http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-04-07

กระบวนการสันติภาพ: อย่า“ฝันกลางวัน”! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

กระบวนการสันติภาพ : อย่า“ฝันกลางวัน”!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 23:29:22 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365240648 )
จากคอลัมน์ ยุทธบทความ มติชนสุดสัปดาห์ 5 เม.ย.56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1703 หน้า 36
( ภาพจากไทยรัฐ )


"ทำสงครามง่ายกว่าสร้างสันติภาพ"
Georges Clemenceau 
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส 
20 กรกฎาคม ค.ศ.1919



ผลของการเปิดเวทีในการพบกันระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยกับ นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต (BRN-Coordinate) ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความคาดหวังอย่างมากว่า สงครามก่อความไม่สงบที่แสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น กำลังจะสิ้นสุดลง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ดูจะเชื่ออย่างมากว่า "สงครามกำลังจะสงบแล้ว!"
และขณะเดียวกันผลจากปรากฏการณ์ของการลงนามดังกล่าวก็ทำให้สังคมไทยเกิดความคาดหวังอย่างมากว่า ข่าวของความรุนแรงจากพื้นที่ภาคใต้ของไทยกำลังจะยุติลงในเวลาอีกไม่นานนัก


แต่ดูเหมือนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังทั้งของรัฐบาลและสังคมไทยแต่อย่างใด

หลังจากการเจรจาแล้ว ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์แต่อย่างใด


แน่นอนว่า เราอาจจะตีความได้ง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นเป็นเพราะบางส่วนของขบวนติดอาวุธยังไม่ยอมรับแนวทางการเจรจา และใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณตอบโต้ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เราอาจจะต้องหันกลับมาพิจารณาผลของกระบวนการสันติภาพมากกว่าจะคาดหวังแบบง่ายๆ ว่า การลงนามที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่การยุติสงคราม

เพราะหากผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายรัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างขาดความรัดกุมแล้ว บางทีผลลัพธ์อาจจะกลายเป็นความรุนแรงที่มากขึ้น แทนที่จะเป็นความสงบที่มากขึ้น


ดังนั้น ถ้าฝ่ายรัฐบาลตัดสินใจที่จะเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ สิ่งแรกที่จะต้องตระหนักก็คือ การเจรจามีความเสี่ยง เพราะทัศนะของกลุ่มที่คัดค้านการเจรจามักจะเริ่มจากประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอก็คือ "การเจรจาคือการยอมรับ"

กล่าวคือ การเปิดการเจรจาของรัฐบาลทำให้ถูกตีความได้ว่าเป็นการรับรองสถานะทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างเป็นทางการ

และที่สำคัญก็คือ อาจถูกนำไปตีความในทางที่ผิดได้ว่า การเจรจาคือการยอมต่อการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อีกทั้งบางส่วนอาจมองว่า การเจรจาเป็นเสมือนการรับรองสถานะทางกฎหมายของกลุ่มผิดกฎหมายเหล่านั้น

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนก็มองว่า "การเจรจาคือโอกาส" เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นสู่โต๊ะเจรจาเป็นการรับรองสถานะโดยปริยายสำหรับกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งหลาย

และสำหรับพวกเขาแล้ว การยอมรับสถานะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็น "ชัยชนะทางการเมือง" อย่างแน่นอน เพราะผลที่เกิดขึ้นเป็นการยกสถานะบางกลุ่มซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธและมีสถานะผิดกฎหมาย กลายเป็นกลุ่มที่มีการรับรองโดยรัฐ

ซึ่งว่าที่จริงประเด็นนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการมากที่สุด เพราะการได้รับรองสถานะเช่นนี้ถือว่าเป็น "ความคุ้มค่าทางการเมือง" ในเบื้องต้น อันทำให้เกิดสถานะทั้งทางการเมืองและกฎหมายขึ้นทันทีสำหรับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ



สิ่งที่จะต้องตระหนักหลังจากการพูดคุยได้เริ่มต้นขึ้นก็คือ บ่อยครั้งที่การพูดคุยไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้

ในหลายๆ กรณีจะพบว่าความล้มเหลวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมักจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ โดยเฉพาะมักจะพบว่า ในการพูดคุยนั้น มีประเด็นที่ไม่อาจตกลงกันได้เกิดขึ้นอยู่เสมอ และกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปไม่ได้

หรือในบางกรณีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยอมรับเงื่อนไขการหยุดยิงในเบื้องต้นเพียงเพื่อต้องการผลักดันตนเองให้เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยพวกเขาคาดหวังว่าโต๊ะเจรจาอาจจะให้ผลตอบแทนทางการเมืองบางอย่าง

ฉะนั้น การตอบรับในการขึ้นสู่โต๊ะเจรจาอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการสร้างสถานะของกลุ่มตนให้เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

และขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดในหลายๆ กรณีว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมักจะไม่ยอมยุติการใช้ความรุนแรงลงในทันที

เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขายุติปฏิบัติการทางทหาร ก็เท่ากับอำนาจการต่อรองของพวกเขาจะหมดตามไปด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเขายังจำเป็นต้องคงปฏิบัติการของพวกเขาต่อไป

เช่น กลุ่มฮามาสอาจจะยอมตกลงประกาศการหยุดยิงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในท้ายที่สุดการหยุดยิงดังกล่าวก็ล้มเหลว และสถานการณ์ถอยกลับไปสู่การต่อสู้กันอีกเช่นก่อนการประกาศหยุดยิง


นอกจากนั้น ในบางครั้งเราอาจจะพบว่า กลุ่มก่อความไม่สงบใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในการปรับตัว/ปรับกำลัง หรืออาจกล่าวได้ว่า "การเจรจาคือการซื้อเวลา"

กล่าวคือ อาศัยช่วงเวลาของการเจรจาเป็นจังหวะของการพักฟื้นกองกำลังของฝ่ายตน หรือเป็นเวลาของการปรับกำลัง/ปรับตัวของกลุ่มติดอาวุธก็ได้ เช่น กลุ่ม Provisional-IRA (P-IRA) ที่ได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากการเจรจากับอังกฤษนั้น พวกเขาได้อาศัยช่วงเวลาของการหยุดยิงในการแสวงหาอาวุธเพิ่มเติม ทั้งหาจากแหล่งอาวุธในสหรัฐอเมริกาและในรัสเซีย

หรือกลุ่มบาสก์ (ETA) ในสเปนก็อาศัยการหยุดยิงในปี 2541 เป็นระยะเวลาของการปรับกำลัง เช่นเดียวกันกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในศรีลังกาใช้เงื่อนไขของการหยุดยิงเป็นจังหวะของการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของตน เป็นต้น

ในสถานการณ์ของการเจรจาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการแตกตัวของขบวนก่อความไม่สงบออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยเฉพาะปีกที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจานั้น พร้อมที่จะแยกตัวออกและจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่

ซึ่งกลุ่มที่แตกตัวออกเช่นนี้พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุร้าย หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะขยายความรุนแรงให้กลายเป็นเครื่องมือของการตอบโต้กับการเจรจาที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นจึงกลับกลายเป็นว่า การเจรจาเป็นปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงมีมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เกิดความซับซ้อนมากขึ้นด้วย เพราะจำนวนกลุ่มของผู้ก่อความไม่สงบมีมากขึ้นจากการแยกตัวดังที่กล่าวแล้ว

กรณีของกลุ่ม P-IRA เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ หรือในกรณีของปัญหาแคชเมียร์ก็เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยอัมมูและแคชเมียร์มีท่าทีสนองตอบต่อแนวทางสันติ แต่กลุ่มหัวรุนแรงอีกส่วนหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย และแยกตัวออกพร้อมกับดำเนินการด้วยความรุนแรงต่อไป

กล่าวคือ ในสถานการณ์ของการเจรจานั้น ต้องตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้เสมออย่างมีนัยสำคัญก็คือ การเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นพร้อมที่จะทำให้มีกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะดำเนินการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อไปด้วย

การเจรจาในสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า "การพักครึ่งเวลา" ของสงครามเท่านั้น!



นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่า คุณลักษณะของกลุ่มก่อความไม่สงบในปัจจุบันมีสภาพที่แตกต่างไปจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่มี "ศูนย์การนำ" ที่แน่นอนและชัดเจน

การตัดสินใจของศูนย์การนำในการเปิดการเจรจานั้น สามารถใช้ระบบของการสั่งการแบบคอมมิวนิสต์ให้สมาชิกพรรคยอมรับแนวทางการเจรจาภายใต้แนวคิดแบบ "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะไม่มีการแตกตัวออก หากแต่การแตกตัวเพื่อจัดตั้งกลุ่มใหม่อาจจะน้อยกว่าองค์กรติดอาวุธในปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขของกลุ่มก่อความไม่สงบร่วมสมัยเห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขาคุมสมาชิกของกลุ่มไม่ได้ทั้งหมด

ประเด็นของการที่ผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบไม่สามารถควบคุมสมาชิกขององค์กรได้ทั้งหมดดูจะเป็นปัญหาปกติ
เช่น ในระหว่างการเจรจาสันติภาพอาจจะพบว่า มีการวางระเบิดเพื่อทำให้ความเชื่อถือในการเจรจาลดลง
และผลที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดความหวาดระแวงในทางฝ่ายรัฐบาล เพราะในระหว่างที่การเจรจาดำเนินอยู่นั้น กลับเกิดปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง 
ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในที่สุดแล้ว การเจรจาที่เกิดขึ้นอาจจะล้มลงได้

นอกจากนี้ ยังอาจจะพบว่า มีบางกลุ่มก่อความไม่สงบอาจจะใช้เวทีของการเจรจาเพื่อการเปลี่ยนสถานภาพทางการเมืองของตน ในการแสวงหาประโยชน์ตอบแทน
โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับการเจรจาที่เกิดขึ้น

ซึ่งหลายครั้งพบว่า ฝ่ายรัฐบาลอาจจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ร่วมเจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้น จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจจะพบว่า มีผู้เข้าร่วมการเจรจาบางส่วนที่เข้าร่วมด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนบางประการ

แต่บางทีก็อาจจะต้องระมัดระวังว่า อาจจะมีบางส่วนยังคงใช้องค์กรที่เดินแนวทางแบบสายกลาง เป็น "เวทีเปิด" เพื่อการเจรจา

แต่ขณะเดียวกันก็แสวงหาความสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และนำเอาผลตอบแทนดังกล่าวส่งให้แก่กลุ่มที่ยังดำเนินแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อไป



ประเด็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศที่สาม เพราะการเจรจามักจะเกิดขึ้นในประเทศที่สาม ดังนั้น ความสำเร็จของการเจรจาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศดังกล่าว เพื่อช่วยในการจัดเตรียมสถานที่ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศในการพูดคุย

ดังเช่นกรณีของการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์ได้อาศัยประเทศฟินแลนด์เป็น "พื้นที่กลาง" ของการพบเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้แทนของกลุ่มอาเจะห์เสรี

ในกรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน ประเทศที่สามที่จะเป็นพื้นที่เป็นกลางมีความสำคัญที่จะช่วยให้การเจรจาไม่ถูกจำกัดอยู่กับพื้นที่ที่เป็นปัญหา

อีกทั้งอาจจะต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะสถานการณ์การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เป็น "หลังพิง"

ซึ่งถ้าประเทศซึ่งถูกใช้เป็นฐานที่มั่นมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประเทศเป้าหมายให้เกิดสถานการณ์ที่ความรุนแรงลดลงแล้ว แรงกดดันดังกล่าวก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเจรจาขึ้น

แต่ถ้าแรงสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีอยู่มาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือในการเป็นฐานที่มั่นข้ามชายแดนยังคงดำเนินต่อไปแล้ว การก่อความไม่สงบก็น่าจะดำเนินต่อไปได้เช่นกัน

การยุติสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ 
เพราะ พคท. ได้รับผลอย่างมากจากการประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลจีน 
ประกอบกับการมีแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างพรรคไทยกับพรรคลาวและพรรคเวียดนาม ทำให้หลังพิงที่ พคท. เคยใช้ต้องยุติลงไปโดยปริยาย จนกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของ พคท. ในสุดท้าย


ดังนั้น การทำลายหลังพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะมีผลโดยตรงอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง

ซึ่งหากรัฐบาลประเทศข้างเคียงที่เป็นฐานที่มั่นดังกล่าวมีความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหาแล้ว หลังพิงเช่นนี้คงถูกทำลายลงไม่ยากนัก

ซึ่งไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหาเช่นนี้ดำรงอยู่พอสมควร ทั้งทางใต้และทางตะวันตกในอดีต



อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องยอมรับว่า ทุกการเจรจาจะต้องพบกับปัญหาของผู้ที่ต้องการให้การเจรจาล้มลง ซึ่งผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้อาจจะอยู่ทั้งกับฝ่ายรัฐบาลหรือกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ได้ 
ดังนั้น จึงอาจจะต้องทำใจยอมรับว่า เมื่อการเจรจาเริ่มขึ้นแล้ว การเจรจาดังกล่าวก็อาจถอยกลับสู่ที่เดิมได้ตลอดเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกขั้นตอนของการเจรจามี "ความเสี่ยง" เกิดขึ้นได้เสมอ


ดังนั้น กระบวนการนี้จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง 
และจะต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการนี้ต้องการการสร้างความเข้าใจแก่ภาคสังคม เพราะหากเกิดการเจรจาบนพื้นฐานที่ขาดความสนับสนุนหรือขาดความเข้าใจแล้ว ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ได้เช่นกัน

เรื่องราวเหล่านี้บอกแก่เราอย่างมีนัยสำคัญว่า ต้องคิดถึงเรื่องของการเจรจาด้วยความละเอียด และด้วยความระมัดระวัง

จะคิดแต่เพียงด้วยอาการ "ฝันกลางวัน" อย่างเดียวคงไม่ได้!




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย  . .ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย