Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย
2556-06-28
มองใหม่ 2475 โดย คำ ผกา
.
คำ ผกา : มองใหม่ 2475
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:03:14 น.
(www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373041839)
จาก บทความ มองใหม่ 2475 มติชนสุดสัปดาห์ 28 มิ.ย. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1715
(ภาพ : torakom.com)
เพื่อให้เข้าบรรยากาศการรำลึกถึงการปฏิวัติสยาม 2475 ฉันหยิบหนังสือ "ชีวประวัติของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม" (จัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี 2540) มาอ่าน
ด้วยหวังเพียงความเพลิดเพลิน เดาว่า หนังสือชีวประวัติของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็น "ลมใต้ปีก" ของผู้เป็นสามี
หากจะมีบทบาททางสังคม การเมือง ก็หนีไม่พ้น บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ อุปถัมภ์ผู้ด้อยโอกาส ทั้งหมดนี้ทำลงไปเพื่อเสริมรัศมี บารมีของผู้เป็นสามีเท่านั้น
เราอาจจะเคยได้ยินว่า ท่านผู้หญิงละเอียด ได้รับราชการเป็นทหารหญิงในกองทัพด้วย ข้อนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจอีก หากเราจะคิดว่า "อ้อ ก็สามีเป็นนายกฯ ตัวจะเป็นทหารหรือเป็นอะไรก็ได้นี่นา"
แต่หนังสือชีวประวัติของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม นอกจากมีรูปภาพของท่านในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับกิจกรรมสาธารณะและกิจกรรมของครอบครัวแล้ว ยังประกอบไปด้วยเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ชวนให้ตื่นเต้น
เช่น "คำปราศรัยต่อหัวหน้าครอบครัวผู้เข้ารับการอบรมทัศนศึกษา ตั้งแต่วันที่ 3-12 กรกฎาคม 2489"
หรือ "บันทึกของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่อง ควรพิจารณาแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของสหประชาชาติ"-อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายครอบครัวที่ผู้หญิงยังเสียเปรียบผู้ชายอยู่มาก
หรือเอกสารว่าด้วย "พระราชสัตยาบันสารอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองของสตรี" ที่ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันในปี 2497 และมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2498 เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ฉันทึ่งมากคือเนื้อหาในคำปราศรัยต่อหัวหน้าครอบครัวผู้เข้ารับการอบรมทัศนศึกษา ซึ่งท่านผู้หญิงละเอียดเล่าประสบการณ์ของตนที่มีโอกาสได้ไปเห็นต่างประเทศ เห็นบ้านเมืองที่เจริญแล้วที่พัฒนาแล้ว อันอาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ทัศนศึกษา" อย่างหนึ่ง
ในที่นี้ท่านยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ประชาชนมีมาตรฐานของการใช้ชีวิตที่ไม่ห่างไกลกันมากเกินไป หากที่เมืองหลวงมีโรงพยาบาล ชนบทก็มีโรงพยาบาล มีย่านการค้า มีสถานที่ทำการรัฐบาลที่ไม่ต่างจากเมืองหลวง
ท่านผู้หญิงละเอียดสรุปสิ่งที่ท่านได้ไปเห็นมาว่า
"ดิฉันมีความรู้สึกว่าประเทศจะเจริญนั้น ไม่ใช่เจริญอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ความเจริญต้องแผ่ขยายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศนั้นๆ และความเจริญอันนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนของประเทศนั้นๆ มีวัฒนธรรม มีความเจริญในการศึกษา มีความเจริญในความรู้ ที่จะช่วยกันทำให้กิจการของแต่ละที่แต่ละแห่งของจังหวัดของตนนั้นให้มีความเจริญสวยงามน่าอยู่ ให้มีที่ทำมาค้าขายเหมือนเมืองหลวง...การแต่งตัวอีกอย่างที่เราเป็นคนต่างประเทศไปนี้ เราจะไม่ทราบเลยว่า (ใคร) เป็นคนชั้นสูง คนชั้นต่ำ หรือชาวนา จะมีอะไรที่ผิดแผกแตกต่างกันในการแต่งตัว ...จะเป็นคนที่มีรายได้มากหรือรายได้น้อย ...ระเบียบในการแต่งตัวก็เหมือนกันทุกอย่าง อันนี้เป็นบทเรียนที่ทำให้รู้สึกว่าคนที่มีวัฒนธรรมสูงคนที่มีการเจริญในการศึกษานั้น ทุกคนในชาติต้องมีระเบียบแบบแผนในการแต่งตัวเหมือนกันหมด" (หน้า 441)
เรามักจะได้ยินคนอธิบายว่า การที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีรัฐนิยมให้คนแต่งกายอย่าง "สากล" นั้นเป็นการ "ทำลายความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น" หรือ "สร้างความเป็นไทยมาครอบท้องถิ่นทำให้กลายเป้นมาตรฐานเดียว"
แต่จากคำปราศรัยของท่านผู้หญิงละเอียด จะเห็นว่า "ระเบียบของการแต่งกาย" ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงการสถาปนา "ความเป็นไทยแท้" ไปกลืน "วัฒนธรรมท้องถิ่น"
ทว่า รัฐบาลประชาธิปไตยต้องการสร้าง "มาตรฐานการดำรงชีวิต" ที่เสมอภาคระหว่างพลเมืองในชาติ
ก่อน 2475 มีแต่ชนชั้นสูง เจ้านายเท่านั้นที่ได้แต่งกายแบบ "สากล" ส่วน ไพร่สามัญชนมีทั้งข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ทางวัฒนธรรมที่ไม่อาจเข้าถึงความเป็น "สากล" นั้นได้ เพราะมันเป็น "สมบัติ" ของบางชนชั้นเท่านั้น
แต่ระบอบใหม่หลัง 2475 กำลังจะบอกว่า ถ้าเจ้าคุณในเมืองหลวงใส่สูท ชาวนาก็ควรใส่สูทได้อย่างสง่าผ่าเผยไม่ต่างจากท่านเจ้าคุณ ถ้าเมียเจ้าคุณใส่เสื้ออย่างฝรั่ง สวมกระโปรง ถุงน่อง รองเท้า เมียชาวนาก็ควรจะสวมเสื้อผ้าอย่างเดียวกัน อาจจะต่างกันที่ราคา คุณภาพ แต่โดย "แบบแผนการแต่งกาย" ทุกคนอยู่ในแบบแผนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคน "ชั้น" ไหน
สำหรับฉัน "รัฐนิยม" นี้ ระบอบใหม่และจอมพล ป. อีกทั้งการทำงานของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงที่นำโดยท่านผู้หญิงละเอียด เป็นการท้าทาย "ระบอบเก่า" อย่างถอนรากถอนโคน เพราะร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมาคนสยามถูกสอนมาโดยตลอดว่า "อย่าทำตัวเทียมเจ้าเทียมนาย"
แบบแผนการบริโภคของชาวสยามนั้นถูกกำกับไว้ด้วยชนชั้นอย่างเคร่งครัด เช่น ใครมีสิทธิครอบครองโภคทรัพย์ลำดับใด ขึ้นอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจล้วนๆ
หากยศไม่ถึง บารมีไม่ถึง ต่อให้มีเงินจะครอบครองได้ก็ไม่สิทธิจะครอบครอง เพราะของบางอย่างมีแต่ "เจ้านาย" เท่านั้นที่มีบุญถึงพอที่จะครอบครองวัตถุนั้นๆ หากใครละเมิดก็อาจจะเป็นเหตุให้เจ็บป่วย ล้มตาย สิ้นทรัพย์
แต่การยืนยันว่า พลเมืองทุกคนควรได้รับสิทธิที่จะมีมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นต่ำอย่างเสมอภาคกันนั้น (เช่น จะเป็นกรรมกร ชาวนา หรือ นายกรัฐมนตรีก็ใส่สูทเหมือนกัน หรือคนรวยอาจมีส้วมโถทองคำ คนจนอาจมีชักโครกราคาถูก แต่ทั้งสองคนมีมาตรฐานของสุขอนามัยเหมือนกัน) เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย
ลองคิดดูว่า หากสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอย่างที่ท่านผู้หญิงละเอียดสรุป
วันนี้เราจะเห็นรัฐมนตรี นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของโรงสี ชาวนา-ทุกคนแต่งตัวในแบบแผนเดียวกัน
สมมุติว่าใส่สูท-นั่งเจรจาต่อรองผลประโยชน์กัน, มองจากที่ไกล เราจะเห็นคนใส่สูท 5 คนนั่งคุยกัน มีศักดิ์ที่ไม่ถูกกดทับจากแบบแผนของเครื่องแต่งกายที่บอกสถานะทางสังคมโดยไม่มีภาพความแตกต่างระหว่าง "ชนชั้น" เปล่งประกายออกมาจาก เสื้อผ้าที่สวม
แต่ทุกวันนี้ เราสงวนเครื่องแต่งกายแบบ "สากล" ไว้กับคนชนชั้นหนึ่ง แล้วหากชาวนาจะลุกขึ้นมาแต่ง "สากล" บ้างก็จะถูกหัวเราะเยาะเย้ย แสร้งว่า เมืองไทยร้อนจะตายมีแต่คนโง่ใส่สูท (แต่พอเป็นคนชั้นสูงใส่สูทอย่างฝรั่งก็เห็นค้อมหัวให้อัตโนมัติ) โดยที่เราไม่เคยถามตัวเองเลยว่า ทำไมเราต้องหัวเราะถ้าเราเห็นชาวนาใส่สูท??
เมื่อเราไม่ถาม เราจึงไม่รู้ว่า หัวเราะก็เพราะเรายังมีโลกทัศน์แบบศักดินาที่เห็นว่า สิทธิของการมีโภคทรัพย์นั้นมันถูกกำกับด้วย "ชนชั้น" เมื่อเรามีโลกทัศน์แบบ "ศักดินา" เราจึงดิ้นๆๆๆๆ ที่จะเห็นลูกชาวนามีแท็บเล็ต เราจึงดิ้นๆๆๆ ที่จะเห็นคน "อื่น" มีรถยนต์ เราจึงดิ้นๆๆๆ ที่จะเห็นเขาถือบัตร 30 บาท รักษาทุกโรคที่โรงพยาบาลเดียวกันกับเรา เราจึงดิ้นๆๆๆๆ ที่เห็นเขามีโทรศัพท์มือถือเหมือนเรา
หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการผลักดันเรื่องสิทธิสตรีและพูดถึงสิทธิทางการเมืองของสตรีที่ดำเนินไปอย่างจริงจังในช่วงปี 2485-2487
เราหลายคนอาจจะบอกว่าน่าตื่นเต้นตรงไหน? ยิ่งในยุคที่เราเติบโตมาในสมัยที่สตรีนิยมสายเสรีนิยมเป็นสิ่งเร่อร่าล้าหลังเหลือประมาณ ไม่ "ล้ำ" เหมือนสตรีนิยมสายแรดิคัล สายมาร์กซิสต์ ยิ่งในบริบทของสังคมไทยที่เป็นกึ่งอาณานิคม ทฤษฎีสตรีนิยมสายเสรีนิยมนั้นแทบจะใช้ไม่ได้กับสังคมไทยเลยทีเดียว
แต่สิทธิทางการเมืองของผู้หญิง สิทธิที่จะดำรงตำแหน่งสาธารณะและปฏิบัติหน้าที่สาธารณะทั้งหลาย มันเป็นสิทธิที่หล่นลงมาจากฟ้าโดยที่ไม่มีใครต้องลงมือทำอะไรเลยหรือ?
แน่นอนว่าการได้ซึ่งสิทธิเหล่านี้ของสังคมไทย ไม่ได้มาด้วยขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกผู้หญิงอย่างที่เกิดขึ้นในหลายๆ สังคม
แต่ย้อนหลังกลับไปแค่ 22 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่าว่าแต่สิทธิของผู้หญิง-แม้แต่คำว่า "สิทธิ" ในความหมายของการเมืองสมัยใหม่ยังไม่ได้ถือกำเนิดมาในจักรวาลทัศน์ของไพร่สยามเสียด้วยซ้ำไป
เพราะในยุคนั้นเราเกิดมาเป็น "ข้า" ที่ขึ้นต่อ "สังกัด" ใดสังกัดหนึ่งในระบบมูลนาย หาใช่ "มนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรี"
แต่รัฐบาลของ "ระบอบใหม่" กระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะสร้างสำนึกแห่งสิทธิเสมอภาคในทางการเมืองการปกครอง (คำว่าสิทธิเสมอภาคทางการเมืองการปกครอง นี้ฉันเอามาจากคำปราศรัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม-ประหลาดใจว่าในปัจจุบันที่ความเข้าใจต่อประธิปไตยของสังคมไทยน่าจะมาได้ไกลกว่านั้นแล้ว เรากลับได้ยินคำว่า "สิทธิเสมอภาคทางการเมือง" นี้น้อยกว่า คำพูดจำพวก "ขอรับใช้ใต้เท้าทุกชาติไป") รวมทั้งสิทธิของสตรี อย่างน้อยในทางกฎหมาย
ทว่า ในปัจจุบันนี้ พวกเราต่างพูดถึงเรื่อง "สิทธิพลเมือง" และ "สิทธิสตรี" ได้โดยไม่เคยและไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้กับ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิสตรีในสังคมไทยอย่าง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
อย่าว่าแต่เราจะมีใจเป็นธรรมพอที่จะเห็นคุณูปการของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้จงได้
สังคมไทยไม่เพียงแต่จะเห็น การปฏิวัติสยาม 2475 เป็นความผิดพลาด เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เป็นการก่อการของคนหนุ่มที่เห่อฝรั่ง ก่อนจะลงเอยด้วยการที่คนหนุ่มเหล่านั้นกลายเป็นนักการเมืองที่สุดท้ายก็ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มีการทรยศหักหลัง เป็นเผด็จการทหาร อำนาจนิยม ขึ้นมาปกครองก็มีแต่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย คนดีๆ ปัญญาชนถูกลอบฆ่า นักการเมืองมีอุดมการณ์ถูกอุ้ม
อย่ากระนั้นเลย สู้กลับไปอยู่แบบระบอบเก่าก็ไม่ได้ เพราะระบอบเก่านั้น คุณงามความดีของผู้ปกครองได้รับประกันจากการสืบเชื้อสายมาจากผู้มีบุญญาธิการ จึงไม่มีอะไรให้ต้องข้องใจสงสัยเลยว่าจะดีหรือไม่ดี เพราะถ้าไม่ดีจะเรียกว่ามีบุญได้อย่างไร?
สังคมไทยมองการปฏิวัติสยาม 2475 เป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงก็ว่าอาการหนักแล้ว
แต่ในบรรดาผู้ก่อการปฏิวัติสยาม 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูเหมือนจะเป็นอดีตผู้นำที่คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็น "ผู้ร้าย"
น่าประหลาดใจกว่านั้น ฉันเดาว่า เผลอๆ คนไทยจำนวนไม่น้อยจะชื่นชม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่บอกว่า จอมพล ป. เป็นเผด็จการฟาสซิสต์
เรื่องราวที่คนไทยในปัจจุบัน (อันบังเอิญว่าล้วนเติบโตมากับวรรณกรรมของอดีตนักโทษคดีกบฏบวรเดช-ที่ผลิตวรรณกรรมโจมตีคณะราษฎรออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย ความเรียงทางการเมือง หรือแม้แต่พจนานุกรมแปลอังกฤษ-ไทย, ไทย -อังกฤษ ที่แปลศัพท์การเมืองออกมาอย่างไม่เป็นคุณต่ออุดมการณ์ ประชาธิปไตยเอาเสียเลย) รับรู้เกี่ยวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอยู่ไม่กี่เรื่อง
เช่น เป็นผู้นำประเทศที่เผด็จการ บ้าๆ บอๆ บังคับให้ตัดต้นหมาก สวมหมวก จูบเมีย พาประเทศเข้าสู่สงคราม เป็นฟาสซิสต์ ทำภาษาวิบัติ บางข้อรุนแรงถึงขั้นบอกว่า จอมพล ป. บ้าอำนาจอยากสถาปนาตนเองเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศไปก็มี
แต่สังคมไทยอันเป็นสังคมอุดมปัญญา กลับยินดีที่จะรู้ จะเชื่อเฉพาะเรื่องเล่าที่ฟังต่อๆ กันมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ฟังต่อๆ กันมามันเข้าล็อคกับอุดมการณ์ความเชื่อของตนเองพอดี
เช่น จอมพล ป. เป็นคนนำประเทศเข้าสงคราม ในขณะที่ฝ่ายเจ้าอย่าง เสนีย์ ปราโมช เป็นเสรีไทย ช่วยประเทศชาติให้หลุดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนจึงกลายเป็นแค่ คนดี คนเลว
เมื่อจอมพล ป. ดูเป็นผู้ร้ายอย่างยิ่ง ผลงานสำคัญๆ ที่จอมพล ป. สร้างทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย จึงกลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยอยู่กับมันโดยเข้าใจกันเอาเองว่ามันเป็นผลงานของคนอื่น
คนที่ "ดี" เพราะเผด็จการฟาสซิสต์ อาชญากรสงครามอย่างจอมพล ป. จะมีอะไรให้นึกถึงเล่า?
เราจึงไม่รู้ว่า จอมพล ป. เป็นผู้ริเริ่มนโยบายสวัสดิการสังคมที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็น การเคหะแห่งชาติ สร้างแฟลตดินแดง สร้างบ้านพักคนชราบางแค สร้างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สร้างมหาวิทยาลัยการศึกษา นำทันตแพทย์เข้ามาในเมืองไทย (พระเจ้า!!! ก่อนหน้านั้นชาวสยามไม่รู้จักหมอฟัน) ปรับปรุงระบบสุขาภิบาล (อย่างมาก เพราะในระบอบเก่า เรา suffer จากโรคอหิวาต์อย่างหนักที่สุด)
เราทำเป็นลืมว่า วิชาการด้าน "สังคมสงเคราะห์" เป็นสิ่งที่รัฐบาลของจอมพล ป. ริเริ่มให้มีขึ้น และเราแทบจะไม่ยอมรับรู้เอาเสียเลยว่า การแก้ไขกฎหมายครอบครัวให้เป็นธรรมต่อผู้หญิงมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็โดยการผลักดันของกลุ่มนักพัฒนาสิทธิสตรีในยุคนี้โดยไม่เคยกล่าวอ้างว่าต้องแก้กฎหมายเพื่อรักษาความดีงามของวัฒนธรรมไทยแต่อ้างถึง "หลักสิทธิมนุษยชนสากล"
24 มิถุนายน มาหาเราทุกปี ถึงเวลาที่เราจะกลับไปหาประวัติศาสตร์บทนี้กันใหม่
และออกจากการถูกครอบงำของวรรณกรรมการเมืองของกลุ่ม "บวรเดช" เพื่อออกมารับอากาศบริสุทธิ์บ้าง
.