http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-08

มุกดา:ไฟไหม้ต้องรีบดับ ปรองดองล้มต้องเริ่มใหม่ เริ่มที่66 ปี ปชป. (1)

.

ไฟไหม้ต้องรีบดับ ปรองดองล้มต้องเริ่มใหม่ เริ่มที่ 66 ปี ประชาธิปัตย์ (1)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 20


อยากรู้ว่าไม่ปรองดองแล้วจะเป็นอย่างไร?
ให้ดูภาพการระเบิดที่หาดใหญ่และยะลา ถ้าคู่ขัดแย้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ การปฏิบัติการของคนกลุ่มเล็กๆ จะทำความเสียหาย ให้กับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ

ความขัดแย้งวันนี้เหมือนไฟกำลังไหม้บ้าน อย่ามาบอกว่าการดับไฟไม่เร่งด่วน... ต้องเร่งดับไฟ จะประชุมกี่ครั้ง แก้กฎหมายกี่ฉบับ ก็รีบทำ ไฟที่ลุกลามใหญ่อาจดับยาก ดูอย่างปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ 40 ปี แล้วไฟยังไม่ดับแถมลามมาติดที่หาดใหญ่
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยรุนแรงขึ้นแล้วแต่ยังแก้ทัน ถ้าไม่อยากฟังเสียงปืนเสียงระเบิดทั่วประเทศอีก 30 ปี วันนี้ต้องรีบหาวิธีแก้ไข

คงต้องเริ่มที่ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย การเจรจาหรือประชุมแล้วแถลงด่ากันออกอากาศ ทำให้การปรองดองล้มแล้วล้มอีก คู่ขัดแย้งต้องกลับไปตกลงกันในพรรคให้ได้ว่าจะมีแนวทางปรองดองอย่างไร
ถ้ามีแต่แนวทางที่จะเล่นงานฝ่ายตรงข้ามหรือชิงอำนาจ การปรองดองไม่มีทางเกิด
วันนี้ครบรอบ 66 ปี ของการตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอาวุโสนี้จะทำได้หรือไม่ ต้องดูอดีต และคาดการณ์อนาคต



66 ปี ปชป. อยู่ได้มิใช่โชคช่วย
แต่ด้วยชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยมและประสบการณ์

6เมษายนปีนี้ ครบรอบ 66 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาล ให้พรรคเป็นที่ยอมรับของประชาชน และชนะการเลือกตั้ง
ผู้วิเคราะห์อาวุโสดูจากประวัติพรรค ปชป. แล้วบอกว่า เหมือนไม้ใหญ่ รากลึก แผ่กิ่งก้านกว้างขวาง 66 ปี ที่งอกเงยและหยั่งราก ผ่านแดดผ่านพายุฝนและความแห้งแล้ง แต่ยังยืนยงอยู่ได้

ถ้าเป็นคนธรรมดา 66 ปี อาจมีชีวิตผ่านมาได้ไม่ยาก แต่เป็นพรรคการเมืองเหมือนอยู่ในพายุของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจแต่ก็ผ่านมาหลายลูก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พรรคนี้ยังอยู่ได้ เพราะผู้นำพรรคแต่ละชุดล้วนมียุทธศาสตร์ยุทธวีธีที่ดี เข้าใจถึงวิธีอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
มีทั้งรุกและรับสามารถลู่ลมได้เมื่อมีพายุ และแตกกิ่งก้านใหม่เมื่อได้รับน้ำฝน สลัดใบสลัดผลทิ้งเมื่อจำเป็น
นี่เป็นชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยมและประสบการณ์ที่น่าศึกษาของ ปชป.
แต่ ปชป. จะทำได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้หรือไม่?


ก่อตั้งพรรคมีเป้าหมายทางการเมือง
ผู้ก่อตั้งคืออดีตนายกรัฐมนตรี

พันตรีควง อภัยวงศ์ บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ คือผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นรัฐมนตรีทั้งในยุคเจ้าพระยาพหลฯ และในยุคจอมพล ป. เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, ธรรมการ และพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2477-2487
จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อำนาจของจอมพล ป. เริ่มสั่นคลอน กำลังของกลุ่ม อ.ปรีดี เข้มแข็งขึ้นจอมพล ป. ลาออก ในขณะที่หลายคนกลัวจอมพล ป. รัฐประหาร พันตรีควงกลับใช้ช่องว่างของ 2 กลุ่มอำนาจแทรกตัวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2487
จากวันนั้นเขาคือ นายกฯ ควง แต่ชาวบ้านจะเรียกนายควง และจดจำภาพนายกฯ ที่ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นที่พูดเก่งได้เสมอ

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ ในเดือนมกราคม 2489 ก็ได้เป็นนายกฯ อีกหนึ่งสมัย แต่เพียงแค่สองเดือน ในวันที่ 18 มีนาคม 2489 ก็แพ้ญัตติในสภาเรื่อง พ.ร.บ. ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากกลุ่มการเมืองเสรีไทย ของ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง จึงต้องลาออก นายปรีดีได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

19 วันต่อมากลุ่มการเมืองของผู้แพ้ก็ได้รวมกันก่อตั้งเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 6 เมษายน 2489 นั้นเอง นายควงจึงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก มร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้า ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค


ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นโอรสใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เป็นผู้ตั้งชื่อ "ประชาธิปัตย์" ขึ้นมีความหมายว่า "ผู้บำเพ็ญประชาธิปไตย" คือ ต่อต้านการกระทำอันเป็นเผด็จการไม่ว่าวิธีการใดๆ เคยเป็นผู้พิพากษา และเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา มาก่อน 17 กันยายน 2488-31 มกราคม 2489 ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อไปเจรจากับอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ปชป. เริ่มบทบาทโดยเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาเพื่อมาคานอำนาจกับรัฐบาลนายปรีดี ในขณะที่นอกสภามีเงาดำทะมึนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปกคลุมอยู่
ไม่น่าเชื่อว่าบรรยากาศการเมืองในปี 2548-2549 ก็คล้ายๆ อย่างนั้น



ได้อำนาจครั้งแรกจากคณะรัฐประหาร 2490

8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้น นายกฯ ขณะนั้นคือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (มาเป็นแทน อ.ปรีดีเนื่องจากลาออกหลังกรณีสวรรคตของ ร.8) กลุ่มที่ทำการรัฐประหารนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หน่วยรถถังบุกไปควบคุมตัวนายกฯ ได้ที่สวนอัมพร แต่นายปรีดีหลบหนีไปได้และไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย
พลโทผินแถลงต่อสื่อมวลชนด้วยน้ำตาว่าทำไปเพราะความจำเป็น สื่อมวลชนให้ฉายาว่า "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" และได้ตั้งนายควงซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 29 มกราคม 2491 นายควงจึงเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่เป็นได้เพียงไม่ถึงสามเดือน 6 เมษายน 2491 ในวันก่อตั้งพรรคนั่นเองก็ถูกรัฐประหารเงียบ และจอมพล ป. ก็กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง
ผู้วิเคราะห์ได้ทบทวนประวัติช่วงก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่ามีกำเนิดอย่างไร มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างไร มีวิธีช่วงชิงอำนาจรัฐอย่างไร รู้จักยืดรู้จักหดสามารถดำรงอยู่ในกระแสการเมืองอยู่กับอำนาจทหารได้แบบไม่ธรรมดา

ความเชื่อที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหารมาตลอด เมื่อดูประวัติถึงตรงนี้จะได้รู้ว่า ไม่เพียงฝีปากเก่งแต่ยังมีกระบวนท่าเท้า ที่พลิ้วไหวรวดเร็วจนมองจุดยืนไม่ทัน

ปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ รัฐประหาร จอมพล ป. หนีไปญี่ปุ่น ความเด็ดขาดของระบบเผด็จการทหารสมัยสฤษดิ์ ผู้ที่ออกมาต่อกรและถูกจับไปคุมขังก็จะมีฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า นักหนังสือพิมพ์แต่ไม่พบว่ามีพรรคประชาธิปัตย์ถูกจับแต่อย่างใด
เมื่อระบบสฤษดิ์สิ้นลงไปพร้อมกับความตายของเขาจอมพลถนอม-ประภาสก็สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อมา จนถึงปี 2512 จึงเปิดโอกาสให้มีเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้กองเชียร์ที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารต่างก็ฝากความหวังไว้กับประชาธิปัตย์อย่างมาก แต่ระบบเลือกตั้งที่ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค ทำให้พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมสามารถรวบรวม ส.ส. ได้มากกว่าและได้เป็นรัฐบาล

ประชาธิปัตย์ได้รับบทบาทฝ่ายค้านและเป็นขวัญใจชาวบ้าน นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็น ส.ส. หน้าใหม่ของพรรคมีบทบาทเด่นในช่วงนี้
แต่เพียงแค่สองปีกว่า จอมพลถนอมก็ยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 สภาปิดลงอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้มีสามหนุ่มผู้กล้าประชาธิปัตย์ออกมาฟ้องจอมพลถนอม ในข้อหากบฏ คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ พักตร์ประไพ นายบุญเกิด หิรัญคำ ซึ่งผู้ฟ้องก็ถูกส่งเข้าคุกไปตามระเบียบ เพราะผู้พิพากษาของเรายอมรับการที่รัฏฐาธิปัตย์ตกเป็นของผู้ฉีกรัฐธรรมนูญว่าถูกต้อง ผู้ฟ้องต้องถูกขังคุกอยู่นาน
คุณชวนยังได้มีโอกาสหิ้วปิ่นโตตามพี่ ศิระ ปัทมาคม ส.ส. หญิงคนแรก ของ ปชป. เข้าไปเยี่ยมในคุกด้วย



เมื่อท้องฟ้าผ่องอำไพ
ก็เติบใหญ่กันทุกพรรค
เผด็จการกลับมาก็หลบหน้าไปพัก

หลัง 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชน ทำให้ฟ้าประชาธิปไตยเปิดใหม่อีกครั้ง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเกิดใหม่ทั้งหลายก็ได้เข้ามามีบทบาทในสภากันอีกครั้งเช่น กิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พรรคชาติไทยของกลุ่มราชครู พรรคฝ่ายก้าวหน้า เช่น สังคมนิยม แนวร่วมสังคมนิยมและพลังใหม่ ปชป. เป็นพรรคที่มีบทบาทเด่นที่สุดอีกครั้ง ชนะเลือกตั้งปี 2518 ได้ ส.ส. มากที่สุด 72 คน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกฯ อยู่ไม่กี่วัน แต่พอแถลงนโยบายก็ถูกคว่ำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้น้อง ซึ่งมีเพียง 18 เสียงแต่รวมพรรคพวกได้มากกว่า

ปี 2519 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ปชป. ก็ได้ ส.ส. มากที่สุดเหมือนเดิม 114 คน คราวนี้เป็นนายกฯ อยู่ได้ถึงห้าเดือนแต่พอปรับ ครม. ตั้งรัฐมนตรีใหม่ในวันที่ 5 ตุลาคม ก็มีการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็หายไปจากวงการเมือง ณ ช่วงเวลานั้น เพราะถูกกลบด้วยกระแสการต่อสู้กับเผด็จการของนักศึกษาประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การต่อสู้ครั้งนั้นดุเดือดถึงขั้นใช้อาวุธจนกระทั่งมีนโยบาย 66/23 การต่อสู้จึงสงบลง
ผู้วิเคราะห์อาวุโสบอกว่า คนส่วนใหญ่ของ ปชป. เป็นกลางๆ ในปี 2518-2519 ที่กระแสขวาจัดแรงมาก พวกเขายืนตรงใช้ได้ คงมีเฉพาะปีกขวาในพรรคอย่างสมัครและสมบุญ เท่านั้นที่เอียงไป


ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
ต้องทำตัวให้ป๋ารัก

ประชาธิปไตยที่เกิดใหม่เริ่มในปี 2523 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถมีบทบาทได้ในสถานการณ์แบบนี้อีกเช่นเดิมแม้มี ส.ส. เพียง 35 คน เป็นฝ่ายค้าน 1 ปี ก็ร่วมกับ จปร.7 โค่นพลเอกเกรียงศักดิ์กลางสภา แล้วหนุน พลเอกเปรม ติณสูลานท์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน หลังปี 2525 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากได้ชื่อว่าเป็นเด็กของป๋าเปรม เช่น เสธ.หนั่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ วีระ มุกสิกพงศ์ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นไม่ได้ช่วงชิงกันว่าใครได้ ส.ส. มากที่สุดแล้วจะได้เป็นนายกฯ แต่ช่วงชิงจำนวน ส.ส. เพื่อใช้กำหนดสัดส่วนในการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีเพราะเมื่อฟ้าเป็นของนก นายกฯ ก็เป็นของป๋าไปเรียบร้อยแล้ว และผู้ที่จะกำหนดว่าใครจะได้เป็น รมต. ก็คือป๋า 70%

เหมือนเป็นเรื่องบุญวาสนา คุณพิชัย รัตตกุล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แม้ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. มากที่สุดถึง 100 เสียงในปี 2529 ก็ยังได้เป็นแค่ท่านรองนายกฯ ผู้วิเคราะห์ยืนยันว่าแกนนำในพรรค ปชป. ไม่มีใครกล้าเสนอชื่อหัวหน้าพรรคตัวเองเป็นนายกฯ แต่เรื่องนี้วิเคราะห์ได้ไม่ยาก เพราะ
1) ในปี 2526 พรรคชาติไทยโดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร เคยคิดต่อสู้เจ้าพนักงาน ผลก็คือต้องเป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้งไปหลายปี ดังนั้น จึงไม่มีใครอยากเสี่ยง
2) ตำแหน่งนายกฯ เป็นของหัวหน้าพรรคเท่านั้นคนอื่นไม่มีสิทธิ แต่ตำแหน่ง รมต. ที่เหลือเป็นของแกนนำแน่นอน คนส่วนใหญ่จึงสู้เพื่อตัวเอง และสู้กันเองจนพรรคแตก
3) ป๋าเปรมไม่มีพรรค ขอตำแหน่งนายกฯ และตำแหน่ง รมต. ไว้ไม่กี่ตำแหน่งจึงมีเก้าอี้ว่างพอให้คนที่อยากเป็น รมต. จากทุกพรรควิ่งมาแสดงความภักดี

ในการเลือกตั้งปี 2531 วันที่นายกฯ เปรมบอกว่า พอแล้วกับตำแหน่งนายกฯ พรรค ปชป. ก็แตกไปแล้ว มีกลุ่ม 10 มกรา แยกตัวออกไป การเลือกตั้ง ปชป. ได้ ส.ส. แค่ 48 เสียง คนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ กลับเป็น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ


ผู้วิเคราะห์เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่เพียงตัดโอกาสของผู้นำพรรคการเมืองในการขึ้นบริหารประเทศ แต่ยังไปบ่มเพาะให้ ส.ส. และแกนนำรุ่นใหม่นิยมกับการอิงอำนาจผู้นำทางทหารเพื่อสร้างอำนาจการเมือง ความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ต่ออำนาจประชาชนก็สั่นคลอนไป

และความเชื่ออันนี้จะส่งผลไปยังอนาคต



____________________________________________________________________________________________รายงานปรองดอง 05 04 55
www.youtube.com/watch?v=n-v4p4Siwm8
____________________________________________________________________________________________      
Admin บทความดี จะโพสต์ครั้งใหม่ ในค่ำวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 


.