http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-06-18

ไม่ชูสามนิ้วต่อต้าน แต่ชาวบ้านเรียกร้องเรื่องใหญ่ เรื่องยาก โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ไม่ชูสามนิ้วต่อต้าน แต่ชาวบ้านเรียกร้องเรื่องใหญ่ เรื่องยาก
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1403032697
. . วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 08:00:00 น.
( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ13-19 มิ.ย.57 ปี34 ฉ.1765 หน้า 20 )


ใครก็ตามเมื่อกระโดดเข้ามารับเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะมีอำนาจเต็มแต่ก็ต้องมีหน้าที่ควบคู่กันไป คนต่อต้านไม่ว่าจะชูสามนิ้วหรือกี่นิ้วก็ตาม ปรากฏตัวไม่นานก็จากไป ดูแล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่โต

แต่เรื่องใหญ่ คือทุกข์ของชาวบ้านทั่วไป

พวกเขาจะมีข้อเรียกร้อง ต้องการให้ผู้มีอำนาจแก้ไขเรื่องใหญ่ ถ้าไม่สำเร็จ เขาจะเรียกร้องไปเรื่อยๆ

เมื่อไปสัญญากับประชาชนว่าจะคืนความสุขให้ประเทศไทย ขอให้รอหน่อย ก็จะต้องสนใจข้อเรียกร้องใหญ่ของประชาชน

ซึ่งน่าจะแบ่งได้สามด้าน




เรื่องแรก
ให้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน


ปัญหาปากท้อง ความอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกกลุ่มทุกอาชีพเป็นเรื่องปกติ แต่มิใช่เรื่องที่ทำให้สำเร็จได้ง่าย เพราะพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีรายได้น้อย

ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แก้ไขได้ง่ายๆ เช่น

ปัญหาชาวนา ...รัฐต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายว่า จะรับจำนำข้าวต่อไปหรือไม่?

หลักการจะช่วยเหลือชาวนาจนไม่เกิน 10 ไร่ หรืออุดหนุนทั้งหมด จะส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างไร? ซึ่งจะมีผลไปกำหนดวิธีรับจำนำว่า หนึ่งปีควรจะให้ครั้งเดียวหรือไม่ ครอบครัวละไม่เกินเท่าไร (ไม่รับทุกเม็ด) ราคารับจำนำควรเป็นเท่าไร

ถ้าทำแบบนี้จะมีข้าวเหลือตกไปถึงมือพ่อค้าแน่นอน พ่อค้าอาจชอบใจ แต่ก็จะกดราคาข้าวให้ต่ำลง


ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาก็จะลดการปลูกข้าวลงเพราะทำแล้วขาดทุน ชาวนาจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอะไร

พื้นที่ทำนาจะถูกแปรเปลี่ยนไปทำอะไร ตกเป็นของใคร

ถ้าชาวนาจำนวนมากไม่มีเงิน จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้พวกเขาอย่างไร

ตามข่าวล่าสุดชาวนาขอจำนำ ข้าวตันละ 12,000 ส่วนข้าวหอมมะลิ ขอตันละ 16,000

ปัญหาชาวสวนยางพารา ...ปัจจุบันนี้พื้นที่ปลูกยางพาราทั่วทั้งอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะกัมพูชา พม่า ลาว ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียปลูกเยอะอยู่แล้ว ปัจจุบันแม้แต่ในจีนตอนใต้ก็มีคนปลูกยาง

ราคายางพาราในวันนี้และในอนาคตคงไม่สูงขึ้นไปง่ายๆ รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายว่าจะสนับสนุนการปลูกยางพาราให้เป็นสินค้าส่งออกต่อไปหรือไม่ เพราะยางพาราไม่ใช่พืชเกษตรที่กินได้

ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนมีการตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนการปลูกยางเป็นสินค้าส่งออกเพราะนำเงินให้ประเทศอย่างมากมาย

แต่ในอนาคตค่าใช้จ่ายในการผลิตยางพาราสูงขึ้นมาก ในขณะที่ราคาในตลาดโลกตกต่ำลงจะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า รัฐจะต้องตัดสินใจเชิงนโยบายต่อสินค้ายางพารา เพราะราคาพืชผลเกษตรไม่แน่นอน

ยางราคาขึ้นคนก็เฮ ราคาตกก็ร้องโวยวาย

ถึงวันนี้ชาวบ้านหลายแห่งโค่นต้นยางออกเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน บางคนก็ยืนยันจะเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนและยังหวังว่ายางพาราราคาจะสูงขึ้นซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ยากมาก

เรื่องนี้จะช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างไร พื้นที่ปลูกยางที่บุกรุกทำลายป่า จะช่วยหรือไม่

ที่ยกมาเป็นเพียงแค่พืชเกษตรสองตัวอย่าง แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นชีวิตของพวกเขาเพื่อครอบครัว เพื่อลูก หลายคนทุ่มเทลงไปในเส้นทางที่ตัวเองถนัด เส้นทางที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ เพราะสิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือเป็นเกษตรกร

แต่ปัญหาไม่ใช่มีแค่ชาวนาและชาวสวนยาง ยังมีสวนผลไม้ พืชไร่อีกหลายสิบชนิด ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย ถั่ว พริก หอมกระเทียม ถ้ารัฐจะช่วยทุกคนเพื่อให้ขายพืชผลให้ได้ราคาดีจะช่วยด้วยวิธีใด

ถ้าช่วยแล้วรัฐต้องขาดทุนจะยอมรับได้หรือไม่

การจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาวันนี้พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แต่การจะพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิด ในอนาคตจะเป็นเรื่องยากมาก ถ้าบอกว่าเป็นประชานิยมจะทำต่อหรือไม่ ต้องตัดสินใจ


นโยบายพลังงาน... ทุกวันนี้รัฐก็ต้องช่วยทั้งคนรวยคนจนอยู่แล้วเช่นการพยุงราคาก๊าซ พยุงราคาน้ำมัน แต่ทุกคนปิดปากเงียบไม่มีใครค้านเพราะต่างก็ได้ประโยชน์ ไม่มีใครโวยวายว่าเป็นเรื่องประชานิยม

ที่จริงการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือรัฐไม่ต้องช่วยอะไรเลย แต่วิธีนี้บางคนก็บอกว่าเป็นการปัดปัญหาทิ้งเพราะถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐบาลและถ้าคนเดือดร้อนมากปัญหาใหม่จะเกิดขึ้นและใหญ่กว่าเก่า

ถ้าอย่างนั้นจะยังมีกองทุนน้ำมันหรือไม่?

นี่ยังไม่นับความเดือดร้อนของกลุ่มอาชีพอื่น เช่น การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมตั้งรับ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ต้องทำ เช่นรถไฟทางคู่ ที่จะช่วยด้านการขนส่งคมนาคมได้มาก ควรรีบทำ โครงการน้ำ ซึ่งอาจพบการต่อต้านจากเจ้าของนา เจ้าของสวน กล้าจ่ายเงินเวนคืนราคาสูงหรือไม่

การป้องกันการทุจริตจะทำอย่างไร ในทุกโครงการ แค่มองผ่านๆ ปัญหายังเยอะขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงเวลาลงมือทำจริง



เรื่องที่สอง
การแก้ปัญหาความยุติธรรม


ชาวบ้านคิดว่า ความปรองดอง ความสงบสันติ จะยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมในขณะนี้กลับสร้างขึ้นมาได้ไม่ง่ายนัก ถ้าดูจากความขัดแย้งตลอดแปดปีที่ผ่านมา จะต้องมีการรื้อของเก่าบางส่วน ปรับปรุงบางส่วนและสร้างใหม่บางส่วน

1.ด้านกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญจนถึงกฎหมายลูก กฎหมายประกอบต่างๆ วันนี้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวก็ยังไม่เห็น รัฐธรรมนูญถาวรถ้ามีการร่างใหม่ก็ต้องตั้งกรรมการซึ่งมาจากหลายฝ่ายและจะต้องให้ประชาชนยอมรับโดยผ่านการลงประชามติ แต่ถ้าจะปฏิรูปตามที่เรียกร้องกัน ก็ต้องให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ต้องใช้เวลา ถ้าทำมาแล้วสร้างปัญหาแบบฉบับ 2550 ปัญหาก็ไม่จบสิ้น

2.ด้านองค์กรในกระบวนยุติธรรม ทั้งอิสระและไม่อิสระ จะต้องให้เป็นที่ยอมรับทั้งที่มาและวิธีเลือกตัวบุคคล ระเบียบวิธีทำงาน ขอบเขตของอำนาจ การตรวจสอบ การปลด การลงโทษ บุคลากรที่มีอำนาจทุกคนทุกชั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด สามารถเปลี่ยนแปลงและปลดออกได้ตลอดเวลา

นี่เป็นโอกาสดีที่สุดในช่วงแปดปีที่จะทำการปรับปรุงทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม

ในสภาพปัจจุบันอาจมีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้ยุบองค์กรเหล่านี้จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเป็นแสนๆ

แต่การมีองค์กรเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าจะยุบองค์กรเดิมก็ต้องคิดวิธีจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทดแทน เช่น มาจากการคัดเลือกของสภาที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ หรือวิธีการอื่น แต่ต้องให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะถ้าไม่เป็นที่ยอมรับ ความขัดแย้งก็จะปะทุขึ้นมาอีก

วันนี้คนส่วนใหญ่ยังให้โอกาส และรอคอย เพราะคิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สร้างความยุติธรรมได้มากกว่าเดิม

แม้มีคนบางส่วนค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีระบบตรวจสอบ แต่การให้โอกาสนี้จะถูกพิสูจน์ในเวลาไม่นานนี้ การจับมือสาบาน หรือจัดกิจกรรมร่วมกัน เป็นรูปแบบที่สร้างภาพทางจิตวิทยาได้ แต่ความยุติธรรมจากตัวกฎหมาย และจากองค์กรที่ปฏิบัติ จะทำให้คนเชื่อถือมากกว่า

ชาวบ้านกำลังจับตาดูในทุกตำแหน่งที่จะมีการตั้งขึ้นมาทั้งสภา ทั้งรัฐบาล ว่าจะมีการตั้งคนที่จะมีส่วนสร้างความขัดแย้งมามีอำนาจอีกหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็น เสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. เพื่อไทย ปชป. ถ้าดูแล้วไม่ชอบมาพากล คงเกิดปัญหาตามมาแน่นอน



เรื่องที่สาม
สิทธิเสรีภาพของประชาชน


ความหมายของสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันไม่ใช่แค่สิทธิทางการเมือง หรือการไปเลือกตั้งเท่านั้นในโลกสมัยใหม่ที่ระบบสื่อสารทันสมัยสามารถส่งสัญญาณภาพ สัญญาณเสียงไปทั่วโลกในพริบตา ผู้คนจะเรียกร้องหาเสรีภาพทุกรูปแบบโดยไม่จำกัดเวลา เพียงแค่ระบบสื่อสารบางด้านหรือบางกลุ่มถูกบล็อกถูกปิดก็จะมีคนโวยวาย

ดังนั้น เรื่องสิทธิเสรีภาพจึงกลายเป็นปัญหาเฉพาะหน้า แม้คนที่อยากจะควบคุมต้องจัดการให้เหมาะสมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีคนค้านการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ เพราะความคิดคนไม่เหมือนกันการเห็นด้วย หรือต่อต้าน ก็มีระดับ และรูปแบบก็หนักเบาต่างกัน ความเห็นของชาวบ้านในเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีหลายเรื่อง...

เรื่องการควบคุมการต่อต้าน ไม่ควรทำแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน คนประท้วงไม่กี่คน แต่ใช้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร หลายกองร้อย การปิดพื้นที่กระทบการค้าและจราจร ทางการเมืองก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ใครๆ ก็มองเห็นช้างก่อน และก็มองเห็นตั๊กแตน

เรื่องการเคอร์ฟิว หวังว่าจะถูกยกเลิกเร็วๆ นี้ ในสถานการณ์วันนี้ได้ไม่คุ้มเสีย เรื่องความมั่นคง คสช. มีเต็มร้อยอยู่แล้ว แต่เคอร์ฟิวช่วงนี้ไปส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ และการเมืองมากกว่า

เรื่องการควบคุมสื่อ น่าจะทบทวนให้ละเอียด บางสื่อไม่ใช่สถานีการเมือง ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ทำงานไม่ได้ ควรใช้การควบคุมเนื้อหา รายการ ก็น่าจะทำได้

ทุกวันนี้คนทำข่าว หรือเขียนการเมือง ก็พอรู้ว่าต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้ประชาชนได้รับรู้สถานการณ์


ส่วนสิทธิการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ไม่มีใครคิดว่าจะได้เลือกในเดือนสองเดือนนี้อยู่แล้ว แต่การบริหารงานแบบมีคณะรัฐบาล ย่อมให้ความมั่นในใจต่อผู้ลงทุน และนานาชาติมากกว่า ตอนนี้ งานมากเวลาน้อย จะมามัวทำเรื่องเล็กน้อยได้อย่างไร แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำเรื่องใหญ่

จากวันนี้ไป ต้องมีคนเก่ง คนดี มาพิสูจน์ฝีมือ ในสภาพที่มีอำนาจเต็ม เพียงต้องระวังอย่าให้สะดุดก้อนหิน หรือคนข้างๆ มาเตะตัดขาให้หกล้ม กระแสชื่นชมจะขึ้นสูง ไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นต้องวัดที่ผลงาน

ตามทฤษฎีของอำนาจ อำนาจยิ่งรวมศูนย์ฐานจะแคบ ถ้ามีอะไรมากระทบจะล้มง่าย การกระจายฐานออกไปสู่ประชาชนจะมั่นคงกว่า




.

2557-06-16

สังคมอณู โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สังคมอณู 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402932016
. . วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 22:51:11 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 16 มิ.ย.2557 )


ร้องเพลงเต้นรำก็มีความสุข แต่เป็นความสุขชั่วคราว อีกทั้งสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมที่ขาดแคลนการร้องเพลงเต้นรำ ธุรกิจบันเทิงเช่นนี้ยังปรับตัวให้คนต่างฐานะทางเศรษฐกิจเข้าถึงได้อย่างค่อนข้างทั่วถึง

ดังนั้น ร้องเพลงเต้นรำจึงไม่อาจสมานรอยร้าวหรือความแตกแยกในสังคม เพราะท่ามกลางความแตกแยกที่ผ่านมา ร้องเพลงเต้นรำก็มิได้ขาดหายไปไหน ความไร้พลังของร้องเพลงเต้นรำที่จะสมานรอยร้าว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความแตกแยกนั้นร้าวลึกมานานเท่านั้น แต่มันได้สร้างความเจ็บปวดเป็นส่วนตัวให้แก่คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่สูญเสียญาติมิตรไปในการปะทะกันเท่านั้น

มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ เมื่อใครสักคนถูกปืนจ่อหัว บังคับให้ลั่นไกปืนยิงเพื่อนที่คบกันมาตลอดชีวิต ระหว่างชีวิตเรากับชีวิตเขา มีทางเลือกได้เพียงอย่างเดียว 
ในฐานะมนุษย์ปุถุชน คุณลั่นไก ผมก็เข้าใจ 
คุณไม่ลั่นไก แต่ยอมถูกยิงหัวเละ ผมก็เข้าใจ

และในฐานะมนุษย์ปุถุชนเหมือนกัน มันเจ็บปวดเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องลั่นไก หรือคนที่จะถูกลั่นไก


ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ว่า สตาลินเป็นคนแรกที่พัฒนาอำนาจครอบงำของเผด็จการเบ็ดเสร็จไปถึงขั้นที่ทุกคนถูกปืนจ่อหัวให้ยิงเพื่อนของตนเอง นั่นก็คือเหนือกว่าตำรวจลับซึ่งเผด็จการเบ็ดเสร็จทุกแห่งย่อมใช้อย่างได้ผลทั้งสิ้น สตาลินได้สร้างระบบที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นสายลับของรัฐเผด็จการทั้งหมด พฤติกรรมใดๆ ที่น่าระแวงสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์กับเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ จะถูกรายงานให้รัฐได้ทราบ เพราะการไม่รายงาน ทั้งๆ ที่รู้เห็นการกระทำเช่นนั้น อาจทำให้ได้รับโทษไม่ต่างจากกัน หรืออย่างน้อยก็ตกเป็นผู้ที่รัฐระแวงสงสัย ถึงตนเองไม่รายงาน ก็อาจมีผู้อื่นที่ใกล้ชิดกับบุคคลผู้นั้นรายงาน และในกรณีเช่นนั้น การไม่รายงานให้ทันเวลาก็คือร่วมมือหรืออย่างน้อยก็รู้เห็นเป็นใจกับปฏิปักษ์ของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

ปืนที่จ่อหัวอยู่เช่นนี้ บังคับให้ทุกคนยิงให้เร็ว ยิงโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ยิงก่อนที่ตนเองจะถูกยิงจนหัวเละ ยิงก่อนที่คนอื่นจะยิงเพื่อนของเรา เพราะเท่ากับเราจะต้องถูกยิงหัวเละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฮิตเลอร์ไม่ได้ใช้วิธีการเช่นนี้ จึงทำให้มีเรื่องแบบ "ชินด์เลอร์′ส ลิสท์" ในภาพยนตร์ได้ (และที่จริงมีกรณีเช่นนี้อีกหลายกรณี ทั้งที่มีบันทึกและไม่มีโดยตรง)


ในสหภาพโซเวียตสมัยสตาลิน เราได้รู้เห็นเรื่องราวอันเจ็บปวดเช่นนี้เกิดขึ้นแก่บุคคลต่างๆ ตลอดมา หนึ่งในเรื่องที่จะเล่าในที่นี้คือเรื่องของเดวิด ออยสตร๊าค นักไวโอลินฝีมือหนึ่งกับรอสโตรโปวิทช์ นักเชลโลฝีมือหนึ่งเช่นกัน ทั้งคู่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโซเวียตให้ออกไปแสดงในกรุงปารีส เย็นวันแรกที่ทั้งคู่ซึ่งเป็นเพื่อนกันออกเดินเที่ยวชมเมือง จู่ๆ ออยสตร๊าคก็คุกเข่าลงต่อหน้าเพื่อนของเขา จับมือของเพื่อนขึ้นทูนหัวแล้วร้องไห้ สารภาพว่าก่อนจะออกเดินทางมาปารีส เขาได้เขียนบทความลงอิสเวสเตีย ประณามเพื่อนของเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์สร้างความเสื่อมเสียให้รอสโตรโปวิทช์ ตามความประสงค์ของสตาลินซึ่งไม่โปรดรอสโตรโปวิทช์แล้ว

รอสโตรโปวิทช์เล่าว่า เขากลับไปอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของเขาที่มอสโก บอกเมียและเตรียมเข้าของสำหรับการถูกส่งตัวไปไซบีเรีย นอนไม่หลับเพราะรอฟังเสียงเคาะประตูทั้งคืน ติดต่อกันหลายคืน กว่าจะรู้ว่าโทษของเขาไม่หนักถึงเพียงนั้น เขาได้แต่ถูกเพื่อนทุกคน "ยิง" โดยไม่ร่วมงานและไม่คบค้าสมาคมด้วยอีกต่อไปเท่านั้น




นี่เป็นกรณีเดียวที่มีเรื่องเบื้องหลังและสร้างความประทับใจเท่านั้น แต่มีกรณีอื่นอีกนับล้านที่เพื่อนรายงานเพื่อน, นายรายงานลูกน้อง, ลูกน้องรายงานนาย, ลูกรายงานพ่อแม่, พ่อแม่รายงานลูก, ครูรายงานศิษย์, ศิษย์รายงานครู ฯลฯ คนทั้งสังคมกลายเป็นอณู หมุนไปตามแรงขับเคลื่อนของรัฐ โดยไม่มีความสัมพันธ์กันเองอีกเลย นี่คือบรรยากาศของนวนิยาย 1984 ของจอร์ช ออร์เวลล์ ที่มนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์อะไรอื่นต่อกัน นอกจากความสัมพันธ์กับรัฐ แม้แต่ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ คือความรักกับคนต่างเพศ รัฐก็ไม่อนุญาตและเข้ามาทำลายให้กลับลงไปเป็นอณูตามเดิม

หลังการรัฐประหาร เราได้ยินข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย แนะนำให้คอยตรวจตราสอดส่องกันเองว่าใครมีพฤติกรรมที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ (ตามนิยามของ คสช.กระมัง) ก็พึงรายงานให้หน่วยเหนือทราบ มีการปิดเฟซบุ๊กในช่วงสั้นๆ เพื่อสอดแทรกโปรแกรมตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถปิดเฟซบุ๊กของบุคคลได้ เฟซบุ๊กในโลกปัจจุบันเข้ามาแทนที่การสื่อสารทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะที่คนไทยยี่สิบกว่าล้านคนใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเกือบไม่ต่างจากการเปล่งเสียง ร.เรือไม่ชัด แล้วห้ามพูด ที่ปรึกษาของกระทรวงไอซีทีแจ้งในเชิงขู่ว่า เพื่อนและผู้ติดตามในเฟซบุ๊กอาจเป็นสายลับที่คอยแจ้งให้กระทรวงตามปิดเฟซบุ๊กนั้น หรือจับเจ้าของดำเนินคดีก็ได้ กฎอัยการศึกห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ในทางปฏิบัติคนอ่านหนังสือเพียง 4 คน ก็อาจถูกเรียกตัวไปสอบสวน ผู้หญิงคนหนึ่งประกาศความเห็นทางการเมืองผ่านผ้าปิดหน้าของตนเพียงคนเดียว ก็ถูกนำตัวไปสอบสวนเช่นกัน

รัฐรุกเข้ามายึดครองพื้นที่ความสัมพันธ์และการสื่อสารทุกชนิด ความสัมพันธ์และการสื่อสารคือพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่า "สังคม" รัฐทุกรัฐในโลกนี้นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ที่จะต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมเสมอ แต่การจัดความสัมพันธ์ให้ไม่มีสังคมเหลืออยู่ มีแต่รัฐ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและไม่พบว่าทำได้อย่างยั่งยืนในสังคมใด

ความกระตือรือร้นของข้าราชการซึ่งต้องการจะเอาใจนายใหม่ เพื่อช่วงชิงตำแหน่งกันเองนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ความกระตือรือร้นของพวกเขาเพียงอย่างเดียว ไม่อาจสร้างบรรยากาศของรัฐที่ไร้สังคมได้ถึงขนาดนี้ หากไม่ได้รับความสมยอมของอำนาจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยความกระตือรือร้นเสียเอง

เพื่อความเป็นธรรมควรกล่าวด้วยว่า สภาพที่พื้นที่ความสัมพันธ์และการสื่อสารของสังคมไทย ไม่ได้เพิ่งถูกเบียดเบียนหลังรัฐประหาร แต่ดำเนินมาหลายเดือนหรืออาจหลายปีมาแล้ว คนจำนวนไม่น้อยในสังคมถูกทำให้เชื่อว่าชีวิตมีความภักดีได้เพียงอย่างเดียว ใครจะเป็นเพื่อน หรือแม้แต่ญาติกันได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความภักดีเพียงอย่างเดียวนั้นตรงกันหรือไม่ ใครที่มีความสัมพันธ์หรือการสื่อสารที่ทำให้ระแวงได้ว่าไม่ได้มีความภักดีตรงกัน ก็พึง unfriend คนนั้นเสีย

(คำนี้ในทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อาจไม่มีความหมายอะไรมากนัก เมื่อคุณสมัครรับการสื่อสารในฐานะ friend ผมก็ไม่อนุญาตให้คุณรับการสื่อสารนั้นต่อไปด้วยการ unfriend คุณ แต่ในภาษาไทยความหมายมันโหดร้ายกว่านั้นแยะ ในฐานะเพื่อน เราไม่ได้ตัดเฉพาะการสื่อสารบางเรื่อง แต่เราถอดเขาออกไปจากความเป็นเพื่อนโดยสิ้นเชิง ความสัมพันธ์ที่มีมาทั้งหมดถูกถอดกองทิ้งไว้อย่างไม่ไยดี และในชีวิตจริง "เพื่อน" จริงๆ ก็ถูก unfriend กันมาไม่น้อยแล้ว)

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกเจ็บปวดเมื่อพ่อแม่ต้องสั่งให้ลูกสาวเปลี่ยนนามสกุล หรือพ่อต้องแจ้งความฟ้องลูก เพราะทนต่อแรงกดดันของคนรอบข้าง (ซึ่งอาจรวมเพื่อนบ้านด้วย) ไม่ได้ หลายคนบ่นให้ฟังว่า เพื่อนจากชั้นมัธยมเลิกคบตนเองหมด เพราะความเห็นทางการเมืองหรือความภักดีสูงสุดไม่ตรงกัน แม้ตัวผมเองไม่เคยโดนด้วยตัวเอง (หรือโดนแล้วไม่รู้สึกก็ไม่ทราบ) แต่ก็ยอมรับว่าเจ็บปวดกับความสูญเสียซึ่ง "มนุษยภาพ" ของคนไทย ตระหนกกับการที่เราเลื่อนไหลเข้าไปอยู่ในสหภาพโซเวียตภายใต้สตาลินได้อย่างไร

Hannah Arendt เล่าถึงความเจ็บปวดเช่นนี้ไว้ใน Responsibility and Judgement ว่า เมื่อนาซีได้อำนาจในเยอรมัน พฤติกรรมอันเหี้ยมโหดของนาซีเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แม้แต่เมื่อคนธรรมดาเข้าไปร่วมมือกับนาซีด้วยความกลัวก็เป็นพฤติกรรมที่เข้าใจได้ แต่เมื่อคนใหญ่คนโต หรือแม้แต่เพื่อนของเราเองกลัวจะพลาดกระบวนรถไฟพากันออกมาส่งเสียงสนับสนุนนาซี นี่ต่างหากที่เข้าใจยากและเจ็บปวดกว่ากันมาก



ยิ่งกว่า unfriend คือการล่าแม่มด ซึ่งคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ถูกล่า เพราะมีการเผยภาพ, ที่ทำงาน, เบอร์โทรศัพท์, บ้านพัก, ฯลฯ ของเหยื่อ ข้อมูลเหล่านี้ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ ก็เพื่อการละเมิดเหยื่อเท่านั้น นับตั้งแต่ละเมิดด้วยวาจา, ร่างกาย หรือการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้เหยื่อได้รับความยากลำบากในชีวิต

ท้ายที่สุดถึงกับตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าทัณฑ์ที่จะลงแก่เหยื่อคืออะไร อาจร้ายแรงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายก็ได้ เพราะผู้จัดตั้งประกาศระดมอาวุธ และช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ร่วมมือเก็บขยะ


การยึดอำนาจของกองทัพจะระงับความแตกแยกได้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยจากการที่เป็นฝักฝ่ายหลายฝ่าย กองทัพก็ทำให้เหลือฝ่ายเดียว แต่การทำให้เหลือฝ่ายเดียวนี้หมายถึงใช้กำลังบังคับให้มีความภักดีสูงสุดอยู่เพียงหนึ่งเดียว และการใช้กำลังบังคับให้ไม่เหลือพื้นที่ของความสัมพันธ์และการสื่อสารอื่นใด นอกจากความสัมพันธ์และการสื่อสารกับรัฐ แก่นแท้ของมันจึงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากความภักดีต่อสีเสื้อให้เป็นรัฐแต่อย่างเดียว เพื่อความปลอดภัย ผู้คนยังต้อง unfriend กันในชีวิตจริง พ่อแม่ยังต้องฟ้องกล่าวโทษลูก ผู้คนยังต้องเปลี่ยนนามสกุลเพื่อไม่ให้กระทบถึงธุรกิจของครอบครัว

เราก็ยังเป็นอณูเหมือนเดิม



.

2557-06-03

ประชาธิปไตยแบบตู่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยแบบตู่
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1401714264
. . วันอังคารที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:40:45 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน  2 มิ.ย.2557 )
ภาพ: มหาภารตยุทธ คัมภีร์ภควัทคีตา-สงครามของผู้ถือธรรมะ


ด้วยความนับถือ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี อย่างสืบเนื่องตลอดมาโดยไม่เสื่อมคลาย ผมไม่เคยชอบที่ต้องเขียนอะไรแย้งท่านเป็นการสาธารณะเลย ยกเว้นแต่เห็นว่าความเห็นของท่านในเรื่องนั้นๆ จะมีผลร้ายแก่ส่วนรวม

เพิ่งมีบทความของท่านเรื่อง "ประชาธิปไตยแบบพุทธ" ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ไม่นานต่อมาก็เกิดการประกาศกฎอัยการศึกและการยึดอำนาจบ้านเมืองด้วยกำลังกองทัพ ประกาศให้รัฐธรรมนูญสุดสิ้นลง ซึ่งหมายความว่าในที่สุดก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นแบบพุทธหรือแบบอื่น จึงมีความสำคัญ ผมเห็นว่าจำเป็นต้องแย้งความเห็นของบุคคลที่ผมนับถือท่านนี้เป็นการสาธารณะ แม้จะรู้ว่าคงไม่มีผลสะเทือนได้เท่ากระผีกริ้นเมื่อเทียบกับบทความของท่าน


"ประชาธิปไตยแบบพุทธ" ในความเข้าใจของท่านอาจารย์ประเวศ ไม่ต่างจากคำยกย่องพระพุทธศาสนาว่าเป็นประชาธิปไตยมาเกือบ 100 ปีแล้ว คือยกเอาพระวินัยหรือหลักการปกครองดูแลกันเองในหมู่สงฆ์เป็นพยานหลักฐาน สิ่งที่ "ใหม่" ในคำอธิบายของท่านอาจารย์ประเวศก็คือ วิธีคิดแบบพุทธ (ซึ่งไม่ได้แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธทั่วโลก แต่เป็นการตีความของนักปราชญ์พุทธในปัจจุบัน) เป็นวิธีคิดที่ไม่แบ่งความจริงออกเป็นสองด้าน (วิธีคิดแบบทวิภาวะ) วิธีคิดเช่นนี้แตกต่างจากวิธีคิดของประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งมีฐานอยู่ที่วิทยาศาสตร์แบบกลไก กล่าวคือต้องมีผิด-ถูก ชั่ว-ดี ที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด สองฝ่ายต้องต่อสู้กันเพื่อหาเสียงข้างมากในการหยั่งเสียง ทำให้เกิดความแตกแยกเสียสามัคคีธรรม "ประชาธิปไตยแบบพุทธ" จึงเป็นการหามติเอกฉันท์ในที่ประชุม โดยอาศัยการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นกันโดยสุจริต จนกว่าทุกฝ่ายอาจบรรลุมติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้

(ขอนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ในทางตรรกะ มติเอกฉันท์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้คือสิ่งที่ "ถูก" ใช่หรือไม่... ความ "ถูก" มีอยู่ และบรรลุถึงได้ด้วยสามัคคีธรรม ถ้ามีถูก-ผิดเช่นนี้ จะพ้นจากการคิดแบบทวิภาวะได้อย่างไร ท่านกำลังพูดถึงวิธีคิดหรือวิธีการกันแน่?)



ระเบียบปกครองคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัตินั้น นำมาปรับใช้กับสังคมโดยรวมได้หรือไม่? ดูเหมือนปัญหานี้ถูกตอบในเมืองไทยอย่างไม่ต้องไตร่ตรองเลยว่า ได้
แต่คณะสงฆ์คือชุมชนนักบวชขนาดเล็ก (ในทุกสังคมพุทธตั้งแต่พุทธกาลมาแล้ว) ยิ่งไปกว่าขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสังคมใหญ่ คณะสงฆ์ยังเป็นชุมชนที่ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าจะแยกออกเป็นต่างหากจากสังคมใหญ่ มีประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองที่ไม่ตรงกับสังคมใหญ่ หรือบางกรณีตั้งใจให้เป็นตรงกันข้ามกับประเพณีวัฒนธรรมของสังคมใหญ่เลย เช่นไม่ผลิตอะไรเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงบริโภคให้น้อยที่สุดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ภิกษุแต่ละรูปไม่ถือครองทรัพย์สินมากไปกว่าเพื่อใช้ในการบริโภคอย่างจำกัด ไม่มีครอบครัว เพราะครอบครัวย่อมทำให้การไม่ผลิต ไม่สะสม ไม่บริโภคเกินจำเป็นทำได้ยาก

ชุมชนสงฆ์ยังประกอบด้วยสมาชิกที่ปฏิญาณจะดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง) อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ ซึ่งสำนวนบาลีเรียกว่า "มีธรรมเสมอกัน" แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากความเป็นจริงในสังคมใหญ่

สังคมฆราวาสหลายแห่งและหลายชนิด พยายามจะสร้างสังคมของคนที่มี "ธรรมเสมอกัน" เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่คอมมิวนิสต์เผด็จการ, ฟาสชิสต์-นาซี, สังคมคริสต์ในยุโรปสมัยกลาง, สังคมพิวริตันในอาณานิคมอเมริกา, ฯลฯ ผลก็คือฆ่าล้างผลาญทั้งเผ่าพันธุ์และศัตรูของ" "ธรรมเสมอกัน" ลงเป็นล้าน หรือการล่าแม่มดที่จับคนจำนวนเป็นพันไปเผาทั้งเป็นเพราะมีธรรมไม่เสมอกัน

แน่ใจได้อย่างไรว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้ระเบียบปกครองในชุมชนสงฆ์เป็นแบบอย่างแก่การปกครองในสังคมใหญ่ แน่นอนว่า มีคำสอนที่มุ่งสอนฆราวาสหรือการปกครองของสังคมโดยรวม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสังคมใหญ่ควรจำลองชุมชนสงฆ์ไปใช้ในการดำเนินการ อันที่จริงหากวิเคราะห์คำสอนแก่ฆราวาสและผู้ปกครองฆราวาสแล้ว กลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีสำนึกเต็มเปี่ยมว่าสังคมใหญ่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากชุมชนสงฆ์ ทั้งในแง่เป้าหมายและวิธีการ (หมั่นคนละเรื่อง, การปฏิบัติต่อภรรยาในทิศหก, พระราชาพึงแจกจ่ายพระราชทรัพย์เพื่อการผลิตของประชาชน ฯลฯ)...

หากสังคมใหญ่และชุมชนสงฆ์จัดการและจัดองค์กรเหมือนกันหมด ใครจะเป็นคนตักบาตรล่ะครับ


ปัญหาที่สำคัญกว่าก็คือความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับสังคมใหญ่ ในขณะที่ชุมชนสงฆ์ปฏิเสธสังคมใหญ่ในหลายเรื่อง จะอยู่ร่วมกับสังคมใหญ่โดยไม่เป็นปรปักษ์กันได้อย่างไร คำสอนจำนวนมากของพระพุทธองค์มีเกี่ยวกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์และสังคมใหญ่โดยรวม (ซ้ำเป็นสังคมสมัยพุทธกาลด้วย ไม่ใช่สังคมปัจจุบัน)

ก็จริงที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธวิธีคิดแบบทวิภาวะ แต่ตราบเท่าที่เป็นวิธีคิด ก็ย่อมใช้ได้กับปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ แน่นอนว่าหากทุกคนในสังคมมีวิธีคิดเชิงเอกภาวะหมด ผมก็เชื่อว่าความขัดแย้งต่างๆ คงหมดไป เพราะจะมองเห็นแง่ดีของความเห็นที่เราปฏิเสธเสมอ แต่หากสมาชิกของสังคมใดก็ตามกลายเป็นสาวกของศาสดาของศาสนาใดอย่างเข้าถึงระดับจิตใจขนาดนั้น บางทีเราไม่จำเป็นต้องพูดกันเรื่อง "ระบอบ" "ปกครอง" อีกแล้วกระมัง เหมือนพระอรหันต์ย่อมมีวัตรอันต้องด้วยพระวินัย โดยไม่ได้นึกถึงวินัยบัญญัติเลย

แต่มีสังคมอย่างนั้นอยู่จริงในโลกหรือครับ ที่ท่านอาจารย์ประเวศเสนอความเห็นเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ ก็เพราะมันไม่มีไม่ใช่หรือครับ อนึ่ง ท่านอาจารย์ประเวศพูดถึงประชาธิปไตยแบบพุทธเป็นคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยตะวันตก นี่เป็นวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะแล้วหรือครับ


หลังจากพูดถึงวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะทั้งของพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ใหม่แล้ว ท่านอาจารย์ประเวศก็หันมาเสนอวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยวิธีคิดแบบนี้ โดยท่านอาศัยประสบการณ์ในชีวิตมหาวิทยาลัยของท่านเองเป็นตัวอย่าง คือการประชุมหามติกันโดยไม่มีการหยั่งเสียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันโดยเสรี จนต่างฝ่ายต่างเห็นข้อดีข้อเสียของความเห็นนั้นกันทะลุปรุโปร่ง จึงบรรลุมติที่เป็นเอกฉันท์โดยอัตโนมัติ

ท่านอาจารย์ประเวศไม่ได้เป็นคนแรกที่คิดวิธีการนี้ขึ้น ระหว่างปี 1957-1966 ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย ยกเลิกสภาและรัฐบาลลงหมด แล้วปกครองด้วยกฤษฎีกาของประธานาธิบดีเพียงคนเดียว ท่านประธานาธิบดีอ้างว่าท่านใช้วิธีการของหมู่บ้านในอดีต คือปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เปิดให้แสดงความเห็นกันอย่างเสรี จนในที่สุดก็มาบรรลุมติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันโดยไม่ต้องหยั่งเสียง เช่นเดียวกับอาจารย์ประเวศ ประธานาธิบดีซูการ์โนรังเกียจการหยั่งเสียง เรียกว่าเป็นแบบ "ตะวันตก" เหมือนกัน คิดว่าทำให้แตกความสามัคคีเหมือนกัน ระบอบปกครองของซูการ์โนในช่วงนี้ เรียกในตำรารัฐศาสตร์ว่า Guided Democracy ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่ที่ใช้ในอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนท่านประธานาธิบดีเรียกว่าเป็นระบบ Gotong-Royong คือช่วยๆ กันไป (เอื้ออาทรในภาษาเอ็นจีโอไทย)

ท่านอาจารย์ประเวศคงมีประสบการณ์การประชุมแบบไม่หยั่งเสียงเช่นนี้มามาก ผมเองก็เคยมีแม้ไม่มากเท่า และเคยเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมลักษณะเช่นนี้ในหมู่บ้าน สิ่งที่ผมพบในการประชุมเช่นนี้ ไม่ว่าในระดับหมู่บ้าน หรือมหาวิทยาลัย หรือที่ประชุมซึ่งใหญ่กว่านั้นก็คือ ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ได้มีความเสมอภาคกันนอกที่ประชุม มีคนที่มีเกียรติยศ, ชื่อเสียง, วาทศิลป์, อำนาจ, ทรัพย์ลดหลั่นกันไป ทำให้ความเห็นของแต่ละฝ่ายนั้นไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากัน ทวิภาวะหรืออเนกภาวะของความเห็นจึงถูกทำให้กลายเป็นเอกภาวะได้ไม่ยากนัก ผมไม่ทราบหรอกว่า การประชุมโดยไม่หยั่งเสียงในภาควิชาอายุรศาสตร์ที่ท่านอาจารย์ประเวศเป็นหัวหน้าภาคนั้น ก่อให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์มากน้อยแค่ไหน แต่ผมได้พบว่าในหมู่บ้านไทยนั้นมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" ที่ต้องมีการหยั่งเสียง เพียงแต่เขาใช้การนินทา, การอู้ และพิธีกรรม หรือบางครั้งความรุนแรง ในการต่อต้านมติที่เขาไม่เห็นด้วยเท่านั้น

ระบบ Guided Democracy ของซูการ์โนสิ้นสุดลงที่การรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญของกองทัพ เป็นผลให้มีคนถูกฆ่าตายประมาณ 500,000 คน



ผมได้ยินคนที่รังเกียจการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" มักพูดเสมอว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทุกครั้งที่เขาตำหนิประชาธิปไตยแบบนี้ เขาเองจะพูดประหนึ่งว่าประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" ไม่มีอะไรอื่นนอกจากการหยั่งเสียง (การเลือกตั้งคือการหยั่งเสียงชนิดหนึ่ง...อย่าลืม) แท้ที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่าแบบตะวันตกนี้ หัวใจอยู่ที่เปิดโอกาสให้มีการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน แต่การต่อรองอย่างเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่อิสระเสรี และเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน ทั้งเป็นข่าวสารข้อมูลจากทุกฝ่าย ชาวนามีโอกาสที่จะบอกความต้องการอันชอบธรรมของตนเอง ได้เท่ากับนักวิชาการและประธานหอการค้าไทย ต้องอาศัยกฎหมายและการบังคับใช้กฏหมายที่เป็นธรรม(ยอมรับได้ในคนหมู่มาก) การศึกษาที่สอนให้คนนับถือตนเองและคนอื่น และคิดเป็น มีเสรีภาพในการจัดองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และการต่อรองด้านอื่นๆ

ในกระบวนการต่อรองอันสลับซับซ้อนของสังคมเช่นนี้ คือทำให้ความเห็นอันเป็นอเนกภาวะค่อยๆ ถูกประนีประนอมเข้ามาเป็นเอกภาวะนั่นเอง เพราะทุกคนรู้ว่าในที่สุดก็ต้องนำไปสู่การหยั่งเสียงหรือมติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการหยั่งเสียง (มติครม., มติสภาพัฒน์, มติที่ประชุมภาควิชา, มติสภาอบต., มติสมาคมฟุตบอล, ฯลฯ) จึงต้องยอมรับความเห็นอื่นเข้ามาให้มากที่สุด

ประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่าแบบตะวันตกนั้น หากได้มีโอกาสพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดกลไกและความสามารถในการต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น และการหยั่งเสียงในแต่ละครั้ง ก็จำเป็นต้องรวมเอาข้อเสนอในการต่อรองเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นสิ่งที่ Guided Democracy (ซึ่งท่านอาจารย์ประเวศเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบพุทธ") ทำไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน หากเป็นประชาธิปไตยจริง ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะของพระพุทธศาสนาแต่อย่างไร และดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนต้นแล้วว่า ท่านอาจารย์ประเวศกำลังสับสนระหว่างวิธีคิดและกระบวนการ ที่ท่านพูดและอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบพุทธนั้น ที่จริงไม่ใช่วิธีคิดแต่เป็นกระบวนการ (ซึ่งผมเห็นว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย) หากเราเปิดและพยายามสร้างเสริมให้กระบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทย ได้พัฒนาไปสู่การกระจายอำนาจต่อรองไปอย่างเท่าเทียมแก่คนทุกกลุ่ม กระบวนการประชาธิปไตยต่างหาก ที่สอดรับกับวิธีคิดแบบพุทธมากกว่า เพราะจะไม่มีมติที่มาจากการหยั่งเสียงใดๆ สามารถละเลยหรือมองข้ามความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ไปได้


แน่นอนว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถขจัดคนชั่วไปได้ (เหมือนศาสนาทุกศาสนาในโลก) แต่ประชาธิปไตยที่ให้อำนาจต่อรองแก่คนหลากหลายกลุ่ม ทำให้คนชั่วไม่สามารถลอยนวลต่างหาก ประธานาธิบดีนิกสันในกรณีวอเตอร์เกทต้องชิงลาออก ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติถอดถอน (ซึ่งจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกวุฒิสภาถอดถอน) ตรงกันข้ามกับผู้นำของ Guided Democracy แต่ละคนจะถูกถอดถอนได้ ก็ต้องผ่านความรุนแรงและนองเลือดอย่างมิคสัญญีทั้งนั้น

ยิ่งมีคนน่านับถืออย่างท่านอาจารย์ประเวศเป็นผู้นำ ยิ่งถอดถอนได้ยากขึ้น เพราะชั้นแต่จะเขียนบทความแย้งท่านเป็นสาธารณะเช่นนี้ ผมยังต้องคิดแล้วคิดอีกหลายตลบ



.