http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-13

ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (จบ) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
อ่านตอนที่ 1 - ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (1) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/plklp.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (จบ)
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 76


วันอังคารที่ 27 มีนาคม 2555
นักอนุรักษ์ท้องถิ่นล้านนาจากสี่สถาบัน มี มช. มธ.ศูนย์ลำปาง มทร.ล้านนา ภาคพายัพ และ ม.ราชภัฏลำปาง ได้นัดหมายกันลงพื้นที่สำรวจสภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จนตกเป็นข่าวเกรียวกราว


ลุ้นนักอนุรักษ์ แม้หวังดูรางเลือน

ให้บังเอิญที่เช้าวันเดียวกันนั้น กรมศิลปากรก็มอบหมายให้นักอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมจากส่วนกลางผู้มีประสบการณ์ ลงพื้นที่สำรวจวิหารพระพุทธ และวิหารลายคำน้ำแต้ม เพื่อประเมินดูช่องทางว่ายังพอจะมีโอกาสเยียวยาความเสียหายให้พ้นจากความวิบัติที่วัดและบริษัทจ้างเหมากระทำไว้มากน้อยเพียงใด

ผลสรุปก็คือ นักอนุรักษ์ของกรมศิลปากร จะจับมือกับนักอนุรักษ์ท้องถิ่นล้านนาช่วยกันแก้ไขกอบกู้ลายคำน้ำแต้มของเดิมให้กลับคืนมา ด้วยดำเนินการลอกสีทอง (เวรกรรมแท้ๆ ที่ผู้รับเหมาไม่ได้ใช้ทองคำเปลวแต่ไปใช้สีเคมี) และสีแดงที่พื้นหลัง (หากอนุรักษ์ให้ถูกวิธี ต้องใช้สีชาด หรือที่นิยมเรียกว่ารักแดง แต่นี่ก็ใช้สีเคมีสมัยใหม่อีก) ออกจากพื้นผิวให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปิดให้เห็นเส้นสายลายศิลป์ของเดิม

ปัญหามีอยู่ว่า สีสมัยใหม่ที่ได้พอกทับภาพจิตรกรรมดั้งเดิมนั้น ได้ทำลายทุกอย่างยับเยินไปแล้วมากน้อยเพียงใด แค่คิดก็เสียวสะท้าน แม้กระนั้นทุกฝ่ายจักพยายามเอาใจช่วย ไม่ว่าผลของการกอบกู้วิกฤติจิตรกรรมครั้งนี้จะมีหวังเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็ตามที ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าปล่อยไว้ให้เกิดทัศนะอุจาดเหมือนสภาพที่เห็นๆ กันอยู่

เรื่องไม่น่าจะเกิดก็ดันเกิดขึ้นจนได้ ภาพจิตรกรรมเขาอยู่ดีๆ และเพิ่งได้รับการอนุรักษ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2530 ผ่านมาเพียง 25 ปีเท่านั้น อันที่จริงหากแค่ทำความสะอาดขจัดคราบไคลเชื้อราออก แล้วเสริมความแข็งแรงก็ช่วยยืดอายุให้ภาพจิตรกรรมยืนยาวต่อไปได้แล้ว

ทฤษฎีว่าด้วยการอนุรักษ์ของที่ไหนๆ ทั่วโลก ไม่เคยมีใครอนุญาตให้เอาสีพลาสติกหรือสีน้ำมันมาปาดทับสีฝุ่นโบราณอย่างมักง่าย เพราะหัวใจของการอนุรักษ์คือการรักษาไม่ให้มันเสื่อมสลายมากไปกว่าที่เป็นอยู่

แม้นว่าสีจะดูเก่าซีดจาง หรือลวดลายเลือนรางเห็นไม่ชัด แต่มันคือภาพสะท้อนถึงกาลเวลาที่ผ่านร้อนหนาวมาหลายศตวรรษ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจมากกว่ารู้สึกอับอาย

มีแต่คนวัตถุนิยมสูงแต่รสนิยมต่ำเท่านั้นที่คิดรังเกียจสีโบราณ แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงมันใหม่ให้ฉูดฉาดสุกใสประกายยี่เก ด้วยหลงผิดคิดว่าทำไปแล้วจะได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาดีเด่น ก้าวล้ำนำสมัย



น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง
หนึ่งเดียวอย่าจากพราก

การที่ชาวล้านนาเจ็บปวดจนเลือดขึ้นหน้า หรือที่ภาษาเหนือฮ้องว่า "กั๊ดอก" กับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เนื่องมาจาก "ลายคำน้ำแต้ม" หรือ "น้ำแต้มลายคำ" ของวัดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่าที่ไหนๆ คือร่วม 300-400 ปี ซ้ำภาพเขียนประเภทลายคำน้ำแต้ม ปัจจุบันยังหลงเหลืออย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพียงแห่งเดียว ก็คือที่ลำปาง

จิตรกรรมฝาผนังชิ้นเยี่ยมที่อื่นๆ ล้วนแต่วาดด้วยกรรมวิธีสีฝุ่น (Tempera) ไม่ว่าวัดพระสิงห์ วัดบวกครกหลวง ที่เชียงใหม่ หรือชิ้นที่ขึ้นชื่อลือชาระดับโลกคือ วัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน

"ลายคำน้ำแต้ม" มองเผินๆ อาจดูละม้ายคล้ายคลึงกับภาพเขียนลาย "รดน้ำปิดทอง" ของทางสยาม แต่ขั้นตอนการผลิตซับซ้อนน้อยกว่า

ลักษณะเด่นของลายคำน้ำแต้ม คือการใช้สีแบบเอกรงค์ นั่นคือสีแดงรองพื้นหลังแล้วปิดทองคำเปลวในส่วนที่เป็นลวดลายให้เกิดจุดเด่น สีแดงกับสีทองนี้สร้างความสุกปลั่งให้บรรยากาศมลังเมลืองแก่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวิหารหรือที่เรียกว่า Sacred Color

เฉพาะในวัดพระธาตุลำปางหลวงเอง นอกเหนือจากวิหารพระพุทธ ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวแล้ว ยังพบในวิหารลายคำน้ำแต้ม แค่ชื่อของวิหารก็บ่งชี้ชัดถึงจุดเด่นภายในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องขยายความ

นครลำปางยังพบ "ลายคำน้ำแต้ม" ที่วัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา วัดนี้ได้ฝีมือช่างเป็นชาวไทขึนจากเชียงตุง และอีกวัดที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด เมื่อเอ่ยถึงความสุดยอดของงานน้ำแต้มลายคำลำปาง หากไม่พูดถึงวิหารโถงวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร ก็แสดงว่าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของล้านนา


ทำไมลายคำน้ำแต้มจึงปรากฏมีอยู่มากมายในลำปาง แต่เหลือน้อยในเมืองอื่นๆ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอให้สังเกตว่า ดั้งเดิมนั้นจิตรกรรมทั่วทั้งโลก ต่างก็เริ่มต้นใช้สีแดงเป็นสีเอกรงค์เพื่อสร้างจุดเด่นด้วยกันทั้งสิ้น

นับแต่ภาพมือแดงจากเลือดนกพิราบตามผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภาชนะเขียนสีหม้อบ้านเชียง มาถึงภาพจิตรกรรมยุคสุโขทัย ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวศรีสัชนาลัย หรือในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สมัยพระนครศรีอยุธยา จนถึงสกุลช่างเมืองเพชรสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลายที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

ทั้งหมดที่กล่าวมาต่างก็ใช้ "สีแดง" เป็นสียืนพื้น เพราะคลุมวรรณะสีร้อนสร้างความสว่างไสวให้แก่วิหารในยุคที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ผลชะงัดนัก

พวกสีฝุ่นอื่นๆ ในวรรณะเย็น เขียว ฟ้าคราม น้ำเงิน เป็นสีที่เกิดขึ้นภายหลังในยุคพระนครศรีอยุธยาปลายและค่อยๆ เพิ่มความนิยมในยุครัตนโกสินทร์ ด้วยการติดต่อกับจีนและตะวันตก ทำให้ชาวสยามเรียนรู้วิธีการใช้สีสมัยใหม่ที่สดใสแพรวพรายกว่าสีแดงแบบเอกรงค์

อิทธิพลสยามเข้ามาสู่ล้านนาสมัยรัชกาลที่ 5 และผลพวงของจิตรกรรมวัดภูมินทร์เมืองน่าน กับวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ก็คือคำอธิบายที่ชัดแจ้งยิ่งนัก สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา-สยาม (แถมบวกอิทธิพลไทใหญ่ จากกรุงมัณฑะเลย์ เข้าไปเจือบ้างเล็กน้อย)

นานวันเข้าสล่าล้านนาก็ค่อยๆ ละเลยลืมเลือนงาน "ลายคำน้ำแต้ม" ด้วยหันไปตื่นตาตื่นใจกับของแปลกใหม่ที่ชาวสยามนำมาสถาปนาให้ คงเหลือแต่วัดเล็กวัดน้อยตามชนบทที่กระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่จากภายนอกยังชำแรกเข้าไปไม่ถึง

วัดดอยติ วัดดอนหลวง วัดหนองสร้อย วัดหมูเปิ้ง วัดประตูป่า วัดทาดอยคำ ฯลฯ ในเมืองลำพูน เป็นตัวอย่างกลุ่มวัดที่ยังคงปรากฏภาพเบื้องหลังฉากพระประธานรูปพระแผงหรือพระอันดับ ด้วยเทคนิคลายคำน้ำแต้มอยู่ แต่ก็น่าเสียดายยิ่งนักที่ปัจจุบันเจ้าอาวาสของวัดหลายแห่งมักเอาสีสมัยใหม่ไปพอกทาทับลายคำน้ำแต้ม โดยไม่เคยขออนุญาตหรือปรึกษากรมศิลปากรเลย

แต่ที่ไม่ตกเป็นข่าว ก็เพราะไม่ได้เป็นวัดมีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง

ระหว่างปี พ.ศ.2101 ถึง 2317 ช่วงเวลาที่ล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ที่ชอบก่อกบฏอยู่เนืองๆ ต่างถูกพม่าคุมเข้ม ทำให้หมดสิทธิ์ที่จะได้รับการสนับสนุนให้สืบสานงานช่าง

ในขณะที่ลำปาง เป็นเมืองที่พวกม่าน (พม่า) โปรดปรานมากเป็นพิเศษ ด้วยเห็นว่าไม่มีพิษภัย ตรงกันข้ามมักถูกรังแกโดยกบฏเมืองลำพูน แต่ชาวลำปางก็ยังปกป้องตัวเองมาได้ ทำให้พม่าไว้ใจลำปาง ปูนบำเหน็จความดีความชอบให้

สล่าเมืองละกอน (ชาวลำปางเรียกขานตนเองว่าชาวละกอน) จึงแทบจะเป็นเมืองเดียวที่สามารถเดินหน้าสร้างวัดวาในยุคที่ดินแดนล้านนาตกอับได้โดยปราศจากความวิตกกังวล ซ้ำงานช่างในยุค 300-400 ปีที่ผ่านมานั้น ยังเป็นยุคที่ปลอดอิทธิพลการใช้สีฝุ่นสมัยใหม่

และนี่คือคำตอบว่า ทำไม "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" จึงทรงคุณค่ามหาศาล และส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตวิญญาณของชาวล้านนายิ่งนัก

เพราะ "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" คืออัตลักษณ์งานศิลปกรรมเมืองเหนือชิ้นสุดท้ายที่เราไม่มีอะไรจะสูญเสียยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

เพราะ "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" ช่วยบอกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ว่าเรายังมองเห็นลำแสงอันริบหรี่ที่จรัสรองท่ามกลางยุคมืด ในห้วงเวลาที่ล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า ลำปางกลับฝ่าด่านดำรงอยู่ในฐานะคล้ายกับ "นครอิสระ" ที่ยังสามารถรังสรรค์งานศิลปกรรมได้อย่างผงาด



อนุสติของความเสียหายครั้งนี้ ถือเป็นวาระและภาระหลักของกรมศิลปากรที่จะต้องรับผิดชอบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในทางคู่ขนานกัน ภาครัฐควรตอบคำถามนี้ด้วยว่า

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องรื้อโครงสร้างระบบราชการอันคร่ำครึ ที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับมรดกของชาวบ้านหรือของบรรพชน เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตากราบกรานรับใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีของเจ้านายเท่านั้น

ดั่งคำพูดเจ็บจี๊ดที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนสงขลา เคยกล่าวไว้กับอธิบดีกรมศิลป์หลายสิบปีก่อนว่า "ศิลาจารึกกินไม่ได้" รอให้ประเทศร่ำรวยกว่านี้ก่อน แล้วค่อยมาปลุกเร้าให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน!

ความคิดนี้ยังตกค้างมาจวบปัจจุบัน เห็นได้จากตอนแบ่งโควต้า รมต. กระทรวงวัฒนธรรมถูกวางไว้ เป็นกระทรวงเกรดบ๊วยสุด

ในเมื่อเรามีตำแหน่ง โยธาฯ จังหวัด ประมงจังหวัด เกษตรจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ฯลฯ แต่ทำไมจึงกลับไม่มี "โบราณคดีจังหวัด" เป็นไปได้ล่ะหรือที่ปล่อยให้มีสำนักศิลปากรทั่วราชอาณาจักรเพียง 15 แห่ง ครั้นพอศิลปะเกิดความเสียหาย กลับมาร้องแรกแหกกระเชอด่ากรมศิลปากร

หากไม่แก้ไข แสดงว่าระบบรัฐพอใจที่จะอุปถัมภ์วงจรอุบาทว์นี้ต่อไป นั่นคือ...

นักโบราณคดีไม่พอ-ใช้ระบบจ้างเหมาเอกชน-ผลงานอนุรักษ์ห่วยแตก (ประหยัดงบ-เวลาบีบ-ขาดผู้เชี่ยวชาญ)-ประชาชนก่นด่าเจ็บปวด-วัดกับกรมศิลป์ออกมาแก้ตัว ฝ่ายหนึ่งอ้างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกฝ่ายน้ำท่วมปากพูดไม่ออก

สุดท้ายมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสูญเสียโดยมิอาจหวนคืน!



.