http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-24

“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว

.

“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 19:37 น.


วันที่ 24 มิ.ย. ที่หอประชุมพูนสุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2555 ครบรอบ 80 ปี การอภิวัฒน์สยาม และครบรอบ 17 ปีสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ “แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : ความคิดว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน ”

ว่า แม้จะผ่านมา 80 ปีเหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม ระยะเปลี่ยนผ่านของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 24 มิ.ย.2475 - 24 มิ.ย.2476

โดยคณะราษฎรมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนการปกครองจากเดิมที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมายมาเป็นอยู่ใต้กฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุข ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองใหม่ จนในการประชุมสภาครั้งแรกมีการโต้แย้งกันในประเด็นเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่นี้เป็นอย่างมาก ซึ่งในระหว่างเปลี่ยนผ่านนี้อำนาจอธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยสังเกตได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการยกโทษการกระทำของคณะราษฎร ตามที่คณะราษฎรเสนอมา


ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยถูกกำหนดให้มีความต่อเนื่อง โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรได้แสดงจุดยืนอย่างออมชอม ประนีประนอมเพื่อต้องการให้การปกครองใหม่นี้ดำเนินการต่อไปได้ นายปรีดีจึงใช้กระบวนการช่วยพยุงประชาธิปไตยใหม่ให้อยู่ได้และก้าวหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามผู้นำ 2 ฝ่ายในขณะนั้น คือฝ่ายรัฐบาลเก่าและกลุ่มคณะราษฎรยอมรับตรงกันว่าการปกครองใหม่ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่กระบวนการที่จะสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีการผสมผสานรูปแบบเก่ากับใหม่อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นการอภิวัฒน์ที่ยังไม่เสร็จสิ้น  ซึ่งก็มีฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ดำเนินการเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน ”


“การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และเดินหน้าต่อไปจนคิดว่าน่าจะมีการผลักดันให้การปกครองเข้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นจากการที่นายปรีดี พยายามเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เป็นการช่วยยกระดับของประชาชน กระจายรายได้สู่ประชาชน แต่ก็มีการกีดขวางจนมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม จนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไป” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว

“แนวคิดเค้าโครงทางเศรษฐกิจของนายปรีดีขณะนั้นได้ก้าวข้ามระบบเสรีนิยม เป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้า ช่วยยกระดับประชาชน เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะโครงสร้างการถือครองแข็งตัวไปหมดแล้ว ”


ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า “ ปัญหาของประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ.2490 ซึ่งมีการขยายบทบาทของสถาบันกษัตริย์เชื่อมโยงเข้าสู่การปกครอง . . หนทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์กลับไปซ้ำรอยอดีตก็ควรจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน ”



.