.
วัฒนธรรมนอกแถว
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1686 หน้า 71
ผมคงไม่ต้องหันไปคุ้ยค้นหา นโยบายของรัฐด้านวัฒนธรรม หากไม่ได้ยินอาจารย์มหาวิทยาลัย บ่นเชิงวิพากษ์เสียงเครียด ถึงประดาร้านเหล้าที่เปิดหากินในพื้นที่ใกล้ชิดรั้วมหาวิทยาลัย
ไม่มีวัฒนธรรมเอาเสียเลย!
บันเทิงสถานยามราตรีพวกนั้น เป็นร้านเปิดโล่งแทรกตัวอยู่ในย่านที่พักอาศัย ทั้งอพาร์ตเมนต์สำหรับคนทำงาน และหอพักรองรับนักศึกษาพวกไกลบ้าน ทำเสียงอึกทึกรบกวนอยู่ทุกค่ำคืน
จากราวสาม-สี่ทุ่ม ยัน ตีสอง-ตีสาม
โดยเฉพาะอาคารที่อาจารย์เช่าห้องพัก ร้านเหล้าถึง 4 ร้าน ตั้งประจันอยู่คนละฟากถนน ทุกร้านมีดนตรีสดบรรเลง ตะเบ็งแข่งกันเซ็งแซ่เต็มกำลัง
หันลำโพงสาดคลื่นกระแสเสียงเข้าใส่ กระแทกจนสะท้านสะเทือน
ยิ่งดึก บรรยากาศยิ่งเมามายได้ที่ ดนตรีเพิ่มความคึกคักเร้าใจสุดเหวี่ยง
เขย่าผู้คนรายรอบแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน
แม้ไม่ขยายรายละเอียด ผมก็พอเข้าใจได้ว่า อาจารย์ต้องหมายถึง ความเคารพและเข้าใจจุดมุ่งหมายต่อการใช้พื้นที่
แหล่งที่พักอาศัยต้องเหมาะสมต่อการพักผ่อน นอนหลับสนิทในยามค่ำคืน ฟื้นพลังเพื่อพร้อมทำหน้าที่ในวันใหม่
แหล่งการศึกษา ควรมีบรรยากาศสงบ เหมาะต่อการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ไกลสิ่งเร้าและแรงกระตุ้นชวนให้สมาธิแตกซ่าน จิตใจไขว้เขว
ทั้งยังหมายถึง การใช้และเคารพสิทธิ์ของกันและกัน เคารพกฎหมาย ยอมรับการบังคับใช้อย่างเสมอภาค และมีจิตสำนึกแบบไทยๆ ขั้นพื้นฐาน รู้จักเกรงอกเกรงใจ
สร้างชุมชนน่าอยู่ เป็นมิตร
สิ่งที่ผมค้นพบในมติชนรายวันช่วงปลายเดือนก่อน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ที่เพิ่งก้าวออกมาจากเงา ยืนยันที่จะยังคงเดินตามแนวคิด
สืบสาน สร้างสรรค์ และบูรณาการ
ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 1. รักษาสืบทอดวัฒนธรรมของชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างมั่นคง 2. สร้างค่านิยม สำนึกและภูมิปัญญาไทย 3. นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคม และเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4. บริการจัดการองค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
งานหลักๆ ยังคงอยู่ที่ เสริมฐานรากวัฒนธรรมประเพณี ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อส่งมอบให้คนรุ่นต่อไปสืบทอด การพัฒนาและบูรณะโบราณสถานจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมทั้งหมดของประเทศ
สร้างความเข้าใจต่อต่างชาติ ให้รับรู้และยอมรับต่อศิลปะการแสดงของไทย
ผมอาจไม่ใส่ใจอะไรนัก กับนโยบายรัฐด้านวัฒนธรรมของรัฐ หากไม่ได้พบความคิดเห็นท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีษะเกษ เจ้าภาพหลักจัดงานสัมมนาใหญ
บทบาทวรรณกรรมไทยในเวทีอาเซียน
จากบทรายงานในคม ชัด ลึก ท่านมองว่า บทบาทที่สำคัญของสถาบันการศึกษา นอกจากผลิตบัณฑิต บทบาทการบริการวิชาการแก่สังคม การทำงานวิจัย บทบาทอันหนึ่งคือต้องทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
วรรณกรรมคือส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรม
งานสัมมนาจะกระตุ้นนักศึกษา ครูบาอาจารย์ ให้สนใจเรื่องของวรรณกรรมมากขึ้น นั่นจะทำให้นักศึกษารู้จักตัวตนมากขึ้น ได้มีวิธีคิด ได้ศึกษาวิธีคิด สร้างให้เขาได้รู้จักคิด รู้จักแสดงออกในสิ่งถูกต้อง ช่วยในการดำรงชีวิตได้ดี
เพราะท่านเห็นว่า วรรณกรรมสะท้อนบริบทของสังคมในทุกเรื่อง ทุกมิติ ไม่ว่าเป็นเศรษฐกิจ สังคม แนวคิด
แต่ละสังคมของชาติอาเซียน ต่างปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมของตัว
ท่านอธิการบดีแสดงความเชื่อมั่นในวรรณกรรม แต่สิ่งที่ผมตระหนักถึง คือท่านปรารถนาให้เกิดการใฝ่ใจศึกษาเรียนรู้ ผ่านบรรยากาศรักการอ่านการเขียน จนยกระดับขึ้นเป็นวัฒนธรรม
อ่านวรรณกรรมของชาวอาเซียน จะช่วยให้รู้เขารู้เรา เอื้อต่อการคบหาสมาคม
สิ่งนี้ควรมีคุณค่ามากพอ แม้เป้าหมายหลักของรัฐจะมุ่งใช้วัฒนธรรมสร้างรายได้
ในภาวะเช่นนี้ บางเรื่องในความทรงจำเก่าๆ ปรากฏขึ้นโดยมิได้คาด บางทีผมคิดไปถึงบทสัมภาษณ์ หลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีจีน หลังการปราบปรามนักศึกษา ประชาชน ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนสงบราบคาบ
ในกรณีคาวเลือด เทียน อัน เหมิน
เขาตอบนักข่าวตะวันตกว่า จีนไม่อาจเป็นประชาธิปไตย ตามแบบอย่างชาติตะวันตกได้
เพราะไม่มีวัฒนธรรม อย่างที่ดำรงมั่นคงอยู่ในสังคมตะวันตกรองรับ
เท่าที่พอจะระลึกได้ เขาขยายรายละเอียดทำนองว่า
การเคารพกฎหมายเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเสมอภาค การตระหนักในสิทธิ์อันชอบธรรม การใช้และการให้ความเคารพไม่อาจล่วงละเมิด การแสวงหาและใช้องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา...
ภาพของวัฒนธรรมในมุมนี้ น่าจะเหมาะกับแนวคิดส่วนที่ประกาศว่า สืบสาน สร้างสรรค์ บูรณาการ อยู่บ้างกระมัง
.