http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-01

อะไรใต้น้ำ..., ศาสนาผีอีกที โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.


อะไรใต้น้ำ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


ถ้าไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะจัดการกับภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่แตกต่างไปจากนี้หรือไม่?

อาจแตกต่างในรายละเอียด อาจทำได้ "ดี" กว่า หรือ "เลว" กว่าในรายละเอียด อาจวางแผนประชาสัมพันธ์ได้มีประสิทธิภาพกว่านี้ และอาจอื่นๆ อีกมาก แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว ผมออกจะเชื่อว่าไม่ต่างกัน

ความเหมือนนี้น่าประหลาดนะครับ เพราะทั้งมิตรและศัตรูของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างคาดหวังว่า รัฐบาลนี้จะต่างจากรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เคยมีในประเทศนี้มาก่อน เกือบสามเดือนที่ผ่านมา ทุกคนต่างรอคอยว่า เมื่อไรรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอะไรที่ต่างเสียที เพื่อจะได้โจมตีหรือเพื่อจะได้ชื่นชมก็ตาม แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังทำอะไรเหมือนรัฐบาลไทยโดยทั่วไป ทั้งเวลาในตำแหน่งที่สั้นมากเสียจนทุกคนยอมรับว่า "ลายยังไม่ออก" หรือ "แสงสว่างยังไม่ปรากฏ"

แต่อุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นเสียก่อน ทำให้นายกฯต้องยกขบวนลงมาบริหารจัดการเต็มตัว จึงทำให้เห็นความไม่ต่างได้ชัดจากการบริหารจัดการยามวิกฤตนี้เอง

ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในเมืองไทยนั้นมีมาก แต่จะบริหารจัดการอย่างไร ให้ความรู้ประสบการณ์นั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อวางนโยบายสาธารณะ และบริหารนโยบาย รัฐบาลไทยไม่เคยทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ


ตั้งแต่น้ำท่วมพิษณุโลก ความรู้และประสบการณ์ที่มีในเมืองไทยสามารถบอกได้แล้วว่า หน้าน้ำปีนี้จะมีความร้ายแรงแค่ไหน หากจะตั้ง ศปภ. ก็ควรตั้งได้แล้ว ก่อนที่น้ำจะมาถึงนครสวรรค์ด้วยซ้ำ

ความรู้และประสบการณ์ที่มีในเมืองไทย จะสามารถบอกได้ตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังจากนครสวรรค์ น้ำจะกระจายออกเต็มท้องทุ่ง ด้วยปริมาณที่หลากล้นอย่างไร ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนไปแล้วด้วยว่า จะต้องปล่อยอะไร และจะต้องเก็บอะไร และเมื่อตัดสินใจได้ชัดเจนแล้ว ก็รู้ว่าจะทุ่มเทกำลังไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งโดยหลักใหญ่คือสองอย่าง

หนึ่งคือ ทุ่มเทกำลังไปเก็บส่วนที่อยากเก็บ เพราะจำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำเติม ส่วนที่อยากเก็บนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น เช่นเส้นทางคมนาคมและการสื่อสาร เพื่อสะดวกในการอพยพโยกย้าย และส่งความช่วยเหลือ

อย่างที่สองก็คือ ส่วนที่ต้องปล่อยเพราะไม่มีทางจะสู้ได้ ก็ต้องบรรเทาความเสียหายเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นการไม่ขวางน้ำในที่หนึ่ง จนทำให้น้ำท่วมหนักในอีกที่หนึ่ง เป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้คนจำนวนมากจะได้รับความเดือดร้อนสาหัสจากน้ำท่วม คนเหล่านี้ไม่อาจช่วยตัวเองได้

ความช่วยเหลือที่คนไทยทำอย่างแข็งขันเพื่อช่วยผู้ประสบภัย แสดงให้เห็นพลังอันมหาศาลของสังคมไทย ที่จะฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้

แต่พลังนั้นจะมีผลมากขึ้นกว่านี้อย่างเทียบกันไม่ได้ หากมีการจัดองค์กร และผู้ที่จะจัดองค์กรได้ดีที่สุดคือรัฐ เพราะรัฐสามารถจัดได้ตั้งแต่การขนส่งความช่วยเหลือ จัดลำดับความสำคัญได้ว่า บริจาคอะไรก่อนอะไรหลังในท้องที่ใด

แน่นอนว่าข้อมูลและการดำเนินการคงต้องมาจากองค์กรในท้องถิ่น แต่รัฐก็อาจช่วยให้ท้องถิ่นจัดองค์กรเพื่อการบรรเทาทุกข์ได้ง่ายขึ้น เพื่อไม่ให้มีใครตกสำรวจ และยากลำบากมากขึ้น

ยิ่งกว่านี้รัฐเองยังกุมทรัพยากรไว้ในมือจำนวนมาก ฉะนั้นรัฐสามารถทุ่มซื้อหรือจัดหาสิ่งที่สังคมไม่สามารถจัดหาได้อย่างรวดเร็ว เช่นเรือแพ, เครื่องกรองน้ำจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายไปถึงชุมชนหรือครอบครัว, โรงพยาบาลสนามที่กระจายไปกว้างขวาง, ยาที่จำเป็นในสภาพน้ำท่วม, ฯลฯ

ภารกิจอย่างที่สองนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถึงอย่างไรก็จะมีผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเป็นล้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะบริหารจัดการน้ำหลากในครั้งนี้อย่างไร และคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนเล็กๆ ซึ่งไม่ค่อยมีปากเสียง ไม่สามารถย้ายไปไหนได้ นอกจากเข้าศูนย์อพยพ หรืออยู่เฝ้าทรัพย์สินกลางน้ำ

นี่คือเหยื่อระดับบรมมหาเหยื่อของภัยพิบัติทางธรรมชาติเสมอ

ไม่แต่เพียงในยามวิกฤตนี้เท่านั้น เมื่อน้ำลด คนเหล่านี้ก็จะยังตกเป็นเหยื่อต่อไป เช่นสิ้นเนื้อประดาตัวจนต้องเป็นหนี้นอกระบบมหาศาล หมดเงินที่จะส่งลูกไปโรงเรียนต่อ

รัฐสามารถวางแผนที่แน่นอนชัดเจนได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยไม่ต้องรอน้ำลดว่า จะช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ทำข้อตกลงกับ ธ.ก.ส., ธนาคารออมสิน, ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ กันในลักษณะใด จึงจะทำให้คนเหล่านี้พ้นความเดือดร้อนได้เร็วที่สุดทันทีที่น้ำลด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้

เศรษฐกิจนั้นไม่ได้เดินได้เพียงเพราะนิคมอุตสาหกรรมได้รับการกอบกู้เท่านั้น แต่คนเล็กคนน้อยต้องเงยหน้าอ้าปากได้ไปพร้อมๆ กัน

แค่เด็กๆ มีเงินซื้อกล้วยแขกกินสักถุง ก็ทำให้น้ำมันขายได้ดีขึ้น ลูกคนขายกล้วยแขกพอจะซื้อรองเท้าใหม่ได้ ไล่ไปเรื่อยๆ ก็ถึงนิคมอุตสาหกรรมเอง

แต่ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่เคยปกครองประเทศนี้มาก่อน ชะตากรรมของคนเล็กๆ ในภัยพิบัติครั้งใหญ่มักได้รับความเอาใจใส่หลังสุดเสมอ แม้แต่ ศปภ.ก็มาตั้งขึ้นเมื่อน้ำจ่อจะเข้ากรุงเทพฯแล้ว และจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ใครๆ ก็รู้สึกได้ว่าภารกิจหลักของ ศปภ.คือบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อกรุงเทพฯ แน่นอนว่าย่อมปฏิเสธความสำคัญของกรุงเทพฯไม่ได้ แต่กรุงเทพฯเป็นพื้นที่หนึ่งในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำของประเทศเท่านั้น อย่างไรเสียก็ต้องยอมรับผลกระทบระดับหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังที่กล่าวแล้วว่า ความล้มเหลวไม่สามารถบริหารจัดการความรู้และประสบการณ์ของคนในประเทศ เพื่อการเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ก็ตาม ความล้มเหลวที่จะดูแลสวัสดิภาพของคนเล็กคนน้อยก็ตาม ความล้มเหลวที่จะเตรียมการอย่างเป็นระบบเพื่อเผชิญปัญหาก็ตาม ฯลฯ ไม่ได้เป็นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงรัฐบาลเดียว อุทกภัยใน พ.ศ.2528, 2538, 2549 ก็เกิดความล้มเหลวในลักษณะเดียวกันมาแล้ว

แต่ทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์คาดหวังว่า รัฐบาลนี้จะต่างจากรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่คนเล็กคนน้อย ไม่ปล่อยให้เขาเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ไปตามยถากรรม แม้ไม่ได้ปฏิเสธการทุ่มเทความพยายามช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรรของผู้ดีมีทรัพย์ แต่ก็อยากเห็นความพยายามทุ่มเทที่เท่าเทียมกันแก่คนเล็กๆ ด้วย



เหตุใดรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่พยายามต่างจากรัฐบาลอื่น?

ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ก็หนีไม่พ้นอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้

1.โดยเนื้อแท้แล้ว รัฐบาลนี้ก็เหมือนกับรัฐบาลอื่น ในแง่ปูมหลังของตัวบุคคล, มาตรฐาน, เป้าหมาย, อุดมคติ, เครื่องมือ, ฯลฯ เราเองต่างหากที่ไปคิดว่ารัฐบาลนี้ควรต่าง

2.รัฐบาลไม่กล้าต่าง ต้องรอเวลาที่เหมาะสมจึงจะแสดงความต่างได้ หรืออาจไม่อยากต่างตลอดไปเพื่อความอยู่รอด

3.จะทำอะไรให้ต่างได้ ต้องมีฐานมากกว่า "เสื้อแดง" เช่นมีข้าราชการที่พร้อมจะเป็นเครื่องมือให้ทำต่าง มีแรงสนับสนุนจากคนชั้นกลางให้ทำต่าง ฯลฯ แต่รัฐบาลไม่มีอะไรเลยสักอย่าง

4.นโยบายปรองดองของรัฐบาลหมายถึงทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ฝ่าย "อำมาตย์" ยอมรับรัฐบาลชุดนี้


น้ำท่วมอาจทำให้มองไม่เห็นอะไรไปหลายอย่าง แต่ก็ทำให้เห็นว่าจะหวังอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ได้มากน้อยเพียงไร



+ + + +

บทความที่เกี่ยวข้องก่อนหน้าของ อ.นิธิ

ความแตกต่างระหว่างเขื่อนและรถเมล์ฟรี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post_28.html

..ความอ่อนแอของสังคม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/blog-post_31.html

ความนอบน้อมถ่อมตน และ วีรบุรุษตายแล้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/freedom.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

และมีโพสต์ที่แสดงทัศนะขยายความต่อบทความข้างบน " อะไรใต้น้ำ "

www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11272505/P11272505.html
เรียนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใยท่านจึงโทษแต่รัฐบาลล่ะครับ...???

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามการเขียนคอลัมน์ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทาง นสพ.มติชน ทุกวันจันทร์ มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ก็เช่นกัน

อาจารย์นิธิฯ กล่าวราวกับว่าผิดหวังกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ อย่างมาก ซึ่งก็ไม่แปลกที่ท่านจะมีความเห็นดังนั้น เพราะประสิทธิภาพในการถ่ายทอดข้อมูลและทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนของ ศปภ. ต้องยอมรับว่าทำได้ค่อนข้างแย่จริงๆ

แต่อาจารย์ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอด แต่คนที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องเดิมๆซ้ำๆทุกปีๆ นั่นคือ "ข้าราชการประจำ" ต่างหาก ดังนั้น หากอาจารย์นิธิฯ จะกล่าวโทษรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ทำไมอาจารย์ไม่ลองมองย้อนไปดูเหล่าข้าราชการประจำบ้างล่ะ?

เขาเหล่านั้นเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลน้ำในเขื่อน ตลอดจนระบบชลประทานโดยตรง กลับไม่มีการพัฒนา ไม่มีการระแวดระวัง ไม่มีการคิดล่วงหน้า วันๆคิดแต่จะหาเรื่องใช้งบประมาณให้หมดๆ ไปโดยที่ไม่ต้องคืนคลังฯ เพื่อไม่ให้ถูกตัดงบฯ ในปีถัดไปเท่านั้น

คนเหล่านี้สมควรแก่การถูกละเลยที่จะกล่าวโทษแล้วหรือ ทั้งๆที่ข้าราชการประจำ ควรจะมีข้อมูลที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ้าง

แต่นี่อะไร!!.. ห้ามพี่น้องเกษตรกรทำนา โดยอ้างว่ากลัวน้ำจะแล้ง จึงไม่ยอมปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลงสู่ที่นา แต่พอเอาเข้าจริง กลายเป็น

ว่าน้ำฝนมีปริมาณมากเสียจนเขื่อนต่างๆระบายน้ำออกมาไม่ทัน ทำให้เขื่อนแตก เสียหายไปบ้างก็มี และยังเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์

แล้วอย่างนี้ ควรปล่อยข้าราชการประจำที่ "ไร้การพัฒนา"เหล่านั้นไว้ได้อย่างไร? หรือที่จริงแล้วข้าราชการประจำเหล่านั้น"แกล้งไม่รู้" เพื่อหวังผลบางประการ

เรื่องนี้น่าคิดมากกว่าการโยนความผิดให้รัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว
จริงไหมครับอาจารย์ ???

จากคุณ : ห่างไกล
เขียนเมื่อ : 1 พ.ย. 54 00:32:26 A:180.183.114.9 X: [แก้ไข]

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

++

อ่านตอนก่อน ".., ศาสนาผี, .." ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/10/n2phee.html

ศาสนาผีอีกที
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 28


ในปัจจุบัน ทัศนคติของคนไทยที่มีต่อศาสนาผีอาจแบ่งออกได้เป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่า ศาสนาผีมีหลักคำสอนที่ตรงกันข้ามกับศาสนาพุทธ อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่า "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" ที่ไปไกลๆ ในกลุ่มนี้ ก็ผสมกลมกลืนสองศาสนาเข้าหากันสนิท อันเป็นวิธีเดียวกันกับที่คนไทยโบราณทำมาตลอด

ฝ่ายที่เห็นว่าผีกับพุทธไปด้วยกันไม่ได้ คงท้วงว่าจะกลมกลืนกันได้อย่างไร ในเมื่อพุทธสอนให้พึ่งตนเอง แต่ผีสอนให้พึ่งอำนาจเฮี้ยนๆ

ศีลธรรมของพุทธคือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและอื่นๆ อันมีลักษณะสากล แต่ศีลธรรมของผีคือการเซ่นวักตั๊กแตนในบางวัน หรือไม่ให้ลอดราวผ้านุ่งผู้หญิง ฯลฯ อันมีลักษณะเฉพาะตัวบุคคล

ก็ฟังดูมีเหตุผลดีนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่า เมื่อพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้ามา พุทธศาสนาเป็นอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้หรือไม่? หลักธรรมคำสอนอาจมีลักษณะที่สามารถกลมกลืนกับศาสนาผีได้ดีกว่าที่เราตีความในปัจจุบันก็ได้


ในระยะหลังมานี้ มีนักศึกษาพุทธศาสนาในเชิงนิรุกติศาสตร์กับแนววัฒนธรรม ที่พยายามตีความหลักธรรมของพุทธศาสนาไปในทางที่ต่างจากการตีความของฝรั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และเห็นว่าหลักธรรมสำคัญๆ ล้วนมีความหมายในเชิงลี้ลับเป็นรหัสนัยยะ ไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

ความรู้เท่าหางอึ่งของผมไม่สามารถบอกได้ว่า พวกเขาถูกหรือผิด แต่จะเอามาเล่าให้ฟังสักสองสามเรื่อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาที่เรารู้จักในทุกวันนี้กับพุทธศาสนาเมื่อครั้งอยุธยา อาจไม่ได้เหมือนกันเป๊ะก็ได้นะครับ

เช่น เรื่องอานาปานสติ หรือการทำสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก เขาศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ต่างๆ รวมทั้งเปรียบเทียบหลักการทำสมาธิของพวกโยคะแล้ว เขาเสนอว่าอัสสาสะคือลมหายใจเข้านั้นใช่ แต่ปัสสาสะอาจไม่ใช่ลมหายใจออก (ทางจมูก... ครับหมายถึงตด)

ในความเชื่อของฝ่ายโยคะ (ซึ่งเขาเห็นว่าก็ไม่ต่างจากความเชื่อของพุทธในระยะนั้น) ในร่างกายของเรานั้นมีลมเดินข้างในอยู่แล้ว ลมจากข้างนอกที่เราหายใจเข้าไปจะมาปะทะกับลมข้างในแถวตรงกลางตัว อานาปานสติคือการกำหนดจิตให้เดินตามลมไปสู่จุดที่ปะทะกันตรงกลางตัว และกำหนดให้จิตแน่นิ่งอยู่ตรงจุดนั้น

อย่างที่บอกแล้วนะครับ จริงเท็จอย่างไรผมไม่ทราบ แต่น่าสังเกตว่ากลางตัวหรือสะดือกับเหนือสะดือ ก็เป็นจุดรวมศูนย์ของสมาธิในสำนักอานาปานสติหลายสำนักในเมืองไทย รวมทั้งยุบหนอพองหนอ และธรรมกายซึ่งจะมาปรากฏในบริเวณนั้นด้วย

ปฏิจจสมุปบาทในทุกวันนี้ หมายถึงสภาวะจิตที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วจากอวิชชาไปถึงอุปาทาน แล้วก็มาลงเอยที่ ทุกข์ โศก ปริเทวะ

ฉะนั้น การเกิดในโซ่ 12 ห่วงนี้ จึงไม่ใช่การเกิดกาย แต่เกิด "ความเป็น" ชนิดต่างๆ ในจิตของเราเอง หมุนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบสิ้น จนกว่าจะสามารถรู้เท่าทันและคุมมันได้

แต่นักศึกษากลุ่มที่ผมกล่าวนี้ วิเคราะห์คัมภีร์หลายต่อหลายฉบับแล้วสรุปว่า ปฏิจจสมุปบาทคือการบรรยายถึงการเกิดทางกายของมนุษย์ในครรภ์มารดานี่แหละ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจิตใจเลย

การกำเนิด (ทางกายนี่แหละครับ) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ อันเป็นเหตุกำหนดสถานะของบุคคลไปจนถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเขา ฉะนั้น การเกิดใหม่จึงเท่ากับการชำระล้างความผิดที่ได้ทำมาในอดีต แล้วตั้งต้นกันใหม่อีกทีหนึ่ง

นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งซี่งสนใจศึกษาพุทธศาสนาของชาวบ้านในกัมพูชาและบางส่วนของไทย อธิบายว่า ประเพณีการ "อยู่กรรม" ของพระภิกษุนั้น ที่จริงแล้ว คือพิธีกรรมในการเกิดใหม่นั่นเอง

ตูบซึ่งพระที่ต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต้องเข้าไปอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง มักนิยมสร้างให้แคบจนขยับตัวได้ยาก มีทรงยาวป่องตรงกลางเหมือนกรวย เข้าออกด้านปลาย

เขาอธิบายว่านี่คือสัญลักษณ์ของมดลูก วันที่พระภิกษุจะออกจาก "อยู่กรรม" เป็นวันฉลองของหมู่บ้าน ชาวบ้านจัดข้าวปลาอาหารไปต้อนรับกันมาก คือการฉลองการเกิดใหม่ของพระภิกษุที่จะค่อยๆ มุดออกมาจากตูบมดลูกนั่นเอง



สมมตินะครับ (เพราะผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูกอย่างไร) ว่าพุทธศาสนาที่เข้ามาเมืองไทยในระยะแรกนั้น มีลักษณะที่เต็มไปด้วยความลี้ลับและพิธีกรรมอย่างนี้ ก็หาได้ขัดแย้งแต่อย่างไรกับศาสนาผีที่ผู้คนนับถืออยู่ ซ้ำยังช่วยสร้างความมั่งคั่งด้านพิธีกรรมและนัยะที่ลี้ลับของความเชื่อในศาสนาผีอีกด้วย

คนไทยเลยรับพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาผี และทำให้ศาสนาผีของไทยมีสีเหลืองเปล่งปลั่ง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ยังนับถือผีอยู่เหมือนเดิม

หากย้อนกลับไปอ่านประวัติของพระอาจารย์ดังๆ ในสายวัดป่าธรรมยุติ (ศิษยานุศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) เพียงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ศาสนาผีในหมู่คนไทยก็ยังแข็งแกร่ง และในหลายกรณีก็ลุกขึ้นมาเผชิญกับพระพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้วอย่างซึ่งๆ หน้า ถึงแม้ในที่สุดย่อมพ่ายแพ้แก่พุทธานุภาพก็ตาม (เพราะเป็นเรื่องเล่าของฝ่ายพุทธ)

ผมจึงได้พูดในตอนที่แล้วว่า ที่ท่านแต่ก่อนบอกว่าศาสนาของไทยนั้นเป็นพุทธ - พราหมณ์ - ผี ผมคิดว่าเรียงผิด น่าจะเป็นผี - พราหมณ์ - พุทธมากกว่า หมายความว่าฐานรากที่แข็งแกร่งคือศาสนาผี แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์และพุทธเข้ามาประดับศาสนาผีให้ดูโก้ขึ้นเท่านั้น


ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ในเมืองไทยเคยมีนักปราชญ์ทางพุทธศาสนามากมาย ทั้งในนครศรีธรรมราช, ล้านนา, อยุธยา, รัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นที่นับถือของผู้คนอย่างกว้างขวาง บางรูปก็ได้เขียนตำราในภาษาบาลีบ้าง ไทยบ้าง เอาไว้ด้วย แต่ผมออกจะสงสัยว่า คนประเภทนี้มีน้อย และคงเป็นชนชั้นสูงหรืออยู่ในแวดวงของชนชั้นสูง

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงมีอำนาจทางการเมืองหนุนหลัง และคงเป็นเหตุให้ศาสนาผีเปิดพื้นที่ให้แก่พุทธศาสนามากขึ้น วัดเป็นที่ซึ่งผีไม่กล้าเข้าไปรบกวน จะมีผีอยู่ในวัดได้ก็ต้องเป็นผีที่สามิภักดิ์ต่อพุทธแล้วเท่านั้น เช่น "เสื้อวัด" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปกปักรักษาวัด

แต่ฐานคิดในเรื่องศาสนาก็ยังคงเดิม ความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธเจดีย์ต่างๆ ยังเป็นที่เข้าใจตามเงื่อนไขของศาสนาผี หลวงพ่อที่เป็นพระพุทธรูปต่างๆ ยังเป็นที่นับถือ ไม่ใช่ในฐานะ "เจดีย์" ของพุทธศาสนา แต่เป็นที่สิงสถิตของผีที่มีอานุภาพยิ่งใหญ่

พระสถูปซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุของพระอรหันต์นั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก มีงานฉลองประจำปีซึ่งดึงเอาผู้คนในท้องถิ่นและเครือข่ายทั้งหมดมาร่วมกันบูชา กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีความจำเป็นในชีวิตของผู้คน ซึ่งก็เท่ากับว่าศาสนาผีได้ขยายหน้าที่ทางสังคมของตนออกไปให้กว้างขวางในนามของพุทธนั่นเอง

ประเพณีที่ปฏิบัติต่อพุทธเจดีย์เหล่านี้ ไม่อาจอธิบายได้ด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา แต่เข้าใจได้ง่ายๆ จากศาสนาผี รวมทั้งการไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบนระเบียงรอบองค์เจดีย์ด้วย

(มีผู้ศึกษาเพศสถานะและเพศสภาพของผู้หญิงในพุทธศาสนามามาก แต่ผมยังไม่เคยเห็นใครศึกษาเรื่องนี้ในศาสนาผีบ้างเลย ผมออกจะเชื่อว่าหากศึกษาในศาสนาผี อาจได้คำอธิบายสถานะและบทบาทของผู้หญิงที่ง่ายกว่าและชัดกว่า)



เหมือนศาสนาทุกศาสนาในโลก ศาสนาผีก็มีพัฒนาการแปรเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมเหมือนกัน ซ้ำยังอาจซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าศาสนาที่มีคัมภีร์เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ เพราะศาสนาผีต้องแอบหลบอยู่ในเงาของศาสนาอื่น

เป็นต้นว่า เพื่อให้ศาสนาผีดำรงอยู่ได้ในเงื่อนไขของรัฐชาติปัจจุบัน มีการลำดับสถานะของผีในเมืองไทยให้มาอยู่ในโครงสร้างแห่งช่วงชั้นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เจ้าพ่อท้องถิ่นขึ้นอยู่กับเจ้าพ่อที่ใหญ่กว่านั้นซึ่งเป็นที่นับถือกันในภูมิภาค แต่ทั้งหมดก็ต้องมาประชุมรายงานแก่เจ้าพ่อศาลหลักเมืองในกรุงเทพฯ เป็นต้น

พุทธศาสนาซึ่งได้รับการเชิดชูให้สูงเด่นในรัฐไทยปัจจุบัน บดบังพื้นที่ซึ่งศาสนาผีจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างจะจะได้ ก็จำเป็นต้องหลบซ่อนตัวเองในพุทธศาสนาให้แนบเนียนขึ้นไปอีก ที่เรียกกันว่า "พุทธพาณิชย์" นั้น ที่จริงคือศาสนาผีที่ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนเหมือนเดิมนั่นเอง เพียงแต่ไม่อาจประกาศมาโต้งๆ ได้ว่าเป็นศาสนาผี จึงปรากฏตัวในรูปของเครื่องรางของขลังที่อยู่ในรูปของพุทธ หรือมากับเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นภิกษุในพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การครอบงำของสัญลักษณ์พุทธเริ่มคลายลง ฉะนั้น ศาสนาผีจึงเริ่มปรากฏในสัญลักษณ์ของศาสนาอื่นๆ บ้าง เช่น เทพเจ้าฮินดู, เซียนของจีน, หรือพระโพธิสัตว์ในนิกายมหายาน เป็นต้น

โดยสรุปก็คือ หากเราไม่เริ่มที่สมมติฐานว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนา แต่เริ่มที่สมมติฐานว่าคนไทยนับถือผี บางทีเราอาจเข้าใจปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกิดในเมืองไทยได้ดีกว่าก็ได้



.