http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-02

เจดีย์หลวงร่วงรายฯ และ "สรไน" กับ "กาแล"ฯ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
เจดีย์หลวงร่วงราย ฤาลางร้ายของนครา
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 75


ข่าวโบราณสถานหลายแห่งในภาคเหนือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รอยเลื่อนร้าวลึกวัดความแรงได้ 5.6 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า ความเสียหายครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดนับแต่ เชียงราย พะเยา และน่าน

แต่จุดสนใจลำดับแรกสุดในสายตาของสาธารณชนต่างพุ่งเป้าไปที่โบราณสถานในเขตเมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

เหตุเพราะภาพของยอดสถูปที่หักโค่นกล่นเกลื่อน ผนังอิฐหุ้มองค์ระฆังหลายแห่งเกิดรอยแยกแตกร้าวเป็นแนวยาว ไม่ว่าจะเป็น พระเจดีย์หลวง พระเจดีย์วัดป่าสัก พระเจดีย์วัดปราสาทคุ้ม พระธาตุภูเข้า และพระธาตุจอมกิตติ ฯลฯ

โดยเฉพาะองค์หลังนี้เคยถูกพายุกระหน่ำซัดจนยอดฉัตรหักกระจายลงมาเมื่อ 3-4 ปีก่อน จากนั้นเพิ่งจะบูรณะเสร็จได้ไม่นานกลับต้องเผชิญกับชะตากรรมซ้ำซากอีกครา

ฝันร้ายเรื่องโบราณสถานกับแผ่นดินไหว ใช่เพียงแต่จะสร้างความสลดสังเวชให้แก่ผู้มีหัวใจนักอนุรักษ์เท่านั้น กรมศิลป์เองก็ต้องเตรียมรับมือกับ "งานเข้า" ครั้งใหญ่อย่างเคร่งเครียด

โจทย์หนักคราวนี้ใช่เพียงแค่การบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นับสิบให้ถูกต้องตามรูปแบบดั้งเดิมทุกประการเท่านั้น หากยังมีงานที่ท้าทายความสามารถในด้านการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างวิศวกรรม จะต้านภัยแผ่นดินไหวครั้งต่อไปได้ดีแค่ไหน?

ในอีกมุมหนึ่ง ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองเหนือจำนวนไม่น้อย ต่างก็ฉุกใจนึกภิเปรยเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อมโยงกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้ยอดสถูปขององค์พระธาตุเจดีย์หลวงกลางเวียงเชียงใหม่หักโค่นลงมาแล้ว

โดยความเชื่อของคนล้านนาว่าเป็นลางร้ายแห่งนครา


พระธาตุเจดีย์หลวง
จากเชียงแสนถึงเชียงใหม่

น่าประหลาดใจไหมที่สถูปทั้งสององค์ชื่อ "พระธาตุเจดีย์หลวง" เหมือนกัน แม้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาห่างกันหลายร้อยปี องค์ที่กำลังประสบปัญหายอดหักโค่นลงมาหมาดๆ นี้ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าเชียงแสน ริมฝั่งแม่น้ำโขง

ส่วนอีกองค์หนึ่งซึ่งเคยสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ชาวบ้าน ภายหลังที่ยอดเจดีย์ถล่มทลายลงมา ว่านี่คือสัญญาณไม่ดีแห่งการอวสานราชธานีล้านนาเมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อนนั้นตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

อันที่จริงพระธาตุเจดีย์หลวงที่เชียงแสนมีอายุเก่าแก่กว่าที่เชียงใหม่ สถูปองค์ในมีประวัติความเป็นมาว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระญาแสนภู

เมื่อปี พ.ศ.1887 แต่ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว โปรดให้ขุดฐานเจดีย์องค์เดิมโดยรอบ แล้วก่อพระเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันครอบทับใหม่ให้สูงสง่าขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2058

ในขณะที่พระเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่ เริ่มสร้างหลังจากมีการสถาปนาพระเจดีย์หลวงที่เชียงแสนแล้วประมาณเกือบหนึ่งศตวรรษ

กล่าวคือสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยพระญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928-1945) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย

ความพิสดารของพระเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่นี้ มีความน่าสนใจกว่า "พระเจดีย์หลวง" ที่อื่นๆ เพราะเมื่อแรกสถาปนานั้นมิได้จงใจจะให้เป็นเสมือน "วัดมหาธาตุ" ในทำนองหลักเมืองแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ชื่อว่าพระเจดีย์หลวงด้วยอีกเช่นกัน

นามเดิมของพระเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่มีชื่อว่าวัด "โชติการาม" แต่ภายหลังนิยมเรียกว่าพระเจดีย์หลวงตามความสำคัญที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับรูปพรรณสัณฐานขนาดมโหฬาร

มูลเหตุแห่งการสร้างวัดโชติการามนั้น แรกเริ่มเดิมทีพระญาแสนเมืองมาตั้งใจจะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลถวายแแด่พระญากือนา พระราชบิดา ตามที่ตำนานเล่าว่า ภายหลังจากที่พระญากือนาสวรรคตไปแล้ว วิญญาณได้ปรากฏตัวกับพ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า ฝากให้มาบอกแก่พระญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ทรงมีพระประสงค์ให้พระญาแสนเมืองมาสร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินไว้ท่ามกลางเวียง และจะต้องเป็นเจดีย์สูงใหญ่มากพอที่จะให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่พระญากือนา เพื่อให้พระองค์สามารถไปเกิดในเทวโลก

โจทย์ที่วิญญาณของพระญากือนาตั้งไว้ใหญ่โตมโหฬารเกินกว่าเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นจะตอบได้ ความสูงโดยเฉลี่ยของเจดีย์ทั่วไปมักไม่เกิน 70 ศอก แม้แต่องค์พระธาตุหริภุญไชยที่ลำพูนได้ขึ้นชื่อว่ามีความสูงที่สุดในยุคนั้นก็ยังสูงเพียงแค่ 92 ศอกเท่านั้น มิได้สูงเสียดฟ้าแต่อย่างใด

พระญาแสนเมืองมายังมิได้ทันแก้ปัญหาขนาดอันมหึมาของพระเจดีย์ ก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ทิ้งให้พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีสืบทอดเจตนารมณ์สร้างต่อแทน จนสำเร็จในรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นราชโอรส ใช้เวลาสร้างรวมทั้งสิ้น 5 ปี

เมื่อแรกสร้างองค์พระธาตุนั้นใช้ชื่อว่า "ราชกูฏ" หรือกุฎาราม บ้างก็เรียกว่า "โชติการาม" หมายถึงเวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟประดับบูชาองค์พระธาตุ จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์แต่ไกลคล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงแวววาว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก

"โชติการาม" หรือ "ราชกุฎาราม" ถูกยกสถานภาพให้มีบทบาทสำคัญ กลายมาเป็น "พระเจดีย์หลวง" ในยุคที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030)

พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต (ด้ำพร้าคด) นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยได้ขยายเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม ปรับเปลี่ยนเป็นรูปทรงปราสาทมีซุ้มจระนำสี่ทิศพร้อมบันไดแก้วพุ่งสู่แกนกลาง ปิดปลายด้วยเจดีย์ทรงระฆังประดับอยู่บนยอด เมื่อสร้างเสร็จมีความสูงประมาณ 95 เมตร ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วัดความกว้างได้ประมาณด้านละ 56 เมตร

ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สูงใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีการสร้างกันมาบนแผ่นดินล้านนา นอกเหนือจากจะเป็นการสานเจตนารมณ์ตอบสนองพระราชประสงค์ดวงพระวิญญาณของพระญากือนา สมเด็จพระราชปัยยิกาเจ้าที่ปรารถนาจะเห็นพระเจดีย์สูงลิบลิ่วแลเห็นแต่ไกลโพ้นแล้ว


พระเจ้าติโลกราชยังทรงมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ในการใช้พระมหาธาตุเจดีย์หลวงแห่งนี้เป็นศูนย์กลางรัฐล้านนาอันยิ่งใหญ่ และยังใช้เป็นจุดประกาศความสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายป่าแดงที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ให้เหนือกว่านิกายสวนดอก

เพราะก่อนหน้านั้นพระมหาธาตุเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองเหนือตั้งอยู่ที่ลำพูนคือพระธาตุหริภุญไชย อีกทั้งพระพุทธรูปองค์สำคัญในล้านนาก็กระจัดกระจายประดิษฐานอยู่ตามวัดต่างๆ

พระเจ้าติโลกราชได้ทรงรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของทุกชนเผ่าชาติพันธุ์มาไว้ ณ ที่แห่งนี้ทั้งหมด เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้แบบเบ็ดเสร็จ

นับแต่พระแก้วขาว เสตังคมณีศรีหริภุญไชย ที่พระญามังรายตีลำพูนได้แล้วเอามาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น ก็ถูกอัญเชิญมาไว้ที่พระเจดีย์หลวง

เช่นเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ ณ วัดพระสิงห์ หรือพระแก้วมรกตจากวัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง ก็ถูกนำมารวมไว้ที่นี่เพื่อเสริมบารมีความยิ่งใหญ่ของพระองค์

รวมไปถึงความเชื่อพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณของชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยง ต่างก็ถูกนำมาหลอมรวมไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีฝังเสาอินทขิล การปลูกต้นยางนา การบูชายักษ์กุมภัณฑ์ พระฤๅษี

หรือแม้กระทั่งการจำลองเสนาสนะอันหลากหลายประเภท ที่เคยมีแต่เฉพาะในวัดใหญ่ดังเช่นวัดพระธาตุหริภุญไชยเท่านั้น ให้มาปรากฏที่วัดเจดีย์หลวง อาทิ วิหารพระสังกัจจายน์ วิหารพระอัฏฐารส รวมไปถึงการกำหนดให้มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ ที่แห่งนี้แทนที่วัดพระธาตุหริภุญไชย

ข้อสำคัญคือฐานพระเจดีย์หลวงที่ประดับด้วยช้างล้อมรายรอบทั้งหมด 8 ทิศ นั้น ก็มีการเปลี่ยนคติเรื่อง "ช้างค้ำยันพระพุทธศาสนา" ตามคติลังกาวงศ์มาเป็นเรื่องราวของพญาช้างศึกที่เสริมดวงเมืองในเรื่องไสยศาสตร์เพื่อข่มศัตรูไม่ให้กล้ามารุกรานย่ำยีเมือง ช้างมีทั้งหมด 28 เชือก แต่มีการตั้งชื่อไว้เพียง 8 ทิศสำคัญเท่านั้น

เมื่อฟังจากชื่อช้างเหล่านี้เราจะเห็นภาพของช้างฮึกเหิมคึกคะนองพร้อมรบมากกว่าจะเป็นช้างที่เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

ชื่อของช้างทั้งแปดมีดังนี้ เมฆบังวัน ข่มพลแสน ดาบแสนด้าม หอกแสนลำ ปืนแสนแหล้ง หน้าไม้แสนเกี๋ยง แสนเขื่อนกั้น และไฟแสนเต๋า

ในที่สุดความโดดเด่นอลังการของพระเจดีย์ ที่เดินทางมาห่างไกลจากการเป็นสถูปที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐิของพระญากือนา ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลประหนึ่งเขาพระสุเมรุไปโดยปริยาย ด้วยทำเลที่ตั้งอันเหมาะสมอยู่ในตำแหน่งสะดือเมืองหรือใจกลางเมืองเชียงใหม่ มีชัยภูมิที่แหนห้อมรายล้อมด้วยวัดบริวารทั้ง 8 ทิศ ทั้งวัดที่มีมาก่อนแล้วแต่ดั้งเดิม และวัดที่จงใจสร้างขึ้นใหม่อีกให้ครบองค์แปด


กระทั่งสมัยพระเมืองแก้ว ได้ขยายส่วนฐานของพระเจดีย์หลวงให้ใหญ่ขึ้นอีก เพื่อสามารถรองรับกับความสูงตระหง่าน ถือเป็นการปิดฉากการก่อสร้างเสริมเติมแต่งพระเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่

เห็นได้ว่าพระเจดีย์หลวงที่เชียงแสนเริ่มสร้างปี พ.ศ.1887 สมัยพระญาแสนพู ในที่สุดก็ได้รับการบูรณะขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ.2058 ตรงกับสมัยพระเมืองแก้วเช่นเดียวกัน

สรุปแล้วพระเจดีย์หลวงทั้งที่เชียงแสนและเชียงใหม่ ต่างมาบรรจบพบกันในขั้นตอนการบูรณะปรับปรุงรูปแบบเบ็ดเสร็จในสมัยพระเมืองแก้ว ณ ประวัติศาสตร์หน้าเดียวกัน

ความสำคัญของพระเจดีย์หลวงทั้งสองนครเชื่อว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แตกต่างกันแต่เพียงรูปแบบ ขนาด ความสูงใหญ่ ที่ไม่เท่ากัน

เหตุเพราะพระเจดีย์หลวงที่เชียงแสนมิได้เร้นซ่อนวาระทางการเมืองอะไรมากมายเท่ากับพระเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่


แผ่นดินไหว
ยอดเจดีย์หลวงพังทลาย
ลางร้ายของนคราหรือปัญหาทางวิศวกรรม?

ถามว่าบนแผ่นดินล้านนาเคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนถึงขนาดที่ทำให้พระเจดีย์ถล่มทลายลงมาก่อนหน้านี้บ้างหรือไม่?

คำตอบก็คือเคยมีในยุคหริภุญไชยก่อนสมัยล้านนา แต่มิได้มีการโจษจันถึงเรื่องคำทำนายหรือลางร้ายอันใดในอาณาจักร เหตุเพราะแผ่นดินไหวครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกอักษรมอญโบราณ มิได้มีการบันทึกความรู้สึกของผู้คนร่วมสมัย

ศิลาจารึกดังกล่าวคือหลักที่ ลพ.2 พบที่เชิงฐานพระเจดีย์กู่กุฏิ (คนนิยมเขียนว่า "กู่กุด") หรืออีกชื่อคือ "เจดีย์สุวรรณจังโกฏ" วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย มีใจความโดยย่อว่า

"พระญาสววาธิสิทธิโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งพังทลายลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหวในปีไวสาขะ โปรดให้ซ่อมเสริมด้วยการบุเพชรพลอยอัญมณีไว้ที่ยอดสถูป แล้วให้ชื่อว่ารัตนเจดีย์"

ไม่มีการระบุปีพุทธศักราช แต่นักจารึกวิทยากำหนดอายุโดยประมาณตามรูปอักขระ พร้อมเปรียบเทียบกับตำนานช่วงชีวิตของพระญาสววาธิสิทธิ ว่าควรอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17

ข้อความจากศิลาจารึกหลักนี้ ทำให้เรารู้ว่าอย่างน้อยที่สุดเคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นจริงในยุคหริภุญไชยตอนปลายๆ ราว 800-900 ปีมาแล้ว และจะต้องมีความรุนแรงสั่นสะเทือนมากจนทำให้พระเจดีย์ขนาดใหญ่พังทลายลงมาได้ ถือเป็นข้อมูลที่นักธรณีวิทยาไม่ควรมองข้าม อันที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าแปลกอะไร เพราะในภาคเหนือพบรอยเลื่อนกระจายตัวอยู่หลายแหล่ง ทั้งรอยเลื่อนแม่ทา-ลำพูน รอยเลื่อนแม่ริม-เชียงใหม่ ฯลฯ


แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใดๆ ก็ไม่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่นักประวัติศาสตร์มากเท่ากับ การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2088 ตรงกับรัชสมัยของพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา นางพญาแม่เมืองแห่งราชวงศ์มังรายลำดับที่ 16 พระเจดีย์หลวงได้หักพังถล่มทลายลงมาตั้งแต่ส่วนปลายบนสุดของเม็ดน้ำค้าง ปลียอด ปล้องไฉน องค์บัลลังก์ และบางส่วนขององค์ระฆังทรงกลม รวมไปถึงบางเสี้ยวขององค์เรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำและบันไดแก้ว

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่พรรณนาเหตุการณ์ช่วงนั้นอย่างกระชับว่า

"เดือน 11 แรม 3 ค่ำ เงี้ยวมาปล้นเอาค่ายเชียงโฉม แรม 4 ค่ำ ยามแถลค่ำ แผ่นดินไหวหวั่นร้อยคั่งค้างมากนัก ยอดมหาเจดีย์หลวงและเจดีย์วัดพระสิงห์หักพังตก เจดีย์หลังอื่นหักพังตกลงมานัก..."

จากข้อความในบันทึกเห็นได้ว่า มิใช่เพียงแค่พระมหาธาตุเจดีย์หลวงเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวปี 2088 แต่ยังมีเจดีย์อีกหลายแห่งที่ยอดหัก รายชื่อที่ปรากฏทำให้เรารู้ว่ายังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกแห่งหนึ่งคือวัดพระสิงห์เท่านั้น

ร่องรอยปรักหักพังของพระเจดีย์หลวงคงสภาพค้างคาอยู่เช่นเดิมนานถึง 445 ปี ราวกับว่าผู้ครองนครทั้งในยุคที่พม่าปกครองและยุคหลังจากที่ฟื้นเมืองคืนจากม่านแล้ว หมดกระจิตกระใจที่จะบูรณะ อาจด้วยจนใจกับขนาดความสูง ลำพังเฉพาะแค่ส่วนฐานลานประทักษิณนั้น ก็ต้องแหงนคอตั้งบ่ามองดูแล้ว

กระทั่ง พ.ศ.2533 กรมศิลปากรได้บูรณะตามหลักฐานโบราณเท่าที่สามารถสืบค้นได้ โดยมิกล้าแต่งเติมเสริมปรุงส่วนยอดให้สมบูรณ์ ท่ามกลางความหงุดหงิดของกองเชียร์หลายฝ่ายที่พยายามลุ้นให้ช่วยเติมเต็ม แต่กรมศิลป์คงพิจารณาแล้วเห็นว่าขืนจินตนาการไปเรื่อยเปื่อย ก็อาจจะยิ่งกลายเป็นการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีให้เสียรูปทรงยิ่งขึ้น สู้ปล่อยไว้ให้หักคาตามสภาพเดิมเช่นนี้ยังน่าทัศนากว่า


วิศวกรมักตั้งคำถามต่อนักโบราณคดีว่า การที่ยอดพระเจดีย์หลวงพังทลายลงมานั้น เหตุเพราะโครงสร้างของสถูปภายในไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักเครื่องยอดตอนบนที่สูงลิบลิ่วเท่านกเขาเหินเช่นนั้น ใช่หรือไม่

แต่สำหรับชาวล้านนาในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น เมื่อได้ยลมหาธาตุเจดีย์หลวงที่เคยตั้งเด่นเป็นศรีสง่าอยู่ใจกลางเมือง ตอกย้ำความเชื่อว่านี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เปรียบได้ดั่งเขาพระสุเมรุ จู่ๆ ก็พลันเกิดล้มครืนลงมาต่อหน้าต่อตา คงไม่มีเวลามานั่งวิเคราะห์หาเหตุผลจับผิดกระบวนการก่อสร้างระบบวิศวกรรม ว่าภายในพระเจดีย์หลวง ทำไมต้องไปเจาะช่องจนเกิดอุโมงค์ ไยจึงมิได้ก่อทึบ จนทำให้เจดีย์พังทลายลงมาหลังจากที่พระเมืองแก้วสร้างเสร็จสมบูรณ์เพียงอีกสามทศวรรษ เป็นแน่แท้

การตีความของชาวล้านนาจึงหนีไม่พ้นความหวั่นกลัว "ลางร้าย" ที่อาจจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินล้านนา มิช้าก็เร็ว ขุนน้ำขุนนางบางคนถึงกับประณามหยามเหน็บว่าที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะล้านนาเอาผู้หญิงมาเป็นกษัตริย์!

ในที่สุด "ลางร้าย" นั้นก็มาถึง บั้นปลายราชวงศ์มังรายภายหลังจากยุคพระนางเจ้าจิรประภา ทศวรรษสุดท้ายก่อนอาณาจักรล่มสลาย ราชสำนักเชียงใหม่เต็มไปด้วยจลาจล ลอบปลงพระชนม์ การก่อกบฏ ปล้นอำนาจ แย่งชิงราชบัลลังก์ ขุนนางแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีทั้งฝ่ายสนับสนุนกองกำลังจากกรุงสยามศรีอยุธยา บางฝ่ายหนุนอยู่ข้างพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ในขณะที่พระนางเจ้าจิรประเภาเองก็มีใจให้ฝ่ายลาวหลวงพระบางล้านช้าง

ยิ่งเมื่อได้เห็นอาเพศพระเจดีย์หลวงร่วงหล่นมาบอกเหตุร้ายเช่นนี้ด้วยแล้ว จึงยิ่งสบช่องให้พระนางเจ้าจิรประภา หาทางวางแผนนำเอาพระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระพุทธสิหิงค์ หลบหนีไปยังเมืองหลวงพระบางพร้อมกับพระเจ้าไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชนัดดาเสียให้รู้แล้วรู้รอด


อาณาจักรล้านนาอันเกรียงไกรพลันถึงแก่การอวสานด้วยการสูญเสียอิสรภาพให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2101 นับรวมเวลาได้เพียง 13 ปีเท่านั้นภายหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวกลางเวียงเชียงใหม่จนยอดพระธาตุเจดีย์หลวงหักโค่น

แล้วกรณีพระเจดีย์หลวงที่เชียงแสนถล่มลงมาเพราะแผ่นดินไหวเล่า

ใครจะนับว่าเป็นสัญญาณอาเพศร้าย ลางแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศนี้อีกหรือไม่?


++

"สรไน" กับ "กาแล" ใครกันแน่เล่นคุณไสย?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 75


สาเหตุที่ต้องหยิบประเด็นเรื่อง "สรไน" (อ่านว่า "สะระไน" ไม่ใช่ "สอระไน") กับ "กาแล" ซึ่งทั้งคู่เป็นเครื่องประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมในส่วนหน้าจั่วหลังคาของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ เหตุเพราะสะกิดใจคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า

"กาแล-เชียงใหม่" - "สรไน-ลำพูน"
เป็นความจริงล่ะหรือ?

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่ต้องบรรยายเรื่องสถาปัตยกรรมให้นักศึกษาหรือมัคคุเทศก์ฟัง มักมีแต่คำถามเดิมๆ ว่า "กาแล" นั้นเป็นไสยศาสตร์ของพม่าใช่หรือไม่?

เมื่อวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มา กลับกลายเป็นตาลปัตรกัน ปรากฏว่า "กาแล" เป็นฝ่ายถูกคุณไสยเล่นงานต่างหาก!



กาแล-เชียงใหม่ สรไน-ลำพูน?

ผู้ที่ชอบกล่าวว่า "เรือนกาแล" เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ส่วน "เรือนสรไน" เป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำพูนนั้น มักเป็นคณะทำงานของเทศบาล-โยธาหรือเป็นนักขับเคลื่อนวัฒนธรรม เพราะมีหน้าที่ต้องคอยเสาะหา "อัตลักษณ์เฉพาะ" ของสถาปัตยกรรมในแต่ละท้องถิ่น มาเป็นต้นแบบสำหรับงานผลิตซ้ำ "วัฒนธรรมเมือง"

แล้วคำพูดดังกล่าวจริง-เท็จอย่างไร คำตอบคือมีทั้งถูกและผิดอยู่ในตัวเอง

ที่บอกว่าถูกนั้น ก็เพราะที่เชียงใหม่พบเรือนกาแล หรือ "เฮือนก๋าแล" ค่อนข้างมากในหลายอำเภอ อาทิ จอมทอง แม่แจ่ม สันป่าตอง หางดง ฮอด ฯลฯ

ส่วนในลำพูนนั้นหนักไปทาง "เฮือนสะละไหน่" หรือ "เฮือนจะละไน" (อ่านแบบสำเนียงคนยอง) เหลือกาแลอยู่เพียงไม่กี่หลัง

ในความเป็นจริง กาแลมิใช่เรือนพื้นถิ่นเฉพาะของเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียว ทว่า มีความเป็นสากลมากกว่านั้น สามารถพบทั่วไปในเขตวัฒนธรรมล้านนาทั้งหมด จังหวัดพะเยาพบมากที่อำเภอเชียงคำ ที่แม่ฮ่องสอนพบในกลุ่มชนชาวลัวะ ชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย พบในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่แม่จัน เชียงแสน ฯลฯ

เช่นเดียวกับเรือนสรไน ถึงแม้จะพบมากในลำพูนหลายพื้นที่เช่นอำเภอป่าซาง บ้านธิ เวียงหนองล่อง แม่ทา จนมีผู้กล่าวว่าเรือนสรไนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของ "ชาวยองลำพูน" แต่แท้จริงแล้ว มีการพบอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทยทุกภูมิภาค กระจายตัวยิ่งกว่ากาแลด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในลำพูนอาจยังคงมีเหลือให้เห็นหนาตากว่าที่อื่น

น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่เรือนกาแลแทบจะสาบสูญไปจากลำพูน ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นเมืองลำพูนเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมของล้านนาทั้งหมด รวมไปถึงน่าจะเป็นแหล่งก่อเกิดเรือนกาแลก่อนเมืองอื่นๆ ด้วยเช่นกัน



กาแล : กาลาสากล กะแล่งของชาวลัวะ

หลักฐานปั้นลมรูปกาแลที่เก่าแก่สุดในย่านอุษาคเนย์ พบที่จีนตอนใต้ในแคว้นยูนนาน เป็นรูปกาแลจำลองขนาดเล็กทำด้วยสำริดมีอายุราว 2,500 ปี ปะปนอยู่ในหลุมศพของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ใน "วัฒนธรรมดองซอน"

ต้นกำเนิดของกาแลในภาคเหนือน่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ของอารยธรรมหริภุญไชยที่เข้ามาสถาปนาในแถบลุ่มน้ำแม่ปิงราว พ.ศ.1200

ชนพื้นเมืองกลุ่มแรกคือ "ลัวะ" เริ่มปลูกบ้านอาศัยด้วยไม้ยกพื้นสูง มีการใช้เขาควายจริงมาประดับบริเวณหน้าจั่วของบ้าน "เขาควาย" นี้ผู้มีสิทธิ์นำมาประดับได้ต้องเป็นหัวหน้าเผ่า หรือหมอผีเท่านั้น

ในทุกๆ ปีชาวลัวะประกอบพิธีบูชาเสา "อินทขีล" หรือ "เสาสะก้าง" เชื่อว่าพระอินทร์ประทานมาให้เป็นเสาหลักเมือง ประเพณีนี้ยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชนลัวะเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ ลัวะบ้านแม่เหียะ บริเวณพระธาตุดอยคำ ใกล้ดอยสุเทพ หรือลัวะที่พระบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม ฯลฯ

พิธี "เข้าอินทขีล" ต้องมีการเซ่นสังเวยกระบือหนึ่งตัว โดยนำมาผูกที่เสาแล้วลงมือฆ่ากระบือนั้น ซึ่งชาวลัวะเชื่อว่าวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ (ผีบรรพบุรุษ) ของตนจะมีความพึงพอใจยิ่งในการที่ลูกหลานได้เซ่นเนื้อควาย

อันที่จริงเมื่อวิเคราะห์ให้ดี พบว่าเนื้อควายมีความจำเป็นต่อชาวลัวะอย่างยิ่ง เนื่องจากชีวิตประจำวันเกือบตลอดทั้งปีได้กินโปรตีนไม่มากนัก แต่ละวันบริโภคแต่พืชผักผลไม้และสัตว์เล็กจำพวกแมลงมีปีกและแมลงใต้ดิน

ดังนั้นพิธีการสังเวยกระบือของชาวลัวะที่ถูกนักอนุรักษ์สัตว์มองว่า "ป่าเถื่อน" นั้น แท้จริงมีนัยด้านโภชนาหารแฝงอยู่!


เมื่อผู้นำเผ่าทำพิธีพลีกรรมด้วยกระบือเสร็จ จะทำการตัดเขาควายคู่นั้นไปติดประดับที่หน้าจั่วหลังคาบ้าน อันเป็นตำแหน่ง "ปั้นลม" ที่ใช้ติดไม้กาแล โดยเรียกเขาควายนั้นว่า "กะแล่ง" อันเป็นการแสดงถึงสถานะของผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่า

วัฒนธรรมการนำเขาควายมาประดับหลังคาบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองนี้มีความพ้องกันหลายแหล่ง สามารถพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ ในญี่ปุ่น ในฟิลิปปินส์ หรือในอินโดนีเซีย ที่เกาะสุมาตรา ชวา ซาราวัก และบาหลี เรียกเขาควายนี้ว่า "กาลา"หมายถึง "หน้ากาล" - ผู้กลืนกินกาลเวลา พัฒนามาจากตัวเกียรติมุขหรือราหูที่เคยใช้ประดับซุ้มประตูทางเข้าอาคารของอินเดีย มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานและป้องกันภูตผีปีศาจ

จะเห็นได้ว่า ชื่อ "กาลา"- Kala นี้มีความใกล้เคียงกับคำว่า "กาแล" ไม่น้อย

จุดเริ่มต้นของชื่อ "กาลา" น่าจะส่งอิทธิพลให้ชาวลัวะเรียกตาม แต่เพี้ยนไปเป็น "กะแล่ง" แล้วชาวล้านนามาเรียกว่า "กาแล" อีกต่อหนึ่ง



แล้วเรื่องไสยศาสตร์พม่ากับกาแลมาได้อย่างไร

มีอยู่ช่วงหนึ่ง นโยบายการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเทศบาลนครเชียงใหม่ มุ่งเน้นไปยังการให้รางวัลแก่อาคารบ้านเรือนที่ติดสัญลักษณ์รูป "กาแล" ตรงหน้าจั่ว

มองในแง่สร้างสรรค์ อาจถูกใจนักอนุรักษ์ท้องถิ่น แต่แล้วกลับมีเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ

ชาวล้านนาจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นต่อต้านการเชิดชู "กาแล" เนื่องจากเชื่อว่า กาแลคือเครื่องหมาย "กากบาท" ที่ชาวพม่าประทับตราบาปไว้ให้กับบ้านชาวไทโยน ในช่วงที่ล้านนาประเทศตกเป็นเมืองขึ้นระหว่างปี 2101 ถึง 2317

มีการตีความเครื่องหมายไขว้รูป "กากบาท" ว่าแท้ที่จริงก็คือ "หว่างขาของชาวพม่า" ที่เสกคุณไสยเข้าครอบงำชีวิตชาวล้านนาให้ต้องลอดเข้าลอดออกทุกวัน เสมือนต้องมนตราจึงไม่กล้าหือลุกขึ้นต่อกร เป็นเหตุให้จมจ่อมยอมจำนนต่อพม่าอยู่นานกว่าสองศตวรรษ

ผู้ที่เชื่อทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นถึงรูปทรงบ้านที่มีไม้กาแลว่าไม่ได้ตั้งฉากตรงๆ แต่มักมีลักษณะผายออกตอนบนและสอบเข้าตอนล่าง ละม้ายกับรูปทรงของโลงศพในพม่า นั่นหมายความว่า ชาวล้านนาถูกพม่าบังคับให้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีลักษณะเหมือนหีบศพ แล้วเสียบประจานซ้ำด้วยไม้กากบาท หรือหว่างขาอีกชั้นหนึ่ง!

ใคร่ทราบนัก ว่าตอนที่พญากาวิละกอบบ้านกู้เมืองคืนได้จากพม่า เป็นเพราะมีการถอนอำนาจไสยศาสตร์ออกจากเรือนกาแล หรือเช่นไร?


ไม่มีใครยืนยันทฤษฎีนี้ว่าจริง-เท็จประการใด ใครเป็นผู้จุดประกายความคิดนี้ขึ้นมา เพราะปราชญ์ใหญ่ล้านนาหลายท่าน ทั้ง ศ.เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ หรือ ศ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า

"เรื่องนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เป็นความหวาดกลัวไปเองมากกว่าของคนเหนือยุคหลังฟื้นฟูเมืองจากพม่า"

อย่างไรก็ดี เมื่อความเชื่อนี้กระจายมาสู่ชาวล้านนาที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านกาแล ต่างเกิดความไม่สบายใจจึงต้องทำพิธีล้างอาถรรพณ์ ด้วยการถอดไม้กาแลออกมาลอดใต้หว่างขาเป็นการแก้เคล็ดแล้วฝังลงดินในป่าช้า บ้างก็ถอดขายพ่อค้าของเก่าที่เฝ้ารอลุ้นอยู่แล้วอย่างไม่ไยดี

น่าเสียดายยิ่ง เรือนโบราณของชาวเหนือทุกวันนี้ที่เราเห็นว่าปักกาแล เหลือของแท้จริงๆ อยู่เพียงแค่ไม่กี่หลังแล้ว นอกนั้นล้วนเป็นของทำใหม่ทั้งสิ้น

หาก "กาแล" เป็นไสยศาสตร์จริง ไม่เคยมีการตั้งคำถามกันบ้างหรืออย่างไรว่า ทำไมชาวพม่าต้องไปทำคุณไสยใส่ชาวญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ด้วย?



สรไน แผลงมาจากปี่ไฉนที่ถูกเจียระไน

แล้ว "สรไน" ชื่อแปลกๆ นี้เล่าคืออะไร เป็นมาอย่างไร?

ที่มาของ "สรไน" นั้นมีการสันนิษฐานความเห็นไว้สองแนวทาง

นัยแรก สถาปนิกล้านนาบางท่านเห็นว่าน่าจะมาจากคำว่า "เจียระไน" หมายถึงการเจียรเพชรพลอยให้เกิดมุมเหลี่ยมตามที่ต้องการ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก รูปทรงของเสาสรไนนั้นมีการเจียรไม้เหลี่ยมมุมคล้ายการเจียระไนอัญมนี

ประการที่สอง พบว่า คนเฒ่าคนแก่หลายท่านในลำพูนยังคงเรียกขานเรือนสรไนนี้ว่า "เฮือนจะละไน" อยู่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาจากคำว่า "เจียระไน"

ในขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นอีกนัยหนึ่งจากปราชญ์ล้านนาจำนวนมาก ที่เชื่อว่า "สรไน" มาจากคำว่า "สุระหนี่" ในภาษาชวา หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทปี่สรไน หรือปี่ไฉน

เมื่อสืบค้นหาคำ "สรไน" ว่ามีการใช้ในแดนดินล้านนาตั้งแต่เมื่อไหร่ พบว่า ปรากฏหลักฐานเก่าสุดด้านลายลักษณ์ในศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน เมื่อปี พ.ศ.1913 มีข้อความเกี่ยวเนื่องกับตอนที่พระญากือนาได้เตรียมการต้อนรับการเดินทางมาของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัย สู่เมืองลำพูนด้วยการประโคมเครื่องดนตรีนานาชนิด ว่า

"ท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูกเจ้าลูกขุนมนตรีทั้งหลาย ย้ายกันให้ถือกระทงข้าวตอกดอกไม้ ไต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณ ฆ้อง กลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะ-เทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสะดานมะระทง ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดาสะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชย"

จากศิลาจารึกนี้สะท้อนว่าอย่างน้อยที่สุดชาวลำพูนเมื่อยุค 650 ปีก่อนรู้จักกับคำว่า "สรไน" นี้แล้วเป็นอย่างดี

อาจเป็นไปได้ว่า ช่างพื้นบ้านชาวล้านนาได้นำคำว่าปี่ "สรไน" อันมีรูปทรงเป็นแท่งไม้กลมกลึงเสาสูง ไปใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วนของ "ปั้นลม" (ป้านลม) หรือ "ช่อฟ้า" แถมส่วนปลายยอดยังจำหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่

ยังมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอีกชิ้นมีชื่อว่า "ปล้องไฉน" ใช้ตกแต่งยอดสถูปเจดีย์เหนือองค์บัลลังก์และก้านฉัตรขึ้นไป ทำเป็นรูปวงแหวนซ้อนกันเป็นปล้องๆ หลายชั้น

คำว่า "ปล้องไฉน" เป็นภาพเน้นย้ำให้เห็นรากของชื่อ ที่มาจากคำว่า "ปี่ไฉน" อย่างชัดเจนเช่นกัน

และทั้ง "สรไน" กับ "ปล้องไฉน" ต่างก็ตั้งอยู่ตอนบนสุดของสถาปัตยกรรมทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า "สรไน" จะมีที่มาของชื่อจาก "เจียระไน" หรือ "ปี่ไฉน" แต่ในที่สุดชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวยองในลำพูนได้นำมาใช้เป็นชื่อเฉพาะ เรียกบ้านเรือนที่มีการประดับบริเวณยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคาในยุคมณฑลเทศาภิบาล ว่า "เรือนสรไน" อย่างแพร่หลาย ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป



เรือนสรไน การเข้ามาของมณฑลเทศาภิบาล
และอวสานของเรือนกาแล

แท่งจั่ว "สรไน" นี้มิได้คิดค้นโดยชาวยองลำพูนตามความเข้าใจเดิมๆ หากแต่มีความเป็นสากลเหมือนกับตัวกาแลที่มิใช่เป็นของชาวเชียงใหม่เท่านั้น

ชาวตะวันตกรู้จักการใช้ปั้นลมแท่งเสาสูงปลายแหลมมาประดับหน้าจั่วเป็นอย่างดีมาก่อนแล้วในยุโรปหลายศตวรรษ ชาวอังกฤษเรียกบ้านไม้ประดับหน้าจั่วว่า "กระท่อมไม้ซุง" หรือ English Cottage บ้านลักษณะเช่นนี้ชาวอังกฤษถือว่าใช้ปลูกสร้างตามชนบทป่าเขาไม่นิยมนำมาสร้างในเมืองใหญ่

ส่วนวัฒนธรรมของประเทศแถบเทือกเขาแอลป์รวมทั้งฝรั่งเศสขาใหญ่นักล่าอาณานิคม เรียกบ้านที่ติดจั่วสรไนว่า Chalet Suisse (ชาเล่ต์สวิส) เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากหุบเขาสูงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อชาวตะวันตกได้พม่า ลาว จีนตอนใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาไว้ในครอบครองแล้ว ได้วางรากฐานการนำองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ "จั่วสรไน" (หรือสุดแท้แต่ละวัฒนธรรมจะเรียกชื่อนี้ว่าอะไร อาทิ ชาวมลายูเรียก "บลานอ") มาสถาปนาในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด แทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยตกแต่งด้วย "กาแล" ของหลายๆ ประเทศ

เปลี่ยนแต่รูปลักษณ์ภายนอก ทว่า การแบ่งพื้นที่ใช้สอยสำหรับวิถีชีวิตภายในเรือนสรไนนั้น ยังคงละม้ายคล้ายคลึงกับเรือนกาแลพื้นถิ่นทุกประการ กล่าวคือบ้านแบบสรไนยังคงมี "ฮ้านน้ำ" (ที่วางหม้อน้ำดื่มหน้าบ้าน) "ต๊อมน้ำ" (ห้องน้ำ) "หลองเข้า" (ยุ้งข้าว) "เสาแหล่งหมา" (เสาผูกสุนัข) ขึ้นมาบนเรือนยังคงมี "เติ๋น" (ส่วนรับแขกที่ยกพื้นเล็กน้อย) "ฮางริน" (รางน้ำระหว่างชายหลังคา) การต่อเติมเรือนแฝด หรือ "ครัวไฟ" (ห้องครัว) เป็นต้น

การถอดหัวโขนของ "กาแล" เป็น "สรไน" ทำได้แค่เพียงเปลือกนอก ส่วนการดำรงชีพของคนเหนือยังคงพอใจใน function บ้านแบบเดิมๆ มิอาจเอาบ้านแบบภาคกลางหรือตะวันตกมาครอบงำ "พื้นที่ภายใน" ได้

อุปมาก็เหมือนกับ "การเกลียดตัวกินไข่"


เรือน "สรไน" ได้รับความนิยมขึ้นแทนที่ "เรือนกาแล" ในยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2427 เป็นต้นมา ตรงกับสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างช่วงที่ล้านนาเปลี่ยนสถานะจากประเทศราชของสยาม มาเป็นการปกครองในลักษณะมณฑลเทศาภิบาล ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ ถูกเรียกโดยรวมว่า "มณฑลลาวเฉียง" และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "มณฑลพายัพ"

ช่วงนี้สยามหรือรัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงใหญ่มาประจำที่มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพเป็นจำนวนมาก รสนิยมในการติดจั่ว "สรไน" แบบตะวันตกที่กำลังระบาดอย่างแรงในบ้านคหบดีกรุงเทพฯ และทั่วสยาม อินโดจีน ได้หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสการประโคมข่าวว่า "กาแล" เล่นไสยศาสตร์

เรือนสรไนสามารถเบียดแซงแย่งชิงพื้นที่เฮือนก๋าแลแบบเบ็ดเสร็จ

น่าสงสาร "กาแล" เจ้ากรรมเหลือเกินอยู่ดีๆ ก็ถูกใส่ร้ายโพนทะนาว่าเป็น "กากบาท-หว่างขาของพม่า" ที่เล่นคุณไสยข่มชาวล้านนาทั้งๆ ที่ประวัติความเป็นมาระบุชัดแล้วว่า เป็นเครื่องเซ่นบูชาเขาควายตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองแถบอุษาทวีป ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับพม่าเลย

สิ่งที่เล่นไสยศาสตร์ใส่เราเอาอย่างจัง แถมยังไม่รู้ตัว ก็คือ "หน้าจั่วปี่ไฉนแบบตะวันตก" ที่คนอื่นนำมาสถาปนาให้ต่างหาก ยิ่งภาพลักษณ์ของ "กาแล" ติดลบมากเท่าไหร่ คนพื้นถิ่นก็พลอยรังเกียจหลงลืมอัตลักษณ์ของตัวเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การประณามกาแลอย่างไร้เหตุผล แล้วหันมาให้คุณค่าสนใจแก่เรือนสรไนแทนที่นั้น

นี่ต่างหากคือไสยศาสตร์ตัวจริง!

.