http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-08-16

เสร็จศึกฆ่าขุนพล โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เสร็จศึกฆ่าขุนพล       
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376640799
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:18:02 น.
(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 9 ส.ค. -15 ส.ค.56 ปีที่ 33 ฉ.1721 หน้า30)


สํานวนไทยว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" มาจากพระราชพงศาวดารมอญฉบับแปลคือราชาธิราช ผมไม่ทราบว่ามีในราชาธิราชฉบับมอญหรือผู้แปลไทยแต่งใส่ลงไปเอง แต่ก็เป็นสำนวนที่ใช้แพร่หลายในภาษาไทยสืบมาจนทุกวันนี้

ในราชาธิราชไม่แสดงเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ซ้ำยังเสนอประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำด้วย เพราะที่จริงเมื่อฆ่าขุนพลนั้น ศึกยังไม่ได้เสร็จจริง พูดภาษาปัจจุบันคือ ยังไม่เสร็จสงคราม


แต่เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็ควรฆ่าขุนศึกเสีย ไม่ด้วยคมหอกคมดาบ ก็ด้วยระบบปกครอง


อำนาจของขุนศึกในยามสงครามนั้นยิ่งใหญ่อย่างที่จะหาใครเทียบมิได้ อำนาจนั้นจึงคุกคามอำนาจอื่นๆ ทั้งหมด แม้แต่อำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบราชาธิราช หรือนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อำนาจนั้นไม่ได้สูญหายไปไหน ก็ยังอยู่กับขุนพลเหมือนเดิม แต่ขุนพลไม่ว่าในระบอบอะไร ก็ควรมีอำนาจอยู่จำกัดคือแค่บริหารจัดการกองทัพ ให้พร้อมจะใช้กำลังเมื่อได้รับคำสั่งเท่านั้น


แต่สงครามในรัฐโบราณ (รวมทั้งรัฐสมัยใหม่ที่พยายามเก็บความโบราณไว้เป็นฐานอำนาจของบางองค์กรและบางสถาบันการเมือง) ทำกำไรแก่ขุนพลสูงสุด จะเป็นรองอยู่บ้างก็อาจเป็นพันธมิตรที่สูงกว่าของขุนพล อันได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน หรือสภาขุนนางที่ยึดอำนาจมาได้

ถ้าพูดถึงรัฐมอญและไทยโบราณ สงครามคือการกวาดต้อนผู้คนและยึดทรัพย์สมบัติของศัตรู ยึดมาได้แล้วจะเป็นกำลังของใคร ที่ถูกก็คือเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ขุนพลก็ได้ส่วนแบ่งมากที่สุดเหมือนเป็นบำเหน็จ ทั้งนี้ยังไม่นับส่วนที่เม้มไว้อีก

แต่กำลังที่สำคัญกว่าผู้คนและทรัพย์สมบัติคือความภักดี ซึ่งผู้อื่นแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่สามารถแบ่งปันไปได้ เพราะแม้แต่คนในสังกัดของพระเจ้าแผ่นดินเอง นับตั้งแต่ขุนนางจนถึงไพร่หลวง ก็อาจจะภักดีต่อขุนพลอย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งแปลว่าหากต้องเลือก บางทีก็เลือกขุนพลยิ่งกว่าเลือกพระเจ้าแผ่นดิน

สงครามจึงเป็นธุรกิจของขุนพล ผมใช้คำว่าธุรกิจอาจทำให้ไขว้เขว ควรพูดว่าเป็นธรรมชาติของขุนพลมากกว่า หมายความว่ามีความถนัดที่จะทำสงคราม ความหมายของชีวิตอยู่ที่ทำสงคราม ซ้ำยังได้กำไรจากการใช้ชีวิตที่เป็นธรรมชาติของตัวด้วย เหมือนปิกัสโซแหละครับ หยิบกระดาษมาขีดอะไรเล่นตามธรรมชาติของตัว แต่ผ่าทำเงินไปด้วยโดยไม่ทันตั้งใจ


กรณีในประวัติศาสตร์มีมากมาย ที่เมื่อเสร็จศึกแล้ว ขุนพลก็ชิงราชบัลลังก์เสียเลย ซ้ำไม่ใช่แค่มีบ่อยเท่านั้น แต่มีในทุกสังคมตั้งแต่จักรวรรดิโรมันมาจนถึงอินเดียจีนและไทย (หรือทุกประเทศของอุษาคเนย์)

อันที่จริง เมื่อปลายรัชกาลพระเจ้าตากสิน ซึ่งท่านไม่ได้ออกทำศึกเองอีกหลัง พ.ศ.2318 ท่านก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีกับขุนพลของท่าน แต่แทนที่ท่านจะฆ่าทิ้งเสีย ท่านกลับพยายามเอาใจสารพัด แม้กระนั้นก็ไม่สำเร็จ เพราะอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อไม่ฆ่าขุนพล ขุนพลก็ฆ่าเสีย

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้มีอำนาจควรจะฆ่าขุนพลเสียเมื่อเสร็จศึก แต่ดูให้ดีๆ หน่อยว่าเสร็จศึกแล้วจริงๆ



แต่ว่าที่จริง เราก็ไม่เกี่ยวนะครับ ใครจะแย่งอำนาจกันอย่างไร ประชาชนก็เหมือนเดิม คือถูกเกณฑ์แรงงานและเกณฑ์โน่นเกณฑ์นี่ต่อไป

แต่คิดให้ดีๆ จะว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้นะครับ เพราะการปกครองของขุนพลนั้นมีอะไรที่แตกต่างจากการปกครองตามปรกติอยู่เหมือนกัน และส่วนนี้แหละครับที่เข้ามาเกี่ยวกับชีวิตประชาชน

นั่นก็คือ ขุนพลส่วนใหญ่หยุดสงครามไม่ได้ ไอ้ที่หยุดไปแล้ว ก็มักไปรื้อฟื้นให้มันเกิดใหม่

อย่างนโปเลียน หันมาทำนุบำรุงฝรั่งเศสที่ปฏิวัติแทนการทำสงครามได้หรือไม่ จากความรู้กะพร่องกะแพร่งของผม คิดว่าน่าจะได้ในระดับหนึ่งนะครับ

เมื่อนโปเลียนนำทัพฝรั่งเศสต่อสู้การรุกรานของกองทัพโบราณราชาธิปไตยยุโรป จนชนะหมดแล้ว เข็ดที่จะรุกรานฝรั่งเศสอีก จะป้องกันฝรั่งเศสที่ปฏิวัติให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ผมคิดว่ามีหลายวิธีนะครับนอกจากยกทัพไปครอบครองราชาธิปไตยเหล่านั้น แต่นโปเลียนเลือกการยึดครองแทนวิธีอื่นๆ

ฝรั่งเศสจึงต้องเข้าสู่สงครามอย่างสืบเนื่องยาวนานเป็นสิบปี



สงครามนั้นไม่ร้ายแรงเท่ายาเสพติดหรอกครับ แต่มันทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง มีอะไรติดขัดก็พร้อมจะทำลายล้างมันเสีย ทั้งๆ ที่ยังมีวิธีอื่นซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าให้เลือกได้อีกแยะ ก็ไม่ยอมเลือก เพราะไปเชื่อเสียแล้วว่า ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทหารในกองทัพที่สังหารหมู่ประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 และ 2519, พฤษภามหาโหด 2535 และ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ล้วนมาจากกองทัพที่ได้รบกับ พคท. มาเป็นแรมปี ด้วยวิธีเก็บ, ถังแดง, ถีบลง ฮ., นาปาล์มล้างหมู่บ้าน ฯลฯ มาแล้วทั้งสิ้น

เป็นความเคยชินทั้งนายทหารและกำลังพลชั้นผู้น้อยทั่วไปในกองทัพ



อีกกรณีหนึ่งที่ผมนึกออกคือเขมรแดง หนึ่งในวิธีการที่เขมรแดงจะคุมอำนาจไว้ได้ คือสร้างภาวะแห่งสงครามให้ดำรงอยู่ตลอดไป สาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตยถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากจักรวรรดินิยมทุนนิยม และจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม

มีสายลับและเอเย่นต์บ่อนทำลายแทรกอยู่เต็มไปหมด แม้แต่เจ็บป่วยบ่อยเกินไป ก็อาจเป็นแผนบ่อนทำลายของข้าศึกได้ จะหาหลักฐานให้มั่นคงหนักแน่นจนรื้อทลายเครือข่ายของแผนบ่อนทำลาย ก็ไม่มีสมรรถภาพทำได้ (หรือไม่ใส่ใจจะทำ) ยิงมันทิ้งหรือปล่อยให้มันตายง่ายกว่า

ยิ่งมาในภายหลังที่รู้แน่ชัดว่าความแตกร้าวนั้นรวมไปถึงสมาชิกพรรคระดับสูงด้วย ก็ต้องตูลสเลงสิครับ ระแวงใครก็เอามาไว้ตูลสเลงก่อนปลอดภัยกว่า

ยิ่งระแวงคนภายนอก ก็ยิ่งระแวงคนภายใน ยิ่งระแวงคนภายใน ก็ยิ่งระแวงคนภายนอก เมื่อสมาชิกระดับนำพากำลังของตนหนีไปพึ่งเวียดนาม ก็ยิ่งทำให้เชื่อว่าเวียดนามอยู่เบื้องหลังการบ่อนทำลายที่หวาดระแวงอยู่แล้วแน่

จึงต้องเปิดสงครามกับเวียดนามอย่างไม่ให้โลกรู้มานานก่อนที่เวียดนามจะยกทัพมาเผด็จศึก

ความจริงแล้ว เขมร (ทั้งแดงและไม่แดง) ไม่ไว้วางใจเวียดนามมานานแล้ว เพราะเวียดนามในประวัติศาสตร์ได้ผนวกเอาดินแดนของกัมพูชาไปผืนมหึมา พอๆ กับไทยเช่นเดียวกัน ซ้ำร้าย ประสบการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) กับเวียดนามยังค่อนข้างจะเลวร้ายด้วย เพราะในระยะแรก เวียดนามต้องการครอบงำพรรคเขมรแดงเพื่อใช้ประโยชน์ในสงครามของตน (กับสหรัฐในเวียดนามใต้) กว่าจะหลุดจากการครอบงำก็ใช้เวลานาน หลุดออกมาแล้ว เวียดนามก็ยังมีทัศนะหมิ่นๆ ต่อกองกำลังเขมรแดง

ขนาดวันที่ เอียง สารี ไปบอก เล ดุ๊ก โธ (ซึ่งรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา) ว่า "เรายึดพนมเปญได้แล้ว" เลยังเตือน เอียง สารี อย่างแสบๆ ว่า "ระวังอย่าปล่อยให้การข่าวผิดๆ ทำให้ไขว้เขว และอย่าลืมว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณเคยบอกเราว่ายึดตาแก้วได้แล้ว" (ซึ่งตอนที่บอก ยังยึดไม่ได้)

แต่เขมรแดงก็เคยทนเวียดนามมาหลายปี แม้เมื่อแยกตัวออกจากเงาของเวียดนาม ก็พยายามไม่ให้เกิดความแตกร้าวขึ้น เหตุใดเมื่อได้อำนาจแล้วจึงไม่อดทนต่อไป กลับเปิดศึกตามชายแดนกับเวียดนาม

ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุผลที่กล่าวแล้ว คือระแวงคนภายในจนไปเชื่อสนิทเสียแล้วว่า มีเวียดนามหนุนอยู่เบื้องหลัง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะระบอบเขมรแดงต้องการศัตรูสำหรับทำสงคราม เนื่องจากสงครามยิ่งให้อำนาจเด็ดขาดแก่ผู้นำมากกว่ายามปรกติ การจับคนไปตูลสเลงนั้น เพื่อป้องกันชาตินะครับ ไม่ใช่ขจัดศัตรูของผู้นำ



ขุนศึกที่ผมนึกถึงอีกคนหนึ่งคือไอเซนฮาวเออร์ ประธานาธิบดีสหรัฐหลังสงคราม ออกจะแน่ชัดว่าคนที่จะเป็นประธานาธิบดีต่อจากทรูแมนต้องเป็นขุนศึก ผู้พิชิตศัตรูของชาติได้อย่างสะใจ หากไม่ใช่ไอก์ ก็ต้องเป็น แม็ก อาเธอร์

ผมควรกล่าวด้วยว่า ขุนศึกในโลกสมัยใหม่นั้น มี "บารมี" มากกว่าขุนศึกสมัยโบราณเสียอีก เพราะสื่อมวลชนสมัยใหม่ทำให้วีรกรรมของเขา (ทั้งที่จริงและไม่จริง) กลายเป็นนิยายประจำชาติไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อย่างที่นโปเลียนหรืออเล็กซานเดอร์ หรืออโศกมหาราชไม่อาจเทียบได้เลย

ไอก์อาจไม่ใช่ผู้เริ่มสงครามเย็น แต่เขารับมรดกการเริ่มสงครามมาจากทรูแมน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีจากพรรคคู่แข่ง และทำให้การแข่งขันระหว่างสองค่ายดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น ด้วยการตั้งนายดัลเลสเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายดัลเลสคือผู้ที่เที่ยวตั้งองค์กรโน้นองค์กรนี้เพื่อปิดล้อมมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโนและนโยบายปิดล้อม (containment) ซึ่งตัวเขาและสมัครพรรคพวกคิดขึ้นเอง

โดยมีไอก์คอยให้การสนับสนุนอย่างไม่เสื่อมคลาย


แม้กระนั้น ไอก์ก็ไม่ได้นำสหรัฐเข้าสู่สงครามร้อน นอกจากใช้กำลัง (ทั้งกองทัพและเงิน) เที่ยวครอบงำประเทศในละตินอเมริกา และนโยบายขยายอิทธิพลไปทั่วโลกของสหรัฐหลังจากนั้น จะโทษเขาคนเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะมันมีอะไรสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังมากกว่าบุคคลที่เป็นประธานาธิบดี


แม้เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคคู่แข่ง เช่นเคนเนดี้และจอห์นสัน นโยบายครอบงำโลกของสหรัฐก็ไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำยังอาจรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ

มองในแง่นี้ ขุนศึกอย่างไอก์ ไม่มีอันตรายมากไปกว่าที่โครงสร้างของสหรัฐมีอันตรายอยู่แล้ว การจับเขาขึ้นไปนั่งในตำแหน่งประธานาธิบดีเสียอีก ที่ทำให้ "บารมี" ของเขาถูกจำกัดและถูกกำกับโดยอะไรอื่นๆ ในโครงสร้างของเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมสหรัฐ เท่ากับขุนศึกถูกฆ่าไปแล้ว  
หากไม่ได้ถูกฆ่าด้วยคมหอกคมดาบ หากถูกฆ่าด้วยระบบการเมืองที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

มองไปให้กว้างอย่างนี้แล้ว เสร็จศึกก็ควรฆ่าขุนพลเสีย



.