http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-02-28

นิธิ: โพลและการเลือกตั้ง

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โพลและการเลือกตั้ง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 11:30:25 น.
จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361765214
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 25 ก.พ. 2556 )
( ภาพล้อเลียนจากเวบบอร์ดทั่วไป ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


ผมสงสัยว่าชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะที่อยู่ในวงการเมืองและราชการ ดูจะอ่อนไหวกับผลสำรวจโพลผิดปกติธรรมดา ในขณะที่คนไทยทั่วไปก็ตอบสนองต่อโพลเหมือนคนในสังคมสมัยใหม่อื่นๆ คือมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองบ้าง แต่ไม่มากนัก

โพลคือการสำรวจข้อเท็จจริงหรือความเห็นของคนทั้งสังคม แต่ทำโดยการเลือกสำรวจคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดว่าสามารถเป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดได้ดี เป็นการสำรวจทางสถิติธรรมดาๆ ซึ่งเราก็ทำอย่างหยาบๆ ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน เพียงแต่ผลที่ออกมาไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะกลุ่มคนที่เราเลือกมานั้นมักเป็นคนที่เรารู้จัก และด้วยเหตุดังนั้น จึงมักเป็นคนที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันเท่านั้น หาได้เป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดไม่ หรือมิฉะนั้นก็เอาจากข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งยิ่งเชื่อถือไม่ได้ เพราะสิ่งที่หนังสือพิมพ์รายงานนั้นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยกรณี ซ้ำตัวรายงานเองยังใส่สีตีไข่เข้าไปอีกแยะ

หากการเลือกกลุ่มคนที่จะเป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดทำได้ดี มีจำนวนคนที่ถูกสำรวจมากพอ ตั้งคำถามที่ข้ามข้อยับยั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลของการสำรวจข้อเท็จจริงมักฟังขึ้น เช่น สำรวจว่าผู้หญิงไทยในปัจจุบันก่อนจะถึงอายุ 50 มีผัวมากี่คนแล้ว คำตอบที่ได้มาก็น่าจะใกล้เคียงความจริง

แต่การสำรวจความคิดเห็น แม้ทำอย่างถูกหลักวิชาเพียงใด ก็ฟังได้ยากกว่าการสำรวจข้อเท็จจริงเสมอ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะขึ้นชื่อว่าความเห็นย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ความเห็นบางอย่างก็เปลี่ยนได้รวดเร็ว บางอย่างก็อาจช้าหน่อย
ด้วยเหตุดังนั้น การทำโพลเกี่ยวกับความคิดเห็น เขาจึงมักทำเป็นระยะ เพื่อดูแนวโน้มทิศทางความเปลี่ยนแปลง เช่น ความเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น


โพลเลือกตั้งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของคนหรือไม่ มีน่ะมีแน่ครับ แต่มีไม่มาก และไม่ใช่การชี้นำแน่ เพราะไม่รู้ว่าจะชี้ไปทางไหน
โพลบอกว่า เบอร์นั้นเบอร์นี้จะชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ผู้นิยมอีกเบอร์หนึ่งซึ่งเคยเชื่อว่านอนมาแหงๆ พากันออกมาเลือกตั้งเพื่อช่วยผู้สมัครที่ตัวชื่นชอบกันเต็มที่ ในขณะที่ผู้นิยมผู้สมัครเบอร์ที่โพลทายว่านอนมาแน่ กลับไม่ออกมาลงคะแนน เพราะเชื่อว่าชนะแหงๆ อยู่แล้ว ผลเลยกลายเป็นตรงกันข้ามก็ได้

โพลก็คือโพลนะครับ ตอนสำรวจบอกว่าจะไม่ออกมาลงคะแนน แต่ผลโพลทำให้ต้องขมีขมันออกมาก็ได้


หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า กกต.สั่งห้ามทำโพลก่อนการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ หากสั่งจริงก็เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น อยากทำก็ทำไปสิครับ ถ้า กกต.เชื่อว่าโพลมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ก็ห้ามได้เฉพาะการประกาศโฆษณาผลการสำรวจ ไม่ใช่ห้ามสำรวจ อย่างเดียวกับที่ปล่อยให้สำนักข่าวต่างๆ ทำเอ็กซิทโพลในวันเลือกตั้ง แต่ห้ามประกาศผลก่อนปิดหีบในเวลา 15.00 น.

ความระแวงสงสัยต่อการทำโพลนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกับความเชื่อเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง คือทั้งสองอย่างนี้ประเมินการตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ต่ำมากๆ ความไม่เชื่อถือวิจารณญาณทางการเมืองของประชาชนนี่แหละ ที่เป็นฐานคิดสำคัญทั้งของรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 (เพียงแต่แสดงออกมาอย่างชัดเจนใน 50 มากกว่าเท่านั้น)

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองของผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยอยู่บ้าง แต่เท่าที่ผมทราบไม่มีงานวิจัยทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ที่ใกล้เคียงคือการศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (การเมืองในชีวิตจริงมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้งมาก การไปหรือไม่ไปร่วมชุมนุมก็เป็นการเมือง แม้แต่ตัดสินใจไปช่วยงานแต่งงานลูกสาวใครบ้างก็เป็นการเมือง ถ้านิยามการเมืองว่าคือการต่อรองเพื่อเข้าถึงทรัพยากรในหลายลักษณะ)

แม้แต่สมัยที่เชื่อกันอย่างสนิทใจว่า ประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ตัดสินใจลงคะแนนเท่าไรขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้จากการซื้อเสียง แต่งานวิจัยแม้ในสมัยนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการตัดสินใจมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก สายสัมพันธ์กับหัวคะแนนมีความสำคัญกว่าจำนวนเงิน นี่คือเหตุผลที่เจ้าบุญทุ่มแพ้เลือกตั้งมาแยะแล้ว เพราะจับสายของหัวคะแนนผิด เงินมีส่วนในการตัดสินใจอยู่บ้างก็จริง แต่มีความสำคัญน้อยกว่าสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติ, เครือข่ายที่อาจเชื่อมโยงกับอำนาจ, ฯลฯ สรุปก็คือการตัดสินใจของประชาชนขึ้นอยู่กับว่า หากผู้สมัครที่ตัวเลือกได้รับเลือกตั้ง ตัวจะได้โอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้นแค่ไหน

ไม่แตกต่างจากคนในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ การตัดสินใจลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมีพื้นฐานอยู่ที่ผลประโยชน์ จะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุธรรมหรือนามธรรมก็ตาม แต่ผลประโยชน์คือพื้นฐานของการตัดสินใจทั้งนั้น



ความคิดว่า ผู้เลือกตั้งเข้าคูหาด้วยใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม เป็นความไร้เดียงสาที่เกิดขึ้นจริงแก่คนไร้เดียงสา หรือเป็นความไร้เดียงสาที่คนเจนโลกแสร้งทำ อันที่จริงแม้แต่ความคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ก็คือผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ของบุคคล

ผมไม่ปฏิเสธว่าผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์นั้นมีพลังกำกับการตัดสินใจของคนได้สูง โดยเฉพาะในบางสถานการณ์ เช่นที่คนจำนวนมากเลือกพรรคเพื่อไทยจนได้ชัยชนะท่วมท้น ก็ไม่ใช่เพราะชอบพรรคเพื่อไทย แต่เพราะไม่ชอบประชาธิปัตย์ภายใต้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสียจนไม่มีทางเลือกต่างหาก แต่ กกต.และรัฐธรรมนูญไม่เคยรังเกียจหรือกีดกันผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ให้มีผลต่อการเลือกตั้งเลย

หัวใจบริสุทธิ์ผุดผ่องในคูหาเลือกตั้งอย่างที่คิดฝันกันนั้น การเลือกตั้งก็เกือบจะเท่ากับการจับฉลากน่ะสิครับ

ผลโพลก็เหมือนกัน เป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารข้อมูลที่ผู้เลือกตั้งใช้ในการตัดสินใจ และดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นข่าวสารข้อมูลที่คาดเดาไม่ถูกว่าจะชี้นำไปทางใด เพราะผลของโพลไม่ได้เป็นข่าวสารข้อมูลอย่างเดียวที่ผู้เลือกตั้งมี เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น และเป็นส่วนเดียวที่เมื่อนำไปรวมกับข่าวสารข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจได้หลายอย่าง


ถ้าไม่ใฝ่ฝันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือหัวใจบริสุทธิ์ผุดผ่องของผู้เลือกตั้ง และไม่เหยียดวิจารณญาณทางการเมืองของผู้เลือกตั้ง ผลโพลไม่มีอันตรายอะไร โดยเฉพาะโพลที่ทำถูกต้องตามหลักวิชา (ส่วนผลโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะทำถูกหลักวิชาหรือไม่ ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้ไปขอดูกระบวนการของเขา แต่ทั้งสี่สำนักแสดงผลเหมือนกัน จะถูกจ้างวานทั้งสี่สำนักก็กระไรอยู่ แต่น่าประหลาดที่ผู้กล่าวหาไม่แคร์พอจะไปตรวจสอบกระบวนการของเขาเลย) โดยตัวของมันเองอย่างเดียว ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งแน่ แต่เมื่อรวมกับข่าวสารข้อมูลอื่นที่ผู้เลือกตั้งมีอยู่ ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งเป็นธรรมดา

แล้วจะให้คนเข้าคูหาโดยไม่มีข่าวสารข้อมูลเลยกระนั้นหรือ

สำนักโพลคงประสบความเดือดร้อนต่อไป หากยังทำโพลการเมือง (ซึ่งคงต้องทำ เพราะให้ผลดีต่อภาพพจน์ของสำนัก ซึ่งอาจเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจได้) แต่ไม่ใช่เพราะนักการเมืองใจแคบหรือใจกว้าง แต่เพราะชนชั้นนำไทยไม่เชื่อในวิจารณญาณทางการเมืองของประชาชนต่างหาก



.