http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-13

ซูสีไทเฮา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ซูสีไทเฮา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1591 หน้า 28


ผมติดตามภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง "ซูสีไทเฮา ก่อนแผ่นดินสิ้นสลาย" จากทีวีไทยมาจนจบด้วยความประทับใจ

เรื่องของผู้หญิงที่เป็นทรราชนั้น ดูเหมือนดึงดูดความสนใจของผู้คนอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพราะเราบัญญัติคุณสมบัติของผู้หญิงและทรราชไว้ให้เป็นตรงข้ามกัน ผู้หญิงย่อมอ่อนหวาน เมตตา และมีความรักอันไม่จำกัดเหมือนแม่ ในขณะที่ทรราชคือคนโหดร้าย, เอาแต่ใจตัวเอง, บ้าอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ถือว่าเป็นของผู้ชาย (พ่อ)

เอาสองอย่างที่ตรงกันข้ามมาไว้ด้วยกัน จึงน่าสนใจดี

ในภาษาไทยนั้น มีหนังสือเรื่องซูสีไทเฮาไม่รู้จะกี่เล่ม ทั้งที่แปลมา และที่เขียนขึ้นใหม่จากข้อมูล (ที่แปลมาเหมือนกัน-และน่าเสียดายที่แปลจากภาษาฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่มีที่แปลจากภาษาจีนเอาเลย)

น่าสังเกตด้วยนะครับ ว่ามีหนังสือไทยเรื่องจักรพรรดินีบูเชกเทียนน้อยกว่าซูสีไทเฮาอย่างเทียบกันไม่ได้ ยิ่งขยายไปถึงคัตรีนมหาราชินีแห่งรัสเซีย, อลิซาเบธที่หนึ่งของอังกฤษ หรือแม้แต่พระสุริโยทัย หรือท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็ยิ่งมีน้อยกว่าซูสีไทเฮาขึ้นไปใหญ่

ผมอยากสรุปเอาดื้อๆว่า ผู้หญิงกับอำนาจสูงสุดนั้น แม้ไม่เป็นไปตามมโนภาพของเรานัก แต่ก็พอเห็นช่องทางที่เป็นไปได้ จึงไม่ดึงดูดความสนใจเท่ากับผู้หญิงกับทรราช

ยิ่งไปกว่านี้ เรื่องของมหาราชินียังมักคละเคล้าไปด้วยเรื่องคาวโลกีย์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเรื่องราวที่ชวนอ่าน ตรงกับคติความเชื่อเก่าแก่ของหลายวัฒนธรรมว่า ผู้หญิงนั้นมีธรรมชาติอ่อนแอด้านโลกียวิสัย อ่านมันส์ดีหรอกครับ แต่ไม่น่าสนใจเท่าทรราชหญิง


ซูสีไทเฮานั้นไม่มีชื่อเสียงด้านคาวโลกีย์-แม้ว่าในซีรีส์นี้จะมีบทของ "ชู้รัก" อยู่นิดหนึ่ง-แต่ไม่มีใครคิดถึงด้านนี้เมื่อพูดถึงซูสีไทเฮา คิดแต่ด้านเดียวถึงความเป็นทรราชของเธอซึ่งทำให้ "แผ่นดินสิ้นสลาย"

ซูสีไทเฮาของซีรีส์นี้ก็ยังเป็นทรราชเหมือนเดิม แต่ที่แตกต่างก็คือ เธอเป็นมนุษย์ด้วย มนุษย์ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกภายใต้การกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมเหมือนผู้หญิงคนอื่นในวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเธอเอง ซึ่งทำให้เธอต้องเป็นอย่างที่เธอเป็น

ผมขอพูดถึงข้อจำกัดของซูสีไทเฮาก่อน อย่างที่รู้กันอยู่แล้วและหนังไม่ต้องพูดก็คือ เธอถูกนำมาถวายเข้าวังเมื่อแรกรุ่น หลังจากนั้น เธอก็ใช้ชีวิตอยู่ในนครต้องห้ามไปจนตาย ฉะนั้น เมื่อเธอได้เห็นแผนที่โลกเป็นครั้งแรก เธอจึงถามว่าปักกิ่งอยู่ที่ไหน ครั้นมหาขันทีชี้ให้ดูปักกิ่งซึ่งเป็นแค่จุดจุดเดียวบนแผนที่ เธอจึงสงสัยว่าแล้วนครต้องห้ามอยู่ที่ไหนในปักกิ่งเล่า

(ความหมายที่แฝงในหนังก็คือ หากปักกิ่งไม่มีนครต้องห้าม ราชวงศ์ชิงก็ไม่มีในจีน)


หนังเสนอเรื่องของซูสีผ่านตัวละครสองตัว คือเหลียงเหวินซิ่วและหลี่ชุนอวิ๋น (ซึ่งคงไม่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์) ทั้งสองเป็นพี่น้องแต่ต่างพ่อแม่กัน เพราะแม่ของเหวินซิ่วซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา รับเอาชุนซึ่งเป็นเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูแต่เล็ก นอกจากนี้ ก็จำกัดเรื่องราวให้แวดล้อมอยู่กับเหตุการณ์เดียวในประวัติศาสตร์ คือ "การปฏิรูปร้อยวัน" ของกวางสู่

ในขณะที่เหวินซิ่วสอบได้เป็นจอหงวน และอยู่ในโลกข้างนอกในฐานะขุนนาง ชุนกลับกลายเป็นขันทีคนสนิทของซูสีและเข้าไปอยู่ในโลกของซูสี ด้วยเหตุดังนั้น พี่ชายจึงมองเห็นความโหดร้ายและไร้คุณธรรมของซูสีได้ถนัด

ในขณะที่น้องชายมองเห็นหญิงม่ายชราคนหนึ่ง ซึ่งรับภาระหนักของบ้านเมือง แต่มีความเป็นมนุษย์ที่มีความอ่อนโยนและเมตตา พร้อมกันไปกับความฉลาดหลักแหลม ที่จะเอาอำนาจของตนให้รอดในโลกแห่งอำนาจที่ลับลมคมในและโหดร้ายต่อกัน

ชุนคืออีกมุมมองหนึ่งของซูสีไทเฮา ซึ่งมักถูกละเลยไปในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเธอ ในขณะที่เหวินซิ่วคือซูสีไทเฮาที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้ว

นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชอบหนังเรื่องนี้ เพราะผู้สร้างไม่ต้องการหักล้างประวัติศาสตร์ที่รู้กันทั่วไปว่าซูสีไทเฮานั้นทั้งโหดร้ายและทั้งโฉดชั่ว แต่ประวัติศาสตร์มักไม่สนใจความเป็นมนุษย์ของเธอ จึงไม่เคยนำเธอเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขที่เป็นจริงของพระราชวังต้องห้าม อันเป็นข้อจำกัดที่ปุถุชนทุกคนมีทางเลือกในการตอบสนองได้ไม่มากนัก

แต่หนังก็ไม่ดึงประเด็นนี้ไปจนสุดโต่ง เพื่อแก้ตัวแทนซูสีให้กลายเป็นมนุษย์สุดประเสริฐที่ถูกประวัติศาสตร์เข้าใจผิด อันเป็นการสร้างจุดขายอย่างหนึ่งของนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบตื้นๆ ซึ่งมีผู้ทำอยู่บ่อยๆ

ดุลยภาพที่พอดีๆ ของนิยายอิงประวัติศาสตร์ และความพยายามจะเข้าให้ถึง "ส่วนใน" ของตัวละครในประวัติศาสตร์นี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมักไม่ค่อยเห็นในนวนิยายไทย ส่วนใหญ่ที่เขียนกันขึ้นมามักไม่เกี่ยวอะไรกับตัวละครในประวัติศาสตร์ เพียงแต่สร้างนิยายขึ้นใหม่แล้วเอาไปแปะไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่น เรื่องสี่แผ่นดิน ที่เกี่ยวกับตัวละคร (เกือบ) โดยตรงเช่นการปฏิวัติ 2475 คือการมองและตัดสินตัวละครจาก "ภายนอก" เหมือนที่นักประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้แล้ว เพียงแต่ดำเนินเรื่องให้เป็นนิยายเท่านั้น


ความชั่วโฉดโหดร้ายของซูสีในหนังเรื่องนี้มาจากไหน?

ส่วนหนึ่งก็เพื่อความสุขความพอใจส่วนตัวอย่างแน่นอน แต่ส่วนนี้แยกไม่ออกจากความยึดมั่นว่า การดำรงอยู่ของราชวงศ์ต้าชิงเป็นความดีสูงสุดในตัวเอง ไม่ใช่ดำรงอยู่เฉยๆ นะครับ แต่ต้องดำรงอยู่อย่างที่มีอำนาจสูงสุด เป็นโอรสสวรรค์ที่ได้รับความชอบธรรมในการมีอำนาจสูงสุดนั้นตลอดไป

อำนาจของซูสีกับอำนาจของต้าชิงแยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลสตัณหาของตัวซูสีเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อผดุงประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกของจีน (ใต้หล้า) จะดำรงอยู่อย่างปรกติสุขได้ก็ต้องมีต้าชิง

หากบุคคลทำความชั่วเพื่อประโยชน์ตนแต่ถ่ายเดียว ในไม่ช้าผู้คนก็ขจัดคนชั่วนั้นไป แต่คนที่สามารถทำชั่วในนามของประโยชน์สุขส่วนรวมนี่สิครับ ที่สามารถทำชั่วต่อไปได้นานๆ เพราะคนอื่นต่างร่วมสมาทานหลักการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยเป็นอันมาก แม้ว่าบางคนอาจสมาทานด้วยจริงใจ และอีกหลายคนสมาทานเพื่อแฝงประโยชน์ส่วนตนเข้าไปในประโยชน์ส่วนรวมนั้นก็ตาม

ซูสีไทเฮาทำชั่วในนามของประโยชน์ส่วนรวมครับ

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า คนชั่วส่วนใหญ่แล้วก็มักทำชั่วโดยอ้างประโยชน์สุขของส่วนรวม แต่พลังมันผิดกันไกลนะครับระหว่างคนที่เชื่ออย่างนั้นด้วยความจริงใจ กับคนที่ใช้ประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นข้ออ้าง พลังของซูสีที่สามารถเถลิงอำนาจมาได้ติดต่อกันถึง 4-50 ปีนั้น มาจากความเชื่ออย่างจริงใจของเธอ

ที่มันแย้งย้อนให้เรารู้สึกสมเพชเชิงอัศจรรย์ก็คือ แม้แต่ศัตรูของเธอเองก็เชื่ออย่างเดียวกัน


เหลียง เหวินซิ่วซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคณะปฏิรูป ต้องการขจัดซูสีออกไปจากอำนาจการบริหารบ้านเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้จักรพรรดิกวางสู่ได้นำการปฏิรูปประเทศจีนเข้าสู่ความทันสมัย สร้างความแข็งแกร่งให้จีนสามารถเผชิญภัยคุกคามจากมหาอำนาจต่างๆได้ เหวินซิ่วจึงมีความจงรักภักดีต่อกวางสู่อย่างสูง เพราะกวางสู่และต้าชิงคือกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสงบสุขของราษฎร

อย่างที่นักปราชญ์ขงจื๊อถูกอบรมสั่งสอนมานะครับ โลกที่จะผดุงอารยธรรมอันอำนวยความผาสุกแก่ราษฎรได้ ก็ต้องมีฮ่องเต้ผู้ปรีชาสามารถ หน้าที่ของราษฎรคือ ถวายความจงรักภักดีอย่างจริงใจตามแต่สถานะทางสังคมและการเมืองของแต่ละคนพึงกระทำ เหวินซิ่วเป็นขุนนางใกล้ชิด ก็ต้องเพ็ดทูลแต่ความสัตย์ความจริง ถวายคำแนะนำอย่างบริสุทธิ์ใจ แม้รู้ว่าจะทำให้กริ้วก็ต้องกราบทูล

ทั้งหมดนี้เป้าหมายคือปวงประชาราษฎร แต่ปวงประชาราษฎรนั้นอยู่ลอยๆไม่ได้ เพราะจะสูญสิ้นอารยธรรม เกิดรบราฆ่าฟันกันเอง จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวาย จึงต้องอยู่ภายใต้การนำของต้าชิงและฮ่องเต้ การยกย่องฮ่องเต้และราชวงศ์ก็เพื่อประชาราษฎร


เมื่อฝ่ายปฏิรูปแพ้เกมการเมือง ฮ่องเต้ถูกรอนอำนาจจนไม่เหลืออะไรเลยแล้ว เหวินซิ่วจึงหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะรู้แล้วว่าไม่มีทางที่จะปกป้องประชาราษฎรได้ต่อไป

ปราชญ์ขงจื๊อผู้นี้ยึดมั่นหลักการเช่นนี้มาจนถึงท้ายเรื่อง ในท่ามกลางความโดดเดี่ยว เขาปรึกษาปัญหาทางการเมืองกับน้องสาวต่างบิดามารดาซึ่งเป็นลูกกำพร้าที่มารดาของเขาชุบเลี้ยงมาแต่เล็ก ไม่มีการศึกษาแบบเขา จึงเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่รักนับถือเขาและครอบครัวของเขาอย่างสูงเท่านั้น

น้องสาวของเขาตอบว่า เธอไม่รู้อะไรหรอก ก่อนที่เธอจะตามเหวินซิ่วมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้ มีไทเฮา โลกของเธอมีความสุขอยู่กับครอบครัวของแม่และพี่ชายสองคนนี้เท่านั้น


และเท่านั้นเองเหวินซิ่วก็ "ตาสว่าง" เขาตะโกนบอกตัวเองเหมือนบ้าคลั่งว่า ใช่แล้วๆ เขาเพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่า "ไม่มีต้าชิง ไม่มีฮ่องเต้ ราษฎรก็ไม่เป็นไร"

จีนจะอยู่รอดได้ก็เพราะคนจีนเอง ไม่เกี่ยวกับกวางสู่หรือซูสี เพราะ "ไม่มีจักรพรรดิผู้ปรีชา ไม่มีประมุขโปรดสัตว์"

ผมได้แต่น้ำตาไหลพรากโดยไม่รู้สึกตัว
.