.
บทความก่อนหน้า - ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ http://botkwamdee.blogspot.com/2013/04/n-bad-old.html
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:00:24 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365580997 )
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1703 หน้า 30
( ภาพจาก sanamluang2008.blogspot.de )
การที่ส่วนใหญ่ของชาวนาไทยคือชาวนารายย่อยที่เป็นเจ้าของที่ดินของตนเองนี้ เป็นหมอนกันกระทบต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจได้มากกว่าชาวนาเวียดนามและพม่าอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างน้อยก็ยังผลิตเพื่อยังชีพ และมีข้าวกิน ในขณะเดียวกัน เพราะไม่มีเจ้าที่ดินรายใหญ่ในท้องถิ่น ทรัพยากรสาธารณะต่างๆ จึงยังอยู่ ไม่ถูกใครฮุบเอาไป ชาวนาจึงสามารถฝากท้องไว้กับห้วยหนองคลองบึงและป่าได้อีกส่วนหนึ่งด้วย
นี่คือเหตุผลที่พวกกษัตริย์นิยมในสมัยหลัง (เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ชอบพูดว่า ส่วนใหญ่ของคนไทยซึ่งเป็นชาวนาอยู่สุขสบายดีใน พ.ศ.2475 อย่างน้อยก็มีข้าวกิน และการดุลข้าราชการคือสาเหตุอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น สรุปก็คือเฉพาะพวก "หัวใหม่" ในหมู่กระฎุมพีเท่านั้น ที่ไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนอื่นเขาปลื้มกันทั้งนั้น
แต่นี่เป็นการมองชีวิตชาวนาไทยจากด้านเดียว คือเอากล้าไปจิ่มไว้ในเลน แล้วก็รอเก็บเกี่ยวเอามาหุงกิน
แม้ไม่มีเจ้าที่ดินมาคอยแบ่งผลผลิตหรือเก็บค่าเช่านา แต่ชาวนาจะหันไปผลิตเพียงเพื่อยังชีพในปีที่ราคาข้าวตกต่ำได้หรือไม่ คงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะจากการสำรวจในทศวรรษ 2470 ชาวนาในภาคกลางแต่ละครอบครัวล้วนมีหนี้สินจำนวนมากทั้งสิ้น อย่างไรเสียก็ต้องผลิตมากกว่าที่ครอบครัวจะบริโภค เพื่อได้เงินไปใช้หนี้หรืออย่างน้อยก็ใช้ดอก ซ้ำข้าวที่ผลิตเพื่อมุ่งใช้หนี้ยังราคาตกเสียอีก ยิ่งต้องผลิตมากขึ้นหรืออดมากขึ้น (คือแบ่งส่วนที่จะให้ลูกเมียได้กินไปเพิ่ม) จึงจะพอใช้หรือผ่อนหนี้ได้
อย่างไรเสีย การผลิตเพื่อตลาดก็ยังเป็นส่วนสำคัญอยู่นั่นเอง
การผลิตเพื่อตลาดนั้นเปลี่ยนชีวิตชาวนาเลี้ยงตนเองไปทั้งชีวิตเลยนะครับ เปลี่ยนตั้งแต่การเลือกคู่ไปถึงการเลี้ยงลูก แต่ผมจะขอพูดแต่ด้านปากท้องด้านเดียว
การผลิตเพื่อยังชีพใช้ต้นทุนไม่มาก และชาวนาส่วนใหญ่ก็หามาได้เอง เช่น แรงงานของตนเองและครอบครัว งัวควาย พันธุ์ข้าวซึ่งเก็บมาแต่ปีกลาย เครื่องมือการเกษตร ที่ดินซึ่งจับจองเอาได้ แหล่งน้ำจากฟ้าเป็นอย่างน้อย ฯลฯ ได้ข้าวมาก็กิน ไม่มีทุนอะไรจะเก็บไว้นอกจากที่ดิน, งัวควาย เครื่องมือ และแรงงาน
พอหันมาผลิตเพื่อตลาด จะเอาทุนที่ไหนมาเพิ่มได้ นอกจากกู้หนี้ยืมสิน เอามาจ่ายค่าแรง และก็มีหลักฐานการเดินทางของชาวอีสานลงมารับจ้างทำนาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว บางทีก็ต้องเช่าที่ดินของชาวนารวยมาเสริมที่ดินของตน เพื่อให้คุ้มแก่การผลิต พันธุ์ข้าวที่มีอยู่ไม่พอก็ต้องซื้อหา
ที่สิ้นเปลืองมากที่สุดคือเวลาครับ ที่จะเอามาทอผ้าเอง, ซ่อมเครื่องมือจับปลาและการเกษตรเอง, นั่งสีไฟหุงข้าวเอง, ทำไต้ใช้เอง ฯลฯ ก็ไม่มี จึงต้องซื้อหาจากตลาดด้วยเงินสด ก่อนเก็บเกี่ยวจะเอาเงินจากไหน ก็ต้องกู้ยืมอีกนั่นแหละ ซ้ำในยามเศรษฐกิจตกต่ำสินค้าเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นด้วย
ดังนั้น ถึงแม้ชาวนาไทยมีข้าวกิน แม้ในปีที่ข้าวไม่ดี เพราะไม่มีเจ้าที่ดินมาแบ่งเอาไป ก็ยังต้องกินน้อยลงในปีนั้น เพื่อหมุนหนี้ให้วนต่อไปได้ และอย่าลืมเป็นอันขาดว่า หนี้ไม่ได้มีแต่เงินต้น มีดอกซึ่งค่อนข้างสูงติดมาด้วยเสมอ (เพราะแหล่งเงินกู้มีน้อย)
เศรษฐกิจตกต่ำจึงมีผลร้ายต่อชาวนาอยู่มาก เกินกว่าที่คนเป็น ม.ร.ว. หรือกระฎุมพีในเมืองจะเข้าใจได้
เงินสดอีกก้อนที่ชาวนาต้องแบกรับคือค่านาและค่ารัชชูปการปีละ 6 บาท ค่านาในภาคกลางนั้น ชาวนาในภาคกลางบางส่วนเริ่มเสียเป็นเงินแทนข้าวมาตั้งแต่ก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว พอมาสมัย ร.5 ก็เก็บเป็นเงินหมด ว่าถึงจำนวนที่เรียกเก็บก็อาจกล่าวได้ว่าไม่สูงนัก โดยเฉพาะในปีที่ข้าวดี
ส่วนเงินค่ารัชชูปการคือ "ค่าราชการ" (จ่ายเป็นเงินแทนการเข้าเวรรับราชการ) ที่แปรเปลี่ยนมาเก็บเป็นรายหัวปีละ 6 บาท ภาษีรายหัวเป็นภาษีที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ถอยหลัง" (regressive) ที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเก็บจากหัวคนรวยและหัวคนจนเท่ากัน (ทั้งๆ ที่สองฝ่ายย่อมได้ประโยชน์จากรัฐไม่เท่ากัน) ฉะนั้น การที่ ร.6 ทรงประกาศว่า พระองค์เองก็จ่ายค่ารัชชูปการปีละ 6 บาท เหมือนราษฎรไทยทุกคน จึงฟังดูตลกสิ้นดี ไม่รู้จะเอามายอพระเกียรติได้อย่างไร ในสมัย ร.6 เป็นต้นมายังมีการเก็บภาษีที่เรียกว่า "ศึกษาพลี" เพิ่มอีกหัวละ 1 บาท
สิ่งที่ต้องสำนึกไว้ก็คือ "ภาษี" เหล่านี้ (และเงินต้นกับดอกเบี้ย) เก็บในอัตราตายตัว ในขณะที่รายได้ของชาวนาเป็นข้าวซึ่งไม่ได้มีราคาตายตัว ขึ้นลงได้ตามความผันผวนของราคาตลาดโลก ฉะนั้น ในปีที่ข้าวดี ความเดือดร้อนที่ต้องเสียภาษีเหล่านี้แก่รัฐ (และจ่ายหนี้) ก็ไม่สู้กระไร แต่ในปีที่ข้าวไม่ดีหรือเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมแปลว่าข้าวในยุ้งถูกตักตวงเอาไปมากกว่าที่ชาวนาจะรับไหว
ในช่วงทศวรรษ 2470 มีฎีกาของชาวนาจำนวนมากซึ่งหลั่งไหลเข้ามาถวาย ขอร้องให้ลดหรืองดค่านาและเงินรัชชูปการ (ภาษีรายหัว) ในช่วงข้าวยากหมากแพงนี้ ไม่ต่างจากรัฐบาลอาณานิคมทั้งในเวียดนาม, พม่า และชวา ก็ได้รับคำร้องเรียนเช่นนี้จากชาวนาเหมือนกัน
เงินสดที่ชาวนาต้องเสีย "ภาษี" ในรูปต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย และค่าเช่าที่ดินอาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก แต่ก็มากพอที่จะทำความเดือดร้อนแก่ชาวนาในภูมิภาคอุษาคเนย์ได้ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งในเวียดนามและพม่า กบฏชาวนาพากันไปยึดที่ทำการรัฐบาล เพื่อทำสองอย่างคือยึดเงินที่ถูกเก็บภาษีไปหากยังไม่ได้ส่งถึงส่วนกลาง และทำลายเอกสารการจ่ายภาษีและการเช่าที่ดิน เพื่อทำให้ไม่สามารถกลับมาเรียกเก็บได้อีก
ในเมืองไทยมีกลุ่มคนที่เรียกว่า "นักเลง" ในชุมชนชาวนา ไม่ว่าเราจะเข้าใจความหมายของ "นักเลง" มาอย่างไรก็ตาม ผมขอนิยามเอาเองอย่างง่ายๆ ว่านักเลงคือคนกล้าตีกล้าต่อย (ด้วยปูมหลังอย่างไรก็ตามทีเถิด) เพราะจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ "นักเลง" ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในภาคกลางของไทยเท่านั้น แต่เกิดในสังคมชาวนาของอุษาคเนย์อีกหลายแห่ง
ในประเทศที่มีเจ้าที่ดินรายใหญ่ๆ เช่น เวียดนามและพม่าล่าง "นักเลง" คือคนของเจ้าที่ดินและ "อำมาตย์" ของหมู่บ้าน ถูกจ้างหรือไหว้วาน (ด้วยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์) ให้ต่อยตีหรือกระทืบลูกนาที่ไม่ยอมแบ่งข้าวให้ตามสัญญา (จาก 50% ไปจนถึง 70%) หรือชาวนาที่ไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐ รวมทั้งขับไล่ลูกนาเบี้ยวหนี้เหล่านี้ออกจากที่นาด้วย
ในเมืองไทยก็มีบทบาทของ "นักเลง" อย่างนี้เหมือนกันแถบทุ่งรังสิต คือเผาบ้านของชาวนาบุกเบิกที่เข้าไปจับจองที่ดินทำกินมาก่อนที่บริษัทคูคลองสยามจะได้พระบรมราชานุญาตไปถือครองด้วยการขุดคลอง แต่พ้นจากทุ่งรังสิตไป เราไม่ค่อยได้ยินบทบาทอย่างนี้ของ "นักเลง" ไทย
"นักเลง" ไทยคือคนกล้าตีกล้าต่อยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตำบล มีอิทธิพลในแถบนั้น เพราะมีสมัครพรรคพวกมาก นอกจากให้ความคุ้มครองชาวบ้านแล้ว ก็มีหลักฐานจำนวนมากที่บอกว่าพวกเขายังลักหรือปล้นงัวควายชาวบ้าน (ในหมู่บ้านตำบลอื่น) ด้วย ซ้ำยังมีหลักฐานด้วยว่า ยกกำลังกันไปปล้นกองเก็บค่านาของหลวง โดยเฉพาะในสมัย ร.5 เมื่ออำนาจรัฐแผ่เข้าไปในชนบทได้เบาบาง (อย่างน้อยก็เพราะมีเงินสดให้ปล้น)
รัฐบาลต้องส่งกำลังเข้าไปปราบ "อ้ายเสือ" ในชนบทเป็นระยะสืบมาจนถึง ร.6 จำนวนของคนเหล่านี้ที่รัฐไปปราบหรือจับได้ บางครั้งก็มีจำนวนสูงมากอย่างน่าตกใจ นี่คือ "กบฏชาวนา" ของภาคกลางซึ่งไม่มี "ผีบุญ" หรือ "ผู้มีบุญ" เป็นผู้นำ เหมือนภาคอิสานและภาคเหนือ
"นักเลง" สัมพันธ์กับ "อ้ายเสือ" อย่างไร ไม่มีการศึกษาที่ดีพอจะบอกได้ในเวลานี้ (อาจารย์เครก เรย์โนลดส์ แนะจากประวัติของขุนพันธารักษ์ราชเดชว่า "นักเลง" สัมพันธ์กับตำรวจด้วย) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการเป็นนักเลงคือลักขโมยและปล้นอยู่ด้วย ฉะนั้น เราน่าจะเข้าใจนักเลงได้ดีกว่า หากหันไปดูนักเลงในแง่ "โจรทางสังคม" (social bandits) อย่างที่ Eric Hobsbawm เสนอไว้
Hobsbawm เสนอว่า โจรประเภทนี้เกิดในสังคมชาวนา และไม่ว่าพวกเขาจะปล้นเงินคนรวยมาแจกคนจนอย่างโรบินฮู้ดหรือไม่ก็ตาม พวกเขาต้องมีฐานความนิยมในชุมชนชาวนา เช่น มีหมู่บ้านที่เป็นมิตรกับพวกเขา มีเรื่องราวเล่าลือถึงความใจ "นักเลง" ของเขาที่ให้แก่คนยากคนจน เขามีศัตรูที่เป็นศัตรูของชาวนาโดยทั่วไปด้วย เขาจึงเป็นวีรบุรุษของชาวนา มีตำนาน, ร้อยกรองและเพลงที่เล่าขานถึงคนเหล่านี้มากมาย
น่าเสียดายที่เรามีงานศึกษาเกี่ยวกับชนบทไทยในช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ครั้งนี้น้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถพูดอย่างชัดเจนได้ว่า สภาวะปั่นป่วนทางสังคมที่เกิดในชนบทเป็นครั้งคราวนั้น เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง แต่การระบาดของ "อ้ายเสือ" ในภาคกลางก็มีตลอดมานับตั้งแต่ปลาย ร.5 เป็นต้นมา ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทศวรรษ 2470 ยิ่งมีมากขึ้นหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบแน่
แต่แน่นอนว่า ชาวนาไทยไม่ได้อยู่เฉยๆ อย่างเป็นสุข ไม่ว่าจะเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างไร แต่มีการเคลื่อนไหวในรูปต่างๆ เสมอมา
เมื่อพูดถึง "อ้ายเสือ" ในภาคกลางแล้ว ทำให้ต้องย้อนคิดไปถึงการเคลื่อนไหวของชาวนาในภาคอีสานและเหนือ ในช่วงที่เรียกกันว่ากบฏ "ผีบุญ" ด้วย
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดในช่วงกลางทศวรรษ 2440 แต่ไม่พบความสัมพันธ์กันระหว่างใต้, เหนือ และอีสาน อย่างไรก็ตาม จะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่รัฐไทยสร้างขึ้นหรือไม่อย่างไร การศึกษาที่ผ่านมาไม่สู้จะให้ความสนใจนัก เช่น การรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชเหล่านี้ ตลอดจนการเก็บส่วยเป็นตัวเงินแทนสินค้าซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ชีวิตชาวนาอยู่มาก
อันที่จริง งานศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวนาไทยในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 นั้น ยังไม่ได้ทำเลย จะกล่าวว่าการปฏิวัติสยามใน 2475 เป็นเรื่องของกระฎุมพีข้าราชการแย่งอำนาจกับชนชั้นนำเดิมเพียงด้านเดียว จึงเป็นการด่วนสรุปเกินไป
ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อชาวนาเดือดร้อนกับค่านาและค่ารัชชูปการนั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชาวนาให้งดหรือลดภาษีจำนวนนี้ลงเลย และตรงกันข้ามด้วยซ้ำ
ในยามเช่นนี้ ทั้งในพม่าและเวียดนาม เมื่อรัฐบาลอาณานิคมขาดเงินที่จะจ่ายเงินเดือนข้าราชการ รัฐบาลกลับเร่งรัดและเก็บเงินจำนวนนี้จากชาวนาอย่างเคร่งครัดขึ้น เพื่อชดเชยเงินที่ขาดหายไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ผมไม่ได้เห็นหลักฐานว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามทำอย่างเดียวกันหรือไม่ แต่แน่นอนว่า แม้เก็บอย่างขาดๆ เกินๆ ก็ทำความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชาวนาแล้ว
ในช่วงเดียวกันนี้ กระฎุมพีน้อยในเมือง (ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่) เสนอให้รัฐบาลหาทางชดเชยเงินที่ขาดหายไป ด้วยการเก็บภาษีรายได้ และภาษีที่ดิน (คือไม่ใช่ค่านา แต่เก็บจากเจ้าของที่ดิน อย่างที่เราทำในปัจจุบัน) อันเป็นภาษีที่ "ก้าวหน้า" และเป็นธรรม เพราะชนชั้นผู้มีสมบัติต้องจ่าย แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ปฏิเสธ และไม่ยอมขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มเจ้าสมบัติซึ่งล้วนเป็นพระประยูรญาติหรือผู้ใต้อุปถัมภ์ของตน เป็นธรรมดาที่คนเหล่านั้นย่อมยินดีจ่ายค่ารัชชูปการหัวละ 6 บาทต่อปีมากกว่า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย