http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-17

นิธิ: ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่, โทสวาท

.

ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมิชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:00 น.


รัฐธรรมนูญใหม่จะเกี่ยวกับความปรองดองโดยตรงทีเดียว

ปรองดองตามความเป็นจริงในโลกนี้ ไม่ได้หมายถึงปราศจากความขัดแย้ง เพราะเป็นไปไม่ได้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่จะไม่มีความขัดแย้งเสียเลย แท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยมีขึ้นก็เพื่อให้ความขัดแย้งในสังคมลอยตัวขึ้นอย่างอิสระ โดยไม่ถูกขวางกั้นจากกำเนิด, สถานะ, หรือช่วงชั้นแห่งอำนาจและเกียรติยศ เพียงแต่ว่าต้องขัดแย้งกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้น กติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด อันจะนำไปสู่ความปรองดอง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นกติกาซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย จึงเป็นกติกาที่ขัดขวางความปรองดองตัวจริงทีเดียว หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยากที่จะนำสังคมไปสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้

มิติหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม หรือมากกว่านั้น การผลัดกันเกาหลังของชนชั้นนำ อันเป็นวิธีระงับความขัดแย้งที่เคยได้ผลในการเมืองไทยตลอดมา ไม่อาจนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างแน่นอน เพราะในความขัดแย้งของสังคมที่เราเผชิญอยู่ มีมิติอื่นๆ นอกเหนือไปจากความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำอีกมากนัก

การแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีอันธพาล คือล้มกระดาน ก็ไม่อาจทำให้ความขัดแย้งผ่อนคลายลงได้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ จะทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้นถึงต้องนองเลือดกันอีก

ดังนั้น หากต้องการความปรองดองจริง วิธีเดียวคือสร้างกติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายขึ้นใหม่ โดยพยายามตัดวงจรของการล้มกระดานหรือการรัฐประหารให้แน่นหนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)

ความเห็นของบางฝ่ายที่ว่า ก่อนจะตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องลงประชามติกันก่อนว่า ควรแก้ไขหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว นับเป็นความเห็นที่หาตรรกะไม่ได้เอาเลย

การลงประชามติ คือเปิดให้ตัดสินใจเลือกอย่างชัดเจนว่า หากไม่เอาสิ่งนี้ จะได้สิ่งใด ลงประชามติเพื่อให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถให้ทางเลือกที่ชัดเจนได้ว่า หากให้แก้รัฐธรรมนูญ จะแก้กันอย่างไร และแก้แล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากการลงประชามติครั้งที่แล้ว คือหากไม่รับ รธน.2550 จะได้รัฐธรรมนูญอะไรก็ไม่ทราบ แล้วแต่หมู่เทวดาจะเลือกให้มาตามใจชอบ นั่นไม่ใช่การลงประชามติ เช่นเดียวกับครั้งนี้ คือให้เลือกระหว่าง รธน.2550 กับอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ถึงอย่างไรก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการร่างมาอย่างไร ก็ต้องนำมาผ่านประชามติ ถึงตอนนั้น ก็จะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า หากไม่เอารธน.ปี 50 จะได้รัฐธรรมนูญอะไร มีทางเลือกที่ชัดเจนซึ่งประชาชนสามารถตัดสินใจได้ โดยผ่านการถกเถียงอภิปราย และให้ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายตามกระบวนการลงประชามติ

ในด้านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรค พท.ซึ่งกุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาได้มีมติแล้วว่า จะใช้วิธีแก้ไข ม.291 เพื่อให้เกิด ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน นับเป็นกระบวนการที่ประชาชนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ ในส่วนวิธีการเลือกตั้ง จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือใช้จำนวนประชากร เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้

ปัญหามาอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ 22 คน มากกว่า ว่าใครจะเป็นคนเลือก

หากให้รัฐสภาเลือกก็เท่ากับให้นักการเมืองเข้ามาแทรกในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงน่าจะทำบัญชีขึ้นจากข้อเสนอขององค์กรต่างๆ (ส่วนจะเป็นองค์กรประเภทใดบ้างนั้น คงต้องคิดกันในรายละเอียด) ได้มาสัก 100-200 รายชื่อ แล้วส่งให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง เลือกสรรเอาเองจากบัญชีนั้นให้ครบ 22 คน

หลักการสำคัญซึ่งใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 น่าจะเป็นหลักการที่ควรยึดถือต่อไป นั่นก็คือนักการเมืองไม่ควรเข้ามาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมากไปกว่าประชาชนธรรมดาทั่วไป แท้ที่จริงนักการเมืองในฐานะประชาชนธรรมดา ก็มีพลังในการแทรกแซงได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว เพราะมีฐานเสียงของตนเองเป็นกอบเป็นกำกว่าคนทั่วไปจะพึงมีได้ (ซ้ำยังมีพื้นที่ในสื่อมากกว่าอีกด้วย)

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ อันเป็นเรื่องที่ ส.ส.ร.ต้องตัดสินใจในภายหน้า แต่เป็นเรื่องที่นักการเมืองพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในตอนนี้ เช่นเรื่องควรมีหรือไม่มีมาตรานั้นมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (เช่นการอภัยโทษ) หรือ ส.ว.ควรมาจากการแต่งตั้งหรือไม่ เป็นต้น

รัฐธรรมนูญฉบับที่ควรใช้เป็นฐานในการแก้ไขนั้น ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่แล้ว มีผู้เสนอว่าควรใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แต่ รธน."ฉบับประชาชน" ฉบับนี้ ที่จริงแล้วเป็นผลมาจากการเดินตามรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหารหลายฉบับ (แม้มีส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไปใหม่อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน) ประหนึ่งว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย เริ่มมาแต่การรัฐประหาร 2490 เท่านั้น

ฉะนั้น จึงปล่อยบางคำ, บางมาตรา หรือแม้แต่บางหมวดไปโดยไม่ได้พิจารณากันอย่างละเอียดเพียงพอ

หลักการสำคัญที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอไว้ก็คือ ควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากฐานของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า เมื่ออาศัยหลักการนี้รัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายมีอยู่เพียง 4 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มิ.ย. 2475 (ซึ่งถูก ร.7 ต่อท้ายคำว่าฉบับชั่วคราวลงไปเอง) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวางหลักการที่ปฏิเสธไม่ได้ของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การจัดวางอำนาจในโครงสร้างของระบอบปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรากฐานสำคัญของการที่จะไม่หวนคืนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ไม่ว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง หรืออำพรางก็ตาม

รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง คือวันที่ 10 ธ.ค. 2475 เพราะไม่ได้มาจากการรัฐประหารเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหากับ รธน.ฉบับนี้ที่ถกเถียงกันได้ เพราะที่จริงร่างขึ้นด้วยเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้า คือความพยายามของคณะราษฎรที่จะประนีประนอมกับกลุ่มระบอบเก่า โดยไม่ให้เสียหลักการของระบอบประชาธิปไตยจนเกินไปเท่านั้น (และเพราะไม่ให้เสียหลักการ จึงทำให้ฝ่ายระบอบเก่าผิดหวังในเวลาต่อมา เพราะไม่ได้อำนาจการกำกับควบคุมสภาอย่างที่ต้องการ เช่นการมี ส.ส.ประเภทสอง - ซึ่งที่จริงเป็นข้อเสนอของพระมหากษัตริย์ในระยะนั้นเอง - กลายเป็นข้อที่ถูกโจมตีว่า คณะราษฎรหวงอำนาจ) อย่างไรก็ตาม เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้สืบเนื่องกันเป็นเวลานาน ส.ส.ร.อาจได้เรียนรู้หนทางของการประนีประนอมกับระบอบเก่าที่ไม่เสียหลักการได้จากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งคือฉบับ พ.ศ.2489 ซึ่งไม่ได้เกิดจากการรัฐประหารเช่นกัน ถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ที่ดีที่สุดของไทยเท่าที่มีมา

และแน่นอนฉบับสุดท้าย คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540

การเลือกรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารนั้น จุดมุ่งหมายไม่แต่เพียงการแก้ไขเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขที่ระบอบประชาธิปไตยอาจงอกงามขึ้นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย แต่จำเป็นต้องตัดวงจรการรัฐประหารในประเทศให้เด็ดขาด แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญอย่างเดียวคงทำไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญช่วยวางเงื่อนไขบางอย่างที่จะทำให้อำนาจนอกระบบทั้งหลาย ต้องหันมารักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนในระบบ แทนที่จะอาศัยการรัฐประหารเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไป

เรามักเข้าใจว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำของกองทัพฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว การรัฐประหารเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สลับซับซ้อน ในบรรดากลุ่มชนชั้นนำของสังคม ฉะนั้น หากรัฐธรรมนูญจำนงที่จะป้องกันการรัฐประหาร จึงต้องทำมากกว่าเขียนกันไว้ในไม่กี่มาตรา แต่ต้องคลายการเกาะเกี่ยวกันของอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยลง แล้วสถาปนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เอื้อต่อประชาธิปไตยขึ้นใหม่

แน่นอนว่าการบัญญัติกฎหมายอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการรัฐประหารได้ 100% แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้

ประเด็นสุดท้าย คือการเตรียมการสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน งบประมาณที่จะสนับสนุน ส.ส.ร.นั้น ควรกันออกมาก้อนใหญ่ โดยระบุให้ชัดเจนว่า เพื่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยตรง (หาก ส.ส.ร.ไม่ได้ใช้เพื่อการนี้ ก็ไม่ให้ใช้) รัฐควรเตรียมที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ เช่น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และสถานีโทรทัศน์ในสังกัดของรัฐ เพื่อขยายเวทีการอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้กว้างขวาง รัฐอาจใช้เงินเพื่อวางแผนในเชิงธุรกิจ เพื่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ถึงประเด็นต่างๆ ที่ ส.ส.ร.กำลังพิจารณา

ลืมข้อเสนอของคุณอุกฤษฎ์ มงคลนาวิน ไปได้เลย เราจะมีรัฐธรรมนูญของปุถุชน คือกติกาของความสัมพันธ์ระหว่างคนธรรมดาๆ ที่มีดีมีชั่วแม้ในคนๆ เดียวกัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพระอรหันต์ (ซึ่งที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว)

การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ประชามติในขั้นสุดท้ายเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่โอกาสและพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมมาตลอดกระบวนการด้วย



++

โทสวาท
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 25


ผมขอแปลคำ Hate speech อย่างง่ายๆ ว่า "โทสวาท " ที่ว่าง่ายก็เพราะคิดอะไรไม่ออกให้บอกแขก อย่างที่มักทำกับคำฝรั่งที่ไม่มีในภาษาไทยเสมอ

บัญญัติคำขึ้นใหม่นั้นง่าย แต่แล้วมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่นี่สิครับ ที่ยาก

คำไทยแต่เดิมที่ใกล้เคียงกับคำนี้คือ "ให้ร้ายป้ายสี" แม้ไม่เกี่ยวกับความโกรธ-เกลียดโดยตรง แต่ก็ไม่มีใครทำเพราะรักแน่ แม้กระนั้น ก็พอจะจับความได้อย่างหนึ่งว่า โทสวาทต้องเกี่ยวกับความเกลียด และมุ่งจะเผยแพร่ความเกลียดนั้นให้กว้างขวางในหมู่สาธารณชนด้วย

แต่หากผมเกลียดนาย ก.ไก่ แล้วเที่ยวนินทาว่าร้ายเขาไปทั่ว จะถือว่าเป็นโทสวาทหรือไม่? คำตอบคือไม่หรอกครับ เพราะ hate speech ของฝรั่งนั้น ต้องหมายถึงการจุดประกายความเกลียดชังแก่กลุ่มศาสนา, ชาติพันธุ์, สีผิว, ประเทศอื่น, ลัทธิอื่น ฯลฯ ไม่ใช่บุคคลเป็นคนคนไป

ฉะนั้น นิยามอีกอย่างหนึ่งของโทสวาท คือต้องมุ่งสร้างความเกลียดแก่ "กลุ่ม" ไม่ใช่บุคคล และความเป็นกลุ่มมักเกิดขึ้นแก่เหยื่อของความเกลียดโดยเขาเลือกไม่ได้ เช่น เกิดมาในศาสนานั้นๆ, เกิดมาในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ หรือเกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ

ต่างจากนาย ก.ไก่ นะครับ หากนาย ก.ไก่ หันมาสยบยอมต่ออำนาจ ผมก็เลิกเกลียดชังเขาและหยุดการนินทาว่าร้ายนาย ก.ไก่ เขายังมีทางเลือก และอันที่จริงมีทางเลือกได้หลายทางมากกว่าสยบยอมต่ออำนาจของผมด้วย เช่น นินทากลับ, ต่อยปากผม, หรือยิ้มรับการนินทาว่าร้ายที่ไม่จริงอย่างไม่ใส่ใจ ฯลฯ เป็นต้น ต่างจากการเกิดมาเป็นคนผิวดำ จะให้ฟอกสีอย่างไรก็ยังจับได้อยู่นั่นเองว่าดำ

ในส่วน "วาทะ" ของโทสวาทนั้น ยังมีอะไรที่พิเศษกว่าการนินทาว่าร้ายธรรมดา นั่นก็คือนอกจากสร้างความเกลียดชังให้เกิดแก่เหยื่อแล้ว ยังรวมถึงการทำให้เหยื่อสูญเสียความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย นับตั้งแต่เหยียดให้กลายเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ จนถึงเป็นศัตรูของชาติหรือของ "พวกเรา" เช่น เป็นยักษ์เป็นมาร หรือเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีเหตุผลของตนเอง (รับเงินทักษิณ เป็นต้น) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เหยื่อหมดความชอบธรรมที่จะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือตามที่มนุษย์คนอื่นเขามีกัน

โทสวาทจึงทำหน้าที่ทางสังคม ได้แก่ ปลุกปั่นให้ "ขจัด" (exclusion) กลุ่มคนบางกลุ่มออกไป จะขจัดโดยการฆ่าทิ้ง, โดยการรอนสิทธิ, หรือโดยการทำให้ความคิดเห็น, คำพูด หรือการกระทำของเขาไร้ความหมาย ก็เหมือนกัน ล้วนเป็นการ "ขจัด" ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ โทสวาทไม่ได้ทำผ่านการซุบซิบ แต่ทำผ่านสื่อมวลชน อย่างน้อยก็จดหมายลูกโซ่ อันเป็นเครื่องมือสื่อสารซึ่งสมัยโบราณไม่มี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือโทสวาทเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสังคม แตกต่างจากการนินทาว่าร้ายที่เป็นการเคลื่อนไหวของบุคคล



โทสวาทจึงเป็นเรื่องของสังคมสมัยใหม่โดยแท้ เพราะปราศจากเครื่องมือสมัยใหม่ของการสื่อสารมวลชน ก็ยากที่จะทำโทสวาทได้ แม้แต่ในภาษาอังกฤษ hate speech ก็เป็นคำใหม่ เพิ่งใช้กันไม่นานมานี้ และหาไม่พบในปทานุกรมภาษาอังกฤษทั้งหมดที่ผมมีอยู่

คำที่ใกล้เคียงกันในภาษาอังกฤษก็คือ hate sheet ซึ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์หรือใบปลิวที่ปลุกปั่นความเกลียดชัง และ hate mail ก็เหมือนกัน เพียงแต่ออกมาในรูปของจดหมายเท่านั้น

แม้เป็นคำใหม่ในภาษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนโบราณมีคุณธรรมล้ำเลิศเสียจนไม่เคยปลุกปั่นความเกลียดชังแก่ศัตรูของตน เพียงเพราะไม่มีเครื่องมือสื่อสารมวลชนที่ทันสมัย ไม่มีชีวิตในสังคมของรัฐชาติ มีแต่สังคมของชุมชุนขนาดเล็ก "กลุ่ม" ที่เป็นเหยื่อแห่งความเกลียดชังจึงเป็นกลุ่มขนาดเล็กตามไปด้วย จนแทบแยกไม่ออกจากบุคคล จึงทำให้ไม่เกิดโทสวาท (ตามนิยามสมัยปัจจุบัน) ในสังคมโบราณ

แต่ใจที่เลือกใช้ความเกลียดชัง เป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์หรือปกป้องตนเอง ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากใจของคนในสังคมสมัยใหม่

เพียงแต่ว่าใจของคนสมัยปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทำให้ความเกลียดชังนั้น แผ่ขยายไปได้กว้างขวาง (ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา) จนก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่สังคมได้



ในภาคอีสานสมัยก่อน คนที่เลือกจะอยู่อย่างเอกเทศ ไม่เอื้อต่อชีวิตร่วมกันในชุมชน มักจะถูกนินทาว่าร้ายว่าเป็นปอบ (สูญเสียความเป็นมนุษย์) ซึ่งมีอันตรายต่อคนอื่นในชุมชน ดังนั้น จึงถูกลงทัณฑ์ทางสังคม จนในที่สุดก็อยู่ในชุมชนต่อไปไม่ได้ ทั้งตัวเขาและเครือญาติ

ถ้าเป็นสังคมสมัยใหม่ นี่ก็เป็นโทสวาทอย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า มันเหลื่อมกันมากระหว่างโทสวาทของสังคมสมัยใหม่ กับการกระทำอีกนานาชนิดที่มนุษย์ทำกันมาแต่โบราณ ดูเหมือนการปลุกปั่นความเกลียดชังจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองอำนาจ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในความสัมพันธ์ทางสังคมทุกรูปแบบ

เพียงแต่ว่า เมื่อมาทำในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือในการปลุกปั่นที่มีประสิทธิภาพ ก็มีอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่กลุ่มคนที่เป็นเหยื่อ และแก่สังคมโดยรวม เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรุวันดา, การทำร้ายคนดำในสหรัฐ, กรณี 9/11, หรือการทำร้ายและรอนสิทธิของชาวมุสลิมในโลกตะวันตกและอินเดีย

พระราชนิพนธ์ "ยิวแห่งบุรพทิศ" นั้นเป็นโทสวาทอย่างแน่นอน และสร้างความเจ็บปวดขมขื่นแก่เจ๊กและลูกเจ๊กในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เพิ่งหมดไปไม่กี่สิบปีมานี้เอง คนในวัยขนาดผมไม่แต่เพียงยังจดจำได้ แต่ยัง "รู้สึก" ได้ทีเดียว... นับเป็นตลกร้าย เพราะผู้ทรงพระราชนิพนธ์คือผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิด "ชาตินิยม" ไทย ก็ไม่รู้ว่าเป็น "ชาติ" แบบไหนกัน แต่ก็เป็นมรดกสืบมาถึง "ชาติ" ในปัจจุบันด้วย

แม้จะเห็นภยันตรายอย่างหนักของโทสวาท ถึงกับศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเอาผิดแก่ผู้กระทำโทสวาทได้ แต่ในความเป็นจริง ในทุกสังคมสมัยใหม่ การกระทำโทสวาท (โดยเปิดเผย หรือโดยนัยยะ) ก็ทำกันอยู่บ่อยๆ อาจเป็นเพราะใครๆ ก็เข้าถึงเครื่องมือสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น

และเจ้าเครื่องมือนั้นเอง ก็พร้อมจะรับใช้โทสวาทอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจเสียด้วย เพราะโทสวาทนั้น "ขายได้ "


ว่าเฉพาะในสังคมไทย รายงานในสื่อที่ว่า ผบ.ทบ. ไล่คนซึ่งต้องการให้แก้ไข ม.112 ออกไปต่างประเทศ ก็คือโทสวาทอย่างหนึ่ง เพราะคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร และต้องการจะ "ขจัด" เหยื่อเหล่านั้นออกไปจากสังคมโดยตรง

สติระดับ คุณบรรหาร ศิลปอาชา ที่พูดว่า ผู้ซึ่งต้องการแก้ไข ม.112 "เสียสติ" ก็เป็นการ "ขจัด" อีกอย่างหนึ่ง คือทำให้ความคิดเห็นของเหยื่อไม่มีค่าควรแก่การพิจารณาของสังคม

ทั้งนี้ ผมยังไม่ได้พูดถึงกระบวนการล่าแม่มดในอินเตอร์เน็ต, หรือข้อความในเอเอสทีวีและผู้จัดการ ซึ่งต้องการขายโทสวาทโดยตรง

และที่น่าตกใจคือมีผู้ซื้อมากพอสมควรด้วย



อย่างไรก็ตาม จะยกความแพร่หลายของโทสวาทให้เครื่องมือสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ และธรรมชาติมนุษย์เท่านั้น อาจจะง่ายเกินจริงไปหน่อย เพราะความแพร่หลายของโทสวาทในสังคมต่างๆ นั้น ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเครื่องมือและธรรมชาติมนุษย์ ก็คือเงื่อนไขทางสังคมที่กระตุ้นให้การใช้โทสวาทเป็นวิธีแก้ปัญหาในแต่ละสังคม

มีแต่เครื่องมือและธรรมชาติ แต่ปราศจากเงื่อนไขทางสังคม โทสวาทก็อาจไม่ได้ถูกใช้บ่อยนัก

ผมคิดว่ามีเงื่อนไขอยู่ 4 อย่างที่ช่วยทำให้การใช้โทสวาทแพร่หลายได้มากในสังคมหนึ่งๆ

อย่างแรกก็คือความแตกแยกอย่างหนักซึ่งสังคมไทยเผชิญอยู่ อันที่จริงความแตกต่างจนถึงแตกแยกอาจเป็นธรรมดาในทุกสังคม แต่ความแตกต่างแตกแยกที่กลไกและกติกาเดิมเคยไกล่เกลี่ยได้ ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่างหาก ที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้โทสวาทในการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันอย่างหนัก สถานการณ์อย่างนี้เคยเกิดมาแล้วในสังคมอื่นๆ อีกหลายแห่ง

อย่างที่สอง สังคมเกิดปัญหาบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีเก่าๆ เช่น เกิดเศรษฐกิจตกต่ำขนานใหญ่ ผู้รับผิดชอบมักจะหาแพะมารับบาป นั่นเป็นพฤติกรรมปรกติของนักการเมืองอยู่แล้ว ที่สำคัญกว่าก็คือภาวะตีบตันทำให้สังคมพร้อมรับแพะไปบูชายัญด้วย ในกรณีอย่างนี้ โทสวาทก็จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ในบางสังคมถึงกับมีการสังหารหมู่ หรือขับไล่คนจำนวนมากให้พลัดที่นาคาที่อยู่ ชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้, ชาวโรฮิงยาในพม่า, ชาวจามและเวียดในกัมพูชาสมัยเขมรแดง, ฯลฯ คือแพะที่ถูกบูชายัญจากโทสวาท

อย่างที่สาม คือความเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาอนาคตไม่ถูก ทุกฝ่ายในสังคมรู้แล้วว่าสภาวะอย่างเก่าจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่อาจลึกถึงรากถึงโคนกำลังมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็คาดเดาไม่ถูกว่าจะเปลี่ยนอย่างไร ฝ่ายตนจะเหลืออำนาจต่อรองอีกสักเท่าไร ฯลฯ เหลือแต่ความหวาดระแวงและความกลัว ซึ่งอาจเปลี่ยนไปสู่ความเกลียดได้ง่าย สภาพเช่นนี้แหละครับ ที่จะมีการผลิตโทสวาทออกมามากมาย และมักประสบความสำเร็จด้วย เพราะผู้คนสมาทานไปเป็นทัศนคติของตนได้ง่าย

อย่างที่สี่ คือวัฒนธรรม บางวัฒนธรรมมีเกราะป้องกันโทสวาทมากกว่าอีกบางวัฒนธรรม คนทำสื่อรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะเผยแพร่โทสวาท (หรือยุให้เกิดโทสวาทเวลาสัมภาษณ์) คนรับสื่อมีสติทันทีที่ได้เห็นโทสวาท และรังเกียจ

แม้เราได้เห็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้โทสวาทอยู่ครบทุกข้อในสังคมไทยปัจจุบัน แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าอุ่นใจอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือในทางการเมือง โทสวาทไม่เคยทำให้ใครหรือพรรคใดประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ดูได้จากพรรคการเมืองใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น



.