.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยแบบตู่
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1401714264
. . วันอังคารที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:40:45 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 2 มิ.ย.2557 )
ภาพ: มหาภารตยุทธ คัมภีร์ภควัทคีตา-สงครามของผู้ถือธรรมะ
ด้วยความนับถือ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี อย่างสืบเนื่องตลอดมาโดยไม่เสื่อมคลาย ผมไม่เคยชอบที่ต้องเขียนอะไรแย้งท่านเป็นการสาธารณะเลย ยกเว้นแต่เห็นว่าความเห็นของท่านในเรื่องนั้นๆ จะมีผลร้ายแก่ส่วนรวม
เพิ่งมีบทความของท่านเรื่อง "ประชาธิปไตยแบบพุทธ" ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ไม่นานต่อมาก็เกิดการประกาศกฎอัยการศึกและการยึดอำนาจบ้านเมืองด้วยกำลังกองทัพ ประกาศให้รัฐธรรมนูญสุดสิ้นลง ซึ่งหมายความว่าในที่สุดก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นแบบพุทธหรือแบบอื่น จึงมีความสำคัญ ผมเห็นว่าจำเป็นต้องแย้งความเห็นของบุคคลที่ผมนับถือท่านนี้เป็นการสาธารณะ แม้จะรู้ว่าคงไม่มีผลสะเทือนได้เท่ากระผีกริ้นเมื่อเทียบกับบทความของท่าน
"ประชาธิปไตยแบบพุทธ" ในความเข้าใจของท่านอาจารย์ประเวศ ไม่ต่างจากคำยกย่องพระพุทธศาสนาว่าเป็นประชาธิปไตยมาเกือบ 100 ปีแล้ว คือยกเอาพระวินัยหรือหลักการปกครองดูแลกันเองในหมู่สงฆ์เป็นพยานหลักฐาน สิ่งที่ "ใหม่" ในคำอธิบายของท่านอาจารย์ประเวศก็คือ วิธีคิดแบบพุทธ (ซึ่งไม่ได้แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธทั่วโลก แต่เป็นการตีความของนักปราชญ์พุทธในปัจจุบัน) เป็นวิธีคิดที่ไม่แบ่งความจริงออกเป็นสองด้าน (วิธีคิดแบบทวิภาวะ) วิธีคิดเช่นนี้แตกต่างจากวิธีคิดของประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งมีฐานอยู่ที่วิทยาศาสตร์แบบกลไก กล่าวคือต้องมีผิด-ถูก ชั่ว-ดี ที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด สองฝ่ายต้องต่อสู้กันเพื่อหาเสียงข้างมากในการหยั่งเสียง ทำให้เกิดความแตกแยกเสียสามัคคีธรรม "ประชาธิปไตยแบบพุทธ" จึงเป็นการหามติเอกฉันท์ในที่ประชุม โดยอาศัยการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นกันโดยสุจริต จนกว่าทุกฝ่ายอาจบรรลุมติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้
(ขอนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ในทางตรรกะ มติเอกฉันท์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้คือสิ่งที่ "ถูก" ใช่หรือไม่... ความ "ถูก" มีอยู่ และบรรลุถึงได้ด้วยสามัคคีธรรม ถ้ามีถูก-ผิดเช่นนี้ จะพ้นจากการคิดแบบทวิภาวะได้อย่างไร ท่านกำลังพูดถึงวิธีคิดหรือวิธีการกันแน่?)
ระเบียบปกครองคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัตินั้น นำมาปรับใช้กับสังคมโดยรวมได้หรือไม่? ดูเหมือนปัญหานี้ถูกตอบในเมืองไทยอย่างไม่ต้องไตร่ตรองเลยว่า ได้
แต่คณะสงฆ์คือชุมชนนักบวชขนาดเล็ก (ในทุกสังคมพุทธตั้งแต่พุทธกาลมาแล้ว) ยิ่งไปกว่าขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสังคมใหญ่ คณะสงฆ์ยังเป็นชุมชนที่ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าจะแยกออกเป็นต่างหากจากสังคมใหญ่ มีประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองที่ไม่ตรงกับสังคมใหญ่ หรือบางกรณีตั้งใจให้เป็นตรงกันข้ามกับประเพณีวัฒนธรรมของสังคมใหญ่เลย เช่นไม่ผลิตอะไรเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงบริโภคให้น้อยที่สุดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ภิกษุแต่ละรูปไม่ถือครองทรัพย์สินมากไปกว่าเพื่อใช้ในการบริโภคอย่างจำกัด ไม่มีครอบครัว เพราะครอบครัวย่อมทำให้การไม่ผลิต ไม่สะสม ไม่บริโภคเกินจำเป็นทำได้ยาก
ชุมชนสงฆ์ยังประกอบด้วยสมาชิกที่ปฏิญาณจะดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง) อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ ซึ่งสำนวนบาลีเรียกว่า "มีธรรมเสมอกัน" แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากความเป็นจริงในสังคมใหญ่
สังคมฆราวาสหลายแห่งและหลายชนิด พยายามจะสร้างสังคมของคนที่มี "ธรรมเสมอกัน" เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่คอมมิวนิสต์เผด็จการ, ฟาสชิสต์-นาซี, สังคมคริสต์ในยุโรปสมัยกลาง, สังคมพิวริตันในอาณานิคมอเมริกา, ฯลฯ ผลก็คือฆ่าล้างผลาญทั้งเผ่าพันธุ์และศัตรูของ" "ธรรมเสมอกัน" ลงเป็นล้าน หรือการล่าแม่มดที่จับคนจำนวนเป็นพันไปเผาทั้งเป็นเพราะมีธรรมไม่เสมอกัน
แน่ใจได้อย่างไรว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้ระเบียบปกครองในชุมชนสงฆ์เป็นแบบอย่างแก่การปกครองในสังคมใหญ่ แน่นอนว่า มีคำสอนที่มุ่งสอนฆราวาสหรือการปกครองของสังคมโดยรวม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสังคมใหญ่ควรจำลองชุมชนสงฆ์ไปใช้ในการดำเนินการ อันที่จริงหากวิเคราะห์คำสอนแก่ฆราวาสและผู้ปกครองฆราวาสแล้ว กลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีสำนึกเต็มเปี่ยมว่าสังคมใหญ่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากชุมชนสงฆ์ ทั้งในแง่เป้าหมายและวิธีการ (หมั่นคนละเรื่อง, การปฏิบัติต่อภรรยาในทิศหก, พระราชาพึงแจกจ่ายพระราชทรัพย์เพื่อการผลิตของประชาชน ฯลฯ)...
หากสังคมใหญ่และชุมชนสงฆ์จัดการและจัดองค์กรเหมือนกันหมด ใครจะเป็นคนตักบาตรล่ะครับ
ปัญหาที่สำคัญกว่าก็คือความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับสังคมใหญ่ ในขณะที่ชุมชนสงฆ์ปฏิเสธสังคมใหญ่ในหลายเรื่อง จะอยู่ร่วมกับสังคมใหญ่โดยไม่เป็นปรปักษ์กันได้อย่างไร คำสอนจำนวนมากของพระพุทธองค์มีเกี่ยวกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์และสังคมใหญ่โดยรวม (ซ้ำเป็นสังคมสมัยพุทธกาลด้วย ไม่ใช่สังคมปัจจุบัน)
ก็จริงที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธวิธีคิดแบบทวิภาวะ แต่ตราบเท่าที่เป็นวิธีคิด ก็ย่อมใช้ได้กับปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ แน่นอนว่าหากทุกคนในสังคมมีวิธีคิดเชิงเอกภาวะหมด ผมก็เชื่อว่าความขัดแย้งต่างๆ คงหมดไป เพราะจะมองเห็นแง่ดีของความเห็นที่เราปฏิเสธเสมอ แต่หากสมาชิกของสังคมใดก็ตามกลายเป็นสาวกของศาสดาของศาสนาใดอย่างเข้าถึงระดับจิตใจขนาดนั้น บางทีเราไม่จำเป็นต้องพูดกันเรื่อง "ระบอบ" "ปกครอง" อีกแล้วกระมัง เหมือนพระอรหันต์ย่อมมีวัตรอันต้องด้วยพระวินัย โดยไม่ได้นึกถึงวินัยบัญญัติเลย
แต่มีสังคมอย่างนั้นอยู่จริงในโลกหรือครับ ที่ท่านอาจารย์ประเวศเสนอความเห็นเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ ก็เพราะมันไม่มีไม่ใช่หรือครับ อนึ่ง ท่านอาจารย์ประเวศพูดถึงประชาธิปไตยแบบพุทธเป็นคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยตะวันตก นี่เป็นวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะแล้วหรือครับ
หลังจากพูดถึงวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะทั้งของพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ใหม่แล้ว ท่านอาจารย์ประเวศก็หันมาเสนอวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยวิธีคิดแบบนี้ โดยท่านอาศัยประสบการณ์ในชีวิตมหาวิทยาลัยของท่านเองเป็นตัวอย่าง คือการประชุมหามติกันโดยไม่มีการหยั่งเสียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันโดยเสรี จนต่างฝ่ายต่างเห็นข้อดีข้อเสียของความเห็นนั้นกันทะลุปรุโปร่ง จึงบรรลุมติที่เป็นเอกฉันท์โดยอัตโนมัติ
ท่านอาจารย์ประเวศไม่ได้เป็นคนแรกที่คิดวิธีการนี้ขึ้น ระหว่างปี 1957-1966 ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย ยกเลิกสภาและรัฐบาลลงหมด แล้วปกครองด้วยกฤษฎีกาของประธานาธิบดีเพียงคนเดียว ท่านประธานาธิบดีอ้างว่าท่านใช้วิธีการของหมู่บ้านในอดีต คือปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เปิดให้แสดงความเห็นกันอย่างเสรี จนในที่สุดก็มาบรรลุมติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันโดยไม่ต้องหยั่งเสียง เช่นเดียวกับอาจารย์ประเวศ ประธานาธิบดีซูการ์โนรังเกียจการหยั่งเสียง เรียกว่าเป็นแบบ "ตะวันตก" เหมือนกัน คิดว่าทำให้แตกความสามัคคีเหมือนกัน ระบอบปกครองของซูการ์โนในช่วงนี้ เรียกในตำรารัฐศาสตร์ว่า Guided Democracy ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่ที่ใช้ในอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนท่านประธานาธิบดีเรียกว่าเป็นระบบ Gotong-Royong คือช่วยๆ กันไป (เอื้ออาทรในภาษาเอ็นจีโอไทย)
ท่านอาจารย์ประเวศคงมีประสบการณ์การประชุมแบบไม่หยั่งเสียงเช่นนี้มามาก ผมเองก็เคยมีแม้ไม่มากเท่า และเคยเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมลักษณะเช่นนี้ในหมู่บ้าน สิ่งที่ผมพบในการประชุมเช่นนี้ ไม่ว่าในระดับหมู่บ้าน หรือมหาวิทยาลัย หรือที่ประชุมซึ่งใหญ่กว่านั้นก็คือ ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ได้มีความเสมอภาคกันนอกที่ประชุม มีคนที่มีเกียรติยศ, ชื่อเสียง, วาทศิลป์, อำนาจ, ทรัพย์ลดหลั่นกันไป ทำให้ความเห็นของแต่ละฝ่ายนั้นไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากัน ทวิภาวะหรืออเนกภาวะของความเห็นจึงถูกทำให้กลายเป็นเอกภาวะได้ไม่ยากนัก ผมไม่ทราบหรอกว่า การประชุมโดยไม่หยั่งเสียงในภาควิชาอายุรศาสตร์ที่ท่านอาจารย์ประเวศเป็นหัวหน้าภาคนั้น ก่อให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์มากน้อยแค่ไหน แต่ผมได้พบว่าในหมู่บ้านไทยนั้นมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" ที่ต้องมีการหยั่งเสียง เพียงแต่เขาใช้การนินทา, การอู้ และพิธีกรรม หรือบางครั้งความรุนแรง ในการต่อต้านมติที่เขาไม่เห็นด้วยเท่านั้น
ระบบ Guided Democracy ของซูการ์โนสิ้นสุดลงที่การรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญของกองทัพ เป็นผลให้มีคนถูกฆ่าตายประมาณ 500,000 คน
ผมได้ยินคนที่รังเกียจการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" มักพูดเสมอว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทุกครั้งที่เขาตำหนิประชาธิปไตยแบบนี้ เขาเองจะพูดประหนึ่งว่าประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" ไม่มีอะไรอื่นนอกจากการหยั่งเสียง (การเลือกตั้งคือการหยั่งเสียงชนิดหนึ่ง...อย่าลืม) แท้ที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่าแบบตะวันตกนี้ หัวใจอยู่ที่เปิดโอกาสให้มีการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน แต่การต่อรองอย่างเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่อิสระเสรี และเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน ทั้งเป็นข่าวสารข้อมูลจากทุกฝ่าย ชาวนามีโอกาสที่จะบอกความต้องการอันชอบธรรมของตนเอง ได้เท่ากับนักวิชาการและประธานหอการค้าไทย ต้องอาศัยกฎหมายและการบังคับใช้กฏหมายที่เป็นธรรม(ยอมรับได้ในคนหมู่มาก) การศึกษาที่สอนให้คนนับถือตนเองและคนอื่น และคิดเป็น มีเสรีภาพในการจัดองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และการต่อรองด้านอื่นๆ
ในกระบวนการต่อรองอันสลับซับซ้อนของสังคมเช่นนี้ คือทำให้ความเห็นอันเป็นอเนกภาวะค่อยๆ ถูกประนีประนอมเข้ามาเป็นเอกภาวะนั่นเอง เพราะทุกคนรู้ว่าในที่สุดก็ต้องนำไปสู่การหยั่งเสียงหรือมติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการหยั่งเสียง (มติครม., มติสภาพัฒน์, มติที่ประชุมภาควิชา, มติสภาอบต., มติสมาคมฟุตบอล, ฯลฯ) จึงต้องยอมรับความเห็นอื่นเข้ามาให้มากที่สุด
ประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่าแบบตะวันตกนั้น หากได้มีโอกาสพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดกลไกและความสามารถในการต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น และการหยั่งเสียงในแต่ละครั้ง ก็จำเป็นต้องรวมเอาข้อเสนอในการต่อรองเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นสิ่งที่ Guided Democracy (ซึ่งท่านอาจารย์ประเวศเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบพุทธ") ทำไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน หากเป็นประชาธิปไตยจริง ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับวิธีคิดที่ปฏิเสธทวิภาวะของพระพุทธศาสนาแต่อย่างไร และดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนต้นแล้วว่า ท่านอาจารย์ประเวศกำลังสับสนระหว่างวิธีคิดและกระบวนการ ที่ท่านพูดและอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบพุทธนั้น ที่จริงไม่ใช่วิธีคิดแต่เป็นกระบวนการ (ซึ่งผมเห็นว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย) หากเราเปิดและพยายามสร้างเสริมให้กระบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทย ได้พัฒนาไปสู่การกระจายอำนาจต่อรองไปอย่างเท่าเทียมแก่คนทุกกลุ่ม กระบวนการประชาธิปไตยต่างหาก ที่สอดรับกับวิธีคิดแบบพุทธมากกว่า เพราะจะไม่มีมติที่มาจากการหยั่งเสียงใดๆ สามารถละเลยหรือมองข้ามความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ไปได้
แน่นอนว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถขจัดคนชั่วไปได้ (เหมือนศาสนาทุกศาสนาในโลก) แต่ประชาธิปไตยที่ให้อำนาจต่อรองแก่คนหลากหลายกลุ่ม ทำให้คนชั่วไม่สามารถลอยนวลต่างหาก ประธานาธิบดีนิกสันในกรณีวอเตอร์เกทต้องชิงลาออก ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติถอดถอน (ซึ่งจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกวุฒิสภาถอดถอน) ตรงกันข้ามกับผู้นำของ Guided Democracy แต่ละคนจะถูกถอดถอนได้ ก็ต้องผ่านความรุนแรงและนองเลือดอย่างมิคสัญญีทั้งนั้น
ยิ่งมีคนน่านับถืออย่างท่านอาจารย์ประเวศเป็นผู้นำ ยิ่งถอดถอนได้ยากขึ้น เพราะชั้นแต่จะเขียนบทความแย้งท่านเป็นสาธารณะเช่นนี้ ผมยังต้องคิดแล้วคิดอีกหลายตลบ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย