.
วรศักดิ์ ประยูรศุข : ความเงียบ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408015505
. . วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:02:14 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 14 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ
22 ส.ค.นี้ จะครบ 3 เดือนของ คสช.
บ้านเมืองเงียบเชียบดี ราวกับว่า ผู้คนที่แตกแยกเห็นต่าง ได้บรรลุความเข้าใจ เลิกโกรธเกลียดกัน เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ขึ้นแล้ว
แต่ความจริงยังน่าสงสัย ความเงียบเชียบในขณะนี้ น่าจะเป็นผลจาก "ยาแรง" เมื่อ 22 พ.ค. ที่แก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น
พูดไปก็เหมือนฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ถ้าไม่ศึกษาสิ่งที่ผ่านเลยไป อีกหน่อยก็จะเจอกับดักเดิมๆ ตกหลุมเดิมๆ กันอีก
แต่ก่อนหน้า 22 พ.ค. ต้องยอมรับว่า เป็นฝันร้ายที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน
จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล กลายเป็นการชัตดาวน์กรุงเทพฯ
ปิดเมือง ปิดถนนอย่างยาวนาน ถนนสายที่เป็นหน้าตาของเมืองอย่างถนนราชดำเนิน มืดหม่นอย่างน่าใจหายในยามค่ำคืน
ธุรกิจการค้าขายซบเซาลงไปทีละน้อยบ้างมากบ้าง แต่นักธุรกิจน้อยใหญ่ยังอุตส่าห์บอกว่าไม่กระทบ
เทศกาลปีใหม่ที่อยู่ระหว่างการชุมนุม ผู้คนหนีความขัดแย้งไปฉลองในต่างประเทศ
เป็นห้วงเวลารุ่งโรจน์ของแกนนำ การด่าทอเป็นที่ชื่นชม ประดิดประดอยวาทะ
โวหารมาด่ากันเป็นรายวัน ถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ ถ่ายสดแล้วยังเอามารีรัน กรอกหูกันตลอด 24 ชั่วโมง
หลัง 22 พ.ค เสียงเหล่านี้หายไปเหมือนกดสวิตช์ปิด
คสช.ประกาศปฏิรูปประเทศ เข้ามาดูแลการเมืองเอง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก
ความเงียบในช่วงนี้ ก็คือ การเฝ้ารอดูว่า คสช.จะดำเนินการอย่างไรแบบไหน
แต่ตอนนี้ เริ่มมีเสียงบ่น และอาการกระฟัดกระเฟียดเกิดขึ้นบ้างแล้ว
ทั้งจากฝ่ายหนุนรัฐประหาร อยากมีส่วนร่วม อยากให้เดินสุดซอย กวาดล้างระบอบทักษิณ จะได้ไม่เสียของ
ทั้งฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่รู้จะทำยังไง รอลุ้นว่า เผื่อจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง
ในระยะนี้ ฝ่ายที่อยากให้ คสช.เร่งเครื่องสุดซอย ออกอาการหงุดหงิดที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะถือว่าลุ้นมาแต่ต้น
ประกอบกับ คสช.ทำการบ้านล่วงหน้า พอยึดอำนาจก็ใช้เครือข่ายตัวเองทำงาน
ไม่ต้องใช้บริการคนที่อยากให้ใช้ เลยยิ่งไปกันใหญ่
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เริ่มเห็นช่องว่างจุดโหว่มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน
21-22 ส.ค.นี้ สนช.จะโหวตเลือกนายกฯ จากนั้นเป็นคิวของการจัดตั้ง ครม.
ขับเคลื่อนโรดแมปคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง ในเดือน ก.ย. 2558
แต่เรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ก็คือ รอยร้าวรอยแตกได้หายไปจริงหรือไม่ การปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง
โดยเฉพาะรากฐานของความปรองดอง คือ ความเป็นธรรม การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ได้เกิดขึ้นหรือยัง
และนี่คือตัวชี้ขาดว่า "ความเงียบ" ที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนแค่ไหนเพียงไร
++
วรศักดิ์ ประยูรศุข : แก้ไหม?-รธน.ชั่วคราว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407398977
. . วันพฤหัสบดีที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:08 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 7 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ
สื่อต่างๆ เสนอข่าวโผ ครม.กันกระหึ่ม
เพราะห้วงเวลาที่จะมีนายกฯ มีรัฐบาลมาบริหารประเทศ ตามรูปแบบสากล ใกล้เข้ามาทุกที
ใครจะไปใครจะมาก็ว่ากันไป แต่ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วง คือ ภาพของ ครม.ที่จะออกมา
จะเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยทหาร เหมือน สนช.อีกหรือไม่
คสช.อธิบายการตั้ง สนช.ว่า เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ และต้องการเอกภาพ ก็เข้าใจได้
แต่รัฐบาลไม่เหมือน สนช. ซึ่งมีหน้าที่ประชุมตรากฎหมาย รับรองกฎหมาย
รัฐบาลต้องนั่งทำงาน ต้องรับแขก ต้องให้ต่างประเทศเชิญบินไปพบปะเจรจา ต้องแสดงจุดยืนท่าทีต่างๆ ฯลฯ
รูปโฉมของรัฐบาล ไม่ควรเป็นอุปสรรคกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลเอง
ระยะนี้มีข่าวว่า การฟอร์ม ครม.ใหม่มีปัญหา จากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 8 และมาตรา 20
มาตรา 20 ระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกฯและ รมต.ไว้หลายข้อ
หนึ่งในนั้นคือ (4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลาสามปี
ก่อนวันได้รับแต่งตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8
ส่วนมาตรา 8 เป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง สนช. มีหลายข้อเช่นกัน ทั้งห้ามเป็นสมาชิกพรรคในระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านี้ และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
มาตรา 8 นี้เอง ที่ทำให้ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ต้องถอนตัวจาก สนช. เพราะเคยสังกัดพรรคการเมือง
และเมื่อประกอบกับมาตรา 20 ก็ทำให้บรรดาผู้มีชื่อเสียง มีฝีมือ แต่เคยถูกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีบ้านเลขที่ 109 และ 111 ต้องหมดสิทธิแบบกราวรูด
ห้ามเป็นหมด ทั้ง สนช. / นายกฯ / รมต. / สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรรมนูญ
ตัวอย่างเห็นๆ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ซึ่งมีข่าวว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี เลยวืดหมด อาจจะต้องตั้งให้เป็นผู้แทนการค้าฯ ช่วยงานด้านต่างประเทศกันต่อไป
ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ขอเอ่ยนาม ที่อยู่ในข่ายนี้ หลายๆ คน คสช.ก็เคยทาบทาม แล้วก็ตกอกตกใจไปแล้วว่า มีบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยหรือ
คนที่เขียนกฎหมายมาตรานี้เข้ามา อาจหวังดีต่อ คสช. แต่ที่จริงไม่เป็นผลดี
และยังขัดแย้งกับแนวทางสมานฉันท์ของ คสช.เอง
และขัดแย้งกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญที่จะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรมอีกด้วย
เพราะคนบ้านเลขที่ 109 และ 111 นั้น นอกจากได้ชื่อว่า พลอยซวยรับโทษจากความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อแล้ว ยังรับโทษเว้นวรรค 5 ปีกันไปหมดแล้ว
พ้นโทษกลับมารับตำแหน่ง ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ใช้สิทธิในแบบพลเมืองดี
กันหมดแล้ว
อยู่ๆ เกิดมีบทบัญญัติมาตรานี้ย้อนกลับไปเอาผิดอีก ก็เท่ากับโดนลงโทษซ้ำสอง
ถ้าคิดว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจ ครม.และ คสช.มีมติร่วมกัน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ โดยทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบใน 15 วัน
จะแก้ไขหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่น่าติดตามดูกัน
..................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย