http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-04-09

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 20:05:26 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364993032 )
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1702 หน้า 32
( ภาพจาก http://chaoprayanews.com/ )


การปฏิวัติสยาม 2475 ถูกเล่ากันมาทั้งในแบบเรียนประวัติศาสตร์และงานวิชาการในทำนองเดียวกัน คือเป็นความขัดแย้งด้านต่างๆ ทั้งทางอุดมการณ์, การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, ความไม่เสมอภาคทางสังคมและการเมือง ฯลฯ ระหว่างชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเหล่า "กระฎุมพีข้าราชการ" ซึ่งรวมหัวกับนายทุนไทย-จีน จนในที่สุดก็สามารถยึดอำนาจบ้านเมืองมาได้ในวันที่ 24 มิถุนายน

ไม่มีมวลชนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จนบางคนเรียกมันว่าการรัฐประหาร แย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิวัติ และอีกเสี้ยวศตวรรษต่อมาก็ถอดวันที่ 24 มิถุนายน ออกจากความเป็นวันชาติ ทั้งที่ "ชาติ" ไทยถือกำเนิดขึ้นในวันนั้นเป็นครั้งแรก เมื่อคณะราษฎรประกาศว่าประเทศไทยเป็นสมบัติของปวงชนชาวสยาม หาใช่ของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวไม่

วันชาตินั้นเปลี่ยนไปด้วยอำนาจ ก็เปลี่ยนกลับด้วยอำนาจได้เหมือนกัน แต่ที่น่าสังเกตกว่าคือผู้คนไม่สนใจลุกขึ้นมาทักท้วงต่างหาก ลองฝรั่งเศสคนไหนคิดเปลี่ยนวันชาติจาก 14 กรกฎาคม บ้าง คงต้องเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมฝรั่งเศสแน่


ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ภาพการปฏิวัติสยามที่เสนอกันมา โดยปราศจากบทบาทของมวลชนระดับล่างเลยนั้น เป็นภาพที่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการบิดเบือน (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) จะไม่ให้ความสนใจแก่ความเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่างเลย

ดังนั้น 24 มิถุนายน จึงถูกเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของชนชั้นนำนับตั้งแต่คำกราบบังคมทูลของเจ้านายข้าราชการในสมัย ร.5 ลงมาถึง "กบฏ" ร.ศ.130 มากกว่าเชื่อมโยงกับความเป็นไปในสังคมวงกว้าง ซึ่งต้องรวมชาวนา, กรรมกร และพ่อค้ารายย่อยด้วย อย่างน้อยก็เพราะความเคลื่อนไหวของชนชั้นนำมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร จึงศึกษาได้สะดวกกว่า

แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า คนธรรมดาสามัญก็มีความตื่นตัวทางการเมืองในระดับหนึ่ง และแน่นอน ในฐานะมนุษย์ก็คงมีทั้งความพอใจหรือไม่พอใจต่อนโยบายที่กระทบชีวิตของเขา มากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา ถ้าอดอยากยากแค้นหรือลำบากลำบนมากนัก ก็อาจคิดอย่างที่คนไทยโบราณคิดก็ได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้หมดบุญวาสนาเสียแล้ว บ้านเมืองจึงได้ยุคเข็ญอย่างนี้

หลักฐานภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ของวันที่ 24 มิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ พากันออกมายืนริมถนนจำนวนมาก เพื่อชมขบวนทหารที่เคลื่อนผ่านหน้าไปสู่พระที่นั่งอนันตฯ ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น กับการแย่งอำนาจกันของชนชั้นปกครองแน่ ไม่ว่าเขาจะเข้าใจมันมากน้อยเพียงไรก็ตาม

บางคนอาจบอกว่าก็ไทยมุงไง เรื่องตื่นเต้นขนาดนี้จะไม่ให้มุงตามวัฒนธรรมได้อย่างไร ก็อาจจะจริง เพราะผมบอกจากภาพไม่ได้ว่าเขาออกมาแสดงความยินดีต้อนรับนักปฏิวัติ หรือออกมามุงเฉยๆ บางคนบอกว่ามีคนโบกมือให้ทหารในภาพด้วย แต่ผมไม่ได้เห็นภาพนั้น และการโบกมือให้แก่ "อำนาจ" ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยทำกันเสมอ โดยไม่แสดงให้รู้ถึงความคิดจิตใจของผู้โบก

ที่น่าสังเกตกว่าคือ ในภาพที่ผมเห็น ไม่อาจบอกได้ว่าเขายินดีหรือไม่ แต่ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า เขายินร้ายหรือไม่ ที่ผมอยากจะชี้ให้ดูในที่นี้ก็คือ ตลอดเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจนั้น ไม่มีการต่อต้านจากประชาชนระดับล่างเลยนะครับ มีแต่การต่อต้านของ "ระบอบเก่า" หรือ ancien regime เท่านั้น

ผมสรุปอย่างนี้จะยุติธรรมไหมว่า ประชาชนระดับล่างไม่หนาวด้วยความโหยหาระบอบเจ้า แต่ก็ไม่ร้อนด้วยความคึกคักกับการมาของระบอบใหม่... อย่างน้อยตามหลักฐานที่ปรากฏ



ผมอยากเตือนด้วยว่า การปฏิวัติสยามไม่ใช่การเปลี่ยนราชวงศ์อย่างที่คนไทยรู้จักกับการชิงราชสมบัติที่ทำกันมาแต่อดีต หากเป็นการเปลี่ยน "ระบอบ" ปกครอง ความไม่หนาวไม่ร้อนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น อาจบอกอะไรได้มากกว่านั้น

บอกอะไรได้บ้าง? ความกระตือรือร้นที่จะใช้สิทธิเสรีภาพอันได้มาในวันที่ 24 มิถุนายน มีให้เห็นในหลักฐานมากมาย ที่ใช้กันเป็นบุคคลเช่นนักเรียนใช้กับครู ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้กับผู้บังคับบัญชา ฯลฯ ผมจะไม่พูดถึง แต่ผมอยากให้สังเกตการใช้ในลักษณะองค์กร เช่นเรื่องของ คุณถวัติ ฤทธิเดช อย่าลืมนะครับว่าเขาเป็นประธานสหภาพแรงงานรถราง มีความจำเป็นที่เขาจะต้องรักษาความนิยมในหมู่แรงงานด้วยกัน ฉะนั้น การกระทำของเขาจึงต้องผ่านการ "คำนวณ" ของตัวเขาเองแล้วว่า จะไม่บั่นรอนความนิยมต่อตัวเขาในหมู่สมาชิกของสหภาพ
ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่า มีคนเล็กคนน้อยอยู่จำนวนหนึ่งที่ยินดีปรีดากับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นแน่


ย้อนไปก่อนหน้าการปฏิวัตินานพอสมควร ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บันทึกว่า ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก บิดาของท่านก็พูดคุยเรื่องการเมืองและสิทธิเสรีภาพของราษฎรกับเพื่อนชาวนาด้วยกันแล้ว แสดงว่าสำนึกทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่กับนักเรียนยุโรป และกระฎุมพีข้าราชการเท่านั้น

"กบฏ" เก๊กเหม็ง (การปฏิวัติของจีน) และกบฏ "บอลเชวิค" ในรัสเซีย สร้างความตระหนกให้แก่เจ้านายอย่างมาก ไม่ใช่เพียงเกรงว่าความคิดแบบนั้นจะเล็ดลอดเข้ามาในสยาม แต่มีการกล่าวหากันมาว่าคนนั้นคนนี้เป็นพวก "เก๊กเหม็ง" แสดงว่ามันเล็ดลอดเข้ามาแล้ว และถึงกับมี "สาวก" ของลัทธิแล้วเหมือนกัน หนังสือลัทธิไตรราษฎร์ของคุณหมอซุนยัตเซนถูกแปลเป็นไทยแล้ว และพรรคคอมมิวนิสต์ (อินโดจีน) ก็มีสาขาในไทยแล้ว
เขาคงไม่คิดจะแปลลัทธิไตรราษฎร์ให้เจ้าอ่าน และพรรคคอมมิวนิสต์คงไม่ได้คิดจะเชิญเจ้ามาเป็นสมาชิกพรรค เขามุ่งไปที่ใครเล่าครับ อาจเฉพาะเจ๊กลากรถ แต่มันไม่หกไปถึงคนไทยบ้างเลยหรือ


นี่แหละครับ หากเล่าเรื่องปฏิวัติประชาธิปไตยไทยเฉพาะจากร้านกาแฟในปารีส โดยไม่สนใจสังคมไทยในวงกว้าง ก็จะมองเห็นการปฏิวัติสยามเป็นเพียงการรัฐประหารแย่งอำนาจกันของชนชั้นปกครอง


เรามักพูดถึงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 2472 ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องปลดข้าราชการและปรับลดเงินเดือน "กระฎุมพีข้าราชการ" เพราะงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องกันหลายปี แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งนั้น กระทบต่อชีวิตราษฎรสามัญประเภทต่างๆ อย่างไรบ้าง

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งนี้ สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้แก่ชาวนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง และเกิดกบฏชาวนาขนาดใหญ่ขึ้นในอาณานิคมทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส นั่นคือกบฏซายาซานในพม่าล่าง กับกบฏตั้งโซเวียตชาวนาขึ้นในเวียดนามกลางและล่าง (อันนัมและโคชินไชนา) อันที่จริง เกิดกบฏอย่างเดียวกันในชวา แต่ไม่ใหญ่เท่า ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมของ ศาสตราจารย์เจมส์ สก๊อต ในหนังสือเลื่องลือชื่อ The Moral Economy of the Peasant 
มีความเหมือนและความต่างที่สำคัญระหว่างชาวนาไทย และชาวนาเวียดนาม-พม่า ที่ทำให้การตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมีระดับความรุนแรงต่างกัน


ชาวนาในสามประเทศนี้ต่างหันมาผลิตเพื่อตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น จริงอยู่ไม่เท่ากับในปัจจุบัน เพราะการผลิตเพื่อยังชีพยังเป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ก็ต้องผลิตมากกว่า "พอเพียง" เพื่อจะได้เงินสดใช้ในชีวิตประจำวัน ในส่วนประเทศไทย การผลิตเพื่อสนองตลาดโลกนี้เริ่มในภาคกลางก่อน (บางแห่งอาจจะก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงด้วยซ้ำ) เพราะมีเส้นทางคมนาคมถึงโรงสีและท่าเรือสะดวก แต่เมื่อมีการใช้เรือไอและต่อมาสร้างทางรถไฟไปถึงโคราชและลำปาง การผลิตป้อนตลาดโลกก็ขยายจากภาคกลางไปยังบางส่วนของภาคเหนือและอีสาน แม้กระทั่งภาคใต้อันมีพื้นที่เหมาะแก่นาข้าวไม่มาก

การผลิตที่ส่วนสำคัญไปผูกกับความผันผวนของตลาดโลก ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากความผันผวนนั้นเป็นธรรมดา วิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2470 เป็นครั้งแรก ในปลายรัชกาลที่ 5 (ทศวรรษ 2450) ก็เคยเกิดวิกฤตเงินกู้ซึ่งเริ่มในสหรัฐก่อนมาแล้ว และก่อให้เกิด "กบฏ" และการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ของชาวนาทั้งในเวียดนามตอนล่างและในพม่าล่าง ในช่วงนั้นเกิดอะไรกับชาวนาไทยบ้าง ผมไม่ได้ศึกษาค้นคว้าพอ จึงต้องบอกว่าผมไม่ทราบ

นี่เป็นความเหมือนที่สำคัญระหว่างชาวนาในสามประเทศ


แต่ความต่างที่สำคัญก็คือ ส่วนใหญ่ของชาวนาในพม่าล่างและเวียดนามกลางและล่างล้วนเป็นผู้เช่านาหรือชาวนารายย่อยที่มีที่ดินเพียงขนาดเล็กมากๆ จนผลิตได้ไม่พอกินและใช้จ่าย แต่ก็มีกิจการที่ต้องจ้างแรงงานอยู่บ้าง เช่นสวนยางในโคชินไชนา หรือท่าเรือและการขนส่งในพม่าเป็นต้น ทำให้ชาวนาได้รายได้เสริมจากงานจ้าง

ชาวนาเวียดนามและพม่าสูญเสียที่ดินของตนอย่างรวดเร็วเพราะความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลก และการอพยพเข้าของประชากรจากส่วนอื่นของประเทศและของอาณานิคม ทำให้ค่าแรงต่ำลง และค่าเช่านาสูงขึ้น ซ้ำรัฐบาลอาณานิคมยังกันสาธารณสมบัติเช่นป่า หรือหนองน้ำให้เป็นสมบัติของอาณานิคม ทำให้หาที่เพาะปลูกใหม่ไม่ได้ หรือพักพิงกับทรัพยากรซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนกลางของชุมชนไม่ได้

ตรงกันข้ามกับเจ้าที่ดินซึ่งในพม่าคือนายทุนเงินกู้ชาวอินเดียซึ่งยึดที่ดินของชาวนาล้มละลายไว้จำนวนมาก ในโคชินไชนาเจ้าที่ดินถือครองที่ดินกว้างใหญ่ไพศาลด้วยแรงสนับสนุนของรัฐบาลอาณานิคม ส่วนเจ้าที่ดินในอันนัมยึดที่ดินจากชาวนาล้มละลาย และยังขยายที่ดินของตนไปยึดครองที่สาธารณะอีกด้วย โดยรัฐบาลอาณานิคมทำเป็นมองไม่เห็น เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนของเจ้าที่ดินซึ่งเป็น "อำมาตย์" ของหมู่บ้าน

ความต่างที่สำคัญคือส่วนใหญ่ของชาวนาไทยเป็นเจ้าของที่ดินของตนเอง พูดอย่างนี้แล้วก็ต้องย้ำด้วยว่า เป็นเจ้าของที่ดินในทางปฏิบัติเท่านั้นนะครับ คือหลวงไม่ได้รับรองกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินซึ่งใช้กำลังเบิกป่าเป็นนาแต่อย่างไร นอกจากเก็บภาษีที่ดิน เพราะรัฐบาลสมัย ร.5 ได้ยกเลิกคำพิพากษาซึ่งมีมาในสมัย ร.4 อันได้ตัดสินว่า ที่ดินที่ชาวนาได้เสียเงินทำตราจองไว้และเสียค่านามาโดยตลอด ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาผู้นั้น

เหตุใดรัฐบาลในสมัย ร.5 จึงปฏิเสธการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวนา ทั้งนี้ ก็เพราะเอกสารสิทธิ์เหนือที่ดินนั้น จะเป็นผลให้ขุนนางและเจ้าสัวในเมือง ไปลงทุนจับจองที่ดินเป็นของตนเองขนาดใหญ่ กลายเป็นเจ้าที่ดินซึ่งมีลูกนาจำนวนมาก และนั่นคือที่มาของอำนาจอันเป็นอิสระจากราชบัลลังก์ (เป็นระบบศักดินาของตลาด) พระบรมราโชบายคือการรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางภายใต้ราชบัลลังก์ เอกสารสิทธิ์เหนือที่ดินขนาดใหญ่ของขุนนางและเจ้าสัวย่อมขัดกับพระบรมราโชบายโดยตรง เพราะกระจายอำนาจออกไปจากราชบัลลังก์
ทั้งนี้ ยกเว้นเฉพาะที่ดินแถบทุ่งรังสิต ซึ่งพระประยูรญาติถือครองอยู่คนละจำนวนมากๆ เท่านั้น


ดังนั้น ในประเทศไทย ชาวนารายย่อยคือพันธมิตรทางการเมืองที่แข็งแกร่งของราชบัลลังก์ กีดกันมิให้ขาใหญ่อื่นๆ ถ่วงดุลพระราชอำนาจด้วยการถือครองที่ดินทางการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มี "ไพร่" (ในระบบตลาด) สังกัดอยู่จำนวนมาก อย่างที่เกิดในพม่าและเวียดนาม... ก็อุตส่าห์เลิกไพร่ประเภทหนึ่งมาได้สำเร็จ จะปล่อยให้เกิดไพร่อีกอย่างหนึ่งขึ้นมาได้อย่างไร

(ยังมีต่อ)



.