป็นจุดที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คนเริ่มบอกว่าเนี่ยมันไม่มีที่พึ่งแล้ว ศาลก็พึ่งไม้ได้ คนก็รู้สึกว่าพึ่งศาลไม่ได้มาก่อนแล้ว แต่การตัดสินของศาลแพ่งมันดูชัดเจนเหลือเกินว่าศาลนี่มีธงทางการเมืองแล้ว ทำให้ศาลสามารถที่จะมองเห็นการชุมนุมของ กปปส. เป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยสันติได้อย่างไร คนเลยคิดว่าผิดหวังแล้ว รัฐบาลนี้คงไปไม่รอด  รัฐบาลรักษาการไปไม่รอด การเลือกตั้งไปไม่รอด คงไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งต่อไป ถ้าอย่างนั้นพวกเราที่คิดเหมือนกัน เราไปอยู่กันในพื้นที่ที่มีพวกมากหน่อยไม่ดีหรือ อะไรแบบนี้ ความคิดคล้ายๆ อย่างนั้น


แต่ถ้าอาจารย์พูดอย่างนี้ มันเป็นการไปคอนเฟิร์มสิ่งที่ ผบ. ทบ หรือแม่ทัพภาคสาม เขากำลังทำอยู่ คือการเชื่ออย่างปักใจเลยว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้น อย่ากรณีของ สปป. ล้านนา

อ๋อ ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นขบวนการในความหมายของขบวนการทางการเมือง แต่มันเริ่มมีคนพูดถึงกัน ซึ่งต้องบอกว่าอันนี้เป็นปฎิกริยาจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นเรื่องธรรมชาติของความอยุติธรรม เมื่อเกิดความอยุติธรรมอย่างต่อเนื่องคนก็เริ่มคิดจะหนี
คือผมได้ยินสองกระแส กระแสหนึ่งบอกว่าไปอยู่ประเทศอื่นดีกว่า ไม่อยู่แล้วประเทศไทย ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกหมดหวังมากกว่า มันไม่ได้จริงจังในความหมายนั้น แต่ผมก็กลัวว่าเยาวชนบางคน บางคนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์หรืออะไรอาจจะเริ่มคิดจริงจังกับมัน

ผมคิดว่า ผบ. ทบ. หรือใครก็ตาม ต้องมองที่ต้นเหตุคือ กปปส. มากกว่า คือขบวนการกปปส. นี่จริงๆ เริ่มต้นจากความชอบธรรม คือเริ่มต้นด้วยการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่หลังจากนั้นก็ออกไปนอกเส้นทางประชาธิปไตย มาเรียกร้องระบอบเผด็จการแบบหนึ่ง อันนี้ทำให้คนที่รักประชาธิปไตย หรือคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเกิดความผิดหวังอย่างแรง

จริงๆ ต้องแบ่งสังคมออกเป็นสามส่วนในความเห็นผมนะ คือมีคนที่สนับสนุน กปปส. ส่วนหนึ่ง มีคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง แล้วก็มีคนอีกส่วนหนึ่งทีเป็นคนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้สนับสนุนใครโดยเฉพาะ แต่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้คนที่ผิดหวังก็จะมีสองส่วน คือส่วนคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย กับส่วนคนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสองอันนี้ก็ซ้อนกันอยู่เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำไป


แต่เวลาที่เรากำลังพูด ดูเหมือนว่าเราสามารถเรียกร้อง หรือมีข้อเสนอแนะต่อคนในฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง อารมณ์อันนี้ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าแยกตัวไปดีกว่า ในด้านหนึ่งถ้าดูมวลชน กปปส. ก็มีลักษณะที่ขับไล่คนอื่นออกนอกประเทศ

ก็ใช่ คืออันนี้คือบรรยากาศของความเกลียดชังที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผมอยากบอกคือยิ่งแยกประเทศหรือพูดถึงมากขึ้น หรือถ้าเกิดสงครามกลางเมือง ความเกลียดชังจะถึงจุดที่ไม่สามารถกลับมาดีกันได้อีก คือขณะนี้ผมยังเชื่อว่าความเกลียดชังที่เกิดขึ้นยังอยู่ในจุดที่กลับมาคืนดีกันได้ แล้วผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่สนับสนุน กปปส. กับหลายๆ คนที่เป็นคนเสื้อแดง จริงๆ ถ้ามานั่งคุยกัน ถ้ามาเจอกันจริงๆ มาอยู่ในวงเดียวกัน คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะพบว่ามีอะไรเหมือนกันเยอะ ไม่ได้แตกต่างกันมาก ตอนนี้มันต่างกันที่ความเชื่อทางการเมือง ซึ่งความเชื่อทางการเมืองนั้น ถ้าคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน มันสามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือสามารถหาจุดร่วมกันได้ เช่น ผมเชื่อว่าคนทั้งประเทศไม่ว่าเหลืองแดงหรือขาว ต้องการการปฏิรูปสังคม ต้องการการแก้ปัญหาต่างๆ ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สิ่งเหล่านี้มันเป็นจุดร่วม ผมอยากเห็นการหาจุดร่วมมากกว่าการเน้นจุดต่าง ผมอยากเห็นการแก้ปัญหาในทางที่เน้นสิทธิมนุษยชน การเคารพสิทธิมากกว่าการเน้นว่าจะต้องแบ่งแยกกันหรือทำสงครามกัน อันนั้นถ้าไปแล้วมันกลับมาไม่ได้ ประวัติศาสตร์ก็สอนอย่างนั้น คือรุ่นเราอาจจะอยู่ในภาวะสงครามยาวนานก็ได้ ถ้าเราจะไปเส้นนั้น ซึ่งผมคิดว่า ผู้ใหญ่โดยทั่วไปจะเข้าใจจุดนี้ แต่ความรู้สึกท้อแท้นั้นผมเข้าใจได้ ผมก็อยากบอกว่ามันไม่มีเหตุที่จะต้องท้อแท้จริงๆ ยังไงประชาธิปไตยต้องชนะ ต้องชนะ เพียงแต่ว่าจะต้องผ่าน.. ตอนนี้เหมือนกับถ้าเราอยู่บนเครื่องบิน เรากำลังผ่านพายุ ช่วงนี้เราผ่านพายุอยู่ แต่ว่าผ่านไปแล้วในที่สุดก็จะกลับมาสู่สภาพที่ดีกว่านี้


อาจารย์ยังเชื่อว่าเราจะผ่านการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้โดยที่ไม่เกิดความรุนแรงหรือ

ความขัดแย้งที่รุแรงมีอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าโดยไม่ตายกันเยอะ ผมคิดว่าได้ ผมคิดว่ามันมีการปรับอยู่ขณะนี้ แม้แต่ฝ่ายคุณสุเทพที่เปลี่ยนจุดชุมนุมอะไรแบบนี้ มันเป็นการส่งสัญลักษณ์เหมือนกันว่าไม่ต้องการให้มันรุนแรงเกินไป เพราะว่ามันเริ่มมีเด็กเสียชีวิต มีอะไรที่ทุกฝ่ายยอมรับไม่ได้ ผมคิดว่า คือการต่อสู้สำหรับคนที่รักประชาธิปไตย การต่อสู้ถ้าสู้โดยสันติวิธีแล้วมีเสียหายอยู่เหมือนกัน บางคนอาจจะถูกสังหาร บางคนอาจจะถูกจำคุก แต่ไม่ตายกันเยอะ แล้วในที่สุดคนที่สู้โดยวิธีแบบนี้จะชนะ


ปฏิกิริยาจากกองทัพตอนนี้ที่ไปกดทับความรู้สึกคนที่อาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกพ่ายแพ้ รู้สึกสิ้นหวัง แล้วก็มาเจอข้อกล่าวหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอีก


คือกองทัพควรจะเลิกเล่นบทบาทพวกนี้เสียที มันไม่ใช่หน้าที่กองทัพที่จะทำเรื่องนี้ ถ้ากองทัพเข้าใจเรื่องความมั่นคงจริง คนที่ทำลายความมั่นคงของประเทศคือ กปปส. เพราะว่าดึงประเทศออกนอกทาง ดึงประเทศออกนอกรัฐธรรมนูญ แต่กองทัพกลับตาบอดต่อเรื่องนี้ กลับไปเพ่งเล็งต่อฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ทุกวันนี้  ซึ่งบางคนสิ้นหวังก็เริ่มจะพูดเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่จริงจังขณะนี้ นี่เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจ ผมคิดว่ากองทัพไม่ควรที่จะเล่นบทบาทเหล่านี้ การแก้ปัญหาต่างๆ ขณะนี้ต้องแก้ไขโดยทางการเมือง ไม่ใช่โดยการมาขู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เป็นเรื่อง


การเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด อาจารย์มีข้อเสนอให้กับแต่ละฝ่ายอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เสนอ คือ หนึ่งต้องเจรจา และต้องรักษารัฐธรรมนูญปัจจุบันไว้ คือควรจะตกลงแก้ปัญหาบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ อันนี้จะไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกว่านี้ จะแก้ปัญหาได้
ซึ่งถ้าหากว่ามันเกิดลักษณะการไม่ไว้วางใจกัน ผมก็เคยเสนอแล้วว่าหลังการเลือกตั้งก็อาจจะมีการตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ซึ่งอันนี้ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เช่น เชิญบางคนในพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ทำได้ มันคงมีหลายอย่างที่ทำได้ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้เราคงต้องคำนึงถึงประชาธิปไตยคงต้องคำนึงถึงทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยด้วย อันนี้ก็เป็นหลักประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน

ไม่ใช่ว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องสนใจเสียงส่วนน้อย ยิ่งในความขัดแย้งที่รุนแรงแบบนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการของทุกฝ่าย แต่ต้องยังยึดอยู่กับหลักประชาธิปไตยเหมือนเดิม

รัฐธรรมนูญนี้อาจจะแก้ไขได้ แต่ไม่ใช่ฉีกทิ้ง ไม่ใช่แก้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การจะแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ดีขึ้นก็ต้องมาจากมติของประชาชนทั้งประเทศ



.

2557-03-03

สัมภาษณ์“นิธิ” วิกฤตการเมืองไทย : เราต้องรักษาระบอบเอาไว้

.

คลิปสัมภาษณ์พิเศษวิกฤตการเมืองไทยในมุมมอง “นิธิ เอียวศรีวงศ์” : เราต้องรักษาระบอบเอาไว้
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393844690
. . วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:30:58 น.


เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "อดินันท์ เหมือนยัง" ผู้สื่อข่าวมติชนทีวี เชิญนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศอย่าง "นิธิ เอียวศรีวงศ์" มานั่งพูดคุย วิเคราะห์ ปัญหาเรื้อรังของการเมืองร่วมสมัย ที่แลดูเหมือนมืดมิดไร้ทางออก

มติชนออนไลน์นำคลิปสัมภาษณ์พิเศษ 2 ตอนดังกล่าว มาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับชมกันอย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์ละเอียดๆ ฉบับตัวหนังสือ สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะดูคลิป

-----


อดินันท์: จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจำเป็นแค่ไหนที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไป

นิธิ: จำเป็นไหมที่ประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตยต่อไป ผมคิดว่าจำเป็น และถ้าจะเป็นประชาธิปไตยต่อไป ผมว่าเราต้องเคารพกติกาของระบอบที่มันปรากฎไว้ในกฎหมาย มันไม่มีทางที่คุณยิ่งลักษณ์จะทำอย่างอื่นได้เลย นอกจากว่าจะต้องรักษาการต่อไป เพราะว่ากฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่า ต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และถามว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่รักษาการ แล้วเราจะมีรัฐบาลมาจากไหน


อดินันท์: แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับสภาพที่ว่ารัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ แบบนี้หรือเปล่า

นิธิ: เป็นเรื่องอันตรายที่สุดในขณะนี้ที่ว่า เมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาอย่างนี้ ก็แปลว่ารัฐไม่มีพลังหรือไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรอีกเลยในการรักษาบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย นั่นหมายความถึงรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในตัวของเราเองด้วย

เรามารวมตัวเป็นรัฐเนี่ย จุดมุ่งหมายประการแรกสุดเลยของการเป็นรัฐ ตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณที่ไหนก็แล้วแต่ ก็คือว่าเขาต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือรักษาความปลอดภัย ไม่งั้นเราก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างพกอาวุธ ต่างสร้างกองกำลังของตัวเอง เราก็อยู่กันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นจะทำอย่างไร ผมก็ได้แต่หวังว่า ระบบราชการ ในแง่หนึ่งมันก็มีข้อไม่ดีเยอะมากในประเทศไทย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อย่าลืมนะครับว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้เพิ่งเสียเครื่องมือในการบริหารประเทศ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลแพ่ง ที่จริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เสียเครื่องมือจากการที่พยายามอดออมที่จะไม่ตอบโต้กับการกระทำกลุ่มกปปส. มานานพอสมควรแล้ว

แต่ประเทศไทยก็ยังพออยู่ อยู่อย่างกะพร่องกะแพร่ง รัฐบาลในที่นี้หมายถึงระบอบการปกครอง ไม่ได้หมายถึงพรรคการเมือง อยู่ได้อย่างไร คำตอบคือ อยู่ได้เพราะระบบราชการ จะดีจะชั่วอย่างไรผมว่าในช่วงนี้มันพิสูจน์ว่า ราชการไทยพยายามอย่างยิ่งในการรักษาความเป็นรัฐเอาไว้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง อะไรก็แล้วแต่เถิด


อดินันท์: แสดงว่าอีกฝ่ายเขาก็อ่านออกใช่ไหมครับ เขาพยายามทำให้ราชการที่เหลือยังทำงานไม่ได้

นิธิ: คือได้เฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคใต้ แต่เสร็จแล้วพอข้าราชการเขามีโอกาสกลับเข้าไปทำงาน และมีหลายแห่งแอบเข้าไปทำงาน คือ เขามีความรู้สึกเป็นหลักว่า การจะทำให้บ้านเมืองมันอยู่ได้ ในแง่นี้ผมคิดว่าควรยกย่องเขาหน่อย ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ ส่วนหนึ่งผมว่าเขาพยายาม


อดินันท์: อีกแง่หนึ่งอาจารย์มองไม่เห็นแง่ดี แง่บวกของกลุ่มกปปส. เลยหรือครับ

นิธิ: ผมคิดว่า กปปส.ทำอะไรที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย คือแน่นอนการที่สังคมลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของรัฐบาล ผิดถูกก็แล้วแต่มันเป็นสิทธิของเขา แต่คุณไปยึดถนนจนรถติดทั้งเมือง อันนี้มันเกิน

คุณไปยึดสถานที่ราชการ อันนี้คุณทำได้ แต่การทำโดยสงบที่ประเทศอื่นเขาทำกัน คือคุณแบบเข้าไปนั่ง Sit-in นั่งให้เต็มเลย จนข้าราชการเดินไปไม่มีอันตรายใดเลย แต่เดินไปไหนมาไหนไม่สะดวก ไปห้องน้ำไม่ได้ จนรู้สึกลำบากมากๆ ในการที่คุณจะออกมา อันนั้นไม่เป็นไร ไม่มีใครรู้สึกถูกคุกคาม ถ้าข้าราชการจะเดินออกมา เขาต้องระมัดระวังคนเดิน คนนั่งเบียดกันเข้ามา คนนอนเต็มไปหมด ทำอย่างไรให้ไม่ไปเหยียบตัวคนเหล่านั้นต่างๆ นานา มันลำบากลำบนแสนเข็ญ อย่างมากแค่นี้

แต่แน่นอนกปปส.ไม่มีกำลังคนมากพอจะทำแบบนั้น คุณใช้วิธีการนำโซ่ไปคล้องประตู แล้วคุณก็ตะโกนสั่งให้คนออกมา คุณใช้วิธีการข่มขู่คุกคามให้คนออกมา อย่างนี้ไม่ใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตย และมันอันตรายมากๆ เพราะว่ามันกลายเป็นว่าใครที่มีอำนาจจากฝูงชน จากสิ่งลี้ลับอะไรแล้วแต่ คุณสามารถทำลายระบอบได้ทั้งระบอบเลย


อดินันท์: ที่นี้ตัวละครอื่นๆ นอกจากรัฐบาล นอกเหนือจากกปปส. คนก็จะตั้งคำถามไปถึงเรื่ององค์กรอิสระที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเล่นที่สำคัญมาก หลังจากนี้เป็นต้นไป อาจารย์มองอย่างไรบ้างครับ

นิธิ: จริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็เล่นบทที่จะไม่เอื้อต่อการเป็นระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว เขาออกร่างพ.ร.บ.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณก็ไม่ยอมให้แก้ ไม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือมาตราเดียว คุณก็ไม่ยอมให้แก้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันจะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร น่าตลกแท้ๆ องค์กรอิสระเล่นมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตให้ดีว่า องค์กรอิสระไม่สามารถล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างสะเด็ดน้ำได้ มันไม่มีทางเลย

สมมติว่าป.ป.ช. ตัดสินว่าคุณยิ่งลักษณ์มีมูลความผิด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติงานในเรื่องการป้องกันการทุจริต กรณีการจำนำข้าว คุณยิ่งลักษณ์ก็ปฏิบัติงานไม่ได้ ก็ตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในการที่จะมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จบ ก็ยังอยู่ได้อีก ป.ป.ช.บอกรับลูกจากศาลรัฐธรรมนูญว่าคนที่ลงคะแนนแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด คุณปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรอีกล่ะ คุณก็ยังมีคนในคณะรัฐมนตรีที่เขาไม่ได้ลงคะแนนเพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเลย เขาก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปได้ คือไม่มีจุดไหนที่คุณจะสะเด็ดน้ำได้เลย นอกจากการทำรัฐประหาร


อดินันท์: นั่นหมายความว่าเราจำยอมที่จะอยู่สภาพแบบนี้ เพื่อที่จะรักษาระบบไว้

นิธิ: แน่นอนเพราะคนที่ไม่รักษาระบบจะเกิดปัญหามากกว่านี้อีกแยะ ในอนาคต อย่างที่ผมพยายามมาพูดอยู่ว่าคนมานั่งห่วงแต่เพียงว่าคนไม่มาลงทุน ถ้าสมมติคุณปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพซ่องโจรแบบนี้ ใครจะมาลงทุน มี แต่เป็นนักลงทุนมหาโจรไง คุณหลบเลี่ยงภาษีทีเป็นหมื่นๆ ล้านบ้าง คุณใช้วิธีการติดสินบนเบี้ยบ้ายรายทางให้กับคนที่มีอำนาจบ้าง คุณต้องการเหรอนักลงทุนแบบนั้น แล้วคุณบอกว่าคุณจะแข่งขันกับคนอื่นเขา ดีเหรอ ฉะนั้นถ้ามองอนาคตระยะยาวแล้ว ผมว่าความเสียหายในระยะยาวจะเกิดมากกว่าการที่เราพยายามจะรักษาตัวระบอบเอาไว้ให้ได้


อดินันท์: ว่าให้ถึงที่สุดแล้วตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย คืออย่างรัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ได้น่ารัก

นิธิ: ก็ไม่ได้น่ารัก บกพร่องแยะมาก แต่ก็น่าเสียดาย เพราะผมเชื่อว่าพวกกระฎุมพีที่อยู่ในเมืองก็ตาม หรือคนชนชั้นนำที่มีอำนาจอยู่แล้วก็ตาม คุณสามารถสู้กับรัฐบาลชุดนี้ในระบอบประชาธิปไตยได้เยอะแยะไปหมดเลย มีวิธีการได้เยอะแยะ ทำไมคุณไม่เลือกวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในการต่อสู้ ซึ่งจริงๆ แล้วกับรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอนะ เป็นแต่เพียงเขาได้คะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมาก แต่คะแนนเสียงเหล่านี้ก็จะถูกบ่อนทำลายด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ ทำไมคุณไม่ทำ


อดินันท์: อยากให้อธิบายประเด็นที่เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งนี้อาจเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นกลางใหม่ที่ขยับมาจากคนรากหญ้า

นิธิ: สำหรับการเมืองในประเทศไทยจะพบได้ว่าคนที่มีอำนาจจริงๆ คือ กลุ่มคนชั้นกลางที่เติบโตมาจากการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 50 ปีมาแล้ว คนกลุ่มนี้ได้อำนาจทางการเมืองไม่ว่าจะทีละเล็กทีละน้อยหรืออะไรก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วก็คือกลุ่มคนที่ร่วมมือกับชนชั้นนำที่เคยมีมาในสังคมไทย จะเป็นกองทัพ ผู้พิพากษา หรืออะไรก็แล้วแต่ ในการรักษาอำนาจเอาไว้สืบต่อมา

จนวันหนึ่งเมื่อคนชั้นกลางที่เกิดใหม่จากผลการพัฒนาเหมือนกัน แต่เขาเกิดโดยไม่มีอำนาจทางการเมือง พอเขาไม่มีอำนาจทางการเมืองแล้วมาพบว่า เขาเองก็ต้องการนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อเขาเช่นกัน อย่าพูดว่านักธุรกิจไทยล้วนแต่สร้างตัวเอง โดยไม่มีนโยบายสาธารณะคอยหนุนหลัง มันไม่จริง ทั้งโครงสร้างภาษี อะไรอีกร้อยแปดที่รัฐได้ใช้ทรัพยากรรวมเกื้อหนุนแก่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย คนกลุ่มใหม่ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทก็ต้องการสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องต่อรองทางนโยบาย

ในการต่อรองนี้ เชื่อว่า กระฎุมพีในเมืองหรือชนชั้นนำเดิมก็ตาม ถ้าสู้ในระบอบประชาธิปไตย คุณก็ยังชนะอยู่ดี ยังชนะต่อไปอีก อาจหนึ่งชั่วคนก็ได้ อีก 30 ปีก็ได้


อดินันท์: ถ้าผ่านระบบเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ฝั่งชนชั้นกลางใหม่เป็นฝ่ายที่เยอะกว่าหรือเปล่า

นิธิ: ไม่จำเป็นที่คนชนชั้นกลางใหม่จะต้องไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเผื่อพรรคเสนอนโยบายที่แข่งกันกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเหตุมีผลที่มันจูงใจได้มากกว่า ไม่ใช่เอาเงินไปทุ่ม อย่าไปคิดว่าคนอื่นเขาโง่ เชื่อว่า ในที่สุดคุณก็เอาคนเหล่านี้มาสนับสนุนจนได้เหมือนกัน มันไม่ได้หมายความว่า ไม่มีวันหรอกที่คุณจะชนะพรรคเพื่อไทย มันไม่จริง

ลองคิดดูว่า คนชั้นกลางใหม่ที่เติบโตมาในช่วงนี้ ถามว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่จริงๆ แล้วทำงานอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ล้มไป คนเหล่านี้ก็เดือดร้อนเยอะเหมือนกัน มันก็มีคนที่ทำเกษตรส่วนตัวเล็กๆ เช่น ปลูกบัวขายแถวนครปฐม พวกนี้อาจไม่เป็นไร บริษัทใหญ่ๆเจ๊งก็เจ๊งไป แต่อีกจำนวนมากส่งลูก ส่งหลาน ทำงานในบริษัทใหญ่ ตั้งแต่แรงงานขึ้นมาถึงแรงงานที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์มันสำคัญ มันเชื่อมโยงกัน

มันจะยากอะไรในการที่บริษัทใหญ่จะทำให้เห็นว่า "ผลประโยชน์ของเขากับของคุณมันไม่ได้ขัดแย้งกันนะ มันไปด้วยกันนะ" แบบนี้เป็นต้น ซึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกหลายสังคม กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่เกิดขึ้น บางทีฐานผลประโยชน์ไม่ได้สัมพันธ์กันกับฐานผลประโยชน์ของกลุ่มคนชนชั้นนำเดิมเลยด้วยซ้ำ แต่ในเมืองไทยมันค่อนข้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน แต่เพียงต้องเปิดให้เขามีโอกาสเข้ามาต่อรองเชิงนโยบายบ้าง


อดินันท์: มุมมองของอาจารย์คือ คนที่ขยับจากชนชั้นล่างมาเป็นชนชั้นกลางใหม่ ไม่จำเป็นต้องผูกติดระบอบทักษิณ

นิธิ: ไม่จำเป็นเลยทั้งสิ้น


อดินันท์: ที่ผ่านมาเขาไม่มีทางเลือก

นิธิ: จะเป็นความฉลาดของคุณทักษิณ หรือคุณทักษิณมองการเมืองออก หรืออะไรก็แล้วแต่ แกเป็นคนที่ทำให้นโยบายที่เอื้อต่อชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้มันประจักษ์แก่ชนชั้นกลางใหม่ทันที

ยกตัวอย่างตามที่มักพูดกันเสมอก็ได้ อย่างโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" แต่ก่อนเวลาชาวนาที่เลี้ยงตัวเองแท้ๆ ล้มป่วยขึ้นมา คุณมี 2 อย่างในสังคม อย่างน้อยที่สุดมีสังคมคนโบราณ คุณเข้าถึงแพทย์ แต่อาจจะเป็นแพทย์ที่ถูกดูถูกว่าไม่เก่งก็ได้ ต่อมาคือมีสิ่งที่ปัจจุบันชอบเรียกว่า "Social Safety Net" (เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม) คุณมีญาติพี่น้อง มีประเพณีบางอย่างที่จะจุนเจือกันและกัน เช่น ในอีสาน ถ้าหมู่บ้านหนึ่งอดอยาก ทำนาล่ม คุณมีสิทธิ์เดินไปหมู่บ้านอื่นที่เขาทำนาไม่ล่มแล้วไปขอทานข้าวมา ซึ่งแปลว่า เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่หมู่บ้านนั้นทำนาล่มบ้าง เขาก็มีสิทธิ์เดินมาขอข้าวกินบ้าง ตรงนี้คือ "เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม" อย่างหนึ่ง

แต่ตอนนี้เขาไม่มีแล้ว Social Safety Net แบบเก่าพังไปหมดแล้ว ฉะนั้น เวลาที่คนในครอบครัวป่วย มันล้มละลายเลย ดังนั้น การที่คุณทักษิณบอกว่า 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ความคิดคุณทักษิณแท้ เพราะพวกหมอเองก็ดิ้นรนผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว คุณทักษิณรับนโยบายนี้ไป มันถูกใจพวกเขามากเลย เพราะเขาเข้ามาอยู่ในตลาด คนเราพอเข้าตลาด สิ่งสำคัญในชีวิตคือความมั่นคง คุณต้องมีความมั่นคง พอคุณไม่มีความมั่นคงในชีวิต คุณทักษิณให้ความมั่นคงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันสำคัญต่อเขา


อดินันท์: คนที่ไปเคลื่อนไหวกับกปปส. หรือที่เรียกว่า กระฎุมพี หรือชนชั้นกลางเก่า เอาเข้าจริง อาจไม่ได้มองเรื่องชนชั้น แต่เขามองเรื่องผิด-ถูก ถ้าจะมองว่ามีการประโคมว่า ระบอบทักษิณผิด เขาก็เชื่อว่าอันนี้ผิด ก็ออกไปต่อต้านกัน

นิธิ: อันนี้อยู่ที่ว่าคุณเช็คข้อมูลบ้างหรือเปล่า ผมเห็นว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ทำผิดหลายเรื่อง แต่คุณไปเช็คดูว่า สิ่งที่ผิดคืออะไรบ้าง แล้วเรามีทางยับยั้งไม่ให้เขาทำผิดแบบนี้ได้ไหม เช่น ถ้าคุณคิดว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดทุจริตจำนวนมาก คุณก็ต้องจับให้ได้ว่า มันมีกรณีทุจริตที่ไหนบ้าง และช่องโหว่นี้มาจากไหน เป็นต้น


อดินันท์: แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ว่า เสพสื่อทางเดียวก็เป็นปัญหา

นิธิ: ใช่ อันที่เป็นปัญหาคือ สื่อเราไม่ทำงาน ถ้าเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ดี ก็ต้องไม่ใช่ง่ายๆ แค่ว่า ราคาข้าวแค่หมื่นเดียวแล้วคุณรับจำนำ 15,000 บาท มันไม่ใช่ไม่ดีแค่นั้น ตรงนี้ดีหรือเปล่ายังเถียงกันได้ แต่สื่อต้องมากับคำถามที่ว่า มันมีการทุจริตในกรณีใดบ้าง เป็นต้น

การประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีช่องทุจริตได้หมด ยังมีคดีอยู่ในป.ป.ช. 4 ปีแล้วยังไม่ได้ตัดสินอะไรเลยสักอย่าง คิดว่าสื่อควรช่วยกันในการหาทางอุดช่องโหว่เหล่านี้ คือคุณใช้เงินเป็นแสนๆ ล้านในประเทศไทยแล้วบอกไม่มีใครโกงเลยมันเป็นไปไม่ได้ โกงทั้งนั้น แต่ว่าเราต้องช่วยกันไปค้น ไปขุด ไปเจาะให้ได้ว่าช่องโหว่ต่างๆ มันอยู่ตรงไหนกันแน่


อดินันท์: นับจากจุดนี้ไป จะทำอย่างไรจึงจะมีทางออกให้กับประเทศ

นิธิ: ยังมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากคุณต้องรักษาระบอบไว้เพื่อประโยชน์ระยะยาวของเราเอง คือต้องเลือกตั้งให้ครบ ต้องพยายามหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้


อดินันท์: แต่ถ้าออกมาสูตรนี้เหมือนรัฐบาลปัจจุบันได้หมด แต่ กปปส. จะไม่ได้อะไรเลย

นิธิ: ทำไม กปปส.จะต้องได้ล่ะ? ผมยังไม่เข้าใจเลย คือถ้าคุณอยากจะได้แล้วคุณใช้วิธีการเคลื่อนไหวในทางที่ถูกกฎหมาย แล้วเขาบอกคุณไม่ได้เลย อย่างนี้สิต้องถาม แต่คุณทำสิ่งที่เกินกฎหมายทั้งสิ้น เกิดความเดือดร้อนไปหมด แล้วคุณบอกคุณต้องได้บ้าง ใครๆ ก็ทำแบบนี้หมดสิ


อดินันท์: แต่สูตรการเจรจาคือ อย่างน้อยก็ควรไม่มีใครเสียทั้งหมดหรือเปล่า

นิธิ: คำว่าเจรจาในที่นี้หมายถึงเจรจาระหว่างใครกับใคร คุณบอกว่าเจรจาระหว่างกปปส.กับรัฐบาล แล้วทำไมกปปส.ถึงใช้วิธีแบบนี้ในการที่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจขึ้นมาเจรจา กปปส.มีโครงการอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับชาวนาควรได้รับเงินประกันราคาข้าว แล้วทำไมชาวนาไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาบ้าง เพราะอย่างนั้น คำว่าการเจรจาในที่นี้ เอาเข้าจริงก็คือระบอบประชาธิปไตย คือตัวระบอบการเจรจา

ถ้าคุณบอกไม่เอา เลือกตั้งอะไรก็ไม่เอา แล้วถ้าจะให้ผมเป็นคนเจรจากับคุณ ถามว่าคุณเป็นตัวแทนของใคร

อดินันท์: อาจารย์ยันยันว่า การเลือกตั้ง และระบอบต้องเดินหน้าต่อไปก่อน

นิธิ: เพราะถ้าคุณยังเชื่อในการเจรจา มันมีวิธีเจรจาอย่างอื่นไหมนอกจากตัวระบอบประชาธิปไตย มันไม่มี


.....................................


www.youtube.com/watch?v=MZdGqg00SW0


www.youtube.com/watch?v=QKaFUAKzbqA



.

2557-03-02

ใจ: แบ่งแยกประเทศผมไม่แคร์ แต่จะยกทรัพยากรให้พวกอำมาตย์มารทำไม?

.

แบ่งแยกประเทศผมไม่แคร์ แต่จะยกทรัพยากรให้พวกอำมาตย์มารทำไม?
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/03/52056
. . Sun, 2014-03-02 23:51



ผมไม่เคยสนับสนุนประโยคในรัฐธรรมนูญไทยที่กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” และในการปฏิรูปการเมืองเพื่อประชาธิปไตยควรจะตัดออก อย่างน้อยก็เพื่อให้ “ชาวปาตานี” สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ แต่โดยรวมแล้วผมไม่เคยหวงดินแดนรัฐชาติไทยแทนชนชั้นปกครอง เพราะประชาชนไทย 99% ไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนที่แท้จริงอันนี้ แม้แต่ที่ดินทำกินกับบ้านที่อยู่อาศัย ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เป็นเจ้าของด้วยซ้ำ

และเราก็ไม่ต้องไปเชื่อประวัติศาสตร์ปลอมที่เสนอว่าวีรบุรุษคนใหญ่คนโตเคยปกป้องพรมแดนรัฐชาติไทยเพื่อส่วนรวม ยิ่งกว่านั้นพวกวีรบุรุษเหล่านั้นยังไปยึดพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนอื่น มาขึ้นกับกรุงเทพฯ อีกด้วย

ดังนั้นใครเสนอให้แบ่งแยกประเทศ ผมไม่แคร์เลย


แต่ที่เราทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรแคร์และหวงคือ ผลิตผลจากการทำงานของประชาชนส่วนใหญ่  เพราะทรัพยากรดังกล่าวมาจากหยาดเหงื่อของผู้ทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร มันไม่ได้เกิดจากนายทุนในปัจจุบันหรือศักดินาในอดีต คนดังกล่าวเป็นเพียงคนที่ “ทำนาบนหลังคน” เท่านั้น

คำถามสำคัญที่เราควรตั้งกับเพื่อนๆ เสื้อแดง ที่อยากแบ่งประเทศ เพราะโกรธแค้น จากการลอยนวลของมารต้านประชาธิปไตย ทหารเผด็จการ และฝูงนักวิชาการกับแกนนำเอ็นจีโอ คือ เรื่องอะไรเราจะไปยกทรัพยากรมหาศาล ที่มาจากการทำงานของคนธรรมดา ให้พวกอำมาตย์?

ลองดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์มวลรวม แบ่งเป็นภาค ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมนี้คือผลผลิตทั้งหมดที่มาจากการทำงานของประชาชน

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม
(ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๒๕๕๒ http://www.mtp.rmutt.ac.th/?p=2396  )

    กรุงเทพมหานครและปริมณฑล     3,770,185  ล้านบาท
    ภาคตะวันออกติดชายฝั่งอ่าวไทย    1,398,288 ล้านบาท
    ภาคกลางส่วนกลาง  696,438  ล้านบาท
    ภาคตะวันตก  396,909  ล้านบาท
    ภาคใต้  886,503  ล่านบาท

รวม          7,148,323  ล้านบาท


    ภาคเหนือ  862,657  ล้านบาท
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  1,039,736  ล้านบาท

รวม        1,902,393  ล้านบาท

จะเห็นว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรม และศูนย์กลางภาคบริการ มีผลผลิตมากกว่าภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบสามเท่า และมันเป็นผลงานของผู้ทำงานในพื้นที่และผู้ที่ย้ายถิ่นจากภาคอื่นเพื่อหางานทำอีกด้วย

นอกจากนี้ภาคกลางและภาคตะวันออกมีท่าเรือ และอ่าวไทยมีก๊าซธรรมชาติ

ชนชั้นสำคัญกว่าภูมิศาสตร์ ถ้าแบ่งประเทศอย่างที่เสื้อแดงบางคนเสนอ ประเทศล้านนากับตะวันออกเฉียงเหนือจะยากจนมาก แถมประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่รักประชาธิปไตยและเกลียดชังม็อบสุเทพ ก็จะตกเป็นทาสเผด็จการอีกด้วย



ไม่ครับ เราควรตั้งความหวังในอนาคต เพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ ให้ประชาชนคนทำงาน ทั้งกรรมาชีพและเกษตกร เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราควรยึดทรัพยากรที่นายทุนใหญ่และทหารขโมยจากการทำงานของเรา เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้คำขวัญ “ถ้วนหน้า-ครบวงจร-จากการเก็บภาษีก้าวหน้า”

เราควรปฏิรูประบบยุติธรรมแบบถอนรากถอนโคน ลดอำนาจทหาร ยุบองค์กรที่ไม่เคยอิสระ 
และเราควรสร้างมาตรฐานสิทธิเสรีภาพประชาธิไตย บนซากรัฐเผด็จการไทยต่างหาก



.

..เข้าสู่‘นาทีสุดท้าย’ จับสัญญาณ‘แตกหัก’ ?!

.

มติชนวิเคราะห์ ..นับถอยหลัง เข้าสู่‘นาทีสุดท้าย’ จับสัญญาณ‘แตกหัก’ ?!
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393749699
. . วันอาทิตย์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:01:57 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 2 มี.ค. 2557 )


วิเคราะห์

ยังอยู่ในเกมรอคอยมะม่วงหล่น ที่การเผชิญหน้าตึงเครียดมากขึ้นเป็นลำดับ

เสียงระเบิด เสียงปืน ประทัดยักษ์ ดังสนั่นใกล้บริเวณชุมนุม และอาคารสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

การจับกุมหน่วยซีลที่มารับจ๊อบเป็นการ์ดให้แกนนำม็อบ ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเหล่าทัพกับม็อบ กปปส.



นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศไม่เจรจากับใครทั้งสิ้น เป็นสัญญาณที่ส่งตรงไปยังวงเจรจาที่่ถกกันเงียบๆ วางตัวนายกฯคนกลางและรัฐบาลกลาง
ทำเอาวงเจรจาต้องพักประเมินสถานการณ์


ก่อนที่นายสุเทพจะพลิกเกม หันมาเล่นเชิง ท้าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเจรจาในสถานที่เปิดเผย คุยกันสองต่อสอง ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ทางฝ่ายรัฐบาลไม่รับข้อเสนอนี้ เพราะตามรูปการณ์ ออกไปทาง "ดีเบต" มากกว่าที่จะเป็นการเจรจาหาทางออก



แรงบีบจากขั้วอำนาจตรงข้าม ต่อรัฐบาลเพื่อไทย หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะการเตรียมจะลงดาบฟัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาละเลยเพิกเฉยให้มีการโกงจำนำข้าว ซึ่งคาดว่า จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯปลาย มี.ค.นี้

ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องงัดเอาข้อมูลความล่าช้าในการพิจารณาการระบายข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2553 เวลาผ่านไป 4 ปียังไม่มีความคืบหน้า ขึ้นมาสู้


น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ออกมาตอบโต้แรงบีบแรงกดดัน ด้วยการประกาศว่าจะทำงานในหน้าที่จนนาทีสุดท้าย

รวมถึงที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 28 ก.พ. ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ต้องบอกว่าเราเป็นผู้รักษากติกา รักษาประชาธิปไตย ถ้าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือเป็นทหารก็ต้องบอกว่าทหารต้องทำหน้าที่ของตนเองจนนาทีสุดท้าย ทหารต้องรักษาพื้นที่ ต้องตายสนามรบ วันนี้ดิฉันก็ต้องตายในสนามประชาธิปไตย

นี่คือหน้าที่ การที่ประเทศจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากต่างชาติได้ ก็คือการที่เราต้องเดินตามกรอบของประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล ไม่สามารถบอกประเทศอื่นว่าตนเองจะไม่รักษาประชาธิปไตย จะให้คนอื่นมาฉีกรัฐธรรมนูญได้ เป็นใครที่อยู่ในหน้าที่ปฏิบัติก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง


เช่นเดียวกับทหารที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองในสนามรบจนนาทีสุดท้ายเช่นเดียวกัน



และที่ทำให้สถานการณ์เข้มข้นขึ้นมาอีก ยังได้แก่ การเข้ามาสู่เกมของผู้สนับสนุนรัฐบาล รวมถึง แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

ด้วยการออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อคำตัดสินของศาลแพ่ง ที่สั่งยกเลิกข้อห้าม 9 ข้อ จาก 12 ข้อ ในมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

และไปชุมนุมปิดสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้มุขเดียวกับ กปปส.ที่ไปปิดทำเนียบ สถานที่่ราชการต่างๆ

นปช.นัดชุมนุมประชาชนที่ทุ่งศรีเมือง อุดรธานี ในวันที่ 1 มี.ค. ก่อนจะปฏิบัติการย้อนเกล็ด กปปส. ด้วยเคลื่อนออกไปปิดหน่วยงานองค์กรอิสระ ที่มีสำนักงานในภาคอีสาน

และยังมีการเคลื่อนไหวของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ที่่ประกาศว่า จะระดมกองกำลังอาสาปกป้องประชาธิปไตย จำนวนนับแสนคน

เริ่มเปิดรับสมัครที่ภาคอีสาน ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.เป็นต้นไป



การปราศรัยของคนเสื้อแดง กล่าวถึงการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน วิกฤตการเมืองที่ทำให้ความแตกแยกของประชาชนในแต่ละภาครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหวของเสื้อแดง กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในเชิงความมั่นคง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้สั่งการในฐานะรองผอ.กอ.รมน. ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ติดตามความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ด้วยอาการซีเรียส
และให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง หลังเป็นประธานเปิดเวทีมวยลุมพินีแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า
ได้นำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว ในคำสั่งไม่ได้ให้จับตาใครเป็นพิเศษ ให้ดูแลทุกกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง รวมถึงการพูดจาว่าสิ่งไหนผิด บางอย่างต้องเข้าใจว่า เป็นคำพูด การกระทำยังไม่เกิด หากการกระทำที่สมบูรณ์ความผิดก็จะเกิดขึ้น และสามารถดำเนินคดีได้
ส่วนกรณีการสวนสนามตำรวจบ้านที่ จ.พะเยา โดยใช้ธงสีแดงแทนธงชาติไทยนั้น เรื่องนี้ได้เตือนไปหมดแล้วว่าอย่าทำอย่างนั้นอีก

และยังตอบคำถามเรื่องการปฏิวัติ ว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาเพราะมีเหตุการณ์รุนแรง ความไม่เป็นธรรม แต่ในวันนี้โลกเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปถึงตรงนั้นเพราะเป็นเรื่องที่อันตราย 
คงไม่สัญญาว่าการปฏิวัติจะมีหรือไม่มี แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางนิตินัย ซึ่งการปฏิวัติทุกครั้งเพื่อให้สถานการณ์ยุติ แล้วยุติได้หรือไม่ก็ต้องไปนั่งวิเคราะห์กัน ทุกสถานการณ์ต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย หากแก้ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีพิเศษ
ส่วนจะเป็นวิธีพิเศษอย่างไรก็ต้องไปว่ากัน --พล.อ.ประยุทธ์กล่าว



เมื่อต่างฝ่ายต่างระดม "ตัวช่วย" ออกมาเข้าแนวรบ ขณะที่วันชี้ชะตานายกฯและรัฐบาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
เหมือนจะเป็นสูตรเดิมที่เคยใช้สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์


แต่ปัจจัยตัวแปร แตกต่างออกไป โดยเฉพาะท่าทีจากต่างประเทศ และขบวนการหนุนรัฐบาลในต่างจังหวัดที่ส่งสัญญาณเหมือนพร้อมแตกหัก

สถานการณ์จากนี้ไปน่าจะอ่อนไหวและหมิ่นเหม่มากขึ้น


ด้วยอุณหภูมิจากวิกฤตยืดเยื้อที่ร้อนระอุอยู่แล้ว

และจากการฉวยโอกาส การจ้องหาจังหวะป่วนของกลุ่มที่ยังหวังพึ่งพา "วิธีพิเศษ"




++

‘เสื้อแดง’เข้าโหมดสู้รบ นปช.ลั่นกลอง-จ่อกรุง? ดับเครื่องชน‘ม็อบสุเทพ’
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393737723
. . วันอาทิตย์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 12:41:03 น.

(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 28 ก.พ. - 6 มี.ค.57 ปี34 ฉ.1750 หน้า11)


สถานการณ์การเมืองถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ

ภายหลังกลุ่ม กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนปักหลักปิดกรุงเทพฯ ขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานาน 4 เดือนเต็ม

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นปช.คนเสื้อแดงนัดรวมตัวแกนนำระดับภูมิภาคทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อกิจกรรม "ลั่นกลองรบ"


นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ประกาศจุดประสงค์การชุมนุม 3 ข้อ
เพื่อร่วมหารือแนวทางต่อสู้รักษาประชาธิปไตย สนับสนุนการเลือกตั้งให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวมวลชน

เปิดโอกาสให้แกนนำแต่ละภูมิภาคปราศรัยเสนอแนะแนวทางต่อสู้

ก่อน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกล่าวสรุปว่า สถานการณ์ขณะนี้เข้มข้นและแหลมคมที่สุดตั้งแต่มีคนเสื้อแดงมา
เมื่อฝ่ายตรงข้ามกดขี่เหยียบย่ำ คนเสื้อแดงจึงไม่อาจนิ่งเฉย
เตรียมเข้าสู่สถานการณ์สู้รบร้อยเปอร์เซ็นต์

แกนนำ นปช. ประกาศยุทธศาสตร์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ระบุให้นายกรัฐมนตรียืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่าลาออกเด็ดขาด และให้แสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับการวินิจฉัยใดๆ ที่ขาดความยุติธรรมและสองมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีว่าต้องการแบ่งแยกประเทศคือ

ข้อที่แกนนำขอให้รัฐบาลพิจารณาสถานที่ทำงานที่จำเป็นในภาคเหนือหรืออีสาน จัดตั้งกองกำลัง เมื่อเกิดสถานการณ์คับขันและหากเลวร้ายถึงที่สุด

ให้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทันที



นอกจากยุทธศาสตร์ข้างต้น

แกนนำ นปช. ยังกำหนดแนวทางต่อสู้ 15 ข้อ ประกอบด้วย

ถ้ามีการนัดหมายเคลื่อนขบวน ให้คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวแบบอิสระ เพราะศาลแพ่งวินิจฉัยในกรณีของกลุ่ม กปปส. แล้ว ซึ่งต้องคุ้มครองแนวทางของ นปช. ด้วย

จัดตั้งกองกำลังชายฉกรรจ์แต่ละจังหวัดไม่ต่ำกว่า 100 คน เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชน ประสานงานกับเครือข่ายประชาธิปไตยทุกกลุ่ม

ให้เผยแพร่รายชื่อผู้เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย เพื่อโจมตีทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

ให้ครอบครัวทหาร-ตำรวจเร่งทำความเข้าใจให้ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จัดตั้งเครือข่ายลูกเมียทหาร-ตำรวจเพื่อทำงานสื่อสารมวลชนในที่ตั้งของตนเอง

ตั้งเวทีชุมนุมรอบปริมณฑลเพื่อกดดัน กปปส. ไม่ให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

จัดตั้งหน่วยนักรบไซเบอร์ เมื่อสถานการณ์คับขัน ต้องเข้ากรุงเทพฯ ให้ชัตดาวน์องค์กรอิสระทั้งหมด

จัดตั้งองค์กรเงาคู่ขนานไปกับองค์กรหลักที่รับใช้เผด็จการ ทำหน้าที่ตอบโต้ทุกประเด็น ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

รณรงค์ต่อต้านรัฐประหารเต็มรูปแบบ จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง ติดตามพฤติกรรมรอบค่ายทหาร จัดหาสถานที่หลบภัยในยามตั้งรับถอยร่น

ให้คนเสื้อแดงสู้เต็มที่ เตรียมทุกสิ่งให้พร้อมสรรพ ทุกสิ่งที่ควรมี ต้องมีและจำเป็นต้องมี ตามความเหมาะสมของสถานการณ์




แกนนำวิเคราะห์การเมืองว่า

ฝ่ายอำมาตย์ มีความมุ่งมั่นไปสู่จุดแตกหักเพื่อทำลายล้างตระกูลชินวัตร พรรคการเมือง และ"ระบอบทักษิณ"ทั้งหมด

ต้องการทำลายล้างกระบวนการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ฝ่ายอำมาตย์ไม่สามารถเอาชนะได้ ดังนั้น ถ้าจะขจัดอิทธิพลทักษิณ จะมีเลือกตั้งไม่ได้

การเสนอให้"ปฏิรูป"ก่อนเป็นกลลวงเพื่อหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตย หยุดการเลือกตั้ง

และเนื่องจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพถูกต่อต้านจากประชาชนและสังคมโลก จึงต้องยึดอำนาจโดยวิธีอื่น

เป็นที่มาของการเสนอยุทธศาสตร์"ปฏิวัติประชาชน-ปฏิรูปประเทศไทย" ใช้มวลมหาประชาชนยึดอำนาจรัฐ

แต่ก็ยังต้องการให้ทหารสนับสนุนทั้งทางตรง คือ ทำรัฐประหารเอง

และทางอ้อม คือ คุ้มครองประชาชนที่ลุกขึ้นสู้

ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ ช่วยสนับสนุนทางลับ เช่น เป็นการ์ดคุ้มกัน คุ้มครองมวลชนลุกขึ้นสู้ในเมือง กดดันรัฐบาลยาวนาน รอคอยโอกาสเกิดความรุนแรง

การใช้องค์กรอิสระบวกกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ กำจัดฝ่ายประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือที่ได้ผลมาร่วม 10 ปี และยึดโยงกับเครือข่ายอำมาตย์แน่นหนาลึกซึ้ง

เมื่อไม่สามารถยึดอำนาจได้ก็ใช้ทฤษฎี "มะม่วงหล่น" ยึดฐานที่มั่นในเมือง รบแบบจรยุทธ์ สะสมอาวุธและยกระดับมวลชน

การอ้างเป็นขบวนการสงบ สันติ ทั้งที่โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยอาวุธ เป็นกลยุทธ์ป้องกันฝ่ายต่างๆ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับตนเอง

พร้อมกันนั้นก็ยิงนก 2 ตัวด้วยกระสุนนัดเดียว คือให้ทหารคุ้มครองตนเองด้วย และอาจได้นกตัวที่ 3 ถ้าหากสถานการณ์บานปลาย

กองทัพก็จะออกมาทำรัฐประหาร



สําหรับฝ่ายประชาธิปไตย หลังชนะเลือกตั้ง ความพยายามเปิดเกมรุกทางการเมืองไม่เคยสำเร็จ เพราะถูกสกัดการใช้อำนาจโดยองค์กรอิสระและตุลาการ

ฝ่ายประชาชนถูกคุมขังยาวนาน
ฝ่ายประชาธิปไตยเปลี่ยนสถานะจากรุกมาเป็นรับและถอยร่น ต้องยุบสภาและเผชิญคดีความหนักหน่วง

ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์เตรียมตัวสู้รบใหม่ทันทีหลังแพ้เลือกตั้ง แต่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่คิดถึงการต่อสู้ในลักษณะสู้รบแตกหัก ยังคิดลักษณะประนีประนอม ใช้การเจรจาเป็นหลัก


ไม่สนับสนุนฝ่ายประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่เฉลียวใจว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงชัยชนะในศึกเลือกตั้ง ไม่ใช่ชัยชนะในสงครามใหญ่

ฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกทำให้อ่อนพลังสู้รบ 


เนื่องจากชัยชนะในการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล นักต่อสู้ส่วนหนึ่งกลายเป็นนักการเมืองและหัวคะแนน แตกแยกกันเนื่องจากผลประโยชน์  ทั้งยังถูกทำให้อ่อนแรงด้วยกลยุทธ์จัดตั้งซ้อนจัดตั้ง ด้วยการจัดตั้งองค์กรอื่นซ้อนเข้ามาในหมู่เสื้อแดงสมาชิก นปช. พยายามแย่งชิงการนำ ทำให้ นปช. อ่อนแอ

การทบทวนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเฉพาะหน้าในสถานการณ์วิกฤตจึงจำเป็น

ที่มีอยู่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว เป็น 2 ขาที่ผูกติดกับพรรคการเมือง ขาดลักษณะสู้รบ ขาดการเป็นฝ่ายกระทำ ไม่อาจสร้างภาวะการนำได้อย่างอิสระ
และถูกหยุดยั้งด้วยฝ่ายการเมืองซึ่งมียุทธศาสตร์เจรจาประนีประนอมเป็นหลัก

ฉะนั้น เมื่อเกิดยุทธการปฏิวัติประชาชน ปฏิรูปประเทศไทยของนายสุเทพและ กปปส. ที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเรียกร้องต่อผู้รักประชาธิปไตย จะต้องยกระดับต่อสู้ทางการเมือง

เพื่อเปลี่ยนจากรับ เป็นรุก




ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แถลงความคืบหน้าการลั่นกลองรบ ว่า 
ถึงเวลาประชาชนต้องออกมาดูแลประชาธิปไตยเอง กำหนดเคลื่อนไหว 1 มีนาคม ณ ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี ก่อนเคลื่อนไปอีกหลายจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ขอให้คนเสื้อแดงพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รอสัญญาณเข้ากรุงเทพฯ
ไม่เพียงการจัดทัพจาก นปช.ส่วนกลาง

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ยังรวบรวมแกนนำเสื้อแดงอีสาน 20 จังหวัด กว่า 500 คน ตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ
เปิดรับอาสาสมัครใน 20 จังหวัดอีสาน ตั้งเป้า 200,000 แสนคน พร้อมจัดเตรียมยุทธวิธีจัดการกลุ่มมุ่งทำลายประชาธิปไตย

ด้านกลุ่มอดีต ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย นำโดย นายไพจิต ศรีวรขาน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายขจิต ชัยนิคม นายอดิศร เพียงเกษ จัดตั้งกลุ่ม"ขบวนการคนอีสานปกป้องประชาธิปไตย"
ประกาศไม่ยอมให้กลุ่มขบวนการที่กระทำขัดกฎหมาย มากำหนดทิศทางประเทศไทย และรับไม่ได้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย
จะไม่ยอมรับทุกเงื่อนไขหากไม่ใช่วิธีการเลือกตั้ง คนอีสาน 20 จังหวัดพร้อมออกมาต่อสู้


นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ระบุ

ปัญหาขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่นายสุเทพแค่คนเดียว แต่อยู่ที่เครือข่ายอำมาตย์ทั้งหมด

การกระทำตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 การล้อมปราบในปี 2552 และ 2553 เป็นตัวละครเดียวกันทั้งสิ้น

ถ้าไม่สู้ เราก็ตาย ถ้าอยากให้บ้านเมืองมีความยุติธรรมเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องออกมาสู้ จะได้รู้ว่าประชาชนของจริงเป็นอย่างไร

จากนี้เข้าสู่สถานการณ์สู้รบแล้ว


..................



.