http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-03-27

“องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร? โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

.

ปิยบุตร แสงกนกกุล: “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร?
ใน เวบประชาไท http://blogazine.in.th/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/4058
บล็อกของ Piyabutr Saengkanokkul . . 27 มีนาคม, 2013 - 13:02


รัฐธรรมนูญได้มอบเอกสิทธ์และความคุ้มกันบางประการแก่ประมุขของรัฐในฐานะที่ประมุขของรัฐเป็นผู้แทนของรัฐ (Representation de l’Etat) และเป็นสัญลักษณ์ของการประกันความต่อเนื่องของรัฐ (Continuite' de l’Etat) เอกสิทธิ์เหล่านั้น ได้แก่ ความไม่ต้องรับผิด และความคุ้มกันไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบ” เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๙๕๘ มาตรา ๖๗ บัญญัติว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่...” หรือ รัฐธรรมนูญอิตาลี มาตรา มาตรา ๙๐ กำหนดให้ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังไม่อาจถูกดำเนินคดีใดๆได้ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประธานาธิบดีไม่สัมบูรณ์เด็ดขาด รัฐธรรมนูญอาจกำหนดข้อยกเว้นบางประการให้ประธานาธิบดีต้องรับผิดได้ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งรัฐธรรมนูญก็จะกำหนดกระบวนกล่าวหาและพิจารณาคดีแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป อาจใช้วิธีการทางการเมืองแท้ๆ คือ ให้ รัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง[1] หรือ วิธีการทางการเมืองและกฎหมายผสมกัน คือ ให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ริเริ่มกล่าวหา และศาลเป็นผู้พิจารณาคดี ซึ่งอาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญ[2] ศาลฎีกา[3] ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ[4]

จะเห็นได้ว่าเอกสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่ประธานาธิบดีนั้น คุ้มครองเฉพาะการกระทำของประธานาธิบดีในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ในกรณีที่ประธานาธิบดีกระทำความผิดโดยการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ประธานาธิบดีก็ยังคงต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถดำเนินคดีกับประธานาธิบดีได้ เพราะ ประธานาธิบดีได้รับความคุ้มกันในการไม่ถูกดำเนินคดีใดๆในระหว่างดำรงตำแหน่ง หากต้องการดำเนินคดี ก็ต้องรอให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งไปก่อน หรือในบางประเทศ อาจกำหนดเป็นกรณีพิเศษว่า ดำเนินคดีประธานาธิบดีในระหว่างดำรงตำแหน่งได้แต่ต้องให้รัฐสภาอนุญาตก่อนว่าจะให้ดำเนินคดีหรือไม่[5]

ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์  เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขของรัฐจะแตกต่างไปจากประธานาธิบดี กษัตริย์มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่สัมบูรณ์เด็ดขาดกว่าประธานาธิบดี โดยผ่านสูตรที่เรียกกันว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” - The Person of the King is inviolable.

ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลทางกฎหมายในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่กษัตริย์ใน ๒ ประการ ประการแรก กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำใดๆของตนเลย แต่เป็นรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯที่เป็นคนรับผิดชอบ ประการที่สอง กษัตริย์ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ไม่มีผู้ใดฟ้องคดีแพ่ง ฟ้องคดีอาญา ฟ้องคดีปกครองหรือดำเนินการทางวินัยต่อกษัตริย์ได้ และไม่มีผู้ใดจะจับกุมกษัตริย์หรือคุมขังกษัตริย์ได้

ในกรณีที่การกระทำของกษัตริย์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะ รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น กษัตริย์ลงนามประกาศสงคราม แล้วต่อมาประเทศนั้นตกเป็นผู้แพ้สงคราม สมาชิกในรัฐบาลถูกดำเนินคดีฐานอาชญากรสงคราม แต่กษัตริย์ก็ไม่ต้องรับผิดและไม่ถูกดำเนินคดี เพราะ กษัตริย์ลงนามประกาศสงครามโดยมีคนลงนามรับสนองฯ และคนลงนามรับสนองฯนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที ถ้ากรณีการกระทำของกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นเรื่องในทางแพ่ง ให้ฟ้องต่อพระราชวังบ้าง ฟ้องต่อพระคลังข้างที่บ้าง ฟ้องต่อสำนักงานทรัพย์สินฯบ้าง แล้วแต่ว่าประเทศนั้นจะจัดการกองทรัพย์สินของกษัตริย์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกษัตริย์ ไว้ในรูปลักษณ์อย่างไร[6]

ในทางอาญา เช่น กษัตริย์เอาปืนไปยิงคนตาย หรือกษัตริย์ขับรถชนคนตาย ปัญหาจะทำอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ในทางตำรา ไม่มีตำราไหนเสนอทางออกไว้เลย A.V. Dicey อธิบายไว้ในตำรารัฐธรรมนูญของเขาว่า “กษัตริย์อาจเอาปืนระเบิดหัวขมองอัครมหาเสนาบดีได้โดยไม่ต้องไปศาล” แต่ Dicey บอกว่านี่เป็นตัวอย่างแบบสุดขั้ว สุดโต่ง หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงนั่นแสดงว่า วันสุดท้ายของราชบัลลังก์ใกล้มาถึงแล้ว[7]

ความข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” มีความเข้มข้นกว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการกระทำอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่” หากประธานาธิบดีกระทำความผิดอาญา และการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ เมื่อประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ก็จะถูกดำเนินคดีตามปกติ 

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางอาญาของกษัตริย์ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแห่ง “ราชอาณาจักรไทย” ไม่ยอมลงนามให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะในธรรมนูญกรุงโรม มาตรา ๒๗ เขียนไว้ชัดเจนว่าถ้ากฎหมายภายในรัฐสมาชิก ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใดๆแก่ประมุขของรัฐ ให้ถือว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นหมดไปเมื่อเป็นกรณีดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ น่าแปลกใจว่า เหตุใดราชอาณาจักรไทยจึงอ้างเหตุผลนี้ในการไม่ลงนามให้สัตยาบัน ทั้งๆที่ราชอาณาจักรอื่นๆในโลกนี้ ก็ลงนามให้สัตยาบันกัน และในนามของหลัก The King can do wrong ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางที่กษัตริย์ไปกระทำความผิดอันเข้าข่ายฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศในนามส่วนตัว และการกระทำใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯเสมอ และเป็นผู้ลงนามรับสนองฯนั้นเองที่เป็นผู้กระทำโดยแท้จริงและเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัญหาต่อมา คือ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่กษัตริย์นั้นมีผลในช่วงเวลาใด? คุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่เป็นกษัตริย์? หรือคุ้มครองกษัตริย์ตลอดชีวิต?

หากเป็นกรณีที่กษัตริย์เสียชีวิตไป เอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นก็ตกไปอยู่กับกษัตริย์องค์ต่อไปทันที เพราะเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นเป็นไปตามตำแหน่ง แต่ถ้ากษัตริย์สละราชสมบัติไป จะฟ้องร้องต่อการกระทำของกษัตริย์ในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้หรือไม่? ต่อประเด็นปัญหานี้ มีความเห็นออกเป็นสองแนว แนวแรก เห็นว่า สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่กษัตริย์ เป็นการให้แก่ตำแหน่งกษัตริย์ มิใช่ให้แก่ นาย ก. ที่มาเป็นกษัตริย์ เมื่อสละราชสมบัติ ก็กลายเป็นบุคคลธรรมดา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆย่อมหมดไป แนวสอง เห็นว่า ไม่สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะ การกระทำในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้รับความคุ้มครองไปแล้วว่าไม่ต้องรับผิด ดังนั้น การกระทำของกษัตริย์จึงได้รับการคุ้มครองตลอดไป

ในกรณีที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนที่บุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องหรือกล่าวหาใดๆ หรืออาจฟ้องร้องหรือกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา เมื่อบุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาก็จะได้รับความคุ้มกัน ไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหา

ประเด็นนี้ เคยถูกหยิบยกขึ้นอภิปรายเมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ พันโท โพยม จุลานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี ได้อภิปรายว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไมได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้”[8]

อนึ่ง รัฐธรรมนูญมอบเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่กษัตริย์เท่านั้น สมาชิกในครอบครัวของกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นราชินี บุตร ธิดา หลาน เหลน โหลน ตลอดจนบุคคลรายล้อมกษัตริย์ เช่น องคมนตรี ข้าราชบริพาร นางสนองพระโอษฐ์ ฯลฯ ไม่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเหมือนกษัตริย์


.......................

ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ปรากฏมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาด และเป็นรัฐ การที่กษัตริย์ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ ไม่อาจถูกตำหนิติเตียนได้ ไม่ต้องรับผิด และไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังต้องการเก็บกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐต่อ ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ที่เคยปรากฏในระบอบเก่า เมื่อนำมาใช้ในระบอบใหม่ ก็ต้องถูกอธิบายใหม่ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและความเสมอภาค

ในระบอบประชาธิปไตย องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ หรือ กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการ ครบถ้วน ดังนี้[9]

ประการแรก กษัตริย์ไม่กระทำการใดตามลำพัง การกระทำของกษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯเสมอ และผู้ลงนามรับสนองฯ คือ ผู้กระทำการนั้นอย่างแท้จริงและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนั้น การลงนามรับสนองฯ นี้ หยุด แสงอุทัยอธิบายว่า เป็นไปเพื่อรับรองว่า เป็นพระปรมาภิไธยอันแท้จริงของกษัตริย์ และเพื่อแสดงว่าผู้ลงนามรับสนองฯจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องแบบพิธี ความถูกต้องของข้อความ และสาระของข้อความ[10]

ประการที่สอง อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกษัตริย์กับรัฐบาลออกจากกัน รัฐบาล คือ รัฐบาลในกษัตริย์ จะไม่มีการกระทำของกษัตริย์อย่างหนึ่ง และการกระทำของรัฐบาลอย่างหนึ่ง

ประการที่สาม ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่ากษัตริย์คิดอะไร กษัตริย์อาจให้ความเห็น คำแนะนำ หรือข้อปรึกษาหารือแก่รัฐบาลได้ แต่ต้องเป็นความลับ และรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของกษัตริย์หรือไม่ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ประการที่สี่ พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมือง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี เหตุที่การกระทำของกษัตริย์ในเรื่องเหล่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อน ก็เพราะว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ หากยอมให้กษัตริย์กระทำการเอง ก็อาจส่งผลให้องค์กษัตริย์ต้องถูกตำหนิ วิจารณ์ และรับผิดชอบ แต่หากการะทำเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ก็หมายความว่า รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ หยุด แสงอุทัย ยังเห็นอีกว่า “แม้ในเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่เรื่องของอำนาจบริหารแต่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพราะต้องมีผู้รับผิดชอบในพระราชดำรัส ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างพระราชดำรัสเอง แล้วจึงส่งมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีร่างไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้วพระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี และในเรื่องที่เกี่ยวกับการราชการแผ่นดินเช่นว่านี้ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงรับสั่งทูตานุทูตหรือข้าราชการอื่นใดโดยไม่ได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรีหรือด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี...”[11]
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าการกระทำใดเกี่ยวกันกับการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องระลึกถึงสถานะประมุขของรัฐของกษัตริย์ด้วย การกระทำบางเรื่อง หากพิจารณาจากสถานะสามัญชน อาจเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ แต่ถ้ากษัตริย์เป็นผู้กระทำ เรื่องนั้นก็อาจเกี่ยวกับการเมืองได้ เช่น การสมรส ดังเช่นกรณีที่เคยปรากฏขึ้นในสหราชอาณาจักรที่คณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบในการที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ จะสมรส จนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ ต้องตัดสินใจสละราชสมบัติ[12]

เมื่อเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการครบถ้วน เมื่อนั้น กษัตริย์จึงไม่ทำอะไรผิด กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำใดๆ และกษัตริย์ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

ในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์จึงไม่มีทางกระทำผิด (The King can do no wrong) เพราะ กษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย (The King can do nothing) แต่เป็นผู้ลงนามรับสนองฯต่างหากที่เป็นผู้กระทำและเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น การอธิบายว่า The King เป็นมนุษย์ จึงสามารถ do wrong ได้นั้น แม้ฟังแล้ว อาจซาบซึ้งว่าเป็นกรณีที่กษัตริย์มีน้ำใจและประกาศว่าตนอาจทำผิดพลาดได้เสมอเหมือนคนทั่วไป แต่คำพูดเช่นนี้ผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะ หากบอกว่ากษัตริย์ทำผิดได้ นั่นแสดงว่า กษัตริย์จะทำการเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด จะทำการลำพังด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้รับสนองฯ หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มี The King ที่ can do wrong เพราะ ในระบอบประชาธิปไตย มีแต่ The King ที่ can do nothing 

เมื่อการกระทำของกษัตริย์เป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการแล้ว กษัตริย์ก็ไม่ต้องรับผิด และไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ ดังนั้น หากแปลความกลับกันว่าถ้ากษัตริย์กระทำการลงไปโดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการดังกล่าว ผลจะเป็นเช่นไร? องค์กษัตริย์อาจถูกละเมิดได้ กษัตริย์ต้องรับผิด? กษัตริย์ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆได้?

ความข้อนี้นับเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง รัฐธรรมนูญของหลายประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่การต่อสู้ระหว่าง “กษัตริย์” กับ “สภาผู้แทนราษฎร” ดำเนินไปอย่างถึงพริกถึงขิง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะนั้น ยามใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ก็มักเขียนในรัฐธรรมนูญป้องกันเอาไว้ก่อนว่า กษัตริย์อาจถูกถอดออกจากตำแหน่งได้ด้วยเหตุใดบ้าง เช่น ละเมิดรัฐธรรมนูญ, เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเรียกให้กษัตริย์เดินทางกลับประเทศแล้วกษัตริย์ไม่ยอมกลับ, ทรยศชาติ เป็นต้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรถอดถอดกษัตริย์ออกจากตำแหน่งหรือไม่[13] เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยชนะฝ่ายกษัตริย์อย่างเด็ดขาด สามารถวางรากฐานประชาธิปไตยได้อย่างสถาพร และกษัตริย์ยอมตนลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดแล้ว ในรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเหตุแห่งการถอดถอนกษัตริย์ เพราะ มั่นใจว่าจะไม่มีกรณีที่กษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญ หากกษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ผลก็คือ สาธารณชนจะวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ กระแสสังคมร่วมกันกดดันให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ หรือหากร้ายแรงที่สุด สถาบันกษัตริย์ก็อาจปลาสนาการไปจากประเทศนั้น


............................

ในรัฐธรรมนูญไทย ปรากฏข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่ข้อความดังกล่าว ก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขไปตามแต่ละยุคสมัย หากเราสำรวจข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ในรัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับ อาจเบ่งกลุ่มได้ ดังนี้

* กลุ่มแรก ไม่มีข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีข้อความ “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” (มาตรา ๖ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕)

* กลุ่มที่สอง มีเฉพาะ คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕, ๒๔๘๙, ๒๔๙๐, ๒๔๙๕, ๒๕๐๒)

* กลุ่มที่สาม มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ในมาตราหนึ่ง และเพิ่มไปอีกมาตราหนึ่งว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” (รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒, ๒๕๑๑, ๒๕๑๗)

* กลุ่มที่สี่ คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” มารวมอยู่ในมาตราเดียวกัน (รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕, ๒๕๑๙, ๒๕๒๐, ๒๕๓๔ – รสช, ๒๕๔๙)

* กลุ่มที่ห้า คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” มารวมอยู่ในมาตราเดียวกัน แต่แยกวรรค (รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑, ๒๕๓๔, ๒๕๔๐, ๒๕๕๐)


หากไม่ใช้ถ้อยคำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม แต่แบ่งกลุ่มตามยุคสมัย อาจแบ่งได้ ดังนี้ 

ยุคแรก ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ – ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕)

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่มีข้อความว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีมาตรา ๖ บัญญัติว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” อะไรคือเหตุผลของผู้ร่าง? ผู้เขียนมีสองสมมติฐาน ดังนี้

สมมติฐานแรก นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่างธรรมนูญฯนี้ ทราบดีอยู่แล้วว่า ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาและมีกษัตริย์นั้น กษัตริย์มีเอกสิทธิ์เรื่องไม่ต้องรับผิดใดๆและไม่ถูกดำเนินคดีใดๆอยู่แล้ว หากว่าการกระทำของกษัตริย์นั้นมีผู้รับสนองฯ นายปรีดีฯ จึงไม่เขียนว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ลงไป ส่วนกรณีคดีอาญานั้น เกรงว่าหากกษัตริย์กระทำความผิดอาญา โดยการกระทำนั้นทำลงไปในนามส่วนตัวแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเขียนไปในมาตรา ๖ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย

สมมติฐานที่สอง ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามรับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ของฝรั่งเศส ซึ่งมีบทบัญญัติว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และกษัตริย์ไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ แต่ก็บัญญัติเหตุแห่งการถอดถอนกษัตริย์ไว้ด้วย โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัย

เกี่ยวกับมาตรา ๖ นี้ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส และทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง รัฐธรรมนูญสยาม ได้อธิบายเมื่อครั้งบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ว่า

"ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า คดีอาชญาซึ่งกษัตริย์ทำผิดจะต้องถูกฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ฉะเพาะแต่ความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญาเท่านั้น ยังหมายความเลยไปถึงความผิดซึ่งกษัตริย์กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ละเมิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดต่อสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศบ้านเมือง นี่เป็นความเห็น คือว่า ในคดีอาชญาไม่หมดความฉะเพาะแต่ความผิดซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญา ร.ศ. ๑๒๗ แต่กินความเลยไปถึงการกระทำของกษัตริย์ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือว่ากระทำการผิดสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบและถูกฟ้องร้องตามมาตรา ๖"[14]

ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายมาตรา ๖ ของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ดังกล่าว เป็นการพิจารณาตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่าประมุขของรัฐนั้นเป็นประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ เมื่อ ประธานาธิบดีมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันบางประการที่รัฐธรรมนูญมอบให้ และมีข้อยกเว้นที่ประธานาธิบดีต้องรับผิดในกรณีละเมิดรัฐธรรมนูญหรือทรยศชาติได้ กษัตริย์ก็อาจมีเหตุที่อาจทำให้ต้องถูกถอดถอนเหมือนประธานาธิบดีได้ดุจกัน พูดอีกอย่างก็คือ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ อาจเห็นว่า ประธานาธิบดีมีสถานะเป็นประมุขของรัฐเช่นเดียวกับกษัตริย์ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่าหลวงประเจิดอักษรลักษณ์เห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา ๖ คล้ายกับรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๗๙๑


ยุคที่สอง “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๒)

เมื่อรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ประกาศใช้ ปรากฏว่าบทบัญญัติแบบมาตรา ๖ ในธรรมนูญฯ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้หายไป แต่มีบทบัญญัติในมาตรา ๓ มาแทนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

บทบัญญัติมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีความเป็นมาอย่างไร เราอาจสำรวจได้จากรายงานการร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้น ดังนี้[15]

“ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ อ่านว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งได้แสดงความหมายของมาตรานี้โดยย่อๆแล้วว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปวง และดำรงอยู่ในฐานะอันพึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใดๆ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนื้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้วก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้วก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย จึ่งขอเติมคำว่า “สักการะ” ต่อคำว่า “เคารพ”

นายสงวน ตุลารักษ์ ว่าที่กล่าวว่า “พระองค์” แคบเกินไป อยากจะขอเสนอให้ตัดออกเสีย เพราะเรามิได้เคารพแต่ฉะเพาะพระองค์เท่านั้น เราเคารพถึงพระบรมรูป พระเกียรติยศ ฯลฯ อีกด้วย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับรอง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักนั้น หมายถึง person of the King คือตัวท่าน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉยๆ จะได้ความหรือไม่นั้น ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์โปรดอธิบาย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าความหมายอย่างที่ว่า person ที่เขียนก็ได้ความแล้ว แต่ถ้าจะหมายถึงเป็น body แล้ว ก็จะเป็นจริงอย่างที่นายสงวนว่า จึงคิดว่าเอาคำว่า “พระ” ออก คงเหลือแต่ “องค์พระมหากษัตริย์” ก็จะได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับรอง

นายสงวน ตุลารักษ์ เห็นชอบ

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีแก้ไข ๒ แห่ง คือ เติมคำว่า “สักการะ” ต่อท้ายคำว่า เคารพ และ ตัดคำว่า “พระ” ออก คงอ่านได้ในมาตรา ๓ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่ามาตรา ๓ นั้น ใช้ได้ตามแก้ไขมานั้น”



ยุคที่สาม มีทั้ง “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” (๒๔๙๒ ถึง ปัจจุบัน)

ในยุคนี้ มีการเพิ่ม “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” เข้ามา โดยปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ และนับแต่นั้น ข้อความทั้งสองวรรคนี้ ก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ

หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า เหตุที่ต้องบัญญัติ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” เพิ่มขึ้นอีก ก็เพื่อความชัดเจนและย้ำหลักการ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” เท่านั้นเอง[16]

อนึ่ง มีข้อควรสังเกตว่า ในยุคสมัยนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐธรรมนูญต้องกำหนดว่า องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ และไม่มีผู้ใดฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ในทางใดๆได้ การกำหนดไว้เช่นนี้ ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคหรือ บรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้นและนักกฎหมายสมัยนั้น มักอธิบายว่า เพราะ ศาลตัดสินในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ การให้กษัตริย์ไปขึ้นศาลของตนเอง จึงเป็นเรื่องประหลาด ผู้เขียนเห็นว่า การอธิบายให้เหตุผลเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการอธิบายตามสูตรของระบอบเก่า หากยึดหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องอธิบายว่า เหตุที่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกฟ้องหรือกล่าวหาในทางใดๆนั้น ก็เพราะกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำการใดๆ แต่มีผู้รับสนองฯที่เป็นผู้กระทำและรับผิดชอบ 

ในห้วงเวลาหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้ คนจำนวนมากเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘ ผิดไป และมีผู้ที่จ้องเล่นแร่แปรธาตุกับบทบัญญัติในมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ให้กลายเป็นบทบัญญัติแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงจำเป็นต้องเข้าใจเสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักวิชาและระบอบประชาธิปไตย

ผู้เขียนเห็นว่า หากเรายืนยันว่า “ราชอาณาจักรไทย” ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด[17] ไม่ใช่ระบอบที่ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นคำนาม และ “ประชาธิปไตย” เป็นคุณศัพท์ แล้วล่ะก็ บทบัญญัติในมาตรา ๘ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และวรรคสองที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” นั้น ต้องอธิบายดังนี้

คำว่า “เคารพสักการะ” ต้องแปลความว่า เป็นการถวายพระเกียรติให้แก่ตำแหน่งกษัตริย์ เป็นการประกาศ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ (norm) ไม่มีผลบังคับ (sanction) ไม่มีข้อห้าม ไม่มีบทลงโทษ นี่เป็นการแปลความแบบรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก และนอร์เวย์ ซึ่งยังคงใช้รัฐธรรมนูญเก่าแก่และปรากฏคำพวกนี้อยู่ คำว่า “สักการะ” ของรัฐธรรมนูญเดนมาร์กและนอร์เวย์เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่เขาก็ใช้วิธีการแปลความไปในทางที่เป็นคุณกับประชาธิปไตยและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ส่วนมาตรา ๘ วรรคสอง ที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ก็เป็นการเขียนมาเพื่อขยายความคำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

คำว่า “เคารพสักการะ” ก็ดี คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ก็ดี ไม่ได้หมายถึง ผู้ใดจะพูดถึงกษัตริย์ในทางวิจารณ์ไม่ได้เลย

ในอนาคต หากปรารถนาให้ราชอาณาจักรไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และป้องกันมิให้ผู้ใดแปลความมาตรา ๘ อย่างพิสดารโดยไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย สมควรเขียนมาตรา ๘ เสียใหม่ ให้ชัดเจนขึ้น โดยตัดถ้อยคำว่า “เคารพสักการะ” ออกไป และย้อนกลับไปนำมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ กลับมาบัญญัติไว้

การตัดคำว่า “เคารพสักการะ” ออกไป นอกจากจะป้องกันมิให้พวกกษัตริย์นิยมอาศัยถ้อยคำนี้ในการเอามาใช้ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อทำลายศัตรูแล้ว ยังทำให้กษัตริย์หลุดพ้นจากความเป็นเทพ ทำให้กษัตริย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่

ส่วนการนำมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” กลับมาบัญญัติไว้ใหม่นั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้นักเล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญ แปลความไปว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เขียนว่ากษัตริย์มีอำนาจกระทำการต่างๆนั้น กษัตริย์มีอำนาจในการกระทำใดๆด้วยตนเองตามลำพัง และยังไม่ต้องรับผิดใดๆตามมาตรา ๘ อีกด้วย

ในความเห็นของผู้เขียน บทบัญญัติแบบมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ควรเขียนใหม่ ดังนี้

“องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ รัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ

การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ถือเป็นโมฆะ”



……………………

ในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจกับความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจนั้นเป็นของคู่กัน ผู้ใดมีมีอำนาจ ผู้นั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจแสดงออกได้จาก การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การปลดออกจากตำแหน่ง การรับโทษอาญา สภาวะความรับผิดชอบเช่นนี้ เราต้องการให้เกิดขึ้นกับกษัตริย์หรือไม่? ถ้าคำตอบ คือ ไม่ ก็ต้องตัดความรับผิดชอบออก และจะตัดความรับผิดชอบออกได้ ก็ต้องไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่ต้องรับผิดชอบ ก็หลุดพ้นจากการติฉิน ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออก

การอธิบายคำว่า The King can do no wrong นั้น ต้องเอา The King can do no wrong ไว้ข้างหลังในฐานะเป็นส่วนผล และต้องอธิบายเงื่อนไขอันเป็นส่วนเหตุให้ครบทั้ง ๔ ข้อก่อนว่า
๑.) กษัตริย์ไม่กระทำตามลำพัง,
๒.) อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว (ไม่มีการแยกกษัตริย์กับรัฐบาล),
๓.) ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่ากษัตริย์คิดอะไร,
๔.) พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใด ที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมือง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
เมื่อเงื่อนไขทั้ง ๔ ข้อครบถ้วน เมื่อนั้น The King จึง can do no wrong กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่มีผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดๆได้



หากพิจารณาโดยเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง และกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่ขออาศัยอยู่กับประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ที่ดีหาใช่กษัตริย์ที่กระทำกิจการต่างๆมากมาย หาใช่กษัตริย์ที่พูดต่อประชาชนอย่างจับใจ หาใช่กษัตริย์ที่มีจริยวัตรดีงาม หาใช่กษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หาใช่กษัตริย์ที่เป็นนักรบ หาใช่กษัตริย์ที่มีจิตใจเมตตา...

แต่กษัตริย์ที่ดีต้องเป็นกษัตริย์ที่เคารพรัฐธรรมนูญ


* * * * * * * * * *
[1] เช่น สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส 
[2] เช่น เยอรมนี, ออสเตรีย
[3] เช่น โปรตุเกส 
[4] เช่น กรีซ, อิตาลี 
[5] เช่น เยอรมนี, ออสเตรีย 
[6] โปรดดู หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์, (วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : บรรณาธิการ), ๒๕๕๑, หน้า ๑๙ และ หน้า ๒๓-๒๔. 
[7] พระยานิติศาสตร์ไพศาล, “คำอธิบายหลักรัฐธรรมนูญสยามเปรียบเทียบกฎหมายธรรมนูญอังกฤษ”, บทบัณฑิตย์, เล่ม ๗ ตอนที่ ๕, สิงหาคม ๒๔๗๕, หน้า ๒๕๔. 
[8] โปรดดู สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐธรรมนูญ, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, ๒๕๕๐, หน้า ๘๑. 
[9] Robert Senelle, Emile Cl?ment, Edgard Van de Velde, A l’attention de Sa Majest? le Roi : La monarchie constitutionnelle et le re'gime parlementaire en Belgique, Editions mols, 2006 ; โปรดดู หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๑๓-๔๗. 
[10] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๕๑-๕๒.  
[11] เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๔-๓๕.
[12] เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๖ 
[13] ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ของฝรั่งเศส 
[14] หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสอนภาค ๑ ชั้นปริญญาตรี, ๒๔๗๗, หน้า ๗๕. 
[15] โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ว่าด้วยข้อความ ‘องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’,” http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_13.html โปรดดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระปกเกล้า,” http://somsakwork.blogspot.com/2006/10/blog-post.html  
[16] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๒๓. 
[17] เป็นคำของ ณัฐพล ใจจริง โปรดดู ณัฐพล ใจจริง, “สยามบนทางสองแพร่ง ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ รศ.๑๓๐”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕).



.