http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-11

สถานการณ์วิกฤติโลก2011 และแนวโน้ม (1,2 )โดย อนุช อาภาภิรม

.

สถานการณ์วิกฤติโลกปี 2011 และแนวโน้ม (1)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 36


ปี2011 (พ.ศ.2554) นับเป็นปีแห่งวิกฤติอีกปีหนึ่ง ต่อเนื่องกับวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ 2008 มีกรณีและอุบัติภัยเกิดขึ้นจำนวนมาก
ในวาระสิ้นปี สมควรคัดบางสถานการณ์วิกฤติแห่งปีและแนวโน้มที่เป็นข่าวเด่น ดังนี้


สถานการณ์ทั่วไป

สถานการณ์ทั่วไปของวิกฤติ 2011 มีจุดเด่น คือ เป็นวิกฤติที่ประกอบด้วยหลายวิกฤติผสมกัน จนเป็นเหมือนพายุสมบูรณ์แบบ (Perfect Storm) ในการก่อความเสียหายรุนแรง ที่เกิดสภาพเช่นนี้ เพราะว่าลำพังวิกฤติแบบโดดๆ ก็จะสามารถแก้ไขอาการและผลกระทบได้ระดับหนึ่ง แต่วิกฤติที่ไม่ได้แก้ไขจนถึงรากก็ยังคงซ่อนตัวอยู่ไม่หายไปไหน จนในที่สุดได้แสดงตัวออกมาพร้อมๆ กัน

เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นมีลักษณะทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงเกี่ยวพันประเทศและภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกันในกระบวนโลกาภิวัตน์ รวมทั้งจากความสุกงอมของวิกฤติ

เป็นวิกฤติที่มีมวลชนรากหญ้าเป็นตัวแทน (Agent) ของการเปลี่ยนแปลง และชนชั้นนำเป็นตัวแทนของการรักษาสถานะเดิมอย่างชัดแจ้งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงระหว่าง 2 ขั้วนี้อีกอย่างหลากหลาย

เป็นวิกฤติที่มีลักษณะยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากระบบโลกปัจจุบันมีความสามารถน้อยลงทุกทีในการแก้ไขปัญหาจากภายในระบบเอง

สำหรับประเด็นวิกฤติปี 2011 ที่น่าสนใจมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้า วิกฤติหนี้สาธารณะของตะวันตก และวิกฤติภัยธรรมชาติ จะได้กล่าวเป็นลำดับไป


วิกฤติการลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้า

การตื่นตัวทางการเมืองและการลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้าในขอบเขตทั่วโลก นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของขบวนการมวลชนรากหญ้า ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และเริ่มเปลี่ยนจากการรับสู่การรุก
อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติที่หนักขึ้นทุกทีของระบบโลกปัจจุบัน ซึ่งได้แก่โลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ จนกลุ่มอำนาจนำโลกยากที่จะรักษาสถานะเดิมได้

วิกฤตินี้มีมุมมองได้ 2 ด้าน
กล่าวคือ จากจุดผู้ปกครองย่อมถือเป็นวิกฤติรุนแรงมาก
สำหรับผู้ถูกปกครองถือเป็นโอกาสดี
สื่อมวลชนก็มีการเสนอข่าวกันในหลายแง่มุมตามจุดยืนของตน

สะท้อนถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์นี้


ผู้แสดงสำคัญและบริบท

เพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติการลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้าได้ง่ายขึ้น ขอจำแนกเหตุการณ์เป็นผู้แสดงสำคัญ 2 ฝ่าย กับบริบทและอิทธิพลภายนอกรวมเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 มวลชนรากหญ้าจำนวนไพศาลในประเทศต่างๆ ซึ่งก็มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมาจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ผู้เคร่งศาสนาไปจนถึงผู้ที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยม ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางไปจนถึงคนงาน และเยาวชนผู้ว่างงาน กลุ่มฝ่ายเหล่านี้มีความรู้สึกร่วมและความเห็นพ้องอยู่ ได้แก่ การไม่ยอมทนอยู่ภายใต้ระบบสังคมและระบอบปกครองที่ไม่เป็นธรรม

ขบวนการนี้มีการนำอย่างหลวมๆ บางคน (เช่น อิมมานูเอล วอลเลอร์สตีน) เสนอว่ามียุทธศาสตร์แนวนอน (Horizontal Strategy) ตามกลุ่มฝ่ายต่างๆ เป็นการต่อสู้ที่แตกหักเป็นระยะ และหวังบรรลุผลสุดท้ายในระยะยาว

ส่วนที่ 2 ได้แก่ กลุ่มอำนาจนำหรือชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่งมีปฏิกิริยาไปต่างๆ แต่มีลักษณะร่วมกัน ได้แก่ เห็นว่าการลุกขึ้นสู้นี้กระทบต่ออำนาจและสถานะเดิมของตนอย่างสูง

สำหรับในประเทศกำลังพัฒนาที่สถาบันการเมืองอ่อนแอมีแนวโน้มใช้กำลังเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง

สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ที่สถาบันประชาธิปไตยค่อนข้างแข็งแรง จะใช้การรักษากฎหมายเป็นข้ออ้าง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเครื่องมือในการสอดส่องและควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนได้อย่างแทบทุกฝีกก้าว ซึ่งในทางปฏิบัติก็มีความรุนแรงไม่ต่างกันนัก

กลุ่มอำนาจนำของโลกไม่เพียงทำหน้าที่ป้องปรามปราบประชาชนเท่านั้น ยังจำต้องแสดงบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การปรับแก้ระบบเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

มีผู้ชี้ว่าได้เกิดวิกฤติโลกในเชิงโครงสร้างหลายครั้ง ซึ่งนำมาสู่การปรับระบบเกิดแบบจำลองใหม่ของระบบทุนนิยม โดยยกกรณีเช่นว่า

- วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในทศวรรษที่ 80 แห่งศตวรรษที่ 19 ทำให้ศูนย์กลางโลกเร่งส่งออกทุน เกิดการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมรอบใหม่ การสะสมทุนจากทั่วโลกได้เข้มข้นขึ้น

- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ทำให้เกิดแนวคิดสังคมประชาธิปไตย ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy) นี้มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ การมีรัฐสวัสดิการ, นโยบายประชานิยม (Populist) หรือเป็นแบบทุนนิยมพัฒนา เป็นการกระจายความมั่งคั่งใหม่ สร้างเศรษฐกิจภาครัฐและให้รัฐเข้ามาจัดระเบียบตลาด เช่น ที่เสนอในเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) แนวคิดสังคมประชาธิปไตยอาจกล่าวสั้นๆ ว่าเป็นการรวมลัทธิฟอร์ดเข้ากับลัทธิเคนส์ (Fordism-Keynesianism)

- เมื่อเกิดวิกฤติ 1970 ที่ต่อเนื่องกับวิกฤติน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติของสังคมประชาธิปไตย กลุ่มชนชั้นนำโลกได้แก้ปัญหาโดยใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ผลักดันไปสู่โลกาภิวัตน์ เพื่อก้าวข้ามรัฐชาติ ไม่ให้พรมแดนของรัฐชาติเป็นอุปสรรคในการสะสมทุน ซึ่งเปิดทางให้ระบบทุนขยายตัวไปได้อีกในทศวรรษที่ 1980 และ 1990

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองเสรีนิยมใหม่นี้ มีลักษณะไม่ยั่งยืนได้ก่อให้เกิดการแตกขั้วในสังคมอย่างรุนแรง และปะทุเป็นวิกฤติที่ใหญ่ยิ่งกว่าทุกครั้ง

ผู้เขียนเห็นว่าทางออกน่าจะหันมาใช้การกระจายความมั่งคั่งและอำนาจสู่ประชาชนใหม่อีกครั้ง หาไม่แล้ว จะเกิดภาวะความยุ่งเหยิงโกลาหลอย่างหนัก (ดูบทความของศาสตราจารย์ William I. Robinson ชื่อ Global Rebellion: The Coming Chaos? ใน aljazeera.com 041211)

ส่วนที่ 3 ได้แก่ บริบทและอิทธิพลจากภายนอก การลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้าในขอบเขตทั่วโลกมีลักษณะร่วมกันไม่ว่าในประเทศกำลังพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา นั่นคือ เกิดขึ้นในท่ามกลางวิกฤติหลายด้านประสมประสานกัน ในกรณีนี้ได้แก่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ วิกฤติอาหารและวิกฤติน้ำมัน นอกจากนี้ ยังรวมวิกฤติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา พบว่าอิทธิพลภายนอกสามารถเข้ามาแทรกแซงมีบทบาทค่อนข้างสำคัญ เห็นได้จากกรณีของประเทศลิเบีย ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วความขัดแย้งภายในจะสำคัญสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติที่กล่าวกันว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพียงแต่เป็นการกินกันยามวิกฤติเท่านั้น



การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ กับ การยึดครองวอลสตรีต

วิกฤติการลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้าเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ที่เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องและมีความสำคัญต่อการเมืองโลกในปี 2011 กล่าวได้ว่ามี 2 กรณี ได้แก่ การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ (Arab Spring, Arab Uprising, Arab Revolution) และการยึดครองวอลสตรีต (Occupy Wall Street นิยมย่อว่า OWS)

ความจริงการลุกขึ้นสู้ของขบวนคนเสื้อแดงในไทยก็ได้เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องในปี 2010 แต่ก็ดูไม่ได้รับความสำคัญมากนัก

ทั้งนี้ อาจเกิดจากว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนโดยลำพัง ประเทศเพื่อนบ้านนั่งดูอยู่ ไม่ลามระบาดไปเหมือนกับการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ

อีกประการหนึ่งน่าจะเนื่องจากฐานะของไทยที่อยู่วงนอก ไม่เหมือนประเทศอาหรับที่อยู่วงกลาง และสหรัฐที่เป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ กรณีลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับกับการยึดครองวอลสตรีตยังมีโยงใย ส่งอิทธิพลต่อกันและกันอย่างเห็นได้ชัด

ศ. โรบินสัน (อ้างถึงแล้ว) เสนอว่าการต่อสู้ของประชาชนชาวอียิปต์ที่เข้ายึดครองจตุรัสทาห์รีร์ในช่วงต้นปี ได้ให้กำลังใจแก่มวลชนอเมริกันเข้ามายึดครองวอลสตรีตบ้าง

ขณะเดียวกับการยึดครองวอลสตรีตที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ก็มีส่วนให้กำลังใจแก่ชาวอียิปต์ที่รู้สึกว่าชัยชนะเบื้องต้นของตนถูกปล้นไป กลับเข้ามาชุมนุมยึดครองจตุรัสนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้คณะนายทหารดำเนินการปฏิรูปการเมืองให้รวดเร็วขึ้น

การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ ถ้าหากถือกรณีอียิปต์เป็นตัวแทน ก็อาจกล่าวได้ว่าถึงขั้นที่สอง โดยในขั้นแรกสามารถขจัดอุปสรรคของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนลงในระดับหนึ่งแล้ว ก็ถึงวาระที่จะรักษาผลของชัยชนะนี้ไว้ และขยายสิทธิประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมต่อไป


การยึดครองวอลสตรีต : ความสำคัญและความสำเร็จ

การเคลื่อนไหวยึดครองวอลสตรีตริเริ่มขึ้นในเว็บไซต์ชื่อ adbusters.org ที่มีฐานอยู่ที่แคนาดาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2011 เรียกร้องให้มายึดครองวอลสตรีตอย่างสันติ เพื่อประท้วงอิทธิพลของบรรษัทโดยเฉพาะทางด้านการเงินที่มีเหนือประชาธิปไตย (เป็นอำนาจนอกระบบอย่างหนึ่ง) การที่นายธนาคารผู้ก่อวิกฤติหลุดรอดไปอย่างสบาย ไม่ถูกลงโทษ และประท้วงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ขยายตัวมากขึ้นทุกที มีคำขวัญของการเคลื่อนไหวว่า "เราคือพวกร้อยละ 99" อีกร้อยละ 1 ได้แก่พวกมหาเศรษฐีที่ปกครองประเทศ

การยึดครองวอลสตรีตโดยการชุมนุมอย่างยืดเยื้อนั้นถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ก่อนหน้านั้นหากผู้ใดมาสงสัยสถาบันการเงิน อาจถูกถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อต้านอเมริกา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก

แต่พบว่าการยึดครองครั้งนี้ได้รับการตอบสนองอย่างดีมากจากมวลชนในอเมริกา เกิดการยึดครองสถานที่ต่างๆ ในเมืองสำคัญทั่วสหรัฐ และยังลามไปยังเมืองในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก

กล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวนี้ได้สั่นสะทือนความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของสถาบันการเงินโลกอย่างมาก ซึ่งย่อมกระทบไปถึงระเบียบโลกด้วย

เมื่อถึงเดือนธันวาคม ทางการสหรัฐได้พยายามสลายการชุมนุมยืดเยื้อทีละจุด และก็มีข่าวขบวนยึดครองวอลสตรีตก็ได้จัดขบวนเพื่อการเคลื่อนไหวของตนใหม่ สำหรับสงครามอันยาวนาน

อนึ่ง ในต้นเดือนธันวาคม มีชาวรัสเซียนับหมื่นได้ชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งนับว่าเป็นประวัติการณ์ทีเดียว และเป็นการแพร่ลามไปอย่างคาดไม่ถึง


แนวโน้มจะเป็นอย่างไร

การต่อสู้เผชิญหน้ากันระหว่างมวลชนรากหญ้ากับกลุ่มอำนาจนำโลกนี้น่าจะเป็นความขัดแย้งสำคัญตลอดศตวรรษที่ 21 หรืออย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21

คาดหมายว่าในปี 2012 การต่อสู้นี้จะยกระดับขึ้นอีก สืบเนื่องจากวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่ผ่อนคลาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมต้องใช้เวลานานในการแก้ไข

สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง การปั่นป่วนจลาจล กระทั่งสงครามรูปแบบต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ในที่ต่างๆ อย่างฉับพลัน

หวังด้านดีที่สุดไว้ ขณะที่เตรียมรับมือกับด้านร้ายที่สุด เป็นคำแนะนำที่กล่าวกันมากในปัจจุบัน



++

สถานการณ์วิกฤติโลกปี 2011 และแนวโน้ม (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 38


สถานการณ์วิกฤติโลกปี 2011 ที่ควรกล่าวถึงอีก 2 เรื่อง

ได้แก่ วิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป
และวิกฤติภัยธรรมชาติ


วิกฤติหนี้ในประเทศตะวันตก

ที่เรียกว่าประเทศตะวันตกในที่นี้หมายถึง "กลุ่ม 7" คือ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในตะวันออก แต่วางฐานะตนเองเป็นประเทศตะวันตก กลุ่ม 7 นี้เป็นแกนของเศรษฐกิจโลก

หากขยายจากกลุ่ม 7 ก็รวมถึงสหภาพยุโรปด้วย โดย 4 ประเทศยุโรปตะวันตกในกลุ่ม 7 ได้เป็นแกนรวมประเทศอื่นเข้าเป็นสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศ สหภาพยุโรปนี้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ใหญ่กว่าสหรัฐเล็กน้อย ซึ่งในปี 2011 ได้เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างรุนแรง ลามไปหลายประเทศด้วยกัน จนคาดกันว่าอาจก้าวสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

สหภาพยุโรปมีสกุลเงินของตน เรียกว่ายูโร เป็นสกุลเงินหลักของโลกรองจากดอลลาร์สหรัฐ แต่มีเพียง 17 ประเทศในสหภาพยุโรปเท่านั้นใช้เงินสกุลยูโร ที่เหลือ 10 ประเทศ มีอังกฤษ เป็นต้น ยังใช้เงินสกุลเดิมของตน วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปที่เป็นข่าวดังนั้น เกิดในประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร แต่ความจริงในสหภาพยุโรปไม่ว่าใช้เงินยูโรหรือใช้เงินตราของตน ก็ล้วนมีปัญหาหนี้รัฐบาลด้วยกันในระดับใดระดับหนึ่ง

ไม่เพียงวิกฤติหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป รัฐบาลกลางสหรัฐก็มีหนี้สินมาก จนเกรงกันว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นมีหนี้สินท่วมตัวกว่าร้อยละ 200 ของจีดีพีประเทศ เนื่องจากใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจยาวนานเป็นสิบๆ ปี


วิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศตะวันตก
เกิดขึ้นอย่างไร

วิกฤติหนี้ในประเทศตะวันตกเป็นสิ่งที่สะสมมานานประมาณ 20-30 ปีมาแล้ว น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยใหญ่ 2 ประการ ได้แก่

ข้อแรก วิกฤติน้ำมัน 2 ครั้งในทศวรรษที่ 1970 ทำให้เศรษฐกิจของตะวันตกเกิดการชะงักงันยาวนาน เกิดภาวะเงินเฟ้อขณะที่การว่างงานสูง (Stagflation) อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุปัจจัยนอกระบบ

อีกข้อหนึ่ง อยู่ในระบบ ได้แก่ การนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่มาปฏิบัติในทศวรรษ 1980 ผลักดันให้เกิดกระบวนโลกาภิวัตน์ขึ้น เป็นการเปลี่ยนจากทุนอุตสาหกรรมเป็นใหญ่ สู่ทุนการเงินเป็นใหญ่ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค เพิ่มปริมาณเงิน ซึ่งก็คือเพิ่มหนี้สินขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐในปี 1982 มีหนี้รัฐบาลกลางราว 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในเดือนธันวาคมปี 2011 หนี้พุ่งไปถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์เศษ เพิ่มราว 15 เท่าในช่วง 30 ปี

หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางทหารด้วย

สำหรับประเทศในยุโรปตะวันตกนั้น มีค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการประกันสังคมและสุขภาพ

ส่วนยุโรปตะวันออกได้ใช้เงินเพื่อการพัฒนาประเทศ



สถานการณ์วิกฤติหนี้เป็นอย่างไร

สถานการณ์ทั่วไปในปี 2011 ก็คือ วิกฤติหนี้รัฐบาลประเทศตะวันตกมีแต่ทรงกับทรุด จำต้องใช้วิธีการพิเศษเพื่อแก้ไข

ในสหรัฐเกิดกรณีวิกฤติหนี้ใหญ่อยู่ 2 ครั้ง

ครั้งแรกได้แก่การที่รัฐบาลโอบามา ก่อหนี้จนเต็มเพดาน ต้องการขยายเพดานหนี้โดยออกกฎหมายผ่านสภาที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมาก จำต้องใช้การเจรจาต่อรองกัน แต่ก็มีความขัดแย้งกันสูงมากระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน จนเกิดวิกฤติเพดานหนี้ (United States Debt-ceiling Crisis) มีข่าวถึงขั้นว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่มีเงินใช้จ่ายตามปกติหากไม่สามารถกู้หนี้มาได้

จนกระทั่งสถาบันจัดอันดับสินเชื่อ สแตนดาร์ดแอนด์พัวส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือสินเชื่อพันธบัตรของสหรัฐลงเป็นครั้งแรก

ครั้งที่สอง เป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติเพดานหนี้ปี 2011 ของสหรัฐก็คือ ในเดือนสิงหาคมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจากทั้งสภาคองเกรสและสภาสูง และจากทั้ง 2 พรรคใหญ่เพื่อประกันว่าสหรัฐจะไม่ผิดชำระหนี้ นิยมเรียกคณะกรรมาธิการร่วมนี้ว่า "อภิกรรมาธิการ" (Super Committee)

แต่จนถึงเดือนพฤศจิกายนก็ยังตกลงเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ แสดงถึงความลึกซึ้งรุนแรงของปัญหาหนี้สหรัฐ

นอกจากนี้ วิกฤติเพดานหนี้ของสหรัฐยังมีลักษณะรื้อรัง นั่นคือ คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นอีกในปีงบประมาณปี 2012 และ 2013


วิกฤติหนี้รัฐบาลในเขตสกุลเงินยูโร (Euro zone Debt Crisis)

เป็นวิกฤติหนี้รัฐบาลที่เป็นข่าวดังในปี 2011 จนกลบข่าววิกฤติหนี้ในที่อื่นๆ

วิกฤติหนี้รัฐบาลในเขตสกุลเงินยูโรเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2009 และดังต่อเนื่องตลอดปี 2010

เป็นวิกฤติหนี้ในประเทศกรีซ ซึ่งได้มีความพยายามแก้ไขด้วย 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ การไถ่ถอนให้เงินกู้ยืมเพื่อไม่ผิดชำระหนี้ อีกด้านหนึ่งใช้การมัธยัสถ์ โดยรัฐบาลตัดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการและประกันสังคม เป็นต้น

ซึ่งบรรดาลูกจ้างพนักงานเห็นว่าเป็นการโยนเคราะห์กรรมให้แก่พวกตน โดยปล่อยให้เศรษฐีสถาบันการเงินอยู่อย่างสบาย จึงได้ก่อการประท้วงถึงขั้นลุกขึ้นสู้


เมื่อถึงปี 2011 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก นั่นคือขณะที่วิกฤติหนี้ที่กรีซยังแก้ไขไม่ตก แม้จะทุ่มเงินเพื่อการไถ่ถอนรัฐบาลกรีซเป็นครั้งที่สอง วิกฤติลามสู่ประเทศอื่นได้แก่โปรตุเกส สเปน และอิตาลี

จนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องประกาศรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนและอิตาลี

วิกฤติที่หนักหนามาก ได้แก่ ประเทศอิตาลี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าของกรีซหลายเท่า

วิจารณ์กันว่าอิตาลีนั้น "ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม และใหญ่เกินกว่าที่จะช่วยไถ่ถอน"

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงทุกที ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2011 ธนาคารกลางใหญ่ทั่วโลกอันได้แก่ธนาคารกลางของสหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา และสวิส ประกาศมาตรการระยะสั้น ลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นทั่วโลก

นับเป็นการร่วมมือของกลุ่มทุนการเงินโลกที่น่าจับตา

นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ประกาศลดการสำรองหนี้ของตน เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารของจีนเพิ่มการให้สินเชื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการที่ถาวรกว่า ที่ประเทศตะวันตกตั้งใจทำในที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2011คือ การแก้สนธิสัญญาสหภาพยุโรปให้มีการคลังที่เป็นเอกภาพขึ้น

ซึ่งหมายความว่าแต่ละประเทศจะตั้งงบประมาณตามใจตนไม่ได้ อังกฤษได้วีโต้ไม่ยอมรับอยู่ประเทศเดียว ซึ่งก่อความปั่นป่วนไปทั่วยุโรปและอังกฤษเอง


แนวโน้มจะเป็นอย่างไร

คาดหมายว่าในปี 2012 สถานการณ์น่าจะเลวร้ายขึ้น
โดยวิกฤติหนี้รัฐบาลขยายตัวต่อไป
อันดับความน่าเชื่อถือของสินเชื่อในเขตยูโรทั้ง 17 ประเทศอาจถูกลดลงทั้งหมด
จะเกิดการประท้วง การนัดหยุดงาน การจลาจลและการลุกขึ้นสู้ ในหลายที่
กลุ่มฝ่ายต่างๆ ทั้งปีกขวาและปีกซ้าย พยายามช่วงชิงอำนาจ

เหล่านี้ยิ่งทำให้วิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินเลวร้ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก



วิกฤติภัยธรรมชาติ

ปี 2011 นับเป็นปีแห่งหายนะทางธรรมชาติรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในเยอรมนีประเมินว่าความเสียหายจากอุบัติภัยธรรมชาติเพียง 6 เดือนแรกของปี 2010 สูงถึง 265 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประมาณว่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติปี 2011 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่า (ดูบทรายงานชื่อ Natural Disasters in 2011 Costliest Ever ใน discovery.com 120711)

ปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้ง ที่ก่อหายนะสูง ได้แก่ แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ความรุนแรง 9.0 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ 2 แนว แล้วรวมเป็นคลื่นเดียว ก่อความเสียหายรุนแรงเป็นพิเศษ

ผู้คนเสียชีวิตและสูญหายเกือบ 2 หมื่นคน

ทำให้เกิดการหลอมละลายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของกลุ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฟุคุชิมา

ผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสียังไม่จบ ทั้งบนตัวเกาะและมหาสมุทรที่ใกล้บริเวณเกิดอุบัติภัย มีข่าวการกลายพันธุ์ของผักผลไม้หลายชนิด

คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้เสร็จ


ลมฟ้าอากาศรุนแรงในที่ต่างๆ

ในปี 2011 ปรากฏภัยจากลมฟ้าอากาศแปรปรวนทั่วโลก ซึ่งกล่าวกันว่ามีสาเหตุจากปรากฏการณ์ลานิญา ที่อุณหภูมิผิวมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรต่ำกว่าปกติราว 3-5 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ต้นปี 2011 และคาดว่าจะอยู่ไปจนถึงปี 2012 ผสมด้วยภาวะโลกร้อน โดยจะยกตัวอย่างในบางประเทศดังนี้

ในสหรัฐ เกิดพายุทอร์นาโดหลายลูกมากเป็นพิเศษ เฉพาะในเดือนเมษายน 2011 เดือนเดียวมีพายุถึง 600 ลูก (เฉลี่ยสหรัฐเกิดพายุทอร์นาโดใหญ่น้อยราว 1,200 ลูกต่อปี) ก่อความเสียหายร้ายแรงในหลายรัฐ ทางตอนกลางของประเทศ

ทอร์นาโดบางลูกเรียกได้ว่าเป็นอภิทอร์นาโด มีขนาดความกว้างถึง 1 ไมล์ มีความเร็วสูงสุดกว่า 260 ไมล์ต่อชั่วโมง และเดินทางไกลถึง 300 ไมล์

ทอร์นาโดเหล่านี้ก่อความเสียหายต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สินและการเกษตร รวมทั้งการเลี้ยงไก่อย่างมาก

พายุเฮอริเคนไอรีน ทำความเสียหายในหลายรัฐทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ รวมทั้งนิวยอร์ก ก่อความเสียหายระหว่าง 10 ถึง 15 พันล้านดอลลาร์ มีผู้เสียชีวิต 47 คน

เกิดอุทกภัยทางตอนกลางใต้และลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี และเกิดภัยแล้งทางตอนใต้ฝั่งตะวันตก เกิดไฟป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตั้งแต่ฤดูไบไม้ผลิตถึงฤดูไบไม้ร่วง

ที่ประเทศจีน เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเกิดภัยแล้งใน 8 มณฑลตอนเหนือของจีนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีสำคัญ เริ่มแต่เดือนกันยายน 2010 จนถึงเดือนมิถุนายน 2011 เป็นภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปีของจีน กระทบต่อคน 35 ล้านคน ราว 4.2 ล้านคน ขาดน้ำดื่ม ความเสียหายราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

และหลังจากนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2011 เกิดฝนตกหนักและอุทกภัย ใน 12 มณฑล กระทบต่อประชาชน 36 ล้านคน ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 355 คน

ที่ประเทศไทย เกิดมหาอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุม เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงธันวาคม จากจังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือ จนถึงกรุงเทพฯ ในภาคกลาง กระทบต่อผู้คนกว่า 12.8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 600 คน

ก่อความเสียหายเหมือนผ่านสงครามกลางเมือง

ความเสียหายทางวัตถุและการเสียโอกาส อาจสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท

ธนาคารโลกประเมินว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ก่อความเสียหายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ในโลกที่บันทึกมาจนถึงปี 2011 ต้องใช้เวลาบูรณะอีกนาน


แนวโน้มจะเป็นอย่างไร

แนวโน้มทั่วไปคือทั้งโลกจะเกิดความเสียหายทางทรัพย์สินเนื่องด้วยภูมิอากาศมากขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างและการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น
เช่น ประชากรจำนวนมากขึ้นทุกทีอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลอันเป็นที่ราบต่ำ
และมลพิษจากประเทศหนึ่งก็ก่อความเสียหายแก่อีกประเทศหนึ่งมากยิ่งขึ้นตามการขยายตัวของการผลิต

ถึงเวลาตั้งสติ ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง ดำเนินชีวิตอย่างพอเหมาะพอสม



.