http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-22

อนุรักษ์วัฒนธรรมให้ไม่เหมือนเดิม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อนุรักษ์วัฒนธรรมให้ไม่เหมือนเดิม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 28


เมื่อตอนผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ ในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองนั้น เขาเล่นน้ำกันเกิน 10 วัน ยิ่งหากออกไปนอกเมืองไกลๆ ก็อาจได้เห็นเด็กเอาน้ำมาสาดคนขี่มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่เริ่มเดือนเมษายนเลยทีเดียว จนหลังสงกรานต์ไปอีกเป็นอาทิตย์ "น้อย" เหล่านั้นก็ยังคงสาดน้ำอยู่ข้างถนนกันเหมือนเดิม

ผมไม่ทราบหรอกว่า ก่อนหน้านั้นขึ้นไปเขาเล่นสาดน้ำในช่วงสงกรานต์กันอย่างไร ดูตำราประเพณีทางเหนือ ก็ว่าเขาไม่ได้สาดน้ำกันมากมายอย่างนี้ เล่นกันเฉพาะวันเนาเมื่อพากันขนทรายขึ้นวัดแล้ว หนุ่มสาว (และคงเด็กๆ ด้วย) ก็เล่นสาดน้ำกันก่อนกลับบ้าน

เล่นสาดน้ำนะครับ ไม่ใช่รดน้ำดำหัวซึ่งเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คือแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ในเครือญาติ นั่นเขาอาจทำไปได้หลายวันในช่วงปีใหม่

ในช่วงที่ผมเริ่มมาอยู่เชียงใหม่ เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ว่างจริงๆ สำหรับคนส่วนใหญ่ ข้าวนาปีก็ได้เก็บเกี่ยวไปหลายเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การทำนาปีละเกินหนึ่งครั้งจะเข้ามา คนเหนือไม่ปล่อยที่นาให้ว่างเปล่า เพราะถือครองที่ดินต่อครอบครัวค่อนข้างต่ำ จึงมักใช้ที่นา ปลูก "พืชเงินสด" อย่างอื่น เช่น ถั่ว หรือยาสูบ แต่นั่นก็ได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว และมักจะขายสู่ตลาดแล้วด้วย

ส่วนงัวควายก็ไม่สู้จะเป็นภาระมากนัก ในตอนนั้นในหลายพื้นที่ของทางเหนือ ยังมีธรรมเนียมการปล่อยควายเข้า (ชาย) ป่าไปหากินเองหลังหน้านา เป็นโอกาสให้ควายได้ผสมพันธุ์ข้ามเหล่ากอ เท่ากับรักษาคุณภาพของควายไปด้วย ส่วนถนนหนทางก็ไม่สู้จะสะดวกนัก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิบล้อแอบมาขนควายทั้งฝูงไปทำลูกชิ้น อย่างที่พบมากในอีสานสมัยหลัง

ฉะนั้น เด็กๆ จึงมีความสุขเหลือเกินที่ได้อะไรที่สนุกอย่างสาดน้ำคนแปลกหน้ามาทำในระหว่างขึ้นปีใหม่


แต่เมื่อนำประเพณีนี้มาใช้ในเขตเมืองด้วย คนในเมืองคงไม่น่าจะสนุกนัก เพราะราชการห้างร้านก็ยังทำงานอยู่ แต่เดินทางด้วยความลำบากลำบน รถสี่ล้อแดงนั้นเป็นเหยื่อที่สนุกที่สุด เพราะสาดน้ำโครมเดียว หากได้จังหวะเหมาะๆ คนทั้งรถก็มะล่อกมะแล่กหน้าเหลอไปหมด อายแชโดว์ของน้องคนนั้นไหลเปรอะแก้ม ผมโป่งๆ ของคุณป้าคนนั้นแฟบลงทันตาเห็น

การสวมเสื้อฝนเดินทางด้วยมอ"ไซค์หรือรถสี่ล้อในช่วงร้อนแล้งอย่างเมษายนในตัวเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นเรื่องธรรมดา

ในตอนนั้น ส่วนใหญ่ของรายได้ครัวเรือนในชนบทของเชียงใหม่ยังมาจากภาคเกษตร แม้ว่าสัดส่วนของรายได้จากนอกภาคเกษตรกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม จึงไม่แปลกที่คนจะว่างและไม่ว่างพร้อมกัน ยกเว้นก็แต่คนในเมืองเท่านั้น รวมทั้งนักท่องเที่ยว (อันเป็นคนว่างอยู่ชั่วนาตาปี) ซึ่งขึ้นมาเล่นสงกรานต์เชียงใหม่ก็ยังไม่สู้มากนัก


หลังจากปีแรกๆ ในเชียงใหม่แล้ว งานวิจัยด้านเศรษฐกิจครัวเรือนของเชียงใหม่และภาคเหนือ ซึ่งทำกันมาเป็นระยะ ล้วนชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของรายได้ครัวเรือนที่มาจากนอกภาคเกษตรมีแต่เพิ่มสูงขึ้น ในระยะแรกสัดส่วนของแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรเองก็ยังสูงอยู่

แต่ต่อมาก็เริ่มลดลงกลายเป็นงานรับจ้างหรืออื่นๆ นอกภาคเกษตรเด็ดขาดไปเลย จนในที่สุดก็เหมือนปัจจุบัน คือส่วนใหญ่ (70-80%) ของรายได้ครัวเรือน ล้วนมาจากนอกภาคเกษตรทั้งสิ้น

มันแปลว่าอะไร? ก็แปลว่าคนส่วนใหญ่แม้ในชนบทเองก็เข้ามาอยู่ใน "ตลาด" เต็มตัว คือกลายเป็น "ลูกจ้าง" ประเภทต่างๆ หรือมิฉะนั้น ก็ผลิตป้อนตลาดโดยตรง และขายสินค้าและบริการในตลาด

ดังนั้น วันว่างจึงเริ่มตรงกัน ซ้ำมีน้อยลงเสียด้วย เช่น รับจ้างเสริมสวยในหมู่บ้าน ช่วงใกล้ปีใหม่ยิ่งมีลูกค้ามากขึ้น จึงไม่ยอมปิดร้านเป็นธรรมดา เขาเล่นน้ำกันเปียกผม ก็มีลูกค้าอยากจะสระเซ็ตผมอีกมาก ฉะนั้น บางครั้งแม้วันสงกรานต์เอง ก็ยังขายบริการอยู่



พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในเมืองกับในหมู่บ้านไม่ค่อยจะแตกต่างกันเท่าไรนัก จำนวนวันของการเล่นสาดน้ำจึงเริ่มลดลง เข้ามาอยู่ในช่วงวันหยุดเป็นหลัก จะก่อนจะเกินไปบ้างก็ไม่มากนัก จนกระทั่ง...

เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและคนไทย ไม่เฉพาะแต่จากกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ทั่วประเทศเลย พากันเดินทางมาเล่นน้ำที่เชียงใหม่ จำนวนมากขับปิ๊กอัพพร้อมตุ่มไว้ใส่น้ำมาจากบ้านเลย

ไหนจะชาวเชียงใหม่ที่อยู่รอบนอกเอง ก็ยังพากันเข้ามาเล่นน้ำในเวียงอีกมาก

คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนไปทั้งเมือง โดยเฉพาะตามถนนที่ติดคูเมืองซึ่งทางจังหวัดก็จะไขน้ำมาขังไว้เต็มเปี่ยมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

คราวนี้ผู้กำหนดวันเล่นน้ำก็ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่อีกแล้ว แต่คือนักท่องเที่ยวซึ่งจะเริ่มเล่นกันตั้งแต่วันแรกของเทศกาลหยุดงาน ในปีนี้คือวันที่ 13 เมษายน แต่หากปีใดวันที่ 13 เป็นวันจันทร์ ก็อาจเริ่มสาดน้ำกันตั้งแต่วันเสาร์ที่ 11

สงครามน้ำจะทำกันไปทุกวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงตก และจนถึงวันสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวกลับบ้าน วันรุ่งขึ้น ทุกอย่างก็กลับมาสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผู้จัดการเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ในเชียงใหม่ ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่อีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเชียงใหม่ไม่ได้มาร่วมเล่นด้วยนะครับ ชาวเชียงใหม่ทั้งที่อยู่ในเมืองและมาจากรอบนอกต่างร่วมเล่นสาดน้ำกับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก แต่ผู้กำหนดจังหวะเวลาของการเล่นคือนักท่องเที่ยว โดยมีราชการและทุนร่วมมืออย่างเต็มที่

วันเล่นสาดน้ำในเชียงใหม่ โดยเฉพาะในเวียงจึงตรงกับวันหยุดตามที่นักท่องเที่ยวกำหนดไว้



อํานาจของนักท่องเที่ยวนั้นไม่ได้มาจากเงินอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าก็คือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของเชียงใหม่เอง ซึ่งทำให้ชีวิตของนักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนัก

ชาวเชียงใหม่จากรอบนอกบนหลังรถปิ๊กอัพ พร้อมตุ่มน้ำและเหล้า กับชาวกรุงเทพฯ บนหลังรถปิ๊กอัพพร้อมตุ่มน้ำและเหล้าคือคนพวกเดียวกัน จำนวนมากของคนเชียงใหม่เหล่านั้นต้องรีบจับรถทัวร์รถไฟกลับกรุงเทพฯ พร้อมกันกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทันเข้างานเหมือนกัน เพียงแต่เขาได้กลับไปนอนบ้านที่แม่ริม ในขณะที่นักท่องเที่ยวต้องนอนโรงแรมในเวียงเท่านั้น

วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติกัน และเฝ้าแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั้นไม่ได้เกิดลอยๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมหนึ่งๆ เสมอ

ผมเชื่อว่าบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมนี้อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ได้หมด นับตั้งแต่งานบุญบั้งไฟซึ่งกลายเป็นเวทีพนันครั้งใหญ่ ไปจนถึงงานบุญเดือนสิบในภาคใต้

ความพยายามจะอนุรักษ์ทุกอย่างให้เหมือนเดิม (เหมือนจริงหรือไม่ และเดิมแค่ไหนไม่ทราบได้) เป็นเพียงการรักษารูปแบบที่ไร้ความหมายในชีวิตคนปัจจุบัน

ผมคิดว่าการอนุรักษ์ที่แท้จริงไม่ใช่การอนุรักษ์รูปแบบ (ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ด้วยพิพิธภัณฑ์ หรือภาพยนตร์สารคดี) แต่คือการเข้าถึงจุดมุ่งหมายหรือจะเรียกให้โก้กว่านั้นว่า "จิตวิญญาณ" ของตัวประเพณี เพราะจะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนให้มีความหมายแก่ชีวิตคนปัจจุบันได้

รูปแบบเปลี่ยนไป แต่จิตวิญญาณยังไม่ไกลจากกันนัก



ผมขอยกตัวอย่างจากงานบุญเดือนสิบของภาคใต้ อันที่จริง ประเพณีนี้ประกอบด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ซ้อนกันอยู่สองความเชื่อ หนึ่งคือความเชื่อในศาสนาผี และสองคือความเชื่อในศาสนาพุทธ

ด้านหนึ่งของบุญเดือนสิบคือพิธีสารท สังเวยบูชาผี (ทั้งบรรพบุรุษและไม่ใช่) ด้วยอาหารที่ทำจากพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชนเกษตรเลี้ยงตนเอง (กระยาบวช-แสดงว่าเป็นผีดี) คนใต้ผนวกพิธีนี้ไว้ในประเพณีที่ทำกับพระบรมธาตุเมืองนคร เรียกว่า "ชิงเปรต" แต่มักทำกันนอกเขตศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา ด้วยการวางขนมนมเนยซึ่งทำขึ้นไว้ให้ผีได้กิน แต่ในความเป็นจริงเด็กๆ จะแย่งชิงกันกินแทนผี เป็นที่สนุกสนาน

จิตวิญญาณของประเพณีนี้คือความเชื่อมโยงกันของสรรพชีวิต ก่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน เคารพชีวิตของกันและกัน ดังนั้น จึงขยายจิตวิญญาณนี้ให้มาเชื่อมโยงกับชีวิตสมัยใหม่ได้มาก เช่น ถึงยังจะทำขนมกงขนมลาวางให้เด็กแย่งกันต่อไปก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีส่วนสำคัญของพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นโอกาสของเศรษฐีและบริษัทห้างร้านใจบุญทั้งหลาย ซึ่งบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาล, เป็นทุนการศึกษาของเด็กยากจน, สร้างห้องสมุด, หรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้มามอบเงินหรือสิ่งของอย่างเป็นทางการ

จะชวนนักเรียนมอบสิ่งของหรือทำอะไรเพื่อช่วยนักเรียนในโรงเรียนขาดแคลนด้วยก็ได้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการให้และความเคารพต่อชีวิตคนอื่นผ่านพิธีกรรม

การทำประโยชน์เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม ก็เป็นการสังเวยบูชาผีสมัยใหม่ ซึ่งสามารถผนวกเข้ามาในพิธี "ชิงเปรต" ได้

ในด้านความเชื่อฝ่ายพุทธ ประกอบด้วยพิธีกรรม "ยกผ้าขึ้นธาตุ" คือแห่ผ้าประดับองค์ระฆังไปรอบพระบรมธาตุเมืองนคร แล้วเปลี่ยนผ้าผืนเก่าเอาผืนใหม่ขึ้นประดับแทน จิตวิญญาณของพิธีนี้คือ การทำบุญใหญ่ร่วมกัน ปลุกสำนึกความเป็น "ชุมชน" เดียวกันของผู้คน

แต่คนสมัยใหม่มาร่วมทำบุญแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้อยู่ร่วมฉลองกันทั้งวันเหมือนคนสมัยก่อน จึงควรขยาย "งานบุญ" นี้ไปให้กว้างกว่าวัดพระบรมธาตุ เช่น ร่วมกันทำประโยชน์แก่สาธารณสถานอื่นๆ ด้วย แม้สาธารณสถานเหล่านั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าพระบรมธาตุ แต่ผูกพันอยู่กับชีวิตคนไม่น้อยไปกว่ากัน เช่นโรงพยาบาล, โรงเรียน, ถนนหนทาง, ฯลฯ การช่วยกันออกแรงบูรณะปรับปรุงสถานที่เหล่านั้น ล้วนเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองคนเดียวทั้งนั้น จึงล้วน "ได้บุญ" ไม่น้อยไปกว่ากัน

ปัจจุบัน มีบางโรงเรียนสอนเด็กให้ "สวดด้าน" เพื่อมานั่งสวดคัมภีร์ตามด้านต่างๆ ของพระบรมธาตุ ให้ตรงกับประเพณีโบราณ "สวดด้าน" คือ "สวดโอ้เอ้วิหารราย" ของพิธีหลวงในภาคกลาง ซึ่งนิยมสวดมหาชาติคำหลวง

จะอนุรักษ์ประเพณีด้วยการรื้อฟื้นของเก่าให้เหมือนเปี๊ยบอย่างนี้ก็ดีครับ แต่ไม่พอ เพราะคนทำบุญแล้วก็กลับบ้านหมดดังที่กล่าวแล้ว

ในขณะที่การสวดสมัยเก่ามีคนฟัง แถมฟังด้วยความซาบซึ้งด้วย เพราะมหาชาตินั้นเป็นสุดยอดของปรัชญาศาสนาสำหรับคนโบราณทีเดียว ฉะนั้น นอกจากสวดด้านแล้ว ก็น่าจะมีการแสดงธรรมที่ดึงคนปัจจุบันได้ดี เช่นปาฐกถาของพระตลก, ท่าน ว., หรือเสวนาธรรมที่มีคนอธิบายธรรมะเก่งๆ ทั้งพระและฆราวาส ก็ได้

จะมีการสอนโยคะ หรือสอนการทำสมาธิด้วยก็ยังได้

สรุปก็คือ จับ "จิตวิญญาณ" ของประเพณีพิธีกรรมให้ได้ แล้วปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับเศรษฐกิจ-สังคมปัจจุบัน คือการอนุรักษ์

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก แต่มักไม่ค่อยทำกันในเมืองไทย

.