http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-03-03

สัมภาษณ์“นิธิ” วิกฤตการเมืองไทย : เราต้องรักษาระบอบเอาไว้

.

คลิปสัมภาษณ์พิเศษวิกฤตการเมืองไทยในมุมมอง “นิธิ เอียวศรีวงศ์” : เราต้องรักษาระบอบเอาไว้
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393844690
. . วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:30:58 น.


เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "อดินันท์ เหมือนยัง" ผู้สื่อข่าวมติชนทีวี เชิญนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศอย่าง "นิธิ เอียวศรีวงศ์" มานั่งพูดคุย วิเคราะห์ ปัญหาเรื้อรังของการเมืองร่วมสมัย ที่แลดูเหมือนมืดมิดไร้ทางออก

มติชนออนไลน์นำคลิปสัมภาษณ์พิเศษ 2 ตอนดังกล่าว มาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับชมกันอย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์ละเอียดๆ ฉบับตัวหนังสือ สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะดูคลิป

-----


อดินันท์: จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจำเป็นแค่ไหนที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไป

นิธิ: จำเป็นไหมที่ประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตยต่อไป ผมคิดว่าจำเป็น และถ้าจะเป็นประชาธิปไตยต่อไป ผมว่าเราต้องเคารพกติกาของระบอบที่มันปรากฎไว้ในกฎหมาย มันไม่มีทางที่คุณยิ่งลักษณ์จะทำอย่างอื่นได้เลย นอกจากว่าจะต้องรักษาการต่อไป เพราะว่ากฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่า ต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และถามว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่รักษาการ แล้วเราจะมีรัฐบาลมาจากไหน


อดินันท์: แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับสภาพที่ว่ารัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ แบบนี้หรือเปล่า

นิธิ: เป็นเรื่องอันตรายที่สุดในขณะนี้ที่ว่า เมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาอย่างนี้ ก็แปลว่ารัฐไม่มีพลังหรือไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรอีกเลยในการรักษาบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย นั่นหมายความถึงรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในตัวของเราเองด้วย

เรามารวมตัวเป็นรัฐเนี่ย จุดมุ่งหมายประการแรกสุดเลยของการเป็นรัฐ ตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณที่ไหนก็แล้วแต่ ก็คือว่าเขาต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือรักษาความปลอดภัย ไม่งั้นเราก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างพกอาวุธ ต่างสร้างกองกำลังของตัวเอง เราก็อยู่กันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นจะทำอย่างไร ผมก็ได้แต่หวังว่า ระบบราชการ ในแง่หนึ่งมันก็มีข้อไม่ดีเยอะมากในประเทศไทย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อย่าลืมนะครับว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้เพิ่งเสียเครื่องมือในการบริหารประเทศ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลแพ่ง ที่จริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เสียเครื่องมือจากการที่พยายามอดออมที่จะไม่ตอบโต้กับการกระทำกลุ่มกปปส. มานานพอสมควรแล้ว

แต่ประเทศไทยก็ยังพออยู่ อยู่อย่างกะพร่องกะแพร่ง รัฐบาลในที่นี้หมายถึงระบอบการปกครอง ไม่ได้หมายถึงพรรคการเมือง อยู่ได้อย่างไร คำตอบคือ อยู่ได้เพราะระบบราชการ จะดีจะชั่วอย่างไรผมว่าในช่วงนี้มันพิสูจน์ว่า ราชการไทยพยายามอย่างยิ่งในการรักษาความเป็นรัฐเอาไว้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง อะไรก็แล้วแต่เถิด


อดินันท์: แสดงว่าอีกฝ่ายเขาก็อ่านออกใช่ไหมครับ เขาพยายามทำให้ราชการที่เหลือยังทำงานไม่ได้

นิธิ: คือได้เฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคใต้ แต่เสร็จแล้วพอข้าราชการเขามีโอกาสกลับเข้าไปทำงาน และมีหลายแห่งแอบเข้าไปทำงาน คือ เขามีความรู้สึกเป็นหลักว่า การจะทำให้บ้านเมืองมันอยู่ได้ ในแง่นี้ผมคิดว่าควรยกย่องเขาหน่อย ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ ส่วนหนึ่งผมว่าเขาพยายาม


อดินันท์: อีกแง่หนึ่งอาจารย์มองไม่เห็นแง่ดี แง่บวกของกลุ่มกปปส. เลยหรือครับ

นิธิ: ผมคิดว่า กปปส.ทำอะไรที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย คือแน่นอนการที่สังคมลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของรัฐบาล ผิดถูกก็แล้วแต่มันเป็นสิทธิของเขา แต่คุณไปยึดถนนจนรถติดทั้งเมือง อันนี้มันเกิน

คุณไปยึดสถานที่ราชการ อันนี้คุณทำได้ แต่การทำโดยสงบที่ประเทศอื่นเขาทำกัน คือคุณแบบเข้าไปนั่ง Sit-in นั่งให้เต็มเลย จนข้าราชการเดินไปไม่มีอันตรายใดเลย แต่เดินไปไหนมาไหนไม่สะดวก ไปห้องน้ำไม่ได้ จนรู้สึกลำบากมากๆ ในการที่คุณจะออกมา อันนั้นไม่เป็นไร ไม่มีใครรู้สึกถูกคุกคาม ถ้าข้าราชการจะเดินออกมา เขาต้องระมัดระวังคนเดิน คนนั่งเบียดกันเข้ามา คนนอนเต็มไปหมด ทำอย่างไรให้ไม่ไปเหยียบตัวคนเหล่านั้นต่างๆ นานา มันลำบากลำบนแสนเข็ญ อย่างมากแค่นี้

แต่แน่นอนกปปส.ไม่มีกำลังคนมากพอจะทำแบบนั้น คุณใช้วิธีการนำโซ่ไปคล้องประตู แล้วคุณก็ตะโกนสั่งให้คนออกมา คุณใช้วิธีการข่มขู่คุกคามให้คนออกมา อย่างนี้ไม่ใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตย และมันอันตรายมากๆ เพราะว่ามันกลายเป็นว่าใครที่มีอำนาจจากฝูงชน จากสิ่งลี้ลับอะไรแล้วแต่ คุณสามารถทำลายระบอบได้ทั้งระบอบเลย


อดินันท์: ที่นี้ตัวละครอื่นๆ นอกจากรัฐบาล นอกเหนือจากกปปส. คนก็จะตั้งคำถามไปถึงเรื่ององค์กรอิสระที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเล่นที่สำคัญมาก หลังจากนี้เป็นต้นไป อาจารย์มองอย่างไรบ้างครับ

นิธิ: จริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็เล่นบทที่จะไม่เอื้อต่อการเป็นระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว เขาออกร่างพ.ร.บ.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณก็ไม่ยอมให้แก้ ไม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือมาตราเดียว คุณก็ไม่ยอมให้แก้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันจะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร น่าตลกแท้ๆ องค์กรอิสระเล่นมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตให้ดีว่า องค์กรอิสระไม่สามารถล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างสะเด็ดน้ำได้ มันไม่มีทางเลย

สมมติว่าป.ป.ช. ตัดสินว่าคุณยิ่งลักษณ์มีมูลความผิด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติงานในเรื่องการป้องกันการทุจริต กรณีการจำนำข้าว คุณยิ่งลักษณ์ก็ปฏิบัติงานไม่ได้ ก็ตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในการที่จะมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จบ ก็ยังอยู่ได้อีก ป.ป.ช.บอกรับลูกจากศาลรัฐธรรมนูญว่าคนที่ลงคะแนนแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด คุณปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรอีกล่ะ คุณก็ยังมีคนในคณะรัฐมนตรีที่เขาไม่ได้ลงคะแนนเพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเลย เขาก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปได้ คือไม่มีจุดไหนที่คุณจะสะเด็ดน้ำได้เลย นอกจากการทำรัฐประหาร


อดินันท์: นั่นหมายความว่าเราจำยอมที่จะอยู่สภาพแบบนี้ เพื่อที่จะรักษาระบบไว้

นิธิ: แน่นอนเพราะคนที่ไม่รักษาระบบจะเกิดปัญหามากกว่านี้อีกแยะ ในอนาคต อย่างที่ผมพยายามมาพูดอยู่ว่าคนมานั่งห่วงแต่เพียงว่าคนไม่มาลงทุน ถ้าสมมติคุณปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพซ่องโจรแบบนี้ ใครจะมาลงทุน มี แต่เป็นนักลงทุนมหาโจรไง คุณหลบเลี่ยงภาษีทีเป็นหมื่นๆ ล้านบ้าง คุณใช้วิธีการติดสินบนเบี้ยบ้ายรายทางให้กับคนที่มีอำนาจบ้าง คุณต้องการเหรอนักลงทุนแบบนั้น แล้วคุณบอกว่าคุณจะแข่งขันกับคนอื่นเขา ดีเหรอ ฉะนั้นถ้ามองอนาคตระยะยาวแล้ว ผมว่าความเสียหายในระยะยาวจะเกิดมากกว่าการที่เราพยายามจะรักษาตัวระบอบเอาไว้ให้ได้


อดินันท์: ว่าให้ถึงที่สุดแล้วตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย คืออย่างรัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ได้น่ารัก

นิธิ: ก็ไม่ได้น่ารัก บกพร่องแยะมาก แต่ก็น่าเสียดาย เพราะผมเชื่อว่าพวกกระฎุมพีที่อยู่ในเมืองก็ตาม หรือคนชนชั้นนำที่มีอำนาจอยู่แล้วก็ตาม คุณสามารถสู้กับรัฐบาลชุดนี้ในระบอบประชาธิปไตยได้เยอะแยะไปหมดเลย มีวิธีการได้เยอะแยะ ทำไมคุณไม่เลือกวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในการต่อสู้ ซึ่งจริงๆ แล้วกับรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอนะ เป็นแต่เพียงเขาได้คะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมาก แต่คะแนนเสียงเหล่านี้ก็จะถูกบ่อนทำลายด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ ทำไมคุณไม่ทำ


อดินันท์: อยากให้อธิบายประเด็นที่เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งนี้อาจเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นกลางใหม่ที่ขยับมาจากคนรากหญ้า

นิธิ: สำหรับการเมืองในประเทศไทยจะพบได้ว่าคนที่มีอำนาจจริงๆ คือ กลุ่มคนชั้นกลางที่เติบโตมาจากการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 50 ปีมาแล้ว คนกลุ่มนี้ได้อำนาจทางการเมืองไม่ว่าจะทีละเล็กทีละน้อยหรืออะไรก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วก็คือกลุ่มคนที่ร่วมมือกับชนชั้นนำที่เคยมีมาในสังคมไทย จะเป็นกองทัพ ผู้พิพากษา หรืออะไรก็แล้วแต่ ในการรักษาอำนาจเอาไว้สืบต่อมา

จนวันหนึ่งเมื่อคนชั้นกลางที่เกิดใหม่จากผลการพัฒนาเหมือนกัน แต่เขาเกิดโดยไม่มีอำนาจทางการเมือง พอเขาไม่มีอำนาจทางการเมืองแล้วมาพบว่า เขาเองก็ต้องการนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อเขาเช่นกัน อย่าพูดว่านักธุรกิจไทยล้วนแต่สร้างตัวเอง โดยไม่มีนโยบายสาธารณะคอยหนุนหลัง มันไม่จริง ทั้งโครงสร้างภาษี อะไรอีกร้อยแปดที่รัฐได้ใช้ทรัพยากรรวมเกื้อหนุนแก่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย คนกลุ่มใหม่ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทก็ต้องการสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องต่อรองทางนโยบาย

ในการต่อรองนี้ เชื่อว่า กระฎุมพีในเมืองหรือชนชั้นนำเดิมก็ตาม ถ้าสู้ในระบอบประชาธิปไตย คุณก็ยังชนะอยู่ดี ยังชนะต่อไปอีก อาจหนึ่งชั่วคนก็ได้ อีก 30 ปีก็ได้


อดินันท์: ถ้าผ่านระบบเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ฝั่งชนชั้นกลางใหม่เป็นฝ่ายที่เยอะกว่าหรือเปล่า

นิธิ: ไม่จำเป็นที่คนชนชั้นกลางใหม่จะต้องไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเผื่อพรรคเสนอนโยบายที่แข่งกันกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเหตุมีผลที่มันจูงใจได้มากกว่า ไม่ใช่เอาเงินไปทุ่ม อย่าไปคิดว่าคนอื่นเขาโง่ เชื่อว่า ในที่สุดคุณก็เอาคนเหล่านี้มาสนับสนุนจนได้เหมือนกัน มันไม่ได้หมายความว่า ไม่มีวันหรอกที่คุณจะชนะพรรคเพื่อไทย มันไม่จริง

ลองคิดดูว่า คนชั้นกลางใหม่ที่เติบโตมาในช่วงนี้ ถามว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่จริงๆ แล้วทำงานอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ล้มไป คนเหล่านี้ก็เดือดร้อนเยอะเหมือนกัน มันก็มีคนที่ทำเกษตรส่วนตัวเล็กๆ เช่น ปลูกบัวขายแถวนครปฐม พวกนี้อาจไม่เป็นไร บริษัทใหญ่ๆเจ๊งก็เจ๊งไป แต่อีกจำนวนมากส่งลูก ส่งหลาน ทำงานในบริษัทใหญ่ ตั้งแต่แรงงานขึ้นมาถึงแรงงานที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์มันสำคัญ มันเชื่อมโยงกัน

มันจะยากอะไรในการที่บริษัทใหญ่จะทำให้เห็นว่า "ผลประโยชน์ของเขากับของคุณมันไม่ได้ขัดแย้งกันนะ มันไปด้วยกันนะ" แบบนี้เป็นต้น ซึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกหลายสังคม กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่เกิดขึ้น บางทีฐานผลประโยชน์ไม่ได้สัมพันธ์กันกับฐานผลประโยชน์ของกลุ่มคนชนชั้นนำเดิมเลยด้วยซ้ำ แต่ในเมืองไทยมันค่อนข้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน แต่เพียงต้องเปิดให้เขามีโอกาสเข้ามาต่อรองเชิงนโยบายบ้าง


อดินันท์: มุมมองของอาจารย์คือ คนที่ขยับจากชนชั้นล่างมาเป็นชนชั้นกลางใหม่ ไม่จำเป็นต้องผูกติดระบอบทักษิณ

นิธิ: ไม่จำเป็นเลยทั้งสิ้น


อดินันท์: ที่ผ่านมาเขาไม่มีทางเลือก

นิธิ: จะเป็นความฉลาดของคุณทักษิณ หรือคุณทักษิณมองการเมืองออก หรืออะไรก็แล้วแต่ แกเป็นคนที่ทำให้นโยบายที่เอื้อต่อชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้มันประจักษ์แก่ชนชั้นกลางใหม่ทันที

ยกตัวอย่างตามที่มักพูดกันเสมอก็ได้ อย่างโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" แต่ก่อนเวลาชาวนาที่เลี้ยงตัวเองแท้ๆ ล้มป่วยขึ้นมา คุณมี 2 อย่างในสังคม อย่างน้อยที่สุดมีสังคมคนโบราณ คุณเข้าถึงแพทย์ แต่อาจจะเป็นแพทย์ที่ถูกดูถูกว่าไม่เก่งก็ได้ ต่อมาคือมีสิ่งที่ปัจจุบันชอบเรียกว่า "Social Safety Net" (เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม) คุณมีญาติพี่น้อง มีประเพณีบางอย่างที่จะจุนเจือกันและกัน เช่น ในอีสาน ถ้าหมู่บ้านหนึ่งอดอยาก ทำนาล่ม คุณมีสิทธิ์เดินไปหมู่บ้านอื่นที่เขาทำนาไม่ล่มแล้วไปขอทานข้าวมา ซึ่งแปลว่า เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่หมู่บ้านนั้นทำนาล่มบ้าง เขาก็มีสิทธิ์เดินมาขอข้าวกินบ้าง ตรงนี้คือ "เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม" อย่างหนึ่ง

แต่ตอนนี้เขาไม่มีแล้ว Social Safety Net แบบเก่าพังไปหมดแล้ว ฉะนั้น เวลาที่คนในครอบครัวป่วย มันล้มละลายเลย ดังนั้น การที่คุณทักษิณบอกว่า 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ความคิดคุณทักษิณแท้ เพราะพวกหมอเองก็ดิ้นรนผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว คุณทักษิณรับนโยบายนี้ไป มันถูกใจพวกเขามากเลย เพราะเขาเข้ามาอยู่ในตลาด คนเราพอเข้าตลาด สิ่งสำคัญในชีวิตคือความมั่นคง คุณต้องมีความมั่นคง พอคุณไม่มีความมั่นคงในชีวิต คุณทักษิณให้ความมั่นคงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันสำคัญต่อเขา


อดินันท์: คนที่ไปเคลื่อนไหวกับกปปส. หรือที่เรียกว่า กระฎุมพี หรือชนชั้นกลางเก่า เอาเข้าจริง อาจไม่ได้มองเรื่องชนชั้น แต่เขามองเรื่องผิด-ถูก ถ้าจะมองว่ามีการประโคมว่า ระบอบทักษิณผิด เขาก็เชื่อว่าอันนี้ผิด ก็ออกไปต่อต้านกัน

นิธิ: อันนี้อยู่ที่ว่าคุณเช็คข้อมูลบ้างหรือเปล่า ผมเห็นว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ทำผิดหลายเรื่อง แต่คุณไปเช็คดูว่า สิ่งที่ผิดคืออะไรบ้าง แล้วเรามีทางยับยั้งไม่ให้เขาทำผิดแบบนี้ได้ไหม เช่น ถ้าคุณคิดว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดทุจริตจำนวนมาก คุณก็ต้องจับให้ได้ว่า มันมีกรณีทุจริตที่ไหนบ้าง และช่องโหว่นี้มาจากไหน เป็นต้น


อดินันท์: แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ว่า เสพสื่อทางเดียวก็เป็นปัญหา

นิธิ: ใช่ อันที่เป็นปัญหาคือ สื่อเราไม่ทำงาน ถ้าเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ดี ก็ต้องไม่ใช่ง่ายๆ แค่ว่า ราคาข้าวแค่หมื่นเดียวแล้วคุณรับจำนำ 15,000 บาท มันไม่ใช่ไม่ดีแค่นั้น ตรงนี้ดีหรือเปล่ายังเถียงกันได้ แต่สื่อต้องมากับคำถามที่ว่า มันมีการทุจริตในกรณีใดบ้าง เป็นต้น

การประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีช่องทุจริตได้หมด ยังมีคดีอยู่ในป.ป.ช. 4 ปีแล้วยังไม่ได้ตัดสินอะไรเลยสักอย่าง คิดว่าสื่อควรช่วยกันในการหาทางอุดช่องโหว่เหล่านี้ คือคุณใช้เงินเป็นแสนๆ ล้านในประเทศไทยแล้วบอกไม่มีใครโกงเลยมันเป็นไปไม่ได้ โกงทั้งนั้น แต่ว่าเราต้องช่วยกันไปค้น ไปขุด ไปเจาะให้ได้ว่าช่องโหว่ต่างๆ มันอยู่ตรงไหนกันแน่


อดินันท์: นับจากจุดนี้ไป จะทำอย่างไรจึงจะมีทางออกให้กับประเทศ

นิธิ: ยังมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากคุณต้องรักษาระบอบไว้เพื่อประโยชน์ระยะยาวของเราเอง คือต้องเลือกตั้งให้ครบ ต้องพยายามหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้


อดินันท์: แต่ถ้าออกมาสูตรนี้เหมือนรัฐบาลปัจจุบันได้หมด แต่ กปปส. จะไม่ได้อะไรเลย

นิธิ: ทำไม กปปส.จะต้องได้ล่ะ? ผมยังไม่เข้าใจเลย คือถ้าคุณอยากจะได้แล้วคุณใช้วิธีการเคลื่อนไหวในทางที่ถูกกฎหมาย แล้วเขาบอกคุณไม่ได้เลย อย่างนี้สิต้องถาม แต่คุณทำสิ่งที่เกินกฎหมายทั้งสิ้น เกิดความเดือดร้อนไปหมด แล้วคุณบอกคุณต้องได้บ้าง ใครๆ ก็ทำแบบนี้หมดสิ


อดินันท์: แต่สูตรการเจรจาคือ อย่างน้อยก็ควรไม่มีใครเสียทั้งหมดหรือเปล่า

นิธิ: คำว่าเจรจาในที่นี้หมายถึงเจรจาระหว่างใครกับใคร คุณบอกว่าเจรจาระหว่างกปปส.กับรัฐบาล แล้วทำไมกปปส.ถึงใช้วิธีแบบนี้ในการที่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจขึ้นมาเจรจา กปปส.มีโครงการอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับชาวนาควรได้รับเงินประกันราคาข้าว แล้วทำไมชาวนาไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาบ้าง เพราะอย่างนั้น คำว่าการเจรจาในที่นี้ เอาเข้าจริงก็คือระบอบประชาธิปไตย คือตัวระบอบการเจรจา

ถ้าคุณบอกไม่เอา เลือกตั้งอะไรก็ไม่เอา แล้วถ้าจะให้ผมเป็นคนเจรจากับคุณ ถามว่าคุณเป็นตัวแทนของใคร

อดินันท์: อาจารย์ยันยันว่า การเลือกตั้ง และระบอบต้องเดินหน้าต่อไปก่อน

นิธิ: เพราะถ้าคุณยังเชื่อในการเจรจา มันมีวิธีเจรจาอย่างอื่นไหมนอกจากตัวระบอบประชาธิปไตย มันไม่มี


.....................................


www.youtube.com/watch?v=MZdGqg00SW0


www.youtube.com/watch?v=QKaFUAKzbqA



.