.
คำถามจาก “หมา”
โดย คำ ผกา
ที่มา “คำ ผกา” เขียนเรื่องหมากับการเมือง ใครกันนะที่เห่าไม่เป็นแต่อยากเป็นกรรมการประกวดหมา?
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365064081 )
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 23:04:00 น.
จาก บทความ คำถามจาก “หมา” มติชนสุดสัปดาห์ 29 มี.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1702 หน้า 89
( ภาพจากเพจ FB เจิมศักด์ ปิ่นทอง )
“ในการประกวดหมานั้น ต้องใช้เสียงข้างมากของกรรมการเป็นเครื่องตัดสิน โดยกรรมการต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้เรื่องหมาเป็นอย่างดี
แต่น่าประหลาดมากที่ประเทศไทยเราประกวดคนเพื่อคัดเลือกเข้าไปเป็น ส.ส. ส.ว. จนถึง รมต. รมว. นรม. แต่กรรมการผู้ตัดสินการประกวด (ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง) จะเป็นหมูหมากาไก่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองเลย ทุกคน (ตัว) มีสิทธิลงคะแนนตัดสิน 1 คะแนนเท่ากันหมด
นี่แสดงว่าเรายอมรับกันว่าการประกวดหมาต้องพิถีพิถันกว่าการประกวดผู้บริหารประเทศใช่ไหม
ถ้าเราอยากได้นักการเมืองที่เก่งดี ก่อนอื่นต้องคัดเลือกกรรมการตัดสินเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมือง เช่น ด้วยการสอบวัดความรู้ทางการเมืองให้ผ่านตามเกณฑ์ จึงจะมีสิทธิเข้าไปเป็นกรรมการตัดสินเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนักการเมือง
ไม่งั้นส่วนใหญ่ก็คงได้แต่นักการเมืองหมาๆ (ขี้เรื้อนอีกต่างหาก) เข้าไปเห่าหอนกันเต็มสภา
...คนถางทาง (20 มีนาคม 2556)” (จากสเตตัสเฟซบุ๊กของ ดร. เจิมศักด์ ปิ่นทอง)
นั่งอ่านข้อเขียนสั้นๆ ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แล้วครางในลำคอว่า "อือม..." ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มักมีข่าวให้คนไทยอกสั่นขวัญแขวนอยู่เนืองๆ เช่น นักเรียนไทยชั่วโมงเรียนสูงสุดแต่ระดับความรู้ต่ำสุด, การสอบวัดระดับวิชาหลักของนักเรียนไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของโลก, ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยอยู่ในอันดับรองบ๊วย ฯลฯ
สถิติเหล่านี้ดูสอดคล้องกับ "ทัศนคติ" ของอดีตปัญญาชนหลายต่อหลายคนในประเทศไทยที่อยู่ๆ ไปทำสติหายทำปัญญาหายเสียที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้ามีการสอบวัดระดับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองและประชาธิปไตยของ "ชนชั้นนำทางปัญญา" หรือ "ปัญญาชนสาธารณะ" ทั่วโลก รับรองว่า "ปัญญาชน" ของไทย คงติดอันดับบ๊วยเอาชนะทุกประเทศอย่างขาดลอย
ไม่น่าเชื่อว่า ดร.เจิมศักดิ์คือคนเดียวกับคนที่จัดรายการ "มองต่างมุม" รายการโทรทัศน์รายการแรกของประเทศไทยที่เปิด "เวที" ให้ "สามัญชน" ได้เปิด "มุม" ของตนเองที่แตกต่าง
ไม่น่าเชื่อว่า ดร.เจิมศักดิ์ครั้งหนึ่งเคยร่วมต่อสู้ผลักดันวาระของ "ป่าชุมชน" ด้วยเชื่อว่า "ชาวบ้าน ตาสีตาสา ชุมชน" สามารถจัดการทรัพยากรของตนเองได้
แต่เหตุใดคนที่เชื่อว่า "ชาวบ้าน" จัดการทรัพยากรเองได้ จึงไม่เชื่อว่าชาวบ้านมีวิจารณญาณที่จะเลือกผู้แทนของตน
เจิมศักดิ์ไม่รู้หรือแกล้งฝากสมองไว้ในธนาคาร (ได้ดอกเบี้ยเป็นปริมาณน้ำในกะโหลก) จึงไม่รู้ว่า หนึ่งคนหนึ่งเสียงคือความเสมอภาคทางการเมือง อันเป็นหลักการประชาธิปไตยที่ต่อยอดมาจากอุดมการณ์เสรีนิยมที่เชื่อในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล และสิทธิ เสรีภาพ ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 1948
หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือ "อำนาจเป็นของประชาชน" ส่วนขยายจากอำนาจของประชาชนคือ ปัจเจกบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางการเมืองนี้แสดงผ่านหลักการ "หนึ่งคนหนึ่งเสียง" เมื่อออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง "ตัวแทน" ของตนเองไป "กระทำการทางการเมือง"
หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความข้องใจของ ดร.เจิมศักดิ์ที่บอกว่า "เอาหมู หมา กา ไก่ ที่ไหนก็ได้มาเลือก ส.ส." เพราะประชาชนเลือก "ตัวแทน" ของเขา ประชาชนไม่ได้เลือก "นางสาวไทย" ที่ต้องหาคนที่สวยที่สุด (ในสายตากรรมการ)
ในที่นี้จึงอาจจะถูกต้องหากกล่าวว่า "เรามี ส.ส. แบบไหนก็แสดงว่า เราเป็นคนแบบนั้น" เพราะถึงที่สุด ส.ส. เหล่านั้น คือตัวแทนของเรา
คนกรุงเทพฯ เลือก คนหล่อ พูดเก่ง ปากหวาน มีการศึกษาตามขนบนิยายน้ำเน่า ก็สะท้อนความหวัง ความฝันของคนกรุงเทพฯ
คนบางภูมิภาคเลือกใครก็ได้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "พรรคพวก" ของตน จะผิด จะถูก จะทำหน้าที่ ส.ส. ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ดีหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเป็น "พรรคพวกเรา"
การเลือกเช่นนี้ ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพราะเราไม่มีวันได้ "ตัวแทน" ที่ดีกว่า "เรา"
"เรา" เป็นอย่างไร "ตัวแทน" ของเราก็เป็นอย่างนั้น ไม่เชื่อ ดร.เจิมศักดิ์ลองกลับไปดูคนที่ ดร.เจิมศักดิ์เลือก เขาก็เป็นเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนของ ดร.เจิมศักดิ์เอง
ปัญหามันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ "เรา" และ "ตัวแทน" ของเรา ไม่ใช่ "เสียงข้างมาก" แต่การไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่า คุณเป็นเสียงข้างน้อยถาวร เพราะสังคมจะได้เรียนรู้ทางการเมืองร่วมกันจากการทำงานของ "ตัวแทน" จากเสียงส่วนใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการทำงานในสภานิติบัญญัติยังถูกถ่วงดุลจากการทำงานของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลที่กลายเป็นฝ่ายบริหารถูกถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติ แถมยังมีอำนาจตุลาการมาทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจด้วย
การร่วมต่อสู้กับการฟื้นฟูสิทธิในการดูแลป่าของชุมชนที่ ดร.เจิมศักดิ์เคยสนับสนุนก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
นั่นคือ การถ่วงดุลประชาธิปไตยแบบตัวแทนด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาธิปไตยทางตรงในหน่วยย่อยๆ ของสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลกลางในระยะยาว อันจะนำไปสู่การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น
แต่อย่างที่เราทุกคน (ซึ่งไม่ได้ฝากสมองไว้กับธนาคาร) ต่างก็รู้ดีว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาธิปไตยทางตรง จะไม่มีและไม่วันถูกเรียกว่าประชาธิปไตยหากไม่มี "การเลือกตั้ง" และไม่มีหลักความเสมอภาคทางการเมืองขั้นพื้นฐาน นั่นคือ "หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง" ของคนที่บรรลุนิติภาวะ ทุกเพศสถานะ ทั้งนี้ ต้องรู้ตรงกันด้วยความเสมอภาคนี้หมายถึงความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย
ความเสมอภาคนี้ไม่ได้แปลว่า ทุกคนต้องจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี, มีไอคิว 100 ขึ้นไปทุกคน, สอบโทเฟลได้คะแนน 600 ฯลฯ
แต่หมายถึงปัจเจกบุคคลที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน โง่ หรือฉลาด เรียนสูง หรือเรียนต่ำ กินเหล้าหรือไม่กินเหล้า มีศาสนาหรือไม่มีศาสนา ฯลฯ
ตามหลักการความเสมอภาคทางการเมือง ปัจเจกบุคคลเหล่านี้มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และมีความเสมอภาคกันทางโอกาส หรือที่เรียกว่า equality of opportunity
ทั้งนี้ คนที่ไม่ได้เอาสมองฝากธนาคารต่างก็เข้าใจตรงกันว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ดีและสมบูรณ์แบบ เรามีตัวแทนที่เลว เรามีรัฐบาลที่ฉ้อฉล เราเลือก "ตัวแทน" ผิดๆ หรือ เราอาจจะเลือกถูกแต่เสียงข้างมากของสังคมไม่เคยเลือกในสิ่งที่เราเลือก (และเราคิดว่าถูก) เราต่างก็รู้ดีว่าในกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลนั้นมีข้อบกพร่อง มีช่องว่างให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นเสมอ
ในสังคมที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกายังมีเด็กหนุ่มฆ่าตัวตายเพียงเพราะเขาต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการอย่างเท่าเทียม แทนที่จะถูกผูกขาดโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำและสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่
ในประเทศอย่างฝรั่งเศสอันเป็นตำนานของประชาธิปไตยยังมีการประท้วงอย่างรุนแรงมิให้คนเพศเดียวกันได้แต่งงาน
แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ไม่ได้แปลว่า ประชาธิปไตยเป็นลัทธิการปกครองที่เลวร้าย กักขฬะ เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็มีความเลวน้อยกว่าระบอบเผด็จการอย่างเทียบกันไม่ได้
อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นระบบที่มีหลักประกันเสรีภาพให้กับประชาชนมากกว่าระบอบการปกครองอื่นๆ
อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นระบอบการปกครองที่มีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่สันติที่สุดอิงอยู่กับการมีส่วนร่วมและเสียงของเจ้าของประเทศมากที่สุด โปร่งใส และเรียกร้องการตรวจสอบได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะที่ระบอบเผด็จการไม่ให้โอกาสแก่คุณแม้แต่พื้นที่ของการส่งเสียงคัดค้านหรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะ "ไม่รัก ไม่ชัง"
การเลือก "ตัวแทน" ซึ่งหมายถึง ส.ส. ส.ว. การที่รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี มาจาก ส.ส. ไม่ใช่การประกวดหาผู้บริหารประเทศ แต่มันคือการบริหารประเทศโดยประชาชน โดยตัวแทนประชาชน
ในเมื่อมันไม่ใช่การประกวดมันจึงไม่มีคุณสมบัติตายตัว เพราะมันจะมีพลวัตไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งมวลชน การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน การใช้พื้นที่สาธารณะ ความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพลวัตในระบอบประชาธิปไตยของสังคมแต่ละสังคม
ดังนั้น จึงไม่มีใครทำนายได้ว่าอีกห้าปีข้างหน้า คนไทยจะเลือก "ตัวแทน" แบบไหนไปบริหารประเทศ อีกสิบปีข้างหน้าคนไทยจะเลือก "ตัวแทน" แบบไหนไปบริหารประเทศ
ปีนี้เราอาจจะต้องการรัฐบาลที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ อีกสิบปีเราอาจจะต้องการรัฐบาลที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน อีกสามสิบปีข้างหน้าเราอาจจะต้องการรัฐบาลซ้ายจัดสังคมนิยม ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้
ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย, สมมุติเราเรียกมันว่าระบบธรรมาธิปไตยให้คนดีปกครอง ขอถาม ดร.เจิมศักดิ์ว่า เราจะให้ใครนิยามความเป็นคนดี คนเก่ง ใครจะนิยามว่าวุฒิภาวะทางการเมืองใครดีกว่าใคร?
ใบปริญญารัฐศาสตร์ไม่ใช่หลักค้ำประกันความเข้าใจในหลักการสิทธิ เสรีภาพ ดังที่ ดร.เจิมศักดิ์ และอีกหลาย ดร. ที่สอนรัฐศาสตร์ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ทนโท่ว่าวิ่งโร่ไปสนับสนุนรัฐประหารแค่ไหน
มีคนดี คนเก่ง คนรู้เรื่องการเมืองมาปกครองแล้ว คำถามต่อไปคือการถ่วงดุลทางอำนาจทำอย่างใร? อำนาจนั้นยึดโยงอยู่กับประชาชนอย่างไร หรือจะเห็นประชาชนเป็น "หมา" มีตัวเองและพวกเป็นมนุษย์อยู่ฝ่ายเดียวคอยปกครองเหล่า "หมา" ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด?
มันน่าหัวร่อมาก ที่ ดร.เจิมศักดิ์ยกตัวอย่างการประกวดหมาว่าต้องใช้กรรมการที่มีคุณวุฒิเรื่อง "หมา" ด้วยตรรกะนี้ หากฉันเป็นหมา ฉันจะถาม ดร.เจิมศักดิ์ว่า
"พวกคุณเป็นใครจึงบังอาจมาตัดสินว่าหมาตัวไหนดีกว่าหมาตัวไหน??? มนุษย์อย่างพวกคุณบังอาจมารู้เรื่องหมาดีกว่าหมาได้อย่างไร? การประกวดหมาทำไมต้องมีมนุษย์เป็นกรรมการ เกิดเป็นมนุษย์จะมารู้เรื่องหมาดีกว่าหมาได้อย่างไร เห่าก็ไม่เป็นเหมือนหมายังริจะมาเป็นกรรมการประกวดหมา"
หมามันคงอยากฝากมาถามอย่างนี้ อายดีไหมคะ?
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly
.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย