.
ใช้ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ...ชิง รัฏฐาธิปัตย์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1397295116
. . วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:32:04 น.
( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ประจำ 11-17 เม.ย.57 ปี34 ฉ.1756 หน้า 20 )
ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา 8 ปี เป็นเพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก และมุ่งแต่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจผลกระทบ ต่อประชาชน ต่อสถาบัน และองค์กรต่างๆ เป้าหมายคือตั้งกลุ่มตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง
ถ้าเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น
ถ้าเป็นยุคประชาธิปไตย อำนาจนี้เป็นของปวงชนชาวไทย โดยประชาชนไปเลือกตั้ง เพื่อเลือกคนที่จะไว้ใจมอบหมายให้ทำหน้าที่ ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ปกครอง บริหารบ้านเมือง ผ่านองค์กรและสถาบันต่างๆ
แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีบางคนและกลุ่มคน พยายามตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะยินยอมหรือไม่
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยทำได้ช่วงหนึ่ง
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยทำได้ช่วงหนึ่ง โดยการรัฐประหาร
ซึ่งการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา มีคนใช้ทหารเป็นกำลังหลัก แต่ก็ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่ง คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งควรจะเป็นหูตา และมือไม้ให้รัฐบาลกลับไปร่วมกับผู้ทำการรัฐประหาร ปัญหาเกลือกลายเป็นยาพิษ เป็นเรื่องทั่วไปทุกยุคทุกสมัย และทุกประเทศ
รัฏฐาธิปัตย์ ทุกแห่ง จึงต้องมีวิธีการที่จะสร้างหน่วยงานความมั่นคง มิให้กลายเป็นหอกข้างแคร่ หรือเป็นระเบิดเวลา
สถานการณ์วันนี้ ตำแหน่งเลขาฯ สมช. กลายเป็นระเบิดเวลาที่วางไว้เป็นปีแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะจุดชนวนหรือไม่ แรงระเบิดจะทำให้ระบิดลูกอื่นๆ ระเบิดตามหรือไม่ และเชื้อเพลิงที่สุมอยู่ทั้งประเทศจะลุกเป็นไฟหรือไม่?
วันนี้จึงต้องพูดถึงตำแหน่งเลขาฯ สมช. อีกครั้ง
เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ
โค่นรัฐบาลเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีอายุเกิน 100 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ใช้ชื่อว่าสภาป้องกันพระราชอาณาจักร และมาเปลี่ยนเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในปี 2502 มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคง
ส่วนการบริหารงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน รมว.กระทรวงกลาโหม รมว.กระทรวงการต่างประเทศ รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงมหาดไทย รมว.กระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ
ในทางปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองที่จะมาดูแลงานนี้คือรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง การปฏิบัติจริงเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ
ดังนั้น ความเป็นความตายของรัฐบาลส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ในมือของเลขาฯ สมช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างการโค่นรัฐบาลที่ สมช. มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ยุค พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งมาดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นมีการปราบขบวนการนักศึกษาอย่างหนัก จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
แต่ สมช. คงไม่ได้ช่วยอะไรรัฐบาลเลย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม นายกฯ เสนีย์เพิ่งปรับ ครม. เพียงวันเดียวก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ สมช. ก็ยังคงอยู่ และเลขาฯ สมช. ก็ยังเป็นคนเดิม ทำงานให้รัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหลายปี ท่ามกลางสงครามกองโจร ของ พคท. ทั่วประเทศ
ยุค พลเอกวินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่งในปี 2545 สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เขาเข้าอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น สมช. ไม่ได้มีบทบาทช่วยนายกฯ ทักษิณเลยแม้แต่น้อย
ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่าพลเอกวินัย มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อ คณะรัฐประหาร (คปค.) ก็เป็นคนตั้ง
งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหอกข้างแคร่แทงทะลุหลัง
ตำแหน่งเลขาฯ สมช.
ต้องได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี
ยุค น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ในปี 2523 เป็นผู้ดูแลความมั่นคงให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เลขาฯ สมช. ทำงานเข้ากับนายกฯ ที่มาจากทหารได้ดี ฝีมือการทำงานของคุณประสงค์ เป็นที่เลื่องลือ ได้ฉายาว่าเป็น CIA เมืองไทย มีทหารบางกลุ่มพยายามรัฐประหารพลเอกเปรมหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เขาลาออกมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้พลเอกเปรมในปี 2529
การไว้วางใจและทำงานเข้าขาของหัวหน้ารัฐบาล กับ เลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องจำเป็น
และเป็นอย่างนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็ก
หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 เมื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ก็ตั้ง พลโทศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.
ในปี 2551 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกฯ การเมืองเปลี่ยนขั้ว มีการโยกย้ายและตั้ง พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา ขึ้นเป็นเลขาธิการแทน
ในปี 2552 หลังจากมีการตุลาการภิวัฒน์ สลับขั้วรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เปลี่ยนเลขาฯ สมช. เป็น นายถวิล เปลี่ยนศรี
นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช. ที่เติบโตมาด้วยการสนับสนุนของพลเอกวินัย หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาฯ ของ สมช.
และเมื่อประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ย้ายพลโทสุรพลออกไปเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ประชาธิปัตย์ไว้ใจ ถวิล มากกว่าซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ
คนที่เข้าใจธรรมเนียมแห่งอำนาจของ สมช. ดีที่สุดคือ คุณถวิล เพราะได้เข้าทำงานมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับ 3 ได้เห็นการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ศึกษาการทำงานของคุณประสงค์ เรียนรู้งานจนมาถึงการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ได้เป็นรองเลขาธิการและเป็นเลขาธิการในยุคที่ คมช. มีอำนาจ
สถานการณ์ปัจจุบัน ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ใช่หอกข้างแคร่ของรัฐบาล แต่เป็นระเบิดเวลา
รัฐบาลพยายามนำไปไว้ในที่ปลอดภัย แต่ศาลก็สั่งให้นำมาไว้ใกล้ตัว ตอนนี้ยังถูกฟ้องว่าย้ายคนที่เป็นคู่ปรับทางการเมืองในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะ ถวิล เปลี่ยนศรี ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ ของ ศอฉ. ได้รู้เรื่องราวทั้งหมดและต้องร่วมรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน
เมื่อฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหาร ในปี 2549 และถูกปราบในปี 2553 เกิดชนะเลือกตั้ง ในปี 2554 ขึ้นมา จะเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงก็เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ
ไม่ว่าจะมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อยู่ในโลกนี้หรือไม่ ก็ต้องย้าย เลขาฯ สมช. เพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้ทำงานเป็นคณะกรรมการได้ตามโครงสร้างองค์กร
ถ้ารัฐบาลถูกฟ้องและต้องถูกล้มด้วยข้อหา ย้ายเลขาฯ สมช. ก็จะเป็นเรื่องตลกมาก ที่รัฐบาลมีความผิดเพราะไม่เอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคง
แค่หาเหตุผลให้รัฐบาลแต่งตั้งถวิลกลับมาเป็นเลขาฯสมช. ก็ยากแล้ว คนที่ไปขึ้นเวทีขับไล่รัฐบาล และสนับสนุน กปปส. ที่ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล จะมาเป็นคนดูแลสภาความมั่นคงได้อย่างไร ต่อไปประเทศนี้ก็ไม่ต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และ ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตทั้งหลาย จะมีโอกาสได้เลือกคนใกล้ชิดที่ดูแลความปลอดภัยให้ตนเองหรือไม่ เรื่องแบบนี้คงจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกยิ่งกว่ากรณีปลดนายกฯ สมัคร
ถ้าถวิลกลับไปอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช. แล้วเกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาล ถวิลจะทำตัวอย่างไร?
6 เดือนของแผนชิงรัฏฐาธิปัตย์...
จะเดินต่ออย่างไร?
ในที่สุด สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ก็เผยเป้าหมาย (อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายมาตรา 113 และ 114) ในแผนศึกชิงรัฏฐาธิปัตย์ออกมาแล้ว เป็นแผนยึดอำนาจ ซึ่งสุเทพได้ยกตัวแบบของจอมพลสฤษดิ์มาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า หลังการยึดอำนาจ เขาจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยอ้างความชอบธรรมที่มีมวลมหาประชาชนจำนวนมากสนับสนุน จัดตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งสภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายยึดทรัพย์ ประกาศจับบุคคลต่างๆ
บางคนอาจพูดว่าสุเทพคงพูดแบบเพ้อเจ้อไปเรื่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นไปตามแผนบางส่วน ซึ่งหลังสงกรานต์ 2557 อาจจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง
แต่เรื่องการชิงรัฏฐาธิปัตย์จะมิได้เดินไปง่ายๆ ด้วยแผนชั้นเดียว เพราะฝ่ายหนุนระบบการเลือกตั้ง ก็เตรียมตั้งรับทุกรูปแบบแล้ว ต่างฝ่ายจึงต้องมีทั้งแผนหลอกและแผนจริง
ณ บัดนี้ การปฏิรูปได้ยุติแล้ว เหลือแต่การปฏิวัติหรือรัฐประหาร แล้วแต่แผนใครจะเหนือกว่า
คอยพบกับ... แผนซ้อนแผนชิงรัฏฐาธิปัตย์...ตอนต่อไป
........................................................................................
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย