
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 30
โบโรบูดูร์ซึ่งคนไทยบางคนเรียกให้เป็นไทยๆ ว่า "บรมพุทโธ" นั้น เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ค่อนข้างลี้ลับที่สุด ไม่ใช่ลี้ลับเพราะไม่มีใครรู้จักนะครับ แต่ลี้ลับเพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่
นครวัดนั้น เรารู้แน่ว่าชื่อว่ายโสธรปุระ และนครธมคือชัยศรี (ก็นครไชยศรีและพระขรรค์ชัยศรีของเราไงครับ) แต่โบโรบูดูร์มีชื่อว่าอะไรแน่ ไม่มีใครรู้ มีจารึกที่เกี่ยวกับศาสนสถานแห่งนี้อยู่เพียงสองหลัก หลักหนึ่งไม่ได้บอกชื่อไว้แต่บอกผู้สร้างคือกษัตริย์ที่ชื่อสมระตุงคะ อีกหลักหนึ่งบอกชื่อไว้ชัดเจนว่า "ภูมิสัมภาระ" แต่ชื่อนี้จะเพี้ยนมาเป็นโบโรบูดูร์ไม่ได้ นักวิชาการฝรั่งจึงสันนิษฐานว่า เดิมคงมีคำว่าภูธระต่อท้าย เพราะรูปลักษณ์ของมันก็เป็นภูเขาอยู่แล้ว และคำว่าภูธระนี่แหละ ที่เพี้ยนมาเป็นโบโรบูดูร์ในภายหลัง เมื่อชาวชวาลืมสถานที่แห่งนี้ไปสนิทแล้ว
ผมเรียกโบโรบูดูร์ว่าพุทธสถานหรือศาสนสถาน ก็อาจทำให้ไขว้เขวได้ เพราะโบโรบูดูร์ซึ่งสร้างขึ้นบนเนินเขาเตี้ยๆ นี้ หาได้บรรจุพระพุทธรูปหรือพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อะไร ไม่มีห้องคูหาสำหรับบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ถ้าจะมีก็อาจถูกบรรจุไว้บนเจดีย์ใหญ่ที่อยู่บนยอด แต่เจดีย์นั้นพังลงไปนานแล้ว ที่เห็นอยู่เขาสร้างขึ้นใหม่ตามรูปเดิม และไม่มีหลักฐานว่ามีอะไรในนั้น นอกจากคูหาสองอันที่ตั้งซ้อนกันอยู่
นักวิชาการบางคนเดาว่า น่าจะมีอัฐิธาตุของผู้สร้างหรือบุคคลซึ่งผู้สร้างยกย่องอยู่ในเจดีย์ใหญ่นั้น แต่นับตั้งแต่เมื่อมีการสำรวจครั้งแรก ก็ไม่พบอะไร แถมยังมีข่าวลืออีกว่า เมื่อตอนที่ (คนผิวขาว) พบโบโรบูดูร์แรกๆ นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเกอะดูชาวฮอลันดา ได้ขโมยพระพุทธรูปทองคำซึ่งบรรจุในเจดีย์ใหญ่ไป แล้วเอาพระพุทธรูปหินหักๆ มาตั้งไว้แทนที่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครพบร่องรอยของพระพุทธรูปทองคำดังกล่าวเลย จึงเข้าใจว่าในเจดีย์ใหญ่องค์ยอดของโบโรบูดูร์นั้น ไม่ได้บรรจุอะไรเลย นอกจากพระพุทธรูปหิน ที่พบได้ภายหลังในสภาพแตกหักแล้วนั่นเอง
ผมพยายามนึกเปรียบเทียบกับพุทธสถานอื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์ว่า มีที่ไหนอีกบ้างที่มีลักษณะเหมือนโบโรบูดูร์ คือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ตั้งใจจะบรรจุอะไรไว้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือพระธาตุ ก็นึกไม่ออกนะครับ พุกาม, สุโขทัย, เชียงใหม่ มีวัดที่ต้องเรียกว่าพุทธเจดีย์ (ที่รำลึกถึงพระรัตนตรัย) เต็มไปหมด แต่ก็มีวิหารตั้งพระพุทธรูป และมีสถูปซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระอรหันตธาตุ
ดังนั้น ความลี้ลับอย่างที่สองของโบโรบูดูร์ก็คือ เขาสร้างขึ้นมาทำไม?
ความลี้ลับข้อนี้ มีผู้พยายามคลี่คลายมานานและหลายคนทีเดียว แต่เนื่องจากในระยะหลังนักวิชาการสามารถระบุได้แน่ชัดขึ้นทีละน้อยว่า รูปสลักโดยรอบนั้น นำมาจากคัมภีร์อะไรในภาษาสันสกฤต จึงมีส่วนช่วยสร้างความกระจ่างให้แก่จุดมุ่งหมายของโบโรบูดูร์ได้มากขึ้น
ผมจะขอเล่าถึงรูปสลักเหล่านี้ให้ละเอียดขึ้นสักหน่อย
โบโรบูดูร์นั้นมีระเบียงคดล้อมรอบตามเนินเขาขึ้นไปถึงองค์เจดีย์ใหญ่บนยอดถึง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มหรือเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปสลักจากหินภูเขาไฟ (Basalt) อยู่โดยรอบรวม 504 พระองค์ ระเบียงคดสี่ชั้นแรก (หรือจะนับห้าก็ได้ จะพูดถึงข้างหน้า) มีภาพสลักโดยรอบทั้งสองข้าง ฝีมือชั้นครูทั้งนั้น ประกอบด้วยภาพ 1,460 ห้อง แบ่งเป็นด้านละสองชั้น คือข้างบนชั้นหนึ่งและข้างล่างชั้นหนึ่ง ฉะนั้น ในหนึ่งระเบียงคด ย่อมมีภาพเรียงเป็นแถวไปซ้ายสองขวาสอง รวมเป็นสี่แถว
โบโรบูดูร์คงเริ่มสร้างเมื่อราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ก็ทรุดลงมาไม่นาน วิธีที่ชาวชวาโบราณบุรณะในสมัยนั้น ก็คือขยายฐานให้กว้างขึ้น ดังนั้น จึงต้องกลบฐานชั้นล่างสุดลงไปด้วยการก่อหินขึ้นเป็นฐานใหม่ ตรงฐานเดิมก็มีภาพสลักเหมือนกัน ซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อน จนกระทั่งระหว่างสงคราม ทหารญี่ปุ่น (รู้หรืออุตริไม่ทราบได้) ไปขุดเปิดขึ้นจึงได้เห็น แต่ก็ไม่ได้เปิดออกหมด ขุดดูมุมหนึ่งสัก 10 เมตรเท่านั้น ปัจจุบันองค์การยูเนสโกซึ่งเป็นหัวแรงในการบุรณะก็คงเปิดไว้ให้ชมเฉพาะส่วนนั้น
ดังนั้นภาพสลักรอบโบโรบูดูร์จึงไม่ได้มีแค่สี่ชั้น แต่ยังมีอีกชั้นหนึ่งใต้ดินอีกด้วย
นักวิชาการฝรั่งหลายชาติ ค่อยๆ หมายได้ว่าภาพสลักในแต่ละชั้นและแต่ละแถว ว่าด้วยเรื่องอะไรและนำมาจากคัมภีร์สันสกฤตเรื่องอะไร จนบัดนี้รู้ได้หมดทั้ง 4 หรือ 5 ชั้นแล้ว และน่าสนใจที่ว่า ภาพสลักเหล่านี้นำมาจากคัมภีร์ศาสนาระดับง่ายจากชั้นล่างสุด ค่อยขยับให้ยากหรือเป็นปรัชญาที่ลึกขึ้นของพุทธมหายาน จนถึงชั้นที่สี่ (หรือห้า)
ชั้นแรกซึ่งถูกฝังไปแล้วเพื่อการบุรณะซ่อมแซมครั้งแรกนั้น นำมาจากคัมภีร์มหายานชื่อ "มหากรรมะวิภังคะ" เป็นเรื่องราวความสุขทุกข์ ดีชั่วของชีวิตฆราวาส เช่น ได้ลูกสืบสกุลก็พากันยินดี, การเสพสุรา, หรือการเจ็บไข้ได้ป่วยและมีการรักษาพยาบาล
ดังนั้น จะว่าไปชั้นนี้ก็อาจจะน่าสนใจแก่นักประวัติศาสตร์ที่สุดก็ได้ เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งศิลปินแสดงให้ดูด้วยวิถีชีวิตของชาวชวาในสมัยนั้น แต่ก็มีให้ดูไม่มากนัก เพราะเขาไม่ได้ขุดเปิดให้ดูมากไปกว่าที่ทหารญี่ปุ่นได้ขุดเอาไว้
ชั้นแรกในผังใหม่หลังซ่อมแซมแล้ว ทางด้านนอกคือภาพสลักที่นำมาจาก "ชาตกะมาลา" และชาดกอื่นๆ มีความยาวเหยียดจนต้องต่อไปทางผนังด้านนอกของระเบียงคดชั้นที่สอง
ส่วนด้านที่ติดองค์พระเจดีย์ใหญ่ยอดเขา แถวล่างคือเรื่องต่อไปของชาดกและอวธาน (นิทานเกี่ยวกับวีรบุรุษแต่ไม่อ้างว่าเป็นพระโพธิสัตว์) ส่วนแถวบนคือพุทธประวัติที่นำมาจากคัมภีร์ "ลลิตะวิสตาระ" (มักแปลว่าการเผยละครเรื่องหนึ่ง เพราะตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน พุทธประวัติคือการกระทำของพระมหาไวโรจนะพุทธ เพื่อแสดงให้ผู้คนได้เห็นความเป็นพุทธะเท่านั้น ไม่ใช่ชีวประวัติบุคคล)
ชาดกเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะแสดงให้เห็นการสั่งสมบารมีของพระโพธิสัตว์ซึ่งจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า แต่เท่าที่ผมได้อ่านเรื่องราวของภาพสลักที่นักวิชาการหมายได้ว่านำมาจากชาดกหรืออวธานเรื่องใด ผมคิดว่ามีความต่างจากชาดกของเถรวาทตรงที่ว่า ของเขาค่อนข้างเน้นบารมีการเสียสละของพระโพธิสัตว์ ที่แสดงให้เห็นความไม่ยึดมั่นกับตัวตนอย่างชัดเจนแทบทุกเรื่อง เช่น ในชาติที่เป็นกระต่าย ไม่มีของถวายสมณะอย่างเพื่อนสิงโตและลิง ท่านก็โดดเข้ากองเพลิงย่างตัวเองให้เป็นภัตตาหารของสมณะเสีย
เรื่องเวสสันดรชาดกของเขาไม่ยักกะมีชูชก พระอินทร์แปลงตัวมาขอลูกขอเมียเลยทีเดียว ก็ได้ความเดียวกันเพราะชูชกเป็นส่วนเกินในแง่ปรัชญา แต่แน่นอนว่ามีสนุกกว่าไม่มี
อย่างไรก็ตาม ใน 134 ระเบียงภาพของชาตกะมาลา นักวิชาการสามารถหมายรู้เรื่องราวได้เพียง 34 เรื่องเท่านั้น ในส่วนชาตกะ-อวธาน ซึ่งมีประมาณ 100 เรื่อง ยิ่งหมายรู้ได้น้อยไปกว่านั้นอีกเสียอีก
แม้กระนั้น ชาดกเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้ได้ว่า ทางเข้าทั้งสี่ทิศของบูโรบูดูร์นั้น ทิศไหนเป็นทางเข้าเริ่มต้นสำหรับผู้จาริกแสวงบุญ เพราะชาดกที่ปรากฏตรงทางเข้าทิศตะวันออกจะตรงกับเรื่องแรกของ "ชาตกะมาลา" และเรียงเป็นลำดับไปพอดี ดังนั้นเมื่อผ่านทางเข้าทิศตะวันตกไปแล้ว ผู้คนในสมัยโบราณก็คงเลี้ยวซ้าย และเริ่มชมภาพไปพร้อมกับทำประทักษิณพระสถูปใหญ่บนยอดเนินไปพร้อมกัน
ในบรรดาชาดกที่ไม่รู้ว่าเรื่องคืออะไรนี้ มีอยู่ระเบียงภาพหนึ่งซึ่งผมสงสัยว่าจะเป็นเรื่องสุวรรณสาม เพียงแต่ไม่มีกวางทองในภาพให้เห็น เพราะน่าประหลาดที่ว่า ผู้สลักภาพบนโบโรบูดูร์มีเจตนาอย่างชัดเจน ที่จะไม่เสนอภาพความรุนแรงเลือดตกยางออกด้วยประการทั้งปวง จึงมีแต่ภาพของคนที่คงเป็นกษัตริย์กำลังน้าวศรยิงเข้าป่า แล้วก็มายืนเสียใจที่เชิงตะกอนในภาพต่อมา
แม้แต่หมายรู้แล้วว่านำเอามาจากคัมภีร์ "ชาตกะมาลา" แต่กลับไม่รู้ว่าเรื่องอะไรเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เพราะศิลปินชวาได้นำเอานิทานพื้นถิ่นซึ่งอาจถูกอ้างเป็นชาดกแล้ว บรรจุลงไปใน "ชาตกะมาลา" สำนวนชวาเสียมากมาย เรื่องเหล่านี้ถูกลืมไปเสียแล้วเป็นส่วนใหญ่
ผมไม่ทราบว่านักวิชาการฝรั่ง ได้ตรวจสอบนิทานพื้นถิ่นของอุษาคเนย์แค่ไหนอย่างไร แต่อย่างน้อยเรื่องสุวรรณสามมีในปัญญาสชาดก อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นนิทานพื้นถิ่น ซึ่งนักวิชาการฝรั่งก็รู้จัก คือเรื่องนางมโนห์รา สลักไว้เป็นเรื่องแรกในแถวที่เป็นชาตกะ-อวธานเลยทีเดียว แต่เพราะเป็นอวธาน พระสุธนจึงไม่ได้เป็นพระโพธิสัตว์
ภาพเรื่องนางมโนห์ราไปปรากฏบนศาสนสถานที่สอนหลักคำสอนของมหายาน ทำให้ผมออกจะสงสัยว่า "โนรา" ของภาคใต้นั้นไม่ใช่การแสดง (ตามความหมายที่เราเข้าใจในปัจจุบัน) แต่เป็นพิธีกรรมซึ่งเดิมอาจเป็นพิธีกรรมที่เนื่องในศาสนาด้วย จึงทำให้ผู้แสดง "โนรา" นั้น ทั้งเฮี้ยน ทั้งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมีฤทธิ์มีเดชสารพัด

"ลลิตะวิสตาระ" เล่าถึงมหาภิเนษกรมณ์ เหมือนที่ท่านพุทธทาสนำเอาความจากพระไตรปิฎกมาเล่าไว้ใน "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" กล่าวคือเจ้าชายสิทธัตถะทรงขอพระราชบิดาลาไปบวช มิได้แอบหนีไปอย่างที่เล่าในปฐมสมโพธิของไทย นอกจากนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์จะเสด็จลงสู่มนุษยโลกจากสวรรค์ชั้นดุสิต ยังได้ประทานมงกุฎแก่พระศรีอาริย์เหมือนมอบหมายให้เป็นอนาคตพุทธ เหล่าเทพทั้งหลายก็พากันมาบอกพระปัจเจกพุทธทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้ากำลังจะลงมาอุบัติ จึงอาราธนาให้เข้าพระนิพพานเสีย
ภาพสลักในชั้นแรกเกี่ยวกับชาดก, อวธาน และพุทธประวัติ คือการอุบัติของพุทธะในโลก จากอดีตกาลนานไกลที่เสวยพระชาติต่างๆ จนถึงพระชาติสุดท้าย เตรียมตัวเตรียมใจแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เดินประทักษิณชมภาพเหล่านั้นว่า โมกษธรรมได้ปรากฏขึ้นแล้ว ทุกคนสามารถบรรลุได้ เพียงแต่ต้องผ่านหนทางแห่งการปฏิบัติและปัญญาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้วางไว้ให้ ที่จะแสวงหาสัจธรรมนั้น
ลำดับถัดไปคือเรื่องของการแสวงหา "ปัญญา" ของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อสุธนะหรือสุธน อันเป็นความที่นำมาจากคัมภีร์สันสกฤตชื่อ "คันทวยูหะ" (ซึ่งมักแปลว่า "องค์ประกอบของโลกอันเปรียบเหมือนฟองสบู่")
ผมจะเล่าเรื่องการเดินทางทางจิตวิญญาณ ผ่านภาพสลักของโบโรบูดูร์ในตอนต่อไป
.