http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-20

แย่งกันฝันแทนชาวนา, +คนชั้นกลาง-หัวหอกหรือด้ามหอก โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

แย่งกันฝันแทนชาวนา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 29


สัก 40 ปีมาแล้ว อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยพูด (กับผม หรือในปาฐกถาที่ผมเข้าไปฟัง ก็จำไม่ได้แล้ว) ในทำนองว่า โลกทรรศน์ของคนไทยยังเคยชินอยู่กับวิถีชีวิตในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจของชีวิตคนไทยที่สืบเนื่องมานาน ฉะนั้น จึงมองการเมือง, ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม และมองศีลธรรมแบบหมู่บ้าน

แต่ในปัจจุบัน เงื่อนไขดังกล่าวได้หมดไปนานแล้ว ถึงกระนั้น ผมคิดว่าคำกล่าวของอาจารย์สุลักษณ์ก็ยังใช้ได้อยู่ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าผมชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วว่า ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากความเคยชิน อาจมีปัจจัยอื่นช่วยเสริมให้ทัศนะนั้นดำรงอยู่ต่อมาในความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลได้

ปัจจัยที่ว่านั้น คือการปลูกฝังอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำพยายามจรรโลงไว้ โดยผ่านการศึกษา, สื่อ, และการตอกย้ำโดยบุคคลสำคัญ ชนชั้นนำไทยชอบที่จะเห็นคนไทยเป็นชาวนาเลี้ยงตนเอง และสยบยอม ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมายุ่งเกี่ยวอะไรกับการปกครอง เพราะชาวนาเลี้ยงตนเองนั้น โดยธรรมชาติแล้วมักไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติ ตราบเท่าที่ครอบครัวมีความมั่นคง

นี่คือที่มาของภาพอุดมคติว่า หมู่บ้านไทยมีสันติสุข มีความมั่นคงในทุกด้าน ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน และสมัครสมานกลมเกลียวกัน จนแทบไม่ต้องการบริการอะไรจากรัฐเลย เพราะสามารถดูแลตัวเองได้ทุกอย่าง



ภาพนี้ไม่เพียงแต่ไม่มีจริงในปัจจุบัน แต่ผมเชื่อว่าไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ด้วย แต่เพื่อบรรลุเป้าหมายของชนชั้นนำ ก็มีการตอกย้ำเรื่องนี้กันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เผยแพร่ความคิดนี้ไปในหมู่เอนจีโอ และนักเคลื่อนไหวต่างๆ

ในส่วนชาวบ้านเอง ถามว่าพวกเขาเชื่อภาพอุดมคตินี้หรือไม่? คำถามนี้ตอบยากนะครับ ชาวบ้านหรือใครๆ ก็อยากได้ความสงบสุขและความมั่นคงในชีวิตอย่างที่อุดมคติวาดภาพไว้ให้ทั้งนั้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้เห็นความสะดวกสบายในชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสื่อนำมาให้ดูจากวิถีชีวิตของคนชั้นกลาง

ถ้าเลือกได้ ก็คงอยากเลือกไว้ทั้งสองอย่าง แต่ชาวบ้านน่าจะเห็นได้จากชีวิตของตนว่า ในความเป็นจริงแล้วเลือกไม่ได้ จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม ชีวิตได้ไหลเข้าไปอยู่ในตลาดเต็มตัว ลูกต้องเรียน ข้าวต้องซื้อ หนี้ต้องผ่อน จะไปอยู่ในชุมชนอุดมคติ ก็ไม่มีทรัพยากรที่จำเป็น นับตั้งแต่ที่ดิน, น้ำ, ป่าประเภทต่างๆ, และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จะแสวงหาความสะดวกสบายในชีวิตอย่างคนในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ก็ไม่มีเงิน

แต่ภาพอุดมคติที่ตอกย้ำกันอยู่เสมอนั้น ไม่ได้เสนอให้เลือกได้ทั้งสองอย่าง ทางหนึ่งขึ้นสวรรค์ อีกทางหนึ่งลงนรก จะเอาทางใดก็เอาเสียทางเดียว



อันที่จริงมีอุดมคติเป็นเป้าหมายการพัฒนานั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นของดีด้วย การกลับไปเป็นชาวนาผู้มีความสุขอาจเป็นเป้าหมายที่สร้างขึ้นเพื่อถ่วงดุลเป้าหมายของการพัฒนาที่มุ่งจะเปลี่ยนชาวนาเป็นนายทุนอุตสาหกรรมการเกษตร (โดยทิ้งคนที่ไปไม่ถึงให้เป็นแรงงานราคาถูก)

แต่เป้าหมายสุดโต่งทั้งสองข้าง ยังคงเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงทั้งคู่ จึงไม่เกิดเป้าหมายเชิงอุดมคติที่พอเป็นไปได้ คือมีหนทางที่คนเล็กๆ จะเข้าสู่ตลาด เปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ มีพลังต่อรองทางการเมืองในรัฐสมัยใหม่ และมีความมั่นคงในชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขและเอื้อเฟื้อกันต่อไปได้ในระดับหนี่ง

เป้าหมายเชิงอุดมคติเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นก็เพราะชาวนาเลี้ยงตนเองจะเปลี่ยนไป เลิกสยบยอมต่ออำนาจที่ตัวควบคุมตรวจสอบไม่ได้ ชนชั้นนำย่อมไม่ชอบ ในทางตรงกันข้าม ชาวนาจะเปลี่ยนไปอย่างนั้นได้ ก็ต้องได้รับการหนุนช่วยให้ได้รับการพัฒนา เกิดเป็นฐานมวลชนที่มีความเข้มแข็ง ยากที่ทุนจะเอาเปรียบได้สะดวก ไม่ว่าในด้านการจ้างแรงงานหรือในด้านตลาดพืชผลการเกษตร

ในท่ามกลางอุดมคติที่ไม่จริงทั้งคู่นี้ ผมออกจะเชื่อว่า ชาวบ้านเลือกยึดถือทั้งสองขั้ว แล้วแต่สถานการณ์การต่อสู้ของตนจะอ้างอุดมคติขั้วใดจึงได้ประโยชน์ หากถูกแย่งชิงทรัพยากร ก็จะใช้อุดมคติชาวนาแสนสุข อ้างถึงภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความสมัครสมานกลมเกลียวในชุมชน หากเป็นสิทธิหรือโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่นผลผลิตของตนถูกโจมตีด้วยเอฟทีเอ หรือความผันผวนของราคาในตลาดโลก หรือการศึกษาและการพยาบาลฟรี ก็อ้างถึงอุดมคติชาวนาในฐานะพ่อค้าผู้มีรายได้มั่นคง

อุดมคติทั้งสองขั้วนี้ อันไหนจะมีพลังกว่ากัน ขึ้นอยู่กับอำนาจนำในช่วงหนึ่งๆ ของสังคม หากฝ่ายชนชั้นนำตามประเพณีสามารถยึดกุมอำนาจนำได้ อุดมคติชาวนาแสนสุข (หรือบางคนเรียกว่า "ชุมชนนิยม") ก็จะมีพลังมาก หากฝ่ายทุนสมัยใหม่ยึดกุมส่วนแบ่งในอำนาจนำได้มากขึ้น เช่น สมัยรัฐบาลชาติชาย หรือรัฐบาลทักษิณ ขั้วชาวนาพ่อค้าก็จะมีพลังมากขึ้น

การแบ่งสรรอำนาจนำในช่วงนี้ของสังคมไทย น่าสนใจนะครับ ในทางการเมืองฝ่ายพ่อค้ายึดกุมการเมืองในระบบได้เหนียวแน่น แต่ก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่า การเมืองไทยไม่ได้มีในระบบเพียงอย่างเดียว การเมืองนอกระบบมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ฉะนั้นก็ยังอยู่ในภาวะยันกันไปยันกันมา

แต่ชนชั้นนำตามประเพณียึดกุมอำนาจนำทางวัฒนธรรม และทางสังคมได้ค่อนข้างเด็ดขาด แม้จะถูกตั้งคำถามมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้ก็ตาม

ในทางเศรษฐกิจออกจะสับสนกว่านั้นมาก ชนชั้นนำตามประเพณีมีส่วนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่มานาน อีกส่วนหนึ่งอยู่กับพ่อค้านักธุรกิจที่ร่วมทุนอยู่กับกิจการของชนชั้นนำตามประเพณี อีกส่วนหนึ่งอาศัย "พึ่งใบบุญ" อยู่กับกลุ่มนี้ อีกจำนวนมากเล่นด้วยกับทุกฝ่าย เพื่อทำกำไรให้มากลูกเดียว ที่เหลือคือพวกที่เข้ากับเขาไม่ติด จึงมุ่งหากำไรในธุรกิจใหม่ แต่ก็ยอมแบ่งผลประโยชน์ให้กลุ่มอื่นๆ บ้างตามความจำเป็น

ในขณะที่ในทางการเมืองยังยันกันไปยันกันมานั้น มีพลังใหม่อีกกลุ่มหนึ่งโผล่เข้ามา คือคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งชอบเรียกตัวเองว่า "รากหญ้า" คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้นิยามตนเองในทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือสังคมชัดเจนนัก ที่รวมกันได้ก็ด้วยเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน

ในสภาพเช่นนี้แหละครับ ที่อุดมการณ์ชาวนาแสนสุข และพ่อค้าชาวนา กำลังกลับมาเผชิญหน้ากันใหม่



การรับจำนำข้าวทุกเม็ด คือการประกันว่า เข้ามาสู่ตลาดเต็มตัวเถิด อย่างน้อยรัฐประกันด้านตลาดไว้แล้ว โอกาสขาดทุนนั้นไม่มี (ส่วนโครงการนี้จะดำเนินต่อไปได้แค่ไหนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ค่าแรง 300 บาทบอกให้รู้ว่า ชาวนาล้มละลายทั้งหลายยังมีทางออกเหลืออยู่ คือขายแรงงานในอัตราค่าจ้างที่ดีขึ้นกว่าเก่า

โครงการที่เรียกกันว่าประชานิยมนั้น ผลบั้นปลายคือการลดผลกระทบของการออกจากชุมชนพึ่งตนเองมาสู่ตลาด แต่วิธีการลดผลกระทบเช่นนี้จะยั่งยืนได้ในระยะยาวหรือไม่ คงเถียงกันได้

ในทางตรงกันข้าม มีประชานิยมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวนามีความมั่นคงในชีวิตชาวนาเลี้ยงตนเองต่อไป เช่นออกโฉนดชุมชนให้แก่เกษตรกรที่กำลังถูกไล่ที่ โดยที่ดินซึ่งได้ไว้ไม่สามารถนำออกขายได้ เช่นเดียวกับที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรบนที่ดินเหล่านี้ ถูกสาปให้อยู่ในอาชีพเดิมต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ผมไม่ได้หมายความว่าโฉนดชุมชนไม่ดีนะครับ หากทำจริง อย่างน้อยก็ช่วยคนหลายล้านครอบครัวให้มีความมั่นคงปลอดภัยในปัจจัยการผลิตที่จำเป็นของตัว แต่โฉนดชุมชนไม่ได้แก้ปัญหาที่ดินของประเทศ ยังมีเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ทำกิน หรือมีที่ไม่พอทำกินอีกมากในประเทศไทย ไม่นับผลกระทบด้านอื่นๆ อีกมากซึ่งเกิดจากการกระจุกตัวของที่ดิน

ผมเดาไม่ถูกหรอกว่า หลังการเผชิญหน้ากันระหว่างอุดมการณ์อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่เริ่มขึ้นในตอนนี้ จะไปสิ้นสุดลงอย่างไร แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง

เช่น ไม่นำไปสู่การปฏิรูปที่ดิน, ไม่นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา, ไม่นำไปสู่การปรับโครงสร้างอำนาจ, ไม่นำไปสู่การยกระดับการผลิตในภาคธุรกิจ ฯลฯ



++

บทความปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )

คนชั้นกลาง-หัวหอกหรือด้ามหอก
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1570 หน้า 25


ท่านอาจารย์ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวไว้ในโพสต์ทูเดย์ว่า คนชั้นกลางนั้นแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือคนชั้นกลางแบบเก่า อันได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงเกษตรกรที่มีฐานะดี และคนชั้นกลางแบบใหม่ (หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าแรงงาน "คอขาว") ซึ่งอาศัยทักษะความรู้เป็นปัจจัยการดำรงชีพ เช่น พนักงานธนาคาร, รัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ และข้าราชการ เป็นต้น

ท่านหวังว่า คนชั้นกลางแบบใหม่เหล่านี้จะเป็นหัวหอกสำคัญของการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า

ผมก็มีความหวังอย่างเดียวกับท่านอาจารย์ณรงค์ แต่ออกจะริบหรี่กว่ากันมาก อย่างน้อยก็ในอีกช่วงเวลายาวนานหนึ่งล่ะครับ

จริงตามทฤษฎีนะครับว่า คนชั้นกลางแบบใหม่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีชีวิตอยู่ท่ามกลางการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล ทั้งในประเทศและทั้งโลก จึงพร้อมกว่าคนกลุ่มอื่นที่จะนำความเคลื่อนไหวทางสังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

แต่เอาทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้กับคนชั้นกลางแบบใหม่ของไทย กลับมองไม่ค่อยเห็นความก้าวหน้ากว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมมากนัก

คนที่โพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ให้ฆ่าคนเสื้อแดงเมื่อปิดถนนในกรุงเทพฯ ก็คนกลุ่มนี้แหละครับ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ในระยะสาม-สี่ปีที่ผ่านมา คือการผนึกกำลังกับชนชั้นนำตามจารีตเพื่อป้องกันมิให้ประชาธิปไตยขยายอำนาจของคนกลุ่มอื่น

คนกลุ่มนี้อาจรับข่าวสารจากบีบีซีหรือซีเอนเอนทุกวัน หรือแม้แต่บางคนอาจอ่านดิ อิคอนอมิสต์ แต่พวกเขาแทบไม่รู้เลยว่า นโยบายพลังงานซึ่งป้อนแอร์ให้เขาแต่เช้าจรดเย็นนั้น ทำความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่พี่น้องคนไทยระดับล่างอย่างไร พวกเขาไม่รู้และไม่สนใจจะรู้ว่า กฎหมายเหมืองแร่ในประเทศไทย ทั้งที่มีอยู่เดิมและกำลังจะเปลี่ยนใหม่ คือการแย่งชิงทรัพยากรการผลิตของคนส่วนใหญ่ไปบำเรอนายทุนจำนวนน้อยเท่านั้น (และกว่าครึ่งเป็นทุนข้ามชาติ)

คนชั้นกลางแบบใหม่ไม่ใช่กลุ่มคนที่ "ก้าวหน้า" ตามทฤษฎีหรอกครับ

ผมคิดว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่จะอธิบายความไม่ "ก้าวหน้า" ดังกล่าวได้



ในสังคมที่คนชั้นกลางแบบใหม่กลายเป็นหัวหอกของการปฏิรูปทุกแห่ง มีเงื่อนไขสำคัญสองอย่างในการขยายตัวของคนชั้นกลางแบบใหม่

อย่างแรกก็คือ การขยายตัวของอุดมศึกษาต้องมีลักษณะที่เปิดให้คนจากกลุ่มอื่นๆ นอกจากคนชั้นกลาง ได้เข้ามาสู่การศึกษาระดับนี้โดยสะดวก จะโดยเปิดมหาวิทยาลัยใหม่จำนวนมากและอย่างรวดเร็ว หรือจะโดยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองที่ฉับพลัน จนกระทั่ง ลูกหลานของคนเคยเรียนมหาวิทยาลัยหายหน้าไปก็ตาม

แต่อุดมศึกษาที่จะสร้างคนชั้นกลางแบบใหม่ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไปสู่แนวทางใหม่ๆ ได้จริง ต้องเป็นอุดมศึกษาที่เปิดให้คนในชั้นอื่นๆ ได้เข้าเรียนอย่างเป็นกอบเป็นกำ

การเปิดมหาวิทยาลัยที่รัฐบาล (กลาง) ให้ที่ดิน (Land-grant Universities) หลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐเปิดโอกาสให้ลูกพ่อค้าเร่ได้เข้าเรียนระดับนี้เป็นครั้งแรก ในอังกฤษมีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ที่สร้างด้วยอิฐแดง (Red-brick Universities) เพิ่มขึ้นอีกมากหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับในยุโรปตะวันตกโดยทั่วไป

เงื่อนไขอย่างที่สองก็คือ นายทุนเองก็ต้องอยากขยับระดับการผลิตของตนให้สูงขึ้น ทำให้ความต้องการผู้จบมหาวิทยาลัยในตลาดแรงงานมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยิ่งจะทำให้คนจากชั้นอื่นๆ ไหลเข้าสู่มหาวิทยาลัยมากขึ้น

ในแง่หนึ่ง คนชั้นกลางแบบใหม่เป็นคนชั้น "ใหม่" ด้วย ไม่ใช่สืบทอดมาจากคนชั้นสูงและคนชั้นกลางแบบเก่าเท่านั้น

ในเมืองไทย แม้มีการขยายตัวของอุดมศึกษาต่อเนื่องกันมาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับโตพรวดพราดทีเดียวนัก ยิ่งกว่านี้ ส่วนใหญ่ของเด็กในวัยเรียนไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยม นอกจากลูกหลานของคนชั้นกลางแบบเก่าและคนชั้นสูง จนสักประมาณไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง ที่สถิติเด็กเรียนต่อในชั้นมัธยมของเราจึงเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ฉะนั้น แม้แต่มีมหาวิทยาลัยเปิดซึ่งรับนักศึกษาไม่อั้น แต่เอาเข้าจริง คนที่พลาดโอกาสนี้ในชั้นประถมถึงมัธยมมีมากกว่าคนที่ได้โอกาส

มหาวิทยาลัยรับคนแปลกหน้าเข้ามาเพิ่มขึ้นบ้างก็จริง แต่มีจำนวนน้อย ถึงเพิ่มขึ้นก็เพิ่มอย่างช้าๆ ตามความต้องการของคนชั้นกลางแบบเก่า มากกว่าจะเปิดประตูกว้างขวางให้คนชั้นอื่นๆ แทรกเข้ามาโดยง่าย

นอกจากนี้ คนชั้นกลางแบบใหม่ของไทยยังมีจำนวนน้อยกว่าคนชั้นกลางแบบเก่าอย่างเทียบกันไม่ได้ "มนุษย์เงินเดือน" ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางไทยเหมือนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางไทยคือผู้ประกอบการรายย่อย รวมเกษตรกรที่มีฐานะดีด้วย

ว่ากันที่จริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดในเมืองไทยในระยะสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้คนชั้นกลางแบบเก่าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ซ้ำเป็นคนที่มาจากคนชั้นอื่น มากกว่าคนชั้นกลางแบบใหม่ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ของเกษตรกรหลุดจากเกษตรกรรมมาสู่แรงงานก็จริง แต่อีกจำนวนมากประสบความสำเร็จในธุรกิจขนาดเล็กของตนเอง นับตั้งแต่ขายก๋วยเตี๋ยวไปจนถึงรับเหมาก่อสร้างรายย่อย และพ่อค้าพืชผลการเกษตร

ฉะนั้น หากจะหวังให้คนชั้นกลางเป็นหัวหอกของการปฏิรูป ผมก็คงหวังกับคนชั้นกลางแบบเก่ามากกว่า เพราะแม้ว่าเขาจะเป็นแบบ "เก่า" แต่ที่จริงเขาเป็นคน "ใหม่" ซึ่งแทรกตัวเข้ามาในเศรษฐกิจ แต่ไม่มีที่ให้แทรกทางการเมืองและวัฒนธรรม มีเหตุอยู่มากที่เขาน่าจะไม่พอใจกับระบบที่เป็นอยู่

มากกว่าคนชั้นกลางแบบใหม่ของไทยด้วย



อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญเหมือนกันก็คือ คนชั้นกลางไม่ว่าแบบเก่าหรือแบบใหม่ จะเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนสังคมได้ ก็ต้องมีการจัดองค์กร

คนชั้นกลางไทยทั้งแบบเก่าและใหม่มีประสบการณ์ในการจัดองค์กรน้อยมาก อย่าไปคิดถึงองค์กรอะไรที่จะไปต่อต้านรัฐเป็นเวลานานๆ หรือเข้าไปกำกับควบคุมรัฐเลยครับ แค่รวมตัวกันเก็บขยะข้างบ้านยังทำไม่ได้เลย เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันนั้นเบาบางมาก

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคนชั้นกลางไทย เกิดและเติบโตมาในรัฐรวมศูนย์ ไม่สามารถจัดการอะไรด้วยตนเองได้สักอย่างเดียว ยิ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองซึ่งมีอำนาจรัฐเข้มข้น ก็ยิ่งอ่อนแอในการจัดองค์กรมากขึ้นไปอีก เพราะไม่มีทั้งโอกาสและประสบการณ์ในการจัด

ยิ่งไปเทียบกับชาวบ้านทั่วไปในชนบทแล้ว ก็ถือว่าเทียบกันไม่ได้เลย อย่างน้อยก็เพราะชาวบ้านมีฐานความสัมพันธ์ทางสังคมที่หนาแน่นกว่ากันมาก จึงแปรความสัมพันธ์นี้มาเป็นฐานในการจัดองค์กรได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ขยายองค์กรให้ใหญ่ขึ้นจากฐานเดิมก็ได้ด้วย

โดยทางทฤษฎีอีกเช่นกัน (ความเห็นของ Anthony Giddens) คนชั้นกลาง (ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่) จะมีความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ในด้านสังคมได้ คนชั้นกลางต้องหยุดการขยายตัว หรือขยายไปอย่างช้าๆ พูดง่ายๆ คือต้องมีเวลาสำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน จนเกิดฉันทามติ

คนชั้นกลางไทยกำลังขยายตัว และอย่างรวดเร็วพอสมควรด้วย จึงมีคนหน้าใหม่โผล่เข้ามา (หรือคนหน้าเก่าตกลงไป) อยู่ตลอดเวลา คนชั้นกลางไทยจึงแตกแยกกันเองสูง ไม่มีฉันทามติที่ชัดเจนในเรื่องทางสังคม

อันที่จริงความขัดแย้งกันอย่างหนักทางการเมืองในช่วงนี้ ก็มาจากคนชั้นกลางด้วยกันเองนั่นแหละ

คนเหล่านี้จึงไม่มีพลังพอจะเป็นหัวหอกปรับเปลี่ยนสังคมได้หรอก (แต่อาจเป็นด้ามหอก - คือพุ่งตามเขาไปได้) ยิ่งคิดว่าคนเหล่านี้จะจับมือกับคนชั้นล่าง เพื่อปรับเปลี่ยนสังคม ก็ให้น่าสงสัยว่า คนชั้นกลางไทยมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะจับมือกับคนชั้นล่างได้ละหรือ เพราะการจับมือคือการยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอภาคกับต

-ความเสมอภาค-สำคัญแก่คนชั้นกลางไทย เหมือนแก่ชั้นกลางในสังคมอื่นๆ แต่คนชั้นกลางอยากเสมอภาคกับคนข้างบน ไม่ใช่เสมอภาคกับคนข้างล่าง

ด้วยเหตุดังนั้น หากจะรอให้คนชั้นกลางเป็นหัวหอกการปรับเปลี่ยนประเทศ ในกรณีของไทย ก็อาจต้องใช้เวลารออีกนาน



.