http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-19

อคติ..สาวเหนือไม่ใช่สาวเครือฟ้า, จาก"พระเจ้าน้ำท่วม"ถึง.. โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.


อคติ...สาวเหนือ เราไม่ใช่สาวเครือฟ้า
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 76


ผ่านมากว่าสามสัปดาห์แล้ว สังคมล้านนายังคงวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบไม่สิ้นถึงตะกอนน้ำลาย กรณีที่ เอกยุทธ อัญชันบุตร พูดจาหมิ่นหยามศักดิ์ศรีของ "สาวเหนือ"

โดยตีวัวกระทบคราดไปถึงนายกรัฐมนตรีหญิงที่เป็นสาวสันกำแพง ว่ามีค่าควรเพียงแค่ "สาวขายบริการทางเพศ" (ปัจจุบันเราเรียกอาชีพนี้ว่า "พนักงานบริการ" ถือว่าเป็นงานเลี้ยงชีพที่มีเกียรติเหมือนกันกับทุกๆ อาชีพ)

อันที่จริง คอลัมน์นี้ไม่อยากเสียเนื้อที่ให้กับตรรกะวิบัติของเหล่า "สลิ่ม แมงสาป" (ไม่ใช่ซ่าหริ่ม ...ไม่ใช่แมลงสาบ) เท่าใดนัก

แต่ได้รับปากกับเพื่อนๆ เครือสหาย ในเฟชบุ๊กไว้แล้ว ที่อยากฟังมุมมองของ "สะใภ้เมืองเหนือ" ที่แม้จะเกิด-โตในกรุงเทพฯ ซ้ำยังมีสายเลือดปักษ์ใต้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตามที



สาวเหนือไม่ใช่สาวเครือฟ้า

ภาพลักษณ์ของสาวเหนือที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งมอมเมาให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักนั้น คือภาพของ "สาวเครือฟ้า" หรือภาพสะท้อนของสาวสวย โง่ ซื่อ อ่อนแอ ไม่ทันโลก ถูกหลอก ง่ายต่อการล่อลวงทางเพศ แม้นฉากจบจะดูโรแมนติกในลักษณะของหญิงสาวที่ "บูชาความรักเป็นสรณะ" ก็ตาม

ก่อนจะตัดสินและใส่สมการว่าสาวเหนือคือสาวเครือฟ้านั้น สังคมไทยควรมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันสักเล็กน้อยว่า แท้จริงแล้วสาวเครือฟ้าไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องจริงในเมืองเหนือ

มันเป็นเพียงนิยายสิบตังค์ประโลมโลกย์ ที่อำมาตย์สยามได้จินตนาการขึ้นตามแรงปรารถนาทางเพศของพวกเขา แล้วยัดเยียดมายาภาพนั้นให้แก่สาวเหนือ


เรื่องราวของสาวเครือฟ้าถูกปั้นให้มีตัวมีตนโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ยุคหนังไทย 16 ม.ม. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 โดยนำบทประพันธ์ละครร้องของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) ผู้ใช้นามแฝงว่า ประเสริฐอักษร มาทำเป็นภาพยนตร์

กรมพระนราธิปฯ นั้นเล่า ก็ทรงดัดแปลงเค้าโครงหรือ Theme เรื่องมาจากอุปรากรชื่อก้องโลก "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" ของ จาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของ จอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง

เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายนั้น มีท้องเรื่องอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นเชียงใหม่

บทนางเอกสาว โจโจ้ซัง ก็กลายเป็น สาวเครือฟ้า ช่างฟ้อนผู้หวานหยาดเยิ้มและไม่ประสีประสาต่อความรักเสียนี่กระไร

ในขณะที่พระเอกเดิมเป็นนายเรือเอกพิงเคอร์ตันชาวอเมริกัน กลายเป็นร้อยตรีพร้อม หนุ่มปากหวานผู้ถูกจับคลุมถุงชนให้มีภรรยาชาวกรุงใหม่อีกคนชื่อจำปา

เห็นหรือยังว่า "สาวเครือฟ้า" นั้น ได้รับการอิมพอร์ตกันมามิรู้กี่ทอดต่อกี่ทอด กว่าจะถูกจับมานั่งกางจ้องนุ่งซิ่นที่เมืองเชียงใหม่

ชะตาชีวิตของสาวเครือฟ้าไม่เพียงแต่ส่งตรงมาจากขุนนางสยามภาคกลางเท่านั้น ทว่าจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิสนธิยังรับเอาแนวคิดของตะวันตกผสมญี่ปุ่นมาเต็มๆ อีกด้วย


หากมองในแง่วิชาการถือว่า "สาวเครือฟ้า" เป็นวรรณกรรมที่น่าจับตามองในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่นักประพันธ์แถวหน้าของสยามกล้าดัดแปลงเค้าโครงเรื่องจากตะวันตกมาสู่บทละครไทย นักเขียนชั้นครูกลุ่มสุภาพบุรุษในยุคต่อมาหลายคน เช่นศรีบูรพา เขียนเรื่อง ข้างหลังภาพ หรือเรียมเอง แต่เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ต่างก็รับอิทธิพลมาจากกรมพระนราธิปฯ ทั้งสิ้น

กล่าวคือ นักเขียนไฟแรงยุคนั้นได้หันหลังให้กับพล็อตเรื่องแนวอีเรียม-ไอ้ขวัญ ตามอย่าง ไม้ เมืองเดิม ด้วยการเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ให้นางเอกมีความขัดแย้งทางความรักในลักษณะหญิงสองใจ ที่จำทนแต่งงานกับชายแก่สูงศักดิ์ แต่แล้วก็ลงเอยด้วยการพบรักใหม่กับ Bad Boy ชายพเนจร เถื่อน ทราม แต่เร้าใจ

ทั้ง ข้างหลังภาพ และ ชั่วฟ้าดินสลาย ต่างก็มีกลิ่นอายละม้ายพล็อตเรื่อง Out of Africa ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

สาวเครือฟ้า ได้กลายเป็น "บรรทัดฐาน" ของหนังไทยยุคต่อมา เหมือนตาบอดข้างเดียวจูงฝูงคนตาบอด หรือตั้งนะโมฯ ผิดแต่ตอนเริ่มสวด กลายเป็นยิ่งตอกย้ำค่านิยมให้คนทั่วไปมองเห็นภาพลักษณ์ของสาวเหนือที่บิดเบือน

ตามติดด้วยเรื่อง วังบัวบาน แม่อายสะอื้น ที่เน้นโศกนาฏกรรมของสาวเหนือในเชิงถูกทารุณกรรมทางเพศ ถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี พ่ายแพ้ ถูกทอดทิ้ง แล้วลงท้ายด้วยการสังเวยชีวิต หากไม่กระโดดหน้าผา ก็ต้องเอามีดจ้วงที่ท้อง คือพยายามเลียนแบบโจโจ้ซังซึ่งวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเขามีการใช้มีดคว้านท้องแบบฮาราคีรี

มุมหนึ่งดูคล้ายจะยกย่องว่าสาวเหนือช่างน่าสรรเสริญเสียล้นท้น ช่างรักเดียวใจเดียว มีหัวใจเด็ดเดี่ยว

แต่อีกมุมหนึ่งนั้น ภาพของสาวเหนือได้ถูกประทับตราบาปให้กลายเป็น "เครื่องเล่นทางเพศ" ปรนเปรอบุรุษอย่างเปรมปรีดิ์

เมื่อพูดถึงคำว่า "สาวเหนือ" ไม่ว่าจะปิดตาหรือเปิดตาก็จะมีคนเห็นแต่ภาพ ผู้หญิงโง่ ใจง่าย ไม่รักนวลสงวนตัว ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า สวยแต่รูปจูบไม่หอม ไร้การศึกษา ดอกไม้ริมทาง ดับกระหายคลายหื่นให้ชายหนุ่ม ครั้นเบื่อแล้วจะขยี้ทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้



สาวสันกำแพง สาวบ่อสร้าง
...สาวเหนือในชีวิตจริงไม่อิงนิยาย

สรุปแล้ว สาวเครือฟ้า ไม่มีมูลความจริง ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่แท้จริงของสาวเหนือ หากแต่เป็นประดิษฐกรรมตามจินตนาการของกลุ่มอำมาตย์สยาม

แต่ให้บังเอิญที่สาวเครือฟ้าถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายเวอร์ชั่น ภาพโรแมนติก อ่อนหวาน เย้ายวน ยิ้มแย้ม แม่ญิงกางจ้องพูดจาเจ้าเจ้า ได้กลายเป็นภาพชวนฝันให้ชายหนุ่มต้องเดินทางขึ้นมาเมืองเหนือเพื่อตามหาสาวเครือฟ้า อันเป็นแม่แบบให้แก่ แว่วเสียงซึง สาวสันกำแพง สาวบ่อสร้าง สาวป่าซาง ไปจนถึง มะเมียะ มิดะ เมื่อดอกรักบาน รอยไหม ฯลฯ

หากภาพของสาวเครือฟ้าคือภาพลวงตาที่เป็นโมฆะ ถ้าเช่นนั้นจิตวิญญาณของสาวเหนือแท้ๆ ควรเป็นเช่นไร?

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม สิ่งที่ดิฉันมองเห็นสาวเหนือชัดเต็มสองดวงตาที่สว่าง ภาพที่เห็นมีอยู่สองด้าน ด้านแรก ในฐานะของผู้นำทางจิตวิญญาณ และอีกด้าน คือในฐานะผู้แบกรับทุกภาระปัญหาในครอบครัว

ผู้หญิงล้านนาทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้จริงหรือ

คำตอบนี้ขอให้ดูจากบทบาทว่าใครเป็นผู้ทำหน้าที่บวงสรวงเซ่นสังเวยเครื่องบูชาให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษ ไฉนหน้าที่นี้จึงตกอยู่บนหน้าตักแม่ญิง ผู้หญิงต้องเป็นร่างทรงติดต่อสื่อสารกับผีของแต่ละตระกูลที่คอยปกปักดูแลลูกหลาน

ข้อสำคัญ สังคมบุรพกาลล้านนายังกำหนดให้ชายต้องนับถือ "ผี" ของฝ่ายหญิง เมื่อชายหนุ่มไปสู่ขอหญิงสาวเป็นภรรยา ต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิง มิใช่พาผู้หญิงเข้าบ้าน นอกจากจะต้องมาช่วยเป็นแรงงานให้ญาติฝ่ายหญิงแล้ว ยังต้องละทิ้ง "ผี" ที่ตนเคยนับถือ แล้วเปลี่ยนมานับถือ "ผี" ในสายตระกูลของฝ่ายหญิงอีกด้วย

นี่คือความสำคัญ อำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ของสตรีเพศ ที่ยังคงยึดครองพื้นที่นี้สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น


ส่วนการที่กล่าวว่าผู้หญิงทำหน้าที่แบกรับภาระอันหนักอึ้งของครอบครัวแทบทุกด้านนั้น ผู้ชายเมืองเหนือย่อมรู้กันดีว่านี่ไม่ใช่คำพูดลอยๆ หากคือเรื่องจริง คงยากที่จะให้คนที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตประจำวันจริงๆ ของสาวเหนือเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะพวกเขาถูกล้างสมองไว้หลายทศวรรษแล้วด้วยภาพของสาวเครือฟ้า ที่วันๆ เอาแต่แต่งตัวเฉิดฉาย กรีดกราย นั่งรอผู้ชายมาเล้าโลม

ภาพชีวิตของสาวเหนือที่รู้ๆ กันอยู่ ก็คือภาพของคนทำงานหนัก ตื่นแต่เช้า ขยันขันแข็ง ทำครัวหุงข้าว เก็บผักตักน้ำ ทำไร่ ไถนา ยามว่างจากฤดูเก็บเกี่ยว ก็นั่งสานตะกร้า กระจาด กระบุง ทอผ้าฝ้าย เย็บปักถักร้อย ซ้ำยังเอาพืชผลทางการเกษตรหรือหอบหิ้วเสื้อผ้าไปขายที่ตลาดตั้งแต่เช้ามืดอีกด้วย เรียกได้ว่าวันทั้งวันแม่ญิงล้านนาง่วนงุดๆ เหนื่อยเหน็ดจนสายตัวแทบขาด กว่าจะปิดเปลือกตาได้พักได้ผ่อนเต็มที่ก็ต่อเมื่อหัวถึงหมอนเท่านั้น

สิ่งเดียวที่สร้าง "ปมด้อย" ให้แก่ผู้หญิงล้านนารวมทั้งผู้หญิงชาวอุษาคเนย์หลายชาติก็คือ การที่ตั้งแต่เปลี่ยนจากศาสนาผีไปเป็นพราหมณ์ - พุทธ ผู้หญิงมักถูกกีดกันออกจากการศาสนา

ไม่ว่าจะเป็นคำอ้างที่ว่า "ผู้หญิงบวชเรียนไม่ได้" เมื่อไม่ได้เรียนก็ไม่รู้หนังสือ เมื่อไม่รู้หนังสือก็หาว่างี่เง่า เมื่องี่เง่าก็ต้องทำงานหนักตัวเป็นเกลียวยิ่งกว่าผู้ชาย

ภารกิจของผู้ชายมีหลักๆ เพียงแค่ออกไปจับสัตว์มาให้ผู้หญิงทำเป็นอาหาร ผู้ชายจึงมีเวลาว่างมากพอที่ไปชนไก่ เลนไพ่ กัดปลา โดยเฉพาะสิ่งที่สร้างคุณค่าให้แก่เพศชายเหนือเพศหญิง ก็คือการบวชเรียน อยู่ในวัดยามว่างงานก็กลายเป็นช่าง (สล่า) แกะไม้ ปั้นปูน ตัดตุงตัดโคม ทำงานศิลปหัตถกรรมอย่างสนุกสนานและฝันเฟื่อง ซ้ำยังได้ผลงานในเชิงช่างไว้แก่แผ่นดิน

ในขณะที่ีแม่ญิงต้องแบกรับภาระหน้าที่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเยี่ยงงัวงาน ตั้งแต่ภาระก้นครัว และภาระหาเงินเลี้ยงลูกเต้า ไม่เคยมีผลงานประทับตราไว้ในวัด นอกจากงานปั้น-สร้างชีวิตคน

นี่คือภาพชีวิตจริงของสาวเหนือจากอดีตจวบปัจจุบัน ไม่ว่าชนเผ่าชาติพันธุ์ใด



พอทีเถอะเมื่อฟังเพลง "แม่สาย" ของ เทียรี่ เมฆวัฒนา หรือเพลงของ "ปู" พงษสิทธิ์ แล้วก็เกิดอาการฝันหวานว่าจะได้เป็นพ่อพระผู้ชี้ทางสว่างให้แก่สาวบริสุทธิ์ผู้หลงผิด

หรือดูหนัง "สาวเครือฟ้า" ตั้งแต่ยุคมิตร - พิศมัย เมื่อ 40-50 ปีก่อน แล้วก็มานั่งเพ้อพร่ำรำพันอยากเป็นร้อยตรีพร้อม ด้วยความหวังที่จะได้พบสาวเหนือใจง่าย กรีดกราย นั่งเขียนคิ้วทาปากล่อเหยื่อ

ต่อคำถามที่ว่า จริงหรือที่สาวเหนือชอบทำงานง่ายๆ งานเบาๆ สบาย ด้วยการขายบริการตามซ่องโสเภณีตามที่ พวก "สลิ่มแมงสาป" กล่าวบริภาษเหวี่ยงแห ว่าเป็น "ธรรมชาติ" หรือ "สัญชาติ" ของสาวเหนือโดยทั่วไปนั้น หวังว่าบทความชิ้นนี้จะช่วยคลี่ม่านบังตาอันริบหรี่ให้ออกเบิ่งมองความเป็นจริงขึ้นมาบ้าง

สำหรับสาวสันกำแพงอย่าง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ใครจะว่าเธออย่างไรก็ช่าง คนบ้านนอกเสียงส่วนใหญ่ต่างมองเห็นถึงความแน่นหนักในจิตใจของเธอ สตรีที่ไม่เคยอุทธรณ์ร้องขอ ไม่ปัดป้องความผิดให้พ้นตัว เอาความชั่วป้ายคนอื่น เธอพูดไม่เก่ง สำเนียงไม่ลื่นไหลเหมือนคนกรุงที่ดีแต่พูดบนโพเดียมคนนั้น แม้เธอจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ดั่งใจพลพรรคเทวดานักก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ เธอได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับการเป็นนักการเมืองไทย นั่นคือไม่เคยเล่นลิ้นน้ำลายตอบโต้คนที่ด่าประณามเธออย่างกักขฬะแม้แต่วลีเดียว

อาวุธของเธอคือเอกลักษณ์ของสาวเหนือ นิ่งสุขุม สงบเงียบ อดทน ไร้เล่ห์มารยา ก้มหน้าก้มตาทำงาน บนกระแสความขัดแย้ง ปัดแข้งปัดขา ทั้งยังมีมือที่มองไม่เห็นคอยขยุ้มขย้ำ ข่มขู่ คอยตลบหลังอยู่ตลอดเวลา

แต่แม่ญิงล้านนาคนนี้จะเป็นผู้ประกาศให้คนไทยทุกภาคให้เห็นว่า สาวเหนือมิใช่สาวเครือฟ้า ที่ไดโนอำมาตย์พยายามสร้างและครอบงำด้วยอคติลวงตาเอาไว้!



++

จาก "พระเจ้าน้ำท่วม" ถึงสายน้ำเชี่ยวกรากยุค "นารีขี่ม้าขาว"
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630 หน้า 76


มีด้วยหรือกษัตริย์ถิ่นแดนแคว้นใดที่อุตริมีชื่อว่า "พระเจ้าน้ำท่วม" นอกเหนือไปจากตำนานปรัมปราเรื่องพระแก้วมรกตที่เรียกขาน พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งกรุงอินทปัตถ์ กษัตริย์ขอมผู้ไม่ทรงทศพิธราชธรรมว่า "พระเจ้าน้ำท่วม" เป็นเหตุให้ต้องมีการย้ายพระแก้วมรกตไปอยู่กรุงอโยธยาแล้ว

เชื่อว่านอกเหนือจากนิทานเรื่องนี้คนทั่วไปก็แทบไม่เคยได้ยินได้ฟังว่ามีพระเจ้าน้ำท่วมที่ไหนอีกเลย



ท้าวน้ำถ้วมแห่งล้านนา กษัตริยาผู้เป็นกบฏ

"พระเจ้าน้ำท่วม" องค์แรกที่จะกล่าวถึงนี้ มีชื่อในภาษาล้านนาว่า "ท้าวน้ำถ้วม" มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของพระญามังราย กล่าวคือเป็นโอรสองค์ที่สองของพระญาไชยสงคราม (ขุนคราม)

อย่าสับสนเข้าใจผิดตามข้อความที่โพสต์ลอกต่อๆ กันให้ว่อนเน็ต โดยอ้างพงศาวดารเชียงตุงที่ระบุถึงปี พ.ศ.1786 (โห! ปีศักราชนี้ในความเป็นจริงพระญามังรายเพิ่งกำลังหัดเดินเตาะแตะ) ว่าพระญามังรายได้ส่ง "ราชบุตร" องค์หนึ่งชื่อเจ้าฟ้าน้ำท่วมให้มาครองเมืองเชียงตุง ขอย้ำอีกครั้งว่าท้าวน้ำถ้วมเป็นหลานปู่ไม่ใช่ลูก!

ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในเรื่อง "กู่ยิง" ว่าพระญามังรายมีโอรสเพียงสามองค์ ได้แก่ ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ ขุนเครื่องถูกพ่อสั่งยิง ขุนครามได้เป็นกษัตริย์ ขุนเครือกลายเป็นกบฏ โทษฐานลอบเป็นชู้กับชายาของพี่ชาย!

ฝ่ายขุนครามเองก็มีโอรสอีกสามองค์ องค์โตชื่อท้าวแสนภู เหตุเพราะเกิดบนภูเขา องค์กลางชื่อ "ท้าวน้ำถ้วม" เชื่อกันว่าเกิดตอนน้ำท่วมครั้งใหญ่ องค์สุดท้องชื่อท้าวน้ำน่าน จากนามน่าจะบ่งชี้ว่าเกิดที่แม่น้ำสายนั้น

ขุนครามขึ้นนั่งเมืองที่เชียงราย แล้วยกเชียงใหม่ให้โอรสองค์โตคือท้าวแสนภู แต่แล้วอนุชาของพระองค์คือขุนเครือ เมื่อรู้ว่าขุนครามประชวรใกล้สิ้นพระชนม์ รีบยกทัพจากเมืองนาย (ในรัฐไทใหญ่) มาล้อมเชียงใหม่ ทำนองชิมลางหมายจะตีท้ายครัว ด้วยลึกๆ แล้วมีใจปฏิพัทธ์รักใคร่ในพระมหาเทวีพี่สะใภ้นั้่นอย่างล้ำลึก

ท้าวแสนภูเกรงใจอาไม่อยากเสียเลือดเสียเนื้อจึงรีบเดินทางไปแจ้งแก่พระราชบิดาที่เชียงราย ขุนครามสั่งให้โอรสองค์รองคือท้าวน้ำถ้วม ขณะนั้นครองเมืองฝาง ยกทัพมาปราบขุนเครือ

ท้าวน้ำถ้วมสามารถจับส่งตัวกบฏอามาให้เสด็จพ่อ เมื่อทำคะแนนเข้าตากรรมการข้ามหัวพี่ชายเช่นนี้ พระราชบิดาจึงปูนบำเหน็จยกให้นั่งเมืองเชียงใหม่แทน ส่วนท้าวแสนภูนั้นย้ายมาเป็นอุปราชที่เชียงราย


แต่แล้วด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ผ่านไปเพียงแค่สองปี (เฉพาะชินกาลมาลีปกรณ์ที่ระบุต่างไปจากเล่มอื่นว่า 7 เดือน) เป็นไปได้ว่าท้าวน้ำถ้วมอาจแสดงอาการอะไรที่ส่อถึงความล้ำเส้นจนไม่น่าไว้วางใจ พงศาวดารบอกแต่เพียงว่า "พระญาไชยสงครามเกิดระแวงว่าท้าวน้ำถ้วมอาจมีใจคิดคดก่อการกบฏในภายหน้า จึงสั่งให้ท้าวน้ำน่านพระอนุชา จับท้าวน้ำถ้วมควบคุมตัวส่งไปรั้งเมืองเชียงตุง หรือเขมรัฐตุงคบุรีนั้นเสีย"

ขุนครามเคยใช้มือลูกคนรองจัดการน้องชายตัวเองด้วยข้อหากบฏ ในที่สุดก็ต้องใช้มือลูกชายคนเล็กเผด็จศึกลูกคนรอง ทั้งๆ ที่เคยช่วยปราบกบฏมาก่อน ไปๆ มาๆ ต้องกลายมาเป็นกบฏด้วยอีกคน

ขณะนั้นเชียงรายคือเมืองหลวง เชียงใหม่คือเมืองลูกหลวง แถมแว่นแคว้นล้านนายังแผ่อาณาบริเวณไปถึงเชียงตุงหรือเขมรัฐในเขตพม่าจรดสิบสองปันนา

เมื่อส่งท้าวน้ำถ้วมไปยังดินแดนไกลโพ้น แถบแม่น้ำขึนเขตไทเขินแล้ว จึงได้สถาปนาท้าวแสนภูผู้แสนดีไม่มีเขี้ยวเล็บกลับไปนั่งเมืองเชียงใหม่ในฐานะยุพราชดังเดิม

ส่วนน้องเล็ก ท้าวน้ำน่านต่อมามีอีกชื่อว่า ท้าวงั่วเชียงของ ให้นั่งเมืองหน้าด่านริมฝั่งโขงที่เชียงของ เมื่อขุนครามสิ้นพระชนม์ท้าวแสนภูขึ้นเสวยราชย์ ไม่ปรากฏบทบาทท้าวงั่วเชียงของอีกเลย

ปัญหามีอยู่ว่านักประวัติศาสตร์บางท่านได้นับการครองราชย์ที่เชียงใหม่ของท้าวน้ำถ้วมไว้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งในลำดับที่สามแห่งราชวงศ์มังรายด้วย แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้งว่าไม่ควรนับ เพราะแค่รั้งเมืองขัดตาทัพในช่วงสั้นๆ ซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏอีก

ที่แน่ๆ พงศาวดารเมืองเชียงตุง ยกย่องว่าปฐมกษัตริย์ของนครเขมรัฐมีชื่อว่า "ท้าวน้ำถ้วม" ผู้เป็นทายาทสืบสายโลหิตมาแต่พระญามังราย (เอาเถอะ แม้จะเขียนไว้สับสนหาว่าเป็นลูก ซึ่งในความจริงเป็นหลานก็ตาม)

มีข้อน่าสังเกตว่าชาวไทเขินจากเชียงตุงที่อพยพมาอยู่ในล้านนาเมื่อ 200 ปีก่อน เป็นชาติพันธุ์เดียวที่มีความกระหยิ่มยินดีที่ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิของเจ้าฟ้ามหาชีวิตท้าวน้ำถ้วม ชาวเชียงตุงไม่รู้สึกว่าการถูกกวาดต้อนมาอยู่ในล้านนาครั้งนั้น คือการเข้ามาในฐานะชาวต่างด้าวแต่อย่างใด



พระญางั่วนำถุมแห่งสุโขทัย พระร่วงจมน้ำ?

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรสุโขทัยก็มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ภาษาสุโขทัยอ่านว่า พ่องั่วนำถุม หรือพระงั่วนำถม งั่ว แปลว่า ห้า เนื่องจากเป็นกษัตริย์ลำดับที่ห้าแห่งกรุงสุโขทัย ส่วน นำถุม แปลว่า น้ำท่วม

เกี่ยวกับที่มาของชื่อ "นำถุม" นี้ ยังมีความสับสนอยู่ สามารถสันนิษฐานได้สองประการ

ประการแรก อาจนำคำว่า "นำถุม" มาจากนามของ "พ่อขุน (ศรี) นาวนำถุม" ผู้เป็นพระสหายกับ "พ่อขุนบางกลางท่าว" ทั้งสองช่วยกันปลดแอกขอมละโว้และก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ปฐมกษัตริย์แห่งสุโขทัยคือพ่อขุนบางกลางท่าว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สายนี้มีรัชทายาทสืบราชวงศ์ต่อมาอีก 3 องค์คือ พ่อขุนบาลเมือง พ่อขุนรามคำแหง และพระญาเลอไท

แต่แล้วกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระญาเลอไทกลับมีนามว่่า "พ่องั่วนำถุม" ทำให้พอจะมองเห็นเชื้อสายว่าน่าจะเป็นหลานปู่ของ "พ่อขุนนาวนำถุม" สายนี้คงจ้องรอจังหวะอยู่นานพอสมควรกว่าจะช่วงชิงบัลลังก์มาได้จากสายศรีอินทราทิตย์

ประการที่สอง บางทีชื่อพ่องั่วนำถุม อาจไม่เกี่ยวข้องกับพ่อขุนนาวนำถุม แต่เรียกตามเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หากไม่ใช่ในปีที่เกิด ก็อาจเป็นปีที่เสวยราชย์ หรืออาจเป็นปีที่สิ้นพระชนม์ เหตุเพราะในพงศาวดารบางเล่มมีการพูดถึงกษัตริย์องค์หนึ่งก่อนยุคพระญาลิไทว่ามีฉายา "พระร่วงจมน้ำ" หรือพระเจ้าอุทกโชตถตะ ความหมายว่าเป็นกษัตริย์ที่จมน้ำหายไปในแก่งหลวงศรีสัชนาลัย

แต่กรณีนี้ก็มีผู้เห็นแย้งว่า คำว่า "พระร่วง" นี้น่าจะสงวนไว้ใช้กับกษัตริย์ที่สืบสายมาจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เท่านั้น บางท่านจึงตั้งคำถามว่าหรือ "พระร่วงจมน้ำ" จักหมายถึง "พระญาเลอไท" ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี เงื่อนงำการมาและการไปของพ่องั่วนำถุม เห็นจะไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของกษัตริย์สุโขทัยองค์อื่นๆ เท่าใดนัก คือถูกมองว่าได้ราชบัลลังก์ต่อจากพระญาเลอไทด้วยการก่อกบฏ ฉวยโอกาสขณะที่พระญาเลอไททรงพระประชวร ซึ่งพระญาลิไทก็ยังทรงพระเยาว์ พ่องั่วนำถุมรีบปราบดาภิเษกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1883-1890

พระญาลิไทต้องหนีราชภัยไปครองศรีสัชนาลัยอันเป็นเมืองลูกหลวงแทน

กระทั่ง 6 ปีผ่านไป พระญาลิไทหวนกลับมาช่วงชิงราชบัลลังก์คืน ในพงศาวดารใช้คำว่าด้วยการ "ปราบกบฏพ่องั่วนำถุม"

ซึ่งหากพระร่วงจมน้ำเป็นพ่องั่วนำถุมจริง ย่อมสะท้อนภาพวาระสุดท้ายของกษัตริย์พระองค์นั้นว่าอาจถูกจับถ่วงน้ำหรือกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย (ในกรณีที่ชื่อมาหลังตัว หากชื่อน้ำท่วมมาก่อนการครองราชย์ ก็ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพระร่วงจมน้ำ)



สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่จริงเท็จแค่ไหน
ทำไมกษัตริย์ภาคเหนือถึงสองพระองค์จึงได้รับการขนานนามว่าพระเจ้าน้ำท่วมทั้งคู่ ?

ไม่มีการระบุถึงปีเกิดของท้าวน้ำถ้วม เราทราบแต่เพียงปีครองราชย์ของท้าวแสนภูว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ.1868-1877 ส่วนช่วงที่ท้าวน้ำถ้วมครองเชียงใหม่ 7 เดือน (หรือ 2 ปี) นั้นทรงมีพระชนมายุ 30 ชันษา ถือว่ายังอยู่ในปลายรัชสมัยของพระญาไชยสงคราม ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1854-1868 สรุปแล้วท้าวน้ำถ้วมน่าจะประสูติราวปี พ.ศ.1835-1837

ส่วนพ่องั่วนำถุมแห่งสุโขทัย นักประวัติศาสตร์บางท่านนับให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นทรราช ทำให้นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษ์ลบชื่อทิ้งไปเสียอีกราย โดยนับพระญาลิไทต่อจากพระญาเลอไทเลย พ่องั่วนำถุมครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1883-1890 เมื่อเทียบศักราชกับท้าวน้ำถ้วมแล้ว เห็นว่าท้าวน้ำถ้วมเกิดก่อนพ่องั่วนำถุมร่วม 50 ปี

สรุปแล้วเมื่อ 700 ปีก่อน แผ่นดินภาคเหนือของไทยทั้งล้านนาและสุโขทัย เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างน้อยสองหนห่างกันครึ่งศตวรรษ

แม้ไม่มีการบันทึกไว้เป็นกิจจะลักษณะ แต่เรารับรู้ได้ผ่านชื่อของกษัตริย์ ซึ่งเราเชื่อกันว่าหากไม่มีอุทกภัยในดีกรีขั้นร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นตอนเกิด ตอนเสวยราชย์ หรือตอนสิ้นพระชนม์ อยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากเฉลิมพระนามอันไม่ค่อยเป็นมงคลว่า "น้ำท่วม" ให้แก่กษัตริย์เท่าใดนัก

บังเอิญเหลือเกินที่พระเจ้าน้ำท่วมทั้งสององค์ อยู่ในฐานะกบฏทั้งคู่ ซ้ำยังหายสาบสูญไปจากความทรงจำของประวัติศาสตร์กระแสหลัก ต่างกับน้ำท่วมปีนี้ เป็นปีที่โลกต้องจารึกไว้อย่างไม่มีวันลืมเลือน หวนนึกถึงคำทำนายของสมเด็จพระพุทธาจารย์โตวัดระฆัง ที่กล่าวถึง "นารีขี่ม้าขาว" จนหลวงพ่อฤๅษีลิงดำนำมารจนาเป็นบทกลอนว่า

จะมีหนึ่งนารีขี่ม้าขาว ควงคทามุ่งสู่ดาวสร้างความหวัง

ผู้ปกครองจะเป็นหญิงพึงระวัง สายน้ำหลั่งกรากเชี่ยวหวาดเสียวใจ

ศิวิไลซ์จะบังเกิดในสยาม หลังฝนคร้ามลั่นครืนจะยืนได้

จะเข้าสู่ยุคมหาชนพาไป เปลี่ยนเมืองใหม่ศักราชแห่งประชา

คนชั่วจะถูกปราบราบคาบสิ้น แผ่นดินเดือดสูญหายไร้ปัญหา

ประเทศชาติผ่านวิกฤติด้วยศรัทธา ยามเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ

อดทนอีกนิดนะพี่น้อง น้ำท่วมครานี้ ไม่เพียงจะเอ่อท้นเรือกสวนไร่นา แต่มันได้พาพลพรรคแมงสาบยกขบวนกันออกมาพ่นน้ำลาย บริภาษผู้หญิงเหนือว่ามีค่าเพียงแค่สาวบริการไม่เหมาะกับงานบริหารประเทศ

นารีล้านนากำลังฝ่ากระแสธารอันเชี่ยวกราก หากคำทำนายนั้นเป็นจริง หลังจากนี้ พี่น้องผองไพร่คงได้ลุกขึ้นหยัดยืนกันอีกครั้ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงประเทศจากยุคถิ่นกาขาวสู่ "ชาว (สาว) ศิวิไลซ์" อย่างพลิกฟ้าคว่ำดินกันเสียที



.