http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-05

พระสังกัจจายน์.., "ควัมปติ" พระปิดตา..โดยเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

พระสังกัจจายน์ คืนความหล่อ ขอแค่ฉลาด
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 76


ระหว่าง "ความหล่อ" กับ "ความฉลาด" หากให้เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจะเลือกอะไร?

ผู้ชายหลายคนอาจคิดว่า "หล่อเลือกได้" น่าจะเป็นต่อกว่า "ฉลาดแต่ขี้เหร่" เพราะมีตัวอย่างจากคน "ดีแต่หล่อ" พูดเก่งเอาดีใส่ตัว จะทำผิดคิดพลาดอย่างไร แม่ยกซ่าหริ่มสาวชาวกรุงก็ยังหลงติดในรูปและคารม ยอมให้อภัยและสวามิภักดิ์

บางคนตัดสินใจลำบาก แหม! ขอเอาทั้งสองอย่าง หล่อด้วยฉลาดด้วยจะได้ไหม หากใครกำลังครุ่นคิดชึ่งน้ำหนักเรื่องนี้อยู่ ลองดูอุทาหรณ์ของคนรูปหล่อขั้นเทพที่ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเอกทางด้านมีปัญญาสูงในการบรรยายธรรม

กล่าวคือเป็นยอดนักปาฐกที่มีอะไรมากกว่า "ดีแต่พูด"



เข็ดแล้วความหล่อ ขอแค่ความฉลาด

คนรูปหล่อที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ เป็นพระอรหันต์ผู้มีนามว่า "พระสังกัจจายน์" หลายคนคิดว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบจีน และนิยมเรียกท่านว่า พระสังขจาย

อันที่จริงท่านไม่ใช่พระโพธิสัตว์จีน แต่เป็นหนึ่งในพระอรหันตสาวก 108 รูป เกิดที่กรุงอุชเชนีร่วมยุคพุทธกาล มีนามเดิมก่อนบวชว่า "กัญจนมาณพ" แค่ชื่อก็ฟ้องอยู่แล้วว่าเกิดมาเป็นหนุ่มผู้มีผิวพรรณสุกปลั่งเหมือนดั่งทอง

ต่อมาเมื่อบวชมีฉายาว่า "พระมหากัจจายนะ" ก่อนหน้าที่จะมีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ยเช่นนี้ ท่านเคยเป็นบุรุษรูปงามยิ่งนัก

ทั้งๆ ที่ครองร่างเยี่ยงสมณเพศ ปลงผม โกนคิ้ว งดเว้นอาภรณ์หลากสี น่าจะช่วยทำลายสิ่งเย้ายวนใจไปแล้วเปลาะหนึ่ีง แต่ความหล่อเหลานั้นยังบาดตาสาวน้อยสาวใหญ่อย่างแรง เดินไปแห่งหนใด มีแต่คนแอบหลงใหลได้ปลื้ม ซ้ำพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยยังทักผิดทักถูกคิดว่าเป็นพระพุทธเจ้าอีกด้วย เมื่อแลเห็นท่านเดินมาแต่ไกลมักจะพร้อมใจกันยืนต้อนรับ ทำให้ท่านรู้สึกเขินเก้อ อึดอัดใจอยู่ไม่น้อย

หากความหล่อนั้นไม่ทำร้ายใครก็คงไม่ต้องมาเพ่งอสุภกรรมฐาน ดูความเสื่อมไม่จีรังของเล็บ ขน ผม หนัง กระดูกกันให้เสียเวลา

แต่นี่บังเอิญความหล่อกลับกลายเป็นมีดโกนอาบยาพิษที่คอยกรีดใจผู้คน หยิบยื่นบาปให้แก่ผู้มีราคจริตต้องวูบไหวโดยไม่ได้เจตนา

เรื่องของเรื่องก็คือ มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งเห็นว่าท่านมีรูปงาม พลันตะลึงพรึงเพริดนึกอกุศลจิต เกิดความปรารถนาลามก รำพึงในใจว่าอยากได้ภรรยาที่มีลักษณะงามเหมือนท่าน กรรมเห็นทันตา จู่ๆ เขาก็ค่อยๆ กลายร่างเป็นสตรีเพศ ด้วยความอับอายจำต้องหลบหนีหน้าผู้คนไปอยู่เมืองอื่น

ในที่สุด กลับมาสารภาพบาปกราบขอขมาพระมหากัจจายนะ จึงได้กลับเพศเป็นชายดังเดิม ตั้งแต่นั้นมา พระมหากัจจายนะเฝ้าดำริพิษภัยแห่งความงามนั้น ว่าเออหนอมันช่างนำมาซึ่งโทษมหันต์ จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ร่างกายของท่านอ้วนเตี้ยลงพุงตาตี่อัปลักษณ์

ให้มันรู้ไปว่า เมื่อตัดใจประหารรูปโฉมมลายลงแล้วอย่างราบคาบ ยังจะมีชายหญิงหน้าไหนมาแอบกรี๊ดคลั่งไคล้ให้เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญธรรมอีก

อันที่จริงคุณสมบัติโดดเด่นที่ท่านซ่อนไว้ภายใต้ความงามนั้นก็คือ "ปัญญา" ความเฉลียวฉลาด มิใช่ว่าหล่อแต่เพียงภายนอก ปูมหลังของท่านตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพราหมณ์ปุโรหิตรับใช้พระเจ้ากรุงอุชเชนีอยู่นั้น ท่านได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เจนภพจบกระบวนพระเวทครบทุกศาสตร์

จากพื้นความรู้เดิมทางโลกๆ ที่สั่งสมมาหลายเล่มเกวียน ผนวกกับความรู้ทางธรรม และความสามารถพิเศษในการพรรณนาธรรมะที่แม้พระตถาคตจะทรงตรัสเพียงย่นย่อ แต่พระมหากัจจายนะมักจะนำไปอรรถาธิบายขยายความต่อได้อย่างละเอียด แจ่มแจ้ง

จนพระมหากัจจายนะได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าเป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีปัญญาเป็นเลิศทางขยายความแห่งภาษิตให้พิสดาร



จากพระมหากัจจายนะสู่พระปุ๋มผะหญา

ในวัฒนธรรมล้านนา พระมหากัจจายนะมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับคนในท้องถิ่นว่า "พระปุ๋มผะหญา"

"ปุ๋ม" แปลว่าพุงหรือสะดือ คนเหนือมักแซวคนอ้วนลงพุงว่า "ขี้ปุ๋มหลาม" ส่วนคำว่า "ผะหญา" แปลว่าปัญญาหรือภูมิรู้ พระปุ๋มผะหญา จึงแปลว่า พระที่เก็บเอาภูมิปัญญาไว้ในพุงอันใหญ่โต

พระปุ๋มผะหญาองค์สำคัญตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญไชย ใกล้เขตโรงเรียนเมธีวุฒิกร เรามักเห็นภาพช่วงใกล้สอบไล่ เด็กนักเรียนมักแห่กันมาสวดขอพรจาก "พระปุ๋มผะหญา" ให้มีปัญญาเฉียบแหลมทำข้อสอบได้

เมื่อพินิจพิเคราะห์ดูพุทธศิลป์อันเรียบง่ายไม่บ่งบอกความพิเศษของพระปุ๋มผะหญาองค์นี้แล้ว ยากที่ีจะกำหนดอายุได้แน่ชัดว่าสร้างสมัยใด เก่าถึงหริภุญไชยหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ พระสังกัจจายน์องค์นี้ต้องมีอายุเก่าแก่กว่า พ.ศ.2050 อย่างแน่นอน เหตุเพราะตอนที่พระเมืองแก้วกษัตริย์เชียงใหม่เสด็จมานมัสการพระธาตุหริภุญไชย ได้แวะมากราบพระสังกัจจายน์ด้วย ดังที่โคลงนิราศหริภุญไชยบันทึกไว้ว่า

"นาภีสมสอดสร้าง มหากระจาย
ปูอาสน์อิงทะเพิมหลาย ลูกช้อน
เทียนทุงทิพถือถวาย เคนคู่ อวรเอย
พอเท่าทีปเจ้าซ้อน เอกอ้างปณิธาน์"

กวีรจนาว่า "พระมหากระจาย" มีท้องนูนขึ้น มีเครื่องปูลาดสำหรับนั่งและมีหมอนอิงซ้อนกันหลายลูก ดังนั้น จึงเป็นที่แน่ชัดว่า พระสังกัจจายน์ที่นี่ย่อมมีมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ปี

ส่วนพระสังกัจจายน์ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่ลำพูน เหตุเพราะกษัตริย์เชียงใหม่ทุกพระองค์ตั้งใจจะจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างที่วัดพระธาตุหริภุญไชยมี มาประดิษฐานไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงแทน เป็นสัญลักษณ์แห่งการย้ายศูนย์อำนาจทางศาสนาซึ่งลำพูนเคยผูกขาดอยู่นานกว่าพันปี ให้มาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่นั่นเอง

มีพระสังกัจจายน์ดินเผาอีกองค์ที่น่าสนใจ ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ ที่ฐานมีจารึกอักษรมอญโบราณเขียนว่า "เจ้ากูชื่อ สัมภูเถระ" อันเป็นนามของผู้สร้าง องค์นี้มีรูปแบบศิลปะยุคหริภุญไชยอย่างเด่นชัด สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-17

มาถึงคำถามที่ว่า ทำไมชาวหริภุญไชยจึงสร้างพระสังกัจจายน์ ทำขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อเรื่อง "อย่าดูคนที่รูปร่างภายนอกแต่ให้ดูที่กึ๋น" หรือเช่นไร

เชื่อว่าคนเมื่อพันปีก่อนคงไม่ได้คิดเหมือนกับคนยุคหลัง ที่บูชาพระสังขจายในรูปแบบของ "พระโพธิสัตว์แป๊ะยิ้ม" เพื่อขอโชคลาภให้ร่ำให้รวย โดยไม่เน้นสติปัญญา ไม่ต่างอะไรไปจากการที่คนยุคนี้บิดเบือนองค์พระคเณศซึ่งแต่เดิมเป็นเทพแห่งความรู้ให้กลายเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งเช่นกัน

การเรียกพระสังกัจจายน์ว่า "พระปุ๋มผะหญา" ของชาวล้านนานั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นการสะท้อนชื่อเรียกตามความหมายดั้งเดิม คือการเน้นไปที่สมอง ไม่เน้นรูปเน้นทรัพย์

แท้จริงแล้วการสร้างพระสังกัจจายน์ที่เมืองลำพูนมีนัยยะพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะสร้างด้วยความผูกพันอย่างลึกซึ้งที่มีต่อ "พระมหากัจจายนะ" ในฐานะ "พระธาตุทูต" มิใช่ในฐานะเป็นเพียงพระอรหันตสาวกองค์หนึ่งเท่านั้น

ใครที่เคยไปกราบนมัสการองค์พระธาตุหริภุญไชย ย่อมผ่านตาคำบูชาที่ติดป้ายเขียนไว้ว่า "พระธาตุหริภุญไชยนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนธารพระโมลีหรือท้ายทอย และพระองคุลีหรือนิ้วพระธาตุส่วนย่อย ทั้งหมดจำนวน 112 องค์ (ตัวเลขยอดฮิต!) ซึ่งพระกัจจายนะเป็นผู้รวบรวมไว้"

แสดงว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัจจายนะได้ทำหน้าที่รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ ณ พระธาตุหริภุญไชย มิน่าเล่าในลำพูนจึงมีดอยแห่งหนึ่งชื่อ "ม่อนกัจจายนะ"

พระอรหันต์ที่ีปฏิเสธความหล่อขอเพียงความฉลาด จนต้องเปลี่ยนกายสังขารให้อ้วนลงพุงนั้น ใช่มีพระกัจจายนะเพียงองค์เดียว แต่ยังพบในพระควัมปติ หรือ "พระปิดตา" อีกด้วย สัปดาห์หน้าจะชี้ให้เห็นถึง ความเหมือน-ความต่างของ fat monk ทั้งสององค์

ปิดตาทำไม สำรวมอินทรีย์เพื่อรอการเปิดอีกครั้งให้ "ตาสว่าง" หรืออย่างไร โปรดร่วมไขปริศนา...



++



"ควัมปติ" พระปิดตา อวตารมาเพื่อ "ตาสว่าง"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 76


ตามที่สัญญาไว้ในฉบับก่อนว่าสัปดาห์นี้จะเขียนถึง Fat Monk อีกหนึ่งองค์ ที่มีผู้สงสัยกันมากว่า เป็นใครมาจากไหน เป็นองค์เดียวกันกับ "พระสังกัจจายน์" หรือไม่

ข้อสำคัญทำไมต้องปิดตา แล้วเมื่อไหร่จะ "ตาสว่าง" เสียที



Gavampati VS Kaccayana

ประวัติของ "พระควัมปติ" และ "พระมหากัจจายนะ" (สังกัจจายน์) นั้นดูเหมือนจะมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนพัลวันพัลเกกันอยู่มาก แม้ผู้รู้หลายท่านจักลงความเห็นว่า "อาจเป็นองค์เดียวกัน" ก็ตาม แต่เชื่อว่าหลายท่านยังคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อย

ในขณะที่ พระกัจจายนะมีนามเดิมว่า "กัญจนะพราหมณ์" พระควัมปติ ก็มีนามเดิมว่า "พรหมบุตร" คือต่างก็เกิดในตระกูลพราหมณ์

แถมทั้งคู่ยังมีรูปร่างหน้าตางดงามละม้ายพระพุทธองค์เหมือนกันอีก นามของ "ควัมปติ" หรือ "ภควันปติ" นั้นแปลว่า ผู้มีรูปลักษณ์คล้ายพระพุทธเจ้า ไม่ต่างไปจากชื่อ "กัจจายนะ" หรือ "กัญจนะ" ก็หมายถึงหนุ่มผู้มีผิวผ่องดั่งทองทา

ทั้งสองท่านจำต้องแปลงร่างให้อ้วนพุงพลุ้ยเพื่อทำลายขันธ์ 5 ต่างกันตรงที่พระควัมปติไปไหนมาไหนชอบยกมือขึ้นปิดหน้าปิดตา เพื่อไม่ให้ผู้พบเห็นทักผิดว่าเป็นพระพุทธองค์

พระกัจจายนะโดดเด่นในด้านเทศน์เก่ง ส่วนพระควัมปติ ก็มีความสำรวมในด้านอินทรีย์สังวรเป็นเลิศ เหตุเพราะรู้จักปิดปากปิดหูปิดตา พูดเฉพาะในสิ่งที่ควรพูด ฟังเฉพาะในสิ่งที่ควรฟัง และดูเฉพาะในสิ่งที่ควรดู

คำถามที่ตามมาก็คือ หากพระอรหันต์ทั้งสองรูปนี้คือองค์เดียวกัน ไยจึงมีตัวมีตนซ้อนกันถึงสองชื่อ และต่างก็เป็นหนึ่งในพระอรหันต์เอตทัคคะ 80 รูปร่วมสมัยกัน

เรื่องราวของพระอรหันต์ Gavampati และ Kaccayana หาได้มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ภาษาบาลีชั้นต้นไม่ แต่เพิ่งปรากฏในคัมภีร์สันสกฤตชั้นหลัง และจากนั้นจึงได้แพร่หลายไปยังคัมภีร์ภาษาบาลีใน ลาว สยาม กัมพูชา ในช่วงไม่เกิน 400 ปีมานี้เอง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เคยพบรูปเคารพหรือได้ยินเรื่องราวของพระสังกัจจายน์กับพระควัมปติในประเทศอินเดียหรือลังกาเลย เหตุเพราะคติ Fat Monk อวตารไม่ได้สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาสายเถรวาทดั้งเดิม หรือแม้แต่สายมหายานในอินเดียเหนือ

หากแต่ทำขึ้นภายใต้นิกายมูลสรวาสติวาทินในอาณาจักรมอญ



ควัมปติ = คณปติ + ไข่พญานาค?

ตํานานปรัมปราของชาวมอญ-และชาวพยูในพม่าเมื่อราว พ.ศ.1100 กล่าวว่า เทพผู้มีส่วนช่วยพระวิษณุสร้างเมืองมีชื่อว่า "ควัมปติ" ถือกำเนิดมาจากไข่พญานาคสองฟอง ในลักษณะลูกแฝด ฟองหนึ่งเมื่อโตขึ้นได้ครองราชย์และคิดจะประหารแฝดน้อง ทำให้น้องต้องยกมือปิดหน้าปิดตา แต่แล้วแฝดน้องคนนี้นี่เองในอนาคตจะได้มาเกิดใหม่เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5

ควัมปติจึงเป็นเทพของชาวพื้นเมืองเฉพาะในวัฒนธรรมรามัญแห่งแคว้นสุวรรณภูมิ โดยรูปร่างที่อ้วนกลมนั้นหมายถึงไข่ ผสานกับการเลียนแบบพระคเณศ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า "คณปติ" (คณะหมายถึงเหล่าคนแคระร่างอ้วน) ชื่อของ "ควัมปติ" จึงเป็นการจำลองคำว่า "คณปติ" มาใช้ "ควัม" แปลว่า สัณฐานกลมเหมือนไข่ "ปติ" หรือบดีแปลว่าผู้เป็นใหญ่

ภาพลายเส้นที่นำมาลงให้ดูนั้น เป็นควัมปติหรือพระปิดตาที่เก่าที่สุดในโลก พบจากแหล่งโบราณคดีของอาณาจักรมอญในพม่า เห็นร่องรอยของรูปพระคเณศผสมกับพระควัมปติอย่างชัดเจน ต่อมาเศียรช้างหายไปคลี่คลายมาเป็นควัมปติลงยันตร์ที่อุทร

ส่วนเรื่อง "พระเจ้าทั้งห้า" ที่ชาวมอญและล้านนานับถือกันจวบปัจจุบันนั้น มีตำนานอยู่ว่า พระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ในอดีตเคยเกิดเป็นพี่น้องกันแต่มาจากไข่ 5 ฟอง องค์แรกคือพระกกุสันโธเกิดจากแม่ไก่ พระโคนาคมเกิดจากแม่โค พระมหากัสสปะเกิดจากแม่เต่า พระศากยมุนี (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) เกิดจากแม่สิงโต และองค์สุดท้าย พระศรีอาริยเมตไตรยเกิดจากไข่พญานาค

จากความเชื่อของชาวมอญนี้ต่อมาได้แพร่หลายขึ้นไปยังทิเบตและจีนในสายมหายาน จึงนิยมสร้างรูปเคารพของพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยหรือ "บูได" รูปร่างอ้วนกลมอมยิ้ม คนไทยนิยมเรียกว่า "พระสังกระจาย" หมายถึงอนาคตพุทธเจ้า ซึ่งรูปเคารพตามคตินี้พบหลักฐานเก่าสุดที่วัดสระศรี เมืองเก่าสุโขทัย เป็นศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หมิง

จะว่าไปแล้วพระควัมปติของชาวมอญ แท้ก็คือเงาของพระคเณศ ซึ่งชาวพื้นเมืองในอุษาคเนย์นับถือบูชาช้างและนาคมาก่อนการยอมรับในพระพุทธศาสนา



ควัมปติกลายเป็นพระปิดตามหาอุตม์ ?

ควัมปติที่ชาวมอญในพม่าและหริภุญไชยเคยนับถือกันระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 ได้สูญหายไปจากอุษาคเนย์เมื่อมีการเปลี่ยนกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ หลังจากที่ชาวไทยและไตได้ปลดแอกกลุ่มคนพื้นเมืองในตระกูลออสโตรเอเชียติก (ขอม มอญ ละว้า) และตั้งตนเป็นใหญ่แทนที่ ได้หันไปนิยมสร้างรูปพระกัจจายนะแทนที่พระควัมปติ

จากนั้นจึงได้มีการสร้างเรื่องราวขึ้นมารองรับ Fat Monk ทั้งสองรูป ในช่วงที่พุทธศาสนาลัทธิสีหลนิกาย (มเหยงคณ์ หรือป่าแดง) แบ่งบานในสุโขทัย อยุธยา ล้านนา ล้านช้าง และเชียงตุง "ควัมปติ" กึ่งเทพฮินดูกึ่งวีรบุรุษในตำนานลูกนางนาค ได้ถูกขัดเกลาใหม่กลายเป็น "สองพระอรหันตสาวก" ร่างอ้วนผู้มีประวัติความเป็นมาหนึ่งเดียวกันคือเป็นบุตรของพราหมณ์ รูปงามนามเพราะ มีสรีระคล้ายพระตถาคตและสุดท้ายก็อวตารร่างให้อ้วนอัปลักษณ์

ตำนานของชาวมอญหงสาวดีระบุว่า ควัมปติ เป็นผู้ที่รวบรวมพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วทั้ง 32 องค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในเจดีย์เมืองมอญ 32 แห่ง ในขณะที่ตำนานมอญลำพูนก็กล่าวว่าพระกัจจายนะเป็นผู้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ยังพระธาตุหริภุญไชยเช่นเดียวกัน

มาถึงบรรทัดนี้หลายท่านอาจรู้สึกงุนงง ตกลงแล้ว Fat Monk สองรูป เป็นองค์เดียวกันหรือคนละองค์กันแน่ ต่างกันที่ชื่อเรียก "ควัมปติ" ในเมืองมอญ แต่เรียก "กัจจายนะ" ในเมืองไทยหรือเช่นไร

ปริศนาเรื่องนี้คงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไปอย่างหนักหน่วง

แต่ที่แน่ๆ พระกัจจายนะได้รับความนิยมอย่างสูงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ลงมาทั่วอุษาคเนย์ เนื่องจากรูปลักษณ์ของพระกัจจายนะดูน่ารักน่าชัง แม้ปุ้มป๊ะปุ้มปุ้ยแต่ดูไม่น่ากลัวเพราะไม่ลงอาคมของขลัง สามารถสร้างขยายใหญ่เอาไว้บูชาร่วมกับพระพุทธรูปอื่นๆ ได้

ส่วนพระควัมปติ กึ่งไสย-กึ่งพุทธ ได้หายสาบสูญไปจากแผ่นดินมอญพม่านานหลายศตวรรษ แต่แล้วก็หวนกลับมาดังเปรี้ยงปร้างในวงการพระเครื่องรางสยามยุครัตนโกสินทร์อีกครั้ง ในเวอร์ชั่นใหม่ชื่อ "พระปิดตามหาอุตม์" หรือ "พระปิดทวารมหาลาภ"

"มหาอุตม์" คำนี้มีความหมายสองนัย นัยแรกคือสิ่งดีเลิศสูงสุด นัยที่สองคือ "อุด" ปิดให้สนิท หมายถึงพระปิดทวารแห่งการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าปิดพอประมาณก็น่าจะเป็นผลดี แต่ยามนี้บ้านเมืองร้อนร้ายเข้าใกล้กลียุคขึ้นทุกขณะ เชื่อว่าหลายคนคงฝันอยากให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ของบ้านนี้เมืองนี้ หันมาเปิดทวารให้ความจริงได้ประจักษ์

จักได้ "ตาสว่าง" พร้อมๆ กัน ทั้งแผ่นดิน!



.