http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-08

สุรชาติ: โลกใหม่รอบรัฐไทย 2555../ กองทัพไทย 2555..

.

โลกใหม่รอบรัฐไทย 2555 : ระเบียงใหม่-ภูมิยุทธศาสตร์ใหม่
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 41


"การศึกษายุทธศาสตร์จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย
ถ้าเราไม่เชื่อว่าวิถีของประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ด้วยการตัดสินใจของบุคคล"
Lawrence Freedman
นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ


ก่อนที่ปีใหม่ 2555 จะเริ่มขึ้น มีข่าวชิ้นเล็กๆ ปรากฏในสื่อไทยบางฉบับ แต่ก็ดูจะเป็น "ประเด็นข่าว" ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก ทั้งที่เรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และอาจจะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่กำลังบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 มีการประชุมสุดยอดของผู้นำ 6 ประเทศในลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) ที่กรุงเนปยีดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ของสหภาพพม่า การประชุมนี้มีขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศในการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างชาติสมาชิก ซึ่งได้แก่ ประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (เฉพาะในส่วนของมณฑลยูนนานและมณฑลกวางสี ที่อยู่ในจีนภาคใต้)

การเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นเป็นการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจและเครือข่ายของระบบคมนาคมขนส่ง อันจะเป็นเสมือนกับการ "เปิดประตู" เชื่อม 3 ภูมิภาคเข้าด้วยกัน ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชียใต้

ซึ่งการเชื่อมต่อเช่นนี้จะกินอาณาบริเวณมากกว่า 2 ล้าน 3 แสนตารางกิโลเมตร

ประเด็นที่รัฐบาลไทยปัจจุบันได้ผลักดันอย่างมากก็คือ การทำให้ "ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก" (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมระหว่างไทยกับพม่าปรากฏเป็นจริงให้ได้

และจุดสำคัญที่เป็นรูปธรรมของระเบียงเศรษฐกิจนี้ก็คือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย


อย่างไรก็ตาม คำว่า "ระเบียง" ไม่ใช่คำแปลกใหม่ในภาษาไทย และหากค้นหาความหมายจะพบว่า ระเบียง หมายถึง "ส่วนของเรือนที่ยื่นออกไปนอกฝา" (อ้างใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525, อักษรเจริญทัศน์, 2525)

แต่หากในโลกเศรษฐกิจภูมิภาคแล้ว คำว่า "ระเบียง" มีความหมายถึง "ระเบียงเศรษฐกิจ" (Economic Corridor) ซึ่งก็คือเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อประเทศในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ทั้งในแนวตะวันออก-ตะวันตก และในแนวเหนือ-ใต้

ดังนั้น ระเบียงนี้อาจจะพอขยายความได้ว่าเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่หรือเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยอาศัยระบบคมนาคมในรูปแบบต่างๆ เช่น ถนน และทางรถไฟ เป็นต้น

การเชื่อมต่อเช่นนี้ทำให้แนวคิดในเรื่องของการบูรณาการภูมิภาค (regional integration) ปรากฏเป็นจริง และผลสำคัญที่เกิดขึ้นจากการนี้ก็คือ การเคลื่อนย้ายของคน ทุน สินค้า และวัฒนธรรมข้ามเส้นเขตแดนอย่างเสรีมากขึ้น

และอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมเปิด "เส้นเขตแดนเสรี" ของประชาคมอาเซียนในปี 2558

เพราะด้วยการเชื่อมต่อของระบบคมนาคมด้วยเส้นทางถนนสายต่างๆ ที่เชื่อมภูมิภาคทั้งในแนวตะวันออก-ตะวันตก และในแนวเหนือ-ใต้ จะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายข้ามเส้นเขตแดนของรัฐอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เช่นตัวอย่างของเส้นทางหมายเลข 9 ที่เชื่อมภาคอีสานของไทย (จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดมุกดาหาร) ไปยังภาคใต้ของลาว (เช่น พื้นที่เมืองจำปาศักดิ์และปากเซ) และต่อเข้าไปยังภาคกลางของเวียดนาม (เช่น เมืองเว้ ดานัง และฮอยอัน)

เส้นทางหมายเลข 9 เป็นระเบียงตะวันออก-ตะวันตกที่เชื่อมไทย ลาว และเวียดนามเข้าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่รับรู้กันถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากในปัจจุบัน ตลอดรวมถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยวจากภาคอีสานไทยไปสู่ลาวภาคกลาง (เช่น ปราสาทวัดภูหรือน้ำตกหลี่ผี เป็นต้น) และไปสู่เวียดนามภาคกลาง เป็นต้น

ดังนั้น ตัวแบบของเส้นทางหมายเลข 9 ในฐานะของ "ระเบียงเศรษฐกิจ" จึงเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดมากขึ้นในอนาคต

หรืออีกด้านหนึ่งก็คือ การส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ที่เกิดจากการบูรณาการพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแท้จริง

กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงความเปลี่ยนแปลงของบริบททางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเท่านั้น หากแต่ยังนำความเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลทางยุทธศาสตร์อีกด้วย



ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในกรณีไทย-พม่านั้น เกิดขึ้นจากความริเริ่มในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2545 ซึ่งหากย้อนอดีตกลับไปจะเห็นได้ว่าก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มขึ้นได้นั้น ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งที่เกือบนำพาประเทศทั้งสองเข้าสู่สงครามถึง 2 ครั้ง (ในช่วงต้นปี 2544 และปี 2545 ตามลำดับ)

ในที่สุดผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ตัดสินใจที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง จนนำไปสู่การสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในเวลาต่อมา

และปฏิญญาพุกามคือคำยืนยันที่ชัดเจนในกรณีนี้

ซึ่งก็คงกล่าวได้ไม่ผิดนักว่า ลักษณะเช่นนี้ก็คืออีกหนึ่งความพยายามในการเปลี่ยน "สนามรบเป็นสนามการค้า" อันเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ถูกสร้างจากกลุ่มนักคิดในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในสถานการณ์ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา และเป็นรากฐานของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยในยุคต่อมา

การใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกวิจารณ์อย่างมากถึงการนำเอาเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นวิถีของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ตลอดรวมถึงคำวิพากษ์ที่มองนโยบายเช่นนี้ว่าเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น

หากแต่ผลพวงอย่างสำคัญก็คือ นโยบายนี้มีส่วนอย่างมากต่อการลดทอนความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่เชื่อว่า เราและรัฐเพื่อนบ้านมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจร่วมกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ หากแม้จะมีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา

และความเชื่อในประเด็นสำคัญก็คือ การมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันนั้น จะไม่นำพารัฐคู่กรณีไปสู่สงคราม

หรือกล่าวในกรอบทางทฤษฎีของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือ การพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐ (Economic Interdependence) จะเป็นปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้รัฐคู่พิพาทเข้าสู่สงคราม


การเชื่อมต่อระหว่างประเทศจนนำไปสู่การพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันจึงถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลกาภิวัตน์ เพราะทำให้เส้นพรมแดนที่เคยมี "ความแข็ง" (ในลักษณะที่เป็น "hard border") กลายเป็น "ความอ่อน" (หรือที่เรียกว่าเป็น "soft border")

หรืออย่างน้อยก็ทำให้ปรากฏการณ์ของ "เส้นเขตแดนเสรี" ที่เกิดการไหลผ่านของคน ทุน สินค้า และวัฒนธรรมได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และปราศจากข้อจำกัดจากการควบคุมพรมแดนแบบเก่า

ฉะนั้น เมื่อความสำเร็จในการสร้างให้เมืองทวายเป็นจุดเชื่อมต่อในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของระเบียงตะวันออก-ตะวันตกจากพม่ามาไทยนั้น จึงไม่ใช่แค่เพียงการเปิดการเชื่อมพม่ากับไทยเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 9 (ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น) ซึ่งก็คือความสำเร็จของการเชื่อมต่อด้วยถนนที่ลางขวางภูมิภาคและนำเอาพม่า ไทย ลาว และเวียดนามเข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

หากพิจารณาจุดยุทธศาสตร์ของทวายก็เห็นได้ชัดเจน เพราะเป็นท่าเรือริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะมีทั้งท่าเรือพาณิชย์และท่าเรืออุตสาหกรรมอย่างละ 1 ท่า และยังประกอบด้วยพื้นที่ที่ถูกจัดเตรียมเป็นนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่พาณิชย์ พร้อมกับโรงไฟฟ้าที่จะเป็นแหล่งพลังงานของพื้นที่เหล่านี้

อีกทั้งพื้นที่นี้จะเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งก็จะเป็นรากฐานทางอุตสาหกรรมของเมืองทวายได้เป็นอย่างดีในอนาคต

นอกจากทวายจะเชื่อมกับโลกภายนอกภูมิภาคโดยผ่านเส้นทางทะเลของมหาสมุทรอินเดียแล้ว ในอนาคตก็จะมีการก่อสร้างสนามบินพาณิชย์นานาชาติขึ้นอีกด้วย

และทางบกก็เชื่อมต่อกับประเทศไทยโดยผ่านจังหวัดกาญจนบุรีเป็นระยะทาง 230 กิโลเมตร ซึ่งหากเชื่อมกับกรุงเทพฯ ก็จะเป็นระยะทาง 350 กิโลเมตร

อันทำให้การเดินทางจากเมืองหลวงของไทยไปยังริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียถูกเชื่อมให้เข้ามาใกล้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


การเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึง "สงครามเมืองเชียงกราน" ที่เป็นสงครามในยุคแรกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี โดยอยุธยามองถึงผลประโยชน์ของเส้นทางการค้าทางทะเลของมหาสมุทรอินเดีย จึงรุกขยายอิทธิพลด้วยการใช้มาตรการทางทหารเข้าตีเมืองดังกล่าว และเชื่อว่าหากครอบครองเมืองนี้ได้จริงแล้ว ก็จะเป็นการขยายผลประโยชน์ของการค้าทางทะเลของราชอาณาจักรอยุธยา

แต่ทัศนะเช่นนี้นำไปสู่ความขัดแย้งกับราชอาณาจักรหงสาวดี เพราะมองว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น "เขตอิทธิพล" ของตน และหากอยุธยาได้ครอบครองเมืองดังกล่าวแล้ว ก็จะเป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งของการค้าทางทะเลในพื้นที่

การขยายอิทธิพลเช่นนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นอันยาวนานของ "สงครามอยุธยา-หงสาวดี"

แต่การสู้รบที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ "สงครามไทยรบพม่า" อย่างที่เราถูกสร้างจินตนาการให้เกิดความเกลียดชังเพื่อนบ้าน จนกลายเป็น "ปมปัญหา" ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อเพื่อนบ้านมาโดยตลอด เพราะความเป็น "รัฐประชาชาติ" ของไทยและพม่าเกิดขึ้นในช่วงหลังแล้ว

ฉะนั้น หากวันนี้เราสามารถก้าวข้าม "จินตนาการเก่า" ของสงครามในอดีตได้จริงแล้ว การเชื่อมต่อระหว่างทวาย-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่ไม่ใช่เพื่อการเดินทัพ

หากแต่เป็นไปเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะทะลุไปถึงภาคกลางของลาว และภาคกลางของเวียดนามโดยเส้นทางหมายเลข 9



นอกจากนี้ หากมองไปในอนาคต ระเบียงเศรษฐกิจจากทวายจะเป็นจุดเชื่อมภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่โลกภายนอกโดยผ่านมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งหากคิดถึงการขนส่งสินค้าจากเวียดนาม ลาว และไทยไปยุโรปโดยใช้ระเบียงนี้แล้ว ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อีกทั้งไทยเองก็ขยายการให้ความช่วยเหลือด้วยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาแห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเชื่อมผ่านจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เป็นต้น

ตัวแบบเช่นนี้บอกถึงอนาคตของการเชื่อมต่อถนนจากระเบียงตะวันออก-ตะวันตกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่อนุภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น จากพม่าเข้าสู่บังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งแม้ว่าเรื่องเหล่านี้ดูจะเป็นความฝันไกลๆ แต่อย่างน้อยระเบียงจากทวายไปเว้และดานังก็ไม่ใช่เรื่องของความเพ้อฝันอีกต่อไป และเป็นความจริงแล้ว!

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้อย่างมาก ยิ่งหากผนวกกับระเบียงเหนือ-ใต้ ซึ่งเชื่อมต่อภูมิภาคกับภาคใต้ของจีนด้วยแล้ว ภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

ซึ่งด้านหนึ่งก็คือภาพสะท้อนถึงแนวโน้มของการบูรณาการภูมิภาคด้วยระบบคมนาคมสมัยใหม่

และอีกด้านก็คือสัญญาณของเศรษฐกิจและการเมืองชุดใหม่ที่ประเทศในภูมิภาคจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม...

ภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์รอบๆ ตัวไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราจะเตรียมประเทศอย่างไรกับอนาคตเช่นนี้เล่า!



++

กองทัพไทย 2555 : กองทัพกับการเมืองภายนอก
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 39




"คำถามทางกฎหมายไม่ใช่เรื่องแรกสุดที่อยู่ในใจของผู้กำหนดนโยบาย
เมื่อพวกเขาจะต้องตัดสินใจใช้กำลัง
หากแต่คำถามที่สำคัญที่สุดก็คือการใช้กำลังเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายทางการเมืองนั้น
มีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลหรือไม่"
Justin Morris
"Law, Politics, and the Use of Force"


ผู้นำกองทัพไทยจะตระหนักหรือไม่ว่า การตัดสินใจในเรื่องของ "การใช้กำลัง" นั้น มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเสมอ เพราะเมื่อกำลังรบถูกนำออกมาใช้แล้ว จะต้องตอบให้ได้ตลอดเวลาว่า การใช้กำลังดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองอะไร

คำถามเช่นนี้มีความละเอียดอ่อนในทางปฏิบัติ เพราะถ้าการใช้กำลังจะต้องกระทำภายใต้กรอบของนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐต้องการแล้ว กองทัพก็จะต้องดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล

จนบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า วัตถุประสงค์ทางการเมืองนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำกองทัพเป็นผู้กำหนด หากแต่เป็นประเด็นที่ผู้มีอำนาจทางการเมือง (หรือโดยความหมายก็คือ "รัฐบาล") เป็นผู้กำหนดในลักษณะของยุทธศาสตร์และนโยบายแห่งชาติ

ในขณะเดียวกันการดำเนินการด้วยการใช้กำลังก็จะต้องตอบให้ได้เช่นเดียวกันว่า แล้วกำลังที่ถูกใช้นั้นมีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือไม่

ผลจากการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ด้วยการใช้มาตรการทหารในปีที่ผ่านมานั้น มีส่วนอย่างสำคัญต่อการผลักดันให้รัฐบาลกัมพูชานำเอาคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505 กลับสู่ศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) ในลักษณะของการยื่นกลับเพื่อให้เกิดการ "ตีความ"

ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะผูกมัดประเทศไทยโดยปริยาย เพราะไทยเป็นคู่กรณีจากคำตัดสินดังกล่าว การใช้วิธี "ตะแบง" ว่า ไทยจะไม่ยอมผูกมัดกับการตีความใหม่ โดยไม่ยอมไปศาลโลก เป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ เพราะรัฐบาลไทยขณะนั้น (รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้ยอมรับผลของคำตัดสินนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น แม้รัฐบาลไทยในขณะที่เกิดปัญหานี้ (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จะพยายามต่อสู้เพื่อให้ศาลยกคำร้องของกัมพูชาออกไป แต่ศาลโลกก็ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ (15 ต่อ 0 เสียง) ไม่รับคำร้องค้านของไทย

ซึ่งก็เท่ากับบอกว่า ประเทศยังถูกผูกมัดอยู่กับคำตัดสินเดิมในปี 2505 และหากมีมติเกิดขึ้นในลักษณะของ "การตีความ" แล้ว ก็ย่อมจะมีผลผูกมัดประเทศไทยไม่แตกต่างกัน


แต่เนื่องจากสถานการณ์การปะทะในปี 2554 มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้น ศาลโลกจึงมีมติเป็น "มาตรการชั่วคราว" เพื่อต้องการหยุดการขยายตัวของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และเมื่อมาตรการนี้ถูกนำมาบังคับใช้ ไทยคงปฏิเสธถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ และเป็นประเด็นที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะในบริบทของการเมืองภายใน ประเด็นของมาตรการชั่วคราวกรณีปราสาทพระวิหารย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลและกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะรัฐบาลอาจจะต้องออกคำสั่งให้กองทัพปรับกำลังออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกกำหนดเป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้กลุ่มอนุรักษนิยม-ชาตินิยม ยอมรับไม่ได้ เพราะมักจะคิดเอาง่ายๆ ว่า การกระทำดังกล่าวหมายถึงการเสียดินแดนดังกล่าวให้แก่กัมพูชาไปโดยปริยาย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำดังมาตรการชั่วคราวของศาลโลกเป็นการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย และพื้นที่ข้อพิพาทซึ่งกลายเป็น "พื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราว" ก็มิได้มีนัยว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของชาติใด

กรณีของมาตรการชั่วคราวของศาลโลกจึงเป็นประเด็นที่หนีไม่พ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อกองทัพอย่างแน่นอน

และขณะเดียวกันก็จะเป็นปัญหา "ขว้างงูไม่พ้นคอ" ของพรรคฝ่ายค้าน เพราะมาตรการนี้ออกมาจากศาลโลกก็เป็นผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมของรัฐบาลที่แล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่ประเด็นสำคัญสำหรับปี 2555 ก็คือ ผู้นำกองทัพจะทำอย่างไร ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวดังกล่าว

ปัญหาก็คือ ผู้นำทหารไทยในปี 2555 จะยังคงเกาะกระแสชาตินิยมไปกับกลุ่มอนุรักษนิยมที่เคลื่อนไหวเรื่องเขาพระวิหารมาตั้งแต่ปี 2551 หรือไม่ และจะใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในการบั่นทอนสถานะการเมืองของรัฐบาล จนคาดหวังว่าจะเป็นการ "เปลี่ยนขั้ว" การเมืองได้อีกหรือไม่

แต่ถึงจะทำได้เช่นนี้จริง แต่ผลผูกพันจากมาตรการชั่วคราวดังกล่าวก็ไม่ได้หนีหายไปไหน และหากปีกอนุรักษนิยม-ชาตินิยม ชนะจนสามารถกลับสู่การดำเนินนโยบายแข็งกร้าวและต้องการใช้ "มาตรการสงคราม" เหมือนเช่นรัฐบาลก่อนแล้ว ประเทศไทยก็คงจะกลายเป็น "จำเลย" ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น

กรณีพระวิหารไม่ค่อยเอื้อให้ผู้นำกองทัพเดินนโยบาย "สุ่มเสี่ยง" แบบเก่าได้มากนัก



ในปี 2555 กองทัพไทยคงจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือ กรณีเรือสินค้าจีนซึ่งลูกเรือถูกสังหารจำนวน 13 ศพ แม้เรื่องนี้จะไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวสำคัญในสื่อไทยเท่าใดนัก แต่ในสื่อจีนแล้ว เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่าสำคัญถึงขนาดที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นนั้น ผู้นำจีนได้โทรศัพท์ติดต่อมาถึงผู้นำรัฐบาลไทยโดยตรง ซึ่งก็ตอบได้โดยตรงว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก

สำหรับกรณีนี้ เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลจีนคงจะไม่ยอมที่จะปล่อยให้เรื่องราวนี้ผ่านพ้นไปในลักษณะของ "คลื่นกระทบฝั่ง" แล้วไม่เกิดอะไรขึ้น

ปัจจุบันกลุ่มทหารที่เข้าไปเกี่ยวข้องและถูกจับกุมนั้น ยังอยู่ในสภาวะปกติ ไม่ได้มีการพักราชการแต่อย่างใด

และที่สำคัญก็คือ ผู้บังคับบัญชาในกองทัพภาคที่ 3 และกองกำลังผาเมืองก็ยังอยู่กันเป็นปกติ จนดูราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จนทำให้ต้องติดตามดูกันในปีนี้ว่า ด้วยพลังอำนาจทางทหารภายในการเมืองไทย คดีนี้จะเดินไปอย่างไร รัฐบาลจะสามารถเข้าไปตรวจสอบและจัดการกับปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่

และถ้าไม่ได้แล้ว รัฐบาลจีนจะมีมาตรการใดๆ ต่อกรณีนี้หรือไม่ และผลของมาตรการหรือแรงกดดันของจีนนั้น จะมีผลต่อกองทัพไทยเพียงใด

ปัญหาเรือสินค้าจีนจึงเป็นความท้าทายทั้งบริบทของการเมืองภายในและภายนอกคู่ขนานกัน แต่ประเด็นสำคัญก็คือ คดีนี้มีกองทัพเป็นจำเลยอยู่ด้วย


ผู้นำทหารไทยอาจจะไม่ตระหนักเท่าใดนักว่า ปัญหานี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน เพราะปัจจุบันความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองต้องถือว่าขึ้นสู่ระดับสูงสุด ดังเห็นได้จากการเสด็จเยือนของราชวงศ์ไทยที่เกิดขึ้น ตลอดรวมถึงในระดับของฝ่ายการเมืองและข้าราชการในระดับต่างๆ

จนอาจจะต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทั้งในทางต่างประเทศและความมั่นคงไทย

การซื้อเวลาเพื่อทำให้คดีมีอาการ "ลากยาว" ไป โดยหวังว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลจีนจะเบื่อไปเองนั้น อาจจะไม่ใช่วิธีการที่จะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใด

เว้นเสียแต่จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ผู้นำทหารไทยในยุคปัจจุบันไม่สนใจความสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีน อีกต่อไป

และขณะเดียวกันก็พร้อมจะปฏิเสธความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาความจริงจากการสังหารที่เกิดขึ้น ตลอดจนไม่นำพาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากจีนในฐานะของความเป็น "รัฐมหาอำนาจ" ออกแรงกดดันจริงๆ แล้ว ไทยคงไม่อาจต้านทานได้จริง การเร่งแสวงหาความจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง แม้จะต้องกระทบกับนายทหารบางส่วนก็น่าจะต้องยอม

เพราะการเร่งสอบสวนจะเป็นการปกป้องสถาบันทหารได้ดีที่สุด การป้องกันตัวเองด้วยการปกปิดและไม่ให้ความร่วมมือมีแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพต้องเสียหาย เพราะจะถูกมองว่าเป็นความพยายามปกปิดความผิด


หากทำให้เรื่องนี้เป็นบวกก็น่าที่ผู้นำทหารจะแสวงหาโอกาสสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกองทัพในปี 2555 ด้วยการเปิดการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารในระดับต่างๆ ที่ประจำอยู่ตามแนวชายแดน (โดยเฉพาะในส่วนของชายแดนไทย-พม่า) ว่ามีความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยในบริเวณดังกล่าวอย่างไร และทั้งมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการผิดกฎหมายอย่างไรหรือไม่ เพราะเรื่องเรือจีนในกรณี 13 ศพนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงคำถามอีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ใช่ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-จีน เท่านั้น

หากแต่เป็นปัญหาของบทบาททหารตามแนวชายแดนที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ

และใช่ว่าจะมีความเกี่ยวพันกับทหารเท่านั้น หากรัฐบาลจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่อต้านยาเสพติดจริงแล้ว ก็อาจจะต้องตรวจสอบบทบาทของข้าราชการทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ตามแนวชายแดนกันอย่างจริงจัง

ปัญหานี้ในอีกมุมหนึ่งก็คือ อาจจะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ 2 ประการที่สำคัญต่อสถานะด้านความมั่นคงของประเทศก็คือ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน และยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

เพราะถ้าปี 2554 บ่งบอกถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจของรัฐบาลไทยแล้วด้วยการเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายไทยต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งนโยบายนี้อยู่ในอาการ "ล้มลุกคลุกคลาน" ในช่วงรัฐบาลก่อน

ดังนั้น หากรัฐบาลและกองทัพมองเห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในบริบทของการเมืองภายใน หรือจากการเมืองภายนอก (การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลวอชิงตันต่อรัฐบาลพม่า) ปี 2555 ก็น่าจะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ทั้งสองเรื่องกันใหม่

นโยบาย "การทหารนำการเมือง" ที่เคยถูกใช้ในรัฐบาลก่อน อาจจะต้องเปลี่ยนกลับมาสู่นโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ให้ได้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าในปี 2555 สงครามตามแนวชายแดนจะไม่หวนกลับมาจนกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้าน

และขณะเดียวกันก็จะต้องไม่มีการก่ออาชญากรรมตามชายแดนที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการกระทำนี้มีความเกี่ยวข้องกับบุคลากรของกองทัพ



นอกจากนี้ ผู้นำทหารจะต้องตระหนักจริงๆ แล้วว่า ในปี 2558 หากทุกอย่างเดินไปตามเส้นทางแห่งความฝันแล้ว อาเซียนจะกลายเป็น "ประชาคม" ซึ่งผลของการเกิดประชาคมอาเซียนย่อมจะนำความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาความมั่นคง ตลอดรวมถึงผลกระทบต่อบทบาทของกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้นำทหารจะทำตัวเป็นเพียง "ม้าใช้" ของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ด้วยความเชื่อว่า "ทหารจะทำอะไรกับการเมืองไทยก็ได้" นั้น คงต้องทบทวนกับวิธีคิดเช่นนี้แล้ว เพราะอย่างน้อยทิศทางของการปฏิรูปการเมืองในพม่าก็เป็นสัญญาณบ่งบอกของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เดินไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของการเมืองแบบการเลือกตั้ง (มากกว่าการเมืองแบบการแต่งตั้ง)

เพราะหากผู้นำทหารไทยจะยังผูกตัวอยู่กับอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างไม่ปลดปล่อยตัวเองแล้ว บางทีผู้นำทหารไทยอาจจะเป็น "ทหารอนุรักษนิยม" ที่สุดในภูมิภาคก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่าอย่างน้อย ทหารพม่ากำลังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอกให้ต้องปฏิรูปการเมืองในบ้าน

ปรากฏการณ์ของปัจจัยต่างๆ ในข้างต้นเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจของผู้นำทหารจะต้องคิดเสมอว่า ผลที่ได้นั้นมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลหรือไม่...ไม่ว่ากรณีปราสาทพระวิหารและกรณีเรือจีนในปี 2554 ล้วนบ่งบอกถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2555 อย่างแน่นอน!



.