http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-03-25

ตลาด โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ตลาด
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/03/52424
. . Mon, 2014-03-24 17:44

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ21-27 มี.ค.57 ปี34 ฉ.1753 หน้า 32)


ชาวบ้านที่รณรงค์รักษาป่าชุมชนมักพูดว่า ป่าของเขาคือตู้เย็นของชุมชน จะทำอาหารก็เข้าป่าเก็บวัตถุดิบมาปรุงอาหารได้ทุกเมื่อ

คนที่ใช้ตู้เย็นจริงๆ อย่างผมฟังแล้วรู้สึกดีจัง เพราะรู้ว่าของที่อยู่ในตู้เย็นนั้น ไม่ได้งอกขึ้นมาเอง ต้องเอาเงินไปซื้อหามาจากตลาดทั้งนั้น

ชาวบ้านกำลังพูดถึงการบริโภคนอกตลาด ซึ่งเป็นแบบแผนการบริโภคของคนทั้งโลกตลอดมา จนเมื่อสองสามร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง


การบริโภคนอกตลาด หมายถึงการผลิตและกระจายสินค้าที่จำเป็นแก่การบริโภคด้วยตนเอง ในครอบครัวหรือในชุมชนหรือในเผ่า อาจตั้งใจผลิตเกินกว่าที่จะบริโภคได้หมด เพื่อไปแลกกับสิ่งอื่นที่จำเป็นบ้าง เช่นผลิตเกินเพื่อเอาไปถวายนายแลกกับสิทธิการใช้ที่ดิน ชุมชนเลี้ยงสัตว์ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เกิน เพื่อไปแลกอาหารที่มาจากพืชกับชุมชนอื่นหรือเผ่าอื่น

ขอให้สังเกตอะไรสองสามอย่างในการผลิตแบบนี้ด้วยนะครับว่า ประการแรก การบริโภคเกินจำเป็นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิต แต่ละคนก็มีเวลาพอๆ กัน จะเหนื่อยเพื่อบริโภคให้เกินหน้าคนอื่นไปทำไม

ก็มีเหมือนกันครับ คนที่บริโภคได้มากกว่าคนอื่น นั่นคือคนที่บริโภคได้โดยไม่ต้องผลิต ได้แก่มูลนายซึ่งได้สินค้ามาจากการเก็บส่วยจากไพร่ นักรบของนายเช่นอัศวินในยุโรปหรือซามูไรในญี่ปุ่น อาจไม่ได้ผลิตอะไรเลย วันๆ ได้แต่แลกดอกไม้กับผ้าเช็ดหน้าของผู้หญิงสวยไปเรื่อยๆ พวกนี้ก็ได้บริโภคส่วนแบ่งของนายโดยไม่ต้องผลิตเหมือนกัน

แต่จำนวนของคนที่บริโภคได้โดยไม่ผลิตในทุกสังคมโบราณ มีจำกัด เพราะมีมากเกินไป ไพร่ก็จะหนีนายเข้าป่าหมด เพราะเหนื่อยเกินกว่าจะเลี้ยงดู “ชนชั้นเวลาว่าง” ได้ไหว รัฐโบราณเกณฑ์ทัพขนาดใหญ่ได้เป็นครั้งคราว แต่มีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังจะหาสินค้ามาบริโภคโดยคนจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำการผลิต


ดังนั้น เวลาเราแสดงความชื่นชมยินดีกับชัยชนะอันรุ่งโรจน์ของกษัตริย์โบราณแต่ละครั้งนั้น ก็ควรคิดถึงความอดอยากแสนสาหัสของผู้คนจำนวนมาก ที่ขาดกำลังการผลิตไปปีสองปี กว่าจะกลับมาผลิตจนมีอาหารบริบูรณ์ได้ใหม่หลังสงคราม ก็ต้องกินเวลาหลายเดือน หรือบางครั้งหลายปี


ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผลิต-บริโภค-กระจายสินค้าของโลกโบราณนั้น แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อแยกไม่ได้ ก็ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนเป็นคนละด้านกันนั้น แยกจากกันไม่ได้ไปด้วย กิจกรรมทางวัฒนธรรมและสังคมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเดียวกัน เข้าร่วมงานบุญผะเหวด ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสังคม อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการผลิตและบริโภค

ที่เรามองเห็นวิชาความรู้ก็ตาม แม้แต่ชีวิตก็ตาม สามารถแยกออกได้เป็นส่วนๆ โดยไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ล้วนเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ทั้งนั้น

ดังนั้น แบบแผนการบริโภคของคนโบราณทั้งโลก จึงแตกต่างจากการบริโภคในสมัยปัจจุบันอย่างมาก กล่าวโดยสรุปก็คือพวกเขาบริโภคนอกตลาด ในขณะที่พวกเราบริโภคในตลาด


บริโภคในตลาด หมายถึง แยกการผลิตและการกระจายสินค้าออกไปจากการบริโภค คนไม่ได้กินหรือใช้สิ่งที่เขาผลิต ไม่ได้รับสินค้ามาบริโภคผ่านการกระจายในครอบครัว, ชุมชน, หรือเผ่า ดังนั้น เครือข่ายความปลอดภัยในการบริโภคจึงไม่มี หากไม่มีเงินเสียอย่างเดียว ก็ไม่สามารถบริโภคได้หรือเพียงพอ

โลกเผชิญความอดอยากอย่างกว้างขวางกว่ายุคสมัยใดๆ เมื่อทุกคนต้องบริโภคในตลาด มีคนขาดปัจจัยจำนวนมากที่ถูกกีดกันออกไปจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า หรือตลาดบริการ เช่น โรงเรียน, โรงพยาบาล ตลอดไปจนถึงบริการจากรัฐซึ่งหลายครั้งก็จัดการกระจายกันใน “ระบบ” ตลาด

เมื่อขาดปัจจัยที่จะบริโภค โอกาสการพัฒนาก็หายไปด้วย เช่นไม่มีเงินเรียนหนังสือ (ในโรงเรียนดีๆ) ก็ทำให้ไม่สามารถก้าวไปหาเงินค่าตอบแทนงานของตนในอัตราสูงได้ จึงเป็นผู้ขาดปัจจัยการบริโภคไปตลอดชีวิต หรือตลอดโคตร คือมีผลไปถึงลูกหลานด้วย

ตรงกันข้ามกับไม่มีปัจจัยเพื่อบริโภค คือมีปัจจัยล้นเกิน คนกลุ่มนี้ก็จะบริโภคมากเกินความจำเป็น เพราะการบริโภคในตลาดทำให้แบบแผนการบริโภคกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผู้บริโภค เช่น บอกสถานภาพทางสังคม, บอกรสนิยม, บอกระดับการศึกษา, บอกสถานภาพทางเศรษฐกิจ และแน่นอน บอกสถานภาพทางการเมือง (หรือในความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคม) สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเสียยิ่งกว่าตัวสินค้า จนนักปราชญ์บอกว่า เรากำลังบริโภคสัญญะ ไม่ใช่บริโภคสินค้า ซึ่งทำให้เราบริโภคอย่างไรก็ไม่อิ่มสักที

บริโภคนิยมเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราบริโภคในตลาด เพราะการบริโภคไม่สัมพันธ์กับการผลิตของแต่ละคน จึงมีคนที่มีปัจจัยสำหรับบริโภคเกินกำลังการผลิตของตนไปมากมาย




ตลาดมาจากไหน?

สถานที่หรือช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการคงมีมาแต่บรมสมกัลป์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคในตลาด ถึงมีสินค้าบางตัวที่จะบริโภคได้ก็ต้องไปแลกเปลี่ยนเอามาจากตลาดบ้าง เช่น คนยุโรปจะได้กินน้ำตาลอ้อยหรือเครื่องเทศ ก็ต้องไปแลกเปลี่ยนเอามาจากตลาด หรือคนไทยอยุธยาไปแลกยาสูบมาจากตลาด แต่สินค้าเหล่านี้เป็นส่วนน้อยมากในชีวิต ส่วนใหญ่ของสินค้าที่บริโภคกันก็ผลิตขึ้นในครอบครัว, ชุมชน หรือเผ่าของตนเอง

ตลาดจึงสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนไม่สู้จะมากนัก ดังเช่นอยุธยานั้นเป็นแหล่งค้าขายที่คึกคักมากแห่งหนึ่งของภูมิภาค มีสินค้าหลากหลายประเภทไหลเข้าและออกจากอยุธยา แต่สินค้าเหล่านั้นก็แทบไม่ได้กระทบการบริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ หากจะกระทบบ้างก็คือถูกเกณฑ์แรงงานไปหาสินค้าบางอย่างในป่าเพื่อส่งส่วยให้หลวง

(แม้ว่าหนังฮอลลีวู้ดและหนังไทยมักแสดงภาพคนเดินขวักไขว่ในตลาดโบราณ แต่ที่จริงแล้ว คนเหล่านั้นคือพ่อค้าหรือคนเมืองฐานะดีจำนวนน้อยเท่านั้น)

ตลาดเริ่มขยายตัวเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าของคนจำนวนมากขึ้นก็เพราะความรุ่งเรืองของการค้า และเกิดในยุโรปก่อน คนเข้ามาในอาชีพค้าขายและผลิตสินค้าป้อนตลาดมากขึ้น ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคอย่างที่เคยเป็นมา เช่นเมื่อค้าขายทางไกลมากขึ้น ก็ต้องมีลูกเรือมากขึ้น มีคนขนของมากขึ้น มีช่างสร้างซ่อมเรือกำปั่นมากขึ้น มีคนผลิตน้ำมันมะกอกเพิ่มขึ้น ฯลฯ คนเหล่านี้บริโภคจากการผลิตของตนไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปแลกเปลี่ยนในตลาด

การผลิตขนแกะและผลิตภัณฑ์จากขนแกะของเจ้าที่ดินในอังกฤษอย่างเดียว ก็ทำให้เกิดคนที่ไม่ได้บริโภคจากการผลิตของตนเองไปไม่รู้เท่าไรแล้ว ทาสติดที่ดินถูกขับไล่ออกไปจากที่ทำกินของตน ต้องมาเช่ากระท่อมของเจ้าที่ดินอยู่ชายขอบ เพื่อขายแรงงานในอุตสาหกรรมขนแกะของเจ้าที่ดิน และมีชีวิตอย่างอดอยากยากแค้นแสนสาหัส


Pauperism หรือความอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ที่เกิดแก่คนจำนวนมาก เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคมที่มากับการขยายตัวของตลาด ก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวในยามที่มีภัยพิบัติทางสังคมเช่นสงคราม หรือธรรมชาติ เช่นแห้งแล้งผิดธรรมดา หรือโรคระบาดร้ายแรง แต่ก็จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมได้ในเวลาต่อมา ไม่ได้อยู่ติดกับผู้คนจำนวนมากอย่างไม่มีอนาคตเลย

ยิ่งตลาดขยายตัว ก็ยิ่งเร่งเร้าให้ผู้ผลิตเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของตน จนในที่สุดก็นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มจำนวนคนที่ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคมากขึ้น ขยายจากอังกฤษไปยังยุโรปภาคพื้นทวีปและทั่วโลกในเวลาต่อมา

ตั้งแต่นั้นมา คนส่วนใหญ่ก็บริโภคในตลาดสืบมา แม้แต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหาร ส่วนใหญ่ของสิ่งที่ใส่ลงไปในไร่นาก็หามาได้จากตลาด หรือแม้แต่ส่วนใหญ่ของสิ่งที่บริโภคในชีวิตประจำวันก็หามาได้จากตลาดเหมือนกัน


ตลาดในความหมายที่เป็นแหล่งบริโภคของคนทั่วไปเช่นนี้ นับเป็นสถาบันใหม่ ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาก่อน ในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สร้างความมั่งคั่งขึ้นแก่มนุษย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเหมือนกัน เพราะตลาดกระตุ้นสมรรถภาพการผลิตอย่างไม่รู้จบ ตลาดต้องการผู้บริโภคในตลาด ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้ตลาดขยายตัว แต่ในอีกแง่หนึ่ง ตลาดก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งถูกแยกออกเป็นปัจเจกที่ไร้พลังต่อรอง ต่างคนต่างต้องหาความมั่นคงให้แก่ตนเองตามวิถีทางที่เลือกไม่ได้มากนัก ตลาดทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไม่ระมัดระวังจนระบบนิเวศน์อาจไม่ยั่งยืน และตลาดยังทำให้ปัจเจกบุคคลที่ขาดปัจจัยจะเข้าถึงตลาดได้ ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราคุมตลาดได้หรือไม่ และคุมสักแค่ไหน จึงจะทำให้ตลาดส่งผลร้ายแก่คนน้อยลง โดยยังส่งผลดีได้เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม (ในระยะยาว)

หากมองย้อนหลังของตลาดไปในประวัติศาสตร์ อย่างที่ผมกล่าวมา ตลาดก็เป็นสถาบันที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำหน้าที่สำคัญบางอย่างในชีวิตของสังคม เหมือนสถาบันอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นแหละครับ ดังนั้น จึงไม่ประหลาดที่ตลาดควรจะถูกควบคุมด้วย จะโดยสังคมหรือโดยรัฐก็ตาม

ตลาดแบบที่บังคับให้ทุกคนเข้าไปบริโภคในตลาดนั้น เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐเริ่มเข้มแข็งมากขึ้นด้วย ฉะนั้น อำนาจที่พอจะคุมตลาดได้คือรัฐแน่นอน แม้ไม่ปฏิเสธว่าสังคมหากจัดองค์กรให้เหมาะก็สามารถคุมตลาดได้ด้วย


แต่ในช่วงที่ตลาดชนิดนี้กำลังขยายตัวไปทั่วโลกนี้เอง ก็เกิดทฤษฎีประหลาดขึ้นว่า ตลาดมีกฎเกณฑ์ของตนเองซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนที่สุด ตราบเท่าที่ตลาดยังมีเสรีภาพ กฎเกณฑ์นั้นก็จะทำงานของมันไปอย่างราบรื่น อำนวยความเป็นธรรมแก่ทุกคนต่อไป

ทฤษฎีตลาดควบคุมตัวเองได้นี้ กลายเป็นรากฐานของเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้ หากมีการแทรกแซงตลาดจากอำนาจใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเสมอไป


แต่ในตลาดนั้น ไม่ได้มีแต่สินค้าและบริการที่มีผู้ผลิตขึ้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกสามอย่างซึ่งไม่มีบุคคลใดผลิตขึ้น แต่กลับถูกดึงไปเป็นสินค้าในตลาด นั่นก็คือที่ดิน, แรงงาน และเงินตรา

กว่าทั้งสามอย่างนี้จะกลายเป็นสินค้าในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการแทรกแซงของรัฐอย่างหนัก แต่พอสามอย่างนี้กลายเป็นสินค้าไปแล้ว กลับบอกว่าตลาดสามารถควบคุมตัวเองได้ และรัฐไม่พึงแทรกแซงอีกเลย


ทั้งหมดที่พูดมานี้ ก็เพื่อบอกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของตลาดก็ตาม ความสามารถในการควบคุมตัวเองของตลาดจนเกิดความเป็นธรรมขึ้นก็ตาม กลไกตลาดก็ตาม เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรทบทวนดูให้ดี ก่อนที่จะยอมรับคำชี้แนะจากนักเศรษฐศาสตร์อย่างตายตัว


( เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 มีนาคม 2557 หน้า 32)


.