http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-09-05

พจนานุกรมภาค 2, ไม่มีคดี 99 ศพ, เบ็ดเสร็จสุดโต่ง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : พจนานุกรมภาค 2
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409918313
. . วันศุกร์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:36 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 5 ก.ย. 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


หลัง คสช.ยึดอำนาจการปกครองได้ไม่นาน ได้มีคำสั่งย้ายนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดพ้นเก้าอี้ทันที พร้อมกับให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อสงสัยใดๆ ถึงบทบาทของอัยการสูงสุดคนใหม่ ว่าจะเป็นคนของระบอบทักษิณ คนของรัฐบาลเพื่อไทย อะไรแบบนั้น

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในการวิเคราะห์วิจารณ์ ความเห็นของอัยการในคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หลังคณะทำงานของอัยการ พิจารณาสำนวนคดีจำนำข้าวของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ชี้มูลความผิดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตจนรัฐเสียหาย


แล้วอัยการมีความเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดีของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาได้

ความเห็นของคณะทำงานอัยการดังกล่าว ได้เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเซ็นคำสั่งว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์

สรุปว่ายังไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาต่ออดีตนายกฯปู ตามที่ ป.ป.ช.สรุปเสนอได้

จึงต้องเน้นย้ำว่า อย่ามองความวินิจฉัยของอัยการในกรณีนี้ ด้วยข้อหาระบอบทักษิณอะไรอีกเป็นอันขาด


ต้องพิจารณาจากสาระ มากกว่าด้วยอคติ ซึ่งอัยการได้ชี้ถึงข้ออ่อนของสำนวน ป.ป.ช. 3 ประเด็น

1.โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการของรัฐบาลที่แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังนั้นจึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่

2.ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่ได้ถูกท้วงติงจาก ป.ป.ช. และ สตง.แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

3.ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่ามีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น


อ่าน 3 ข้อนี้แล้ว พอเห็นภาพได้ว่าสภาพของสำนวน ป.ป.ช.นั้น ไม่สมบูรณ์อย่างไร

โดยเฉพาะในข้อ 3 เรื่องงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เป็นเรื่องที่สร้างความขบขันไปทั่วมาแล้ว เมื่อ ป.ป.ช.เปิดประเด็นนี้ออกมา

องค์กรอิสระกับการเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เคยอาศัยพจนานุกรมมาแล้ว นี่อาศัยงานวิจัยเพิ่มเข้ามาอีก




นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยเอาไว้ เช่น ผลการศึกษาเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตนฟันธงว่า ป.ป.ช.จะไม่สามารถชี้มูลความผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เลย

ฟังแล้วแปลได้ว่า งานวิจัยคือหัวใจสำคัญสุดของพยานหลักฐานในสายตา ป.ป.ช.

ไม่เท่านั้น นายวิชายังบอกว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต่อจากนี้จะใช้สหสาขาวิชาศาสตร์ คือ การผนึกกำลังระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น

ฟังแล้วอดนึกไม่ได้ต้องนึกถึงไสยศาสตร์




++

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: ไม่มีคดี 99 ศพ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409292079
. . วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:02:56 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 29 ส.ค. 2557 )


บางคนอาจจะได้คำตอบแล้วว่า ทำไม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนี้ห่มเหลืองเป็นพระสุเทพ รวมไปถึงคนแวดล้อมในสังกัดประชาธิปัตย์ จึงพูดมาตลอดว่า ไม่ขอรับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 99 ศพ

คนเหล่านี้ยืนยันตลอดว่า พร้อมจะต่อสู้คดี ถ้าผิดจริงก็พร้อมจะติดคุก


เช้าวันที่ 28 สิงหาคม คงมีคำตอบแล้วว่า ทำไมเขาจึงกล้าพูด

เช้าวันที่ 28 สิงหาคม เป็นวันที่อภิสิทธิ์และพระสุเทพ รวมทั้งทีมกฎหมายของประชาธิปัตย์ มีความสุขที่สุด

เพราะศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเป็นจำเลย

ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553

หรือที่เรียกกันว่าคดี 99 ศพ


โดยคำพิพากษาศาลอาญาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ

แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ


จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่

ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์  จึงพิพากษายกฟ้อง


ฟังคำพิพากษาจบ คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก

แต่ญาติมิตรของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ล้มตายหลายสิบศพ ย่อมรู้สึกตรงกันข้าม

ผลจากคำพิพากษานี้ เท่ากับว่า คดี 99 ศพในส่วนที่เป็นคดีอาญา ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

จะตกไปทันที


ดังนั้นที่ต้องรอดูต่อไปก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพื่อยืนยันว่าเป็นคดีความผิดทางอาญา ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

พร้อมๆ กับญาติพี่น้องของผู้ตายส่วนหนึ่งที่ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม คงยื่นอุทธรณ์เช่นกัน

แต่หากการอุทธรณ์ไม่เป็นผล

คดีจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป

รับแล้วจะรวดเร็วเหมือนคดีที่ฟากของพวกยิ่งลักษณ์หรือไม่ ยังไม่รู้

หรือจะเหมือนคดีอื่นของคนชื่ออภิสิทธิ์ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. ก็คือติดน้ำท่วมไม่เลิกหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป



อีกทั้งสุดท้าย ถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล ก็เป็นอันจบ คนที่ตายไป 99 ศพก็จบชีวิตไปโดยไม่มีใครต้องรับโทษ

หรือถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลความผิด ก็ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

แต่จะเป็นการฟ้องตามมาตรา 157 คือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อหาเปลี่ยน โทษเปลี่ยน

แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีคดีฆาตกรรม 99 ศพ มีแค่คดีผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ




++

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: เบ็ดเสร็จสุดโต่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407501496
. . วันศุกร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:30:00 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 8 ส.ค. 2557 )


แม้ว่า "เขมรแดง" จะปิดฉากตัวเอง หมดสิ้นอำนาจและสูญสลายไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่โลกยังไม่ลืมเลือน ตำนานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และคิลลิ่งฟีลด์ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญกันไม่สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินคดีกับผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่ยังคงหลงเหลือและมีชีวิตอยู่บางส่วน ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากมีกำจัดศัตรูทางชนชั้น ศัตรูทางการเมือง จนมีผู้คนต้องเซ่นสังเวยไปหลายล้านชีวิต


เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ศาลพิเศษด้านอาชญากรสงครามกัมพูชา ที่มีสหประชาชาติสนับสนุน เพิ่งอ่านคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตนายนวน เจีย และนายเขียว สัมพัน หลังจากการพิจารณาคดีมายาวนาน

แต่ผู้นำเขมรแดงทั้งสองก็อายุปาเข้าไป 80 กว่าจะ 90 แล้ว การถูกจำคุกตลอดชีวิตก็คงอีกไม่ยาวนานนัก

ส่วนผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พล พต, เอียง ซารี, ซอน เซน, ตา ม็อก ล้วนจากลาโลกไปหมดแล้ว

คงมีจำเลยเหลือให้เอาผิดได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ก็มี นายคังเก็ก เอียว หรือ "สหายดุช" อดีต ผบ.เรือนจำตวลสเลง ถูกตัดสินจำคุกหลายปีเป็นรายแรก


เรือนจำตวลสเลง เป็นคุกอำมหิตที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี ทุกวันนี้ทางการกัมพูชายังรักษาเอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เพื่อเพิ่มอารมณ์สยดสยองและหดหู่

เช่นเดียวกับทุ่งสังหาร อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต มีกะโหลกมนุษย์มากมายมหาศาลเก็บใส่ตู้กระจกให้ดูไปขนลุกไป

เป็นอนุสรณ์เตือนความทรงจำต่อคนทั้งโลก ว่าอย่าได้ดำเนินตามเส้นทางนี้กันอีก


เส้นทางการปกครองและมุ่งสร้างสังคมตามอุดมการณ์อันสุดโต่ง ใช้การบังคับเข่นฆ่า เพื่อทำให้เป้าหมายในการสร้างประเทศที่ปราศจากชนชั้นบรรลุเร็วที่สุด โดยไม่อยู่บนความเป็นจริง

เขมรแดงก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลของนายพลลอน นอล อันเป็นกลุ่มอำนาจฝ่ายขวาซึ่งมีสหรัฐให้การสนับสนุน

ในช่วงระยะเดียวกันนั้น กระแสคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้กำลังมาแรง มีการนำมวลชนตั้งกองกำลังปฏิวัติล้มรัฐบาลฝ่ายขวาที่อิงสหรัฐ ทั้งในเวียดนาม ลาว จนได้รับชัยชนะพร้อมๆ กันในช่วงประมาณปี 2518

แต่ถัดจากนั้น เขมรแดงมาแรงสุด เพราะนโยบายการสร้างสังคมปราศจากชนชั้นแบบสุดโต่ง เดินแนวทางเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ชูอุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ

กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อไปใช้แรงงานในชนบท กำจัดศัตรูทางชนชั้นแบบถอนรากถอนโคน




ก่อนหน้าเขมรแดงจะได้รับชัยชนะ ประชาชนกัมพูชาเผชิญกับรัฐบาลที่บริหารประเทศแบบเละเทะ ตามลักษณะของผู้มีอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่พอฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ ก็เจออำนาจแบบเด็ดขาดสุดขั้ว คือ ยากลำบากทำงานหนักอย่างเสมอภาคกันหมด

มีเรื่องเล่าว่า ขนาดจีนซึ่งเป็นลูกพี่ เสนอให้การช่วยเหลือเครื่องมือด้านเกษตรกรรมในการสร้างประเทศ เช่น รถแทรกเตอร์ แต่ผู้นำเขมรแดงตอบกลับไปว่าขอให้ส่ง "จอบ" มาแทนแล้วกัน

เขมรแดงจึงเป็นตัวอย่างของกลุ่มอำนาจเบ็ดเสร็จสุดโต่ง มีอุดมการณ์มีความมุ่งมั่นจะสร้างสังคมใหม่ให้ได้

แต่เป็นอุดมการณ์ที่ทำตามความเชื่อของคนกุมอำนาจกลุ่มเดียว คิดแทนประชาชนทั้งหมด และใช้อำนาจอย่างสุดขั้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

จึงกลายเป็นตำนานที่โลกต้องจารึกเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจในประเทศไหนๆ เดินตามอีก




.

..“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” เรียบเรียงโดย สฤณี อาชวานันทกุล

.

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (1)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/08/bankers-illusions-1/
. . 7 สิงหาคม 2014


ละสายตาจากเรื่องยุ่งๆ ของการเงินที่ยังไม่ยั่งยืนในไทยชั่วคราว หันมาดูสถานการณ์ของภาคการเงินนอกบ้านเรากันบ้าง

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กับวิกฤตยูโรโซนที่ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มทุเลาความรุนแรง หายไปจากพาดหัวในหน้าสื่อ แต่หลังฉากการถกเถียงเรื่องการปรับปรุงระบบกำกับดูแลภาคธนาคารก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ถึงแม้คนที่อยู่นอกภาคการเงินอาจมองไม่เห็น

ในบรรดาข้อเสนอที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่า “จำเป็น” ต้องทำที่สุดเพื่อปรับปรุงระบบธนาคารและลดความเสี่ยงที่มันจะฉุดลากเศรษฐกิจโลกไปอยู่ปากเหวอีก คือการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ธนาคารต้องมี เป็น “เบาะกันกระแทก” ลดความเสี่ยงที่จะล้มจากการมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า capital requirement

ข้อเสนอนี้มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง แต่ยากมากที่จะเกิดเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะต้องฝ่าด่านการล็อบบี้อย่างไม่ขาดสายของธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้ว ผู้เสนอยังต้องถอดรื้อกำแพงแห่งมายาคติที่นายธนาคารหลายคนสร้างขึ้นมาให้คนหลงเชื่อ และอีกหลายคนก็สับสนคิดไปเองว่ามายาคติคือความจริงเพราะท่องตามๆ กันมาช้านาน

มายาคติที่กีดกันการปรับปรุงระบบกำกับดูแลธนาคารคืออะไร? หนังสือที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด และเขียนอธิบายให้คนนอกวงการธนาคารเข้าใจง่ายที่สุด คือ The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ตั้งชื่อเลียนนิทานดังเรื่อง “เสื้อใหม่ของพระราชา” เพราะสื่อนัยเดียวกัน) เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคน คือ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) จากมหาวิทยาลัยบอนน์ในเยอรมนี














ที่มาภาพ: http://blog.tagesanzeiger.ch/wp-content/uploads/sites/11/2013/02/Nevermind_HeAd.jpg

นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถล้นเหลือในการ “ย่อย” เรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนทั้งสองยังมีบทบาทโดยตรงในวิวาทะและเวทีถกเถียงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคาร โดยแอดมาทีเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาการคลี่คลายเชิงระบบ สถาบันประกันเงินฝากอเมริกัน (FDIC Systemic Resolution Advisory Committee) ส่วนเฮลวิกนั้นเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการความเสี่ยงเชิงระบบยุโรป (European Systemic Risks Board) หน่วยงานภายใต้สหภาพยุโรป ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตยูโรโซน

แอดมาทีกับเฮลวิกตั้งใจเขียน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ในภาษาง่ายๆ ให้คนธรรมดาเข้าใจ เพราะอยากให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนร่วมในเวทีอภิปราย และอยากถอดรื้อมายาคติอีกประการที่ว่า ประเด็นทางการเงินการธนาคารเป็นเรื่อง “สลับซับซ้อน” ที่ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและด็อกเตอร์ทั้งหลายเท่านั้น

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ แอดมาทีกับเฮลวิกอยากให้ทุกคนตื่นตัวว่า ระบบธนาคารยังอันตรายและเปราะบางไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต แต่วิธีแก้เชิงนโยบายไม่ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เรารู้แล้วว่าควรแก้ไขอย่างไร สาเหตุสำคัญก็เพราะมายาคติที่ยังครอบงำวิธีคิดของผู้ดำเนินนโยบายและนายธนาคารจำนวนมาก

หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญและสรรเสริญอย่างมากมายตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 แต่โชคร้ายที่มายาคติต่างๆ ที่ผู้เขียนเพียรชี้ให้เห็นในหนังสือ ก็ยังคงครอบงำวิวาทะเรื่องการกำกับดูแลธนาคารต่อไป ส่งผลให้แอดมาทีกับเฮลวิกตัดสินใจ “อัพเดท” เนื้อหาในหนังสือ ด้วยการเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง) ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ของหนังสือ ( http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf )



มายาคติหลักๆ และข้อหักล้างมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนจะคัดสรร แปลและเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มายาคติ 1: ทุน (capital) คือเงินที่ธนาคารกันเอาไว้เป็น “เงินสดสำรอง” เหมือนกับเงินสดที่เราๆ ท่านๆ กันไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ผิดเพราะอะไร? ทุนในภาคธนาคารนั้นเป็นแหล่งทุนประเภทหนึ่ง สามารถนำไปใช้ปล่อยกู้และลงทุนได้ ไม่ต้องเก็บไว้เฉยๆ เพียงแต่ภาคธนาคารเรียกทุนนี้ว่า capital ขณะที่ธุรกิจอื่นเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ equity แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ว่า ธนาคารปกติใช้ทุนของตัวเองไม่ถึงร้อยละ 10 ในการลงทุนต่างๆ ขณะที่ธุรกิจอื่นมักจะต้องใช้ทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากยังแทบไม่มีหนี้สินใดๆ เลย


มายาคติ 2: ข้อเสนอให้ธนาคารกันเงินสดสำรองเท่ากับร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารนั้น ไม่ทำให้ธนาคาร “ปลอดภัย” กว่าเดิม เช่นเดียวกัน ข้อเสนอให้เพิ่มระดับทุนขั้นต่ำของธนาคารเป็นร้อยละ 15 ก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในภาคการธนาคารเหมือนกัน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนความสับสนระหว่างทุนของธนาคาร (capital) กับเงินสดสำรอง (cash reserve) ดังที่กล่าวไปข้างต้นในมายาคติ 1

ทุนของธนาคารไม่ใช่เงินสดสำรอง แต่เป็นแหล่งทุนของธนาคาร ข้อกำหนดเรื่องทุนสำรองนั้นไม่ได้บังคับว่าธนาคารจะต้องถือสินทรัพย์อะไรบ้าง ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องเพิ่มเงินสดสำรองในมือ (คือเอาไปปล่อยกู้แสวงกำไรไม่ได้) ในเมื่อข้อกำหนดปัจจุบัน และแม้แต่ภายในข้อเสนอในระบบ Basel III ปล่อยให้ธนาคารมีทุนขั้นต่ำเพียงร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ทั้งหมด การเพิ่มข้อกำหนดนี้เป็นร้อยละ 15 (ดังเช่นร่างกฎหมาย Brown-Vitter ในอเมริกาเรียกร้องให้บังคับกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดหกแห่งในประเทศ) ก็จะทำให้ธนาคารปลอดภัยกว่าเดิมมาก ตัวเลข 15% นี้ยังต่ำกว่าสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่ถือกันว่า “ปกติ” สำหรับบริษัทในธุรกิจอื่นที่แข็งแกร่งทางการเงินด้วยซ้ำไป เมื่อมีส่วนทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุนได้มากกว่าเดิมมาก ลดความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นจะล้มละลาย ร้อนให้รัฐต้องมาอุ้ม

ในทางกลับกัน ข้อกำหนดเรื่องเงินสดสำรองในมือ (reserve requirement) มีประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยน้อยกว่าข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำ (capital requirement) มาก ยกเว้นว่ามันจะสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าธนาคารหนึ่งมีเงินฝาก (เป็นหนี้สินของธนาคาร เพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงิน) 97,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 3,000 ล้านบาท (เท่ากับว่ามีหนี้สิน 94,000 ล้านบาท) การมีเงินสดสำรองในมือ (นับเป็นสินทรัพย์) อยู่ 15,000 ล้านบาทก็จะไม่ช่วยให้ธนาคารรอดเลย ถ้าขาดทุน 4,000 ล้านบาทจากหนี้เสียและผลขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆ เพราะผลลัพธ์จะกลายเป็นว่ามีสินทรัพย์ 96,000 ล้านบาท ล้มละลายเพราะส่วนทุนติดลบ (3,000-4,000 = -1,000 ล้านบาท) เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้าน “จมน้ำ” (under water) ถ้าหากภาระการผ่อนบ้านมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของบ้าน (คนอเมริกันจำนวนมากจึงยอมให้ธนาคารยึดบ้านในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)

แต่ถ้าหากธนาคารมีเงินฝาก 85,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 15,000 ล้านบาท มันก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุน 4,000 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ โดยไม่เสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด


มายาคติ 3: ข้อเสนอให้ธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนขั้นต่ำนั้นเพียงแต่ตั้งอยู่บนทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ซึ่งใช้กับโลกจริงไม่ได้เพราะสมมุติฐานของทฤษฎีนี้ไม่สมจริง

ผิดเพราะอะไร? ทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ บอกว่าภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ ส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับส่วนทุนของบริษัทใดก็ตาม (เช่น ไม่ว่าจะเลือกใช้หนี้ 80 ทุน 20 หรือหนี้ 10 ทุน 90 ฯลฯ) จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุน (cost of capital)



แต่แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ชัด (ผ่านการยกตัวอย่างมากมายในหนังสือ) ว่า ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงอะไรก็ตามที่พูดถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Equity ย่อว่า ROE) ที่นักลงทุนต้องการ ราวกับว่ามันสถิตเสถียรไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นอิสระจากส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของบริษัท จึงเป็นข้อถกเถียงที่บกพร่องระดับฐานคิดเลยทีเดียว

ใน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” แอดมาทีกับเฮลวิกอธิบายเงื่อนไขในโลกจริงอีกหลายข้อที่หักล้างสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมหนี้กับทุนไม่สำคัญ เช่น กฎหมายภาษีอาจทำให้บริษัทอยากใช้หนี้มากกว่าทุนก็ได้


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทั้งสองก็ย้ำว่า มายาคติข้อนี้หักล้างข้อเสนอว่าธนาคารควรมีทุนขั้นต่ำมากกว่าเดิมไม่ได้ เพราะข้อเสนอนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนไม่สำคัญ แต่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จากการมีส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนระดับต่างๆ ของธนาคาร แอดมาทีกับเฮลวิกสรุปว่า การให้ธนาคารใช้หนี้สินมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนทุนในการดำเนินธุรกิจนั้น เป็นต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องแบกรับโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย.



++

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (จบ)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/09/bankers-new-clothes-2
. . 4 กันยายน 2014


ตอนที่แล้วผู้เขียนเริ่มสรุป “มายาคติ” – กับดักทางความคิดบางประการที่ยังครอบงำวงการการเงินการธนาคารกระแสหลัก และกีดขวางการปฏิรูปภาคการเงินโลก จากบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง – ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์หนังสือ http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf ) โดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคนที่กำลังมีบทบาทสูงมากในวิวาทะเรื่องการปฏิรูปภาคการเงิน ได้แก่ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) และ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร”)


แอดมาทีกับเฮลิวิกเป็นสองหัวหอกในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้องค์กรกำกับดูแลภาคการธนาคารระดับโลกและระดับชาติจัดการปฏิรูปภาคการธนาคารอย่างมีความหมายและยั่งยืนกว่าที่แล้วมา โดยเฉพาะด้วยการเพิ่มระดับ “ทุนขั้นต่ำ” ที่ธนาคารต้องมีเมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมด

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า ตราบใดที่ยังไม่แก้กฎกติกาเช่นนี้ ตราบนั้นโลกก็จะยังคงมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมเสี่ยงเกินเลยของภาคธนาคารต่อไป

ตอนที่แล้วสรุปมายาคติข้อ 1-3 วันนี้มาว่ากันต่อด้วยมายาคติสำคัญๆ ข้ออื่น



มายาคติ 4: การค้นพบหลักๆ ของวิชาการเงินธุรกิจ (corporate finance) เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การระดมทุนนั้นนำมาใช้กับธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารไม่เหมือนบริษัทอื่น

ผิดเพราะอะไร? ผู้เขียนทั้งสองอธิบายในมายาคติ 3 (ดูตอนก่อนหน้านี้) ไปแล้วว่า ข้อพิสูจน์กรณีเฉพาะของทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ที่นายธนาคารชอบยกมาอ้างว่า ส่วนผสมระหว่างหนี้กับส่วนทุนไม่ส่งผลใดๆ ต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุนนั้น เป็นจริงเฉพาะในกรณีที่อยู่ใต้ “สมมุติฐานพิเศษ” บางประการเท่านั้น ในขณะที่ “ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน”

แอดมาทีกับเฮลวิกเปรียบเปรยว่า การปฏิเสธว่าข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้เป็นสากล ใช้ได้กับทุกบริษัททุกธุรกิจ ก็เหมือนกับการปฏิเสธว่ากฎแรงโน้มถ่วงกำกับทุกสิ่งบนโลกด้วยการอ้างว่าอากาศมีแรงต้าน

อันที่จริง ตรรกะของโมดิกลิอานี-มิลเลอร์ ใช้ได้ดีมากกับส่วนทุนและการกู้ยืมของธนาคารในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร ธนาคารมีปฏิสัมพันธ์กับนักลงทุนกลุ่มเดียวกันกับที่ซื้อหุ้นและพันธบัตรของบริษัทอื่น นักลงทุนเหล่านี้ตีมูลค่าหุ้นและพันธบัตรของธนาคารในบริบทของพอร์ตลงทุนรวมของตัวเอง โดยใช้หลักเกณฑ์ชุดเดียวกันในการประเมินการลงทุนทั้งหมด ตรรกะที่ว่าต้นทุนและความเสี่ยงในการระดมทุนของนักลงทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของธนาคารนั้น ใช้ได้กับกรณีที่ธนาคารกู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินอื่นเช่นกัน

ผู้เขียนทั้งสองย้ำว่า ธนาคารเหมือนกับบริษัทอื่นทุกบริษัทตรงที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น เลือกได้ว่าจะใช้ส่วนทุนของผู้ถือหุ้นเท่าไร จะกู้ยืมเงินเท่าไร เหมือนกับบริษัทอื่นตรงที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาทางการเงินหรือแม้แต่ถึงขั้นล้มละลายเมื่อมีหนี้สินสูงมโหฬาร มีส่วนทุนนิดเดียว

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รวมถึงการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพจากการมีหนี้สินสูงเกินไปนั้นก็พบเห็นในวงการธนาคารไม่น้อยกว่าวงการอื่น คนที่เถียงว่าธนาคาร “ไม่เหมือนธุรกิจอื่น” และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้หนี้สูงๆ ในการดำเนินธุรกิจธนาคารนั้น มักจะละเลยหรือทำเป็นมองไม่เห็นการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น – แล้วพอธนาคารเกิดปัญหา ผู้เสียภาษีหรือสังคมก็มักจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหาย


มายาคติ 5: ธนาคารเป็นสถาบันพิเศษเพราะมันผลิต (หรือสร้าง) เงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการใช้คำว่า “เงิน” อย่างผิดความหมาย แนวคิดที่ว่าธนาคาร “ผลิต” หรือ “สร้าง” เงินได้นั้น ตั้งอยู่บนการสังเกตว่า เราๆ ท่านๆ สามารถแปลงเงินฝากให้เป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย ด้วยการไปถอนเงิน และคนก็มองว่าเงินที่ฝากไว้ในธนาคารนั้นคล้ายกับเงินสด สามารถใช้เงินฝากในการใช้จ่าย เช่น ด้วยการเซ็นเช็คสั่งจ่าย หรือรูดบัตรเครดิต ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์การเงินจึงเรียกเงินสดในมือและยอดเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์รวมกันว่า “ปริมาณเงิน”

อย่างไรก็ตาม การที่บัญชีออมทรัพย์ถูกรวมไว้ในดัชนีสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น ไม่ได้หมายความว่ายอดบัญชีออมทรัพย์เหมือนกันกับเงินสด ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ เงินฝากคือ “หนี้” รูปแบบหนึ่ง – หนี้ซึ่งผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้ ธนาคารเป็นลูกหนี้ ธนาคารมีพันธะที่จะต้องจ่ายเงินคืนแก่ผู้ฝากเงิน เมื่อไรก็ตามที่เขาหรือเธออยากถอนเงินคืน ถ้าหากธนาคารไม่มีเงินมาคืน ปัญหาก็จะเกิด ในทางตรงกันข้าม เงินสดในรูปของเหรียญและธนบัตรที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมากระจายในระบบนั้นไม่ใช่ “หนี้” ของใครเลย

จากมุมมองของธนาคาร ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างเงินฝากและหนี้สินประเภทอื่นไม่ใช่ว่าเงินฝาก “คล้ายเงิน” แต่เป็นประเด็นที่ว่า ธนาคารส่งมอบบริการต่างๆ แก่ผู้ฝากเงิน อาทิ การจ่ายเงินผ่านเช็คธนาคารและบัตรเครดิต หรือเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ซึ่งทำให้ลูกค้าถอนเงินได้ตลอดเวลา ความต้องการฝากเงินของประชาชนขึ้นอยู่กับบริการเหล่านี้ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารเสนอ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่ธนาคารจะล้มละลายหรือไม่มีเงินคืนผู้ฝาก


มายาคติ 6: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมาย (equity requirement) จะลิดรอนความสามารถของธนาคารในการคืนเงินฝากและชำระหนี้ระยะสั้นประเภทอื่นที่มีสภาพคล่องและใช้ได้เสมือนกับเงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานผิดๆ ว่า ส่วนทุนของธนาคารนั้นคงที่และมีจำกัด ไม่อาจทดแทนหนี้สินของธนาคารได้ด้วยการเพิ่มทุนในทางที่ไม่กระทบกับ “ระดับสภาพคล่องสำรอง” ที่ต้องมี แต่ในความเป็นจริง ธนาคารสามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการนำกำไรสุทธิไปลงทุนเพิ่ม หรือออกหุ้นเพิ่มทุน ไม่ต่างจากบริษัทในธุรกิจอื่น ยิ่งมีส่วนทุนเพิ่ม ธนาคารก็จะยิ่งสามารถรับเงินฝากได้มากขึ้น ถ้าหากผู้กำกับดูแลเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ต้องมี การมีส่วนทุนมากขึ้นก็จะทำให้ธนาคารสามารถเก็บเงินฝากและหนี้ “เปี่ยมสภาพคล่อง” ระยะสั้นเอาไว้ได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าต้องมีน้อยลง

การมีส่วนทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้สินจะทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มสภาพคล่องได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะส่วนทุนที่มากขึ้นจะทำให้หนี้สินของธนาคารได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากเจ้าหนี้

ด้วยเหตุนี้ ลักษณะ “เปี่ยมสภาพคล่อง” หรือ “คล้ายเงิน” ของเงินฝากและหนี้ระยะสั้นจะดีกว่าเดิม ถ้าธนาคารมีหนี้สินน้อยลง มีส่วนทุนมากขึ้น


มายาคติ 7: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำนั้นไม่เหมาะสม เพราะต้นทุนการระดมทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้น

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการสังเกตพื้นๆ ว่า ผลตอบแทนจากทุน (ที่นักลงทุนต้องการ) นั้นสูงกว่าผลตอบแทนจากหนี้ (ที่เจ้าหนี้ต้องการ) แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนจากทุน หนี้ หรือหลักทรัพย์ใดๆ ก็ตามที่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้ต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับ “ส่วนผสม” ระหว่างหนี้กับทุนของแต่ละบริษัท ถ้าธนาคารมีส่วนทุนมากขึ้น อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนและเจ้าหนี้ต้องการก็จะน้อยลง (เพราะธนาคารมีความเสี่ยงน้อยลง)

แอดมาทีกับเฮลวิกชี้ว่า สาเหตุหลักจริงๆ ที่ต้นทุนรวมในการระดมทุนของธนาคารอาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ทางการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำ คือ ถ้าหากธนาคารต่างๆ มีทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะได้ประโยชน์น้อยลงจากการรับประกันและเงินอุดหนุนต่างๆ นานาของรัฐ ซึ่งเข้ามา “อุ้ม” ด้วยเงินภาษีของประชาชน!

ในการถกเถียงเชิงนโยบาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ต่อสังคมจากการที่ธนาคารใช้ส่วนผสมของหนี้และทุนในระดับต่างๆ เนื่องจากความเปราะบางของระบบการเงินนั้นมีต้นทุนสูงและก่อความเสียหายมหาศาล
ฉะนั้นผู้เขียนทั้งสองจึงสรุปว่า ประโยคที่ถูกต้องคือ “การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมายจะลดต้นทุนต่อสังคมจากการที่มีระบบการเงินไร้ประสิทธิภาพ ระบบที่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเกินตัว และดังนั้นกฎนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคม”


....................................
ขอเชิญผู้อ่าน อ่านต้นฉบับจาก http://thaipublica.org ซึ่งมีภาพประกอบและลิ้งค์เอกสารมากมาย



.

2557-09-01

งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409548590 
. . วันจันทร์ที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 13:29:24 น.
( ที่มา: มติชนรายวัน 1 กันยายน 2557 )


(ตอนเดิม - นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) อ่านที่  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/08/n-x-taps1.html )

(ต่อ)

เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณอานันท์กล่าวถึง "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ดูเหมือนเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหาร นั่นคือประชาธิปไตยของไทยไม่สมบูรณ์ และการรัฐประหารคงจะนำประเทศไปสู่หนทางเริ่มต้นที่จะบรรลุประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

คุณอานันท์อาจแตกต่างจากคนอื่นตรงที่สามารถบอกได้เลยว่า อังกฤษและสหรัฐนั้น ได้บรรลุ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ในปี ค.ศ.อะไร เช่นอังกฤษเพิ่งบรรลุเมื่อ 1928 เพราะยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนสหรัฐเมื่อทศวรรษ 1960 เมื่อยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมของคนผิวสี

แล้วมัน "สมบูรณ์" จริงหรือครับ ลองถามคนดำและคนขาวจำนวนมากในเมืองเฟอร์กูสัน มิสซูรีในตอนนี้ พวกเขาคงโวยวายว่าไม่จริง ถึงต้องออกมาประท้วงในท้องถนน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากในสหรัฐออกมา "ยึด" หรือ occupy โน่นนี่เต็มไปหมดหลายเมือง ด้วยข้ออ้างถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสุดขั้วในสังคมตนเอง การหลั่งไหลของชาวมุสลิมเข้าไปตั้งหลักแหล่งภูมิลำเนาในยุโรปตะวันตก เผยให้เห็นอคติต่อชาติพันธุ์และศาสนาของคนในระบอบ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ทั่วไปในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งอังกฤษด้วย

ไม่มีหรอกครับ ประชาธิปไตย "ที่สมบูรณ์" ในโลกนี้ เราอาจนิยามประชาธิปไตยด้วยอุดมคติ เช่น ใช้คำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส-เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพก็ได้ หรือของลิงคอล์น-รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนก็ได้ หรือของนิธิ-อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันของทุกคนและทุกกลุ่มในทุกเรื่อง แต่นี่เป็นอุดมคติเท่านั้น ประชาธิปไตยไม่ได้ทำงานด้วยอุดมคติ หากทำงานด้วย "สำนึก" ครับ โดยเฉพาะสำนึกของประชาชนทั่วไป ขึ้นชื่อว่าสำนึกก็ไม่อยู่คงที่แน่นอน บางสำนึกก็หลุดหายไปหรือได้รับความสำคัญน้อยลง บางสำนึกก็เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากสังคมแปรเปลี่ยนไปตลอด แต่สำนึกใหม่เหล่านี้มักถูกบิดเบือน ขวางกั้น หรือทำลายโดยผู้มีประโยชน์ปลูกฝัง (vested interest) อยู่เสมอ

ยกตัวอย่างสิทธิสตรีก็ได้นะครับ ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะเมียพ่อค้าและแม่บ้านชนชั้นแรงงานซึ่งต้องซื้อขนมปังในราคาแพงขึ้นตลอด พากันออกมาก่อจลาจลต่างๆ ในปารีสเพื่อประท้วงผู้ปกครอง (ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และผู้นำการปฏิวัติในเวลาต่อมา) ผมไม่ทราบว่าเมื่อผู้นำปฏิวัติพูดถึงเสมอภาพ เขาคิดถึงผู้หญิงหรือไม่ แต่สิทธิทางการเมืองของผู้หญิงก็ถูกจำกัดมาตั้งแต่ระยะแรกๆ และอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะจำกัดอำนาจทางการเมืองของมวลชนด้วย

หลังจากผู้หญิงได้สิทธิเท่าเทียมทางการเมืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงก็หาได้รับความเสมอภาพเหมือนผู้ชายในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่ ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกอะไรจนกระทั่งสำนึกใหม่มาเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเกิดการเคลื่อนไหวใหม่ที่จะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในมิติอื่นๆ ด้วย จนถึงทุกวันนี้ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีก็หาได้ยุติลง เพราะยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ "สำนึก" ของผู้คน ไม่ว่าหญิงหรือชาย

สำนึกใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเกิดพร้อมกับอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งก็เป็น "สำนึก" อีกชนิดหนึ่ง เช่น เพศที่สามไม่เคยมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตนเอง แต่เมื่อเกิดสำนึกใหม่ถึงตัวตนที่มีอยู่จริงของเพศที่สาม ปลดเปลื้อง "ตราบาป" ต่างๆ ออกไปได้แล้ว ก็เกิดอัตลักษณ์ใหม่ที่ทำให้ต่างจากผู้หญิงหรือผู้ชาย เกิดอัตลักษณ์ใหม่ก็ทำให้คิดถึงสิทธิเสมอภาพของตนเองได้ กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาพของเพศที่สาม

สำนึกใหม่และอัตลักษณ์ใหม่เป็นอนิจจังครับ เกิดดับได้ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่เคย "สมบูรณ์" สักที และเพราะไปคิดถึงความสมบูรณ์ที่หยุดนิ่งเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้สลิ่มไทยจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ "สำนึก" ที่เปลี่ยนไปแล้วของมวลชนระดับล่าง ปรารถนาให้คนเหล่านั้นไม่ใส่ใจการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม เลือกผู้แทนมาอย่างเบี้ยหัวแตก เพื่อให้สลิ่มสามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เหมือนเดิม



เราจึงอาจมองรัฐประหารได้สองอย่าง หนึ่งคือมองอย่างคุณอานันท์ว่า เพราะประชาธิปไตยไทยไม่ "สมบูรณ์" จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาทำให้ "สมบูรณ์" หรือมองแบบผมก็คือประชาธิปไตยไทยในระยะนี้ มีพลวัตที่แรงและเร็วเกินปัญญาและประสบการณ์ของชนชั้นนำจะปรับตัวได้ จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาหยุดพลวัตของประชาธิปไตยไว้ที่กรอบแคบๆ ตามเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์พูดถึงคือ "ทฤษฎีฝรั่ง" ที่คนไทยมักนิยมยกย่องจนเหมือนเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่ (ความโดยนัยยะ ไม่ใช่คำพูดคำต่อคำ) แต่ตั้งแต่เกิดจนบัดนี้ ผมยังไม่เคยเห็นใครโต้เถียงกับ "ทฤษฎีฝรั่ง" เท่าฝรั่ง หากผมเห็นด้วยกับฝรั่งที่โต้แย้งทฤษฎีฝรั่งที่คุณอานันท์ไม่ชอบ ผมยังเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่อยู่หรือไม่ โดยสรุปก็คือความเห็นอันไร้สาระเช่นนี้ไม่ได้เป็นของคุณอานันท์คนเดียว แต่เป็นของผู้มีการศึกษาไทยอีกมาก รวมทั้งนายพลที่ทำรัฐประหารด้วย

ที่เรียกว่า "ทฤษฎี" คืออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "มุมมอง" นั่นเอง ไม่ว่าเราจะศึกษาอะไรก็ตาม เราต้องมี "มุมมอง" อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจโดยไม่รู้ตัวอย่างที่คนไทยทั่วไปมักไม่รู้ตัว เพราะปราศจากมุมที่จะมองเลย ก็ไม่เห็นอะไร สิ่งที่เราศึกษานั้น มองจากมุมนี้ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง มองจากอีกมุมหนึ่งก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มุมที่จะมองจึงมีความสำคัญอย่างมาก

มุมที่จะมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นมุมที่นำไปมองอะไรอื่นด้วยมุมเดียวกันได้อีกมาก เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง อาจใช้มองเทหวัตถุอื่นๆ ได้ทั้งจักรวาล ไม่จำกัดเฉพาะลูกแอปเปิลและดวงจันทร์เท่านั้น แต่ "มุมมอง" นี้ก็มีข้อจำกัดซึ่งการค้นพบในสมัยหลังชี้ให้เห็น เช่น ที่ไม่ใช่เทหวัตถุก็อาจตกอยู่ใต้อำนาจของแรงโน้มถ่วงได้เช่นแสง เป็นต้น การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เล็กมากๆ เช่น อะตอมหรือในนิวเคลียสของอะตอม ก็เคลื่อนที่ด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงนิวเคลียร์ ทฤษฎีหรือมุมมองของฝรั่งคนแรกจึงมีข้อจำกัด กล่าวคือใช้มองบางอย่างได้ แต่มองบางอย่างไม่ได้ (นี่ก็พ่อแม่ฝรั่งเป็นคนชี้ให้เห็นอีก)


แต่น่าประหลาดที่คนไทยผู้มีการศึกษาจำนวนมากมักไม่คิดว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จึงสามารถรับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าพ่อแม่ของตนจะเปลี่ยนสัญชาติไป วิทยาศาสตร์โชคดีกว่าสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งโลก (หรือทั้งเอกภพ?) ในขณะที่ปรากฏการณ์ทางสังคมแปรผันไปตามแต่ละสังคมและยุคสมัย แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์รวบรวมข้อเท็จจริงจากสังคมต่างๆ จำนวนมาก เพื่อ "สังเกตการณ์" ว่าในประเด็นที่เขาสนใจนั้นมีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่ต่างกัน แล้วค้นหาพลัง (หรือบางคนเรียกว่า "กฎ") ที่กำกับควบคุมให้ปรากฏการณ์กลุ่มนั้นๆ เหมือนกันหรือต่างกัน แล้วจึงเสนอมุมมองใหม่ที่ทำให้สามารถใช้เป็นมุมสำหรับมองปรากฏการณ์กลุ่มนี้ในสังคมทั่วๆ ไปได้ มีอำนาจอธิบายเพิ่มขึ้น และมีอำนาจพยากรณ์ได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่แม่นยำเหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีก็มีความหมายเพียงเท่านี้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หากใครนับถือแล้วจะต้องเสียผู้เสียคนไป

ไม่ปฏิเสธว่า ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งนั้น มักสำรวจจากสังคมฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบัน เนื่องจากฝรั่งหันมาสนใจสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งมากขึ้น ทฤษฎีรุ่นใหม่จึงอาจเป็นผลจากการสำรวจที่กว้างขวางกว่าเก่า) ดังนั้น เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งก็อาจมีปัญหา ผมได้ยินเสียงบ่นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยเห็นนักวิชาการไทยชี้ให้ชัดว่า ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน เพราะเอาเข้าจริง นักวิชาการไทยก็มีความรู้ในเชิงประจักษ์กับสังคมตัวเองไม่มากนัก จึงมองเห็นได้ไม่ชัดว่า มันมีข้อยกเว้นในทฤษฎีฝรั่งอะไรบ้างเมื่อนำมาอธิบายสังคมไทย

ดังนั้น เมื่อเอาทฤษฎีประชาธิปไตยมาอธิบายการเมืองไทย ปัญญาญาณของไทยจึงมีแต่กุดๆ แค่ว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะเป็นทฤษฎีฝรั่งเท่านั้น สังคมฝรั่งกับไทยไม่เหมือนกัน เขามีเวลาปรับตัวนานกว่าเราเป็นศตวรรษ บล่ะๆๆๆ กลวงๆ ไปอย่างนั้น

คนไทยจึงถูกสาปให้ยืนอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ เพราะปัญญาญาณของชนชั้นนำไทยและนักวิชาการไทยกุดอยู่ที่ปลายจมูก หากจะแหลมออกมาบ้างก็เป็นแค่นกหวีด



เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือเลือกตั้ง ได้ยินกันมานานแล้วว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว บางคนก็พูดเลยไปถึงว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งไปโน่นเลย ความหมายก็คือเราอาจเป็นประชาธิปไตยโดยไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ อย่างที่นักปราชญ์ไทยชอบยกรัชสมัยที่เชื่อกันว่า "ดี" บางรัชสมัย (เช่นรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง) ว่านั่นก็เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งเลย

แต่ในปัจจุบัน มีใครหรือครับที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย แม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้พูดอย่างนั้น รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารต่างหากที่ยืนยันว่าตัวมาจากการเลือกตั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา จึงมีความชอบธรรมเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คนเสื้อแดงเองเสียอีกที่บอกว่า การเลือกตั้งและเสียงสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพแทรกแซงเช่นนั้น ไม่สามารถให้ความชอบธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยได้

แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่ให้อำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมฝ่ายบริหาร ก็จริงแหละครับว่า จะกำกับควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพจริง ยังต้องมีกลไกอื่นๆ อีกด้วย เช่น สื่อที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงตามอาชีวปฏิญาณของตนเอง ความรู้ที่ทำให้เท่าทันอำนาจทางการเมืองทุกฝ่าย (แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้เปิดหน้าเล่นการเมือง) ความรู้ที่จะทำให้มองเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านในระยะสั้นและระยะยาว พื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบที่เปิดให้คนต่างกลุ่มสามารถแสดงตัวตนของตัว รวมทั้งถูกคนอื่นตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ ถ้ากลไกอื่นเหล่านี้มีคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กลไกการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อกลไกอื่นยังไม่พร้อม จึงต้องระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน เพราะยิ่งระงับการเลือกตั้ง กลไกอื่นก็ยิ่งไม่พัฒนาขึ้นมาให้พร้อมสักที

ทำไมหรือครับ ก็เพราะกลไกเหล่านี้ทำงานร่วมกัน ยิ่งเลือกตั้งดำเนินไปได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ กลไกอื่นก็ยิ่งพัฒนาขึ้น เช่น พื้นที่การต่อรองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น จึงเปิดให้แก่คนที่มีปูมหลังต่างกันเข้าถึงได้ทั่วหน้ากว่าเดิม พื้นที่เช่นนี้มีมากขึ้นก็ทำให้คนใช้วิจารณญาณได้กว้างไกลขึ้นในการลงบัตรเลือกตั้ง อย่ามองอะไรเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สัมพันธ์กันเลย ทั้งสองขั้วเป็นกระบวนการเดียวกัน เมื่อรัฐประหารขั้วใดขั้วหนึ่งไปแล้ว อีกขั้วหนึ่งก็เหี่ยวเฉาไปเอง กลายเป็นความสงบแห่งชาติอย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในเชิงรูปธรรม หากการเลือกตั้งหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาสามารถดำเนินไปได้เป็นปรกติ แม้จะถูกบอยคอตจากพรรคฝ่ายค้านบางพรรค สังคมไทยและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า หนทางเอาชนะทางการเมืองนั้น ไม่มีวิถีทางอื่นนอกจากแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน (อย่างฉลาด) ย่อมจำเป็นอยู่เองที่ต้องหันกลับมาเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เลิกโยนเก้าอี้ในสภา หรือเลิกขว้างสิ่งของใส่ประธาน เข้าร่วมในพื้นที่สาธารณะที่ปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อเสนอความเห็นและการติติงที่สร้างสรรค์แก่สังคม คนไทยก็จะมองเห็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะได้อีกหลายแบบ

คุณอานันท์คิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง ทั้งๆ ที่ "ความพร้อม" อีกหลายด้านของสังคมไทยในการเป็นประชาธิปไตยยังไม่มีหรือยังไม่พัฒนาไปไกลพอ



.