http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-12-17

มวลมหาประชาชน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มวลมหาประชาชน
ใน http://prachatai3.info/journal/2013/12/50488
. . Tue, 2013-12-17 13:58
ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556
(แฟ้มภาพ: ประชาไท 9 ธ.ค.2557)


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล(มหาประชา)ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้าง
ขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล(มหาประชา)ชน

ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้

บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง

ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล


เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้

และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ  อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคล ยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ

ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้

ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี


เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง

ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง

เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ

ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง

การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา

ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้ กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้


นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน"

อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป

ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"

น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล(มหาประชา)ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ 
ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี 

คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล(มหาประชา)ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล(มหาประชา)ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า


จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก
นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง
เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ


ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้

เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล(มหาประชา)ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส


ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล(มหาประชา)ชน ชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่

เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้

หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า

จะถูกมวล(มหาประชา)ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต



.